![]() |
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
![]() |
![]() | |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() บรรดาอภัพบุคคล ๑๑ จำพวกเหล่านั้น บัณเฑาะก์ สัตว์ดิรัจฉานและอุภโตพยัญชนก ๓ จำพวก เป็นพวกอเหตุกปฏิสนธิ จัดเป็นพวกวัตถุวิบัติ. พวกวัตถุวิบัติเหล่านั้น ไม่ถูกห้ามสวรรค์ แต่ถูกห้ามมรรค. จริงอยู่ บัณเฑาะก์เป็นต้นเหล่านั้นจัดเป็นอภัพบุคคลสำหรับการได้มรรค เพราะเป็นพวกวัตถุวิบัติ. ถึงการบรรพชาสำหรับพวกเขา ก็ทรงห้ามไว้. เพราะฉะนั้น บัณเฑาะก์เป็นต้นแม้เหล่านั้นจึงจัดเป็นผู้พ่ายแพ้ (เป็นปาราชิก). บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ คือคนลักเพศ ภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์ คนฆ่ามารดา คนฆ่าบิดา คนฆ่าพระอรหันต์ สามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี คนทำโลหิตุปบาท ภิกษุผู้ทำสังฆเภท ชื่อว่าถึงฐานะเป็นอภัพบุคคล เพราะเป็นผู้วิบัติด้วยการกระทำของตน เพราะฉะนั้นจึงจัดเป็นผู้พ่ายแพ้ด้วย. บรรดาบุคคล ๘ จำพวกนั้น สำหรับบุคคล ๓ จำพวกเหล่านี้ คือ คนลักเพศ ภิกษุเข้ารีตเดียรถีย์ สามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี ไม่ถูกห้ามสวรรค์ แต่ถูกห้ามมรรคแท้. อีก ๕ จำพวกถูกห้ามแม้ทั้ง ๒ อย่าง. เพราะว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นจำพวกสัตว์ที่จะต้องเกิดในนรก ไม่มีระหว่าง. อภัพบุคคล ๑๑ จำพวกเหล่านี้และบุคคลผู้เป็นปาราชิก ๘ ข้างต้นจึงรวมเป็น ๑๙ ด้วยประการฉะนี้. แม้บุคคลเหล่านั้นรวมกับนางภิกษุณีผู้ยังความพอใจให้เกิดในเพศคฤหัสถ์ แล้วนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์จึงรวมเป็น ๒๐. จริงอยู่ นางภิกษุณีนั้นถึงจะไม่ได้กระทำการล่วงละเมิดด้วยอัชฌาจาร ก็จัดว่า ไม่เป็นสมณีได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้; เพราะเหตุนั้น ปาราชิกเหล่านี้จึงมี ๒๐ ก่อน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อนุโลมปาราชิก แม้อย่างอื่นยังมีอีก ๔ ด้วยอำนาจภิกษุ ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ ภิกษุมีองค์กำเนิดยาว (ปรารถนาจะเสพเมถุนธรรม จึงสอดองค์กำเนิดเข้าไปทางวัจจมรรคของตน) ๑ ภิกษุมีหลังอ่อน (ปรารถนาจะเสพเมถุนธรรม ก้มลงอมองค์กำเนิดของตน) ๑ ภิกษุเอาปากอมองค์กำเนิดของผู้อื่น ๑ ภิกษุนั่งสวมองค์กำหนดของผู้อื่น ๑. ก็เพราะเหตุที่ธรรมของคน ๒ คน ผู้เข้าถึงความเป็นเช่นเดียวกัน ด้วยอำนาจราคะ ตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม; ฉะนั้น ปาราชิก ๔ เหล่านี้ ชื่อว่า ย่อมอนุโลมแก่เมถุนธรรมปาราชิก โดยปริยายนี้ เพราะภิกษุ ๔ จำพวกนั้น ถึงจะไม่ได้เสพเมถุนธรรมเลย ก็พึงต้องอาบัติได้ ด้วยอำนาจการยังมรรคให้เข้าไปทางมรรคอย่างเดียว; เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า อนุโลมปาราชิก ฉะนี้แล. พึงประมวลอนุโลมปาราชิก ๔ เหล่านี้และปาราชิก ๒๐ ประการข้างต้นเข้าด้วยกันแล้ว ทราบปาราชิกทั้งหมดทีเดียวว่ามี ๒๔ อย่างด้วยประการฉะนี้. ข้อว่า น ลภติ ภิกฺขูหิ สทฺธึ สํวาสํ มีความว่า ย่อมไม่ได้สังวาสต่างโดยประเภทมีอุโบสถ ปวารณา ปาฏิโมกขุทเทสและสังฆกรรมกับด้วยภิกษุทั้งหลาย. ข้อว่า ยถา ปุเร ตถา ปจฺฉา มีความว่า ในกาลก่อน คือในเวลาเป็นคฤหัสถ์และเวลาที่ยังมิได้อุปสมบท (ย่อมเป็นผู้ไม่มีสังวาส) ฉันใด, ภายหลังแม้ต้องปาราชิกแล้ว ก็เป็นผู้ไม่มีสังวาส ฉันนั้นเหมือนกัน. สังวาสต่างโดยประเภทมีอุโบสถ ปวารณา ปาฏิโมกขุทเทสและสังฆกรรม กับด้วยภิกษุทั้งหลาย ของภิกษุนั้น ไม่มี; เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมไม่ได้สังวาสกับด้วยภิกษุทั้งหลาย. ข้อว่า ตตฺถายสฺมนฺเต ปุจฺฉามิ มีความว่า ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายในปาราชิก ๔ เหล่านั้นว่า ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์แลหรือ? บทว่า กจฺจิตฺถ ตัดบทว่า กจฺจิ เอตฺถ มีความว่า ในปาราชิก ๔ เหล่านี้ ท่านทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์แลหรือ? อีกประการหนึ่ง สองบทว่า กจฺจิตฺถ ปริสุทฺธา มีความว่า ท่านทั้งหลายย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์แลหรือ? บทที่เหลือทุกๆ แห่งมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น ฉะนี้แล. จตุตถปาราชิกวรรณนา ในอรรถกถาพระวินัย ชื่อสมันตปาสาทิกา จบ. [อธิษฐานคาถาของท่านผู้รจนา] ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล ยังหมู่สัตว์ ให้เอิบอิ่ม สิ้นกาลนาน ขอพระราชาจง ปกครองแผ่นดิน โดยธรรมเทอญ. .. อรรถกถา ปาราชิกกัณฑ์ บทสรุปปาราชิก ๔ สิกขาบท จบ. |