ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 494อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 499อ่านอรรถกถา 2 / 504อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๕

               โภชนวรรค ปฐมปวารณาสิกขาบทที่ ๕               
               ๑- วินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๕ พึงทราบดังต่อไปนี้ :-
____________________________
๑- ในสิกขาบทนี้ ศัพท์ทั่วไป และศัพท์ที่เป็นชื่อธัญชาติต่างๆ ที่แปลไว้เท่าที่หาได้ ไม่แน่ใจว่าถกทั้งหมด จึงขอฝากท่านผู้รู้ไว้พิจารณาแก้ไขต่อไป. ผู้ชำระ.

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องการห้ามภัต]               
               หลายบทว่า ภิกฺขู ภุตฺตาวี ปวาริตา มีความว่า ภิกษุทั้งหลายอันพราหมณ์ปวารณา ด้วยปวารณาจนพอแก่ความต้องการอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ท่านทั้งหลายจงรับเท่าที่ที่ท่านปรารถนาเถิด และห้ามด้วยตนเองด้วยการห้ามคือการปฏิเสธอย่างนี้ว่า พอละ อาวุโส! จงถวายแต่น้อยๆ เถิด.
               บทว่า ปฏิวิสฺสเก คือ พวกเพื่อนบ้านผู้อยู่ในเรือนใกล้เคียง.
               บทว่า กาโกรวสทฺทํ ได้แก่ เสียงพวกนกการ้องเกรียวกราว คือเสียงฝูงนกกาจับกลุ่มกันร้องระเบ็งเซ็งแซ่ ในคำว่า อลเมตํ สพฺพนฺติ นี้ จะไม่ตรัส ติ อักษรเลย ตรัสเพียง อลเมตํ สพฺพํ (ทั้งหมดนั่นพอแล้ว) เท่านี้ ก็สมควร.
               บทว่า ภุตฺตาวี แปลว่า ผู้ฉันเสร็จ. ก็เพราะภิกษุใดเคี้ยวก็ตาม ไม่เคี้ยวก็ตาม กลืนกินเมล็ดข้าวแม้เมล็ดเดียวเข้าไป, ภิกษุนั้นถึงการนับว่า ผู้ฉันเสร็จ ในบทว่า ภุตฺตาวี นั้น. เพราะเหตุนั้น ในบทภาชนะแห่งบทนั้น จึงตรัสคำว่า ภุตฺตาวี นามปญฺจนฺนํ โภชนานํ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า ปวาริโต คือ ผู้มีการห้าม (ภัต) อันทำแล้ว คือ มีการปฏิเสธอันทำแล้ว. ก็เพราะการห้ามแม้นั้น ไม่ใช่ว่าจะทำสำเร็จได้ด้วยเหตุเพียงการปฏิเสธ, โดยที่แท้ ย่อมสำเร็จได้ด้วยอำนาจองค์ ๕. ด้วยเหตุนั้น ในบทภาชนะแห่งบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า ปวาริโต นาม อสนํ ปญฺญายติ เป็นต้น.
               เพราะบรรดาองค์ ๕ นั้น ด้วยองค์ว่า อสนํปญฺญายติ นี้ ภิกษุผู้ฉันค้างอยู่ จึงเป็นอันเรียกว่า ผู้ห้ามภัต, ส่วนภิกษุใด ชื่อว่าผู้ฉันค้างอยู่, โภชนะบางอย่างภิกษุนั้นฉันแล้ว บางอย่างยังไม่ได้ฉัน, และเพราะหมายเอาโภชนะที่เธอฉันแล้ว จึงถึงการนับว่า ผู้ฉันเสร็จ เพราะฉะนั้น ด้วยคำว่า ภุตฺตาวี เราจึงไม่เห็นความสำเร็จประโยชน์อะไรแผนกหนึ่ง. ก็คำว่า ภุตฺตาวี นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยความเป็นบทบริวารแห่งบทว่า ปวาริตะ และโดยความเป็นพยัญชนะสละสลวย ดุจคำว่า ๒ คืนเป็นต้น ในคำว่า ๒-๓ คืน...๖ คำ ๕ คำ....เป็นต้น.
               ในองค์ว่า อสนํปญฺญายติ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               การฉันค้างปรากฏ, อธิบายว่า ถ้าบุคคลผู้กำลังฉันนี้อยู่.
               องค์ว่า โภชนํปญฺญายติ ได้แก่ โภชนะเพียงพอแก่การห้ามปรากฏอยู่. อธิบายว่า ถ้าโภชนะมีข้าวสุกเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะพึงห้ามมีอยู่.
               องค์ว่า หตฺถปาเส ฐิโต มีความว่า หากทายกถือเอาโภชนะเพียงพอแก่การห้ามอยู่ในโอกาสประมาณ ๒ ศอกคืบ.
               องค์ว่า อภิหรติ มีความว่า ถ้าทายกนั้นน้อมภัตนั้นถวายแก่ภิกษุนั้น ด้วยกาย.
               องค์ว่า ปฏิกฺเขโปปญฺญายติ คือ การห้ามปรากฏ.
               อธิบายว่า ถ้าภิกษุนั้นปฏิเสธโภชนะที่เขาน้อมถวายนั้น ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี. ภิกษุย่อมเป็นผู้ชื่อว่าห้ามภัตแล้ว ด้วยอำนาจแห่งองค์ ๕ ด้วยประการอย่างนี้แล. สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นี้ว่า ดูก่อนอุบาลี! การห้าม (ภัต) ย่อมมี ด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ การฉันปรากฏ ๑ โภชนะปรากฏ ๑ ทายกอยู่ในหัตถบาส ๑ ทายกน้อมถวาย ๑ การห้ามปรากฏ ๑
____________________________
๑- วิ. ปริวาร. เล่ม ๘/ข้อ ๑๑๗๕/หน้า ๔๖๑

               [ว่าด้วยโภชนะและธัญชาติ ๗ ชนิด]               
               ในปวารณาธิการนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อสนํ เป็นต้นก่อน :-
               ภิกษุฉันโภชนะใด และห้ามโภชนะใดที่ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย, โภชนะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นโภชนะเหล่านี้ คือข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่งนั่นแล.
               บรรดาโภชนะมีข้าวสุกเป็นต้นนั้น ที่ชื่อว่า ข้าวสุก ได้แก่ ข้าวสุกที่เกิดจากธัญชาติ ๗ ชนิด คือข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้.
               บรรดาธัญชาติ ๗ ชนิดมีข้าวสาลีเป็นต้นนั้น กำเนิดข้าวสาลี แม้ทุกจำพวก ชั้นที่สุดจนกระทั่งลูกเดือย ชื่อว่า ข้าวสาลี. กำเนิดข้าวจ้าวแม้ทุกชนิด ชื่อว่า วีหิ. ในข้าวเหนียวและข้าวละมาน ไม่มีความแตกต่างกัน. เมล็ดข้าวฟ่าง เช่นข้าวฟ่างสีขาว สีแดงและสีดำ แม้ทุกชนิด ชื่อว่า กังคุ. เมล็ดลูกเดือยมีสีขาว แม้ทุกชนิด ชั้นที่สุดจนกระทั่งข้าวฟ่างชาวเมือง (ข้าวโพดกระมัง๑-?) ชื่อว่า วรกะ. หญ้ากับแก้ดำ และติณธัญชาติแม้ทุกชนิด เช่น หญ้าข้าวนก (ข้าวละมานหรือข้าวฟ่างก็ว่า) เป็นต้น ชื่อว่า กุทรุสกะ.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ก็ในจำพวกข้าวสาลี และลูกเดือยนี้ ลูกเดือยและข้าวฟ่างชาวเมือง๒- (ข้าวโพดกระมัง?) อนุโลมเข้ากับธัญชาติ. จะเป็นธัญชาติหรือธัญชาติอนุโลมก็ตามที, พวกชาวบ้านเอาข้าวสารแห่งธัญชาติทั้ง ๗ มีชนิดดังกล่าวแล้วนี้ หุงต้มหมายให้เป็นโภชนะอย่างใดอย่างหนึ่งว่า เราจักหุงข้าวสวย หรือว่า เราจักต้มข้าวต้ม หรือว่า เราจักกวนข้าวต้ม หรือว่า เราจักกวนข้าวปายาสเปรี้ยวเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ตาม. ถ้าเมื่อพวกภิกษุฉันภัตนั้น จะร้อนหรือเย็นก็ตาม รอยย่อมปรากฏในที่ควักเอา หรือตักเอาในเวลาฉันภัตนั้น ถึงการสงเคราะห์เป็นข้าวสุกทีเดียว ก่อให้เกิดการห้าม (ภัต), ถ้ารอยไม่ปรากฏ, ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นยาคู, ไม่ให้เกิดการห้าม (ภัต).
               ข้าวปายาส หรือข้าวยาคูเปรี้ยวซึ่งผสมด้วยใบไม้ ผลไม้และหน่อไม้ (เหง้า) แม้อันใด พอยกลงจากเตายังร้อนอยู่, อาจจะกลอกดื่ม (ตะแคงหม้อดื่ม) ได้ แม้ในโอกาสที่มีมือควักเอา ก็ไม่แสดงรอย (ให้ปรากฏ), ยาคูเป็นต้นนั้น ไม่ให้เกิดการห้าม (ภัต). แต่ถ้าเมื่อไอร้อนหมดไปเย็นลงแล้ว ถึงความแข้นเข้า แสดงรอยให้ปรากฏ, กลับก่อให้เกิดการห้าม (ภัต) ได้. ความเป็นของเหลวๆ ในเบื้องต้นคุ้ม (อาบัติ) ไม่ได้.
               ถ้าแม้นเขาเติมนมส้ม และเปรียงเป็นต้นลงไปแล้ว ใส่ใบไม้ผลไม้และหน่อไม้เป็นอันมากลงไป เพิ่มข้าวสารลงไปแม้เพียงกำมือเดียว. ถ้าในเวลาฉันมีรอยปรากฏ, ก่อให้เกิดการห้าม (ภัต).
____________________________
๑- บางแห่งว่าแฝกหอม น่าจะเป็นข้าวโพด เพราะแปลตามศัพท์ว่า ข้าวฟ่างชาวเมือง -ผู้ชำระ.
๒- บางแห่งว่าแฝกหอม.

               [ว่าด้วยโภชนะต่างๆ เป็นเหตุห้ามและไม่ห้ามภัต]               
               ในนิมันตนภัต ไม่มีข้าวยาคู ชาวบ้านเทน้ำข้าว และนมสดลงไปในภัต ด้วยตั้งใจว่า จักถวายยาคู แล้วถวายว่า นิมนต์ท่านรับยาคู. ถึงข้าวยาคูจะเป็นของเหลวก็จริง, แต่ก็ก่อให้เกิดการห้าม (ภัต) เหมือนกัน. ก็ถ้าว่าพวกเขาใส่ (ข้าวสุก) ลงในน้ำที่เดือดพล่านเป็นต้น ต้มถวาย, โภชนะนั้นก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นข้าวยาคูเหมือนกัน. เขาใส่ปลา เนื้อ ลงในภัตแม้ที่ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นยาคูนั้น หรือในยาคูอื่นใด, ถ้าชิ้นปลา และเนื้อ หรือเอ็นปรากฏ แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด, ยาคูนั้น ก่อให้เกิดการห้าม (ภัต) ด้วย. อาหารมีรสล้วนๆ หรือยาคูมีรส ไม่ให้เกิด (การห้ามภัต). แม้ภัตที่ชนพวกใดพวกหนึ่ง ทำด้วยวัตถุมีผลขุยไผ่เป็นต้นอย่างอื่น ยกเว้นข้าวสารแห่งธัญชาติที่กล่าวแล้วเสีย หรือด้วยเหง้ามันและผลไม้ ย่อมไม่ก่อให้เกิดการห้าม (ภัต). จะป่วยกล่าวไปไยถึงยาคูแข้น (แห่งผลขุยไผ่เป็นต้น). แต่ถ้าเขาใส่ปลา เนื้อ ลงในยาคูแข้นนี้ ทำให้เกิดการห้าม (ภัต) ได้.
               ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้ภัตเพื่อประโยชน์แก่ขุพพี๑- ก็ทำให้เกิดการห้าม (ภัต). ท่านเรียกข้าวสารที่ใส่ลงในน้ำร้อนเดือดนึ่ง (ตุ๋น) ให้สุก เพื่อประโยชน์แก่ผู้กินด้วยขุพพี ชื่อว่า ภัตเพื่อประโยชน์แก่ขุพพี.๒- ก็ถ้าตากข้าวสารเหล่านั้น ให้แห้งแล้วฉันควรอยู่. ข้าวสารเหล่านั้นไม่ถึงการนับว่า ขนมแห้ง (และ) ไม่ถึงการนับว่าภัตเลย. แต่ภัตที่เขาทำด้วยข้าวสารนึ่งแล้วเหล่านั้นอีก ห้าม (ภัต) ทีเดียว. ชนทั้งหลายทอดข้าวสารเหล่านั้นในเนยใสและน้ำมันเป็นต้น หรือทำเป็นขนม ไม่ห้าม (ภัต) ข้าวเม่าก็ดี ขนมแห้งและข้าวสวยที่ทำจากข้าวเม่าเหล่านั้นก็ดี ไม่ห้าม (ภัต).
               ขนมกุมมาสที่เขาทำจากจำพวกข้าวเหนียว ชื่อว่า ขนมสด. ขนมกุมมาสที่เขาทำจากวัตถุอื่นมีถั่วเขียวเป็นต้น ไม่ให้เกิดการห้าม (ภัต).
               ขนมแห้งที่เขาทำจากจำพวกข้าวสาลี ข้าวจ้าว และข้าวเหนียว ชื่อว่าสัตตุ. ชนทั้งหลายคั่วเมล็ดข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้แล้วตำเบาะๆ โปรย (ฝัด) แกลบออกแล้วตำใหม่ให้ละเอียดเข้าทำให้เป็นแป้ง. ถ้าแม้นวัตถุนั้นยังติดกันอยู่ เพราะยังสด ก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นขนมแห้งทีเดียว. เขาบดข้าวสารจ้าวที่คั่วให้สุกกรอบถวาย. แป้ง แม้นั้นก็ถึงการสงเคราะห์เข้าเป็นสัตตุ (ขนมแห้ง) เหมือนกัน.
               ส่วนข้าวสารแห่งข้าวจ้าวที่เขาคั่วให้สุกเสมอกัน หรือแห่งข้าวกล้อง (ที่ไม่ได้คั่ว) หรือข้าวสารที่คั่วแล้วทั่วไป ไม่ห้าม (ภัต). แต่แป้งข้าวสารเหล่านั้น ห้าม (ภัต) ได้. แม้รำของข้าวจ้าวที่เขาคั่วให้เกรียมแล้ว ก็ห้าม (ภัต) ได้. ส่วนรำแห่งข้าวสารที่เขาคั่วให้สุกเสมอกัน หรือสุกเพราะแดด ไม่ห้าม (ภัต).
               ข้าวตอกหรือข้าวสวย และขนมแห้งเป็นต้น ที่เขาทำจากข้าวตอกเหล่านั้น ย่อมไม่ห้าม (ภัต). แป้งที่คั่วแล้ว หรือของเคี้ยวล้วนๆ ชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ห้าม (ภัต). แต่ของเคี้ยวที่บรรจุปลา เนื้อ (มีปลาเนื้ออยู่ข้างใน) ก็ดี สตูงบหรือสตูก้อนไม่เข้าไฟ๓- (ก้อนขนมแห้งยังไม่อบ) ก็ดี ย่อมห้าม (ภัต) ส่วนปลา เนื้อ ปรากฏชัดแล้วแล.
               แต่มีความแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               ถ้าแม้นเมื่อภิกษุกำลังดื่มยาคู ชาวบ้านถวายชิ้นปลา หรือชิ้นเนื้ออย่างละ ๒ ชิ้น มีขนาดเท่าเมล็ดยาคูนั่นแหละ ในภาชนะเดียวกันหรือในต่างภาชนะกัน, ถ้าภิกษุไม่ฉันชิ้นปลาเนื้อเหล่านั้น ห้ามโภชนะอย่างใดอย่างหนึ่งอื่น ซึ่งเพียงพอแก่การห้ามภัต ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต). จาก ๒ อย่างนั้น อย่างหนึ่ง เธอฉันแล้ว อย่างหนึ่งยังอยู่ในมือ หรือในบาตร. ถ้าเธอห้ามมังสะอื่น ชื่อว่าห้าม (ภัต). ทั้ง ๒ อย่างเธอฉันหมดแล้ว, ในปากแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด ก็ไม่เหลือ. ถ้าแม้นเธอห้ามมังสะอื่น ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต).
               ภิกษุกำลังฉันกัปปิยมังสะ ห้ามกัปปิยมังสะ ชื่อว่าห้าม (ภัต) กำลังฉันกัปปิยมังสะ ห้ามอกัปปิยมังสะ ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต). เพราะเหตุไร? เพราะไม่ใช่วัตถุ. จริงอยู่ มังสะที่ภิกษุควรฉันได้เท่านั้น จึงเป็นเหตุห้ามภัตแก่ภิกษุผู้ห้ามอยู่. แต่เมื่อภิกษุรู้อกัปปิยมังสะนี้ จึงห้ามเสียเพราะเป็นของไม่ควร. ถึงไม่รู้ ก็ชื่อว่าห้ามสิ่งที่ตั้งอยู่ในฐานะที่ควรห้ามทีเดียว เพราะเหตุนั้น จึงไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต).
               แต่ถ้าภิกษุฉันอกัปปิยมังสะ ห้ามกัปปิยมังสะ ชื่อว่าห้าม (ภัต) เพราะเหตุไร? เพราะเป็นวัตถุ (แห่งการห้าม). จริงอยู่ มังสะที่ภิกษุนั้นห้ามนั้นนั่นแหละ เป็นวัตถุ (ที่ตั้ง) แห่งการห้ามภัต. ส่วนอกัปปิยมังสะที่ภิกษุฉัน ตั้งอยู่ในฐานที่ควรห้าม แม้ก็จริง, ถึงอย่างนั้น มังสะที่กำลังฉัน ก็ยังไม่ละภาวะแห่งมังสะ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ห้าม (ภัต). ฉันอกัปปิยมังสะ ห้ามอกัปปิยมังสะ ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต) โดยนัยก่อนนั่นแล.
               ฉันกัปปิยมังสะก็ดี อกัปปิยมังสะก็ดี ห้ามโภชนะทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกัปปิยโภชนะ ชื่อว่าห้าม (ภัต). ห้ามอกัปปิยโภชนะ ซึ่งเกิดจากมิจฉาชีพมีกุลทูสกกรรม เวชกรรม การอวดอุตริมนุสธรรมและการยินดีรูปิยะเป็นต้น (และ) ที่เกิดจากการแสวงหาอันไม่สมควรที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต).
               แม้กำลังฉันกัปปิยโภชนะก็ดี อกัปปิยโภชนะก็ดี ห้ามกัปปิยโภชนะเสีย ชื่อว่าห้าม (ภัต). ห้ามอกัปปิยโภชนะ ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต), บัณฑิต พึงทราบเหตุในทุกๆ บทอย่างนี้ โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
____________________________
๑- ขุพพีศัพท์นี้ ไม่ทราบว่าอะไร? จึงแปลทับศัพท์ไว้
๒- ไม่รู้ว่าภัตชนิดไหน? ลักษณะ คล้ายข้าวตุ๋นตากแห้ง เป็นเสบียงกรังเพื่อกินแก้หิว. - ผู้ชำระ.
๓- สารัตถทีปนี ๓/๓๒๓ แก้ว่า สตฺตุโมทโกติ สตฺตุโย ปิณเฑตฺวา กโต อปกฺโก สตฺตุคโฬ งบสตูดิบหรือสตูก้อนที่เขาปั้นข้าวสัตตุผงเป็นก้อนยังไม่เข้าไฟ ชื่อว่า สัตตุโมทกะ.

               [ว่าด้วยการฉันและการห้ามโภชนะ]               
               บัณฑิตครั้นทราบโภชนะที่ภิกษุฉัน ในคำว่า อสนํ เป็นต้น และโภชนะที่ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย เมื่อภิกษุห้าม จึงถึงการห้าม (ภัต) โดยนัยดังกล่าวมาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทราบอาการที่เป็นเหตุให้ถึง (การห้ามภัต) พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อสนํ โภชนํ นี้ก่อน :-
               ภิกษุใดกลืนกินภัตเข้าไปแม้เมล็ดเดียว, ภิกษุนั้น เมื่อบรรดาโภชนะทั้ง ๕ โภชนะแม้อย่างหนึ่งมีอยู่ในบาตร ปากและมือ ที่ใดที่หนึ่ง ห้ามโภชนะทั้ง ๕ แม้อย่างหนึ่งอื่น ก็ชื่อว่าห้าม (ภัต). ไม่มีโภชนะในที่ไหนๆ มีบาตรเป็นต้น, ปรากฏแต่เพียงกลิ่นอามิส, ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต). ไม่มีโภชนะในปาก และในมือ, แต่มีอยู่ในบาตร, ฝ่ายภิกษุไม่ประสงค์จะฉันที่อาสนะนั้น ประสงค์จะเข้าไปยังวิหารแล้วฉัน หรือประสงค์ถวายแก่ภิกษุอื่น, ถ้าปฏิเสธโภชนะอย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างนั้น ยังไม่จัดว่าห้าม (ภัต). เพราะเหตุไร? เพราะความเป็นโภชนะที่ฉันค้างอยู่ ขาดไป.
               ในมหาปัจจรีกล่าวไว้ว่า แม้ภิกษุใดประสงค์จะไปฉันในที่อื่นกลืนภัตในปากแล้ว ถือเอาภัตส่วนที่เหลือเดินไปอยู่ ห้ามโภชนะอื่นในระหว่างทาง, การห้ามภัตแม้ของภิกษุนั้น ก็ไม่มี.
               ก็ถ้าว่า ภิกษุไม่ประสงค์จะกลืนกินโภชนะที่มีอยู่ แม้ในมือ หรือแม้ในปากเหมือนในบาตร, และห้ามโภชนะอื่นในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต). จริงอยู่ ลักษณะที่กล่าวไว้แล้วในบทเดียว เป็นลักษณะที่บัณฑิตควรทราบในทุกๆ บท.
               อีกอย่างหนึ่ง ในกุรุนทีก็ได้แสดงนัยนี้ไว้เหมือนกัน. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในกุรุนทีนั้นว่า ภิกษุกลืนภัตในปากแล้ว ประสงค์จะให้ภัตในมือแก่คนกินเดน ประสงค์จะให้ภัตในบาตรแก่ภิกษุ, ถ้าห้าม (โภชนะอื่น) ในขณะนั้น ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต).

               [ว่าด้วยองค์ทายกอยู่ในหัตถบาสน้อมถวาย]               
               ก็ในคำว่า หตฺถปาเส ฐิโต นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ๒ ศอกคืบ พึงทราบว่า หัตถบาส ถ้าภิกษุนั่งกำหนดตั้งแต่ริมสุดด้านหลังของอาสนะไป ถ้ายืนกำหนดตั้งแต่ที่สุดส้นเท้าไป ถ้านอนกำหนดตั้งแต่ที่สุดด้านนอกแห่งสีข้างที่นอนไป ด้วยที่สุดด้านในแห่งอวัยวะที่ใกล้กว่า เว้นมือที่เหยียดออกของทายกผู้นั่งอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม. การห้ามภัตย่อมมีแก่ภิกษุผู้ห้ามโภชนะที่ทายกอยู่ในหัตถบาสนั้น น้อมถวายเท่านั้น, นอกจากนั้นไปหามีไม่.
               บทว่า อภิหรติ มีความว่า ทายกอยู่ภายในหัตถบาส น้อม (โภชนะ) เข้าไปเพื่อรับ (ประเคน). ก็ถ้าว่าภิกษุผู้นั่งถัดไป ไม่นำบาตรที่อยู่ในมือหรือที่วางอยู่บนตัก หรือบนเชิงรองออกไปเลย กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับภัตตาหาร เมื่อภิกษุปฏิเสธภัตนั้น ไม่เป็นการห้าม (ภัต). แม้ในทายกผู้นำกระเช้าภัตมาวางไว้บนพื้นข้างหน้า แล้วกล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเถิด ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แต่เมื่อเขาขยับยกขึ้นหรือน้อมเข้าไป กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับเถิด เมื่อภิกษุปฏิเสธ จัดเป็นการห้าม (ภัต). พระเถระนั่งอยู่บนเถระอาสน์ ส่งบาตรไปให้แก่ภิกษุหนุ่มผู้นั่งอยู่ในที่ไกลกล่าวว่า เธอจงรับเอาข้าวสุกจากบาตรนี้. ฝ่ายภิกษุผู้รับ (บาตร) ไปยืนนิ่งเฉยเสีย, ภิกษุหนุ่มห้ามว่า ผมพอแล้ว ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต). เพราะเหตุไร? เพราะพระเถระอยู่ไกล และเพราะทูตไม่นำไปให้แล. ถ้าภิกษุผู้รับ (บาตร) มากล่าวว่า ท่านจงรับภัตนี้ เมื่อภิกษุหนุ่มปฏิเสธภัตนั้น จัดเป็นการห้าม (ภัต).
               ในสถานที่อังคาส ทายกคนเดียวอังคาสภิกษุหลายรูป มือข้างหนึ่งถือกระเช้าข้าวสุก อีกข้างหนึ่งถือทัพพี. ถ้าในสถานที่อังคาสนั้นมีคนอื่นมาพูดว่า ข้าพเจ้าจักช่วยถือกระเช้า, ท่านจงถวายข้าวสุก แล้วทำกิจเพียงจับเท่านั้น, ก็ทายกผู้อังคาสนั่นเองยกกระเช้าข้าวสุกนั้น เพราะฉะนั้น กระเช้านั้นจัดว่าอันเขานำมาจำเพาะแท้. จัดเป็นการห้าม (ภัต) แก่ภิกษุผู้ห้ามคนอังคาส ผู้ถือ (ภัต) จากกระเช้านั้น ด้วยเป็นผู้มีความต้องการจะถวาย. แต่ถ้าผู้อังคาสเพียงแตะต้อง (กระเช้า) เท่านั้น, คนนอกนี้แหละช่วยยกกระเช้านั้น, ไม่จัดว่าเป็นการห้าม (ภัต) แก่ภิกษุผู้ห้ามคนอังคาส ซึ่งถือ (ภัต) จากกระเช้านั้น ด้วยเป็นผู้มีความต้องการจะถวาย. แต่พอเขาเอาทัพพีตักภัต (การห้ามภัต) ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ห้าม. แท้จริง การน้อมเข้ามาโดยตรงด้วยทัพพีนั่นแหละ จัดเป็นการน้อมถวายภัตนั้น. ในมหาปัจจรีกล่าวว่า แม้ในภัตที่คน ๒ คนช่วยกันยก เมื่อภิกษุปฏิเสธ ย่อมชื่อว่าห้ามภัตเหมือนกัน.
               เมื่อทายกถวายภัตแก่ภิกษุผู้นั่งถัดไป ภิกษุอีกรูปหนึ่งเอามือปิดบาตร ไม่เป็นการห้าม (ภัต). เพราะเหตุไร? เพราะห้ามภัตที่เขาน้อมถวายภิกษุรูปอื่น.

               [ว่าด้วยการห้ามภัตมีการห้ามด้วยกายเป็นต้น]               
               ในคำว่า ปฏิกฺเขโปปญฺญายติ นี้ พึงทราบวินิจฉัยว่า ภิกษุปฏิเสธภัตที่เขาบอกถวายด้วยวาจา ไม่จัดเป็นการห้าม (ภัต), แต่เมื่อภิกษุปฏิเสธด้วยกายหรือด้วยวาจา ซึ่งภัตที่เขาน้อมถวายด้วยกาย จึงเป็นการห้ามภัต.
               ในการห้ามด้วยกายและวาจานั้น ที่ชื่อว่าการห้ามด้วยกาย คือภิกษุสั่นนิ้วมือ หรือมือพัดไล่แมลงหวี่ หรือชายจีวร กระทำอาการด้วยคิ้ว หรือโกรธแลดู. ที่ชื่อว่าห้ามด้วยวาจา คือภิกษุกล่าวว่า พอแล้ว หรือว่า ฉันไม่รับ ว่า อย่าเทลง หรือว่า จงถอยไป. เมื่อภิกษุห้ามภัตด้วยกายหรือด้วยวาจา โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นการห้าม (ภัต).
               ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อทายกน้อมถวายภัต กลัวแต่การห้ามภัต ชักมือออก พูดกะชนผู้เทข้าวสุกลงในบาตรแล้วๆ เล่าๆ ว่า ท่านจงเทลงไปๆ เถิด จงกดลงๆ บรรจุให้เต็มเถิด, ถามว่า ในคำนี้จะว่าอย่างไร?
               พระมหาสุมนเถระกล่าวไว้ก่อน จัดเป็นการห้าม (ภัต) เพราะภิกษุพูดเพื่อต้องการไม่ให้เทลง.
               แต่พระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ธรรมดาภิกษุผู้กล่าวว่า จงเทลง จงบรรจุให้เต็ม ดังนี้ บางรูปก็เป็นการห้าม (ภัต) แล้วจึงกล่าวว่า ยังไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต).
               ภิกษุอีกรูปหนึ่ง สังเกตเห็นภิกษุผู้กำลังนำภัตไป กล่าวว่า ผู้มีอายุ! ท่านจักรับอะไรบางอย่างจากบาตรของผมนี้บ้างไหม? ผมจะถวายอะไร? แก่ท่านไหม? ในคำแม้นั้น พระมหาสุมนเถระก็กล่าวว่า จัดเป็นการห้าม (ภัต) เพราะภิกษุนั้นกล่าวด้วยใส่ใจว่า ภิกษุนี้จักไม่มา (ยังสำนักของเรา) ด้วยการกล่าวอย่างนี้.
               ฝ่ายพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ธรรมดาภิกษุผู้กล่าวว่า ท่านจักรับไหม? บางรูปก็เป็นการห้าม (ภัต) จึงกล่าวว่า ยังไม่ชื่อว่าห้ามภัต.
               ทายกคนหนึ่งน้อมถวายรสมีเนื้อ กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับรสเถิด. เมื่อภิกษุได้ฟังคำนั้นแล้วปฏิเสธไป ไม่จัดเป็นการห้าม (ภัต) เมื่อเขากล่าวว่า รสปลา รสเนื้อ เป็นการห้ามภัตแก่ภิกษุผู้ปฏิเสธ. แม้เมื่อเขากล่าวว่า ขอนิมนต์ท่านรับรสปลาเนื้อนี้ ก็เป็นการห้ามภัตแก่ภิกษุผู้ปฏิเสธเหมือนกัน. เขาแยกเนื้อไว้ต่างหากกล่าวว่า นิมนต์ท่านรับรสมีเนื้อ. ถ้าว่า ในรสนั้นมีชิ้นเนื้อแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด, เป็นการห้ามภัตแก่ภิกษุผู้ปฏิเสธรสนั้น. แต่ถ้าเป็นรสที่เขากรองแล้ว ควรอยู่ ฉะนี้แล.
               พระอภัยเถระกล่าวว่า พระมหาเถระกล่าวว่า จงรอสักครู่หนึ่ง กะผู้ถามโดยเอื้อเฟื้อด้วยรสเนื้อ แล้วกล่าวว่า นำถาดมาเถิด คุณ! ในคำนี้จะว่า อย่างไรกัน?
               พระมหาสุมนเถระกล่าวไว้ก่อนว่า การไปของผู้น้อมถวาย (ภัต) ขาดไปแล้วก่อน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าห้าม (ภัต). แต่พระมหาปทุมเถระกล่าวว่า พระมหาเถระนี้จะไปที่ไหน? การไปของผู้น้อมถวาย (ภัต) นั่น เป็นเช่นไร? การห้ามภัตย่อมมีแม้แก่ผู้รับ แล้วกล่าวต่อไปว่า ยังไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต).
               พวกทายกแกงปลาและเนื้อผสมด้วยหน่อไม้และขนุนเป็นต้น. เขาถือเอาแกงนั้นมากล่าวว่า นิมนต์ท่านรับแกงหน่อไม้, นิมนต์ท่านรับแกงขนุน. แม้แกงนั่น ก็ไม่ห้าม (ภัต). เพราะเหตุไร? เพราะเขากล่าวโดยชื่อแห่งสูปพยัญชนะที่ควรแก่การไม่ห้าม (ภัต). แต่ถ้าพวกเขากล่าวว่า แกงปลา แกงเนื้อ ก็ดี, ว่า นิมนต์ท่านรับแกงปลาและเนื้อนี้ ก็ดี, คำนั่นย่อมห้าม (ภัต).
               มีอาหาร ชื่อว่า มังสกรัมพก๑- (ยำเนื้อ), แม้ผู้ประสงค์จะถวายมังสกรัมพก (ยำเนื้อ) นั้น กล่าวว่า ขอนิมนต์ท่านรับกรัมพก (ยำ) สมควรรับ ไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต). แต่เมื่อเขากล่าวว่า ยำเนื้อ หรือว่า ยำเนื้อนี้ คำนั่นย่อมห้ามภัต. แม้ในโภชนะที่ผสมด้วยปลาและเนื้อทุกๆ อย่าง ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในมหาปัจจรีกล่าวว่า ก็ภิกษุใดฉันอยู่ในสถานที่นิมนต์ เข้าใจเนื้อที่เขาน้อมถวายว่า เป็นเนื้อที่เขาทำเจาะจง จึงห้ามเสีย ภิกษุนั้น จัดว่าเป็นผู้ห้ามภัตเหมือนกัน.
____________________________
๑- สารตฺถทีปนี ๓/๓๒๖ กรมฺพโกติ มิสฺสกาธิวจนเมตํ. ยํ หิอฺเนญฺเญน มิสฺเสตฺวา กโรนฺติ โส กรมฺพโกติ วุจฺจติ.
แปลว่า คำว่า กรัมพก นั่น เป็นชื่อของอาหารผสมกัน. จริงอยู่ อาการที่พวกชาวบ้านทำผสมกัน ด้วยของอย่างหนึ่งกับของอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กรัมพก น่าจะตรงกับคำว่า ยำ ของไทยเรา จึงแปลไว้อย่างนั้น. - ผู้ชำระ.

               [ว่าด้วยการห้ามภัตที่ระคนกัน]               
               ส่วนมิสสกกถา (กถาว่าด้วยโภชนะระคนกัน) ท่านกล่าวไว้โดยละเอียดในกุรุนที. สมดังที่ท่านกล่าวไว้ในกุรุนทีนั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นำยาคูเจือด้วยข้าวสวยมาแล้ว กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับยาคู ยังไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต). เมื่อเธอกล่าวว่า ขอนิมนต์ท่านรับภัต จึงชื่อว่าห้าม (ภัต). เพราะเหตุไร? เพราะภัตที่ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตถามโดยเอื้อเฟื้อ (บอกถวาย) มีอยู่.
               ในคำว่า ขอนิมนต์ท่านรับภัต นี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรกล่าวว่า ขอนิมนต์ท่านรับภัตเจือด้วยข้าวยาคู. ในภัตเจือข้าวยาคูนั้น ถ้ายาคูมีมากกว่า หรือมีเท่าๆ กันยังไม่ชื่อว่าห้าม (ภัต). ถ้ายาคูมีน้อย ภัตมีมากกว่า ชื่อว่าห้าม (ภัต) และคำนี้ใครๆ ไม่อาจคัดค้านได้ เพราะท่านกล่าวไว้ทุกๆ อรรถกถา, แต่เหตุในคำนี้เห็นได้ยาก.
               ผู้ถวายกล่าวว่า นิมนต์ท่านรับยาคูเจือด้วยภัต. ภัตมีมากกว่าก็ดี มีเท่าๆ กันก็ดี มีน้อยกว่าก็ดี ย่อมชื่อว่าห้าม (ภัต) เหมือนกัน. เขาไม่ระบุถึงภัตหรือยาคู กล่าวว่า นิมนต์ท่านรับโภชนะระคนกัน. ในโภชนะระคนกันนั้น ถ้าภัตมีมากกว่า หรือมีเท่ากันจัดว่าห้าม (ภัต), มีน้อยกว่า ยังไม่จัดว่าห้าม (ภัต). ก็โภชนะระคนกันนี้ ไม่เหมือนกับยำ. เพราะว่ายำจะเป็นยำเนื้อก็ดี ยำไม่มีเนื้อก็ดี ฉะนั้น เมื่อเขากล่าวคำว่า ยำ ยังไม่เป็นการห้าม (ภัต). แต่โภชนะระคนกันนี้กลายเป็นยาคูผสมภัตไป ย่อมเป็นการห้าม (ภัต) โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละในโภชนะระคนกันนี้.
               ทายกกล่าวแยกถวาย ในภัตที่มีรสมากว่า นิมนต์ท่านรับรส ในภัตที่มีนมสดมากว่า นิมนต์ท่านรับนมสด และในข้าวปายาสที่มีเนยใสมากว่า นิมนต์ท่านรับเนยใส. เมื่อภิกษุห้ามภัตนั้น ไม่จัดว่าเป็นการห้าม (ภัต).
               ฝ่ายภิกษุใด เดินห้ามภัต, ภิกษุนั้นย่อมได้เพื่อจะฉันทั้งเดินนั่นแหละ. เดินไปถึงที่มีโคลนตมหรือแม่น้ำหยุดยืนอยู่แล้ว พึงให้ทำเป็นเดน. ถ้าแม้น้ำในระหว่างขึ้นเต็มฝั่ง พึงเดินเวียนรอบพุ่มไม้ที่ฝั่งแม้น้ำฉันเถิด. ถ้ามีเรือหรือสะพานนั้นแล้ว พึงเดินไปมาฉันเถิด, ไม่พึงตัดการเดินให้ขาดตอน. ภิกษุนั่งห้ามภัตบนยานก็ดี บนหลังช้างและม้าก็ดี บนดวงจันทร์ก็ดี บนดวงอาทิตย์ก็ดี พึงฉันทั้งที่นั่งอยู่บนยานเป็นต้นเหล่านั้น แม้ซึ่งกำลังเคลื่อนไปจนถึงเวลาเที่ยงวัน.
               ภิกษุใดยืนห้ามภัต ภิกษุนั้นพึงฉันทั้งยืนเหมือนกัน, ภิกษุใดนั่งห้ามภัต ภิกษุนั้น พึงฉันทั้งที่นั่งอย่างนั่นแหละ. เมื่อทำอิริยาบถนั้นให้เสีย พึงให้ทำให้เป็นเดน.
               ภิกษุใดนั่งกระโหย่งห้ามภัต ภิกษุนั้นพึงฉันทั้งที่นั่งกระโหย่งนั่นแหละ แต่พึงให้ตั่งฟางหรือที่รองนั่งบางอย่างในภายใต้แก่ภิกษุผู้นั่งกระโหย่งนั้น. ภิกษุผู้นั่งเล็กห้ามภัต ย่อมได้เพื่อจะฉันหมุนไปรวมทั้ง ๔ ทิศ ไม่ทำให้อาสนะเคลื่อนที่. ภิกษุนั่งบนเตียงห้ามภัตย่อมไม่ได้เพื่อจะเลื่อนไปทางโน้นหรือทางนี้. แต่ถ้าชนทั้งหลายยกเธอขึ้นพร้อมทั้งเตียง หามไปในที่อื่น ควรอยู่. ภิกษุผู้นอนห้ามภัตพึงฉันทั้งๆ ที่นอนนั่นแหละ. เมื่อจะพลิกตัว อย่าพึงให้เลยฐานแห่งสีข้างที่ตนนอนไป.

               [ว่าด้วยลักษณะของเป็นเดนเป็นต้น]               
               บทว่า อนติริตฺตํ คือไม่เป็นเดน, ความว่า ไม่เหลือเฟือ. แต่ของไม่เป็นเดนนั้น เป็นเพราะไม่ทำให้เป็นเดน โดยอาการแห่งวินัยกรรม ๗ อย่าง มีของไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะเป็นต้น หรือไม่เป็นเดนของภิกษุอาพาธ เพราะฉะนั้น ในบทภาชนะจึงตรัสคำว่า อกปฺปิยกตํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกปฺปิยกตํ มีความว่า ในผลไม้เป็นต้น ผลไม้หรือเหง้ามันเป็นต้นใด ยังไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะด้วยสมณโวหารทั้ง ๕ และอกัปปิยมังสะ หรืออกัปปิยโภชนะอันใดบรรดามี, ผลไม้เป็นต้นที่ยังไม่ได้ทำกัปปิยะและอกัปปิยมังสะ อกัปปิยโภชนะนี้ ชื่อว่าของเป็นอกัปปิยะ, ของเป็นอกัปปิยะนั้น ภิกษุทำให้เป็นเดนอย่างนี้ว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว พึงทราบว่า อกปฺปิยกตํ (ของที่ยังมิได้กระทำให้เป็นกัปปิยะ).
               บทว่า อปฏิคฺคหิตกตํ ได้แก่ ของที่ภิกษุยังไม่ได้รับประเคนทำให้เป็นเดนโดยนัยก่อนนั่นและ.
               บทว่า อนุจฺจาริตกตํ ได้แก่ ของที่ภิกษุผู้มาเพื่อจะให้ทำกัปปิยะ ยังมิได้ขยับยกให้หรือน้อมถวายแม้แต่น้อย.
               สองบทว่า อหตฺถปาเส กตํ ได้แก่ ยืนทำนอกหัตถบาสของภิกษุผู้มาเพื่อให้ทำกัปปิยะ.
               สองบทว่า อภุตฺตาวินา กตํ ได้แก่ ภิกษุผู้ซึ่งทำให้เป็นเดนว่าทั้งหมดนั่นพอแล้ว ยังไม่ได้ฉันโภชนะที่เพียงพอแก่การห้ามทำแล้ว.
               คำว่า ภุตฺตาวินา ปวาริเตน อาสนาวุฏฺฐิเตน กตํ นี้ ตื้นทั้งนั้น.
               คำว่า อลเมตํ สพฺพนฺติ อวุตฺตํ ได้แก่ ไม่เปล่งวาจาพูดอย่างนั้น (พูดอย่างนี้ว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว). ของเป็นเดนอันใดยังไม่ได้ทำให้เป็นกัปปิยะ โดยอาการแห่งวินัยกรรมทั้ง ๗ อย่างนี้ และของใดไม่เป็นเดนแห่งภิกษุอาพาธ. ของแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น พึงทราบว่า ของไม่เป็นเดน ด้วยประการฉะนี้, ส่วนของเดน ก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามของไม่เป็นเดนนั้นนั่นแหละ.
               อีกอย่างหนึ่ง ยังมีคำอื่นที่จะพึงกล่าวอยู่ในของเป็นเดนนี้.
               คำว่า ภุตฺตาวินา กตํ โหติ มีความว่า ถึงโภชนะที่ภิกษุฉันข้าวสุกแม้เมล็ดเดียว หรือเคี้ยวเนื้อแม้ชิ้นเดียวจากบาตรของภิกษุผู้เป็นสภาคกันซึ่งนั่งถัดไปทำแล้ว บัณฑิตก็พึงทราบว่า เป็นอันภิกษุผู้ฉันเสร็จแลทำ.
               ส่วนในคำว่า อาสนาอวุฏฺฐิเตน นี้ เพื่อความไม่งมงาย มีวินิจฉัยดังต่อไป :-
               ภิกษุ ๒ รูปฉันแต่เช้ามืด เป็นผู้ห้ามภัตเสียแล้ว. ภิกษุรูปหนึ่งพึงนั่งในที่ห้ามภัตนั่นแหละ. อีกรูปหนึ่งนำนิตยภัต หรือสลากภัตมาแล้วเทลงในบาตรของภิกษุนั้นครึ่งหนึ่ง ล้างมือแล้ว ให้ภิกษุนั้นทำส่วนที่เหลือให้เป็นกัปปิยะแล้วฉันเถิด. เพราะเหตุไร? เพราะว่าภัตที่ติดอยู่ในมือของภิกษุผู้นำภัตมานั้น เป็นอกัปปิยะ แต่ถ้าภิกษุผู้นั่งอยู่แต่แรก เอามือรับเอาจากบาตรของภิกษุผู้นำภัตมานั้นด้วยตนเองนั่นแหละ, ไม่มีกิจจำต้องล้างมือ. แต่ถ้าเมื่อภิกษุให้ทำเป็นกัปปิยะอย่างนั้นแล้วฉัน พวกทายกใส่แกง หรือของเคี้ยวบางอย่างลงในบาตรอีก, ภิกษุผู้ทำให้เป็นกัปปิยะคราวก่อน ย่อมไม่ได้เพื่อจะทำอีก. ภิกษุผู้ยังไม่ได้ทำ (ให้เป็นกัปปิยะ) พึงทำ. และพึงทำสิ่งที่ยังไม่ได้ทำเท่านั้น (ให้เป็นกัปปิยะ).
               สองบทว่า ยํ จ อกตํ เยน อกตํ มีความว่า ของที่ยังไม่ได้ทำ (ให้เป็นกัปปิยะ) แม้ภิกษุผู้ซึ่งได้ทำกัปปิยะคราวแรก ก็ควรทำ (ให้เป็นกัปปิยะ). แต่ย่อมไม่ได้เพื่อจะทำในภาชนะแรก.
               อธิบายว่า เพราะว่า ของที่ภิกษุทำอยู่ในภาชนะแรกนั้น ย่อมเป็นอันทำรวมกันกับของที่ทำไว้คราวแรก เพราะฉะนั้น จึงควรทำในภาชนะอื่น. แต่ของที่ทำแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้นจะฉันรวมกับของทำไว้คราวแรก ควรอยู่. และเมื่อจะทำกัปปิยะ พึงทำในบาตรอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้, พึงวางไว้ในหม้อบ้าง ในกระเช้าบ้าง ในที่ใดที่หนึ่งข้างหนึ่งแล้ว พึงทำในภาชนะที่เขาน้อมเข้ามาเถิด. ถ้าแม้นภิกษุตั้ง ๑๐๐ รูปห้ามภัต, ทุกรูปจะฉันภัตที่ทำกัปปิยะแล้วนั้นก็ควร. แม้พวกภิกษุผู้ไม่ห้ามภัต ก็ควรฉัน. แต่ไม่ควรแก่ภิกษุผู้ทำให้กัปปิยะ.
               ถ้าแม้นชาวบ้านเห็นภิกษุผู้ห้ามภัตเข้าไปบิณฑบาต รับบาตรแล้วให้นั่งในสถานที่นิมนต์เพื่อต้องการมงคล ซึ่งจะต้องมีการฉันแน่นอน, พึงให้ทำให้เป็นเดนก่อนแล้วฉันเถิด. ถ้าในสถานที่นิมต์นั้นไม่มีภิกษุอื่น, พึงส่งบาตรไปยังหอฉัน หรือวิหารแล้ว ให้ทำ (ให้เป็นเดน). แต่เมื่อจะทำกัปปิยะไม่ควรทำของที่อยู่ในมืออนุปสัมบัน. ถ้าในหอฉันมีภิกษุไม่ฉลาด พึงไปให้ทำกัปปิยะเองแล้วนำมาฉันเถิด.
               ในคำว่า คิลานาติริตฺตํ นี้ ภัตที่ภิกษุอาพาธฉันเหลืออย่างเดียวจึงชื่อว่า ภัตเป็นเดนของภิกษุอาพาธหามิได้, โดยที่แท้ วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขานำมาเฉพาะภิกษุอาพาธ ด้วยใส่ใจว่า ท่านจักฉันในวันนี้หรือในพรุ่งนี้หรือในเวลาที่ท่านต้องการ, วัตถุทั้งหมดนั้นบัณฑิตพึงทราบว่า เดนของภิกษุอาพาธ.
               ทุกกฏที่ต้องทุกๆ คำกลืน ในกาลิกทั้งหลายมียามกาลิกเป็นต้น ท่านปรับด้วยอำนาจกาลิกไม่ระคนกัน. แต่ถ้าว่าเป็นกาลิกระคนกันกับอามิส เป็นปาจิตตีย์ทั้งนั้น แก่ภิกษุรับประเคนเพื่อประโยชน์แก่อาหารก็ดี เพื่อประโยชน์มิใช่อาหารก็ดี กลืนกิน.
               ข้อว่า สติ ปจฺจเย มีความว่า ภิกษุฉันยามกาลิก เพื่อขจัดความกระหายในเมื่อมีความกระหาย ฉันสัตตาหกาลิกและยาวชีวิก เพื่อระงับอาพาธนั้น ในเมื่อมีอาพาธที่จะพึงให้ระงับได้ ด้วยกาลิกนั้นๆ ไม่เป็นอาบัติ.
               คำที่เหลือในสิกขาบทบทนี้ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจกฐินสิกขาบท เกิดขึ้นทางกายและวาจา ๑ ทางกายวาจาและจิต ๑ เป็นทั้งกิริยาทั้งอกิริยา เป็นโนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               ปฐมปวารณาสิกขาบทที่ ๕ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ โภชนวรรคที่ ๔ สิกขาบทที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 494อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 499อ่านอรรถกถา 2 / 504อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=10695&Z=10789
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=8399
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=8399
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :