ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 197อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 198อ่านอรรถกถา 7 / 204อ่านอรรถกถา 7 / 664
อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ
เรื่องราชคหเศรษฐีถวายวิหารเป็นต้น

               เสนาสนักขันธกวรรณนา               
               [วินิจฉัยในเสนาสนักขันธกะ]               
               วินิจฉัยในเสนาสนักขันธกะ พึงทราบดังนี้ :-
               บทว่า เสนาสนะเป็นของยังมิได้ทรงบัญญัติ ได้แก่ เป็นของยังมิได้อนุญาต.
               ที่อยู่ที่เหลือ พ้นจากเรือนมุงแถบเดียวเป็นต้นไป ชื่อวิหาร.
               เรือนมุงแถบเดียวนั้น ได้แก่ เรือนที่โค้งดังปีกครุฑ.
               ปราสาทนั้น ได้แก่ ปราสาทยาว.
               เรือนโล้นนั้น ได้แก่ ปราสาทนั่นเอง แต่มีเรือนยอดตั้งอยู่บนพื้นบนอากาศ.
               ถ้ำนั้น ได้แก่ ถ้ำอิฐ ถ้ำศิลา ถ้ำไม้ ถ้ำดิน.
               คำว่า เพื่อสงฆ์ทั้ง ๔ ทิศที่มาแล้ว และยังไม่มา คือเพื่อสงฆ์ผู้อยู่ใน ๔ ทิศ ทั้งที่มาแล้ว ทั้งที่ยังมิได้มา.

               [ว่าด้วยวิหารทาน]               
               วินิจฉัยในอนุโมทนาคาถา พึงทราบดังนี้ :-
               สองบทว่า เย็น ร้อน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าด้วยอำนาจฤดูผิดส่วนกัน.
               ลมเจือหยาดน้ำ ท่านเรียกว่า ลมในสิสิรฤดู ในคำนี้ว่า สิสิเร จาปิ วุฏฺฐิโย.
               ฝนนั้น คือ ฝนที่เกิดแต่เมฆโดยตรงนั่นเอง.
               บทเหล่านี้ทั้งหมด พึงประกอบกับบทนี้เทียวว่า ปฏิหนฺติ.
               บทว่า ปฏิหญฺญติ ได้แก่ ลมและแดดอันวิหารย่อมป้องกัน.
               บทว่า เลณตฺถํ คือ เพื่อหลีกเร้นอยู่.
               บทว่า สุขตฺถํ คือ เพื่อความอยู่สบาย เพราะไม่มีอันตราย มีเย็นเป็นต้น.
               สองบทนี้ว่า ฌายิตุญฺจ วิปสฺสิตุํ พึงประกอบกับบทนี้เทียวว่า สุขตฺถญฺจ.
               จริงอยู่ ท่านกล่าวคำอธิบายดังนี้ :-
               การถวายวิหาร เพื่อความสุข การถวายวิหารเพื่อความสุข เป็นไฉน? ความสุขใด มีเพื่อเพ่งพินิจ และเพื่อเห็นแจ้ง, การถวายวิหารเพื่อความสุขนั้น.
               อีกประการหนึ่ง สองบทว่า ฌายิตุญฺจ วิปสฺสิตุํ นี้ พึงประกอบกับบทหลังบ้างว่า ถวายวิหารเพื่อเพ่งพินิจ และเพื่อเห็นแจ้ง.
               การถวายวิหารแก่สงฆ์ ของทายกผู้ถวายด้วยตั้งใจว่า ภิกษุทั้งหลายจักเพ่งพินิจ จักเห็นแจ้ง ในกุฏีนี้ ท่านผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญว่าเลิศ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ว่า ผู้ใดให้ที่อยู่ ผู้นั้นเป็นผู้ให้ครบทุกอย่าง
               จริงอยู่ การถวายวิหาร ท่านผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญว่าเลิศ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประพันธ์คาถาว่า ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส.
               คำว่า วาสเยตฺถ พหุสฺสุเต มีความว่า พึงนิมนต์ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตด้วยการเล่าเรียน และผู้เป็นพหูสูตด้วยความตรัสรู้ ให้อยู่ในวิหารนี้.
               หลายบทว่า เตสํ อนฺนญฺจ เป็นต้น มีความว่า ข้าว น้ำ ผ้าและเสนาสนะ มีเตียงตั่งเป็นต้นอันใด สมควรแก่ภิกษุเหล่านั้น, พึงมอบถวายปัจจัยทั้งปวงนั้น ในภิกษุเหล่านั้น ผู้ซื่อตรง คือมีจิตไม่คดโกง.
               บทว่า ทเทยฺย คือ พึงมอบถวาย (หรือเพิ่มถวาย).
               ก็แล พึงถวายปัจจัยนั้น ด้วยจิตอันเลื่อมใส ไม่ยังความเลื่อมใสแห่งจิตให้คลายเสีย.
               จริงอยู่ ทายกนั้นจะรู้ทั่วถึงธรรมใดในพระศาสนานี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน ภิกษุผู้เป็นพหูสูตเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมนั้น ซึ่งเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง แก่เขาผู้มีจิตผ่องใสอย่างนั้น ฉะนี้แล.

               [ว่าด้วยสายยูเป็นต้น]               
               วินิจฉัยในคำว่า อาวิญฺฉนฉิทฺทํ อาวิญฺฉนรชฺชุํ นี้ มีความว่า ขึ้นชื่อว่าเชือก แม้ถ้าเป็นของที่ทำด้วยหางเสือ ควรแท้. เชือกบางอย่างไม่ควรหามิได้.
               ดาล ๓ ชนิดนั้น ได้แก่ กุญแจ ๓ อย่าง.
               วินิจฉัยในคำว่า ยนฺตกํ สูจิกํ นี้ว่า ภิกษุควรทำกุญแจยนต์ที่ตนรู้จัก และลูกกุญแจสำหรับไขกุญแจยนต์นั้น.
               ที่ชื่อว่าหน้าต่างสอบบน คล้ายเวทีแห่งเจดีย์
               ที่ชื่อว่าหน้าต่างตาข่าย ได้แก่ หน้าต่างที่ขึงข่าย.
               ที่ชื่อว่าหน้าต่างซี่ ได้แก่ หน้าต่างลูกกรง.
               ในคำว่า จกฺกลิกํ นี้ มีความว่า เราอนุญาตให้ผูกผ้าเล็กๆ คล้ายผ้าเช็ดเท้า.
               คำว่า วาตปานภิสิกํ มีความว่า เราอนุญาตให้ทำเสื่อ ได้ขนาดหน้าต่างผูกไว้.

               [ว่าด้วยเตียงและตั่ง]               
               บทว่า มิฒึ ได้แก่ กระดานตั่ง.
               บทว่า วิทลมญฺจํ ได้แก่ เตียงหวาย หรือเตียงที่สานด้วยตอกไม้ไผ่.
               ตั่ง ๔ เหลี่ยมจตุรัส เรียกว่า อาสันทิกะ.
               จริงอยู่ ตั่งยาวด้านเดียวเท่านั้น มีเท้า ๘ นิ้ว จึงควร, ส่วนตั่ง ๔ เหลี่ยมจตุรัส พึงทราบว่า แม้เกินประมาณก็ควร เพราะพระบาลีว่า เราอนุญาตตั่ง ๔ เหลี่ยมจตุรัสแม้สูง.
               เตียงที่ทำพนักพิง ๓ ด้าน ชื่อสัตตังคะ. แม้สัตตังคะนี้ ถึงเกินประมาณก็ควร.
               ตั้งที่ทำเสร็จด้วยหวายล้วน เรียกว่า ภัททปีฐะ.
               เฉพาะตั่งที่ขึงด้วยผ้าเก่า เรียกว่า ปีฐกา.
               ตั่งที่ติดเท้าบนเขียงไม้ ทำคล้ายโต๊ะกินข้าว เรียกชื่อว่า ตั่งขาทราย
               ตั่งมีเท้ามากประกอบไว้ด้วยอาการดังผลมะขามป้อม ชื่อว่า ตั่งก้ามมะขามป้อม.
               ตั่งที่มาในพระบาลี เท่านี้ก่อน, ส่วนตั่งไม้ควรทั้งหมด วินิจฉัยในอธิการว่าด้วยตั่งนี้ เท่านี้.
               ตั่งที่ถักด้วยแฝก หรือถักด้วยหญ้าปล้อง หรือถักด้วยหญ้ามุงกระต่าย เรียกว่า เก้าอี้.
               ในคำว่า อฏฺฐงฺคุลปรมํ มญฺจปฏิปาทกํ นี้ ว่า ๘ นิ้ว คือนิ้วขนาดของพวกมนุษย์นั่นเอง.

               [ว่าด้วยเครื่องลาดพื้นและนุ่นเป็นต้น]               
               เครื่องปูลาดเพื่อต้องการจะรักษาผิวแห่งพื้นที่ทำบริกรรม เรียกชื่อว่า จิมิลิกา ผ้าคลุม.
               นุ่นแห่งต้นไม้นั้น ได้แก่ นุ่นแห่งต้นไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีต้นงิ้วเป็นต้น.
               นุ่นแห่งเครือวัลลิ์นั้น ได้แก่ นุ่นแห่งเถาวัสลิ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีเถานํ้านมเป็นต้น.
               นุ่นแห่งหญ้านั้น ได้แก่ นุ่นแห่งติณชาติเหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีหญ้าคมบางเป็นต้น โดยที่สุด แม้นุ่นแห่งอ้อยและไม้อ้อเป็นต้น.
               ภูตคามทั้งปวง เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรวมเข้าด้วยต้นไม้เถาวัลลิ์และหญ้า ๓ ชนิดเหล่านี้.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า ภูตคามอื่น ซึ่งพ้นจากรุกขชาติ วัลลิ์ชาติและติณชาติไป ย่อมไม่มี. เพราะฉะนั้น นุ่นแห่งภูตคามชนิดใดชนิดหนึ่ง ย่อมควรในการทำหมอน.
               แต่ครั้นมาถึงฟูกเข้า นุ่นนั้น แม้ทุกชนิด ท่านกล่าวว่า เป็นนุ่นที่ไม่ควร. และจะควรในการทำหมอนเฉพาะนุ่นนั้นอย่างเดียวหามิได้, แม้ขนแห่งนกทุกชนิด มีหงส์และนกยุงเป็นต้น และแห่งสัตว์ ๔ เท้าทุกชนิด มีสีหะเป็นต้น ก็ควร.
               แต่ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีดอกประยงค์และดอกพิกุลเป็นต้น ไม่ควร. เฉพาะใบเต่าร้างล้วนๆ ทีเดียว ไม่ควร, แต่ปน ควรอยู่ แม้นุ่นคือขนสัตว์เป็นต้น ๕ อย่าง ที่ทรงอนุญาตสำหรับฟูก ก็ควรในการทำหมอน.

               [ว่าด้วยหมอน]               
               ในกุรุนทีกล่าวว่า บทว่า อฑฺฒกายิกานิ มีความว่า ชนทั้งหลายย่อมทอดกายตั้งแต่บั้นเอวจนถึงศีรษะบนหมอนเหล่าใด หมอนเหล่านั้น ชื่อมีประมาณกึ่งกาย. หมอนที่จัดว่า ได้ขนาดกับศีรษะ คือด้านกว้าง เมื่อวัดในระหว่างมุมทั้ง ๒ เว้นมุมหนึ่งเสียในบรรดา ๓ มุม ได้คืบ ๑ กับ ๔ นิ้ว ตรงกลางได้ศอกกำหนึ่ง ส่วนด้านยาว ยาวศอกคืบหรือ ๒ ศอก.
               นี้เป็นกำหนดอย่างสูงแห่งหมอนที่ได้ขนาดกับศีรษะ. กว้างเกินกว่ากำหนดนี้ขึ้นไปไม่ควร. ต่ำลงมาควร.
               หมอน ๒ ชนิด คือ หมอนหนุนศีรษะ และหมอนหนุนเท้า ควรแก่ภิกษุผู้ไม่อาพาธแท้. ภิกษุผู้อาพาธจะวางหมอนหลายใบแล้วปูเครื่องลาดข้างบนแล้วนอน ก็ควร.
               อนึ่ง พระปุสสเทวเถระกล่าวว่า นุ่นที่เป็นกัปปิยะ ๕ อย่างเหล่าใดที่ทรงอนุญาตสำหรับฟูกทั้งหลาย, หมอนที่ทำด้วยนุ่นเหล่านั้นแม้ใหญ่ก็ควร.
               ฝ่ายพระอุปติสสเถระผู้วินัยธรกล่าวว่า ประมาณนั่นแล ควรแก่ภิกษุผู้ยัดนุ่นที่เป็นกัปปิยะ หรือนุ่นที่เป็นอกัปปิยะ ด้วยคิดว่า จักทำหมอน.

               [ว่าด้วยฟูก]               
               ฟูก ๕ อย่างนั้น ได้แก่ ฟูกที่ยัดด้วยของ ๕ อย่าง มีขนสัตว์เป็นต้น
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจำนวนแห่งฟูกเหล่านี้ ตามจำนวนแห่งนุ่น.
               บรรดานุ่นเหล่านั้น ขนแกะอย่างเดียวเท่านั้น มิได้ทรงถือเอาด้วยอุณณศัพท์, แต่ว่า เว้นขนมนุษญ์เสียแล้ว ขนแห่งนกและสัตว์ ๔ เท้า ซึ่งเป็นชาติที่มีเนื้อเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะชนิดใดชนิดหนึ่งบรรดามี ขนทั้งหมดนั้น ทรงถือเอาในอธิการว่าด้วยฟูกนี้ ด้วยอุณณศัพท์ทั้งนั้น.
               เพราะฉะนั้น บรรดาจีวร ๖ ชนิดและอนุโลมจีวร ๖ ชนิด ภิกษุทำเปลือกฟูกด้วยชนิดหนึ่งแล้ว ยัดขนสัตว์ทุกอย่างนั้นทำเป็นฟูก ก็ควร.
               อนึ่ง แม้ฟูกที่ภิกษุมิได้ขัดขนแกะ ใส่แต่ผ้ากัมพล ๔ ชั้นหรือ ๕ ชั้นย่อมถึงความนับว่าฟูกขนสัตว์เหมือนกัน.
               บรรดาฟูกทั้งหลายมีโจฬภิสิเป็นต้น ฟูกที่เขารวบรวมเศษผ้าใหม่ หรือเศษผ้าเก่า อย่างใดอย่างหนึ่งซ้อนเข้า หรือยัดเข้าข้างใน ชื่อโจฬภิสิ. ฟูกที่ยัดเปลือกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อวากภิสิ. ฟูกที่ยัดหญ้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ชื่อติณภิสิ. ฟูกที่ยัดใบไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง นอกจากใบเต่าร้างล้วน พึงทราบว่าปัณณภิสิ.
               ส่วนใบเต่าร้างเฉพาะที่ปนกับใบไม้เหล่าอื่น จึงควร. ใบเต่าร้างล้วน ไม่ควร.
               สำหรับฟูก ไม่มีจำกัดประมาณ. พึงกะประมาณตามความพอใจของตน กำหนดดูพอสมควรแก่ฟูกเหล่านี้ คือ ฟูกเตียง ฟูกตั่ง ฟูกปูพื้น ฟูกที่จงกรม ฟูกสำหรับเช็ดเท้า.
               ส่วนในกุรุนทีแก้ว่า นุ่น ๕ อย่าง มีขนสัตว์เป็นต้น ซึ่งควรในฟูก ย่อมควรแม้ในฟูกหนัง. ด้วยคำที่กล่าวในอรรถกถากุรุนทีนั้น เป็นอันสำเร็จสันนิษฐานว่า ภิกษุใช้สอยฟูกหนัง ย่อมควร.
               ข้อว่า ลาดฟูกเตียงบนตั่ง ได้แก่ ปูลงบนตั่ง. แม้อรรถว่า นำไปเพื่อประโยชน์แก่การปู ดังนี้ก็เหมาะ.
               สองบทว่า อุลฺโลกํ อกริตฺวา มีความว่า ไม่ปูผ้ารองไว้ข้างใต้.
               สองบทว่า โผสิตุํ มีความว่า เราอนุญาตให้เอาน้ำย้อมหรือขมิ้นแต้มข้างบน.
               บทว่า ภิตฺติกมฺมํ มีความว่า เราอนุญาตให้ทำรอยเป็นทางๆ บนเปลือกฟูก.
               บทว่า หตฺถภิตฺตึ มีความว่า เราอนุญาตให้เจิมหมายรอยด้วยนิ้วทั้ง ๕.

               [ว่าด้วยบริกรรมพื้น]               
               บทว่า อิกฺกาสํ ได้แก่ ยางไม้หรือยางผสม.
               บทว่า ปิฏฺฐมทฺทํ ได้แก่ แป้งเปียก.
               บทว่า กุณฺฑกมตฺติกํ ได้แก่ ดินเหนียวปนรำ.
               บทว่า สาสปกุฏํ ได้แก่ แป้งเมล็ดพรรณผักกาด.
               บทว่า สิตฺถเตลกํ ได้แก่ ขี้ผึ้งเหลว.
               สองบทว่า อจฺจุสฺสนฺนํ โหติ มีความว่า เป็นหยดๆ ติดอยู่.
               บทว่า ปจฺจุทฺธริตุํ ได้แก่ เช็ด.
               บทว่า ลณฺฑมตฺติกํ ได้แก่ ดินเหนียว คือ ขุยไส้เดือน.
               บทว่า กสาวํ ได้แก่ น้ำฝากแห่งมะขามป้อมและสมอ.
               วินิจฉัยในคำว่า น ภิกฺขเว ปฏิภาณจิตฺตํ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               รูปสตรีและบุรุษอย่างเดียวเท่านั้น อันภิกษุไม่ควรให้ทำ หามิได้ รูปสัตว์ดิรัจฉาน โดยที่สุดแม้รูปไส้เดือนภิกษุไม่ควรทำเองหรือสั่งว่า ท่านจงทำ ย่อมไม่ได้แม้เพื่อสั่งว่า อุบาสก ท่านจงทำคนเฝ้าประตู. แต่ยอมให้ใช้ผู้อื่นเขียนเรื่องทั้งหลายซึ่งน่าเลื่อมใส มีปกรณ์ชาดกแลอสทิสทานเป็นต้น หรือซึ่งปฏิสังยุตด้วยความเบื่อหน่าย, ทั้งยอมให้ทำเองซึ่งมาลากรรมเป็นต้น.
               บทว่า อาฬกมนฺทา มีความว่า เป็นลานอันเดียว คับคั่งด้วยมนุษย์.

               [ว่าด้วยห้องเป็นต้น]               
               วินิจฉัยในบทว่า ตโย คพฺเภ นี้ พึงทราบดังนี้ :-
               สิวิกาคัพภะ นั้นได้แก่ ห้อง ๔ เหลี่ยมจตุรัส.
               นาฬิกาคัพภะ นั้นได้แก่ ห้องยาวกว่าด้านกว้าง ๒ เท่าหรือ ๓ เท่า
               หัมมิยคัพภะ นั้นได้แก่ ห้องเรือนยอดชั้นอากาศ หรือห้องมีหลังคาโล้น.
               บทว่า กุลงฺกปาทกํ มีความว่า เราอนุญาตให้ตั้งเชิงฝาซึ่งเลื่อนที่ไม่ได้ ที่เจาะไม้ตอกเดือยในไม้นั้น รองบนพื้นเพื่อหนุนเชิงฝาเก่า.
               บทว่า ปริตฺตาณกิฏิกํ มีความว่า เราอนุญาตให้ติดกับสาดเพื่อป้องกันฝน.
               บทว่า อุทฺธาสุธํ ได้แก่ ดินเหนียวซึ่งเคล้ากับมูลโคและเถ้า.
               หน้ามุขเรียกว่า เฉลียง. ขึ้นชื่อว่า ปฆนะ พึงทราบดังนี้ :-
               ชนทั้งหลาย เมื่อออกและเข้า ย่อมกระทบประเทศใด ด้วยเท้าทั้งหลาย คำว่า ปฆนะ นี้ เป็นชื่อของประเทศนั้นที่ชักฝาออก ๒ ข้าง ทำไว้ที่ประตูกุฏี (ได้แก่ลับแล) ปฆนะ นั้น เรียกว่า ปฆานะ บ้าง.
               ระเบียงรอบห้องกลาง เรียกว่า ปกุททะปกุฏฺฏํ ก็มี.
               โอสารกึ นั้น ได้แก่ หน้ามุขมีหลังคา ซึ่งติดคร่าวแล้วทอดไม้ท่อนออกไปจากคร่าวนั้น ทำไว้ที่กุฏีที่ไม่มีระเบียง.
               กันสาดที่ติดห่วงกลมสำหรับเลื่อน ชื่อว่า แผงเลื่อน.

               [ว่าด้วยภาชนะน้ำ-ประตู]               
               ภาชนะน้ำ นั้นได้แก่ ภาชนะสำหรับตักน้ำให้ผู้ดื่ม. กระบวย และขันอนุโลมตามสังข์ตักน้ำ.
               อเปสี นั้นได้แก่ เครื่องกั้นประตู ที่ใส่เดือยเข้าในไม้ยาวแล้วผูกเรียวหนาม.
               ปลิฆะ นั้นได้แก่ เครื่องกั้นประตูที่ติดล้ออย่างที่ประตูบ้าน.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ เรื่องราชคหเศรษฐีถวายวิหารเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 7 / 1อ่านอรรถกถา 7 / 197อรรถกถา เล่มที่ 7 ข้อ 198อ่านอรรถกถา 7 / 204อ่านอรรถกถา 7 / 664
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=7&A=1619&Z=1686
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=7229
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=7229
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :