ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 392อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 397อ่านอรรถกถา 2 / 402อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙

               เสนาสนวรรค มหัลลกวิหารสิกขาบทที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถปาฐะ เรื่องกรอบประตูหน้าต่าง]               
               โอกาสขนาดเท่าความกว้างของบานประตู โดยรอบแห่งบานประตู ชื่อว่าทวารโกส (กรอบแห่งประตู) ในคำว่า ยาว ทฺวารโกสา นี้. แต่ในมหาปัจจรีท่านกล่าวไว้ว่า หนึ่งศอกคืบ วัดจากบานประตู. ในกุรุนทีกล่าวว่า ขนาดเท่าบานประตูในข้างทั้งสอง ด้านแห่งประตู. ในมหาอรรถกถาท่านกล่าวว่า ชื่อว่าบานประตู มีขนาดศอกคืบก็มี ๒ ศอกก็มี ๒ ศอกคืบก็มี. คำในมหาอรรถกถานั้นท่านกล่าวดีแล้ว.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาอรรถนั้นนั่นแล จึงทรงทำการกำหนดอย่างสูงไว้ ดังนี้ว่า ชั่วหัตถบาส โดยรอบแห่งบานประตู.
               บทว่า อคฺคลฏฺฐปนาย มีความว่า เพื่อจะวางทวารพันธ์ (กรอบประตู) พร้อมทั้งบาน.
               อธิบายว่า เพื่อต้องการความไม่เคลื่อนที่แห่งกรอบประตูพร้อมทั้งบานประตู. จริงอยู่ แม้บทภาชนะว่า ทฺวารฏฺฐปนาย นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสหมายเอาอรรถนี้นั่นแล.
               ก็ในคำนี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ก็บานประตูหมุนคล่องย่อมกระทบฝาในเวลาเปิด, ย่อมกระทบกรอบประตูในเวลาปิด, ฝาย่อมกระเทือนด้วยการกระทบนั้น, เพราะฝากระเทือนนั้น ดินย่อมคลอน ครั้นคลอนแล้วย่อมหย่อนหรือหลุดลง. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ยาว ทฺวารโกสา อคฺคลฏฺฐปนาย ดังนี้.
               บัณฑิตพึงเห็นใจความในคำนั้นอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ในมาติกา ไม่ได้ตรัสไว้ในบทภาชนะเลยว่า กิจชื่อนี้ ควรกระทำ แม้ก็จริง, ถึงกระนั้นเพื่อจะวางเช็ดหน้าเพียงไรแต่กรอบแห่งประตู ก็พึงฉาบเอง หรือพึงให้ฉาบบ่อยๆ โดยอำนวยการตามในอัตถุปปัตติเหตุว่า ภิกษุให้ฉาบบ่อยๆ ให้โบกบ่อยๆ ดังนี้.
               ส่วนในคำที่ตรัสไว้ในบทภาชนะว่า ปิฏฺฐิสงฺฆาฏสฺส สมนฺตา หตฺถปาสา พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               วิหารใดมีประตูอยู่ตรงกลาง และมีฝาสูงอยู่ส่วนบน, หัตถบาสโดยรอบใน ๓ ทิศ เป็นอุปจารแห่งวิหารนั้น. สำหรับวิหารเล็ก มีอุปจารใน ๒ ทิศ. แม้ในวิหารเล็กนั้น บานประตูที่เปิดออก ย่อมกระทบฝาใด, แม้ฝานั้น ก็ยังจัดเป็นอุปจารไม่ได้ครบถ้วน. แต่โดยกำหนดอย่างสูง ทรงอนุญาตหัตถบาสโดยรอบใน ๓ ทิศ (และ) ทรงอนุญาตการโบกฉาบ เพื่อต้องการทำประตูให้แน่น. แต่ถ้าว่า มีโอกาสที่ควรฉาบแม้ในส่วนเบื้องบนแห่งประตู, จะฉาบโอกาสแม้นั้นก็ควร.
               ในคำว่า อาโลกสนฺธิปริกมฺมาย นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกบานหน้าต่างว่า อาโลกสันธิ. ในคำนี้มีอธิบายดังนี้ว่า บานหน้าต่างเหล่านั้นในเวลาเปิด จะกระทบส่วนของฝาประมาณคืบหนึ่งบ้าง เกินกว่าบ้าง.
               ก็ในคำว่า อโลกสันธิ นี้ย่อมได้อุปจารในทิศทั้งปวง เพราะเหตุนั้น โอกาสประมาณเท่าความกว้างแห่งบานหน้าต่างในทิศทั้งปวง. ภิกษุพึงฉาบเองหรือพึงให้ฉาบ เพื่อประโยชน์แก่การบริกรรมบานหน้าต่าง.
               คำว่า เสตวณฺณํ เป็นต้น ไม่ใช่เป็นการแจกบทมาติกา.
               จริงอยู่ ชื่อว่าวิหารจะเป็นของหนักด้วยสีขาวเป็นต้นนี้ หามิได้ เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาต (สีขาวเป็นต้น) ไว้ในบทภาชนะนั่นแล. เพราะเหตุนั้น ภิกษุพึงทำกิจทุกอย่างมีการฉาบปูนขาวเป็นต้นนี้ตามสบาย.

               [ว่าด้วยการอำนวยให้การพอกบนหลังคา]               
               เพื่อทรงแสดงกรรม คือการฉาบอันภิกษุพึงทำอย่างนี้แล้ว แสดงกรรมที่ภิกษุพึงทำบนหลังคาอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ทฺวิตฺติจฺฉทนสฺส เป็นต้น. พึงทราบวินิจฉัยในคำนั้นดังนี้ :-
               คำว่า ทฺวิตฺติจฺฉทนสฺส ปริยายํ คือ (อำนวยให้) การพอกหลังคาได้ ๒-๓ ชั้น. การพอกเรียกว่า ปริยาย. อธิบายว่า พึงอำนวยให้พอกได้ ๒ ครั้ง หรือพอกได้ ๓ ครั้ง.
               สองบทว่า อปหริเต ฐิเตน คือ ยืนอยู่ในที่ปราศจากของสดเขียว.
               ก็ในคำว่า หริตํ นี้ ทรงประสงค์เอาบุพพัณชาติต่างโดยเป็นข้าวเปลือก ๗ ชนิด และอปรัณชาติต่างโดยเป็นถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ถั่วพู น้ำเต้าและฟักเขียวเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้นแล พระองค์จึงตรัสว่า ที่ชื่อว่า ของสดเขียว ได้แก่ บุพพัณชาติ อปรัณชาติ.
               ก็ในคำว่า สเจ หริเต ฐิโต อธิฏฺฐาติ อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               พืชที่เขาหว่านในนาแม้ใด ชั้นแรกยังไม่สำเร็จ (ยังไม่งอก) ก็หรือว่า เมื่อฝนตกแล้ว จักสำเร็จ (จักงอก), พืชแม้นี้ ก็ถึงการนับว่าของสดเขียวเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น ภิกษุยืนอยู่ แม้ในนาเห็นปานนั้น ก็ไม่อำนวยการ. พึงยืนอำนวยการในที่ปราศจากของสดเขียวเท่านั้น.
               ในเรื่องอำนวยการปราศจากของสดเขียวในนาที่หว่านพืชแล้ว แม้นั้นมีกำหนดดังต่อไปนี้คือ ภิกษุนั่งอยู่ที่ข้างอกไก่ก็ดี ช่อฟ้าเรือนยอดก็ดี ยอดโดมข้างบนก็ดี มองดูทางริมขอบเชิงชายแห่งหลังคาเห็นคนผู้ยืนอยู่บนภูมิภาคใด, และคนยืนอยู่ที่ภูมิภาคใด ย่อมเห็นภิกษุนั้นผู้นั่งอยู่ข้างบน, พึงยืนอยู่ที่ภูมิภาคนั้น, ย่อมไม่ได้เพื่อจะยืนอำนวยการในที่แม้เป็นที่ปราศจากของสดเขียว ภายในแห่งภูมิภาคนั้นเข้ามา เพราะเหตุไร? เพราะว่าภูมิภาคนี้ เป็นโอกาสที่จะพังลงมาแห่งวิหารเมื่อจะพัง.
               การมุงตรงๆ ไปไม่อ้อม ชื่อว่า การมุงตามทางแถว ในคำว่า มคฺเคน ฉาเทนฺตสฺ นี้. การมุงตามทางแถวนั้น ย่อมมีได้ด้วยอิฐ ศิลาและปูนขาว.
               คำว่า เทฺว มคฺเค อธิฏฺฐหิตฺวา มีความว่า ทางแถว ๒ แถว ถ้ามุงไม่ดี, ย่อมได้แม้เพื่อจะรื้อออกเสียแล้วให้มุงบ่อยๆ. เพราะฉะนั้น พึงมุงเอง ๒ แถว อย่างที่ตนต้องการ แล้วแถวที่ ๓ พึงสั่งว่า ต่อไปนี้ จงมุงอย่างนี้ แล้วหลีกไป.
               บทว่า ปริยาเยน แปลว่า ด้วยการพอกเป็นชั้นๆ (การมุงเป็นชั้นๆ).
               ก็การมุงอย่างนี้ ย่อมได้ด้วยหญ้าและใบไม้. เพราะเหตุนั้น ในการมุงแม้นี้ ภิกษุพึงมุงเอง ๒ ชั้น อย่างที่ตนต้องการแล้ว ชั้นที่ ๓ พึงสั่งว่า ทีนี้ จงมุงอย่างนี้ แล้วหลีกไป ก็ถ้าว่า ไม่หลีกไป พึงยืนนิ่งเสีย. ก็การมุงทั้งหมดนี้ พึงทราบว่า ในเบื้องบนหลังคา. ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่า ก็วิหารที่มุงเป็นชั้นๆ ฝนจะไม่รั่วได้นาน จึงมุงอย่างนี้.
               คำว่า ตโต เจ อุตฺตรึ มีความว่า เลย ๓ แถว หรือ ๓ ชั้นขึ้นไป คือในแถวที่ ๔ หรือในชั้นที่ ๔.
               คำว่า กรเฬ คือ ในกำหญ้าทุกๆ กำ.
               บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ตื้นทั้งนั้นแล.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               มหัลลกวิหารสิกขาบทที่ ๙ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ ภูตคามวรรคที่ ๒ สิกขาบทที่ ๙ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 392อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 397อ่านอรรถกถา 2 / 402อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=9146&Z=9209
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=7312
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=7312
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :