บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ตามวรรคเป็น ๙ วรรค ประดิษฐานอยู่ด้วยดี แล้ว บัดนี้ จะมีการพรรณนาสิกขาบท เหล่านั้น ดังต่อไปนี้ :- ปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ มุสาวาทสิกขาบทที่ ๑ [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระหัตถกะ] บทว่า วาทกฺขิตฺโต มีความว่า ถูกคำพูดที่ตนกำหนดไว้อย่างนี้ว่า เราจักกระทำวาทะ (ทำการโต้วาทะกัน) ซัดไป คือผลักไป. อธิบายว่า ดันไป คือส่งไปสู่สำนักของพวกปรวาที. อีกอย่างหนึ่ง ท่านพระหัตถกะนั้น ถูกจิตของตนซัดไปในวาทะ ย่อมปรากฏในสถานที่ซึ่งมีการโต้วาทะกันทุกครั้งไป แม้เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าถูกซัดไปในวาทะ (เป็นคนพูดสับปลับ). ข้อว่า อวชานิตฺวา ปฏิชานาติ มีความว่า พระหัตถกะนั้นกำหนดโทษบางอย่างในคำพูดของตนได้ ถลากไถลไปว่า นี้ไม่ใช่คำพูดของเรา เมื่อพูดไปๆ สังเกตได้ว่าไม่มีโทษ แล้วยอมรับว่า นี้ เป็นคำพูดของเราละ. ข้อว่า ปฏิชานิตฺวา อวชานาติ มีความว่า ท่านเมื่อกำหนดอานิสงส์ในคำพูดบางอย่างได้ ก็ยอมรับว่า นี้เป็นคำพูดของเรา เมื่อพูดต่อไปอีกกำหนดโทษในถ้อยคำนั้นได้ ก็ถลากไถลไปว่า นี้ไม่ใช่คำพูดของเรา ดังนี้. ข้อว่า อญฺเญนญฺญํ ปฏิจรติ มีความว่า ย่อมกลบเกลื่อน คือย่อมปกปิด ได้แก่ ทับถมเหตุอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุอย่างหนึ่ง คือกล่าวเหตุว่า รูปไม่เที่ยง เพราะเป็นของพึงรู้ได้ แล้วกลับกล่าวเหตุเป็นต้นว่า เพราะมีความเกิดเป็นธรรมดา. แต่ในกุรุนที ท่านกล่าวว่า ย่อมพูดเรื่องอื่นเป็นอันมาก เพราะเหตุที่จะปกปิดปฏิญญาและความถลากไถลนั่น. ในคำว่า เอตสฺส เป็นต้นนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ว่า เธอย่อมกล่าวคำเป็นอันมากมีอาทิอย่างนี้ว่า ใครกล่าว? กล่าวว่าอย่างไร? กล่าวที่ไหน? ดังนี้ เพื่อปกปิดคำปฏิญญาและคำถลากไถลนั้น. ในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวไว้อีกว่า ถลากไถลแล้วปฏิญาณและปฏิญาณแล้วถลากไถล นั่นแหละชื่อว่า กลบเกลื่อนเรื่องอื่นด้วยเรื่องอื่น. สองบทว่า สมฺปชานมุสา ภาสติ ได้แก่ กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่. หลายบทว่า สงฺเกตํ กตฺวา วิสํวาเทติ มีความว่า ทำการนัดหมายว่า การโต้วาทะจงมีในประเทศชื่อโน้น ในบรรดากาลมีปุเรภัตเป็นต้นชื่อโน้น ดังนี้ แล้วไปก่อน หรือหลังจากเวลาที่ตนนัดหมายไว้ แล้วกล่าวว่า จงดูเอาเถิดผู้เจริญ! พวกเดียรถีย์ไม่มาแล้ว แพ้แล้ว ดังนี้ หลีกไปเสีย. บทว่า สมฺปชานมุสาวาเท ได้แก่ ในเพราะการพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวแล้วและกำลังรู้. บทว่า วิสํวาทนปุเรกฺขารสฺส ได้แก่ ผู้พูดทำจิตที่คิดจะพูดให้คลาดเคลื่อนไว้เป็นเบื้องหน้า. เจตนายังคำพูดอันนับเนื่องในมิจฉาวาจาให้ตั้งขึ้น ชื่อว่า วาจา. ท่านแสดงเสียงอันตั้งขึ้นด้วยเจตนานั้น ด้วยคำว่า คิรา. ทางแห่งถ้อยคำ ชื่อว่า พยบถ. ก็วาจานั่นแล ท่านเรียกว่า พยบถ เพราะเป็นแนวทางแม้ของชนเหล่าอื่น ผู้ถึงทิฏฐานุคติ. การเปล่งวาจาที่มีความเข้าใจกันว่าคำพูด ชื่อว่า วจีเภท. วาจามีชนิดต่างๆ กันนั่นเอง ท่านเรียกอย่างนี้ (ว่าวจีเภท). วจีวิญญัตติ ชื่อว่า วิญญัตติที่เป็นไปทางวาจา. ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบว่า ด้วยบทแรก ท่านพระอุบาลีกล่าวเพียงเจตนาล้วน, ด้วย ๓ บทท่ามกลาง กล่าวเจตนาที่ประกอบด้วยเสียงซึ่งตั้งขึ้นด้วยเจตนานั้น, ด้วยบทเดียวสุดท้าย กล่าวเจตนาที่ประกอบด้วยวิญญัตติ. โวหาร (คำพูด) ของเหล่าชนผู้ไม่ใช่พระอริยเจ้า คือเหล่าพาลปุถุชน ชื่อว่า อนริยโวหาร. พระอุบาลีเถระ ครั้นแสดงสัมปชานมุสาวาทอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงลักษณะแห่งอนริยโวหาร ที่นับเป็นสัมปชานมุสาวาท ซึ่งกล่าวไว้ในที่สุด จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อทิฏฺฐํ นาม ดังนี้. [อรรถาธิบายอนริยโวหาร ๘ อย่าง] อีกนัยหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบสันนิษฐาน ในคำว่า อทิฏฺฐํ ทิฏฺฐํ เม เป็นต้นนี้ว่า อารมณ์ที่ตนไม่ได้รับด้วยอำนาจแห่งจักษุ ชื่อว่าไม่เห็น, ที่ไม่ได้รับด้วยอำนาจแห่งโสตะ ชื่อว่าไม่ได้ยิน, ที่ไม่ได้รับ ทำให้ดุจเนื่องเป็นอันเดียวกันกับอินทรีย์ ๓ ด้วยอำนาจแห่งฆานินทรีย์เป็นต้น ชื่อว่าไม่ทราบ, ที่วิญญาณล้วนๆ อย่างเดียว นอกจากอินทรีย์ ๕ ไม่ได้รับ ชื่อว่าไม่รู้. แต่ในพระบาลี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาโดยนัยอันปรากฏชัดทีเดียวอย่างนี้ว่า ที่ชื่อว่าไม่เห็น คือไม่เห็นด้วยตา ฉะนี้แล. ก็บรรดาอารมณ์ที่ได้เห็นเป็นต้นที่ตนเองก็ดี คนอื่นก็ดี เห็นแล้ว ชื่อว่า ทิฏฐะทั้งนั้น. อารมณ์ที่ชื่อว่า สุตะ มุตะ และวิญญาตะก็อย่างนี้ นี้เป็นบรรยายหนึ่ง. ส่วนอีกบรรยายหนึ่ง อารมณ์ใดที่ตนเห็นเอง อารมณ์นั้นจัดเป็นทิฏฐะแท้. ในสุตะเป็นต้นก็มีนัยอย่างนี้. ก็อารมณ์ใดที่คนอื่นเห็นอารมณ์นั้น ย่อมตั้งอยู่ในฐานะแห่งอารมณ์ที่ตนได้ยิน. แม้อารมณ์มีสุตะเป็นต้นก็มีนัยอย่างนี้. บัดนี้ พระอุบาลีเถระ เมื่อจะยกอาบัติขึ้นแสดงด้วยอำนาจแห่งอนริยโวหารเหล่านั้น จึงกล่าวคำว่า ตีหากาเรหิ เป็นต้น. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคำว่า ตีหากาเรหิ เป็นต้นนั้น โดยนัยดังที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในวรรณนาบาลีจตุตถปาราชิก มีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุกล่าวสัมปชานมุสาวาทว่า ข้าพเจ้าบรรลุปฐมฌาน ต้องอาบัติปาราชิกโดยอาการ ๓ ดังนี้นั่นแล. จริงอยู่ ในบาลีจตุตถปาราชิกนั้น ท่านกล่าวไว้เพียงคำว่า ปฐมํ ฌานํ สมาปชฺ และในบาลีจตุตถปาราชิกนั้นกล่าวไว้ว่า อาปตฺติ ปาราชิกสฺส (ต้องอาบัติปาราชิก) ในสิกขาบทนี้กล่าวว่า อาปตฺติ ปาจิตฺติยสฺส (ต้องอาบัติปาจิตตีย์) ดังนี้. มีความแปลกกันเพียงในวัตถุและอาบัติอย่างนี้. คำที่เหลือมีลักษณะอย่างเดียวกันแท้แล. แม้คำเป็นต้นว่า ตีหากาเรหิ ทิฏฺเฐ เวมติโก ก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยดังกล่าวแล้ว ในวรรณนาบาลีทุฏฐโทสสิกขาบทเป็นต้น อย่างนี้ว่า ทิฏฺฐสฺส โหติ ปาราชิกํ ธมฺมํ อชฺฌาปชฺชนฺโน ทิฏฺเฐ เวมติโก (ภิกษุผู้โจทก์นั้นได้เห็นภิกษุผู้ต้องปาราชิกธรรม มีความสงสัยในสิ่งที่ได้เห็น) ดังนี้นั่นแล. ก็ในสิกขาบทนี้ เพียงแต่คำบาลีเท่านั้นแปลกกัน (จากบาลีจตุตถปาราชิก). ส่วนในเนื้อความพร้อมทั้งเถรวาท ไม่มีการแตกต่างอะไรกันเลย. สองบทว่า สหสา ภณติ ความว่า ภิกษุไม่ได้ไตร่ตรอง หรือไม่ได้ใคร่ครวญ พูดโดยเร็วถึงสิ่งที่ไม่เห็นว่า ข้าพเจ้าเห็น. คำว่า อญฺญํ ภณิสฺสามีติอญฺญํ ภณติ ความว่า เมื่อตนควรจะกล่าวคำว่า จีวรํ (จีวร) ไพล่กล่าวว่า จีรํ (นาน) ดังนี้เป็นต้น เพราะความเป็นผู้อ่อนความคิด เพราะเป็นผู้เซอะ เพราะความพลาดพลั้ง. แต่ภิกษุใดผู้อันสามเณรเรียนถามว่า ท่านขอรับ! เห็นอุปัชฌาย์ของกระผมบ้างไหม? ดังนี้ กระทำการล้อเลียน กล่าวว่า อุปัชฌาย์ของเธอจักเทียมเกวียนบรรทุกฟืนไปแล้วกระมัง หรือว่า เมื่อสามเณรได้ยินเสียงสุนัขจิ้งจอกแล้ว ถามว่า นี้เสียงสัตว์อะไร ขอรับ! กล่าวว่า นี้เสียงของพวกคนผู้ช่วยกันยกล้อที่ติดหล่มของมารดาเธอผู้กำลังไปด้วยยาน ดังนี้ อย่างนี้กล่าวคำอื่นไม่ใช่เพราะเล่นไม่ใช่เพราะพลั้ง, ภิกษุนั่นย่อมต้องอาบัติแท้. ยังมีถ้อยคำอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปูรณกถา คือ ภิกษุรูปหนึ่งได้น้ำมันเล็กน้อยในบ้าน แล้วกลับมาสู่วิหาร พูดกะสามเณรว่า เธอไปไหนเสีย วันนี้ บ้านมีแต่น้ำมันอย่างเดียว ดังนี้ก็ดี, ได้ชิ้นขนมที่เขาวางไว้ในกระเช้าและพูดกะสามเณรว่า วันนี้ คนทั้งหลายในบ้านเอากระเช้าหลายใบใส่ขนมไป ดังนี้ก็ดี นี้จัดเป็นมุสาวาทเหมือนกัน. คำที่เหลือตื้นทั้งนั้นแล. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๓ เกิดขึ้น ทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑ เป็นกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม วจีกรรม อกุศลจิต มีเวทนา ๓ ดังนี้แล. มุสาวาทสิกขาบทที่ ๑ จบ. ------------------------------------------------------------ .. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ มุสาวาทวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑ จบ. |