ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 414อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 421อ่านอรรถกถา 1 / 432อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา เตรสกัณฑ์
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕

               สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕               
               สัญจริตตสิกขาบทวรรณนา               
               สัญจริตตสิกขาบทว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เป็นต้น ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในสัญจริตตสิกขาบทนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-

               [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระอุทายี]               
               บทว่า ปณฺฑิตา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้ฉลาด คือผู้มีปัญญาเป็นเครื่องดำเนินไป.
               บทว่า พฺยตฺตา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้สามารถ คือเป็นผู้รู้อุบาย ผู้กล้าหาญ.
               บทว่า เมธาวินี ความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาทำให้คนอื่นเห็นแล้วเห็นเล่า.
               บทว่า ทกฺขา คือ เป็นผู้เฉียบแหลม.
               บทว่า อนลสา คือ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร.
               บทว่า ฉนฺนา แปลว่า เหมาะสม.
               บทว่า กิสฺมึ วิย มีอธิบายว่า ดูเหมือนจะเป็นการยาก คือดูจะเป็นความเสีย ดูจะเป็นข้อที่น่าละอายแก่พวกข้าพเจ้า.
               สองบทว่า กุมาริกายวตฺตุํ ความว่า การที่จะพูดเพราะเหตุแห่งเด็กหญิงว่า พวกท่านจงรับเอาเด็กหญิงนี้ไป (ดูเป็นการยาก).
               บรรดาอาวาหะเป็นต้น ที่ชื่อว่า อาวาหะ ได้แก่ การนำเด็กสาวมาจากตระกูลอื่น เพื่อเด็กหนุ่ม. ที่ชื่อว่า วิวาหะ ได้แก่ การส่งเด็กสาวของตนไปสู่ตระกูลอื่น.
               บทว่า วาเรยฺยานิ ความว่า การสู่ขอว่า พวกท่านจงให้เด็กหญิงสาวน้อยแก่เด็กชายหนุ่มน้อยของพวกเรา หรือทำการกำหนดวัน ฤกษ์และยาม.
               บทว่า ปุราณคณกิยา ความว่า ภรรยาของหมอดู (โหร) คนหนึ่ง. หญิงนั้น เมื่อหมอดูนั้นยังมีชีวิตอยู่ ปรากฏชื่อว่า คณกี. และเมื่อหมอดูตายแล้ว ถึงอันนับว่า ปุราณคณกี.
               บทว่า ติโรคาโม ได้แก่ นอกบ้าน. อธิบายว่า บ้านอื่น.
               บทว่า มนุสฺสา ได้แก่ พวกชาวบ้านผู้รู้ความที่พระอุทายีเป็นผู้ชอบขวนขวายในการชักสื่อนี้.
               บทว่า สุณิสาโภเคน ความว่า พวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้นใช้สอยหญิงนั้น อย่างที่คนทั้งหลายจะพึงใช้สอยหญิงสะใภ้ มีการให้หุงภัตให้ต้มแกงและการให้เลี้ยงดูเป็นต้น.
               หลายบทว่า ตโต อปเรน ทาสีโภเคน ความว่า แต่ล่วงไปได้ ๑ เดือน พวกสาวกของอาชีวกเหล่านั้นใช้สอยนางนั้น ด้วยการใช้สอยอย่างที่คนทั้งหลายจะพึงใช้สอยทาสี มีการทำนา เทหยากเยื่อและตักน้ำเป็นต้น.
               บทว่า ทุคฺคตา คือ เป็นผู้ยากจน.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ไปสู่ตระกูลที่ตนไปแล้ว เป็นผู้ตกทุกข์ได้ยาก.
               หลายบทว่า มายฺโย อิมํ กุมาริกํ ความว่า คุณอย่าใช้สอยเด็กหญิงนี้ อย่างใช้สอยทาสีเลย.
               ด้วยบทว่า อาหารูปหาโร พวกสาวกของอาชีวกแสดงว่า การรับรองและการตกลง คือการรับและการให้ พวกเราไม่ได้รับมา ไม่ได้มอบให้อะไรๆ คือว่า พวกเราไม่มีการซื้อขาย คือการค้าขายกับท่าน.
               คำว่า สมเณน ภวิตพฺพํ อพฺยาวเฏน สมโณ อสฺส สุสฺสมโณ มีความว่า พวกสาวกของอาชีวกรุกรานพระอุทายีเถระนั้นอย่างนี้ว่า ธรรมดาว่า สมณะต้องเป็นผู้ไม่ขวนขวาย คือต้องเป็นผู้ไม่พยายามในการงานเช่นนี้, ด้วยว่า สมณะผู้เป็นอย่างนี้ พึงเป็นสมณะที่ดี แล้วกล่าวว่า ไปเสียเถิดท่าน พวกเราไม่รู้จักท่าน.
               บทว่า สชฺชิโต ความว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง หรือเป็นผู้ตกแต่งประดับประดาแล้ว.
               บทว่า ธุตฺตา ได้แก่ พวกนักเลงหญิง.
               บทว่า ปริจาเรนฺตา ความว่า ยังอินทรีย์ทั้งหลายให้เที่ยวรื่นเริงในอารมณ์มีรูปเป็นต้น ที่เพลิดเพลินใจโดยรอบด้านอย่างโน้นอย่างนี้. มีอธิบายว่า เล่นอยู่ คือยินดีอยู่.
               บทว่า อพฺภุตมกํสุ ความว่า พวกนักเลงกระทำการพนันกันว่า ถ้าพระอุทายีจักทำ ท่านชนะพนันเท่านี้ ถ้าจักไม่ทำ เราจักแพ้พนันเท่านี้.
               ท่านกล่าวไว้ในมหาปัจจรีว่า ก็การกระทำพนันกัน ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลาย, ถ้าภิกษุใดกระทำ, ผู้แพ้จะต้องเสียให้แก่ภิกษุนั้น.
               เวลาไม่นาน เรียกว่า ตังขณะ (ขณะนั้น) ในคำว่า กถํ หิ นาม อยฺโย อุทายิ ตงฺขณิกํ นี้. บทว่า ตงฺขณิกํ ได้แก่ การชักสื่อ มีการทำหน้าที่ชั่วกาลไม่นาน.

               [อธิบายการเที่ยวชักสื่อ]               
               คำว่า สญฺจริตฺตํ สมาปชฺเชยฺย ความว่า พึงถึงภาวะเที่ยวชักสื่อ. ก็เพราะภิกษุผู้ถึงภาวะชักสื่อนั้น ถูกใครๆ ส่งไปแล้ว จำจะต้องไปในที่บางแห่ง, หญิงและชายที่ท่านประสงค์เอาในสิกขาบทนี้ โดยพระบาลีเป็นต้นว่า อิตฺถิยา วา ปุริสมตึ ข้างหน้านั่นแหละ ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงอรรถนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสบทภาชนะแห่งคำว่า อิตฺถิยา วา ปุริสมตึ นั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุถูกหญิงวานไปในสำนักผู้ชาย หรือว่าถูกผู้ชายวานไปในสำนักแห่งหญิง ดังนี้.
               ในคำว่า อิตฺถิยา วา ปุริสมตึ ปุริสสฺส วา อิตฺถีมตึ นี้ บัณฑิตพึงทราบบาลีที่เหลือว่า อาโรเจยฺย แปลว่า พึงบอก. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า ปุริสสฺส วา อิตฺถีมตึ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ย่อมบอกความประสงค์ของชายแก่หญิง, บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชาย ดังนี้.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงประโยชน์ คือ ความประสงค์ ความต้องการ อัธยาศัย ความพอใจ ความชอบใจ ของชายและหญิงเหล่านั้นที่ภิกษุบอก จึงตรัสว่า ในความเป็นเมียก็ตาม ในความเป็นชู้ก็ตาม.
               บรรดาบททั้งสองนั้น บทว่า ชายตฺตเน คือ ในความเป็นเมีย.
               บทว่า ชารตฺตเน คือ ในความเป็นชู้.
               อธิบายว่า เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของชายแก่หญิง ชื่อว่าย่อมบอกในความเป็นเมีย. เมื่อบอกความประสงค์ของหญิงแก่ชาย ชื่อว่าย่อมบอกในความเป็นชู้.
               อีกนัยหนึ่ง เมื่อบอกความประสงค์ของชายนั่นแหละแก่หญิง ชื่อว่าบอกในความเป็นเมีย คือในความเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมายบ้าง ในความเป็นชู้ คือในความเป็นมิจฉาจารบ้าง. ก็เพราะว่า ภิกษุเมื่อจะบอกความเป็นเมียและเป็นชู้นี้ จำจะต้องกล่าวคำมีอาทิว่า นัยว่า เธอจักต้องเป็นภรรยาของชายนั้น, ฉะนั้น เพื่อจะแสดงอาการแห่งความเป็นถ้อยคำจำเป็นต้องกล่าวนั้น จึงตรัสบอกบทภาชนะแห่งบททั้งสองนั้นว่า คำว่า ในความเป็นเมีย คือ เธอจักเป็นภรรยา, คำว่า ในความเป็นชู้ คือ เธอจักเป็นชู้ ดังนี้.
               โดยอุบายนี้นั่นแล แม้ในการบอกความประสงค์ของหญิงแก่ชาย บัณฑิตพึงทราบอาการที่ภิกษุจำเป็นต้องกล่าวว่า เธอจักเป็นผัว, เธอจักเป็นสามี, จักเป็นชู้.
               สองบทว่า อนฺตมโส ตํขณิกายปิ มีความว่า หญิงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ตังขณิกา เพราะผู้อันชายพึงอยู่ร่วมเฉพาะ ในขณะนั้น คือเพียงชั่วครู่.
               ความว่า เป็นเมียเพียงชั่วคราว โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุดทั้งหมด. เมื่อภิกษุบอกความประสงค์ของชายอย่างนี้ว่า เธอจักเป็นเมียชั่วคราวแก่หญิงแม้นั้น ก็เป็นสังฆาทิเสส. โดยอุบายนี้นั่นแล แม้ภิกษุผู้บอกความประสงค์ของหญิงแก่ชายอย่างนี้ว่า เธอจักเป็นผัวชั่วคราว บัณฑิตพึงทราบว่า ต้องสังฆาทิเสส.

               [อธิบายหญิง ๑๐ จำพวก]               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงหญิงจำพวกที่ทรงประสงค์ในคำว่า อิตฺถิยา วา ปุริสมตึ นี้ โดยประเภทแล้ว ทรงแสดงชนิดแห่งอาบัติ ด้วยอำนาจความเป็นผู้ชักสื่อ ในหญิงเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า ทส อิตฺถิโย เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาตุรกฺขิตา ได้แก่ หญิงที่มารดารักษา คือมารดารักษาโดยประการที่จะสำเร็จการอยู่ร่วมกับผู้ชายไม่ได้. ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอุบาลีจึงกล่าวแม้บทภาชนะแห่งบทว่า มาตุรกฺขิตา นั้นว่า มารดาย่อมรักษาคุ้มครอง ยังตนให้ทำความเป็นใหญ่ ยังอำนาจให้เป็นไป.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รกฺขิตา ความว่า ไม่ให้ไปในที่ไหนๆ.
               บทว่า โคเปติ ความว่า ย่อมกักไว้ในที่คุ้มครอง โดยประการที่ชายเหล่าอื่นจะไม่เห็น.
               สองบทว่า อิสฺสริยํ กาเรติ ความว่า ห้ามการอยู่ตามอำเภอใจแห่งหญิงนั้น ประพฤติข่มขี่.
               สองบท วสํ วตฺเตติ ความว่า ยังอำนาจของตนให้เป็นไปในเบื้องบนแห่งหญิงนั้นอย่างนี้ว่า เจ้าจงทำสิ่งนี้ อย่าได้ทำอย่างนี้. แม้หญิงทั้งหลายมีหญิงที่บิดารักษาเป็นต้น ก็พึงทราบโดยอุบายนี้.
               โคตรหรือธรรม ย่อมรักษาไม่ได้, แต่ว่า หญิงอันชนผู้มีโคตรเสมอกัน และอันชนผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน คือชนผู้บวชอุทิศพระศาสดาพระองค์เดียวกัน และชนผู้นับเนื่องในคณะเดียวกันรักษาแล้ว ท่านเรียกว่า หญิงอันโคตรรักษา หญิงอันธรรมรักษา. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวบทภาชนะแห่งบทเหล่านั้น โดยนัยเป็นต้นว่า สโคตฺตา รกฺขนฺติ.
               หญิงที่เป็นไปกับด้วยอารักขา ชื่อว่าหญิงมีอารักขา. หญิงเป็นไปกับด้วยอาชญารอบ ชื่อว่าหญิงมีอาชญารอบ. นิเทศแห่งหญิงเหล่านั้นปรากฏชัดแล้วแล. บรรดาหญิง ๑๐ จำพวกนี้ เฉพาะสองพวกหลังเท่านั้นเมื่อคบหาชายอื่นย่อมเป็นมิจฉาจาร, พวกนอกนี้หาเป็นไม่.
               บรรดาหญิงที่เขาซื้อด้วยทรัพย์เป็นต้น หญิงที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์น้อยบ้างมากบ้าง ชื่อว่า ธนักกีตา. ก็เพราะหญิงนั้น เพียงเขาซื้อมาด้วยทรัพย์เท่านั้น ยังไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา, แต่ที่ชื่อว่าภรรยา ก็เพราะเขาซื้อมาเพื่อประโยชน์แก่การอยู่ร่วม, ฉะนั้น ในนิเทศแห่งบทว่า ธนกฺกีตา นั้น พระอุบาลีเถระจึงกล่าวว่า ชายซื้อมาด้วยทรัพย์แล้วให้อยู่.
               หญิงใดย่อมอยู่ด้วยความพอใจ คือด้วยความยินดีของตน, เหตุนั้น หญิงนั้นชื่อว่า ฉันทวาสินี. ก็เพราะเหตุที่หญิงนั้นยอมเป็นภรรยาด้วยเหตุสักว่าความพอใจของตนฝ่ายเดียว ก็หามิได้, แต่ที่ชื่อว่า เป็นภรรยา เพราะเป็นผู้อันชายรับรองแล้ว, ฉะนั้น ในนิเทศแห่งบทว่า ฉนฺทวาสินี นั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชายที่รัก ย่อมยังหญิงที่รักให้อยู่.
               หญิงใดย่อมอยู่ด้วยโภคะ เหตุนั้น หญิงนั้นชื่อว่า โภควาสินี. คำว่า โภควาสินี นั่นเป็นชื่อแห่งหญิงในชนบท ผู้ได้อุปกรณ์แห่งเรือนมีครก สากเป็นต้น แล้วเข้าถึงความเป็นภรรยา.
               หญิงใดย่อมอยู่ด้วยแผ่นผ้า, เหตุนั้น หญิงนั้นชื่อว่า ปฏวาสินี. คำว่า ปฏวาสินี นั่นเป็นชื่อแห่งหญิงเข็ญใจ ผู้ได้เพียงผ้านุ่งบ้าง ผ้าห่มบ้าง แล้วเข้าถึงความเป็นภรรยา.
               คำว่า โอทปตฺตกินี นั่น เป็นชื่อแห่งหญิงผู้ที่หมู่ญาติยังมือของคู่บ่าวสาวให้จุ่มลงในถาดน้ำถาดเดียวกัน แล้วกล่าวว่า เจ้าทั้งสองจงปรองดองไม่แตกกันดุจน้ำนี้เถิด ดังนี้ แล้วกำหนดถือเอา. แม้ในนิเทศแห่งบทว่า โอทปตฺตกินี นั้น พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ญาติให้ชายนั้นจับภาชนะน้ำร่วมกับหญิงนั้น แล้วให้อยู่.
               เทริดของสตรีนั้นอันบุรุษนำลงคือปลงลงแล้ว เหตุนั้น สตรีนั้นชื่อว่า โอภฏจุมฺฏา คือบรรดาสตรีทั้งหลายมีสตรีขายฟืนเป็นต้นคนใดคนหนึ่ง. คำว่า โอภฏจุมฺฏา นั่นเป็นชื่อแห่งสตรีผู้ที่บุรุษยกเทริดลงจากศีรษะ แล้วให้อยู่ในเรือน.
               บทว่า ทาสี จ ได้แก่ สตรีเป็นทั้งทาสี ทั้งภรรยาของตน. สตรีผู้ทำงานในเรือนเพื่อค่าจ้าง ชื่อว่าสตรีทำการงาน, บุรุษบางคนไม่มีความต้องการด้วยภรรยาของตน จึงสำเร็จการครองเรือนกับสตรีนั้น สตรีนี้ ท่านเรียกว่า สตรีผู้ทำการงานด้วย เป็นภรรยาด้วย.
               สตรีผู้อันธงนำมาแล้ว ชื่อว่า ธชาหฏา. มีคำอธิบายว่า สตรีผู้อันกองทัพยกธงขึ้นแล้วไปโจมตีเขตแดนของปรปักษ์แล้วนำมา. บุรุษบางคนทำสตรีนั้นให้เป็นภรรยา, สตรีนี้ชื่อว่า ธชาหฏา. สตรีที่บุรุษพึงอยู่ร่วมเพียงชั่วครู่หนึ่ง มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. เป็นมิจฉาจารแก่สตรีทั้ง ๑๐ จำพวกนี้ ในเพราะคบหาชายอื่น. ก็ในสตรีทั้ง ๒๐ จำพวกนี้เป็นมิจฉาจารแก่พวกบุรุษ, และก็เป็นการชักสื่อแก่ภิกษุด้วย.

               [อธิบายนิกเขปบทเรื่องชายวานภิกษุ]               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปุริโสภิกฺขุํ ปหิณาติ เป็นอาทิดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุนั้นรับคำที่ชายนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านโปรดไปพูดกะหญิงที่มารดาปกครองชื่อนี้ว่า ได้ยินว่า หล่อนจงเป็นภรรยาสินไถ่ของชายชื่อนี้ ดังนี้ ด้วยลั่นวาจาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ดีละอุบาสก? หรือว่าจงสำเร็จ หรือว่าเราจักบอก หรือด้วยกายวิการมีพยักศีรษะเป็นต้น ชื่อว่ารับ.
               ครั้นรับอย่างนั้นแล้ว ไปยังสำนักหญิงนั้น บอกคำสั่งนั้น ชื่อว่าบอก.
               เมื่อคำสั่งนั้นอันเธอบอกแล้ว หญิงนั้นรับว่า ดีละ หรือห้ามเสีย หรือนิ่งเสีย เพราะอายก็ตามที, ภิกษุกลับมาบอกข่าวนั้นแก่ชายนั้น ชื่อว่ากลับมาบอก.
               ด้วยอาการเพียงเท่านี้เป็นสังฆาทิเสส เพราะครบองค์ ๓ กล่าวคือ รับคำ บอก กลับมาบอก. แต่หญิงนั้นจะเป็นภรรยาของชายนั้นหรือไม่ก็ตามที นั่นไม่ใช่เหตุ.
               พระมหาปทุมเถระกล่าวว่า ก็ถ้าภิกษุนั้นอันชายวานไปยังสำนักของหญิงที่มารดาปกครอง ไม่พบหญิงนั้น จึงบอกคำสั่งนั้นแก่มารดาของหญิงนั้น ชื่อว่าบอกนอกคำสั่ง เพราะฉะนั้น จึงผิดสังเกต.
               ฝ่ายพระมหาสุมเถระกล่าวว่า จะเป็นมารดาหรือบิดาก็ตามที ชั้นที่สุดแม้เป็นทาสีในเรือน หรือผู้อื่นคนใดคนหนึ่ง จักยังกิริยานั้นให้สำเร็จได้, เมื่อคำสั่งนั้นอันภิกษุนั้น แม้บอกแล้วแก่ผู้นั้นเป็นอันบอกแล้วทีเดียว เพราะฉะนั้น คงเป็นอาบัติเหมือนกันในเวลาครบองค์ ๓.
               ภิกษุใดใคร่จะกล่าวว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ พึงกล่าวผิดไปว่า ธมฺมํ ปจฺจกฺขามิ สิกขาพึงเป็นอันเธอลาแล้วมิใช่หรือ ข้อนี้ฉันใด,
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุใคร่จะกล่าวว่า ปฐมํ ฌานํ สมาปชฺชามิ พึงกล่าวผิดไปว่า ทุติยํ ฌานํ สมาปชฺชามิ เธอพึงเป็นผู้ต้องปาราชิกแท้มิใช่หรือข้อนี้ฉันใด, คำเป็นเครื่องยังอุปไมยให้ถึงพร้อมนี้ ก็ฉันนั้น.
               ก็คำของพระสุมเถระนั่นแหละ สมด้วยบทนี้ว่า ภิกษุรับแต่ให้อันเตวาสิกบอก แล้วกลับมาบอกด้วยตนเอง ต้องสังฆาทิเสส เพราะฉะนั้น คำของท่านเป็นอันกล่าวชอบแล้ว.
               เมื่อภิกษุอันชายสั่งว่า ท่านโปรดบอกหญิงอันมารดาปกครอง แล้วไปบอกแม้แก่ชนอื่นมีมารดาเป็นต้นผู้สามารถจะบอกแก่หญิงนั้นได้, ความผิดสังเกตย่อมไม่มี ฉันใด ในเมื่อควรจะบอกว่า ได้ยินว่า หล่อนจงเป็นภรรยาสินไถ่ของชายชื่อนี้ แม้เมื่อภิกษุบอกด้วยอำนาจคำว่า ผู้อยู่ร่วมด้วยความพอใจ เป็นต้น คำใดคำหนึ่งที่ตรัสไว้ในบาลีอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า หล่อนจงเป็นภรรยา ผู้อยู่ด้วยความพอใจของชายชื่อนี้ หรือด้วยอำนาจคำทั้งหลาย แม้ที่ไม่ได้ตรัสไว้แต่แสดงความอยู่ร่วมกันมีอาทิอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า หล่อนจงเป็นภรรยา ชายา ปชาบดี มารดาของบุตร แม่เรือน แม่เจ้าเรือน แม่ครัว นางบำเรอ หญิงบำเรอกาม ของชายชื่อนี้ ดังนี้ คำใดคำหนึ่ง ความผิดสังเกต ย่อมไม่มี ฉันนั้นแล, คงเป็นอาบัติแท้ เพราะครบองค์ ๓.
               แต่เมื่อภิกษุอันชายวานว่า โปรดบอกหญิงที่มารดาปกครอง แล้วไปบอกหญิงเหล่าอื่นมีหญิงที่บิดาปกครองเป็นต้นคนใดคนหนึ่ง ผิดสังเกต.
               แม้ในบทว่า ปิตุรกฺขิตํ พฺรูหิ เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               อันที่จริง ความแปลกกันในบทว่า ปิตุรกฺขิตํ พฺรูหิ เป็นต้นนี้ ก็เพียงความต่างแห่งเปยยาล ด้วยอำนาจแห่งจักรมีเอกมูลจักรและทุมูลกจักรเป็นต้น และด้วยอำนาจแห่งคนเดิม มีอาทิอย่างนี้ คือมารดาของชายวานภิกษุ, มารดาของหญิงอันมารดาปกครองวานภิกษุ, หญิงที่มารดาปกครองวานภิกษุเท่านั้น. แต่ความแปลกกันนั้น ผู้ศึกษาอาจทราบได้ ตามแนวแห่งพระบาลีนั่นเอง เพราะมีนัยดังได้กล่าวไว้แล้วในก่อน เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงมิได้ทำความเอื้อเฟื้อเพื่อแสดงวิภาคแห่งความแปลกกันนั้น.
               ก็ใน ๒ จตุกกะ มีคำว่า ปฏิคฺคณฺหาติ เป็นอาทิ ในจตุกกะที่ ๑ เป็นสังฆาทิเสส เพราะครบองค์ ๓ ด้วยบทต้น, เป็นถุลลัจจัยเพราะครบองค์ ๒ ด้วยบทท่ามกลาง, เป็นทุกกฏ เพราะครบองค์ ๑ ด้วยบทเดียวสุดท้าย.
               ในจตุกกะที่ ๒ เป็นถุลลัจจัย เพราะครบองค์ ๒ ด้วยบทต้น, เป็นทุกกฏ เพราะครบองค์ ๑ ด้วยสองบทท่ามกลาง, ไม่เป็นอาบัติ เพราะไม่มีองค์ ด้วยบทเดียวสุดท้าย.

               [อธิบายเรื่องภิกษุรับคำของหญิงผู้วานเป็นต้น]               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รับ ได้แก่ รับคำสั่งของผู้วาน.
               บทว่า บอก ได้แก่ ไปสู่ที่ซึ่งเขาวานไปแล้ว บอกคำสั่งนั้น.
               บทว่า กลับมาบอก ได้แก่ กลับมาบอกแก่ผู้วานซึ่งเป็นต้นเดิม.
               บทว่า ไม่กลับมา ได้แก่ บอกแล้วหลีกไปจากที่นั้นเสีย.
               บทว่า ไม่บอก แต่กลับมาบอก ได้แก่ ผู้อันชายวานว่า ท่านโปรดไปบอกหญิงชื่อนี้ รับคำสั่งของเขาว่า ได้ซี แล้วจะลืมเสีย หรือไม่ลืมคำสั่งนั้นก็ตาม ไปสู่สำนักของหญิงนั้นด้วยกรณียกิจอย่างอื่น นั่งกล่าวคำบ้างเล็กน้อย, ด้วยอาการเพียงเท่านี้ ท่านเรียกว่า รับ แต่ไม่บอก.
               ลำดับนั้น หญิงนั้นพูดเองกะภิกษุนั้นว่า ได้ยินว่า อุปัฏฐากของท่านอยากได้ดิฉัน ดังนี้, ครั้นพูดอย่างนี้แล้ว จึงพูดว่า ดิฉันจักเป็นภรรยาของเขา หรือว่าจักไม่เป็น ก็ดี, ภิกษุนั้นไม่รับรอง ไม่คัดค้านคำของหญิงนั้น นิ่งเฉยเสีย ลุกจากที่นั่งมายังสำนักของชายนั้นบอกข่าวนั้น, ด้วยอาการเพียงเท่านี้ ท่านเรียกว่า ชื่อว่า ไม่บอก แต่กลับมาบอก.
               บทว่า ไม่บอก ไม่กลับมาบอก ได้แก่ รับในเวลาที่บอกคำสั่งอย่างเดียวเท่านั้น, แต่ว่า ไม่ทำกิจสองอย่างนอกนี้.
               บทว่า ไม่รับ แต่บอก กลับมาบอก ได้แก่ ชายบางคนกล่าวถ้อยคำเห็นปานนั้น ในที่ซึ่งภิกษุยืนอยู่ หรือที่ซึ่งนั่งอยู่. ภิกษุแม้อันเขาไม่ได้วานเลย แต่เป็นดังถูกเขาวาน จึงไปยังสำนักของหญิง แล้วบอกโดยนัยเป็นต้นว่า ได้ยินว่า หล่อนจงเป็นภรรยาของชายชื่อนี้ แล้วกลับมาบอกความชอบใจ หรือไม่ชอบใจของหญิงนั้นแก่ชายนี้. ภิกษุบอกแล้วกลับมาบอกโดยนัยนั้นนั่นแหละ ท่านเรียกว่า ไม่รับ แต่บอก และกลับมาบอก.
               ภิกษุผู้ไปแล้วโดยนัยนั้นนั่นแล แต่ไม่บอก ฟังถ้อยคำของหญิงนั้นพูดแล้ว มาบอกแก่ชายนี้ ตามนัยที่กล่าวแล้ว ในบทที่ ๓ แห่งปฐมจตุกกะ ท่านเรียกว่าไม่รับ ไม่บอก แต่กลับมาบอก.
               บทที่ ๔ ชัดเจนแล้วแล.
               นัยทั้งหลายเป็นต้นว่า วานภิกษุมากหลาย ชัดเจนแล้วเหมือนกัน. เหมือนอย่างว่า ภิกษุแม้หลายรูปด้วยกัน ย่อมต้องอาบัติ ในเพราะวัตถุเดียว ฉันใด, พึงทราบอาบัติมากหลายในเพราะวัตถุมากหลาย แม้แห่งภิกษุรูปเดียว ฉันนั้น.
               เป็นอย่างไร? ชายวานภิกษุว่า ท่านขอรับ ขอท่านโปรดไปที่ปราสาทชื่อโน้น มีหญิงประมาณ ๖๐ หรือ ๗๐ คน, ท่านโปรดบอกหญิงเหล่านั้นว่า ได้ยินว่า พวกหล่อนจงเป็นภรรยาของชายชื่อนี้. ภิกษุนั้นรับแล้ว ไปที่ปราสาทนั้นทีเดียว บอกแล้วนำข่าวนั้นกลับมาอีก. เธอต้องอาบัติเท่าจำนวนหญิง.
               จริงอยู่ แม้ในคัมภีร์ปริวาร พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
                         ภิกษุพึงต้องครุกอาบัติ ที่ยังทำคืนได้ทั้งหมด
               พร้อมกันทั้ง ๖๔ ตัว ด้วยสักว่าย่างเท้าเดินไป และ
               กล่าวด้วยวาจา ปัญหานี้ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายคิดกัน
               แล้ว.

               ได้ยินว่า ปัญหานี้ ท่านอาศัยอำนาจแห่งอรรถนี้กล่าวแล้ว. ส่วนคำว่า อาบัติ ๖๔ ตัวในคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เพื่อความสละสลวยแห่งถ้อยคำ. แต่เมื่อภิกษุทำอย่างนั้นย่อมต้องอาบัติตั้ง ๑๐๐ ตัวก็ได้ ตั้ง ๑,๐๐๐ ตัวก็ได้ฉะนี้แล.
               เหมือนอย่างว่า เป็นอาบัติมากหลายในเพราะหญิงมากหลายแก่ภิกษุรูปเดียว ที่ชายคนเดียววานไป ฉันใด, ชายคนเดียววานภิกษุมากหลายไปยังสำนักของหญิงคนเดียว เป็นสังฆาทิเสสแก่ภิกษุทั้งหมดทุกรูปฉันนั้น.
               ชายคนเดียววานภิกษุมากรูปด้วยกันไปยังสำนักของหญิงจำนวนมากด้วยกัน เป็นสังฆาทิเสสตามจำนวนหญิง. ชายมากคนด้วยกัน วานภิกษุรูปเดียวไปยังสำนักของหญิงคนเดียว เป็นสังฆาทิเสสตามจำนวนของชาย. ชายมากคนด้วยกัน วานภิกษุรูปเดียวไปยังสำนักของหญิงมากคนด้วยกัน เป็นสังฆาทิเสสตามจำนวนวัตถุ. ชายมากคนด้วยกัน วานภิกษุมากรูปด้วยกันไปยังสำนักหญิงคนเดียว เป็นสังฆาทิเสสตามจำนวนวัตถุ. ชายมากคนด้วยกัน วานภิกษุมากรูปไปยังสำนักแห่งหญิงมากคนด้วยกัน เป็นสังฆาทิเสสตามจำนวนวัตถุ.
               แม้ในคำว่า หญิงคนเดียววานภิกษุรูปเดียว เป็นต้นก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               ก็ในสัญจริตตสิกขาบทนี้ ชื่อว่า ความเป็นผู้ถูกส่วน และไม่ถูกส่วนกันไม่เป็นประมาณ. เมื่อภิกษุทำการชักสื่อ แก่บิดามารดาก็ดี แก่สหธรรมิกทั้ง ๕ ก็ดี เป็นอาบัติทั้งนั้น. จตุกกะว่า ชายวานภิกษุว่า ไปเถิดท่านขอรับ ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงชนิดแห่งอาบัติ ด้วยอำนาจแห่งองค์.
               ในบทท้ายแห่งจตุกกะนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               หลายบทว่า อันเตวาสิกบอกแล้ว กลับมาบอกภายนอก มีความว่า อันเตวาสิกมาแล้วไม่บอกแก่อาจารย์ ไปเสียทางอื่นบอกแก่ชายผู้นั้น.
               หลายบทว่า อาปตฺติ อุภินฺนฺนํ ถุลฺลจฺจยสฺส มีความว่า เป็นถุลลัจจัยแก่อาจารย์ด้วยองค์ ๒ คือ เพราะคำรับ ๑ เพราะใช้ให้บอก ๑. เป็นถุลลัจจัยแก่อันเตวาสิกด้วยองค์ ๒ คือ เพราะบอก ๑ เพราะกลับมาบอก ๑. คำที่เหลือ ปรากฏชัดแล้วแล.
               สองบทว่า คจฺฉนฺโต สมฺปาเทติ ได้แก่ รับ และบอก.
               สองบทว่า อาคจฺฉนฺโต วิสํวาเทติ ได้แก่ ไม่กลับมาบอก.
               สองบทว่า คจฺฉนฺโต วิสํวาเทติ ได้แก่ ไม่รับ.
               สองบทว่า อาคจฺฉนฺโต สมฺปาเทติ ได้แก่ บอก และกลับมาบอก.
               ในบททั้งสองอย่างนี้ เป็นถุลลัจจัยด้วยองค์ ๒. ในบทที่ ๓ เป็นอาบัติ. ในบทที่ ๔ ไม่เป็นอาบัติ.
               ในคำว่า อนาปตฺติ สงฺฆสฺส วา เจติยสฺส วา คิลานสฺส วา กรณีเยน คจฺฉติ อุมฺมตฺกสฺส อาทิกมฺมิกสฺส นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               อุโปสถาคาร หรือการงานอะไรๆ ของภิกษุสงฆ์ที่ทำค้างไว้มีอยู่, อุบาสกวานภิกษุไปยังสำนักของอุบาสิกา หรืออุบาสิกาวานภิกษุไปยังสำนักของอุบาสก เพื่อต้องการอาหารและค่าแรงงานสำหรับพวกคนงาน (พวกช่าง) ในการสร้างอุโปสถาคารเป็นต้นนั้น, เมื่อภิกษุไปด้วยกรณียะของสงฆ์เช่นนี้ ไม่เป็นอาบัติ.
               แม้ในเจติยกรรมที่กำลังทำ ก็มีนัยเหมือนกันนี้. ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้อันอุบาสกวานแล้ว ไปยังสำนักของอุบาสิกาหรือผู้อันอุบาสิกาวานแล้ว ไปยังสำนักของอุบาสก แม้เพื่อต้องการยาสำหรับภิกษุอาพาธ.
               ภิกษุบ้าและภิกษุผู้เป็นอาทิกัมมิกะ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บรรดาปกิณกะมีสมุฏฐานเป็นต้น สิกขาบทนี้มีสมุฏฐาน ๖ เมื่อภิกษุรับข่าวสารด้วยกายวิการมีผงกศีรษะเป็นต้น ไปบอกด้วยหัวแม่มือแล้วกลับมาบอกด้วยหัวแม่มือ, อาบัติเกิดโดยลำพังกาย. เมื่อใครๆ กล่าวแก่ภิกษุผู้นั่งที่หอฉันว่า หญิงชื่อนี้จักมา, ท่านพึงทราบจิตของนางแล้วรับว่า ดีละ บอกกะนางผู้มาหา เมื่อนางกลับไปแล้ว บอกในเมื่อชายนั้นกลับมาหา, อาบัติเกิดโดยลำพังวาจา. แม้เมื่อภิกษุรับคำสั่งด้วยวาจาว่า ได้ซี แล้วไปยังเรือนของหญิงนั้นด้วยกรณียะอื่น หรือพบหญิงนั้นในเวลาไปที่อื่น แล้วบอกด้วยเปล่งวาจานั่นแล ยังไม่หลีกไปจากที่นั้น ด้วยเหตุอื่นนั่นเอง บังเอิญพบชายคนนั้นเข้าอีกแล้วบอก, อาบัติย่อมเกิดโดยลำพังวาจาอย่างเดียว. แต่อาบัติย่อมเกิดโดยทางกายและวาจา แม้แก่พระขีณาสพผู้ไม่รู้พระบัญญัติ.
               เป็นอย่างไร? ก็ถ้าว่า มารดากับบิดาของภิกษุนั้นโกรธกันเป็นผู้หย่าร้างขาดกันแล้ว. ก็บิดาของพระเถระนั้น พูดกะภิกษุนั้นผู้มายังเรือนว่า แน่ะลูก โยมมารดาของท่านทิ้งโยมผู้แก่เฒ่าไปสู่ตระกูลญาติเสียแล้ว, ขอท่านไปส่งข่าวให้โยมมารดานั้น (กลับมา) เพื่อปรนนิบัติโยมเถิด. ถ้าภิกษุนั้นไปพูดกะโยมมารดานั้นแล้วกลับมาบอกข่าวการมา หรือไม่มาแห่งโยมมารดานั้น แก่โยมบิดา เป็นสังฆาทิเสส.
               ๓ สมุฏฐานนี้เป็นอจิตตกสมุฏฐาน. แต่เมื่อภิกษุทราบพระบัญญัติแล้ว ถึงความชักสื่อโดยนัยทั้ง ๓ นี้แหละ อาบัติย่อมเกิดทางกายกับจิต ๑ ทางวาจากับจิต ๑ ทางกายวาจากับจิต ๑.
               ๓ สมุฏฐานนี้เป็นสจิตตกสมุฏฐาน ด้วยจิตที่รู้พระบัญญัติ. เป็นกิริยาโนสัญญาวิโมกข์ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม และในสิกขาบทนี้ มีจิต ๓ ดวงด้วยสามารถแห่งกุศลจิตเป็นต้น มีเวทนา ๓ ด้วยสามารถแห่งสุขเวทนาเป็นต้น ฉะนี้แล.
               บรรดาวินีตวัตถุทั้งหลาย ใน ๕ เรื่องข้างต้นเป็นทุกกฎ เพราะเป็นแต่เพียงรับ.
               ในเรื่องทะเลาะกัน มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า สมฺโมทนียํ อกาสิ ความว่า ให้หญิงนั้นยินยอมแล้ว ได้กระทำบ้านให้เป็นสถานที่ควรกลับไปอีก.
               บทว่า นาลํวจนียา มีอรรถว่า ยังไม่หย่าร้างกัน.
               จริงอยู่ หญิงใดอันสามีทิ้งแล้วในชนบทใดๆ โดยประการใดๆ ย่อมพ้นภาวะเป็นภรรยา, หญิงนี้ท่านเรียกว่า ผู้หย่าร้างกัน. แต่หญิงคนนี้ มิใช่ผู้หย่าร้างกัน. นางทะเลาะกันด้วยเหตุบางประการแล้วไปเสีย. ด้วยเหตุนั้นแล ในเรื่องทะเลาะกันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ไม่เป็นอาบัติ.
               ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าปรับถุลลัจจัย ในนางยักษิณี เพราะกายสังสัคคะ ฉะนั้น แม้ในทุฏฐุลลสิกขาบทเป็นต้นนี้ นางยักษิณีและนางเปรต บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นวัตถุแห่งถุลลัจจัยเหมือนกัน. แต่ในอรรถกถาทั้งหลาย ท่านไม่ได้วิจารคำนี้ไว้.
               คำที่เหลือทุกๆ เรื่องมีอรรถกระจ่างทั้งนั้นแล.

               สัญจริตตสิกขาบทวรรณนา จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๕ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 414อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 421อ่านอรรถกถา 1 / 432อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=14568&Z=14821
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :