ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 125อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 126อ่านอรรถกถา 4 / 127อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
เรื่องห้ามคนลักเพศและคนเข้ารีดมิให้อุปสมบท

               อรรถกถาเถยยสังวาสกกถา               
               บทว่า ปุราณกุลปุตฺโต ได้แก่ บุตรของสกุลเก่า คือถึงความย่อยยับโดยลำดับ.
               บทว่า ขีณโกลญฺโญ มีอรรถวิเคราะห์ว่า ญาติทั้งหลายผู้รู้จักกันในสกุล ฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดาของเขา สิ้นแล้ว สาบสูญแล้ว คือตายแล้ว เหตุนั้น เขาชื่อว่า ขีณโกลญฺโญ ผู้มีญาติซึ่งรู้จักกันในสกุลสิ้นไปแล้ว.
               บทว่า อนธิคตํ ได้แก่ ยังไม่ถึง.
               สองบทว่า ผาตึกาตุํ ได้แก่ เพื่อให้เจริญ. ศัพท์ว่า อิงฺฆ เป็นอุยโยชนัตนิบาต.
               บทว่า อนุยุญฺชิยมาโน มีความว่า กุลบุตรนั้น อันท่านอุบาลีนำไป ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ถามถึงการปลงผมและหนวด การรับผ้ากาสายะ การถึงสรณะ การถืออุปัชฌาย์ กรรมวาจาและธรรมเป็นที่อาศัย.
               สองบทว่า เอตมตฺถํ อาโรเจสิ มีความว่า บอกข้อที่ตนบวชเอาเองนั้น จำเดิมแต่ต้น.
               ในคำว่า เถยฺยสํวาสโก ภิกฺขเว นี้ มีวินิจฉัยว่า คนเถยยสังวาสก์มี ๓ ชนิด คือ คนลักเพศ ๑ คนลักสังวาส ๑ คนลักทั้ง ๒ อย่าง ๑.
               ใน ๓ ชนิดนั้น ผู้ใดบวชเองแล้วไปวัดที่อยู่ ไม่นับพรรษาแห่งภิกษุ ไม่ยินดีการไหว้ตามลำดับผู้แก่ ไม่ห้ามด้วยอาสนะ ไม่เข้าในสังฆกรรมมีอุโบสถและปวารณาเป็นต้น ผู้นี้ชื่อคนลักเพศ เพราะเขาลักแต่เพียงเพศเท่านั้น.
               ฝ่ายผู้ใดเป็นสามเณรซึ่งบวชแต่ภิกษุทั้งหลายแล้ว ไปต่างประเทศ กล่าวเท็จนับพรรษาแห่งภิกษุว่า ข้าพเจ้า ๑๐ พรรษา หรือว่า ข้าพเจ้า ๒๐ พรรษา ยินดีการไหว้ตามลำดับผู้แก่ ห้ามด้วยอาสนะ เข้าในสังฆกรรมมีอุโบสถและปวารณาเป็นต้น. ผู้นี้ชื่อคนลักสังวาส เพราะเขาลักแต่เพียงสังวาสเท่านั้น.
               อันความต่างแห่งกิริยาแม้ทั้งปวง มีนับพรรษา แห่งภิกษุเป็นต้น ผู้ศึกษาควรทราบว่า สังวาส ในอรรถนี้. แม้ในบุคคลผู้ลาสิกขาแล้วปฏิบัติอยู่อย่างนั้น ด้วยคิดว่า ใครๆ ย่อมไม่รู้การลาของเราก็มีนัยเหมือนกัน.
               ส่วนผู้ใดบวชเอาเองแล้วไปวัดที่อยู่ นับพรรษาแห่งภิกษุ ยินดีในการไหว้ตามลำดับผู้แก่ ห้ามด้วยอาสนะ เข้าในสังฆกรรมมีอุโบสถและปวารณาเป็นต้น ผู้นี้ชื่อคนลักทั้ง ๒ เพราะเหตุที่ตนลักทั้งเพศทั้งสังวาส,
               คนเถยยสังวาสก์ทั้ง ๓ ชนิดนี้ เป็นอนุปสัมบัน ไม่ควรให้อุปสมบท, เป็นอุปสัมบัน ควรให้ฉิบหายเสีย, แม้ขอบวชอีก ก็ไม่ควรให้บวช.
               และเพื่อไม่งมงายในเถยยสังวาสกาธิการนี้ พึงทราบบทปกิณณกะนี้ว่า :-
               ชนใดถือเพศในพระศาสนานี้ เพราะราชภัย ทุพภิกขภัย กันตารภัย โรคภัยและเวรีภัยก็ดี เพื่อจะนำจีวรมาก็ดี ชนนั้นมีใจบริสุทธิ์ยังไม่รับสังวาสเพียงใด ชนนั้นบัณฑิตยังไม่กล่าวว่า เป็นคนเถยยสังวาส เพียงนั้น.
               พึงทราบนัยพิสดารในคาถานั้น ดังนี้ :-
               พระราชาในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้กริ้วต่อบุรุษบางคน. บุรุษนั้นคิดว่า ความสวัสดีจักมีแก่เราด้วยอุบายอย่างนี้ แล้วถือเพศเอาเองทีเดียวหนีไป. ชนทั้งหลายพบเขาแล้ว กราบทูลแด่พระราชา. พระราชาทรงบรรเทาความกริ้วโกรธในเขาเสีย ด้วยทรงพระดำริว่า ถ้าบวชแล้ว เราไม่ได้เพื่อจะทำอะไรเขา แต่เขายังมิได้เข้าสู่ท่ามกลางสงฆ์ แต่ถือเพศคฤหัสถ์แล้วจึงมา ด้วยคิดว่า ราชภัยของเราสงบแล้ว ภิกษุทั้งหลายควรให้บวช. ถ้าแม้เขาเกิดความสังเวชว่า เราอาศัยพระศาสนาจึงคงชีวิตไว้ได้ เอาเถิด บัดนี้เราจะบวชละ ดังนี้ มาด้วยเพศนั้นเอง แต่ไม่ยินดีอาคันตุกวัตรอันภิกษุทั้งหลายถามแล้วก็ตาม ไม่ถามก็ตาม ได้ชี้แจงตนตามเป็นจริงแล้ว ขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายพึงปลดเพศแล้วจึงให้บวช. แต่ถ้าเขายินดีวัตร แสดงท่าทางดังบรรพชิต ปฏิบัติวิธีต่างๆ โดยนับพรรษาเป็นต้น ซึ่งกล่าวแล้วในหนหลังทั้งหมด ผู้นี้ไม่ควรให้บวช.
               อนึ่ง คนบางคนในโลกนี้ ไม่สามารถจะเป็นอยู่ได้ในคราวทุพภิกขภัย จึงถือเพศเอาเอง บริโภคอาหารที่เขาจัดไว้เพื่อนักบวชผู้เจ้าลัทธิทั้งปวง ครั้นทุพภิกขภัยผ่านพ้นไปแล้ว ยังมิได้เข้าสู่ท่ามกลางสงฆ์ ต่อถือเพศคฤหัสถ์แล้วจึงมา คำว่าดังนี้ทั้งหมด เช่นกับด้วยคำซึ่งกล่าวมาก่อนนั่นแล.
               อีกคนหนึ่ง เป็นผู้ใคร่จะข้ามกันดารใหญ่ และพ่อค้าเกวียนย่อมพาบรรพชิตทั้งหลายไป. เขาคิดว่า ด้วยอุบายอย่างนี้ พ่อค้าเกวียนจักพาเราไป จึงถือเพศเอาเอง ร่วมกับพ่อค้าเกวียนข้ามทางกันดารถึงส่วนอันเกษม แต่ยังมิได้เข้าสู่ท่ามกลางสงฆ์ ต่อถือเพศคฤหัสถ์แล้วจึงมา คำว่าดังนี้ทั้งปวง เช่นกับคำซึ่งว่ามาก่อนนั่นแล.
               อีกคนหนึ่ง เมื่อภัยคือโรคเกิดขึ้น ไม่สามารถจะเป็นอยู่ได้จึงถือเพศเอาเอง บริโภคอาหารที่เขาจัดไว้เพื่อนักบวชผู้เจ้าลัทธิทั้งปวง. เมื่อภัยคือโรคสงบแล้ว ยังมิได้เข้าสู่ท่ามกลางสงฆ์ก่อน แต่เมื่อถือเพศคฤหัสถ์แล้วจึงมา คำว่าดังนี้ทั้งหมด เป็นเช่นกับคำซึ่งว่ามาก่อนนั่นแล.
               คนคู่เวรคนหนึ่งของบุรุษอีกคนหนึ่ง เป็นผู้โกรธปองจะฆ่าเขาเที่ยวไป เขาคิดว่า ด้วยอุบายอย่างนี้ ความสวัสดีจักมีแก่เรา จึงถือเพศเอาเองแล้วหนีไป. คนผู้คู่เวรสืบหาอยู่ว่าเขาไปไหน ได้ยินว่า เขาบวชแล้วหนีไป จึงบรรเทาความโกรธในเขาเสีย ด้วยคิดว่า เขาบวชแล้ว เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้. เขายังมิได้เข้าสู่ท่ามกลางสงฆ์ก่อน ถือเพศคฤหัสถ์แล้วจึงมา ด้วยคิดว่า เวรีภัยของเราสงบแล้ว คำว่าดังนี้ทั้งหมด เป็นเช่นกับคำซึ่งว่ามาก่อนนั่นแล.
               อีกคนหนึ่งไปสู่สกุลญาติ ลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์แล้ว มาทำในใจว่า จีวรเหล่านี้จักฉิบหายเสียที่นี่ ถ้าแม้เราจักถือไปวิหารด้วยเพศคฤหัสถ์นี้ ในระหว่างทาง ชนทั้งหลายจักจับเราว่า เป็นโจร อย่ากระนั้นเลย เราพึงทำให้เป็นของอันกายพึงรักษาไว้ จึงไปเถิด ดังนี้ เพื่อจะนำจีวรมา จึงนุ่งและห่มแล้วไปวัดที่อยู่ พวกสามเณรและภิกษุหนุ่มทั้งหลายเห็นเธอมาแต่ไกลแล้ว พากันตรงเข้าต้อนรับ แสดงวัตร. เธอไม่ยินดี ชี้แจงตนตามเป็นจริง.
               ถ้าภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ทีนี้พวกเราจักไม่ปล่อยท่านไปละ เป็นผู้ใคร่จะให้บวชด้วยพลการ เธออันภิกษุทั้งหลายพึงเปลื้องผ้ากาสายะแล้วจึงให้บวชอีก. แต่ถ้าเธอคิดว่า ภิกษุเหล่านี้ไม่รู้ข้อที่เราเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลวแล้ว ดังนี้ จึงปฏิญญาความเป็นภิกษุนั้นเอง ปฏิบัติวิธีต่างด้วยนับพรรษาเป็นต้น ซึ่งกล่าวแล้วในหนหลังทั้งหมดผู้นี้ไม่ควรให้บวช.
               สามเณรโค่งอีกรูป ๑ ไปสู่สกุลญาติ สึกแล้ว เป็นผู้เบื่อหน่ายด้วยการทำการงาน จึงคิดว่า บัดนี้เราจักเป็นสมณะอีกเทียว แม้พระเถระย่อมไม่ทราบความที่เราสึกแล้ว จึงถือเอาบาตรและจีวรนั้นเองไปวิหาร ไม่บอกเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ปฏิญญาความเป็นสามเณร. ผู้นี้เป็นเถยยสังวาสก์เหมือนกัน ย่อมไม่ได้บวช.
               ถ้าแม้ในเวลาถือเพศเขามีความรำพึงอย่างนี้ว่า เราจักไม่บอกแก่ใครๆ ดังนี้ แต่เขาไปวิหารแล้ว ย่อมบอก. ด้วยการถือ (เพศ) นั่นเอง เขาเป็นคนเถยยสังวาสก์.
               ถ้าแม้ในเวลาถือ (เพศ) เขามีความคิดเกิดขึ้นว่า เราจักบอก แต่ไปวิหารแล้ว ใครๆ ปราศรัยว่า ผู้มีอายุท่านไปไหนมา คิดว่า เดี๋ยวนี้ ชนเหล่านี้ไม่รู้เรา จึงลวง ไม่บอก; แม้ผู้นี้ก็ชื่อคนเถยยสังวาสก์แท้ พร้อมกับทอดธุระว่า เราจักไม่บอก.
               แต่ถ้าถึงในเวลาถือ (เพศ) เขามีความคิดเกิดขึ้นว่า เราจักบอก แม้ไปวิหารแล้ว ย่อมบอก; ผู้นี้ย่อมได้บรรพชาอีก.
               ก็หรือว่า สามเณรหนุ่มอื่นอีก เป็นคนใหญ่ แต่โง่ไม่ฉลาด เธอสึกแล้วโดยนัยก่อนนั่นแล ไม่อยากทำกิจมีเฝ้าโคเป็นต้นในเรือนญาติทั้งหลาย ให้เขานั้นนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านั้นเอง แล้วให้ภาชนะหรือบาตรในมือขับออกจากเรือนว่า เจ้าจงไปเป็นสมณะเถอะ. เขาไปวิหาร ภิกษุทั้งหลายไม่ทราบ เขาเลยว่า ผู้นี้สึกแล้วบวชเอาเองอีก ทั้งตัวเองก็ไม่ทราบว่า ผู้ใดบวชอย่างนั้น ผู้นั้นย่อมเป็นคนที่ชื่อเถยยสังวาสก์.
               ถ้าภิกษุทั้งหลายให้อุปสมบทเขาผู้มีกาลฝนครบ ๒๐ เขาก็เป็นอันอุปสมบทดีแล้ว. แต่ถ้าในเวลาที่ตนยังเป็นอนุปสัมบันนั่นเอง เมื่อการวินิจฉัยวินัยเป็นไปอยู่เขาได้ฟังว่า ผู้ใดบวชอย่างนั่น ผู้นั้นย่อมเป็นคนที่ชื่อเถยยสังวาสก์ เขาพึงบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าได้ทำอย่างนั้น ด้วยประการอย่างนี้ เขาย่อมได้บรรพชาอีก. ถ้าไม่บอกด้วยคิดว่า บัดนี้ใครๆ ไม่รู้เลย พอทอดธุระเขาย่อมเป็นคนเถยยสังวาสก์.
               ภิกษุลาสิกขาละเพศแล้วทำทุศีลกรรมก็ตาม ไม่ทำก็ตาม ปฏิบัติวิธีต่างด้วยนับพรรษาเป็นต้น ซึ่งกล่าวแล้วในหนหลังทั้งหมด; ย่อมเป็นคนเถยยสังวาสก์.
               ไม่ได้ลาสิกขา คงตั้งอยู่ในเพศของตน เสพเมถุน ใช้วิธีต่างด้วยนับพรรษาเป็นต้น ไม่เป็นคนเถยยสังวาสก์. ย่อมได้เพียงบรรพชา. แต่ในอันธกอรรถกถาแก้ว่า ผู้นี้เป็นคนเถยยสังวาสก์ คำนั้นไม่ควรถือเอา.
               ภิกษุรูป ๑ ยังมีอุตสาหะในผ้ากาสายะ นุ่งผ้าขาว เสพเมถุนแล้ว กลับนุ่งผ้ากาสายะอีก ใช้วิธีทั้งปวงต่างด้วยนับพรรษาเป็นต้น แม้ภิกษุนี้ย่อมไม่เป็นคนเถยยสังวาสก์ ย่อมได้เพียงบรรพชา.
               แต่ถ้าทอดธุระในผ้ากาสายะแล้ว นุ่งขาว เสพเมถุน กลับนุ่งผ้ากาสายะอีก ใช้วิธีทั้งปวงต่างด้วยนับพรรษาเป็นต้น; เขาย่อมเป็นคนเถยยสังวาสก์.
               สามเณรคงตั้งอยู่ในเพศของตน แม้ล่วงธรรมทำให้เป็นผู้มิใช่สมณะมีเมถุนเป็นต้นแล้ว ย่อมไม่เป็นคนเถยยสังวาสก์ ถึงหากว่ายังมีอุตสาหะในผ้ากาสายะ แต่เปลื้องออกเสียเสพเมถุนแล้ว กลับนุ่งผ้ากาสายะอีก; ไม่เป็นคนเถยยสังวาสก์เหมือนกัน,
               แต่ถ้าทอดธุระในผ้ากาสายะแล้วเป็นผู้เปลือย หรือนุ่งขาวเป็นผู้มิใช่สมณะด้วยการเสพเมถุนเป็นต้น แล้วกลับนุ่งผ้ากาสายะ เขาเป็นคนเถยยสังวาสก์.
               ถ้าสามเณรปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ จึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ ทำผ้ากาสายะโจงกระเบนก็ดี ด้วยอาการอย่างอื่นก็ดี เพื่อลองดูว่า เพศคฤหัสถ์ของเราสวยหรือไม่สวย ยังรักษาอยู่ก่อน, แต่ยอมรับว่าสวยแล้วกลับยินดีเพศอีกย่อมเป็นคนเถยยสังวาสก์. แม้ในการนุ่งขาวลองดูและยอมรับ ก็มีนัยเหมือนกันนั่นแล.
               และถ้านุ่งขาวทับผ้ากาสายะที่นุ่งอยู่แล้ว ลองดูก็ตาม ยอมรับก็ตาม ยังรักษาอยู่แท้. แม้แห่งภิกษุณี ก็นัยนี้แล.
               แม้นางภิกษุณีนั้นปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ถ้านุ่งผ้ากาสายะอย่างคฤหัสถ์ เพื่อลองดูว่า เพศคฤหัสถ์ของเราจะสวยหรือไม่สวย ยังรักษาอยู่ก่อน ถ้ายอมรับว่า สวย รักษาไว้ไม่ได้. ในการนุ่งขาวลองดูและยอมรับก็นัยนี้แล.
               ส่วนผู้นุ่งขาวทับผ้ากาสายะที่นุ่งอยู่แล้ว จะลองดูก็ตาม ยอมรับก็ตาม ยังรักษาอยู่แท้. ถ้าสามเณรบางรูปบวชภายแก่ ไม่นับพรรษา ไม่ต้องอยู่แม้ในแถว มาทางข้างหนึ่ง เมื่อก้อนข้าวในลุ้งใหญ่เป็นต้น ซึ่งเขาเอาทัพพีตักขึ้น สอดบาตรเข้าไปรับเอาไปเหมือนเหยี่ยวเฉี่ยวชิ้นเนื้อไปฉะนั้น ยังไม่เป็นคนเถยยสังวาสก์. แต่เมื่อนับพรรษาภิกษุรับเอา จัดว่าเป็นคนเถยยสังวาสก์.
               สามเณรเองแล เมื่อนับพรรษาโกงด้วยลำดับของสามเณรรับเอาไป ยังไม่จัดเป็นเถยยสังวาสก์.
               ภิกษุเมื่อนับพรรษาโกงด้วยลำดับของภิกษุรับเอาไป พึงปรับตามราคาแห่งภัณฑะ.

               อรรถกถาเถยยสังวาสกกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาติตถิยปักกันตกถา               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ติตฺถิยปกฺกนฺโต ภิกฺขเว เป็นต้นนี้ ดังนี้ :-
               กุลบุตรที่ชื่อว่าเข้ารีตเดียรถีย์ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่าหลีกไป คือไปเข้าพวกเดียรถีย์. กุลบุตรนั้นไม่ควรให้อุปสมบทอย่างเดียว แต่ที่แท้ไม่ควรให้บรรพชาด้วยฉะนี้แล.
               วินิจฉัยในคำนั้น พึงทราบดังต่อไปนี้ :-
               อุปสัมบันภิกษุคิดว่า เราจักเป็นเดียรถีย์ แล้วไปสู่สำนักแห่งเดียรถีย์เหล่านั้นทั้งเพศทีเดียว เป็นอาบัติทุกกฎทุกๆ ย่างเท้า, เมื่อเพศแห่งเดียรถีย์นั้น สักว่าอันตนถือเอาแล้ว ย่อมจัดว่าเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์. แม้ภิกษุคิดว่า เราจักเป็นเดียรถีย์เอาเอง จึงนุ่งคากรองเป็นต้น ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์เหมือนกัน.
               ฝ่ายภิกษุใดเมื่อเปลือยกายอาบน้ำแลดูตนว่า การที่เราเป็นอาชีวกจะงามหรือ เราจะเป็นอาชีวกละ ดังนี้แล้ว ไม่ถือเอาผ้ากาสายะ คงเปลือยกายไปสู่สำนักพวกอาชีวก ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฎทุกๆ ย่างเท้า. แต่ถ้าในระหว่างทาง หิริโอตตัปปะเกิดขึ้นแก่เธอ เธอแสดงอาบัติทุกกฎแล้ว ย่อมพ้น.
               แม้ไปถึงสำนักพวกอาชีวกเหล่านั้นแล้ว ถูกพวกเขาตักเตือน หรือแม้เห็นว่า บรรพชาของชนพวกนี้เป็นทุกข์ยิ่งนัก แล้วกลับด้วยตนเอง ย่อมพ้นได้เหมือนกัน.
               อนึ่ง ถ้าเธอถามว่า อะไรเป็นสูงสุดแห่งบรรพชาของพวกท่าน? อันเขาตอบว่า การถอนผมและหนวดเป็นต้น แล้วให้ถอนแม้ผมเส้นเดียว ถือวัตรมีความเพียรด้วยความกระโหย่งเท้าเป็นต้นก็ดี นุ่งผ้าแววหางนกยูงเป็นต้นก็ดี ชื่อว่าถือเพศแห่งอาชีวกเหล่านั้น ชื่อว่ายอมรับความเป็นลัทธิประเสริฐว่า บรรพชานี้ประเสริฐ เธอย่อมไม่พ้น จัดว่าเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์.
               อนึ่ง ถ้าเธอเพื่อจะลองดูว่า การบวชเป็นเดียรถีย์สำหรับเราจะงามหรือไม่งาม จึงนุ่งคากรองเป็นต้น หรือว่าผูกชฎา หรือว่าฉวยหาบบริขาร ยังไม่ยอมรับเพียงใด ลัทธิย่อมคุ้มเธอไว้เพียงนั้น ครั้นเมื่อเพศสักว่าเธอยอมรับแล้ว ย่อมจัดว่า เป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์.
               ส่วนภิกษุผู้มีจีวรอันโจรชิงเอาไป จึงนุ่งคากรองเป็นต้นก็ดี ถือเพศเดียรถีย์ เพราะภัยมีราชภัยเป็นต้นก็ดี หาจัดว่าเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ไม่เลย เพราะไม่มีลัทธิ.
               แต่ในอรรถกถากุรุนทีแก้ว่า ขึ้นชื่อว่า บุคคลผู้เข้ารีตเดียรถีย์นี้ ท่านกล่าวด้วยอุปสัมบันภิกษุ. เพราะเหตุนั้น สามเณรแม้ไปสู่ติตถายตนะแล้วพร้อมทั้งเพศ ย่อมได้บรรพชาและอุปสมบทอีก.
               ส่วนคนเถยยสังวาสก์ข้างต้น ท่านว่าด้วยอนุปสัมบัน เพราะเหตุนั้น อุปสัมบันแม้นับพรรษาโกง จะจัดว่าเป็นผู้มิใช่สมณะหามิได้ ภิกษุยังมีอุตสาหะในเพศ แม้ต้องปาราชิกแล้ว นับพรรษาแห่งภิกษุเป็นต้น ก็ยังไม่จัดว่าเป็นคนเถยยสังวาสก์.

               อรรถกถาติตถิยปักกันตกถา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ เรื่องห้ามคนลักเพศและคนเข้ารีดมิให้อุปสมบท จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 125อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 126อ่านอรรถกถา 4 / 127อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=3496&Z=3516
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=1837
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=1837
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :