ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๕.

               [อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า โลกวิทู]               
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า โลกวิทู เพราะพระองค์ทรงรู้แจ้งโลก โดยประการทุกอย่าง. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงรู้ คือทรงรู้ทั่วถึง ทรงแทงตลอดโลก โดยประการทั้งปวง โดยสภาพบ้าง โดยสมุทัยบ้าง โดยนิโรธบ้าง โดยอุบายเป็นเหตุถึงนิโรธบ้าง.
               เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนอาวุโส ในที่สุดแห่งโลกใดแล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุบัติ เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกนั้นว่า อันบุคคลพึงรู้ พึงเห็น พึงถึง ด้วยการไป (ด้วยกาย), ดูก่อนอาวุโส และเราไม่กล่าวว่า การยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกเลยจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้, ดูก่อนอาวุโส อีกอย่างหนึ่ง เราย่อมบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ที่กเลวระประมาณวาหนึ่งนี้แล ซึ่งมีสัญญา มีใจ,
                         ที่สุดแห่งโลก บุคคลไม่พึงถึงได้ด้วย
               การไป (ด้วยกาย) ในกาลไหนๆ และจะไม่มี
               การพ้นจากทุกข์ได้ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่ง
               โลกเพราะเหตุนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญา
               ดีถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็น
               ผู้สงบ รู้ที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่ปรารถนา
               โลกนี้และโลกอื่น.๑-
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๔๕/หน้า ๖๒.

               [อรรถาธิบายโลก ๓]               
               อีกอย่างหนึ่ง โลกมี ๓ คือสังขารโลก (โลกคือสังขาร) สัตวโลก (โลกคือหมู่สัตว์) โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน).
               บรรดาโลกทั้ง ๓ นั้น โลกในอาคตสถานว่า โลก ๑ คือ สรรพสัตว์ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร๑- ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นสังขารโลก. โลกในอาคตสถานว่า โลกเที่ยง หรือว่า โลกไม่เที่ยง๒- ดังนี้เป็นต้น พึงทราบว่า เป็นสัตวโลก.
               โลกในอาคตสถานว่า
                                   พระจันทร์และอาทิตย์รุ่งโรจน์ย่อม
                         เวียนส่องทิศทั้งหลาย ให้สว่างไสว ตลอด
                         ที่มีประมาณเพียงใด, โลกมีประการตั้งพัน
                         ก็ย่อมสว่างไสว ตลอดที่มีประมาณเพียงนั้น,
                         อำนาจของท่าน ย่อมเป็นไปในโลกตั้งพัน
                         จักรวาลนี้ ดังนี้๓-
               พึงทราบว่า เป็นโอกาสโลก.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๗๕/เล่ม ๑๗๙.
๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๔๗/เล่ม ๑๔๓
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๕๔/เล่ม ๕๙๔

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรู้แจ้งโลกแม้ทั้ง ๓ นั้นโดยประการทั้งปวง.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้ทรงรู้แจ้งสังขารโลกนี้ โดยประการทั้งปวง คือ :-
               โลก ๑ คือสรรพสัตว์ ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร, โลก ๒ คือนาม ๑ รูป ๑, โลก ๓ คือเวทนา ๓, โลก ๔ คืออาหาร ๔, โลก ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕, โลก ๖ คืออายตนะภายใน ๖, โลก ๗ คือวิญญาณฐิติ ๗, โลก ๘ คือโลกธรรม ๘, โลก ๙ คือสัตตาวาส ๙, โลก ๑๐ คืออายตนะ ๑๐, โลก ๑๒ คืออายตนะ ๑๒, โลก ๑๘ คือธาตุ ๑๘.#-
____________________________
#- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๗๕/เล่ม ๑๗๙.

               อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบอาสยะ (คือฉันทะเป็นที่มานอน) อนุสัย (คือกิเลสที่ตามนอนอยู่ในสันดาน) จริต (คือความประพฤติ) อธิมุตติ (คืออัธยาศัย) ของเหล่าสัตว์แม้ทั้งปวง, (และ) ย่อมทรงทราบสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุน้อย ผู้มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุมาก ผู้มีอินทรีย์กล้า ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี ผู้มีอาการชั่ว ผู้จะพึงให้รู้ได้ง่าย ผู้จะพึงให้รู้ได้ยาก ผู้ควร (จะตรัสรู้) ผู้ไม่ควร (จะตรัสรู้) เพราะฉะนั้น แม้สัตวโลกอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งแล้วโดยประการทั้งปวง.
               เหมือนอย่างว่า พระองค์ทรงรู้แจ้งสัตวโลก ฉันใด,
               แม้โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) ก็ทรงรู้แจ้งแล้ว ฉันนั้น.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้ทรงรู้แจ้ง คือได้ทรงทราบ ได้แก่ทรงแทงตลอดแล้ว ซึ่งโลกธาตุอันไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยพระพุทธญาณอันไม่มีที่สุดตลอดอนันตจักรวาลอย่างนี้ คือจักรวาลหนึ่ง ว่าโดยส่วนยาวและส่วนกว้างมีประมาณล้านสองแสนสามพันสี่ร้อยห้าสิบโยชน์,
               ท่านกล่าวประมาณไว้โดยรอบ, จักรวาลมีปริมณฑลทั้งหมด สามล้านหกแสนหนึ่งหมื่นสามร้อยห้าสิบโยชน์, แผ่นดินนี้ในจักรวาลนั้น บัณฑิตกล่าวไว้โดยความหนามีประมาณสองแสนสี่หมื่นโยชน์.
               น้ำสำหรับรองแผ่นดินซึ่งมีประมาณสี่แสนแปดหมื่นโยชน์นั้นนั่นแลไว้ โดยความหนาก็มีประมาณเท่านั้น ตั้งอยู่บนลม, ลมสำหรับธารน้ำแม้นั้นไว้ พุ่งขึ้นจดท้องฟ้าสูงเก้าแสนหกหมื่นโยชน์, ความตั้งอยู่แห่งโลกเป็นดังนี้.
               ก็ในจักรวาลนี้ที่ตั้งอยู่แล้วอย่างนี้ มีภูเขาสิเนรุ เยี่ยมกว่าบรรดาภูเขาทั้งหลาย หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ถึงแปดหมื่นสี่พันโยชน์, สูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน.
               มหาบรรพตใหญ่ทั้ง ๗ เหล่านี้ คือเขายุคันธร ๑ เขาอิสินธร ๑ เขากรวิกะ ๑ เขาสุทัสสนะ ๑ เขาเนมินธร ๑ เขาวินัตตกะ ๑ เขาอัสสกัณณะ ๑ เป็นของทิพย์ วิจิตรด้วยรัตนะต่างๆ หยั่งลง (ในห้วงมหรรณพ) และสูงขึ้นไป (เบื้องบน) ตามลำดับโดยประมาณกึ่งหนึ่งๆ จากประมาณแห่งสิเนรุที่กล่าวแล้วทั้งเบื้องล่างและเบื้องบนนั้น เป็นสถานที่อยู่ของท้าวมหาราช (ทั้ง ๔) มีเทวดาและยักษ์อาศัยอยู่ ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบภูเขาสิเนรุ ด้วยอำนาจเป็นเครื่องล้อม.
               หิมวันตบรรพตสูงห้าร้อยโยชน์ โดยส่วนยาวและกว้างสามพันโยชน์ ประดับด้วยยอดแปดหมื่นสี่พันยอด.
               ชมพูทวีปท่านประกาศแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งต้นชมพูใด ต้นชมพูที่ชื่อว่านคะ นั้นวัดโดยรอบลำต้นประมาณ ๑๕ โยชน์#- ความยาวของลำต้นและกิ่งประมาณ ๕๐ โยชน์ ความกว้างโดยรอบประมาณ ๑๐๐ โยชน์ และสูงขึ้นไป (เบื้องบน) ก็มีประมาณเท่านั้นนั่นแล.
               จักรวาลบรรพตหยั่งลงในห้วงมหรรณพสองหมื่นแปดพันโยชน์ สูงขึ้นไป (เบื้องบนก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน จักรวาลบรรพตนี้ตั้งล้อมรอบโลกธาตุทั้งหมดนั้นอยู่.
____________________________
#- ฏีกาสารัตถทีปนี แก้เป็น ปณฺณรสโยชนปฺ ปมาณกฺ ขนฺธปริกฺเขปา ๑/๔๐๑.

               [ขนาดพระจันทร์เป็นต้นประมาณ ๔๙ โยชน์]               
               ในโลกธาตุนั้น ดวงจันทร์ (วัดโดยตรงโดยส่วนยาวส่วนกว้างและส่วนสูง) ๔๙ โยชน์ ดวงอาทิตย์ประมาณ ๕๐ โยชน์ ภพดาวดึงส์ประมาณหมื่นโยชน์ ภพอสูร อวีจิมหานรก และชมพูทวีปก็มีประมาณเท่านั้น อมรโคยานทวีปประมาณ ๗ พันโยชน์ ปุพพวิเทหทวีปก็มีประมาณเท่านั้น อุตรกุรุทวีปประมาณ ๘ พันโยชน์ ก็แลทวีปใหญ่ๆ ในโลกธาตุนี้แต่ละทวีปๆ มีทวีปเล็กๆ เป็นบริวาร ทวีปละห้าร้อยๆ จักรวาลหนึ่งแม้ทั้งหมดนั้น ชื่อว่าโลกธาตุหนึ่ง ในระหว่างแห่งจักรวาลนั้น เป็นโลกันตรินรก.
               แม้โอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยประการอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า โลกวิทู เพราะความที่พระองค์ทรงรู้แจ้งโลก โดยประการทั้งปวง แม้ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้.

               [อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า อนุตฺตโร]               
               บทว่า อนุตฺตโร ความว่า บุคคลผู้ยิ่งกว่า ชื่อว่าย่อมไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั่น เพราะไม่มีใครๆ ที่จะดีวิเศษกว่าพระองค์ โดยคุณของตน เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อนุตฺตโร (ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า).
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นย่อมครอบงำโลกทั้งหมด ด้วยพระคุณคือศีลบ้าง ด้วยพระคุณคือสมาธิ ปัญญา วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะบ้าง. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั่นไม่มีผู้เสมอ หาผู้เสมอเหมือนมิได้ หาผู้เปรียบมิได้ ไม่มีผู้เปรียบเทียบหาบุคคลผู้ทัดเทียมมิได้ ด้วยพระคุณคือสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะบ้าง.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เรายังไม่เล็งเห็นสมณะหรือพราหมณ์คนอื่นเลย ผู้จะสมบูรณ์ด้วยศีลยิ่งกว่าเรา ในโลกกับทั้งเทวดา มาร พรหม และในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์และเทวดา มนุษย์.๑-
               ควรทราบความพิสดาร (แห่งพระสูตรนั้น).
               พระสูตรทั้งหลายมีอัคคัปปสาทสูตรเป็นต้น และคาถามีอาทิว่า อาจารย์ของเราไม่มี๒- ดังนี้ ก็ควรให้พิสดารตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั้น.
____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๕๖๐/เล่ม ๒๐๔.
๒- ม. มู. เล่ม ๑/ข้อ ๓๒๕/เล่ม ๓๒๙.

               [อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า ปุริสทมฺมสารถิ]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ยังบุรุษผู้พอจะฝึกได้ให้แล่นไป. มีอธิบายไว้ว่าย่อมฝึก คือแนะนำ. สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ก็ดี มนุษย์ผู้ชายก็ดี อมนุษย์ผู้ชายก็ดี ผู้ที่ยังมิได้ฝึก ควรเพื่อจะฝึกได้ ชื่อว่าปุริสทัมมา ในคำว่า ปุริสทมฺมสารถิ นั้น.
               จริงอย่างนั้น แม้สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ มีอาทิอย่างนี้ คือ อปลาลนาคราช จูโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช อาลวาฬนาคราช (และ) ช้างชื่อธนบาลก์ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว คือทรงทำให้สิ้นพยศแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลทั้งหลาย.
               แม้มนุษย์ผู้ชายมีสัจจกนิครณฐบุตร อัมพัฏฐมาณพ โปกขรสาติพราหมณ์ โสณทัณฑพราหมณ์และกูฏทันตพราหมณ์เป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว.
               แม้อมนุษย์ผู้ชายมีอาฬวกยักษ์ สูจิโลมยักษ์ ขรโลมยักษ์และท้าวสักกเทวราชเป็นต้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว คือทรงแนะนำแล้ว ด้วยอุบายเครื่องแนะนำอย่างวิจิตร. ก็แลในอรรถนี้ควรยังพระสูตรนี้ให้พิสดารดังนี้ ดูก่อนนายเกสี เราย่อมฝึกบุรุษผู้พอจะฝึกได้ ด้วยอุบายละเอียดบ้าง หยาบบ้าง ทั้งละเอียด ทั้งหยาบบ้าง.๑-
               อีกอย่างหนึ่ง สองบทว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ นี้รวมเป็นอรรถบทเดียวกันก็ได้. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังบุรุษผู้ควรจะฝึกได้ให้แล่นไป เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับนั่งอยู่โดยบัลลังก์เดียวเท่านั้น ทรงแล่นไปได้ไม่ติดขัดตลอดทิศทั้ง ๘ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตจึงเรียกว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺสารถิ (เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่พอจะฝึกได้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า).
               ก็แลในอรรถนี้ควรยังพระสูตรนี้ให้พิสดารดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวควรฝึกได้ อันนายควาญช้างไสไปแล้ว ย่อมวิ่งไปสู่ทิศเดียวเท่านั้น.๒-
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๑๑/หน้า ๑๕๑.
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๓๗/หน้า ๔๐๙

               [อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า สตฺถา]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงพระนามว่า สัตถา (เป็นพระศาสดา) เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ทรงสั่งสอน (สรรพสัตว์) ด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ด้วยประโยชน์ภายหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งตามสมควร.
               อีกอย่างหนึ่ง ก็ในบทว่า สตฺถา นี้ พึงทราบใจความนิเทศนัยมีอาทิดังนี้ว่า คำว่า สตฺถา ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นดุจนายพวก. เหมือนอย่างว่า นายพวกย่อมพาพวกให้เวียนข้ามทางกันดาร คือให้เวียนข้ามทางกันดารเพราะโจร กันดารเพราะสัตว์ร้าย กันดารเพราะข้าวแพง กันดารเพราะไม่มีน้ำ คือย่อมให้ข้ามพ้น ให้ข้ามไป ให้ข้ามถึง ได้แก่ให้บรรลุถึงถิ่นที่เกษม ฉันใด
               พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน
               ทรงเป็นพระศาสนา คือทรงเป็นดุจนายพวกทำเหล่าสัตว์ให้เวียนข้ามทางกันดาร ได้แก่ให้เวียนข้ามทางกันดารคือชาติ๑- เป็นต้น.
____________________________
๑- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๖๕๖/หน้า ๓๑๓.

               [อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า เทวมนุสฺสานํ]               
               บทว่า เทวมนุสฺสานํ แปลว่า ของเทวดาทั้งหลายด้วย ของมนุษย์ทั้งหลายด้วย.
               คำว่า เทวมนุสฺสานํ นั่น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ด้วยอำนาจกำหนดสัตว์ชั้นสูง และด้วยอำนาจการกำหนดภัพพบุคคล (บุคคลผู้ควรตรัสรู้มรรคผล).
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่าทรงเป็นพระศาสดา แม้ของพวกสัตว์ดิรัจฉาน เพราะทรงประทานอนุสาสนีให้เหมือนกัน.
               จริงอยู่ สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้นบรรลุอุปนิสัยสมบัติ ก็เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งมรรคและผล ในภพที่ ๒ หรือที่ ๓ เพราะอุปนิสัยสมบัตินั้นนั่นแล. ก็ในความเป็นพระศาสดาของพวกสัตว์ดิรัจฉานนี้มีมัณฑูกเทวบุตรเป็นต้น เป็นอุทาหรณ์.

               [เรื่องกบฟังธรรมของพระพุทธเจ้าได้เป็นเทพบุตร]               
               ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ชนชาวนครจำปา อยู่ที่ริมฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ยังมีกบตัวหนึ่งได้ถือเอานิมิตในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า (ซึ่งกำลังทรงแสดงธรรมอยู่). (ขณะนั้น) มีคนเลี้ยงโคคนหนึ่ง เมื่อจะยืนยันไม้เท้าได้ (ยืน) กดลงที่ศีรษะกบนั้น.
               กบตัวนั้นก็ตายในทันใดนั้นนั่นเอง แล้วเกิดในวิมานทองประมาณ ๑๒ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ เหมือนนอนหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้น.
               ในภพดาวดึงห์นั้น มัณฑูกเทพบุตรเห็นตนเองอันหมู่นางฟ้าแวดล้อมแล้ว ใคร่ครวญอยู่ว่า เว้ย ชื่อแม้เรามาเกิดในที่นี้ ได้กระทำกรรมอะไรหนอแล? ก็มิได้เห็นกรรมอะไรๆ อย่างอื่น นอกจากการถือเอานิมิตในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า (เท่านั้น).
               มัณฑูกเทวบุตรจึงมาพร้อมทั้งวิมานในทันใดนั้นนั่นเอง แล้วถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเศียรเกล้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งที่ทรงทราบอยู่แล (แต่) ตรัสถามว่า
                                   ใครช่างรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ (และ) ยศ
                         มีพรรณงดงามยิ่งนัก ยังทิศทั้งปวงให้สว่าง
                         อยู่ กำลังไหว้เท้าของเรา?
               มัณฑูกเทวบุตร กราบทูลว่า
                                   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติปาง
                         ก่อน ข้าพระองค์ได้เป็นกบอยู่ในน้ำ มีน้ำเป็น
                         ที่เที่ยวไป เมื่อข้าพระองค์กำลังฟังธรรมของ
                         พระองค์อยู่ คนเลี้ยงโคได้ฆ่าข้าพระองค์แล้ว.๑-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่มัณฑูกเทวบุตรนั้นแล้ว. สัตว์จำนวนแปดหมื่นสี่พันได้บรรลุธรรม. ฝ่ายเทพบุตรก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล ได้ทำการแย้มแล้วก็หลีกไปแล.
____________________________
๑- ขุ. วิมาน. เล่ม ๒๖/ข้อ ๕๑

               [อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า พุทฺโธ]               
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า พุทฺโธ ด้วยอำนาจพระญาณอันเกิดในที่สุดแห่งวิโมกข์ เพราะขึ้นชื่อว่า เญยยธรรมอะไรๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดอันพระองค์ตรัสรู้แล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระองค์ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ด้วยพระองค์เองบ้าง ทรงยังสัตว์เหล่าอื่นให้ตรัสรู้บ้าง, ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะเหตุมีอาทิอย่างนี้บ้าง.
               เพื่อจะให้ทราบเนื้อความแม้นี้แจ่มแจ้ง บัณฑิตควรขยายนิเทศนัย หรือปฏิสัมภิทานัยแม้ทั้งหมดที่เป็นไปแล้วให้พิสดารอย่างนี้ว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย ทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะทรงยังประชาสัตว์ให้ตรัสรู้(๒) ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๕๔๖, ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๖.

               [อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า ภควา]               
               #- ก็คำว่า ภควา นี้เป็นคำร้องเรียกพระองค์ ด้วยความเป็นผู้วิเศษด้วยพระคุณ เป็นผู้สูงสุดกว่าสัตว์ และเป็นผู้ควรเคารพโดยฐานครู.
               ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า
                         คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐสุด
               คำว่า ภควา เป็นคำสูงสุด เพราะเหตุที่
               พระองค์ควรแก่ความเคารพโดยฐานครู
               บัณฑิตจึงเรียกว่า ภควา.
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลิ แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘.

               [ชื่อมี ๔ อย่าง]               
               จริงอยู่ นามมี ๔ อย่าง คือ อาวัตถิกนาม ลิงคิกนาม เนมิตนาม อธิจสมุปปันนาม. มีคำอธิบายว่า นามที่ตั้งตามความปรารถนาตามโวหารของโลก ชื่อว่า อธิจสมุปปันนาม.
               ในนาม ๔ อย่างนั้น คำมีอาทิอย่างนี้คือ ลูกโค โคหนุ่ม โคกำลัง เป็นอาวัตถิกนาม (นามที่บัญญัติอาศัยความกำหนด). คำมีอาทิอย่างนี้ คือ มีไม้เท้า มีร่ม มีหงอน มีงวง เป็นลิงคิกนาม (นามที่เรียกตามเหตุหรือลักษณะ). คำมีอาทิอย่างนี้คือ มีวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖ เป็นเนมิตตกนาม (นามที่เกิดขึ้นโดยคุณนิมิต). คำมีอาทิอย่างนี้คือ เจริญศรี เจริญทรัพย์ ซึ่งเป็นไปไม่คำนึงถึงเนื้อความของคำ เป็นอธิจจสมุปปันนนาม (นามที่ตั้งตามใจชอบ).
               ก็แต่ว่า พระนามว่า ภควา นี้ เป็นเนมิตตกนาม พระนางมหามายาก็มิได้ทรงขนาน พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็มิได้ทรงขนาน พระญาติแปดหมื่นก็มิได้ทรงขนาน เทวดาวิเศษทั้งหลายมีท้าวสักกะและท้าวสันดุสิตเป็นต้นก็มิได้ทรงขนาน.
               จริงอยู่ คำนี้ พระธรรมเสนาบดีกล่าวแล้วว่า พระนามว่า ภควา นี้ เกิดในที่สุดแห่งความพ้นพิเศษ เป็นบัญญัติที่แจ่มใสแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับได้เฉพาะซึ่งพระสัพพัญญุตญาณที่โคนพระโพธิพฤกษ์.๑-
               ก็เพื่อจะประกาศพระคุณที่เกิดจากคุณเนมิตตกนามนี้นั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถานี้ไว้ว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ทรงมีพระอิสริยยศ ทรงเสพ (อริยคุณ) มีส่วน (แห่งจตุปัจจัย) ทรงจำแนก (ธรรมรัตน์) เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา,
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ได้ทรงทำการหักกิเลส, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา,
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ทรงเป็นครู เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา,
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เป็นผู้มีโชค เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา,
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด มีพระองค์อบรมดีแล้วด้วยญายธรรมเป็นอันมาก เสด็จถึงที่สุดแห่งภพ, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา.
               อนึ่ง ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงเห็นใจความแห่งบทเหล่านั้นๆ ตามนัยที่กล่าวแล้วในนิเทศนั้นแล.
               ส่วนนัยอื่นอีก มีดังนี้คือ :-
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เป็น
                         ผู้มีโชค (คือมีส่วนแห่งบารมีธรรม) ทรง
                         หักกิเลส ทรงประกอบด้วยภัคคธรรม ทรง
                         จำแนก ทรงเสพ และทรงคลายการไปใน
                         ภพทั้งหลายเสียแล้ว, เพราะเหตุนั้น พระผู้มี
                         พระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัณฑิตจึงเฉลิม
                         พระนามว่า ภควา.
               พึงทราบวินิจฉัยในพระคาถานั้นต่อไป,
               ผู้ศึกษาพึงทราบอรรถรูปว่า เพราะภาคยธรรม (คือกุศล) อันถึงซึ่งฝั่งแห่งพระบารมี มีทานและศีลเป็นต้น อันยังสุขทั้งที่เป็นโลกิยะทั้งที่เป็นโลกุตระให้บังเกิด มีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น, ฉะนั้น ในเมื่อควรจะเฉลิมพระนามว่า ภาคยวา แต่ท่านถือเอาลักษณะแห่งนิรุตติว่า ลงตัวอักษรใหม่ แปลงตัวอักษร เป็นต้น หรือถือเอาลักษณะคือรวมเข้าในชุดศัพท์มี ปิโสทรศัพท์เป็นต้น ตามนัยแห่งศัพท์จึงเฉลิมพระนามว่า ภควา ดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๕๔๖, ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๖

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหักกิเลสได้ตั้งแสนอย่าง]               
               อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้ทรงหักกิเลสเครื่องเร่าร้อนกระวนกระวายทุกอย่างตั้งแสนอย่าง มีประเภทคือ โลภะ โทสะ โมหะ วิปรีตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ ตัณหา อวิชชา, อกุศลมูล ๓ ทุจริต ๓ สังกิเลส ๓ มลทิน ๓ วิสมะ ๓ สัญญา ๓ วิตก ๓ ปปัญจะ ๓, วิปริเยสะ ๔ อาสวะ ๔ คัณฐะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔ อคติ ๔ ตัณหุปาทาน ๔, เจโตขีละ ๕ วินิพันธะ ๕ นีวรณ์ ๕ อภินันทนะ ๕, วิวาทมูล ๖ ตัณหากาย ๖, อนุสัย ๗, มิจฉัตตะ ๘, ตัณหามูลกะ ๙, อกุศลกรรมบถ ๑๐, ทิฏฐิ ๖๒, และตัณหาวิปริต ๑๐๘, หรือโดยย่อได้ทรงหักมาร ๕ คือ กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร มัจจุมารและเทวบุตรมาร, ฉะนั้น ในเมื่อควรจะเฉลิมพระนามว่า ภัคควา แต่ท่านเฉลิมพระนามว่า ภควา เพราะพระองค์ทรงหักอันตรายเหล่านั้นได้แล้ว.
               อนึ่ง ในตอนนี้ท่านกล่าวไว้ว่า#-
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
                         ทรงหักราคะได้แล้ว ทรงหักโทสะได้แล้ว
                         ทรงหักโมหะได้แล้ว หาอาสวะมิได้, ธรรม
                         อันเป็นบาปทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงหักเสีย
                         แล้ว, เพราะเหตุนั้น จึงเฉลิมพระนามว่า
                         ภควา.
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๐๕

               ก็ความถึงพร้อมด้วยรูปกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้ทรงบุญลักษณะนับร้อย ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้ว ด้วยความที่พระองค์ทรงมีพระกายสมส่วน. ความถึงพร้อมด้วยพระธรรมกาย ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยความที่พระองค์ทรงหักโทสะได้แล้ว. ความที่พระองค์ทรงเป็นผู้อันหมู่นักวิจารณ์ฝ่ายโลกีย์นับถือมาก ความที่พระองค์เป็นผู้อันคฤหัสถ์และบรรพชิตพึงเข้าเฝ้า ความที่พระองค์ทรงเป็นผู้สามารถในการบำบัดทุกข์กายและจิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตเหล่านั้นผู้เข้าเฝ้าแล้ว ความที่พระองค์ทรงมีพระอุปการะด้วยอามิสทานและธรรมทาน และความที่พระองค์ทรงสามารถในการชักชวนด้วยความสุขทั้งที่เป็นโลกิยะทั้งที่เป็นโลกุตระ ย่อมเป็นอันท่านแสดงแล้วเช่นเดียวกัน.
               อนึ่ง เพราะ ภคะ ศัพท์ ย่อมเป็นไปในธรรม ๖ ประการ คือความเป็นใหญ่ ธรรม ยศ สิริ กามะและความเพียรในโลก. ก็แลความเป็นใหญ่ในจิตของพระองค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ยอดเยี่ยมหรือความเป็นใหญ่ที่สมมติกันทางโลกิยะ มีการทำกายให้เล็กละเอียดและทำกายให้ลอยไปได้ (มีการหายตัวและการล่องหน) เป็นต้น ก็ทรงมีอยู่อย่างบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง.
               พระโลกุตรธรรมก็เช่นเดียวกัน คือทรงมีอยู่อย่างบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง.
               พระยศอันแผ่คลุมโลกสาม ซึ่งทรงบรรลุด้วยพระคุณตามที่เป็นจริงบริสุทธิ์ยิ่งนัก. พระสิริแห่งพระอังคาพยพน้อยใหญ่ทุกส่วน บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง สามารถยังความเลื่อมใสแห่งดวงตาและดวงใจ ของชนผู้ขวนขวายในการดูพระรูปกายให้บังเกิด. กามะที่ชนทั้งหลายหมายรู้กันว่า ความสำเร็จแห่งประโยชน์ที่ปรารถนา (ก็มีอยู่) เพราะความที่แห่งความปรารถนาที่พระองค์ทรงตั้งไว้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์ หรือเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นนั้นๆ สำเร็จแล้วอย่างนั้นทีเดียว หรือว่าความเพียร กล่าวคือความพยายามโดยชอบ อันเป็นเหตุแห่งความบังเกิดขึ้นของความเป็นครูแห่งโลกทั้งปวง ก็ทรงมีอยู่เหตุนั้น แม้เพราะพระองค์ทรงประกอบแล้วด้วยภคธรรมเหล่านี้ ก็เฉลิมพระนามได้ว่า ภควา ด้วยอรรถนี้ว่า ภคธรรมทั้งหลายของพระองค์มีอยู่ ดังนี้.
               อนึ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้จำแนก. มีอธิบายว่า ทรงแจก คือเปิดเผย แสดงซึ่งธรรมทั้งปวงโดยประเภทมีกุศลเป็นต้น หรือซึ่งธรรมมีกุศลเป็นต้นโดยประเภทมีขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น
               หรือซึ่งอริยสัจ คือ ทุกข์ ด้วยอรรถว่าเป็นสิ่งบีบคั้น เป็นสิ่งถูกปรุงแต่ง เป็นสิ่งแผดเผาและเป็นสิ่งแปรผัน, ซึ่งสมุทัย ด้วยอรรถว่าหอบทุกข์มาให้เป็นต้นเค้า เป็นเครื่องพัวพันและเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว, ซึ่งนิโรธ ด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องสลัดออก เป็นสภาพสงัด ไม่ถูกปรุงแต่งและเป็นอมตะ, ซึ่งมรรค ด้วยอรรถว่าเป็นธรรมนำออกจากทุกข์เป็นเหตุ เป็นเครื่องชี้และเป็นความเป็นใหญ่, ฉะนั้น ในเมื่อควรเฉลิมพระนามว่า วิภัตตวา ก็เฉลิมพระนามได้ว่า ภควา.
               อนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงคบ หรือทรงเสพ หมายความว่า ได้ทรงทำให้มาก ซึ่งทิพพวิหาร พรหมวิหารและอริยวิหาร ซึ่งกายวิเวก จิตตวิเวกและอุปธิวิเวก ซึ่งสุญญตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์และอนิมิตตวิโมกข์ และซึ่งอุตริมนุสธรรมเหล่าอื่น ทั้งที่เป็นโลกิยะทั้งที่เป็นโลกุตระ, ฉะนั้น ในเมื่อควรเฉลิมพระนามว่า ภัตตวา ก็เฉลิมพระนามได้ว่า ภควา.
               อนึ่ง เพราะความไป กล่าวคือตัณหาในภพทั้ง ๓ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงคายเสียแล้ว, ฉะนั้น ในเมื่อควรเฉลิมพระนามว่า ภเวสุ วนฺตคมโน (ผู้มีความไปในภพทั้งหลายอันคายแล้ว) แต่ถวายพระนามว่า ภควา เพราะถือเอา ภ อักษรแต่ ภว ศัพท์ ค อักษรแต่คมนศัพท์ และ ว อักษรแต่ วันตศัพท์ ทำให้เป็นทีฆะ เปรียบเหมือนถ้อยคำในทางโลก เมื่อควรจะกล่าวว่า เมหนสฺส ขสฺส มาลา (ระเบียบแห่งโอกาสอันลับ) เขากล่าวว่า เมขลา ฉะนั้น.

               [อรรถาธิบาย สเทวกะศัพท์เป็นต้น]               
               หลายบทว่า โส อิมํ โลกํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้ ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง. บัดนี้จะชี้แจงคำที่ควรกล่าวต่อไป : -
               บทว่า สเทวกํ คือพร้อมด้วยเทวดาทั้งหลาย ชื่อสเทวกะ (พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้) พร้อมด้วยมาร ที่ชื่อว่าสมารกะ พร้อมด้วยพรหม ที่ชื่อว่าสพรหมกะ พร้อมด้วยสมณะและพราหมณ์ ที่ชื่อว่าสัสสมณพราหมณี (ให้แจ้งชัด) ด้วยอาการอย่างนี้. ที่ชื่อว่า ปชา เพราะความเป็นผู้เกิดจากกรรมกิเลสของตน. ซึ่งหมู่สัตว์นั้น พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ชื่อว่าสเทวมนุสสะ.
               บรรดาคำว่า สเทวกะ เป็นต้น พึงทราบการถือเอาเทวดาชั้นกามาวจร ๕ ชั้น ด้วยคำว่า สเทวกะ (พร้อมด้วยเทวดา). พึงทราบการถือเอาเทวดาชั้นกามาวจรชั้นที่ ๖ ด้วยคำว่า สมารกะ. พึงทราบการถือเอาพรหมมีพรหมชั้นพรหมกายิกาเป็นต้น ด้วยคำว่า สพรหมกะ. พึงทราบการถือเอาสมณะและพราหมณ์ผู้เป็นข้าศึกศัตรูต่อพระศาสนา และการถือเอาสมณะและพราหมณ์ผู้มีบาปอันสงบแล้ว และผู้มีบาปอันลอยแล้ว ด้วยคำว่า สัสสมณพราหมณี. พึงทราบการถือเอาสัตวโลก โดยคำว่า ปชา. พึงทราบการถือเอาสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือ ด้วยคำว่า สเทวมนุสสะ.
               บรรดาบททั้ง ๕ นี้ ดังพรรณนามานี้ โอกาสโลก พึงทราบว่า ท่านถือเอาแล้วด้วยบททั้ง ๓ (คือ สเทวกะ ๑ สมารกะ ๑ สพรหมกะ ๑) สัตวโลก พึงทราบว่า ท่านถือเอาแล้วด้วยบททั้ง ๒ (คือสัสสมณพราหมณีและสเทวมนุสสะ) ด้วยอำนาจแห่งหมู่สัตว์.
               อีกนัยหนึ่ง อรูปาวจรโลก ท่านถือเอาแล้วด้วย สเทวกศัพท์. กามาวจรเทวโลก ๖ ชั้น ท่านถือเอาแล้วด้วย สมารกศัพท์. พรหมโลกที่มีรูป ท่านถือเอาแล้วด้วย สพรหมกศัพท์, มนุษย์โลกกับเหล่าสมมติเทพหรือสัตวโลกทั้งหมดที่เหลือ ท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์มีสัสสมณพราหมณีเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งบริษัท ๔.
               อีกอย่างหนึ่ง ในคำทั้งหลายมีคำว่า สเทวกะ เป็นต้นนี้ พระกิตติศัพท์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ประกาศความที่แห่งโลกแม้ทั้งปวง อันพระองค์ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว โดยกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ ด้วยคำว่า สเทวกะ ฟุ้งขจรไปแล้ว.
               เพราะเหตุนั้นชนเหล่าใดพึงมีความสงสัยว่า มารชื่อ วสวัดดี ผู้มีอานุภาพมาก เป็นใหญ่กว่าเทวดาชั้นฉกามาวจร, แม้มารนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงทำให้แจ้งได้อย่างไร? พระกิตติศัพท์ฟุ้งขจรไปทำลายความสงสัยของชนเหล่านั้น ด้วยคำว่า สมารกํ (พร้อมด้วยมาร).
               อนึ่ง ชนเหล่าใดพึงมีความสงสัยว่า พรหมผู้มีอานุภาพมากย่อมส่องแสงสว่างไปในหนึ่งพันจักรวาลด้วยองคุลีหนึ่ง ในสองพันจักรวาล ด้วยสององคุลี ฯลฯ ย่อมส่องแสงสว่างไปในหมื่นจักรวาลด้วยสิบองคุลี และได้เสวยสุขอันเกิดจากฌานสมาบัติอย่างเยี่ยมอยู่, แม้พรหมนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้แจ้งได้อย่างไร?
               พระกิตติศัพท์ฟุ้งขจรไปทำลายความสงสัยของชนเหล่านั้น ด้วยคำว่า สสฺสมณพฺราหฺมณึ ปชํ (ซึ่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์).
               พระกิตติศัพท์ (ของพระผู้มีพระภาคเจ้า) ครั้นประกาศความที่ฐานะอย่างอุกฤษฏ์ทั้งหลาย อันพระองค์ทรงทำให้แจ้งแล้วอย่างนั้น ในลำดับนั้น เมื่อจะประกาศความที่สัตว์โลกซึ่งยังเหลือ อันพระองค์ทรงกระทำให้แจ้งแล้วด้วยอำนาจการกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ จนกระทั่งถึงสมมติเทพและพวกมนุษย์ที่ยังเหลือ ฟุ้งขจรไปแล้วด้วยคำว่า สเทวมนุสฺสํ (พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์).
               ในบททั้งหลายมีบทว่า สเทวกํ เป็นต้นนี้ มีลำดับอนุสนธิเท่านี้.

               [อรรถาธิบาย สยํ ศัพท์เป็นต้น]               
               อนึ่ง ในคำว่า สยํอภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทติ นี้พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า สยํ แปลว่า ด้วยพระองค์เอง, สยํ ศัพท์นี้เป็นศัพท์มีใจความที่คนอื่นจะพึงนำไปหามิได้.
               บทว่า อภิญฺญา ความว่า ทรงรู้ด้วยความรู้ยิ่ง คือด้วยพระญาณอันยิ่ง.
               บทว่า สจฺฉิกตฺวา คือทรงทำให้ประจักษ์.
               ด้วยบทว่า สจฺฉิกตฺวา นั่น เป็นอันท่านทำการห้ามกิจมีการอนุมานเป็นต้นเสีย. บทว่า ปเวเทติ ความว่า คือทรงยังหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้ คือให้รู้ ได้แก่ทรงประกาศให้รู้.

               [พระธรรมงามในเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด]               
               ข้อว่า โส ธมฺมํ เทเสติ อาทิกลฺยาณํ ฯเปฯ ปริโยสานกลฺยาณํ มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ต้องสละสุขอันเกิดแต่วิเวกอย่างยอดเยี่ยมแล้ว ทรงแสดงธรรมอยู่ ก็เพราะทรงอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย.
               ก็แลพระองค์เมื่อทรงแสดงธรรมนั้น จะน้อยหรือมากก็ตาม ทรงแสดงครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ มีความงามในเบื้องต้นเป็นอาทิเท่านั้น.
               คืออย่างไร?
               คืออย่างนี้ ความพิสดารว่า
               แม้พระคาถาเดียวก็มีความงามในเบื้องต้น ด้วยบาททีแรก, มีความงามในท่ามกลาง ด้วยบาทที่สองและที่สาม, มีความงามในที่สุด ด้วยบาทที่สุด เพราะพระธรรมมีความงามรอบด้าน. พระสูตรมีอนุสนธิเดียว มีความงามในเบื้องต้นด้วยคำนิทาน, มีความงามในที่สุดด้วยคำนิคม, มีความงามในท่ามกลางด้วยคำที่เหลือ. พระสูตรที่มีอนุสนธิต่างๆ มีความงามในเบื้องต้นด้วยอนุสนธิแรก, มีความงามในที่สุดด้วยอนุสนธิในที่สุด, มีความงามในท่ามกลาง ด้วยอนุสนธิที่เหลือ
               ศาสนธรรมแม้ทั้งสิ้นมีความงามในเบื้องต้น ด้วยศีลอันเป็นอรรถของตนบ้าง, มีความงามในท่ามกลาง ด้วยสมถะและวิปัสสนา มรรคและผลบ้าง, มีความงามในที่สุด ด้วยพระนิพพานบ้าง.
               อีกอย่างหนึ่ง มีความงามในเบื้องต้น ด้วยศีลและสมาธิ, มีความงามในท่ามกลาง ด้วยวิปัสสนาและมรรค, มีความงามในที่สุด ด้วยผลและพระนิพพาน.
               #- อีกอย่างหนึ่ง มีความงามในเบื้องต้น ด้วยความตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้า, มีความงามในท่ามกลาง ด้วยความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม, มีความงามในที่สุด ด้วยการปฏิบัติดีของพระสงฆ์.
               อีกอย่างหนึ่ง มีความงามในเบื้องต้น ด้วยพระอภิสัมโพธิญาณ อันผู้สดับศาสนาธรรมนั้นแล้ว ปฏิบัติโดยความเป็นเช่นนั้นจะพึงบรรลุ, มีความงามในท่ามกลาง ด้วยปัจเจกโพธิญาณ, มีความงามในที่สุด ด้วยสาวกโพธิญาณ.
               อนึ่ง ศาสนธรรมนั้น เมื่อสาธุชนสดับอยู่ ย่อมนำมาแต่ความงามฝ่ายเดียว แม้ด้วยการสดับ เพราะจะข่มนิวรณธรรมไว้ได้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่ามีความงามในเบื้องต้น. เมื่อสาธุชนปฏิบัติอยู่ ก็ย่อมนำมาแต่ความงามฝ่ายเดียว แม้ด้วยการปฏิบัติ เพราะจะนำมาแต่ความสุขอันเกิดแต่สมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มีความงามในท่ามกลาง. และเมื่อสาธุชนปฏิบัติแล้วโดยประการนั้น ก็ย่อมนำมาแต่ความงามเช่นเดียวกัน แม้ด้วยผลแห่งการปฏิบัติ เพราะจะนำความเป็นผู้คงที่มาให้ ในเมื่อได้สำเร็จผลแห่งการปฏิบัติแล้ว เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มีความงามในที่สุด.
               อนึ่ง มีความงามในเบื้องต้น ด้วยความบริสุทธิ์แห่งแดนเกิด เพราะศาสนธรรมมีที่พึ่งเป็นแดนเกิด มีความงามในท่ามกลางด้วยความบริสุทธิ์แห่งอรรถ มีความงามในที่สุดด้วยความบริสุทธิ์แห่งกิจ. เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เมื่อทรงแสดงธรรมจะน้อยหรือมากก็ตาม พึงทราบว่า ทรงแสดงครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ มีความงามในเบื้องต้นเป็นอาทิ.
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๐๑

               [อรรถาธิบายศัพท์ว่า สาตฺถํสพฺยญฺชนํ]               
               ก็ในคำเป็นต้นอย่างนี้ว่า สาตฺถํสพฺยญฺชนํ ดังนี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เมื่อทรงแสดงพระธรรมนี้ ชื่อว่าทรงประกาศ คือทรงแสดงศาสนพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์ด้วยนัยต่างๆ. ก็ศาสนาพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์นั้น ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะถึงพร้อมด้วยอรรถ, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะถึงพร้อมด้วยอรรถบทที่แสดง ประกาศ เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้นและบัญญัติ, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะถึงพร้อมด้วยอักษร บท พยัญชนะ อาการ นิรุตติและนิเทศ, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะความที่ศาสนพรหมจรรย์เป็นต้นนั้น ลึกโดยอรรถและลึกโดยปฏิเวธ, ชื่อว่า พรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะความที่ศาสนพรหมจรรย์นั้น ลึกโดยธรรมและลึกโดยเทศนา, ชื่อว่า พรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะความเป็นวิสัย (คืออารมณ์) แห่งอัตถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทา, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะความเป็นวิสัย (คืออารมณ์) แห่งธัมมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา.
               พรหมจรรย์นั้น ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะเหตุว่า เป็นที่เลื่อมใสแห่งชนผู้เป็นนักปราชญ์ เพราะเป็นสิ่งอันบัณฑิตพึงรู้, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะเหตุว่า เป็นที่เลื่อมใสแห่งโลกียชน เพราะเป็นสิ่งควรเชื่อ, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะมีความอธิบายลึก, ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะมีบทตื้น, ชื่อว่าบริสุทธิ์สิ้นเชิง เพราะมีความบริบูรณ์เต็มที่ เหตุไม่มีสิ่งที่จะต้องเพิ่มเข้า ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะเป็นของหาโทษมิได้ เหตุไม่มีสิ่งที่จะต้องนำออก, ชื่อว่าพรหมจรรย์ เพราะอันบุคคลผู้เป็นใหญ่ คือผู้ประเสริฐพึงปฏิบัติ เหตุที่พรหมจรรย์นั้นอันท่านกำหนดด้วยไตรสิกขา และเพราะเป็นจริยาของท่านเหล่านั้น, ฉะนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมด้วยอรรถ พร้อมด้วยพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรมมีเหตุและเรื่องที่เกิดขึ้น ชื่อว่าทรงแสดง (ธรรมนั้น) มีความงามในเบื้องต้น และชื่อว่าทรงแสดง (ธรรมนั้น) มีความงามในท่ามกลาง เพราะเนื้อความไม่วิปริต และเพราะประกอบด้วยเหตุและอุทาหรณ์ โดยสมควรแก่เวไนยสัตว์ และชื่อว่าทรงแสดง (ธรรมนั้น) มีความงามในที่สุด เพราะทำให้พวกนักฟังได้ศรัทธาและความมั่นใจ ก็เมื่อทรงแสดงธรรมอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าทรงประกาศพรหมจรรย์.
               ก็พรหมจรรย์ ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยอรรถ เพราะทราบชัดในธรรมที่ควรบรรลุได้ ก็ด้วยการปฏิบัติ ชื่อว่าพรั่งพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะเชี่ยวชาญในพระคัมภีร์ ก็ด้วยปริยัติ ชื่อว่าบริบูรณ์สิ้นเชิง เพราะประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ มีสีลขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่มีเครื่องเศร้าหมอง เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์จะสละทุกข์ในวัฏฏะ และเพราะไม่มีความมุ่งหมายโลกามิส เรียกว่าพรหมจรรย์ เพราะเป็นจริยาของท่านผู้ใหญ่ โดยอรรถว่าเป็นผู้ประเสริฐ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก แม้เพราะฉะนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นจึงกล่าวได้ว่า ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมด้วยอรรถ พร้อมด้วยพยัญชนะ.
               ข้อว่า สาธุ โข ปน ความว่า อนึ่ง (การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายผู้เห็นปานนั้น) เป็นความดีแล. มีคำอธิบายว่า นำประโยชน์มาให้ นำความสุขมาให้.
               ข้อว่า ตถารูปานํ อรหตํ ความว่า (การเห็น) พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ซึ่งได้ความชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ในโลก เพราะได้บรรลุคุณตามเป็นจริง เห็นปานพระโคดมผู้เจริญนั้น (เป็นความดี).
               ข้อว่า ทสฺสนํ โหติ ความว่า เวรัญชพราหมณ์ทำอัธยาศัยไว้อย่างนี้ว่า แม้เพียงสักว่าการลืมตาทั้งสอง อันใสแจ๋วด้วยประสาทแล้วมองดู ย่อมเป็นความดี ดังนี้ (จึงเข้าไปเฝ้าในภายหลัง).

               [อรรถาธิบายวิเสสนสัพพนามว่า เยน เตน]               
               คำว่า เยน ในข้อว่า อถโข เวรญฺโช พฺราหฺมโณ เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ นี้เป็นตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. เพราะฉะนั้น ในสองบทว่า เยน เตน นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด เวรัญชพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ในสองบทว่า เยน เตน นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้า ด้วยเหตุใด เวรัญชพราหมณ์ก็เข้าไปเฝ้าด้วยเหตุนั้น. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้า เพราะเหตุไร?
               พึงเข้าไปเฝ้า เพราะมีความประสงค์ ในการบรรลุคุณวิเศษมีประการต่างๆ เหมือนต้นไม้ใหญ่ซึ่งผลิตผลเป็นนิตย์ อันหมู่ทิชาชาติทั้งหลาย พึงบินเข้าไปหา เพราะมีความประสงค์ในการจิกกินผลที่ดีฉะนั้น.
               อนึ่ง บทว่า อุปสงฺกมิ มีอธิบายว่า คโต แปลว่า ไปแล้ว.
               คำว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นคำแสดงปริโยสานกาลกิริยาแห่งการเข้าไปเฝ้า.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เวรัญชพราหมณ์ไปแล้วอย่างนั้น คือไปยังสถานที่ใกล้ชิดกว่านั้น ได้แก่ที่นับว่าใกล้ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้บ้าง.
               หลายบทว่า ภควตา สทฺธึ สมฺโมทิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสถามถึงความสุขทุกข์เป็นต้น#- ได้ทรงมีความรื่นเริงเป็นไปกับพราหมณ์นั้นแล้ว ฉันใด ถึงแม้พราหมณ์นั้นก็ฉันนั้น ได้มีความรื่นเริงเป็นไปกับพระผู้มีพระภาคเจ้า คือได้ถึงความเป็นผู้รื่นเริง ได้แก่ความเป็นพวกเดียวกัน ดุจน้ำเย็นกับน้ำร้อนผสมเป็นอันเดียวกันฉันนั้น.
____________________________
#- สารัตถทีปนีก็ดี อรรถโยชนาก็ดี เป็น ขมนยาทีนิ ได้แปลตามนั้น.

               [อรรถาธิบายศัพท์ว่า สมฺโมทนียํและสาราณียํ]               
               ก็เวรัญชพราหมณ์ได้รื่นเริง (กับพระผู้มีพระภาคเจ้า) ด้วยถ้อยคำมีอาทิว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์พออดทนได้หรือ? พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ? และพระสาวกทั้งหลายของพระโคดมผู้เจริญ ไม่มีอาพาธหรือ? ไม่มีทุกข์หรือ? ยังยืนคล่องแคล่วอยู่หรือ? ยังมีกำลังอยู่หรือ? ยังอยู่ผาสุกหรือ? ดังนี้ อันใด
               ถ้อยคำอันนั้น ชื่อว่า สัมโมทนียะ (คือถ้อยคำเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นเริง) เพราะให้เกิดความรื่นเริงกล่าวคือปีติและปราโมทย์ และเพราะเป็นถ้อยคำสมควรเพื่อความรื่นเริง ชื่อว่า สาราณียะ (คือถ้อยคำเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน) เพราะเป็นถ้อยคำที่สมควร และเพราะเป็นถ้อยคำที่ควรระลึกถึง เพื่อให้ระลึกถึงตลอดกาลแม้นานด้วยดี คือเพื่อให้เป็นไปหาระหว่างมิได้ เหตุเป็นถ้อยคำอ่อนหวาน ด้วยอรรถและพยัญชนะ.
               อนึ่ง ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะฟังอยู่ก็เป็นสุข. ชื่อว่า สาราณียะ เพราะตามระลึกถึงอยู่ก็เป็นสุข, อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะเป็นถ้อยคำบริสุทธิ์ด้วยพยัญชนะ. ชื่อว่า สาราณียะ เพราะเป็นถ้อยคำบริสุทธิ์ด้วยอรรถ ด้วยประการฉะนี้แล.

               [อรรถาธิบายสองศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ]               
               เวรัญชพราหมณ์ยังถ้อยคำอันเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นเริง คือถ้อยคำเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกันให้ผ่านไป คือให้จบลง ได้แก่ให้สำเร็จลงด้วยบรรยายมิใช่น้อยอย่างนั้นแล้ว มีความประสงค์จะทูลถามถึงประโยชน์ที่เป็นเหตุให้ตนมา จึงนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นี้เป็นศัพท์แสดงภาวนปุงสกลิงค์. (ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ) เหมือนในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมเดินเวียนรอบไปในที่อันไม่เสมอ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ในคำว่า เอกมนฺตํ นิสีทิ นี้ พึงเห็นใจความอย่างนี้ว่า เวรัญชพราหมณ์นั้นนั่งแล้วจะชื่อว่า เป็นผู้นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง โดยประการใด ก็นั่งแล้วโดยประการนั้น.
               อนึ่ง คำว่า เอกมนฺตํ นั้นเป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า นิสีทิ แปลว่า เข้าไปใกล้แล้ว.
               จริงอยู่ บุรุษทั้งหลายผู้ฉลาด เข้าไปหาครุฐานียบุคคล (คือบุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานครู) ชื่อว่าย่อมนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เพราะความเป็นผู้ฉลาดในการนั่ง ก็บรรดาบุรุษผู้ฉลาดเหล่านั้น เวรัญชพราหมณ์นี้เป็นคนใดคนหนึ่ง, เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้น จึงนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

               [การนั่งเว้นโทษ ๖ อย่าง]               
               ถามว่า ก็บุคคลนั่งอยู่อย่างไร จึงชื่อว่าเป็นผู้นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง?
               แก้ว่า ต้องนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่าง จึงชื่อว่าเป็นผู้นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
               โทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างเป็นไฉน?
               โทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างนั้นคือ นั่งไกลนัก ๑ นั่งใกล้กันนัก ๑ นั่งเหนือลม ๑ นั่งที่สูง ๑ นั่งตรงหน้าเกินไป ๑ นั่งข้างหลังเกินไป ๑
               จริงอยู่ บุคคลนั่งอยู่ในที่ไกลกันนัก ถ้ามีความประสงค์จะพูด จะต้องพูดด้วยเสียงดัง. นั่งในที่ใกล้กันนัก ย่อมทำความเบียดเสียดกัน. นั่งในที่เหนือลม ย่อมรบกวน (คนอื่น) ด้วยกลิ่นตัว. นั่งในที่สูง ย่อมประกาศความไม่เคารพ. นั่งในที่ตรงหน้าเกินไป ถ้ามีความประสงค์จะดู จะต้องจ้องดูตาต่อตากัน. นั่งข้างหลังเกินไป ถ้ามีความประสงค์จะดู จะต้องยื่นคอออกไปดู.
               เพราะฉะนั้น เวรัญชพราหมณ์แม้นี้ จึงนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างเหล่านั่นแล เหตุดังนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวไว้ว่า พราหมณ์นั้นนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :