ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 147อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 154อ่านอรรถกถา 4 / 157อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ
สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมาเป็นต้น

               อรรถกถาสีมากถา               
               ข้อว่า พึงกำหนดนิมิตก่อน นั้น มีความว่า พระวินัยธรพึงทักว่า ในทิศบูรพา อะไรเป็นนิมิต? เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตอบว่า ภูเขา เจ้าข้า. พระวินัยธรพึงระบุอีกว่า ภูเขานั้น เป็นนิมิต. พึงกำหนดนิมิตก่อนอย่างนี้. แต่จะกำหนดอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจะทำภูเขานั่นเป็นนิมิต จักทำภูเขานั่นเป็นนิมิต ทำภูเขานั่นเป็นนิมิตแล้ว ภูเขานั่นจงเป็นนิมิต เป็นนิมิตแล้ว จักเป็นนิมิต๑- ดังนี้ ใช้ไม่ได้.
               แม้ในนิมิตทั้งหลายมีศิลาเป็นต้น มีนัยเหมือนกัน.
               ก็พระวินัยธรทักนิมิตไปโดยลำดับอย่างนี้ว่า ในทิศน้อยแห่งทิศบูรพา ในทิศทักษิณ ในทิศน้อยแห่งทิศทักษิณ ในทิศปัศจิม ในทิศน้อยแห่งทิศปัศจิม ในทิศอุดร ในทิศน้อยแห่งทิศอุดร อะไรเป็นนิมิต? เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตอบว่า น้ำ เจ้าข้า เมื่อตนระบุว่า น้ำนั่นเป็นนิมิต แล้วอย่าหยุดในทิศนี้ พึงทักซ้ำอีกว่าในทิศบูรพาอะไรเป็นนิมิต? เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตอบว่า ภูเขาเจ้าข้า พึงระบุว่า ภูเขานั่นเป็นนิมิต; พึงกำหนดนิมิตที่ได้กำหนดไว้ที่แรกอย่างนี้แล้ว จึงค่อยหยุด.
               จริงอยู่ ด้วยการกำหนดอย่างนี้นิมิตกับนิมิตจึงจัดว่าเชื่อมถึงกัน. ครั้นกำหนดนิมิตอย่างนี้แล้ว ลำดับนั้น พึงสมมติสีมาด้วยกรรมวาจาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นลำดับไป. ในที่สุดแห่งกรรมวาจาพื้นที่ภายในนิมิตทั้งหลายย่อมเป็นสีมา ตัวนิมิตทั้งหลายเป็นภายนอกสีมา. นิมิตทั้งหลายในสีมานั้น แม้กำหนดครั้งเดียว ก็เป็นอันกำหนดไว้ดีแล้วแท้. แต่ในอันธกอรรถกถา แก้ว่า เมื่อจะผูกมณฑลสีมา ต้องกำหนดนิมิต ๓ ครั้ง. และอุปสัมบันก็ได้ อนุปสัมบันก็ได้ จงตอบอย่างนี้ว่า ภูเขา เจ้าข้า ฯลฯ น้ำเจ้าข้า ควรทั้งนั้น.
____________________________
๑- โหหิติ ภวิสฺสติ ทั้ง ๒ คำนี้ คล้ายๆ กับว่าใช้คำใดก็ได้ ท่านใช้ตามภาษาของท่านโดยสะดวก ครั้นมาแปลเป็นภาษาไทยเข้าก็ลำบาก นอกจากจะแปลขอไปที พอได้ความหรือมิฉะนั้นก็ยกคำบาลีนั้นมาให้เห็นในคำแปลว่า... นิมิตฺตํ โหหิติ ภวิสฺสติ เพราะต่างก็เป็นกิริยาในความว่ามีว่าเป็น รูปอนาคตด้วยกัน.

               อรรถกถานิมิตวินิจฉัย               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในนิมิตทั้งหลาย มีปัพพตนิมิตเป็นต้นอย่างนี้ :-
               ภูเขามี ๓ ชนิด คือ ภูเขาดินล้วน ๑ ภูเขาศิลาล้วน ๑ ภูเขาศิลาปนดิน ๑. ภูเขานั้นใช้ได้ทั้ง ๓ ชนิด แต่กองทรายใช้ไม่ได้. และตั้งแต่ขนาดเท่าช้างถึงภูเขาสิเนรุ ก็ใช้ไม่ได้. ถ้ามีภูเขา ๔ เทือก ใน ๔ ทิศ หรือมี ๓ เทือก ใน ๓ ทิศ แม้จะสมมติสีมาด้วยปัพพตนิมิตทั้งนั้น ทั้ง ๔ หรือ ๓ ก็ควร. แต่จะสมมติด้วยนิมิตเพียง ๒ หรือเพียง ๑ ไม่ควร.๑-
               แม้ในปาสาณนิมิตเป็นต้นนอกจากนี้ก็มีนัยเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้น เมื่อจะทำภูเขาให้เป็นนิมิต ควรถามว่า เนื่องเป็นอันเดียวกัน หรือไม่เนื่องเป็นอันเดียวกัน ถ้าเนื่องเป็นอันเดียวกัน ไม่ควรใช้. ด้วยว่า แม้กำหนดภูเขานั้น เป็นนิมิต ๔ ทิศหรือทั้ง ๘ ทิศ ย่อมเป็นอันกำหนดแล้วเพียงนิมิตเดียวเท่านั้น. เพราะเหตุนั้น ภูเขาที่ตั้งโอบรอบวัดที่อยู่โดยสัณฐานดังกงจักร อย่างนั้น ควรกำหนดในทิศเดียว ในทิศอื่นๆ พึงกันภูเขานั้นไว้ภายนอก กำหนดนิมิตชนิดอื่นภายใน แต่ภูเขานั้นเข้ามา. หากว่าประสงค์จะทำภูเขาเสี้ยวหนึ่งหรือกึ่งหนึ่งไว้ภายในสีมา. อย่ากำหนดภูเขาประสงค์จะทำประเทศเท่าใดไว้ภายใน. พึงกำหนดนิมิตชนิดใดชนิดหนึ่งมีต้นไม้และจอมปลวกเป็นต้น ที่เกิด ณ ภูเขานั้นเองข้างนอกแห่งประเทศเท่านั้น. หากประสงค์จะกันเอาภูเขาทั้งหมด ประมาณโยชน์ ๑ หรือ ๒ โยชน์ไว้ภายใน. พึงกำหนดต้นไม้หรือจอมปลวกเป็นต้น ซึ่งเกิด ณ ภาคพื้นข้างนอกภูเขาเป็นนิมิต.
____________________________
๑- เอกิสฺสาเอว ปน ทิสาย ฐิเตหิ ตโต พหูหิปิสมฺมนฺนิตุํ น วฏฺฏติ. ทฺวีหิ ปน ทฺวีสุ ทิสาสุฐิเตหิปิ วฏฺฏตีติ วิมติวิโนทนี.

               วินิจฉัยในปาสาณนิมิต :-
               แม้ก้อนเหล็ก ก็นับว่าศิลาได้เหมือนกัน. เพราะฉะนั้น ศิลาชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ควร. แต่เมื่อว่าโดยขนาด ขนาดเท่าช้างนับเป็นภูเขา เพราะฉะนั้น ศิลาขนาดเท่าช้างนั้น จึงไม่ควร. ส่วนศิลาขนาดเท่าโคเขื่อง และกระบือเขื่องๆ ใช้ได้. โดยกำหนดอย่างต่ำ ขนาดเท่าก้อนน้ำอ้อยหนัก ๓๒ ปะละ๒- ก็ใช้ได้ ย่อมกว่านั้นหรือแม้อิฐขนาดใหญ่ ก็ใช้ไม่ได้. แม้กองศิลาที่ไม่นับเข้าในนิมิตก็ใช้ไม่ได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงกองดินกองทราย. ศิลาดาดซึ่งราบเสมอพื้นดิน คล้ายวงลานก็ดี ศิลาดาดที่ตั้งสูงพ้นพื้นดินคล้ายตอก็ดี บรรดามี ศิลาแม้นั้น ถ้าได้ขนาด ใช้ได้. ศิลาดาดแม้ใหญ่เกินไป ย่อมนับว่าเป็นศิลาด้วย. เพราะฉะนั้น ถ้าประสงค์จะกันประเทศอันหนึ่ง แต่ศิลาดาดขนาดใหญ่ไว้ภายในสีมา, อย่ากำหนดศิลาดาดนั้นเป็นนิมิต พึงกำหนดศิลาอื่นเหนือศิลาดาดนั้น หากทำวัดที่อยู่บนศิลาดาด หรือศิลาดาดยื่นไปทางท่ามกลางวัดที่อยู่ ศิลาดาดเห็นปานนี้ ใช้ไม่ได้. เพราะถ้ากำหนดศิลาดาดนั้นเป็นนิมิต วัดที่อยู่ย่อมอยู่บนนิมิต และธรรมดานิมิตต้องอยู่ภายนอกสีมา แม้วัดที่อยู่ก็ถึงภายนอกสีมา. ศิลาดาดตั้งโอบรอบวัดที่อยู่ควรกำหนดเป็นนิมิตในทิศเดียวอย่ากำหนดในทิศอื่น.
____________________________
๒- หนักประมาณ ๕ ชั่ง.

               วินิจฉัยในวนนิมิต :-
               ดงหญ้า หรือป่าไม้มีตาลและมะพร้าวเป็นต้นที่มีเปลือกแข็ง ใช้ไม่ได้ แต่หมู่ไม้มีแก่นข้างในเป็นต้นว่าไม้สากะและไม้สาละ หรือหมู่ไม้ปนไม้มีแก่นก็ใช้ได้ ก็ป่าไม้นั้นแล โดยกำหนดอย่างต่ำ แม้เพียง ๔-๕ ต้นก็ใช้ได้ หย่อนกว่านั้น ใช้ไม่ได้ มากกว่านั้นแม้ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็ใช้ได้.
               ถ้าทำวัดที่อยู่ไว้กลางป่า ไม่ควรกำหนดป่าเป็นนิมิต. แม้ประสงค์จะกันเอาป่าส่วนหนึ่งไว้ภายในสีมา อย่ากำหนดป่าเป็นนิมิต พึงกำหนดต้นไม้หรือศิลาเป็นต้นในป่านั้น เป็นนิมิต. ป่าที่ตั้งล้อมวัดที่อยู่ พึงกำหนดเป็นนิมิตในทิศเดียว อย่ากำหนดในทิศอื่น.
               วินิจฉัยในรุกขนิมิต :-
               ต้นไม้มีเปลือกแข็ง เช่นต้นตาลต้นมะพร้าวเป็นต้นใช้ไม่ได้. ต้นไม้มีแก่นข้างใน ยังเป็นอยู่ โดยที่สุด สูงเพียง ๘ นิ้ว. วัดโดยรอบแม้ลำต้นเท่าเล่ม๓- เข็ม ก็ใช้ได้. ย่อมกว่านั้น ใช้ไม่ได้ โตกว่านั้นขึ้นไป แม้ต้นไทรที่ขึ้นงามไพศาลตั้ง ๑๒ โยชน์ ก็ควร. ต้นไม้ที่เขาเพาะพืชให้งอกงามในภาชนะทั้งหลาย มีกระบอกและกระถางเป็นต้น แม้ได้ขนาด ก็ใช้ไม่ได้ แต่เอาออกจากกระบอกและกระถางเป็นต้นนั้นปลูกลงในพื้นดิน แม้ในขณะนั้น แล้วทำซุ้มรดน้ำกำหนดเป็นนิมิต ก็ควร.
               การแตกรากและกิ่งใหม่ไม่ใช่เหตุ แต่การแตกรากและกิ่งนั้น ย่อมเหมาะสำหรับต้นไม้ที่เขาตัดลำต้นเพาะ อันพระวินัยธร เมื่อกำหนดจะระบุว่า ต้นไม้ หรือว่า ต้นสากะ หรือว่า ต้นสาละ ดังนี้ ก็ใช้ได้. แต่กำหนดต้นไม้ที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน เช่นต้นไทรที่ขึ้นงามไพศาลเป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นอีก ไม่ควร.
____________________________
๓- ในวินัยมุขเล่ม ๓ หน้า ๑๖ ว่าลำต้นเท่าลำเข็ม. ในฏีกาสารตฺถทีปนี ภาค ๔ หน้า ๒๑๓ ว่า สูจิทณฺฑกปฺปมาโรติ สีหลทีเป เลขนทณฺฑปฺปมาโณติ วทนฺติ. โส จ กนิฏฺ ฐงฺคุลิปริมาโณติ ทฏฐพฺพํ: โดยนัยฎีกานี้ ก็คือด้ามเหล็กจาร. ศัพท์ว่า สูจิพณฺฑ นี้ยังมีใช้ในเสนาสนกฺขนฺธกวณฺณนา หน้า ๓๘๗, ๓๘๘ อีกว่า อฏฺฐงฺคุลิสูจิทณฺฑมตฺโตปิเวฬุ....อฏฺฐงฺคุลสูจิทณฺฑมตฺโตปิ ทารุภณฺฑโก ซึ่งหมายความว่า ด้ามเหล็กจารทั้งนั้น.

               วินิจฉัยในมรรคานิมิต :-
               ทางทั้งหลายมีทางป่า ทางนา ทางแม่น้ำ ทางเหมืองเป็นต้นใช้ไม่ได้. ทางเดินเท้าหรือทางเกวียนซึ่งผ่านไป ๒-๓ ระยะบ้าน จึงใช้ได้. ส่วนทางเดินเท้าใด แยกออกจากทางเกวียนแล้วกลับลงสู่ทางเกวียนนั่นเองอีกก็ดี ทางเดินเท้าและทางเกวียนเหล่าใด ใช้ไม่ได้ก็ดี ทางเหล่านั้น ใช้ไม่ได้.
               ทางทั้งหลายที่พ่อค้าเดินเท้าและพ่อค้าเกวียน ยังใช้เดินอยู่เสมอ จึงใช้ได้. ถ้าทาง ๒ แพร่งแยกจากกันไปแล้ว ภายหลังบรรจบเป็นทางเดียวกัน เช่นทูบเกวียนไซร้ ทางนั้นพึงกำหนดตรงที่แยกเป็น ๒ แพร่ง หรือที่บรรจบเป็นนิมิตครั้งเดียวแล้ว อย่ากำหนดอีก. เพราะนิมิตนั้น เป็นนิมิตเนื่องเป็นอันเดียวกัน.
               ถ้าทาง ๔ แพร่งอ้อมรอบวัดอยู่แล้วแยกไปในทิศทั้ง ๔ กำหนดทางหนึ่งตรงท่ามกลางแล้ว จะกำหนดอีกทางหนึ่ง ไม่ควร. เพราะนิมิตนั้นเป็นนิมิตเนื่องเป็นอันเดียวกัน. แต่จะกำหนดทางที่ผ่านทะแยงมุมไปเป็นนิมิตในด้านอื่น ควรอยู่.
               ส่วนทางที่ลัดผ่านท่ามกลางวัดที่อยู่ไป ไม่ควรกำหนด. เมื่อกำหนดแล้ว วัดที่อยู่ย่อมอยู่บนนิมิต. ถ้าภิกษุทั้งหลายจะทำทางล้อด้านในแห่งทางเกวียนเป็นนิมิต ทางย่อมอยู่ภายนอกสีมา, ถ้าจะทำทางล้อด้านนอกเป็นนิมิต ทางล้อด้านนอกเทียว ย่อมอยู่ภายนอกสีมา. ทางที่เหลือนับเข้าภายในสีมา. อันพระวินัยธรผู้จะกำหนดทางเป็นนิจ สมควรกำหนดโดยชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งในชื่อว่า มคฺโค, ปนฺโถ ปโถ, ปชฺโช เป็นอาทิ. ทางที่ไปได้รอบวัดที่อยู่ โดยสัณฐานดังคู กำหนดเป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นไม่ควร.
               วินิจฉัยในวัมมิกนิมิต :-
               จอมปลวกโดยกำหนดอย่างเล็กที่สุด แม้เกิดในวันนั้น สูง ๘ นิ้วขนาดเท่าเขาโค ก็ใช้ได้. ย่อมกว่านั้น ใช้ไม่ได้ เขื่องกว่านั้นขึ้นไป แม้เท่ากับภูเขาหิมพานต์ ใช้ได้. แต่กำหนดจอมปลวกที่ติดกันเป็นพืดเดียวตั้งล้อมรอบวัดอยู่ เป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่นอีก ไม่ควร.
               วินิจฉัยในนทีนิมิต :-
               ในสมัยแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม เมื่อฝนตกติดๆ กันอย่างนี้คือ ทุกกึ่งเดือน ทุก ๑๐ วัน ทุก ๕ วัน พอฝนหายแล้ว กระแสแห่งแม่น้ำใดขาดแห้ง แม่น้ำนี้ไม่นับเป็นแม่น้ำ. แต่ในคราวฝนเช่นนี้ กระแสแห่งแม่น้ำใดไหลไม่ขาด ตลอดฤดูฝน ๔ เดือน ลึกพอจะเปียกอันตรวาสกของนางภิกษุณีผู้นุ่งห่มได้ปริมณฑล ๓ ลุยข้าม ณ เอกเทศแห่งใดแห่งหนึ่ง, แม่น้ำนี้นับว่าเป็นแม่น้ำ, เมื่อผูกนทีสีมา เป็นนิมิตได้. ในการไปสู่ฝั่งแม่น้ำของนางภิกษุณีก็ดี ในการทำสังฆกรรมมีอุโบสถเป็นต้นก็ดี ในการสมมตินทีปารสีมาก็ดี ประสงค์แม่น้ำชนิดนี้แล.
               ก็แม่น้ำใดโอบรอบวัดที่อยู่ โดยสัณฐานดังทูบเกวียนก็ดี โดยสัณฐานดังคูก็ดี คล้ายทาง, กำหนด แม่น้ำนั้นเป็นนิมิตในทิศหนึ่งแล้ว จะกำหนดในทิศอื่น ไม่ควร.
               แม้ในแม่น้ำ ๔ สายซึ่งผ่านตัดกันและกันไป ใน ๔ ทิศแห่งวัดที่อยู่ ก็มีนัยเหมือนกัน. แต่จะกำหนดแม่น้ำทั้ง ๔ สาย ซึ่งไม่เชื่อมต่อกันเป็นนิมิต ใช้ได้. ถ้าชนทั้งหลายปักหลักเรียงกันเหมือนทำรั้วกั้นกระแสน้ำด้วยเถาวัลย์และใบไม้เป็นต้น และน้ำล้นท่วมทำนบไหลไปได้ จะทำให้เป็นนิมิต ควรอยู่ เมื่อเขาทำทำนบไม่ให้น้ำไหล แม่น้ำที่ไม่ไหล ไม่ควรทำให้เป็นนิมิต. ในที่ซึ่งน้ำไหล ทำให้เป็นนทีนิมิต ในที่ซึ่งน้ำไม่ไหล ทำให้เป็นอุทกนิมิต ควรอยู่. แต่แม่น้ำที่ไม่ไหล เพราะขาดน้ำ ในคราวฝนแล้ง หรือในฤดูร้อนใช้ได้.
               ชนทั้งหลายชักลำรางไขน้ำมาแต่แม่น้ำใหญ่ ลำรางนั้นเป็นเช่นกับแม่น้ำเขิน ไหลอยู่เป็นนิจ ให้สำเร็จข้าวกล้า ๓ คราว ถึงน้ำไหลไปได้ก็จริง แต่ก็ไม่ควรทำเป็นนิมิต. ส่วนลำรางอันใดในชั้นเดิม แม้เขาขุดชักมาจากแม่น้ำใหญ่ ในกาลอื่นเซาะพังกลายเป็นแม่น้ำ ไหลไปได้เอง ตามทางที่เขาขุดชักมานั่นแหละ โดยกาลต่อไป เกลื่อนกลาดไปด้วยสัตว์น้ำ มีจรเข้เป็นอาทิ เป็นแม่น้ำที่จะพึงสัญจรไปได้ด้วยเรือเป็นต้น จะทำลำรางนั้น คือที่กลายเป็นแม่น้ำแล้ว ให้เป็นนิมิตสมควรอยู่.
               วินิจฉัยในอุทกนิมิต :-
               ในที่ซึ่งไม่มีน้ำ จะตักน้ำใส่ให้เต็มในเรือก็ดี ในหม้อก็ดี ในภาชนะมีอ่างเป็นต้นก็ดี แล้วกำหนดให้เป็นอุทกนิมิต ไม่ควร. น้ำที่ถึงแผ่นดินเท่านั้น จึงใช้ได้. ก็น้ำถึงแผ่นดินนั่นแล เป็นน้ำไม่ไหล ขังอยู่ในที่ทั้งหลายมีบ่อ สระเกิดเองและทะเลสาปเป็นต้น. ส่วนน้ำในแม่น้ำลึกและคลองไขน้ำเป็นต้นซึ่งไหลใช้ไม่ได้. แต่ในอันธกอรรถกถาแก้ว่า น้ำที่ต้องโพงขึ้น ในชลาลัยทั้งหลายมีบ่อเป็นต้น ซึ่งลึก ไม่ควรทำเป็นนิมิต.
               คำนั้นท่านกล่าวไม่ชอบ เป็นแต่เพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น.
               อันน้ำที่ขังอยู่ โดยที่สุด แม้ในแอ่งที่สุกรขุดไว้ก็ดี ในหลุมสำหรับเล่นของเด็กชาวบ้านก็ดี น้ำที่เขาขุดหลุมในแผ่นดิน แล้วเอาหม้อตักมาใส่ให้เต็มในขณะนั้นก็ดี ถ้าขังอยู่จนถึงสวดกรรมวาจาจบได้ จะน้อยหรือมากก็ตามที ย่อมใช้ได้.
               และควรทำกองศิลาและกองทรายเป็นต้น หรือเสาศิลาหรือเสาไม้ไว้ในที่นั้น เพื่อทำความหมายนิมิต ภิกษุจะทำเองหรือใช้ผู้อื่นให้ทำกองศิลาเป็นต้นนั้นก็ควร. แต่ในลาภสีมา ไม่ควรทำ. ส่วนสมานสังวาสกสีมา ย่อมไม่ทำความเบียดเบียนใครๆ ย่อมให้สำเร็จ เฉพาะวินัยกรรมของภิกษุทั้งหลายอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ในสมานสังวาสกสีมานี้ จึงควรทำเอง หรือให้ผู้อื่นทำกองศิลาเป็นต้นได้.

               อรรถกถานิมิตวินิจฉัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาวิธีผูกมหาสีมา               
               ก็แลสงฆ์จะสมมติสีมาด้วยนิมิต ๘ อย่างนี้ ไม่คละกันก็ดี คละสลับกันก็ดี ควรทั้งนั้น. สีมานั้นที่สมมติผูกอย่างนั้น ไม่เป็นอันผูก ด้วยนิมิตเดียวหรือ ๒ นิมิต. ส่วนสีมาที่ผูกด้วยนิมิตมีประการดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่ ๓ ขึ้นไปถึง ๑๑๐ นิมิตย่อมเป็นอันผูก, สีมานั้นที่ผูกด้วยนิมิต ๓ มีสัณฐานดังกระจับ, ที่ผูกด้วยนิมิต ๔ เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสบ้าง มีสัณฐานดังกระจับ, พระจันทร์ครึ่งดวงและตะโพนเป็นต้นบ้าง ที่ผูกด้วยนิมิตมากกว่านั้น มีสัณฐานต่างๆ กันบ้าง.
               พระมหาสุมัตเถระกล่าวว่า อันภิกษุทั้งหลายผู้ประสงค์จะผูกสีมานั้น พึงถามภิกษุทั้งหลายในวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันทั้งหลาย ถึงเขตกำหนดสีมาแห่งวัด ที่อยู่นั้นๆ เว้นสีมันตริกแห่งสีมาของวัดที่อยู่ทั้งหลายที่ผูกสีมา เว้นอุปจารแห่งสีมาของวัดที่อยู่ทั้งหลายที่ไม่ได้ผูกสีมาเสีย จวบสมัยไม่เป็นที่ท่องเที่ยวของภิกษุทั้งหลายผู้จาริกไปในทิศ, ถ้าประสงค์จะผูกสีมาในคามเขตตำบลหนึ่ง, วัดที่อยู่เหล่าใด ในคามเขตนั้น ผูกสีมาแล้ว พึงส่งข่าวแก่ภิกษุทั้งหลายในวัดที่อยู่เหล่านั้นว่า เราทั้งหลายจักผูกสีมา ในวันนี้ ท่านทั้งหลายอย่าออกจากเขต กำหนดสีมาของตนๆ.
               วัดที่อยู่เหล่าใดในคามเขตนั้น ไม่ได้ผูกสีมา พึงนิมนต์ภิกษุทั้งหลายในวัดที่อยู่เหล่านั้นให้ประชุมรวมเป็นหมู่เดียวกัน พึงให้นำฉันทะของภิกษุทั้งหลายผู้ควรแก่ฉันทะมา, ถ้าปรารถนาจะกันคามเขต แม้เหล่าอื่นไว้ภายในสีมาไซร้ ภิกษุเหล่าใดอยู่ในคามเขตเหล่านั้น แม้ภิกษุเหล่านั้นต้องมา เมื่อไม่มา ต้องนำฉันทะมา.
               ฝ่ายพระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าคามเขตต่างๆ ย่อมเป็นเช่นกับสีมาที่ผูกต่างแผนกกัน, ฉันทะและปาริสุทธิย่อมไม่มาจากคามเขตนั้นๆ, แต่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ภายในนิมิตต้องมา ดังนี้. แล้วกล่าวเสริมอีกว่า ในเวลาสมมติสมานสังวาสกสีมา การมาก็ตาม ไม่มาก็ตาม ของภิกษุเหล่านั้น ย่อมควร. แต่ในเวลาสมมติอวิปปวาสสีมา ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ภายในนิมิต ต้องมา, เมื่อไม่มา ต้องนำฉันทะมา.
               ก็แลเมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมกันแล้ว ฉันทะของภิกษุผู้ควรแก่ฉันทะได้นำมาแล้ว อย่างนั้น พึงวางอารามิกบุรุษและสามเณรเขื่องๆ ไว้ในทางเหล่านั้น และในที่ทั้งหลายมีท่าน้ำและประตูบ้านเป็นต้น เพื่อนำภิกษุอาคันตุกะมาเข้าหัตถบาสเร็วๆ และเพื่อกันไว้ภายนอกสีมา แล้วพึงตีกลองสัญญาหรือเป่าสังข์สัญญา แล้วผูกสีมาด้วยกรรมวาจาว่า สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ เป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในลำดับแห่งการกำหนดนิมิต. ในเวลาที่จบกรรมวาจานั่นเอง กันนิมิตทั้งหลายไว้ภายนอก สีมาย่อมหยั่งลงไปในเบื้องล่างลึกถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด.

               อรรถกถาวิธีผูกมหาสีมา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาวิธีผูกขัณฑสีมา               
               ภิกษุทั้งหลายผู้จะสมมติสังวาสกสีมานี้ ควรผูกขัณฑสีมาก่อน เพื่อทำสังฆกรรมทั้งหลายมีบรรพชาและอุปสมบทเป็นต้นได้สะดวก. ก็แลเมื่อจะผูกขัณฑสีมานั้น ต้องรู้จักวัตร. ก็ถ้าจะผูกในวัดที่อยู่ที่ทายกสร้างให้ประดิษฐานวัตถุทั้งปวง มีต้นโพธิ์ เจดีย์และหอฉันเป็นต้นเสร็จแล้ว อย่าผูกตรงกลางวัด ที่อยู่อันเป็นสถานที่ประชุมของชนมาก พึงผูกในโอกาสอันสงัด ที่สุดท้ายวัดที่อยู่. เมื่อจะผูกในวัดที่อยู่ที่ทายกไม่ได้สร้าง พึงกะที่ไว้สำหรับวัตถุทั้งปวงมีต้นโพธิ์และเจดีย์เป็นต้นไว้แล้ว เมื่อประดิษฐานวัตถุทั้งหลายเสร็จแล้ว ขัณฑสีมาจะอยู่ในโอกาสอันสงัดสุดท้ายวัดที่อยู่ด้วยประการใด พึงผูกด้วยประการนั้นเถิด. ขัณฑสีมานั้นโดยกำหนดอย่างต่ำที่สุดถ้าจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ใช้ได้. ย่อมกว่านั้น ใช้ไม่ได้, ที่ใหญ่แม้จุภิกษุจำนวนพัน ก็ใช้ได้. เมื่อจะผูกขัณฑสีมานั้น พึงวางศิลาที่ควรเป็นนิมิตได้ไว้โดยรอบโรงที่จะผูกสีมา. อย่ายืนอยู่ในขัณฑสีมา ผูกมหาสีมา, อย่ายืนอยู่ในมหาสีมา ผูกขัณฑสีมา. แต่ต้องยืนอยู่เฉพาะในขัณฑสีมา ผูกขัณฑสีมา, ต้องยืนอยู่เฉพาะในมหาสีมา ผูกมหาสีมา.

               อรรถกถาวิธีผูกมหาสีมา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาวิธีผูกสีมา ๒ ชั้น               
               ในสีมา ๓ ชนิดนั้น มีวิธีผูก ดังต่อไปนี้ :-
               พึงกำหนดนิมิตทั้งหลายโดยรอบอย่างนี้ว่า ศิลานั่นเป็นนิมิต แล้วผูกสีมาด้วยกรรมวาจา. ลำดับนั้น พึงทำอวิปปวาสกรรมวาจาซ้ำลง เพื่อทำขัณฑสีมานั้นแลให้มั่นคง.
               จริงอยู่ เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายผู้มาด้วยคิดว่า เราทั้งหลาย จักถอนสีมา จักไม่อาจถอน. ครั้นสมมติสีมาแล้ว พึงวางศิลาหมาย สีมันตริกไว้ภายนอก. สีมันตริก ว่าโดยส่วนแคบที่สุดประมาณศอก ๑ จึงควร.
               ในกุรุนทีแก้ว่า แม้ประมาณคืบ ๑ ก็ควร.
               ในมหาปัจจรีแก้ว่า แม้ประมาณ ๔ นิ้วก็ควร.
               ก็ถ้าวัดที่อยู่ใหญ่ ควรผูกขัณฑสีมาไว้ ๒ แห่งก็ได้ ๓ แห่งก็ได้ เกินกว่านั้นก็ได้. ครั้นสมมติขัณฑสีมาอย่างนั้นแล้ว ในเวลาจะสมมติมหาสีมา พึงออกจากขัณฑสีมา ยืนอยู่ในมหาสีมา กำหนดศิลาหมายสีมันตริก เดินวนไปโดยรอบ, ลำดับนั้น พึงกำหนดนิมิตทั้งหลายที่เหลือแล้วอย่าละหัตถบาสกัน พึงสมมติสมานสังวาสกสีมาด้วยกรรมวาจาแล้ว ทำอวิปปวาสกรรมวาจาด้วย เพื่อทำสมานสังวาสกสีมานั้นให้มั่นคง.
               จริงอยู่ เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายผู้มาด้วยคิดว่าเราทั้งหลายจักถอนสีมา จักไม่สามารถถอนได้. แต่ถ้ากำหนดนิมิตแห่งขัณฑสีมาแล้ว ลำดับนั้น จึงกำหนดนิมิตที่สีมันตริกแล้วกำหนดนิมิตแห่งมหาสีมา, ครั้นกำหนดนิมิตใน ๓ สถานอย่างนี้แล้ว, ปรารถนาจะผูกสีมาใด, จะผูกสีมานั้นก่อนก็ควร. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ควรผูกตั้งต้นขัณฑสีมาไปโดยนัยตามที่กล่าวแล้ว.
               ก็บรรดาสีมาทั้งหลายที่สงฆ์ผูกอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้สถิตอยู่ในขัณฑสีมา ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้ทำกรรมในมหาสีมา, หรือผู้สถิตอยู่ในมหาสีมา ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้ทำกรรมในขัณฑสีมา. อนึ่ง ภิกษุผู้สถิตอยู่ในสีมันตริก ย่อมไม่ทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุทั้ง ๒ พวก แต่ภิกษุผู้สถิตในสีมันตริก ย่อมทำให้เสียกรรมของเหล่าภิกษุผู้สถิตในคามเขต กระทำกรรม; จริงอยู่ สีมันตริกย่อมควบถึงคามเขต.๑-
____________________________
๑- ตามนัยโยชนาแปลว่า ... ย่อมถึงความเป็นคามเขต.

               อรรถกถาวิธีผูกสีมา ๒ ชั้น จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาวิธีผูกสีมาบนศิลาดาดเป็นต้น               
               อันที่จริง ธรรมดาสีมานั้น ซึ่งภิกษุสงฆ์ผูกแล้วบนพื้นแผ่นดินอย่างเดียวเท่านั้น จึงจัดว่าเป็นอันผูก หามิได้. โดยที่แท้ สีมาที่ภิกษุสงฆ์ผูกไว้บนศิลาดาดก็ดี ในเรือนคือกุฎีก็ดี ในกุฏีที่เร้นก็ดี ในปราสาทก็ดี บนยอดเขาก็ดี จัดว่าเป็นอันผูกแล้วเหมือนกันทั้งนั้น.
               ในสถานที่เหล่านั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายจะผูกบนศิลาดาด อย่าสกัดรอยหรือขุดหลุมดังครก บนหลังศิลาทำให้เป็นนิมิต. ควรวางศิลาที่ได้ขนาดเป็นนิมิตแล้วกำหนดให้เป็นนิมิต, สมมติด้วยกรรมวาจา. ในเวลาจบกรรมวาจา สีมาย่อมหยั่งลงไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด. ศิลาที่เป็นนิมิตจะไม่คงอยู่ในที่เดิม เพราะฉะนั้น ควรทำรอยให้ปรากฏโดยรอบ หรือสกัดเจาะศิลาที่มุมทั้ง ๔ หรือจารึกอักษรไว้ว่า ตรงนี้เป็นแดนกำหนดสีมา ก็ได้. ภิกษุบางพวกริษยาจุดไฟขึ้นด้วยคิดว่า จักเผาสีมาเสีย ย่อมไหม้แต่ศิลา สีมาหาไหม้ไม่.
               เมื่อจะผูกในเรือนคือกุฏีเล่า อย่ากำหนดฝาเป็นนิมิต ควรวางศิลาเป็นนิมิต กะสถานที่ว่างพอจุภิกษุ ๒๑ รูปไว้ข้างในแล้วสมมติสีมาเถิด. ร่วมในฝาเท่านั้น ย่อมเป็นสีมา. ถ้าในร่วมในฝาไม่มีที่ว่างพอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ควรวางศิลานิมิตที่หน้ามุขก็ได้ แล้วสมมติสีมา. ถ้าแม้หน้ามุขนั้นไม่พอ ควรวางนิมิตทั้งหลายในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคาภายนอก แล้วจึงสมมติสีมา, ก็เมื่อสมมติสีมาอย่างนั้น เรือนคือกุฎีทั้งหมด เป็นอันตั้งอยู่ในสีมาแท้.
               เมื่อจะผูกในกุฏีที่เร้น ซึ่งมีฝา ๔ ด้านเล่า อย่ากำหนดฝาเป็นนิมิต ควรกำหนดแต่ศิลา.เมื่อข้างในไม่มีที่ว่าง ควรวางนิมิตทั้งหลายไว้ที่หน้ามุขก็ได้. ถ้าหน้ามุขยังไม่พอ ควรวางศิลานิมิตทั้งหลายไว้ในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคาในภายนอก แล้วกำหนดนิมิตสมมติสีมา. เมื่อผูกอย่างนี้ ย่อมเป็นสีมาทั้งภายในทั้งภายนอกกุฎีที่เร้น.
               เมื่อจะผูกบนปราสาทเล่า อย่ากำหนดฝาเป็นนิมิต พึงวางศิลาทั้งหลายไว้ภายในแล้วสมมติสีมาเถิด. ถ้าภายในปราสาทไม่พอ พึงวางศิลาทั้งหลายที่หน้ามุขแล้วสมมติเถิด. สีมาที่สมมติอย่างนี้ย่อมอยู่เฉพาะบนปราสาทเท่านั้น, ไม่หยั่งลงไปถึงข้างล่าง แต่ถ้าปราสาทที่ทำบนรอดที่ร้อยในเสามากต้น ฝาชั้นล่างสูงขึ้นไปเนื่องเป็นอันเดียวกับไม้รอดทั้งหลาย โดยประการที่มีร่วมในแห่งนิมิตทั้งหลาย สีมาย่อมหยั่งถึงภายใต้. ส่วนสีมาที่ผูกบนพื้นปราสาทเสาเดียว ถ้าบนปลายเสา มีโอกาสพอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ย่อมหยั่งถึงภายใต้. ถ้าวางศิลาทั้งหลายในที่เป็นต้นว่า กระดานเรียบอันยื่นออกไปจากฝาปราสาทแล้วผูกสีมา ฝาปราสาทย่อมอยู่ภายในสีมา, ส่วนการที่สีมานั้นจะหยั่งถึงภายใต้หรือไม่หยั่งลงไป พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               เมื่อจะกำหนดนิมิตภายใต้ปราสาทเล่าอย่ากำหนดฝาและเสาไม้เป็นนิมิต แต่จะกำหนดเสาศิลาซึ่งยึดฝาไว้ควรอยู่. สีมาที่กำหนดอย่างนี้ ย่อมมีเฉพาะร่วมในแห่งเสาริมโดยรอบของภายใต้ปราสาท. แต่ถ้าฝาภายใต้ปราสาทเป็นของเนื่องถึงพื้นชั้นบน สีมาย่อมขึ้นไปถึงชั้นบนปราสาทด้วย ถ้าทำนิมิตในที่ซึ่งน้ำตกจากชายคานอกปราสาท ปราสาททั้งหมดตั้งอยู่ในสีมา.
               ถ้าพื้นบนยอดเขาเป็นที่ควรแก่โอกาส พอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ผูกสีมาบนพื้นนั้น อย่างที่ผูกบนศิลาดาด; แม้ภายใต้ภูเขาสีมาย่อมหยั่งลงไปถึง โดยกำหนดนั้นเหมือนกัน. แม้บนภูเขาที่มีสัณฐานดังโคนต้นตาลเล่า สีมาที่ผูกไว้ข้างบน ย่อมหยั่งลงไปถึงข้างล่างเหมือนกัน. ส่วนภูเขาใดมีสัณฐานดังดอกเห็ด ข้างบนมีโอกาสพอจุภิกษุได้ ๒๑ รูป ข้างล่างไม่มี สีมาที่ผูกบนภูเขานั้น ไม่หยั่งลงไปข้างล่าง. ด้วยประการอย่างนี้ ภูเขามีสัณฐานดังตะโพนหรือมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์ก็ตามที ข้างล่างหรือตรงกลางแห่งภูเขาใด ไม่มีพื้นที่เท่าตัวสีมา สีมาที่ผูกบนภูเขานั้น ไม่หยั่งลงข้างล่าง, ส่วนภูเขาใดมี ๒ ยอดตั้งอยู่ใกล้กัน บนยอดแม้อันหนึ่งไม่พอเป็นประมาณแห่งสีมา ควรก่อหรือถมตรงระหว่างยอดแห่งภูเขานั้นให้เต็ม ทำให้เนื่องเป็นพื้นเดียวกันแล้วจึงสมมติสีมาข้างบน, ภูเขาลูก ๑ คล้ายพังพานงู เบื้องบนภูเขานั้นผูกสีมาได้ เพราะมีโอกาสได้ประมาณเป็นสีมา; ถ้าภายใต้ภูเขานั้น มีเงื้อมอากาศสีมาไม่หยั่งลงไป. แต่ถ้าตรงกลางเงื้อมอากาศนั้น มีศิลาโพรงเท่าขนาดสีมา สีมาย่อมหยั่งลงไปถึง. และศิลานั้นเป็นของตั้งอยู่ในสีมาแท้. ถ้าแม้ฝาแห่งที่เร้นภายใต้ภูเขานั้นตั้งจดถึงส่วนยอด สีมาย่อมหยั่งถึง ทั้งข้างล่าง ทั้งข้างบน ย่อมเป็นสีมาหมด. แต่ถ้าด้านในที่เร้นในภายใต้ อยู่ข้างนอกแนวแห่งแดนเป็นที่กำหนดสีมาที่อยู่ข้างบน สีมาไม่หยั่งไปถึงภายนอก (แห่งที่เร้น) ถ้าแม้ด้านนอกที่เร้น อยู่ข้างในแถวแห่งแดนเป็นที่กำหนดสีมาที่อยู่ข้างบนนั้น สีมาไม่หยั่งไปถึงในภายใน (แห่งที่เร้น) ถ้าแม้ข้างบนภูเขานั้น มีโอกาสเป็นที่กำหนดสีมาเล็ก ข้างใต้มีที่เร้นใหญ่เกินโอกาสกำหนดสีมา สีมาย่อมมีเฉพาะข้างบนเท่านั้น ไม่หยั่งลงไปถึงภายใต้ แต่ถ้าที่เร้นเล็กขนาดเท่าสีมาขนาดเล็กที่สุด สีมาข้างบนใหญ่. สีมาที่ตั้งครอบที่เร้นไว้นั้น ย่อมหยั่งลงไปถึง. ถ้าที่เร้นเล็กเกินไป ไม่ได้ขนาดกับสีมา สีมาย่อมมีเฉพาะข้างบนเท่านั้น ไม่หยั่งลงในภายใต้ ถ้าภูเขามีสัณฐานดังพังพานงูนั้น พังตกลงไปเองครั้งหนึ่ง แม้ถ้าได้ประมาณสีมา ส่วนที่ตกลงไปภายนอก ไม่เป็นสีมา. ส่วนที่ไม่ตกลงไป ถ้าได้ประมาณสีมา ยังคงเป็นสีมา.
               ขัณฑสีมาเป็นพื้นที่ลุ่ม พูนถมขัณฑสีมานั้น ทำให้มีพื้นที่สูงขึ้น คงเป็นสีมาตามเดิม. ชนทั้งหลายทำเรือนในสีมา เรือนนั้นเป็นอันนั้นอยู่ในสีมาด้วย. ขุดสระโบกขรณีในสีมา สีมานั้น ก็คงเป็นสีมาอยู่นั่นเอง. ห้วงน้ำไหลท่วมมณฑลสีมาไป จะผูกแคร่ทำสังฆกรรมในย่านสีมา ก็ควร. แม่น้ำมีอุโมงค์อยู่ภายใต้สีมา. ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั่งอยู่ในแม่น้ำมีอุโมงค์นั้น ถ้าแม่น้ำนั้นผ่านไปก่อน สีมาผูกทีหลัง, ไม่ยังกรรมให้เสีย. ถ้าผูกสีมาก่อน, แม่น้ำผ่านไปทีหลัง, ภิกษุนั้นยังกรรมให้เสีย.
               อนึ่ง ภิกษุผู้สถิตอยู่ ณ ภายใต้พื้นแผ่นดิน ย่อมยังกรรมให้เสียเหมือนกัน.
               ก็ต้นไทรมีอยู่ในลานขัณฑสีมา. กิ่งแห่งต้นไทรนั้น หรือย่านไทรที่ยื่นออกจากต้นไทรนั้น จดพื้นแผ่นดินแห่งมหาสีมาก็ดี จดต้นไม้เป็นต้นที่เกิดในมหาสีมานั้นก็ดี, พึงชำระมหาสีมาให้หมดจดแล้วจึงทำกรรม หรือตัดกิ่งและย่านไทรเหล่านั้นเสีย กระทำให้ตั้งอยู่ภายนอกก็ได้. ภิกษุผู้ขึ้นไปบนกิ่งไม้เป็นต้นที่ไม่จดกัน ควรนำมาเข้าหัตถบาส. ด้วยประการอย่างนั้น กิ่งแห่งต้นไม้ที่เกิดในมหาสีมาก็ดี ย่านไทรก็ดี ย่อมตั้งอยู่ในลานแห่งขัณฑสีมา ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. พึงชำระสีมาให้หมดจดแล้ว จึงทำกรรม หรือตัดกิ่งและย่านไทรเหล่านั้นเสีย กระทำให้ตั้งอยู่ภายนอกก็ได้ ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               หากว่าเมื่อสงฆ์กำลังทำกรรมในย่านขัณฑสีมา ภิกษุบางรูปนั่งอยู่บนกิ่งไม้ที่ทอดอยู่บนอากาศยื่นเข้าไปในย่านสีมา เท้าของเธอถึง ภาคพื้นก็ดี สบงจีวรของเธอถูกภาคพื้นก็ดี, ไม่สมควรทำกรรม. แต่ให้เธอยกเท้าทั้ง ๒ และสบงจีวรขึ้นเสียแล้วทำกรรม ควรอยู่. อันลักษณะนี้ บัณฑิตพึงทราบแม้ตามนัยก่อน.
               ส่วนเนื้อความที่แปลกกัน มีดังต่อไปนี้ :-
               ให้เธอยกขึ้นแล้วทำกรรมในขัณฑสีมานั้น ไม่ควร ต้องนำมาเข้าหัตถบาสแท้. ถ้าภูเขาซึ่งตั้งอยู่ภายในสีมาสูงตรงขึ้นไป ภิกษุผู้สถิตอยู่บนภูเขานั้นต้องนำมาเข้าหัตถบาส. แม้ในภิกษุผู้เข้าไปข้างในภูเขาด้วยฤทธิ์ ก็มีนัยเหมือนกัน.
               แท้จริง สีมาที่สงฆ์ผูกเท่านั้น ไม่ครอบถึงประเทศที่ไม่ได้ประมาณ วัตถุไม่เลือกว่าชนิดไรที่เกิดในพัทธสีมา ถึงกันเข้าด้วยความเกี่ยวพันเป็นอันเดียวกัน ในที่ใดที่หนึ่งย่อมนับว่าเป็นสีมาทั้งนั้น.
               วินิจฉัยในบทว่า ติโยชนปรมํ นี้ว่า สีมาชื่อว่ามี ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะมี ๓ โยชน์เป็นประมาณอย่างสูง. ซึ่งสีมามี ๓ โยชน์เป็นอย่างยิ่งนั้น. สีมานั้น ภิกษุผู้จะสมมติต้องสถิตอยู่ตรงกลาง สมมติให้มีโยชน์กึ่งในทิศทั้ง ๔ คือวัดจากที่ซึ่งตนสถิตนั้นออกไป. แต่ถ้าสถิตอยู่ตรงกลางแล้ว วัดออกไปทิศละ ๓ โยชน์. ย่อมรวมเป็น ๖ โยชน์. เช่นนี้ ใช้ไม่ได้. ภิกษุจะสมมติสีมา ๔ เหลี่ยมเท่ากัน หรือ ๓ เหลี่ยม พึงสมมติให้วัดจากมุมหนึ่งไปหามุมหนึ่งได้ระยะ ๓ โยชน์. ก็ถ้าให้ที่สุดรอบแห่งใดแห่งหนึ่งเกิน ๓ โยชน์ไปแม้เพียงปลายเส้นผมเดียว ต้องอาบัติด้วย ทั้งสีมาไม่เป็นสีมาด้วย.

               อรรถกถาวิธีผูกสีมาบนศิลาดาด จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถานทีปารสีมา               
               วินิจฉัยในบทว่า นทีปารํ นี้ต่อไป :-
               ที่ว่า ฝั่ง เพราะเหตุว่า กั้นไว้, ถามว่า กั้นอะไร? ตอบว่ากั้นแม่น้ำ, ฝั่งแห่งแม่น้ำ ชื่อนทีปารา ความว่า ซึ่งสีมาครอบฝั่งแม่น้ำนั้น.๑- ก็ลักษณะแห่งแม่น้ำ ในบทว่า นทีปารํ นี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในนทีนิมิตนั่นเอง.
____________________________
๑- ฎีกาและโยชนา แก้ปารยติว่า อชฺโฌตฺถรติ และว่าที่เป็นปารา มิใช่ปารํ ที่หมายเอาฝั่งโน้น ก็เพราะเพ่งเอาสีมาศัพท์ ดังนั้นน่าจะแปลว่า สีมาชื่อว่า คร่อมก็เพราะย่อมคร่อม ถามว่า ย่อมคร่อมอะไร? ตอบว่า ย่อมคร่อมแม่น้ำ. สีมาคร่อมแม่น้ำ ชื่อนทีปารสีมา. ซึ่งนทีปารสีมานั้น. อธิบายว่า ซึ่งสีมาอันคร่อมแม่น้ำอยู่. อนึ่ง บาลีตรงนี้เป็น นทีปารสีมํ แต่ ยุ. และสี. เป็น นทีปารํ สีมํ อย่างในอรรถกถา.

               ข้อว่า ยตฺถสฺส ธุวนาวา วา มีความว่า ในแม่น้ำใด มีเรือสัญจรไปมาเป็นนิจ ที่ท่าทั้งหลายอันยังเป็นสถานที่ผูกสีมา, เรือใดโดยกำหนดอย่างเล็กที่สุด พอพาคนไปได้ ๓ คนทั้งคนพาย ก็ถ้าเรือนั้น เขานำไปข้างเหนือหรือข้างใต้ ด้วยกรณียกิจเฉพาะบางอย่างเพื่อต้องการจะกลับมาอีกก็ดี ถูกพวกขโมยลักไป แต่พึงได้คืนเป็นแน่ก็ดี อนึ่ง เรือใด ถูกพายุเชือกขาดคลื่นซัดออกไปกลางแม่น้ำ พึงนำกลับคืนมาได้แน่นอนก็ดี เรือนั้น ย่อมเป็นธุวนาวาอีกเทียว. เรือเขาเข็นขึ้นบกไว้ในเมื่อน้ำลงงวดก็ดี เรือที่เขาเอาสิ่งของเป็นต้นว่า ปูนขาวและน้ำเชื้อบรรทุกเต็มจอดไว้ก็ดี จัดเป็นธุวนาวาได้. ถ้าเป็นเรือแตก หรือมีแนวกระดานครากออก ย่อมไม่ควร. แต่พระมหาปทุมัตเถระกล่าวว่า แม้หากว่า ภิกษุทั้งหลายยืมเรือมาชั่วคราว จอดไว้ในที่ผูกสีมาแล้ว กำหนดนิมิต เรือนั้นจัด เป็นธุวนาวาเหมือนกัน.
               ในบทว่า ธุวนาวา นั้น พระมหาสุมัตเถระแก้ว่า นิมิตก็ดีสีมาก็ดี ย่อมไปด้วยกรรมวาจา หาได้ไปด้วยเรือไม่, แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตธุวนาวาไว้, เพราะฉะนั้น ต้องเป็นเรือประจำแท้ๆ จึงจะสมควร.
               ข้อว่า ธุวเสตุ วา มีความว่า แม่น้ำใดมีสะพานสำหรับพวกคนเดินเท้า ซึ่งทำเสร็จด้วยไม้ขนานกัน หรือเรียบด้วยแผ่นกระดานก็ดี มีสะพานใหญ่ควรแก่การสัญจรแห่งสัตว์พาหนะ มีช้างและม้าเป็นต้นก็ดี ชั้นที่สุด แม้สะพานที่พอเดินไปได้คนเดียวซึ่งเขาตัดไม้ประกอบพอเป็นทางสัญจรของมนุษย์ทั้งหลาย ในขณะนั้นเองย่อมนับว่า สะพานถาวร เหมือนกัน. แต่ถ้าแม้เอามือยึดหวายและเถาวัลย์เป็นต้น ที่ผูกไว้ข้างบนแล้ว ยังไม่อาจไต่ข้ามไปโดยสะพานนั้นได้ ไม่ควร.
               ข้อว่า เอวรูปํ นทีปารสีมํสมฺมนฺนิตุํ มีความว่า ในแม่น้ำใดมีเรือประจำหรือสะพานถาวรมีประการดังกล่าวแล้วนี้ ที่ท่าตรงกันนั้นเอง เราอนุญาตให้สมมตินทีปารสีมาเห็นปานนั้นในแม่น้ำนั้นได้. ถ้าเรือประจำก็ดี สะพานถาวรก็ดี ไม่มีที่ท่าตรงกัน ขึ้นไปข้างบนหรือลงไปข้างล่างหน่อยหนึ่ง จึงมี แม้อย่างนี้ ก็ควร. แต่พระกรวิกติสสเถระกล่าวว่า แม้ในระยะเพียงคาวุตหนึ่ง มีเรือประจำหรือสะพานถาวร ก็ควร.
               ก็แล เมื่อภิกษุจะสมมตินทีปารสีมานี้ พึงยืนที่ฝั่งหนึ่ง กำหนดนิมิตที่ฝั่งแม่น้ำทางเหนือน้ำ แล้ววนไปรอบตัวตั้งแต่นิมิตนั้น พึงกำหนดนิมิตที่ฝั่งแม่น้ำทางใต้น้ำ ในที่สุดแห่งแดนกำหนดเท่าที่ต้องการแล้ว กำหนดนิมิตที่ฝั่งแม่น้ำ ในที่ซึ่งตรงข้ามกับฝั่งโน้น. ตั้งแต่นั้นไป พึงกำหนดเรื่อยไปจนถึงนิมิตที่ฝั่งแม่น้ำ ซึ่งตรงกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่งทางเหนือน้ำ ด้วยอำนาจแดนกำหนดเท่าที่ต้องการ แล้วกลับมาเชื่อมกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่ง. ลำดับนั้น พึงให้ภิกษุทั้งหลายซึ่งสถิตอยู่ภายในนิมิตทั้งปวงเข้าหัตถบาส แล้วสมมติสีมาด้วยกรรมวาจา ภิกษุผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำ แม้ไม่มา ก็ไม่ทำให้เสียกรรม. ในขณะที่สมมติเสร็จ เว้นแม่น้ำเสีย ร่วมในแห่งนิมิตทั้งหลาย ย่อมเป็นสีมาอันเดียวกัน ทั้งฝั่งนอกและฝั่งใน. ส่วนแม่น้ำ ไม่นับว่าเป็นพัทธสีมา เพราะว่า แม่น้ำนั้น เป็นนทีสีมาแผนกหนึ่งแล้ว. หากว่า ภายในแม่น้ำมีเกาะ ปรารถนาจะทำเกาะนั้นไว้ภายในสีมา พึงกำหนดนิมิตทั้งหลาย ที่ฝั่งซึ่งตนสถิตอยู่ตามนัยก่อนนั่นแล แล้วกำหนดนิมิตที่ท้ายเกาะทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น ลำดับนั้น พึงกำหนดนิมิตที่ฝั่งโน้น ในที่ซึ่งตรงกันข้ามกับนิมิตที่ฝั่งนี้แห่งแม่น้ำ ตั้งแต่นั้นไป พึงกำหนดเรื่อยไปจนถึงนิมิต ซึ่งตรงกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่งทางเหนือน้ำ ตามนัยก่อนนั่นแล ลำดับนั้น พึงกำหนดนิมิตที่ท้ายเกาะทั้งฝั่งโน้นและฝั่งนี้ แล้วกลับมาเชื่อมกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่ง ลำดับนั้น พึงให้ภิกษุทั้งหลายที่ฝั่งทั้ง ๒ และที่เกาะเข้าหัตถบาสกันทั้งหมดแล้วสมมติสีมาด้วยกรรมวาจา.
               ภิกษุผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำ แม้ไม่มา ก็ไม่ทำให้เสียกรรม. ในขณะที่สมมติเสร็จ เว้นแม่น้ำเสียร่วมในแห่งนิมิตทั้งหลาย ทั้ง ๒ ฝั่ง แม่น้ำ ทั้งเกาะ ย่อมเป็นสีมาอันเดียวกัน. ส่วนแม่น้ำคงเป็นนทีสีมา. ก็แล ถ้าเกาะยาว เกินกว่าแดนกำหนดสีมาแห่งวัดที่อยู่ไปทางเหนือน้ำ หรือทางใต้น้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้น พึงกำหนดนิมิตท้ายเกาะฝั่งใน ซึ่งตรงกันกับนิมิตแห่งแดนกำหนดสีมา ตั้งแต่นั้นไป เมื่อจะโอบรอบหัวเกาะ ต้องกำหนดนิมิตท้ายเกาะฝั่งนอก ซึ่งตรงกันข้ามกับนิมิตท้ายเกาะฝั่งในอีก. ต่อจากนั้นไป พึงเริ่มต้นแต่นิมิตที่ตรงกันข้ามที่ฝั่งโน้น กำหนดนิมิตที่ฝั่งโน้น และนิมิตท้ายเกาะทั้งฝั่งนอกและฝั่งในเสร็จ ตามนัยก่อนนั่นแล แล้วจึงทำการเชื่อมกับนิมิตที่กำหนดไว้เป็นที่หนึ่ง สีมาที่กำหนดนิมิตสมมติอย่างนี้ย่อมมีสัณฐานดังภูเขา. แต่ถ้าเกาะยาวเกินกว่าแดนกำหนดสีมาแห่งวิหาร ทั้งเหนือน้ำ ทั้งใต้น้ำไซร้, เมื่อกำหนดนิมิตโอบรอบหัวเกาะทั้ง ๒ ตามนัยก่อนนั่นแล แล้วจึงทำการเชื่อมนิมิต. สีมาที่กำหนดสมมติอย่างนี้ ย่อมมีสัณฐานดังตะโพน. ถ้าเป็นเกาะเล็กอยู่ภายในแห่งแดน กำหนดสีมาวิหาร พึงกำหนดนิมิตทั้งหลายตามนัยแรกแห่งนัยทั้งปวง. สีมาที่กำหนดสมมติอย่างนั้น ย่อมมีสัณฐานดังบัณเฑาะว์.
               บทว่า อนุปริเวณิยํ ได้แก่ บริเวณนั้นๆ ในวัดที่อยู่แห่งหนึ่ง.
               บทว่า อสงฺเกเตน ได้แก่ ไม่ทำที่สังเกตไว้.
               สองบทว่า เอกํ สมูหนิตฺวา ได้แก่ ถอนเสียด้วยกรรมวาจา.
               ข้อว่า ยโต ปาฏิโมกฺขํ สุณาติ มีความว่า ภิกษุนั่งในหัตถบาสของภิกษุทั้งหลายฟังปาติโมกข์อยู่ เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น อุโบสถเป็นอันเธอกระทำแล้วแท้.
               ก็คำว่า ยโต ปาฏิโมกฺขํ สุณาติ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เนื่องกับเรื่อง. ถึงเมื่อภิกษุนั่งแล้วในหัตถบาส แม้ไม่ฟังอุโบสถก็เป็นอันทำแล้ว.
               ข้อว่า นิมิตฺต กิตฺเตตพฺพา มีความว่า จะกำหนดนิมิตชนิดใดชนิดหนึ่ง มีศิลา อิฐ ท่อนไม้และหลักเป็นต้น เล็กก็ดี ใหญ่ก็ดี ทำให้เป็นเครื่องหมายแห่งหน้ามุขอุโบสถ ไว้กลางแจ้งหรือในที่ใดที่หนึ่ง มีโรงกลมเป็นต้น ย่อมควร.
               อีกอย่างหนึ่ง ข้อว่า นิมิตฺตา กิตฺเตตพฺพา มีความว่า พึงกำหนดวัตถุทั้งหลายที่ใช้เป็นนิมิตได้ก็ตาม ที่ใช้เป็นนิมิตไม่ได้ก็ตาม เป็นนิมิตเพื่อรู้แดนกำหนด.
               ในข้อว่า เถเรหิ ภิกฺขูหิ ปมตรํสนฺนิปติตุํ นี้ มีวินิจฉัยว่า หากว่า พระมหาเถระไม่มาก่อน ท่านก็ต้องทุกกฎ.
               ในข้อว่า สพฺเพเหว เอกชฺฌํ สนฺนิปติตฺวา อุโปสโถ กาตพฺโพ นี้ มีวินิจฉัยว่า ถ้าอาวาสเก่า มีอยู่ท่ามกลางวัดที่อยู่. และในอาวาสเก่านี้ มีที่นั่งพอแก่ภิกษุทั้งหลาย พึงประชุมกันทำอุโบสถในอาวาสนั้น. ถ้าอาวาสเก่าทั้งทรุดโทรมทั้งคับแคบ อาวาสอื่นที่สร้างทีหลังไม่คับแคบ พึงทำอุโบสถในอาวาสนั้น.
               แม้ในข้อว่า ยตฺถ วา ปน เถโร ภิกฺขุ วิหรติ นี้ มีวินิจฉัยว่า ถ้าวัดที่อยู่ของพระเถระพอแก่ภิกษุทั้งปวงเป็นที่สำราญ สะดวก พึงทำอุโบสถในวัดที่อยู่นั้น. แต่ถ้าวัดที่อยู่นั้นอยู่ในประเทศอันไม่ราบเรียบปลายแดน, พึงบอกแก่พระเถระว่า ท่านผู้เจริญ วัดที่อยู่ของท่านเป็นถิ่นที่ไม่สำราญ ไม่สะดวก ที่นี่ไม่มีโอกาสสำหรับภิกษุทั้งหมด ที่อาวาสโน้นมีโอกาส ท่านสมควรจะไปที่อาวาสนั้น. หากว่า พระเถระไม่มา พึงนำฉันทะและปาริสุทธิของท่านมา แล้วทำอุโบสถในสถานที่ผาสุกเพียงพอแก่ภิกษุทั้งปวง.
               บทว่า อนฺธกวินฺทา มีความว่า วัดชื่ออันธกวินทะ ห่างจากกรุงราชคฤห์ประมาณคาวุต ๑ เท่านั้น พระเถระอาศัยวัดนั้นอยู่มาจากอันธกวินทวิหารนั้น สู่กรุงราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ.
               อธิบายว่า จริงอยู่ มหาวิหาร ๑๘ ตำบล รอบกรุงราชคฤห์มีสีมา อันเดียวกันทั้งหมด สีมาแห่งมหาวิหารเหล่านั้น พระธรรมเสนาบดีผูก เพราะเหตุฉะนั้น พระมหากัสสปเถระจึงต้องมา เพื่อให้สามัคคีแก่สงฆ์ในเวฬุวัน.
               สองบทว่า นทึ ตรนฺโต ได้แก่ ข้ามแม่น้ำ ชื่อสิปปินิยะ.
               ข้อว่า มนํ วุฬฺโห อโหสิ มีความว่า ได้เป็นผู้มีภาวะอันน้ำพัดไปไม่ถึงนิดหน่อย.
               ได้ยินว่า แม่น้ำนั้นไหลลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พัดไปด้วยกระแสอันเชี่ยว พระเถระไม่ทันใส่ใจถึงน้ำในแม่น้ำนั้น ซึ่งกำลังไหลเชี่ยวจึงได้เป็นผู้ถูกน้ำพัดไปหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับลอย จีวรทั้งหลายของท่านถูกน้ำซัด จึงเปียก.
               กรรมวาจาก่อน ย่อมไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่กาลที่เกิดกรรมวาจานี้ว่า เสมฺมตา สีมา สงฺเฆน ติจีวเรน อวิปฺปวาโส ฐเปตฺวา คามญฺจ คามูปจารญฺจ. กรรมวาจาหลังนี้เท่านั้น ย่อมเป็นของถาวร. แต่กรรมวาจาหลังนี้ หาควรแก่นางภิกษุณีทั้งหลายไม่ กรรมวาจาก่อนเท่านั้น จึงควร. เพราะเหตุไร? เพราะว่าภิกษุณีสงฆ์ย่อมอยู่ภายในบ้าน. หากว่าพึงเป็นเช่นนั้นไซร้, ภิกษุณีสงฆ์นั้นไม่พึงได้ความบริหารไตรจีวร ด้วยกรรมวาจาหลังนั้น, แต่การบริหารของภิกษุสงฆ์นั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น กรรมวาจาก่อนนั่นแล ย่อมควร. จริงอยู่ สีมาทั้ง ๒ ย่อมได้แก่ภิกษุณีสงฆ์. ในสีมาแห่งภิกษุณีสงฆ์นั้น นางภิกษุณีทั้งหลายจะสมมติสีมาครอบสีมาแห่งภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ดี จะสมมติไว้ภายในสีมาของภิกษุทั้งหลายนั้นก็ดี ย่อมควร. แม้ในการที่ภิกษุทั้งหลายสมมติสีมาครอบสีมาแห่งนางภิกษุณีก็มีนัยเหมือนกัน. เพราะว่า ภิกษุและภิกษุณี ๒ ฝ่ายนั้น เป็นคณะปูรกะ ในกรรมของกันและกันไม่ได้ ไม่ทำกรรมวาจาให้เป็นวรรค. ก็ในคำว่า ฐเปตฺวา คามญฺจ คามูปจารญฺจ นี้ บัณฑิตพึงทราบว่าสงเคราะห์แม้ซึ่งนิคมและนครด้วยตามศัพท์นั่นแล.
               อุปจารบ้านนั้น ได้แก่เครื่องล้อมแห่งบ้านที่ล้อม. โอกาสแห่งเครื่องล้อมของบ้านที่ไม่ได้ล้อม. ภิกษุผู้ทรงไตรจีวรอธิษฐานย่อมไม่ได้บริหารในอุปจารบ้านเหล่านั้น. อวิปปวาสสีมาของภิกษุทั้งหลาย ย่อมไม่ครอบบ้าน อุปจารบ้าน ด้วยประการฉะนี้. สมานสังวาสกสีมาเท่านั้น ย่อมครอบถึง. ก็บรรดาสีมา ๒ อย่างนี้สมานสังวาสกสีมาย่อมไปตามธรรมดาของตน. ส่วนอวิปปวาสสีมา ย่อมไปเฉพาะในที่ซึ่งสมานสังวาสกสีมาไปถึง. ทั้งการกำหนดนิมิตของอวิปปวาสสีมานั้น จะมีแผนกหนึ่งก็หามิได้. ในสีมา ๒ ชนิดนั้น ถ้าในเวลาสมมติอวิปปวาสสีมามีบ้านอยู่, อวิปปวาสสีมานั้น ย่อมไม่ครอบถึงบ้านนั้น. อนึ่ง ถ้าสมมติสีมาแล้ว บ้านจึงตั้งลงภายหลัง, แม้บ้านนั้นย่อมนับเป็นสีมาด้วย. เหมือนอย่างว่า บ้านที่ตั้งลงภายหลัง ย่อมนับเป็นสีมาด้วยฉันใด แม้ประเทศแห่งบ้านที่ตั้งลงก่อน ขยายกว้างออกไปในภายหลัง ย่อมนับเป็นสีมาด้วย ก็ฉันนั้น. แม้ถ้าในเวลาสมมติสีมา เรือนทั้งหลายเขาทำไว้เสร็จแล้ว ทั้งความผูกใจว่า เราทั้งหลายจักเข้าไป ก็มี แต่มนุษย์ทั้งหลายไม่เข้าไปก็ดี ทิ้งบ้านเก่าพร้อมทั้งเรือนด้วย ไปในที่อื่นเสียก็ดี. บ้านนั้นไม่จัดเป็นบ้านเลย สีมาย่อมครอบถึง. แต่ถ้าแม้สกุลหนึ่ง ที่เข้าไปแล้วก็ดี ที่มาแล้วก็ดี มีอยู่ บ้านนั้นคงเป็นบ้าน สีมาย่อมไม่ครอบถึง.

               อรรถกถานทีปารสีมา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาวิธีถอนสีมา               
               วินิจฉัยในข้อว่า เอวญฺจ ปน ภิกฺขเว ติจีวเรน อวิปฺปวาโส สมูหนฺตพฺโพ นี้ต่อไป :-
               อันภิกษุผู้จะถอนพึงรู้จักวัตร. วัตรในการถอนนั้นดังนี้ อันภิกษุผู้ยืนอยู่ในขัณฑสีมา ไม่พึงถอนอวิปปวาสสีมา, ยืนอยู่ในอวิปปวาสสีมา ไม่พึงถอนแม้ซึ่งขัณฑสีมาเหมือนกัน. แต่ต้องยืนอยู่ในขัณฑสีมา ถอนขันฑสีมาเทียว. ต้องยืนอยู่ในสีมา นอกจากนี้ถอนสีมานอกจากนี้เหมือนกัน.
               ภิกษุทั้งหลายย่อมถอนสีมาด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เพื่อจะทำสีมาที่เล็กตามปกติให้ใหญ่ขึ้นอีก เพื่อประโยชน์แก่การขยายอาวาสออกไปบ้าง. เพื่อจะร่นสีมาที่ใหญ่โดยปกติให้เล็กลงอีก เพื่อประโยชน์แก่การให้โอกาสแห่งวิหารแก่ภิกษุเหล่าอื่นบ้าง.
               บรรดาสีมา ๒ ชนิดนั้น ถ้าภิกษุทั้งหลายรู้จักทั้งขัณฑสีมาและอวิปปวาสสีมาไซร้ เธอจักอาจเพื่อจะถอน และเพื่อจะผูก. อนึ่งรู้จักขัณฑสีมา แม้ไม่รู้จักอวิปปวาสสีมา จักอาจเพื่อจะถอน และเพื่อจะผูก. ไม่รู้จักขัณฑสีมา รู้จักแต่อวิปปวาสสีมาเท่านั้น จักยืนอยู่ในที่ซึ่งปราศจากความรังเกียจ มีลานเจดีย์ ลานโพธิ์และโรงอุโบสถเป็นต้นแล้ว บางทีก็อาจเพื่อจะถอนได้. แต่จักไม่อาจเพื่อจะผูกคืนได้เลย. หากจะพึงผูกไซร้. จะพึงกระทำความคาบเกี่ยวแห่งสีมา กระทำวัดที่อยู่ให้ใช้ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ไม่รู้จัก ไม่พึงถอน.
               ฝ่ายภิกษุเหล่าใดไม่รู้จักทั้ง ๒ สีมา, ภิกษุเหล่านั้นจักไม่อาจเพื่อจะถอน จักไม่อาจเพื่อจะผูกเป็นแท้. จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าสีมานี้ ย่อมไม่เป็นสีมาด้วยกรรมวาจาบ้าง ด้วยความสาบสูญแห่งศาสนาบ้าง และภิกษุทั้งหลายผู้ไม่รู้จักสีมา. ไม่สามารถทำกรรมวาจา เพราะฉะนั้นภิกษุผู้ไม่รู้จักสีมา ไม่พึงถอนสีมา. อันสีมานั้น อันภิกษุผู้รู้จักดีเท่านั้น พึงถอนด้วย พึงผูกด้วย.

               อรรถกถาวิธีถอนสีมา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาอพัทธสีมา               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสมานสังวาสและความเป็นผู้มีอุโบสถอันเดียวกัน เนื่องด้วยพัทธสีมาอย่างนี้แล้ว บัดนี้จะทรงแสดงสมานสังวาส และความเป็นผู้มีอุโบสถอันเดียวกันนั้นในโอกาสทั้งหลาย แม้ที่มิได้ผูกสีมา จึงตรัสคำว่า อสมฺมตาย ภิกฺเว สีมาย อฏฺฐปิตาย เป็นอาทิ.
               วินิจฉัยในคำนั้น บทว่า อฏฺฐปิตาย ได้แก่ ไม่ได้กำหนด. ก็แม้นครย่อมเป็นอันทรงถือเอาแล้วทีเดียว ด้วย คาม ศัพท์ ในคำว่า คามํ วา นิคมํ วา นี้.
               บรรดาคามสีมาและนิคมสีมานั้น ท่านผู้ครองบ้านนั้น ย่อมได้พลีในประเทศเท่าใด ประเทศเท่านั้น จะเล็กหรือใหญ่ก็ตามที ย่อมถึงความนับว่า คามสีมา ทั้งนั้น. แม้ในนครสีมาและนิคมสีมา ก็นัยนี้แล.
               พระราชาทรงกำหนดประเทศอันหนึ่งแม้ใด ในคามเขตอันหนึ่งเท่านั้นว่า นี้จงเป็นวิสุงคาม พระราชทานแก่บุคคลบางคน ประเทศแม้นั้น ย่อมเป็นวิสุงคามสีมาแท้. เพราะเหตุนั้น วิสุงคามสีมานั้นด้วย คามสีมา นครสีมาและนิคมสีมาตามปกตินอกนี้ด้วย ย่อมเป็นเช่นกับพัทธสีมาเหมือนกัน. แต่สีมาเหล่านี้ไม่ได้ความคุ้มครองการอยู่ปราศจากไตรจีวรอย่างเดียว.

               อรรถกถาอพัทธสีมา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาสัตตัพภันตรสีมา               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกำหนดสีมาแก่ภิกษุผู้มักอยู่ในละแวกบ้านอย่างนี้แล้ว บัดนี้จะทรงแสดงแม้แก่ภิกษุผู้มักอยู่ป่า จึงตรัสคำว่า อคามเก เจ เป็นอาทิ.
               วินิจฉัยในคำนั้น บทว่า อคามเก เจ ได้แก่ ประเทศแห่งดงที่ไม่ได้กำหนดด้วยคามสีมา นิคมสีมาและนครสีมา.
               อีกประการหนึ่ง บทว่า อคามเก เจ มีความว่า ภิกษุย่อมอยู่ในป่าเช่นดังดงชื่อวิชฌาฏวี, ครั้งนั้น ๗ อัพภันดรโดยรอบจากโอกาสที่ภิกษุนั้นยืน เป็นสมานสังวาสกสีมา. สีมานี้ย่อมได้ความคุ้มการอยู่ปราศจากไตรจีวรด้วย.
               บรรดา ๗ สัตตัพภันตรนั้น อัพภันดร ๑ ประมาณ ๒๘ ศอก. ๗ อัพภันดรโดยรอบ แห่งสงฆ์ผู้ตั้งอยู่ตรงกลาง ย่อมเป็น ๑๔ อัพภันดรโดยทะแยง. ถ้าสงฆ์ ๒ หมู่แยกกันทำวินัยกรรม ต้องเว้น ๗ อัพภันดรอีกระยะหนึ่ง ไว้ในระหว่างแห่ง ๗ อัพภันดรทั้ง ๒ เพื่อประโยชน์แก่อุปจาร.
               สัตตัพภันตรสีมากถาที่เหลือ พึงถือเอาตามนัยที่กล่าวแล้ว ในวรรณนาแห่งอุทโทสิตสิกขาบท ในมหาวิภังค์.๑-
____________________________
๑- สมนฺต. ทุติย. ๑๗๙.

               อรรถกถาสัตตัพภันตรสีมา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาอุทกุกเขปสีมา               
               ข้อว่า สพฺพา ภิกฺขเว นที อสีมา มีความว่า แม่น้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ได้ลักษณะแห่งแม่น้ำ แม้ภิกษุกำหนดนิมิตกระทำแล้วด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายทำแม่น้ำนี้ให้เป็นพัทธสีมาดังนี้ ย่อมไม่เป็นสีมาเลย. แต่แม่น้ำนั้นย่อมเป็นเช่นกับพัทธสีมาโดยสภาพของตนเท่านั้น จะทำสังฆกรรมทั้งปวงในแม่น้ำนี้ ย่อมควร แม้ในทะเลและชาตสระ ก็มีนัยเหมือนกัน.
               ก็บรรดาทะเลและชาตสระนี้ ที่ชื่อชาตสระ เป็นชลาสัย ที่ผู้ใดผู้หนึ่ง มิได้ขุดทำไว้ เป็นบึงที่เกิดเอง เต็มด้วยน้ำซึ่งมาได้รอบด้าน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงห้ามข้อที่แม่น้ำทะเลและชาตสระเป็นพัทธสีมา อย่างนั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงกำหนดแห่งอพัทธสีมาในแม่น้ำทะเล และชาตสระเหล่านั้นอีก จึงตรัสคำว่า นทิยา วา ภิกฺขเว เป็นอาทิ.
               วินิจฉัยในคำนั้น. ข้อว่า ยํ มชฺฌิมสฺส ปุริสสฺส สมนฺตา อุทกุกฺเขปา มีความว่า สถานที่ใดกำหนดด้วยวักน้ำสาดโดยรอบแห่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง คือบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ก็น้ำอันภิกษุจะพึงวักสาดอย่างไร? นักเลงสบ้าซัดลูกสบ้าไม้ฉันใด บุรุษผู้มีกำลังปานกลาง พึงเอามือวักน้ำหรือกำทรายซัดไป ด้วยกำลังทั้งหมด ฉันนั้น. น้ำหรือทรายที่ซัดไปอย่างนั้น ตกลงในโอกาสใด โอกาสนี้เป็นอุทกุกเขป ๑. ภิกษุผู้ละหัตถบาสตั้งอยู่ภายในอุทกุกเขปนั้น ย่อมทำกรรมให้เสีย. บริษัทขยายออกเพียงใด แม้สีมาย่อมขยายออกไปเพียงนั้น. เฉพาะอุทกุกเขป ๑ จากที่สุดโดยรอบแห่งบริษัทเป็นประมาณ.
               แม้ในชาตสระและทะเล ก็นัยนี้แล ก็แลบรรดาแม่น้ำชาตสระและทะเลเหล่านี้ ถ้าแม่น้ำไม่ยาวเกินไป สงฆ์นั่งอยู่ในที่ทั้งปวง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปากน้ำ ขึ้นชื่อว่าการทำสีมาด้วยอุทกุกเขป ย่อมไม่มี, แม่น้ำแม้ทั้งสิ้น ย่อมพอดีแก่ภิกษุเหล่านั้นเสียแล้ว.
               ก็คำใดที่พระมหาสุมัตเถระกล่าวว่า แม่น้ำเฉพาะที่ไหลเพียงโยชน์ ๑. ในแม่น้ำนั้น ต้องละกึ่งโยชน์ตอนบนเสีย ทำกรรมในกึ่งโยชน์ตอนล่าง จึงควร ดังนี้. คำนั้นพระมหาปทุมัตเถระค้านเสียแล้ว.
               ในมหาอรรถกถากล่าวว่า อันประมาณแห่งแม่น้ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ฉะนี้ว่า ภิกษุณีนุ่งห่มได้มณฑล ๓ ข้ามอยู่ ณ เอกเทสแห่งใดแห่งหนึ่ง อันตรวาสกเปียก แต่โยชน์ ๑ หรือกึ่งโยชน์ หาได้ตรัสไว้ไม่ เพราะเหตุนั้น แม่น้ำใดมีลักษณะดังกล่าวแล้วในหนหลัง ด้วยอำนาจแห่งสูตรนี้ จะทำสังฆกรรมตั้งแต่ต้นน้ำแห่งแม่น้ำนั้น ย่อมควร. แต่ถ้าภิกษุมากหลายจะแยกๆ กันทำกรรมในแม่น้ำนี้ไซร้. เธอทั้งปวงพึงเว้นอุทกุกเขปอื่นไว้ในระหว่างแดน กำหนดแห่งอุทกุกเขปของตน และของภิกษุพวกอื่น เพื่อประโยชน์แก่สีมันตริก เว้นไว้เกินกว่าอุทกุกเขป ๑ นั้น ควรแท้. แต่หย่อนกว่านั้น ไม่ควร.
               ในเขตสระและทะเล ก็นัยนี้แล ก็แลภิกษุทั้งหลายพากันไปด้วยคิดว่า เราจักทำสังฆกรรมในแม่น้ำ ถ้าแม่น้ำเต็มเสมอฝั่ง จะต้องนุ่งผ้าอาบน้ำก็ได้ พึงทำกรรมในแม่น้ำนั่นแล ถ้าไม่อาจ เพียงสถิตอยู่ในเรือก็ได้ กระทำเถิด แต่ไม่ควรทำในเรือซึ่งกำลังเดิน. เพราะเหตุไร? เพราะว่า ชั่วอุทกุกเขป ๑ เท่านั้นเป็นประมาณแห่งสีมา เรือย่อมพาสงฆ์นั่นแลให้ล่วงเลยสีมานั้นไป; เมื่อเป็นเช่นนั้น ญัตติจะอยู่ในสีมา ๑ อนุสาวนาจะอยู่ในอีกสีมา ๑ เพราะเหตุนั้น พึงจอดเรือไว้กับหลัก หรือทอดสมอ หรือผูกที่ต้นไม้ที่เกิดภายในแม่น้ำกระทำกรรม. สถิตอยู่บนร้านที่ผูกขึ้นในภายในแม่น้ำก็ดี บนต้นไม้ที่เกิดในภายในแม่น้ำก็ดี กระทำกรรมก็ควร. แต่ถ้ากิ่งแห่งต้นไม้ก็ดี ย่านที่ออกจากต้นไม้นั้นก็ดี จดอยู่ที่วิหารสีมา หรือที่คามสีมา นอกฝั่งแม่น้ำ ต้องชำระสีมาให้เรียบร้อย หรือตัดกิ่งไม้เสีย แล้วจึงทำกรรม. จะผูกเรือที่กิ่งแห่งต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนตลิ่ง ซึ่งยื่นลงไปในแม่น้ำ หรือที่ย่านไทรแล้วกระทำกรรมไม่ควร. เมื่อจะทำ ต้องชำระสีมาให้เรียบร้อย หรือต้องตัดเสีย ให้การที่กิ่งไม้หรือย่านไทรนั้น ซึ่งจดในภายนอกขาดจากกัน. อนึ่งจะปักหลักที่ฝั่งแม่น้ำแล้ว ทำกรรม. ในเรือซึ่งผูกที่หลักนั้น ก็ไม่ควรเหมือนกัน. ชนทั้งหลายทำสะพานไว้ในแม่น้ำ, ถ้าตัวสะพาน หรือเชิงสะพานอยู่ในภายในแม่น้ำเท่านั้น, จะสถิตอยู่บนสะพานทำกรรมก็ควร. แต่ถ้าตัวสะพาน หรือเชิงสะพานตั้งอยู่บนฝั่ง, จะสถิตอยู่บนสะพานนั้นทำกรรม ไม่ควร. ต้องชำระสีมาให้เรียบร้อยแล้ว จึงทำกรรม. ถ้าเชิงสะพานตั้งอยู่ในแม่น้ำ ส่วนตัวสะพานเชิดอยู่ในอากาศบนฝั่งทั้ง ๒ ย่อมควร. แก่งศิลาหรือเกาะ มีอยู่ภายในแม่น้ำ, ใน ๔ เดือนแห่งฤดูฝน เฉพาะกาลฝนตามปกติมีประการดังกล่าวแล้วในหนหลัง น้ำท่วมประเทศเท่าใด แห่งแก่งศิลาหรือเกาะนั้น, ประเทศเท่านั้น นับเป็นแม่น้ำเหมือนกัน. แต่ไม่ควรถือเอาโอกาสที่ห้วงน้ำท่วม ในคราวฝนชุกเกินไป. เพราะว่าโอกาสนั้น ย่อมถึงความนับว่าเป็นคามสีมาด้วย.
               ชนทั้งหลายเมื่อจะไขน้ำเข้าลำราง ย่อมทำทำนบในแม่น้ำ, และน้ำท่วมหรือเซาะแทงทำนบนั้นไหลไป จะทำกรรมในที่ซึ่งน้ำไหลทุกแห่ง ย่อมควร แต่ถ้ากระแสน้ำขาดสายทำนบกั้นก็ดี ด้วยถูกถมทำสะพานก็ดี๑- น้ำย่อมไม่ไหล จะทำกรรมในที่ซึ่งน้ำไม่ไหลไม่ควร. จะทำแม้บนยอดทำนบ ก็ไม่ควร. ถ้าประเทศแห่งทำนบบางแห่ง น้ำท่วมน้ำ เหมือนประเทศแห่งแก่งศิลาและเกาะซึ่งกล่าวแล้วในหนหลัง, จะทำกรรม ณ ประเทศแห่งทำนบที่น้ำท่วมถึงนั้น ย่อมควร. เพราะว่าประเทศแห่งทำนบนั้นย่อมถึงความนับว่าแม่น้ำเหมือนกัน. ชนทั้งหลายจะกั้นแม่น้ำเสีย ทำให้เป็นบึง, ก่อคันไว้ที่ปลายน้ำ น้ำไหลมาขังอยู่เต็มบึง จะทำกรรมในบึงนี้ ไม่ควร. น้ำที่เขาทิ้งเสียในที่ซึ่งไหลตอนบนและตอนล่าง แห่งบึงนั้น ย่อมควร จำเดิมแต่ที่ซึ่งล้นแล้วไหลบ่าลงสู่แม่น้ำ. ในเมื่อฝนไม่ตก ในคราวฝนแล้ง หรือในฤดูร้อนและในฤดูหนาว จะทำกรรมแม้ในแม่น้ำที่แห้ง ย่อมควร. ในลำรางที่เขาชักออกจากแม่น้ำ ไม่ควร. ถ้าลำรางนั้นพังกลายเป็นแม่น้ำในกาลอื่น ย่อมควร. แม่น้ำบางสายขึ้นท่วมคามสีมาและนิคมสีมาไหลไปตามฤดูกาล, แม่น้ำนั้นย่อมเป็นแม่น้ำเหมือนกัน สมควรทำกรรมได้. แต่ถ้าท่วมวิหารสีมา ย่อมถึงความนับว่า วิหารสีมา ด้วย. อันภิกษุทั้งหลายผู้จะทำกรรมแม้ในทะเลเล่า น้ำที่ขึ้นอย่างสูง ย่อมท่วมประเทศใดหรือคลื่นตามปกติมาด้วยกำลังลม ย่อมท่วมประเทศใด ไม่ควรทำกรรมในประเทศนั้น แต่คลื่นตามปกติเกิดขึ้นแล้ว หยุดอยู่แค่ประเทศใดประเทศนั้น จำเดิมแต่ชายน้ำลงไป จัดเป็นภายในทะเล ภิกษุทั้งหลายพึงตั้งอยู่ในประเทศนั้น ทำกรรมเถิด ถ้ากำลังคลื่นรบกวน พึงสถิตอยู่บนเรือ หรือร้านกระทำกรรม.
____________________________
๑- ปาฐะในอรรถกถาว่า อาวรเณน วา โกฏฺ ฐกพนฺธเนน วา. โยชนา ๒๔๖ แก้ว่า อาวรเณนวาติ ทารุอาทึ นิกฺขนิตฺวา อุทกนีวารเณน. โกฏฺฐลสมฺพทฺเธน วาติ มตฺติกาทีหิ ปูเรตฺวา กตเสตุพทฺเธน แม้อักษรจะเพี้ยนไปบ้างก็ตาม เสตุพนฺธ หมายความว่าทำสะพานตามความนิยมของภาษา เช่นในมงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๒ ตอน อนวชฺชกมฺมกถา หน้า ๑๒๔ มีกล่าวถึงอุบาสกคนหนึ่ง ... อุทกกาเล มาติกาสุเสตุํ พนฺธติ. ดังนั้นอาศัยนัยโยชนา จึงได้แปลเช่นนี้ให้ได้ความชัดลงไป.

               วินิจฉัยในเรือและร้านเหล่านั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในแม่น้ำนั่นแล. ศิลาดาดมีอยู่ในทะเล. บางคราวคลื่นมาท่วมศิลาดาดนั้น บางคราวไม่ท่วม ไม่ควรทำกรรมบนศิลาดาดนั้น. เพราะว่าศิลาดาดนั้นย่อมนับเป็นคามสีมาด้วย. แต่ถ้าเมื่อคลื่นมาก็ดี ไม่มาก็ดี ศิลาดาดนั้นอันน้ำตามปกตินั่นเองท่วมอยู่ ย่อมควร.
               เกาะหรือภูเขา มีอยู่ ถ้าเกาะหรือภูเขานั้น อยู่ในย่านไกลไม่เป็นทางไปของพวกชาวประมง เกาะหรือภูเขานั้น ย่อมนับเข้าเป็นอรัญญสีมานั่นแล. ส่วนร่วมในแห่งปลายทางเป็นที่เป็นไปของพวกชาวประมงเหล่านั้น นับเป็นคามสีมา. ไม่ชำระคามสีมาให้เรียบร้อยแล้ว ทำกรรมที่เกาะภูเขานั้น ไม่ควร. ทะเลท่วมคามสีมาหรือนิคมสีมาตั้งอยู่ คงเป็นทะเล; จะทำกรรมในทะเลนั้น ย่อมควร. แต่ถ้าท่วมวิหารสีมา ย่อมถึงความนับว่า วิหารสีมา ด้วย.
               อันภิกษุทั้งหลายผู้จะทำกรรมในชาตสระเล่า ในพรรษากาลมีประการดังกล่าวแล้วในหนหลัง พอฝนขาด น้ำในสระใดไม่พอเพื่อจะดื่ม หรืออาบหรือล้างมือและเท้า แห้งหมด; สระนี้ไม่จัดเป็นชาตสระ ถึงความนับว่าเป็นคามเขตนั่นเอง; ไม่ควรทำกรรมในสระนั้น. แต่ในพรรษากาลมีประการดังกล่าวแล้ว น้ำขังอยู่ในสระใด สระนี้แลจัดเป็นชาตสระ. ตลอด ๔ เดือนฤดูฝนน้ำขังอยู่ในประเทศเท่าใดแห่งชาตสระนั้น สมควรทำกรรมในประเทศเท่านั้นได้. ถ้าน้ำลึก จะผูกร้านแล้วตั้งอยู่บนร้านนั้นก็ดี ตั้งอยู่บนร้านที่ผูกไว้บนต้นไม้ที่เกิดภายในชาตสระก็ดี กระทำกรรมย่อมควร.
               ส่วนวินิจฉัยในศิลาดาดและเกาะ ในชาตสระนี้ เป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วในแม่น้ำนั่นเอง. อนึ่ง ชาตสระที่มีน้ำพอใช้ ในกาลที่ฝนตกเสมอ. แม้หากว่า ในคราวฝนแล้งหรือฤดูร้อนและฤดูหนาวจะแห้ง ไม่มีน้ำ; จะทำสังฆกรรมในชาตสระนั้น ก็ควร.
               ไม่ควรเชื่อถือคำที่ท่านกล่าวไว้ในอันธกอรรถกถาว่า ชาตสระทั้งปวงที่แห้งไม่มีน้ำ ย่อมจัดเข้าเป็นคามเขตไป แต่ถ้าชนทั้งหลายขุดบ่อหรือสระโบกขรณีเป็นต้นเพื่อต้องการน้ำ ในชาตสระนี้ สถานนั้นไม่เป็นชาตสระ. นับเป็นคามสีมา แม้ในการปลูกน้ำเต้าและแตงโมเป็นต้นที่เขาทำ ในชาตสระนั้น ก็มีนัยเหมือนกัน.
               อนึ่ง ถ้าชนทั้งหลายถมชาตสระนั้นให้เต็ม ทำให้เป็นบกก็ดี ก่อคันในทิสาภาคอันหนึ่ง ทำชาตสระนั้นทั้งหมดทีเดียวให้เป็นบึงใหญ่ก็ดี ไม่เป็นชาตสระแม้ทั้งหมด, นับเป็นคามสีมานั่นเอง. ถึงทะเลสาบ ก็จัดเป็นชาตสระเหมือนกัน. จะทำกรรมในโอกาสเป็นที่ขังน้ำตลอด ๔ เดือนฤดูฝน ควรอยู่ ฉะนี้แล,

               อรรถกถาอุทกุกเขปสีมา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

               อรรถกถาสีมาสัมเภท               
               ข้อว่า สีมาย สีมํ สมฺภินฺทนฺติ มีความว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ผูกสีมาของตนคาบเกี่ยวพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่น. ก็ถ้าว่าในทิศตะวันออกแห่งวัดที่อยู่เก่า มีต้นไม้ ๒ ต้น คือ มะม่วงต้น ๑ หว้าต้น ๑ มีค่าคบพาดเกี่ยวกัน, ในต้นมะม่วงและต้นหว้านั้น ต้นหว้าอยู่ทางทิศตะวันตกของต้นมะม่วงและวัดที่อยู่มีสีมา เป็นแดนที่ภิกษุกันเอาต้นหว้าไว้ข้างใน กำหนดต้นมะม่วงเป็นนิมิตผูกไว้ หากว่าภายหลังภิกษุทั้งหลายจะผูกสีมาทำวัดที่อยู่ในทิศตะวันออกแห่งวัดที่อยู่นั้น จึงกันเอาต้นมะม่วงไว้ภายในกำหนด ต้นหว้าเป็นนิมิตผูกไซร้, สีมากับสีมา ย่อมคาบเกี่ยวกัน. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้กระทำอย่างนี้.
               เพราะเหตุนี้ พระอุบาลีเถระจึงกล่าวว่า สีมาย สีมํ สมฺภินฺทนฺติ แปลว่า เจือสีมาด้วยสีมา.
               ข้อว่า สีมาย สีมํ อชฺโฌตฺถรนฺติ มีความว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทับพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่น ด้วยสีมาของตน คือผูกสีมาของตน เอาพัทธสีมาของภิกษุเหล่าอื่น ทั้งหมด หรือบางตอนแห่งพัทธสีมานั้นไว้ภายในสีมาของตน.
               ในข้อว่า สีมนฺตรกํ ฐเปตฺวา สีมํสมฺมนฺนิตุํ นี้ มีวินิจฉัยว่า หากสีมาแห่งวิหารที่ทำไว้ก่อนแดนที่มิได้สมมติ พึงเว้นอุปจารแห่งสีมาไว้. หากเป็นแดนที่สมมติ พึงเว้นสีมันตริกไว้ประมาณศอก ๑ โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด.
               ในกุรุนทีแก้ว่า แม้เพียงคืบเดียวก็ควร. ในมหาปัจจรีแก้ว่า แม้เพียง ๔ นิ้วก็ควร.
               อนึ่ง แม้ต้นไม้ต้นเดียวเป็นนิมิตแห่ง ๒ สีมา และต้นไม้นั้นเมื่อโตขึ้น ย่อมทำสีมาให้สังกระกัน; เพราะเหตุนั้น ไม่ควรทำ.

               อรรถกถาสีมาสัมเภท จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ สมมติสีมาและนิมิตแห่งสีมาเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 147อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 154อ่านอรรถกถา 4 / 157อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=4208&Z=4242
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=2393
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=2393
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :