ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๑๔ / ๑๕.

               เรื่องปัญหาของพระสารีบุตร               
               บัดนี้ ท่านพระอุบาลี เมื่อจะแสดงการที่พระสารีบุตรเถระเกิดความรำพึงที่ปฏิสังยุตด้วยสิกขาบท เพื่อแสดงนิทานตั้งต้นแต่เค้าเดิมแห่งการทรงบัญญัติพระวินัย จึงได้กล่าวคำมีอาทิ อถโข อายสฺมโต สารีปุตฺตสฺส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รโหคตสฺส แปลว่า ไปแล้วในที่สงัด.
               บทว่า ปฏิสลฺลีนสฺส แปลว่า หลีกเร้นอยู่ คือถึงความเป็นผู้โดดเดี่ยว.
               บทว่า กตเมสานํ ความว่า บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้นที่ล่วงไปแล้ว ของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหน? พรหมจรรย์ชื่อว่าดำรงอยู่นาน เพราะอรรถว่า พรหมจรรย์นั้นดำรงอยู่ตลอดกาลนานหรือมีการดำรงอยู่นาน.
               คำที่ยังเหลือในบทว่า อถโข อายสฺมโต เป็นต้นนี้ มีใจความเฉพาะบทตื้นทั้งนั้น.
               ถามว่า ก็พระเถระไม่สามารถจะวินิจฉัยความปริวิตกของตนนี้ด้วยตนเองหรือ?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               พระเถระทั้งสามารถ ทั้งไม่สามารถ.
               จริงอยู่ พระสารีบุตรเถระนี้ย่อมสามารถวินิจฉัยเหตุมีประมาณเท่านี้ได้ คือ ธรรมดาศาสนาของพระพุทธเจ้าเหล่านี้ดำรงอยู่ไม่ได้นาน, ของพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ดำรงอยู่ได้นาน แต่ท่านไม่สามารถจะวินิจฉัยเหตุนี้ว่า ศาสนาดำรงอยู่ไม่ได้นาน เพราะเหตุนี้ ดำรงอยู่ได้นาน เพราะเหตุนี้ ดังนี้.
               ส่วนพระมหาปทุมเถระกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์แม้นั่น ก็เป็นของไม่หนักแก่พระอัครสาวก ผู้ได้บรรลุที่สุดยอดแห่งปัญญา ๑๖ อย่างเลย, ส่วนการที่พระอัครสาวกผู้อยู่ในสถานที่เดียวกันกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำการวินิจฉัยเสียเอง ก็เป็นเช่นกับการทิ้งตราชั่งแล้วกลับชั่งด้วยมือ เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงเข้าไปเฝ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเสียทีเดียว. ถัดจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงวิสัชนาคำทูลถามของพระเถระนั้น จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ภควโต จ สารีปุตฺต วิปสฺสิสฺส ดังนี้.
               คำนั้นมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.
               พระเถระ เมื่อจะทูลถามถึงเหตุการณ์ต่อไปอีก จึงได้กราบทูลคำมีอาทิว่า โก นุ โข ภนฺเต เหตุ (ที่แปลว่า อะไรหนอแลเป็นเหตุ พระเจ้าข้า!)
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก นุ โข ภนฺเต เป็นคำทูลถามถึงเหตุการณ์.
               ใจความแห่งบทนั้นว่า เหตุเป็นไฉนหนอแล พระเจ้าข้า!
               คำทั้งสองนี้คือ เหตุ ปจฺจโย เป็นชื่อแห่งการณ์.
               จริงอยู่ การณ์ ท่านเรียกว่า เหตุ เพราะเป็นเครื่องไหลออก คือเป็นไปแห่งผลของการณ์นั้น. เพราะผลอาศัยการณ์นั้นแล้วจึงดำเนิน คือจึงเป็นไปได้ ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปัจจัย. บทแม้ทั้งสองนี้ในที่นั้นๆ แม้เป็นอันเดียวกันโดยใจความ พระเถระก็กล่าวไว้ด้วยอำนาจแห่งโวหาร และด้วยความสละสลวยแห่งถ้อยคำ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น.
               คำที่เหลือในคำว่า โก นุ โข เป็นต้นนี้ ก็มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.

               [พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพราะบริษัทมีมากหรือน้อยก็หาไม่]               
               ก็เพื่อจะแสดงเหตุและปัจจัยนั้น ในบัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า สารีปุตฺต วิปสฺสี.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิลาสุโนอเหสุํ ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้น ไม่ทรงใฝ่พระทัยเพราะความเกียจคร้าน ก็หามิได้.
               จริงอยู่ ความเกียจคร้านก็ดี ความมีพระวิริยภาพย่อหย่อนก็ดี ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หามีไม่. เพราะว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่จักรวาลหนึ่งก็ดี สองจักรวาลก็ดี จักรวาลทั้งสิ้นก็ดี ย่อมทรงแสดงด้วยพระอุตสาหะเสมอกันทีเดียว ครั้นทอดพระเนตรเห็นบริษัทมีจำนวนน้อยแล้ว ทรงลดพระวิริยภาพลงก็หาไม่ ทั้งทอดพระเนตรเห็นบริษัทมีจำนวนมากแล้ว ทรงมีพระวิริยภาพมากขึ้นก็หาไม่.
               เหมือนอย่างว่า พญาสีหมฤคราชล่วงไป ๗ วัน จึงออกไปเพื่อหากิน ครั้นพบเห็นสัตว์เล็กหรือใหญ่ก็ตาม ย่อมวิ่งไปโดยเชาว์อันเร็ว เช่นเดียวกันเสมอ,
               ข้อนั้น เพราะเหตุแห่งอะไร?
               เพราะเหตุแห่งความใฝ่ใจว่า ความเร็วของเราอย่าได้เสื่อมไป ดังนี้ ฉันใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ฉันนั้นย่อมทรงแสดงธรรมแก่บริษัท จะมีจำนวนน้อยหรือมากก็ตาม ก็ด้วยพระอุตสาหะเสมอกันทั้งนั้น,
               ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุแห่งความใฝ่พระทัยอยู่ว่า เหล่าชนผู้หนักในธรรมของเรา อย่าได้เสื่อมไป ดังนี้.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงหนักในธรรม ทรงเคารพพระธรรมแล. เหมือนอย่างว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายได้ทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร ดุจ (วลาหกเทวดา) ยังมหาสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยมอยู่ ฉันใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้นเหล่านั้น หาได้แสดงธรรมฉันนั้นไม่.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายมีธุลี คือกิเลสในปัญญาจักษุน้อยเบาบาง.
               ดังได้สดับมาว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุยืนนาน ได้เป็นผู้มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุน้อยเบาบาง. สัตว์เหล่านั้นพอได้สดับแม้พระคาถาเดียว ที่ประกอบด้วยสัจจะ ๔ ย่อมบรรลุธรรมได้ เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้นจึงไม่ทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร. ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ นวังคสัตถุศาสน์ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ จึงได้มีน้อย. ความที่นวังคสัตถุศาสน์มีสุตตะเป็นต้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในคำว่า อปฺปกญฺจ เป็นต้นนั้น เป็นต่างๆ กัน ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในวรรณนาปฐมสังคีตินั้นแล.

               [พระวิปัสสีเป็นต้นหาได้ทรงบัญญัติสิกขาบทเป็นต้นไม่]               
               หลายบทว่า อปฺปญฺญตฺตํ สาวกานํ สิกฺขาปทํ ความว่า สิกขาบท คือข้อบังคับด้วยอำนาจอาบัติ ๗ กองที่ควรทรงบัญญัติ โดยสมควรแก่โทษอันพระพุทธเจ้ามีพระวิปัสสีเป็นต้นเหล่านั้น. ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้แก่พระสาวกทั้งหลาย เพราะเป็นผู้ไม่มีโทษ.
               สองบทว่า อนุทฺทิฏฐํ ปาฏิโมกฺขํ ความว่า พระปาฏิโมกข์คือข้อบังคับ ก็มิได้ทรงแสดงทุกกึ่งเดือน. พระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ทรงแสดงเฉพาะโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น และแม้โอวาทปาฏิโมกข์นั้น ก็มิได้แสดงทุกกึ่งเดือน.
               ๑- จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสีทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ๖ เดือนต่อครั้งๆ ก็แลโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ทรงแสดงด้วยพระองค์เองทั้งนั้น.
               ส่วนพวกสาวกของพระองค์มิได้แสดงในที่อยู่ของตนๆ ภิกษุสงฆ์แม้ทั้งหมดในสกลชมพูทวีป กระทำอุโบสถในที่แห่งเดียวเท่านั้น คือในอุทยานเขมมฤคทายวันใกล้ราชธานี ชื่อพันธุมดี อันเป็นที่เสด็จประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี.
               ก็แล อุโบสถนั้นได้กระทำเป็นสังฆอุโบสถอย่างเดียว หาได้กระทำเป็นคณะอุโบสถ บุคคลอุโบสถ ปาริสุทธิอุโบสถ อธิษฐานอุโบสถไม่ ได้ทราบว่าในเวลานั้น ในชมพูทวีปมีวิหารแปดหมื่นสี่พันตำบล ในวิหารแต่ละตำบลมีภิกษุอยู่เกลื่อนไป วิหารและหมื่นรูปบ้าง สองหมื่นรูปบ้าง สามหมื่นรูปบ้าง เกินไปบ้าง.
____________________________
๑- พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโรน ป. ธ. ๙) วัดสัมพันธวงศ์ แปล.

               [พวกเทวดาบอกวันทำอุโบสถแก่พวกภิกษุ]               
               พวกเทวดาผู้บอกวันอุโบสถ เที่ยวไปบอกในที่นั้นๆ ว่า ท่านผู้มีนิรทุกข์ทั้งหลาย ล่วงไปแล้วปีหนึ่ง ล่วงไปแล้ว ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี, นี้ปีที่หก เมื่อดิถีเดือนเพ็ญมาถึง พวกท่านควรไปเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าและเพื่อทำอุโบสถ กาลประชุมของพวกท่านมาถึงแล้ว ในเวลานั้น พวกภิกษุผู้มีอานุภาพก็ไปด้วยอานุภาพของตน พวกนอกนี้ไปด้วยอานุภาพของเทวดา.
               ถามว่า พวกนอกนี้ไปด้วยอานุภาพของเทวดาได้อย่างไร?
               ตอบว่า ได้ทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นผู้อยู่ใกล้สมุทรทางทิศปราจีนหรือใกล้สมุทรทางทิศปัจฉิม อุดรและทักษิณ บำเพ็ญคมิยวัตร แล้วถือเอาบาตรและจีวร ยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า จะไป. พร้อมด้วยจิตตุปบาท พวกเธอก็เป็นผู้ไปสู่โรงอุโบสถทีเดียว. พวกเธอถวายอภิวาทพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั่งอยู่.

               [โอวาทปาฏิโมกขคาถา]               
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ ในบริษัทผู้นั่งประชุมกันแล้วว่า๑-
                                   ความอดทน คือความอดกลั้น เป็น
                         ธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อม
                         กล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม ผู้ทำร้ายผู้อื่น
                         ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย ผู้เบียดเบียนผู้อื่น
                         อยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ.
                                   ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศล
                         ให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส
                         นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
                                   ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย
                         ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็น
                         ผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอัน
                         สงัด ๑ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธทั้งหลาย.
               พึงทราบปาฏิโมกขุทเทสของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้นอกนี้โดยอุบายนี้นั่นแล. จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีพระโอวาทปาฏิโมกขคาถาเพียง ๓ คาถานี้เท่านั้น. คาถาเหล่านั้นย่อมมาสู่อุเทศจนถึงที่สุดแห่งพระศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้มีพระชนมายุยืนยาวนานทั้งหลาย. แต่สำหรับพระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุน้อยทั้งหลาย คาถาเหล่านั้นมาสู่อุเทศเฉพาะในปฐมโพธิกาลเท่านั้น.
               ด้วยว่า จำเดิมตั้งแต่เวลาทรงบัญญัติสิกขาบทมา ก็แสดงเฉพาะอาณาปาฏิโมกข์เท่านั้น. ก็แลอาณาปาฏิโมกข์นั้น พวกภิกษุเท่านั้นแสดง. พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาทรงแสดงไม่. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ของพวกเรา ก็ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ตลอดเวลาเพียง ๒๐ พรรษาในปฐมโพธิกาลเท่านั้น.
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๕๔.

               [เหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงทำอุโบสถและปาฏิโมกข์]               
               ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ที่ปราสาทของมิคารมารดา ในบุพพาราม ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า๑- ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักไม่ทำอุโบสถ จักไม่แสดงปาฏิโมกข์, ภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นี้ไปพวกเธอเท่านั้น พึงทำอุโบสถ พึงแสดงปาฏิโมกข์, ภิกษุทั้งหลาย มิใช่ฐานะมิใช่โอกาสที่พระตถาคตจะพึงทำอุโบสถ พึงแสดงปาฏิโมกข์ ในบริษัท ผู้ไม่บริสุทธิ์.
               ตั้งแต่นั้นมา พวกภิกษุก็แสดงอาณาปาฏิโมกข์. อาณาปาฏิโมกข์นี้เป็นของอันพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์มีพระวิปัสสีเป็นต้น ไม่ทรงยกขึ้นแสดงแก่ภิกษุเหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า อนุทฺทิฏฺฐํ ปาฏิโมกฺขํ.
____________________________
๑- วิ. จุลฺล. เล่ม ๗/ข้อ ๔๖๖

               [เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน]               
               คำว่า เตสํ พุทฺธานํ ความว่า แห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์มีพระวิปัสสีเป็นต้นเหล่านั้น. บทว่า อนฺตรธาเนน คือ เพราะขันธ์อันตรธานไป. มีอธิบายว่า เพราะปรินิพพาน.
               บทว่า พุทฺธานุพุทฺธานํ ความว่า และเพราะความอันตรธานไปแห่งขันธ์ ของเหล่าพระสาวกผู้ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น คือพระสาวกผู้ยังทันเห็นพระศาสดา.
               คำว่า เย เต ปจฺฉิมา สาวกา ความว่า เหล่าปัจฉิมสาวกผู้บวชในสำนัก ของพวกสาวกผู้ทันเห็นพระศาสดา. บทว่า นานานามา ความว่า มีชื่อต่างๆ กัน ด้วยอำนาจชื่อมีอาทิว่า พุทธรักขิต ธรรมรักขิต สังฆรักขิต. บทว่า นานาโคตฺตา ความว่า มีโคตรต่างๆ กัน ด้วยอำนาจโคตรมีอาทิว่า โคตมะ โมคคัลลานะ. บทว่า นานาชจฺจา คือมีชาติต่างๆ กัน ด้วยอำนาจชาติมีอาทิว่า กษัตริย์ พราหมณ์.
               สองบทว่า นานากุลา ปพฺพชิตา ความว่า ออกบวชจากตระกูลต่างๆ กัน ด้วยอำนาจตระกูลกษัตริย์เป็นต้น หรือด้วยอำนาจตระกูลมีตระกูลสูงตระกูลต่ำ ตระกูลมีโภคะโอฬาร และไม่โอฬารเป็นต้น.
               คำว่า เต ตํ พฺรหฺมจริยํ ความว่า เพราะปัจฉิมสาวกเหล่านั้น ทำในใจว่า พวกเรามีชื่อเดียวกัน มีโคตรเดียวกัน มีชาติเดียวกัน บวชจากตระกูลเดียวกัน ศาสนาเป็นแบบแผนประเพณีของพวกเรา จึงช่วยกันรักษาพรหมจรรย์ทำให้เป็นภาระของตน บริหารพระปริยัติธรรมไว้ให้นาน แต่ปัจฉิมสาวกเหล่านี้ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น พวกเธอจึงเบียดเบียนกัน ถือความเห็นขัดแย้งกัน ทำย่อหย่อนด้วยถือเสียว่า พระเถระโน้นจักรู้ พระเถระโน้นจักทราบ พึงยังพรหมจรรย์นั้นให้อันตรธานไปพลันทีเดียว คือไม่ยกขึ้นสู่การสังคายนารักษาไว้.
               คำว่า เสยฺยถาปิ เป็นการแสดงไขเนื้อความนั้นโดยข้ออุปมา. บทว่า วิกีรติ แปลว่า ย่อมพัดกระจาย. บทว่า วิธมติ แปลว่า ย่อมพัดไปสู่ที่อื่น. บทว่า วิทฺธํเสติ แปลว่า ย่อมพัดออกไปจากที่ที่ตั้งอยู่. คำว่า ยถาตํ สุตฺเตน อสงฺคหิตตฺตา ความว่า ลมย่อมพัดกระจายไปเหมือนพัดดอกไม้เรี่ยราย เพราะไม่ได้ร้อย เพราะไม่ได้ผูกด้วยด้ายฉะนั้น.
               มีคำอธิบายว่า (ดอกไม้ทั้งหลาย) ที่มิได้ควบคุมด้วยด้าย ย่อมถูกลมพัดกระจัดกระจายไปฉันใด ย่อมเรี่ยรายไปฉันนั้น.
               คำว่า เอวเมว โข เป็นการยังข้ออุปไมยให้ถึงพร้อม.
               บทว่า อนฺตรธาเปสุํ ความว่า (พวกสาวกภายหลัง) เมื่อไม่สงเคราะห์ (คือสังคายนาเป็นหมวดหมู่) ด้วยวัคสังคหะและปัณณาสสังคหะเป็นต้น ถือเอาแต่พรหมจรรย์กล่าวคือปริยัติธรรมที่ตนชอบใจเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้พินาศไป คือนำไปสู่ความไม่ปรากฏ.
               ข้อว่า กิลาสุโน จ เต ภควนฺโตอเหสุํ สาวกานํ เจตสา เจโต ปริจฺจโอวทิตุํ
               มีความว่า ดูก่อนสารีบุตร อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงไม่ใฝ่พระหฤทัย เพื่อจะทรงกะคือกำหนดใจของพวกสาวกด้วยพระหฤทัยของพระองค์ แล้วทรงสั่งสอน คือทรงทราบจิตของผู้อื่นแล้ว ทรงแสดงการแนะนำพร่ำสอน โดยไม่เป็นภาระหนัก โดยไม่ชักช้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสเป็นต้นว่า ภูตปุพฺพํ สารีปุตฺต ดังนี้ เพื่อประกาศความที่พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงไม่ใฝ่พระหฤทัย.
               บทว่า ภึสนเก คือ น่าพึงกลัว ได้แก่ ให้เกิดความน่าสยดสยอง.
               คำว่า เอวํ วิตกฺเกถ ความว่า พวกเธอจงตรึกกุศลวิตก ๓ มีเนกขัมมวิตกเป็นต้น. คำว่า มา เอวํ วิตกฺกยิตฺถ ความว่า พวกเธออย่าได้ตรึกอกุศลวิตก ๓ มีกามวิตกเป็นต้น. คำว่า เอวํ มนสิ กโรถ ความว่า พวกเธอจงกระทำไว้ในใจว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่สวยไม่งาม.
               ข้อว่า มา เอวํ มนสากตฺถ ความว่า พวกเธออย่ากระทำในใจว่า เที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา สวยงาม. คำว่า อิทํ ปชหถ คือจงละอกุศล. คำว่า อิทํ อุปสมฺปชฺช วิหรถ ความว่า พวกเธอจงเข้าถึงกลับได้ คือให้กุศลสำเร็จอยู่เถิด. ข้อว่า อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสุ คือหลุดพ้นแล้ว เพราะไม่ถือมั่น.
               จริงอยู่ จิตของพระสาวกเหล่านั้นหลุดพ้นจากอาสวะเหล่าใด จิตเหล่านั้นหลุดพ้นแล้ว เพราะไม่ถือมั่นอาสวะเหล่านั้น.๑- ก็อาสวะทั้งหลายดับไปอยู่ด้วยความดับ คือความไม่เกิดขึ้น ชื่อว่าหลุดพ้นแล้ว เพราะไม่ถือมั่น.๒- เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสุ.
               ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตแล้ว เป็นผู้มีจิตเบิกบาน เหมือนปทุมวันอันต้องแสงพระอาทิตย์ฉะนั้น.
____________________________
๑- สารตฺถทีปนี. ๑/๖๙๘ แนะให้แปลว่า จริงอยู่ จิตทั้งหลายของพระสาวก
๑- เหล่านั้น อันอาสวะเหล่าใดหลุดพ้นไปแล้ว อาสวะเหล่านั้นชื่อว่าหลุดพ้น
๑- ไปแล้ว เพราะไม่ยึดถือจิตเหล่านั้นด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
๒- โยชนาปาฐ ๑/๑๙๖ เป็น อนุปฺปาทนิโรเธน ปน อนุปปาทสงฺขาตนิโรธวเสน
๒- นิรุชฺฌมาเน อาสเว อคฺคเหตฺวาว จิตฺตานิ วิมุจฺจึสุ แปลว่า ก็จิตทั้งหลายหลุด
๒- พ้นแล้ว เพราะไม่ยึดถืออาสวะทั้งหลายที่ดับไปอยู่ด้วยความดับ กล่าวคือ
๒- ความไม่เกิดขึ้นอีก.

               ในข้อว่า ตตฺร สุทํ สารีปุตฺต ภึสนกสฺส วนสณฺฑสฺส ภึสนกตสฺมึ โหติ นี้ คำว่า ตตฺร เป็นคำกล่าวเพ่งถึงคำต้น. คำว่า สุทํ เป็นนิบาตลงในอรรถเพียงทำบทให้เต็ม. บทว่า สารีปุตฺต เป็นอาลปนะ.
               ก็ในคำว่า ตตฺร สุทํ เป็นต้นนี้ มีอรรถโยชนาดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ตตฺร ความว่าแห่งไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัว ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภึสนกะ ในพระดำรัสที่พระองค์ตรัสไว้ว่า อญฺญตรสฺมึ ภึสนเก วนสณฺเฑ.
               อธิบายว่า ภาวะอันน่าพึงกลัว ชื่อว่า ความน่าสยดสยองมีในภาวะน่าสยดสยอง คือในการทำให้หวาดกลัว.
               ถามว่า เป็นอย่างไร?
               ตอบว่า เป็นอย่างนี้คือผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะ เข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้นโดยมาก โลมชาติย่อมชูชัน.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ตตฺร เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติ.
               ศัพท์ว่า สุ เป็นนิบาต ดุจในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า กึสุ นาม เต โภนฺโต สมณพฺราหฺมณา แปลว่า สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ชื่ออย่างไรซิ. บทว่า อิทํ บัณฑิตพึงเห็นว่า เป็นคำแสดงความหมายตามที่ประสงค์ดุจทำให้เห็นได้ชัด.
               คำว่า สุ อิทํ สนธิเข้าเป็น สุทํ. พึงทราบว่า ลบอิอักษรด้วยอำนาจแห่งสนธิ เหมือนในประโยคทั้งหลายมีอาทิว่า จกฺขุนฺทฺริยํ อิตฺถินฺทฺริยํอนญฺญตญฺญสฺสามีตินฺทฺริยํ กึสูธ วิตฺตํ แปลว่า อินทรีย์ คือจักษุ อินทรีย์ คือหญิง อินทรีย์ คือความตั้งใจว่า จักรู้พระอรหัตที่ยังไม่รู้ อะไรซิ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจในโลกนี้.
               ก็ในคำนี้มีอรรถโยชนาดังต่อไปนี้ :-
               ดูก่อนสารีบุตร ในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นเป็นถิ่นน่าสยดสยอง จึงมีคำพูดกันดังนี้แล.
               บทว่า ภึสนกตสฺมึ ความว่า ในเพราะไพรสณฑ์เป็นถิ่นที่น่ากลัว. พึงเห็นว่าลบตะอักษรไปตัวหนึ่ง. อนึ่ง พระบาลีว่า ภึสนกตฺตสฺมึ ดังนี้ก็มี. อนึ่ง ในเมื่อควรจะกล่าวเป็นอิตถีลิงค์ว่า ภึสนกตาย ท่านก็ทำให้เป็นลิงควิปัลลาส.
               ก็ในคำว่า ภึสนกตสฺมึ นี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถแห่งนิมิต. เพราะฉะนั้น พึงเห็นสัมพันธ์อย่างนี้ว่า คำนี้แลย่อมมีในเพราะความที่ไพรสณฑ์น่าพึงกลัว เป็นถิ่นที่มีความสยดสยองเป็นนิมิต คือมีคำพูดนี้แล เพราะมีความสยดสยองเป็นเหตุ เพราะมีความสยดสยองเป็นปัจจัย ข้อว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมาก โลมชาติย่อมชูชัน.
               ความว่า ขนเป็นอันมากกว่ามาก ย่อมชูชัน คือตั้งปลายขึ้นเป็นเช่นกับเข็มและเป็นเช่นกับหนาม จำนวนน้อยไม่ชูชัน. อนึ่ง โลมชาติของสัตว์จำนวนมากกว่ามากย่อมชูชัน แต่ของคนผู้กล้าหาญยิ่งน้อยคนย่อมไม่ชูชัน.
               บัดนี้ คำมีว่า อยํ โข สารีปุตฺต เหตุ เป็นต้น เป็นคำกล่าวย้ำ.
               ส่วนคำที่ข้าพเจ้ามิได้กล่าวไว้ในระหว่างๆ ในพระบาลีนี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบตามลำดับแห่งพระบาลีนั้นแล. แต่พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ไม่ดำรงอยู่นาน บัณฑิตพึงทราบว่า พระองค์ตรัสด้วยอำนาจแห่งยุคของคน.

               [ความต่างกันแห่งอายุกาลของพระวิปัสสีพุทธเจ้าเป็นต้น]               
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสีโดยการนับปี มีพระชนมายุแปดหมื่นปี แม้พวกสาวกที่พร้อมหน้าของพระองค์ ก็อายุประมาณเท่านั้นปีเหมือนกัน.
               พรหมจรรย์ (ศาสนา) สืบต่อด้วยสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายเขาทั้งหมด ตั้งอยู่ได้ตลอดแสนหกหมื่นปี ด้วยประการอย่างนี้. แต่โดยอำนาจแห่งยุคคน พรหมจรรย์ได้ตั้งอยู่ต่อมา ด้วยความสืบต่อกันแห่งยุคตลอดยุคคน ๒ ยุคเท่านั้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ไม่ดำรงอยู่นาน.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี มีพระชนมายุเจ็ดหมื่นปี แม้พวกสาวกพร้อมหน้าของพระองค์ ก็มีอายุประมาณเท่านั้นเหมือนกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเวสภู มีพระชนมายุหกหมื่นปี แม้พวกสาวกผู้พร้อมหน้าของพระองค์ ก็มีอายุประมาณเท่านั้นปีเหมือนกัน. พรหมจรรย์ (ศาสนา) สืบต่อด้วยสาวกองค์สุดท้ายเขาทั้งหมดแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขีและเวสภูแม้นั้นตั้งอยู่ต่อมาได้ประมาณแสนสี่หมื่นปี และประมาณแสนสองหมื่นปี.
               แต่ว่าโดยอำนาจแห่งยุคคน พรหมจรรย์ตั้งอยู่ต่อมาได้ด้วยการสืบต่อแห่งยุค ตลอดยุคคน ๒ ยุคเท่ากันๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดำรงอยู่ไม่นาน.
               ท่านพระสารีบุตรฟังเหตุแห่งการดำรงอยู่ไม่นานแห่งพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์อย่างนี้แล้ว มีความประสงค์จะฟังเหตุแห่งการดำรงอยู่ได้นาน แห่งพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์นอกนี้ จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก โดยนัยมีอาทิว่า ก็อะไรเป็นเหตุ พระเจ้าข้า!.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงพยากรณ์แก่ท่าน.
               คำพยากรณ์นั้นแม้ทั้งหมดพึงทราบด้วยอำนาจนัยที่ตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว. และแม้ในความดำรงอยู่นาน ในคำพยากรณ์นั้น บัณฑิตพึงทราบความดำรงอยู่นานโดยเหตุทั้งสอง คือโดยประมาณแห่งพระชนมายุของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นบ้าง โดยยุคแห่งคนบ้าง.
               ความพิสดารว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากกุสันธะ มีพระชนมายุสี่หมื่นปี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าโกนาคมน์ มีพระชนมายุสามหมื่นปี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป มีพระชนมายุสองหมื่นปี
               แม้พระสาวกพร้อมหน้าทั้งหลายของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ก็มีอายุเท่านั้นปีเหมือนกัน. และยุคแห่งสาวกเป็นอันมากของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ยังพรหมจรรย์ให้เป็นไปโดยความสืบต่อกันมา. พรหมจรรย์ดำรงอยู่นานโดยเหตุทั้งสองคือโดยประมาณแห่งพระชนมายุ ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นบ้าง โดยยุคแห่งสาวกบ้าง ด้วยประการฉะนี้.

               [เหตุที่พระพุทธเจ้าของเราเกิดในกาลแห่งคนมีอายุน้อย]               
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา ควรจะเสด็จอุบัติขึ้นในกาลแห่งคนมีอายุหมื่นปีซึ่งเท่ากับอายุกึ่งหนึ่ง แห่งพระชนมายุของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ไม่ถึงกาลแห่งคนมีอายุหมื่นปีนั้น ก็ควรจะเสด็จอุบัติขึ้นในกาลแห่งคนมีอายุห้าพันปี หรือในกาลแห่งคนมีอายุหนึ่งพันปี
               หรือแม้ในกาลแห่งคนมีอายุห้าร้อยปี แต่เพราะเมื่อพระองค์ทรงเสาะหา คือแสวงหาธรรมอันกระทำความเป็นพระพุทธเจ้า ทรงยังญาณให้แก่กล้า ให้ตั้งครรภ์ (เพื่อคลอดคุณพิเศษ) ญาณได้ถึงความแก่กล้า ในกาลแห่งคนมีอายุร้อยปี เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเสด็จอุบัติขึ้นในกาลแห่งคนมีอายุน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ควรกล่าวได้ว่า พรหมจรรย์แม้ดำรงอยู่ได้นาน ด้วยอำนาจความสืบต่อกันแห่งพระสาวกของพระองค์ แต่ก็ดำรงอยู่ได้ไม่นานโดยการนับปี ด้วยอำนาจปริมาณแห่งอายุเหมือนกัน.

               [พระสารีบุตรทูลขอให้ทรงบัญญัติสิกขาบท]               
               ถามว่า ในคำว่า อถโข อายสฺมา สารีปุตฺโต มีอะไรเป็นอนุสนธิ.
               ตอบว่า คือ ท่านพระสารีบุตร ครั้นได้ฟังเหตุการณ์ดำรงอยู่นานแห่งพรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์อย่างนี้แล้ว ถึงความตกลงใจว่า การบัญญัติสิกขาบทเท่านั้น เป็นเหตุแห่งความดำรงอยู่ได้นาน เมื่อปรารถนาความดำรงอยู่นานแห่งพรหมจรรย์ แม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลวิงวอนขอการบัญญัติสิกขาบทกะพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระอุบาลีเถระกล่าวคำว่า อถโข อายสฺมา สารีปุตฺโต อุฏฺฐายาสนา ฯเปฯ จิรฏฺฐิติกํ นี้เพื่อแสดงวิธีทูลวิงวอนขอการบัญญัติสิกขาบทนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทฺธนิยํ คือ ควรแก่กาลนาน. มีคำอธิบายว่า มีกาลยาวนาน.
               คำที่เหลือมีอรรถตื้นทั้งนั้น.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามท่านพระสารีบุตร]               
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกาศแก่พระสารีบุตรนั้นว่า เวลานี้ ยังไม่เป็นกาลแห่งอันบัญญัติสิกขาบทก่อน จึงตรัสว่า อาคเมหิ ตฺวํ สารีปุตฺต ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า อาคเมหิ ตฺวํ ความว่า เธอจงรอก่อน. มีคำอธิบายว่า เธอจงยับยั้งก่อน. ก็คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสซ้ำสองครั้ง ด้วยอำนาจความเอื้อเฟื้อ.
               ด้วยคำว่า อาคเมหิ เป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามความที่การบัญญัติสิกขาบทเป็นวิสัยของพระสาวก เมื่อจะทรงทำให้แจ้งว่า การบัญญัติสิกขาบทเป็นพุทธวิสัย จึงตรัสคำว่า ตถาคโตว เป็นต้น. ก็ในคำว่า ตถาคโตว นี้ คำว่า ตตฺถ เป็นสัตตมีวิภัตติ เพ่งถึงการอ้อนวอน ขอให้ทรงบัญญัติสิกขาบท.
               ในคำว่า ตถาคโตว นั้น มีโยชนาดังต่อไปนี้ :-
               ในคำที่เธอกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงบัญญัติสิกขาบทนั้น พระตถาคตเท่านั้นจักรู้กาลแห่งอันบัญญัติสิกขาบทนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงสมัยมิใช่กาลก่อน จึงตรัสคำมีอาทิว่า น ตาว สารีปุตฺต ดังนี้.
               ในคำว่า น ตาว สารีปุตฺต เป็นต้นนั้นมีวินิจฉัยว่า
               อาสวะทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ,
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลายอันอาสวะพึงตั้งอยู่ คือไม่พึงผ่านเลยไป เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า เป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ.
               อธิบายว่า อาสวะคือทุกข์ และอาสวะคือกิเลส อันเป็นไปในทิฏฐธรรมและในสัมปรายภพ อาสวะมีการค่อนขอดของคนอื่น ความวิปฏิสาร การฆ่าและการจองจำเป็นต้น และอาสวะอันเป็นทุกข์พิเศษในอบาย ย่อมตั้งอยู่นั่นเทียว ในวีติกกมธรรมเหล่าใด เพราะวีติกกมธรรมเหล่านั้น เป็นเหตุแห่งอาสวะมีอาสวะอันเป็นไปในทิฏฐธรรมเป็นต้นเหล่านั้น.
               ๑- วาจาสำหรับประกอบในคำว่า น ตาว เป็นต้นนี้ ดังนี้ว่า วีติกกมธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะเหล่านั้น ยังไม่มีปรากฏในสงฆ์เพียงใด พระศาสดาจะไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเพียงนั้น. ก็ถ้าพึงบัญญัติไซร้ ไม่พึงพ้นจากความค่อนขอดของผู้อื่น จากความคัดค้านของผู้อื่น จากโทษคือความติเตียน.
____________________________
๑- องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๘๐

               [ข้อที่จะถูกตำหนิในการบัญญัติสิกขาบท]               
               ถามว่า ไม่พึงพ้นอย่างไร?
               ตอบว่า จริงอยู่ สิกขาบททั้งปวงมีอาทิว่า โย ปน ภิกฺขุ เมถุนํ ธมฺมํ ปฏิสเวยฺย ดังนี้ พึงเป็นสิกขาบทอันพระศาสดาผู้จะบัญญัติ ควรบัญญัติ.
               ฝ่ายชนเหล่าอื่นไม่เห็นวีติกกมโทษ แต่รู้พระบัญญัตินี้ จะพึงยังความค่อนขอด ความคัดค้านและความติเตียนให้เป็นไปอย่างนี้ว่า นี่อย่างไรกัน พระสมณโคดมจักผูกมัดด้วยสิกขาบททั้งหลายจักบัญญัติปาราชิก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า ภิกษุสงฆ์ยอมตามเรา ทำตามคำของเรา กุลบุตรเหล่านี้ละกองโภคะใหญ่ละเครือญาติใหญ่ และละแม้ซึ่งราชสมบัติอันอยู่ในเงื้อมมือบวช เป็นผู้สันโดษด้วยความเป็นผู้มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างยิ่ง มีความเคารพจัดในสิกขา ไม่ห่วงใยในร่างกายและชีวิตอยู่มิใช่หรือ ในกุลบุตรเหล่านั้น ใครเล่าจักเสพเมถุนซึ่งเป็นโลกามิสหรือจักลักของๆ ผู้อื่น หรือจักเข้าไปตัดชีวิตของผู้อื่น ซึ่งเป็นของปรารถนารักใคร่หวานยิ่งนัก หรือจักสำเร็จการเลี้ยงชีวิตด้วยอวดคุณที่ไม่มี, เมื่อปาราชิกแม้ไม่ทรงบัญญัติไว้ สิกขาบทนั่นเป็นอันพระองค์ทรงทำให้ปรากฏแล้ว โดยสังเขปในบรรพชานั่นเอง มิใช่หรือ?
               ชนทั้งหลายไม่ทราบเรี่ยวแรง และกำลังแม้แห่งพระตถาคต, สิกขาบทแม้ที่ทรงบัญญัติไว้ จะพึงกำเริบ คือไม่คงอยู่ในสถานเดิม.

               [เปรียบด้วยแพทย์ผู้ไม่ฉลาดทำการผ่าตัด]               
               แพทย์ผู้ไม่ฉลาด เรียกบุรุษบางคน ซึ่งหัวฝียังไม่เกิดขึ้นมาแล้วบอกว่า มานี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ หัวฝีใหญ่จักเกิดขึ้นในสรีระประเทศตรงนี้ของท่าน, จักยังความเสื่อมฉิบหายให้มาถึงท่าน, ท่านจงรีบให้หมอเยียวยามันเสียเถิด ดังนี้ ผู้อันบุรุษนั้นกล่าวว่า ดีละ ท่านอาจารย์ ท่านนั่นแหละจงเยียวยามันเถิด จึงผ่าสรีรประเทศซึ่งหาโรคมิได้ของบุรุษนั้น คัดเลือดออกแล้วทำสรีรประเทศตรงนั้นให้กลับมีผิวดีด้วยยาทาและพอก และการชะล้างเป็นต้นแล้ว จึงกล่าวกะบุรุษนั้นว่า โรคใหญ่ของท่าน เราได้เยียวยาแล้ว ท่านจงให้บำเหน็จแก่เรา.
               บุรุษนั้นพึงค่อนขอด พึงคัดค้านและพึงติเตียนนายแพทย์อย่างนี้ว่า หมอโง่นี่พูดอะไร ได้ยินว่าโรคชนิดไหนของเรา ซึ่งหมอโง่นี้ได้เยียวยาแล้ว, หมอโง่นี้ทำทุกข์ให้เกิดแก่เรา และทำให้เราต้องเสียเลือดไปมิใช่หรือ ดังนี้ และไม่พึงรู้คุณของหมอนั้น ข้อนี้ชื่อแม้ฉันใด,
               ถ้าเมื่อวีติกกมโทษยังไม่เกิดขึ้น พระศาสดาพึงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกไซร้ พระองค์ไม่พึงพ้นจากอนิฏฐผล มีความค่อนขอดของผู้อื่นเป็นต้น และชนทั้งหลายจะไม่พึงรู้กำลังพระปรีชาสามารถของพระองค์ ฉันนั้นนั่นแล และสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว จะพึงกำเริบ คือไม่ตั้งอยู่ในสถานเดิม. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า น ตาว สารีปุตฺต สตฺถา สาวกานํ ฯเปฯ ปาตุภวนฺติ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกาลอันไม่ควรอย่างนี้แล้ว จึงตรัสคำว่า ยโต จ โข สารีปุตฺต เป็นอาทิ เพื่อแสดงกาลอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยโต คือเมื่อใด. มีคำอธิบายว่า ในกาลใด.
               คำที่เหลือ พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อีกนัยหนึ่ง ในคำว่า ยโต เป็นต้นนี้ มีความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               วีติกกมโทษอันถึงซึ่งการนับว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ ย่อมมีปรากฏในสงฆ์ ในกาลชื่อใด, ในกาลนั้น พระศาสดาย่อมทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พวกสาวก ย่อมทรงแสดงปาฏิโมกข์,
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเพื่อกำจัดวีติกกมโทษเหล่านั้นนั่นแล อันถึงซึ่งการนับว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงบัญญัติอย่างนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่ควรค่อนขอดเป็นต้น และเป็นผู้มีอานุภาพปรากฏ ในสัพพัญญูวิสัยของพระองค์ ย่อมถึงสักการะ และสิกขาบทของพระองค์นั้นย่อมไม่กำเริบ คือตั้งอยู่ในสถานเดิม,
               เปรียบเหมือนนายแพทย์ผู้ฉลาดเยียวยาหัวฝีที่เกิดขึ้นแล้วด้วยการผ่าตัดพอกยาพันแผลและชะล้างเป็นต้น ทำให้สบายมีผิวดี เป็นผู้ไม่ควรค่อนขอดเป็นต้นเลย และเป็นผู้มีอานุภาพปรากฏในเพราะกรรมแห่งอาจารย์ของตน ย่อมประสบสักการะฉะนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความไม่เกิดขึ้นและความเกิดขึ้นแห่งธรรมเป็นที่ตั้งของอาสวะ อกาลและกาลแห่งอันบัญญัติสิกขาบทอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อแสดงกาลยังไม่เกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านั้นแล จึงตรัสคำว่า น ตาว สารีปุตฺต อิเธกจฺเจ เป็นต้น.
               ในคำว่า ตาว เป็นต้นนั้น บททั้งหลายที่มีอรรถตื้น พึงทราบด้วยอำนาจพระบาลีนั่นแล.
               ส่วนการพรรณนาบทที่ไม่ตื้นดังต่อไปนี้ :-

               [อธิบายเหตุที่ให้ทรงบัญญัติสิกขาบท]               
               ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า รัตตัญญู เพราะอรรถว่า รู้ราตรีนาน คือรู้ราตรีเป็นอันมากตั้งแต่วันที่ตนบวชมา. มีอธิบายว่า บวชมานาน. ความเป็นหมู่ด้วยพวกภิกษุผู้รู้ราตรีนาน ชื่อว่ารัตตัญญุมหัตตะ. อธิบายว่า ความเป็นหมู่ใหญ่ด้วยพวกภิกษุผู้บวชมานาน.
               ๑- บัณฑิตพึงทราบว่า สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภพระอุปเสนวังคันตบุตร บัญญัติเพราะสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ด้วยภิกษุผู้รู้ราตรีนาน ในบรรดาความเป็นหมู่ใหญ่เหล่านั้น.
               จริงอยู่ ท่านผู้มีอายุนั้นได้เห็นภิกษุทั้งหลาย ผู้มีพรรษาหย่อนสิบให้อุปสมบทอยู่ ตนมีพรรษาเดียว จึงให้สัทธิวิหาริกอุปสมบทบ้าง. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรอันภิกษุผู้มีพรรษาหย่อนสิบ ไม่พึงให้อุปสมบท, ภิกษุใดพึงให้อุปสมบท ปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุนั้น.๒-
               เมื่อสิกขาบทอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้วอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด คิดว่า เราได้สิบพรรษา เรามีพรรษาครบสิบ จึงให้อุปสมบทอีก.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแม้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรอันภิกษุผู้มีพรรษาครบสิบ แต่เป็นผู้โง่ ไม่ฉลาด ไม่พึงให้อุปสมบท, ภิกษุใดพึงให้อุปสมบท ปรับอาบัติทุกกฏ แก่ภิกษุนั้น, ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด สามารถมีพรรษาสิบหรือเกินกว่าสิบ ให้อุปสมบทได้.๓-
               ในกาลที่สงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ด้วยภิกษุผู้รู้ราตรีนาน ได้ทรงบัญญัติสองสิกขาบท.
____________________________
๑- องค์การศึกษาแผนกบาลีแปลออกสอบสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒-๘๕
๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๙๐.
๓- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๙๑.

               บทว่า เวปุลฺลมหตฺตํ มีความว่า ความเป็นหมู่ใหญ่ด้วยความเป็นหมู่แพร่หลาย. จริงอยู่ สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ด้วยความเป็นหมู่แพร่หลาย ด้วยอำนาจภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ ผู้ใหญ่และผู้ปานกลางเพียงใด เสนาสนะย่อมเพียงพอกัน, อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ก็ยังไม่เกิดขึ้นในศาสนาเพียงนั้น, แต่เมื่อสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ ด้วยความเป็นหมู่แพร่หลายแล้ว อาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้น. ทีนั้น พระศาสดาย่อมทรงบัญญัติสิกขาบท. สิกขาบทที่ทรงบัญญัติในเพราะสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ ด้วยความเป็นหมู่แพร่หลาย.
               ในบรรดาความเป็นหมู่ใหญ่เหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบตามนัยนี้ว่า อนึ่ง ภิกษุใด พึงสำเร็จการนอนร่วมกันกับอนุปสัมบันเกินสองสามคืน ภิกษุนั้นต้องปาจิตตีย์. อนึ่ง ภิกษุณีใด พึงให้นางสิกขมานาอุปสมบทตามปี นางภิกษุณีนั้นต้องปาจิตตีย์. อนึ่ง นางภิกษุณีใด พึงให้นางสิกขมานาอุปสมบทปีละ ๒ รูป นางภิกษุณีนั้น ต้องปาจิตตีย์.
               บทว่า ลาภคฺคมหตฺตํ มีความว่า ความเป็นใหญ่เป็นยอดแห่งลาภ. อธิบายว่า ความเป็นใหญ่ใด เป็นยอด คือสูงสุดแห่งลาภ สงฆ์เป็นผู้ถึงความเป็นใหญ่นั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ เลิศด้วยลาภก็ได้. อธิบายว่า ถึงความเป็นหมู่ประเสริฐ และความเป็นหมู่ใหญ่ด้วยลาภ.
               จริงอยู่ สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศด้วยลาภเพียงใด อาสวัฏฐานิยธรรมอาศัยลาภ ก็ยังไม่เกิดขึ้นเพียงนั้น แต่เมื่อถึงแล้ว ย่อมเกิดขึ้น. ทีนั้น พระศาสดาย่อมทรงบัญญัติสิกขาบทว่า อนึ่ง ภิกษุใด พึงให้ของควรเคี้ยว หรือของควรบริโภค ด้วยมือของตนแก่อเจลกก็ดี แก่ปริพาชกก็ดี แก่ปริพาชิกาก็ดี ภิกษุนั้นต้องปาจิตตีย์.
               จริงอยู่ สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติเพราะสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศด้วยลาภ.
               บทว่า พาหุสจฺจมหตฺตํ มีความว่า ความที่พาหุสัจจะเป็นคุณใหญ่.
               จริงอยู่ สงฆ์ยังไม่ถึงความที่พาหุสัจจะเป็นคุณใหญ่เพียงใด อาสวัฏฐานิยธรรมก็ยังไม่เกิดขึ้นเพียงนั้น. แต่เมื่อถึงความที่พาหุสัจจะเป็นคุณใหญ่แล้วย่อมเกิดขึ้น เพราะเหตุว่า บุคคลทั้งหลายเรียนพุทธวจนะนิกายหนึ่งบ้าง สองนิกายบ้าง ฯลฯ ห้านิกายบ้างแล้ว เมื่อใคร่ครวญโดยไม่แยบคาย เทียบเคียงรสด้วยรสแล้ว ย่อมแสดงสัตถุศาสนานอกธรรมนอกวินัย.
               ทีนั้น พระศาสดาย่อมทรงบัญญัติสิกขาบท โดยนัยเป็นต้นว่า อนึ่ง ภิกษุใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วอย่างนั้น ฯลฯ ถ้าแม้นสมณุทเทสพึงกล่าวอย่างนี้ไซร้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกาลไม่เกิดและกาลเกิดขึ้นแห่งธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงความไม่มีแห่งอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น แม้โดยประการทั้งปวง ในสมัยนั้น จึงตรัสคำมีว่า นิรพฺพุโท หิ สารีปุตฺต เป็นต้น.

               [อรรถาธิบายคำว่า นิรพฺพุโท เป็นต้น]               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิรพฺพุโท คือเว้นจากเสนียด. พวกโจรท่านเรียกว่า เสนียด. อธิบายว่า หมดโจร. ก็ในอรรถนี้ พวกภิกษุผู้ทุศีล ท่านประสงค์เอาว่า เป็นโจร.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ทุศีลเหล่านั้นย่อมลักปัจจัยของคนเหล่าอื่น เพราะเป็นผู้มิใช่สมณะ แต่มีความสำคัญว่าเป็นสมณะ เพราะเหตุนั้น ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโจร. มีอธิบายว่า ไม่มีคนทุศีล.
               บทว่า นิราทีนโว ได้แก่ ไม่มีอุปัทวะ คือไม่มีอุปสรรค. มีคำอธิบายว่า เว้นจากโทษของผู้ทุศีลทีเดียว. ผู้ทุศีลแล ท่านเรียกว่า คนดำ ในคำว่า อปคตกาฬโก นี้. จริงอยู่ ผู้ทุศีลเหล่านั้น แม้เป็นผู้มีวรรณะดุจทองคำ พึงทราบว่า เป็นคนดำทีเดียว เพราะประกอบด้วยธรรมดำ. เพราะไม่มีคนมีธรรมดำเหล่านั้น จึงชื่อว่า อปคตกาฬก. ปาฐะว่า อปหตกาฬก ก็มี.
               บทว่า สุทฺโธ คือ ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะมีคนดำปราศไปแล้วนั่นเอง.
               บทว่า ปริโยทาโต คือ ผุดผ่อง.
               คุณคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านเรียกว่าสาระ ในคำว่า สาเรปติฏฺฐิโต นี้. เพราะตั้งอยู่แล้วในสาระนั้น จึงชื่อว่าตั้งอยู่ในสารคุณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่ภิกษุสงฆ์ตั้งอยู่ในสารคุณอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงอีกว่า ก็ความที่ภิกษุสงฆ์นั้นตั้งอยู่ในสารคุณนั้น พึงทราบอย่างนี้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า อิเมสํ หิ สารีปุตฺต.
               ในคำนั้น มีการพรรณนาโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               บรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ผู้เข้าพรรษา ณ เมืองเวรัญชา ภิกษุที่ต่ำต้อยด้วยอำนาจคุณ คือมีคุณต่ำกว่าภิกษุทุกรูป ก็เป็นพระโสดาบัน. คำว่า โสตาปนฺโน คือ ผู้ตกถึงกระแส. ก็คำว่า โสโต นี้ เป็นชื่อของมรรค. คำว่า โสตาปนฺโน เป็นชื่อของบุคคลผู้ประกอบด้วยมรรคนั้น.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า) สารีบุตร ที่เรียกว่า โสตะ โสตะ นี้ โสตะเป็นไฉนหนอแล สารีบุตร?
               (พระสารีบุตรกราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อริยมรรคมีองค์แปดนี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ชื่อว่า โสตะ.
               (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า) สารีบุตร ที่เรียกว่า โสดาบัน โสดาบัน นี้ โสดาบันเป็นไฉนหนอแล สารีบุตร?
               (พระสารีบุตรกราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บุคคลผู้ซึ่งประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์แปดนี้ เรียกว่าโสดาบัน ท่านผู้มีอายุนี้นั้น มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้.
               ก็ในบทนี้พึงทราบว่า มรรคให้ชื่อแก่ผล เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล ชื่อว่า โสดาบัน. บทว่า อวินิปาตธมฺโม มีวิเคราะห์ว่า ธรรมที่ชื่อว่าวินิบาต เพราะอรรถว่าให้ตกไป. พระโสดาบันชื่อว่า อวินิปาตธรรม เพราะอรรถว่า ท่านไม่มีวินิปาตธรรม. มีคำอธิบายว่า ท่านไม่มีการยังตนให้ตกไปในอบายเป็นสภาพ.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะความสิ้นไปแห่งธรรมเป็นเหตุนำไปสู่อบาย.
               อีกอย่างหนึ่ง การตกไป ชื่อว่าวินิบาต. พระโสดาบัน ชื่อว่าอวินิปาตธรรม เพราะอรรถว่า ท่านไม่มีธรรมที่ตกไป. มีคำอธิบายว่า ความตกไปในอบายเป็นสภาพ ไม่มีแก่ท่าน.๑-
               ชื่อว่า เป็นผู้เที่ยง เพราะเป็นผู้แน่นอนด้วยมรรค ที่กำหนดด้วยความเป็นธรรมถูก. ชื่อว่าเป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เพราะอรรถว่า พระโสดาบันนั้นมีความตรัสรู้เป็นไปในเบื้องหน้า คือเป็นคติข้างหน้า. อธิบายว่า พระโสดาบันนั้นจะทำตนให้ได้บรรลุถึงมรรค ๓ เบื้องบนแน่นอน.
               เพราะเหตุไร? เพราะท่านได้ปฐมมรรคแล้วแล.
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงยังพระธรรมเสนาบดีให้ยินยอมอย่างนั้นแล้ว ทรงยับยั้งอยู่ตลอดพรรษานั้นในเมืองเวรัญชา เสด็จออกพรรษาปวารณาในวันมหาปวารณาแล้ว จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา.
               บทว่า อามนฺเตสิ ความว่า ได้ทรงเรียก คือได้ทรงตรัสเรียกได้แก่ ทรงเตือนให้รู้.
               ถามว่า ทรงเตือนให้รู้ว่าอย่างไร?
               แก้ว่า ทรงเตือนให้รู้เรื่องมีอาทิอย่างนี้ว่า อาจิณฺณํ โข ปเนตํ.
               บทว่า อาจิณฺณํ คือเป็นความประพฤติ เป็นธรรมเนียม ได้แก่เป็นธรรมดา.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๕๐๙/หน้า ๔๓๔-๕๓๔.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :