บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
วิหารการสิกขาบทวรรณนา [แก้อรรถปฐมบัญญัติเรื่องพระฉันนะ] บทว่า โกสมฺพิยํ ได้แก่ ใกล้นครที่มีชื่ออย่างนี้. บทว่า โฆสิตาราเม ได้แก่ ที่วิหาร (วัด) ของท่านโฆสิตเศรษฐี. ได้ยินว่า วิหาร (วัด) นั้น ท่านเศรษฐีนามว่าโฆสิตให้สร้าง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า "วัดโฆสิตาราม." บทว่า ฉนฺนสฺส ได้แก่ พระฉันนะเคยเป็นมหาดเล็กในเวลาพระพุทธองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์. ข้อว่า วิหารวตฺถุํ ภนฺเต ชานาติ มีความว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านโปรดตรวจดูสถานที่สร้างวิหารเถิด. ก็ในคำว่า วิหารวตฺถุํ นี้ ที่ชื่อว่าวิหาร ไม่ใช่วิหารทั้งสิ้น คืออาวาส (ที่อยู่) หลังหนึ่ง. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล คฤหบดีอุปัฏฐากของท่านพระฉันนะ จึงกล่าวว่า กระผมจักให้สร้างวิหารถวายพระคุณเจ้า. ในคำว่า เจติยรุกฺขํ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :- ที่ชื่อว่า เจดีย์ เพราะอรรถว่า อันปวงชนทำความเคารพ. คำว่า เจติยรุกฺขํ นี้ เป็นชื่อแห่งเทวสถานทั้งหลายที่ควรแก่การบูชา. ต้นไม้ที่ชาวโลกสมมติว่า เจดีย์ ชื่อว่ารุกขเจดีย์. ที่ชาวบ้านบูชาแล้ว หรือเป็นที่บูชาของชาวบ้าน เพราะฉะนั้น ต้นไม้นั้นจึงชื่อว่า คามปูชิตะ (ที่ชาวบ้านพากันบูชา). ในบทที่เหลือก็มีนัยเช่นนี้. อีกอย่างหนึ่ง ในชนบทและรัฐนี้ ส่วนหนึ่งในรัชสีมาแห่งพระราชาพระองค์หนึ่ง พึงทราบว่า ชนบท. แว่นแคว้นทั้งสิ้น พึงทราบว่า รัฐ. จริงอยู่ ในกาลบางครั้ง แม้ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้น ก็ทำการบูชาต้นไม้นั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ที่ชาวแว่นแคว้นพากันบูชาแล้ว. ด้วยบทว่า เอกินฺทฺริยํ นี้ พวกชาวบ้านกล่าวหมายเอากายินทรีย์. บทว่า ชีวสฺญิโน คือ มีความสำคัญว่า เป็นสัตว์. บทว่า มหลฺลกํ มีความว่า ความที่วิหารใหญ่กว่ากุฎีที่ขอเอาเอง โดยความเป็นที่มีเจ้าของ มีอยู่แก่วิหารนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มหัลลกะ. อีกอย่างหนึ่ง เพราะให้สงฆ์แสดงที่ให้แล้วสร้างแม้ให้เกินประมาณก็ควร ฉะนั้น วิหารนั้นจึงชื่อว่า มหัลลกะ. เพราะเป็นของใหญ่กว่าประมาณบ้าง. ซึ่งวิหารใหญ่นั้น. ก็เพราะวิหารนั้นมีความใหญ่กว่าประมาณนั้นได้ เพราะเป็นของมีเจ้าของนั่นเอง ฉะนั้น เพื่อแสดงใจความนั้น ท่านพระอุบาลีจึงกล่าวบทภาชนะว่า วิหารมีเจ้าของ เรียกชื่อว่า วิหารใหญ่. คำที่เหลือทั้งหมดพร้อมด้วยสมุฏฐานเป็นต้น ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยดังที่กล่าวแล้วในกุฎีการสิกขาบทนั่นแล. จริงอยู่ ในสิกขาบทนี้มีความแปลกกัน แต่เพียงความเป็นของมีเจ้าของ ความไม่มีสมุฏฐานจากการทำ และความไม่มีกำหนดประมาณเท่านั้น และจตุกกะลดลงไป ก็เพราะไม่มีกำหนดประมาณ ฉะนี้แล. วิหารการสิกขาบทวรรณนา จบ. ------------------------------------------------------------ .. อรรถกถา เตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๗ จบ. |