ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 571อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 575อ่านอรรถกถา 2 / 579อ่านอรรถกถา 2 / 881
อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตติย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๑

               ปาจิตตีย์ สุราปานวรรคที่ ๖               
               สุราปานสิกขาบทที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสิกขาบทที่ ๑ แห่งสุราปานวรรค ดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติ เรื่องสุราเมรัย]               
               หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชื่อว่า ภัททวติกะ. หมู่บ้านนั้นได้ชื่ออย่างนี้ เพราะประกอบด้วยรั้วงาม.
               บทว่า ปถาวิโน แปลว่า คนเดินทาง.
               สองบทว่า เตชสา เตชํ ได้แก่ (ครอบงำ) ซึ่งเดชแห่งนาคด้วยเดช คือด้วยอานุภาพของตน.
               บทว่า กาโปติกา คือ มีสีแดงเสมอเหมือนกับสีเท้าแห่งพวกนกพิราบ.
               คำว่า ปสนฺนา นี้ เป็นชื่อแห่งสุราใส.
               สามบทว่า อนนุจฺฉวิกํ ภิกฺขเว สาคตสฺส มีรูปความที่ท่านกล่าวไว้ว่า ชื่อว่าการดื่มน้ำเมา เป็นการไม่สมควรแก่สาคตะผู้สำเร็จอภิญญา ๕.
               เมรัยที่เขาทำด้วยรสแห่งดอกมะซางเป็นต้น ชื่อว่าปุปผาสวะ. เมรัยที่เขาคั้นผลลูกจันทน์เป็นต้นแล้ว ทำด้วยรสแห่งผลลูกจันทน์เป็นต้นนั้น ชื่อว่าผลาสวะ. เมรัยที่เขาทำด้วยรสชาติแห่งผลลูกจันทน์ (หรือองุ่น) เป็นต้น ชื่อว่ามัธวาสวะ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เขาทำด้วยน้ำผึ้งก็มี. เมรัยที่ชื่อว่า คุฬาสวะ. เขาทำด้วยน้ำอ้อยสด เป็นต้น.
               ธรรมดาสุราที่เขาใส่เชื้อแป้ง กระทำด้วยรสแม้แห่งจั่นมะพร้าวเป็นต้น ย่อมถึงการนับว่า สุราทั้งนั้น. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เมื่อตักเอาน้ำใสแห่งสุราใส่เชื้อแล้วนั่นแล (ที่เหลือ) ย่อมถึงการนับว่าเมรัยทั้งนั้น.
               สามบทว่า อนฺตมโส กุสคฺเคนาปิ ปิวติ มีความว่า ภิกษุดื่มสุราหรือเมรัยนั่นตั้งแต่เชื้อ แม้ด้วยปลายหญ้าคา เป็นปาจิตตีย์. แต่เมื่อดื่มแม้มากด้วยประโยคเดียว เป็นอาบัติเพียงตัวเดียว. เมื่อดื่มขาดเป็นระยะๆ เป็นอาบัติมากตัวโดยนับประโยค.
               คำว่า อมชฺชญฺจ โหต มชฺชวณฺณํ มชฺชคนฺธํ มชฺชรสํ มีความว่า เป็นยาดองน้ำเกลือก็ดี มีสีแดงจัดก็ดี.
               บทว่า สูปสํปาเก มีความว่า ชนทั้งหลายใส่น้ำเมาลงนิดหน่อย เพื่ออบกลิ่นแล้วต้มแกง, เป็นอนาบัติ ในเพราะแกงใส่น้ำเมาเล็กน้อยนั้น.
               แม้ในต้มเนื้อก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ชนทั้งหลายย่อมเจียวน้ำมันกับน้ำเมา แม้เพื่อเป็นยาระงับลม, ไม่เป็นอาบัติในน้ำมันแม้นั้นที่ไม่ได้เจือน้ำเมาจนเกินไปเท่านั้น. ในน้ำมันที่เจือน้ำเมาจัดไป จนมีสีมีกลิ่น และรสแห่งน้ำเมาปรากฏเป็นอาบัติแท้.
               สองบทว่า อมชฺชํอริฏฺฐํ มีความว่า ในยาดองชื่ออริฏฐะซึ่งไม่ใช่น้ำเมา ไม่เป็นอาบัติ. ได้ยินว่า ชนทั้งหลายทำยาดองชื่ออริฏฐะ ด้วยรสแห่งมะขามป้อมเป็นต้นนั่นแหละ. ยาดองนั้นมีสี กลิ่นและรสคล้ายน้ำเมา แต่ไม่เมา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอายาดองชื่ออริฏฐะนั้น จึงตรัสคำนี้ แต่ยาดองอริฏฐะที่เขาปรุงด้วยเครื่องปรุงจัดเป็นน้ำเมา ไม่ควรตั้งแต่เชื้อ.
               บทที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นกิริยา โนสัญญาวิโมกข์ อจิตตกะ โลกวัชชะ กายกรรม อกุศลจิต มีเวทนา ๓ แล. ก็ในสมุฏฐานเป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นอจิตตกะ เพราะไม่รู้วัตถุ. พึงทราบว่า เป็นโลกวัชชะ เพราะจะพึงดื่มด้วยอกุศลจิตเท่านั้น ดังนี้แล.

               สุราปานสิกขาบทที่ ๑ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 2 / 1อ่านอรรถกถา 2 / 571อรรถกถา เล่มที่ 2 ข้อ 575อ่านอรรถกถา 2 / 579อ่านอรรถกถา 2 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=11915&Z=11995
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9504
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9504
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :