ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 89อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 92อ่านอรรถกถา 5 / 94อ่านอรรถกถา 5 / 261
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะ
พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔ เป็นต้น

               มหาปเทส ๔               
               เพื่อประโยชน์ที่ภิกษุทั้งหลายจะได้ถือไว้เป็นแบบ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสมหาปเทส (คือ หลักสำหรับอ้างใหญ่) ๔ ข้อเหล่านี้ว่า ยํ ภิกฺขเว มยา อิทํ น กปฺปติ เป็นต้น.
               พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย เมื่อถือเอาสูตรสอบสวนดูในมหาปเทสนั้น ได้เห็นความข้อนี้ว่า :-
               ด้วยพระบาลีว่า ฐเปตฺวา ธญฺญผลรสํ นี้ ธัญญชาติ ๗ ชนิดเป็นอันห้ามแล้วว่า ไม่ควรในปัจฉาภัต. มหาผล ๙ อย่าง คือ ผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม ฟักทอง เป็นอันทรงห้าม และอปรัณณชาติทุกชนิด มีคติอย่างธัญญชาติเหมือนกัน. มหาผลและอปรัณณชาตินั้น ไม่ได้ทรงห้ามไว้ก็จริง ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ, เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรในปัจฉาภัต.
               น้ำปานะ ๘ อย่าง ทรงอนุญาตไว้ น้ำปานะแห่งผลไม้เล็กมีหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อและเล็บเหนี่ยวเป็นต้น มีคติอย่างอัฏฐบานแท้ น้ำปานะแห่งผลไม้เหล่านั้น ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ก็จริง. ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ เพราะฉะนั้น จึงควร.
               ในกุรุนทีแก้ว่า จริงอยู่ เว้นรสแห่งเมล็ดข้าวกับทั้งสิ่งที่อนุโลมเสียแล้ว ขึ้นชื่อว่านํ้าผลไม้อื่นที่ไม่ควร ย่อมไม่มี น้ำผลไม้ทุกชนิดเป็นยามกาลิกแท้.
               จีวรพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ ๖ ชนิด. จีวรอื่นอีก ๖ ชนิดที่อนุโลมจีวรเหล่านั้น คือผ้าทุกุละ ผ้าแคว้นปัตตุนนะ ผ้าเมืองจีน ผ้าเมืองแขก ผ้าสำเร็จด้วยฤทธิ์ ผ้าเทวดาให้ พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายอนุญาตแล้ว.
               บรรดาผ้าเหล่านั้น ผ้าปัตตุนนะนั้นได้แก่ ผ้าที่เกิดด้วยไหมในปัตตุนประเทศ. ผ้า ๒ ชนิด เรียกตามชื่อของประเทศนั่นเอง. ผ้า ๓ ชนิดนั้น อนุโลมผ้าไหม ผ้าทุกุละ อนุโลมผ้าป่าน นอกจากนี้ ๒ ชนิด อนุโลมผ้าฝ่ายหรือผ้าทุกอย่าง.
               บาตรพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้าม ๑๑ อย่าง อนุญาต ๒ อย่าง คือบาตรเหล็ก บาตรดิน. ภาชนะ ๓ อย่าง คือ ภาชนะเหล็ก ภาชนะดิน ภาชนะทองแดง อนุโลมแก่บาตรนั้นแล.
               กระติกน้ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ ๓ อย่าง คือ กระติกโลหะ กระติกไม้ กระติกผลไม้. ภาชนะน้ำ ๓ อย่าง คือ คนโทน้ำ ขันทองห้าว หม้อตักน้ำ อนุโลมกระติกน้ำ ๓ อย่างนั้นแล. แต่ในกุรุนทีแก้ว่า สังข์สำหรับใส่น้ำฉัน และขันน้ำ อนุโลมแก่กระติกเหล่านั้น.
               ประคดเอวทรงอนุญาตไว้ ๒ ชนิด คือ ประคดทอเป็นแผ่น ประคด ไส้สุกร ประคดเอวที่ทำด้วยผืนผ้า และด้วยเชือกอนุโลมประคด ๒ ชนิดนั้น
               ร่มทรงอนุญาตไว้ ๓ ชนิด คือ ร่มขาว ร่มรำแพน ร่มใบไม้, ร่มใบไม้ใบเดียว อนุโลมตามร่ม ๓ ชนิดนั้นเอง แม้ของอื่นๆ ที่เข้ากับสิ่งที่ควรและไม่ควร ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาดูบาลีและอรรถกถาแล้วทราบตามนัยนี้เถิด.

               ว่าด้วยกาลิกระคนกัน               
               คำว่า ตทหุปฏิคฺคหิตํ กาเล กปฺปติ เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอารสที่เจือกันทุกอย่าง. ก็ถ้าน้ำปานะเป็นของที่รับประเคนปนกับมะพร้าวทั้งผล ยังไม่ได้ปอกเปลือก เอามะพร้าวออกเสียแล้ว น้ำปานะนั้นควรแม้ในเวลาวิกาล.
               พวกทายกถวายข้าวปายาสเย็น วางก้อนสัปปิไว้ข้างบน เนยใสไม่ปนกับข้าวปายาส จะเอาเนยใสนั้นออกไว้ฉัน ๗ วันก็ควร.
               แม้ในสัตตาหกาลิกที่เหลือ มีน้ำผึ้งและน้ำตาลที่เป็นแท่งเป็นต้นก็นัยนี้แล.
               พวกทายกถวายบิณฑบาต ประดับด้วยกระวานและลูกจันทน์เป็นต้นบ้าง กระวานและลูกจันทน์เป็นต้นนั้น พึงยกออกล้างไว้ฉันได้ตลอดชีวิต ในขิงที่เขาใส่ในยาคูถวายเป็นต้นก็ดี ในชะเอมที่เขาใส่แม้ในน้ำมันเป็นอาทิ แล้วถวายเป็นต้นก็ดี มีนัยเหมือนกันแล.
               กาลิกใดๆ เป็นของมีรสระคนปนกันไม่ได้อย่างนั้น กาลิกนั้นๆ แม้รับประเคนรวมกัน ล้างหรือปอกเสียจนบริสุทธิ์แล้วฉัน ด้วยอำนาจแห่งกาลของกาลิกนั้นๆ ย่อมควร. แต่ถ้ากาลิกใดเป็นของมีรสแทรกกันได้ ปนกันได้ กาลิกนั้นย่อมไม่ควร.
               จริงอยู่ ยาวกาลิกย่อมชักกาลิกทั้ง ๓ มียามาลิกเป็นต้น ซึ่งมีรสเจือกับตน เข้าสู่สภาพของตน ถึงยามกาลิกก็ชักกาลิกแม้ ๒ มีสัตตาหกาลิกเป็นต้นเข้าสู่สภาพของตน สัตตาหกาลิกเล่า ย่อมชักยาวชีวิกที่ระคนเข้ากับตน เข้าสู่สภาพของตนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทราบสันนิษฐานว่า ยาวชีวิกที่รับประเคนในวันนั้นก็ดี รับประเคนในวันก่อนๆ ก็ดี ปนกับสัตตาหกาลิกนั้น ซึ่งรับประเคนในวันนั้น ควรเพียง ๗ วัน ปนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนไว้ ๒ วัน ควรเพียง ๖ วัน ปนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนไว้ ๓ วัน ควรเพียง ๕ วัน ปนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนไว้ ๗ วัน ควรในวันนั้นเท่านั้น ก็เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกที่รับประเคนในวันนั้น ปนกับสัตตาหกาลิก ควร ๗ วัน ตรัสว่า ยาวชีวิกที่รับประเคนแล้ว คือปนกับสัตตาหกาลิก ควร ๗ วัน ก็เมื่อกาลิก ๓ นี้ก้าวล่วงกาล ยาม และ ๗ วัน พึงทราบอาบัติด้วยอำนาจวิกาลโภชสิกขาบท สันนิธิสิกขาบทและเภสัชสิกขาบท.
               ก็แลในกาลิก ๔ นี้ กาลิก ๒ คือ ยาวกาลิก ๑ ยามกาลิก ๑ นี้เท่านั้นเป็นอันโตวุตถะด้วย เป็นสันนิธิการกะด้วย แต่สัตตาหกาลิกและยาวชีวิก แม้จะเก็บไว้ในอกัปปิยกุฏิ ก็ควร. ทั้งไม่ให้เกิดสันนิธิด้วย ดังนี้แล.
               คำที่เหลือในที่ทั้งปวงตื้นทั้งนั้นฉะนี้แล.

               อรรถกถาเภสัชชขันธกะ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๒ เภสัชชขันธกะ พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔ เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 5 / 1อ่านอรรถกถา 5 / 89อรรถกถา เล่มที่ 5 ข้อ 92อ่านอรรถกถา 5 / 94อ่านอรรถกถา 5 / 261
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=5&A=2572&Z=2603
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=4219
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=4219
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :