ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 21อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 23อ่านอรรถกถา 1 / 25อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ปฐมปาราชิกสิกขาบท
อนุบัญญัติที่ ๒ เรื่องภิกษุวัชชีบุตร

               อนุบัญญัติปฐมปาราชิกเรื่องที่สอง               
               [เรื่องภิกษุชาววัชชีบุตร]               
               บัดนี้ เพื่อแสดงเรื่องแม้อื่นที่เกิดขึ้นแล้ว พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายจึงได้กล่าวคำเป็นต้นว่า เตน โข ปน สมเยน. ในคำว่า เตน โข ปน สมเยน เป็นต้นแม้นั้น มีการพรรณนาบทที่ยังไม่กระจ่างดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เวสาลิกา ได้แก่ ผู้มีปกติอยู่เมืองไพศาลี.
               บทว่า วชฺชิปุตฺตกา ได้แก่ ผู้เป็นบุตรของตระกูลในเมืองไพศาลีในแคว้นวัชชี.
               ได้ยินว่า อุปัทวะ โทษ ความเสนียดจัญไรที่ได้เกิดขึ้นในพระศาสนาทั้งหมดนั้น ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะอาศัยภิกษุชาววัชชีบุตร.
               จริงอย่างนั้น แม้พระเทวทัตได้พวกภิกษุชาววัชชีบุตรเป็นฝักฝ่ายแล้ว จึงทำลายสงฆ์. ก็พวกภิกษุชาววัชชีบุตรนั่นแล ได้แสดงสัตถุศาสนานอกธรรมนอกวินัย ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี บรรดาภิกษุชาววัชชีบุตรเหล่านั้นนั่นแล แม้ภิกษุเหล่านี้ บางพวกถึงเมื่อทรงบัญญัติสิกขาบทแล้วอย่างนี้ ก็ได้สรงน้ำตามความต้องการ ฯลฯ ได้เสพเมถุนธรรมตามความต้องการ ด้วยประการฉะนี้.
               ในบทว่า ญาติพฺยสเนนปิ นี้มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               คำว่า "ความพินาศ ความย่อยยับ ความกระจาย ความทำลาย ความฉิบหาย" ทั้งหมดนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน. ความย่อยยับแห่งเหล่าญาติ ชื่อว่าญาติพยสนะ. อันความย่อยยับแห่งญาตินั้น (ถูกต้องแล้ว).
               อธิบายว่า "อันความพินาศแห่งญาติซึ่งมีการลงราชอาญา ถูกโรคเบียดเบียน ความตายและความพลัดพราก เป็นเครื่องหมาย (ถูกต้องแล้ว)."
               แม้ในบทที่ ๒ ก็นัยนี้.
               ส่วนในบทที่ ๓ โรคที่ทำความไม่มีโรคให้พินาศไปนั่นเอง ชื่อว่าโรคพยสนะ.
               จริงอยู่ โรคนั้นย่อมทำความไม่มีโรคให้ย่อยยับไป คือกระจายไป ได้แก่ ให้พินาศไป เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าพยสนะ. ความย่อยยับคือโรค ชื่อว่าโรคพยสนะ. อันความย่อยยับคือโรคนั้น (ถูกต้องแล้ว).
               บทว่า ผุฏฺฐา คือ ท่วมทับ ได้แก่ครอบงำ. อธิบายว่า ผู้ประกอบพร้อมแล้ว.
               หลายบทว่า น มยํ ภนฺเต อานนฺท พุทฺธครหิโน มีความว่า ท่านอานนท์เจ้าข้า พวกกระผมมิได้ติเตียนพระพุทธเจ้า คือมิได้กล่าวโทษพระพุทธเจ้า มิได้ติเตียนพระธรรม มิได้ติเตียนพระสงฆ์.
               สองบทว่า อตฺตครหิโน มยํ ความว่า พวกกระผมติเตียนตนเองเท่านั้น คือกล่าวโทษของตน.
               บทว่า อลกฺขิกา แปลว่า ผู้หมดสิริ.
               บทว่า อปฺปปุญฺญา แปลว่า ผู้มีบุญน้อย.
               หลายบทว่า วิปสฺสกา กุสลานํ ธมฺมานํ มีความว่า พวกกระผมจะพึงเป็นผู้เห็นแจ้งซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้แล้วในอารมณ์ ๓๘ ประการ. อธิบายว่า ออกจากอารมณ์นั้นๆ แล้ว จะเห็นแจ้งธรรมเหล่านั้นทีเดียว.
               บทว่า ปุพฺพรตฺตาปรรตฺตํ ความว่า เบื้องต้นแห่งราตรี ชื่อบุรพราตรี, เบื้องปลายแห่งราตรี ชื่ออปรราตรี. มีคำอธิบายว่า ปฐมยามและปัจฉิมยาม.
               บทว่า โพธิปกฺขิกานํ คือมีอยู่ในฝ่ายแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้. อธิบายว่า เป็นอุปการะแก่อรหัตตมรรคญาณ.
               บทว่า ภาวนานุโยคํ แปลว่า ความประกอบเนื่องๆ ในการเจริญ (โพธิปักขิยธรรม).
               สองบทว่า อนุยุตฺตา วิหเรยฺยาม ความว่า พวกกระผมละคิหิปลิโพธและอาวาสปลิโพธแล้ว จะพึงเป็นผู้ประกอบขวนขวาย ไม่มีกิจอื่นอยู่ในเสนาสนะอันสงัด.
               บทว่า เอวมาวุโส ความว่า พระเถระ เมื่อไม่ทราบอัธยาศัยของเธอเหล่านั้น ได้ฟังการคำรามอย่างมาก (คำอ้อนวอน) นี้ ของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงสำคัญอยู่ว่า "ถ้าเธอเหล่านี้จักเป็นผู้เช่นนี้ไซร้, ก็เป็นการดี" แล้วรับคำว่า ได้ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย.

               [เรื่องทรงห้ามมิให้ภิกษุชาววัชชีบุตรบรรพชาอุปสมบท]               
               แม้สองบทว่า อฏฺฐานํ อนวกาโส นี้ เป็นอันตรัสห้ามเหตุ.
               จริงอยู่ เหตุ ท่านเรียกว่า "ฐานะและโอกาส" เพราะเป็นที่ตั้งแห่งผล โดยความที่ผลนั้นเป็นไปเนื่องด้วยเหตุนั้น และเพราะเหตุนั้น ก็เป็นโอกาสแห่งผลนั้น โดยความที่เหตุนั้นเป็นไปเนื่องด้วยผลนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงห้ามเหตุนั้น จึงตรัสว่า อฏฺฐานเมตํ อานนฺท อนวกาโส เป็นต้น ความว่า ฐานะหรือโอกาสนี้ไม่มี.
               สองบทว่า ยํ ตถาคโต ความว่า พระตถาคตจะพึงถอนปาราชิกสิกขาบทที่บัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งพวกวัชชีหรือพวกภิกษุชาววัชชีบุตร ด้วยเหตุใด, เหตุนั้น ไม่มี.
               ความจริง ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงประทานอุปสมบทแก่ภิกษุชาววัชชีบุตรเหล่านี้ผู้ทูลขออยู่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพึงได้อุปสมบท ดังนี้ไซร้, เมื่อเป็นนั้น พระองค์ก็จะพึงถอนปาราชิกสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ว่า "ย่อมเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้." แต่เพราะเหตุที่พระองค์ไม่ทรงถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วนั้น ฉะนั้นจึงตรัสว่า "นั่น ไม่ใช่ฐานะ" เป็นต้น.
               หลายบทว่า โส อาคโต น อุปสมฺปาเทตพฺโพ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีความอนุเคราะห์เทียว ทรงทราบว่า ก็ถ้าภิกษุนั้นมาแล้วอย่างนี้ พึงได้รับอุปสมบทไซร้, เธอพึงเป็นผู้ไม่มีความเคารพในศาสนา, แต่เธอตั้งอยู่ในภูมิของสามเณรแล้ว จักเป็นผู้มีความเคารพและจักทำประโยชน์ตนได้ จึงตรัสว่า "เธอมาแล้ว ไม่ควรให้อุปสมบท"
               หลายบทว่า โส อาคโต อุปสมฺปาเทตพฺโพ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบแล้วว่า ภิกษุนั้นมาแล้วอย่างนี้ ยังดำรงอยู่ในภาวะเป็นภิกษุ จักเป็นผู้มีความเคารพในศาสนา เพราะความที่เธอมีศีลยังไม่วิบัติ, เธอเมื่อยังมีอุปนิสัยอยู่ จักบรรลุประโยชน์สูงสุด ต่อกาลไม่นานนักแล จึงตรัสว่า "เธอนั้นมาแล้ว ควรให้อุปสมบท".
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงภิกษุชาววัชชีบุตร ผู้ไม่ควรให้อุปสมบทและผู้ควรให้อุปสมบท ในบรรดาเหล่าภิกษุชาววัชชีบุตรผู้เสพเมถุนธรรม มาแล้วอย่างนี้ มีพระประสงค์จะประมวลเรื่องทั้ง ๓ มาแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทให้บริบูรณ์ จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงแสดงสิกขาบทนี้ขึ้นอย่างนี้" แล้วได้ทรงบัญญัติสิกขาบทให้บริบูรณ์อย่างนี้ว่า :-
               โย ปน ภิกฺขุ ฯเปฯ อสํวาโส แปลว่า
               อนึ่ง ภิกษุใด ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่กล่าวคืนสิกขา ไม่ได้ทำให้แจ้งความเป็นผู้ทุรพล พึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.๑-
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๒๔/หน้า ๔๒

               [วินัย ๔ อย่าง]               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกเนื้อความแห่งสิกขาบทนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า "โย ปนาติ โย ยาทิโส."
               ก็พระวินัยธร ผู้ปรารถนาความเป็นผู้ฉลาดในสิกขาบท วิภังค์แห่งสิกขาบทนั้น และวินัยวินิจฉัยทั้งสิ้น ควรทราบวินัย ๔ อย่าง.
                                   จริงอยู่ พระธรรมสังคาหกมหาเถระ
                         ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มากในปางก่อน ได้นำวินัย
                         ๔ อย่างออกเปิดเผยแล้ว.
               วินัย ๔ อย่างเป็นไฉน? วินัย ๔ อย่างคือ สูตร สุตตานุโลม อาจริยวาท อัตตโนมติ ซึ่งพระนาคเสนเถระหมายเอากล่าวไว้ (ในมิลินทปัญหา) ว่า มหาบพิตร เนื้อความอันกุลบุตรพึงรับรองด้วยบทดั้งเดิมแล ด้วยรส ด้วยความเป็นวงศ์แห่งอาจารย์ ด้วยความอธิบาย.๑-
____________________________
๑- นัย- มิลินทปัญหา ๒๐๓.

               [อรรถาธิบายวินัย ๔ อย่าง]               
               จริงอยู่ บรรดาคำเหล่านี้ คำว่า อาหัจจบท ท่านประสงค์เอาสูตร. คำว่า "รส" ท่านประสงค์เอาสุตตานุโลม. คำว่า "อาจริยวงศ์" ท่านประสงค์เอาอาจริยวาท. คำว่า "อธิบาย" ท่านประสงค์เอาอัตโนมัติ.
               บรรดาวินัย ๔ อย่างนั้น ที่ชื่อว่า สูตร ได้แก่บาลีในวินัยปิฎกทั้งมวล. ที่ชื่อว่า สุตตานุโลม ได้แก่มหาประเทศ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า :-
               (๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้ห้ามไว้ว่า 'สิ่งนี้ไม่ควร' ้ถ้าสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งเป็นที่เป็นอกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ, สิ่งนั้น ไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย
               (๒) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้ห้ามไว้ว่า 'สิ่งนี้ไม่ควร' ถ้าสิ่งนั้นเข้ากันกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ, สิ่งนั้น ควรแก่ท่านทั้งหลาย
               (๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้อนุญาตไว้ว่า 'สิ่งนี้ควร' หากสิ่งนั้นเข้ากันกับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ, สิ่งนั้น ไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย
               (๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด เรามิได้อนุญาตไว้ว่า "สิ่งนี้ควร" หากสิ่งนั้นเข้ากันกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ขัดกันกับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ, สิ่งนั้น ควรแก่ท่านทั้งหลาย.๑-
               ที่ชื่อว่า อาจริยวาท ได้แก่แบบอรรถกถา ซึ่งยังวินิจฉัยท้องเรื่องให้เป็นไป นอกจากบาลี ซึ่งพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ผู้เป็นธรรมสังคาหกะตั้งไว้.
               ที่ชื่อว่า อัตโนมัติ ได้แก่คำที่พ้นจากสูตร สุตตานุโลม และอาจริยวาท กล่าวตามอาการที่ปรากฏด้วยอนุมาน คือ ด้วยความตามรู้แห่งตน ด้วยการถือเอานัย ด้วยการถือเอาใจความ. อีกนัยหนึ่ง เถรวาทแม้ทั้งหมด ที่มาในอรรถกถาแห่งพระสูตร พระอภิธรรมและพระวินัย ชื่อว่า อัตตโนมัติ.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๙๒

               [วิธีสอบสวนสูตรและสุตตานุโลมเป็นต้น]               
               แต่กุลบุตร ผู้อ้างอัตโนมัตินั้นกล่าวไม่ควรจะยึดถือให้แน่นแฟ้นกล่าว ควรกำหนดเหตุเทียบเคียงบาลีกับเนื้อความ และเนื้อความกับบาลีแล้วจึงกล่าว. อัตโนมัติ ควรสอบสวนดูในอาจริยวาท ถ้าลงกันและสมกันในอาจริยวาทนั้นไซร้ จึงควรถือเอา, ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า อัตโนมัตินี้ยังเป็นของทรามกำลังกว่าทุกอย่าง. อาจริยวาทมีกำลังกว่าอัตโนมัติ. แม้อาจริยวาทก็ควรสอบสวนดูในสุตตานุโลม เมื่อลงกัน สมกันแท้ ในสุตตานุโลมนั้น จึงควรถือเอา, ฝ่ายที่ไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา. เพราะว่า สุตตานุโลมเป็นของมีกำลังกว่าอาจริวาท. แม้สุตตานุโลมก็ควรสอบสวนดูในสูตร เมื่อลงกันสมกันแท้ ในสูตรนั้น จึงควรถือเอา, ฝ่ายที่ไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา. เพราะว่าสูตรเท่านั้น เป็นของมีกำลังกว่าสุตตานุโลม.
               จริงอยู่ สูตรเป็นของอันใครๆ แต่งเทียมไม่ได้ เป็นเหมือนสงฆ์ผู้ทำ เป็นเหมือนกาลที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังทรงพระชนม์อยู่. เพราะฉะนั้น เมื่อใดภิกษุสองรูปสากัจฉากัน สกวาทีอ้างสูตรกล่าว ปรวาทีอ้างสุตตานุโลมกล่าว เมื่อนั้นทั้งสองรูปนั้น ไม่ควรทำการเพิดเพ้ยหรือติเตียนกันและกัน ควรสอบสวนสุตตานุโลมในสูตร ถ้าลงกัน สมกัน ควรถือเอา, ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในสูตรเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างสูตรกล่าวปรวาทีอ้างอาจริยวาทกล่าวไซร้, แม้ทั้งสองรูปนั้นก็ไม่ควรทำการเพิดเพ้ย หรือติเตียนกันและกัน ควรสอบสวนอาจริยวาทในสูตร ถ้าลงกัน สมกัน ควรถือเอา. เมื่ออาจริยวาท ไม่ลงกันและไม่สมกัน ทั้งเป็นข้อที่น่าตำหนิ ก็ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในสูตรเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างสูตรกล่าว ปรวาทีอ้างอัตโนมัติกล่าวไซร้, แม้ทั้งสองรูปนั้นก็ไม่ควรทำการเพิดเพ้ย หรือติเตียนกันและกัน ควรสอบสวนอัตโนมัติในสูตร ถ้าลงกันสมกัน ควรถือเอา, ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในสูตรเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างสุตตานุโลมกล่าว ปรวาทีอ้างสูตรกล่าวไซร้, ควรสอบสวนสูตรในสุตตานุโลม ถ้าลงกันสมกัน ปรากฏมาในบาลีขึ้นสู่สังคีติทั้ง ๓ ครั้ง จึงควรถือเอา, ถ้าไม่ปรากฏเหมือนอย่างนั้น ไม่ลงกัน ไม่สมกัน เป็นพาหิรกสูตร สิโลกโศลกหรือสูตรที่น่าตำหนิอื่นๆ ซึ่งมาจากบรรดาสูตรทั้งหลายมีคุฬหเวสสันตรคุฬหวินัยและคุฬหเวทัลละเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในสุตตานุโลมเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างสุตตานุโลมกล่าว ปรวาทีอ้างอาจริยวาทกล่าวไซร้, ควรสอบสวนอาจริยวาทในสุตตานุโลม, ถ้าลงกัน สมกัน ควรถือเอา, ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในสุตตานุโลมเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างสุตตานุโลมกล่าว ปรวาทีอ้างอัตโนมัติกล่าวไซร้, ควรสอบสวนอัตโนมัติในสุตตานุโลม ถ้าลงกัน สมกัน ควรถือเอา, ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในสุตตานุโลมเท่านั้น.
               ก็ถ้าสกวาทีนี้อ้างอาจริยวาทกล่าว ปรวาทีอ้างสูตรกล่าวไซร้, ควรสอบสวนสูตรในอาจริยวาท ถ้าลงกันสมกัน ควรถือเอา. สูตรที่น่าตำหนินอกนี้ ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในอาจริยวาทเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างอาจริยวาทกล่าว ปรวาทีอ้างสุตตานุโลมกล่าวไซร้, ควรสอบสวนสุตตานุโลมในอาจริยวาท เมื่อลงกัน สมกันแท้ จึงควรถือเอา นอกนี้ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในอาจริยวาทเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างอาจริยวาทกล่าว ปรวาทีอ้างอัตโนมัติกล่าวไซร้, ควรสอบสวนอัตโนมัติในอาจริยวาท ถ้าลงกัน สมกัน ควรถือเอา, ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในอาจริยวาทเท่านั้น. การถือเอา (มติ) ของตนนั่นแล ควรทำให้มีกำลัง (ให้มีหลักฐาน).
               อนึ่ง ถ้าสกวาทีนี้อ้างอัตโนมัติกล่าว ปรวาทีอ้างสูตรกล่าวไซร้, ควรสอบสวนสูตรในอัตโนมัติ, ถ้าลงกัน สมกัน ควรถือเอา. สูตรที่น่าตำหนินอกนี้ ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในอัตโนมัติเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างอัตโนมัติกล่าว ปรวาทีอ้างสุตตานุโลมกล่าวไซร้, ควรสอบสวนสุตตานุโลมในอัตโนมัติ เมื่อลงกัน สมกันแท้ ควรถือเอา. นอกนี้ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในอัตโนมัติเท่านั้น.
               ถ้าสกวาทีนี้อ้างอัตโนมัติกล่าว ปรวาทีอ้างอาจริยวาทกล่าวไซร้, ควรสอบสวนอาจริยวาทในอัตโนมัติ ถ้าลงกัน สมกัน ควรถือเอา. อาจริยวาทที่น่าตำหนินอกนี้ ไม่ควรถือเอา, ควรตั้งอยู่ในอัตโนมัติเท่านั้น. การถือเอา (มติ) ของตนนั่นแล ควรทำให้มีกำลัง (ให้มีหลักฐาน).
               อนึ่ง ไม่ควรทำการเพิดเพ้ย หรือตำหนิในที่ทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ถ้าสกวาทีนี้กล่าวอ้างว่าเป็นกัปปิยะ ปรวาทีกล่าวอ้างว่าเป็นอกัปปิยะ ควรสอบสวนสิ่งนั้นๆ ในสูตรและสุตตานุโลม ถ้าสิ่งนั้นเป็นกัปปิยะ ควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ, ถ้าสิ่งนั้นเป็นอกัปปิยะ ก็ควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ.
               ถ้าสกวาทีนี้ชี้แจงเหตุและคำวินิจฉัยมากมายจากสูตรเป็นเครื่องสาธก สิ่งที่เป็นกัปปิยะแก่ฝ่ายปรวาทีนั้นไซร้, ปรวาทีไม่พบเหตุ, ก็ควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ.
               ถ้าปรวาทีชี้แจงเหตุและคำวินิจฉัยมากมายจากสูตรเป็นเครื่องสาธก สิ่งที่เป็นอกัปปิยะแก่ฝ่ายสกวาทีนั้นไซร้, สกวาทีนั้นไม่ควรถือมั่นตั้งอยู่ว่า การถือเอามติของตน (ถูกฝ่ายเดียว) ควรยอมรับว่า ดีละ แล้วตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะเท่านั้น.
               ถ้าว่า เงาแห่งเหตุของทั้งสองฝ่าย ย่อมปรากฏชัดไซร้ ข้อที่ทั้งสองฝ่ายคัดค้านนั่นแล เป็นการดี, แต่ควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ. ความจริงครั้นมาถึงวินัยแล้ว อันภิกษุบริษัทควรอาศัยการวิจารณ์ ถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรป้องกันไว้ ควรทำการยึดถือให้มั่นคง ควรตัดกระแสเสีย, ควรตั้งอยู่ในความเป็นผู้หนักนั่นแล.
               อนึ่ง ถ้าสกวาทีนี้กล่าวอ้างว่าเป็นอกัปปิยะ ปรวาทีกล่าวอ้างว่าเป็นกัปปิยะ, ควรสอบสวนสิ่งนั้นๆ ในสูตรและสุตตานุโลม ถ้าสิ่งนั้นเป็นกัปปิยะ ควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ, ถ้าสิ่งนั้นเป็นอกัปปิยะ ควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ.
               ถ้าสกวาทีนี้ชี้แจงถึงสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ด้วยสูตรคำวินิจฉัยและเหตุมากมายไซร้, ปรวาทีไม่ได้พบเหตุ, ควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ.
               ถ้าปรวาทีชี้แจงถึงสิ่งที่เป็นกัปปิยะ ด้วยสูตรคำวินิจฉัยและเหตุมากมายไซร้, สกวาทีนี้มิได้พบเหตุ, ควรตั้งอยู่ในสิ่งที่เป็นกัปปิยะ.
               ถ้าว่า เงาแห่งเหตุ แม้ของทั้งสองฝ่ายย่อมปรากฏชัดไซร้, ไม่ควรสละการถือเอา (มติ) ของตน. เหมือนอย่างว่า ในสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ และในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะและกัปปิยะ ท่านกล่าววินิจฉัยนี้ไว้แล้วฉันใด, ในวาทะว่าเป็นอนาบัติและอาบัติก็ดี ในวาทะว่าเป็นอาบัติและอนาบัติก็ดี ในวาทะว่าเป็นลหุกาบัติและครุกาบัติก็ดี ในวาทะว่าเป็นครุกาบัติและลหุกาบัติก็ดี ก็ควรทราบวินิจฉัยฉันนั้น.
               จริงอยู่ ในวาทะที่ว่าเป็นอนาบัติและอาบัติเป็นต้นนี้ มีความต่างกันในเพราะเหตุสักว่าชื่อเท่านั้น, ในนัยแห่งการประกอบความหามีความต่างกันไม่, เพราะฉะนั้น การประกอบความ ท่านจึงไม่ทำให้พิสดาร. เมื่อเกิดคำวินิจฉัยถึงสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะเป็นต้นอย่างนี้แล้ว, ฝ่ายใดได้พบเหตุมากมายในสูตร สุตตานุโลม อาจริยวาทและอัตโนมัติ ควรตั้งอยู่ในวาทะของฝ่ายนั้น.
               อนึ่ง ทั้งสองฝ่าย เมื่อไม่ได้พบเหตุและคำวินิจฉัยโดยประการทั้งปวง ไม่ควรละทิ้งสูตร ควรตั้งอยู่ในสูตรเท่านั้น ฉะนี้แล. พระวินัยธรผู้ปรารถนาความเป็นผู้ฉลาดในสิกขาบท วิภังค์แห่งสิกขาบทนั้น และวินัยวินิจฉัยทั้งสิ้น ควรทราบวินัย ๔ อย่างนี้ดังพรรณนามาฉะนี้.

               [พระวินัยธรประกอบด้วยลักษณะ ๓ อย่าง]               
               ก็แล บุคคลผู้ทรงวินัย แม้ครั้นทราบวินัย ๔ อย่างนี้แล้ว ก็ควรเป็นผู้ประกอบด้วยลักษณะ ๓. จริงอยู่ ลักษณะแห่งพระวินัยธร ๓ อย่างควรปรารถนา. ลักษณะ ๓ อย่าง เป็นไฉน?
               ลักษณะ ๓ อย่าง คือ :-
               คำว่า ก็สูตรของพระวินัยธรนั้น เป็นพุทธพจน์ที่มาถูกต้องคล่องแคล่วดี วินิจฉัยดี โดยสูตร โดยพยัญชนะ๑- นี้เป็นลักษณะอันหนึ่ง.
               คำว่า ก็พระวินัยธรนั้นเป็นผู้มั่นคง ไม่ง่อนแง่นในวินัยแล นี้เป็นลักษณะที่สอง.
               คำว่า ก็ลำดับอาจารย์แล เป็นลำดับที่พระวินัยธรนั้นจำได้ถูกต้อง ทำให้ขึ้นใจไว้ดี ใคร่ครวญถูกต้องดีแล้ว๑- นี้เป็นลักษณะที่สาม.
____________________________
๑- นย. วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๙๘๐/หน้า ๓๒๙

               [อรรถาธิบายลักษณะ ๓ ของพระวินัยธร]               
               ในคำว่า สุตฺตญฺจ เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               วินัยปิฎกทั้งสิ้นชื่อว่าสูตร, สูตรนั้นของพระวินัยธรนั้น เป็นพุทธพจน์ที่มาถูกต้อง คือมาด้วยดี.
               บทว่า สุปฺปวตฺติตํ ได้แก่ เป็นไปด้วยดี คือชำนาญ คล่องปาก.
               หลายบทว่า สุวินิจฺฉิตํ สุตฺตโตอนุพฺยญฺชนโส ได้แก่ ที่วินิจฉัยเรียบร้อย คือที่ตนตัดความสงสัย เรียนเอาไว้ โดยบาลีปริปุจฉาและอรรถกถา.
               หลายบทว่า วินเย โข ปนฐิโต โหติ ความว่า พระวินัยธรนั้นเป็นผู้ตั้งมั่นในพระวินัย ด้วยความเป็นลัชชีภิกษุ.
               จริงอยู่ อลัชชีภิกษุแม้เป็นพหูสูต เพราะค่าที่ตนเป็นผู้หนักในลาภ ก็แกล้งกล่าวให้ผิดแบบแผน แสดงสัตถุศาสนานอกธรรมนอกวินัย ย่อมทำอุปัทวะมากมายในพระศาสนา คือก่อให้เกิดสังฆเภทบ้าง สังฆราชีบ้าง. ฝ่ายภิกษุลัชชี เป็นผู้มักรังเกียจ ใคร่การศึกษา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ก็ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดแบบแผน ย่อมแสดงเฉพาะธรรม เฉพาะวินัยเท่านั้น คือทำสัตถุศาสนาให้เป็นที่เคารพตั้งอยู่.
               จริงอย่างนั้น พระมหาเถระทั้งหลายในปางก่อน เปล่งวาจา ๓ ครั้งว่า ในอนาคตกาล ภิกษุลัชชีจักรักษาไว้, ภิกษุลัชชีจักรักษาไว้ ดังนี้เป็นต้น. ก็ภิกษุรูปใดเป็นลัชชีดังกล่าวมาแล้วนั้น ภิกษุรูปนั้น เมื่อไม่ละไม่ฝ่าฝืนวินัย เป็นผู้ตั้งมั่น คือมั่นคงอยู่ในวินัย ด้วยความเป็นลัชชีภิกษุ ฉะนี้แล.
               บทว่า อสํหิโร ความว่า บุคคลใดถูกผู้อื่นถามด้วยบาลีโดยเบื้องต่ำหรือเบื้องสูง ด้วยลำดับบทหรืออรรถกถา ย่อมทุรนทุราย กระสับกระส่าย ไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้ ย่อมคล้อยตามคำที่ผู้อื่นกล่าว ทิ้งวาทะของตนเสีย ถือเอาวาทะของผู้อื่น ผู้นั้นชื่อว่าผู้ง่อนแง่น.
               ฝ่ายบุคคลใดถูกผู้อื่นถามด้วยบทเบื้องต่ำและสูง หรือด้วยลำดับบทในบาลีก็ดี ในอรรถกถาก็ดี ย่อมไม่ทุรนทุราย ไม่กระสับกระส่าย เปรียบเหมือนเอาแหนบจับขนทีละเส้นๆ ฉะนั้น ชี้แจงกะเขาว่า ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้, อาจารย์ทั้งหลายของข้าพเจ้าก็กล่าวอย่างนี้.
               อนึ่ง บาลีและวินิจฉัยบาลี ตั้งอยู่ในบุคคลใด ไม่ถึงความเสื่อมสิ้น หมดเปลืองไป เหมือนน้ำมันราชสีห์ที่ใส่ไว้ในภาชนะทองคำ ไม่ถึงความสิ้นไปฉะนั้น, บุคคลนี้ ท่านเรียกว่า ผู้ไม่ง่อนแง่น.
               หลายบทว่า อาจริยปรมฺปรา โข ปนสฺส สุคฺคหิตา โหติ ความว่า ลำดับแห่งพระเถระ คือลำดับวงศ์ เป็นลำดับที่พระวินัยธรนั้นจำได้อย่างถูกต้อง.
               บทว่า สุมนสิกตา ได้แก่ ทำให้ขึ้นใจอย่างดี แต่พอนึก ก็ปรากฏได้ คล้ายประทีปที่ลุกโชน ฉะนั้น.
               บทว่า สูปธาริตา ได้แก่ ใคร่ครวญโดยดี คือใคร่ครวญโดยความสืบเนื่องกันแห่งเบื้องต้นและเบื้องปลาย โดยผลและโดยเหตุ.

               [ลำดับอาจารย์ตั้งแต่พระอุบาลีเถระเป็นต้นมา]               
               บุคคลละมติของตนแล้วเป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์แห่งอาจารย์ คือนำลำดับอาจารย์ ได้แก่ระเบียบแห่งพระเถระทั้งหมดอย่างนี้ คือพระอาจารย์ของข้าพเจ้าเรียนเอาในสำนักของอาจารย์ชื่อโน้น, อาจารย์นั้นเรียนเอาในสำนักอาจารย์ชื่อโน้น, ไปตั้งไว้จนให้ถึงคำว่า "พระอุบาลีเถระเรียนเอาในสำนักของพระพุทธเจ้า."
               พระอาจารย์รูปต่อๆ มา ได้นำแม้จากพระอุบาลีเถระนั้นมา คือได้นำลำดับแห่งพระอาจารย์ ได้แก่ระเบียบแห่งพระเถระทั้งหมด จนให้ถึงพระอาจารย์ของตน แล้วตั้งไว้อย่างนี้ว่า "พระอุบาลีเถระเล่าเรียนมาในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระทาสกเถระเล่าเรียนมาในสำนักของพระอุบาลีเถระผู้เป็นอุปัชฌายะของตน, พระโสณกเถระเล่าเรียนมาในสำนักของพระทาสกเถระผู้เป็นอุปัชฌายะของตน, พระสิคควเถระเล่าเรียนมาในสำนักของพระโสณกเถระ ผู้เป็นอุปัชฌายะของตน, พระโมคคลีบุตรติสสเถระเล่าเรียนมาในสำนักของพระสิคควเถระ และพระจัณฑวัชชีเถระผู้เป็นอุปัชฌายะของตน."
               แท้จริง ลำดับแห่งพระอาจารย์อันพระวินัยธรเรียนเอาแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นอันเธอจำได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อไม่สามารถจะเรียนเอาอย่างนั้น ก็ควรเรียนเอาเพียง ๒-๓ ลำดับก็พอ.
               จริงอยู่ โดยนัยอย่างหลังที่สุด ควรทราบเหมือนอย่างพระอาจารย์ และอาจารย์ของอาจารย์ กล่าวบาลีและปริปุจฉา ฉะนั้น.

               [พระวินัยธรจะวินิจฉัยอธิกรณ์ควรตรวจดูฐานะ ๖ อย่างก่อน]               
               ก็แล พระวินัยธรผู้ประกอบพร้อมด้วยลักษณะ ๓ อย่างนี้แล้ว เมื่อสงฆ์ประชุมกันเพื่อวินิจฉัยเรื่อง และเรื่องก็หยั่งลงแล้ว ทั้งโจทก์แลจำเลยก็ให้การแล้ว เมื่อจะพูดไม่ควรด่วนตัดสินทีเดียว ควรตรวจดูฐานะทั้ง ๖ เสียก่อน.
               ฐานะ ๖ อย่าง เป็นไฉน? ฐานะ ๖ อย่างนั้นคือ :-
               ควรตรวจดูเรื่อง ๑ ตรวจดูมาติกา ๑ ตรวจดูบทภาชนีย์ ๑ ตรวจดูติกปริจเฉท ๑ ตรวจดูอันตราบัติ ๑ ตรวจดูอนาบัติ ๑.

               [อรรถาธิบายฐานะ ๖ อย่าง]               
               จริงอยู่ พระวินัยธร แม้เมื่อตรวจดูเรื่อง ย่อมเห็นอาบัติบางอย่างอย่างนี้คือ ภิกษุผู้มีจีวรหาย ควรเอาหญ้าหรือใบไม้ปกปิดกายจึงมา แต่ไม่ควรเปลือยกายมาเลย, ภิกษุใดพึงเปลือยกายมา ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ.๑- พระวินัยธรนั้น ครั้นนำสูตรนั้นมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้.
               เธอ แม้เมื่อตรวจดูมาติกา ย่อมเห็นบรรดาอาบัติ ๕ กอง กองใดกองหนึ่ง โดยนัยมีอาทิว่า "เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะสัมปชานมุสาวาท."๒- เธอครั้นนำสูตรนั้นมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้.
               เธอ แม้เมื่อตรวจดูบทภาชนีย์ ย่อมเห็นบรรดาอาบัติ ๗ กอง กอง ใดกองหนึ่ง โดยนัยมีอาทิว่า "ภิกษุเสพเมถุนธรรมในสรีระที่สัตว์ยังมิได้กัดกิน ต้องอาบัติปาราชิก๓-, เสพเมถุนธรรมในสรีระที่สัตว์กัดกินแล้วโดยมาก ต้องอาบัติถุลลัจจัย.๓- เธอครั้นนำสูตรจากบทภาชนีย์มาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้.
               เธอ แม้เมื่อตรวจดูติกปริจเฉท ย่อมเห็นการกำหนดติกสังฆาทิเสส้บ้าง ติกปาจิตตีย์บ้าง ติกทุกกฏบ้าง อาบัติอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง. เธอ ครั้นนำสูตรมาจากบาลีติกปริจเฉทนั้นมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้.
               เธอ แม้เมื่อตรวจดูอันตราบัติ จะเห็นอันตราบัติซึ่งมีอยู่ในระหว่างแห่งสิกขาบทอย่างนี้ คือ ภิกษุยักคิ้ว ต้องอาบัติทุกกฎ. เธอ ครั้นนำสูตรนั้นมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้.
               เธอ แม้เมื่อตรวจดูอนาบัติ จะเห็นอนาบัติที่ท่านแสดงไว้แล้วในสิกขาบทนั้นๆ อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่ยินดี ไม่มีไถยจิต ไม่มีความประสงค์จะให้ตาย ไม่มีความประสงค์จะอวด ไม่มีความประสงค์จะปล่อย ไม่แกล้ง ไม่รู้ เพราะไม่มีสติ. เธอ ครั้นนำสูตรนั้นมาอ้างแล้ว จักระงับอธิกรณ์นั้นได้.
               จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาดในวินัย ๔ อย่าง สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ได้ตรวจดูฐานะ ๖ อย่างนี้แล้ว จักระงับอธิกรณ์ได้. การวินิจฉัย (อธิกรณ์) ของภิกษุนั้น ใครๆ ให้เป็นไปทัดเทียมไม่ได้ ย่อมเป็นเช่นกับวินิจฉัยที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งวินิจฉัยเสียเอง.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๒/ข้อ ๕๔/หน้า ๓๘.
๒- วิ. มหา. เล่ม ๒/ข้อ ๑๗๓/หน้า ๑๕๔.
๓- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๖๓/หน้า ๖๗-๖๘.

               [วิธีวินิจฉัยอธิกรณ์]               
               ถ้าภิกษุบางรูปผู้ทำการล่วงละเมิดสิกขาบทแล้ว เข้าไปหาภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้นอย่างนั้นแล้ว พึงถามถึงข้อรังเกียจสงสัยของตนไซร้, ภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้นควรกำหนดให้ดี ถ้าเป็นอนาบัติ ก็ควรบอกว่าเป็นอนาบัติ, แต่ถ้าเป็นอาบัติ ก็ควรบอกว่าเป็นอาบัติ, ถ้าอาบัตินั้นเป็นเทศนาคามินี ก็ควรบอกว่าเป็นเทศนาคามินี, ถ้าเป็นวุฏฐานคามินี ก็ควรบอกว่าเป็นวุฏฐานคามินี, ถ้าฉายาปาราชิกปรากฏแก่ภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้นไซร้ ไม่ควรบอกว่า เป็นอาบัติปาราชิก.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุว่า การล่วงละเมิดเมถุนธรรมและการล่วงละเมิดอุตตริมนุษยธรรม เป็นของหยาบคาย. ส่วนการละเมิดอทินนาทานและมนุสสวิคคหะเป็นของสุขุม มีจิตเปลี่ยนแปลงเร็ว, ภิกษุย่อมต้องวีติกกมะทั้งสองนั้นด้วยอาการสุขุมทีเดียว (และ) ย่อมรักษาไว้ด้วยอาการสุขุม (เหมือนกัน). เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ถูกถามความรังเกียจสงสัย ซึ่งมีความละเมิดนั้นเป็นที่ตั้งโดยพิเศษ ไม่ควรพูดว่า ต้องอาบัติ,
               ถ้าอาจารย์เธอยังมีชีวิตอยู่ไซร้ หลังจากนั้น ภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้น ควรส่งภิกษุนั้นไปว่า เธอจงถามอาจารย์ของข้าพเจ้าดูเถิด. ถ้าเธอกลับมาอีกบอกว่า อาจารย์ของท่านค้นดูจากพระสูตร พระวินัยแล้ว บอกผมว่า เป็นสเตกิจฉา (ยังพอแก้ไขได้), ในกาลนั้น ภิกษุผู้ฉลาดในการวินิจฉัยนั้น ควรพูดกะเธอว่า ดีละๆ เธอจงทำอย่างที่อาจารย์พูด.
               ก็ถ้าอาจารย์ของเธอไม่มีไซร้ แต่พระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกัน มีตัวอยู่, พึงส่งเธอไปยังสำนักของพระเถระนั้น ด้วยสั่งว่า พระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกับข้าพเจ้าเป็นคณปาโมกข์ มีตัวอยู่, เธอจงไปถามท่านดูเถิด. แม้เมื่อพระเถระนั้นวินิจฉัยว่า เป็นสเตกิจฉา ก็ควรบอกกะเธอว่า ดีละ เธอจงทำตามคำขอของพระเถระนั้นให้ดีทีเดียว.
               ถ้าแม้พระเถระผู้เล่าเรียนร่วมกันของเธอไม่มีไซร้ มีแต่ภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิก ซึ่งเป็นบัณฑิต พึงส่งเธอไปยังสำนักของภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิกนั้นด้วยสั่งว่า เธอจงไปถามภิกษุหนุ่มรูปโน้นดูเถิด. แม้เมื่อภิกษุผู้เป็นอันเตวาสิกนั้นวินิจฉัยว่า เป็นสเตกิจฉา ก็ควรพูดกะเธอว่า ดีละ เธอจงทำตามคำของภิกษุนั้นให้ดี.
               ถ้าฉายาปาราชิกนั่นแล ปรากฏแม้แก่ภิกษุหนุ่มไซร้, แม้อันภิกษุหนุ่มนั้น ก็ไม่ควรบอกภิกษุผู้ต้องอาบัติว่า เธอเป็นปาราชิก.

               [ภิกษุผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์กรรมฐานย่อมไม่เจริญ]               
               จริงอยู่ ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าเป็นของได้ด้วยยาก, การบรรพชาและการอุปสมบทเป็นของได้ด้วยยากยิ่งกว่านั้น. แต่พระวินัยธรควรพูดอย่างนี้ว่า เธอจงปัดกวาดโอกาสที่เงียบสงัด แล้วนั่งพักกลางวัน ชำระศีลให้บริสุทธิ์ จงมนสิการอาการ ๓๒ ดูก่อน.
               ถ้าศีลของภิกษุนั้นไม่ด่างพร้อยไซร้ กรรมฐานย่อมสืบต่อ, สังขารทั้งหลาย ก็เป็นของปรากฏชัดขึ้น, จิตก็เป็นเอกัคคตา ดุจได้บรรลุอุปจาระและอัปปนาสมาธิ ฉะนั้น, ถึงวันจะล่วงเลยไปแล้วก็ตาม เธอก็ไม่ทราบ. ในเวลาวันล่วงเลยไป เธอมาสู่ที่อุปัฏฐากแล้ว ควรพูดอย่างนี้ว่า ความเป็นไปแห่งจิตของเธอเป็นเช่นไร? ก็เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว ควรพูดกะเธอว่า ขึ้นชื่อว่าบรรพชา มีความบริสุทธิ์แห่งจิตเป็นประโยชน์, เธออย่าประมาท บำเพ็ญสมณธรรมเถิด.
               ส่วนภิกษุใดมีศีลขาด กรรมฐานของภิกษุนั้นย่อมไม่สืบต่อ, จิตย่อมปั่นป่วน คือถูกไฟคือความเดือดร้อนแผดเผาอยู่ ดุจถูกทิ่มแทงด้วยปฏัก ฉะนั้น, ภิกษุนั้นย่อมลุกขึ้นในขณะนั้นทีเดียว เหมือนนั่งอยู่บนก้อนหินที่ร้อน ฉะนั้น.
               เธอมาแล้วถามว่า ความเป็นไปแห่งจิตของท่านเป็นอย่างไร?
               เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิตแล้ว ควรพูดว่า
               ขึ้นชื่อว่าความลับของผู้กระทำกรรมชั่ว ย่อมไม่มีในโลก๑-
               แท้จริง บุคคลผู้กระทำความชั่ว ย่อมรู้ด้วยตนเอง ก่อนคนอื่นทั้งหมด, ต่อจากนั้น อารักขเทพดาทั้งหลาย สมณพราหมณ์และเทพเจ้าเหล่าอื่น ผู้รู้จิตของบุคคลอื่น ย่อมรู้ (ความชั่ว) ของเธอ, บัดนี้ เธอนั่นแลจงแสวงหาความสวัสดีแก่เธอเองเถิด.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๕๑๘/หน้า ๑๓๑. ชาตกัฏฐกถา. ๔/๒๔๘.

               กถาว่าด้วยวินัย ๔ อย่าง และ               
               กถาว่าด้วยลักษณะเป็นต้นของพระวินัยธร จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ปฐมปาราชิกสิกขาบท อนุบัญญัติที่ ๒ เรื่องภิกษุวัชชีบุตร จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 21อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 23อ่านอรรถกถา 1 / 25อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=751&Z=781
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=5648
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=5648
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :