บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
[ว่าด้วยการพินทุจีวรที่ได้มาใหม่ก่อนใช้] ภิกษุได้จีวรใด, เพราะเหตุนั้น จีวรนั้นจึงชื่อว่าลภะ, ลภะนั่นแหละ คือลาภ. ได้อะไร? ได้จีวร. จีวรเช่นไร? จีวรใหม่. เมื่อควรตรัสโดยนัยอย่างนี้ว่า นวจีวรลาเภน ไม่ลบนิคหิตตรัสว่า นวํ จีวรลาเภน ดังนี้. มีใจความว่า ได้จีวรใหม่มา. ศัพท์ว่า ปน ในบททั้ง ๒ วางไว้ตรงกลางเป็นนิบาต. คำว่า ภิกฺขุนา เป็นการแสดงถึงภิกษุผู้ได้จีวร. แต่ในบทภาชนะไม่ทรงเอื้อเฟื้อพยัญชนะ เพื่อจะแสดงแต่จีวรที่ภิกษุได้ จึงตรัสคำว่า จีวรํ นาม ฉนฺนํ จีวรานํ เป็นต้น. ก็ในบทว่า จีวรํ นี้ พึงทราบว่า เป็นจีวรที่อาจนุ่งหรือห่มได้เท่านั้น. เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า จีวรควรวิกัปได้เป็นอย่างต่ำ. บทว่า กํสนีลํ คือ สีเขียวของช่างหนัง. แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า สนิมเหล็ก สนิมโลหะ นั่นชื่อว่าสีเขียวเหมือนสำริด. บทว่า ปลาสนีลํ ได้แก่ น้ำใบไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีเขียวคราม. คำว่า ทุพฺพณฺณกรณํ อาทาตพฺพํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอากัปพินทุ (จุดเครื่องหมาย) มิได้ตรัสหมายถึงการกระทำจีวรทั้งผืนให้เสียสี ด้วยสีเขียวเป็นต้น. ก็แล ภิกษุเมื่อจะถือเอากัปปะนั้น ย้อมจีวรแล้วพึงถือเอาจุดเครื่องหมายเท่าแววตานกยูง หรือว่าหลังตัวเรือด ที่มุมทั้ง ๔ หรือที่มุมทั้ง ๓ ทั้ง ๒ หรือมุมเดียวก็ได้. แต่ในมหาปัจจรีกล่าวว่า จะถือเอาพินทุกัปปะที่ผืนผ้า หรือที่ลูกดุม ไม่ควร. ส่วนในมหาอรรถกถากล่าวว่า ควรแท้. ก็กัปปะที่เป็นแนว และกัปปะที่เป็นช่อเป็นต้น ท่านห้ามไว้ในทุกๆ อรรถกถา เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำกัปปะ โดยวิการแม้อะไรอย่างอื่น เว้นจุดกลมจุดเดียว. ในคำว่า อคฺคเฬ เป็นต้น มีวินิจฉัยว่า ไม่มีกิจที่จะเพิ่มผ้าเพาะเป็นต้นนี้ ในจีวรที่กระทำกัปปะแล้ว ทำกัปปะใหม่ในภายหลัง. บทที่เหลือตื้นทั้งนั้น. สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจเอฬกโลมสิกขาบท เป็นทั้งกิริยาทั้งอกิริยา โนสัญญา ทุพพัณณกรณสิกขาบทที่ ๘ จบ. ------------------------------------------------------------ .. อรรถกถา ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตติย์ สุราปานวรรคที่ ๖ สิกขาบทที่ ๘ จบ. |