บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ในคำว่า ตตฺถ ตยา โมฆปุริส คหิตํ, อิธ มุกฺกํ, อิธ คหิตํ, ตตฺร มุกฺกํ นี้ พึงทราบดังนี้ :- เสนาสนะใดในกรุงสาวัตถีนั้น อันเธอถือเอาแล้ว เสนาสนะนั้น ย่อมเป็นอันเธอผู้ถืออยู่นั่นแล สละเสียแล้วในคามกาวาสนี้. อนึ่ง เมื่อเธอกล่าวอยู่ว่า ผู้มีอายุ บัดนี้เราสละเสนาสนะในคามกาวาสนี้ ดังนี้ เสนาสนะนั้น เป็นอันเธอสละแล้วแม้ในคามกาวาสนั้น ด้วยประการอย่างนี้ เธอเป็นคนภายนอกในอาวาสทั้ง ๒. ส่วนวินิจฉัยในคำนี้ พึงทราบดังนี้ :- การถือย่อมระงับเพราะการถือ. อาลัยย่อมระงับเพราะการถือ. การถือย่อมระงับเพราะอาลัย. อาลัยย่อมระงับเพราะอาลัย. อย่างไร? ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ถือเสนาสนะในวัดหนึ่งแล้วไปสู่วัดใกล้เคียง ถือเสนาสนะในวัดนั้นอีก ในวันเข้าพรรษา, การถือครั้งแรกของภิกษุนั้น ย่อมระงับเพราะการถือ (ครั้งหลัง) นี้. ภิกษุอีกรูปหนึ่งกระทำเพียงอาลัยว่า เราจักอยู่ในวัดนี้ แล้วไปสู่วัดใกล้เคียง ถือเสนาสนะในวัดนั้นแล. อาลัยที่มีก่อนของภิกษุนั้น ย่อมระงับเพราะการถือนี้. รูปหนึ่งถือเสนาสนะหรือทำอาลัยว่า เราจักอยู่ในที่นี้ แล้วไปสู่วัดใกล้เคียง ถือเสนาสนะในวัดนั้น หรือทำอาลัยว่า บัดนี้ เราจักอยู่ในที่นี้แล ; ด้วยประการอย่างนี้ การถือของเธอ ย่อมระงับเพราะอาลัยบ้าง อาลัยของเธอย่อมระงับเพราะอาลัยบ้าง. ภิกษุย่อมตั้งอยู่ในการถือหรือในอาลัยครั้งหลังๆ ในที่ทั้งปวง. อนึ่ง ภิกษุใด ถือเสนาสนะในวัดหนึ่งแล้ว ไปด้วยคิดว่า เราจักอยู่ในวัดอื่น ; ในขณะที่ภิกษุนั้นก้าวล่วงอุปจารสีมาไป การถือเสนาสนะย่อมระงับ. แต่หากว่า ภิกษุไปด้วยตั้งใจว่า ถ้าในวัดนั้นจักมีความสำราญ เราจักอยู่, ถ้าไม่มี เราจักมา ดังนี้ ทราบว่าไม่มีความสำราญ จึงกลับมาในภายหลัง เช่นนี้สมควร. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา จุลวรรค ภาค ๒ เสนาสนะขันธกะ เรื่องพระอุปนนท์หวงกันเสนาสนะไว้ ๒ แห่ง จบ. |