ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 231อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 233อ่านอรรถกถา 1 / 237อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา จตุตถปาราชิกสิกขาบท
สิกขาบทวิภังค์และบทภาชนีย์

               [สวิภงฺคสิกฺขาปทวณฺณนา]               
               บทว่า อนภิชานํ ได้แก่ ไม่รู้เฉพาะ. ก็เพราะเหตุที่ภิกษุนี้ไม่รู้จริง กล่าวอวดอยู่, อุตริมนุสธรรมนั้นไม่เกิดขึ้นในสันดานของเธอ ทั้งเธอก็มิได้ทำให้แจ้งด้วยญาณ จึงชื่อว่าไม่มีจริง; เพราะฉะนั้นในวาระแจกบทว่า อนภิชานํ นั้น ท่านพระอุบาลีกล่าวว่า (อุตริมนุสธรรม) ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง หาไม่ได้แล้ว จึงกล่าวว่า (ภิกษุ) ไม่รู้อยู่ ดังนี้.
               บทว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมํ แปลว่า ธรรมของมนุษย์ผู้ยวดยิ่งคือท่านผู้ได้ฌาน และพระอริยเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า อตฺตูปนายิกํ มีอรรถวิเคราะห์ว่า ภิกษุย่อมน้อมอุตริมนุสธรรมนั้นเข้ามาในตน หรือว่า ย่อมน้อมตนเข้าไปในอุตริมนุสธรรมนั้น; เพราะเหตุนั้น อุตริมนุสธรรมนั้นจึงชื่อว่า อัตตูปนายิกะ. (ภิกษุกล่าวอวด) อุตริมนุสธรรมนั้น เป็นที่น้อมเข้ามาในตน หรือว่าเป็นที่น้อมตนเข้าไปหา. เชื่อมความว่า ภิกษุทำอย่างนี้กล่าวอวด แต่ในวาระแจกบท เพราะเหตุที่ท่านพระอุบาลีกล่าวธรรมหลายประการมีฌานเป็นต้นไว้ อย่างนี้ว่า ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ ฯลฯ (การยังมรรคให้เจริญ การทำให้แจ้งซึ่งผล การละกิเลส ความที่จิตปราศจากนิวรณ์) ความยินดียิ่งในเรือนว่างเปล่า ชื่อว่าอุตริมนุสธรรม ดังนี้; เพราะฉะนั้น เมื่อท่านจะแสดงความที่อุตริมนุสธรรมนั้นเป็นธรรมที่น้อมเข้ามาในตน ด้วยอำนาจแห่งธรรมเหล่านั้นทั้งหมด จึงได้กระทำนิเทศเป็นพหุวจนะว่า ภิกษุย่อมน้อมกุศลธรรมเหล่านั้นเข้ามาในตนก็ดี.
               ในบรรดาการน้อม ๒ อย่างนั้น เมื่อภิกษุอวดว่า ธรรมเหล่านี้ย่อมปรากฏในข้าพเจ้า พึงทราบว่า ชื่อว่าน้อม (ธรรมเหล่านั้น) เข้ามาในตน, เมื่ออวดว่า ข้าพเจ้าย่อมปรากฏในธรรมเหล่านี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าน้อมตนเข้าไปในธรรมเหล่านั้น.
               พึงทราบตามเชื่อมอรรถแห่งบทในคำว่า อลมริยญาณทสฺสนํ นี้อย่างนี้ คือปัญญาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้, ชื่อว่าทัสสนะ เพราะอรรถว่าเห็น เพราะกระทำซึ่งธรรมให้เป็นประดุจเห็นด้วยจักษุ; เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าญาณทัสสนะ. ญาณทัสสนะอย่างประเสริฐ คืออย่างบริสุทธิ์อย่างสูงสุด; เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าอริยญาณทัสสนะ. ญาณทัสสนะอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ คือแกล้วกล้า สามารถกำจัดกิเลสมีอยู่ในอุตริมนุสธรรมต่างประเภทมีฌานเป็นต้นนี้ หรือว่าญาณทัสสนะอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ เป็นของแห่งอุตริมนุสธรรมนั้น; เพราะเหตุนั้น อุตริมนุสธรรมนั้นจึงชื่อว่ามีความรู้เห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ. ภิกษุไม่รู้จริง กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม อันมีความรู้เห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถนั้น.
               ในบทภาชนะนั้น อุตริมนุสธรรมนั้น ท่านเรียกว่า อลมริยญาณทัสสนา ด้วยญาณทัสสนะใด, เพื่อแสดงญาณทัสสนะนั้นนั่นแล ท่านพระอุบาลีจึงกล่าวบทภาชนะ ด้วยวิชชาเป็นใหญ่ว่า ญาณ นั้นได้แก่ วิชชา ๓, ทัสสนะนั้น คือญาณอันใด ทัสสนะก็อันนั้น ทัสสนะอันใด ญาณก็อันนั้น. แต่ในบทว่า ญาณํ นี้ ปัญญาแม้ทั้งหมดที่เป็นมหัคคตและโลกุตระ พึงทราบว่า ญาณ.
               บทว่า สมุทาจเรยยฺ ความว่า พึงอวดอุตริมนุสธรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ทำให้น้อมเข้ามาในตน. ส่วนบทว่า อิตฺถิยา ว่า เป็นต้น ชี้ถึงบุคคลที่ภิกษุจะพึงอวด. จริงอยู่ เมื่ออวดอุตริมนุสธรรมแก่บุคคลเหล่านี้ ย่อมเป็นอันอวด. เมื่ออวดแก่เทวดา มาร พรหมหรือแม้แก่เปรต ยักษ์และสัตว์ดิรัจฉาน หาเป็นอันอวดไม่แล.
               คำว่า อิติ ชานามิ อิติ ปสฺสามิ นี้แสดงอาการอวด. แต่ในบทภาชนะแห่งบทว่า อิติ ชานามิ อิติ ปสฺสามิ นั้น คำว่า ข้าพเจ้ารู้ธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นธรรมเหล่านี้ นี้แสดงถึงความเป็นไปแห่งความรู้และความเห็นในธรรมมีฌานเป็นต้นเหล่านั้น. คำว่า และธรรมเหล่านี้มีแก่ข้าพเจ้าเป็นต้น แสดงความน้อมเข้ามาในตน.
               คำว่า โดยสมัยอื่นแต่สมัยนั้น นี้แสดงถึงสมัยที่ปฏิญญาว่าเป็นอาบัติ. แต่ภิกษุนี้ต้องปาราชิกในขณะที่อวดทีเดียว. และเธอต้องอาบัติแล้ว ถูกภิกษุอื่นโจทก็ตาม ไม่ถูกโจทก็ตาม ย่อมปฏิญญา; เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เธออันผู้ใดผู้หนึ่ง เชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม.

               [เหตุที่ให้เชื่อถือมีฐานะ ๖ อย่าง]               
               บรรดาความเชื่อและไม่เชื่อนั้น ในความเชื่อพึงทราบวินิจฉัยก่อนคือ :-
               ๑. ข้อว่า ท่านได้บรรลุอะไร? คือ เป็นคำถามถึงธรรมที่ได้บรรลุ. มีคำอธิบายว่า บรรดาคุณธรรมมีฌานและวิโมกข์เป็นต้น หรือบรรดามรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ท่านได้บรรลุอะไร?.
               ๒. ข้อว่า ท่านได้บรรลุด้วยวิธีอะไร? คือ เป็นคำถามถึงอุบาย. ความจริงในข้อนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ คือ ท่านทำอนิจจลักษณะให้เป็นธุระแล้วจึงได้บรรลุ? หรือท่านทำบรรดาทุกขลักษณะแลอนัตตลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นธุระแล้ว จึงได้บรรลุ? ท่านตั้งมั่นแล้วด้วยอำนาจสมาธิ หรือตั้งมั่นแล้วด้วยอำนาจวิปัสสนาจึงได้บรรลุ? อนึ่ง ท่านตั้งมั่นแล้วในรูปธรรมหรือตั้งมั่นแล้วในอรูปธรรม จึงได้บรรลุ? ท่านตั้งมั่นแล้วในกายเป็นภายใน หรือตั้งมั่นแล้วในกายเป็นภายนอก จึงได้บรรลุ?.
               ๓. ข้อว่า ท่านได้บรรลุเมื่อไร? คือ เป็นคำถามถึงกาล. มีคำอธิบายว่า ในบรรดากาลเช้าและเที่ยงเป็นต้น กาลใดกาลหนึ่ง?.
               ๔. ข้อว่า ท่านได้บรรลุที่ไหน? คือ เป็นคำถามถึงโอกาส. มีคำอธิบายว่า ในโอกาสไหน? คือในที่พักกลางคืน ในที่พักกลางวัน ที่โคนต้นไม้ ที่มณฑปหรือในวิหารหลังไหน?
               ๕. ข้อว่า ท่านละกิเลสเหล่าไหนได้? คือ เป็นคำถามถึงกิเลสที่ละได้แล้ว. มีคำอธิบายว่า กิเลสทั้งหลายที่มรรคจำพวกไหนฆ่าท่านละได้แล้ว.
               ๖. ข้อว่า ท่านได้ธรรมเหล่าไหน? คือ เป็นคำถามถึงธรรมที่ได้แล้ว. มีคำอธิบายว่า บรรดามรรคมีปฐมมรรคเป็นต้น ท่านได้ธรรมเหล่าไหน?.

               [อรรถาธิบายฐานะ ๖ อย่าง]               
               เพราะฉะนั้นในบัดนี้ ถ้าแม้ภิกษุรูปไรๆ พึงพยากรณ์การบรรลุอุตริมนุสธรรม, เธออันใครๆ ไม่ควรสักการะ ด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้ก่อน. แต่เธอควรถูกทักท้วง เพื่อสอบสวนให้ขาวสะอาด ในฐานะทั้ง ๖ เหล่านี้ว่า ท่านได้บรรลุอะไร? คือว่าท่านได้บรรลุฌานหรือได้บรรลุ บรรดาวิโมกข์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ?
               จริงอยู่ ธรรมที่บุคคลใดได้บรรลุแล้ว ย่อมเป็นของปรากฏแก่บุคคลนั้น. ถ้าเธอกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุธรรมชื่อนี้, ลำดับนั้น ควรสอบถามเธอว่า ท่านได้บรรลุด้วยวิธีไร? คือควรซักถามว่า ท่านทำอะไร ในบรรดาไตรลักษณ์มีอนิจจลักษณะเป็นต้นให้เป็นธุระ หรือตั้งมั่นอยู่ด้วยหัวข้ออะไร ในบรรดาอารมณ์ ๓๘ อย่าง หรือในบรรดาธรรมอันต่างด้วยรูปธรรม อรูปธรรม กายเป็นภายในและกายเป็นภายนอกเป็นต้น จึงได้บรรลุ? แท้จริงความตั้งมั่นใดของบุคคลใดมีความตั้งมั่นนั้นย่อมปรากฏแก่บุคคลนั้น.
               ถ้าภิกษุกล่าวว่า ความตั้งมั่นชื่อนี้ของข้าพเจ้ามีอยู่, ข้าพเจ้าได้บรรลุด้วยวิธีอย่างนี้ ดังนี้, ลำดับนั้น ควรสอบถามเธอดูว่า ท่านได้บรรลุเมื่อไร? คือ ควรซักถามเธอว่า ท่านได้บรรลุในเวลาเช้าหรือในบรรดาเวลาเที่ยงเป็นต้น เวลาใดเวลาหนึ่งหรือ? ความจริง กาลที่ตนได้บรรลุย่อมเป็นของปรากฏแก่ชนทุกจำพวก.
               ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุในกาลชื่อโน้น, ลำดับนั้น ควรสอบถามเธอดูว่า ท่านได้บรรลุที่ไหน? คือควรซักถามเธอว่า ท่านได้บรรลุในที่พักกลางวัน หรือในบรรดาที่พักกลางคืนเป็นต้น โอกาสใดโอกาสหนึ่งหรือ? ความจริง โอกาสที่ตนได้บรรลุ ย่อมปรากฏแก่ชนทุกจำพวก.
               ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุในโอกาสชื่อโน้น, ลำดับนั้น ควรสอบถามเธอดูว่า ท่านละกิเลสเหล่าไหนได้ คือควรซักถามเธอว่า กิเลสทั้งหลายที่ปฐมมรรคพึงฆ่า หรือที่ทุติยมรรคเป็นต้นพึงฆ่า ท่านละได้แล้ว? ความจริง กิเลสอันมรรคที่ตนได้บรรลุละได้แล้ว ย่อมปรากฏแก่ชนทุกจำพวก.
               ถ้าภิกษุกล่าวว่า กิเลสชื่อเหล่านี้ ข้าพเจ้าละได้แล้ว, ลำดับนั้น ควรสอบถามเธอดูว่า ท่านได้ธรรมเหล่าไหน? คือควรซักถามเธอดูว่า ท่านได้โสดาปัตติมรรคหรือได้บรรดามรรคมีสกทาคามิมรรคเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ? ความจริง ธรรมที่ตนได้บรรลุแล้ว ย่อมปรากฏแก่ชนทุกจำพวก.
               ถ้าภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ธรรมชื่อเหล่านี้, ไม่ควรเชื่อถือคำพูดของเธอ แม้ด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้.
               จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้พหูสูต เป็นผู้ฉลาดในการเรียนและการสอบถามย่อมสามารถสอบสวนฐานะทั้ง ๖ เหล่านี้ให้ขาวสะอาดได้.

               [เรื่องสอบสวนดูปฏิปทาของภิกษุผู้อ้างตนว่าได้บรรลุธรรม]               
               ส่วนอาคมนปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเป็นเหตุมาแห่งมรรค) ของภิกษุนี้ ควรสอบสวนให้ขาวสะอาด. ถ้าอาคมนปฏิปทาไม่บริสุทธิ์, ภิกษุทั้งหลายควรกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า โลกุตรธรรม ท่านจะไม่ได้ด้วยปฏิปทานี้ แล้วนำเธอออกไปเสีย.
               แต่อาคมนปฏิปทาของภิกษุนั้นบริสุทธิ์, ถ้าภิกษุนั้นปรากฏในปฏิปทานั้นว่า เป็นผู้ไม่ประมาทในไตรสิกขา ทั้งหมั่นประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่นอยู่ ตลอดราตรีนาน ไม่ข้องอยู่ในปัจจัยทั้ง ๔ อยู่ ด้วยใจเสมอด้วยฝ่ามือในอากาศคำพยากรณ์ของภิกษุนั้น ย่อมเทียบเคียงกับข้อปฏิบัติได้ คือ เป็นเช่นกับพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า น้ำแม่น้ำคงคากับน้ำแม่น้ำยมุนา เทียบเคียงกันได้ เข้ากันได้ ชื่อแม้ฉันใด, ปฏิปทาที่ให้ถึงพระนิพพาน อันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงบัญญัติดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน, ทั้งพระนิพพานและปฏิปทาเทียบเคียงกันได้.
               อีกอย่างหนึ่งแล สักการะอันใครๆ ไม่ควรทำ แม้ด้วยคำพยากรณ์มีประมาณเพียงเท่านี้. เพราะเหตุไร? เพราะว่า แม้ภิกษุผู้เป็นปุถุชนบางรูป ก็มีปฏิปทาเป็นเหมือนข้อปฏิบัติของพระขีณาสพ. เพราะฉะนั้น ภิกษุรูปนั้นอันใครๆ พึงทำให้หวาดสะดุ้งได้ด้วยอุบายนั้นๆ.
               ธรรมดาพระขีณาสพ แม้เมื่ออสนีบาต ผ่าลงมาบนกระหม่อม ก็หามีความกลัว ความหวาดสะดุ้ง หรือขนพองสยองเกล้าไม่. ถ้าความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ขนพองสยองเกล้าก็ดี เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น, เธออันภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวเตือนว่า ท่านไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ แล้วพึงนำออกเสีย. แต่ถ้าภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่กลัว เป็นผู้ไม่หวาดเสียว เป็นผู้ไม่สะดุ้ง ย่อมนั่งนิ่ง เหมือนราชสีห์ฉะนั้น, ภิกษุนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีการพยากรณ์อย่างสมบูรณ์ ย่อมควรรับสักการะที่พระราชาและราชมหาอำมาตย์เป็นต้นส่งไปถวายโดยรอบ ฉะนี้แล.
               บทว่า ปาปิจฺโฉ ได้แก่ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้ปรารถนาลามก ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุบางรูปในศาสนานี้เป็นผู้ทุศีลแล ย่อมปรารถนาว่า ขอชนจงรู้เราว่า เป็นผู้มีศีล๑- ดังนี้.
               บทว่า อิจฺฉาปกโต ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นปาราชิก ถูกความปรารถนาลามกนั้นครอบงำ คือย่ำยี.
               บทว่า วิสุทฺธาเปกฺโข ได้แก่ ผู้มุ่งคือต้องการ ปรารถนาความบริสุทธิ์เพื่อตน. จริงอยู่ เพราะเหตุที่ภิกษุนี้ต้องปาราชิกแล้ว; ฉะนั้นเธอยังดำรงอยู่ในความเป็นภิกษุ เป็นผู้ไม่ควร เพื่อบรรลุคุณธรรมมีฌานเป็นต้น. แท้จริง ความเป็นภิกษุของเธอย่อมเป็นอันตรายต่อสวรรค์ด้วย เป็นอันตรายต่อมรรคด้วย.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า คุณเครื่องเป็นสมณะที่บุคคลลูบคลำไม่ดี ย่อมฉุดคร่าเขาไปในนรก.๒-
               แม้พระดำรัสอื่นอีกก็ตรัสว่า เพราะว่า สมณธรรมเครื่องละเว้นที่ย่อหย่อน ยิ่งเกลี่ยธุลีลง๒- ดังนี้ ความเป็นภิกษุของเธอ ย่อมชื่อว่าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉะนี้แล.
               อนึ่ง ภิกษุผู้ต้องปาราชิกนั้น (ละภิกษุภาวะ) เป็นคฤหัสถ์ หรือเป็นอุบาสก เป็นอารามิกะ หรือเป็นสามเณร ย่อมเป็นผู้ควร เพื่อยังทางสวรรค์ให้สำเร็จ ด้วยคุณธรรมทั้งหลายมีทาน สรณะ ศีลและสังวรเป็นต้น หรือยังทางพระนิพพานให้สำเร็จ ด้วยคุณธรรมทั้งหลายมีฌานและวิโมกข์เป็นต้น; เพราะเหตุนั้น ความเป็นคฤหัสถ์เป็นต้นของเธอ จึงชื่อว่าเป็นความบริสุทธิ์.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกเธอว่า ผู้มุ่งความบริสุทธิ์ เพราะเพ่งถึงความบริสุทธิ์นั้น. ก็ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า วิสุทฺธาเปกฺโข นั้น ท่านพระอุบาลีเถระจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ประสงค์จะเป็นคฤหัสถ์.
               สองบทว่า เอวํ วเทยฺย แปลว่า พึงกล่าวอย่างนี้.
               ถามว่า พึงกล่าวอย่างไร? แก้ว่า พึงกล่าวว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น.
               ส่วนในบทภาชนะ ท่านพระอุบาลีเถระมิได้ยกบทว่า เอวํ วเทยฺย นี้ขึ้นเลย ได้กล่าวคำเป็นต้นว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ธรรมเหล่านั้น ดังนี้ เพื่อแสดงอาการที่ภิกษุผู้กล่าวเป็นเหตุให้ท่านเรียกชื่อว่า ย่อมกล่าวว่า แน่ะท่าน ข้าพเจ้าไม่รู้อย่างนั้น ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นอย่างนั้น ได้กล่าวว่าเห็น.
               ข้อว่า ตุจฺฉํ มุสา วิลปึ มีคำอธิบายว่า ข้าพเจ้าได้พูด คือได้กล่าวพล่อยๆ โดยเว้นจากประโยชน์แห่งคำพูด เป็นเท็จเปล่าๆ โดยความประสงค์จะลวง. ส่วนในบทภาชนะแห่งบทนั้น ท่านพระอุบาลีเถระกล่าวคำเป็นต้นไว้ว่า ข้าพเจ้าพูดพล่อยๆ ดังนี้. ก็เพื่อแสดงเพียงเนื้อความด้วยบทและพยัญชนะอย่างอื่น.
               สองบทว่า ปุริเม อุปาทาย ความว่า เทียบบุคคลผู้ต้องปาราชิกทั้ง ๓ ก่อนๆ. คำที่เหลือชื่อว่าปรากฏชัดแล้วแล เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในเบื้องต้นและเพราะมีเนื้อความชัดเจน ฉะนี้แล.
____________________________
๑- อภิ. วิ. ๓๕/ข้อ ๘๖๘   ๒- ขุ. ธ. ๒๕/ข้อ ๓๒

               [อธิบายบทภาชนีย์]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกสิกขาบทที่ทรงอุเทศไว้ตามลำดับบทอย่างนั้นแล้ว บัดนี้มีพระประสงค์จะทรงตั้งบทภาชนะนั้นแลในฐานเป็นมาติกาอีก แล้วแสดงอุตริมนุสธรรมโดยพิสดาร แสดงประเภทอาบัติ เพื่อถือเอาใจความโดยอาการทั้งปวง จึงตรัสคำว่า ฌานนั้น ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌานเป็นอาทิ เพราะเหตุว่า ในบทภาชนีย์ในหนหลัง ได้ทรงแสดงอุตริมนุสธรรมไว้แต่โดยย่ออย่างนี้ว่า ฌานวิโมกข์ สมาธิสมาบัติ ญาณทัสสนะ ฯลฯ ความยินดีเฉพาะในสุญญาคาร ไม่ได้ทรงยกอาบัติตั้งเป็นแบบไว้โดยพิสดาร และเมื่อแสดงเนื้อความไว้แต่โดยย่อแล้ว ผู้ศึกษาทั้งหลายไม่อาจถือเอาใจความได้โดยถี่ถ้วน.
               ในคำว่า ปฐมชฺฌานํ เป็นต้นนั้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               อัปปมัญญาฌานมีเมตตาฌานเป็นต้นก็ดี อสุภฌานเป็นต้นก็ดี อานาปานัสสติสมาธิฌานก็ดี โลกิยฌานก็ดี โลกุตรฌานก็ดี สงเคราะห์เข้าด้วยปฐมฌานเป็นต้นนั่นแล. เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุอวดว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌานแล้วก็ดี... ข้าพเจ้าเข้าจตุตถฌานแล้วก็ดี อวดว่า ข้าพเจ้าเข้าเมตตาฌานแล้วก็ดี... ข้าพเจ้าเข้าอุเบกขาฌานก็ดี ข้าพเจ้าเข้าอสุภฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าอานาปานัสสติสมาธิฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าโลกิยฌานแล้วก็ดี ข้าพเจ้าเข้าโลกุตรฌานแล้วก็ดี พึงทราบว่า เป็นปาราชิกทั้งนั้น.
               อริยมรรคที่พ้นด้วยดี หรือที่พ้นจากกิเลสมีอย่างต่างๆ เพราะฉะนั้น อริยมรรคนั้นจึงชื่อว่าวิโมกข์. ก็แล วิโมกข์นี้นั้น ท่านเรียกว่าสุญญตวิโมกข์ เพราะเปล่าจากราคะ โทสะและโมหะ, ท่านเรียกว่าอนิมิตตวิโมกข์ เพราะไม่มีนิมิตด้วยนิมิต คือราคะ โทสะและโมหะ, ท่านเรียกว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะไม่มีที่ตั้ง คือราคะ โทสะและโมหะ. ธรรมชาติที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่า ตั้งจิตไว้เสมอ คือตั้งจิตไว้ในอารมณ์. ที่ชื่อว่าสมาบัติ เพราะเป็นธรรมชาติที่พระอริยเจ้าทั้งหลายพึงเข้า.
               บทที่เหลือในคำเหล่านี้ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ก็อริยมรรคเทียว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในติกะเหล่านี้ด้วยหมวด ๓ แห่งวิโมกข์และด้วยหมวด ๓ แห่งสมาธิ. ผลสมาบัติ ตรัสไว้ด้วยหมวด ๓ แห่งสมาบัติ.
               ในบทเหล่านั้น ภิกษุถือเอาบทอันใดอันหนึ่งเพียงบทเดียว กล่าวว่า ข้าพเจ้ามีปกติได้ธรรมนี้ ย่อมเป็นปาราชิกแท้.
               ที่ชื่อว่า วิชชา ๓ ได้แก่ บุพเพนิวาสานุสติ ทิพยจักษุ อาสวักขยญาณแล. ในวิชชา ๓ นั้น เมื่อภิกษุถือเอาชื่อแม้แห่งวิชชาอันหนึ่งอวดว่า ข้าพเจ้ามีปกติได้วิชชานี้ ย่อมเป็นปาราชิกแท้. แต่ในสังเขปอรรถกถา ท่านกล่าวว่า เมื่อภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้ามีปกติได้วิชชาทั้งหลาย ดังนี้ก็ดี กล่าวว่า ข้าพเจ้ามีปกติได้วิชชา ๓ ดังนี้ก็ดี ย่อมเป็นปาราชิกเหมือนกัน. มรรคภาวนาได้กล่าวแล้วในบทภาชนะ. โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการที่สัมปยุตด้วยมรรค เป็นโลกุตระแท้ ท่านประสงค์เอาในบทว่า มรรคภาวนา นี้ เพราะเหตุนั้นในมหาอรรถกถา ท่านจึงกล่าวว่า เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้ามีปกติได้สติปัฏฐานที่เป็นโลกุตระ ข้าพเจ้ามีปกติได้สัมมัปปธาน... อิทธิบาท... อินทรีย์... พละ... โพชฌงค์... อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นโลกุตระ.
               ส่วนในมหาปัจจรีเป็นต้น ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุกล่าวด้วยอำนาจส่วนอันหนึ่งๆ อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้สติปัฏฐาน ดังนี้ก็ดี ด้วยอำนาจธรรมอย่างหนึ่งๆ ในส่วนเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้กายานุปัสสนาสติปัฏฐานดังนี้ก็ดี เป็นปาราชิกเหมือนกัน. แม้คำที่ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีเป็นต้นนั้น ย่อมสมกัน.
               เพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่ท่านกล่าวหมายเอาสติปัฏฐาน ที่เกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคเหมือนกัน. แม้ในการทำให้แจ้งซึ่งผล ก็พึงทราบว่า เป็นปาราชิกด้วยอำนาจแห่งผลอันหนึ่งๆ. เฉพาะความละกิเลส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในหมวด ๓ มีคำว่า ราคสฺส ปหานํ เป็นต้น. ก็การละกิเลสนั้น เว้นมรรคเสียแล้ว ย่อมไม่มี,
               จริงอยู่ การละราคะและโทสะ ย่อมมีด้วยมรรคที่ ๓, การละโมหะ ย่อมมีด้วยมรรคที่ ๔; เพราะเหตุนั้นจึงเป็นปาราชิก แม้แก่ภิกษุผู้กล่าวคำเป็นต้นว่า ราคะ ข้าพเจ้าละได้แล้ว, เฉพาะโลกุตรจิตกับสมาบัติ พระผู้มีพระภาคตรัสในหมวด ๓ มีคำว่า ราคา จิตฺตํ วีนีวรณตา เป็นอาทิ. เพราะเหตุนั้น แม้เมื่อภิกษุกล่าวคำเป็นต้นว่า จิตของข้าพเจ้าพรากออกจากราคะ ก็เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
               ส่วนในบทภาชนะแห่งบทสุญญาคาร ท่านไม่ประสงค์ปาราชิก ด้วยเพียงคำที่ไม่เนื่องด้วยฌานว่า ข้าพเจ้ายินดีเฉพาะในสุญญาคาร; เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นไว้ว่า ข้าพเจ้ายินดีเฉพาะในสุญญาคารด้วยปฐมฌาน. เพราะเหตุนั้น ภิกษุใดกล่าวเนื่องด้วยฌานว่า ข้าพเจ้ายินดีเฉพาะในสุญญาคารด้วยฌานชื่อนี้ ภิกษุนี้แหละ พึงทราบว่า เป็นปาราชิก.
               ก็บรรดาวิชชา ๘ ที่ตรัสไว้ในพระสูตรทั้งหลายมีอัมพัฏฐสูตรเป็นต้น วิชชา ๕ เหล่าใดต่างโดยวิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิ อิทธิวิธี ทิพโสตและเจโตปริยญาณ ไม่ได้มาแล้วในบทภาชนะแห่งบทว่า ญาณํ นี้, บรรดาวิชชา ๕ เหล่านั้น เฉพาะวิปัสสนาอย่างเดียว ย่อมไม่เป็นวัตถุแห่งปาราชิก, วิชชาที่เหลือ พึงทราบว่า เป็นวัตถุแห่งปาราชิก. เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้วิปัสสนาก็ดี ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้วิปัสสนาญาณก็ดี ยังไม่เป็นปาราชิก. แต่พระปุสสเทวเถระกล่าวว่า วิชชา ๔ แม้นอกจากนี้ ไม่สืบเนื่องด้วยญาณ ย่อมไม่เป็นวัตถุแห่งปาราชิก; เพราะเหตุนั้น จึงไม่เป็นปาราชิกแม้แก่ภิกษุผู้กล่าวอยู่ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้มโนมัย, ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้อิทธิวิธี, ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้ทิพโสดธาตุ, ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้เจโตปริยาย.
               คำนั้น ถูกพวกอันเตวาสิกของท่านนั้นนั่นเอง ค้านแล้วว่า ท่านอาจารย์ไม่ใช่ผู้ชำนาญในอภิธรรม ย่อมไม่ทราบธรรมเป็นภูมิอื่น, ขึ้นชื่อว่าอภิญญามีจตุตถฌานเป็นบาท ทั้งเป็นมหัคคตธรรมด้วย ย่อมสำเร็จได้ด้วยฌานเท่านั้น; เพราะเหตุนั้น ภิกษุจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้มโนมัย, หรือว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้มโนมยญาณ หรือจะกล่าวโดยประการตามที่ตนมุ่งจะกล่าวก็ตามที, เธอย่อมต้องปาราชิกเหมือนกัน.
               จริงอยู่ ในจตุตถปาราชิกนี้พระนิพพานไม่ได้มาในพระบาลี แม้โดยแท้, ถึงกระนั้น เมื่อภิกษุกล่าวว่า พระนิพพาน ข้าพเจ้าบรรลุแล้ว หรือว่า พระนิพพาน ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว ย่อมเป็นปาราชิกเหมือนกัน. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า พระนิพพานเป็นโลกุตรธรรมซึ่งมีวัฏฏะอันปล้อนออกแล้ว.
               อนึ่ง แม้เมื่อภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าแทงตลอดสัจจะ ๔, (หรือว่า) สัจจะ ๔ อันข้าพเจ้าแทงตลอดแล้ว คงเป็นปาราชิกเหมือนกัน. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่าคำว่า แทงตลอดสัจจะ เป็นคำยักเรียกมรรค.
               อนึ่ง ท่านกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า ปฎิสัมภิทา ๓ ย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทที่สัมปยุตด้วยญาณ ฝ่ายกามาวจรกุศล ๔ ดวง. ย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทที่สัมปยุตด้วยญาณฝ่ายกิริยา ๔ ดวง, อัตถปฏิสัมภิทาย่อมเกิดขึ้นในจิตตุปบาทเหล่านี้ด้วย ย่อมเกิดขึ้นในมรรค ๔ ผล ๔ ด้วย๑- เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุกล่าวคำว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้ธัมมปฏิสัมภิทา หรือว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้นิรุตติปฎิสัมภิทา หรือว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้ปฏิภาณปฏิสัมภิทา หรือว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้โลกิยอัตถปฏิสัมภิทา ดังนี้ ยังไม่เป็นปาราชิก. แม้เมื่อภิกษุกล่าวคำว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย อาบัติยังไม่ถึงที่สุดก่อน. แต่เมื่อเธอกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้โลกุตรอัตถปฏิสัมภิทา ย่อมเป็นปาราชิก.
____________________________
๑- อภิ. วิ. ๓๕/ข้อ ๗๘๘

                ส่วนในสังเขปอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุกล่าวแม้ด้วยความไม่แปลกกันว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้บรรลุอัตถปฏิสัมภิทา ก็เป็นปาราชิก. แม้ในกุรุนที ท่านก็กล่าวว่า ย่อมไม่พ้น. แต่ในมหาอรรถกถาท่านกล่าวไว้ว่า ปาราชิก ย่อมไม่มีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อาบัติยังไม่ถึงที่สุดด้วยเหตุเพียงเท่านี้, ใครๆ ไม่อาจทำอรรถกถาอื่นให้เป็นประมาณได้ เพราะท่านได้วิจารณ์ไว้แล้วว่า ภิกษุยังไม่ต้องปาราชิก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. แม้เมื่อภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าเข้านิโรธสมาบัติ หรือว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้นิโรธสมาบัตินั้น ก็ไม่เป็นปาราชิก. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า นิโรธสมาบัติไม่ใช่โลกิยะ ทั้งไม่ใช่โลกุตระ ฉะนี้แล.
               ในมหาปัจจรีและสังเขปอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า ก็ถ้าบุคคลนั้นมีความรำพึงอย่างนี้ว่า พระอนาคามีหรือพระขีณาสพ ย่อมเข้านิโรธได้, จึงพยากรณ์ด้วยทำไว้ในใจว่า ชนจักรู้เราว่าเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแห่งบรรดาพระอนาคามีและพระขีณาสพเหล่านั้น, และเขาก็เข้าใจเธออย่างนั้น, เป็นปาราชิก. คำนั้นควรพิจารณาเสียก่อน จึงถือเอา. แม้เมื่อภิกษุกล่าวว่า ในภพที่ล่วงไปแล้ว คือ ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นพระโสดาบัน, ไม่เป็นปาราชิก. จริงอยู่ อาบัติยังไม่ถึงที่สุด เพราะเธออ้างถึงขันธ์ที่ล่วงไปแล้วแล.
               ส่วนในสังเขปอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า บางอาจารย์กล่าวว่า เมื่อภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้สมาบัติ ๘ ในอดีต ไม่เป็นปาราชิก เพราะสมาบัติ ๘ ในอดีตเป็นกุปธรรม, แต่เมื่อกล่าวว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปกติได้สมาบัติ ๘ ในภพนี้ ดังนี้ ย่อมเป็นปาราชิก เพราะสมาบัติ ๘ ในภพนี้เป็นอกุปธรรม. แม้คำที่กล่าวไว้ในสังเขปอรรถกถานั้น ท่านก็ค้านไว้ในสังเขปอรรถกถานั้นนั่นเองว่า เมื่อภิกษุกล่าวหมายเอาอัตภาพในอดีต ไม่เป็นปาราชิก ต่อเมื่อกล่าวหมายเอาอัตภาพในปัจจุบันนั่นแหละ จึงเป็น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงยังบทมาติกา ๑๐ มีฌานเป็นต้นให้พิสดารอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ภิกษุผู้อวดอุตริมนุสธรรม ย่อมกล่าวสัมปชานมุสาวาทใด, เมื่อจะทรงแสดงองค์แห่งสัมปชานมุสาวาทนั้นแล้ว ผูกจักรเปยยาลด้วยอำนาจแห่งความพิสดารนั้นนั่นเอง และเพื่อแสดงอาการแห่งการอวดและประเภทแห่งอาบัติ จึงตรัสว่า ตีหากาเรหิ ดังนี้ เป็นอาทิ.

.. อรรถกถา จตุตถปาราชิกสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์และบทภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 231อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 233อ่านอรรถกถา 1 / 237อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=8692&Z=8760
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=12547
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=12547
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :