ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 85อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 90อ่านอรรถกถา 1 / 121อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท
บทภาชนีย์ มาติกา ภุมมัฏฐวิภาคเป็นต้น

               ภุมฺมฏฺฐกถา               
               วินิจฉัยกถาพร้อมด้วยวรรณนาบทที่ไม่ตื้น ในคำว่า นิกฺขิตตํ เป็นต้นนั้น พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า นิกฺขิตฺตํ ได้แก่ ที่ฝังเก็บไว้ในแผ่นดิน.
               บทว่า ปฏิจฺฉนฺนํ ได้แก่ ที่เขาปกปิดไว้ ด้วยวัตถุมีดินและอิฐเป็นต้น.
               ข้อว่า ภิมฺมฏฐํ ภณฺตํ ฯปฯ คจฺฉติ วา อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า ภิกษุใดรู้ด้วยอุบายบางอย่างนั่นเทียว ซึ่งภัณฑะนั้นที่ชื่อว่าตั้งอยู่ในแผ่นดิน เพราะเป็นของที่เขาฝังหรือปกปิดตั้งไว้อย่างนั้น เป็นผู้มีไถยจิตว่า เราจักลัก แล้วลุกขึ้นไปในราตรีภาค. ภิกษุนั้นแม้ไปไม่ถึงที่แห่งภัณฑะ ย่อมต้องทุกกฏ เพราะกายวิการและวจีวิการทั้งปวง.

               [อรรถาธิบายอาบัติที่เป็นบุพประโยคแห่งปาราชิก]               
               ถามว่า ต้องอย่างไร?
               แก้ว่า ต้องอย่างนี้ คือ :-
               จริงอยู่ ภิกษุนั้นเมื่อลุกขึ้นเพื่อต้องการจะลักทรัพย์นั้น ให้อวัยวะน้อยใหญ่ใดๆ เคลื่อนไหว ย่อมต้องทุกกฎในเพราะอวัยวะเคลื่อนไหวทุกครั้งไป จัดผ้านุ่งและผ้าห่มก็ต้องทุกกฏทุกๆ ครั้งที่มือเคลื่อนไหว.
               เธอรูปเดียวไม่อาจนำทรัพย์ที่ฝังไว้ซึ่งมีจำนวนมากออกไปได้จึงคิดว่า เราจักแสวงหาเพื่อน ดังนี้แล้วเดินไปยังสำนักของสหายบางรูป จึงเปิดประตู ก็ต้องทุกกฏทุกๆ ย่างเท้าและทุกๆ ครั้งที่มือเคลื่อนไหว แต่ไม่เป็นอาบัติเพราะปิดประตู หรือเพราะกายกรรมและวจีกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นการอุดหนุนแก่การไป.
               เธอเดินไปยังโอกาสที่ภิกษุรูปนั้นนอน แล้วเรียกภิกษุนั้นว่า ท่านผู้มีชื่อนี้ แจ้งความประสงค์นั้นให้ทราบ จึงกล่าวชักชวนว่า ท่านมาไปกันเถิด, ย่อมต้องทุกกฏทุกๆ คำพูด.
               ภิกษุรูปนั้นลุกขึ้นตามคำชักชวนของเธอ, แม้เธอรูปนั้นก็เป็นทุกกฏ.
               ครั้นเธอลุกขึ้นแล้ว ประสงค์จะเดินไปยังสำนักของภิกษุรูป (ต้นคิด) นั้น จัดผ้านุ่งและผ้าห่ม ปิดประตูแล้ว เดินไปใกล้ภิกษุรูป (ต้นคิด) นั้น ก็ต้องทุกกฏ เพราะขยับมือและย่างเท้าทุกๆ ครั้งไป. เธอรูปนั้นถามภิกษุผู้ต้นคิดนั้นว่า ภิกษุชื่อโน้นและโน้นอยู่ที่ไหน? ท่านจงเรียกภิกษุชื่อโน้นและชื่อโน้นมาเถิด ดังนี้ต้องทุกกฏทุกๆ คำพูด.
               ครั้นเห็นทุกๆ รูปมาพร้อมกันแล้ว ก็กล่าวชักชวนว่า ผมพบขุมทรัพย์เห็นปานนี้ อยู่ในสถานที่ชื่อโน้น, พวกเราจงมาไปเอาทรัพย์นั้น แล้วจักบำเพ็ญบุญและจักเป็นอยู่อย่างสบาย ดังนี้ ก็ต้องทุกกฏทุกๆ คำพูดทีเดียว.
               เธอได้สหายอย่างนั้นแล้วจึงแสวงหาจอบ ก็ถ้าเธอรูปนั้นมีจอบสำหรับตนอยู่ไซร้ จึงกล่าวว่า เราจักนำจอบนั้นมา ขณะเดินไปถือเอาและนำมาย่อมต้องทุกกฏ เพราะขยับมือและย่างเท้าทุกๆ ครั้งไป. ถ้าจอบไม่มี ก็ไปขอภิกษุหรือคฤหัสถ์คนอื่น และเมื่อขอ จะพูดเท็จขอว่า จงให้จอบแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการจอบ ข้าพเจ้ามีกิจอะไรๆ ที่จะต้องทำ ทำกิจนั้นเสร็จแล้วจักนำมาคืนให้ ดังนี้ ต้องทุกกฏทุกๆ คำพูด.
               ถ้ามีลำรางที่จะต้องชำระให้สะอาดอยู่ไซร้ เธอจะพูดแม้คำเท็จว่า งานดินในวัดที่จะต้องทำมีอยู่. คำพูดใดๆ ที่เป็นคำเท็จ ย่อมเป็นปาจิตตีย์ เพราะคำพูดนั้นๆ.
               แต่ในมหาอรรถกถา ท่านปรับทุกกฏทั้งนั้น ทั้งคำจริงทั้งคำเหลาะแหละ. คำที่กล่าวไว้ในมหาอรรถกถานั้นพึงทราบว่า เขียนไว้ด้วยความพลั้งเผลอ. ขึ้นชื่อว่าทุกกฏในฐานแห่งปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นบุพประโยคแห่งอทินนาทาน ไม่มีเลย.
               ก็ถ้าจอบไม่มีด้าม ภิกษุพูดว่า จักทำด้าม แล้วลับมีดหรือขวานออกเดินไปเพื่อต้องการไม้ด้ามจอบนั้น. ครั้นไปแล้วก็ตัดไม้แห้ง ถาก ตอก ย่อมต้องทุกกฏ เพราะขยับมือและย่างเท้าทุกๆ ครั้งไป. เธอตัดไม้ที่ยังสด ต้องปาจิตตีย์. ถัดจากนั้นไปก็ต้องทุกกฏ ในทุกๆ ประโยค.
               แต่ในสังเขปอรรถกถาและมหาปัจจรี ท่านปรับทุกกฏไว้แม้แก่พวกภิกษุผู้แสวงหามีดและขวาน เพื่อต้องการตัดไม้และเถาวัลย์ซึ่งเกิดอยู่ในที่นั้น. ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ก็ถ้าภิกษุเหล่านั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราเมื่อขอมีดขวานและจอบอยู่จักไม่มีความสงสัย พวกเราค้นให้พบแร่เหล็กแล้วจึงทำดังนี้แล้ว ภายหลังนั้นจึงเดินไปยังบ่อแร่เหล็กแล้วขุดแผ่นดิน เพื่อต้องการแร่เหล็ก. เมื่อพวกเธอขุดแผ่นดินที่เป็นอกัปปิยะ ก็ต้องปาจิตตีย์พร้อมทั้งทุกกฏหลายกระทงเหมือนอย่างว่า ในบาลีประเทศนี้ ปาจิตตีย์พร้อมทั้งทุกกฏหลายกระทงย่อมมีได้ฉันใด ในบาลีประเทศทุกแห่งก็ฉันนั้น ในฐานะแห่งปาจิตตีย์ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกกฏ.
               เมื่อพวกเธอขุดแผ่นดินที่เป็นกัปปิยะอยู่ ก็เป็นทุกกฏหลายกระทงทีเดียว. ก็ครั้นถือเอาแร่แล้ว ต่อจากนั้นก็ต้องทุกกฏทุกๆ ประโยค เพราะกิริยาที่ทำทุกอย่าง. ถึงแม้ในการแสวงหาตะกร้า ก็ต้องทุกกกฏเพราะขยับมือและย่างเท้าตามนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง. ต้องปาจิตตีย์เพราะพูดเท็จ เพราะมีความประสงค์จะทำตะกร้า ต้องปาจิตตีย์ในเพราะตัดเถาวัลย์.
               คำทั้งหมดดังพรรณนามาฉะนี้ พึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               หลายบทว่า คจฺฉติ วา อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า ภิกษุผู้แสวงหาสหาย จอบและตะกร้าได้แล้วอย่างนั้น เดินไปยังที่ขุมทรัพย์ ย่อมต้องทุกกฏทุกๆ ย่างเท้า. ก็ถ้าว่า เมื่อเธอเดินไป เกิดกุศลจิตขึ้นว่า เราได้ขุมทรัพย์นี้แล้วจักทำพุทธบูชา ธรรมบูชาหรือสังฆภัต ดังนี้แล้วไม่เป็นอาบัติ เพราะการเดินไปด้วยกุศลจิต.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่เป็นอาบัติ.
               แก้ว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ภิกษุมีไถยจิตเที่ยวแสวงหาเพื่อนก็ตาม แสวงหาจอบหรือตะกร้าก็ตาม เดินไปก็ตามต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้จึงไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่มีไถยจิตในที่ทั้งปวง เหมือนในการเดินไปยังที่ขุมทรัพย์นี้ ฉะนั้น. ภิกษุแวะออกจากทางแล้วทำทางไว้เพื่อต้องการเดินไปยังขุมทรัพย์ ตัดภูตคามต้องปาจิตตีย์ ตัดไม้แห้งต้องทุกกฏ.
               สองบทว่า ตตฺถ ชาตกํ คือ ที่เกิดอยู่บนหม้อ ซึ่งตั้งไว้นานแล้ว.
               สองบทว่า กฏฺฐํ วา ลตํ วา ความว่า หาใช่ตัดเฉพาะไม้และเถาวัลย์อย่างเดียวเท่านั้นไม่ เมื่อภิกษุตัดรุกขชาติ มีหญ้า ต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้นชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ยังสดก็ตาม แห้งก็ตาม เป็นทุกกฏเหมือนกัน เพราะมีความพยายาม.

               [อาบัติทุกกฏ ๘ อย่าง]               
               จริงอยู่ พระเถระทั้งหลายประมวลชื่อทุกกฏ ๘ อย่างนั่นมาแสดงไว้ในที่นี้แล้ว คือบุพปโยคทุกกฏ ๑ สหปโยคทุกกฏ ๑ อนามาสทุกกฏ ๑ ทุรุปจิณณทุกกฏ ๑ วินัยทุกกฏ ๑ ญาตทุกกฏ ๑ ญัตติทุกกฏ ๑ ปฏิสสวทุกกฏ ๑
               บรรดาทุกกฏ ๘ อย่างนั้น ทุกกฏที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า ภิกษุมีไถยจิตเที่ยวแสวงหาเพื่อนจอบหรือตะกร้าก็ตาม เดินไปก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฏนี้ ชื่อบุพปโยคทุกกฏ.
               จริงอยู่ ในพระดำรัสที่ตรัสไว้นี้ในฐานะแห่งทุกกฏก็เป็นทุกกฏ ในฐานะแห่งปาจิตตีย์ก็เป็นปาจิตตีย์โดยแท้.
               ทุกกฏที่พระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า ภิกษุตัดไม้หรือเถาวัลย์ที่เกิดอยู่บนพื้นดินนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ นี้ชื่อว่าสหปโยคทุกกฏ. ในพระดำรัสที่ตรัสไว้นี้ วัตถุแห่งปาจิตตีย์และวัตถุแห่งทุกกฏ ก็ตั้งอยู่ในฐานะแห่งทุกกฏเหมือนกัน. เพราะเหตุไร? เพราะการลักเป็นไปพร้อมกับความพยายาม.
               อนึ่ง ทุกกฏที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้จับต้องรัตนะ ๑๐ อย่าง ข้าวเปลือก ๗ อย่างและเครื่องศัสตราวุธเป็นต้นทั้งหมด นี้ชื่ออนามาสทุกกฏ.
               ทุกกฏที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้จับต้องบรรดาผลไม้ทั้งหลายมีกล้วยและมะพร้าวเป็นต้น ผลที่เกิดในที่นั้น นี้ชื่อทุรุปจิณณทุกกฏ.
               อนึ่ง ทุกกฏที่พระองค์ปรับไว้แก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ไม่รับประเคนหรือไม่ล้างบาตรในเมื่อมีผงธุลีตกลงไปในบาตร ก็รับภิกษาในบาตรนั้น นี้ชื่อวินัยทุกกฏ.
               ทุกกฏที่ว่า พวกภิกษุได้ฟัง (เรื่องตะเกียกตะกายเพื่อทำลายสงฆ์) แล้วไม่พูด ต้องอาบัติทุกกฏ นี้ชื่อญาตทุกกฏ.
               ทุกกฏที่ตรัสไว้ว่า เป็นทุกกฏเพราะญัตติ ในบรรดาสมนุภาสน์ ๑๑ อย่าง นี้ชื่อญัตติทุกกฏ.
               ทุกกฏที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วันจำพรรษาต้นของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ และเธอย่อมต้องอาบัติทุกกฏ เพราะรับคำ นี้ชื่อปฏิสสวทุกกฏ.
               ส่วนสหปโยคทุกกฏ (คือต้องทุกกฏพร้อมด้วยความพยายาม) ดังต่อไปนี้ :-
               เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า เมื่อภิกษุตัดรุกขชาติมีหญ้าต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้นชนิดใดชนิดหนึ่งที่ยังสดก็ตาม แห้งก็ตาม เป็นทุกกฏเหมือนกัน เพราะมีความพยายาม.
               ก็ถ้าแม้เมื่อภิกษุนั้นตัดรุกขชาติมีหญ้า ต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นในที่นั้น ลัชชีธรรมย่อมหยั่งลงความสังวรเกิดขึ้น เธอแสดงทุกกฏ เพราะการตัดเป็นปัจจัยแล้ว ย่อมพ้นได้.
               ถ้าเธอไม่ทอดธุระ ยังมีความขะมักเขม้นขุดดินอยู่ทีเดียว ทุกกฏเพราะการตัดย่อมระงับไป เธอย่อมตั้งอยู่ในทุกกฏเพราะการขุด. ด้วยว่า ภิกษุแม้เมื่อขุดแผ่นดินเป็นอกัปปิยะ ย่อมต้องทุกกฏนั่นแล ในอธิการว่าด้วยการขุดดินนี้ เพราะมีความพยายาม.
               ก็ถ้าเธอขุดในทุกทิศเสร็จสรรพแล้ว แม้จนถึงที่ตั้งหม้อทรัพย์ ลัชชีธรรมหยั่งลง เธอแสดงทุกกฏเพราะการขุดเป็นปัจจัยเสียแล้ว ย่อมพ้น (จากอาบัติ) ได้.
               บทว่า วิยูหติ วา มีความว่า ก็ถ้าภิกษุยังมีความขะมักเขม้นอยู่อย่างเดิม คุ้ยดินร่วน ทำเป็นกองไว้ในส่วนข้างหนึ่ง ทุกกฏเพราะการขุดย่อมระงับไป เธอย่อมตั้งอยู่ในทุกกฏเพราะการคุ้ย. ก็เมื่อเธอทำดินร่วนนั้นให้เป็นกองไว้ในที่นั้นๆ ย่อมต้องทุกกฏทุกๆ ประโยค. แต่ถ้าเธอทำเป็นกองไว้แล้วทอดธุระเสีย ถึงลัชชีธรรม แสดงทุกกฏ เพราะการคุ้ยเสียแล้วย่อมพ้น (จากอาบัติ) ได้.
               บทว่า อุทฺธรติ วา มีความว่า ก็ถ้าภิกษุยังมีความขะมักเขม้นอยู่ โกยดินร่วนขึ้นให้ตกไปในภายนอก ทุกกฏเพราะการคุ้ยย่อมระงับไป เธอย่อมตั้งอยู่ในทุกกฏเพราะการโกยขึ้น. ก็เมื่อเธอใช้จอบก็ตาม มือทั้งสองก็ตาม ปุ้งกี๋ก็ตาม สาดดินร่วนให้ตกไปในที่นั้นๆ ย่อมต้องทุกกฏทุกๆ ประโยค.
               แต่ถ้าเธอนำดินร่วนทั้งหมดออกไปเสียแล้ว จนถึงทำหม้อทรัพย์ให้ตั้งอยู่บนบก ประจวบกับลัชชีธรรม ครั้นแสดงทุกกฏเพราะการโกยขึ้นเสียแล้ว ย่อมพ้น (จากอาบัติ) ได้. แต่ถ้าเธอยังมีความขะมักเขม้นอยู่นั่นแหละ จับต้องหม้อทรัพย์ ทุกกฏเพราะการโกยขึ้นย่อมระงับไป เธอย่อมตั้งอยู่ในทุกกฏเพราะการจับต้อง.
               ก็แลครั้นจับต้องแล้ว ประจวบกับลัชชีธรรม แสดงทุกกฏเพราะการจับต้องเสียแล้ว ย่อมพ้น (จากอาบัติ) ได้.
               ถ้าเธอยังมีความขะมักเขม้นอยู่ต่อไป ทำหม้อทรัพย์ให้ไหว ทุกกฏเพราะการจับต้องย่อมระงับไป เธอย่อมตั้งอยู่ในถุลลัจจัย. ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ดังนี้.

               [อรรถาธิบายคำว่าทุกกฏและถุลลัจจัย]               
               ทุกกฏและถุลลัจจัยแม้ทั้งสอง ที่ตรัสไว้ในพระบาลีนั้น มีเนื้อความเฉพาะคำดังต่อไปนี้
               บรรดาทุกกฏและถุลลัจจัยทั้งสองนี้ พึงทราบทุกกฏที่หนึ่งก่อน ความทำชั่ว คือความทำให้ผิดจากกิจที่พระศาสดาตรัส เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าทุกกฏ.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าทุกกฏ เพราะอรรถวิเคราะห์แม้อย่างนี้บ้างว่า ความทำชั่ว คือกิริยานั้นผิดรูป ย่อมไม่งามในท่ามกลางแห่งกิริยาของภิกษุ.
               จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
                                   ก็โทษใดที่เรากล่าวว่า ทุกกฏ ท่าน
                         จงฟังโทษนั้น ตามที่กล่าว, กรรมใดเป็น
                         ความผิดด้วย เป็นความเสียด้วย เป็นความ
                         พลาดด้วย เป็นความชั่วด้วย และมนุษย์
                         ทั้งหลายพึงทำกรรมลามกใด ในที่แจ้งหรือ
                         ว่าในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมประกาศ
                         โทษนั้นว่า ทุกกฏ เพราะเหตุนั้น โทษนั้น
                         เราจึงกล่าวอย่างนั้น.
               ส่วนวีติกกมะนอกนี้ ชื่อว่าถุลลัจจัย เพราะเป็นกรรมหยาบและเพราะความเป็นโทษ. ก็ความประกอบกันในคำว่า ถุลลัจจัย นี้ ผู้ศึกษาควรทราบเหมือนในคำว่า ทุคติในสัมปราภพและกรรมนั้นเป็นของมีผลเผ็ดร้อนเป็นต้น.
               จริงอยู่ บรรดาโทษที่จะพึงแสดงในสำนักของภิกษุรูปเดียว โทษที่หยาบเสมอด้วยถุลลัจจัยนั้น ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ที่ชื่อว่าถุลลัจจัย เพราะเป็นกรรมหยาบและเพราะความเป็นโทษ.
               จริงอยู่ คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วว่า
                                   โทษใด ที่เรากล่าวว่า ถุลลัจจัย
                         ท่านจงฟังโทษนั้นตามที่กล่าว, ภิกษุใดย่อม
                         แสดงโทษนั้น ในสำนักของภิกษุรูปเดียว
                         และภิกษุใดย่อมรับโทษนั้น, โทษที่เสมอ
                         ด้วยโทษนั้น ของภิกษุนั้นย่อมไม่มี เพราะ
                         เหตุนั้น โทษนั้น เราจึงกล่าวอย่างนั้น.
               ก็เมื่อภิกษุทำให้ไหวอยู่ เป็นถุลลัจจัยทุกๆ ประโยค. แต่ว่าเธอแม้ให้ไหวแล้วหยั่งลงสู่ลัชชีธรรม แสดงถุลลัจจัยเสียแล้ว ย่อมพ้นได้. ก็อาบัติที่เกิดก่อนๆ ในเพราะให้หวั่นไหวนี้ ย่อมระงับไปจำเดิมแต่สหประโยคไปทีเดียว.
               ในอรรถกถาชื่อกุรุนทีกล่าวว่า
               ก็แล ทุกกฏและปาจิตตีย์เหล่าใดในบุพประโยค เธอแสดงสหประโยคแล้วหยั่งลงสู่ลัชชีธรรมแล้วต้องไว้, ทุกกฏและปาจิตตีย์เหล่านั้นทั้งหมด ควรแสดง. ส่วนทุกกฏแม้มีจำนวนมากในเพราะตัดหญ้า ต้นไม้และเถาวัลย์เป็นต้นที่เกิดขึ้นแล้วในที่นั้น ซึ่งเป็นสหประโยคย่อมระงับไป เพราะถึงการขุดดิน. อาบัติทุกกฏเพราะเหตุขุดดิน ตัวเดียวเท่านั้นคงมีอยู่ ทุกกฏแม้มากในเพราะการขุดย่อมระงับไป ในเพราะถึงการคุ้ย, อาบัติทุกกฏแม้มากในเพราะการคุ้ยย่อมระงับไป เพราะถึงการโกยขึ้น, อาบัติทุกกฏแม้มากในเพราะการโกยขึ้นย่อมระงับไป เพราะถึงการจับต้อง, อาบัติทุกกฏแม้มากในเพราะการจับต้องย่อมระงับไป เพราะถึงการให้หวั่นไหว.
               ก็แล ครั้นเมื่อลัชชีธรรมเกิดขึ้นในขณะขุดดินเป็นต้น อาบัติแม้จะมีมากก็ตามที เธอแสดงเพียงตัวเดียวเท่านั้น ย่อมพ้นได้.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า ความระงับแห่งอาบัติที่เกิดขึ้นก่อนนี้ มาแล้วในสูตร ในอนุสาวนาทั้งหลายนั่นแล อย่างนี้ว่า ทุกกฏ เพราะญัตติ ถุลลัจจัย เพราะกรรมวาจาสองครั้ง ย่อมระงับไป.
               แต่ความระงับแห่งอาบัติที่เกิดขึ้นก่อนในทุติยปาราชิกนี้ ผู้ศึกษาควรถือเอาโดยประมาณแห่งพระอรรถกถาจารย์ ฉะนี้แล.

               [กิริยาที่ภิกษุลักทรัพย์ให้เคลื่อนจากฐาน ๖ อย่าง]               
               หลายบทว่า ฐานา จาเวติ อาปตฺติ ปาราชิกสฺส มีความว่า ก็ภิกษุใดแม้ให้หวั่นไหวแล้ว ก็ไม่หยั่งลงสู่ลัชชีธรรมเลย ยังหม้อทรัพย์นั้นให้เคลื่อนจากฐานแห่งหม้อ โดยที่สุดแม้เพียงเส้นผมเดียว ภิกษุนั้นต้องปาราชิกทีเดียว.
               ก็การยังทรัพย์ให้เคลื่อนจากฐานในคำว่า ฐานา จาเวติ นี้ พึงทราบโดยอาการ ๖ อะไรบ้าง?
               ๑. ภิกษุจับปากหม้อรั้งมาตรงหน้าของตน ยังที่สุดข้างโน้น ให้เลยโอกาสที่สุดข้างนี้ถูกต้องแล้ว แม้เพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก.
               ๒. ภิกษุจับอย่างนั้นแล้ว ไสไปข้างหน้า ยังที่สุดข้างนี้ ให้เลยที่สุดข้างโน้นถูกต้องแล้วแม้เพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก.
               ๓. ภิกษุผลักไปข้างซ้ายก็ดี ข้างขวาก็ดี ยังที่สุดข้างขวา ให้เลยโอกาสที่สุดข้างซ้ายถูกต้องแล้ว แม้เพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก.
               ๔. ภิกษุให้ที่สุดข้างซ้ายเลยโอกาสที่สุดข้างขวาถูกต้องแล้ว แม้เพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก.
               ๕. ภิกษุยกขึ้นข้างบน ให้พ้นจากพื้น แม้เพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก.
               ๖. ภิกษุขุดดิน กดลงข้างล่าง ยังขอบปากหม้อให้เลยโอกาสที่สุด ก้นหม้อถูกต้องแล้ว แม้เพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก.
               การให้เคลื่อนจากฐานสำหรับหม้ออันตั้งอยู่ในฐานเดียว พึงทราบโดยอาการ ๖ อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ถ้าเขาทำบ่วงที่ขอบปากหม้อแล้วตอกหลักโลหะ หรือหลักไม้แก่นมีตะเคียนเป็นต้นลงในแผ่นดิน แล้วเอาโซ่ล่ามที่หลักนั้นตั้งไว้. หม้อที่ล่ามด้วยโซ่เส้น ๑ ในทิศหนึ่งย่อมได้ฐาน ๒. มีล่ามด้วยโซ่หลายเส้น ใน ๒-๓-๔ ทิศ ย่อมได้ฐาน ๓-๔-๕. บรรดาหม้อที่ล่ามไว้ที่หลักเดียวเป็นต้นนั้น ภิกษุยกหลักแรกแห่งหม้อที่ล่ามไว้ที่หลักเดียวขึ้นก็ดี ตัดโซ่ก็ดี ต้องถุลลัจจัย.
               ภายหลังให้หม้อเคลื่อนจากฐาน แม้เพียงปลายเส้นผม โดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั่นแล ต้องปาราชิก.
               ถ้ายกหม้อขึ้นทีแรก ต้องถุลลัจจัย. ภายหลังให้หลักเคลื่อนจากฐาน แม้เพียงปลายเส้นผมก็ดี ตัดโซ่ก็ดี ต้องปาราชิก. ในการยังที่สุดแม้แห่งหม้อที่ล่ามไว้ที่หลัก ๒-๓-๔ หลัก ให้เคลื่อนจากฐาน ก็ต้องปาราชิกโดยอุบายนั่น. ในหลักที่เหลือทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็นถุลลัจจัย.
               ถ้าไม่มีหลัก เขาทำวลัยไว้ที่ปลายโซ่ แล้วจึงสอดเข้าไปที่รากไม้ซึ่งเกิดอยู่ในที่นั้น. ภิกษุยกหม้อขึ้นก่อน ภายหลังจึงตัดรากไม้แล้วนำวลัยออก ต้องปาราชิก. ถ้าไม่ตัดรากไม้ แต่ให้วลัยเลื่อนไปข้างโน้นและข้างนี้ ยังรักษาอยู่. แต่ถ้าแม้ยังไม่นำออกจากรากไม้ เป็นแต่เอามือจับทำให้เชิดไปบนอากาศ ก็ต้องปาราชิก.
               ความแปลกกันในอธิการว่าด้วยหม้อที่เขาสอดเข้าไว้ที่รากไม้นี้มีเท่านี้.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ก็ชนบางพวกปลูกต้นไทรเป็นต้นไว้เบื้องบนหม้อ เพื่อต้องการเป็นเครื่องหมาย. รากไม้เกี่ยวรัดหม้อตั้งอยู่. ภิกษุคิดว่า จักตัดรากไม้ลักหม้อไป กำลังตัดต้องทุกกฏทุกๆ ประโยค. ตัดแล้วทำโอกาสให้หม้อเคลื่อนจากฐาน แม้เพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก. เมื่อกำลังตัดรากไม้อยู่แล หม้อพลัดกลิ้งไปสู่ที่ลุ่ม ยังรักษาอยู่ก่อน, ยกขึ้นจากฐานที่หม้อกลิ้งไป ต้องปาราชิก.
               ถ้าเมื่อตัดรากไม้ทั้งหลายแล้ว หม้อยังตั้งอยู่ได้โดยเพียงรากเดียว และภิกษุนั้นคิดว่า เมื่อตัดรากไม้นี้แล้วหม้อจักตกไป จึงตัดรากไม้นั้น พอตัดเสร็จ ต้องปาราชิก. ก็ถ้าหม้อตั้งอยู่โดยรากเดียวเท่านั้น เหมือนสุกรถูกผูกไว้ที่บ่วงฉะนั้น ที่เกี่ยวอะไรๆ อย่างอื่นไม่มี, แม้เมื่อรากนั้นพอตัดขาดแล้ว ก็ต้องปาราชิก.
               ถ้าเขาวางก้อนหินแผ่นใหญ่ทับไว้บนหม้อ ภิกษุมีความประสงค์จะเอาท่อนไม้งัดก้อนหินนั้นออก จึงตัดต้นไม้ที่เกิดอยู่บนหม้อทิ้ง ต้องทุกกฏ. เธอตัดต้นไม้เป็นต้นที่เกิดอยู่ใกล้หม้อนั้นแล้วนำออกเสียขณะตัดต้นไม้เป็นต้นนั้น ยังไม่ต้องปาจิตตีย์ เพราะต้นไม้เป็นของเกิดอยู่บนหม้อนั้น.
               สองบทว่า อตฺตโน ภาชนคตํ มีความว่า ก็ถ้าภิกษุไม่สามารถจะยกเอาหม้อขึ้นได้ จึงสอดภาชนะของตนเข้าไป เพื่อรับเอาทรัพย์ที่อยู่ในหม้อ มีไถยจิตจับต้องทรัพย์ภายในหม้อ ควรแก่ค่า ๕ มาสกก็ตาม เกินกว่า ๕ มาสกก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฏ. ก็การกำหนดที่ท่านกล่าวไว้แล้วในพระบาลีนี้ เพื่อกำหนดอาบัติปาราชิก. เมื่อภิกษุจับต้องทรัพย์แม้หย่อนกว่า ๕ มาสกด้วยไถยจิต ก็ต้องทุกกฏเหมือนกัน.
               ในคำว่า ผนฺทาเปติ นี้ ความว่า ภิกษุรวมทรัพย์ให้เนื่องเป็นอันเดียวกันแล้วสอดภาชนะของตนเข้าไป อยู่เพียงใด, ภิกษุนั้นท่านเรียกว่า ทำให้หวั่นไหว เพียงนั้น. อีกอย่างหนึ่ง แม้เมื่อคุ้ยเขี่ยไปทางโน้นและทางนี้ ชื่อว่าทำให้หวั่นไหวเหมือนกัน. ภิกษุนั้นย่อมต้องถุลลัจจัย.
               ในกาลใด ภิกษุตัดความที่ทรัพย์เนื่องเป็นอันเดียวกันขาดแล้ว ทรัพย์ที่อยู่ในหม้อ ก็มีอยู่ในหม้อนั่นเอง แม้ที่อยู่ในภาชนะ ก็มีอยู่ในภาชนะเท่านั้น ในกาลนั้น ทรัพย์ชื่อว่ามีอยู่ในภาชนะของตนแล้ว. ครั้นเธอทำอย่างนั้นแล้ว แม้เมื่อไม่ได้นำภาชนะออกจากหม้อก็ตาม ต้องปาราชิก.
               ในคำว่า มุฏฺฐํ วา ฉินฺทติ นี้ ความว่า กหาปณะที่ลอดออกทางช่องนิ้วมือแล้ว จะไม่กระทบกหาปณะที่อยู่ในหม้อโดยวิธีใด ภิกษุทำการกำเอาโดยวิธีนั้น ชื่อว่าตัดขาดกำเอา. แม้ภิกษุนั้นก็ต้องปาราชิก.
               บทว่า สุตฺตารุฬฺนํ ได้แก่ ทรัพย์ที่ร้อยไว้ในด้าย.
               คำว่า สุตฺตารุฬฺหํ นั่น เป็นชื่อของเครื่องประดับที่ร้อยไว้ในด้ายบ้าง ที่สำเร็จด้วยด้ายบ้าง. เครื่องประดับทั้งหลายมีสังวาลเป็นต้น ที่สำเร็จด้วยทองบ้างก็มี ที่สำเร็จด้วยรูปิยะบ้างก็มี ที่สำเร็จด้วยด้ายบ้างก็มี, ถึงแม้สร้อยไข่มุกเป็นต้น ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าในสังวาลเป็นต้นนี้ นั่นแล. ผ้าสำหรับโพกศีรษะ ท่านเรียกว่าเวฐนะ. ภิกษุมีไถยจิตจับต้องบรรดาทรัพย์ที่ร้อยไว้ในด้ายเป็นต้นเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องทุกกฏ. ทำให้หวั่นไหวต้องถุลลัจจัย. จับที่สุดสังวาลแล้วไม่ได้ทำให้ลอยอยู่ในอากาศ เพียงแต่ยกขึ้น (เท่านั้น) ต้องถุลลัจจัย.
               ก็ในบทว่า ฆํสนฺโต นีหรติ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ในสังเขปอรรถกถาและมหาปัจจรีเป็นต้น ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุลากหม้อที่มีขอบปากเสมอ ซึ่งเขาวางซ้อนบนหม้อที่เต็มออกจากกันก็ดี หรือลากสังวาลเป็นต้น ที่เขาวางทำปลายข้างหนึ่งไว้ที่ก้นหม้อ ทำปลายข้างหนึ่งไว้ที่ขอบปากหม้อออกไปก็ดี เป็นถุลลัจจัย. เมื่อให้พ้นจากปากหม้อ เป็นปาราชิก.
               ส่วนภัณฑะใดที่เขาใส่ไว้ในหม้อซีกเดียว หรือในหม้อเปล่า เฉพาะโอกาสที่ตน (คือภัณฑะ) ถูกต้องเป็นฐานของภัณฑะนั้น หม้อทั้งหมดหาได้เป็นฐานไม่ เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุแม้ลากภัณฑะนั้นออกไป ครั้นประมาณเส้นผมหนึ่งพ้นไปจากโอกาสที่ภัณฑะนั้นตั้งอยู่ เป็นปาราชิกทันที. แต่เมื่อภิกษุยกขึ้นตรงๆ จากหม้อที่เต็มหรือพร่อง เมื่อภัณฑะนั้นพอพ้นจากโอกาสที่ส่วนเบื้องล่างจด เป็นปาราชิก.
               ภัณฑะอย่างใดอย่างหนึ่งที่พอจะเป็นปาราชิก ซึ่งเขาวางไว้ภายในหม้อ เมื่อภิกษุให้ไหวอยู่ในหม้อทั้งสิ้น และเมื่อลากเครื่องประดับมีสังวาลเป็นต้นออกไป ยังไม่เลยขอบปากเพียงใด คงเป็นถุลลัจจัยเพียงนั้นนั่นแล เพราะว่าหม้อแม้ทั้งหมดเป็นฐานของภัณฑะนั้น.
               ส่วนในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า ที่ซึ่งเขาตั้งไว้เท่านั้นเป็นฐาน, หม้อทั้งหมดหาได้เป็นฐานไม่ เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุให้พ้นไปจากฐานที่ซึ่งเขาตั้งไว้เดิม แม้เพียงปลายเส้นผม ก็ต้องปาราชิกทีเดียวแล.
               คำแห่งมหาอรรถกถานั้นเป็นประมาณ. ส่วนคำอรรถกถานอกนี้ ท่านกล่าวตามนัยแห่งการม้วนจีวรที่พาดอยู่บนราวจีวรของภิกษุที่ไม่ได้ทำให้ไปในอากาศ. คำที่กล่าวไว้ในสังเขปอรรถกถาเป็นต้นนั้น ไม่ควรถือเอา. เพราะภิกษุควรตั้งอยู่ในฐานะที่หนักแน่นอันมาแล้วในวินัยวินิจฉัย. ข้อนี้เป็นธรรมดาในวินัย.
               อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า หม้อทั้งหมดไม่เป็นฐานแห่งภัณฑะที่ตั้งอยู่ภายในหม้อฉันใด คำแห่งสังเขปอรรถกถาเป็นต้นนั้น บัณฑิตพึงทราบฉันนั้น เพราะบาลีว่า ภิกษุทำให้ทรัพย์เข้าไปในภาชนะของตนก็ดี ตัดกำเอาก็ดี ดังนี้แล.

               [อรรถาธิบายภิกษุลักดูดเอาเนยใสเป็นต้นเป็นปาราชิก]               
               ในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า
               เมื่อภิกษุดื่มของที่เป็นน้ำอย่างใดอย่างหนึ่งมีเนยใสเป็นต้น เมื่อเนยใสเป็นต้นนั้น มาตรว่าเธอดื่มแล้วด้วยประโยคอันเดียวก็เป็นปาราชิก. แต่ในอรรถกถาทั้งหลายมีมหาปัจจรีเป็นต้น ท่านแสดงวิภาคนี้ไว้ว่า เมื่อภิกษุดื่มไม่ชักปากออก และเนยใสเป็นต้นที่เข้าไปในลำคอยังไม่ได้บาท รวมกับที่อยู่ในปากจึงได้บาท ยังรักษาอยู่ก่อน. แต่ในเวลาที่เนยใสเป็นต้นขาดตอนเพียงคอนั่นเอง ย่อมเป็นปาราชิก. ถ้าแม้ภิกษุกำหนดตัดด้วยริมฝีปากทั้งสองข้างหุบปาก ก็ต้องปาราชิกเหมือนกัน.
               แม้เมื่อดื่มด้วยก้านอุบลหลอดไม้ไผ่และหลอดอ้อเป็นต้น และถ้าที่อยู่ในลำคอนั่นแลได้ราคาบาทหนึ่ง เป็นปาราชิก. ถ้ารวมกับที่อยู่ในปากจึงได้บาทหนึ่ง. เมื่อเนยใสเป็นต้นนั้นสักว่าภิกษุกำหนดตัดด้วยริมฝีปากทั้งสองข้าง ให้ความเนื่องเป็นอันเดียวกันกับที่อยู่ในก้านอุบลเป็นต้นขาดตอนกัน เป็นปาราชิก.
               ถ้ารวมกับที่อยู่ในก้านอุบลเป็นต้นจึงได้ราคาบาทหนึ่ง เป็นปาราชิก ในเมื่อมาตรว่าภิกษุเอานิ้วมืออุดก้นแห่งก้านอุบลเป็นต้นเสีย. แต่เมื่อเนยใสเป็นต้นซึ่งมีราคาได้บาทหนึ่ง ยังไม่ไหลเข้าไปในลำคอ ทั้งในก้านอุบลเป็นต้น ทั้งในปาก แม้มีค่าเกินกว่าบาทหนึ่ง แต่เป็นของเนื่องเป็นอันเดียวกันตั้งอยู่ ยังรักษาอยู่ก่อนแล.
               คำแม้ทั้งหมดที่กล่าวในมหาปัจจรีเป็นต้นนั้น ย่อมสมนัยนี้ว่า ภิกษุทำให้ทรัพย์เข้าในภาชนะของตนก็ดี ตัดกำเอาก็ดี ดังนี้ เพราะเหตุนั้น (คำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามีมหาปัจจรีเป็นต้นนั้น) เป็นอันท่านแสดงไว้ชอบแล้วแล.
               ในภัณฑะที่ติดเนื่องเป็นอันเดียวกันได้มีนัยเท่านี้ก่อน.
               ก็ถ้าภิกษุเอามือก็ดี บาตรก็ดี ภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีถาดเป็นต้นก็ดี ตักดื่ม, เนยใสเป็นต้นจะครบราคาบาทหนึ่งในประโยคใด เมื่อทำประโยคนั้นแล้ว ต้องปาราชิก. ถ้าเนยใสเป็นต้นเป็นของมีราคามาก ทั้งเป็นของที่เอาถือเอาได้ราคาบาทหนึ่ง ด้วยเพียงประโยคเดียวแล แม้ด้วยช้อนในเมื่อยกขึ้นครั้งเดียวเท่านั้น เป็นปาราชิก.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุกดภาชนะให้จมลงแล้วตักเอา, เนยใสเป็นต้นนั้นยังเนื่องเป็นอันเดียวกันเพียงใด ยังรักษาอยู่เพียงนั้น. เป็นปาราชิกด้วยการขาดเด็ดแห่งขอบปาก หรือด้วยการยกขึ้น. ก็เนยใสหรือน้ำม้น หรือน้ำผึ้งและน้ำอ้อยที่ใส เช่นกับน้ำนั่นแล ภิกษุเอียงหม้อให้ไหลเข้าภาชนะของตนเมื่อใด. เมื่อนั้น ความเนื่องเป็นอันเดียวกันย่อมไม่มี เพราะเหตุที่สิ่งเหล่านั้นเป็นของใส เพราะฉะนั้น เมื่อเนยใสเป็นต้นซึ่งได้ราคาบาทหนึ่ง สักว่าไหลออกจากขอบปาก เป็นปาราชิก.
               ส่วนน้ำผึ้งและน้ำอ้อยที่เขาเคี่ยวตั้งไว้ เหนียวคล้ายยาง เป็นของควรชักไปมาได้. เมื่อความรังเกียจเกิดขึ้น ภิกษุอาจนำกลับคืนมาได้ เพราะเป็นของติดกันเป็นอันเดียวนั่นเอง. น้ำผึ้งและน้ำอ้อยชนิดนั้น แม้ออกจากขอบปากเข้าไปในภาชนะแล้ว ก็ชื่อว่ายังรักษาอยู่ เพราะเป็นของติดเนื่องเป็นอันเดียวกันกับส่วนข้างนอก แต่พอเมื่อสักว่าขาดจากขอบปากแล้ว จึงเป็นปาราชิก.
               แม้ภิกษุใดใส่ผ้าเนื้อหนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะดื่มเนยใสหรือน้ำมันได้ราคาบาทหนึ่งอย่างแน่นอน ลงในหม้อของผู้อื่นด้วยไถยจิต พอหลุดจากมือ ภิกษุนั้นก็ต้องปาราชิก.
               ในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุรู้ว่า บัดนี้ เขาจักใส่นํ้ามัน มีไถยจิตใส่ภัณฑะอย่างใดอย่างหนึ่งลงในหม้อเปล่า. ถ้าภัณฑะนั้นจะดื่มได้ราคา ๕ มาสก ในเมื่อนํ้ามันเขาใส่หม้อนั้นแล้ว เมื่อภัณฑะนั้นสักว่าดื่มนํ้ามันนั้นแล้ว เป็นปาราชิก.
               แต่คำนั้นย่อมแย้งกับคำวินิจฉัยว่าด้วยการทำรางแห้งให้ตรงในบึงที่แห้ง ในมหาอรรถกถานั้นนั่นเอง.
               จริงอยู่ ลักษณะแห่งอวหารในคำนี้ไม่ปรากฏ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรเชื่อถือ. ส่วนในอรรถกถามหาปัจจรีเป็นต้น ท่านปรับเป็นปาราชิกในเมื่อยกภัณฑะนั้นขึ้น. คำนั้นใช้ได้.
               ภิกษุวางภัณฑะมีหนังเป็นต้น ในหม้อเปล่าของผู้อื่น เพื่อต้องการจะเก็บซ่อนไว้ เมื่อเขาใส่นํ้ามันลงในหม้อนั้นแล้ว (เธอ) กลัวว่า ถ้าผู้นี้จักทราบ เขาจักจับเรา จึงยกภัณฑะที่ดื่มนํ้ามันไว้แล้วได้ราคาบาทหนึ่งขึ้นด้วยไถยจิต ต้องปาราชิก. ยกขึ้นด้วยจิตบริสุทธิ์ เมื่อผู้อื่นเอาไปเสีย เป็นภัณฑไทย.
               อธิบายว่า สิ่งของใดของผู้อื่นหายไป ต้องใช้ราคาสิ่งของนั้น หรือใช้สิ่งของนั้นนั่นเอง ชื่อว่าภัณฑไทย. ถ้าไม่ใช่ให้ ต้องปาราชิกในเมื่อเจ้าของทอดธุระ. แต่ถ้าผู้อื่นใส่เนยใสหรือนํ้ามันลงในหม้อของภิกษุนั้น ภิกษุผู้เจ้าของหม้อนี้ก็ใส่ภัณฑะที่จะดื่มนํ้ามันได้ลงแม้ในหม้อนั้นด้วยไถยจิต เป็นปาราชิกตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ภิกษุรู้ว่าเนยใสหรือนํ้ามันที่ผู้อื่นใส่ไว้ในหม้อเปล่าของตน จึงใส่ภัณฑะลงไปด้วยไถยจิต เป็นปาราชิกในขณะที่ยกขึ้น ตามนัยก่อนเหมือนกัน. มีจิตบริสุทธิ์ใส่ลงไป ภายหลังจึงยกขึ้นด้วยไถยจิต เป็นปาราชิกเหมือนกัน. มีจิตบริสุทธิ์แท้ ยกขึ้นไม่เป็นอวหาร ไม่เป็นสินใช้. แต่ในมหาปัจรีกล่าวไว้แต่เพียงอนาบัติเท่านั้น. ในกุรุนที ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุเคืองขัดใจว่า ท่านใส่นํ้ามันลงในหม้อของเราทำไม ดังนี้แล้วยกภัณฑะขึ้นเททิ้งเสีย ไม่เป็นภัณฑไทย.
               ภิกษุใคร่จะให้นํ้ามันไหล จึงจับที่ขอบปากเอียงหม้อด้วยไถยจิต เมื่อนํ้ามันไหลไปได้ราคาถึงบาท ต้องปาราชิก. ภิกษุมีไถยจิตแท้ ทำหม้อให้ร้าวด้วยคิดว่า นํ้ามันจะไหลไปเสีย เมื่อนํ้ามันไหลไปได้ราคาถึงบาท ต้องปาราชิก. ภิกษุมีไถยจิตนั้นแล กระทำหม้อให้เป็นช่องทะลุ ควํ่าหงายหรือตะแคง.
               ก็แลคำนี้เป็นฐานะแห่งความฉงน เพราะฉะนั้น ควรสังเกตให้ดี.
               ก็ในคำว่า ควํ่า เป็นต้นนี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ช่องปากลงข้างล่าง ชื่อว่าควํ่า. ช่องปากขึ้นข้างบน ชื่อว่าหงาย. ช่องปากไปตรงๆ เหมือนกระบวย ชื่อว่าตะแคง. บรรดาการทำควํ่าเป็นต้นนั้น เมื่อนํ้ามันได้ราคาถึงบาทไหลออกจากภายในช่องที่อยู่ข้างล่าง ซึ่งตนทำไว้จำเดิมแต่ภายนอก ถึงจะไม่ไหลออกไปภายนอก ก็เป็นปาราชิก.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุว่า นํ้ามันพอไหลออกไปจากภายในนั้นเท่านั้น ก็ชื่อว่าไหลออกไปภายนอก จะนับว่าอยู่ภายในหม้อไม่ได้ คือไม่ตั้งอยู่ในหม้อ. เมื่อนํ้ามันได้ราคาถึงบาท ไหลออกไปจากภายนอกช่อง ที่ตนทำไว้จำเดิมแต่ภายใน เป็นปาราชิก. เมื่อนํ้ามันได้ราคาถึงบาทไหลออกไปจากภายนอกช่องข้างบน ที่ตนทำไว้โดยอาการใดๆ ก็ตาม เป็นปาราชิก.
               ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านกล่าวไว้ว่า แท้จริง นํ้ามันนั้นยังไม่ไหลจากภายในไปภายนอกเพียงใด ก็ชื่อว่ายังอยู่ภายในหม้อเพียงนั้นนั่นแล. พระวินัยธรพึงปรับ (อาบัติปาราชิก) ด้วยอำนาจนํ้ามันที่ไหลออกจากตรงกลางกระเบื้องแห่งช่องที่อยู่ตรงกลาง.
               ก็คำที่กล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหลายนั้น ย่อมสมกับการทำลายคันคูของสระ ในเมื่อภิกษุกระทำช่องตั้งแต่ภายในและภายนอก เว้นตรงกลางไว้. แต่เมื่อภิกษุกระทำช่องจำเดิมแต่ภายในแล้ว พระวินัยธรควรปรับอาบัติด้วยช่องภายนอก, เมื่อทำช่องจำเดิมแต่ภายนอกแล้ว ควรปรับด้วยช่องภายใน. คำที่ท่านกล่าวไว้ในช่องที่กำหนดด้วยตรงกลางนี้ ดังพรรณนามานี้ ใช้ได้.
               ก็ภิกษุใดนำออกซึ่งเชิงรองหรือก้อนเส้าแห่งหม้อ ด้วยไถยจิตว่า หม้อจักกลิ้งไป เมื่อหม้อกลิ้งไป เป็นปาราชิก. อนึ่ง เมื่อภิกษุรู้ความที่เขาจะรินนํ้ามันใส่ ทำความร้าวหรือช่องแห่งหม้อเปล่าไว้เป็นภัณฑไทย โดยประมาณแห่งนํ้ามันที่รั่วออกในภายหลัง. แต่ในอรรถกถาทั้งหลาย บางแห่งท่านเขียนไว้ว่า เป็นปาราชิก ดังนี้ก็มี. นั่นเขียนไว้ด้วยความพลั้งพลาด.
               ภิกษุทำไม้หรือหินให้เป็นอันตนผูกไว้ไม่ดี หรือตั้งไม้หรือหินให้เป็นของอันตนตั้งไว้ไม่ดี ในเบื้องบนแห่งหม้อเต็ม ด้วยไถยจิตว่า มันจักตกไปทำลาย นํ้ามันจักไหลออกจากหม้อนั้น. ไม้หรือหินนั้นจะต้องตกอย่างแน่นอน เมื่อภิกษุทำอย่างนั้น เป็นปาราชิกในขณะทำเสร็จ. ทำอย่างนั้นในเบื้องบนแห่งหม้อเปล่า ไม้หรือหินนั้นตกไปทำลายในกาลที่หม้อนั้นเต็มในภายหลังเป็นภัณฑไทย.
               จริงอยู่ ในฐานะเช่นนี้ยังไม่เป็นปาราชิกในเบื้องต้นทีเดียว เพราะประโยคอันภิกษุทำแล้วในกาลที่ของไม่มี. แต่เป็นภัณฑไทย เพราะทำของให้เสีย. เมื่อเขาให้นำมาให้ ไม่ให้เขาเป็นปาราชิก เพราะการทอดธุระแห่งเจ้าของทั้งหลาย.
               ภิกษุทำเหมืองให้ตรงด้วยไถยจิตว่า หม้อจักกลิ้งไป หรือนํ้าจักยังนํ้ามันให้ล้นขึ้น หม้อกลิ้งไปก็ตาม นํ้ามันล้นขึ้นก็ตาม เป็นปาราชิกในเวลาที่ทำให้ตรง.
               จริงอยู่ ประโยคเช่นนี้ๆ ถึงความสงเคราะห์ได้ในบุพประโยคาวหาร. เมื่อเหมืองแห้งอันภิกษุทำให้ตรงไว้แล้ว นํ้าไหลมาทีหลัง หม้อกลิ้งไปก็ตาม นํ้ามันล้นขึ้นก็ตาม เป็นภัณฑไทย. เพราะเหตุไร? เพราะไม่มีประโยค คือการให้เคลื่อนจากฐาน.
               ลักษณะแห่งประโยค คือการให้เคลื่อนจากฐานนั้น จักมีแจ้งในของที่ตั้งอยู่ในเรือ.

               [อรรถาธิบายคำว่า ภินฺทิตฺวา เป็นต้น]               
               พึงทราบวินิจฉัยในบททั้งหลายมีบทว่า ตตฺเถว ภินฺทติ วา เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาดังนี้ก่อน.
               บทว่า ทำลายก็ดี นั้น โดยอรรถว่า ทุบทำลายด้วยไม้ค้อน.
               บทว่า เทก็ดี นั้น โดยอรรถว่า เทนํ้าหรือทรายลงในนํ้ามันล้นขึ้น.
               บทว่า ยังไฟให้ไหม้ก็ดี นั้น โดยอรรถว่า นำฟืนมาแล้วยังไฟให้ไหม้.
               บทว่า ให้เป็นของบริโภคไม่ได้ นั้น โดยอรรถว่า ทำให้เป็นของพึงเคี้ยวไม่ได้ หรือพึงดื่มไม่ได้ คือยังอุจจาระหรือปัสสาวะ หรือยาพิษ หรือของเป็นเดน หรือซากศพให้ตกลงไป.
               บทว่า ต้องอาบัติทุกกฏ นั้น โดยอรรถว่า เป็นทุกกฏเพราะไม่มีการให้เคลื่อนจากฐาน. ญาณพิเศษนี้ ชื่อว่าพุทธวิสัย. แม้จะเป็นทุกกฏก็จริง แต่เมื่อเจ้าของให้นำมาให้ เป็นภัณฑไทย.
               ใน ๔ บทนั้น สองบทเบื้องต้นไม่สม. เพราะสองบทนั้น เป็นลักษณะอันเดียวกันกับการทำความร้าวของหม้อและการทำเหมืองให้ตรง. ส่วนสองบทเบื้องหลัง แม้ยังวัตถุให้เคลื่อนจากฐาน ก็อาจทำได้. เพราะฉะนั้น อาจารย์พวกหนึ่งจึงกล่าววินิจฉัยในคำนี้ไว้อย่างนี้.
               ได้ยินว่า ในอรรถกถา คำว่า เป็นทุกกฏ เพราะไม่มีการให้เคลื่อนจากฐาน นี้ ท่านกล่าวหมายเอาสองบทเบื้องหลัง. จริงอยู่ ภิกษุไม่ทำการให้เคลื่อนจากฐานเลย พึงเผาเสียก็ดี พึงทำให้เป็นของใช้สอยไม่ได้ก็ดี ด้วยไถยจิตหรือเพราะต้องการจะให้การเสียหาย, แต่ในสองบทเบื้องต้น เมื่อภิกษุทำลายหรือเทโดยนัยที่กล่าวแล้ว การให้เคลื่อนจากฐานย่อมมีได้ เพราะฉะนั้น เมื่อทำอย่างนั้น เป็นภัณฑไทยเพราะใคร่จะให้เสียหาย เป็นปาราชิกด้วยไถยจิต ดังนี้แล.
               หากมีผู้แย้งว่า คำนั้นไม่ชอบ เพราะท่านกล่าวไว้ในพระบาลีว่า เป็นทุกกฏ.
               พึงเฉลยว่า จะเป็นคำไม่ชอบหามิได้ เพราะมีอรรถที่จะพึงถือเอาโดยประการอื่น.
               จริงอยู่ ในฝักฝ่ายแห่งไถยจิตในพระบาลี อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า บทว่า ทำลายก็ดี นั้น โดยอรรถว่า เจือด้วยนํ้า บทว่า เท ก็ดีนั้น โดยอรรถว่า เททรายหรืออุจจาระ หรือปัสสาวะลงในเภสัชมีนํ้ามันเป็นต้นนั้น ดังนี้.
               ส่วนสาระในคำนี้ ดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุไม่ประสงค์จะให้เคลื่อนจากฐานเลย ทำลายอย่างเดียว ดุจภิกษุเผาหญ้าในวินีตวัตถุ. แต่เภสัชมีนํ้ามันเป็นต้นย่อมไหลออกได้ เพราะหม้อทำลายแล้ว.
               ก็หรือว่า ในเภสัชเหล่านั้น เภสัชใดเป็นของแห้ง เภสัชนั้นยังยึดกันตั้งอยู่ได้เทียว.
               อนึ่ง ภิกษุไม่ประสงค์จะเทนํ้ามันเลย เทนํ้าหรือทรายเป็นต้นลงในหม้อนั้นอย่างเดียว. แต่นํ้ามันก็เป็นอันภิกษุนั้นเท เพราะได้เทนํ้าหรือทรายเป็นต้นนั้นลงไป เพราะฉะนั้น ด้วยอำนาจโวหาร ท่านจึงเรียกว่า ทำลายก็ดี เทก็ดี.
               ผู้ศึกษาพึงถือเอาใจความแห่งบทเหล่านี้ดังกล่าวมาฉะนี้.
               ส่วนในฝ่ายแห่งความเป็นผู้ใคร่จะให้ฉิบหาย เป็นทุกกฏ ถูกต้องแม้โดยประการนอกนี้. จริงอยู่ เมื่อท่านกล่าวอธิบายความอยู่อย่างนี้ บาลีและอรรถกถาย่อมเป็นอันท่านสอบสวน กล่าวดีแล้วโดยเบื้องต้นและเบื้องปลาย. แต่ไม่ควรทำความพอใจแม้ด้วยคำอธิบายเพียงเท่านี้ พึงเข้าไปนั่งใกล้อาจารย์ทั้งหลายแล้วทราบข้อวินิจฉัยแล.

               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในแผ่นดิน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์ มาติกา ภุมมัฏฐวิภาคเป็นต้น
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 85อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 90อ่านอรรถกถา 1 / 121อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=6336&Z=6581
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=7842
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=7842
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :