![]() |
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
![]() |
![]() | |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() พรรณนาสุตตวิญญัตติสิกขาบท ในสุตตวิญญัตติสิกขาบทนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :- [ว่าด้วยกำเนิดด้าย ๖ ชนิด] บทว่า กปฺปาสิกํ ได้แก่ ด้ายที่เกิดจากฝ้าย. บทว่า โกเสยฺยํ ได้แก่ ด้ายที่กรอด้วยใยไหม. บทว่า กมฺพลํ ได้แก่ ด้ายทำด้วยขนแกะ. บทว่า สาณํ ได้แก่ ด้ายที่ทำด้วยเปลือกไม้สาณะ (ป่าน). บทว่า ภงฺคํ อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ได้แก่ ด้ายที่ทำด้วยปอชนิดหนึ่งต่างหาก. แต่ด้ายที่เขาทำผสมกันด้วยสัมภาระทั้ง ๕ อย่างนั่น ผู้ศึกษาพึงทราบว่า ภังคะ. หลายบทว่า วายาเปติ ปโยเค ทุกฺกฏํ มีความว่า ถ้าช่างหูกไม่มีกระสวยและฟืมเป็นต้น, เขาคิดว่า เราจักนำของเหล่านั้นมาจากป่า จึงลับมีดหรือขวาน, ตั้งแต่นั้นไปเขากระทำประโยคใดๆ เพื่อต้องการเครื่องอุปกรณ์ก็ดี เพื่อต้องการจะทอจีวรก็ดี เป็นทุกกฏแก่ภิกษุทุกๆ ประโยคนั้นของช่างหูกในกิจทั้งปวง. เมื่อช่างหูกทอผ้าได้ด้านยาวประมาณคืบ ๑ และด้านกว้างประมาณศอก ๑ เป็นนิส แต่ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวว่า เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ทุกๆ ผัง๑- (ทุกๆ ช่วง จริงอยู่ ประมาณผ้าอย่างต่ำควรวิกัปได้ จึงถึงการนับว่าจีวรแล. ____________________________ ๑- ไม้สำหรับถ่างผ้าที่ทอให้ตึง ปลายทั้งสองมีเข็มสำหรับเสียบที่ริมผ้า. [อธิบายการใช้ให้ช่างหูกทอด้วยด้ายกัปปิยะเป็นต้น] จะกล่าวถึงด้ายก่อน ที่ภิกษุขอเองเป็นอกัปปิยะ. ด้ายที่เหลืออันบังเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งญาติเป็นต้น เป็นกัปปิยะ. แม้ช่างหูกก็ไม่ใช่ญาติและไม่ใช่คนปวารณา ภิกษุได้มาด้วยการขอ เป็นอกัปปิยะ. ช่างหูกที่เหลือเป็นกัปปิยะ. บรรดาด้ายและช่างหูกเหล่านั้น ด้ายที่เป็นอกัปปิยะ เป็นนิสสัคคีย์แก่ภิกษุผู้ให้ช่างหูกที่เป็นอกัปปิยะทอ โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อน. อนึ่ง เมื่อภิกษุให้ช่างหูกที่เป็นอกัปปิยะนั้นแลทอด้ายที่เป็นกัปปิยะ เป็นทุกกฏ เหมือนเป็นนิสสัคคีย์ในเบื้องต้นนั่นแล. เมื่อภิกษุให้ช่างหูกอกัปปิยะนั้นแล ทอด้ายกัปปิยะและอกัปปิยะ ถ้าจีวรเป็นดุจกระทงนา เนื่องกันเท่าประมาณแห่งจีวรขนาดเล็ก อย่างนี้ คือ ตอนหนึ่งสำเร็จด้วยด้ายกัปปิยะล้วนๆ ตอนหนึ่งสำเร็จด้วยด้ายอกัปปิยะ. เป็นปาจิตตีย์ในทุกๆ ตอนที่สำเร็จด้วยด้ายอกัปปิยะ. เป็นทุกกฏใน (ตอนที่สำเร็จด้วยด้ายเป็นกัปปิยะ) นอกนี้ อย่างนั้นเหมือนกัน. ถ้ามีหลายตอนหย่อนกว่า ขนาดจีวรที่ควรวิกัปเป็นอย่างต่ำนั้น โดยที่สุด แม้ขนาดเท่าดวงไฟก็เป็นทุกกฏตามจำนวนตอนในทุกๆ ตอน. ถ้าจีวรทอด้วยด้ายที่คั่นลำดับกันทีละเส้นก็ดี ทอให้ด้ายกัปปิยะอยู่ทางด้านยาว (ด้านยืน) ให้ด้ายอกัปปิยะ อยู่ทางด้านขวาง (ด้านพุ่ง) ก็ดี, เป็นทุกกฏทุกๆ ผัง. จริงอยู่ เมื่อภิกษุใช้ให้ช่างหูกกัปปิยะทอด้ายที่เป็นอกัปปิยะ เป็นทุกกฏ เหมือนเป็นนิสสัคคีย์ในเบื้องต้น. เมื่อภิกษุให้ช่างหูกกัปปิยะนั้นนั่นเอง ทอด้ายที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ ถ้าว่า มีตอนแห่งด้ายอกัปปิยะหลายตอนขนาดเท่าจีวรอย่างเล็ก หรือหย่อนกว่า, ในตอนด้ายอกัปปิยะเหล่านั้น เป็นทุกกฏด้วยจำนวนตอน. ในตอนด้ายที่เป็นกัปปิยะทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติ. ถ้าจีวรทอด้วยด้ายคั่นลำดับกันทีละเส้นก็ดี ทอให้ด้ายกัปปิยะอยู่ทางด้านยาว (ด้านยืน) ให้ด้ายอกัปปิยะอยู่ด้านขวาง (ด้านพุ่ง) ก็ดี, เป็นทุกกฏในทุกๆ ผัง (ทุกๆ ช่วงผัง). [ว่าด้วยช่างหูก ๒ คนผลัดกันทอ] ในตอนที่ช่างหูกกัปปิยะนอกนี้ทอ ไม่เป็นอาบัติ. ถ้าช่างหูกทั้ง ๒ คน จับฟืมทอด้วยกัน เป็นทุกกฏในทุกๆ ผัง. ถ้าแม้ด้ายเป็นทั้งกัปปิยะทั้งอกัปปิยะ, ถ้าช่างหูกทั้งสองคนนั้นผลัดกันทอ, ในตอนที่สำเร็จด้วยด้ายอกัปปิยะ มีขนาดเท่าจีวรอย่างเล็ก ซึ่งช่างหูกอกัปปิยะทอ เป็นปาจิตตีย์ ตามจำนวนตอน. เป็นทุกกฏในตอนทั้งหลายที่หย่อนลงมา และที่สำเร็จด้วยด้ายกัปปิยะ. เป็นทุกกฏเหมือนกันในตอนที่สำเร็จด้วยด้ายอกัปปิยะ ซึ่งได้ขนาดหรือหย่อนลงมา ที่ช่างหูกกัปปิยะทอ. ในตอนที่สำเร็จด้วยด้ายกัปปิยะ ไม่เป็นอาบัติ. ถ้าช่างหูกทั้ง ๒ คนทอด้วยด้ายที่สลับกันทีละเส้นก็ดี ทอให้ด้ายอกัปปิยะอยู่ทางด้านยาว (ด้านยืน) ให้ด้ายกัปปิยะอยู่ทางด้านขวาง (ด้านพุ่ง) ก็ดี แม้ทั้งสองคนจับฟืมทอด้วยกันก็ดี, เป็นทุกกฏทุกๆ ผัง ในจีวรที่ไม่มีตอน. ส่วนเนื้อความว่า ในจีวรที่มีตอนเป็นทุกกฏหลายตัว ด้วยอำนาจแห่งตอน นี้ไม่ปรากฏในมหาอรรถกถา ปรากฏแต่ในมหาปัจจรีเป็นต้น, ในอรรถกถานี้ปรากฏโดยอาการทุกอย่างแล. ถ้าทั้งด้ายก็เป็นกัปปิยะ ทั้งช่างหูกก็เป็นกัปปิยะ คือ เป็นญาติและเป็นคนปวารณา หรือภิกษุจ้างมาด้วยมูลค่า ไม่เป็นอาบัติ เพราะการใช้ให้ทอเป็นปัจจัย. แต่ภิกษุเมื่อจะป้องกันอาบัติ เพราะการล่วง ๑๐ วันเป็นปัจจัย พึงอธิษฐานจีวรที่ทอแล้วนั่นแหละ ในเมื่อหูกที่ช่างหูกทอได้ขนาดเท่าจีวรที่ควรวิกัป. เพราะว่า จีวรที่ช่างหูกทอให้สำเร็จลงโดยล่วง ๑๐ วันไป จะพึงเป็นนิสสัคคีย์ ฉะนี้แล. แม้ในจีวรที่พวกญาติเป็นต้นยกหูขึ้นแล้วมอบถวายว่า ท่านผู้เจริญ! ท่านพึงรับเอาจีวรนี้ เพื่อท่าน ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. ถ้าช่างหูกอันภิกษุว่าจ้างมาอย่างนี้ หรือเป็นผู้ประสงค์จะถวายเสียเอง จึงกล่าวว่า ท่านขอรับ! ผมจักทอจีวรถวายท่านในวันชื่อโน้นแล้วจักเก็บไว้, และภิกษุให้ล่วง ๑๐ วันไปจากวันที่ช่างหูกนั้นกำหนดไว้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. แต่ช่างหูกกล่าวว่า ผมจักทอจีวรถวายท่านแล้วจักส่งข่าวไปให้ทราบ แล้วทำเหมือนอย่างที่พูดไว้, แต่ภิกษุที่เขาวานไป ไม่บอกแก่ภิกษุนั้น, ภิกษุรูปอื่นเห็น หรือได้ยินแล้วบอกว่า ท่านขอรับ! จีวรของท่านสำเร็จแล้ว, การบอกของภิกษุนี้ ไม่เป็นประมาณ. แต่ในเวลาเมื่อเธอให้ล่วง ๑๐ วันไป จำเดิมแต่วันที่เธอได้ยินคำของภิกษุที่ช่างหูกนั้นวานไปนั่นแหละบอก จึงเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. ถ้าช่างหูกกล่าวว่า กระผมทอจีวรเพื่อท่านแล้ว จักส่งไปถวายในมือของภิกษุบางรูป แล้วกระทำตามที่พูดนั้น, แต่ภิกษุที่รับจีวรไปเก็บไว้ที่บริเวณของตน ไม่บอกแก่เธอ ภิกษุอื่นบางรูปกล่าวว่า ท่านขอรับ! จีวรที่มาใหม่สวยดีบ้างหรือ? เธอกล่าวว่า จีวรที่ไหนกัน คุณ!? ภิกษุนั้นจึงตอบว่า ที่เขาส่งมาในมือแห่งภิกษุชื่อนี้, คำพูดแม้ของภิกษุนี้ ก็ไม่เป็นประมาณ. ต่อเมื่อใดภิกษุนั้นถวายจีวร เมื่อเธอให้ล่วง ๑๐ วันไปนับแต่วันที่ตนได้จีวรมานั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. แต่ถ้าค่าจ้างให้ทอเป็นของที่ภิกษุยังไม่ได้จ่ายให้, ยังรักษาอยู่ตราบเท่าที่ค่าจ้างทำยังเหลืออยู่ แม้เพียงกากณิกหนึ่ง. ข้อว่า อนาปตฺติ จีวรํสิพฺพิตุํ มีความว่า ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ขอด้ายเพื่อต้องการเย็บจีวร. ในจีวรทั้งหลายมีว่า ผ้ารัดเข่าเป็นต้น มีอธิบายว่า คำว่า อาโยเค เป็นต้น เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถแห่งนิมิต. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ขอด้ายมีผ้ารัดเข่าเป็นต้นเป็นนิมิต. คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้นแล. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติ สุตตวิญญัตติสิกขาบท จบ. ------------------------------------------------------------ .. อรรถกถา นิสสัคคิยกัณฑ์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๖ จบ. |