บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า อนุปชฺฌายกํ มีความว่า เว้นจากอุปัชฌาย์ทุกๆ อย่าง เพราะไม่ให้ถืออุปัชฌาย์. กุลบุตรทั้งหลายผู้อุปสมบทแล้วอย่างนั้น ย่อมไม่ได้ความสงเคราะห์โดยธรรม โดยอามิส เขาย่อมเสื่อมเท่านั้น ย่อมไม่เจริญ. หลายบทว่า น ภิกฺขเว อนุปชฺฌายโก เป็นต้น มีความว่า กุลบุตรชื่อผู้ไม่มีอุปัชฌาย์ เพราะไม่ให้ถืออุปัชฌาย์ ไม่พึงให้อุปสมบท. เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ให้อุปสมบทด้วยอาการอย่างนั้น จำเดิมแต่ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุใดพึงให้อุปสมบท ภิกษุนั้นต้องทุกกฎ. ส่วนกรรมหากำเริบไม่. พระอาจารย์บางพวกกล่าวว่า กำเริบ คำของอาจารย์บางพวกนั้น ไม่ควรถือเอา. แม้ในคำทั้งหลาย มีคำว่า สงฺเฆน อุปชฺฌาเยน เป็นต้น มีอุภโตพยัญชนกเป็นอุปัชฌาย์เป็นที่สุด ก็นัยนี้แล. ข้อว่า อปตฺตกา หตฺเถสุ ปิณฺฑาย จรนฺติ มีความว่า ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่มีบาตรย่อมเที่ยวไป เพื่อประโยชน์แก่บิณฑะอันตนจะได้ในมือทั้ง ๒. ข้อว่า เสยฺยถาปิ ติตฺถิยา มีความว่า เหมือนพวกเดียรถีย์มีชื่ออาชีวก. จริงอยู่ เดียรถีย์เหล่านั้น ย่อมฉันบิณฑะอันตนคลุกด้วยแกงและกับใส่ไว้ในมือทั้ง ๒ นั้นเอง. สองบทว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ให้อุปสมบทด้วยอาการอย่างนั้นเท่านั้น. ส่วนกรรมไม่กำเริบแม้ในวัตถุว่าอจีวรกา เป็นต้น ก็นัยนี้แล. บทว่า ยาจิตเกน มีความว่า ด้วยบาตรเป็นของยืมซึ่งอุปสัมปทาเปกขะอ้อนวอนยืมมาว่า ขอท่านจงให้เพียงที่ข้าพเจ้ากระทำการอุปสมบทเถิด. จริงอยู่ ย่อมเป็นอาบัติเฉพาะแก่ภิกษุผู้ให้อุปสมบทด้วยบาตรหรือจีวร หรือทั้งบาตรทั้งจีวร เช่นนี้ แต่กรรมไม่กำเริบ. เพราะเหตุนั้น กุลบุตรผู้มีบาตรจีวรครบเท่านั้น จึงควรให้อุปสมบท. ถ้าของเขาไม่มี และอาจารย์อุปัชฌาย์อยากจะให้เขา หรือภิกษุเหล่าอื่นปรารถนาจะให้อาจารย์และอุปัชฌาย์ หรือภิกษุเหล่าอื่นผู้ไม่เสียดาย พึงสละให้บาตรและจีวรที่ควรอธิษฐานได้. แต่จะให้บรรพชาเปกขะผู้ดังใบไม้เหลืองบวช ด้วยบาตรและจีวรแม้ที่ยืมมาสมควรอยู่, แม้ถือเอาด้วยวิสาสะในที่แห่งภิกษุผู้เป็นสภาคกันแล้วให้บวชก็ควร. แต่ถ้าปัณฑุปลาสนั้น เป็นผู้ถือบาตรที่ยังมิได้ระบมและผ้าที่ควรแก่จีวรมา, บาตรยังระบมอยู่และจีวรยังกระทำอยู่เพียงใด ควรจะให้อนามัฏฐบิณฑบาตแก่เขาผู้พักอยู่ในวิหารเพียงนั้น. ปัณฑุปลาสนั้นจะบริโภคในบาตร ก็ควร. ในเวลาก่อนฉันอาหาร ส่วนแห่งอามิสเท่ากับส่วนของสามเณรอันภิกษุผู้เป็นภัตตุทเทสก์สมควรจะให้. ส่วนการถือเสนาสนะและภัตต่างๆ มีสลากภัต อุทเทสภัตและนิมันตนภัตเป็นต้น ไม่สมควรให้. แม้ในเวลาภายหลังอาหาร ส่วนแห่งเภสัชมีน้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น เท่ากับส่วนของสามเณร อันภิกษุผู้เป็นภัตตุทเทสก์สมควรจะให้. ถ้าเขาเป็นไข้ ภิกษุทั้งหลายควรจะทำยาให้เขา และควรทำการปรนนิบัติทั้งปวงแก่เขา เหมือนทำแก่สามเณร ฉะนี้แล. อรรถกถาอนุปัชฌายกาทิวัตถุ จบ. ----------------------------------------------------- อรรถกถาหัตถัจฉินนาทิวัตถุกถา มือข้างเดียวหรือทั้ง ๒ ข้าง ของผู้ใด เป็นอวัยวะขาดไปที่ฝ่ามือก็ดี ที่ข้อมือก็ดี ที่ศอกก็ดี ส่วนใดส่วนหนึ่ง ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีมือขาด. เท้าข้างเดียวหรือทั้ง ๒ ข้าง ของผู้ใด เป็นอวัยวะขาดไปที่ปลายเท้าก็ดี ที่ข้อเท้าก็ดี ที่แข้งก็ดี ส่วนใดส่วนหนึ่ง ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีเท้าขาด. ในมือและเท้าทั้ง ๔ โดยประการดังกล่าวแล้วนั่นแล มือและเท้าของผู้ใด ๒ หรือ ๓ หรือทั้งหมด เป็นอวัยวะขาดไป ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีมือและเท้าขาด. หูของผู้ใด ข้างเดียวหรือทั้ง ๒ ข้างเป็นอวัยวะขาดไปที่เง่าหูก็ดี ที่ใบหูก็ดี ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีหูขาด. แต่หูของผู้ใด ย่อมฉีกที่ตุ้มแห่งหู แต่เป็นอวัยวะที่อาจต่อให้ติดกันได้ ผู้นั้นพึงให้ต่อหูให้ติดแล้ว จึงให้บวช. จมูกของผู้ใด เป็นอวัยวะแหว่งวิ่นไปที่ดั้งจมูกก็ดี ที่ช่องจมูกข้างเดียวก็ดี ช่องจมูกทั้ง ๒ ก็ดี ส่วนใดส่วนหนึ่ง ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีจมูกแหว่ง. แต่จมูกของผู้ใด เป็นอวัยวะที่อาจประสานให้ติดกันได้. ผู้นั้นพึงทำจมูกนั้นให้หายแล้วจึงให้บวช. บุคคลที่ชื่อว่าผู้มีหูและจมูกแหว่ง พึงทราบด้วยอำนาจแห่งอวัยวะทั้ง ๒. นิ้วของผู้ใด นิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว เป็นอวัยวะขาดไป ไม่เห็นมีเล็บเหลือ ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีเล็บด้วน แต่เล็บที่เหลือของผู้ใด แม้ประมาณเท่าเส้นด้ายยังปรากฏ จะให้ผู้นั้นบวชควรอยู่. ในหัวแม่มือแม่เท้าทั้ง ๔ นิ้ว หัวแม่มือและแม่เท้าของผู้ใด นิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว เป็นอวัยวะขาดไป ตามนัยที่กล่าวแล้วในนิ้วผู้นั้นชื่อว่ามีง่าม มือง่ามเท้าขาด. เอ็นใหญ่ที่ชื่อว่ากัณฑระของผู้ใด เป็นอวัยวะขาดไป ข้างหน้าก็ดี ข้างหลังก็ดี ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีเอ็นขาด บุคคลย่อมก้าวเดินด้วยปลายเท้าบ้าง ด้วยส้นเท้าบ้าง หรือไม่อาจยันเท้าลงตรงๆ ได้ ก็เพราะในเอ็นใหญ่เหล่านั้น แม้เอ็นหนึ่งขาดไป. นิ้วมือของผู้ใด เป็นของติดกันเหมือนปีกค้างคาว ผู้นั้นชื่อว่าผู้มีมือเป็นแผ่น. ภิกษุผู้ใคร่จะให้บุคคลนั้นบวช พึงผ่าหนังซึ่งมีในระหว่างนิ้ว เอาหนังในระหว่างออกทั้งหมด รักษาหายแล้วจึงให้บวช. แม้ผู้ใดมี ๖ นิ้ว ภิกษุผู้ใคร่จะให้ผู้นั้นบวชพึงตัดนิ้วที่เกินเสีย รักษาหายแล้วจึงให้บวช. ผู้ใดจัดว่ามีร่างกายค่อม เพราะอกหรือหลัง หรือสีข้างโกง ผู้นั้นชื่อว่าคนค่อม. แต่อวัยวะน้อยใหญ่บางส่วนของผู้ใด โกงไปนิดหน่อย จะให้ผู้นั้นบวช สมควรอยู่. เพราะว่าพระมหาบุรุษเท่านั้นมีพระกายตรงดังกายพรหม สัตว์ที่เหลือชื่อว่าผู้ไม่ค่อมย่อมไม่มี. คนมีขาสั้นก็ดี มีบั้นเอวสั้นก็ดี สั้นทั้ง ๒ ก็ดี ชื่อว่าคนเตี้ย. กายท่อนล่างตั้งแต่บั้นเอวลงมา แห่งคนขาสั้น เป็นของสั้น กายท่อนบนสมบูรณ์. กายท่อนบนตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไป แห่งคนบั้นเอวสั้น เป็นของสั้น กายท่อนล่างบริบูรณ์. กายทั้ง ๒ ท่อน แห่งคนสั้นทั้ง ๒ เป็นของสั้น. ร่างกายย่อมกลมรอบคล้ายหม้อมีกะพุ้งใหญ่เหมือนร่างกายแห่งภูตทั้งหลาย เพราะกายทั้ง ๒ ท่อนเหล่าไรเล่าเป็นของสั้น จะให้ชนนั้นแม้ทั้ง ๓ ชนิดบวช ย่อมไม่ควร. ที่คอแห่งผู้ใด มีพอกดังลูกฟัก ผู้นั้นชื่อว่าคนคอพอก. และคำนี้สักว่าแสดง แต่เมื่อมีพอกที่ประเทศอันใดอันหนึ่ง ก็ไม่ควรให้บวช. วินิจฉัยในคำว่า คลคณฺฑี นั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในคำนี้ว่า น ภิกฺ คำใดที่จะพึงกล่าวในคนมีรอยแผลเป็น คนถูกเฆี่ยนด้วยหวายและคนถูกเขียนไว้ คำนั้นข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ในข้อทั้งหลายมีข้อว่า น ภิกฺขเว ลกฺขณาหโต เป็นต้นนั่นแล. คนมีเท้าเป็นตุ้ม ท่านเรียกว่าคนตีนปุก. เท้าของผู้ใดอูมเกิดเป็นตุ้มแข็ง ผู้นั้นไม่ควรให้บวช แต่เท้าของผู้ใด ยังไม่ทันจับแข็ง เป็นของที่อาจผูกเครื่องรัดแช่ไว้ในหลุมน้ำ กลบด้วยทรายเปียกน้ำให้เต็มให้เหี่ยวยุบลงจนเส้นเอ็นปรากฏ และแข้งเป็นเหมือนกระบอกน้ำมัน จะทำเท้าของผู้นั้นให้เป็นเช่นนี้ แล้วให้เขาบวชควรอยู่. ถ้าตุ้มนั้นเขื่องขึ้นอีก แม้เมื่อจะให้อุปสมบท พึงทำอย่างนั้น จึงให้อุปสมบท. คนน่าเกลียด ไม่น่าชอบใจ มีความเดือดร้อนเป็นนิตย์ มีโรคที่รักษาไม่หายด้วยโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ในบรรดาโรคริดสีดวงงอก ริดสีดวงลำไส้ โรคดี โรคเสมหะ โรคไอ โรคหืด เป็นต้น ชื่อว่า คนมีโรคเป็นผลแห่งบาป แม้บุคคลนี้ก็ไม่ควรให้บวช. ผู้ใดย่อมประทุษร้ายบริษัท เพราะความที่ตนมีรูปแปลก ผู้นั้นชื่อปริสทูสกะ คือเป็นคนสูงเกินไป มีนาภีประเทศแค่ศีรษะของชนเหล่าอื่นบ้าง. เตี้ยเกินไปดังรูปแห่งภูต เตี้ยทั้ง ๒ ท่อนบ้าง. ดำเกินไป คล้ายตอไม้ที่นาถูกไฟไหม้บ้าง. ขาวเกินไป มีสีคล้ายบาตรทองแดงที่ขัดด้วยนมส้มและเปรียงเป็นต้นบ้าง. ผอมเกินไป มีเนื้อและเลือดน้อย ประหนึ่งร่างกายซึ่งมีแต่กระดูก เอ็นและหนังบ้าง. อ้วนเกินไป มีเนื้อตั้งหาบ มีพุงพลุ้ยเช่นกับมหาภูตบ้าง. มีศีรษะใหญ่เกินไป เหมือนวางกระเช้าไว้บนศีรษะบ้าง. มีศีรษะหลิมเกินไป คือประกอบด้วยศีรษะเล็กนักไม่สมตัวบ้าง. มีศีรษะเป็นลอนๆ คือประกอบด้วยศีรษะเช่นกับทะลายแห่งผลตาลบ้าง. มีศีรษะเรียวแหลม คือประกอบด้วยศีรษะอันสอบขึ้นไปโดยลำดับบ้าง. มีศีรษะดังลำไผ่ คือเป็นกระบอก ประกอบด้วยศีรษะเช่นกับปล้องไม้ไผ่อย่างเขื่องบ้าง. มีศีรษะเป็นง่ามบ้าง. มีศีรษะเป็นเงื้อมคือประกอบด้วยศีรษะอันงุ้มลงในข้างทั้ง ๔ ข้างใดข้างหนึ่งบ้าง. มีศีรษะเป็นแผลบ้าง มีศีรษะเน่าบ้าง. มีผมเป็นหย่อมๆ คือมาตามพร้อมด้วยผมที่ขึ้นในที่นั้นๆ เช่นกับข้าวกล้าในกระทงนาที่สัตว์กัดกินบ้าง. มีศีรษะลุ่นไม่มีผมบ้าง. มีผมหยาบแข็งคือมาตามพร้อมด้วยผมเช่นกับแปรงตาลบ้าง. มีผมขาวด้วยผมอันหงอกแต่กำเนิดบ้าง. มีผมเป็นปกติ คือมาตามพร้อมด้วยผมเหมือนเปลวเพลิงจับบ้าง. มีผมบนศีรษะเวียน คือมาตามพร้อมด้วยผมขวัญทั้งหลายมีปลายชันขึ้นเบื้องบน เช่นกับขวัญในตัวโคบ้าง. มีขนคิ้วเนื่องเป็นอันเดียวกับผมบนศีรษะ คือมาตามพร้อมด้วยหน้าผากดังหุ้มด้วยร่างแหบ้าง, มีคิ้วติดกันบ้าง, ไม่มีขนคิ้วบ้าง, มีคิ้วคล้ายลิงบ้าง. มีตาใหญ่เกินไปบ้าง, มีตาเล็กเกินไปบ้าง, คือมาตามพร้อมด้วยตาทั้ง ๒ เช่นกับช่องในหนังกระบือที่เขาแทงด้วยปลายมีดบ้าง, มีตาส่อน คือมาตามพร้อมด้วยตาใหญ่ข้างหนึ่ง เล็กข้างหนึ่งบ้าง, มีวงตาดำไม่เสมอ คือมาตามพร้อมด้วยวงตาดำไม่เสมอกันอย่างนี้ คือข้างหนึ่งสูง ข้างหนึ่งต่ำบ้าง, คนตาเหล่บ้าง, คนมีตาลึก คือมีลูกตาปรากฏเหมือนโป่งน้ำในบ่อน้ำอันลึกบ้าง, คนมีตาทะเล้นออก คือมีลูกตายื่นออกเหมือนตาแห่งปลาบ้าง. มีหูเหมือนช้าง คือมาตามพร้อมด้วยใบหูอันใหญ่บ้าง, มีหูเหมือนหนู หรือมีหูเหมือนค้างคาว คือมาตามพร้อมด้วยใบหูอันเล็กบ้าง, คนมีแต่ช่องหู คือปราศจากใบหู มีแต่ช่องหูเท่านั้นบ้าง, คนมีหูเจาะกว้างบ้าง, แต่ชนชาติโยนก ไม่จัดเป็นคนประทุษร้ายบริษัท เพราะว่าการเจาะหูกว้างนั้น เป็นประเพณีของเขาโดยเฉพาะ.๑- คน ____________________________ ๑- ตามนัยโยชนา แปลว่า จริงอยู่ หูเช่นนั้นเป็นสภาพโดยเฉพาะของชนชาติโยนกนั้น. ๒- โคภตฺตนาฬิกาย. คนมีตาเหลืองเกินไปบ้าง แต่จะให้คนมีตาเหลืองดังน้ำผึ้งบวชสมควรอยู่, คนไม่มีขนตาบ้าง, คนมีตามีน้ำตาไหลบ้าง, คนมีตาแหกบ้าง, คนมีตาประกอบด้วยโรคยังตาให้สุก คือคนตาแฉะ มีขี้ตากรังบ้าง. คนมีจมูกใหญ่เกินไปบ้าง, มีจมูกเล็กเกินไปบ้าง, คนมีจมูกบี้บ้าง, คนมีจมูกคดเบี้ยวไปข้างหนึ่งไม่ตั้งอยู่ตรงกลางบ้าง, คนมีจมูกยาว คือมาตามพร้อมด้วยจมูกดังสุกร ซึ่งอาจเลียด้วยลิ้นได้บ้าง, คนมีจมูกมีน้ำมูกไหลออกเป็นนิจบ้าง. คนมีปากใหญ่ คือมีเค้าแห่งปากเท่านั้นใหญ่เหมือนปากแห่งกบปากกว้าง ส่วนหน้าเล็กนัก เช่นกับน้ำเต้าบ้าง, คนมีปากอ้าบ้าง, คนมีปากคดบ้าง. คนมีริมฝีปากใหญ่ คือมาตามพร้อมด้วยริมฝีปากเช่นกับเกลียวปากหม้อข้าวบ้าง, คนมีริมฝีปากสั้น คือมาตามพร้อมด้วยริมฝีปากอันไม่สามารถจะปิดฟันมิด เช่นกับหนังหุ้มกลองบ้าง, คนมีริมฝีปากล่างหนาบ้าง, คนมีริมฝีปากแหว่งบ้าง. คนมีปากมีน้ำลายไหลเสมอบ้าง, คนมีปากสุกแดงนักบ้าง, คนมีปากดังสังข์ คือมาตามพร้อมด้วยริมฝีปากข้างนอกขาว ข้างในแดงจัดบ้าง, คนมีปากเหม็นดังซากศพบ้าง. คนมีฟันใหญ่ คือมาตามพร้อมด้วยฟันเช่นกับสัตว์มี ๘ ซี่บ้าง, คนมีฟันดังอสูร คือมีฟันล่างหรือฟันบนออกนอกปากบ้าง, ส่วนฟันของผู้ใดเป็นของอาจปิดด้วยริมฝีปาก เมื่อพูดเท่านั้นจึงปรากฏ เมื่อไม่พูดไม่ปรากฏ จะให้ผู้นั้นบวชสมควรอยู่. คนมีฟันเน่าบ้าง, คนไม่มีฟันบ้าง, แต่ในระหว่างฟันของผู้ใด มีฟันซี่เล็กดังฟันกระแต จะให้ผู้นั้นบวชสมควรอยู่. คนมีคางใหญ่ คือมาตามพร้อมด้วยคางดังคางแห่งโคบ้าง, คนมีคางยาวบ้าง, คนมีคางเฟ็ด คือมาตามพร้อมด้วยคางอันสั้นนักดังหดหายเข้าในบ้าง, คนมีคางหักบ้าง, คนมีคางคดบ้าง. คนไม่มีหนวดและเครา คือมีหน้าคล้ายนางภิกษุณีบ้าง. คนมีคอยาว คือประกอบด้วยคอเช่นกับคอนกยางบ้าง, คนมีคอสั้น คือประกอบด้วยคอดังหดหายเข้าข้างในบ้าง, คนมีคอง้ำลงบ้าง. คนมีจะงอยไหล่อันลู่บ้าง, คนไม่มีมือบ้าง, คนมีมือข้างเดียวบ้าง, คนมีมือสั้นเกินบ้าง, คนมีมือยาวเกินบ้าง. คนมีอกหักบ้าง, คนมีหลังหักบ้าง, คนมีตัวเป็นคุดทะราดบ้าง, มีตัวเป็นลำลาบบ้าง, มีตัวเป็นหิดบ้าง, มีตัวเหมือนเหี้ย คือมีผงร่วงจากตัว ดังเหี้ยบ้าง, ก็แลคำว่า มีตัวเป็นคุดทะราดเป็นต้นทั้งหมด ข้าพเจ้าหมายเอาโรคที่ทำกายให้มีรูปแปลก กล่าวแล้วด้วยอำนาจแห่งปริสทูสกศัพท์อันมีความกว้าง. ส่วนวินิจฉัยในคำนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในคำนี้ว่า น ภิกฺขเว ปญฺจหิ อาพาเธหิ ผุฏฺโฐ นั่นแล. คนมีบั้นเอวหักบ้าง, คนมีตะโพกใหญ่ คือประกอบด้วยเนื้อตะโพกอันสูงเกินไป เช่นกับกระพุ้งแห่งเตาบ้าง, คนมีขาใหญ่บ้าง, คนมีอัณฑะใหญ่บ้าง, คนมีเข่าใหญ่บ้าง, คนมีเข่าเบียดกันบ้าง, คนมีแข้งยาว คือมีแข้งเช่นกับไม้เท้าบ้าง. คนมีเท้าผิดกฏ คือไปตามขวางบ้าง,๓- คนมีเท้าบิดไปข้างหลังบ้าง,๓- คนมีปลีน่องเป็นปั้นสูงบ้าง,๓- คนมีปลีน่องเป็นปั้นสูงนั้นมี ๒ ชนิด คือประกอบด้วยปลีแข้งใหญ่งอกย้อยลงภายใต้ก็มี อวบขึ้นเบื้องบนก็มี คนมีแข้งใหญ่บ้าง คนมีก้อนเนื้อที่แข้งหนาบ้าง, คนมีเท้าใหญ่บ้าง, คนมีส้นใหญ่บ้าง, คนมีปลายเท้ากับส้นเท่ากัน คือมีแข้งตั้งขึ้นจากกลางเท้าบ้าง, คนมีเท้าเกบ้าง, คนมีเท้าเกนั้นมี ๒ ชนิด คือมีเท้าบิดเข้าไปในก็มี บิดออกนอกก็มี. คนมีนิ้วหงิก คือประกอบด้วยนิ้วเช่นกับแง่งขิงบ้าง, คนมีเล็บดำ คือประกอบด้วยเล็บเน่ามีสีดำบ้าง, คนแม้ทั้งหมดนี้เป็นคนประทุษร้ายบริษัท คนประทุษร้ายบริษัทเห็นปานนี้ ไม่ควรให้บวช. บทว่า กาโณ มีความว่า คนตาบอดตาใส หรือคนมีจักษุประสาท อันต่อมเลือดเป็นต้นขจัดเสียก็ตามที ผู้ใดมองไม่เห็นด้วยตาทั้ง ๒ หรือข้างเดียว ผู้นั้นไม่ควรให้บวช. แต่ในมหาปัจจรีอรรถกถาแก้ว่า คนตาบอดข้างเดียวเรียกว่ากาณะ, คนตา ในมหาอรรถกถาแก้ว่า คนบอดแต่กำเนิด เรียกว่าอันธะ เพราะเหตุนั้น คำแม้ทั้ง ๒ ย่อมถูกโดยปริยาย. คนมือง่อยก็ดี คนเท้าง่อยก็ดี, คนนิ้วง่อยก็ดี ชื่อว่าคนง่อย. บรรดาอวัยวะทั้งหลายมีมือเป็นต้นเหล่านั้น ส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้ใดงอปรากฏ ผู้นั้นชื่อคนง่อย. คนเข่าพับก็ดี, คนแข้งหักก็ดี, คนมีอุ้งเท้าคด เพราะมีเท้าหักตรงกลาง คือเดินด้วยท่ามกลางแห่งหลังเท้าก็ดี, คนมีปลายเท้าพับ เพราะมีเท้าหักปลาย คือเดินด้วยหลังเท้าท่อนปลายก็ดี, คนเดินเขย่งเฉพาะด้วยปลายเท้าก็ดี, คนเดินเขย่งด้วยส้นเท้าก็ดี, คนเดินเขยกด้วยส่วนนอกแห่งเท้าก็ดี, คนเดินเขยกด้วยส่วนในแห่งเท้าก็ดี, คนเดินเขยกด้วยหลังเท้าทั้งหมด เพราะมีข้อเท้าทั้ง ๒ หักตอนบนก็ดี, ชื่อว่าคนกระจอก คนชนิดนี้แม้ทั้งหมด เป็นคนกระจอกแท้ ไม่ควรให้บวช. มือข้างหนึ่งก็ดี เท้าข้างหนึ่งก็ดี ตัวซีกหนึ่งก็ดี ของผู้ใดไม่นำความสุขมาให้ ผู้นั้นชื่อว่าผู้ชาไปแถบหนึ่ง. คนเปลี้ย เรียกว่าคนมีอิริยาบถขาด. คนทุรพลเพราะความเป็นผู้ชรา ไม่สามารถจะทำแม้ซึ่งกรรมมีย้อมจีวรของตนเป็นต้น ชื่อว่าคนชราทุรพล. ส่วนผู้ใดเป็นคนแก่แต่ยังมีกำลัง อาจประคับประคองตน ผู้นั้นควรให้บวช. คนตาบอดแต่กำเนิด เรียกว่า คนบอด. ความเปล่งวาจาของผู้ใด เป็นไปไม่ได้ ผู้นั้นชื่อว่าคนใบ้. แม้ของผู้ใดเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถจะกล่าวสรณคมน์ให้บริบูรณ์ จะให้ผู้พูดไม่ชัด๔- แม้เช่นนั้นบวช ย่อมไม่ควร. ส่วนผู้ใดสามารถจะว่าเพียงสรณคมน์ให้บริบูรณ์ได้ จะให้ผู้นั้นบวช ย่อมควร. ผู้ใดฟังไม่ได้ยินด้วยประการทั้งปวง ผู้นั้นชื่อคนหนวก. ส่วนผู้ใดฟังเสียงดังได้ยิน จะให้ผู้นั้นบวชย่อมควร. คนพิการมีคนทั้งบอดทั้งใบ้เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจแห่งโทษสองชั้น. ก็บรรพชาของชนเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้าม แม้อุปสมบทของชนเหล่านั้น ก็เป็นอันทรงห้ามด้วย แต่ถ้าสงฆ์ให้คนประทุษร้ายบริษัทเหล่านั้นอุปสมบท คนมีอวัยวะบกพร่องแม้ทั้งหมด มีคนมือขาดเป็นต้น ก็เป็นอันอุปสมบทด้วยดี แต่การกสงฆ์และอาจารย์กับอุปัชฌาย์ ไม่พ้นอาบัติ. จริงอยู่ ดังข้าพเจ้าจักอ้างบาลีว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ควรเรียกเข้าหมู่ มีอยู่, ถ้าสงฆ์เรียกบุคคลนั้นเข้าหมู่ บางคนเรียกเข้าหมู่แล้วก็เป็นอันแล้วไป บางคนเป็นอันเรียกเข้าหมู่แล้วใช้ไม่ได้. เนื้อความแห่งพระบาลีนั้น จักมีแจ้งในอาคตสถานนั้นแล ด้วยประการฉะนี้. ____________________________ ๓- คนมีเท้ากางออกบ้าง คนมีเท้ากรอมเข้าบ้าง คนมีปลีแข้งโปบ้าง ก็ว่า. ๔- ผู้พูดติดอ่าง. โบราณว่า มีถ้อยคำเป็นอ่างกระอักกระไอกล่าวมิได้ถูกต้อง. อรรถกถาหัตถัจฉินนาทิวัตถุกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ บุคคลไม่ควรให้อุปสมบท ๒๐ จำพวก บุคคลไม่ควรให้บรรพชา ๓๒ จำพวก จบ. |