ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 227อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 231อ่านอรรถกถา 1 / 233อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา จตุตถปาราชิกสิกขาบท
พระปฐมบัญญัติและพระอนุบัญญัติ

               [ปฐมบัญญัติจตุตถปาราชิก]               
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงโทษแก่พวกภิกษุผู้ไม่เห็นโทษในการกระทำความชั่วอย่างนั้นแล้ว จึงทรงติเตียนพวกภิกษุผู้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา โดยอเนกปริยาย แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยงยาก ความเป็นผู้บำรุงยาก ฯลฯ แล้วทรงรับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แล พวกเธอพึงแสดงสิกขาบทนี้ขึ้นอย่างนี้... ดังนี้แล้ว.
               เมื่อจะทรงบัญญัติจตุตถปาราชิก จึงตรัสว่า โย ปน ภิกฺขุ อนภิชานํ เป็นอาทิ แปลว่า อนึ่ง ภิกษุใดไม่รู้เฉพาะ ดังนี้เป็นต้น.

               [อนุบัญญัติจตุตถปาราชิก]               
               ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติจตุตถปาราชิก ทำให้หนักแน่นขึ้นด้วยอำนาจความขาดมูลอย่างนั้นแล้ว เรื่องสำคัญว่าได้บรรลุแม้อื่นอีกก็เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์แก่อนุบัญญัติ. เพื่อแสดงความเกิดขึ้นแห่งเรื่องสำคัญว่าได้บรรลุนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย จึงได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า ก็สิกขาบทนี้ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการอย่างนี้.

               [อธิมานวตฺถุวณฺณนา]               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า อทิฏฺเฐ ทิฏฺสญฺญิโน ความว่า (ภิกษุทั้งหลาย) เป็นผู้มีความสำคัญในพระอรหัตผล อันตนยังมิได้เห็นด้วยญาณจักษุเลยว่าได้เห็น ด้วยคำว่า พระอรหัตผลอันเราทั้งหลายเห็นแล้ว. ในพระอรหัตผลที่ตนยังมิได้ถึงเป็นต้นก็นัยนี้.
               แต่มีความแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อปฺปตฺเต ความว่า ที่ตนยังมิได้ถึง ด้วยอำนาจความเกิดขึ้นในสันดานของตน.
               บทว่า อนธิคเต ได้แก่ ที่ตนยังมิได้บรรลุ ด้วยมรรคภาวนา. ความว่า อันตนยังไม่ได้บ้าง.
               บทว่า อสจฺฉิกเต ได้แก่ ที่ตนยังมิได้แทงตลอดหรือยังมิได้ทำให้ประจักษ์ ด้วยอำนาจการพิจารณา.
               บทว่า อธิมาเนน ได้แก่ ด้วยความสำคัญว่าตนได้บรรลุ. อธิบายว่า ด้วยความสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราได้บรรลุแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ด้วยความถือตัวยิ่ง คือด้วยมานะที่แข็งกระด้าง
               สองบทว่า อญฺญํ พฺยากรึสุ ความว่า ได้พยากรณ์พระอรหัตผล คือได้บอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโส พวกเราได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว กิจที่ควรทำ พวกเราได้ทำเสร็จแล้ว. เพราะยังละกิเลสไม่ได้ด้วยมรรค จิตของเธอเหล่านั้นผู้ข่มกิเลสไว้ได้ ด้วยอำนาจสมถะและวิปัสสนาอย่างเดียว โดยสมัยต่อมา คือในเวลาประกอบพร้อมด้วยปัจจัยเห็นปานนั้น ย่อมน้อมไปเพื่อความกำหนัดบ้าง. อธิบายว่า ย่อมน้อมไปเพื่อต้องการความกำหนัด.
               ในบททั้งหลายนอกนี้ ก็นัยนี้.
               ข้อว่า ตญฺจ โข เอตํ อพฺโพหาริกํ มีความว่า ก็แล การพยากรณ์พระอรหัตนี้นั้นของเธอเหล่านั้น เป็นอัพโพหาริกยังไม่ถึงโวหาร ในการเป็นเหตุให้บัญญัติอาบัติ, อธิบายว่า ยังไม่เป็นองค์แห่งอาบัติ.
               ถามว่า ก็ความสำคัญว่าได้บรรลุนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ใคร? ไม่เกิดขึ้นแก่ใคร?
               แก้ว่า ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวกก่อน.
               จริงอยู่ พระอริยสาวกนั้นมีโสมนัสเกิดขึ้นแล้วด้วยญาณเป็นเครื่องพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละได้แล้วและกิเลสที่ยังเหลือ เป็นผู้ไม่มีความสงสัยในการแทงตลอดอริยคุณ; เพราะเหตุนั้น มานะ (ความถือตัว) จึงไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวกทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ด้วยอำนาจความถือว่า เราเป็นพระสกทาคามีเป็นต้น. และไม่เกิดขึ้นแม้แก่บุคคลผู้ทุศีล. เพราะว่า บุคคลผู้ทุศีลนั้นเป็นผู้หมดความหวังในการบรรลุอริยคุณทีเดียว. ทั้งไม่เกิดขึ้นแม้แก่ผู้มีศีล ซึ่งสละกรรมฐานเสีย แล้วตามประกอบเหตุแห่งความเกียจคร้าน มีความเป็นผู้ยินดีในความหลับนอนเป็นต้น. แต่จะเกิดขึ้นแก่ท่านผู้เริ่มเจริญวิปัสสนา มีศีลบริสุทธิ์ดี ไม่ประมาทในกรรมฐาน ข้ามพ้นความสงสัยแล้ว เพราะกำหนดนามรูป จับปัจจัยได้ ยกไตรลักษณ์ขึ้นพิจารณาสังขารทั้งหลายอยู่. และความสำคัญว่าได้บรรลุเกิดขึ้นแล้วย่อมพักบุคคลผู้ได้สมถะล้วนๆ หรือผู้ได้วิปัสสนาล้วนๆ เสียในกลางคัน.
               จริงอยู่ บุคคลนั้น เมื่อไม่เห็นความฟุ้งขึ้นแห่งกิเลสตลอด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ย่อมเข้าใจว่า เราเป็นพระโสดาบัน หรือว่า เราเป็นพระสกทาคามี หรือว่า เราเป็นพระอนาคามี. แต่ความสำคัญว่าได้บรรลุนั้น ย่อมตั้งบุคคลผู้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาไว้ ในพระอรหัตผลทีเดียว.
               จริงอยู่ บุคคลนั้นข่มกิเลสทั้งหลายได้ด้วยกำลังสมาธิ กำหนดสังขารทั้งหลายได้ดีด้วยกำลังวิปัสสนา; เพราะฉะนั้น กิเลสทั้งหลายจึงไม่ฟุ้งขึ้นตลอด ๖๐ ปีบ้าง ๘๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง, ความเที่ยวไปแห่งจิต เป็นเหมือนของพระขีณาสพฉะนั้น. บุคคลนั้น เมื่อไม่เห็นความฟุ้งขึ้นแห่งกิเลสตลอดราตรีนานด้วยอาการอย่างนั้น ไม่หยุดในกลางคันเลย จึงสำคัญว่า เราเป็นพระอรหันต์ ฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา จตุตถปาราชิกสิกขาบท พระปฐมบัญญัติและพระอนุบัญญัติ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 227อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 231อ่านอรรถกถา 1 / 233อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=8643&Z=8691
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=12506
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=12506
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :