ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 275อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 314อ่านอรรถกถา 9 / 338อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สุภสูตร

               อรรถกถาสุภสูตร               
               สุภสูตรมีบทเริ่มว่า ข้าพเจ้าสดับมาอย่างนี้ ฯเปฯ ในพระนครสาวัตถี.
               ต่อไปนี้เป็นการอธิบายบทที่ยากในสุภสูตรนั้น
               บทว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน. อธิบายว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วไม่นานประมาณ ๑ เดือนถัดจากวันปรินิพพาน ข้อนี้ ท่านกล่าวหมายถึง วันที่พระอานนท์ถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วมานั่งฉันยาถ่ายผสมน้ำนม ณ วิหาร โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในนิทาน.
               บทว่า โตเทยยบุตร แปลว่า บุตรของโตเทยยพราหมณ์.
               มีเรื่องเล่าว่า ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี มีบ้านชื่อตุทิคาม เพราะเขาเป็นคนใหญ่โตในบ้านตุทิคาม จึงมีชื่อว่า โตเทยยะ เขามีทรัพย์สมบัติประมาณ ๔๕ โกฏิ แต่เขาเป็นคนตระหนี่เป็นอย่างยิ่ง เขาคิดว่า ชื่อว่าความไม่สิ้นเปลืองแห่งโภคสมบัติ ย่อมไม่มีแก่ผู้ให้ แล้วเขาก็ไม่ให้อะไรแก่ใครๆ เขาสอนบุตรว่า คนฉลาดควรดูความสิ้นไปของยาหยอดตา การก่อจอมปลวก การสะสมน้ำผึ้ง แล้วพึงครองเรือน.
               เมื่อเขาให้บุตรสำเหนียกถึงการไม่ให้อย่างนี้แล้ว ครั้นตายไปก็ไปเกิดเป็นสุนัขอยู่ที่เรือนหลังนั้นเอง สุภมาณพผู้เป็นบุตร รักสุนัขนั้นมาก ให้กินอาหารเหมือนกับตน อุ้มนอนบนที่นอนอย่างดี.
               ครั้นวันหนึ่ง เมื่อสุภมาณพออกจากบ้านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ เรือนหลังนั้น สุนัขเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเห่า เดินเข้าไปใกล้พระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะสุนัขนั้นว่า ดูก่อนโตเทยยะ แม้เมื่อก่อนเจ้าก็กล่าวหมิ่นเราว่าแน่ะท่าน แน่ะท่าน ดังนี้ จึงเกิดเป็นสุนัข แม้บัดนี้เจ้าก็ยังเห่าเรา จักไปอเวจีมหานรก.
               สุนัขฟังดังนั้นมีความเดือดร้อน จึงนอนบนขี้เถ้าระหว่างเตาไฟ. พวกมนุษย์ไม่สามารถจะอุ้มไปให้นอนบนที่นอนได้. สุภมาณพกลับมาถึงถามว่า ใครนำสุนัขนี้ลงจากที่นอน. พวกมนุษย์ต่างบอกว่า ไม่มีใครดอก แล้วเล่าเรื่องราวให้ฟัง.
               สุภมาณพได้ฟังแล้วโกรธว่า บิดาของเราบังเกิดในพรหมโลก แต่พระสมณโคดมหาว่า บิดาของเราเป็นสุนัข ท่านนี่พูดอะไร ปากเสีย ใคร่จะท้วงติงพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าพูดเท็จจึงไปยังวิหาร ถามเรื่องราวกะพระองค์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่สุภมาณพเหมือนอย่างนั้น แล้วตรัสความจริงว่า ดูก่อนสุภมาณพ ทรัพย์ที่บิดาของเจ้ายังไม่ได้บอกมีอีกไหม.
               สุภมาณพทูลว่า พระโคดม หมวกทองคำมีค่าหนึ่งแสน รองเท้าทองคำมีค่าหนึ่งแสน ถาดทองคำมีค่าหนึ่งแสน กหาปณะหนึ่งแสนมีอยู่. พระโคดมตรัสว่า เจ้าจงไปให้สุนัขบริโภคข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย แล้วอุ้มไปนอนบนที่นอน พอได้เวลาสุนัขหลับไปหน่อยหนึ่ง จงถามดู สุนัขจักบอกทุกสิ่งทุกอย่างแก่เจ้า ทีนั้นแหละ เจ้าก็จะรู้ว่าสุนัขนั้นคือบิดาของเรา. สุภมาณพได้กระทำตามนั้น. สุนัขบอกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เขารู้แน่ว่าสุนัขนั้นคือบิดาของเรา จึงเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ไปทูลถามปัญหา ๑๔ ข้อกะพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจบปัญหา เขาขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะ ท่านกล่าวความข้อนั้น หมายถึงสุภมาณพโตเทยยบุตร
               บทว่า อาศัยอยู่ใกล้กรุงสาวัตถี ความว่า สุภมาณพมาจากโภคคามของตนแล้วอาศัยอยู่. บทว่า ได้เรียกมาณพน้อยคนหนึ่งมา ความว่า เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว สุภมาณพได้สดับว่า พระอานนท์ถือบาตรและจีวรของพระองค์มา มหาชนย่อมจะเข้าไปหาท่านเพื่อเยี่ยมเยือนดังนี้ จึงคิดว่า ครั้นเราจักไปวิหารก็คงไม่อาจกระทำปฏิสันถารหรือฟังธรรมกถาได้สะดวก ในท่ามกลางหมู่ชนเป็นอันมาก เห็นท่านมาสู่เรือนนั่นแหละ จักทำปฏิสันถารได้โดยง่าย และเรามีความสงสัยอยู่ข้อหนึ่ง เราก็จักถามท่าน แล้วจึงเรียกมาณพน้อยคนหนึ่งมา.
               เวทนาอันเป็นข้าศึก ท่านกล่าวว่า อาพาธ ในบทเป็นต้นว่า มีอาพาธน้อย. สุภมาณพกล่าวว่า เวทนาใดเกิดในส่วนหนึ่งแล้ว ยึดไว้ซึ่งอิริยาบถ ๔ เหมือนเอาแผ่นเหล็กนาบ เธอจงถามความไม่มีแห่งเวทนานั้น.
               บทว่า มีโรคเบาบาง ท่านกล่าวถึงโรคอันทำชีวิตให้ลำบาก เธอจงถามความไม่มีแม้แห่งโรคนั้น. สุภมาณพกล่าวว่า ชื่อว่าการลุกขึ้นของผู้ป่วยนั่นแลย่อมหนัก กำลังกายย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น เธอจงถามความไม่มีไข้ และความมีกำลัง.
               บทว่า มีความเป็นอยู่สบาย ความว่า เธอจงถามความเป็นอยู่อย่างเป็นสุข ในอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน
               ครั้นพระคันถรจนาจารย์ เมื่อแสดงถึงอาการที่ควรจะถามแก่มาณพน้อยนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า สุโภ.
               บทว่า อาศัยเวลาและสมัย ความว่า ถือ คือ ใคร่ครวญ เวลาและสมัยด้วยปัญญา. มีอธิบายว่า หากพรุ่งนี้จักเป็นเวลาไปของเรา กำลังของเราจักซ่านไปในกาย จักไม่มีความไม่สบายอย่างอื่น เพราะการไปเป็นเหตุ ทีนั้นเราจักใคร่ครวญเวลานั้น และสมัยกล่าวคือ การไป เหตุ พวกหมู่ ถ้ากระไรพึงมาพรุ่งนี้.
               บทว่า เจตกภิกษุ ความว่า ได้ชื่อว่า เจตกะ เพราะเกิดในเจติยรัฐ.
               บทว่า กล่าวสัมโมทนียกถา พอให้ระลึกถึงกัน ความว่า สุภมาณพได้กล่าวสัมโมทนียกถา พอให้ระลึกถึงกันอันเกี่ยวกับมรณะ ได้ผ่านไปแล้วโดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ พระทศพลได้มีโรคอะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยอะไร.
               อนึ่ง ความโศกได้เกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลายโดยการปรินิพพานของพระศาสดา พระศาสดาของท่านทั้งหลายปรินิพพานแล้วอย่างเดียวก็หาไม่ ความเสื่อมอันใหญ่หลวงก็เกิดแก่มนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก บัดนี้คนอื่นใครเล่าจักพ้นความตาย ก็บุคคลผู้เลิศของมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก ยังเสด็จปรินิพพานได้ บัดนี้ มัจจุราชจักเห็นใครอื่นแล้วละอาย สุภมาณพถวายอาหารอันสมควรแก่เครื่องดื่มและเภสัชแก่พระเถระเมื่อวานนี้ เมื่อเสร็จภัตตกิจ จึงนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               บทว่า เป็นอุปฐากอยู่ในสำนัก ความว่า เป็นอุปฐากอยู่ในสำนัก ไม่แสวงหาโทษ.
               บทว่า อยู่ใกล้ชิด นี้ เป็นไวพจน์ของบทก่อน เพราะเหตุไร สุภมาณพจึงถามว่า พระโคดมได้ตรัสสรรเสริญคุณแห่งธรรมเหล่าใด.
               นัยว่า สุภมาณพได้มีปริวิตกอย่างนี้ว่า พระโคดมผู้เจริญยังมนุษย์โลกนี้ให้ดำรงอยู่ในธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านั้น พระโคดมล่วงลับไปแล้วเสื่อมสูญไปด้วยหรือหนอ หรือยังดำรงอยู่ หากดำรงอยู่ พระอานนท์จักรู้ กระผมขอโอกาสถาม ดังนี้ เพราะฉะนั้น สุภมาณพจึงถามขึ้น.
               ครั้งนั้น พระเถระได้สงเคราะห์ปิฎก ๓ ด้วยขันธ์ ๓ เมื่อจะแสดงแก่สุภมาณพ จึงกล่าวว่า แห่งขันธ์ ๓ ทั้งหลายแล ดังนี้เป็นต้น.
               สุภมาณพคิดว่า เรากำหนดข้อที่ท่านกล่าวโดยย่อไม่ได้จักถามโดยพิสดาร จึงกล่าวว่า แห่งขันธ์ทั้งหลาย ๓ เป็นไฉน ดังนี้เป็นต้น.

               สีลกฺขนฺธวณฺณนา               
               เมื่อพระอานนท์แสดงขันธ์เหล่านั้น ด้วยบทว่า แห่งสีลขันธ์อันประเสริฐ ดังนี้ สุภมาณพจึงถามเป็นข้อๆ อีกว่า ท่านพระอานนท์ ก็สีลขันธ์อันประเสริฐนั้นเป็นอย่างไร. แม้พระเถระก็แสดงถึงการอุบัติของพระพุทธเจ้าแก่สุภมาณพนั้น เมื่อจะแสดงธรรมอันเป็นแบบแผน จึงวิสัชนาธรรมทั้งปวง โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยลำดับนั้นแล.
               ในบทว่า ในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกิจที่จะต้องกระทำให้ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก ท่านแสดงว่า ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ มิใช่ศีลเท่านั้นที่มีสาระ ศีลนั้นเป็นเพียงพื้นฐานอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีกิจอื่นที่จะต้องทำยิ่งกว่านี้อีก.
               บทว่า ภายนอกจากศาสนานี้ คือ ภายนอกจากพระพุทธศาสนา.
               บทว่า ดูก่อนมาณพ ภิกษุเป็นผู้มีทวารคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างไรนี้ ท่านพระอานนท์แม้ถูกถามถึงสมาธิขันธ์อย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์สมาธิขันธ์อันประเสริฐนั้นเป็นอย่างไร ท่านมีประสงค์จะชี้ให้เห็นซึ่งธรรมเป็นอุปการะของธรรมทั้งสอง ในระหว่างศีล และ สมาธิ ซึ่งมีอินทรียสังวรเป็นต้น ที่ท่านยกขึ้นแสดงในลำดับศีลอย่างนี้ว่า ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีล มีทวารคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ถึงพร้อมด้วยสติสัมชัญญะ เป็นผู้สันโดษแล้ว ดังนี้แล้ว แสดงสมาธิขันธ์ จึงได้กล่าวเริ่มขึ้น. ในที่นี้แสดงถึงรูปฌานเท่านั้น จึงไม่ควรนำอรูปฌานมาแสดง. เพราะชื่อว่าอรูปสมาบัติมิได้สงเคราะห์ด้วยจตุตถฌาน จึงไม่มี.
               บทว่า ในธรรมวินัยนี้ ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ท่านแสดงว่า ชื่อว่าความเกิดขึ้นแห่งความสิ้นสุด มิได้มีในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ โดยเพียงจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเท่านั้น ยังมีกิจอื่นที่จะต้องทำยิ่งกว่านี้อีก.
               บทว่า ในธรรมวินัยนี้ ไม่มีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ท่านแสดงว่า ชื่อว่ากิจที่จะต้องทำยิ่งไปกว่านี้ไม่มี ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ เพราะศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระอรหัตต์เป็นที่สิ้นสุด.
               บทที่เหลือมีข้อความง่ายในที่ทั้งปวง.

               จบอรรถกถาสุภสูตร               
               สุภสูตรที่ ๑๐ จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สุภสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 9 / 1อ่านอรรถกถา 9 / 275อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 314อ่านอรรถกถา 9 / 338อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=6777&Z=7316
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=8332
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=8332
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :