ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 630อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 631อ่านอรรถกถา 1 / 644อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา อนิยตกัณฑ์
อนิยต สิกขาบทที่ ๑

               อนิยตกัณฑวรรณนา               
               ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อนึ่ง ธรรมคืออนิยต ๒ สิกขาบทนี้แลย่อมมาสู่อุเทศ.

               พรรณนาอนิยตสิกขาบทที่ ๑               
               อนิยตสิกขาบทที่ ๑ ว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา เป็นต้น
               ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป :-
               ในอนิยตสิกขาบทที่ ๑ นั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               [แก้อรรถมูลเหตุแห่งปฐมบัญญัติเป็นต้น]               
               คำว่า กาลยุตฺตํ สมุลฺลปนฺโต มีความว่า กำหนดกาลแล้วกล่าวถ้อยคำเกี่ยวด้วยเรื่องชาวบ้าน ในเวลาที่ใครๆ ไม่เดินผ่านไปหรือเดินผ่านมาที่ใกล้ คือ ตามที่เหมาะแก่เวลาเช่นนั้น มีอาทิว่า เธอไม่กลุ้มใจ ไม่ลำบากใจ ไม่อดอยากละหรือ?
               คำว่า กาลยุตฺตํ ธมฺมํ ภณนฺโต มีความว่า กำหนดกาลแล้วกล่าวธรรมกถา ในเวลาที่ใครคนอื่นเดินผ่านมา หรือเดินผ่านไป คือตามที่เหมาะแก่เวลาเช่นนั้น มีอาทิว่า เธอควรทำอุโบสถ, เธอควรถวายสลากภัต ดังนี้.
               นางวิสาขานั้น ชื่อว่า มีบุตรมาก เพราะนางมีธิดาและบุตรมาก.
               ได้ยินว่า นางมีบุตรชาย ๑๐ คน และบุตรหญิง ๑๐ คน. ชื่อว่า มีนัดดามาก เพราะนางมีหลานมาก. เหมือนอย่างว่า นางวิสาขานั้นมีบุตรชายหญิง ๒๐ คน ฉันใดแล, แม้บุตรชายหญิงของนางก็มีทารกคนละ ๒๐ คน ฉันนั้น. นางจึงได้ชื่อว่า มีลูกและหลานเป็นบริวาร ๔๒๐ คน ด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า อภิมงฺคลสมฺมตา คือ ผู้อันชาวโลกสมมติว่าเป็นอุดมมงคล.
               บทว่า ยญฺเญสุ คือ ในทานน้อยและทานใหญ่.
               บทว่า ฉเณสุ คือ ในงานมหรสพอันเป็นไปเป็นครั้งคราว มีอาวาหมงคลและวิวาหมงคลเป็นต้น.
               บทว่า อุสฺสเวสุ ได้แก่ ในงานมหรสพฉลอง (สมโภช) มีอาสาฬหนักขัตฤกษ์ และปวารณานักขัตฤกษ์เป็นต้น (งานฉลองนักขัตฤกษ์วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา).
               บทว่า ปฐมํ โภเชนฺติ มีความว่า ชนทั้งหลายเชิญให้รับประทานก่อน พลางขอพรว่า เด็กแม้เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีโรคมีอายุยืน เสมอด้วยท่านเถิด ดังนี้. แม้ชนเหล่าใดเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ชนเหล่านั้นให้ภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว จึงเชิญนางวิสาขานั้นแลให้รับประทานก่อนทั้งปวง ในลำดับที่ภิกษุฉันแล้วนั้น.
               บทว่า น อาทิยิ มีความว่า พระอุทายีเถระไม่เชื่อฟังคำของนาง.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ไม่กระทำความเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า อลํกมฺมนิเย มีวิเคราะห์ว่า ที่นั่งที่ชื่อว่า กัมมนิยะ เพราะอรรถว่า ควรแก่กรรม คือเหมาะแก่กรรม. ที่ชื่อว่า อลังกัมมนิยะ เพราะอรรถว่า อาจ สามารถ เพื่อทำการได้ ในอาสนะกำบังซึ่งพอจะทำการได้นั้น.
               ความว่า ในสถานที่อย่างที่ชนทั้งหลาย เมื่อจะทำอัชฌาจาร อาจทำกรรมนั้นได้. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ในบทภาชนะแห่งบทว่า อลํกมฺมนิเย นั้น ท่านจึงกล่าวว่า อาจจะเสพเมถุนธรรมได้.
               มีคำอธิบายว่า ในที่ซึ่งอาจจะเสพเมถุนธรรมได้.
               สองบทว่า นิสชฺชํ กปฺเปยฺย ได้แก่ พึงทำการนั่ง. อธิบายว่า พึงนั่ง.
               ก็เพราะบุคคลนั่งก่อน แล้วจึงนอน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการนั่งและการนอนทั้งสองไว้ ในบทภาชนะแห่งบทว่า นิสชฺชํ กปฺเปยฺย นั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปนิสินฺโน มีความว่า บุคคลผู้เข้าไปนั่งใกล้ๆ นั่นแล ผู้ศึกษาพึงทราบว่า นอนใกล้.
               สองบทว่า ภิกฺขุ นิสินฺเน ความว่า เมื่อภิกษุนั่งแล้ว.
               สองบทว่า อุโภ วา นิสินฺนา มีความว่า แม้ ๒ คน นั่งไม่หลังไม่ก่อนกัน (นั่งพร้อมๆ).
               ก็ในสิกขาบทที่ ๑ นี้ คำว่า ที่ลับหู ไม่ได้มาในพระบาลีแม้ก็จริง. ถึงอย่างนั้น พึงทราบการกำหนด (อาบัติ) ด้วยที่ลับตาเท่านั้น. หากว่า มีบุรุษรู้เดียงสานั่งอยู่ใกล้ประตูห้องซึ่งปิดบานประตูไว้ก็คุ้มอาบัติไม่ได้เลย. แต่ถ้านั่งใกล้ประตูห้องที่ไม่ได้ปิดบานประตูคุ้มอาบัติได้. และใช่แต่ที่ใกล้ประตูอย่างเดียวหามิได้, แม้นั่งในโอกาสภายใน ๑๒ ศอก ถ้าเป็นคนตาดี มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง เคลิ้มไปบ้าง ก็คุ้มอาบัติได้. คนตาบอด แม้ยืนอยู่ในที่ใกล้ ก็คุ้มอาบัติไม่ได้. ถึงคนตาดี นอนหลับเสีย ก็คุ้มอาบัติไม่ได้. ส่วนสตรีแม้ตั้ง ๑๐๐ คน ก็คุ้มอาบัติไม่ได้เลย.
               บทว่า สทฺเธยฺยวจสา แปลว่า มีวาจาควรเชื่อถือได้. ก็เพราะอุบาสิกานั้นเป็นถึงอริยสาวิกา ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อาคตผลา เป็นต้นไว้ ในบทภาชนะแห่งบทว่า สทฺเธยฺยวจสา นั้น.
               ในคำว่า อาคตผลา เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               อุบาสิกานั้นชื่อว่า อาคตผลา เพราะว่า มีผลอันมาแล้ว.
               อธิบายว่า ผู้ได้โสดาปัตติผลแล้ว.
               บทว่า อภิสเมตาวินี คือ ผู้ได้ตรัสรู้สัจจะ ๔. อุบาสิกานี้เข้าใจศาสนา คือไตรสิกขาดี เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้เข้าใจศาสนาดี.
               ข้อว่า นิสชฺชํ ภิกฺขุ ปฏิชานมาโน มีความว่า อุบาสิกาเช่นนี้เห็นแล้วจึงพูด แม้ก็จริง, ถึงอย่างนั้น ภิกษุปฏิญญาการนั่งอย่างเดียว พระวินัยธรพึงปรับด้วยธรรม ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเธอไม่ปฏิญญา ไม่พึงปรับ.
               ข้อว่า อีกประการหนึ่ง อุบาสิกามีวาจาที่เชื่อได้นั้น กล่าวด้วยธรรมใด ภิกษุนั้นพึงถูกปรับด้วยธรรมนั้น. มีความว่า อุบาสิกานั้นยกเรื่องเมถุนธรรมเป็นต้นขึ้น พร้อมด้วยอาการมีการนั่งเป็นต้น อาการอย่างใด, ภิกษุนั้นก็ปฏิญญาด้วย พึงถูกปรับด้วยอาการอย่างนั้น. อธิบายว่า ไม่พึงปรับด้วยอาการสักว่าถ้อยคำของอุบาสิกาแม้เห็นปานนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะธรรมดาว่า เรื่องที่เห็นเป็นอย่างนั้นก็มี เป็นอย่างอื่นก็มี ก็เพื่อประกาศเนื้อความนั้น พระอาจารย์ทั้งหลายจึงนำเรื่องมาเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้ :-

               [เรื่องพระขีณาสพเถระนั่งกับมาตุคาม]               
               ได้ทราบว่า ในมัลลารามวิหาร พระเถระผู้ขีณาสพรูปหนึ่งไปสู่ตระกูลอุปัฏฐาก ในวันหนึ่ง นั่งแล้ว ณ ภายในเรือน. ฝ่ายอุบาสิกาก็ยืนพิงบัลลังก์สำหรับนอน. ลำดับนั้น ภิกษุถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง ยืนที่ใกล้ประตู เห็นเข้าได้ความสำคัญว่า พระเถระนั่งบนอาสนะเดียวกันกับอุบาสิกา จึงมองดูบ่อยๆ.
               แม้พระเถระก็กำหนดรู้ว่า ภิกษุรูปนี้เกิดเป็นผู้มีความเข้าใจในเราว่าไม่บริสุทธิ์ ทำภัตกิจแล้วไปยังวิหาร เข้าไปสู่ที่อยู่ของตนแล้วนั่งอยู่ ณ ภายในนั่นเอง. ภิกษุรูปนั้นมาแล้วด้วยตั้งใจว่า เราจักโจทพระเถระ กระแอมแล้วเปิดประตู. พระเถระทราบจิตของเธอ จึงเหาะขึ้นบนอากาศ นั่งโดยบัลลังก์พิงช่อฟ้าเรือนยอด. แม้ภิกษุนั้นเข้าไปภายใน ตรวจดูเตียงและภายใต้เตียงไม่เห็นพระเถระ จึงแหงนดูเบื้องบน.
               ลำดับนั้น ท่านเห็นพระเถระนั่งอยู่บนอากาศ จึงกล่าวว่า ท่านขอรับ! ท่านชื่อว่า มีฤทธิ์มากอย่างนี้ ขอจงให้บอกความที่ท่านนั่งบนอาสนะเดียวกับมาตุคามมาก่อนเถิด. พระเถระจึงกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ! นี้เป็นโทษของละแวกบ้าน แต่เราไม่อาจให้ท่านเชื่อได้ จึงได้กระทำอย่างนี้ ท่านควรจะช่วยรักษาเราไว้ด้วย. พระเถระกล่าวอย่างนี้แล้วก็ลง.
               ต่อจากนี้ไป คำว่า สา เจ เอวํ วเทยฺย เป็นต้นทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงอาการแห่งเหตุของการปฏิญญา.

               [พึงปรับอาบัติตามปฏิญญาของภิกษุ]               
               บรรดาบทเหล่านั้น หลายบทว่า มาตุคามสฺส เมถุนํ ธมฺมํ ปฏิเสวนฺโต มีความว่า ผู้เสพเมถุนธรรมในมรรคของมาตุคาม.
               คำว่า นิสชฺชาย กาเรตพฺโพ มีความว่า ภิกษุปฏิญญาการนั่งแล้ว ไม่ปฏิญญาการเสพเมถุนธรรม อย่าปรับด้วยอาบัติเมถุนธรรมปาราชิก พึงปรับด้วยอาบัติที่ต้องด้วยเหตุสักว่านั่ง.
               อธิบายว่า พึงปรับด้วยอาบัติปาจิตตีย์.
               พึงทราบวินิจฉัยในจตุกกะทั้งหมดโดยนัยนี้.
               บรรดาบทมีบทว่า คมนํ ปฏิชานาติ เป็นต้นที่ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงการกำหนดอาบัติ และอนาบัติ ในสุดท้ายแห่งสิกขาบท.
               สองบทว่า คมนํ ปฏิชานาติ มีความว่า ย่อมปฏิญญาการเดินอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้เดินไปเพื่อยินดีการนั่งในที่ลับ.
               บทว่า นิสชฺชํ มีความว่า ย่อมปฏิญญาซึ่งการนั่งด้วยความยินดีในการนั่งเท่านั้น.
               บทว่า อาปตฺตึ ได้แก่ บรรดาอาบัติทั้ง ๓ อาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               สองบทว่า อาปตฺติยา กาเรตพฺโพ มีความว่า บรรดาอาบัติทั้ง ๓ พึงปรับด้วยอาบัติที่ภิกษุปฏิญญา.
               คำที่เหลือในจตุกกะในสิกขาบทนี้ มีอธิบายตื้นทั้งนั้น.
               ส่วนในทุติยจตุกกะ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               สองบทว่า คมนํ น ปฏิชานาติ มีความว่า ย่อมไม่ปฏิญญาด้วยอำนาจแห่งความยินดีการนั่งในที่ลับ ย่อมกล่าวว่า เราไปด้วยการงานส่วนตัวมีสลากภัตเป็นต้น, ส่วนอุบาสิกานั้น มาสู่สถานที่เรานั่งเอง.
               บทที่เหลือ แม้ในทุติยจตุกกะนี้ ก็มีอธิบายตื้นเหมือนกัน.
               แต่บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในจตุกกะทั้งปวง ดังต่อไปนี้ :-
               กิเลสที่อาศัยเมถุนธรรม ตรัสเรียกว่า ความยินดีการนั่งในที่ลับ.
               ภิกษุใดใคร่จะไปยังสำนักแห่งมาตุคามด้วยความยินดีนั้นหยอดนัยน์ตา ต้องทุกกฏ, นุ่งผ้านุ่ง คาดประคดเอว ห่มจีวร เป็นทุกกฏ ทุกๆ ประโยค ในจตุกกะทั้งปวง.
               เมื่อเดินไป เป็นทุกกฏ ทุกๆ ย่างเท้า. เดินไปแล้วนั่ง เป็นทุกกฏอย่างเดียว, พอเมื่อมาตุคามมานั่ง เป็นปาจิตตีย์. ถ้าหญิงนั้นผุดลุกผุดนั่ง ด้วยกรณียกิจบางอย่าง เป็นปาจิตตีย์ ในการนั่งทุกๆ ครั้ง.
               ภิกษุมุ่งหมายไปหาหญิงใด ไม่พบหญิงนั้น, หญิงอื่นมานั่ง เมื่อเกิดความยินดี ก็เป็นปาจิตตีย์.
               แต่ในมหาปัจจรี ท่านกล่าวว่า เพราะมีจิตไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่เวลามา เป็นอาบัติเหมือนกัน. ถ้าหญิงมามากคนด้วยกัน เป็นปาจิตตีย์ตามจำนวนผู้หญิง. ถ้าพวกผู้หญิงเหล่านั้นผุดลุกผุดนั่งบ่อยๆ เป็นปาจิตตีย์หลายตัว ตามจำนวนกับกิริยาที่นั่ง.
               แม้เมื่อภิกษุไม่กำหนดไว้ไปนั่งด้วยตั้งใจว่า เราจักสำเร็จความยินดีในที่ลับกับหญิงที่เราพบแล้วๆ ดังนี้. บัณฑิตพึงทราบอาบัติหลายตัว ด้วยสามารถแห่งหญิงทั้งหลายผู้มาแล้วๆ และด้วยอำนาจการนั่งบ่อยครั้ง โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ถ้าแม้นว่า ภิกษุไปนั่งด้วยจิตบริสุทธิ์ เกิดความยินดีในที่ลับกับหญิงผู้มายังสำนักแล้วนั่ง, ไม่เป็นอาบัติเลย.
               สมุฏฐานเป็นต้น เป็นเช่นเดียวกันกับปฐมปาราชิกสิกขาบททีเดียวแล.

               พรรณนาอนิยตสิกขาบทที่ ๑ จบ.               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อนิยตกัณฑ์ อนิยต สิกขาบทที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 630อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 631อ่านอรรถกถา 1 / 644อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=19219&Z=19394
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=3136
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=3136
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :