ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
เวรัญชกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๙ / ๑๕.

               [อรรถาธิบายศัพท์ต่างๆ มี เอตํ ศัพท์เป็นต้น]               
               เวรัญชพราหมณ์นั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล จึงได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ด้วยบทว่า เอตํ เป็นต้น พระอาจารย์แสดงใจความที่ควรจะกล่าวในบัดนี้.
                อักษร ทำการต่อบท. บทว่า อโวจ แปลว่า ได้กราบทูลแล้ว. ประชุมบทว่า สุตมฺเมตํ ตัดบทเป็น สุตํ เม ตํ แปลว่า ข้อนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว. พระอาจารย์แสดงในความที่ควรกล่าวในบัดนี้ด้วยคำว่า เอตํ มยา สุตํ เป็นต้น.
               เวรัญชพราหมณ์ย่อมทูลเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยพระโคตรว่า โภ โคตม แปลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บัดนี้ ท่านพระอุบาลีเถระ เมื่อจะแสดงข้อความที่เวรัญพราหมณ์นั้นได้ฟังแล้ว จึงได้กล่าวคำมีอาทิอย่างนี้ว่า น สมโณ โคตโม.
               ในคำว่า สมโณ โคตโม เป็นต้นนั้นมีการพรรณนาบทที่ไม่ง่ายดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า พฺราหฺมเณ ได้แก่ พราหมณ์โดยชาติ.
               บทว่า ชิณฺเณ ได้แก่ เป็นคนแก่คร่ำคร่า คือถูกชราส่งให้ไปถึงความเป็นผู้มีอวัยวะหักเป็นท่อนเป็นต้น.
               บทว่า วุฑฺเฒ ได้แก่ ผู้เข้าเขตแห่งความเจริญแห่งอวัยวะน้อยใหญ่. บทว่า มหลฺลเก คือผู้มาตามพร้อมแล้ว ด้วยความเป็นคนแก่โดยชาติ. มีคำอธิบายว่า ผู้เกิดมานานแล้ว. บทว่า อทฺธคเต ได้แก่ ผู้ผ่านกาลมานานแล้ว. อธิบายว่า ผู้ล่วงเลยมา ๒-๓ ชั่วรัชกาลแล้ว. บทว่า วโยอนุปตฺเต ได้แก่ ผู้ย่างเข้าปูนปัจฉิมวัยแล้ว. ส่วนที่ ๓ อันมีในที่สุดแห่งร้อยปี ชื่อว่า ปัจฉิมวัย (คือวัยสุดท้าย).
               อีกอย่างหนึ่ง ในบททั้งหลายมีบทว่า ชิณฺเณ เป็นต้นนี้ พึงทราบโยชนาอย่างนี้ว่า บทว่า ชิณฺเณ ได้แก่ ผู้เกิดก่อน. มีอธิบายว่า ผู้คล้อยตามตระกูลที่เป็นไปตลอดกาลนาน.
               บทว่า วุฑฺเฒ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเจริญแห่งคุณมีศีลและมรรยาทเป็นต้น. บทว่า มหลฺลเก คือ ผู้มาตามพร้อมแล้ว ด้วยความเป็นผู้มีสมบัติมาก คือผู้มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก. บทว่า อทฺธคเต ได้แก่ ผู้ดำเนินไปตลอดทางแล้ว คือผู้ประพฤติไม่ก้าวล่วงเขตแดนแห่งคุณมีวัตรจริยาเป็นต้น ของพวกพราหมณ์. บทว่า วโยอนุปฺปตฺเต ได้แก่ ผู้ย่างเข้าถึงความเป็นคนแก่โดยชาติคือวัยที่สุดโต่ง.
               บัดนี้ บัณฑิตพึงประกอบบททั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า อภิวาเทติ ด้วย อักษร ที่ท่านกล่าวไว้ในคำว่า น สมโณ โคตโม นี้ แล้วทราบตามเนื้อความอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่กราบไหว้ ไม่ลุกรับ ทั้งไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จนนั่งบนอาสนะนี้.
               จริงอยู่ วาศัพท์ซึ่งมีอยู่ในเป็นต้นว่า อภิวาเทติ นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถชื่อว่า วิภาวนะ (คือคำประกาศตามปกติของชาวโลก) ดุจวาศัพท์ในประโยคเป็นต้นว่า รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง.
               เวรัญชพราหมณ์ ครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว ลำดับนั้น เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไม่ทรงทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นแก่ตน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ คำที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วนี้นั้น เป็นเช่นนั้นจริง.
               อธิบายว่า คำนั้นใดที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว, คำนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นจริง คือข้อที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาและได้เห็นมานั้น ย่อมสมกันคือเสมอกัน ได้แก่ถึงความเป็นอย่างเดียวกันโดยความหมาย.
               เวรัญชพราหมณ์กล่าวย้ำเรื่องที่ตนได้ฟังมาพร้อมทั้งที่ตนได้เห็นมา อย่างนี้ว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญไม่กราบไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะเลย เมื่อจะตำหนิ (พระพุทธองค์) จึงกราบทูลว่า ตยิทํ โภ โคตม น สมฺปนฺนเมว ดังนี้. มีอธิบายว่า การที่พระองค์ไม่ทรงทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น ไม่สมควรเลย.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้าน]               
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงเข้าไปอาศัยโทษคือการกล่าวยกตนข่มท่าน แต่มีพระประสงค์จะทรงกำจัดความไม่รู้นั้น ด้วยพระหฤทัยที่เยือกเย็นเพราะกรุณา แล้วแสดงความเหมาะสมแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพดาและมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลผู้ที่เราควรกราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ, เพราะว่าตถาคตพึงกราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ, แม้ศีรษะของบุคคลนั้น ก็พึงตกไป.
               ในคำว่า นาหนฺตํ เป็นต้นนั้น มีเนื้อความสังเขปดังนี้คือ :-
               ดูก่อนพราหมณ์ เราแม้ตรวจดูอยู่ด้วยจักษุคือสัพพัญญุตญาณ ซึ่งไม่มีอะไรขัดขวางได้ ก็ไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรกราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ในโลกต่างโดยประเภทมีเทวโลกเป็นต้นนี้เลย,
               อีกอย่างหนึ่ง ข้อที่เราได้บรรลุความเป็นสัพพัญญูในวันนี้ ไม่เล็งเห็นบุคคลผู้ที่ควรทำการนอบน้อมเห็นปานนั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย, อีกประการหนึ่งแล แม้ในกาลใด เราเกิดได้ครู่หนึ่งเท่านั้น ก็ผินหน้าไปทางด้านทิศอุดร เดินไปได้ ๗ ก้าวแล้วได้ตรวจดูหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น, แม้ในกาลนั้น เราก็มิได้เล็งเห็นบุคคลที่เราควรกราบไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ในโลกต่างโดยประเภทมีเทวโลกเป็นต้นนี้เลย, คราวนั้นแล ถึงท้าวมหาพรหมผู้เป็นพระขีณาสพ ซึ่งมีอายุได้หนึ่งหมื่นหกพันกัป ก็ได้ประคองอัญชลี เกิดความโสมนัส ต้อนรับเราว่า ท่านเป็นมหาบุรุษในโลก, ท่านเป็นผู้เลิศ เจริญที่สุด และประเสริฐที่สุดแห่งโลก พร้อมทั้งเทวโลก, บุคคลผู้เยี่ยมกว่าท่าน ย่อมไม่มี,
               อนึ่ง แม้ในกาลนั้น เราเมื่อไม่เล็งเห็นบุคคลผู้เยี่ยมกว่าตน จึงได้เปล่งอาสภิวาจาว่า เราเป็นยอดแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก๑- ดังนี้, บุคคลผู้ที่ควรแก่สามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นของเราแม้ผู้เกิดได้ครู่เดียว ยังไม่มี ด้วยประการฉะนี้, บัดนี้ เรานั้นได้บรรลุความเป็นสัพพัญญูแล้ว จะพึงกราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญใครด้วยอาสนะเล่า?
               ดูก่อนพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น ท่านอย่าได้ปรารถนาการทำความนอบน้อมเห็นปานนั้น จากตถาคตเลย,
               ดูก่อนพราหมณ์ เพราะว่า ตถาคตพึงกราบไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญบุคคลใดด้วยอาสนะ, แม้ศีรษะของบุคคลนั้นพึงขาดจากคอตกลงไปบนพื้นดิน โดยเร็วพลันทีเดียว ดุจผลตาลที่มีเครื่องผูกหย่อนเพราะแก่หง่อม หล่นจากขั้วในที่สุดแห่งราตรี ฉะนั้น.
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๖.

               [เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้าว่าเป็นคนไม่มีรส]               
               แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ก็กำหนดไม่ได้ถึงข้อความที่พระตถาคตเจ้าเป็นเชษฐบุรุษในโลก เพราะทรามปัญญา ไม่ยอมอดกลั้นพระดำรัสนั้นถ่ายเดียว จึงกล่าวว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นคนไม่มีรส.
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นมีความประสงค์ดังนี้ว่า สามีจิกรรมคือการกราบไหว้ การลุกรับ และประนมมือไหว้อันใด ที่ประชาชนเรียกอยู่ในโลกว่า สามัคคีรส สามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น ของพระโคดมผู้เจริญ ย่อมไม่มี, เพราะฉะนั้น พระโคดมผู้เจริญจึงเป็นคนไม่มีรส คือมีพระชาติไม่มีรส มีสภาพไม่มีรส.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะให้พราหมณ์นั้นเกิดใจอ่อน จึงทรงหลีกหนีความเป็นข้าศึกโดยตรงเสีย ทรงรับสมเนื้อความแห่งคำนั้นโดยประการอื่นในพระองค์ จึงตรัสว่า พราหมณ์ บรรยายนี้มีอยู่แล ดังนี้เป็นต้น.

               [ปริยายศัพท์ลงในอรรถ ๓ อย่าง]               
               ในคำว่า ปริยาโย เป็นต้นนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
               การณะชื่อว่า ปริยาย.
               จริงอยู่ ปริยายศัพท์นี้ ย่อมเป็นไปในเทศนา วาระและการณะ.
               ความจริง ปริยายศัพท์นั่นย่อมเป็นไปในเทศนา ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ท่านจงทรงจำพระสูตรนั้นไว้ว่า มธุปิณฑิกเทศนา๑- ดังนี้นั่นเทียว.
               เป็นไปในวาระ ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ดูก่อนอานนท์ วันนี้เป็นวาระของใครหนอแล เพื่อโอวาทนางภิกษุณีทั้งหลาย.
               เป็นไปในการณะ ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดตรัสบอกปริยาย (เหตุ) อื่น โดยอาการที่ภิกษุสงฆ์จะพึงดำรงอยู่ในความเป็นพระอรหันต์.
               ในที่นี้ ปริยายศัพท์นี้นั้น ย่อมเป็นไปในการณะ (เหตุ).
               เพราะฉะนั้น ในบทว่า ปริยาโย นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลกล่าวหาเราอยู่ว่า พระโคดมผู้เจริญเป็นคนไม่มีรส ดังนี้ พึงพูดถูก คือพึงถึงความนับว่า เป็นผู้พูดไม่ผิด เพราะเหตุใด เหตุนั่นมีอยู่จริงแล.
               ถามว่า ก็ปริยาย (เหตุ) นั้น เป็นไฉน?
               แก้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ รสในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านั้นใด, รสในรูปเป็นต้นเหล่านั้น ตถาคตละได้แล้ว.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายไว้อย่างไร?
               แก้ว่า ตรัสอธิบายไว้อย่างนี้ คือ รสในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กล่าวคือความยินดีในกามสุขเหล่านั้นใด ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนทั้งหลาย แม้ผู้ที่ชาวโลกสมมติว่า เป็นผู้ประเสริฐ ด้วยอำนาจชาติ หรือด้วยอำนาจความอุบัติ ผู้ยังยินดี เพลิดเพลิน กำหนัดในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้น, รสเหล่าใด ย่อมฉุดรั้งโลกนี้ไว้เหมือนผูกที่คอ และบัณฑิตเรียกว่า สามัคคีรส เพราะเมื่อมีความพร้อมเพรียงกันแห่งวัตถุและอารมณ์เป็นต้น ก็เกิดขึ้นได้ รสเหล่านั้นแม้ทั้งหมด พระตถาคตละได้แล้ว.
               แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าควรจะตรัสว่า อันเราละได้แล้ว ก็ทรงแสดงธรรม ไม่ยกพระองค์ขึ้นข่มด้วยมมังการ. อีกนัยหนึ่ง นั่นเป็นความวิลาสแห่งเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๔๓

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละรสในรูปเป็นต้นได้เด็ดขาด]               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหีนา ความว่า รสในรูปเป็นต้น ปราศไปจากจิตตสันดาน (ของพระตถาคต) หรืออันพระตถาคตทรงละได้แล้ว. แต่ในอรรถนี้ พึงเห็นฉัฏฐีวิภัตติ ลงในอรรถตติยาวิภัตติ.
               รสในรูปเป็นต้นชื่อว่ามีรากเหง้าอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดขาดแล้ว เพราะอรรถว่า รากเหง้าแห่งความเยื่อใยในรูปเป็นต้นเหล่านั้น อันสำเร็จมาจากตัณหาและอวิชชา อันพระองค์ทรงตัดขาดแล้ว ด้วยศัสตราคืออริยมรรค. ชื่อว่าอันพระองค์ทรงทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน เพราะอรรถว่า วัตถุแห่งรูปรสเป็นต้นเหล่านั้นอันพระองค์ทรงทำให้เป็นเหมือนตอตาลฉะนั้น.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อบุคคลถอนต้นตาลขึ้นพร้อมทั้งรากแล้ว กระทำประเทศนั้นให้เป็นสักว่าตอแห่งต้นตาลนั้น ความเกิดขึ้นแห่งต้นตาลนั้น ย่อมปรากฏไม่ได้อีกฉันใด, เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถอนรสในรูปเป็นต้นขึ้นพร้อมทั้งราก ด้วยศัสตราคืออริยมรรคแล้ว ทรงทำจิตตสันดานให้เป็นเพียงที่ตั้งแห่งรสในรูปเป็นต้นนั้น โดยความเป็นสถานที่เคยเกิดมาในกาลก่อน รสในรูปเป็นต้นเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่า ตาลาวัตถุตา (ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน) ฉันนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง รูปาทิรสเป็นต้นเหล่านั้น มีอันไม่งอกขึ้นเป็นธรรมดา อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้เหมือนตาลยอดด้วนฉะนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ตาลาวัตถุกตา (อันพระองค์ทรงทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วนแล้ว).
               อนึ่ง เพราะรูปาทิรสเป็นต้น พระองค์ทรงทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน โดยนัยที่กล่าวแล้วอย่างนั้น ชื่อว่า เป็นอันพระองค์ทรงทำไม่ให้มีในภายหลัง คือทรงทำโดยอาการที่รูปาทิรสเป็นต้นเหล่านั้น จะมีในภายหลังไม่ได้,
               ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า อนภาวํ กตา (กระทำไม่ให้มีในภายหลัง).

               [อรรถาธิบายศัพท์ อนภาวํ กตา - อนภาวํ คตา]               
               ในบทว่า อนภาวํ กตา นี้ตัดบทดังนี้ คือ อนุ อภาวํ กตา เชื่อมบทเป็น อนภาวํ กตา แปลว่า ทำไม่ให้มีในภายหลัง. ปาฐะว่า อนภาวํ คตา ดังนี้ก็มี. ความแห่งปาฐะนั้นว่า ถึงแล้วซึ่งความไม่มีในภายหลัง. ในบทว่า อนภาวํ คตา นั้นตัดบทดังนี้ คือ อนุ อภาวํ คตา เชื่อมบทเป็น อนภาวํ คตา แปลว่า ถึงแล้วซึ่งความไม่มีในภายหลัง เหมือนการตัดบทในประโยคว่า อนุอจฺฉริยา เชื่อมบทเป็น อนจฺฉริยา แปลว่า พระคาถาเหล่านี้มีความอัศจรรย์ในภายหลัง แจ่มแจ้งแล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.๑-
               สองบทว่า อายตึ อนุปฺปาทธมฺมา แปลว่า มีอันไม่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นสภาพ. จริงอยู่ รูปรสเป็นต้นเหล่าใด ที่ถึงความไม่มีแล้ว รูปรสเป็นต้นเหล่านั้น จักเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า? เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ถึงแล้วซึ่งความไม่มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป.
               หลายบทว่า อยํ โข พฺราหฺมณ ปริยาโย ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลกล่าวหาเราอยู่ว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีรส ดังนี้ ชื่อว่าพึงพูดถูก ด้วยเหตุใด, เหตุนี้มีอยู่จริงๆ.
               หลายบทว่า โน จ โข ยํ ตฺวํ สนฺธาย วเทสิ ความว่า ก็แล เหตุที่ท่านกล่าวมุ่งหมายเอากะเราไม่มี.
               ถามว่า เพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น?
               เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้น ย่อมเป็นอันทรงรับรองความที่สามัคคีรส ซึ่งพราหมณ์กล่าวนั้นมีอยู่ในพระองค์มิใช่หรือ?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               สามัคคีรสที่พราหมณ์กล่าวหามีไม่. แท้จริง ผู้ใดเป็นผู้ควรเพื่อทำสามัคคีรสนั้น แต่ไม่ทำ, ผู้นั้นพึงเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นคนมีรูปไม่มีรส เพราะไม่มีการทำสามัคคีรสนั้น. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ควรเพื่อทรงทำสามัคคีรสนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกาศข้อความที่พระองค์เป็นผู้ไม่ควรในการทำสามัคคีรสนั้น จึงได้ตรัสว่า โน จ โข ยํ ตฺวํ สนฺธาย วเทสิ อธิบายว่า ท่านมุ่งหมายถึงเหตุอันใด จึงกล่าวกะเราว่า เป็นคนไม่มีรส เหตุอันนั้น ท่านไม่ควรพูดในเราเลย.
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๔๒. วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๗

               [เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ไร้โภคะ]               
               พราหมณ์ไม่สามารถจะยกความที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นคนไม่มีรส (ขึ้นข้อนขอด) ตามที่ตนประสงค์อย่างนั้น จึงกล่าวคำอื่นต่อไปอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้ไร้โภคะ.
               อนึ่ง บัณฑิตครั้นทราบลำดับโยชนาโดยนัยดังกล่าวแล้วนั้นแหละ ในปริยายทั้งปวงในพระบาลีนี้ ก็ควรทราบใจความตามที่พราหมณ์มุ่งกล่าวไว้โดยนัยดังจะกล่าวต่อไปนี้ :-
               พราหมณ์สำคัญสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เหล่าชนผู้เจริญวัยเป็นต้นนั้นนั่นแลว่า เป็นสามัคคีบริโภคในโลก จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้รู้โภคะ เพราะความไม่มีสามีจิกรรม มีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นความไม่มีการบริโภคด้วยอำนาจฉันทราคะ (ดุจ) ของสัตว์ทั้งหลาย ในรูปารมณ์เป็นต้น ในพระองค์ จึงทรงรับรองบรรยายอื่นอีก.
               พราหมณ์พิจารณาเห็นการไม่กระทำกรรมคือมรรยาทสำหรับสกุล มีการกราบไหว้เหล่าชนผู้เจริญวัยเป็นต้น ที่ประชาชนชาวโลกทำกันอยู่ในโลก จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้กล่าวการไม่กระทำ. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นการกล่าว การไม่กระทำนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ เพราะพระองค์ตรัสการไม่กระทำกายทุจริตเป็นต้น จึงทรงรับรองบรรยายอื่นอีก.
               ก็เจตนาในการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป ในการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้และในมิจฉาจาร พึงทราบว่า กายทุจริต ในบรรดาบทเหล่านั้น.
               เจตนาในการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ พึงทราบว่า วจีทุจริต. ความโลภอยากได้ ความปองร้าย ความเห็นผิด พึงทราบว่า มโนทุจริต. อกุศลธรรมทั้งหลายที่เหลือ เว้นธรรมเหล่านั้นเสีย พึงทราบว่า อกุศลธรรมอันลามกมีส่วนมิใช่น้อย.

               [เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้กล่าวการขาดสูญ]                พราหมณ์ไม่เห็นกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้นแล ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าใจว่า อาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ แบบแผนประเพณีของโลกนี้ ก็จักขาดสูญ จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญเป็นผู้กล่าวการขาดสูญ.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นการกล่าวการขาดสูญนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ เพราะพระองค์ตรัสการขาดสูญแห่งราคะอันเป็นไปในกามคุณ ๕ ในจิตตุปบาทอันสหรคตด้วยโลภะ ๘ ดวง และโทสะอันบังเกิดขึ้นในอกุศลจิต ๒ ดวง ด้วยอนาคามิมรรค อนึ่ง ตรัสการขาดสูญแห่งโมหะอันเกิดแต่อกุศลทั้งหมดไม่มีเหลือ ด้วยอรหัตมรรค ตรัสการขาดสูญแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่เหลือ นอกจากโลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ นั้นด้วยมรรค ๔ ตามสมควร จึงทรงรับรองบรรยายอื่นอีก.

               [เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้รังเกียจ]               
               พราหมณ์เข้าใจว่า พระสมณโคดม ชะรอยจะทรงรังเกียจกรรมคือมรรยาทสำหรับสกุลมีการกราบไหว้เหล่าชนผู้เจริญวัยเป็นต้นนี้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงไม่ทรงกระทำกรรมนั้น จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้รังเกียจ.                แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นความรังเกียจนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรังเกียจแต่กายทุจริตเป็นต้น. พระองค์ตรัสอธิบายไว้อย่างไร. ตรัสอธิบายไว้ว่า ทรงรังเกียจ ทรงละอาย กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ และความเข้าถึงความถึงพร้อม ความเป็นผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยธรรมทั้งหลายที่เหลือ เว้นทุจริตเหล่านั้นที่ชื่อว่าชั่วช้า เพราะอรรถว่าเลวทราม ที่ชื่อว่าอกุศล เพราะอรรถว่า เป็นความไม่ฉลาด แม้ทั้งหมด เหมือนบุรุษผู้มีชาติคนประดับ รังเกียจคูถฉะนั้น จึงทรงรับรองบรรยายอื่นอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กายทุจฺจริเตน เป็นต้น พึงเห็นตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ.

               [เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้กำจัด]               
               พราหมณ์ เมื่อไม่เล็งเห็นกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นแล ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าใจว่า พระโคดมนี้ ย่อมทรงกำจัด คือทรงทำกรรมที่ควรทำแก่ผู้ประเสริฐในโลกนี้ ให้พินาศ, อีกอย่างหนึ่ง เพราะไม่ทรงทำสามีจิกรรมนั่น ฉะนั้น พระโคดมนี้ จึงควรถูกกำจัด คือควรถูกข่มขี่ จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้กำจัด.
               ในบทว่า เวนยิโก นั้น มีใจความเฉพาะบท ดังต่อไปนี้ :-
               อุบายที่ชื่อว่า วินัย เพราะอรรถว่า ย่อมกำจัด. อธิบายว่า ย่อมทำให้พินาศ. วินัยนั่นแลชื่อ เวนยิกะ. อีกอย่างหนึ่ง บุคคลย่อมควรซึ่งการกำจัด เหตุนั้นจึงชื่อว่า เวนยิกะ (ผู้ควรกำจัด). มีอธิบายว่า ย่อมควรซึ่งอันข่มขี่. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเป็นผู้ชื่อว่าทรงกำจัด เพราะพระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อกำจัด คือเพื่อความสงบกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น.
               ในบทว่า เวนยิโก นี้ มีใจความเฉพาะบทเท่านี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เวนยิกะ เพราะอรรถว่า ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อกำจัด (กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น).
               จริงอยู่ วิธีพฤทธิ์แห่งศัพท์ตัทธิต เป็นของวิจิตร. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้นั้นทรงพิจารณาเห็นความเป็นผู้กำจัดนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ จึงทรงรับรองบรรยายอื่นอีก.

               [เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้มักเผาผลาญ]               
               พราหมณ์เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ย่อมเผาผลาญเหล่าชนผู้เจริญวัย เพราะชนทั้งหลายเมื่อกระทำสามีจิกรรมมีการกราบไหว้เป็นต้น ย่อมทำเหล่าชนผู้เจริญวัยให้ยินดี ให้ร่าเริง แต่เมื่อไม่กระทำ ย่อมทำให้เดือดร้อน ให้ขัดเคือง ให้เกิดโทมนัสแก่พวกเขา และพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่กระทำสามีจิกรรมเหล่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เป็นคนกำพร้า เพราะเป็นผู้เว้นจากมรรยาทของคนดี จึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระสมณโคดมผู้เจริญ เป็นผู้มักเผาผลาญ.
               ในอรรถวิกัปแรกนั้น มีใจความเฉพาะบทดังต่อไปนี้ :-
               ธรรมที่ชื่อ่ว่า ตบะ เพราะอรรถว่า เผาผลาญ. มีคำอธิบายว่า ย่อมรบกวน คือย่อมเบียดเบียน. คำว่า ตบะ นี้ เป็นชื่อแห่งการทำสามีจิกรรม. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตปัสสี เพราะอรรถว่า ทรงมีตบะ. ในอรรถวิกัปที่สอง บัณฑิต ไม่ต้องพิจารณาถึงพยัญชนะ เรียกคนกำพร้าในโลกว่า ตปัสสี. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาเห็นความมักเผาผลาญนั้น (มีอยู่) ในพระองค์ เพราะพระองค์ถึงการนับว่าเป็นผู้เผาผลาญ เพราะทรงละเหล่าอกุศลธรรมที่เรียกว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน เพราะเผาผลาญชาวโลก จึงทรงรับรองบรรยายอื่นอีก.
               ในบทว่า ตปสฺสี นั้น มีใจความเฉพาะบท ดังต่อไปนี้ :-
               อกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ตบะ เพราะอรรถว่า เผาผลาญ. คำว่า ตบะ นั่นเป็นชื่อแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย. แม้ข้อนี้ ก็สมจริงดังพระดำรัสที่พระองค์ตรัสไว้ในคาถาว่า บุคคลผู้ทำบาป เดือดร้อนอยู่ในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน๑- ดังนี้เป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า ตปัสสี เพราะอรรถว่า ทรงเหวี่ยง ทรงสลัด ทรงละ คือทรงกำจัดตบะธรรมเหล่านั้นเสีย.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๑

               [เวรัญชพราหมณ์กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ปราศจากครรภ์]               
               พราหมณ์เข้าใจว่า กรรมมีการกราบไหว้เป็นต้นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าถึงพร้อมแห่งครรภ์ในเทวโลก เพื่อได้เฉพาะ ซึ่งปฏิสนธิในเทวโลก และเห็นกรรมนั้นไม่มีในพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอีกว่า พระโคดมผู้เจริญ เป็นผู้ปราศจากครรภ์.
               อีกอย่างหนึ่ง พราหมณ์ แม้เมื่อแสดงโทษ เพราะการถือปฏิสนธิในท้องแห่งมารดาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอำนาจความโกรธ จึงกล่าวอย่างนั้น.
               ในบทว่า อปคพฺโภ นั้น มีใจความเฉพาะบท ดังต่อไปนี้ :-
               พระสมณโคดม ชื่อว่า อปคัพภะ เพราะอรรถว่า ปราศจากครรภ์. อธิบายว่า พระสมณโคดมไม่สมควรถึงความบังเกิดยังเทวโลก. อีกอย่างหนึ่ง ครรภ์ของพระสมณโคดมนั้นเลว เหตุนั้น ท่านจึงชื่อ อปคัพภะ. อธิบายว่า พระสมณโคดม ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนได้แต่ครรภ์ที่เลวทรามต่อไป เพราะเป็นผู้เหินห่างจากครรภ์ในเทวโลก, เพราะเหตุนั้น ความอยู่ในครรภ์ ในท้องแห่งมารดาของพระสมณโคดมนั้น จึงเป็นการเลวบ้าง.
               ก็เพราะความนอนในครรภ์ต่อไปของพระผู้มีพระภาคเจ้าปราศจากไปแล้ว ฉะนั้น พระองค์เมื่อทรงพิจารณาเห็นความปราศจากครรภ์นั้น (มีอยู่) ในพระองค์ จึงทรงรับรองบรรยายอื่นอีก.
               ก็บรรดาบทเหล่านั้นใจความแห่งบทเหล่านี้ว่า ยสฺส โข พฺราหฺมณ อายตึ คพฺภเสยฺยา ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ ปหีนา พึงทราบอย่างนี้ :-
               ดูก่อนพราหมณ์ ความนอนในครรภ์ในอนาคต และความเกิดในภพใหม่ของบุคคลใด ชื่อว่าละได้แล้ว เพราะมีเหตุอันมรรคยอดเยี่ยมกำจัดเสียแล้ว.
               ก็ในอธิการนี้ ชลาพุชะกำเนิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาด้วยคัพภเสยศัพท์. กำเนิดนอกนี้อีก ๓ ทรงถือเอาด้วยปุนัพภวาภินิพพัตติศัพท์.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในสองบทว่า คพฺภเสยฺยา ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ นี้ อย่างนี้ว่าความนอนแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ชื่อว่า คพฺภเสยฺยา ความบังเกิด คือภพใหม่ ชื่อว่า ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ เหมือนอย่างว่า แม้เมื่อกล่าวว่า วิญญาณฐิติ ที่ตั้งอื่นจากวิญญาณไป ย่อมไม่มี ฉันใด แม้ในที่นี้ก็ฉันนั้น ไม่พึงเข้าใจความนอนอื่นจากสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ต่อไป. ก็ขึ้นชื่อว่า ความบังเกิดที่เป็นภพใหม่ก็มี ที่ไม่ใช่ภพใหม่ก็มี แต่ในที่นี้ประสงค์เอาที่เป็นภพใหม่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ความบังเกิด คือภพใหม่ ชื่อปุนัพภวาภินิพพัตติ.
               #- พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ผู้เป็นพระธรรมิศร พระธรรมราชา พระธรรมสวามี พระตถาคต ทรงทอดพระเนตรดูพราหมณ์ แม้ผู้ด่าอยู่ด้วยอักโกสวัตถุ ๘ มีความที่พระองค์มีปกติไม่ไยดีในรูปเป็นต้น จำเดิมแต่กาลที่มาถึงโดยประการฉะนี้ ด้วยพระจักษุอันเยือกเย็นด้วยพระกรุณาอย่างเดียว ทรงกำจัดความมืดในหทัยของพราหมณ์ ดุจพระจันทร์เพ็ญและดุจพระอาทิตย์ในสรทกาล ลอยอยู่ในอากาศอันปราศจากเมฆ ฉะนั้น เพราะพระองค์ทรงแทงตลอดธรรมธาตุอันใดแล้วถึงความงามแห่งเทศนา ธรรมธาตุนั้นพระองค์แทงตลอดดีแล้ว ทรงแสดงอักโกสวัตถุเหล่านั้นนั่นเอง โดยประการอย่างอื่นจากปริยายนั้นๆ แล้ว เมื่อจะประกาศความแผ่ไปแห่งพระกรุณาของพระองค์ ลักษณะแห่งตาทิคุณอันพระองค์ทรงได้แล้ว โดยความที่พระองค์มิได้ทรงหวั่นไหว เพราะโลกธรรม ๘ ความที่พระองค์มีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน และความที่พระองค์มีอันไม่กำเริบเป็นธรรมซ้ำอีก
               ทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้ย่อมทราบความที่ตนเป็นใหญ่ ด้วยเหตุมีความเป็นผู้มีผมหงอกบนศีรษะ มีฟันหัก มีหนังเหี่ยวเป็นต้นอย่างเดียว แต่หารู้ไม่แล ซึ่งตนอันชาติติดตาม ชรารึงรัด พยาธิครอบงำ มรณะกำจัด เป็นดุจหลักตอในวัฏฏะอันจะพึงตายในวันนี้แล้ว ถึงความเป็นทารกนอนหงายในพรุ่งนี้อีก ก็พราหมณ์นี้มาสู่สำนักของเราด้วยความอุตสาหะใหญ่แล ขอให้การมาของพราหมณ์นั้น จงเป็นไปกับด้วยประโยชน์เถิด ดังนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่พระองค์เป็นผู้เกิดก่อน ซึ่งหาผู้เทียมถึงพระองค์มิได้ ในโลกนี้ จึงยังพระธรรมเทศนาให้เจริญแก่พราหมณ์โดยนัยว่า เสยฺยถาปิ พฺราหฺมณ เป็นต้น
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยถา เป็นนิบาต ลงในอรรถคืออุปมา.
               ปิศัพท์ เป็นนิบาต ลงในอรรถ คือสัมภาวนะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ยถา นาม พฺราหฺมณ ด้วยนิบาตทั้งสอง,
               ก็ในคำว่า ฟองไข่แห่งแม่ไก่ ๘ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง นี้ ฟองไข่แห่งแม่ไก่ ถึงจะมีจำนวนหย่อนหรือเกินไปจากประการดังที่กล่าวแล้ว แม้ก็จริง ถึงกระนั้นก็ควรทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำอย่างนี้ เพราะเป็นความสละสลวยแห่งถ้อยคำ. จริงอยู่ ถ้อยคำเช่นนั้น จัดว่าเป็นคำสละสลวย ในทางโลก.
               บทว่า ตานิสฺสุ ตัดบทเป็น ตานิ อสฺสุ อธิบายว่า ภเวยฺยุํ แปลว่า ไข่เหล่านั้นพึงมี.
               หลายบทว่า กุกฺกุฏิยา สมฺมา อธิสยิตานิ ความว่า ฟองไข่ทั้งหลายอันแม่ไก่ตัวให้กำเนิดนั้น กางปีกออกนอนกกอยู่ข้างบนแห่งฟองไข่เหล่านั้น ชื่อว่านอนกกอยู่โดยถูกต้อง.
               สองบทว่า สมฺมา ปริเสทิตานิ ความว่า เมื่อแม่ไก่ให้ฟองไข่ได้รับอุณหภูมิตามกาลเวลาอันสมควร ชื่อว่าให้อบอุ่นโดยทั่วถึงด้วยดี. มีคำอธิบายว่า ทำให้มีไออุ่น.
               สองบทว่า สมฺมา ปริเสวิตานิ ความว่า ฟองไข่ทั้งหลายอันแม่ไก่ฟักถูกต้องโดยทั่วถึง ตามกาลเวลาอันสมควร. อธิบายว่า ให้ได้รับกลิ่นตัวแม่ไก่.
____________________________
#- องค์การศึกษาแผนกบาลี แปลออกสอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๖.

               [ไก่ตัวออกก่อนเรียกว่าไก่ตัวพี่]               
               บัดนี้ เพราะฟองไข่เหล่านั้น อันแม่ไก่นั้นบริบาลอยู่ ด้วยวิธีทั้ง ๓ อย่างนี้ จึงเป็นไข่ไม่เน่า แม้ยางเมือกแห่งฟองไข่เหล่านั้นที่มีอยู่ ก็จะถึงความสิ้นไป กระเปาะฟองไข่จะบาง ปลายเล็บเท้าและจะงอยปากจะแข็ง. ลูกไก่ทั้งหลาย (ที่อยู่ข้างในกระเปาะฟอง) ย่อมถึงความแก่ตัว แสงสว่างข้างนอก ย่อมปรากฏถึงข้างใน เพราะกระเปาะไข่บาง เวลาแสงสว่างปรากฏอยู่นั้น ลูกไก่เหล่านั้นใฝ่ฝันอยู่ว่า นานแท้หนอ พวกเรานอนงอปีกและเท้าอยู่ในที่คับแคบ และแสงสว่างข้างนอก ก็กำลังปรากฏ บัดนี้ ความอยู่อย่างสบายจักมีแก่พวกเราในแสงสว่างนี้ ดังนี้ มีความประสงค์จะออกมา จึงเอาเท้ากะเทาะกระเปาะฟองไข่ยื่นคอออกมา. ต่อจากนั้นกระเปาะฟองไข่นั้น ก็แตกออกเป็นสองเสี่ยง.
               ลูกไก่ทั้งหลาย ก็ออกมาสลัดปีกพลางร้องพลาง ตามสมควรแก่ขณะนั้น. ก็บรรดาลูกไก่เหล่านั้นที่ออกมาอยู่อย่างนั้น ตัวใดออกมาก่อนกว่าเขา ตัวนั้นเขาเรียกกันว่า ตัวพี่ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะยังความที่พระองค์เป็นผู้ใหญ่กว่าเขาให้สำเร็จด้วยอุปมานั้น จึงตรัสถามพราหมณ์ว่า บรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวใดพึงเอาปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากกะเทาะกระเปาะฟองไข่ออกมาได้ โดยความสวัสดีก่อนกว่าเขา ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร?
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุกฺกุฏจฺฉาปกานํ คือบรรดาลูกไก่ทั้งหลาย.
               หลายบทว่า กินฺติ สฺวาสฺส วจนีโย ความว่า ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่ากระไร? คือ ควรเรียกว่า พี่หรือน้องเล่า? คำที่เหลือมีใจความง่ายทั้งนั้น.
               ลำดับนั้น พราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ควรเรียกว่า พี่.
               มีอธิบายว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ลูกไก่ตัวนั้น ควรเรียกว่า พี่.
               หากจะมีคำถามว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า พี่?
               แก้ว่า เพราะลูกไก่ตัวนั้น มันแก่กว่าเขา. อธิบายว่า เพราะลูกไก่ตัวนั้นเติบโตกว่าบรรดาลูกไก่ที่ออกมาภายหลังเหล่านั้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงเทียบเคียงข้ออุปมาแก่พราหมณ์นั้น จึงตรัสว่า ฉันนั้นนั่นแล พราหมณ์ แม้เราก็เหมือนลูกไก่ตัวนั้น ในบรรดาหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชา...
               ความไม่รู้ ท่านเรียกว่า อวิชชา ในบทว่า อวิชฺชาคตาย นี้ บรรดาหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชานั้น. คำว่า ปชาย นั่น เป็นชื่อของสัตว์. เพราะฉะนั้น ในคำว่า อวิชฺชาคตาย ปชาย นี้ พึงทราบใจความอย่างนี้ว่า บรรดาสัตว์ทั้งหลายผู้ตกเข้าไปในภายในแห่งกระเปาะฟองคืออวิชชา.
               บทว่า อณฺฑภูตาย ความว่า ผู้เป็นแล้ว ผู้เกิดแล้ว คือผู้เกิดพร้อมแล้วในฟองไข่ เหมือนอย่างว่า สัตว์บางพวกผู้เกิดในฟองไข่เขาเรียกว่า อัณฑภูตา ฉันใด หมู่สัตว์แม้ทั้งหมดนี้ ก็ฉันนั้น ท่านเรียกว่า อัณฑภูตา เพราะความที่ตนเกิดในกระเปาะฟองไข่คืออวิชชา.
               บทว่า ปริโยนทฺธาย ความว่า ผู้อันกระเปาะฟองคืออวิชชานั้นรึงรัด คือ ผูกมัด พันไว้โดยรอบ.
               บทว่า อวิชฺชณฺฑโกสมฺปทาเลตฺวา ความว่า เราได้ทำลายกระเปาะฟองที่สำเร็จมาจากอวิชชานั้นแล้ว.
               สองบทว่า เอโกว โลเก ความว่า ในโลกสันนิวาสแม้ทั้งสิ้น เราผู้เดียวเท่านั้น คือไม่มีคนที่สอง.
               บทว่า อนุตฺตรํ ในคำว่า อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธ นี้ ความว่า เว้นจากอริยมรรคอันเยี่ยมเสียแล้ว ประเสริฐกว่าธรรมทุกอย่าง.
               บทว่า สมฺมาสมฺโพธึ แปลว่า ซึ่งความตรัสรู้โดยชอบและด้วยพระองค์เอง. อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ซึ่งความตรัสรู้โดยชอบและด้วยพระองค์เอง. อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ซึ่งความตรัสรู้ ที่ปราชญ์สรรเสริญด้วย ดีด้วย.

               [โพธิศัพท์หมายความถึง ๔ นัย]               
               ต้นไม้ก็ดี มรรคก็ดี สัพพัญญุตญาณก็ดี นิพพานก็ดี ท่านเรียกว่า โพธิ.
               จริงอยู่ ท่านเรียกต้นไม้ว่า โพธิ ในอาคตสถานทั้งหลายว่า ตรัสรู้ครั้งแรก ที่โคนโพธิพฤกษ์ และว่า ในระหว่างแห่งต้นโพธิ์ ในระหว่างแห่งแม่น้ำคยา.
               มรรค ท่านเรียกว่า โพธิ ในอาคตสถานว่า ความรู้โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ในมรรคทั้ง ๔.
               สัพพัญญุตญาณ ท่านเรียกว่า โพธิ ในอาคตสถานว่า พระสิทธัตถโพธิสัตว์มีพระปัญญาประเสริฐดุจแผ่นปฐพี ทรงบรรลุพระโพธิญาณ.
               พระนิพพาน ท่านเรียกว่า โพธิ ในอาคตสถานว่า พระสิทธัตถโพธิสัตว์ทรงบรรลุโพธิอันเป็นอมตะเป็นอสังขตะ.
               แต่ในบทว่า สมฺมาสมฺโพธึ นี้ ท่านประสงค์เอาอรหัตมรรคญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ประสงค์เอาสัพพัญญุตญาณบ้าง.
               ถามว่า พระอรหัตมรรคของคนเหล่าอื่น จัดเป็นโพธิ (ความตรัสรู้) อย่างยอดเยี่ยมหรือไม่?
               แก้ว่า ไม่เป็น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงไม่เป็น?
               แก้ว่า เพราะพระอรหัตมรรคของคนเหล่าอื่นนั้น อำนวยคุณให้ไม่ได้ทุกอย่าง.
               จริงอยู่ พระอรหัตมรรคของบรรดาคนเหล่านั้น บางคนให้เฉพาะพระอรหัตผลเท่านั้น. ของบางคนให้เฉพาะวิชชา ๓. ของบางคนให้เฉพาะอภิญญา ๖. ของบางคนให้เฉพาะปฏิสัมภิทา ๔. ของบางคนให้เฉพาะสาวกบารมีญาณ. ถึงของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ให้เฉพาะปัจเจกโพธิญาณเท่านั้น.
               ส่วนพระอรหัตมรรคของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมให้คุณสมบัติทุกอย่าง ดุจการอภิเษกของพระราชาให้ความเป็นใหญ่ในโลกทั้งหมด ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น พระอรหัตมรรค แม้ของคนอื่นบางคน จึงไม่จัดเป็นโพธิ (ความตรัสรู้) อย่างยอดเยี่ยม ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อภิสมฺพุทฺโธ ความว่า เราได้รู้ยิ่งแล้ว คือได้แทงตลอดแล้ว. อธิบายว่า เราได้บรรลุแล้ว คือได้ถึงทับแล้ว.

               [ข้อเปรียบเทียบการทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาเหมือนการฟักไข่]               
               บัดนี้ บัณฑิตควรเทียบเคียงคำอุปมาอุปไมยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เอวเมว โข อหํ พฺราหฺมณ แล้วพึงทราบโดยใจความ โดยนัยดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ :-
               เหมือนอย่างว่า ข้อที่แม่ไก่นั้นทำกิริยาทั้ง ๓ มีนอนกกอยู่บนฟองไข่ทั้งหลายเป็นต้นของตน ฉันใด ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์ แล้วทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในจิตสันดานของพระองค์ ก็ฉันนั้น.
               ความไม่เสื่อมไปแห่งวิปัสสนาญาณ ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนฟองไข่ทั้งหลายไม่เน่า ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อมฉะนั้น.
               ความสิ้นไปแห่งความสิเนหา คือ ความติดใจไปตามไตรภพ ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนความสิ้นไปแห่งยางเมือก แห่งฟองไข่ทั้งหลาย ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.
               ความที่กระเปาะฟองคืออวิชชา เป็นธรรมชาติบาง ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนภาวะที่กระเปาะฟองไข่เป็นของบาง ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.
               ความที่วิปัสสนาญาณเป็นคุณชาติกล้าแข็ง ผ่องใสและองอาจ ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ ถึงพร้อม เปรียบเหมือนภาวะที่เล็บเท้า และจะงอยปากของลูกไก่เป็นของหยาบและแข็ง ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.
               ควรทราบเวลาที่วิปัสสนาญาณแก่เต็มที่ เวลาเจริญ (และ) เวลาถือเอาห้อง ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนเวลาที่ลูกไก่แก่เต็มที่ ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.
               เพราะเหตุนั้น ควรทราบเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้วิปัสสนาญาณถือเอาห้องแล้วทำลายกระเปาะฟองคืออวิชชาด้วยพระอรหัตมรรค ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุโดยลำดับ แล้วทรงปรบปีกคืออภิญญา จึงทรงทำให้แจ้งซึ่งพระพุทธคุณทั้งหมด โดยความสวัสดี ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงบำเพ็ญอนุปัสสนาทั้ง ๓ ให้ถึงพร้อม เปรียบเหมือนเวลาที่ลูกไก่เอาปลายเล็บเท้า และจะงอยปากกะเทาะกระเปาะฟองไข่แล้วปรบปีกออกมาได้โดยความสวัสดี ก็เพราะแม่ไก่ทำกิริยาทั้ง ๓ ฉะนั้น.
               หลายบทว่า สฺวาหํ พฺราหฺมณ เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ โลกสฺส
               ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาหมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชาเรานั้นได้ทำลายกระเปาะฟอง คืออวิชชานั้น แล้วถึงความนับว่า เป็นผู้ที่เจริญที่สุด คือเจริญอย่างสูงสุด เพราะเป็นผู้เกิดแล้วโดยอริยชาติก่อนกว่าเขา เปรียบเหมือนบรรดาลูกไก่เหล่านั้น ลูกไก่ตัวที่กะเทาะกระเปาะฟองไข่ ออกมาได้ก่อนกว่าเขา ย่อมเป็นไก่ตัวพี่ ฉะนั้น, ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่าถึงความนับว่า เป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะไม่มีใครทัดเทียมได้ด้วยพระคุณทั้งปวง.

               [พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐเพราะบำเพ็ญเพียร]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศความที่พระองค์ เป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุด อย่างยอดเยี่ยมแก่พราหมณ์อย่างนั้นแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทา ที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดเป็นต้นนั้น จำเดิมแต่ส่วนเบื้องต้น จึงตรัสว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะได้สดับข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุด อย่างยอดเยี่ยมนี้แล้ว พราหมณ์จึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุด ด้วยปฏิปทาอะไรหนอแล? ดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์นั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า เราได้บรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุดอย่างยอดเยี่ยมนี้ด้วยปฏิปทานี้ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า อารทฺธํ โข ปน เม พฺราหฺมณ วิริยํ อโหสิ
               ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ข้อที่เราเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐที่สุด อย่างยอดเยี่ยมนี้ เราหาได้บรรลุด้วยความเกียจคร้าน ด้วยความหลงลืมสติ ด้วยความมีกายกระสับกระส่าย (และ) ด้วยความเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านไม่.
               อีกอย่างหนึ่งแล เพราะเราได้ปรารภความเพียรแล้วแล เพื่อบรรลุความเป็นผู้เจริญที่สุด และประเสริฐที่สุดนั้น คือเรานั่งอยู่แล้ว ณ โพธิมัณฑ์ ได้ปรารภความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔.
               มีคำอธิบายว่า ได้ประคอง คือให้เป็นไปไม่ย่อหย่อน. ก็แลความเพียรนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคุณชาติ ไม่ย่อหย่อนเพราะเราได้ปรารภแล้วอย่างแท้จริง ทั้งมิใช่แต่ความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น แม้สติเราก็ได้เข้าไปตั้งไว้เฉพาะแล้ว โดยความเป็นคุณธรรม บ่ายหน้าตรงต่ออารมณ์ และชื่อว่าเป็นความไม่หลงลืม เพราะปรากฏอยู่เฉพาะหน้าทีเดียว.
               สองบทว่า ปสฺสทฺโธ กาโย ความว่า แม้กายของเราก็เป็นของสงบแล้ว ด้วยอำนาจแห่งความสงบกายและจิต. เพราะเมื่อนามกายสงบแล้ว แม้รูปกายก็เป็นอันสงบแล้วเหมือนกัน, ฉะนั้น ในพระบาลีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสให้พิเศษเลยว่า นามกาย รูปกาย ตรัสเพียงว่า กายสงบเท่านั้น.
               บทว่า อสารทฺโธ ความว่า ก็กายนั้น ชื่อว่าหากความกระสับกระส่ายมิได้ เพราะเป็นกายอันสงบแล้วนั่นแล. มีคำอธิบายว่า เป็นกายที่ปราศจากความกระวนกระวายแล้ว.
               หลายบทว่า สมาหิตํ จิตฺตํ เอกคฺคํ ความว่า ถึงจิตของเราก็ตั้งอยู่แล้วโดยชอบ คือดำรงมั่นดีแล้ว ได้เป็นราวกะว่าแน่นแฟ้นแล้ว, และจิตของเรานั้น ชื่อว่ามีอารมณ์เป็นหนึ่ง, คือไม่หวั่นไหว ได้แก่ไม่มีความดิ้นรน เพราะเป็นจิตตั้งมั่นดีนั่นแล. ข้อปฏิบัติเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งฌาน เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ด้วยลำดับเพียงเท่านี้.

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕]
อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 1 / 10อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1&Z=315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :