ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๕ / ๑๕.

               [พระมหินทเถระไปประกาศพระศาสนาที่เกาะลังกา]               
               ส่วนพระมหินทเถระผู้อันพระอุปัชฌายะ และภิกษุสงฆ์เชื้อเชิญว่า ขอท่านจงไปประดิษฐานพระศาสนายังเกาะตัมพปัณณิทวีปเถิด ดังนี้ จึงดำริว่า เป็นกาลที่เราจะไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปหรือยังหนอ? ครั้งนั้นเมื่อท่านใคร่ครวญอยู่ ก็ได้มีความเห็นว่า ยังไม่ใช่กาลที่ควรจะไปก่อน.
               ถามว่า ก็พระเถระนั้นได้มีความเห็นดังนี้ เพราะเห็นเหตุการณ์อะไร?
               แก้ว่า เพราะเห็นว่า พระเจ้ามุฏสีวะทรงพระชราภาพมาก.

               [พระมหินทเถระเที่ยวเยี่ยมญาติจนกว่าจะถึงเวลาไปเกาะลังกา]               
               ลำดับนั้น พระเถระดำริว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงพระชราภาพมาก เราไม่อาจรับพระราชานี้ยกย่องเชิดชูพระศาสนาได้ ก็บัดนี้ พระราชโอรสของพระองค์ ทรงพระนามว่า เทวานัมปิยดิส จักเสวยราชย์ (ต่อไป) เราจักอาจรับพระราชานั้นจะยกย่องเชิดชูพระศาสนาได้ เอาเถิด เราจักเยี่ยมพวกญาติเสียก่อน จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง, บัดนี้ เราจะพึงได้กลับมายังชนบทนี้อีกหรือไม่.
               พระเถระนั้น ครั้นดำริอย่างนั้นแล้ว จึงไหว้พระอุปัชฌยะและภิกษุสงฆ์ออกไปจากวัดอโศการาม เที่ยวจาริกไปทางทักขิณาคิรีชนบท ซึ่งเวียนรอบนครราชคฤห์ไปพร้อมกับพระเถระ ๔ รูป มีพระอิฏฏิยะเป็นต้นนั้น สุมนสามเณรผู้เป็นโอรสของพระนางสังฆมิตตา และภัณฑกอุบาสกเยี่ยมพวกญาติอยู่จนเวลาล่วงไปถึง ๖ เดือน.
               ครั้งนั้น พระเถระได้ไปถึงเมืองชื่อเวทิสนครอันเป็นสถานที่ประทับของพระมารดาโดยลำดับ.

               [ประวัติย่อของพระมหินทเถระ]               
               ได้ยินว่า พระเจ้าอโศกทรงได้ชนบท (ได้กินเมือง) ในเวลายังทรงพระเยาว์ เมื่อเสด็จไปกรุงอุชเชนี ผ่านเวทิสนคร ได้ทรงรับธิดาของเวทิสเศรษฐี (เป็นอัครมเหสี), ในวันนั้นนั่นเอง พระนางก็ทรงครรภ์ แล้วได้ประสูติมหินทกุมาร ที่กรุงอุชเชนี. ในเวลาที่พระกุมารมีพระชนม์ได้ ๑๔ พรรษา พระราชาทรงได้รับการอภิเษกขึ้นครองราชย์.
               สมัยนั้น พระนางที่เป็นมารดาของมหินทกุมารนั้น ก็ประทับอยู่ที่ตำหนักของพระประยูรญาติ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า พระเถระได้ไปถึงเมืองชื่อเวทิสนคร อันเป็นสถานที่ประทับของพระมารดาโดยลำดับ.
               ก็แล พระเทวีผู้เป็นพระมารดาของพระเถระ ทอดพระเนตรเห็นพระเถระผู้มาถึงแล้ว ก็ทรงไหว้เท้าทั้งสองด้วยเศียรเกล้า แล้วถวายภิกษาทรงมอบถวายวัดชื่อ เวทิสคิรีมหาวิหาร ที่ตนสร้างถวายพระเถระ.
               พระเถระนั่งคิดอยู่ที่วิหารนั้นว่า กิจที่เราควรกระทำในที่นี้สำเร็จแล้ว, บัดนี้ เป็นเวลาที่ควรจะไปยังเกาะลังกาหรือยังหนอแล.
               ลำดับนั้น ท่านดำริว่า ขอให้พระราชกุมารพระนามว่า เทวานัมปิยดิส เสวยอภิเษกที่พระชนกของเราทรงส่งไปถวายเสียก่อน, ขอให้ได้สดับคุณพระรัตนตรัย และเสด็จออกไปจากพระนคร เสด็จขึ้นสู่มิสสกบรรพตมีมหรสพเป็นเครื่องหมาย, เวลานั้น เราจักพบพระองค์ท่านในที่นั้น.
               พระเถระก็สำเร็จการพักอยู่ที่เวทิสคิรีมหาวิหารนั้นและสิ้นเดือนหนึ่งต่อไปอีก.
               ก็โดยล่วงไปเดือนหนึ่ง คณะสงฆ์และอุบาสกแม้ทั้งหมด ซึ่งประชุมกันอยู่ในวันอุโบสถ ในดิถีเพ็ญแห่งเดือนแปดต้น (คือวันเพ็ญเดือน ๗) ได้ปรึกษากันว่า เป็นกาลสมควรที่พวกเราจะไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปหรือยังหนอ?
               เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวว่า
                         ในกาลนั้น ได้มีพระสังฆเถระชื่อมหินท์โดยนาม ๑
               พระอิฏฏิยเถระ ๑ พระอุตติยเถระ ๑ พระภัททสาลเถระ ๑
               พระสัมพลเถระ ๑ สุมนสามเณร ผู้ได้ฉฬภิญญา มีฤทธิ์
               มาก ๑ ภัณฑกอุบาสก ผู้ได้เห็นสัจจะ เป็นที่ ๗ แห่ง
               พระเถระเหล่านั้น ๑, ท่านมหานาคเหล่านั้นนั่นแลพักอยู่
               ในที่เงียบสงัด ได้ปรึกษากันแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.

               [พระอินทร์ทรงเล่าเรื่องพุทธพยากรณ์ถวายให้พระมหินท์ทราบ]               
               เวลานั้น ท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งทวยเทพ เสด็จเข้าไปหาพระมหินทเถระ แล้วได้ตรัสคำนี้ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระเจ้ามุฏสีวะสวรรคตแล้ว, บัดนี้ พระเจ้าเทวานัมปิยดิสมหาราชเสวยราชย์แล้ว, และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์องค์ท่านไว้แล้วว่า ในอนาคต ภิกษุชื่อมหินท์ จักยังชาวเกาะตัมพปัณณิทวีปให้เลื่อมใส ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เพราะเหตุดังนั้นแล เป็นกาลสมควรที่ท่านจะไปยังเกาะอันประเสริฐแล้ว แม้กระผมก็จักร่วมเป็นเพื่อนท่านด้วย.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท้าวสักกะจึงได้ตรัสอย่างนั้น?
               แก้ว่า เพราะได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ที่ควงแห่งโพธิพฤกษ์นั่นเอง ได้ทอดพระเนตรเห็นสมบัติแห่งเกาะนี้ในอนาคต จึงได้ตรัสบอกความนั่นแก่ท้าวสักกะนั้น และทรงสั่งบังคับไว้ด้วยว่า "ในเวลานั้น ถึงบพิตรก็ควรร่วมเป็นสหายด้วย" ดังนี้ ฉะนั้น ท้าวสักกะจึงได้ตรัสอย่างนั้น.

               [พระมหินทเถระพร้อมกับคณะไปเกาะลังกา]               
               พระเถระรับคำของท้าวสักกะนั้นแล้ว เป็น ๗ คนทั้งตน เหาะขึ้นไปสู่เวหาสจากเวทิสบรรพต แล้วดำรงอยู่บนมิสสกบรรพต ซึ่งชนทั้งหลายในบัดนี้จำกันได้ว่า เจติยบรรพตบ้าง ทางทิศบูรพาแห่งอนุราธบุรี,
               เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวไว้ว่า
                                   พระเถระทั้งหลายพักอยู่ที่เวทิสคิรีบรรพต
                         ใกล้กรุงราชคฤห์ สิ้น ๓๐ ราตรีได้ดำริว่า เป็นกาล
                         สมควรที่จะไปยังเกาะอันประเสริฐ, พวกเราจะพา
                         กันไปสู่เกาะอันอุดม ดังนี้ แล้วได้เหาะขึ้นจาก
                         ชมพูทวีป ลอยไปในอากาศดุจพญาหงส์บินไป
                         เหนือท้องฟ้าฉะนั้น, พระเถระทั้งหลายเหาะขึ้นไป
                         แล้วอย่างนั้น ก็ลงที่ยอดเขาแล้ว ยืนอยู่บนยอด
                         บรรพต ซึ่งงามไปด้วยเมฆ อันตั้งอยู่ข้างหน้าแห่ง
                         บุรีอันประเสริฐราวกะว่า หมู่หงส์จับอยู่บนยอดเขา
                         ฉะนั้น.
               ก็ท่านพระมหินทเถระผู้มาร่วมกับพระเถระทั้งหลายมีพระอิฏฏิยะเป็นต้น ยืนอยู่อย่างนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ได้ยืนอยู่แล้วในเกาะนี้ ในปีที่ ๒๓๖ พรรษา นับมาแต่ปีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน.

               [ลำดับราชวงศ์ที่เสวยราชย์ในเกาะลังกาและชมพูทวีป]               
               ความพิสดารว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ในปีที่ ๘ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอชาตศัตรุราช (เสวยราชย์). ในปีนั้นนั่นเอง พระราชโอรสของพระเจ้าสีหกุมาร ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินต้นวงศ์แห่งเกาะตัมพปัณณิทวีป ทรงพระนามว่า วิชัยกุมาร เสด็จมาสู่เกาะนี้แล้ว ได้ทรงทำเกาะนี้ให้เป็นที่อยู่ของมนุษย์.
               พระเจ้าวิชัยกุมาร (เสวยราชย์อยู่ในเกาะนี้ ๓๘ ปี)#- แล้ว สวรรคตที่เกาะนี้ ในปีที่ ๑๔ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอุทัยภัทท์ ในชมพูทวีป.
               พระราชาทรงพระนามว่า บัณฑุวาสุเทพ ขึ้นครองราชย์ในเกาะนี้ ในปีที่ ๑๕ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอุทัยภัทท์ (ซึ่งเสวยราชย์อยู่ในชมพูทวีป). พระเจ้าบัณฑุวาสุเทพ ได้สวรรคตที่เกาะนี้ ในปีที่ ๒๑ แห่ง(รัชกาล) พระเจ้านาคทัสสกะ (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น. พระราชกุมารทรงพระนามว่า อภัย ขึ้นครองราชย์ในเกาะนี้ ในปีนั้นนั่นเอง. พระเจ้าอภัย (เสวยราชย์อยู่) ในเกาะนี้ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ในปีที่ ๑๗ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าสุสูนาคะ (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น คราวนั้น ทามริกาพระนามว่า ปกุณฑกาภัย ได้ยึดเอาราชสมบัติในปีที่ ๒๐ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอภัย (ผู้ครองราชย์อยู่ในคราวนั้น). พระเจ้าปกุณฑกาภัย (ครองราชย์อยู่) ในเกาะนี้ ครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ในปีที่ ๑๖ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้ากาฬโศก (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น.
               ๑๗ ปีเหล่านั้นรวมกันอีก ๑ ปีถัดมา จึงเป็น ๑๘ ปี พระเจ้าปกุณฑกาภัยได้สวรรคตในเกาะนี้ ในปีที่ ๑๔ แห่ง (รัชกาล). พระเจ้าจันทรคุต (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น. (ต่อจากนั้น) พระเจ้ามุฏสีวะก็ขึ้นครองราชย์ (ในเกาะนี้) พระเจ้ามุฏสีวะได้สวรรคตในเกาะนี้ ในปีที่ ๑๗ แห่ง (รัชกาล) พระเจ้าอโศกธรรมราช (ซึ่งเสวยราชย์อยู่) ในชมพูทวีปนั้น. (ต่อจากนั้น) พระเจ้าเทวานัมปิยดิสก็ขึ้นครองราชย์ (ในเกาะนี้).
               อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูเสวยราชย์ได้ ๒๔ ปี. ส่วนพระเจ้าอุทัยภัทท์เสวยราชย์ได้ ๑๖ ปี. (ต่อจากนั้น) พระเจ้าอนุรุทธะและพระเจ้ามุณฑะเสวยราชย์ได้ ๘ ปี. พระเจ้านาคทัสสกะเสวยราชย์ได้ ๒๔ ปี. พระเจ้าสุสูนาคะเสวยราชย์ได้ ๑๘ ปี. พระเจ้าอโศก๑- พระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาคะนั้นนั่นแล เสวยราชย์ได้ ๒๘ ปี. พระราชาผู้เป็นพระเจ้าพี่น้องกัน ๑๐ พระองค์๒- ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศก๔- เสวยราชย์ได้ ๒๒ ปี. ภายหลังแต่กาลแห่งพระราชาผู้เป็นพระเจ้าพี่น้องกัน ๑๐ องค์นั้น มีพระราชา ๙ พระองค์๓- ทรงมีพระนามว่า นันทะ (ต่อสร้อยพระนามทุกๆ พระองค์) เสวยราชย์ได้ ๒๒ ปี เท่านั้น พระเจ้าจันทรคุตเสวยราชย์ได้ ๒๔ ปี. พระเจ้าวินทุสารเสวยราชย์ได้ ๒๘ ปี.
               ในที่สุด (รัชกาล) แห่งพระเจ้าวินทุสารนั้น พระเจ้าอโศกก็ขึ้นครองราชย์. ในกาลก่อนแต่ทรงอภิเษก พระเจ้าอโศกนั้นครองราชย์อยู่ ๔ ปี. ในปีที่ ๑๘ จากเวลาที่พระเจ้าอโศกทรงอภิเษกแล้ว พระมหินทเถระก็มายืนอยู่ที่เกาะนี้.
               คำนี้ว่า พระมหินทเถระมายืนอยู่ที่เกาะนี้ ในปีที่ ๒๓๖ พรรษา นับมาแต่ปีที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบตามสายราชวงศ์ (ของพระราชาในชมพูทวีป) นั่น ดังพรรณนามาฉะนี้.
____________________________
#- สารตฺถทีปนี. ๑/๒๔๐.
๑- พระนามว่า พระเจ้าอโศก ทั้ง ๒ แห่งนี้ ฏีภาสารัตถทีปนี และอรรถโยชนา
๑- แก้ไว้ว่า ได้แก่ พระเจ้ากาฬาโศก หรือกาลาโศกนั่นเอง.
๒- พระราชาผู้เป็นพระเจ้าพี่น้องกัน ๑๐ องค์ นั้นคือ ภัททเสน ๑ โกรัณวรรณะ ๑
๒- มังคุวะ ๑ สัพพัญชนะ ๑ ชาลิกะ ๑ อุภกะ ๑ สญชัย ๑ โกรัพพะ ๑ นันวัฒนะ ๑
๒- และปัญจมกะ ๑.
๓- พระราชา ๙ พระองค์ที่มีสร้อยพระนามว่านันทะ นั่นคือ อุคคเสนนันทะ ๑
๓- ปัณฑุกนันทะ ๑ ปัณฑุคตินันทะ ๑ ภูศปาลนันทะ ๑ โควิสาณกนันทะ ๑
๓- ทสสีฏิฐกนันทะ ๑ เกวัฏฏกนันทะ ๑ และธนนันทะ ๑ นัยสารัตถทิปนี ๑/๒๔๔.
๔- พระนามว่าพระเจ้าอโศกองค์นี้ คือ พระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นพระราช
๔- โอรสของพระเจ้าวินทุสารหรือพินทุสารนั่นเอง. พึงดูบาลีในสมันต์ฯ นี้
๔- หน้า ๔๐ และ ๔๔.

               [พระเจ้าเทวานัมปิยดิสทรงพบพระมหินทเถระ]               
               ก็ในวันนั้น ที่เกาะตัมพปัณณิทวีป มีงานนักษัตรฤกษ์ในเชษฐมาสต้น (คือเดือน ๗) พระราชาทรงรับสั่งให้โฆษณานักษัตรฤกษ์ แล้วทรงบังคับพวกอำมาตย์ว่า พวกท่านจงเล่นมหรสพเถิด ดังนี้ มีราชบุรุษจำนวนถึงสี่หมื่นเป็นบริวาร เสด็จออกไปจากพระนคร มีพระประสงค์จะทรงกีฬาล่าเนื้อ จึงเสด็จไปโดยทางที่มิสสกบรรพตตั้งอยู่.
               เวลานั้นมีเทวดาตนหนึ่งซึ่งสิงอยู่ที่บรรพตนั้น คิดว่า เราจักแสดงพระเถระทั้งหลายแก่พระราชา จึงแปลงเป็นตัวเนื้อละมั่งเที่ยวทำทีกินหญ้าและใบไม้อยู่ในที่ไม่ไกล (แต่พระเถระนั้น). พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นเนื้อละมั่งตัวนั้นแล้ว จึงทรงดำริว่า บัดนี้ยังไม่สมควรจะยิงเนื้อตัวที่ยังเลินเล่ออยู่ จึงทรงดีดสายธนู. เนื้อเริ่มจะหาทางหนีๆ ไปทางที่กำหนดหมายด้วยต้นมะม่วง. พระราชาเสด็จติดตามไปข้างหลังๆ แล้วเสด็จขึ้นสู่ทางที่กำหนดด้วยต้นมะม่วงนั่นเอง.
               ฝ่ายมฤคก็หายตัวไปในที่ไม่ไกลพระเถระทั้งหลาย.
               พระมหินทเถระเห็นพระราชากำลังเสด็จมาในที่ไม่ไกล จึงอธิษฐานใจว่า ขอให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นเฉพาะเราเท่านั้น อย่าทอดพระเนตรเห็นพวกนอกนี้เลย จึงทูลทักว่า ติสสะ ติสสะ ขอจงเสด็จมาทางนี้.
               พระราชาทรงสดับแล้ว เฉลียวพระหฤทัยว่า ขึ้นชื่อว่าชนผู้ที่เกิดในเกาะนี้ซึ่งสามารถจะเรียกเราระบุชื่อว่า ติสสะ ไม่มี ก็สมณะโล้นรูปนี้ทรงแผ่นผ้าขาดที่ตัด (ด้วยศัสตรา) นุ่งห่มผ้ากาสาวะ เรียกเราโดยเจาะชื่อ ผู้นี้คือใครหนอแล จักเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์?
               พระเถระจึงถวายพระพรว่า
                         ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลาย
               ชื่อว่าสมณะ เป็นสาวกของพระธรรมราชามาที่เกาะนี้
               จากชมพูทวีป ก็เพื่ออนุเคราะห์มหาบพิตรเท่านั้น.

               [ไม้ไผ่ ๓ ลำประมาณค่าไม่ได้เกิดแก่พระเจ้าเทวานัมปิยดิส]               
               โดยสมัยนั้น พระเจ้าเทวานัมปิยดิสมหาราชและพระเจ้าอโศกธรรมราชา ทรงเป็นพระอทิฏฐสหายกัน (คือสหายที่ยังไม่เคยพบเห็นกัน). ก็ด้วยพระบุญญานุภาพของพระเจ้าเทวานัมปิยดิสมหาราช มีไม้ไผ่ ๓ ลำมีประมาณเท่าคันธงรถ เกิดขึ้นที่ก่อไม้ไผ่แห่งหนึ่ง ที่เชิงฉาตกบรรพต ลำหนึ่งชื่อลดายัฏฐิ ลำหนึ่งชื่อบุปผยัฏฐิ ลำหนึ่งชื่อสกุณยัฏฐิ.
               บรรดาไม้ไผ่ ๓ นั้น ลำที่ชื่อว่าลดายัฏฐิ (คือลำไม้เถา) มีสีเหมือนเงินแท้ ลดาวัลย์ที่เกิดพันต้นไม้ไผ่นั้นก็ปรากฏมีสีเหมือนทอง. ส่วนในลำที่ชื่อว่า บุปผยัฏฐิ (คือลำดอกไม้) ก็มีดอกซึ่งมีสีเขียว เหลือง แดง ขาวและดำ ปรากฏมีขั้ว ใบ และเกสรที่จำแนกไว้ดี. ส่วนในลำที่ชื่อว่า สกุณยัฏฐิ (คือลำสกุณชาติ) ก็มีหมู่สกุณาหลายหลากมีหงส์ ไก่ และนกโพระดก (นกระดก) เป็นต้น และมีสัตว์ ๔ เท้านานาชนิด ปรากฏเป็นเหมือนมีชีวิตอยู่.
               แม้สมจริงดังที่พระอาจารย์ชาวสิงหลกล่าวไว้ในคัมภีร์ทีปวงศ์ว่า
                                   ไม้ไผ่ ๓ ลำ ได้มีแล้วที่เชิงเขาชื่อ
                         ฉาตกะ ลำที่เป็นเถา มีสีขาวและงามเหมือน
                         สีทอง ปรากฏอยู่ที่ลำต้น#- สีเงิน, ดอกสีเขียว
                         เป็นต้น มีอยู่เช่นใด, ดอกเช่นนั้น ก็ปรากฏ
                         อยู่ในลำดอกไม้, สกุณชาติหลายหลาก ก็
                         จับกันอยู่ที่ลำสกุณชาติ โดยรูปของตน
                         นั่นเอง.
____________________________
#- ราชตยฏฺฐี เป็นปฐมวิภัตติ ลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ.
#-นัยอรรถโยชนา ๑/๘๐.

               [รัตนะคือแก้ววิเศษ ๘ ชนิดเกิดแก่พระเจ้าเทวานัมปิยดิส]               
               รัตนะ (คือแก้ว) มีหลายชนิด มีแก้วมุกดา แก้วมณีและแก้วไพฑูรย์เป็นต้น เกิดขึ้นแม้จากสมุทร แก่พระเจ้าเทวานัมปิยดิสพระองค์นั้น. ส่วนในเกาะตัมพปัณณิทวีป มีแก้วมุกดาเกิดขึ้น ๘ ชนิด คือ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนรูปช้าง ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนรูปรถ ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนผลมะขามป้อม ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนกำไลมือ ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนวงแหวน ๑ แก้วมุกดามีสัณฐานเหมือนผลไม้กุ่ม ๑ แก้วมุกดาปกติ ๑. ท้าวเธอได้ส่งลำไม้ไผ่ แก้วมุกดานั้นๆ กับรัตนะมากมาย อย่างอื่นไปถวายเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าอโศกธรรมราช.

[พระเจ้าอโศกส่งเบญจราชกกุภัณฑ์ไปถวายพระเจ้าเทวานัมปิยดิส]
               พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใส แล้วทรงส่งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่างไปถวายแด่ท้าวเธอ คือ เศวตฉัตร ๑ แส้จามร (วาลวีชนี) ๑ พระขรรค์ ๑ รัตนะประดับพระเมาลี (คือ พระอุณหิส ติดพระมหาพิชัยมงกุฏ) ๑ ฉลองพระบาท ๑ และเครื่องบรรณาการอย่างอื่นหลายชนิด เพื่อประโยชน์แก่การอภิเษก.
               คืออย่างไร.
               คือ สังข์ ๑ คังโคทกวารี (น้ำที่แม่น้ำคงคา หรือน้ำที่เกิดจากสระอโนดาต) ๑ วัฒนมานะ จุณสำหรับสรงสนาน ๑ วฏังสกะ (พระมาลากรองสำหรับประดับพระกรรณ หรือกรรเจียก เครื่องประดับหู) ๑ ภิงคาร พระเต้าทอง ๑ นันทิยาวฏะ ภาชนะทอง (ทำไว้เพื่อการมงคล มีสัณฐานเหมือนรูปกากบาท) ๑ สิวิกะ (วอหรือเสลี่ยง) ๑ กัญญา ขัตติยกุมารี ๑ อโธวิมทุสสยุคะ (คู่พระภูษาที่ไม่ต้องชัก) ๑ หัตถปุญฉนะ ผ้าสำหรับเช็ดพระหัตถ์ ๑ หริจันทนะ แก่นจันทน์แดง ๑ อรุณวัณณมัตติกะ ดินสีอรุณ ๑ อัญชนะ#- ยาหยอดพระเนตร ๑ หรีตกะ พระโอสถสมอ ๑ อามลกะ พระโอสถมะขามป้อม ๑ ฉะนี้แล.
____________________________
#- อัญชนะ แปลว่า แร่หลวง ก็ได้, ดอกอัญชันก็ได้ ดอกอังกาบก็ได้
#- หรือยาหยอดตาก็ได้ ในที่นี้ได้แปลว่า ยาหยอดตา.

               แม้คำนี้ก็สมจริงดังคำที่พระอาจารย์ชาวสิงหลกล่าวไว้ในคัมภีร์ทีปวงศ์ว่า
               พระราชาทรงพระนามว่าอโศก ทรงส่งเครื่องบรรณาการ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะบุญกรรม (ของพระองค์) ไป (ถวายแด่พระเจ้าเทวานัมปิยดิส) คือ พัดวาลวีชนี ๑ พระอุณหิส (พระมหาพิชัยมงกุฏ) ๑ เศวตฉัตร ๑ พระขรรค์ ๑ ฉลองพระบาท ๑ เวฐนะ ผ้าโพกพระเศียร ๑ สารปามังคะ สร้อยสังวาล ๑ ภิงคาร พระเต้าทอง ๑ นันทิวัฏฏกะ ภาชนะทอง ๑ สิวิกะ (วอหรือเสลี่ยง) ๑ สังขะ (สังข์สำหรับรดน้ำในเวลาอภิเษก) ๑ วฏังสกะ (พระมาลากรองสำหรับประดับพระกรรณ หรือกรรเจียกเครื่องประดับหู) ๑ อโธวิมวัตถโกฏิกะ พระภูษาคู่หนึ่งไม่ต้องซักฟอก ๑ โสวัณณปาตีถาดทอง ๑ กฏัจฉุทัพพี ๑ มหัคฆหัตถปุญนะ ผ้าสำหรับเช็ดพระหัตถ์ที่มีค่ามาก ๑ อโนตัตโตทกกาชะ หาบน้ำสระอโนดาต ๑ อุตตหริจันทนะ แก่นจันทน์แดงที่ดีเลิศ ๑ อรุณวัณณมัตติกะ ดินสีอรุณ ๑ อัญชนะยาหยอดพระเนตรที่นาคนำมาถวาย ๑ หรีตกะพระโอสถสมอ ๑ อามลกะ พระโอสถมะขามป้อม ๑ มหัคฆอมโตสถะ พระโอสถแก้โรคที่มีค่ามาก ๑ ข้าวสาลีมีกลิ่นหอม ๖,๐๐๐ เกวียนที่นกแขกเต้านำมาถวาย ๑.
               ก็พระเจ้าอโศกทรงส่งเครื่องบรรณาการที่เป็นอามิสนั้นไปถวายอย่างเดียวหามิได้ ได้ยินว่ายังได้ส่งแม้ธรรมบรรณาการนี้ไปถวายอีก ดังนี้คือ
                                   หม่อมฉันได้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และ
                         พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ได้แสดงตนเป็น
                         อุบาสกในพระศาสนาแห่งศากยบุตร, ข้าแต่พระองค์
                         ผู้สูงสุดกว่านรชน ถึงพระองค์ท่านก็จงยังจิตให้
                         เลื่อมใสในอุดมวัตถุทั้ง ๓ เหล่านี้เถิด ขอให้ทรง
                         เข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ นั้นว่าเป็นสรณะที่พึ่ง ด้วยพระ
                         พระศรัทธาเถิด.
               ในวันนั้น พระราชาพระองค์นั้นทรงรับมุรธาภิเษก ๑ เดือนด้วยเครื่องอุปกรณ์การอภิเษก ที่พระเจ้าอโศกทรงส่งไปถวาย. จริงอยู่ เหล่าเสนามาตย์ได้ทำการอภิเษกถวายแด่ท้าวเธอ ในดิถีวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (คือวันเพ็ญเดือน ๖).
               ท้าวเธอพระองค์นั้น เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงศาสนประวัตินั้นที่พระองค์ได้ทรงสดับมาไม่นาน ครั้นได้ทรงสดับคำนั้นของพระเถระว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลาย ชื่อว่าสมณะเป็นสาวกของพระธรรมราชา ดังนี้เป็นต้นแล้วทรงดำริว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมาแล้วหนอแล จึงทรงทิ้งอาวุธในทันใดนั้นเอง แล้วประทับนั่งสนทนาสัมโมนีกถาอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               เหมือนดังที่พระโบราณาจารย์ กล่าวไว้ว่า
                                   พระราชาทรงทิ้งอาวุธแล้ว เสด็จประทับนั่ง
                         ณ ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นประทับนั่งแล้ว ได้ตรัสพระดำรัส
                         ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นอันมากร่าเริงอยู่.
               ก็เมื่อท้าวเธอพระองค์นั้นทรงสนทนาสัมโมทนียกถาอยู่นั่นแล ข้าราชบริพารจำนวนสี่หมื่นเหล่านั้นก็พากันมาแวดล้อมพระองค์แล้ว.

               [พระเถระแสดงให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นจริงอีก ๖ คน]               
               คราวนั้น พระเถระก็แสดงชน ๖ คนแม้นอกนี้. พระราชาทอดพระเนตรเห็น (ชนทั้ง ๖ นั้น) แล้ว จึงทรงรับสั่ง (ถาม) ว่า คนเหล่านี้มาเมื่อไร?
               พระเถระ. มาพร้อมกับอาตมภาพนั่นแล มหาบพิตร!
               พระราชา. ก็บัดนี้ สมณะแม้เหล่าอื่นผู้เห็นปานนี้ มีอยู่ในชมพูทวีปบ้างหรือ?
               พระเถระ. มีอยู่ มหาบพิตร บัดนี้ ชมพูทวีปรุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ สะบัดอบอวลไปด้วยลมฤษี, ในชมพูทวีปนั้น
                                   มีพระอรหันต์พุทธสาวกเป็นอันมาก
                         ซึ่งเป็นผู้มีวิชชา ๓ และได้บรรลุฤทธิ์
                         เชี่ยวชาญทางเจโตปริยญาณ สิ้นอาสวะแล้ว.
               พระราชา. ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าทั้งหลายพากันมาโดยทางไหน?
               พระเถระ. มหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลายไม่ได้มาทางน้ำและทางบกเลย.
               พระราชาก็ทรงเข้าพระทัยได้ดีว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้มาทางอากาศ.

               [พระเถระถามปัญหาเพื่อหยั่งทราบพระปัญญาของพระราชา]               
               พระเถระ เพื่อจะทดลองดูว่า พระราชาจะทรงมีความเฉียบแหลมด้วยพระปรีชาหรือหนอแล? จึงทูลถามปัญหาปรารภต้นมะม่วงซึ่งอยู่ใกล้ว่า มหาบพิตร ต้นไม้นี้ชื่ออะไร?
               พระราชา. ชื่อต้นมะม่วง ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร ก็นอกจากต้นมะม่วงนี้แล้ว มะม่วงต้นอื่นมีอยู่หรือไม่?
               พระราชา. มีอยู่ ท่านผู้เจริญ ต้นมะม่วงแม้เหล่าอื่นมีอยู่มากหลาย.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร ยกเว้นมะม่วงต้นนี้ และมะม่วงเหล่าอื่นเสียแล้ว ต้นไม้ชนิดอื่นมีอยู่หรือหนอแล?
               พระราชา. มีอยู่ ท่านผู้เจริญ แต่ต้นไม้เหล่านั้น มิใช่ต้นมะม่วง.
               พระเถระ. ยกเว้นต้นมะม่วง และมิใช่ต้นมะม่วงเหล่าอื่นเสีย ก็ต้นไม้ชนิดอื่น มีอยู่หรือ?
               พระราชา. มี คือ มะม่วงต้นนี้แหละ ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระ. ดีละ มหาบพิตร พระองค์ทรงเป็นบัณฑิต, ก็พระประยูรญาติของพระองค์ มีอยู่หรือ? มหาบพิตร!
               พระราชา. ชนผู้เป็นญาติของข้าพเจ้า มีอยู่มากหลาย ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระ. ยกเว้นชนผู้เป็นพระประยูรญาติ ของพระองค์เหล่านี้เสียแล้ว ชนบางพวกเหล่าอื่น แม้ผู้ที่มิใช่พระประยูรญาติมีอยู่หรือ? มหาบพิตร!
               พระราชา. ชนผู้ที่มิใช่ญาติ มีมากกว่าผู้ที่เป็นญาติ ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระ. ยกเว้นผู้ที่เป็นพระประยูรญาติของพระองค์ และผู้ที่มิใช่พระประยูรญาติเสียแล้ว ใครๆ คนอื่น มีอยู่หรือ? ขอถวายพระพร ;
               พระราชา. มี คือ ข้าพเจ้าเอง ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระ. ดีละ มหาบพิตร ขึ้นชื่อว่าตน ไม่จัดว่าเป็นญาติของตน ทั้งจะไม่ใช่ญาติ (ของตน) ก็หามิได้.

               [พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์]               
               ลำดับนั้น พระเถระคิดว่า พระราชาเป็นบัณฑิตจักทรงสามารถรู้ธรรมได้ ดังนี้แล้วจึงแสดงจูฬหัตถิปโทปมสูตร.๑- ในเวลาจบกถา พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารประมาณสี่หมื่น ดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์แล้ว.
               ก็ในขณะนั้นนั่นเอง พนักงานห้องเครื่องก็นำพระกระยาหารมาทูลถวายแด่พระราชา. ส่วนพระราชากำลังทรงสดับพระสูตรอยู่ ได้ทรงเข้าพระหฤทัยดีแล้วอย่างนี้ว่า สมณศากยบุตรเหล่านี้ไม่ควรจะฉันในเวลานี้. แต่ท้าวเธอทรงดำริว่า ก็การที่เราไม่ถามแล้วบริโภคไม่ควร ดังนี้แล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ พวกท่านจักฉันหรือ?
               พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร พวกอาตมภาพไม่ควรฉันในเวลานี้.
               พระราชา. ควรฉันในเวลาไหนเล่า? ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระ. ควรฉันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นไป จนถึงเวลาเที่ยงวัน ขอถวายพระพร!
               พระราชา. พวกเราไปสู่พระนครกันเถิด ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระ. อย่าเลย มหาบพิตร พวกอาตมภาพจักพักอยู่ในที่นี้แหละ.
               พระราชา. ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าพวกพระคุณเจ้าจะพักอยู่ (ในที่นี้) ไซร้, ขอเด็กคนนี้จงมาไปกับข้าพเจ้า.
               พระเถระ. ขอถวายพระพร มหาบพิตร เด็กคนนี้บรรลุผลแล้ว รู้แจ้งพระศาสนาแล้ว เป็นปัพพัชชาเปกขะ (คือผู้มุ่งจะบรรพชา) จักบรรพชาในบัดนี้.
               พระราชาทรงรับสั่งว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจักส่งรถมา (รับพวกพระคุณเจ้า), ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงขึ้นรถนั้นมาเถิด ดังนี้ ถวายบังคมแล้ว ก็เสด็จหลีกไป.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๙

               [สุมนสามเณรประกาศโฆษณาเวลาฟังธรรมทั่วเกาะลังกา]               
               พระเถระ เมื่อพระราชาเสด็จหลีกไปไม่นานนัก จึงเรียกสุมนสามเณรมาสั่งว่า สุมนะ เธอจงไปโฆษณาเวลาฟังธรรมเถิด.
               สุมนสามเณรเรียนถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมจะโฆษณาให้ได้ยินตลอดที่มีประมาณเท่าไร?
               พระเถระสั่งว่า จงโฆษณาให้ได้ยินทั่วเกาะตัมพปัณณิทวีปเถิด.
               สามเณรรับเถรบัญชาว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดีละ แล้วก็เข้าจตุตถฌานมีอภิญญาเป็นบาท ออก (จากฌาน) แล้วอธิษฐานมีจิตตั้งมั่น โฆษณาเวลาฟังธรรมให้ได้ยินทั่วเกาะตัมพปัณณิทวีปตลอด ๓ ครั้งแล้ว.
               พระราชาทรงสดับเสียงนั้นแล้ว จึงทรงส่งข่าวไปยังสำนักของพระเถระทั้งหลายว่า มีอุปัทวะอะไรๆ หรือ? ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระทูลว่า อาตมภาพทั้งหลายไม่มีอุปัทวะอะไร อาตมภาพทั้งหลายได้ให้สามเณรโฆษณาเวลาฟังธรรม, อาตมภาพทั้งหลายมีความประสงค์จะแสดงพระพุทธพจน์ (เท่านั้น).
               ก็แล เหล่าภุมมเทวดาได้ฟังเสียงของสามเณรนั้นแล้ว ก็ได้ประกาศเสียงให้บันลือลั่นแล้ว เสียงได้กระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลกด้วยอุบายนั่น เพราะเสียงนั้นได้มีเทวดามาสันนิบาตกันอย่างมากมาย.
               พระเถระเห็นเทวดามาสันนิบาตกันอย่างมากมาย จึงแสดงสมจิตตสูตร.
               ในเวลาจบกถา เหล่าเทวดาประมาณอสงไขยหนึ่ง ได้บรรลุธรรมแล้ว. นาคและสุบรรณมากหลายก็ได้ตั้งอยู่ในสรณคมน์แล้ว. ก็เมื่อพระสารีบุตรเถระแสดงพระสูตรนี้อยู่ การสันนิบาตของเหล่าทวยเทพได้มีแล้วเช่นใด, เทวดาสันนิบาตเช่นนั้นก็ได้เกิดแล้วแม้เมื่อพระมหินทเถระ (แสดงพระสูตรนี้).

               [พระปฐมเจดีย์เมืองอนุราธบุรี]               
               ครั้งนั้นโดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น พระราชาก็ทรงส่งรถไปเพื่อ (รับ) พระเถระทั้งหลาย. นายสารภีพักรถไว้ ณ ที่ข้างหนึ่งแล้วเรียนบอกแก่พระเถระทั้งหลายว่า รถมาแล้ว ขอรับ โปรดขึ้นรถเถิด, พวกเราจะไปกัน.
               พระเถระทั้งหลายพูดว่า พวกเราจะไม่ขึ้นรถ, ท่านจงไปเถิด พวกเราจักไปภายหลัง ดังนี้แล้วได้เหาะขึ้นสู่เวหาส แล้วไปลง ณ ปฐมเจดีย์สถาน ในด้านทิศบูรพาแห่งเมืองอนุราธบุรี.
               จริงอยู่ พระเจดีย์นั้น ชาวโลกเรียกว่าพระปฐมเจดีย์ เพราะเป็นเจดีย์ที่ประชาชนสร้างไว้ ในสถานที่พระเถระทั้งหลายลงครั้งแรกนั่นแล.

               [พระราชาทรงรับสั่งให้เตรียมการต้อนรับพระเถระ]               
               ฝ่ายพระราชา ครั้นส่งนายสารถีไปแล้ว จึงทรงบังคับพวกอำมาตย์ว่า ขอให้พากันตกแต่งมณฑปภายในพระราชนิเวศน์เถิด. ในทันใดนั้นเอง อำมาตย์ทั้งปวงก็ยินดีร่าเริง ตกแต่งมณฑปเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก. พระราชาทรงดำริอีกว่า วันวานนี้ พระเถระเมื่อแสดงหมวดศีลอยู่ ก็กล่าวว่า ที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ ย่อมไม่ควร (แก่พวกภิกษุ) ดังนี้, พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักนั่งบนอาสนะทั้งหลาย หรือจักไม่นั่งหนอ เมื่อท้าวเธอทรงดำริอยู่อย่างนั้นนั่นแล นายสารถีนั้นก็มาถึงประตูพระนคร (พอดี). เวลานั้นนายสารถีได้เห็นพระเถระทั้งหลาย มารัดประคดเอว ห่มจีวรอยู่ก่อนแล้ว. ครั้นเธอเห็นแล้ว ก็เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสยิ่งนัก แล้วกลับมาทูลแด่พระราชาว่า ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระเถระทั้งหลายมาถึงแล้ว.
               พระราชาตรัสถามว่า พระเถระทั้งหลายขึ้นรถมาหรือ?
               #- นายสารถีกราบทูลว่า ไม่ขึ้น พระเจ้าข้า อีกอย่างหนึ่ง พระเถระทั้งหลายออกทีหลังข้าพระพุทธเจ้า มาถึงก่อนได้ยืนอยู่ที่ประตูด้านทิศปราจีน. พระราชาทรงสดับว่า พระเถระทั้งหลายไม่ขึ้นแม้ซึ่งรถ จึงทรงพระดำริว่า บัดนี้ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักไม่ยินดีอาสนะสูง แล้วตรัสสั่งว่า แน่ะพนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงปูอาสนะโดยอาการเพียงลาดพื้น เพื่อพระเถระทั้งหลาย ดังนี้แล้ว ได้เสด็จสวนทางไป. พวกอำมาตย์ปูเสื่ออ่อนบนพื้นแล้วปูเครื่องลาดอันวิจิตมีผ้าโกเชาว์เป็นต้น (พรม) ข้างบน. พวกโหรผู้ทำนายนิมิตเห็น (เหตุการณ์นั้น) แล้ว พากันพยากรณ์ว่า แผ่นดินนี้ถูกพระเถระเหล่านี้ยึดแล้วในบัดนี้, ท่านเหล่านี้จักเป็นเจ้าของแห่งเกาะตัมพปัณณิทวีป.
               ฝ่ายพระราชาได้เสด็จมาถวายบังคมพระเถระทั้งหลายแล้ว ทรงรับเอาบาตรจากหัตถ์ของพระมหินทเถระ แล้วนิมนต์เหล่าพระเถระให้เข้าไปในเมือง ด้วยการบูชาและสักการะใหญ่ ให้เข้าไปสู่ภายในพระราชนิเวศน์. พระเถระเห็นการให้ปูอาสนะแล้ว นั่งพลางคิดไปว่า ศาสนาของเราจักแผ่ไปทั่วลังกาทวีป และตั้งมั่นไม่หวั่นไหวดุจแผ่นดิน.
               พระราชาทรงเลี้ยงดูพระเถระทั้งหลายให้อิ่มหนำด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้รับสั่งให้เรียกสตรี ๕๐๐ คน มีพระนางอนุฬาเทวีเป็นประมุขมาด้วยพระดำรัสว่า พวกแม่จงกระทำการอภิวาทและบูชาสักการะพระเถระทั้งหลายเถิด ดังนี้ แล้วได้เสด็จประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
____________________________
#- พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโร ป. ธ. ๙) วัดสัมพันธวงศ์ แปล.

               [พระเถระแสดงธรรมโปรดพระราชาและชาวเกาะ]               
               ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระเถระ เมื่อจะให้ฝนรัตนะคือพระธรรมตกแก่พระราชาพร้อมทั้งชนบริวาร จึงได้แสดงเปตวัตถุ วิมานวัตถุและสัจจสังยุต.
               สตรีทั้ง ๕๐๐ เหล่านั้นฟังธรรมเทศนานั้นของพระเถระ ได้กระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล. แม้เหล่ามนุษย์ที่ได้พบเห็นพระเถระบนเขามิสสกบรรพตในวันก่อน ก็พากันกล่าวสรรเสริญคุณของพระเถระในที่นั้นๆ. พวกมหาชนฟัง (จากสำนัก) ของชนเหล่านั้น ได้ประชุมกันส่งเสียงเอ็ดอึงที่พระลานหลวง.
               พระราชาตรัสถามว่า นั่นเสียงอะไรกัน.
               ทวยนครกราบทูลว่า พวกมหาชนร้องว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เห็นพระเถระ.
               พระราชาทรงพระดำริว่า ถ้าพวกมหาชนจักเข้ามาในที่นี้ไซร้ โอกาสจักไม่มี จึงตรัสว่า แน่ะพนาย พวกเธอจงไปชำระโรงช้าง เกลี่ยทราย โปรยดอกไม้ ๕ สี ผูกเพดานผ้าแล้วปูลาดอาสนะ เพื่อพระเถระทั้งหลายบนที่ของช้างมงคล.
               พวกราชอำมาตย์ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว.
               พระเถระได้ไปนั่งแสดงเทวทูตสูตรในที่นั้น. ในเวลาจบกถา คนประมาณหนึ่งพันได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล. ในเวลานั้น ชนทั้งหลายคิดว่า โรงช้างแคบเกินไปเสียแล้ว จึงตกแต่งอาสนะที่อุทยานนันทวันใกล้ประตูด้านทิศทักษิณ. พระเถระ (ไป) นั่งแสดงอาสิวิโสปมสูตร ในอุทยานนันทวันนั้น. เพราะฟังอาสิวิโสปมสูตรแม้นั้น คนประมาณพันหนึ่งได้โสดาปัตติผล. ในวันที่สองแต่วันที่พระเถระมาแล้ว ธรรมาภิสมัย (การตรัสรู้ธรรม การบรรลุธรรม) ได้มีแก่คนประมาณ ๒,๕๐๐ คน.

               [พระราชาถวายอุทยานสร้างวัด]               
               เมื่อพระเถระสัมโมทนาอยู่กับพวกกุลสตรี กุลสุณหา กุลกุมารี ผู้มาแล้วและมาแล้ว ในอุทยานนันทวันนั่นแล เวลาก็ตกเย็น. พระเถระสังเกตเวลาแล้วลุกขึ้นพลางพูดว่า ได้เวลา พวกเราจะไปยังเขามิสสกบรรพต. พวกอำมาตย์เรียนถามว่า พวกท่านจะไปไหนกันขอรับ? พระเถระกล่าวว่า จะไปยังที่พักของพวกเรา. อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลให้พระราชาทรงทราบแล้วกราบเรียนตามพระบรมราชานุมัติว่า ท่านผู้เจริญ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะไปในที่นั้น อุทยานนันทวันนี้แหละจงเป็นที่พักของพระผู้เป็นเจ้า.
               พระเถระกล่าวว่า อย่าเลย พวกอาตมาจะไป.
               พวกอำมาตย์กราบเรียนตามพระราชดำรัสอีกว่า ท่านขอรับ พระราชาตรัสว่า อุทยานชื่อเมฆวันนี้ เป็นของพระชนกเรา อยู่ไม่ไกลไม่ใกล้นัก จากพระนครสมบูรณ์ด้วยทางไปมา ขอพระเถรเจ้าทั้งหลายโปรดสำเร็จการอยู่ในอุทยานเมฆวันนี้.
               พระเถระทั้งหลายจึงพักอยู่ที่อุทยานเมฆวัน.
               ฝ่ายพระราชาแล ได้เสด็จไปยังสำนักของพระเถระ ต่อเมื่อราตรีนั้นล่วงไป ได้ตรัสถามถึงการจำวัดสบายแล้ว ตรัสถามต่อไปว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อารามนี้สมควรแก่พระภิกษุสงฆ์หรือ? พระเถระถวายพระพรว่า สมควร มหาบพิตร แล้วจึงนำพระสูตรนี้มาว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามํ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม ดังนี้เป็นต้น. พระราชาทรงพอพระทัยทรงจับพระสุวรรณภิงคาร (พระเต้าทอง) ให้น้ำตกไปที่มือของพระเถระ ได้ถวายอุทยานมหาเมฆวัน พร้อมกับน้ำตก แผ่นดินก็หวั่นไหว.
               นี่เป็นการไหวแห่งแผ่นดินคราวแรกในมหาวิหาร.
               พระราชาทรงตกพระทัยกลัว จึงตรัสถามพระเถระว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เพราะเหตุไร แผ่นดินจึงไหว.
               พระเถระทูลถวายพระพรว่า มหาบพิตร อย่าตกพระทัยเลย ศาสนาของพระทศพลจักตั้งมั่นในเกาะนี้ และที่นี้จักเป็นที่ตั้งมหาวิหารแห่งแรก แผ่นดินไหวนั่นเป็นบุรพนิมิตแห่งการประดิษฐานพระศาสนา และที่จะสร้างวิหารนั้น.
               พระราชาทรงเลื่อมใสเหลือประมาณยิ่ง.

               [พระเถระแสดงธรรมโปรดชาวเกาะติดต่อกันไป]               
               แม้ในวันรุ่งขึ้น พระเถระฉันที่พระราชมณเฑียรตามเคยแล้วแสดงอนมตัคคิยสูตร ในอุทยานนันทวัน. วันรุ่งขึ้นแสดงอัคคิขันโธปมสูตร ท่านแสดงโดยอุบายนี้นั่นแลตลอด ๗ วัน. ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ประมาณ ๘,๕๐๐.
               ตั้งแต่นั้นมา อุทยานนันทวันก็ได้ชื่อว่า โชติวัน เพราะอธิบายว่า เป็นสถานที่พระศาสนาปรากฏความรุ่งเรืองขึ้น. ส่วนในวันที่ ๗ พระเถระแสดงอัปปมาทสูตร โปรดพระราชาในภายในพระราชวังแล้ว ก็เลยไปยังเจติยคิรีบรรพตทีเดียว.
               ครั้งนั้นแล พระราชาตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า พระเถระสั่งสอนพวกเรา ด้วยโอวาทหนักแล้ว พึงไปเสียหรือหนอ?
               พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระเถระพระองค์มิได้นิมนต์มา มาเองแท้ๆ เพราะฉะนั้น แม้การไม่ทูลลาพระองค์เลยไปเสีย ก็พึงเป็นได้.

               [พระราชาทรงรถติดตามพระเถระไป]               
               ลำดับนั้น พระราชาเสด็จขึ้นทรงรถและทรงประคองพระเทวีทั้งสองให้ขึ้นแล้วได้เสด็จไปยังเจติยคิรีบรรพต ด้วยราชานุภาพใหญ่. ท้าวเธอครั้นเสด็จไปแล้ว ให้พระเทวีทั้งสองพักอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระองค์เองเสด็จเข้าไปยังสำนักของพระเถระทั้งหลาย มีพระวรกายบอบช้ำเหลือเกินเสด็จเข้าไป. ในเวลานั้นพระเถระทูลท้าวเธอว่า มหาบพิตร เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงลำบากพระวรกายเสด็จมาอย่างนี้.
               พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาเพื่อทราบว่า พวกท่านให้โอวาทอย่างหนักแก่ข้าพเจ้าแล้ว ประสงค์จะไปในบัดนี้หรือหนอ?
               พระเถระทูลว่า มหาบพิตร พวกอาตมภาพมิใช่ต้องการจะไปแต่เวลานี้ ชื่อว่าวัสสูปนายิกกาล (กาลเข้าจำพรรษา) มหาบพิตร ในวัสสูปนายิกกาลนั้น สมณะได้ที่จำพรรษาจึงจะสมควร.

               [อริฏฐอำมาตย์ขอพระบรมราชานุญาตบวช]               
               ในวันนั้นนั่นเอง อำมาตย์ชื่ออริฏฐะกับพี่ชายและน้องชายรวม ๕๕ คนยืนอยู่ในที่ใกล้พระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าอยากบวชในสำนักของพระเถระ. พระราชาตรัสว่า ดีละ พนาย จงบวชเถิด. พระราชาครั้นทรงอนุญาตแล้ว ได้มอบถวายให้พระเถระ. พระเถระก็ให้เขาบวชในวันนั้นนั่นเอง.
               ทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัต ในเวลาปลงผมเสร็จเหมือนกัน.
               ฝ่ายพระราชาแล ทรงเอาหนามสะล้อมลานพระเจดีย์ ในขณะนั้นนั่นเอง แล้วทรงเริ่มตั้งการงานไว้ที่ถ้ำ ๖๘ ถ้ำ ได้เสด็จกลับสู่พระนครตามเดิม. พระเถระแม้เหล่านั้นยังราชตระกูลประกอบด้วยเจ้าพี่และเจ้าน้อง ๑๐ องค์ ให้เลื่อมใสแล้ว อยู่จำพรรษาที่เจติยคิรีบรรพตสั่งสอนมหาชน แม้ในเวลานั้นได้มีพระอรหันต์ ๖๒ รูป เข้าจำพรรษาแรกในเจติยคิรีบรรพต.

               [พระเถระแนะให้หาสิ่งที่ควรกราบไหว้บูชา]               
               ครั้นนั้น ท่านพระมหาหินท์อยู่จำพรรษาปวารณาแล้ว ได้ทูลคำนี้กับพระราชา ในวันอุโบสถ เดือนกัตติกาเพ็ญว่า มหาบพิตร พวกอาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานานแล้ว อยู่อย่างไม่มีที่พึ่ง อยากจะไปยังชมพูทวีป. พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าบำรุงพวกท่านด้วยปัจจัย ๔ และมหาชนนี้ อาศัยพระคุณท่าน ตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลาย เพราะเหตุไร พวกท่านจึงเบื่อหน่าย.
               พระเถระทูลว่า มหาบพิตร พวกอาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นเวลานานแล้ว สถานที่ควรทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรมและสามีจิกรรม ไม่มี เพราะเหตุนั้น พวกอาตมภาพจึงเบื่อหน่าย.
               พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าได้พูดแล้วมิใช่หรือว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว. พระเถระทูลว่า มหาบพิตร ปรินิพพานแล้ว แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระสรีรธาตุของพระองค์ยังอยู่.
               พระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้ารู้ ท่านผู้เจริญ พระคุณท่านจำนงหวังการสร้างพระสถูป แล้วตรัสต่อไปว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะสร้างพระสถูป นิมนต์พระคุณท่านเลือกพื้นที่ ในบัดนี้เถิด อนึ่ง ข้าพเจ้าจักได้พระธาตุแต่ที่ไหน ท่านผู้เจริญ!
               พระเถระทูลว่า มหาบพิตร ทรงปรึกษากับสุมนสามเณรดูเถิด.

               [สุมนสามเณรรับจัดหาพระธาตุ]               
               พระราชาทรงรับว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ แล้วเข้าไปหาสุมนสามเณร ตรัสถามว่า ท่านขอรับ เดี๋ยวนี้ พวกเราจักได้พระธาตุจากไหน?
               สุมนสามเณรทูลว่า ทรงขวนขวายน้อยเถิด มหาบพิตร ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระถนนหนทาง ให้ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับมีธงชัย ธงประดากและหม้อน้ำเต็มเป็นต้น แล้วพร้อมด้วยชนบริวารสมาทานองค์อุโบสถ ให้พวกพนักงานตาลาวจรดนตรี#- ทั้งปวงประชุมกัน รับสั่งให้ตกแต่งช้างมงคลประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง และให้ยกเศวตฉัตรขึ้นเบื้องบนช้างมงคลนั้นเสร็จแล้ว เวลาเย็น ขอให้ทรงพระกรุณาเสด็จบ่ายพระพักตร์มุ่งตรงไปยังอุทยานมหานาควัน พระองค์จักทรงได้พระธาตุในที่นั้นแน่นอน.
               พระราชาทรงรับว่า สาธุ.
               พระเถระทั้งหลายก็ได้ไปยังเจติยคิรีบรรพตนั่นแล.
____________________________
#- พนักงานประโคมดนตรี หรือละครรำเท้า.

               [พระเถระสั่งการให้สุมนสามเณรไปเชิญพระธาตุ]               
               ณ เจติยคิรีบรรพตนั้น ท่านพระมหินทเถระกล่าวกะสุมนสามเณรว่า ไปเถิด สามเณร เธอจงเข้าเฝ้าพระเจ้าอโศกธรรมราชผู้เป็นพระเจ้าตาของเธอ ในชมพูทวีป ทูลตามคำของเราอย่างนี้ว่า
               มหาบพิตร พระเจ้าเทวานัมปิยดิส พระสหายของพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระศาสนาปรารถนาจะให้สร้างพระสถูป ได้ยินว่า พระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ (ในครอบครอง) ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระธาตุนั้นแก่อาตมภาพเถิด ดังนี้แล้ว รับเอาพระธาตุนั้น
               จงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราชทูลอย่างนี้ว่า
               ข้าแต่มหาราช ได้ยินว่า พระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ (ในครอบครอง) ๒ องค์ คือ พระทันตธาตุเบื้องขวา ๑ พระธาตุรากขวัญเบื้องขวา ๑ เพราะฉะนั้น ขอพระองค์โปรดบูชาพระทันตธาตุเบื้องขวา แต่พระราชทานพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาแก่อาตมภาพ และจงทูลท้าวสักกะนั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุไร พระองค์ทรงส่งพวกอาตมภาพไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้ว ทรงปล่อยปละละเลยเสีย ดังนี้.

               [สุมนสามเณรไปเชิญพระธาตุมาเกาะลังกาตามเถระบัญชา]               
               สุมนสามเณรรับคำของพระเถระว่า ดีละ ขอรับ ดังนี้แล้ว ถือเอาบาตรและจีวรเหาะขึ้นสู่เวหาส ในขณะนั้นนั่นเอง ลงที่ประตูนครปาตลีบุตร ไปสู่ราชสำนักทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ. พระมหาราชาทรงยินดีรับบาตรจากมือสามเณร อบด้วยของหอมแล้วได้บรรจุพระธาตุเช่นกับแก้วมุกดาอันประเสริฐถวาย. สามเณรนั้นรับเอาพระธาตุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช. ท้าวสักกเทวราชเห็นสามเณรแล้วตรัสว่า พ่อสุมนะผู้เจริญ เธอเที่ยวมา เพราะเหตุไร?
               สามเณร. ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงส่งพวกอาตมภาพไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้ว ทรงปล่อยปละละเลยเสีย เพราะเหตุไร.
               ท้าวสักกะ. ไม่ได้ละเลย ท่านผู้เจริญ พูดไปเถิด จะให้ข้าพเจ้าทำอะไร?
               สามเณร. ได้ยินว่า พระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ ๒ องค์ คือพระทันตธาตุเบื้องขวา ๑ พระธาตุรากขวัญเบื้องขวา ๑ ฉะนั้นขอให้มหาบพิตรทรงบูชาพระทันตธาตุเบื้องขวา แต่ทรงพระราชทานพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาแก่อาตมภาพ.
               ท้าวสักกะจอมเหล่าเทพตรัสว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ แล้วทรงเปิดพระสถูปแก้วมณีประมาณ ๑ โยชน์ ได้นำพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาออกมาแล้ว ถวายแก่สุมนสามเณร.
               สุมนสามเณรนั้นรับเอาพระธาตุนั้นแล้วประดิษฐานไว้ ในเจติยบรรพตนั่นแล.

               [พระเถระและพระราชาตลอดถึงชาวเกาะต้อนรับพระธาตุ]               
               ครั้งนั้นแล พระมหานาคเหล่านั้นทั้งหมดมีพระมหินท์เป็นประมุข ประดิษฐานพระธาตุที่พระเจ้าอโศกธรรมราชทรงพระราชทานมาไว้ที่เจติยบรรพตนั่นแล แล้วเชิญพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาไปยังมหานาควันอุทยานในเวลาบ่าย.
               ฝ่ายพระราชาแล ทรงทำการบูชาสักการะมีประการดังที่สุมนสามเณรกล่าวแล้ว ประทับบนคอช้างตัวประเสริฐ ทรงกั้นเศวตฉัตรด้วยพระองค์เองบนเศียรของช้างมงคล เสด็จไปถึงมหานาควันอุทยานพอดี.
               ครั้งนั้น ท้าวเธอได้ทรงมีพระรำพึงดังนี้ว่า ถ้าว่า นี้เป็นพระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไซร้ เศวตฉัตรจงเบนออกไป ช้างมงคลจงคุกเข่าลงบนพื้น ขอให้ผอบบรรจุพระธาตุจงมาประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของเรา.
               พร้อมด้วยจิตตุปบาทของพระราชา ฉัตรได้เบนออกไป ช้างคุกเข่าลงบนพื้น ผอบบรรจุพระธาตุได้มาประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของพระราชา.
               พระราชาทรงประกอบด้วยพระปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง ดุจมีพระองค์อันน้ำอมฤตนั่นแลโสรจสรงแล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะปฏิบัติพระธาตุอย่างไร.
               พระเถระทูลว่า ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาวางไว้บนกระพองช้างนั่นแหละก่อน มหาบพิตร พระราชาได้ทรงยกผอบบรรจุพระธาตุลงวางไว้บนกระพองช้าง. ช้างมีความดีใจ ได้บันลือเสียงดุจเสียงนกกระเรียน. มหาเมฆตั้งเค้าขึ้นแล้ว ได้ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมา. ได้มีแผ่นดินใหญ่ไหวจนถึงที่สุดน้ำ มีอันให้รู้ว่า พระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักประดิษฐานอยู่ ชื่อแม้ในปัจจันตชนบท ดังนี้เป็นเหตุพวกเทวดาและมนุษย์ได้ร่าเริงบันเทิงใจทั่วกัน.
                                   พระมหาวีระ (ผู้มีความเพียรใหญ่)
                         เสด็จมาในเกาะลังกานี้ จากเทวโลก ได้
                         ประดิษฐานอยู่บนกระพองช้าง ในดิถีเพ็ญ
                         เป็นที่เต็มครบ ๔ เดือน (กลางเดือน ๑๒)
               ก่อให้เกิดปีติแก่ทวยเทพและหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ด้วยสิริคืออานุภาพแห่งฤทธิ์.

               [ช้างนำพระธาตุไปยังที่จะสร้างพระเจดีย์]               
               ครั้งนั้น พญาช้างนั้นอันพวกตาลาวจรดนตรีมิใช่น้อยแวดล้อมแล้ว มีทวยนครสักการะอยู่ ด้วยการบูชาสักการะอย่างโอฬารยิ่ง เดินมุ่งหน้าไปทางทิศปัจฉิม ไม่ถอยหลังจนกระทั่งถึงประตูนครด้านทิศบูรพาแล้วเข้าสู่นครทางประตูด้านทิศบูรพา มีทวยนครทั่วทั้งเมืองทำการบูชาอย่างโอฬาร ออก (จากเมือง) ทางประตูด้านทิศทักษิณ เดินไปที่เทวาลัย (เทวสถาน) ของมเหชยักษ์ นัยว่ามีอยู่ในด้านทิศปัจฉิมแห่งถูปาราม แล้วย้อนกลับมุ่งหน้าตรงไปยังถูปารามนั่นแลอีก. ก็สมัยนั้น ถูปารามเป็นที่ตั้งบริโภคเจดีย์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ พระองค์.

               [ประวัติเกาะลังกาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า]               
               ดังได้สดับมา ในอดีตกาล ทวีปนี้ (เกาะลังกา) ได้มีชื่อว่าโอชทวีป. พระราชามีพระนามว่าอภัย. เมืองหลวงชื่อว่า อภัยปุระ. เจติยบรรพตมีชื่อว่า เทวกูฏบรรพต. ถูปารามมีนามว่า ปฏิยาราม.
               ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กกุสันธะ ทรงอุบัติแล้วในโลก. สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ชื่อว่ามหาเทวะ ได้ยืนอยู่บนเทวกูฏบรรพตกับภิกษุพันรูป เหมือนพระมหินทเถระยืนอยู่บนเจติยบรรพตฉะนั้น.
               สมัยนั้น พวกสัตว์บนเกาะโอชทวีปถึงความวิบัติฉิบหายเพราะโรคชื่อปัชชรก (โรคไข้เซื่องซึม) พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้วแล ซึ่งสัตว์เหล่านั้นผู้ถึงความวิบัติฉิบหาย ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว มีภิกษุ ๔ หมื่นแวดล้อมได้เสด็จไป (ที่เกาะนั้น). ด้วยอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น โรคปัชชรกได้สงบลงในขณะนั้นนั่นแล.
               เมื่อโรคสงบลงแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด. ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานธมกรกไว้แล้วเสด็จหลีกไป. ชาวเมืองสร้างพระเจดีย์ที่ปฏิยาราม บรรจุธมกรกนั้นไว้ข้างใน. พระมหาเทวะได้อยู่สั่งสอนชาวเกาะ.
               ส่วนในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า โกนาคมน์ ทวีปนี้มีชื่อว่า วรทวีป. พระราชามีพระนามว่า สมิทธิ. เมืองหลวงชื่อว่า วัฑฒมาน. บรรพตชื่อว่า สุวรรณกูฏ. ก็แลสมัยนั้น เกิดมีฝนแล้ง ภิกษาหายาก ข้าวกล้าเสียหายในวรทวีป. พวกสัตว์ถึงความวิบัติฉิบหาย ด้วยโรคคือความอดอยาก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโกนาคมน์ ทรงทอดพระเนตรดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์เหล่านั้นผู้ถึงความวิบัติฉิบหาย ครั้นทรงทอดพระเนตรเห็นแล้ว มีภิกษุสามหมื่นรูปแวดล้อมได้เสด็จไป (ยังเกาะนั้น). ด้วยพุทธานุภาพฝนได้ตกถูกต้องตามฤดูกาล. ภิกษาหาได้ง่าย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด (ชาวทวีปนั้น). ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐. พระผู้มีพระภาคเจ้าพักพระเถระนามว่า มหาสุมน ซึ่งมีภิกษุพันรูปเป็นบริวารไว้ที่เกาะ ได้ประทานประคดเอวนั้นไว้แล้วเสด็จหลีกไป.
               ชนทั้งหลายได้สร้างพระเจดีย์บรรจุประคดเอวนั้นไว้ภายใน.
               อนึ่ง ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป เกาะนี้มีชื่อว่า มัณฑทวีป. มีพระราชาทรงพระนามว่า ชยันต์. เมืองหลวงนามว่า ไพศาล. บรรพตมีชื่อว่า สุภกูฏ. ก็สมัยนั้นแล ได้มีการทะเลาะวิวาทใหญ่ในมัณฑทวีป. สัตว์เป็นอันมากเกิดทะเลาะวิวาทแก่งแย่งกัน ย่อมถึงความวิบัติฉิบหาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทอดพระเนตรเห็นสัตว์เหล่านั้นผู้ถึงความวิบัติฉิบหาย.
               ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว มีภิกษุสองหมื่นรูปแวดล้อมเสด็จมาระงับการวิวาท แล้วแสดงธรรมโปรด. ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐. พระผู้มีพระภาคเจ้าให้พระเถระนามว่า สัพพนันที ซึ่งมีภิกษุพันรูปเป็นบริวารพักอยู่ที่เกาะ ได้ประทานอุทกสาฏิก (ผ้าสรงน้ำ) ไว้แล้ว เสด็จหลีกไป.
               ชาวเกาะได้สร้างพระเจดีย์บรรจุอุทกสาฏิกนั้นไว้ภายใน. บริโภคเจดีย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ พระองค์ได้ประดิษฐานอยู่แล้วในถูปาราม ด้วยประการอย่างนี้.
               เจดีย์เหล่านั้นย่อมสาบสูญไป เพราะความอันตรธานไปแห่งพระศาสนา เหลืออยู่แต่เพียงฐานเท่านั้น
               เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวคำนี้ว่า ก็สมัยนั้นถูปารามเป็นที่ตั้งแห่งบริโภคเจดีย์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ พระองค์.
               ที่นี่นั้น เมื่อพระเจดีย์สาบสูญไปแล้ว ถูกห้อมล้อมอยู่ด้วยพุ่มไม้ต่างๆ ที่มีเรียวกิ่งสะพรั่งไปด้วยหนาม ด้วยอานุภาพของเทวดา โดยตั้งใจว่า ใครๆ อย่าได้ประทุษร้ายที่นั้น ด้วยของเป็นเดนของไม่สะอาด มลทินและหยากเยื่อ.

               [ช้างไม่ยอมให้ยกพระธาตุลงจากกระพอง]               
               ครั้งนั้น พวกราชบุรุษล่วงหน้าไปก่อนช้างนั้น ถางพุ่มไม้ทั้งหมด ปราบพื้นที่ทำที่นั้นให้ราบเหมือนฝ่ามือ. พญาช้างเดินบ่ายหน้าไปยังที่นั้น ได้ยืนอยู่ที่ฐานต้นโพธิ์ทางทิศปัจฉิมแห่งที่นั้น. ครั้งนั้น พวกราชบุรุษปรารภจะยกพระธาตุลงจากกระพองช้างนั้น. พญาช้างไม่ยอมให้ยกลง. พระราชาตรัสถามพระเถระว่า ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ช้างจึงไม่ยอมให้ยกพระธาตุลง.
               พระเถระถวายพระพรว่า มหาบพิตร พระธาตุที่ยกขึ้นแล้วจะยกลงไม่สมควร.
               ก็ในกาลนั้น น้ำในบึงอภัยวาปีแห้งขาดไป. พื้นดินโดยรอบแตกระแหง ก้อนดินเหนียว ยกขึ้นได้ง่าย มหาชนเร่งรีบช่วยกันนำดินจากบึงอภัยวาปีนั้นมาทำพื้นที่ (ฐาน) ประมาณเท่ากระพองช้าง.
               ในขณะนั้นนั่นเอง ชนทั้งหลายเริ่มปั้นอิฐ เพื่อสร้างพระสถูป. พญาช้างยืนอยู่ในโรงช้างใกล้ฐานของต้นโพธิ์ ในเวลากลางวัน กลางคืนรักษาพื้นที่ที่จะสร้างพระสถูป ๒-๓ วัน จนกว่าอิฐจะสำเร็จ.
               ครั้งนั้น พระราชารับสั่งให้ก่อพื้นที่ (ฐาน, ที่ตั้ง) แล้วตรัสถามพระเถระว่า ข้าพเจ้าพึงสร้างพระสถูปมีรูปลักษณะเช่นไร ท่านผู้เจริญ?
               พระเถระถวายพระพรว่า เช่นกับกองข้าวเปลือก มหาบพิตร! พระราชาทรงรับสั่งว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ รับสั่งให้ก่อพระสถูปขนาดฐานชุกชีแล้ว ให้กระทำสักการะใหญ่ เพื่อต้องการยกพระธาตุขึ้น.

               [พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์แก่มหาชน]               
               ทวยนครทั้งสิ้นและชาวชนบทประชุมกันแล้ว เพื่อชมการฉลองพระธาตุ. ก็เมื่อหมู่มหาชนนั้นประชุมกันแล้ว พระธาตุของพระทศพลได้เหาะขึ้นสู่เวหาสประมาณชั่วตาล ๗ ต้น จากกระพองช้าง แสดงยมกปาฏิหาริย์. ธารน้ำและเปลวไฟมีรัศมี ๖ สี ย่อมพวยพุ่งออกจากองค์พระธาตุทั้งหลายนั้นๆ. ได้มีปาฏิหาริย์คล้ายกับปาฏิหาริย์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ณ โคนต้นคัณฑามพฤกษ์ ใกล้กรุงสาวัตถี.
               ก็แลปาฏิหาริย์นั้นไม่ใช่ด้วยอานุภาพของพระเถระ ไม่ใช่ด้วยอานุภาพของเทวดาเลย แท้ที่จริง เป็นด้วยพุทธานุภาพเท่านั้น.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่นั่นแล ได้ทรงอธิษฐานว่า เมื่อเราปรินิพพานแล้ว ยมกปาฏิหาริย์จงมีในวันประดิษฐาน พระธาตุรากขวัญเบื้องขวาของเรา เหนือที่ตั้งบริโภคเจดีย์ของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ๓ องค์ ด้านทิศทักษิณแห่งอนุราธบุรี ในเกาะตัมพปัณณิทวีป ดังนี้.
                         พระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย พระธรรมของ
               พระพุทธเจ้า ก็เป็นอจินไตย วิบากของเหล่าชน
               ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระคุณของพระ
               พุทธเจ้า ซึ่งเป็นอจินไตย ก็เป็นอจินไตย โดย
               นัยดังกล่าวมาฉะนี้แล.

               [พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปเกาะลังกาเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่]               
               ได้ทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่เกาะนี้ (เกาะลังกา) ถึง ๓ ครั้ง แม้ในคราวยังทรงพระชนม์อยู่ คือ คราวแรกเสด็จมาพระองค์เดียวเท่านั้น เพื่อทรมานยักษ์ ครั้นทรมานยักษ์แล้ว ทรงตั้งอารักขาที่เกาะตัมพปัณณิทวีป เสด็จรอบเกาะ ๓ รอบ ตั้งพระทัยว่า เมื่อเราปรินิพพานแล้ว ศาสนาของเราจักประดิษฐานอยู่บนเกาะนี้.
               ครั้งที่สอง เสด็จมาพระองค์เดียวเหมือนกัน เพื่อต้องการทรมานพญานาคผู้เป็นลุงและหลานกัน ครั้นทรมานนาคเหล่านั้นแล้ว ได้เสด็จไป. ครั้งที่สาม เสด็จมามีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร ประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติ ณ ที่ตั้งมหาเจดีย์ ที่ตั้งถูปารามเจดีย์ ที่ประดิษฐานต้นมหาโพธิ์ ที่ตั้งมุติงคณเจดีย์ ที่ตั้งทีฆวาปีเจดีย์ และที่ตั้งกัลยาณิยเจดีย์. การมาโดยพระสรีรธาตุ คราวนี้เป็นครั้งที่ ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               ก็แลขึ้นชื่อว่า โอกาสน้อยหนึ่งบนพื้นเกาะตัมพปัณณีทวีป ที่เมล็ดน้ำอันพุ่งออกจากพระสรีรธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่ถูกต้องหาได้มีไม่. พระสรีรธาตุนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ยังความเร่าร้อนของภาคพื้นเกาะตัมพปัณณิทวีปให้สงบลงด้วยเมล็ดฝน แสดงปาฏิหาริย์แก่มหาชน แล้วลงประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของพระราชา ด้วยประการอย่างนี้.
               พระราชาทรงสำคัญการได้อัตภาพเป็นมนุษย์ซึ่งมีผลทรงทำสักการะใหญ่ ให้บรรจุพระธาตุแล้ว พร้อมด้วยการบรรจุพระธาตุ ได้เกิดมีแผ่นดินหวั่นไหวใหญ่.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :