ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 168อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 175อ่านอรรถกถา 4 / 181อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ
หน้าที่สวดปาติโมกข์เป็นต้น

               อรรถกถาอัชเฌสนา               
               วินิจฉัยในข้อว่า โส น ชานาติ อุโปสถํ วา เป็นอาทิดังนี้ :-
               พระเถระนั้นไม่รู้จักอุโบสถ ๓ อย่าง โดยต่างด้วยจาตุททสิกอุโบสถ ปัณณสิกอุโบสถและสามัคคีอุโบสถ และไม่รู้จักอุโบสถ ๙ อย่าง โดยต่างด้วยสังฆอุโบสถเป็นต้น ไม่รู้อุโบสถกรรม ๔ อย่าง ไม่รู้ปาติโมกข์ ๒ อย่าง ไม่รู้ปาติโมกขุทเทส ๙ อย่าง.
               ในข้อว่า โย ตตฺถ ภิกฺขุ พฺยตฺโต ปฏิพโล นี้ มีวินิจฉัยว่า ปาฏิโมกข์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุผู้ฉลาดแม้ยังหนุ่มก็จริงแล. ถึงกระนั้น ในข้อนี้ ควรทราบอธิบายดังนี้ :-
               ถ้าปาฏิโมกขุทเทส ๕ หรือ ๔ หรือ ๓ ของพระเถระ ยังจำไม่ได้ ส่วน ๒ อุทเทสเป็นของไม่บกพร่อง ชำนาญดี คล่องปาก ปาติโมกข์คงเนื่องด้วยพระเถระ. แต่ถ้าแม้เพียงเท่านี้ ท่านย่อมไม่อาจเพื่อทำให้ชำนาญได้ ย่อมเป็นหน้าที่ของพระภิกษุผู้ฉลาดเทียว.
               สองบทว่า สามนฺตา อาวาสา ได้แก่ อาวาสใกล้เคียงกัน.
               บทว่า สชฺชุกํ มีความว่า เพื่อประโยชน์แก่การมาในวันนั้นเอง.
               วินิจฉัยในข้อว่า นวกํ ภิกฺขุํ อาณาเปตุํ นี้ว่า ภิกษุใดสามารถจะเรียนได้ พึงบังคับภิกษุเห็นปานนั้น อย่าบังคับภิกษุที่โง่.
               บทว่า กตมี๑- ภนฺเต นี้ มีอธิบายว่า ดิถีเป็นที่เต็มแห่งดิถีทั้งหลายเท่าไร ชื่อว่า ดิถีที่เท่าไร คือกี่ค่ำ. มนุษย์ทั้งหลายหมายเอากุศลกรรมที่เนื่องด้วยพระผู้เป็นเจ้า ถามว่า ภิกษุมีประมาณเท่าไรขอรับ?
               ข้อว่า สลากํ วา คาเหตุํ มีความว่า เราตถาคตอนุญาตให้ภิกษุถือเอา คือรวมสลากแล้วนับ.
               บทว่า กาลวโต ได้แก่ ต่อกาลทีเดียว. ความว่า แต่เช้าทีเดียว.
               ในข้อว่า ยํ กาลํ สรติ นี้ มีความว่า แม้ในเวลาเย็นจะบอกว่า วันนี้อุโบสถ ท่านทั้งหลายจงมาประชุม ก็ควร.
               แม้ในข้อว่า เถเรน ภิกฺขุนา นวํ ภิกฺขุํ อาณาเปตุํ นี้ มีวินิจฉัยว่า
               ภิกษุผู้ทำกรรมบางอย่างก็ดี ภิกษุผู้ช่วยภาระอย่างหนึ่งตลอดกาลในกาลทุกเมื่อทีเดียวก็ดี ภิกษุผู้สรภาณกะและธรรมกถึก เป็นต้นรูปใดรูปหนึ่งก็ดี พระเถระไม่ควรสั่งบังคับ เพื่อกวาดโรงอุโบสถ ส่วนภิกษุที่เหลือพึงสั่งบังคับตามวาระ คือผลัดเปลี่ยนกัน หากว่า ภิกษุผู้ได้รับคำสั่งแล้ว จะไม่ได้ไม้กวาดแม้เป็นของยืมไซร้ พึงวานกัปปิยการกหักกิ่งไม้ทำให้ควรแล้วกวาด เมื่อเธอไม่ได้แม้ซึ่งกัปปิยการกนั้น เป็นอันได้ข้ออ้าง. ถึงในการสั่งบังคับเพื่อให้ปูลาดอาสนะ ก็พึงสั่งบังคับตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ฝ่ายภิกษุผู้รับคำสั่งแล้ว ถ้าอาสนะในโรงอุโบสถไม่มี พึงขนมาจากสังฆิกาวาส ปูลาดแล้ว ต้องขนไปคืน. เมื่ออาสนะไม่มีจะปูเสื่อลำแพนก็ดี เสื่ออ่อนก็ดี ย่อมควร ถึงเมื่อเสื่ออ่อนไม่มีก็พึงวานกัปปิยการกให้ช่วยหักกิ่งไม้ ทำให้ควรแล้วปูลาดเถิด เมื่อเธอไม่ได้กัปปิยการก เป็นอันได้ข้ออ้าง.
               ในการตามประทีปเล่า พระเถระก็พึงสั่งบังคับตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. และเมื่อจะสั่งบังคับ ต้องบอกว่า น้ำมันหรือไส้หรือตะเกียง มีอยู่ในโอกาสโน้น เธอจงถือเอาสิ่งนั้นๆ มาตามประทีป. หากน้ำมันเป็นต้น ไม่มี ภิกษุผู้รับคำสั่งต้องแสวงหามา เมื่อแสวงหาแล้วไม่ได้ เป็นอันได้ข้ออ้าง. อีกอย่างหนึ่ง จะพึงติดไฟให้โพลงบนกระเบื้องก็ได้.
               ข้อว่า สงฺคเหตพฺโพ มีความว่า ภิกษุผู้เป็นพหุสูตนั้น อันภิกษุทั้งหลายพึงสงเคราะห์ ด้วยถ้อยคำอันไพเราะอย่างนี้ว่า ท่านมาแล้วก็ดีแหละ ขอรับ ที่นี่ภิกษาหาได้ง่าย แกงและกับข้าวก็มี อย่าต้องเป็นกังวลเลย นิมนต์อยู่เถิด พึงอนุเคราะห์เนื่องด้วยการพูดจากันบ่อยๆ พึงเกลี้ยกล่อมด้วยให้เธอให้คำตอบว่า ขอรับผมจักอยู่.
               อีกประการหนึ่ง พึงสงเคราะห์และอนุเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔ พึงเกลี้ยกล่อมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ.
               อธิบายว่า พึงเจรจาให้เสนาะหู พึงให้บำรุงด้วยสิ่งของต่างๆ มีจุณเป็นต้น.
               ข้อว่า อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส มีความว่า ถ้าสงฆ์แม้ทั้งมวลไม่ทำไซร้, ต้องทุกกฎทั้งหมด.
               ในอธิการนี้ พระเถระทั้งหลายก็ไม่พ้น พวกภิกษุหนุ่มก็ไม่พ้น. ภิกษุทั้งปวงพึงให้เปลี่ยนวาระกันบำรุง เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่บำรุงในวาระของตน. แต่ภิกษุผู้เป็นพหุสูตนั้น อย่าพึงยินดีวัตรมีการกวาดบริเวณและให้ไม้สีฟันเป็นต้นของพระมหาเถระทั้งหลาย. แม้เมื่อข้อที่เธอได้ยินดี มีอยู่ พระมหาเถระทั้งหลายก็ควรมาสู่ที่บำรุงทั้งเย็นเช้า. แต่ภิกษุผู้พหุสูตนั้นรู้ความมาของพวกท่านแล้ว พึงไปสู่ที่บำรุงของพระมหาเถระทั้งหลายเสียก่อน.
               ถ้าภิกษุผู้สหจร ซึ่งเป็นอุปัฏฐากของเธอมีอยู่ เธอพึงห้ามเสียว่าอุปัฏฐากของผมมี ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยอยู่เถิด. แม้ถ้าว่า ภิกษุผู้สหจรของเธอไม่มี. แต่ภิกษุรูปหนึ่งหรือ ๒ รูป ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรในวัดที่อยู่นั่นเอง กล่าวว่า ผมจักทำกิจที่ควรทำแก่พระเถระเอง ภิกษุที่เหลือจงอยู่เป็นผาสุกเถิด ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุทั้งปวง.
               ข้อว่า โส อาวาโส คนฺตพฺโพ มีความว่า อาวาสนั้นอันภิกษุทั้งหลายผู้เขลา ไม่ฉลาด พึงไปทุกกึ่งเดือน เพื่อประโยชน์แก่การทำอุโบสถ ก็อาวาสนั้นแล ควรไปทั้งเหมันตฤดูและคิมหฤดูทีเดียว แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำเป็นต้นว่า ผู้เขลาไม่ฉลาดจำพรรษา ดังนี้ ก็เพื่อแสดงกิจที่ควรทำในฤดูฝน.
               ในพระบาลี ข้อว่า น ภิกฺขเว เตหิ ภิกฺขูหิ ตสฺมึ อาวาเส วสฺสํ วสิตพฺพํ มีความว่า
               ในการเข้าพรรษาแรก อย่าจำพรรษาปราศจากภิกษุผู้สวดปาฏิโมกข์.
               หากว่าภิกษุผู้สวดปาติโมกข์นั้นหลีกไปเสียหรือสึกเสียหรือทำกาลกิริยาเสีย ต่อเมื่อภิกษุทั้งหลายจำพรรษาแล้ว เมื่อภิกษุอื่นที่สวดได้มีอยู่นั่นแล จึงควรจำพรรษาหลัง เมื่อไม่มี ต้องไปในอาวาสอื่น เมื่อไม่ไป ต้องทุกกฎ. แต่ถ้าภิกษุผู้สวดปาติโมกข์นั้นหลีกไปเสียหรือสึกเสียหรือทำกาลกิริยาเสีย ในการเข้าพรรษาหลัง พึงอยู่ในที่นั้นตลอด ๒ เดือน.
____________________________
๑- พระบาลีวินัยเป็น กติมี, ฏีกาวิมติโนทนีก็เป็น กติมี.

               อรรถกถาอัชเฌสนา จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ หน้าที่สวดปาติโมกข์เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 168อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 175อ่านอรรถกถา 4 / 181อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=4595&Z=4728
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3069
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3069
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :