ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 47อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 48อ่านอรรถกถา 1 / 79อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ปฐมปาราชิกสิกขาบท
วินีตวัตถุ อุทานคาถา เรื่องลิงตัวเมียเป็นต้น

               วินีตวัตถุปฐมปาราชิก               
               [อุทานคาถา]               
                         ปุจฉาว่า คำประพันธ์เป็นพระคาถาว่า
                                   เรื่องลิงตัวเมีย ๑ เรื่อง เรื่องภิกษุ
                         วัชชีบุตร ๑ เรื่อง เรื่องปลอมเป็นคฤหัสถ์ ๑
                         เรื่อง เรื่องเปลือยกาย ๑ เรื่อง เรื่องปลอม
                         เป็นเดียรถีย์ ๗ เรื่อง เรื่องเด็กหญิง ๑ เรื่อง
                         เรื่องภิกษุณีชื่ออุบลวรรณา ๑ เรื่อง เรื่อง
                         เพศกลับ ๒ เรื่อง เรื่องมารดา ๑ เรื่อง เรื่อง
                         ธิดา ๑ เรื่อง เรื่องพี่น้องหญิง ๑ เรื่อง เรื่อง
                         ภรรยา ๑ เรื่อง เรื่องภิกษุมีหลังอ่อน ๑ เรื่อง
                         เรื่องภิกษุมีองคชาตยาว ๑ เรื่อง เรื่องบาด
                         แผล ๒ เรื่อง เรื่องรูปปั้น ๑ เรื่อง เรื่องตุ๊กตา
                         ไม้ ๑ เรื่อง เรื่องภิกษุชื่อสุนทร ๑ เรื่อง
                         เรื่องสตรี ๕ เรื่อง เรื่องป่าช้า ๕ เรื่อง เรื่อง
                         กระดูก ๑ เรื่อง เรื่องนาคตัวเมีย ๑ เรื่อง
                         เรื่องนางยักษิณี ๑ เรื่อง เรื่องหญิงเปรต ๑
                         เรื่อง เรื่องบัณเฑาะก์ ๑ เรื่อง เรื่องภิกษุมี
                         อินทรีย์พิการ ๑ เรื่อง เรื่องจับต้อง ๑ เรื่อง
                         เรื่องพระอรหันต์ในเมืองภัททิยะหลับ ๑ เรื่อง
                         เรื่องภิกษุเมืองสาวัตถี ๔ เรื่อง เรื่องภิกษุ
                         ชาวมัลละเมืองไพศาลี ๓ เรื่อง เรื่องเปิด
                         ประตูนอน ๑ เรื่อง เรื่องภิกษุชาวเมืองภารุ-
                         กัจฉะฝัน ๑ เรื่อง เรื่องอุบาสิกาชื่อว่าสุปัพพา
                         ๙ เรื่อง เรื่องอุบาสิกาชื่อว่า สัทธา ๙ เรื่อง
                         เรื่องนางภิกษุณี ๑ เรื่อง เรื่องนางสิกขมานา
                         ๑ เรื่อง เรื่องนางสามเณรี ๑ เรื่อง เรื่องหญิง
                         แพศยา ๑ เรื่อง เรื่องบัณเฑาะก์ ๑ เรื่อง
                         เรื่องสตรีคฤหัสถ์ ๑ เรื่อง เรื่องให้ผลัดกัน
                         ๑ เรื่อง เรื่องภิกษุผู้เฒ่า ๑ เรื่อง เรื่องลูก
                         เนื้อ ๑ เรื่อง, นี้เป็นอย่างไร?
#-
____________________________
#- อุทานคาถานี้ ได้แปลไว้เต็มบริบูรณ์ ตามมหาวิภังค์ วินัยปิฎก ๑/๖๒
#- เพื่อเรืองปัญญาของผู้ใคร่ต่อการศึกษา.

               วิสัชนาว่า พระคาถาเหล่านี้ ชื่ออุทานคาถาแห่งวินีตวัตถุ คือเรื่องนั้นๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง ซึ่งพระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้ใฝ่ใจไว้ว่า พระวินัยธรทั้งหลายจักเรียนเอาเรื่องเหล่านั้นได้สะดวก จึงได้ตั้งไว้.
               ส่วนวัตถุคาถาพระอุบาลีเถระได้ใฝ่ใจไว้ว่า พระวินัยธรทั้งหลายจักวินิจฉัยวินัยต่อไป (ในอนาคต) ด้วยลักษณะนี้ จึงได้ตั้งไว้ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั่นเอง. เพราะฉะนั้น พระวินัยธรควรกำหนดลักษณะที่ตรัสไว้ในวินีตวัตถุนี้ให้ดี แล้วจึงวินิจฉัยปฐมสิกขาบท.
               อนึ่ง ทุติยปาราชิกเป็นต้น ก็ควรวินิจฉัยด้วยลักษณะแห่งทุติยปาราชิกเป็นต้นที่ตรัสไว้แล้วในวินีตวัตถุทั้งหลาย.
               จริงอยู่ วินีตวัตถุทั้งหลายย่อมเป็นเรื่องสำหรับเทียบเคียงของพระวินัยธรทั้งหลาย ดุจรูปที่เป็นหลักเทียบเคียงของพวกนักศิลปิน ฉะนั้น.
               บรรดาเรื่องเหล่านั้น สองเรื่องข้างต้นมีเนื้อความดังที่ตรัสไว้แล้วในอนุบัญญัตินั่นเอง.
               ในเรื่องที่ ๓ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า คิหิลิงฺเคน คือ เป็นผู้นุ่งห่มผ้าขาวอย่างคฤหัสถ์.
               ในเรื่องที่ ๔ ไม่มีคำอะไรๆ ที่ควรกล่าวไว้.
               ในผ้า ๗ ชนิด ถัดจากเรื่องที่ ๔ นั้นไป มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ผ้าที่เขาร้อยหญ้าคาทำ ชื่อว่าผ้าคากรอง. ผ้าเปลือกไม้ของพวกดาบส ชื่อว่าผ้าเปลือกปอ. ผ้าที่เขาเย็บทำติดกันเป็นแผ่นมีสัณฐานดังแผ่นกระดาน ชื่อว่าผ้าทอเป็นแผ่น. ผ้ากัมพลที่เขาเอาเส้นผม (มนุษย์) ทำเป็นเส้นด้ายทอ ชื่อว่าผ้ากัมพลทำด้วยเส้นผม. ผ้ากัมพลที่เขาทอทำด้วยขนหางสัตว์จามรี ชื่อว่าผ้ากัมพลทำด้วยขนหางสัตว์. ผ้านุ่งที่เขาเอาขนปีกนกเค้าทำ ชื่อว่าผ้านุ่งทำด้วยขนปีกนกเค้า. หนังสือและมฤคพร้อมทั้งขนและกีบเล็บ ชื่อว่าผ้าหนังสือ.
               ในเรื่องที่ ๑๒ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า สารตฺโต ได้แก่ ผู้มีความกำหนัดด้วยความกำหนัดในอันเคล้าคลึงกาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความกำหนัดนั้นแล้ว จึงตรัสว่า เป็นอาบัติสังฆาทิเสส.

               [เรื่องนันทมาณพเสพเมถุนธรรมในนางอุบลวรรณาเถรี]               
               ในเรื่องที่ ๑๓ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               พระเถรีนั้น ชื่อว่าอุบลวรรณาเป็นธิดาของเศรษฐีในเมืองสาวัตถี สมบูรณ์ด้วยอภินิหารตั้งแสนกัลป์. แม้โดยปกติ พระเถรีนั้นมีผิวกายสีคล้ายดอกอุบลเขียว น่าดูยิ่งนัก. ก็พระเถรีนั้นย่อมรุ่งเรืองยิ่งนัก เพราะไม่มีความเร่าร้อนด้วยกิเลสในภายใน. นางได้ชื่อว่าอุบลวรรณา เพราะความที่นางมีผิวงดงามนั้นเอง.
               บทว่า ปฏิพทฺธจิตฺโต ความว่า มาณพนั้น มีใจกำหนัดตั้งแต่เวลายังเป็นคฤหัสถ์.
               ได้ยินว่า นันทมาณพนั้นเป็นชายหนุ่ม ซึ่งเป็นญาติของพระเถรีนั้น.
               ศัพท์ว่า อถโข เป็นนิบาต ลงในอรรถว่าลำดับฯ มีคำอธิบายว่า ในลำดับแห่งพระเถรีนั่งบนเตียงนั่นแล. จริงอยู่ เวลากลางวัน เมื่อบุคคลมาจากภายนอกปิดประตูแล้วนั่ง ความมืดจะมีขึ้น. อธิบายว่า มาณพนั้นได้ทำอย่างนั้นตลอดเวลาที่ความมืดนั้นของพระเถรีนั้น ยังไม่หายไปนั่นเอง.
               บทว่า ทูเสสิ แปลว่า ได้ข่มขืนแล้ว.
               ส่วนพระเถรีเป็นผู้หาโทษมิได้ เริ่มตั้งสมณสัญญา ไม่ยินดี นั่งอยู่ ถูกความประสงค์อสัทธรรมสัมผัสดุจกองเพลิง เสาหินและตอไม้ตะเคียน ฉะนั้น.
               ฝ่ายนันทมาณพนั้น ครั้นให้ความพอใจของตนสำเร็จบริบูรณ์แล้วก็ไป.
               เมื่อนันทมาณพละคลองแห่งการเห็นของพระเถรีนั้นเท่านั้น มหาปฐพีนี้ถึงจะสามารถธารภูเขาสิเนรุไว้ได้ก็ตาม ก็เป็นเหมือนไม่อาจจะธารบุรุษชั่วช้านั้น ซึ่งมีซากกเลวระประมาณวาหนึ่งไว้ได้ จึงแยกช่องให้แล้ว. ขณะนั้นนั่นเอง เขาได้ถึงความเป็นเชื้อเพลิงแห่งเปลวไฟในอเวจีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่ยินดีไม่เป็นอาบัติ ทรงหมายเอาพระเถรี ได้ตรัสพระคาถานี้ในธรรมบทว่า
                         เราเรียกบุคคลผู้ไม่ติดอยู่ในกาม
               ทั้งหลาย เหมือนน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว
               เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ตั้งอยู่บนปลาย
               เหล็กแหลม ฉะนั้น ว่าเป็นพราหมณ์.๑-
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๕/หน้า ๖๙.

               [เรื่องเพศชายกลับเป็นเพศหญิง]               
               ในเรื่องที่ ๑๔ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า อิตฺถีลิงฺคํ ปาตุภูตํ ความว่า เมื่อภิกษุนั้นหยั่งลงสู่ความหลับในเวลากลางคืน อวัยวะทั้งปวงมีหนวดและเคราเป็นต้น ซึ่งเป็นทรวดทรงของบุรุษหายไป ทรวดทรงของสตรีเกิดขึ้นแทนที่.
               หลายบทว่า ตญฺเญว อุปชฺฌํ ตํ อุปสมฺปทํ ความว่า เราอนุญาตอุปัชฌายะที่เธอเคยถือมาแล้วในกาลก่อนนั่นเอง (และ) การอุปสมบทที่สงฆ์ทำไว้ในกาลก่อนเช่นกัน.
               อธิบายว่า ไม่ต้องถืออุปัชฌายะใหม่ ไม่ต้องให้อุปสมบทใหม่.
               สองบทว่า ตานิ วสฺสานิ ความว่า เราอนุญาตให้นับพรรษา จำเดิมแต่อุปสมบทเป็นภิกษุมานั้นนั่นแล.
               อธิบายว่า ไม่ต้องทำการนับพรรษา ตั้งแต่เพศกลับนี้ไปใหม่.
               สองบทว่า ภิกฺขุนีหิสงฺกมิตุํ ความว่า ทั้งเราอนุญาตให้ภิกษุณีนั้นไปด้วยกัน คือสมาคมกัน พร้อมเพรียงกันกับภิกษุณีทั้งหลาย.
               มีคำอธิบายตรัสไว้ดังนี้ว่า
               บัดนี้ นางภิกษุณีนั้นไม่ควรอยู่ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลาย จงไปยังสำนักนางภิกษุณี แล้วอยู่ร่วมกับนางภิกษุณีเถิด.
               หลายบทว่า ยา อาปตฺติโย ภิกฺขูนํ ภิกฺขูนีหิ สาธารณา ความว่า อาบัติเหล่าใดเป็นเทสนาคามินีก็ตาม เป็นวุฏฐานคามินีก็ตาม ที่ทั่วไปแก่ภิกษุกับนางภิกษุณีทั้งหลาย.
               หลายบทว่า ตา อาปตฺติโย ภิกฺขุนีนํ สนฺติเกวุฏฺฐาตุํ ความว่า เราอนุญาตให้ทำวินัยกรรมซึ่งเหล่าภิกษุณีพึงทำแล้วออกจากอาบัติเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ในสำนักของนางภิกษุณีทั้งหลาย.
               หลายบทว่า ตาหิ อาปตฺตีหิ อนาปตฺติ ความว่า ส่วนอาบัติเหล่าใดมีสุกกวิสัฏฐิเป็นต้นของพวกภิกษุ ซึ่งไม่ทั่วไปด้วยนางภิกษุณีทั้งหลาย, ไม่เป็นอาบัติด้วยอาบัติเหล่านั้น คืออาบัติเหล่านั้นเป็นอันเธอออกเสร็จแล้วแล เพราะเพศกลับ. ถึงเมื่อเพศเดิมกลับเกิดขึ้นอีก คงเป็นอนาบัติแก่เธอด้วยอาบัติเหล่านั้นเหมือนกัน.
               วินิจฉัยบาลีในเรื่องที่ ๑๔ นี้ มีเท่านี้ก่อน.
               ส่วนวินิจฉัยท้องเรื่องนอกจากบาลี มีดังต่อไปนี้ :-
               เริ่มแรกในสองเพศนี้ เพศชายเป็นอุดมเพศ เพศหญิงเป็นหีนเพศ เพราะเหตุนั้น เพศชายจึงชื่อว่าอันตรธานไป เพราะอกุศลมีกำลังรุนแรง, เพศหญิงปรากฏขึ้นแทน เพราะกุศลมีกำลังเพลาลง. ส่วนเพศหญิงจะอันตรธานไป ชื่อว่าอันตรธานไป เพราะอกุศลมีกำลังเพลาลง, เพศชายปรากฏขึ้นแทน เพราะกุศลมีกำลังรุนแรง. เพศทั้งสองอันตรธานไปเพราะอกุศล, กลับได้คืนเพราะกุศล ด้วยประการฉะนี้.

               [ต้องอาบัติเพราะนอนร่วมกับภิกษุผู้มีเพศกลับ]               
               บรรดาเพศหญิงและเพศชายนั้น ถ้าภิกษุสองรูปทำการสาธยายหรือสนทนาธรรมด้วยกัน จำวัดหลับไปในเรือนหลังเดียวกัน, เพศหญิงปรากฏแก่ภิกษุรูปหนึ่ง เป็นอาบัติเพราะนอนร่วมกัน แม้แก่เธอทั้งสอง. ถ้าภิกษุผู้มีเพศกลับนั้นตื่นขึ้น เห็นประการแปลกนั้นของตนแล้ว มีความทุกข์เสียใจ พึงบอกแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่งในกลางคืนทีเดียว. เธอจงเป็นผู้อันภิกษุนั้นควรปลอบว่า อย่าเสียใจไปเลย นี้เป็นโทษของวัฏฏะต่างหาก, พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ประทานช่องทางไว้แล้วว่า จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตามที ธรรมอันธรรมดามิได้จำกัด ทางสวรรค์อันธรรมดามิได้ห้าม.

               [วิธีปฏิบัติกับภิกษุณีผู้มีเพศกลับ]               
               ก็แล ครั้นปลอบแล้วควรกล่าวอย่างนี้ว่า สมควรท่านจะไปยังสำนักนางภิกษุณี. ภิกษุณีบางเหล่าซึ่งเป็นเพื่อนเคยเห็นกัน ของท่านมีอยู่หรือ? ถ้าเธอมีเหล่าภิกษุณีเช่นนั้น พึงบอกว่ามี ถ้าไม่มีพึงบอกว่าไม่มี แล้วพึงบอกภิกษุนั้นว่า ท่านโปรดสงเคราะห์ข้าพเจ้าเถิด จงนำข้าพเจ้าไปยังสำนักนางภิกษุณีเดี๋ยวนี้แหละ.
               ภิกษุนั้นพึงพาเธอไปยังสำนักของนางภิกษุณีทั้งหลายซึ่งเป็นเพื่อนเคยเห็นกันของเธอ หรือเป็นเพื่อนเคยเห็นกันของตนก็ได้. เมื่อจะไป ไม่ควรไปรูปเดียว ควรถือเอาตะเกียงและไม้เท้า เปลื้องการตระเตรียมเสีย ไปร่วมกับภิกษุ ๔-๕ รูป ด้วยพูดว่า พวกเราจะไปยังสถานที่ชื่อโน้น.
               ถ้าภายนอกบ้านมีวัดอยู่ไกล ก็ไม่เป็นอาบัติในระหว่างทางเพราะคามันตราบัติ (อาบัติเพราะเดินทางข้ามระยะบ้านหนึ่ง) นทีปราบัติ (อาบัติเพราะข้ามฟาก) รัตติวิปปวาสาบัติ (อาบัติเพราะอยู่ปราศจากไตรจีวรราตรีหนึ่ง) และคณโอหียนาบัติ (อาบัติเพราะอยู่รูปเดียวไม่ครบคณะ).
               ครั้นไปถึงสำนักของนางภิกษุณีแล้ว พึงกล่าวกะนางภิกษุณีเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายรู้จักภิกษุชื่อโน้นหรือ?
               ภิกษุณีทั้งหลายตอบว่า เจ้าค่ะ รู้จัก พระคุณเจ้าข้า!.
               ภิกษุเหล่านั้นพึงกล่าวว่า ภิกษุรูปนั้นปรากฏเป็นเพศหญิงขึ้น, ขอได้โปรดสงเคราะห์เธอเดี๋ยวนี้เถิด.
               ถ้านางภิกษุณีเหล่านั้นกล่าวว่า ดีละ พระคุณเจ้าข้า บัดนี้ แม้พวกดิฉันก็จักสาธยาย จักสดับธรรม ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงไปเถิด ดังนี้แล้ว ทำความสงเคราะห์ และให้ร่าเริงยินดีทั้งเป็นลัชชินีผู้มีความสงเคราะห์ด้วย,
               เธอไม่ควร๑- ละทิ้งนางภิกษุณีเหล่านั้นไปในสถานที่อื่น ถ้าไปก็ไม่พ้นจากคามันตราบัติ นทีปราบัติ รัตติวิปปวาสาบัติและคณโอหียนาบัติ.
               อนึ่ง ถ้านางภิกษุณีเหล่านั้นเป็นลัชชินี แต่ไม่มีความสงเคราะห์ ย่อมได้เพื่อจะไปในสถานที่อื่น. แม้ถ้าเป็นอลัชชินี (ทั้งหมดวัด) แต่ทำความสงเคราะห์ ย่อมได้เพื่อจะละทิ้งแม้นางภิกษุณีเหล่านั้นแล้วไปเสียในที่อื่น.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ถ้าเป็นทั้งลัชชินี ทั้งมีความสงเคราะห์ แต่ไม่เป็นญาติ, และในบ้านใกล้ ภิกษุณีเหล่าอื่นที่เป็นญาติมีอยู่ ทั้งเป็นผู้ประคับประคอง, ควรไปยังสำนักของภิกษุณีแม้เหล่านั้น ครั้นไปแล้ว ถ้าตนปฏิบัตินิสัย (ยังถือนิสัย) แม้ในคราวเป็นภิกษุ ก็ควรถือนิสัยในสำนักของนางภิกษุณีผู้สมควร. มาติกาก็ดี วินัยก็ดีที่เรียนมาแล้ว ก็เป็นอันเรียนแล้วด้วยดี ไม่มีเหตุที่จะต้องเรียนซ้ำอีก.
               ถ้าในคราวยังเป็นภิกษุ ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ปกครองบริษัท, กุลบุตรทั้งหลายผู้อุปสมบทแล้วในสำนักของภิกษุรูปนั้นนั่นแล ก็เป็นอันอุปสมบทชอบแล้ว, แต่ต้องถือนิสัยในสำนักของอาจารย์รูปอื่น. แม้พวกอันเตวาสิกผู้อาศัยเธอนั้นอยู่ในกาลก่อน ก็ต้องถือนิสัยในสำนักของอาจารย์รูปอื่น. ถึงแม้สามเณรผู้มีอายุเต็มบริบูรณ์ ก็ต้องถืออุปัชฌายะในสำนักของภิกษุรูปอื่น.
____________________________
๑- ตา โกเปตฺวาติ ตา ปริจฺจชิตฺวา. สารัตถทีปนึ ๒/๑๕๙.

               [วิธีปฏิบัติในเครื่องบริขารต่างๆ]               
               อนึ่ง ไตรจีวรและบาตรที่ภิกษุนั้นอธิษฐานไว้แล้วในคราวยังเป็นภิกษุ ย่อมขาดอธิษฐานไป ต้องอธิษฐานใหม่. ภิกษุณีควรให้ใช้ผ้ารัดถันและผ้าอาบน้ำ. อติเรกจีวรก็ดี อติเรกบาตรก็ดีที่ภิกษุนั้นทำวินัยกรรมเก็บไว้แล้วแม้ทั้งหมด ย่อมละวินัยกรรมไปต้องทำใหม่. แม้เภสัชมีน้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย ที่เธอรับประเคนไว้เป็นต้น ย่อมขาดประเคนไป.
               ถ้าเพศเปลี่ยนกลับในวันที่ ๗ แต่วันที่รับประเคนไป, รับประเคนใหม่ ควรฉันได้ ๗ วัน.#- ส่วนสิ่งใดเป็นของภิกษุรูปอื่น เธอรับประเคนไว้ในเวลาเป็นภิกษุ สิ่งนั้นไม่ขาดประเคน. แม้สิ่งใดที่เป็นของทั่วไปแก่ภิกษุสองรูปยังมิได้แบ่งปันกัน ปกตัตตภิกษุย่อมรักษาสิ่งนั้นไว้. ส่วนสิ่งใดได้แบ่งกันแล้วเป็นของเธอเอง สิ่งนั้นย่อมขาดประเคนไป.
               จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัส คำนี้ไว้ในคัมภีร์บริวารว่า
                         ภิกษุรับประเคนน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
               หรือเนยใสเองแล้ว เก็บไว้เอง เมื่อยังไม่ล่วง
               ๗ วัน เป็นอาบัติแก่เธอผู้ฉัน เพราะมีปัจจัย,
               ปัญหานี้ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกันแล้ว.
____________________________
#- สตฺตาหํปริภุญฺชิตุํ วฏฺฏติ. สารัตถทีปนี. ๒/๑๖๐.

               [ขาดประเคนเพราะเหตุ ๗ อย่าง]               
               จริงอยู่ พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาเพศกลับ. ขึ้นชื่อว่า การรับประเคนย่อมขาดไป เพราะเพศกลับ ๑ เพราะมรณภาพ ๑ เพราะลาสิกขา ๑ เพราะหันไปเป็นคนเลว ๑ เพราะให้แก่อนุปสัมบัน ๑ เพราะไม่เสียดายสละเสีย ๑ เพราะถูกชิงเอาไป ๑ เพราะฉะนั้น แม้ถ้ามีสิ่งของที่รับประเคนเก็บไว้จะเป็นชิ้นสมอก็ตาม สิ่งทั้งหมดของเธอย่อมขาดประเคนไป.
               อนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นของนางภิกษุณีนั้น เธอรับประเคนหรือยังมิได้รับประเคนก็ตาม ซึ่งเก็บไว้ในวิหารของภิกษุ, ภิกษุณีรูปนั้นแลเป็นใหญ่แห่งสิ่งของทั้งหมด ควรให้เธอขนเอาไปเสีย. ส่วนสิ่งใดเป็นของถาวรซึ่งเป็นของส่วนตัวของเธอในวิหารของภิกษุนี้ จะเป็นเสนาสนะหรือต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็ตาม, เธอปรารถนาจะให้สิ่งของเหล่านั้นแก่บุคคลใด ก็พึงให้แก่บุคคลนั้น.
               บรรดาสมมติ ๑๓ อย่าง สมมติที่เธอได้ในเวลาเป็นภิกษุ ย่อมระงับไปทั้งหมด. การถือเสนาสนะในวันเข้าพรรษาแรก ย่อมระงับไป. ถ้าเพศกลับในเมื่อเธอถือเสนาสนะในวันเข้าพรรษาหลังแล้ว และภิกษุสงฆ์ปรารถนาจะให้ลาภที่เกิดขึ้นแก่เธอควรอปโลกน์ให้.
               ถ้าเพศกลับเมื่อกำลังอยู่ปริวาสเพื่ออาบัติที่ปิดไว้ทั่วไปกับนางภิกษุณี สงฆ์พึงให้ปักขมานัตทีเดียว. ถ้าเพศกลับกำลังประพฤติมานัต ควรให้ปักขมานัตซ้ำอีก.
               ถ้าเพศกลับเมื่อประพฤติมานัตแล้ว พวกภิกษุณีควรทำอัพภานกรรม. ถ้าเมื่ออกุศลวิบากหมดสิ้นแล้ว เพศกลับใหม่อีกในกาลแห่งปักขมานัต พึงให้มานัต ๖ ราตรีเท่านั้น. ถ้าประพฤติปักขมานัตเสร็จแล้ว เพศจึงกลับ พวกภิกษุพึงทำอัพภานกรรมฉะนี้แล.
               ในเรื่องเพศกลับของนางภิกษุณีในลำดับต่อไป พึงทราบวินิจฉัยทั้งปวงตามนัยที่กล่าวแล้วในเรื่องนี้นั่นแล.
               ส่วนเนื้อความที่แปลกกันมีดังต่อไปนี้ :-
               แม้ถ้าในเวลาเป็นภิกษุณีมีสัญจริตอาบัติที่ต้องแล้วปิดไว้ ไม่มีการให้ปริวาส พึงให้มานัต ๖ ราตรีทีเดียว. เพศกลับเมื่อกำลังประพฤติปักขมานัต ไม่ต้องการด้วยปักขมานัตนั้น พึงให้มานัต ๖ ราตรีเหมือนกัน.
               ถ้าเพศกลับเมื่อประพฤติมานัตเสร็จแล้ว ไม่ต้องให้มานัตซ้ำอีก ภิกษุทั้งหลายพึงอัพภาน. ถ้าเมื่อภิกษุทั้งหลายยังไม่ให้มานัต เพศกลับคืนใหม่ พวกภิกษุณีพึงให้ปักขมานัตนั่นเอง. ถ้ากำลังประพฤติมานัต ๖ ราตรี เพศกลับคืนใหม่ พึงให้ปักขมานัตเหมือนกัน. แต่เมื่อประพฤติมานัตเสร็จแล้ว เพศกลับคืนตามเดิม พวกภิกษุณีพึงทำอัพภานกรรมให้.
               อนึ่ง แม้เมื่อนางภิกษุณีนั้นคงตั้งอยู่ในความเป็นภิกษุ ในเมื่อเพศกลับคืนตามเดิมแล้วอาบัติเหล่าใดที่ระงับไปแล้วในกาลก่อน อาบัติเหล่านั้นเป็นอันระงับด้วยดีทีเดียวแล.
               เรื่องทั้ง ๔ เรื่องต่อจากเพศกลับคืนนี้ไปมีอาทิว่า มาตุยา เมถุนํ ธมฺมํ ดังนี้ มีเนื้อความชัดเจนแล้วทั้งนั้น.
               ในเรื่องภิกษุมีหลังอ่อนมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเคยเป็นนักระบำ หลังของเธอได้ทำการฝึกหัดมาแล้ว เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในศิลปะ จึงได้เป็นอวัยวะที่อ่อน. เพราะฉะนั้น เธอจึงได้ย่อตัวลงทำกรรมอย่างนั้นแล้ว.
               ในเรื่องภิกษุมีองคชาตยาวมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุรูปนั้นมีองคชาตยาว เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่าลัมพี ผู้มีองค์กำเนิดยาว.
               เรื่องบาดแผล ๒ เรื่องต่อจากเรื่องภิกษุมีองคชาตยาวนี้ไป มีเนื้อความชัดเจนแล้วทีเดียว.
               ในเรื่องรูปปั้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               รูปที่ทำด้วยจิตรกรรม ชื่อว่า เลปจิตร คือรูปปั้น.
               ในเรื่องตุ๊กตาไม้มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               รูปที่เขาทำด้วยไม้ ชื่อว่าตุ๊กตาไม้. เหมือนอย่างว่า เมื่อภิกษุพยายามในรูปจิตรกรรมและรูปตุ๊กตาไม้ทั้ง ๒ นี้ เป็นทุกกฏฉันใด, เมื่อพยายามด้วยความกำหนัดในเมถุนที่นิมิตในรูปหญิงซึ่งเป็นอนุปาทินนกะ (รูปที่ไม่มีใจครอง) มีรูปฟัน รูปผ้าเปลือกไม้และรูปโลหะเป็นต้นแม้เหล่าอื่น อสุจิจะเคลือนออกหรือไม่ก็ตาม เป็นทุกกฏทีเดียวฉันนั้น. ถึงเมื่อจะพยายามด้วยความกำหนัดในอันเคล้าคลึงกาย ก็เป็นทุกกฏเหมือนอย่างนั้นแล. แต่เมื่อพยายามด้วยความกำหนัดในอันปล่อย เมื่ออสุจิเคลื่อนออกเป็นสังฆาทิเสส, เมื่อไม่เคลื่อนออกเป็นถุลลัจจัยฉะนี้แล.

               [เรื่องสตรีรักสวาทพระภิกษุสุนทร]               
               ในเรื่องพระภิกษุชื่อสุนทร มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               พระภิกษุรูปนี้ชื่อสุนทร เป็นเด็กหนุ่มของตระกูลในกรุงราชคฤห์ บวชด้วยศรัทธา เพราะความที่ท่านมีอัตภาพสวยงาม จึงได้นามว่าสุนทร. สตรีนางนั้นพบเห็นท่านกำลังเดินไปตามทางรถ ก็เกิดฉันทราคะขึ้นแล้วได้กระทำอาการที่แปลกนี้.
               ส่วนพระเถระเป็นพระอนาคามี เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่ยินดี. อันสภาพคือความไม่ยินดีนี้ ไม่ใช่วิสัยของปุถุชนเหล่าอื่น.
               ใน ๔ เรื่องถัดจากเรื่องพระสุนทรนี้ไป มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้เซอะโง่เขลารับคำของมาตุคามแล้วทำตามอย่างนั้น ภายหลังจึงมีความรังเกียจขึ้น.
               ๓ เรื่องมีเรื่องซากศพที่สัตว์ยังมิได้กัดกินเป็นต้น มีเนื้อความชัดเจนแล้วทั้งนั้น.

               [ภิกษุเสพเมถุนธรรมทางปากศพเป็นปาราชิก]               
               ในเรื่องซากศพที่มีศีรษะขาด ๒ เรื่องมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า วฏฺฏกเต มุเข คือ ในปากที่อ้า.
               ภิกษุเมื่อสอดองคชาตเข้าไป (ในปากที่อ้านั้น) ถ้าสอดเข้าไปให้ถูกข้างล่างก็ดี ข้างบนก็ดี ข้างทั้งสองก็ดี เป็นปาราชิก. ครั้นสอดเข้าไปไม่ถูกทั้ง ๔ ข้าง แต่ถูกเพดานข้างในเป็นปาราชิกเหมือนกัน. เมื่อไม่ถูกทั้ง ๔ ข้างและเพดาน สอดให้เชิดไปบนอากาศเท่านั้นและชักออก เป็นทุกกฏ.
               อนึ่ง ถ้าฟันปิดแนบสนิทดี ภายในปาก ไม่มีช่อง และฟันถูกเนื้อริมฝีปากภายนอกปิด เมื่อภิกษุสอดเข้าไปยังช่องที่เปียกชุ่ม ซึ่งลมไม่ถูกต้อง ในปากที่มีเนื้อริมฝีปากปิดไว้นั้น แม้ชั่วเมล็ดงาเดียวเป็นปาราชิกเหมือนกัน. แต่เมื่อพยายามเฉพาะที่ฟัน ซึ่งมีเนื้อริมฝีปากที่เขาเฉือนออกไปแล้ว เป็นถุลลัจจัย. แม้ฟันซี่ใดที่ยื่นออกไปข้างนอก ไม่อาจจะปิดริมฝีปากได้, เมื่อภิกษุพยายามที่ฟันนั้นก็ดี พยายามที่ลิ้นซึ่งยื่นออกไปข้างนอกก็ดี เป็นถุลลัจจัยเหมือนกัน. แม้ในสรีระที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อพยายามที่ลิ้นซึ่งยื่นออกไปข้างนอก เป็นถุลลัจจัยเหมือนกัน. แต่ถ้าฟันที่ลิ้นซึ่งยื่นออกไปข้างนอกไว้มิดชิดแล้วจึงสอดเข้าไปในปาก เป็นปาราชิกเหมือนกัน. เมื่อสอดองคชาตเข้าไปบนคอทางส่วนล่างแม้แห่งซากศพที่มีศีรษะขาด ถูกเพดาน เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
               ในเรื่องกระดูกมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               แม้เมื่อภิกษุกำลังเดินไปยังสุสาน เป็นทุกกฏ เมื่อรวบรวมกระดูกมาไว้ก็ดี กองไว้ก็ดี พยายามที่นิมิตด้วยความกำหนัดในเมถุนก็ดี พยายามด้วยความกำหนัดในอันเคล้าคลึงกายก็ดี อสุจิจะเคลื่อนออกหรือไม่ก็ตาม เป็นทุกกฏทั้งนั้น แต่เมื่อพยายามด้วยความกำหนัดในอันปล่อย เมื่ออสุจิเคลื่อนออกเป็นสังฆาทิเสส เมื่อไม่เคลื่อนออกเป็นถุลลัจจัย.
               ในเรื่องนาคตัวเมียมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุเสพเมถุนธรรมในจำพวกสัตว์ทั้งปวง จะเป็นนางนาคมาณวิกา หรือบรรดานางกินรีเป็นต้นตนใดตนหนึ่งก็ตาม เป็นปาราชิก.
               ในเรื่องนางยักษิณีมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เทวดาแม้ทั้งหมด ก็คือนางยักษิณีนั่นเอง.

               [ภิกษุเสพเมถุนธรรมในหญิงเปรตเป็นต้นเป็นปาราชิก]               
               ในเรื่องหญิงเปรตมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เปรตทั้งหลายมีนิชฌามตัณหิกเปรตเป็นต้น ใครๆ ไม่สามารถแม้จะแตะต้องได้. แต่นางวิมานเปรตทั้งหลายมีอยู่ อกุศลกรรมของนางวิมานเปรตเหล่าใดให้ผลอยู่ในข้างกาฬปักข์ นางวิมานเปรตเหล่านั้นย่อมได้เสวยสมบัติในข้างชุณหปักข์ เหมือนเทวดาฉะนั้น. ถ้าการเห็น การจับ การลูบคลำ การถูกต้องและการกระทบของหญิงเปรต หรือของนางยักษิณีผู้เห็นปานนั้นปรากฏได้ เป็นปาราชิก. ถ้าแม้ไม่มีการเห็น แต่กิจนอกนี้ปรากฏ ก็เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง การเห็นและการจับไม่ปรากฏ แต่เปรตทำบุคคลนั้น (คือภิกษุ) ให้ปราศจากสัญญา (หมดสติ) ด้วยการลูบคลำ ถูกต้องและกระทบที่ปรากฏอยู่ให้สำเร็จมโนรถของตนแล้วก็ไป ความพยายามนี้ ชื่อว่าไม่ใช่วิสัย เพราะฉะนั้น ในข้อนี้จึงไม่เป็นอาบัติ เพราะไม่ใช่วิสัย.
               เรื่องบัณเฑาะก์ปรากฏชัดแล้วแล.
               ในเรื่องภิกษุมีอินทรีย์พิการมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า อุปหตินฺทฺริโย ความว่า เธอมีกายประสาทถูกโรคเบียดเบียนแล้ว ย่อมไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์ เหมือนตอไม้และท่อนไม้ ฉะนั้น. แม้เมื่อเธอไม่รู้สึก ก็เป็นอาบัติ เพราะอำนาจเสวนจิต.
               ในเรื่องเพียงถูกต้องกายมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภิกษุรูปใดคิดในใจว่า เราจักเสพเมถุนธรรม จึงจับมาตุคาม คลายความกำหนัดในเมถุนแล้วเป็นผู้มีความวิปฏิสาร ภิกษุรูปนั้นเป็นทุกกฏเท่านั้น. เพราะว่า กิจทั้งหลายมีการจับมือเป็นต้นเป็นปุพพประโยคแห่งเมถุนธรรม ย่อมตั้งอยู่ในทุกกฏ ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดแล้วจึงเป็นปาราชิก.
               จริงอยู่ ทุกกฎเท่านั้นใกล้ต่อปฐมปาราชิก. บรรดาอาบัติทั้ง ๓ นอกนี้ (ทุกกฏ ถุลลัจจัย สังฆาทิเสส) ถุลลัจจัยก็ใกล้ต่อปฐมปาราชิก ส่วนภิกษุรูปนี้ปราศจากความกำหนัดในเมถุนธรรมแล้ว พึงทราบว่า ยินดีเฉพาะการเคล้าคลึงกาย. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นอาบัติสังฆาทิเสส.

               [เรื่องภิกษุอรหันต์ชาวภัททิยนครจำวัดหลับ]               
               ในเรื่องภิกษุชาวเมืองภัททิยะมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               นครชื่อว่าภัททิยะ. นครนั้นได้ชื่ออย่างนี้ เพราะมีพุ่มดอกมะลิชาติ ที่ชื่อว่าชาติยาวัน หนาแน่น. ป่านั้นมีอยู่ใกล้อุปจารแห่งพระนครนั้น. ภิกษุรูปนั้นพักจำวัดอยู่ที่ป่านั้น แล้วก้าวลงสู่ความหลับสนิท เพราะถูกลมรำเพยพัดนั้น. ภวังคจิตมีกระแสเดียวเท่านั้นแล่นไป.
               สองบทว่า กิลินฺนํ ปสฺสิตฺวา ความว่า เห็นองคชาตเปรอะเปื้อนด้วยอสุจิ.
               ๕ เรื่อง ถัดจากเรื่องภิกษุชาวเมืองภัททิยะนี้ไป คือเรื่องที่ปฏิสังยุตด้วยความยินดีมี ๔ เรื่องและเรื่องไม่รู้สึกตัวมี ๑ เรื่อง มีเนื้อความชัดเจนแล้วทีเดียว.
               ในเรื่องไม่ยินดีอีก ๒ เรื่อง มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า สหสา วุฏฺฐาสิ ความว่า ภิกษุรูปนั้นรีบลุกขึ้นทันที เหมือนถูกอสรพิษกัดและเหมือนถูกไฟไหม้ ฉะนั้น.
               สองบทว่า อกฺกมิตฺวา ปวฏฺเฏสิ ความว่า ภิกษุผู้ไม่ประมาท เริ่มเจริญวิปัสสนา ควบคุมสติไว้เฉพาะหน้า รีบลุกขึ้นทันที ยันให้กลิ้งกลับ เลื่อนตกไปบนพื้นดิน. อันกัลยาณปุถุชนทั้งหลายควรรักษาจิตไว้ ในฐานะเห็นปานนี้. และภิกษุรูปนี้เป็นบรรดากัลยาณปุถุชนเหล่านั้นรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นเช่นกับยอดนักรบในสงคราม.

               [เรื่องภิกษุเปิดประตูจำวัด]               
               ในเรื่องเปิดประตูจำวัด มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า ทิวา ปฏิสลฺลิยนฺเตน ความว่า ผู้จะพักจำวัดในกลางวัน.
               หลายบทว่า ทฺวารํ สํวริตฺวาปฏิสลฺลิยิตุํ ความว่า เพื่อให้ปิดประตูก่อนจึงจำวัดได้. ก็ในเรื่องเปิดประตูจำวัดนี้ ในพระบาลีพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ปรับอาบัติไว้ว่า เป็นอาบัติชื่อนี้ แม้ก็จริง ถึงกระนั้น พระเถระทั้งหลายก็ปรับเป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่ปิดประตูเสียก่อนพักผ่อน เพราะเมื่อเรื่องเกิดขึ้น เพราะโทษที่เปิดประตูนอน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะพักผ่อนในกลางวัน ปิดประตูเสียก่อนจึงพักผ่อนได้.
               จริงอยู่ พระเถระทั้งหลายมีพระอุบาลีเถระเป็นต้น ทราบพระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงได้ตั้งอรรถกถาไว้. ก็คำที่ว่า เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่ปิดประตูเสียก่อน พักผ่อน นี้สำเร็จแล้วแม้ด้วยคำนี้ว่า มีอาบัติที่ภิกษุต้องในกลางวัน ไม่ต้องในกลางคืน.

               [อธิบายประตูเช่นไรควรปิดและไม่ควรปิด]               
               ถามว่า ก็ประตูเช่นไรควรปิด? เช่นไรไม่ควรปิด?
               แก้ว่า ประตูเวียนที่เขาเอาบรรดาวัตถุชนิดใดชนิดหนึ่ง มีไม้เลียบ ไม้ไผ่เลียบ ลำแพนและใบไม้เป็นต้น ทำเป็นบานประตูแล้วสอดลูกล้อครกไว้ตอนล่างและห่วงบนไว้ตอนบนนั่นแล ควรปิด. ประตูชนิดอื่นเห็นปานนี้ คือประตูลิ่มสลักไม้และประตูหนาม ที่คอกฝูงโค ประตูล้อเลื่อนสำหรับกั้นบ้านในบ้าน ประตูแผงเลื่อนที่เขาทำประกอบลูกล้อ ๒-๓ อันไว้ที่แผ่นกระดานหรือที่กันสาด ประตูแผงลอยที่เขาทำยกออกได้ เหมือนอย่างในร้านตลาด ประตูลูกกรงที่เขาร้อยซี่ไม้ไผ่ไว้ในที่ ๒-๓ แห่ง ทำไว้ที่บรรณกุฏี (กระท่อมใบไม้) ประตูม่านผ้า ไม่ควรปิด.
               ก็ประตูม่านผ้าชนิดเดียวเท่านั้น ไม่ทำให้ต้องอาบัติ ในเวลาที่ภิกษุมีบาตรที่มือผลักบานประตู. เมื่อผลักประตูที่เหลือต้องอาบัติ. แต่ประตูเวียนนั่นแล ทำให้ต้องอาบัติแก่ภิกษุผู้พักผ่อนในกลางวัน.
               ประตูที่เหลือ เมื่อภิกษุปิดก็ตาม ไม่ปิดก็ตามแล้วจำวัด อาบัติหามีไม่ แต่ควรปิดเสียก่อน จึงจำวัด ข้อนี้เป็นธรรมเนียม.
               ถามว่า ก็ประตูเวียนย่อมเป็นอันปิดดีแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร?
               แก้ว่า เมื่อใส่ลูกดาลและลิ่มสลักแล้ว ก็เป็นอันปิดด้วยดีทีเดียว.
               อีกประการหนึ่ง แม้เมื่อใส่เพียงลูกดาลแล้วจะพักจำวัดก็ควร แม้เมื่อใส่เพียงลิ่มสลักแล้ว จะพักจำวัดก็ควร แม้เมื่อปิดพอให้บานประตูจดกันแล้ว จะพักจำวัดก็ควร แม้เมื่อปิดแง้มไว้เล็กน้อยแล้ว จะพักจำวัดก็ควร ด้วยวิธีอย่างหลังที่สุด แม้เมื่อปิดประตูแง้มไว้ขนาดพอศีรษะสอดเข้าไม่ได้ จะพักจำวัด ก็ควรฉะนี้แล.
               ถ้าสถานที่นั้นเป็นที่ใช้ของคนหมู่มาก แม้จะพูดกะภิกษุหรือสามเณรว่า อาวุโส จงช่วยกันรักษาประตู แล้วจำวัดก็ควร. ถ้าแม้จะทำความผูกใจไว้ว่า ภิกษุทั้งหลายผู้นั่งทำจีวรกรรม หรือกิจอะไรอย่างไรอื่นอยู่ เธอเหล่านั้นจักช่วยรักษาประตูนั่น ดังนี้แล้วจำวัดก็ควร.
               ส่วนในอรรถกถากุรุนที ท่านกล่าวว่า จะบอกแม้กะอุบาสกหรือจะทำความผูกใจไว้ว่า อุบาสกนี้จะช่วยรักษา แล้วจำวัดก็ควร, จะบอกภิกษุณีหรือมาตุคามอย่างเดียวไม่ควร.
               ถ้าลูกล้อหรือห่วงบนประตูเสียหายไป หรือไม่ตั้งอยู่ (ในที่เดิม) จึงไม่อาจจะปิดได้ ก็อีกอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่นวกรรม เขาทำกองอิฐหรือกองดินเหนียวเป็นต้นไว้ภายในประตู หรือผูกนั่งร้านไว้ โดยที่ไม่อาจจะปิด (ประตู) ได้ ในอันตรายเห็นปานนั้น แม้จะไม่ปิดประตู พักจำวัดก็ควร.
               ก็ถ้าไม่มีบานประตู เป็นอันได้ข้ออ้างแท้. เมื่อจะจำวัดข้างบนควรยกม่านขึ้นไว้ จึงจำวัด. ถ้าข้างบนม่านมีไม้สำหรับกั้นไว้ ควรกั้นไว้ จึงจำวัด. เมื่อจะจำวัดในห้อง จะปิดประตูหรือประตูหน้ามุขอย่างใดอย่างหนึ่งไว้แล้วจำวัด ก็ควร.
               ถ้าที่ข้างทั้งสองในเรือนมีฝาด้านเดียว เขาทำใช้หลายประตู, ควรรักษาทั้งสองประตู. ในปราสาทแม้ ๓ ชั้น ควรรักษาประตูเดียวเท่านั้น. ถ้าภิกษุมากรูปกลับจากเที่ยวภิกขาจาร เข้าไปยังปราสาทเช่นโลหปราสาท เพื่อพักผ่อนกลางวัน, พระสังฆเถระควรสั่งผู้รักษาประตูว่า จงช่วยรักษาประตู หรือจะทำความผูกใจไว้ว่า การรักษาประตูเป็นภาระของนายทวารบาลนั่น แล้วพึงเข้าไปจำวัดเถิด. ภิกษุทั้งหลายควรทำอย่างนั้นเหมือนกันจนถึงพระสังฆนวกะ. ผู้ที่เข้าไปก่อนแม้จะทำความผูกใจไว้อย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการรักษาประตูเป็นภาระของผู้มาภายหลัง ดังนี้ก็ควร.
               เมื่อภิกษุไม่ทำการบอกเล่าหรือความผูกใจไว้ แล้วพักจำวัดภายในห้องที่ไม่ได้ปิดประตูหรือภายนอกห้อง เป็นอาบัติ. แม้ในเวลาจำวัดในห้องหรือในภายนอกห้อง ทำความผูกใจไว้ว่า ขึ้นชื่อว่าการรักษาประตูในประตูใหญ่เป็นภาระของนายทวารบาล ดังนี้แล้วจำวัด ควรเหมือนกัน. แม้ภิกษุผู้จะจำวัดที่พื้นอากาศ (ดาดฟ้า) ในสถานที่มีโลหปราสาทเป็นต้น ควรปิดประตูแท้ทีเดียว.
               ก็ในเรื่องปิดประตูจำวัดนี้ มีความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               การพักผ่อนในกลางวันนี้ ท่านกล่าวไว้ในสถานที่มีระเบียงซึ่งล้อมด้วยกำแพงหรือรั้วอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น อันภิกษุผู้จะจำวัดในที่แจ้งโคนต้นไม้ หรือมณฑปที่ใดที่หนึ่งซึ่งมีระเบียง ควรปิดประตูเสียก่อน จึงจำวัด.
               ถ้าเป็นบริเวณใหญ่ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมของคนหมู่มาก เช่นลานมหาโพธิ์และลานโลหปราสาท, ในสถานที่ใด ประตูแม้ที่เขาปิดแล้ว ก็ไม่ตั้งอยู่ในที่ๆ ปิด (คือปิดๆ เปิดๆ) ภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ประตูถึงต้องเที่ยวปีนขึ้นกำแพงไป ในสถานที่นั้นไม่มีกิจที่จะต้องปิด (ประตู).
               ภิกษุเปิดประตูจำวัดตลอดคืน ลุกขึ้นแล้วในเวลารุ่งอรุณ ไม่เป็นอาบัติ. แต่ถ้าตื่นแล้วหลับซ้ำอีกเป็นอาบัติ. ส่วนภิกษุรูปใดกำหนดไว้ทีเดียวว่า เมื่อรุ่งอรุณแล้วจักลุกขึ้น ไม่ได้ปิดประตูจำวัดตลอดคืน แต่ลุกขึ้นทันตามกำหนดนั่นเอง. ภิกษุรูปนั้นเป็นอาบัติทีเดียว.
               ส่วนในอรรถกถามหาปัจจรีท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อจำวัดด้วยอาการอย่างนั้น ไม่พ้นจากทุกกฏเพราะไม่เอื้อเฟื้อ.
               ส่วนภิกษุใดรักษา (พยาบาล) ภิกษุอาพาธเป็นต้นหลายราตรีทีเดียว หรือเดินทางไกล มีร่างกายอิดโรยทั้งวัน นั่งบนเตียงแล้ว พอยกเท้ายังไม่พ้นจากพื้นดินเลย ก็จำวัดหลับ เพราะอำนาจความหลับ (ครอบงำ),
               ภิกษุนั้นไม่เป็นอาบัติ.
               ถ้าเธอก้าวลงสู่ความหลับทั้งไม่รู้สึกตัว พอยกเท้าขึ้นเตียง ก็เป็นอาบัติทีเดียว. เมื่อนั่งพิงหลับไปไม่เป็นอาบัติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุรูปใดเดินจงกรมด้วยตั้งใจว่า จักบรรเทาความง่วงแล้วล้มลง รีบลุกขึ้นทันที แม้ภิกษุรูปนั้นก็ไม่เป็นอาบัติ. ส่วนภิกษุรูปใดล้มลงแล้ว นอนอยู่ในสถานที่นั้นนั่นเองไม่ยอมลุกขึ้น ภิกษุรูปนั้นเป็นอาบัติ.
               ถามว่า ใครพ้น (จากอาบัติ)? ใครไม่พ้น?
               แก้ว่า ในอรรถกถามหาปัจจรี ท่านกล่าวไว้ก่อนว่า ผู้ที่จำวัดโดยพับไปข้างเดียวนั่นแลย่อมพ้น, ส่วนที่ยกเท้าพ้นจากพื้นดินแล้วจำวัด จะเป็นผู้ที่ถูกยักษ์เข้าสิงก็ตาม เป็นผู้ปราศจากสัญญา (หมดสติ) ก็ตาม ย่อมไม่พ้น.
               ในอรรถกถากุรุนที ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ถูกมัดให้นอนเท่านั้น ย่อมพ้น.
               ส่วนในมหาอรรถกถา พระมหาปทุมเถระกล่าวไว้ว่า ภิกษุรูปใดเดินจงกรมอยู่ สลบล้มลง แล้วหลับอยู่ในสถานที่นั้นนั่นเอง อาบัติย่อมไม่ปรากฏแก่ภิกษุรูปนั้น เพราะเธอไม่มีอำนาจ. แต่พระอาจารย์ทั้งหลายมิได้กล่าวไว้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอาบัติทีเดียว.
               ส่วนภิกษุ ๒ รูป คือ ผู้ที่ยักษ์เข้าสิง ๑ ผู้ที่ถูกมัดให้นอน ๑ ย่อมพ้นจากอาบัติแท้แล.

               [เรื่องภิกษุฝันได้เสพเมถุนธรรม]               
               ในเรื่องภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า อนาปตฺติ สุปินนฺเตน ความว่า ชื่อว่าไม่เป็นอาบัติ เพราะความฝันด้วยอาการอย่างนี้ เพราะไม่ใช่วิสัย เหตุดังนั้น พระอุบาลีเถระจึงได้วินิจฉัยเรื่องนี้ แม้ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เคยทรงวินิจฉัยเลย โดยความถือเอาตามนัย.
               และแม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสดับ (เรื่องที่ท่านพระอุบาลีเถระวินิจฉัยนั้นแล้ว) ตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาลีกล่าวไว้ชอบแล้ว, อุบาลีกล่าวแก้ปัญหานี้ ดุจทำรอยเท้าไว้ในที่ไม่มีรอยเท้า ดุจแสดงรอยเท้าไว้ในอากาศ ฉะนั้น ดังนี้แล้ว
               จึงทรงตั้งพระเถระไว้ในเอตทัคคะว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้ทรงวินัย อุบาลีนี้เป็นเยี่ยม.
               เรื่องทั้งหลายมีเรื่องนางสุปวาสาเป็นต้น๒- ถัดจากเรื่องภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะนี้ไป มีเนื้อความชัดเจนแล้วทีเดียว.
____________________________
๑- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๒๑/หน้า ๓๒.
๒- บาลีเดิมเป็น สุปัพพา.

               ในเรื่องทั้งหลายมีเรื่องชักนำให้ภิกษุขืนเสพเมถุนธรรมในนางภิกษุณีเป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เจ้าลิจฉวีกุมารเหล่านั้นเป็นผู้ทรงขวนขวายในการเล่น ได้ทำอย่างนั้นเพราะอนาจารของตน. ตั้งแต่กาลนั้นมา ความพินาศจึงได้เกิดมีขึ้นแก่เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย เพราะทรงทำเหตุอย่างนั้น.
               ในเรื่องภิกษุผู้บวชเมื่อแก่มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า ทสฺสนํ อคมาสิ ความว่า ภิกษุผู้เฒ่านั้นคิดว่า จักเยี่ยมภรรยาเก่านั้น จึงได้ไปยังเรือน เพราะความอนุเคราะห์. ขณะนั้น นางได้ชี้แจงถึงข้อที่ตนและพวกเด็กๆ ไม่มีที่พึ่ง ให้ท่านฟังโดยประการต่างๆ และทราบว่าภิกษุเฒ่านั้นไม่มีความไยดี จึงโกรธแล้วพูดว่า ท่านจงมาสึกเสียเถิด จึงได้จับท่านโดยพลการ.
               ท่านผู้เฒ่าได้ถอยกลับไปเพื่อเปลื้องตน จึงได้ล้มหงายลง เพราะความชราทุพพลภาพ.
               ขณะนั้น นางได้ทำตามใจของตนแล้ว.
               แต่ภิกษุรูปนั้นเป็นพระอนาคามี ตัดกามราคะได้เด็ดขาดแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ยินดี ฉะนี้แล.
               เรื่องลูกเนื้อมีเนื้อความชัดเจนแล้วทีเดียว ฉะนี้แล.

               ปฐมปาราชิกวรรณนา แห่งวินัยสังวรรณนา               
               ชื่อสมันตปาสาทิกาจบ.               

                                   ในข้อที่อรรถกถาชื่อสมันตปาสาทิกา
                         ในวินัยนั้น ชวนให้เกิดความเลื่อมใสรอบด้าน
                         มีคำอธิบายดังจะกล่าวต่อไปดังนี้ว่า
                                   เมื่อวิญญูชนทั้งหลาย สอดส่องอยู่โดย
                         ลำดับแห่งอาจารย์ โดยการแสดงประเภทแห่ง
                         นิทานและวัตถุ โดยความเว้นลัทธิอื่น โดย
                         ความหมดจดแห่งลัทธิของตน โดยการชำระ
                         พยัญชนะให้เรียบร้อย โดยเนื้อความเฉพาะ
                         บท โดยลำดับแห่งบาลีและโยชนาแห่งบาลี
                         โดยการวินิจฉัยสิกขาบทและโดยการชี้ความ
                         ต่างแห่งวินัยในวิภังค์,
                                   คำน้อยหนึ่งซึ่งไม่ชวนให้เกิดความเลื่อมใส
                         ย่อมไม่ปรากฏในสมันตปาสาทิกานี้ เพราะเหตุนั้น
                         สังวรรณนาแห่งวินัยที่พระโลกนาถผู้อนุเคราะห์โลก
                         ฉลาดในการฝึกเวไนย ได้ตรัสไว้นี้ จึงเป็นไปโดย
                         ชื่อว่า สมันตปาสาทิกา แล.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปฐมปาราชิกสิกขาบท วินีตวัตถุ อุทานคาถา เรื่องลิงตัวเมียเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 47อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 48อ่านอรรถกถา 1 / 79อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=5569&Z=6086
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=6863
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=6863
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :