ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

               อรรถกถาพระวินัย               
               ชื่อสมันตปาสาทิกาแปล               
               มหาวิภังควรรณนา               
               ภาค ๑               
               ----------------------------------------------               
               อารัมภกถา               
                                   #- ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการแด่พระผู้เป็นที่พึ่งผู้
                         ประกอบด้วยพระมหากรุณา พระองค์ผู้ทรงกระทำกรรม
                         ที่ทำได้ยากยิ่งตลอดกาลซึ่งจะนับประมาณมิได้ แม้ด้วย
                         หลายโกฏิกัป ทรงถึงความยากลำบาก เพื่อประโยชน์
                         เกื้อกูลแก่สัตวโลก.
                                   ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการแก่พระธรรมอันประเสริฐ
                         อันขจัดเสียซึ่งข่ายคือกิเลสมีอวิชชาเป็นต้น ที่พระพุทธ
                         เจ้าทรงเสพอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งสัตวโลก เมื่อไม่หยั่งรู้ต้อง
                         ท่องเที่ยวไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่.
                                   ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระ
                         อริยสงฆ์ ผู้ประกอบด้วยคุณมีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ
                         และวิมุตติญาณทัสสนะเป็นเค้ามูล เป็นเนื้อนาบุญของ
                         เหล่าชนผู้มีความต้องการด้วยกุศล.
                                   ข้าพเจ้านมัสการอยู่ ซึ่งพระรัตนตรัยอันควร
                         นมัสการโดยส่วนเดียว ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ได้
                         แล้วซึ่งกุศลผลบุญที่ไพบูลย์ หลั่งไหลไม่ขาดสายอันใด
                         ด้วยอานุภาพแห่งกุศลผลบุญนั้น ขอข้าพเจ้าจงเป็น
                         ผู้ปลอดอันตราย.
                                   ข้าพเจ้าจักอาศัยอานุภาพของท่านบูรพาจารย์
                         พรรณนาพระวินัยให้ไม่ปะปนกัน ซึ่งเมื่อทรงอยู่แล้ว
                         ศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้มิได้ทรงตั้งมั่นอยู่ (ในส่วนสุด
                         ทั้งสอง) แต่ทรงดำรงชอบด้วยดี (ในมัชฌิมาปฏิปทา)
                         เป็นอันประดิษฐานอยู่ได้.
                                   แท้ที่จริง พระวินัยนี้ ถึงท่านบูรพาจารย์ผู้องอาจ
                         ซึ่งขจัดมลทินและอาสวะออกหมดแล้วด้วยน้ำคือญาณ
                         มีวิชชาและปฏิสัมภิทาบริสุทธิ์ ฉลาดในการสังวรรณนา
                         พระสัทธรรม หาผู้เปรียบปานในความเป็นผู้ขัดเกลาได้
                         ไม่ง่าย เปรียบดังธงชัยของวัดมหาวิหาร ได้สังวรรณนา
                         ไว้โดยนัยอันวิจิตร คล้อยตามพระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ.
                                   กระนั้น เพราะสังวรรณนานี้มิได้อำนวยประโยชน์
                         ไรๆ แก่ชาวภิกษุในเกาะอื่น เพราะท่านเรียบเรียงไว้ด้วย
                         ภาษาชาวเกาะสิงหล ฉะนั้น ข้าพเจ้าผู้รำลึกอยู่ด้วยดี
                         โดยชอบ ถึงคำเชิญของพระเถระนามว่า พุทธสิริ จึงจัก
                         เริ่มด้วยดี ซึ่งการสังวรรณนานี้ อันควรแก่นัยพระบาลี ณ
                         บัดนี้. และเมื่อจะเริ่มด้วยดีซึ่งสังวรรณนานั้น จักเอามหา
                         อรรถกถาเป็นโครงของสังวรรณนานั้น ไม่ละข้อความอัน
                         ควร แม้จากวินิจฉัย ซึ่งท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหา
                         ปัจจรีและอรรถกถาอันปรากฏด้วยดี โดยชื่อว่ากุรุนที
                         เป็นต้น กระทำเถรวาทไว้ในภายในแล้ว จึงจักเริ่มด้วยดี
                         โดยชอบซึ่งสังวรรณนา.
                                   ขอภิกษุทั้งหลายปูนเถระ ปูนใหม่และปานกลาง
                         ผู้มีจิตเลื่อมใสเคารพนับถือพระธรรมของพระตถาคตเจ้า
                         ผู้มีดวงประทีปคือพระธรรม จงตั้งใจฟังสังวรรณนานั้น
                         ของข้าพเจ้า โดยเคารพเถิด.
                                   พระอรรถกถาจารย์ชาวสิงหล มิได้ละมติ (อธิบาย)
                         ของท่านพุทธบุตรทั้งหลาย ผู้รู้ธรรมวินัย เหมือนอย่างที่
                         พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ได้แต่งอรรถกถาในปางก่อน. เพราะ
                         เหตุนั้นแล คำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหมดยกเว้น
                         คำที่เขียนด้วยความพลั้งพลาดเสีย ย่อมเป็นประมาณแห่ง
                         บัณฑิตทั้งหลาย ผู้มีความเคารพในสิกขาในพระศาสนานี้.
                         ก็เพราะแม้วรรณนานี้ จะแสดงข้อความแห่งคำทั้งหลาย
                         ที่มาในพระสุตตันตะให้เหมาะสมแก่พระสูตร ละทิ้งภาษา
                         อื่นจากอรรถกถานั้นเสียทีเดียว และย่นพลความพิสดาร
                         (คำประพันธ์ที่พิสดาร) ให้รัดกุมเข้า ก็จักไม่ให้เหลือไว้ซึ่ง
                         ข้อวินิจฉัยทั้งปวง ไม่ข้ามลำดับพระบาลีที่เป็นแบบแผน
                         อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรตามศึกษา
                         วรรณนานี้โดยเอื้อเฟื้อแล. @-
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง
#- พ.ศ.๒๔๘๙-๒๕๐๖
@- นย. สารตฺถทีปนึ ๑/๔๓-๔๗ ว่า เพราะแม้วรรณนานี้ ซึ่งจะแสดง
@- ข้อความแห่งถ้อยคำอันมาในพระสุตตันตะให้เหมาะสมกับพระสูตร
@- ข้าพเจ้าก็จักละภาษาอื่นจากอรรถกถานั้นเสียเลยและย่นพลความที่
@- พิสดารให้รัดกุมเข้า ไม่ละทิ้งข้อวินิจฉัยทั้งปวงให้เหลือไว้ ไม่ข้าม
@- ลำดับพระบาลีที่เป็นแบบแผนอะไรๆ แล้วจักรจนา, เพราะฉะนั้น
@- ผู้ศึกษาควรตั้งใจสำเหนียกวรรณนานี้แล.

               เพราะข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคาถาเหล่านั้นว่า จักพรรณนาพระวินัยดังนี้ ผู้ศึกษาควรกำหนดพระวินัยก่อนว่า วินัยนั้น คืออะไร? เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวคำนี้ว่า ที่ชื่อว่า วินัย ในที่นี้ประสงค์เอาวินัยปิฎกทั้งสิ้น.
               ก็เพื่อจะสังวรรณนาพระวินัยนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวมาติกาดังต่อไปนี้ว่า
                         พระวินัยปิฎกนี้ ผู้ใดกล่าวไว้ กล่าวในกาลใด
                         กล่าวไว้เพราะเหตุใด ผู้ใดทรงไว้ ผู้ใดนำสืบมา
                         และตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด ข้าพเจ้ากล่าววิธีนี้
                         แล้ว ภายหลังจักแสดงเนื้อความแห่งปาฐะว่า
                         "เตน" เป็นต้นโดยประการต่างๆ ทำการพรรณนา
                         อรรถแห่งพระวินัย.
               บรรดามาติกาเหล่านั้น คำว่า วุตฺตํ เยน ยทา ยสฺมา นี้ ท่านอาจารย์กล่าวหมายเอาคำมีอาทิอย่างนี้ก่อนว่า โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ (ณ โคนต้นไม้สะเดาอันนเฬรุยักษ์สิงสถิต) ใกล้เมืองเวรัญชา.๑- เพราะคำนี้มิใช่เป็นคำที่กล่าวให้ประจักษ์กับพระองค์เองแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.๒-
               เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงควรกล่าวตั้งปัญหานั่นดังนี้ว่า คำนี้ใครกล่าวไว้ กล่าวไว้ในกาลไหน และเพราะเหตุไร จึงกล่าวไว้.
               (แก้ว่า) คำนี้ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้ ก็แลคำนั้น ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวไว้ในคราวทำปฐมมหาสังคีติ (ในคราวทำสังคายนาใหญ่ครั้งแรก). อันชื่อว่า ปฐมมหาสังคีตินี้ พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้กล่าวแล้วในปัญจสติกสังคีติขันธกะ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น๓- เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในนิทานบัณฑิตควรทราบตามนัยนี้ แม้ในอรรถกถานี้.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๑
๒- นย. สารตฺถทิปนี ๑/๓๙ ว่า คือมิใช่เป็นพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ หรือเป็นที่ท่านกล่าวไว้ในเวลาที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
๓- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๑๔-๖๒๘/หน้า ๓๗๙-๓๙๔

               พาหิรนิทานวรรณนา               
               [ปรารภมูลเหตุทำปฐมสังคายนา]               
               ความพิสดารว่า ๔-
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นที่พึ่งแห่งโลกทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ตั้งแต่ทรงยังพระธรรมจักรให้เป็นไปเป็นต้น จนถึงโปรดสุภัททปริพาชกแล้วเสด็จปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในเวลาใกล้รุ่ง ในวันวิสาขปุณณมี ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ในสาลวันอันเป็นที่เสด็จประพาสของเจ้ามัลละทั้งหลาย ใกล้กรุงกุสินารา.
               ท่านพระมหากัสสปผู้เป็นพระสังฆเถระแห่งภิกษุประมาณ ๗ แสนรูป ซึ่งประชุมกันในสถานที่ปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ระลึกถึงคำที่สุภัทวุฑฒบรรพชิตกล่าว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วได้ ๗ วันว่า
               อย่าเลย ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกไปเลย ท่านทั้งหลายอย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้วจากพระมหาสมณะพระองค์นั้น ด้วยว่าพวกเราถูกพระมหาสมณะพระองค์นั้น คอยรบกวนห้ามปรามว่า นี้สมควรแก่เธอทั้งหลาย นี้ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลาย ดังนี้ ก็บัดนี้พวกเราจักปรารถนากระทำกรรมใด ก็จักทำกรรมนั้น พวกเราจักไม่ปรารถนากระทำกรรมใด จักไม่ทำกรรมนั้น ดังนี้ ๕-
               ดำริอยู่ว่า ข้อที่พวกปาปภิกษุจะพึงเป็นผู้สำคัญเสียว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงไปแล้ว ดังนี้ ได้พรรคพวกแล้วพึงยังพระสัทธรรมให้อันตรธานได้ไม่นานเลย เรื่องนี้เป็นฐานะที่มีได้แน่. ความจริง พระวินัยยังตั้งอยู่ตราบใด ปาพจน์ยังมีพระศาสดาไม่ล่วงไปแล้วตราบนั้น
               ข้อนี้สมด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               อานนท์ ธรรมวินัยใดอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดังนี้ ๖-
               อย่ากระนั้นเลย เราพึงสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ซึ่งจะเป็นวิธีที่พระศาสนานี้จะพึงดำรงมั่นตั้งอยู่สิ้นกาลนาน.
               อนึ่ง โดยเหตุที่เราเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กัสสป เธอจักทรงผ้าบังสุกุลอันทำด้วยป่านของเรา ซึ่งเราใช้นุ่งห่มแล้วหรือ ดังนี้ แล้วทรงอนุเคราะห์ด้วยสาธารณบริโภคในจีวร และด้วยการทรงยกย่องไว้เทียบเทียมพระองค์ในอุตริมนุสธรรม มีอนุปุพพวิหารเก้า และอภิญญาหกเป็นประเภท
               โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย เราจำนงอยู่เพียงใด เราสงัดแล้วจากกามทั้งหลายเทียว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงพร้อมซึ่งปฐมฌาน อยู่ได้เพียงนั้น ภิกษุทั้งหลาย แม้กัสสปจำนงอยู่เพียงใด เธอสงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ ย่อมเข้าถึงพร้อมซึ่งปฐมฌานอยู่ได้เพียงนั้นเหมือนกัน ดังนี้ ๗- ความเป็นผู้ไม่มีหนี้อย่างอื่นอะไร จักมีแก่เรานั้นได้,
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเราว่า กัสสปนี้จักเป็นผู้ดำรงวงศ์พระสัทธรรมของเรา ดังนี้แล้ว ทรงอนุเคราะห์ด้วยอสาธารณานุเคราะห์นี้ ดุจพระราชาทรงทราบพระราชโอรสผู้จะดำรงวงศ์สกุลของพระองค์แล้ว ทรงอนุเคราะห์ด้วยการทรงมอบเกราะของพระองค์และพระอิสริยยศฉะนั้น มิใช่หรือ ดังนี้ จึงยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัย ๕-
               เหมือนอย่างที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า
               ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปได้เตือนภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากเมืองปาวา มาสู่เมืองกุสินารา ๕- ดังนี้เป็นต้น.
               สุภัททกัณฑ์ทั้งปวง ผู้ศึกษาพึงทราบโดยพิสดาร.
____________________________
๔- องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๐
๕- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๑๔-๖๒๘/หน้า ๓๗๙-๓๙๔
๖- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๔๑/หน้า ๑๗๘
๗- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๕๒๔/หน้า ๒๖๐, สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๔๙๗

               [พระมหากัสสปชักชวนทำสังคายนา]               
               เบื้องหน้าแต่นั้น ท่านพระมหากัสสปได้กล่าวว่า
               ผู้มีอายุทั้งหลาย เอาเถิด เราทั้งหลายจะสังคายนาพระธรรมและพระวินัยกัน เพราะว่า ในกาลเบื้องหน้า อธรรมจะรุ่งเรือง ธรรมจะถูกขัดขวาง อวินัยจะรุ่งเรือง วินัยจะถูกขัดขวาง ในกาลภายหน้า พวกอธรรมวาทีจะมีกำลัง พวกธรรมวาทีจะหย่อนกำลัง พวกอวินัยวาทีจะมีกำลัง พวกวินัยวาทีจะหย่อนกำลัง ดังนี้.๑-
               ภิกษุทั้งหลายได้เรียนท่านว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอพระเถระโปรดคัดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิด.
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๑๔/หน้า ๓๗๙-๓๘๐

               [พระมหากัสสปคัดเลือกภิกษุ ๔๙๙ รูป]               
               พระเถระเว้นภิกษุผู้เป็นปุถุชน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระขีณาสพสุกขวิปัสสก ผู้ทรงพระปริยัติ คือนวังคสัตถุศาสน์ ทั้งสิ้นเสียจำนวนหลายร้อยและหลายพัน เลือกเอาเฉพาะพระภิกษุขีณาสพเท่านั้น มีจำนวน ๔๙๙ รูป ผู้ทรงไว้ซึ่งประเภทแห่งสรรพปริยัติ คือพระไตรปิฎก ได้บรรลุปฏิสัมภิทามีอานุภาพมาก แตกฉานในไตรวิชชาเป็นต้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นสู่เอตทัคคะโดยมาก. ผู้ซึ่งพระธรรมสังคาหกาจารย์หมายถึงจึงกล่าวคำนี้ว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปได้คัดเลือกพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป ดังนี้เป็นต้น.

               [ทำสังคายนาจะเว้นพระอานนท์ไม่ได้]               
               ถามว่า ก็พระเถระทำให้หย่อนอยู่ ๑ รูป เพื่อใคร?
               แก้ว่า เพื่อให้โอกาสแก่ท่านพระอานนทเถระ.
               จริงอยู่ การสังคายนาธรรมไม่อาจทำทั้งร่วมทั้งแยกจากท่านพระอานนท์นั้นได้ เพราะท่านพระอานนท์นั้นยังเป็นพระเสขะ มีกิจจำต้องทำอยู่, ฉะนั้นจึงไม่อาจทำร่วมกับท่านได้, แต่เพราะนวังคสัตถุศาสน์มีสุตตะ เคยยะเป็นต้น อะไรๆ ที่พระทศพลแสดงแล้ว ชื่อว่าท่านมิได้รับเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มี, เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจจะเว้นท่านได้.
               ถามว่า ถ้าเมื่อไม่อาจทำอย่างนั้นได้ ถึงแม้ท่านยังเป็นพระเสขะอยู่ พระเถระก็ควรเลือก เพราะเป็นผู้มีอุปการะมากแก่การสังคายนาพระธรรม เมื่อมีความจำเป็นต้องเลือกอย่างนั้น เพราะเหตุไร พระเถระจึงไม่เลือกท่าน.
               แก้ว่า เพราะจะเว้นคำค่อนขอดของผู้อื่น.
               ความจริง พระเถระเป็นผู้คุ้นเคยในท่านพระอานนท์อย่างยิ่งยวด.
               จริงอย่างนั้น แม้เมื่อศีรษะหงอกแล้ว ท่านพระมหากัสสปก็ยังเรียกท่านพระอานนท์นั้นโดยใช้กุมารกวาทะว่า เด็กคนนี้ไม่รู้จักประมาณเสียเลย ดังนี้.
               อนึ่ง ท่านพระอานนท์นี้ประสูติในศากยสกุล เป็นพระภาดาของพระตถาคต เป็นโอรสของพระเจ้าอาว์,
               จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายจะสำคัญในพระมหากัสสปเถระนั้นเหมือนถึงฉันทาคติ จะพึงกล่าวค่อนขอดว่า พระเถระเว้นภิกษุทั้งหลายผู้ได้บรรลุปฏิสัมภิทาเป็นอเสขะเสียเป็นอันมาก ได้เลือกเอาพระอานนท์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเป็นเสขะ. พระเถระเมื่อจะเว้นคำค่อนขอดของผู้อื่นนั้นเสีย, คิดว่า การสังคายนาไม่อาจทำได้โดยเว้นพระอานนท์เสีย เราจักรับเอาพระอานนท์เข้าด้วย ตามอนุมัติของภิกษุทั้งหลายเท่านั้น จึงมิได้เลือกพระอานนท์นั้นเข้าด้วย.

               [ภิกษุทั้งหลายขอให้เลือกพระอานนท์]               
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพากันวิงวอนพระเถระ เพื่อต้องการให้เลือกพระอานนท์เสียเองทีเดียว เหมือนอย่างที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า พวกภิกษุได้กล่าวคำนี้กะท่านพระมหากัสสปว่า ท่านผู้เจริญ ถึงท่านอานนท์นี้จะยังเป็นเสขะ เป็นผู้ไม่ควรถึงความลำเอียงเพราะความรัก ความชัง ความหลง ความกลัวก็จริง, ถึงกระนั้น ธรรมและวินัยที่ท่านได้เล่าเรียนในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีมาก. ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ขอพระเถระโปรดเลือกพระอานนท์เข้าด้วยเถิด. ๑-
               ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปจึงได้เลือกท่านอานนท์เข้าด้วย รวมกับท่านนั้นที่ท่านพระมหากัสสปเลือกตามอนุมัติของภิกษุทั้งหลาย จึงเป็นพระเถระ ๕๐๐ รูป ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๑๕/หน้า ๓๘๐-๓๘๑

               [เลือกกรุงราชคฤห์เป็นที่ทำปฐมสังคายนา]               
               ครั้งนั้นแล ภิกษุเถระทั้งหลายได้มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า พวกเราจะพึงสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ณ สถานที่ไหนหนอแล. ครั้งนั้นแล ภิกษุเถระทั้งหลายได้ปรึกษากันอย่างนี้ว่า กรุงราชคฤห์แล มีที่โคจรกว้างขวาง มีเสนาสนะมากมาย, อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงอยู่จำพรรษาในกรุงราชคฤห์ ทำสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด, ภิกษุเหล่าอื่นไม่ควรเข้าจำพรรษาในกรุงราชคฤห์.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท่านเหล่านั้นจึงปรึกษาตกลงกันดังนั้น.
               แก้ว่า เพราะจะมีวิสภาคบุคคลบางคนเข้าไปสู่ท่ามกลางสงฆ์ แล้วพึงคัดค้านถาวรกรรมของพวกเรานี้เสีย.
               ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปจึงสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม.
               ญัตติทุติยกรรมนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในสังคีติขันธกะนั้นแล. ๑-
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๑๕/หน้า ๓๘๑

               [พระมหาเถระแยกกันเดินทางไปสู่กรุงราชคฤห์]               
               ครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระทราบว่า นับแต่วันที่พระตถาคตปรินิพพานมา เมื่อวันสาธุกีฬาและวันบูชาพระธาตุล่วงไปได้อย่างละ ๗ วัน เป็นอันล่วงไปแล้วกึ่งเดือน, บัดนี้ ฤดูคิมหันต์ยังเหลืออยู่เดือนครึ่ง ดิถีที่จะเข้าจำพรรษาก็ใกล้เข้ามาแล้ว จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราไปยังกรุงราชคฤห์กันเถิด แล้วได้พาเอาภิกษุสงฆ์กึ่งหนึ่งเดินไปทางหนึ่ง. พระอนุรุทธเถระก็พาเอาภิกษุสงฆ์กึ่งหนึ่งเดินไปอีกทางหนึ่ง. ท่านพระอานนท์เถระถือเอาบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์แวดล้อม มีความประสงค์จะเดินทางผ่านกรุงสาวัตถีไปยังกรุงราชคฤห์ ก็หลีกจาริกไปทางกรุงสาวัตถี.

               [พระอานนท์ไปถึงที่ไหนมีเสียงร้องไห้ในที่นั้น]               
               ในสถานที่ที่พระอานนท์ไปแล้วๆ ได้มีการร้องไห้ร่ำไรมากมายว่า ท่านอานนท์ผู้เจริญ ท่านพักพระศาสดาไว้ที่ไหน จึงมาแล้ว.
               ก็เมื่อพระเถระไปถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ได้มีการร้องไห้ร่ำไรมากมาย เหมือนในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานฉะนั้น.

               [พระอานนท์ปัดกวาดเสนาสนะที่เคยประทับ]               
               ได้ทราบว่า ในกรุงสาวัตถีนั้น ท่านพระอานนท์ได้ปลอบโยนมหาชนนั้นให้เบาใจด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วเข้าไปยังพระเชตวัน เปิดประตูพระคันธกุฎีที่พระทศพลเคยประทับ แล้วนำเตียงและตั่งออกมาเคาะตีปัดกวาดพระคันธกุฎี เก็บหยากเยื่อดอกไม้ที่เหี่ยวแห้งทิ้งเสีย แล้วนำเอาเตียงและตั่งกลับเข้าไปตั้งไว้ในที่เดิมอีก ได้ทำวัตรทุกอย่างที่ควรทำ เหมือนในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังดำรงอยู่ฉะนั้น.

               [พระอานนท์ฉันยาระบาย]               
               ในกาลนั้น พระเถระ เพราะเป็นผู้มากไปด้วยการยืนและการนั่ง จำเดิมแต่กาลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานมา เพื่อชำระกายที่มีธาตุหนาแน่น ให้สบาย ในวันที่สอง จึงนั่งฉันยาระบายที่เจือด้วยน้ำนมอยู่ในวิหารนั่นเอง ซึ่งท่านหมายถึง จึงได้กล่าวคำนี้กะมาณพที่สุภมาณพส่งไปว่า มิใช่กาลเสียแล้ว มาณพ เผอิญวันนี้เราดื่มยาระบายเสียแล้ว, ถ้ากระไรเอาไว้พรุ่งนี้เถิด เราจึงจะเข้าไป ดังนี้.
               ในวันรุ่งขึ้น พระเถระมีพระเจตกเถระเป็นปัจฉาสมณะ ได้ไป (ยังนิเวศน์ของสุภมาณพ) ถูกสุภมาณพถาม จึงได้แสดงพระสูตรที่ ๑๐ ชื่อสุภสูตร ในทีฆนิกาย.
               ในกาลนั้น พระเถระสั่งให้นายช่างทำการปฏิสังขรณ์สถานที่ปรักหักพังในพระเชตวันวิหารแล้ว เมื่อวันวัสสูปนายิกาใกล้เข้ามาได้ไปยังกรุงราชคฤห์. ถึงพระมหากัสสปเถระและพระอนุรุทธเถระก็พาเอาภิกษุสงฆ์ทั้งปวงไปสู่กรุงราชคฤห์เหมือนกัน.

               [พระเถระทั้งหลายคิดซ่อมวิหาร ๑๘ แห่ง]               
               ก็โดยสมัยนั้นแล ในกรุงราชคฤห์มีมหาวิหารอยู่ ๑๘ ตำบล มหาวิหารเหล่านั้นแม้ทั้งหมดได้รกรุงรังด้วยของที่ถูกทิ้งและตกเกลื่อน. จริงอยู่ พวกภิกษุทั้งหมดพากันถือเอาบาตรและจีวรของตนๆ ได้ทอดทิ้งวิหารและบริเวณไปในสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน. พระเถระทั้งหลายในวิหารเหล่านั้น เพื่อที่จะบูชาพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าและเพื่อจะเปลื้องวาทะของพวกเดียรถีย์เสีย จึงคิดกันว่า ตลอดเดือนแรก พวกเราจะทำการปฏิสังขรณ์ที่ชำรุดทรุดโทรม. ก็พวกเดียรถีย์พึงกล่าวว่า เหล่าสาวกของพระสมณโคดม เมื่อพระศาสดายังดำรงอยู่เท่านั้น จึงปฏิบัติวิหาร เมื่อปรินิพพานแล้ว ก็พากันทอดทิ้งเสีย. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ก็เพื่อจะเปลื้องวาทะของพวกเดียรถีย์เหล่านั้น พระเถระทั้งหลายจึงได้คิดกันอย่างนั้น.
               ข้อนี้สมจริงดังพระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า
               ครั้งนั้นแล พระภิกษุเถระทั้งหลายได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าแลทรงสรรเสริญการปฏิสังขรณ์ที่ชำรุดทรุดโทรม เอาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราจะทำการปฏิสังขรณ์ที่ชำรุดทรุดโทรมตลอดเดือนแรก จักประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมและพระวินัยตลอดเดือนอันมีในท่ามกลาง ดังนี้.

               [พระเถระไปทูลขอหัตถกรรมจากพระเจ้าอชาตศัตรู]               
               ในวันที่ ๒ พระเถระเหล่านั้นได้ไปยืนอยู่ที่ประตูพระราชวัง.
               พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาไหว้แล้ว รับสั่งถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าทั้งหลายพากันมาเพราะเหตุไร ดังนี้ แล้วจึงทรงรับสั่งย้อนถามถึงกิจที่พระองค์เองควรทำ.
               พระเถระทั้งหลายได้ทูลบอกหัตถกรรมเพื่อประโยชน์แก่การปฏิสังขรณ์มหาวิหารทั้ง ๑๘ ตำบล.

               [พระราชาทรงอุปถัมภ์กิจสงฆ์ทุกอย่าง]               
               พระราชาทรงรับว่า ดีละ เจ้าข้า แล้วได้พระราชทานพวกมนุษย์ผู้ทำหัตถกรรม. พระเถระทั้งหลายสั่งให้ปฏิสังขรณ์วิหารทั้งหมดเสร็จสิ้นเดือนแรก แล้วได้ทูลให้พระราชาทรงทราบว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร การปฏิสังขรณ์วิหารเสร็จสิ้นแล้ว บัดนี้ อาตมภาพทั้งหลายจะทำการสังคายนาพระธรรมและพระวินัย.
               ราชา. ดีละ เจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงหมดความคิดระแวงสงสัยกระทำเถิด อาณาจักรจงไว้เป็นภาระของข้าพเจ้า ธรรมจักรจงเป็นภาระของพระคุณเจ้าทั้งหลาย ขอพระคุณเจ้าโปรดใช้ข้าพเจ้าเถิด เจ้าข้า จะให้ข้าพเจ้าทำอะไร.
               พระเถระ. ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสถานที่นั่งประชุมสำหรับภิกษุทั้งหลายผู้ทำสังคายนา.
               ราชา. จะให้ข้าพเจ้าสร้าง ณ ที่ไหน เจ้าข้า?
               เถระ. ควรสร้างที่ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภารบรรพต ขอถวายพระพร.

               [พระราชารับสั่งให้ประดับถ้ำดุจวิมานพรหม]               
               พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับสั่งว่า ได้ เจ้าข้า ดังนี้ แล้วรับสั่งให้สร้างมณฑปที่มีเครื่องประดับอันเป็นสาระซึ่งควรทัศนา เช่นกับสถานที่อันวิสสุกรรมเทพบุตรนิรมิตไว้ มีฝาเสาและบันไดอันนายช่างจำแนกไว้ดี วิจิตรด้วยมาลากรรมและลดากรรมนานาชนิด ราวกะว่าจะครอบงำเสียซึ่งสมบัติแห่งราชมณเฑียรของพระมหากษัตริย์ ดุจประหนึ่งว่าจะเยาะเย้ยสิริแห่งเทพวิมาน ปานประหนึ่งว่าเป็นสถานที่อาศัยอยู่แห่งสิริ ดุจท่าเป็นที่ประชุมชั้นเอกของเหล่าวิหค คือนัยนาแห่งเทพดาและมนุษย์ และประดุจสถานที่รื่นรมย์ในโลกอันเขาประมวลจัดสรรไว้ ตกแต่งมณฑปนั้นให้เป็นเช่นกับวิมานพรหมมีเพดานงดงามรุ่งเรืองดุจสลัดอยู่ซึ่งพวงดอกกุสุมที่ห้อยย้อยนานาชนิด วิจิตรด้วยเครื่องบูชาดอกไม้ต่างๆ มีการงานอันควรทำที่พื้นทำสำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว ประหนึ่งว่ามีพื้นที่บุด้วยแก้วมณีอันวิจิตรด้วยรัตนะฉะนั้น
               ภายในมหามณฑปนั้นทรงรับสั่งให้ปูเครื่องลาดอันเป็นกัปปิยะ ๕๐๐ ที่ซึ่งคำนวณค่ามิได้ สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป แล้วให้ปูเถรอาสน์พิงข้างด้านทิศทักษิณ ผินหน้าไปทางทิศอุดร ในท่ามกลางมณฑปให้ตั้งธรรมาสน์อันควรเป็นที่ประทับนั่งของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผินหน้าไปทางทิศบูรพาและทรงวาดพัดวีชนีอันวิจิตรด้วยงาไม้บนธรรมาสน์นั่น แล้วรับสั่งให้เผดียงแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ท่านผู้เจริญ กิจของข้าพเจ้าสำเร็จแล้ว ดังนี้.

               [พวกภิกษุเตือนพระอานนท์มิให้ประมาท]               
               พวกภิกษุได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า อาวุโส การประชุมจะมีในวันพรุ่งนี้ แต่ท่านยังเป็นเสขะบุคคลอยู่ เพราะเหตุนั้น ท่านไม่ควรไปสู่ที่ประชุม ขอท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ดังนี้.
               ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ดำริว่า การประชุมจะมีในวันพรุ่งนี้ ก็ข้อที่เรายังเป็นเสขะอยู่ จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้นไม่สมควรแก่เราแล แล้วได้ยับยั้งอยู่ด้วยกายคตาสติตลอดราตรีเป็นอันมากทีเดียว ในเวลาราตรีใกล้รุ่ง ลงจากที่จงกรมแล้ว เข้าไปยังวิหาร คิดว่าจักพักนอน ได้เอนกายลง. เท้าทั้งสองพ้นจากพื้น แต่ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ในระหว่างนี้ จิตก็พ้นจากอาสวะทั้งหลายไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.
               ความจริง ท่านพระอานนท์นี้ยับยั้งอยู่แล้วในภายนอกด้วยการจงกรม เมื่อไม่สามารถจะยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้ จึงคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้แก่เรามิใช่หรือว่า อานนท์ เธอเป็นผู้ได้ทำบุญไว้แล้ว จงหมั่นประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้หาอาสวะมิได้โดยฉับพลัน.๑-
               อันธรรมดาว่าโทษแห่งพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มี เราปรารภความเพียรมากเกินไป เพราะเหตุนั้น จิตของเราจึงเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน
               เอาเถิด เราจะประกอบความเพียรให้สม่ำเสมอ ดังนี้จึงลงจากที่จงกรม ยืนล้างเท้าในที่ล้างเท้าแล้วเข้าไปสู่วิหารนั่งบนเตียง ดำริว่า จักพักผ่อนสักหน่อยหนึ่ง ได้เอนกายลงบนเตียง. เท้าทั้งสองพ้นจากพื้น ศีรษะยังไม่ถึงหมอน ในระหว่างนี้ จิตก็พ้นจากอาสวะทั้งหลายไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.
               ความเป็นพระอรหันต์ของพระเถระเว้นจากอิริยาบถ ๔.
               เพราะฉะนั้น เมื่อมีผู้ถามว่า ในพระศาสนานี้ ภิกษุรูปไหนไม่นอน ไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่จงกรม ได้บรรลุพระอรหัต จะตอบว่า พระอานนทเถระ ก็ควร.
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๓๕

               [พระอานนท์ดำดินไปเข้าประชุมสงฆ์]               
               ครั้งนั้นในวันที่ ๒ ภิกษุเถระทั้งหลายทำภัตกิตเสร็จ เก็บบาตรและจีวรแล้ว ไปประชุมกันที่ธรรมสภา. ส่วนพระอานนทเถระมีความประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้การบรรลุความเป็นพระอรหันต์ของตน มิได้ไปพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายเมื่อจะนั่งบนอาสนะของตนๆ ตามลำดับผู้แก่ ได้นั่งเว้นอาสนะไว้สำหรับพระอานนทเถระ. เมื่อภิกษุบางพวกในธรรมสภานั้นถามว่า นั่นอาสนะใคร ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ของพระอานนท์. ภิกษุทั้งหลายถามว่า ก็ท่านพระอานนท์ไปไหนเล่า?
               ในสมัยนั้น พระเถระคิดว่า บัดนี้เป็นเวลาที่เราจะไป เมื่อจะแสดงอานุภาพของตนในลำดับนั้น จึงดำลงในแผ่นดินแล้วแสดงตนบนอาสนะของตนนั้นเอง.
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า มาทางอากาศแล้วนั่ง ก็มี.

               [พระเถระเริ่มปรึกษาและสมมติตนเป็นผู้ปุจฉาวิสัชนา]               
               เมื่อพระอานนท์นั้นนั่งแล้วอย่างนั้น พระมหากัสสปเถระจึงปรึกษาภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราจะสังคายนาอะไรก่อน พระธรรมหรือพระวินัย. ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสป ชื่อว่าพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังตั้งอยู่ พระพุทธศาสนาจัดว่ายังดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น พวกเราจะสังคายนาพระวินัยก่อน.
               พระมหากัสสป. จะให้ใครเป็นธุระ?
               ภิกษุทั้งหลาย. ให้ท่านพระอุบาลี.
               ถามว่า พระอานนท์ไม่สามารถหรือ?
               แก้ว่า ไม่สามารถหามิได้.
               ก็อีกอย่างหนึ่งแล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั่นเอง ทรงอาศัยวินัยปริยัติ จึงตั้งท่านพระอุบาลีไว้ในเอตทัคคะว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุทั้งหลาย สาวกของเราผู้ทรงวินัย อุบาลีเป็นเลิศ ดังนี้ เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงปรึกษากันว่า พวกเราจะถามพระอุบาลีเถระสังคายนาพระวินัย ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระเถระก็ได้สมมติตนเองเพื่อต้องการถามพระวินัย.
               ฝ่ายพระอุบาลีเถระก็ได้สมมติตนเพื่อประโยชน์แก่การวิสัชนา.

               [คำสมมติตนปุจฉาวิสัชนาพระวินัย]               
               ในการสมมตินั้น มีพระบาลีดังต่อไปนี้ :-
               ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเผดียงให้สงฆ์ทราบว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้ ข้าพเจ้าพึงถามพระวินัยกะพระอุบาลี.
               ฝ่ายพระอุบาลีก็เผดียงให้สงฆ์ทราบว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้ ข้าพเจ้าผู้อันท่านพระมหากัสสปถามแล้วพึงวิสัชนาพระวินัย. ๑-
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๑๘

               [ปุจฉาและวิสัชนาพระวินัย]               
               ท่านพระอุบาลีครั้นสมมติตนอย่างนั้นแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะห่มจีวรเฉวียงบ่า ไหว้ภิกษุเถระทั้งหลายแล้วนั่งบนธรรมาสน์จับพัดวีชนี อันวิจิตรด้วยงา.
               คราวนั้น พระมหากัสสปนั่งบนเถรอาสน์ แล้วถามพระวินัยกะท่านพระอุบาลีว่า ท่านอุบาลี ปฐมปาราชิก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ณ ที่ไหน?
               พระอุบาลี. ที่เมืองเวสาลี ขอรับ.
               พระมหากัสสป. ทรงปรารภใคร?
               พระอุบาลี. ทรงปรารภพระสุทินกลันทบุตร.
               พระมหากัสสป. ทรงปรารภในเพราะเรื่องอะไร?
               พระอุบาลี. ในเพราะเรื่องเมถุนธรรม.
               ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปถามท่านพระอุบาลีถึงวัตถุบ้าง นิทานบ้าง บุคคลบ้าง บัญญัติบ้าง อนุบัญญัติบ้าง อาบัติบ้าง อนาบัติบ้าง แห่งปฐมปาราชิก.
               เหมือนอย่างว่า ท่านพระมหากัสสปถามถึงวัตถุบ้าง ฯลฯ ถามถึงอนาบัติบ้าง แห่งปฐมปาราชิกฉันใด ก็ถามถึงวัตถุบ้าง ฯลฯ อนาบัติบ้าง แห่งทุติยปาราชิกฉันนั้น...แห่งตติยปาราชิกฉันนั้น...ถามถึงวัตถุบ้าง ฯลฯ อนาบัติบ้าง แห่งจตุตถปาราชิกก็ฉันนั้น.
               พระอุบาลีเถระอันพระมหากัสสปถามแล้วๆ ก็ได้วิสัชนาแล้ว.

               [รวบรวมพระวินัยของภิกษุไว้เป็นหมวดๆ]               
               ลำดับนั้น พระเถระทั้งหลายยกปาราชิก ๔ เหล่านี้ขึ้นสู่สังคหะ (การสังคายนา) ว่า นี้ชื่อปาราชิกกัณฑ์ แล้วได้ตั้งสังฆาทิเสส ๑๓ ไว้ว่า เตรสกัณฑ์
               ตั้ง ๒ สิกขาบทไว้ว่า อนิยต
               ตั้ง ๓๐ สิกขาบทไว้ว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์
               ตั้ง ๙๒ สิกขาบทไว้ว่า ปาจิตตีย์
               ตั้ง ๔ สิกขาบทไว้ว่า ปาฏิเทสนียะ
               ตั้ง ๗๕ สิกขาบทไว้ว่า เสขิยะ (และ)
               ตั้งธรรม ๗ ประการไว้ว่า อธิกรณสมถะ ดังนี้.

               [รวบรวมวินัยของภิกษุณีไว้เป็นหมวดๆ]               
               พระเถระทั้งหลาย ครั้นยกมหาวิภังค์ขึ้นสู่สังคหะอย่างนี้แล้ว จึงตั้ง ๘ สิกขาบท ในภิกขุนีวิภังค์ไว้ว่า นี้ชื่อปาราชิกกัณฑ์
               ตั้ง ๑๗ สิกขาบทไว้ว่า สัตตรสกัณฑ์
               ตั้ง ๓๐ สิกขาบทไว้ว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์
               ตั้ง ๑๖๖ สิกขาบทไว้ว่า ปาจิตตีย์
               ตั้ง ๘ สิกขาบทไว้ว่า ปาฏิเทสนียะ
               ตั้ง ๗๕ สิกขาบทไว้ว่า เสขิยะ (และ)
               ตั้งธรรม ๗ ประการไว้ว่า อธิกรณสมถะ ดังนี้.
               พระเถระทั้งหลาย ครั้นยกภิกขุนีวิภังค์ขึ้นสู่สังคหะอย่างนี้แล้ว จึงได้ยกแม้ขันธกะและบริวารขึ้น (สู่สังคายนา) โดยอุบายนั้นนั่นแล.
               พระวินัยปิฎกพร้อมทั้งอุภโตวิภังค์ขันธกะและบริวารนี้ พระเถระทั้งหลายยกขึ้นสู่สังคหะแล้วด้วยประการฉะนี้.
               พระมหากัสสปเถระได้ถามวินัยปิฎกทั้งหมด.
               พระอุบาลีเถระก็ได้วิสัชนาแล้ว.
               ในที่สุดแห่งการปุจฉาและวิสัชนา พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ได้ทำการสาธยายเป็นคณะ โดยนัยที่ยกขึ้นสู่สังคหะนั้นแล.
               ในอวสานแห่งการสังคายนาพระวินัย พระอุบาลีเถระวางพัดวีชนีอันขจิตด้วยงาแล้ว ลงจากธรรมาสน์ไหว้พวกภิกษุผู้แก่แล้วนั่งบนอาสนะที่ถึงแก่ตน.

               [เริ่มสังคายนาพระสูตร]               
               ท่านพระมหากัสสป ครั้นสังคายนาพระวินัยแล้ว ประสงค์จะสังคายนาพระธรรม จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อพวกเราจะสังคายนาพระธรรม ควรจะทำใครให้เป็นธุระสังคายนาพระธรรม?
               ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ให้ท่านพระอานนทเถระ.

               [คำสวดสมมติปุจฉาวิสัชนาพระสูตร]               
               ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเผดียงให้สงฆ์ทราบว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้ ข้าพเจ้าพึงถามพระธรรมกะท่านพระอานนท์.
               ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ก็เผดียงให้สงฆ์ทราบว่า
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้ ข้าพเจ้าอันพระมหากัสสปถามแล้วพึงวิสัชนาพระธรรม.๑-
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๖๑๙

               [ปุจฉาและวิสัชนาพระสูตร]               
               ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ลุกขึ้นจากอาสนะห่มจีวรเฉวียงบ่า ไหว้ภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้วนั่งบนธรรมาสน์จับพัดวีชนีอันขจิตด้วยงา. พระมหากัสสปเถระถามพระธรรมกะพระอานนทเถระว่า อานนท์ผู้มีอายุ พรหมชาลสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ณ ที่ไหน?
               พระอานนท์. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ตรัสที่พระตำหนักหลวงในพระราชอุทยานชื่ออัมพลัฏฐิกา ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทาต่อกัน.
               พระมหากัสสป. ทรงปรารภใคร?
               พระอานนท์. ทรงปรารภสุปปิยปริพาชก และพรหมทัตตมานพ.
               ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปถามท่านพระอานนท์ถึงนิทานบ้าง บุคคลบ้าง แห่งพรหมชาลสูตร.
               พระมหากัสสป. ท่านอานนท์ผู้มีอายุ ก็สามัญญผลสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ณ ที่ไหน?
               พระอานนท์. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ตรัส ณ ที่สวนอัมพวันของหมอชีวก ใกล้กรุงราชคฤห์.
               พระมหากัสสป. ทรงปรารภใคร?
               พระอานนท์. ทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร.
               ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปถามท่านพระอานนท์ถึงนิทานบ้าง บุคคลบ้าง แห่งสามัญญผลสูตร.
               ถามนิกายทั้ง ๕ โดยอุบายนี้นั่นแล.

               [นิกาย ๕]               
               ที่ชื่อว่านิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย. บรรดานิกายเหล่านั้น พระพุทธพจน์ที่เหลือยกเว้น ๔ นิกายเสีย ชื่อว่าขุททกนิกาย. ในขุททกนิกายนั้น พระวินัย ท่านอุบาลีเถระได้วิสัชนาแล้ว. ขุททกนิกายที่เหลือและอีก ๔ นิกาย พระอานนทเถระวิสัชนา.

               [พระพุทธพจน์มีจำนวนต่างๆ กัน]               
               พระพุทธพจน์แม้ทั้งหมดนี้นั้น พึงทราบว่ามีอย่างเดียว ด้วยอำนาจรส
               มี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจธรรมและวินัย
               มี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจปฐมะ มัชฌิมะ ปัจฉิมะ.
               อนึ่ง มี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจปิฎก
               มี ๕ อย่าง ด้วยอำนาจนิกาย
               มี ๙ อย่าง ด้วยอำนาจองค์
               มี ๘๔,๐๐๐ อย่าง ด้วยอำนาจพระธรรมขันธ์.

               [พระพุทธพจน์มีอย่างเดียว]               
               พระพุทธพจน์ ชื่อว่ามีอย่างเดียว ด้วยอำนาจรสอย่างไร?
               คือ ตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณจนถึงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างนี้ทรงพร่ำสอนเทวดา มนุษย์ นาค และยักษ์ หรือทรงพิจารณาตลอดเวลา ๔๕ ปี ได้ตรัสพระพุทธพจน์ใดไว้ พระพุทธพจน์นั้นทั้งหมดมีรสอย่างเดียว คือมีวิมุตติเป็นรสเท่านั้น.
               พระพุทธพจน์ ชื่อว่ามีอย่างเดียว ด้วยอำนาจรส ด้วยประการฉะนี้.

               [พระพุทธพจน์มี ๒ อย่าง]               
               พระพุทธพจน์ชื่อว่ามี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจธรรมและวินัยอย่างไร?
               คือ อันพระพุทธพจน์ทั้งหมดนี้นั่นแล ย่อมถึงการนับว่า พระธรรมและวินัย. บรรดาธรรมและวินัยนั้น วินัยปิฎก ชื่อว่าวินัย. พระพุทธพจน์ที่เหลือชื่อว่าธรรม. เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระมหากัสสปได้กล่าวไว้แล้วว่า ผู้มีอายุ อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงสังคายนาธรรมและวินัย และว่า เราพึงถามพระวินัยกะท่านอุบาลี พึงถามพระธรรมกะท่านอานนท์ ดังนี้.
               พระพุทธพจน์ ชื่อว่ามี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจธรรมและวินัย ด้วยประการฉะนี้.

               [พระพุทธพจน์มี ๓ อย่าง]               
               พระพุทธพจน์มี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจปฐมะ มัชฌิมะและปัจฉิมะ อย่างไร?
               คืออันที่จริง พระพุทธพจน์นี้ทั้งหมดนั่นแล แบ่งประเภทเป็น ๓ คือ ปฐมพุทธพจน์ มัชฌิมพุทธพจน์ (และ) ปัจฉิมพุทธพจน์.
               บรรดาพระพุทธพจน์ ๓ อย่างนั้น พระพุทธพจน์ว่า
                                   เราแสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างผู้ทำเรือน
                         เมื่อไม่พบ ได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสาร มีความ
                         เกิดเป็นอเนก ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป
                                   แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบเจ้าแล้ว
                         เจ้าจักสร้างเรือน (คืออัตภาพของเรา) ไม่ได้
                         อีกต่อไป ซี่โครงทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว
                         ยอดเรือน (คืออวิชชา) เรารื้อเสียแล้ว จิตของ
                         เราได้ถึงพระนิพพานมีสังขารไปปราศแล้ว
                         เราได้บรรลุความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลาย
                         แล้ว ดังนี้
๑-
               นี้ชื่อว่าปฐมพุทธพจน์.
               อาจารย์บางพวกกล่าวถึงอุทานคาถาในขันธกะว่า เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ๒- ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าปฐมพุทธพจน์.
               ก็คาถานั้นเกิดแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญู ทรงพิจารณาปัจจยาการ ในพระญาณอันสำเร็จด้วยโสมนัส ในวันปาฏิบท บัณฑิตพึงทราบว่า อุทานคาถา.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระดำรัสใด ในคราวปรินิพพานว่า
               ภิกษุทั้งหลายเอาเถิด บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด๓- นี้ชื่อว่าปัจฉิมพุทธพจน์.
               พระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในระหว่างแห่งกาลทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่ามัชฌิมพุทธพจน์.
               พระพุทธพจน์ชื่อว่ามี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจเป็นปฐมะ มัชฌิมะ และปัจฉิมะ ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๑/หน้า ๓๕-๓๖
๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑-๓
๓- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๔๓/หน้า ๑๘๐

               [ปิฎก ๓]               
               พระพุทธพจน์ทั้งปวงเป็น ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งปิฎกอย่างไร?
               ก็พระพุทธพจน์แม้ทั้งปวงมีอยู่ ๓ ประการเท่านั้น คือพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก.
               ใน ๓ ปิฎกนั้น พระพุทธพจน์นี้คือ ประมวลพระพุทธวจนะแม้ทั้งหมด ทั้งที่ร้อยกรองในปฐมสังคายนา ทั้งที่ร้อยกรองในภายหลัง เป็นปาฏิโมกข์ ๒ ฝ่าย วิภังค์ ๒ ขันธกะ ๒๒ บริวาร ๑๖ ชื่อวินัยปิฎก.
               พระพุทธวจนะนี้คือ ทีฆนิกายเป็นที่รวบรวมพระสูตร ๓๔ สูตร มีพรหมชาลสูตรเป็นต้น
               มัชฌิมนิกายเป็นที่รวบรวมพระสูตร ๑๕๒ สูตร มีมูลปริยายสูตรเป็นต้น
               สังยุตตนิกายเป็นที่รวบรวมพระสูตร ๗,๗๖๒ สูตร มีโอฆตรณสูตรเป็นต้น
               อังคุตตรนิกายเป็นที่รวบรวมพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร มีจิตตปริยาทานสูตรเป็นต้น
               ขุททกนิกาย ๑๕ ประเภทด้วยอำนาจแห่งขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา ชาดก นิทเทส ปฏิสัมภิทา อปทาน พุทธวงศ์ จริยาปิฎก ชื่อสุตตันตปิฎก.
               พระพุทธเจ้านี้คือธัมมสังคิณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐาน ชื่ออภิธรรมปิฎก.

               [อรรถาธิบายคำว่าวินัย]               
               ในพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมนั้น
                                   พระวินัย อันบัณฑิตผู้รู้อรรถแห่ง
                         พระวินัยทั้งหลายกล่าวว่า วินัย เพราะมีนัย
                         ต่างๆ เพราะมีนัยพิเศษ และเพราะฝึกกาย
                         และวาจา.

               จริงอยู่ ในพระวินัยนี้มีนัยต่างๆ คือ มีปาฏิโมกขุทเทศ ๕ กองอาบัติ ๗ มีปาราชิกเป็นต้น มาติกาและนัยมีวิภังค์เป็นต้นเป็นประเภทและนัยคืออนุบัญญัติเป็นพิเศษ คือมีนัยอันกระทำให้มั่นและกระทำให้หย่อน เป็นประโยชน์.
               อนึ่ง พระวินัยนี้ย่อมฝึกกายและวาจา เพราะห้ามซึ่งอัชฌาจารทางกายและทางวาจา.
               เพราะฉะนั้น พระวินัยนี้ ท่านจึงกล่าวว่า วินัย เพราะมีนัยต่างๆ เพราะมีนัยพิเศษ และเพราะฝึกกายและวาจา. ด้วยเหตุนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในอรรถาธิบายคำแห่งวินัยนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า
                                   พระวินัยนี้ อันบัณฑิตผู้รู้อรรถแห่ง
                         พระวินัยทั้งหลายกล่าวว่า วินัย เพราะมีนัย
                         ต่างๆ เพราะมีนัยพิเศษ และเพราะฝึกกาย
                         และวาจา ดังนี้.

               [อรรถาธิบายคำว่าสูตร]               
               ส่วนพระสูตรนอกนี้
                                   ท่านกล่าวว่า สูตร เพราะบ่งถึงประโยชน์
                         เพราะมีอรรถอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
                         เพราะเผล็ดประโยชน์ เพราะหลั่งประโยชน์
                         เพราะป้องกันด้วยดี และเพราะมีส่วนเสมอด้วย
                         เส้นด้าย.

               จริงอยู่ พระสูตรนั้นย่อมบ่งถึงประโยชน์ต่างด้วยประโยชน์มีประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นต้น. อนึ่ง ประโยชน์ทั้งหลายอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ในพระสูตรนี้ เพราะตรัสโดยอนุโลมแก่อัธยาศัยแห่งเวไนย. อนึ่ง พระสูตรนี้ย่อมเผล็ดประโยชน์. ท่านอธิบายว่า ย่อมเผล็ดผลดุจข้าวกล้าฉะนั้น. อนึ่ง พระสูตรนี้ย่อมหลั่งประโยชน์เหล่านั้น ท่านอธิบายว่า ย่อมรินดุจแม่โคนมหลั่งน้ำนมฉะนั้น. อนึ่ง พระสูตรนี้ย่อมป้องกัน. ท่านอธิบายว่า ย่อมรักษาด้วยดี ซึ่งประโยชน์เหล่านั้น.
               อนึ่ง พระสูตรนี้มีส่วนเสมอด้วยเส้นด้าย.
               เหมือนอย่างว่าเส้นบรรทัด ย่อมเป็นประมาณของช่างไม้ฉันใด แม้พระสูตรนี้ก็ย่อมเป็นประมาณแห่งวิญญูชนฉันนั้น. อนึ่ง เหมือนดอกไม้ที่เขาคุมไว้ด้วยเส้นด้ายอันลมให้เรี่ยรายกระจัดกระจายไม่ได้ฉันใด ประโยชน์ทั้งหลายที่ทรงประมวลไว้ด้วยพระสูตรนี้ย่อมไม่เรี่ยราย ไม่กระจัดกระจายฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในอรรถาธิบายคำแห่งพระสูตรนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า
                         พระสูตร ท่านกล่าวว่า สูตร เพราะบ่งถึงประโยชน์
               เพราะมีอรรถอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เพราะเผล็ด
               ประโยชน์ เพราะหลั่งประโยชน์ เพราะป้องกันด้วยดี และ
               เพราะมีส่วนเสมอด้วยด้าย ดังนี้.

               [อรรถาธิบายคำว่าอภิธรรม]               
               ส่วนพระอภิธรรมนอกนี้
                                   ด้วยเหตุที่ธรรมทั้งหลาย ที่มีความ
                         เจริญ ที่มีความกำหนดหมาย ที่บุคคลบูชา
                         แล้ว ที่บัณฑิตกำหนดตัด และที่ยิ่ง อันพระ
                         ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในพระอภิธรรมนี้
                         ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อภิธรรม.
               ก็อภิศัพท์นี้ ย่อมปรากฏในอรรถว่าเจริญ ว่ามีความกำหนดหมายว่าอันบุคคลบูชาแล้ว ว่าอันบัณฑิตกำหนดตัดแล้ว และว่ายิ่ง.
               จริงอย่างนั้น อภิศัพท์นี้มาในอรรถว่าเจริญ ในคำเป็นต้นว่า ทุกขเวทนากล้า ย่อมเจริญแก่เรา๑- ดังนี้.
               มาในอรรถว่ามีความกำหนดหมายในคำเป็นต้นว่า ราตรีเหล่านั้นใด อันท่านรู้กันแล้ว กำหนดหมายแล้ว๒- ดังนี้.
               มาในอรรถว่าอันบุคคลบูชาแล้ว ในคำมีว่า พระองค์เป็นพระราชาผู้อันพระราชาบูชาแล้ว เป็นจอมมนุษย์๓- เป็นอาทิ.
               มาในอรรถว่าอันบัณฑิตกำหนดตัดแล้ว ในคำเป็นอาทิว่า ภิกษุเป็นผู้สามารถเพื่อจะแนะนำเฉพาะธรรม เฉพาะวินัย.๔- ท่านอธิบายว่า เป็นผู้สามารถจะแนะนำในธรรมและวินัย ซึ่งเว้นจากความปะปนกันและกัน.
               มาในอรรถว่ายิ่ง ในคำเป็นต้นว่า มีวรรณะงามยิ่ง๕- ดังนี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทั้งหลายในพระอภิธรรมนี้ มีความเจริญบ้าง โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุย่อมเจริญมรรค เพื่อเข้าถึงรูปภพ.๖- ภิกษุมีจิตประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่.๗-
               ชื่อว่ามีความกำหนดหมายบ้าง เพราะเป็นธรรมควรกำหนดได้ ด้วยกรรมทวารและปฏิปทาที่สัมปยุตด้วยอารมณ์เป็นต้น โดยนัยมีอาทิว่า จิต...ปรารภอารมณ์ใดๆ เป็นรูปารมณ์ก็ดี สัททารมณ์ก็ดี.๘-
               อันบุคคลบูชาแล้วบ้าง. อธิบายว่า ควรบูชา โดยนัยเป็นต้นว่า เสขธรรม อเสขธรรม โลกุตรธรรม.๙-
               ชื่อว่าอันบัณฑิตกำหนดตัดบ้าง เพราะเป็นธรรมที่ท่านกำหนดตามสภาพ โดยนัยเป็นต้นว่า ในสมัยนั้น ผัสสะมี เวทนามี.๑๐-
               ตรัสธรรมทั้งหลายที่ยิ่งบ้าง โดยนัยเป็นต้นว่า มหัคคตธรรม อัปปมาณธรรม๑๑- อนุตตรธรรม.๑๒-
               ด้วยเหตุนั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในอรรถาธิบายคำแห่งพระอภิธรรมนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า
                                   ด้วยเหตุที่ธรรมทั้งหลายที่มีความเจริญ
                         ที่มีความกำหนดหมาย ที่บุคคลบูชาแล้ว ที่บัณฑิต
                         กำหนดตัด และที่ยิ่ง อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้
                         แล้วในพระอภิธรรมนี้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าอภิธรรม.
               ส่วนปิฎกศัพท์ใด เป็นศัพท์ที่ไม่พิเศษในพระวินัย พระสูตรและพระอภิธรรมนี้ ปิฎกศัพท์นั้น
                                   อันบัณฑิตทั้งหลายผู้รู้อรรถแห่งปิฎก
                         กล่าวว่า ปิฎก โดยอรรถว่าปริยัติและภาชนะ
                         ศัพท์ทั้ง ๓ มีวินัยเป็นต้น บัณฑิตพึงให้
                         ประชุมลงด้วยปิฎกศัพท์นั้น แล้วจึงทราบ.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๔๑๖ ๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๕
๓- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๗๖   ๔- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๙๙
๕- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๙   ๖- อภิ. สงฺ เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๔๐
๗- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๗๔๑   ๘- อภิ. สงฺ เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๖
๙- อภิ. สงฺ เล่ม ๓๔/ข้อ ๑   ๑๐- อภิ. สงฺ เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๖
๑๑- อภิ. สงฺ เล่ม ๓๔/ข้อ ๑   ๑๒- อภิ. สงฺ เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๔

               [ปิฎกเปรียบเหมือนตะกร้า]               
               จริงอยู่ แม้ปริยัติ ท่านก็เรียกว่า ปิฎก ในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า อย่าเชื่อโดยการอ้างตำรา.๑- แม้ภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านก็เรียกว่า ปิฎก ในคำเป็นต้นว่า ลำดับนั้น บุรุษถือจอบและตะกร้ามา.๒-
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๙๓/หน้า ๒๕๙
๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๒๐๙-๒๑๑

               เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายผู้รู้อรรถแห่งปิฎกกล่าวว่า ปิฎก โดยอรรถว่าปริยัติและภาชนะ.
               บัดนี้ พึงทราบอรรถแห่งบาทคาถาว่า เตน สโมธาเนตฺวา ตโยปิ วินยาทโย เญยฺยา โดยนัยอย่างนี้ ศัพท์แม้ทั้ง ๓ มีวินัยเป็นต้นเหล่านั้น อันบัณฑิตพึงย่อเข้าเป็นสมาสกับด้วยปิฎกศัพท์ซึ่งมีอรรถเป็น ๒ อย่างนี้นั้นแล้ว พึงทราบอย่างนี้ว่า
               วินัยนั้นด้วยชื่อว่าปิฎกด้วย เพราะเป็นปริยัติ และเพราะเป็นภาชนะแห่งเนื้อความนั้นๆ เหตุนั้นจึงชื่อว่า วินัยปิฎก, สูตรนั้นด้วย ชื่อว่าปิฎกด้วยโดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั้นแล เหตุนั้นจึงชื่อว่า สุตตันตปิฎก, อภิธรรมนั้นด้วย ชื่อว่าปิฎกด้วย โดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั้นเอง เหตุนั้นจึงชื่อว่า อภิธรรมปิฎก.
               ก็ครั้นทราบอย่างนี้แล้ว เพื่อความเป็นผู้ฉลาดโดยประการต่างๆ ในปิฎกเหล่านั้นนั่นแลแม้อีก
                                   บัณฑิตพึงแสดงความต่างแห่งเทศนา
                         ศาสนา กถา และสิกขา ปหานะ คัมภีรภาพ
                         ในปิฎกเหล่านั้น ตามสมควร ภิกษุย่อมถึง
                         ซึ่งความต่างแห่งปริยัติก็ดี สมบัติและวิบัติ
                         ก็ดี อันใด ในปิฎกใด มีวินัยปิฎกเป็นต้น
                         โดยประการใด บัณฑิตพึงประกาศความ
                         ต่างแห่งปริยัติเป็นต้น แม้นั้นทั้งหมด โดย
                         ประการนั้น.

               วาจาเครื่องแสดงและวาจาเครื่องประกาศในปิฎกทั้ง ๓ นั้น ดังต่อไปนี้ :-
               แท้จริง ปิฎกทั้ง ๓ นี้ ท่านเรียกว่า อาณาเทศนา โวหารเทศนา ปรมัตถเทศนา และยถาปราธศาสน์ ยถานุโลมศาสน์ ยถาธรรมศาสน์ และว่าสังวราสังวรกถา ทิฏฐิวินิเวฐนกถา และนามรูปปริเฉทกถา ตามลำดับ.
               ความจริง บรรดาปิฎกทั้ง ๓ นี้ วินัยปิฎกท่านให้ชื่อว่า อาณาเทศนา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรแก่อาณา ทรงแสดงไว้โดยเป็นปิฎกมาด้วยอาณา, สุตตันตปิฎก ท่านให้ชื่อว่าโวหารเทศนา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฉลาดในโวหาร ทรงแสดงไว้โดยเป็นปิฎกมากด้วยโวหาร, อภิธรรมปิฎก ท่านให้ชื่อว่าปรมัตถเทศนา เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฉลาดในปรมัตถ์ ทรงแสดงไว้โดยเป็นปิฎกมากด้วยปรมัตถ์.
               อนึ่ง ปิฎกแรกท่านให้ชื่อว่า ยถาปราธศาสน์ เพราะสัตว์ทั้งหลายที่เป็นผู้มีความผิดมากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนตามความผิดในปิฎกนี้. ปิฎกที่สอง ท่านให้ชื่อว่า ยถานุโลมศาสน์ เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีอัธยาศัย อนุสัย จริยา และอธิมุตติไม่ใช่อย่างเดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนตามสมควรในปิฎกนี้, ปิฎกที่สาม ท่านให้ชื่อว่า ยถาธรรมศาสน์ เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีความสำคัญในสิ่งสักว่ากองธรรมว่า เรา ว่า ของเรา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนตามธรรมในปิฎกนี้.
               อนึ่ง ปิฎกแรกท่านให้ชื่อว่า สังวราสังวรกถา เพราะความสำรวมน้อยและใหญ่ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อความละเมิด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปิฎกนี้, ปิฎกที่สอง ท่านให้ชื่อว่า ทิฏฐิวินิเวฐนกถา เพราะการคลี่คลายทิฏฐิอันเป็นปฏิปักษ์ต่อทิฏฐิ ๖๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปิฎกนี้, ปิฎกที่สาม ท่านให้ชื่อว่า นามรูปปริเฉทกถา เพราะการกำหนดนามรูปอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส มีราคะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปิฎกนี้.
               ก็แลในปิฎกทั้งสามนี้ บัณฑิตพึงทราบสิกขา ๓ ปหานะ ๓ คัมภีรภาพ ๔ ประการ.
               จริงอย่างนั้น อธิสีลสิกขา ท่านกล่าวไว้โดยพิเศษในพระวินัยปิฎก, อธิจิตตสิกขา ท่านกล่าวไว้โดยพิเศษในพระสุตตปิฎก, อธิปัญญาสิกขาท่านกล่าวไว้โดยพิเศษในพระอภิธรรมปิฎก.
               อนึ่ง ความละวีติกมกิเลสท่านกล่าวไว้ในวินัยปิฎก เพราะศีลเป็นข้าศึกต่อความละเมิดแห่งกิเลสทั้งหลาย, ความละปริยุฏฐานกิเลส ท่านกล่าวไว้ในพระสุตตปิฎก เพราะสมาธิเป็นข้าศึกต่อปริยุฏฐานกิเลส, ความละอนุสัยกิเลส ท่านกล่าวไว้ในอภิธรรมปิฎก เพราะปัญญาเป็นข้าศึกต่ออนุสัยกิเลส.
               อนึ่ง การละกิเลสทั้งหลายด้วยองค์นั้นๆ ท่านกล่าวไว้ในปิฎกที่หนึ่ง, การละด้วยการข่มไว้และตัดขาด ท่านกล่าวไว้ใน ๒ ปิฎกนอกนี้.
               อนึ่ง การละสังกิเลสคือทุจริต ท่านกล่าวไว้ในปิฎกที่หนึ่ง, การละกิเลสคือตัณหาและทิฏฐิ ท่านกล่าวไว้ใน ๒ ปิฎกนอกนี้.
               ก็บัณฑิตพึงทราบความที่พระพุทธพจน์เป็นคุณลึกซึ้งโดยธรรม โดยอรรถ โดยเทศนาและโดยปฏิเวธทั้ง ๔ อย่าง ในปิฎกทั้ง ๓ นี้ แต่ละอย่างๆ.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :