ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๑๕ / ๑๕.

               [อาจิณณะ ความเคยประพฤติมามี ๒ อย่าง]               
               ก็ความเคยประพฤติมานั้นนั่นแล มี ๒ อย่าง คือ พุทธาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้า) ๑ สาวกาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระสาวก) ๑.
               พุทธาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้า) เป็นไฉน?
               ข้อว่า พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลา คือยังมิได้อำลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท ดังนี้ นี้เป็นพุทธาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้า) ข้อหนึ่งก่อน.
               ส่วนพระสาวกทั้งหลายจะบอกลาหรือไม่บอกลาก็ตามย่อมหลีกไปได้ตามสบาย.
               ยังมีพุทธาจิณณะแม้อื่นอีก คือ :-
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอยู่จำพรรษาปวารณาแล้ว ย่อมเสด็จไปสู่ที่จาริกในชนบททีเดียว เพื่อทรงสงเคราะห์ประชาชน.

               [พระพุทธเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปเฉพาะ ๓ มณฑล]               
               ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจะเสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบท ย่อมเสด็จเที่ยวไปในมณฑลใดมณฑลหนึ่งบรรดามณฑลทั้ง ๓ เหล่านี้ คือ :-
               มหามณฑล (มณฑลใหญ่) ๑ มัชฌิมมณฑล (มณฑลปานกลาง) ๑ อันติมมณฑล (มณฑลเล็ก) ๑.
               บรรดามณฑลทั้ง ๓ นั้น มหามณฑล ประมาณเก้าร้อยโยชน์ มัชฌิมมณฑล ประมาณหกร้อยโยชน์ อันติมมณฑล ประมาณสามร้อยโยชน์.
               ในกาลใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระประสงค์จะเสด็จเที่ยวจาริกไปในมหามณฑล ในกาลนั้น ทรงปวารณาในวันมหาปวารณาแล้ว มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกในวันปาฏิบท เมื่อจะทรงอนุเคราะห์มหาชนในบ้านและนิคมเป็นต้น ด้วยการทรงรับอามิส และเมื่อจะทรงเพิ่มพูนกุศล อันอาศัยวิวัฏฏคามินี แก่มหาชนนั้นด้วยธรรมทาน ทรงยังการเสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบท ให้เสร็จสิ้นลงโดย ๙ เดือน.
               ก็ถ้าภายในพรรษา สมถะและวิปัสสนาของภิกษุทั้งหลาย ยังอ่อนอยู่.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา ทรงประทานปวารณาสงเคราะห์ ไปปวารณาในวันเพ็ญเดือนกัตติกา (กลางเดือน ๑๒) เสร็จแล้ว มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกไปในวันต้นแห่งเดือนมิคสิระ (เดือนอ้าย) แล้วยังการเสด็จเที่ยวจาริกไปในมัชฌิมมณฑล ให้เสร็จสิ้นลงโดย ๘ เดือน ตามนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง.
               ก็ถ้าเวไนยสัตว์ทั้งหลายของพุทธเจ้าผู้เสด็จออกพรรษาแล้วเหล่านั้น ยังมีอินทรีย์ไม่แก่กล้า. พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ทรงรอคอยให้เวไนยสัตว์เหล่านั้นมีอินทรีย์แก่กล้า เสด็จพักอยู่ในสถานที่นั้นนั่นเอง แม้ตลอดเดือนมิคสิระแล้ว มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จออกไปในวันต้นแห่งเดือนปุสสะ (เดือนยี่) แล้ว ทรงยังการเสด็จเที่ยวจาริกไปในอันติมมณฑล ให้เสร็จสิ้นลงโดย ๗ เดือน ตามนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้เมื่อเสด็จเที่ยวไปในบรรดามณฑลเหล่านั้นแห่งใดแห่งหนึ่ง ทรงปลดเปลื้องสัตว์เหล่านั้นๆ ให้พ้นจากกิเลสทั้งหลาย ทรงประกอบสัตว์เหล่านั้นๆ ไว้ ด้วยอริยผลมีโสดาปัตติผลเป็นต้น เสด็จเที่ยวไปอยู่ด้วยอำนาจแห่งเวไนยสัตว์เท่านั้น ดุจทรงเก็บดอกไม้เบญจพรรณนานาชนิดอยู่ฉะนั้น.
               ยังมีพุทธาจิณณะแม้อื่นอีก คือ :-
               ในเวลาจวนรุ่งสว่างทุกๆ วัน การทำพระนิพพานอันเป็นสุขสงบให้เป็นอารมณ์ เสด็จเข้าผลสมาบัติออกจากผลสมาบัติแล้ว ทรงเข้าสมาบัติอันประกอบด้วยพระมหากรุณา ภายหลังจากนั้นก็ทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ผู้พอจะแนะนำให้ตรัสรู้ได้ในหมื่นจักรวาล.
               ยังมีพุทธาจิณณะแม้อื่นอีก คือ :- การทรงทำปฏิสันถารกับพวกอาคันตุกะเสียก่อน ทรงแสดงธรรม ด้วยอำนาจเรื่องที่เกิดขึ้น ครั้นโทษเกิดขึ้น ทรงบัญญัติสิกขาบท นี้เป็นพุทธาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้า) ดังพรรณนามาฉะนี้แล.

               [สาวกาจิณณะ ความเคยประพฤติมาของพระสาวก]               
               สาวกาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระสาวก) เป็นไฉน?
               คือในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า (ยังทรงพระชนม์อยู่) มีการประชุม (พระสาวก) ๒ ครั้ง คือ เวลาก่อนเข้าพรรษาและวันเข้าพรรษา เพื่อเรียนเอากรรมฐาน ๑ เพื่อบอกคุณที่ตนได้บรรลุแก่ภิกษุผู้ออกพรรษามาแล้ว ๑ เพื่อเรียนเอากรรมฐานที่สูงๆ ขึ้นไป ๑ นี้เป็นสาวกาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระสาวก).
               ส่วนในอธิการนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงพุทธาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้า) จึงตรัสพระดำรัสเป็นต้นว่า อาจิณฺณํ โข ปเนตํ อานนฺท ตถาคตานํ ดังนี้.
               บทว่า อายาม แปลว่า เรามาไปกันเถิด.
               บทว่า อปโลเกสฺสาม แปลว่า เราจักบอกลา (เวรัญชพราหมณ์) เพื่อต้องการเที่ยวไปสู่ที่จาริก.
               ศัพท์ว่า เอวํ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า ยอมรับ.
               คำว่า ภนฺเต นั่น เป็นชื่อเรียกด้วยความเคารพ. จะพูดว่า ถวายคำทูลตอบแด่พระศาสดา ดังนี้บ้าง ก็ใช้ได้.
               สองบทว่า ภควโต ปจฺจสฺโสสิ ความว่า ท่านพระอานนท์ทูลรับฟัง คือตั้งหน้าฟัง ได้ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี.
               มีคำอธิบายว่า ทูลรับด้วยคำว่า เอวํ นี้.
               ในคำว่า อถโข ภควา นิวาเสตฺวา นี้ ท่านพระอุบาลีมิได้กล่าวไว้ว่า เป็นเวลาเช้าหรือเป็นเวลาเย็น. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตรกิจเสร็จแล้ว ทรงยับยั้งอยู่ตลอดเวลาเที่ยงวัน ให้ท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ทรงให้ถนนในพระนคร ตั้งต้นแต่ประตูพระนครไป รุ่งเรืองไปด้วยพระพุทธรัศมีซึ่งมีช่อดุจสายทอง เสด็จเข้าไปโดยทางที่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์นั้นตั้งอยู่.
               ส่วนปริชนเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พอประทับยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเวรัญชพราหมณ์เท่านั้น ก็ได้แจ้งข่าวแก่พราหมณ์.
               พราหมณ์หวนระลึกได้ แล้วก็เกิดความสังเวช จึงรีบลุกขึ้นสั่งให้จัดปูอาสนะที่ควรแก่ค่ามาก ออกไปต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จเข้ามาทางนี้เถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดปูไว้แล้ว.
               ลำดับนั้นแล เวรัญชพราหมณ์มีความประสงค์จะเข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้เข้าไปเฝ้าโดยทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ จากที่ๆ ตนยืนอยู่.
               คำเบื้องหน้าแต่นี้ไป มีใจความกระจ่างแล้วทั้งนั้น.

               [เวรัญชพราหมณ์ทูลเรื่องที่มิได้ถวายทานตลอดไตรมาส]               
               ก็ในคำที่พราหมณ์กราบทูลว่า อนึ่ง ไทยธรรมที่ควรจะถวายข้าพเจ้ามิได้ถวาย มีคำอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               ข้าพเจ้ายังไม่ได้ถวายไทยธรรมที่ควรจะถวาย มีอาทิอย่างนี้คือ ทุกๆ วัน ตลอดไตรมาส เวลาเช้าควรถวายยาคูและของควรเคี้ยว เวลาเที่ยงควรถวายขาทนียะโภชนียะ เวลาเย็นควรถวายบูชาสักการะ ด้วยวัตถุมีน้ำปานะที่ปรุงชนิดต่างๆ มากมาย ของหอมและดอกไม้เป็นต้น แก่พระองค์ผู้ซึ่งข้าพเจ้านิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว.
               ก็ในคำว่า ตญฺจ โข โน อสนฺตํ นี้ พึงทราบว่าเป็นลิงควิปัลลาส. ก็ในคำนี้มีใจความดังนี้ว่า ก็แล ไทยธรรมนั้นไม่มีอยู่แก่ข้าพเจ้าก็หามิได้. อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นใจความในคำนี้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าพึงถวายของใดๆ แก่พระองค์ ก็แล ของนั้นมิใช่จะไม่มี.
               คำว่า โน ปิ อทาตุกมฺยตา ความว่า แม้ความไม่อยากถวายของข้าพเจ้า เหมือนของเหล่าชนผู้มีความตระหนี่ซึ่งมีอุปกรณ์แก่ทรัพย์ เครื่องปลื้มใจมากมาย ไม่อยากถวายฉะนั้น ก็ไม่มี. ภายในไตรมาสนี้ พระองค์จะพึงได้ไทยธรรมนั้นจากไหน เพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก.
               ในคำว่า ตํ กุเตตฺถ ลพฺภา พหุกิจฺจา ฆราวาสา นั้นมีการประกอบความดังต่อไปนี้ :-
               พราหมณ์ เมื่อจะตำหนิการอยู่ครองเรือน จึงได้กราบทูลว่า เพราะการอยู่ครองเรือนมีกิจมาก ฉะนั้น ภายในไตรมาสนี้ เมื่อไทยธรรม และความประสงค์จะถวายแม้มีอยู่ พระองค์พึงได้ไทยธรรมที่ข้าพเจ้าจะพึงถวายแก่พระองค์แต่ที่ไหน คือพระองค์อาจได้ไทยธรรมนั้น จากที่ไหน.
               ได้ยินว่า เวรัญชพราหมณ์นั้นย่อมไม่รู้ความที่ตนถูกมารดลใจ จึงได้สำคัญว่า เราเกิดเป็นผู้มีสติหลงลืม เพราะกังวลอยู่ ด้วยการครองเรือน. เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงได้กราบทูลอย่างนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ในคำว่า ตํ กุเตตฺถ ลพฺภา นี้ พึงทราบการประกอบความอย่างนี้ว่า ภายในไตรมาสนี้ ข้าพเจ้าจะพึงถวายไทยธรรมอันใดแด่พระองค์ ไทยธรรมอันนั้น ข้าพเจ้าจะพึงได้จากไหน? เพราะว่า การอยู่ครองเรือนมีกิจมาก.

               [เวรัญชพราหมณ์ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเพื่อเสวยภัตตาหาร]               
               ครั้งนั้น พราหมณ์ดำริว่า ไฉนหนอ ไทยธรรมอันใด เป็นของอันเราจะพึงถวายโดย ๓ เดือน เราควรถวายไทยธรรมอันนั้นทั้งหมด โดยวันเดียวเท่านั้นแล้ว จึงได้กราบทูลคำเป็นต้นว่า ขอพระโคดมผู้เจริญทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้าเถิด ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สฺวาตนาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่บุญกุศล และปีติปราโมทย์ซึ่งจะมีในวันพรุ่งนี้ ในเมื่อข้าพเจ้าได้กระทำสักการะในพระองค์.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำอาราธนาของพราหมณ์]               
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตถาคตทรงพระรำพึงว่า ถ้าเราจะไม่รับคำอาราธนาไซร้ พราหมณ์และชาวเมืองเวรัญชาจะพึงติเตียนอย่างนี้ว่า พระสมณะองค์นี้ไม่ได้อะไรๆ ตลอดไตรมาส ชะรอยจะพึงโกรธกระมัง? เพราะเหตุนั้น เราอ้อนวอนอยู่ ก็ไม่ทรงรับแม้ภัตตาหารครั้งหนึ่ง, ในพระสมณะองค์นี้ไม่มีอธิวาสนขันติ พระสมณะองค์นี้ไม่ใช่สัพพัญญู ก็จะพึงประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก, การประสบสิ่งที่มิใช่บุญนั้น อย่าได้มีแก่ชนเหล่านั้นเลย ดังนี้แล้ว จึงทรงรับคำอาราธนา เพื่ออนุเคราะห์แก่ชนเหล่านั้นโดยดุษณีภาพ.
               ก็ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงรับอาราธนาแล้ว ได้ทรงเตือนเวรัญพราหมณ์ให้สำนึกตัวว่า ไม่ควรคิดถึงความกังวลด้วยการอยู่ครอบครองเรือนเลย แล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ภายภาคหน้า ให้สมาทาน คือให้รับเอากุศลธรรม และให้เวรัญชพราหมณ์นั้นอาจหาญ คือทำให้มีความอุตสาหะในกุศลธรรมตามที่ตนสมาทานแล้วนั้น และทรงปลอบให้ร่าเริง ด้วยความเป็นผู้มีอุตสาหะนั้น และด้วยคุณธรรมที่มีอยู่อย่างอื่น ด้วยธรรมีกถาอันสมควรแก่ขณะนั้น ได้ทรงยังฝน คือพระธรรมรัตนะให้ตกลงแล้ว ก็เสด็จลุกจากอาสนะกลับไป.

               [เวรัญชพราหมณ์สั่งให้เตรียมภัตตาหารถวายพรุ่งนี้]               
               ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้เรียกบุตรและภรรยามาสั่งว่า แน่ะพนาย เราได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า (ให้อยู่จำพรรษา) ตลอดไตรมาสแล้ว ในวันหนึ่งก็มิได้ถวายภัตตาหารสักก้อนเดียวเลย เอาเถิด บัดนี้ พวกท่านจงตระเตรียมทานให้เป็นเหมือนไทยธรรมแม้ที่ควรถวายตลอดไตรมาส เป็นของอาจถวายในวันพรุ่งนี้ได้ โดยวันเดียวเท่านั้น.
               ต่อจากนั้น เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตระเตรียมทานที่ประณีตตลอดวันที่ตนนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น ก็ได้สั่งให้ประดับที่ตั้งอาสนะ ให้ปูอาสนะทั้งหลายที่ควรค่ามากไว้ จัดแจงการบูชาอย่างใหญ่ อันวิจิตรด้วยของหอม ธูป เครื่องอบและดอกโกสุมเสร็จแล้ว จึงสั่งให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลเผดียงกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงได้กล่าวว่า อถโขเวรญฺโช พฺราหฺมโณ ตสฺสา รตฺติยา อจฺจเยน ฯเปฯ นิฏฺฐิตํ ภตฺตํ.๑-
____________________________
๑- วิ มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๙/หน้า ๑๘

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังนิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ได้เสด็จไปที่นิเวศน์ของพราหมณ์นั้น, เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงได้กล่าวว่า อถโข ภควา ฯเปฯ นิสีทิ สทฺธึ ภิกฺขุสงฺเฆน.๑-
               บทว่า พุทฺธปฺปมุขํ ในคำว่า อถโขเวรญฺโช พฺราหฺมโณ พุทฺธปฺปมุขํ ภิกฺขุสงฺฆํ นี้ แปลว่า มีพระพุทธเจ้าเป็นปริณายก. มีคำอธิบายว่า ผู้นั่งให้พระพุทธเจ้าเป็นพระสังฆเถระ.
               บทว่า ปณีเตน แปลว่า อันดีเยี่ยม.
               บทว่า สหตฺถา แปลว่า ด้วยมือตนเอง.
               บทว่า สนฺตปฺเปตฺวา ความว่า ให้อิ่มหนำด้วยดี คือให้บริบูรณ์ ได้แก่ เกื้อกูลด้วยดีจนพอแก่ความต้องการ.
               บทว่า สมฺปวาเรตฺวา ความว่า ให้ทรงห้ามเสียด้วยดี คือให้ทรงคัดค้านด้วยหัตถสัญญา มุขสัญญาและวจีเภทว่า พอละ พอละ.
               บทว่า ภุตฺตาวึ แปลว่า ผู้เสวยเสร็จแล้ว.
               บทว่า โอนีตปตฺตปาณึ แปลว่า ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร.
               มีคำอธิบายว่า ทรงชักพระหัตถ์ออกแล้ว (ทรงล้างพระหัตถ์แล้ว).
____________________________
๑- วิ มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๙/หน้า ๑๘

               [พราหมณ์ถวายไตรจีวรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์]               
               สองบทว่า ติจีวเรน อจฺฉาเทสิ ความว่า (พราหมณ์) ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ก็คำว่า ติจีวเรน อจฺฉาเทสิ นี้เป็นเพียงโวหารพจน์ ก็ในไตรจีวรนั้นผ้าสาฎกแต่ละผืน มีราคาผืนละพันหนึ่ง. พราหมณ์ได้ถวายไตรจีวรชั้นดีเยี่ยม เช่นกับผ้าแคว้นกาสี มีราคาถึงสามพันแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการฉะนี้.
               หลายบทว่า เอกเมกญฺจภิกฺขุํ เอกเมเกน ทุสฺสยุเคน ความว่า พราหมณ์ได้ให้ภิกษุรูปหนึ่งๆ ครองด้วยผ้าคู่หนึ่งๆ. บรรดาผ้าเหล่านั้น ผ้าสาฎกผืนหนึ่งๆ มีราคาห้าร้อย. พราหมณ์ได้ถวายผ้ามีราคาห้าแสนแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ด้วยประการฉะนี้.
               พราหมณ์ถวายแล้วถึงเท่านี้ยังไม่พอแก่ใจ ได้แบ่งผ้ากัมพลแดงและผ้าปัตตุณณะ และผ้าห่มมากมายมีราคาเจ็ดแปดพัน ถวายเพื่อประโยชน์แก่บริขาร มีผ้ารัดเข่าผ้าสไบเฉียง ประคดเอวและผ้ากรองน้ำเป็นต้นอีก และได้ตวงน้ำมันยาซึ่งหุงตั้งร้อยครั้งพันครั้งให้เต็มทะนาน ถวายน้ำมันมีราคาพันหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่การทาแก่ภิกษุรูปหนึ่งๆ. จะมีประโยชน์อะไรด้วยการกล่าวมากในปัจจัยสี่. บริขารอะไรๆ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของสมณะ ชื่อว่าพราหมณ์มิได้ถวายแล้วมิได้มี แต่ในพระบาลีกล่าวแต่เพียงจีวรเท่านั้น.
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงยังฝนคืออมตธรรมให้ตก ทำเวรัญชพราหมณ์ผู้เสื่อมสิ้นจากการบริโภครสแห่งอมตะ คือการฟังธรรม ด้วยถูกมารดลใจให้เคลิบเคลิ้มเสียสามเดือน ผู้ทำการบูชาใหญ่อย่างนั้นแล้ว พร้อมด้วยบุตรและภรรยาถวายบังคมแล้วนั่ง ให้เป็นผู้มีความดำริเต็มที่ โดยวันเดียวเท่านั้น จึงยังพราหมณ์ให้เล็งเห็นสมาทานอาจหาญให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป.
               ฝ่ายพราหมณ์ พร้อมทั้งบุตรและภรรยา ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์แล้วตามไปส่งเสด็จ พลางกล่าวคำมีอาทิอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า พระองค์พึงทำความอนุเคราะห์แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแม้อีก แล้วปล่อยให้น้ำตาไหลกลับมา.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจากเมืองเวรัญชาไปประทับที่เมืองไพศาลี]               
               หลายบทว่า อถโข ภควาเวรญฺชายํ ยถาภิรนฺตํ วิหริตฺวา มีความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ตามพระอัธยาศัย คือตามความพอพระทัยแล้ว ออกจากเมืองเวรัญชา มีพระประสงค์จะทรงละพุทธวิถีที่จะพึงเสด็จไป ในกาลเป็นที่เสด็จเที่ยวจาริกในมณฑลใหญ่ จะทรงพาภิกษุสงฆ์ผู้ลำบากด้วยทุพภิกขโทษ เสด็จไปโดยทางตรง จึงไม่ทรงแวะเมืองทั้งหลายมีเมืองโสเรยยะเป็นต้น เสด็จไปยังเมืองปยาคประดิษฐาน ข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองนั้น แล้วเสด็จไปโดยทิศาภาคทางเมืองพาราณสี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปโดยทิศาภาคนั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ตทวสริ. พระองค์ประทับอยู่ตามพระอัธยาศัย แม้ในเมืองพาราณสีนั้นแล้ว ได้เสด็จไปยังเมืองไพศาลี.
               เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณกุชชะ เสด็จไปทางเมืองปยาคประดิษฐานแล้วเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองปยาคประดิษฐาน ไปโดยทิศาภาคทางเมืองพาราณสี.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับแรมในเมืองพาราณสีตามพอพระทัย แล้วทรงหลีกจาริกไปทางเมืองไพศาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ได้ทรงแวะเมืองไพศาลี.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ใกล้เมืองไพศาลีนั้น.๑-
               จบ เวรัญชกัณฑวรรณนา ในอรรถกถาวินัย               
               ชื่อสมันตปาสาทิกา.               

                                   ในข้อที่อรรถกถาชื่อสมันตปาสาทิกา
                         ในวินัยนั้น ชวนให้เกิดความเลื่อมใสโดย
                         รอบด้าน มีคำอธิบายดังจะกล่าวต่อไปดังนี้ว่า
                                   เมื่อวิญญูชนทั้งหลายสอดส่องอยู่
                         โดยลำดับแห่งอาจารย์ โดยการแสดงประ-
                         เภทแห่งนิทานและวัตถุ โดยความเว้นลัทธิ
                         อื่น โดยความหมดจดแห่งลัทธิของตน โดย
                         การชำระพยัญชนะให้เรียบร้อย โดยใจความ
                         เฉพาะบท โดยลำดับแห่งบาลีและโยชนา
                         แห่งบาลี โดยการวินิจฉัยสิกขาบท และ
                         โดยการชี้แจงความต่างแห่งนัยในวิภังค์ คำ
                         น้อยหนึ่งซึ่งไม่ชวนให้เกิดความเลื่อมใส
                         ย่อมไม่ปรากฏในสมันตปาสาทิกานี้, เพราะ
                         เหตุนั้น สังวรรณนาแห่งวินัยที่พระโลกนาถ
                         ผู้ทรงอนุเคราะห์โลก ฉลาดในการฝึกเวไนย
                         ได้ตรัสไว้นี้ จึงเป็นไปโดยชื่อว่า สมันตปา-
                         สาทิกา แล.
____________________________
๑- วิ มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๙/หน้า ๑๘

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :