ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อ่านอรรถกถา 9 / 365
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พรหมชาลสูตร

หน้าต่างที่ ๖ / ๖.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นจะทรงแสดงปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ ประการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ มีพระประสงค์จะทรงแสดงอปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔ ประการ จึงตรัสพระบาลีมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น สมณพราหมณ์ที่ชื่อว่า อปรันตกัปปิกะ เพราะกำหนดอปรันตะ กล่าวคือขันธ์ส่วนอนาคต ยึดถือ. อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าอปรันตกัปปิกะ เพราะมีการกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต. แม้คำที่เหลือก็พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในเบื้องต้นด้วยประการฉะนี้.


               สญฺญีวาทวณฺณนา               
               บทว่า อุทฺธมาฆตนิกา ความว่า ความตาย เรียกว่าอาฆาตนะ.
               สมณพราหมณ์ที่ชื่อว่า อุทฺธมาฆตนิกา เพราะกล่าวอัตตาเบื้องหน้าแต่ความตาย.
               วาทะที่เป็นไปว่ามีสัญญา ชื่อสัญญีวาทะ.
               ในคำว่า อัตตาที่มีรูป เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ย่อมบัญญัติอัตตานั้นว่า เบื้องหน้าแต่ความตาย อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา ดังนี้ เพราะยึดถือรูปกสิณว่าเป็นอัตตา และยึดถือสัญญาที่เป็นไปในรูปกสิณนั้น ว่าเป็นสัญญาของอัตตานั้น หรือเพราะเพียงแต่นึกเอาเท่านั้น ดุจพวกนอกศาสนามีอาชีวกเป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า อโรโค ความว่า เที่ยง.
               อนึ่ง ย่อมบัญญัติอัตตานั้นว่า อัตตาที่ไม่มีรูป มีสัญญา ดังนี้ เพราะยึดถือนิมิตแห่งอรูปสมาบัติว่าเป็นอัตตา และยึดถือสัญญาแห่งสมาบัติว่าเป็นสัญญาของอัตตานั้น หรือเพราะเพียงแต่นึกเอาเท่านั้น ดุจพวกนอกศาสนามีนิครนถ์เป็นต้น.
               ส่วนข้อที่ ๓ เป็นทิฏฐิที่เป็นไปด้วยอำนาจความยึดถือระคนกัน.
               ข้อที่ ๔ เป็นทิฏฐิที่เป็นไปด้วยความยึดถือโดยนึกเอาเท่านั้น.
               จตุกกะที่ ๒ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในอันตานันติกวาทะนั่นแล.
               ในจตุกกะที่ ๓ พึงทราบว่า อัตตาชื่อว่ามีสัญญาอย่างเดียวกันด้วยอำนาจแห่งผู้ได้สมาบัติ อัตตาชื่อว่ามีสัญญาต่างกันด้วยอำนาจแห่งผู้ไม่ได้สมาบัติ อัตตาชื่อว่ามีสัญญานิดหน่อยด้วยอำนาจแห่งกสิณนิดหน่อย อัตตาชื่อว่ามีสัญญาหาประมาณมิได้ด้วยอำนาจแห่งกสิณอันไพบูลย์.
               ส่วนในจตุกกะที่ ๔ อธิบายว่า บุคคลมีทิพยจักษุ เห็นสัตว์ผู้บังเกิดในติกฌานภูมิและจตุกกฌานภูมิ ย่อมยึดถือว่าอัตตามีสุขอย่างเดียว เห็นสัตว์บังเกิดในนรก ย่อมยึดถือว่าอัตตามีทุกข์อย่างเดียว เห็นสัตว์บังเกิดในหมู่มนุษย์ ย่อมยึดถือว่าอัตตามีทั้งสุขทั้งทุกข์ เห็นสัตว์บังเกิดในเทพชั้นเวหัปผละ ย่อมยึดถือว่าอัตตามีทุกข์ก็มิใช่ มีสุขก็มิใช่.
               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นพวกปุพพันตกัปปิกะ. พวกที่ได้ทิพยจักษุ เป็นพวกอปรันตกัปปิกะ ดังนี้แล.

               อสญฺญีเนวสญฺญีนาสญฺญีวาทวณฺณนา               
               อสัญญีวาทะ บัณฑิตพึงทราบด้วยอำนาจจตุกกะทั้ง ๒ ที่กล่าวไว้ข้างต้นในสัญญีวาทะ.
               เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ก็เหมือนกัน.
               ก็เพียงแต่ในสัญญีวาทะนั้น ทิฏฐิเหล่านั้นของพวกที่ถือว่าอัตตามีสัญญา. ในอสัญญีวาทะและเนวสัญญีนาสัญญีวาทะนั้น ทิฏฐิเหล่านั้น พวกที่ถือว่าอัตตาไม่มีสัญญา และว่าอัตตามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.
               ในทิฏฐิเหล่านั้น พึงตรวจสอบเหตุการณ์ ไม่ใช่โดยส่วนเดียว. ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า ความยึดถือแม้ของคนผู้มีทิฏฐิ ก็เช่นเดียวกับกระเช้าของคนบ้า.
               ในอุจเฉทวาทะ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               บทว่า สโต ได้แก่ ยังมีอยู่.
               บทว่า อุจฺเฉทํ ได้แก่ ความขาดสูญ.
               บทว่า วินาสํ ได้แก่ ความไม่พบปะ.
               บทว่า วิภวํ ได้แก่ ไปปราศจากภพ.
               คำเหล่านี้ทั้งหมด เป็นไวพจน์ของกันและกันทั้งนั้น.
               ในอุจเฉทวาทะนั้น มีคนที่ถืออุจเฉททิฏฐิอยู่ ๒ พวก คือผู้ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๑ ผู้ไม่ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๑. ผู้ที่ได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ เมื่อระลึกตาม มีทิพยจักษุ เห็นจุติไม่เห็นอุบัติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดสามารถเห็นเพียงจุติเท่านั้น ไม่เห็นอุบัติ ผู้นั้นชื่อว่ายึดถืออุจเฉททิฏฐิ.
               ผู้ที่ไม่ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คิดว่า ใครเล่าจะรู้ปรโลก ย่อมยึดถือความขาดสูญ เพราะค่าที่ตนเป็นผู้ต้องการกามสุข หรือเพราะการนึกเอาเองเป็นต้นว่า สัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกับใบไม้ที่หล่นจากต้นไม้ไม่งอกต่อไปฉะนั้น.
               ก็ในอธิการนี้ พึงทราบว่า ทิฏฐิ ๗ เหล่านี้เกิดขึ้นด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ หรือเพราะกำหนดเอาอย่างนั้นและอย่างอื่น.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า รูปี ได้แก่ ผู้มีรูป.
               บทว่า จาตุมฺมหาภูติโก ได้แก่ สำเร็จด้วยมหาภูต ๔.
               ที่ชื่อว่า มาตาเปตฺติกํ เพราะมีมารดาและบิดา. นั้นได้แก่อะไร? ได้แก่สุกกะและโลหิต.
               ที่ชื่อว่า มาตาเปตฺติกสมฺภโว เพราะสมภพ คือเกิดในสุกกะและโลหิตอันเป็นของมารดาและบิดา.
               สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีวาทะและทิฏฐิ ย่อมกล่าวอัตตภาพของมนุษย์ว่าอัตตา โดยยกรูปกายขึ้นเป็นประธาน.
               บทว่า อิตฺเถเก ตัดบทเป็น อิตฺถํ เอเก ความเท่ากับ เอวเมเก.
               สมณะหรือพราหมณ์พวกที่ ๒ ปฏิเสธข้อนั้น กล่าวอัตตาภาพอันเป็นทิพย์.
               บทว่า ทิพฺโพ ความว่า เกิดในเทวโลก.
               บทว่า กามาวจโร ได้แก่ นับเนื่องในเทวดาชั้นกามาวจร ๖ ชั้น.
               ที่ชื่อว่า กวฬิงฺการาหารภกฺโข เพราะกินอาหาร คือคำข้าว.
               บทว่า มโนมโย ได้แก่ บังเกิดด้วยฌานจิต.
               บทว่า สพฺพงฺคปจฺจงฺคี ได้แก่ ประกอบด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน.
               บทว่า อหีนินฺทฺริโย ได้แก่ มีอินทรีย์บริบูรณ์.
               คำนี้ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งอินทรีย์ ที่มีอยู่ในพรหมโลก และด้วยอำนาจทรวดทรงของอินทรีย์นอกนี้.
               เนื้อความของคำว่า สพฺพโส รูปสญฺญานํ สมติกฺกมา ดังนี้เป็นต้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               ส่วนในคำว่า อากาสานญฺจายตนุปโค เป็นต้น พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า เข้าถึงภพชั้นอากาสานัญจายตนะ.
               คำที่เหลือในอุจเฉทวาทะนี้ ง่ายทั้งนั้น ดังนี้แล.

               ทิฏฺฐธมฺมนิพฺพานวาทวณฺณนา               
               ในทิฏฐธรรมนิพพานวาทะ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ธรรมที่ประจักษ์ เรียกว่า ทิฏฐธรรม.
               คำนี้เป็นชื่อของอัตตภาพที่ได้เฉพาะในภพนั้นๆ. นิพพานในทิฏฐธรรม ชื่อว่านิพพานปัจจุบัน. อธิบายว่า ทุกข์สงบในอัตตภาพนี้เอง.
               สมณพราหมณ์ ชื่อว่าทิฏฐธรรมนิพพานวาทะ เพราะกล่าวนิพพานปัจจุบันนั้น.
               บทว่า ปรมทิฎฺฐนิพฺพานํ ได้แก่ นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่ง. อธิบายว่า สูงสุด.
               บทว่า ปญฺจหิ กามคุเณหิ ความว่า ด้วยส่วนแห่งกาม หรือด้วยเครื่องผูก ๕ อย่างมีรูปเป็นที่ชอบใจและเป็นที่รักเป็นต้น.
               บทว่า สมปฺปิโต ได้แก่ เป็นผู้แนบแน่น คือติดแน่นด้วยดี.
               บทว่า สมงฺคีภูโต ได้แก่ ประกอบ.
               บทว่า ปริจาเรติ ความว่า ยังอินทรีย์ให้เที่ยวไป ให้สัญจรไป นำเข้าไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ตามสบายในกามคุณเหล่านั้น. ก็อีกนัยหนึ่ง ย่อมพอใจ ย่อมยินดี ย่อมเล่น.
               ก็กามคุณในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ ที่เป็นของมนุษย์ ๑ ที่เป็นทิพย์ ๑.
               กามคุณที่เป็นของมนุษย์ พึงเห็นเช่นกับกามคุณของพระเจ้ามันธาตุราช. ส่วนกามคุณที่เป็นทิพย์ พึงเห็นเช่นกับกามคุณของปรนิมมิตวสวัตดีเทวราช ฉะนี้แล.
               ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติการบรรลุนิพพานปัจจุบันของพวกที่เข้าถึงกามเห็นปานนี้.
               ในวาระที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               กามทั้งหลาย พึงทราบว่า ชื่อว่าไม่เที่ยง ด้วยอรรถว่ามีแล้วกลับไม่มี. ชื่อว่าเป็นทุกข์ ด้วยอรรถว่าบีบคั้น. ชื่อว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ด้วยอรรถว่าละปกติ.
               บทว่า เตสํ วิปริณามญฺญถาภาวา ความว่า เพราะกามเหล่านั้นกลายเป็นอย่างอื่น กล่าวคือแปรปรวน จึงเกิดความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจ โดยนัยที่กล่าวว่า แม้สิ่งใดได้มีแก่เรา แม้สิ่งนั้นไม่มีแก่เรา ดังนี้.
               ใน ๕ อย่างนั้น ความโศกมีลักษณะแผดเผาในภายใน ความคร่ำครวญมีลักษณะบ่นเพ้อพร่ำอาศัยความโศกนั้น ความทุกข์มีลักษณะบีบคั้นกาย ความโทมนัสมีลักษณะลำบากใจ ความคับแค้นใจมีลักษณะเศร้าสลดใจ.
               เนื้อความของคำว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ดังนี้เป็นต้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า วิตกฺกิตํ ความว่า วิตกที่เป็นไปด้วยอำนาจยกจิตขึ้นไว้ในอารมณ์.
               บทว่า วิจาริตํ ความว่า วิจารซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจเคล้าอารมณ์.
               บทว่า เอเตเนตํ ความว่า ปฐมฌานนี้ปรากฏว่า หยาบเหมือนกับมีหนาม ด้วยยังมีวิตกและวิจาร.
               บทว่า ปีติคตํ ได้แก่ ปีตินั่นเอง.
               บทว่า เจตโส อุพฺพิลฺลาวิตตฺตํ ได้แก่ เป็นเหตุทำใจให้หวาดเสียว.
               บทว่า เจตโส อาโภโค ความว่า ออกจากฌานแล้ว จิตก็ยังคำนึง คือนึกถึงวนเวียนอยู่ในสุขนั้นบ่อยๆ.
               คำที่เหลือในทิฏฐิกรรมนิพพานวาทะนี้ ง่ายทั้งนั้น.
               โดยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้ เป็นอันตรัสถึงทิฏฐิ ๖๒ ทั้งหมดซึ่งแบ่งเป็นอุจเฉททิฏฐิ ๗ เท่านั้น ที่เหลือเป็นสัสสตทิฏฐิ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลปุพพันตกัปปิกทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยวาระนี้ว่า อิเม โข เต ภิกฺขเว เป็นต้น แล้วทรงวิสัชนาพระสัพพัญญุตญาณ ทรงประมวลอปรันตกัปปิกทิฏฐิและปุพพันตอปรันกัปปิกทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยวาระว่า อิเม โข เต ภิกฺเว เป็นต้น
               แล้วทรงวิสัชนาพระญาณนั้นแหละ แม้เมื่อตรัสถามในพระดำรัสว่า กตเม จ เต ภิกฺเว ธมฺมา เป็นต้น ก็ตรัสถามพระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง แม้เมื่อทรงวิสัชนาก็ทรงยกทิฏฐิ ๖๒ ประการขึ้น แล้วทรงวิสัชนาพระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง เหมือนดังทรงชั่งอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายด้วยตาชั่ง เหมือนดังทรงยกทรายจากเชิงภูเขาสิเนรุ ฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               พระธรรมเทศนานี้มาแล้วด้วยอำนาจตามลำดับอนุสนธิอย่างนี้.

               ก็พระสูตรมีอนุสนธิ ๓ อย่าง คือ               
               ๑. ปุจฉานุสนธิ พระธรรมเทศนาที่ตรัสตอบคำถาม.
               ๒. อัชฌาสยานุสนธิ พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงตามอัธยาศัยของสัตว์.
               ๓. ยถานุสนธิ พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงตามลำดับเรื่อง.
               ในอนุสนธิแห่งพระสูตร ๓ อย่างนั้น พึงทราบปุจฉานุสนธิด้วยอำนาจแห่งพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวิสัชนาแก่ผู้ที่ทูลถามอย่างนี้ว่า
               เมื่อพระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้แล้ว นันทโคบาลจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝั่งในได้แก่อะไร? ฝั่งนอกได้แก่อะไร? สงสารในท่ามกลางได้แก่อะไร? เกยบนบกได้แก่อะไร? มนุษย์จับได้แก่อะไร? อมนุษย์จับได้แก่อะไร? ถูกน้ำวนเอาไว้ได้แก่อะไร? ความเน่าในได้แก่อะไร?๑-
               พึงทราบอัชฌาสยานุสนธิ ด้วยอำนาจแห่งพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์เหล่าอื่น แล้วตรัสอย่างนี้ว่า
               ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเกิดปริวิตกทางใจอย่างนี้ว่า จำเริญละ เท่าที่พูดกันว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่างก็เป็นอนัตตา เอาซิ กรรมที่อนัตตากระทำแล้วจักถูกอัตตาไหนกัน.
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกทางใจของภิกษุรูปนั้น ด้วยพระหฤทัยของพระองค์ จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ที่จะมีโมฆบุรุษบางคนในพระธรรมวินัยนี้ ตกอยู่ในอวิชชา มีใจซึ่งมีตัณหาเป็นใหญ่ จะพึงเข้าใจสัตถุศาสน์แล่นเกินหน้าไปว่า จำเริญละ เท่าที่พูดกันว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่างก็เป็นอนัตตา เอาซิ กรรมที่อนัตตากระทำแล้ว จักถูกอัตตาไหนกัน ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง๒- ดังนี้.
____________________________
๑- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๒๓   ๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๑๒๙

               แต่พึงทราบยถานุสนธิ ด้วยอำนาจแห่งพระสูตรทั้งหลายอันเป็นที่มาแห่งพระธรรมเทศนาในข้างหน้า ด้วยอำนาจแห่งธรรมอันเข้ากันได้ หรือด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ขัดกันแก่ธรรมที่เป็นเหตุให้พระธรรมเทศนาตั้งขึ้นในเบื้องต้น
               ตัวอย่างเช่น ในอากังเขยยสูตร เทศนาตั้งขึ้นด้วยศีลในตอนต้น อภิญญา ๖ มาในตอนปลาย. ในวัตถุสูตร เทศนาตั้งขึ้นด้วยอำนาจกิเลสในตอนต้น พรหมวิหารมาในตอนปลาย. ในโกสัมพิกสูตร เทศนาตั้งขึ้นด้วยการทะเลาะในตอนต้น สาราณียธรรมมาในตอนปลาย. ในกักกัจโจปัมมสูตร เทศนาตั้งขึ้นด้วยความไม่อดทนในตอนต้น อุปมาด้วยเลื่อยมาในตอนปลาย. ในพรหมชาลสูตรนี้ เทศนาตั้งขึ้นด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิในตอนต้น การประกาศสุญญตามาในตอนปลาย.
               เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า พระธรรมเทศนานี้มาแล้วด้วยอำนาจแห่งยถานุสนธิอย่างนี้ ดังนี้.

               ปริตสฺสิตวิปฺผนฺทิตวารวณฺณนา               
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงการจำแนกขอบเขต พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเทศนาว่า ตตฺร ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น
               คำว่า ตทปิ เตสํ ภวตํ สมณพฺราหฺมณานํ อชานตํ อปสฺสตํ เวทยิตํ ตณฺหาคตานํ ปริตสฺสิตํ วิปฺผนฺทิตเมว ดังนี้
               ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดโสมนัส ด้วยความยินดีในทิฏฐิ ด้วยความสุขในทิฏฐิ ด้วยความรู้สึกในทิฏฐอันใด ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้นก็เป็นความรู้สึกของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็นสภาวะแห่งธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง เป็นคนที่ยังมีตัณหาอยู่ ความรู้สึกนั้นเป็นของคนที่ยังมีตัณหาเท่านั้นอย่างเดียว ก็และความรู้สึกนี้นั้นแล เป็นความดิ้นรนเป็นความแส่หาเท่านั้น คือเป็นความหวาดหวั่นเท่านั้น เป็นความไหวเท่านั้น ด้วยความดิ้นรนกล่าวคือทิฏฐิและตัณหา เหมือนกับหลักที่ปักไว้ในกองแกลบ มิใช่ไม่หวั่นไหว ดุจทัศนะของพระโสดาบัน.
               แม้ในเอกัจจสัสสตทวาทะเป็นต้น ก็นัยนี้แล.

               ผสฺสปจฺจยวารวณฺณนา               
               พระบาลีว่า ตตฺร ภิกฺขเว เย เต สมณพฺราหฺมณา สสฺสตวาทา ดังนี้เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มไว้อีก เพื่อทรงแสดงปัจจัยสืบๆ กันมา.
               ในพระบาลีนั้น ด้วยพระดำรัสว่า ตทปิ ผสฺสปจฺจยา ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดโสมนัสด้วยความยินดีในทิฏฐิ ด้วยความสุขในทิฏฐิ ด้วยความรู้สึกในทิฏฐิอันใด ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้ข้อนั้นก็คือความรู้สึกดิ้นรนเพราะตัณหาและทิฏฐิ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย ดังนี้.
               ในวาทะทั้งปวงก็นัยนี้.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงภาวะที่ปัจจัยนั้นมีกำลังในความรู้สึกในทิฏฐิ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระบาลีอีกว่า ตตฺร ภิกฺขเว เย เต สมณพฺราหฺมณา สสฺสตวาทา ดังนี้ เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น ด้วยคำว่า เต วต อญฺญตฺร ผสฺสา ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความว่า ข้อที่ว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นเว้นจากผัสสะ จักรู้สึกความรู้อันนั้นดังนี้นั้น ไม่มีเหตุที่จะเป็นไปได้ อุปมาเหมือนอย่างว่า ขึ้นชื่อว่าเสาย่อมเป็นปัจจัยมีกำลังเพื่อประโยชน์ในการค้ำเรือนจากการล้ม เรือนนั้นไม่มีเสาค้ำไว้ ไม่อาจจะตั้งอยู่ได้ฉันใด แม้ผัสสะก็มีอุปไมยฉันนั้นแล เป็นปัจจัยที่กำลังแก่เวทนา เว้นผัสสะนั้นเสียความรู้สึกในทิฏฐินี้ ย่อมไม่มี ดังนี้.
               ในวาทะทั้งปวงก็นัยนี้.

               ทิฏฺฐิคติกาธิฏฺฐานวฏฺฏกถาวณฺณนา               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลความรู้สึกในทิฏฐิทั้งปวงโดยนัยมีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นใดเป็นสัสสตวาทะ ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้สมณพราหมณ์เหล่านั้นใดเป็นเอกัจจสัสสติกะ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ดังนี้.
               เพราะเหตุไร? เพราะเพื่อต้องการจะเพิ่มผัสสะข้างหน้า.
               อย่างไร?
               สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดถูกต้องแล้ว ด้วยผัสสายตนะทั้ง ๖ ย่อมเสวยเวทนา.
               ที่ชื่อว่าผัสสายตนะทั้ง ๖ ในข้อนั้น ได้แก่ผัสสายตนะ ๖ เหล่านี้ คือ จักขุผัสสายตนะ ๑ โสตผัสสายตนะ ๑ ฆานผัสสายตนะ ๑ ชิวหาผัสสายตนะ ๑ กายผัสสายตนะ ๑ มโนผัสสายตนะ ๑.
               ก็ อายตนศัพท์นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถว่า ที่เกิด ที่ประชุม เหตุและบัญญัติ.
               ในอรรถเหล่านั้น อายตนศัพท์เป็นไปในอรรถว่า ที่เกิด เช่นในคำว่า ชนบทกัมโพชะเป็นที่เกิดของม้าทั้งหลาย ทักขิณาบถเป็นที่เกิดของโคทั้งหลาย ดังนี้. อธิบายว่า ในที่เป็นที่เกิด.
               เป็นไปในอรรถว่า ที่ประชุม เช่นในคำว่า เมื่อต้นไม้ใหญ่นั้นเป็นที่ประชุมที่น่ารื่นรมย์ใจ นกทั้งหลายย่อมพากันอาศัยต้นไม้นั้น๑- ดังนี้.
               เป็นไปในอรรถว่า บัญญัติ เช่นในคำว่า๒- ย่อมสมมติบัญญัติว่า ในราวป่า ในบรรณกุฏี.
____________________________
๑- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๘   ๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๖๔

               อายตนศัพท์นี้นั้น ในที่นี้ย่อมควรในอรรถทั้ง ๓ มีถิ่นเกิดเป็นต้น.
               จริงอยู่ ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ห้า ย่อมเกิด ย่อมประชุมในจักษุเป็นต้น แม้จักษุเป็นต้นเหล่านั้น ก็เป็นเหตุของธรรมเหล่านั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่า อายตนะ. และในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสผัสสายตนะทั้ง ๖ เป็นต้นไว้ เพื่อจะทรงแสดงความสืบๆ กันแห่งปัจจัยนับแต่ผัสสะเป็นต้นไป ยกพระธรรมเทศนาโดยยกผัสสะเป็นหัวข้อนั่นเอง โดยนัยนี้ว่า อาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักษุวิญญาณทั้ง ๓ อย่างประชุมกันเข้าจึงเป็นผัสสะ ดังนี้.
               บทว่า ผุสฺส ผุสฺส ปฏิสํเวเทนฺติ ความว่า ถูกต้องๆ แล้วเสวยเวทนา.
               ก็ในพระบาลีนี้ แม้จะได้ตรัสเหมือนอายตนะทั้งหลายมีการถูกต้องเป็นกิจไว้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ไม่พึงเข้าใจว่า อายตนะเหล่านั้นมีการถูกต้องเป็นกิจ. เพราะว่า อายตนะทั้งหลายถูกต้องไม่ได้ ส่วนผัสสะย่อมถูกต้องอารมณ์นั้นๆ. ก็อายตนะทั้งหลาย ทรงแสดงแฝงไว้ในผัสสะ เพราะฉะนั้น พึงทราบความในพระบาลีนี้อย่างนี้ว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดถูกต้องอารมณ์มีรูปเป็นต้น ด้วยผัสสะที่เกิดแต่ผัสสสายตนะ ๖ แล้วเสวยเวทนาในทิฏฐินั้น.
               ในข้อว่า เตสํ เทนาปจฺจยา ตณฺหา ดังนี้เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า เวทนา ความว่า เวทนาเกิดแต่ผัสสสายตนะ ๖. เวทนานั้นย่อมเป็นปัจจัยโดยเงื่อนแห่งอุปนิสสัยปัจจัยแก่ตัณหาอันต่างด้วยรูปตัณหาเป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงตรัสว่า เพราะเวทนาของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา ดังนี้. และตัณหานั้นก็เป็นปัจจัยเหล่านั้นเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา ดังนี้. และตัณหานั้นก็เป็นปัจจัยโดยเงื่อนแห่งอุปนิสสัยปัจจัย และโดยเงื่อนแห่งสหชาตปัจจัยแก่อุปทาน ๔ อย่าง. อุปาทานก็เป็นปัจจัยแก่ภพอย่างนั้น. ภพเป็นปัจจัยโดยเงื่อนแห่งอุปนิสสัยปัจจัยแก่ชาติ.
               ก็ในคำว่า ชาติ นี้ พึงเห็นว่า ได้แก่ขันธ์ ๕ พร้อมทั้งวิการ. ชาติเป็นปัจจัยโดยเงื่อนแห่งอุปนิสสัยปัจจัยแก่ชรา มรณะ และโสกะเป็นต้น.
               นี้เป็นความย่อในพระบาลีนี้. ส่วนกถาว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท ได้กล่าวไว้แล้วโดยพิสดารในวิสุทธิมรรค. ก็ในที่นี้พึงทราบพอประมาณพระบาลีนั้นเท่านั้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสวัฏฏกถา ย่อมตรัสด้วยศัพท์อันเป็นหัวข้อคืออวิชชา อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่เนื้อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีเพราะข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ๓- ดังนี้บ้าง.
               ด้วยศัพท์อันเป็นหัวข้อคือตัณหาอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งภวตัณหาย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่นี้ ภวตัณหาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ภวตัณหามีเพราะข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ๔- ดังนี้บ้าง.
               ด้วยศัพท์อันเป็นหัวข้อคือทิฏฐิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งภวทิฏฐิย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่นี้ ภวทิฏฐิไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ภวทิฏฐิมีเพราะข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ ดังนี้บ้าง.
____________________________
๓- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๖๑   ๔- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๖๒

               ก็ในพระสูตรนี้ เมื่อตรัสด้วยศัพท์อันเป็นหัวข้อคือทิฏฐิ ตรัสทิฏฐิทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยความติดใจในเวทนา จึงตรัสปฏิจจสมุปบาทอันมีเวทนาเป็นมูล. ด้วยเหตุนั้น จึงทรงแสดงความข้อนี้ว่า สมณพราหมณ์เจ้าทิฏฐิเหล่านี้ยึดถือความเห็นนี้แล้ว แล่นไปท่องเที่ยวไปในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณคติ ๗ สัตตาวาส ๙ จากนี่ไปนั่น จากนั่นไปนี้ดังนี้ ย่อมวนเวียนไปตามวัฏฏทุกข์อย่างเดียว ไม่สามารถจะเงยศีรษะขึ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ ดุจโคที่เขาเทียมไว้ในเครื่องยนต์ ดุจลูกสุนัขที่เขาล่ามไว้ที่เสา และดุจเรือที่อับปางลงด้วยลมฉะนั้น ดังนี้แล.

               วิวฏฺฏกถาทิวณฺณน               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสวัฏฏะอันเป็นที่ตั้งอาศัยของคนผู้มีทิฏฐิอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงวิวัฏฏะ ยกภิกษุผู้ประกอบความเพียรขึ้นเป็นที่ตั้ง จึงตรัสพระบาลีว่า ยโต โข ภิกฺเว ภิกฺขุ เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า ยโต กล่าวว่า ในกาลใด.
               บทว่า ฉนฺนํ ผสฺสายตนานํ ความว่า วัฏฏะย่อมวนไปแก่คนผู้มีทิฏฐิ ผู้ถูกต้องด้วยผัสสายตนะเหล่าใดเสวยเวทนาอยู่แห่งผัสสายตนะ ๖ เหล่านั่นแล.
               ในคำว่า สมุทยํ เป็นต้น พึงทราบความเกิดแห่งผัสสายตนะตามนัยที่ตรัสไว้ในเวทนากัมมัฏฐานว่า เพราะอวิชชาเกิด จักษุจึงเกิดดังนี้เป็นต้น.
               เหมือนอย่างว่า ในเวทนากัมมัฏฐานนั้น ตรัสไว้ว่าเพราะผัสสะเกิด เพราะผัสสะดับ ดังนี้ฉันใด ในพระบาลีนี้ก็เป็นฉันนั้น พึงทราบอายตนะนั้นว่า ในจักษุเป็นต้น เพราะอาหารเกิด เพราะอาหารดับ. ในมนายตนะ เพราะนามรูปเกิด เพราะนามรูปดับ ดังนี้แล.
               บทว่า อุตฺตริตรํ ปชานาติ ความว่า บุคคลผู้มีทิฏฐิย่อมรู้ชัดเฉพาะทิฏฐิเท่านั้น ส่วนภิกษุนี้ย่อมรู้ทิฏฐิ และยิ่งขึ้นไปกว่าทิฏฐิ คือศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุติจนถึงพระอรหัต คือพระขีณาสพก็รู้ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันก็รู้ ภิกษุผู้เป็นพหูสูตทรงคันถธุระก็รู้ ภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนาก็รู้.
               ก็พระธรรมเทศนาอันพระผู้มีพระภาคเจ้าให้จบลงด้วยยอด คือพระอรหัตทีเดียวดังนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสวิวัฏฏะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่า ขึ้นชื่อว่าคนมีทิฏฐิที่พ้นไปจากข่าย คือพระธรรมเทศนาย่อมไม่มี จึงตรัสต่อไปว่า เย หิ เกจิ ภิกฺขเว เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า อนฺโตชาลีกตา ความว่า อยู่ภายในข่าย คือเทศนาของเรานี้นั่นเอง.
               บทว่า เอตฺถ สิตา ว ความว่า อยู่ อาศัย คือพึ่งพิงอยู่ในข่าย คือเทศนาของเรานี้แหละ.
               คำว่า เมื่อผุดก็ผุด มีคำอธิบายอย่างไร?
               มีคำอธิบายว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น จมลงบ้าง โผล่ขึ้นบ้าง ก็เป็นผู้อยู่ในข่ายคือเทศนาของเรา จมลงและโผล่ขึ้น.
               บทว่า เอตฺถ ปริยาปนฺนา ความว่า เป็นผู้นับเนื่องในข่ายคือเทศนาของเรานี้ คืออันข่ายคือเทศนานี้ผูกพันไว้ ดุจอยู่ภายในข่าย เมื่อผุดก็ผุดขึ้น ด้วยว่าชื่อว่าคนมีทิฏฐิที่ไม่สงเคราะห์เข้าในข่ายคือเทศนานี้ ย่อมไม่มี ดังนี้แล.
               บทว่า สุขุมจฺฉิเกน ความว่า ด้วยข่ายตาละเอียดถี่ยิบ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเหมือนชาวประมง พระธรรมเทศนาเปรียบเหมือนข่าย หมื่นโลกธาตุเปรียบเหมือนน้ำน้อย สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีทิฏฐิ ๖๒ เปรียบเหมือนสัตว์ใหญ่ กิริยาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความที่สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีทิฏฐิทั้งหมดตกอยู่ภายในข่ายคือพระธรรมเทศนา เปรียบเหมือนกิริยาที่ชาวประมงนั้นยืนแลดูอยู่ริมฝั่ง เห็นสัตว์ใหญ่ๆ อยู่ภายในข่ายฉะนั้น.
               การเทียบเคียงด้วยข้ออุปมาในพระธรรมเทศนานี้ พึงทราบด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความที่สมณพราหมณ์ผู้มีทิฏฐิทั้งหมดเป็นผู้นับเนื่องในข่ายคือพระธรรมเทศนานี้ เพราะทิฏฐิทั้งหมดสงเคราะห์เข้าด้วยทิฏฐิ ๖๒ เหล่านี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความที่พระองค์เป็นผู้นับเนื่องในข้อไหนๆ จึงตรัสพระบาลีว่า อุจฺฉินฺภวเนตฺติโก ภิกฺขเว ตถาคตสฺส กาโย ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ที่ชื่อว่า เนตฺติ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องนำไป.
               บทว่า นยนฺติ แปลว่า ผูกคอฉุดมา.
               นี้เป็นชื่อของเชือก. ก็ในที่นี้ ภวตัณหาทรงประสงค์เอาว่า เนตฺติ เพราะเป็นเช่นกับเชือกเครื่องนำไป.
               จริงอยู่ ภวตัณหานั้นย่อมผูกคอมหาชน นำไปคือนำเข้าไปสู่ภพนั้นๆ เหตุนั้น จึงชื่อว่า ภวเตนฺติ. ตัณหาเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพนั้นแห่งกายของพระตถาคต ขาดแล้วด้วยศัสตราหรืออรหัตมรรค เหตุนั้น กายของพระตถาคตจึงชื่อว่า มีตัณหา เครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพขาดแล้ว.
               บทว่า กายสฺส เภทา อุทฺธํ ความว่า ต่อจากกายแตกไป.
               บทว่า ชีวิตปริยาทานา ความว่า เพราะสิ้นชีวิตแล้ว คือสิ้นรอบแล้วโดยประการทั้งปวง เพราะไม่ปฏิสนธิต่อไป.
               บทว่า น ตํ ทุกฺขนฺติ ความว่า เทวดาก็ดี มนุษย์ก็ดี จักไม่เห็นพระตถาคตนนั้น จักถึงความเป็นผู้หาบัญญัติมิได้.
               ก็ในคำอุปมาว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น มีคำเทียบเคียงดังต่อไปนี้.
               ก็กายของพระตถาคต เปรียบเหมือนต้นมะม่วง ตัณหาที่อาศัยกายนี้เป็นไปในภพก่อน เปรียบเหมือนขั้วใหญ่ซึ่งเกิดที่ต้น เมื่อยังมีตัณหาอยู่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ซึ่งเป็นสภาพติดอยู่กับตัณหาจะเกิดต่อไป เปรียบเหมือนพวงมะม่วงสุก ประมาณ ๕ ผลบ้าง ๑๒ ผลบ้าง ๑๘ ผลบ้าง ติดอยู่ที่ขั้วนั้น. เหมือนอย่างว่า เมื่อขั้วนั้นขาด มะม่วงเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมติดขั้วนั้นไป.
               อธิบายว่า ไปตามขั้วนั้นแหละ ขาดไปเช่นเดียวกัน เพราะขั้วขาด ข้อนั้นฉันใด ขั้วตัณหาเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพยังไม่ขาด ก็พึงเป็นเหตุให้เกิดขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมติดตามขั้วตัณหาเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพนั้น.
               อธิบายว่า ไปตามตัณหาเครื่องนำสัตว์ไปสู่ภพ เมื่อตัณหานั้นขาดแล้ว ก็ขาดไปเช่นเดียวกัน เหมือนฉันนั้นทีเดียว.
               อนึ่ง เมื่อต้นไม้แม้นั้น อาศัยผัสสะอันเป็นพิษของหนามกระเบน ซูบซีดลงโดยลำดับ ตายแล้วก็ย่อมจะมีแต่เพียงโวหารว่า ณ ที่นี้ได้มีต้นไม้ชื่อนี้เท่านั้น ใครๆ มิได้เห็นต้นไม้นั้น ข้อนี้ฉันใด เมื่อกายนี้อาศัยสัมผัสอริยมรรค เพราะยางคือตัณหาสิ้นไปแล้ว จึงเป็นดังซูบซีดลงตามลำดับ แตกทำลายไป ต่อจากกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นแม้ซึ่งพระตถาคต จักมีแต่เพียงโวหารว่า ได้ยินว่า นี้เป็นศาสนาของพระศาสดาซึ่งเห็นปานนี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า เอวํ วุตฺเต อายสฺมา อานนฺโท ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้อย่างนี้แล้ว พระอานนทเถระได้ประมวลพระสูตรทั้งหมดตั้งแต่ต้นมา แล้วคิดว่า เราจักแสดงกำลังของพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงขนานนามพระสูตรที่ตรัส อย่ากระนั้นเลย เราจักกราบทูลให้ทรงขนานนามพระสูตรที่ตรัสนั้น ดังนี้แล้วจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้.
               ในบทว่า ตสฺมาติห ตฺวํ ดังนี้เป็นต้น มีคำประกอบความดังต่อไปนี้
               ดูก่อนอานนท์ เพราะในธรรมบรรยายนี้ เราจักได้จำแนกทั้งประโยชน์ในโลกนี้ ทั้งประโยชน์ในโลกหน้า ฉะนั้นแล เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนี้ว่า อรรถชาละ บ้าง.
               อนึ่ง เพราะในธรรมบรรยายนี้ เราได้กล่าวธรรมอันเป็นแบบแผนเป็นอันมาก ฉะนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายอันเป็นแบบแผนนี้ว่า ธรรมชาละ บ้าง.
               อนึ่ง เพราะในธรรมบรรยายนี้ เราได้จำแนกพระสัพพัญญุตญาณ อันชื่อว่าพรหม ด้วยอรรถว่า ประเสริฐสุด ฉะนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนี้ว่า พรหมชาละ บ้าง เพราะในธรรมบรรยายนี้ เราได้จำแนกทิฏฐิ ๖๒ ฉะนั้น เธอทรงจำธรรมบรรยายนี้ว่า ทิฏฐิชาละ บ้าง.
               อนึ่ง เพราะใครๆ ฟังธรรมบรรยายนี้แล้ว อาจจะย่ำยีเทวบุตรมารบ้าง ขันธมารบ้าง มัจจุมารบ้าง กิเลสมารบ้าง ฉะนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนี้ว่า พิชัยสงครามอันยอดเยี่ยม บ้าง ดังนี้แล.
               บทว่า อิทมโวจ ภควา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรทั้งสิ้นนี้ จำเดิมแต่จบคำนิทานจนถึงที่ตรัสว่า เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนี้ว่า พิชัยสงครามอันยอดเยี่ยมดังนี้ ทรงประกาศพระสัพพัญญุตญาณอันลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งมีที่ตั้งอาศัยอันใครๆ ไม่พึงได้ด้วยปัญญาของชนเหล่าอื่น ทรงกำจัดมืดมนใหญ่คือทิฏฐิ ดุจพระอาทิตย์กำจัดความมืดฉะนั้น.
               บทว่า อตฺตมนา เต ภิกฺขู ความว่า ภิกษุเหล่านั้นต่างมีใจชื่นบานเป็นของตนเอง.
               อธิบายว่า เป็นผู้มีจิตฟูขึ้นด้วยปีติอันไปในพระพุทธเจ้า.
               บทว่า ภควโต ภาสิตํ ความว่า พระสูตรนี้ประกอบด้วยเทศนาวิลาสมีนัยอันวิจิตรอย่างนี้ คือเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ ดังเสียงนกการเวก เสนาะโสต เป็นพระสุรเสียงเพียงดังเสียงแห่งพรหม เช่นกับทรงโสรจสรงน้ำอมฤตลงในหทัยแห่งบัณฑิตชน.
               บทว่า อภินนฺทุํ ความว่า อนุโมทนาด้วย รับรองด้วย.
               ก็ อภินนฺทศัพท์นี้ มาในอรรถว่า ตัณหา ก็มี เช่นในคำว่า๑- อภินนฺทติ อภิภวติ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมกล่าวสรรเสริญ เป็นต้น.
               มาในอรรถว่า เข้าไปใกล้ ก็มี เช่นในประโยคว่า เทวดาและมนุษย์ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็เข้าไปใกล้อาหารเป็นต้น.๒-
____________________________
๑- ม. มู เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๕๓   ๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๑๓๙

               มาในอรรถว่า รับรอง ก็มี เช่นในประโยคว่า๓-
                                   ญาติมิตรและผู้มีใจดี ย่อมรับรองบุคคล
                         ผู้ร้างแรมไปนาน แล้วกลับจากที่ไกลมาโดย
                         สวัสดีเป็นต้น.
               มาในอรรถว่า อนุโมทนา ก็มี เช่นในประโยคว่า๔- อภินนฺทิตฺวา อนุโมทิตฺวา แปลว่า เพลิดเพลินแล้ว อนุโมทนาแล้วเป็นต้น.
____________________________
๓- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๖   ๔- ม. มู เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๔๙

               อภินนฺท ศัพท์นี้นั้น ในที่นี้ย่อมควรในความว่า อนุโมทนาและรับรอง. ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า บทว่า อภินนฺทุํ ความว่า อนุโมทนาด้วย รับรองด้วย ดังนี้.
                                   ภิกษุทั้งหลายต่างอนุโมทนาสุภาษิต
                         ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้คงที่ตรัสดีแล้ว
                         รับรองด้วยเศียรเกล้าว่า สาธุ สาธุ ดังนี้แล.
               บทว่า อิมสฺมิญฺจ ปน เวยฺยารกรณสฺมึ ความว่า พระสูตรอันไม่มีคาถาปนนี้.
               ก็พระสูตรนี้ เรียกว่า ไวยากรณ์ เพราะไม่มีคาถาปน.
               บทว่า ทสสหสฺสีโลกธาตุ ความว่า โลกธาตุประมาณหมื่นจักรวาล.
               บทว่า อกมฺปิตฺถ พึงทราบว่า ได้ไหวในเมื่อจบพระสูตรทีเดียวหามิได้.
               ข้อนี้สมดังที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ว่า เมื่อกำลังตรัสอยู่ ฉะนั้น พึงทราบว่า เมื่อกำลังทรงแสดงคลี่คลายทิฏฐิ ๖๒ อยู่ ได้ไหวแล้วในฐานะ ๖๒ ประการ คือเมื่อเทศนาทิฏฐินั้นๆ จบลงๆ.
               ในข้อนั้น พึงทราบแผ่นดินไหวด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ
                         ๑. ธาตุกำเริบ
                         ๒. อานุภาพของผู้มีฤทธิ์
                         ๓. พระโพธิสัตว์ก้าวลงสู่พระครรภ์
                         ๔. เสด็จออกจากครรภ์พระมารดา
                         ๕. บรรลุพระสัมโพธิญาณ
                         ๖. ทรงแสดงพระธรรมจักร
                         ๗. ทรงปลงอายุสังขาร
                         ๘. เสด็จดับขันธปรินิพพาน.
               วินิจฉัยเหตุแม้เหล่านั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวในคราววรรณนาพระบาลีที่มาในมหาปรินิพพานสูตรอย่างนี้ว่า๑-
               ดูก่อนอานนท์ เหตุ ปัจจัย ๘ เหล่านี้แลที่ให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ดังนี้ทีเดียว.
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๙๘

               ก็แผ่นดินใหญ่นี้ได้ไหวในฐานะ ๘ แม้อื่น คือ
                         ๑. คราวเสด็จมหาภิเนษกรมณ์
                         ๒. คราวเสด็จเข้าสู่โพธิมัณฑสถาน
                         ๓. คราวรับผ้าบังสุกุล
                         ๔. คราวซักผ้าบังสุกุล
                         ๕. คราวแสดงกาลามสูตร
                         ๖. คราวแสดงโคตมกสูตร
                         ๗. คราวแสดงเวสสันดรชาดก
                         ๘. คราวแสดงพรหมชาลสูตรนี้
               ใน ๘ คราวนั้น คราวเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ และคราวเสด็จเข้าสู่โพธิมัณฑสถาน แผ่นดินได้ไหวด้วยกำลังแห่งพระวิริยะ คราวรับผ้าบังสุกุล แผ่นดินถูกกำลังความอัศจรรย์กระทบแล้วว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละมหาทวีป ๔ อันมีทวีปสองพันเป็นบริวาร ออกผนวชไปสู่ป่าช้า ถือเอาผ้าบังสุกุล ได้ทรงกระทำกรรมที่ทำได้ยากดังนี้ ได้ไหวแล้ว คราวซักผ้าบังสุกุล และคราวแสดงเวสสันดรชาดก แผ่นดินได้ไหวด้วยความไหวมิใช่กาล คราวแสดงกาลามสูตรและคราวแสดงโคตมกสูตร แผ่นดินได้ไหวด้วยความเป็นสักขีว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอเป็นสักขี แต่คราวแสดงพรหมชาลสูตรนี้ เมื่อทรงแสดงสะสางคลี่คลายทิฏฐิ ๖๒ ประการอยู่ พึงทราบว่า ได้ไหวด้วยอำนาจถวายสาธุการ.
               อนึ่ง มิใช่แต่ในฐานะเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้นที่แผ่นดินไหว. ที่จริง แผ่นดินไหวแล้ว แม้ในคราวสังคายนาทั้ง ๓ วัน แม้ในวันที่พระมหินทเถระมาสู่ทวีปนี้ นั่งแสดงธรรมในชาติวัน และเมื่อพระบิณฑปาติยเถระกวาดลานพระเจดีย์ในกัลยาณีวิหาร แล้วนั่งที่ลานพระเจดีย์นั้นแหละ ยึดปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เริ่มสวดพระสูตรนี้ เวลาจบพระสูตร แผ่นดินได้ไหวไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุด. มีสถานที่ชื่ออัมพลัฏฐิกะอยู่ด้านทิศตะวันออกของโลหปราสาท พระเถระผู้กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกายนั่งในสถานที่นั้น เริ่มสวดพรหมชาลสูตร แม้ในเวลาที่พระเถระเหล่านั้นสวดจบ แผ่นดินก็ได้ไหวไปถึงน้ำรองแผ่นดินเป็นที่สุดเหมือนกัน ดังนี้แล.

               ด้วยอานุภาพแห่งพระสูตรอันประเสริฐใด ที่พระสยัมภูได้ทรงแสดงแล้ว
               แผ่นดินได้ไหวหลายครั้งอย่างนี้ ขอบัณฑิตทั้งหลายจงศึกษาโดยเคารพ
               ซึ่งอรรถธรรมของพระสูตรนั้น อันมีชื่อว่าพรหมชาลสูตรในพระศาสนานี้
               แล้วปฏิบัติโดยอุบายอันแยบคาย เทอญ.

               วรรณนาพรหมชาลสูตร อันดับที่ ๑               
               ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย               
               จบแล้วด้วยประการฉะนี้.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถกถา เล่มที่ 9 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 9 / 91อ่านอรรถกถา 9 / 365
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=1&Z=1071
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :