พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งทรงจำแนกสิกขาบทที่ทรงอุเทศอย่างนั้นตามลำดับบทแล้ว บัดนี้ จึงทรงแสดงสัตว์ทั้งหลายซึ่งมีนิมิตเป็นวัตถุแห่งปาราชิก โดยนัยมีคำว่า หญิง ๓ จำพวกเป็นต้น แล้วตรัสวัตถุ ๓ โดยนัยมีคำว่า มรรค ๓ แห่งหญิงมนุษย์เป็นอาทิ เพื่อแสดงนิมิตที่เป็นวัตถุแห่งปาราชิก
เพราะเหตุที่นิมิตหญิงอย่างเดียวเท่านั้น จึงเป็นวัตถุแห่งปาราชิกหามิได้ นิมิตหญิงมนุษย์เท่านั้น จึงเป็นวัตถุหามิได้
ทั้งนิมิตแม้แห่งหญิงทั้งหลายซึ่งตกแต่งด้วยทองและเงินเป็นต้น จึงเป็นวัตถุแท้หามิได้ ในคำว่า นิมิตฺเตน นิมิตฺตํ องฺคชาเตน องฺคชาตํ ซึ่งพระองค์ทรงตั้งบทมาติกานี้ว่า
ปฏิเสวติ นาม เพื่อแสดงอาการเป็นเหตุตรัสว่า พึงเสพเฉพาะ ในบทว่า ปฏิเสเวยฺย นี้ ตรัสไว้แล้ว.
ในคำว่า หญิง ๓ จำพวกเป็นอาทินั้น มีสัตว์ ๑๒ จำพวกซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งนิมิต อันเป็นวัตถุแห่งปาราชิก คือ สตรี ๓ จำพวก อุภโตพยัญชนก ๓ จำพวก บัณเฑาะก์ ๓ จำพวก บุรุษ ๓ จำพวก.
ในสัตว์ ๑๒ จำพวกนั้น สตรีและบุรุษปรากฏชัดแล้ว. ชนิดของบัณเฑาะก์และอุภโตพยัญชนก จักมีปรากฏในวรรณนาแห่งบรรพชาขันธกะ.
ส่วนในคำว่า ผู้เสพเมถุนธรรมเฉพาะมรรค ๓ แห่งหญิงมนุษย์ นี้พึงทราบใจความว่า ในมรรค ๓ แห่งหญิงมนุษย์.
พึงทราบอย่างนี้ทุกๆ บท.
[มรรคที่เป็นวัตถุแห่งปาราชิกรวม ๓๐]
ก็มรรคเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียวมี ๓๐ ถ้วน คือของหญิงมนุษย์มี ๓ มรรค ของหญิงอมนุษย์มี ๓ มรรค ของสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมี ๓ มรรค รวมเป็น ๙, ของมนุษย์อุภโตพยัญชนกเป็นต้นมี ๙ ของมนุษย์บัณเฑาะก์เป็นต้นมี ๖ เพราะแบ่งเป็นพวกละ ๒ มรรคๆ, ของมนุษย์ผู้ชายเป็นต้นมี ๖ เหมือนกัน.
ภิกษุเมื่อเสพเมถุนธรรมสอดองคชาตของตนเข้าไปในบรรดามรรคที่รู้กันว่าเป็นนิมิตเหล่านั้นมรรคใดมรรคหนึ่ง แม้เพียงเมล็ดงาเดียว ย่อมต้องปาราชิก. แต่เพราะเมื่อจะต้อง ย่อมต้องด้วยเสวนจิตเท่านั้น เว้นจากเสวนจิตนั้นหาต้องไม่
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงลักษณะนั้น จึงตรัสพระดำรัสว่า ภิกฺขุสฺส เสวนจิตฺตํ อุปฏฺฐิเต ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขุสฺส ได้แก่ ภิกษุผู้เสพเมถุน.
ในคำว่า เสวนจิตฺตํ อุปฏฐิเต นี้เป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ. อธิบายว่า เมื่อเสวนจิตปรากฏแล้ว.
หลายบทว่า วจฺจมคฺคํ องฺคชาตํ ปเวเสนฺตสส ความว่า เมื่อภิกษุสอดองคชาต คือปุริสนิมิตของตนเข้าไปทางมรรคที่อุจจาระออกไปนั้น แม้เพียงเมล็ดงาเดียว.
สองบทว่า อาปตฺติ ปาราชิกสฺส ความว่า อาบัติปาราชิกย่อมมีแก่ภิกษุนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อาปตฺติ แปลว่า ย่อมมีการต้อง.
บทว่า ปาราชิกสฺส ได้แก่ ธรรมคือปาราชิก.
ในทุกๆ บท ก็นัยนี้นั่นแล.
------------------------------------------------ .. อรรถกถา ปฐมปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์ มรรคภาณวาร จบ.
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=1254&Z=1349
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=6550
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=6550
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]