ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๗ / ๑๕.

               มหาวิภงฺควณฺณนา               
               เวรัญชกัณฑวรรณนา               
               ๑- บัดนี้ ข้าพเจ้าจักทำการพรรณนาเนื้อความแห่งบททั้งหลายมีบทว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เป็นอาทิ เพราะได้กล่าวไว้แล้วว่า
                                   จักทำการพรรณนาอรรถแห่งวินัย
                         แสดงเนื้อความแห่งปาฐะว่า เตน เป็นอาทิ
                         โดยประการต่างๆ.

               ข้าพเจ้าจักทำอรรถวรรณนาอย่างไรเล่า.
____________________________
๑- เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป. ธ. ๙)
๑- วัดมกุฏกษัตริยาราม แปล.

               [อธิบายบทว่า เตน เป็นต้น]               
               บทว่า เตน เป็นคำแสดงออกโดยไม่เจาะจง. บัณฑิตพึงทราบปฏินิเทศแห่งบทว่า เตน นั้น ด้วยคำว่า เยน นี้ ซึ่งเป็นคำสรุปแม้ไม่กล่าวไว้ แต่สำเร็จได้โดยใจความในกาลภายหลัง.
               จริงอยู่ ความรำพึงของท่านพระสารีบุตร ซึ่งเป็นเหตุแห่งการทูลวิงวอนให้บัญญัติพระวินัย สำเร็จได้ในกาลภายหลัง เพราะเหตุนั้น พึงทราบสัมพันธ์ในคำว่า เตน สมเยน เป็นต้นนี้อย่างนี้ว่า ความรำพึงนั้นเกิดขึ้น โดยสมัยใด โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จประทับที่เมืองเวรัญชา.
               จริงอยู่ วิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะแม้ในวินัยทั้งหมด คือคำว่า เตน ท่านกล่าวไว้ในที่ใดๆ ในที่นั้นๆ บัณฑิตพึงทำปฏินิเทศด้วยคำว่า เยน นี้ซึ่งสำเร็จโดยใจความในกาลก่อนหรือภายหลัง. อุทาหรณ์พอเป็นทางในวิธีที่เหมาะตามที่กล่าวนั้นดังนี้
               ภิกษุสุทินเสพเมถุนธรรม เพราะเหตุใด ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย
               มีคำอธิบายว่า ภิกษุสุทินเสพเมถุนธรรม เพราะเหตุใด เพราะเหตุนั้น เราจักบัญญัติ. ปฏินิเทศย่อมเหมาะด้วยคำว่า เยน นี้ ซึ่งสำเร็จโดยใจความในกาลก่อนอย่างนี้ก่อน. ปฏินิเทศย่อมเหมาะด้วยคำว่า เยน นี้ ซึ่งสำเร็จโดยใจความในภายหลัง อย่างนี้ว่า พระธนิยะ บุตรนายช่างหม้อ ได้ถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ คือไม้ทั้งหลายของพระราชา โดยสมัยใด โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จอยู่ที่กรุงราชคฤห์.
               เนื้อความแห่งคำว่า เตน เป็นอันข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ด้วยประการฉะนี้.

               [อธิบายบทว่า สมเยน เป็นต้น]               
               ส่วน สมยศัพท์ ซึ่งมีในบทว่า สมเยน นี้
                                   ย่อมปรากฏในอรรถ ๙ อย่าง คือ
                         สมวายะ ๑ ขณะ ๑ กาละ ๑ สมุหะ ๑
                         เหตุ ๑ ทิฏฐิ ๑ ปฏิลาภะ ๑ ปหานะ ๑
                         ปฏิเวธะ ๑
               ก่อน.
               จริงอย่างนั้น สมยศัพท์มีสมวายะเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ชื่อแม้ไฉน แม้พรุ่งนี้ เราทั้งหลายพึงเข้าไปให้เหมาะกาลและความพร้อมกัน.#-
               มีขณะเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ขณะและสมัยเพื่ออยู่พรหมจรรย์มีหนึ่งแล.๑- มีกาละเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า คราวร้อน คราวกระวนกระวาย.๒- มีสมุหะเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ประชุมใหญ่ในป่ามหาวัน.๓-
               มีเหตุเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภัททาลิ แม้เหตุผล ได้เป็นของอันท่านไม่ได้แทงตลอดแล้วว่า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล เสด็จอยู่ในกรุงสาวัตถี. แม้พระองค์จักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อว่าภัททาลิ มิใช่ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ด้วยสิกขาในศาสนาของพระศาสดา ดูก่อนภัททาลิ เหตุแม้นี้แล ได้เป็นของอันท่านไม่ได้แทงตลอดแล้ว.๔-
               มีทิฏฐิเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล ปริพาชกชื่ออุคคหมานะบุตรของสมณมุณฑิกา อาศัยอยู่ในอารามของนางมัลลิกา ศาลาหลังเดียวใกล้แถวต้นมะพลับเป็นที่สอนทิฏฐิเป็นที่เรียน.๕-
               มีปฏิลาภะเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า
                                   ประโยชน์ใด ในทิฏฐธรรมนั่นแล
                         ด้วยประโยชน์ใด เป็นไปในสัมปรายภพด้วย
                         นักปราชญ์ ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้
                         เฉพาะซึ่งประโยชน์นั้น.๖-
               มีปหานะเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุนี้ได้กระทำที่สุดทุกข์ เพราะละมานะโดยชอบ.๗-
               มีปฏิเวธะเป็นอรรถ ในคำทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า อรรถคือความบีบคั้นแห่งทุกข์ อรรถคือข้อที่ทุกข์เป็นสังขตธรรม อรรถคือความแผดเผาแห่งทุกข์ อรรถคือความแปรปรวนแห่งทุกข์ เป็นอรรถที่ควรแทงตลอด.๘-
               แต่ในที่นี้ สมยศัพท์นั้นมีกาละเป็นอรรถ เพราะเหตุนั้น พึงเห็นเนื้อความในบทว่า เตน สมเยน นี้ อย่างนี้ว่า ความรำพึงเป็นเหตุทูลวิงวอนให้ทรงบัญญัติวินัยเกิดขึ้นแก่ท่านพระสารีบุตร โดยกาลใด โดยกาลนั้น.
               ในบทว่า เตน สมเยน นี้ โจทก์ท้วงว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรในวินัยนี้ จึงทำนิเทศด้วยตติยาวิภัตติว่า เตน สมเยน ไม่ทำด้วยทุติยาวิภัตติว่า เอกํ สมยํ เหมือนในสุตตันตะและด้วยสัตตมีวิภัตติว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ เหมือนในอภิธรรมเล่า?
               เฉลยว่า เพราะความสมกับใจความโดยประการอย่างนั้น ในสุตตันตะและอภิธรรมนั้น และเพราะความสมกับใจความโดยประการอื่นในวินัยนี้ สมกับใจความอย่างไร? สมยศัพท์มีอัจจันตสังโยคเป็นอรรถ เหมาะในสุตตันตะก่อน.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ด้วยกรุณาวิหารตลอดที่สุดสมัยที่ทรงแสดงพระสุตตันตะทั้งหลาย มีพรหมชาลสูตรเป็นต้นทีเดียว เพราะเหตุนั้น ในสุตตันตะนั้นท่านจึงทำอุปโยคนิเทศ เพื่อส่องเนื้อความนั้น. ก็แล สมยศัพท์มีอธิกรณะเป็นอรรถ และความกำหนดภาวะด้วยภาวะเป็นอรรถ ย่อมเหมาะ ในอภิธรรม.
               จริงอยู่ สมยศัพท์มีกาละเป็นอรรถและมีสมุหะเป็นอรรถ เป็นอธิกรณ์แห่งธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในอภิธรรมนั้น ภาวะแห่งธรรมเหล่านั้น อันท่านย่อมกำหนดด้วยความมีแห่งสมัย กล่าวคือ ขณะ สมวายะและเหตุ เพราะเหตุนั้น ในอภิธรรมนั้น ท่านจึงทำนิเทศด้วยสัตตมีวิภัตติ เพื่อส่องเนื้อความนั้น.
               ส่วนในวินัยนี้ สมยศัพท์มีเหตุเป็นอรรถและมีกรณะเป็นอรรถจึงสมกัน.#๑-
               #๒-ก็สมัยบัญญัติสิกขาบทใดนั้น เป็นสมัยที่พระสารีบุตรเป็นต้นรู้ได้ยาก, โดยสมัยนั้น อันเป็นเหตุและกรณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลาย และทรงพิจารณาดูเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบท ได้เสด็จประทับอยู่ในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านทำนิเทศด้วยตติยาวิภัตติในวินัยนี้ เพื่อส่องเนื้อความนั้น.
               ก็ในที่นี้มีคาถา (ด้วยสามารถแห่งการสงเคราะห์เนื้อความตามที่กล่าวแล้ว) ดังต่อไปนี้ว่า
                                   เพราะพิจารณาเนื้อความนั้นๆ ท่าน
                         พระเถระทั้งหลาย จึงกล่าวสมยศัพท์ใน
                         พระสูตรและพระอภิธรรมแห่งใดแห่งหนึ่ง
                         ด้วยตติยาวิภัตติและสัตตมีวิภัตติ, สมยศัพท์
                         นั้นท่านกล่าวในพระวินัยนี้ ด้วยตติยาวิภัตติ
                         เท่านั้น.
               ส่วนพระโบราณาจารย์พรรณนาไว้ว่า ความต่างกันนี้ว่า ตํ สมยํ ตลอดสมัยนั้นก็ดี ว่า ตสฺมึ สมเย ในสมัยนั้นก็ดี ว่า เตน สมเยน โดยสมัยนั้นก็ดี แปลกกันแต่เพียงถ้อยคำ, ในทุกๆ บทมีสัตตมีวิภัตติเท่านั้นเป็นอรรถ.
               เพราะฉะนั้น ตามลัทธิของพระโบราณาจารย์นั้น แม้เมื่อท่านกล่าวคำว่า เตน สมเยน แปลว่า โดยสมัยนั้น ก็พึงเห็นความว่า ตสฺมึ สมเย แปลว่า ในสมัยนั้น.
               ข้าพเจ้าจักพรรณนาอรรถแห่งบทเหล่านี้ว่า พุทฺโธ ภควา ดังนี้เป็นต้นข้างหน้า.
____________________________
#- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓๑๖/หน้า ๒๕๑.
๑- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๑๙/หน้า ๒๓๐.
๒- วิ. มหา. เล่ม ๒/ข้อ ๖๑๑/หน้า ๓๙๙.
๓- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๓๕/หน้า ๒๘๗.
๔- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๑๖๓/หน้า ๑๖๕.
๕- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓๕๖/หน้า ๓๔๒.
๖- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๓๘๐/๑๒๖.
๗- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๗๗/หน้า ๒๒๓.
๘- ขุ.ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๔๙/หน้า ๔๕๔.
#๑- พระราชกวี มานิต ถาวโร ป. ธ. ๙ วัดสัมพันธวงศ์แปล.
#๒- พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโร ป. ธ. ๙) วัดสัมพันธวงศ์ แปล

               [อรรถาธิบายคำว่า เวรญฺชายํ วิหรติ]               
               ก็พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เวรญฺชายํ วิหรติ นี้ ดังต่อไปนี้ :-
               คำว่า เวรญฺชายํ นี้ เป็นชื่อเมืองใดเมืองหนึ่ง. ในเมืองเวรัญชานั้น.
               คำว่า เวรญฺชายํ นี้ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่าใกล้.
               คำว่า วิหรติ เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรมเครื่องอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาธรรมเครื่องอยู่คืออิริยาบถวิหาร ทิพพวิหาร พรหมวิหารและอริยวิหารโดยไม่แปลกกัน. แต่ในที่นี้แสดงถึงการประกอบด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอิริยาบถมีประเภท คือ การยืน การเดิน การนั่ง และการนอน. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนอยู่ก็ดี เสด็จดำเนินไปก็ดี ประทับนั่งอยู่ก็ดี บรรทมอยู่ก็ดี บัณฑิตพึงทราบว่า เสด็จประทับอยู่ทั้งนั้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงบำบัดความลำบากแห่งอิริยาบถอย่างหนึ่ง ด้วยอิริยาบถอีกอย่างหนึ่ง ทรงนำคือทรงยังอัตภาพให้เป็นไปมิให้ทรุดโทรม เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เสด็จประทับอยู่.

               [อรรถาธิบายคำว่า นเฬรุปุจิมนฺทมูเล เป็นต้น]               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า นเฬรุปุจิมนฺทมูเล นี้ ดังต่อไปนี้ :-
               ยักษ์ชื่อนเฬรุ. ต้นสะเดาชื่อว่าปุจิมันทะ. บทว่า มูลํ แปลว่า ที่ใกล้.
               จริงอยู่ มูลศัพท์นี้ ย่อมปรากฏในรากเหง้า ในคำทั้งหลายมีอาทิเช่นว่า พึงขุดรากเหง้าทั้งหลาย โดยที่สุดแม้เพียงแฝกและอ้อ. ในเหตุอันไม่ทั่วไปในคำมีอาทิว่า ความโลภเป็นอกุศลมูล.
               ในที่ใกล้ ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า เงาย่อมแผ่ไปในเวลาเที่ยง, ใบไม้ทั้งหลายย่อมตกไปในเวลาปราศจากลมได้เพียงใด ด้วยที่เพียงเท่านี้ ชื่อว่ารุกขมูล (โคนต้นไม้).
               แต่ในบทว่า มูเล นี้ ท่านประสงค์เอาที่ใกล้. เพราะฉะนั้น พึงเห็นใจความในคำนี้ อย่างนี้ว่า ที่ใกล้ต้นไม้สะเดาอันนเฬรุยักษ์สิงแล้ว. ได้ยินว่า ต้นสะเดานั้น่ารื่นรมย์ ่น่าเลื่อมใส ทำท่าเหมือนเป็นเจ้าใหญ่แห่งต้นไม้มากมาย มีอยู่ในที่ซึ่งถึงพร้อมด้วยทางไปมาไม่ไกลเมืองนั้น.
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเมืองเวรัญชา เมื่อจะประทับอยู่ในสถานอันสมควร จึงประทับอยู่ ณ ที่ใกล้ คือส่วนภายใต้แห่งต้นไม้นั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีจึงกล่าวว่า เสด็จประทับอยู่ที่โคนต้นสะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงอยู่ใกล้เมืองเวรัญชา.
               หากจะมีคำทักท้วงในข้อนั้นว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาก่อน, คำว่า ที่โคนต้นสะเดาซึ่งนเฬรุยักษ์สิงอยู่ อันพระอุบาลีเถระไม่ควรกล่าว, ถ้าเสด็จประทับอยู่ที่โคนต้นสะเดา ซึ่งนเฬรุยักษ์สิงอยู่นั้น, คำว่า ที่เมืองเวรัญชา ท่านก็ไม่ควรกล่าว, เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่อาจเสด็จประทับอยู่ในสองตำบลพร้อมๆ กัน โดยสมัยเดียวกันนั้นได้. แต่คำว่า เวรญฺชายํ วิหรติ นเฬรุปุจิมนฺทมูเล นั้น บัณฑิตไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย,
               ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วมิใช่หรือว่า บทว่า เวรญฺชายํ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่าใกล้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสด็จประทับอยู่ที่โคนต้นสะเดา ซึ่งนเฬรุยักษ์สิง ในที่ใกล้แห่งเมืองเวรัญชา พระอุบาลีเถระจึงกล่าวว่า เสด็จประทับอยู่ที่โคนต้นสะเดาซึ่งนเฬรุยักษ์สิงใกล้เมืองเวรัญชา แม้ในพระบาลีประเทศนี้ เหมือนอย่างฝูงโคทั้งหลาย เมื่อเที่ยวไปในที่ใกล้แห่งแม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นต้น ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า เที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคา เที่ยวไปใกล้น้ำแม่น้ำยมุนา ฉะนั้น.

               [อธิบายคำว่าเวรญฺชายํและนเฬรุปุจิมนฺทมูเล]               
               ในคำว่า เวรญฺชายํ วิหรติ นเฬรุปุจิมนฺทมูเล นี้ บัณฑิตพึงทราบอรรถโยชนา โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า จริงอยู่ คำว่า เวรัญชา มีอันแสดงโคจรคามของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นประโยชน์.
               คำว่า นเฬรุปุจิมันทมูล มีอันแสดงสถานเป็นที่อยู่อันสมควรแก่บรรพชิตเป็นประโยชน์. ท่านพระอุบาลีเถระแสดงการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการอนุเคราะห์พวกคฤหัสถ์ ในบรรดาคำระบุทั้งสองนั้น ด้วยคำระบุว่า เวรัญชา แสดงการที่ทรงอนุเคราะห์บรรพชิต ด้วยคำระบุว่า นเฬรุปุจิมันทมูล.
               อนึ่ง แสดงความเว้นอัตตกิลมถานุโยค เพราะการรับปัจจัย ด้วยคำระบุต้น, แสดงอุทาหรณ์แห่งอุบายในการเว้นกามสุขัลลิกานุโยค เพราะละวัตถุกามเสีย ด้วยคำระบุหลัง. อนึ่ง แสดงการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบยิ่งด้วยธรรมเทศนา ด้วยคำระบุต้น, แสดงการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงน้อมไปเพื่อวิเวก ด้วยคำระบุหลัง. แสดงการที่พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยพระกรุณา ด้วยคำระบุต้น, แสดงการที่ทรงประกอบด้วยพระปัญญา ด้วยคำระบุหลัง.
               แสดงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงน้อมพระทัยไปในอันยังหิตสุขให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยคำระบุต้น, แสดงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เข้าไปติดในการทำหิตสุขแก่สัตว์อื่น ด้วยคำระบุหลัง. แสดงการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่สำราญมีการไม่สละสุข ซึ่งประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องหมาย ด้วยคำระบุต้น, แสดงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่สำราญ มีความตามประกอบในอุตริมนุสธรรมเป็นเครื่องหมาย ด้วยคำระบุหลัง. แสดงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้มากด้วยอุปการะแก่มนุษย์ทั้งหลาย ด้วยคำระบุต้น, แสดงข้อที่พระองค์เป็นผู้มากด้วยอุปการะแก่เทวดาทั้งหลาย ด้วยคำระบุหลัง. แสดงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้วเจริญพร้อมในโลก ด้วยคำระบุต้น, แสดงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เข้าไปติดอยู่ในโลก ด้วยคำระบุหลัง.
               ด้วยคำระบุต้น แสดงการที่พระองค์ทรงยังประโยชน์เป็นที่เสด็จอุบัติให้สำเร็จเรียบร้อย ตามพระบาลีว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเอก เมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, บุคคลเอก คือบุคคลชนิดไหน คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า,๑-
               ด้วยคำระบุหลัง แสดงความอยู่สมควรแก่สถานที่เสด็จอุบัติ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติในป่าเท่านั้น ด้วยความอุบัติทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ คือ ครั้งแรกที่ลุมพินีวัน ครั้งที่สองที่โพธิมณฑล ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงแสดงที่อยู่ของพระองค์ในป่าทั้งนั้น.
____________________________
๑- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๓๙/หน้า ๒๘.

               [อธิบายคำว่า มหตา ภิกฺขุสงฺเฆน สทฺธึ]               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า มหตา ภิกฺขุสงฺเฆน สทฺธึ นี้ต่อไป
               บทว่า มหตา มีความว่า ใหญ่ด้วยความเป็นผู้มีคุณใหญ่บ้าง ใหญ่ด้วยความเป็นผู้มีจำนวนมากบ้าง.
               จริงอยู่ ภิกษุสงฆ์นั้นได้เป็นใหญ่ด้วยคุณทั้งหลายบ้าง เพราะเหตุว่า ภิกษุผู้มีคุณล้าหลังในภิกษุสงฆ์นั้น ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล ได้เป็นใหญ่ด้วยจำนวนบ้าง เพราะมีจำนวนห้าร้อย.
               หมู่แห่งภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าภิกษุสงฆ์. ด้วยภิกษุสงฆ์นั้น. อธิบายว่า ด้วยหมู่สมณะผู้ทัดเทียมกันด้วยคุณ กล่าวคือความเป็นผู้มีทิฏฐิและศีลเสมอกัน.
               บทว่า สทฺธึ คือโดยความเป็นพวกเดียวกัน.
               คำว่า ปญฺจมตฺเตหิ ภิกฺขุสเตหิ มีวิเคราะห์ว่า จำนวน ๕ เป็นประมาณของภิกษุเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ปัญจมัตตา. ประมาณท่านเรียกว่า มัตตา. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงเห็นเนื้อความแม้ในบาลีประเทศนี้อย่างนี้ว่า ร้อยแห่งภิกษุเหล่านี้ มีจำนวน ๕ คือมีประมาณ ๕ เหมือนอย่างเมื่อท่านกล่าวว่า โภชเนมตฺตญฺญู ย่อมมีอรรถว่า รู้จำนวน. คือรู้จักประมาณในโภชนะฉะนั้น. ร้อยแห่งภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ภิกฺขุสตานิ. ด้วยร้อยแห่งภิกษุ ซึ่งมีประมาณห้าเหล่านั้น.
               ในคำที่พระเถระกล่าวว่า มหตา ภิกฺขุสงฺเฆน สทฺธึ นี้ เป็นอันท่านแสดงความที่ภิกษุสงฆ์ใหญ่นั้น เป็นผู้ใหญ่ด้วยจำนวน ด้วยคำว่า ปญฺจมตฺเตหิ ภิกฺขุสเตหิ นี้.
               ส่วนความที่ภิกษุสงฆ์นั้นเป็นผู้ใหญ่ด้วยคุณ จักมีแจ้งข้างหน้าด้วยคำว่า
               ดูก่อนสารีบุตร ก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสี้ยนหนามหมดโทษปราศจากความด่างดำ หมดจดดี ตั้งอยู่แล้วในธรรมอันเป็นสาระ, เพราะว่าบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ ภิกษุผู้ที่มีคุณล้าหลัง ก็ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล ดังนี้.

               [อธิบายคำว่า อสฺโสสิ โข เป็นต้น]               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อสฺโสสิ โข เวรญฺโช พฺราหฺมโณ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อสฺโสสิ ความว่า ฟัง คือ ได้ฟัง ได้แก่ ได้ทราบตามทำนองแห่งเสียงของคำพูดที่ถึงโสตทวาร.
               ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาตลงในอรรถเพียงทำบทให้เต็ม หรือลงในอรรถแห่งอวธาณะ. บรรดาอรรถทั้งสองนั้นด้วยอรรถแห่งอวธารณะ พึงทราบใจความดังนี้ว่า ได้ฟังจริงๆ อันตรายแห่งการฟังอะไรๆ มิได้มีแก่พราหมณ์นั้น. ด้วยอรรถว่าทำบทให้เต็ม พึงทราบว่า เป็นเพียงความสละสลวยแห่งบทและพยัญชนะเท่านั้น.
               พราหมณ์ผู้เกิดในเมืองเวรัญชา ชื่อว่าเวรัญชะ. พราหมณ์มีในเมืองเวรัญชา ชื่อว่าเวรัญชะ. อีกอย่างหนึ่ง เมืองเวรัญชาเป็นที่อยู่ของพราหมณ์นั้น เพราะฉะนั้น พราหมณ์นั้นจึงชื่อว่า เวรัญชะ. แต่ว่าพราหมณ์นี้ ชาวเมืองเรียกว่า อุทัย ด้วยอำนาจชื่อที่มารดาบิดาตั้งให้.
               ผู้ใดย่อมสาธยายพระเวท. อธิบายว่า สาธยายมนต์ทั้งหลาย เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าพราหมณ์.
               จริงอยู่ คำว่า พราหมณ์นี้แลเป็นคำเรียกพวกพราหมณ์โดยชาติ. แต่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเรียกว่าพราหมณ์ เพราะความเป็นผู้มีบาปอันลอยเสียแล้ว.

               [อธิบายเรื่องที่พราหมณ์ได้ฟัง]               
               บัดนี้ พระอุบาลีเถระเมื่อจะประกาศเรื่องที่เวรัญชพราหมณ์ได้ฟัง จึงได้กล่าวคำมีว่า สมโณ ขลุ โภ โคตโม เป็นต้น. ในคำนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่าสมณะ เพราะเป็นผู้มีบาปสงบแล้ว. ข้อนี้ สมจริงดังคำที่พระองค์ตรัสไว้ว่า เราเรียกบุคคลว่าเป็นพราหมณ์ เพราะมีบาปอันลอยเสียแล้ว ว่าสมณะ เพราะความเป็นผู้มีบาปอันสงบแล้ว. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าจัดว่าเป็นผู้มีบาปอันอริยมรรคอย่างยอดเยี่ยมให้สงบแล้ว. เพราะฉะนั้น พระนามคือสมณะนี้ พระองค์ทรงบรรลุแล้วด้วยคุณตามเป็นจริง.
               บทว่า ขลุ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า ได้ฟังมา.
               คำว่า โภ เป็นเพียงคำร้องเรียกที่มาแล้วโดยชาติ แห่งเหล่าชนผู้มีชาติเป็นพราหมณ์. แม้ข้อนี้ ก็สมจริงดังคำที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่า โภวาที (ผู้มีวาทะว่าเจริญ) ผู้นั้นแล ยังมีกิเลสเครื่องกังวล.
               ด้วยคำว่า โคตโม นี้ เวรัญชพราหมณ์ทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอำนาจแห่งพระโคตร. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงเห็นใจความในคำว่า สมโณ ขลุ โภ โคตโม นี้ อย่างนี้ว่า ได้ยินว่า พระสมณโคตมโคตร ผู้เจริญ.
               ส่วนคำว่า สกฺยปุตฺโต นี้ แสดงถึงตระกูลอันสูงส่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               คำว่า สกฺยกุลา ปพฺพชิโต แสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผนวชด้วยศรัทธา. มีคำอธิบายว่า พระองค์มิได้ถูกความเสื่อมอะไรๆ ครอบงำ ทรงละตระกูลนั้นอันยังไม่สิ้นเนื้อประดาตัวเลยแล้วทรงผนวชด้วยศรัทธา.
               คำอื่นจากนั้นมีอรรถอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วแล.
               ทุติยาวิภัตติอันมีอยู่ในบทว่า ตํ โข ปน นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถที่กล่าวถึงอิตถัมภูต. ความว่า ก็ (กิตติศัพท์อันงาม) ของพระโคดมผู้เจริญนั้นแล (ฟุ้งไปแล้วอย่างนี้ว่า...)
               บทว่า กลฺยาโณ คือประกอบด้วยคุณอันงาม. อธิบายว่า ประเสริฐ.
               เกียรตินั้นเอง หรือเสียงกล่าวชมเชย ชื่อว่า กิตติศัพท์.

               พุทธคุณกถา               
               ก็ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า อิติปิ โส ภควา เป็นต้นมีโยชนาดังต่อไปนี้ก่อนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุแม้นี้, เป็นสัมมาสัมพุทธะ เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้รู้แจ้งโลก เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างยอดเยี่ยม เพราะเหตุแม้นี้, เป็นครูสอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้เบิกบานแล้ว เพราะเหตุแม้นี้, เป็นผู้จำแนกแจกธรรม เพราะเหตุแม้นี้.
               มีอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะเหตุนี้และเหตุนี้.
               #-บัดนี้ จักกระทำการบรรณนาโดยนัยพิสดารแห่งบทเหล่านั้น เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในสุตตันตนัยและเพื่อรื่นเริงแห่งจิตด้วยธรรมีกถาอันประกอบด้วยพุทธคุณ ในวาระเริ่มต้นแห่งการสังวรรณนาพระวินัยแห่งพระวินัยธรทั้งหลาย.
               เพราะเหตุนั้น พึงทราบวินิจฉัยในคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ แม้เพราะเหตุนี้ ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๐

               [อธิบายพุทธคุณบทว่า อรหํ]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุเหล่านี้ก่อน คือเพราะเป็นผู้ไกล และทรงทำลายข้าศึกทั้งหลาย และทรงหักกำจักรทั้งหลาย เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น เพราะไม่มีความลับในการทำบาป.
               ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไกล คือทรงดำรงอยู่ในพระคุณอันไกลแสนไกลจากสรรพกิเลส เพราะทรงกำจัดเสียซึ่งกิเลสทั้งหลายพร้อมทั้งวาสนาด้วยมรรค เพราะฉะนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ไกล.
               อนึ่ง ข้าศึกคือกิเลสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงทำลายเสียแล้วด้วยมรรค เพราะฉะนั้นจึงทรงพระนามว่าอรหํ แม้เพราะทรงทำลายข้าศึกทั้งหลายเสีย.
               อนึ่ง ซี่กำทั้งหมดแห่งสังสารจักร มีดุมอันสำเร็จด้วยอวิชชาและภวตัณหา มีคำกล่าวคืออภิสังขารมีบุญเป็นต้น มีกงคือชรามรณะอันร้อยไว้ด้วยเพลาที่สำเร็จด้วยอาสสมุทัย คุมเข้าไว้ในรถกล่าวคือภพสามอันเป็นไปแล้วตลอดกาลหาเบื้องต้นมิได้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงยีนหยัดอยู่แล้วบนปฐพีคือศีล ด้วยพระยุคลบาทคือพระวิริยะ ทรงถือผรสุคือญาณ อันกระทำซึ่งความสิ้นไปแห่งกรรม ด้วยพระหัตถ์คือศรัทธา ทรงหักเสียได้แล้วในพระโพธิมัณฑ์ เพราะฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะทรงหักกำจักรเสีย.#-
____________________________
#- พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโร ป. ธ. ๙) วัดสัมพันธวงศ์ แปล

               [สังสารวัฏคือปฏิจจสมุปบาทเป็นปัจจัยกัน]               
               #- อีกอย่างหนึ่ง สังสารวัฏมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า สังสารจักร. ก็อวิชชาเป็นดุมของสังสารจักรนั้น เพราะเป็นมูลเหตุ, มีชรามรณะเป็นกง เพราะเป็นที่สุด, ธรรม ๑๐ อย่างที่เหลือเป็นกำ เพราะมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ และเพราะมีชรามรณะเป็นที่สุด. บรรดาธรรมมีอวิชชาเป็นต้นนั้น ความไม่รู้ในอริยสัจมีทุกข์เป็นต้น ชื่อว่าอวิชชา.
               ก็อวิชชาในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในกามภพ. อวิชชาในรูปภพย่อมเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในรูปภพ. อวิชชาในอรูปภพเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลายในอรูปภพ. สังขารในกามภพย่อมเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ.
               ในรูปภพและอรูปภพ ก็นัยนี้.
               ปฏิสนธิวิญญาณในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่นามรูปในกามภพ. ในรูปภพก็อย่างนั้น. ย่อมเป็นปัจจัยแก่นามอย่างเดียว ในอรูปภพ.
               นามรูปในกามภพเป็นปัจจัยแก่อายตนะ ๖ ในกามภพ. นามรูปในรูปภพย่อมเป็นปัจจัยแก่อายตนะทั้ง ๓ ในรูปภพ. นามในอรูปภพย่อมเป็นปัจจัยแก่อายตนะอย่างเดียว ในอรูปภพ.
               อายตนะ ๖ ในกามภพเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ ๖ อย่างในกามภพ. ๓ อายตนะในรูปภพเป็นปัจจัยแก่ ๓ ผัสสะในรูปภพ. ๑ อายตนะในอรูปภพย่อมเป็นปัจจัยแก่ ๑ ผัสสะในอรูปภพ.
               ผัสสะ ๖ ในกามภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่เวทนา ๖ ในกามภพ. ๓ ผัสสะในรูปภพเป็นปัจจัยแก่ ๓ ผัสสะในรูปภพนั้นนั่นเอง. ผัสสะ ๑ ในอรูปภพย่อมเป็นปัจจัยแก่เวทนา ๑ ในอรูปภพนั้นนั่นเอง. เวทนา ๖ ในกามภพย่อมเป็นปัจจัยแก่ตัณหากาย ๖ ในกามภพ. เวทนา ๓ ในรูปภพเป็นปัจจัยแก่ตัณหากาย ๓ ในรูปภพนั้นนั่นเอง. เวทนา ๑ ในอรูปภพย่อมเป็นปัจจัยแก่ตัณหากาย ๑ ในอรูปภพ.
               ตัณหานั้นๆ ในกามภพเป็นต้นนั้นๆ ย่อมเป็นปัจจัยแก่อุปาทานนั้นๆ.
               อุปาทานเป็นต้นย่อมเป็นปัจจัยแก่ภพเป็นต้น.
               คืออย่างไร.
               คือว่า คนบางคนในโลกนี้คิดว่า จักบริโภคกาม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัย เพราะความเต็มรอบแห่งทุจริต เขาย่อมเกิดในอบาย.
               กรรมเป็นเหตุเกิดในอบายนั้นของบุคคลนั้นเป็นกรรมภพ, ความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลาย เป็นชาติ, ความแก่หง่อมเป็นชรา, ความแตกทำลายเป็นมรณะ.
               อีกคนหนึ่งคิดว่า จักเสวยสมบัติในสวรรค์ ประพฤติสุจริตอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะความบริบูรณ์แห่งสุจริต เขาย่อมเกิดในสวรรค์. คำว่า กรรมเป็นเหตุเกิดในสวรรค์นั้นของเขาเป็นกรรมภพเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกันนั้น.
               ส่วนอีกคนหนึ่งคิดว่า จักเสวยสมบัติในพรหมโลก ย่อมเจริญเมตตา เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะกามุปาทานเป็นปัจจัย เขาย่อมเกิดในพรหมโลก เพราะความบริบูรณ์แห่งภาวนา. คำว่า กรรมเป็นเหตุเกิดในพรหมโลกนั้นของเขาเป็นกรรมภพเป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกันนั้น.
               อีกคนหนึ่งคิดว่า จักเสวยสมบัติในอรูปภพ จึงเจริญสมาบัติทั้งหลายมีอากาสานัญจายตนะเป็นต้นอย่างนั้นนั่นแล เพราะความบริบูรณ์แห่งภาวนา เขาย่อมเกิดในอรูปภพนั้นๆ. กรรมเป็นเหตุเกิดในอรูปภพนั้นของเขาเป็นกรรมภพ. ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแต่กรรมเป็นอุปบัติภพ, ความเกิดแห่งขันธ์ทั้งหลาย เป็นชาติ, ความแก่หง่อมเป็นชรา, ความแตกทำลายเป็นมรณะแล.
               ในโยชนาทั้งหลายแม้มีอุปาทานที่เหลือเป็นมูล ก็นัยนี้.
____________________________
#- พระธรรมบัณฑิต (มานิต ถาวโร ป. ธ. ๙) วัดสัมพันธวงศ์ แปล

               [ธัมมัฏฐิติญาณ]               
               ปัญญาในการกำหนดปัจจัย โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า อวิชชานี้เป็นตัวเหตุ สังขารทั้งหลายเกิดมาจากเหตุ อวิชชาและสังขารแม้ทั้งสองนี้ก็เป็นเหตุสมุปปันธรรม (ธรรมที่เป็นเหตุและเกิดจากเหตุ) ชื่อธรรมฐิติญาณ.
               ปัญญาในการกำหนดปัจจัย โดยนัยที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า อวิชชาทั้งที่เป็นอตีตัทธา (อดีตกาล) ทั้งที่เป็นอนาคตัทธา (อนาคตกาล) เป็นตัวเหตุ สังขารทั้งหลายเกิดมาจากเหตุ อวิชชาและสังขารแม้ทั้งสองนี้ก็เป็นเหตุสมุปปันธรรม (ธรรมที่เป็นเหตุและเกิดจากเหตุ) ชื่อธรรมฐิติญาณแล.
               ทุกๆ บทผู้ศึกษาพึงให้พิสดารโดยนัยนี้.

               [สังเขปและอัทธาในปฏิจจสมุปบาท]               
               บรรดาองค์แห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น อวิชชาและสังขารเป็นสังเขปหนึ่ง. วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะและเวทนา เป็นสังเขปหนึ่ง. ตัณหา อุปาทานและภพ เป็นสังเขปหนึ่ง. ชาติและชรามรณะเป็นสังเขปหนึ่ง.
               ก็ในสังเขป ๔ นั้น สังเขปต้นเป็นอตีตัทธา, สองสังเขปกลางเป็นปัจจุปันนัทธา, ชาติและชรามรณะเป็นอนาคตัทธา.

               [วัฏฏะและสนธิ ๓ ในปฏิจจสมุปบาท]               
               อนึ่ง ในสังเขปต้นนั้น ตัณหาอุปาทานและภพ ย่อมเป็นอันท่านถือเอาแล้ว ด้วยศัพท์คืออวิชชาและสังขารนั่นแล เพราะฉะนั้น ธรรม ๕ เหล่านี้จัดเป็นกรรมวัฏในอดีต.
               ธรรม ๕ อย่างมีวิญญาณเป็นต้น จัดเป็นวิปากวัฏในปัจจุบัน.
               อวิชชาและสังขารเป็นอันท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์คือตัณหา อุปาทานและภพนั่นเอง เพราะฉะนั้น ธรรม ๕ เหล่านี้จัดเป็นกรรมวัฏในกาลบัดนี้.
               ธรรม ๕ เหล่านี้จัดเป็นวิปากวัฏต่อไป (ในอนาคต) เพราะองค์ปฏิจจสมุปบาทมีวิญญาณเป็นต้น ท่านแสดงไขโดยอ้างถึงชาติ ชรา มรณะ.
               ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้นนั้น ว่าโดยอาการมี ๒๐ อย่าง.
               อนึ่ง ในองค์ปฏิจจสมุปบาทมีสังขารเป็นต้นนี้ ระหว่างสังขารกับวิญญาณ เป็นสนธิหนึ่ง. ระหว่างเวทนากับตัณหา เป็นสนธิหนึ่ง. ระหว่างภพกับชาติ เป็นสนธิหนึ่ง ฉะนี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น ทรงทราบ ทรงแทงตลอดปฏิจจสมุปบาทนี้ซึ่งมีสังเขป ๔ อัทธา ๓ อาการ ๒๐ สนธิ ๓ โดยอาการทุกอย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               ความรู้นั้น ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ (โดยสภาพตามเป็นจริง) ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดปัจจัย ชื่อธรรมฐิติญาณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ธรรมเหล่านั้นตามเป็นจริง ด้วยธรรมฐิติญาณนี้แล้ว ทรงเบื่อหน่ายคลายความพอใจจะพ้นไปในธรรมมีอวิชชาเป็นต้นนั้น จึงได้หักทำลาย กำจัดเสียซึ่งซี่กำทั้งหลายแห่งสังสารจักร มีประการดังกล่าวแล้วนี้. พระองค์ทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะทรงหักกำจักรเสีย แม้ด้วยประการอย่างนี้.#-
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นย่อมควรซึ่งจีวราทิปัจจัยและบูชาวิเศษทั้งหลาย เพราะพระองค์เป็นผู้ควรซึ่งทักษิณาอันเลิศ. เพราะฉะนั้น ในเมื่อพระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เทพและมนุษย์ผู้มเหสักข์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง จึงไม่ทำการบูชาในที่อื่น.
               จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทรงบูชาพระตถาคต ด้วยพวงแก้วเท่าเขาสิเนรุ.
               อนึ่ง เทพและมนุษย์เหล่าอื่นมีพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศลเป็นต้น ก็ทรงบูชาแล้วตามกำลัง.
               อนึ่ง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิ ทรงสร้างพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลังในสกลชมพูทวีป ทรงพระราชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว. ก็จะกล่าวอะไรถึงบูชาวิเศษเหล่าอื่น. เพราะฉะนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะเป็นผู้ควรซึ่งปัจจัยเป็นต้น.
               อนึ่ง เหล่าคนพาลผู้ถือตัวว่าเป็นบัณฑิตพวกไรๆ ในโลก ย่อมทำบาปในที่ลับ เพราะกลัวแต่ความติเตียนฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นย่อมทรงกระทำดังนั้น ในบางครั้งก็หาไม่ เพราะฉะนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหํ แม้เพราะไม่มีความลับในการกระทำบาป.
               ก็ในพระนามนี้ มีคาถาประพันธ์มีเนื้อความดังนี้ว่า
                         พระมุนีนั้น เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ไกล
               และทรงทำลายข้าศึกคือกิเลสทั้งหลาย พระองค์เป็น
               ผู้หักกำแห่งสังสารจักร เป็นผู้ควรปัจจัยเป็นต้น ย่อม
               ไม่ทรงทำบาปในที่ลับ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถวาย
               พระนามว่า อรหํ.
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๕

               [อธิบายพุทธคุณบทว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ]               
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบ และด้วยพระองค์เอง.
               จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสรู้ชอบเองซึ่งธรรมทั้งปวง คือตรัสรู้ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง โดยความเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ตรัสรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ โดยความเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ ตรัสรู้ธรรมที่ควรละ โดยความเป็นธรรมที่ควรละ ตรัสรู้ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง โดยความเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ตรัสรู้ธรรมที่ควรทำให้เจริญ โดยความเป็นธรรมที่ควรทำให้เจริญ.
               ด้วยเหตุนั้นแหละ พระองค์จึงตรัสว่า
                                   สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เราได้รู้ยิ่งแล้ว สิ่งที่
                         ควรให้เจริญ เราก็ให้เจริญแล้ว และสิ่งที่
                         ควรละ เราก็ละได้แล้ว เพราะเหตุนั้น
                         พราหมณ์ เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า.๑-
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๗๗/หน้า ๔๔๔.

               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสรู้ซึ่งธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง แม้ด้วยการยกขึ้นทีละบทอย่างนี้ว่า จักษุเป็นทุกขสัจ, ตัณหาในภพก่อนอันยังจักษุนั้นให้เกิด โดยความเป็นมูลเหตุแห่งจักษุนั้น เป็นสมุทัยสัจ, ความไม่เป็นไปแห่งจักษุและเหตุเกิดแห่งจักษุทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ, ข้อปฏิบัติเป็นเหตุให้รู้นิโรธ เป็นมรรคสัจ.
               ในโสตะ ฆานะ ชิวหา กายและมนะ ก็มีนัยเช่นนี้.
               บัณฑิตพึงประกอบอายตนะ ๖ มีรูปเป็นต้น วิญญาณกาย ๖ มีจักษุวิญญาณเป็นต้น ผัสสะ ๖ มีจักษุสัมผัสเป็นต้น เวทนา ๖ มีจักษุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น สัญญา ๖ มีรูปสัญญาเป็นต้น เจตนา ๖ มีรูปสัญเจตนาเป็นต้น ตัณหากาย ๖ มีรูปตัณหาเป็นต้น วิตก ๖ มีรูปวิตกเป็นต้น วิจาร ๖ มีรูปวิจารเป็นต้น ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น
               กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ สัญญา ๑๐ ด้วยอำนาจอุทธุมาตกสัญญาเป็นต้น อาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ภพ ๙ มีกามภพเป็นต้น ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น อัปปมัญญา ๔ มีเมตตาภาวนาเป็นต้น อรูปสมาบัติ ๔ มีอากาสานัญจายตนะเป็นต้น และองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลมมีชรามรณะเป็นต้น โดยอนุโลมมีอวิชชาเป็นต้น โดยนัยนี้นั่นแล.
               ในชรามรณะเป็นต้นนั้น มีการประกอบบทเดียวดังต่อไปนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสรู้ คือตรัสรู้ตามสมควร ได้แก่แทงตลอดซึ่งธรรมทั้งปวง โดยชอบและด้วยพระองค์เอง ด้วยการยกขึ้นทีละบทอย่างนี้ว่า ชรามรณะเป็นทุกขสัจ ชาติ เป็นสมุทัยสัจ การสลัดออกเสียซึ่งชรามรณะและเหตุเกิดแห่งชรามรณะนั้น แม้ทั้งสองเป็นนิโรธสัจ ข้อปฏิบัติเป็นเหตุให้รู้นิโรธ เป็นมรรคสัจ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวง โดยชอบและด้วยพระองค์เอง.

               [อรรถาธิบายพุทธคุณบทว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน]               
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ชื่อว่าผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ก็เพราะทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ. ในวิชชาและจรณะนั้น วิชชา ๓ ก็ดี วิชชา ๘ ก็ดี ชื่อว่าวิชชา. วิชชา ๓ พึงทราบตามนัยที่ตรัสไว้ในภยเภรวสูตรนั่นแล. วิชชา ๘ ในอัมพัฏฐสูตร. ก็ในวิชชา ๓ และวิชชา ๘ นั้น วิชชา ๘ พระองค์ตรัสประมวลอภิญญา ๖ กับวิปัสสนาญาณและมโนมยิทธิเข้าด้วยกัน. ธรรม ๑๕ นี้ คือ สีลสังวร ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ชาคริยานุโยค สัทธรรม ๗ ฌาน ๔ พึงทราบว่า ชื่อว่าจรณะ.
               จริงอยู่ ธรรม ๑๕ นี้แหละ พระองค์ตรัสเรียกว่าจรณะ เพราะเหตุที่เป็นเครื่องดำเนินคือเป็นเครื่องไปสู่ทิศ คืออมตธรรมของพระอริยสาวก.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนมหานาม พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศีล ดังนี้เป็นต้น.๑-
               ผู้ศึกษาพึงทราบความพิสดาร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยวิชชาเหล่านี้และด้วยจรณะนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ.
               ในความถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะนั้น ความถึงพร้อมด้วยวิชชา ยังความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระสัพพัญญูให้เต็มอยู่. ความถึงพร้อมด้วยจรณะ ยังความที่พระองค์เป็นผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณาให้เต็มอยู่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงรู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ด้วยความเป็นสัพพัญญู แล้วทรงเว้นสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เสีย ด้วยความเป็นผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงชักนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะฉะนั้นแล.
               เพราะเหตุนั้น เหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นจึงเป็นผู้ปฏิบัติดี หาเป็นผู้ปฏิบัติชั่วไม่. พวกสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น หาเป็นผู้ปฏิบัติชั่วเหมือนอย่างเหล่าสาวกของพวกบุคคลผู้มีวิชชาและจรณะวิบัติ ทำตนให้เดือดร้อนเป็นต้นฉะนั้นไม่.
____________________________
๑- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๒๗/หน้า ๒๖.

               [อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า สุคโต]               
               #- สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุคโต เพราะภาวะที่ทรงดำเนินไปงาม เพราะภาวะที่เสด็จไปยังสถานที่ดี เพราะภาวะที่เสด็จไปโดยชอบ และเพราะภาวะที่ตรัสไว้โดยชอบ.
               ก็แม้ คมนํ จะกล่าวว่า คตํ ก็ได้. และการทรงดำเนินนั้นได้แก่อะไร? ได้แก่ทางอันประเสริฐ. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเสด็จไปได้ยังทิศอันเกษม ไม่ข้องขัดด้วยการเสด็จไปนั้น เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะภาวะที่ทรงดำเนินไปงาม.
               อนึ่ง พระองค์เสด็จไปยังสถานที่ดี คืออมตนิพพาน เพราะฉะนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต แม้เพราะเสด็จไปยังสถานที่ดี. อนึ่ง พระองค์เสด็จไปโดยชอบ เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต เพราะไม่กลับมาหาเหล่ากิเลสที่มรรคนั้นๆ ละได้แล้ว.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงพระนามว่า สุคโต เพราะอรรถว่าไม่กลับมา ไม่คืนมา ไม่หวนกลับมาหาเหล่ากิเลสที่โสดาปัตติมรรคละได้แล้ว ฯลฯ พระองค์ทรงพระนามว่า สุคโต เพราะอรรถว่าไม่กลับมา ไม่คืนมา ไม่หวนกลับมาหาเหล่ากิเลสที่อรหัตมรรคละได้แล้ว.
               อีกประการหนึ่ง พระองค์เสด็จไปโดยชอบ คือเสด็จไปทรงกระทำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่โลกทั้งหมดอย่างเดียว ด้วยการปฏิบัติชอบที่ทรงบำเพ็ญมาด้วยอำนาจพระบารมี ๓๐ ทัศ กำหนดจำเดิมตั้งแต่แทบพระบาทของพระพุทธทีปังกรจนถึงควงไม้โพธิ์ และไม่เสด็จเข้าไปใกล้ส่วนสุดเหล่านี้คือ เรื่องเที่ยง เรื่องขาดสูญ ความสุขในกาม ความทำตนให้ลำบาก เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต แม้เพราะเสด็จไปโดยชอบ. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบ คือตรัสพระวาจาที่ควร ในฐานะที่ควรเท่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สุคโต แม้เพราะตรัสโดยชอบ.
               ในข้อนั้นมีพระสูตรเป็นเครื่องสาธกดังต่อไปนี้ว่า๑-
               พระตถาคตทรงรู้วาจาใด ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนพวกอื่น พระตถาคตย่อมไม่ตรัสพระวาจานั้น, พระตถาคตทรงรู้วาจาใด จริง แท้ แต่ไม่เป็นประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนพวกอื่น วาจาแม้นั้น พระตถาคตก็ไม่ตรัส.
               ก็แลพระตถาคตทรงรู้วาจาใด จริง แท้ เป็นประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนพวกอื่น ในวาจานั้น พระตถาคตก็ทรงเป็นกาลัญญู (ผู้รู้กาล) เพื่อพยากรณ์วาจานั้น.
               พระตถาคตทรงรู้วาจาแม้ใด ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนเหล่าอื่น พระตถาคตไม่ตรัสวาจานั้น, พระตถาคตทรงรู้วาจาแม้ใด จริง แท้ แต่ไม่เป็นประโยชน์และวาจานั้นเป็นที่รักเป็นที่ชอบของคนเหล่าอื่น วาจาแม้นั้น พระตถาคตก็ไม่ตรัส, ก็แลพระตถาคตทรงรู้วาจาใด จริง แท้ เป็นประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนเหล่าอื่น ในวาจานั้น พระตถาคตก็เป็นกาลัญญู (ผู้รู้กาล) เพื่อพยากรณ์วาจานั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า สุคโต แม้เพราะตรัสพระวาจาชอบด้วยประการฉะนี้.
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลีแปลออกสอบในสนามหลวง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖.
๑- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๙๔/หน้า ๙๑

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :