บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
#- บาลี เป็นโอวาทวรรค วินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๖ พึงทราบดังนี้ :- [แก้อรรถ เรื่องเย็บจีวรให้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ] บทว่า ปฏฺโฐ แปลว่า ผู้มีความสามารถ. มีคำอธิบายว่า เป็นผู้เข้าใจและสามารถ. สองบทว่า อญฺญตรา ภิกฺขุนี ได้แก่ ภิกษุณีผู้เป็นภรรยาเก่าพระอุทายีนั้นนั่นเอง. บทว่า ปฏิภาณจิตฺตํ ได้แก่ มีความงดงามอันทำด้วยปฏิภาณของตน. ได้ยินว่า พระโลลุทายีนั้นย้อมจีวรแล้ว ได้กระทำรูปหญิงกับชายกำลังทำเมถุนกัน ด้วยสีต่างๆ ในท่ามกลางแห่งจีวรนั้น. เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวว่า มชฺเฌ ปฏิภาณจิตฺตํ วุฏฺฐาเปตฺวา เป็นต้น. บทว่า ยถาสํหริตฺวา คือ ตามที่พับไว้แล้วนั่นแหละ. บทว่า จีวรํ ได้แก่ จีวรที่ภิกษุอาจเพื่อจะนุ่งหรือห่มได้. จริงอยู่ ในมหาปัจจรีเป็นต้น ท่านก็ได้กล่าวไว้อย่างนี้. ในคำว่า สยํ สิพฺเพติ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :- ภิกษุกะก็ดี ตัดก็ดี ด้วยตั้งใจว่า เราจักเย็บ เป็นทุกกฏ. แต่เป็นปาจิตตีย์ในเพราะการสอยเข็มทุกๆ ครั้งที่สอย แก่ภิกษุผู้เย็บอยู่ เพราะพระบาลีว่า (ต้องปาจิตตีย์) ทุกๆ รอยเข็ม ดังนี้. แต่ถ้าว่าภิกษุไม่ชักเข็มออกหมดทั้งเล่ม แทงด้นไปแม้ตั้งร้อยครั้ง เพื่อด้นด้ายเนาแล้วจึงนำออก เป็นปาจิตตีย์ตัวเดียว. คำว่า สกึ อาณตฺโต ได้แก่ ภิกษุผู้สั่งครั้งเดียวว่า จงเย็บจีวร. คำว่า พหุมฺปิ สิพฺพติ มีความว่า ถ้าแม้นว่า ผู้รับสั่งให้สุจิกรรมทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ให้จีวรสำเร็จลง ก็เป็นปาจิตตีย์เพียงตัวเดียว. แต่ถ้าเธอได้รับคำสั่งว่า กรรมที่จะพึงทำในจีวรนี้ เป็นภาระของเธอ ดังนี้ แล้วจึงทำเป็นปาจิตตีย์แก่ผู้รับสั่งทุกๆ รอยเข็ม รอยเข็มละ ๑ ตัว. เป็นปาจิตตีย์แม้มากตัว เพราะคำพูดคำเดียวแก่ภิกษุผู้สั่ง. ส่วนในการสั่งบ่อยๆ ไม่มีคำที่จะพึงกล่าวเลย. ถ้าเมื่ออาจารย์และอุปัชฌาย์ กำลังเย็บจีวร เพื่อพวกภิกษุณีผู้เป็นญาติของตน, ฝ่ายนิสิตก์เหล่าใดของท่านเหล่านั้น เย็บด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักทำอาจริยวัตรอุปัชฌายวัตร หรือกฐินวัตร, เป็นอาบัติมากตัวแม้แก่นิสิตก์เหล่านั้นตามจำนวนรอยเข็ม. อาจารย์และอุปัชฌาย์ใช้ให้พวกอันเตวาสิกเย็บ (จีวร) เพื่อพวกภิกษุณีผู้เป็นญาติของตน, เป็นทุกกฏแก่อาจารย์และอุปัชฌาย์. เป็นปาจิตตีย์แก่พวกอันเตวาสิก. พวกอันเตวาสิกนิมนต์ให้อาจารย์และอุปัชฌาย์ช่วยเย็บ (จีวร) เพื่อพวกภิกษุณีผู้เป็นญาติของตน, แม้ในการที่อันเตวาสิกนิมนต์อาจารย์และอุปัชฌาย์ให้ช่วยเย็บนั้น ก็นัยนี้นั่นแล. จีวรเป็นของภิกษุณีผู้เป็นญาติ ทั้งฝ่ายอันเตวาสิกทั้งฝ่ายอาจารย์และอุปัชฌาย์. แต่อาจารย์และอุปัชฌาย์ลวงพวกอันเตวาสิกให้เย็บ (จีวร), เป็นทุกกฏแม้แก่ทั้ง ๒ ฝ่าย. เพราะเหตุไร? เพราะจีวรพวกอันเตวาสิกเย็บด้วยความสำคัญว่า ไม่ใช่ญาติ (และ) เพราะอาจารย์กับอุปัชฌาย์นอกนี้ ชักนำในสิ่งที่ไม่ควร. เพราะฉะนั้นจึงควรบอกว่า นี้เป็นจีวรของมารดาเธอ และนี้เป็นจีวรของน้องสาว แล้วให้พวกเธอช่วยเย็บ. สองบทว่า อญฺญํ ปริกฺขารํ ได้แก่ บริขารอย่างใดอย่างหนึ่งมีถุงรองเท้าเป็นต้น. บทที่เหลือตื้นทั้งนั้น. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล. จีวรสิพพนสิกขาบทที่ ๖ จบ. ------------------------------------------------------------ .. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โอวาทวรรคที่ ๓ สิกขาบทที่ ๖ จบ. |