ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 48อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 79อ่านอรรถกถา 1 / 84อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ปาราชิกกัณฑ์ ทุติยปาราชิกสิกขาบท

               ทุติยปาราชิกวรรณนา               
                         บัดนี้ ถึงลำดับสังวรรณนาทุติยปาราชิก
               ซึ่งพระชินเจ้าผู้ไม่เป็นที่สองทรงประกาศแล้ว,
               เพราะเหตุนั้น คำใดที่จะพึงรู้ได้ง่าย และได้
               ประกาศไว้แล้วในเบื้องต้น, การสังวรรณนา
               ทุติยปาราชิกนั้น จะเว้นคำนั้นเสียทั้งหมด
               ดังต่อไปนี้ :-

               [เรื่องพระธนิยะกุมภการบุตร]               
               นิกเขปบทว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา ราชคเห วิหรติ คิชฺฌกูเฏ ปพฺพเต ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป.
               บทว่า ราชคเห ได้แก่ เมืองที่มีชื่ออย่างนั้น.
               จริงอยู่ เมืองนั้นเรียกว่า ราชคฤห์ เพราะเป็นเมืองที่พระราชาทั้งหลายมีพระเจ้ามันธาตุ และพระเจ้ามหาโควินทะเป็นต้นทรงปกครอง. ในคำว่า ราชคฤห์ นี้ พระอาจารย์ทั้งหลายพรรณนาประการอย่างอื่นบ้าง. จะมีประโยชน์อะไร ด้วยประการเหล่านั้นเล่า?.
               คำว่า ราชคฤห์ นี้เป็นชื่อของเมืองนั้น. แต่เมืองนี้นั้นเป็นเมืองในครั้งพุทธกาล และจักรพรรดิกาล. ในกาลที่เหลือเป็นเมืองร้างถูกยักษ์หวงห้าม คือเป็นป่าเป็นที่อยู่ของพวกยักษ์เหล่านั้น ท่านพระอุบาลีเถระ ครั้นแสดงโคจรคามอย่างนั้นแล้ว จึงแสดงสถานเป็นที่เสด็จประทับ.
               สองบทว่า คิชฺฌกูเฏ ปพฺพเต มีความว่า ก็ภูเขานั้น เขาเรียกกันว่า คิชฌกูฏ เพราะเหตุว่า มีฝูงแร้งอยู่บนยอด หรือมียอดคล้ายแร้ง.
               บทว่า สมฺพหุลา มีความว่า โดยบรรยายแห่งพระวินัย ภิกษุ ๓ รูปเรียกว่า ภิกษุเป็นอันมาก เกินกว่านั้นเรียกว่า สงฆ์. โดยบรรยายแห่งพระสูตร ภิกษุ ๓ รูปคงเรียกว่า ๓ รูปนั่นเอง, ตั้งแต่ ๓ รูปขึ้นไปจึงเรียกว่า ภิกษุเป็นอันมาก. ภิกษุเป็นอันมากในที่นี้พึงทราบว่า มากด้วยกัน โดยบรรยายแห่งพระสูตร.
               ชนทั้งหลายที่ไม่คุ้นเคยกันนัก คือไม่ใช่มิตรที่สนิท ท่านเรียกว่าเพื่อนเห็น.
               จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้น ท่านเรียกว่า เพื่อนเห็น เพราะได้พบเห็นกันในที่นั้นๆ. ชนทั้งหลายที่คุ้นเคยกัน คือเป็นเพื่อนสนิท ท่านเรียกว่าเพื่อนคบ.
               จริงอยู่ ภิกษุเหล่านั้นคบกันแล้วคือกำลังคบกันเป็นอย่างดี ท่านเรียกว่า เพื่อนคบ เพราะทำความสนิทสมโภคและบริโภคเป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า อิสิคิลิปสฺเส มีความว่า ภูเขาชื่ออิสิคิลิ ที่ข้างภูเขานั้น.
               ได้ยินว่า ครั้งดึกดำบรรพ์ พระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๕๐๐ องค์ เที่ยวไปบิณฑบาตในชนบททั้งหลายมีกาสีและโกสลเป็นต้น เวลาภายหลังภัตประชุมกันที่ภูเขานั้น ยังกาลให้ล่วงไปด้วยสมาบัติ. มนุษย์ทั้งหลายเห็นท่านเข้าไปเท่านั้น ไม่เห็นออก เพราะเหตุนั้นจึงพูดกันว่า ภูเขานี้กลืนพระฤาษีเหล่านี้. เพราะอาศัยเหตุนั้น ชื่อภูเขานั้นจึงเกิดขึ้นว่า อิสิคิลิ ทีเดียว. ที่ข้างภูเขานั้นคือ ที่เชิงบรรพต.

               [ภิกษุจำพรรษาไม่มีเสนาสนะปรับอาบัติทุกกฏ]               
               อันภิกษุผู้จะจำพรรษา แม้ปฏิบัติตามปฏิปทาของพระนาลกะก็ต้องจำพรรษาในเสนาสนะพร้อมทั้งระเบียง ซึ่งมุงด้วยเครื่องมุง ๕ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่งเท่านั้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีเสนาสนะ ไม่พึงจำพรรษา ภิกษุใดจำ ภิกษุนั้นต้องทุกกฏ. เพราะฉะนั้น ในฤดูฝน ถ้าได้เสนาสนะ การที่ได้อย่างนั้นนั่นเป็นการดี, ถ้าไม่ได้ ต้องแสวงหาหัตถกรรมทำ, เมื่อไม่ได้หัตถกรรม ควรทำเอาแม้เอง.
               ส่วนภิกษุผู้ไม่มีเสนาสนะไม่ควรเข้าจำพรรษาเลย. ข้อนี้เป็นธรรมอันสมควร. เพราะเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงทำกุฎีหญ้ากำหนดที่พักกลางคืนและกลางวันเป็นต้นไว้แล้ว อธิษฐานกติกาวัตรและขันธกวัตร ศึกษาในไตรสิกขา อยู่จำพรรษา.
               สองบทว่า อายสฺมาปิ ธนิโย มีความว่า ไม่ใช่แต่พระเถระเหล่านั้นอย่างเดียว แม้ท่านพระธนิยะ ซึ่งเป็นต้นบัญญัติแห่งสิกขาบทนี้ ก็ได้ทำเหมือนกัน.
               บทว่า กุมฺภการปุตุโต คือ เป็นบุตรของช่างหม้อ.
               จริงอยู่ คำว่า ธนิยะ เป็นชื่อของเธอ แต่บิดาของเธอเป็นช่างหม้อ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระธนิยะ บุตรช่างหม้อ.
               สองบทว่า วสฺสํอุปคญฺฉิ ความว่า พระธนิยะทำกุฎีหญ้าแล้วก็จำพรรษาในที่แห่งเดียวกันกับพระเถระเหล่านั้นนั่นเอง.
               สองบทว่า วสฺสํ วุฏฺฐา ความว่า ภิกษุเหล่านั้นเข้าจำพรรษาในวันปุริมพรรษาแล้วปวารณาในวันมหาปวารณา ตั้งแต่วันปาฏิบท (แรม ๑ ค่ำ) ไป ท่านเรียกว่า ผู้ออกพรรษาแล้ว. เป็นผู้ออกพรรษาแล้วด้วยวิธีอย่างนั้น.
               สองบทว่า ติณกุฏิโย ภินฺทิตฺวา มีความว่า ภิกษุเหล่านั้นหาได้ทำลายกุฎีให้เป็นจุณวิจุณด้วยการประหารด้วยไม้ค้อนเป็นต้นไม่ แต่ได้รื้อหญ้า ไม้และเถาวัลย์เป็นต้นออกเสีย ด้วยระเบียบวัตร.
               จริงอยู่ ภิกษุใดได้ทำกุฎีไว้ในที่สุดแดนวิหาร ภิกษุนั้น ถ้าพวกภิกษุเจ้าถิ่นมีอยู่ ก็ควรบอกลาภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้น พึงกล่าวว่า ถ้าภิกษุรูปใดสามารถจะดูแลกุฎีนี้อยู่ได้ ขอท่านจงมอบให้แก่เธอรูปนั้นนั่นแหละ ดังนี้แล้วจึงหลีกไป. ถ้าภิกษุใดทำกุฎีไว้ในป่าหรือไม่ได้รักษา ภิกษุนั้นคิดว่า เสนาสนะจักเป็นของบริโภคแก่ภิกษุแม้เหล่าอื่น ควรเก็บงำเสียจึงไป.
               อธิบายว่า ก็ภิกษุเหล่านั้นสร้างกุฎีไว้ในป่าแล้ว เมื่อไม่ได้ผู้รักษาเก็บงำ คือรวบรวมหญ้าและไม้ไว้.
               อนึ่ง หญ้าและไม้ที่เก็บไว้แล้ว สัตว์ทั้งหลายมีปลวกเป็นต้นจะกัดไม่ได้ ทั้งฝนก็จะรั่วรดไม่ได้ โดยประการใด ก็ควรเก็บไว้โดยประการนั้น ควรบำเพ็ญคมิกวัตรให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า หญ้าและไม้นั้นจักเป็นอุปการะแก่เพื่อนสพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้มาถึงสถานที่นี้ แล้วประสงค์จะอยู่ ดังนี้ จึงควรหลีกไป.
               สองบทว่า ชนปทาจาริกํ ปกฺกมึสุ มีความว่า ภิกษุเหล่านั้นได้ไปยังชนบทตามความชอบใจของตนๆ คำเป็นต้นว่า ท่านพระธนิยะ กุมภการบุตร อยู่จำพรรษาที่เชิงเขาคิชฌกูฎนั้นนั่นเอง มีเนื้อความชัดเจนทีเดียว.
               บทว่า ยาวตติยกํ แปลว่า ถึง ๓ ครั้ง.
               บทว่า อนวโย แปลว่า เป็นผู้ไม่บกพร่อง. ลบ อุ อักษรเสียด้วยอำนาจสนธิ. อธิบายว่า เป็นผู้มีศิลปะบริบูรณ์ไม่บกพร่องในการงานทุกอย่าง ที่พวกช่างหม้อจะพึงทำ.
               บทว่า สเก แปลว่า ของๆ ตน.
               บทว่า อาจริยเก แปลว่า ในการงานแห่งอาจารย์.
               บทว่า กุมฺภการกมฺเม แปลว่า ในการงานของพวกช่างหม้อ. อธิบายว่า ในการงานอันพวกช่างหม้อจะพึงทำ. ด้วยบทว่า กุมฺภการกมฺเม นั้น เป็นอันท่านธนิยะแสดงถึงการงานแห่งอาจารย์ของตน โดยสรูป.
               บทว่า ปริโยทาตสิปฺโป คือ เป็นผู้สำเร็จศิลปะ. มีคำอธิบายว่า แม้เมื่อเราไม่มีความบกพร่อง เราก็เป็นผู้มีศิลปะจะหาคนอื่นทัดเทียมไม่ได้
               บทว่า สพฺพมตฺติกามยํ มีความว่า ท่านธนิยะนั้นทำเครื่องเรือนที่เหลือทั้งหมดมีประเภทคือฝา อิฐมุงและเครื่องไม้เป็นต้นให้สำเร็จด้วยดินทั้งนั้น ยกเว้นแต่เพียงกรอบเช็ดหน้า ประตูลิ่มสลักลูกดาลและบานหน้าต่าง.
               หลายบทว่า ติณญฺจกฏฺญฺจโคมยญฺจ สงฺกฑฺฒิตฺวา ตํ กุฏิกํ ปจิ มีความว่า ท่านธนิยะทำเครื่องเรือนให้สำเร็จด้วยดินล้วน แล้วขัดถูด้วยฝ่ามือ ทำให้แห้งแล้วเอาดินแดงผสมด้วยน้ำมันโบกทาให้เกลี้ยงเกลา ครั้นแล้วจึงบรรจุทั้งภายในและภายนอกให้เต็มด้วยหญ้าเป็นต้นแล้วเผากุฎีนั้น โดยวิธีที่ดินจะเป็นของสุกปลั่งด้วยดี. ก็แลกุฎีนั้นได้เป็นของเผาแล้วด้วยอาการอย่างนั้น.
               บทว่า อภิรูปา แปลว่า มีรูปสวยงาม
               บทว่า ปาสาทิกา แปลว่า ชวนให้เกิดความเลื่อมใส.
               บทว่า โลหิตกา แปลว่า มีสีแดง.
               บทว่า กึกิณิกสทฺโท ได้แก่ เสียงข่ายกระดึง.
               ได้ยินว่า ข่ายกระดึงที่เขาทำด้วยรัตนะต่างๆ ย่อมมีเสียงฉันใด กุฎีนั้นก็มีเสียงฉันนั้น เพราะถูกลมที่พัดเข้าไปโดยช่องบานหน้าต่างเป็นต้นกระทบแล้ว.
               ด้วยบทว่า กึกิณิกสทฺโท นั้น เป็นอันท่านแสดงถึงข้อที่กุฎีนั้นสุกปลั่งทั้งภายในและภายนอก. ส่วนในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า ภาชนะสำริด ชื่อว่า กึกิณิกะ. เพราะฉะนั้น ภาชนะสำริดที่ถูกลมกระทบแล้วมีเสียง ฉันใด กุฎีนั้นถูกลมกระทบแล้วได้มีเสียงฉันนั้น.
               ในคำว่า กึ เอตํ ภิกฺขเว นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้:-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอยู่ทีเดียว เพื่อจะทรงตั้งเรื่องนั้นจึงได้ตรัสถาม.
               หลายบทว่า ภควโต เอตมตถํ อาโรเจสํ ความว่า ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลข้อที่พระธนิยะทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วน แด่พระผู้มีประภาคเจ้าตั้งแต่ต้น.
               คำว่า กริสฺสติ นี้ ในประโยคว่า ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษนั้นจึงได้ขยำโคลนทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนเล่า? เป็นคำอนาคตลงในอรรถอดีต.
               มีคำอธิบายว่า ได้ทำแล้ว. ลักษณะแห่งการกล่าวกิริยาอนาคตลงในอรรถอดีตนั้น ผู้ศึกษาควรแสวงหาจากคัมภีร์ศัพทศาสตร์.
               ในคำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนมิได้มีแก่โมฆบุรุษนั้นเลย นี้มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ความตามรักษา ชื่อ อนุทยา พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมแสดงส่วนเบื้องต้นแห่งเมตตาด้วยบทว่า อนุทยา นั้น.
               จิตไหวตาม เพราะทุกข์ของผู้อื่น ชื่อว่า อนุกัมปา. ความไม่ห่ำหั่น ชื่อว่า อวิเหสา. พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงส่วนเบื้องต้นแห่งกรุณา ด้วยสองบทว่า อนุกัมปา และอวิเหสา นั้น.
               พระองค์ตรัสคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระธนิยะโมฆบุรุษนั้นเบียดเบียน คือทำสัตว์ใหญ่น้อยเป็นอันมากให้พินาศไปอยู่ เพราะขุดดิน ขยำโคลนและติดไฟเผา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียน แม้เป็นเพียงส่วนเบื้องต้นแห่งเมตตาและกรุณาในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่ามิได้มีเลย คือความเอ็นดูเป็นต้น ชื่อแม้มีประมาณน้อยก็มิได้มี.
               หลายบทว่า มา ปจฺฉิมา ชนตา ปาเณสุ ปาตพยตํ อาปชฺชติ มีความว่า หมู่ชนชั้นหลังอย่าถึงความเบียดเบียนหมู่สัตว์เลย.
               มีคำอธิบายว่า หมู่ชนชั้นหลังสำเหนียกว่า แม้ในครั้งพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายได้ทำกรรมอย่างนี้แล้ว เมื่อภิกษุทำปาณาติบาตอยู่ในสัตว์ทั้งหลายในฐานะเช่นนี้ ก็ไม่มีโทษ ดังนี้ เมื่อจะเจาะเอาพระเถระนี้เป็นทิฏฐานุคติ อย่าได้สำเหนียกกรรมที่จะพึงเบียดเบียน คือทรมานหมู่สัตว์ เหมือนอย่างพระเถระทำแล้วนั้นเลย.

               [ปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้สร้างกุฎีด้วยดินล้วน]               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงตำหนิพระธนิยะอย่างนั้นแล้ว จึงทรงห้ามการทำกุฎีเช่นนั้นต่อไปว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุไม่ควรกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วน.
               ก็แล ครั้นทรงห้ามแล้ว จึงทรงปรับอาบัติไว้ เพราะการทำกุฎีสำเร็จด้วยดินล้วนว่า ภิกษุใดพึงทำ ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ. เพราะเหตุนั้น ภิกษุแม้รูปใด เมื่อยังไม่ถึงความเบียดเบียนหมู่สัตว์ เพราะกิจมีการขุดดินเป็นต้น ทำกุฎีเช่นนั้น ภิกษุแม้รูปนั้นย่อมต้องทุกกฏ. แต่ภิกษุผู้ถึงความเบียดเบียนหมู่สัตว์ เพราะกิจมีการขุดดินเป็นต้น ย่อมต้องอาบัติที่ท่านปรับไว้ตามวัตถุที่ตนล่วงละเมิดทีเดียว. พระธนิยะเถระชื่อว่าไม่เป็นอาบัติ เพราะเป็นต้นบัญญัติในสิกขาบทนี้. ภิกษุที่เหลือ ผู้ล่วงละเมิดสิกขาบททำก็ดี ได้กุฎีที่ผู้อื่นทำแล้วอยู่ในกุฎีนั้นก็ดี เป็นทุกกฏแท้แล. ส่วนกุฎีที่สร้างผสมด้วยทัพสัมภาระ จะเป็นของผสมด้วยอาการใดๆ ก็ตาม ย่อมควร. กุฎีที่สำเร็จด้วยดินล้วนนั่นแล ไม่ควร. ถึงแม้กุฎีนั้น ที่ก่อด้วยอิฐ โดยอาการเช่นกับโรงพักที่สร้างด้วยอิฐ ก็ควร.

               [พระผู้มีประภาคเจ้าทรงรับสั่งให้ทำลายกุฎีเป็นอกัปปิยะ]               
               หลายบทว่า เอวมฺภนฺเตติ โข ฯเปฯ ตํ กุฏิกํ ภินฺทึสุ ความว่า ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธาณัติแล้ว ก็เอาไม้และหินทำลายกุฎีนั้นให้กระจัดกระจายแล้ว.
               ในคำว่า อถโข อายสฺมา ธนิโย เป็นต้น มีความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               พระธนิยะนั่งพักกลางวันอยู่ที่ข้างๆ หนึ่ง จึงได้มาเพราะเสียงนั้น แล้วถามภิกษุเหล่านั้นว่า อาวุโส พวกท่านทำลายกุฎีของผม เพื่ออะไร? แล้วได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้พวกกระผมทำลาย จึงได้ยอมรับเพราะเป็นผู้ว่าง่าย.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งให้ทำลายกุฎีที่พระเถระนี้ทำด้วยความอุตสาหะอย่างใหญ่ยิ่ง เพื่อเป็นที่อยู่ของตน, แม้การงาน (คือสิ่งของเช่นบานประตูเป็นต้น) ที่ยังใช้การได้ ในกุฏีนี้ของพระเถระนั้นมีอยู่มิใช่หรือ?
               แก้ว่า มีอยู่ แม้ก็จริง ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าพระทัยว่า กุฎีที่พระธนิยะทำนี้ เป็นของไม่สมควร จึงรับสั่งให้ทำลายกุฎีนั้นเสีย คือที่รับสั่งให้ทำลายเสีย เพราะว่า เป็นธงของเดียรถีย์.
               ในอธิการว่าด้วยการทำลายกุฎีนี้ มีวินิจฉัยเท่านี้.
               ส่วนในอรรถกถา พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวเหตุหลายอย่างแม้อื่นมีอาทิว่า เพื่อความเอ็นดูสัตว์ เพื่อต้องการรักษาบาตรและจีวร เพื่อป้องกันความเป็นผู้มีเสนาสนะมาก. เพราะฉะนั้น แม้ในบัดนี้ ภิกษุรูปใดเป็นพหูสูต รู้พระวินัย พบเห็นภิกษุรูปอื่นผู้ถือบริขารที่เป็นอกัปปิยะเที่ยวไปอยู่ ควรให้เธอตัดหรือทำลายบริขารที่ไม่ควรนั้นเสีย, ภิกษุรูปนั้นอันใครๆ จะยกโทษขึ้นว่ากล่าวไม่ได้ คือจะพึงทักท้วงไม่ได้ จะพึงให้เธอให้การไม่ได้ ทั้งใครๆ ไม่ได้เพื่อจะว่ากล่าวเธอว่า ท่านทำให้บริขารของผมฉิบหายแล้ว, จงให้บริขารนั้นแก่กระผม.

               [ข้อแนะนำเรื่องการใช้ร่มและจีวร]               
               ในอธิการว่าด้วยทุติยปาราชิกนั้น มีวินิจฉัยบริขารที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะนอกจากบาลีดังต่อไปนี้ :-
               ชนบางพวกเอาด้ายเบญจพรรณเย็บร่มใบตาลติดกันทั้งภายในภายนอก แล้วทำให้มีสีเกลี้ยงเกลา, ร่มเช่นนั้นไม่ควร. แต่จะเอาด้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเขียวหรือเหลืองซึ่งมีสีอย่างเดียวกัน เย็บติดกันทั้งภายในและภายนอก หรือจะมัดซี่กรงตรึงยึดคันร่มไว้ ควรอยู่. ก็แล การเย็บและการมัดรวมกันไว้นั้น เพื่อทำให้ทนทานจึงควร เพื่อจะทำให้มีสีเกลี้ยงเกลา ไม่ควร, ในใบร่ม จะสลักรูปฟันมังกร หรือรูปพระจันทร์ครึ่งซีกติดไว้ ไม่ควร. ที่คันร่มจะมีรูปหม้อน้ำหรือรูปสัตว์ร้าย เหมือนที่เขาทำไว้ในเสาเรือน ไม่ควร. แม้หากว่าที่คันร่มทั้งหมด เขาเอาเหล็กจารเขียนสลักลวดลายไว้ไซร้, แม้ลวดลายนั้น ก็ไม่ควร. รูปหม้อน้ำก็ดี รูปสัตว์ร้ายก็ดี ควรทำลายเสียก่อนจึงใช้ ควรขูดลวดลายแม้นั้นออก หรือเอาด้ายพันด้ามเสีย. แต่ที่โคนด้ามจะมีสัณฐานเหมือนเห็ดหัวงู ควรอยู่. พวกช่างทำร่มเอาเชือกมัดวงกลมของร่มผูกมัดไว้ที่คัน เพื่อกันไม่ให้โยกเยก เพราะถูกลมพัด. ในที่ๆ ผูกมัดไว้นั้น เขายกตั้งวางลวดลายไว้ เหมือนวลัย, ลวดลายนั้น ควรอยู่. พวกภิกษุเอาด้ายสีต่างๆ เย็บเป็นรูปเช่นกับรูปตะขาบ เพื่อต้องการประดับจีวร ติดผ้าดามก็ดี ทำรูปแปลกประหลาดที่เย็บด้วยเข็มอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้อื่นไว้ก็ดี รูปช้อง ผมหรือรูปโซ่ไว้ที่ริมตะเข็บ หรือที่ชายผ้า (อนุวาตจีวร) ก็ดี วิธีที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นต้นทั้งหมด ย่อมไม่ควร. การเย็บด้วยเข็มตามปกตินั่นแหละ จึงควร. เขาทำผ้าลูกดุมและผ้าห่วงลูกดุมไว้ ๘ มุมบ้าง ๑๖ มุมบ้าง, ที่ลูกดุมและรังดุมนั้น ก็แสดงรูปต่างๆ มีรูปคล้ายเจดีย์ชื่ออัคฆิยะ รูปคทาและรูปไม้พลองเป็นต้นไว้, เย็บยกเป็นรูปตาปูไว้; วิธีทำทั้งหมดไม่ควร จะทำผ้าลูกดุมและห่วงลูกดุมไว้เพียง ๔ มุมเท่านั้นจึงควร.

               [วิธีซักและย้อมจีวร]               
               ด้ายมุมและปมเทียว เป็นของที่รู้ได้ยากในเมื่อย้อมจีวรแล้วสมควรอยู่. จะใส่จีวรลงในน้ำต่างๆ มีน้ำส้มผะอูมแป้งและน้ำข้าวเป็นต้น ไม่ควร, แต่ในเวลาทำจีวร จะใส่ลงเพื่อซักเหงื่อมือและสนิมเข็มเป็นต้น และในเวลาที่จีวรสกปรกจะใส่ลงเพื่อซักให้สะอาด ก็ควร. จะใส่ของหอม ครั่งหรือน้ำมันลงในน้ำย้อมไม่ควร. อันภิกษุย้อมจีวรไม่ควรเอาสังข์หรือแก้วมณีหรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งทุบจีวร ไม่ควรคุกเข่าทั้งสองลงที่พื้นดินแล้วเอามือทั้งสองจับจีวร ขัดถูแม้ที่รางย้อม แต่จะวางจีวรไว้ที่รางย้อมหรือบนแผ่นกระดาน แล้วให้จับชายทั้งสองรวมกันไว้ เอามือทุบ สมควรอยู่. แม้การทุบนั้น ก็ไม่ควรเอากำปั้นทุบ. แต่พระเถระในปางก่อนทั้งหลายไม่ได้วางจีวรไว้ แม้ที่รางย้อมเลย คือรูปหนึ่งเอามือจับจีวรยืนอยู่ อีกรูปหนึ่ง วางจีวรไว้บนมือ แล้วจึงเอามือทุบ ไม่ควรทุบเส้นด้ายที่หูจีวร. ในเวลาย้อมเสร็จแล้ว ควรตัดทิ้งเสีย. ส่วนด้ายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเส้นด้ายที่หูจีวร ดังนี้นั้น ควรทำให้เป็นบ่วงผูกไว้ที่อนุวาต เพื่อคล้องจีวรไว้ในเวลาย้อม. แม้ที่ลูกดุมจะมีลวดลายหรือขอดปมไว้ เพื่อทำให้สวยงาม ไม่ควร ต้องทำลายเสียก่อนจึงควรใช้สอย.

               [บริขารที่ควรใช้และไม่ควรใช้]               
               ที่บาตรหรือถลกบาตร จะเอาเหล็กจารเขียนลวดลาย หรือจะเขียนไว้ทั้งภายในภายนอกก็ตาม, ลวดลายนั้น ไม่ควร จะยกบาตรขึ้นกลึงให้เกลี้ยงเกลา แล้วจึงระบม ด้วยคิดว่า จักทำให้มีสีดุจแก้วมณี ไม่ควร. ส่วนบาตรที่มีสีเหมือนน้ำมัน ควรอยู่. จะว่าในบังเวียนรองบาตร บังเวียนรองบาตรที่มีรูปภาพบุรุษผู้ภักดี@๑- ไม่ควร แต่ที่เป็นรูปฟันมังกร ควรอยู่.
               สำหรับธมกรกและร่ม จะมีลวดลายไว้ข้างบนหรือข้างล่าง หรือภายในกระพุ้งธมกรกก็ตาม ไม่ควร. แต่ร่มนั้นจะมีลวดลายไว้ที่ขอบปากร่ม ควรอยู่.
               เพื่อจะให้ประคดเอวงดงาม จะทุบด้ายให้พองขึ้นเป็นสองเท่าในที่นั้นๆ คือ ทำให้นูนขึ้นเป็นลวดลายตาปู ข้อนั้นไม่ควร. แต่ที่สุดทั้งสองข้างจะทุบให้พองขึ้นเป็นสองเท่า เพื่อความทนทานแห่งปากชายผ้า ควรอยู่. ส่วนที่ปากชายผ้า จะทำรูปแปลกปลาดอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ จะเป็นรูปหม้อน้ำก็ตาม รูปหน้ามังกรก็ตาม รูปศีรษะงูน้ำก็ตาม ไม่ควร. แม้ประคดเอวที่เขาแสดงรูปตาช้างไว้ หรือ ที่เขาทุบทำเป็นรูปลวดลายดอกไม้เป็นต้นไว้ในที่นั้นๆ ไม่ควร. แต่จะทุบทำเป็นเงี่ยงปลากระเบนก็ตาม เป็นใบแป้งก็ตาม เป็นแผ่นผ้าที่เกลี้ยงเกลาก็ตามไว้ตรงๆ เท่านั้น จึงควร. ประคดเอวมีชายเดียว สมควร, มี ๒-๓ แม้ถึง ๔ ชายก็สมควร เกินกว่านั้นไป ไม่ควร. ประคดเอวที่ทำด้วยเชือกเส้นเดียวเท่านั้น จึงควร. ส่วนที่มีสัณฐานดุจสายสังวาล แม้เส้นเดียวก็ไม่ควร. แต่ชายแม้จะมีสัณฐานดุจสังวาล ก็ควร. ประคดเอวที่เขาเอาเชือกมากเส้นรวมกันเข้า แล้วเอาเชือกอีกเส้นหนึ่งพันรอบไว้ทุกๆ ระหว่าง ไม่ควรเรียกว่า เป็นประคดเอวที่มีเชือกมากเส้น. การผูกประคดเอวที่มีเชือกมากเส้นนั้น ควรอยู่. แต่ที่มาเดิมของเรื่องนี้ ตามฉบับ ม. ยุ. เป็น ภติกมุมกตานิ แปลว่า บังเวียนของบาตรที่จ้างเขาทำ (ให้มีลวดลายเป็นรูปภาพ) มาใน วิ. จุลลวรรค. ๗/๑๗-๑๘.
               ที่ลูกถวินของประคดเอว จะมีรูปแปลกๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีรูปมงคล@๒- ๘ เป็นต้นไม่ควร จะมีเพียงรอยพอเป็นเครื่องกำหนด ควรอยู่. ในชายทั้งสองของลูกถวิน เขาทำแม้เป็นรูปหม้อน้ำไว้ เพื่อทำให้ทนทาน, รูปหม้อนี้ ก็ควร.
____________________________
@๑- ศัพท์ว่า ภตฺติกมฺมํ นี้ ได้แปลไว้ตามอรรถโยชนา ๑/๒๘๔.
@๒- รูปมงคล ๘ คือ สังข์ ๑ จักร ๑ หม้อน้ำที่เต็ม ๑ แม่น้ำคยา ๑ ลูกโคมีสิริ ๑ ขอ ๑ ธง ๑ ผ้าอย่างดี ๑ สารัตถทีปนี ๒/๑๘๘.

               [กล่องยาตาที่ควรใช้และไม่ควรใช้]               
               ที่กล่องยาตา จะมีรูปสตรี บุรุษ สัตว์ ๔ เท้าและรูปนกก็ตาม จะมีรูปแปลกๆ ต่างประเภทเป็นต้นว่า ลายดอกไม้ ลายเถาวัลย์ ฟันมังกร มูตรโค และรูปพระจันทร์ครึ่งซีกก็ตาม ไม่ควร. รูปที่กล่องยาตา ควรขูดหรือตัดออกเสีย หรือเอาด้ายพันปิดไว้ โดยอาการที่รูปจะปรากฏไม่ได้ พึงใช้สอยเถิด. ส่วนกล่องยาตา ๔ เหลี่ยม ๘ เหลี่ยม หรือ ๑๖ เหลี่ยมตรงๆ เท่านั้น จึงควร. แม้ข้างล่างกล่องยาตานั้น จะมีลวดลายกลมๆ ไว้เพียง ๒ หรือ ๓ แห่ง ก็ควร. ถึงแม้ที่คอกล่องยาตานั้น จะมีลวดลายกลมๆ ไว้เพียง ๑ แห่ง เพื่อผูกฝาปิด ก็ควร. แม้ที่ไม้ป้ายยาตา จะมีลวดลายที่มีสีเกลี้ยงเกลา ไม่ควร. ถึงแม้ถุงกล่องยาตาจะมีลวดลายที่มีสีเกลี้ยงเกลา ด้วยด้ายมีสีต่างๆ ชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ควร.

               [ฝักกุญแจและบริขารเบ็ดเตล็ดที่ควรใช้และไม่ควรใช้]               
               แม้ฝักกุญแจ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน. ที่ตัวกุญแจ จะมีลวดลายที่มีสีเกลี้ยงเกลาไม่ควร. ที่ฝักมีดโกนก็เหมือนกัน. อนึ่ง ที่ฝักมีดโกนนี้ จะเป็นชนิดไรๆ ก็ตาม ที่เย็บด้วยด้ายสีเดียวอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรอยู่.
               แม้ที่เหล็กหมาด๑- จะมีปุ่มแก้วกลมๆ หรือวัตถุอย่างอื่นที่มีสีเกลี้ยงเกลาก็ตาม ไม่ควร. ส่วนที่คอ จะมีลวดลายพอเป็นเครื่องกำหนด (คือเป็นที่สังเกต) ควรอยู่.
               แม้ที่กรรไกร จะวางปุ่มแก้วหรือปุ่มชนิดใดชนิดหนึ่งไว้ก็ตาม ไม่ควร. ส่วนที่ด้ามจะมีลวดลายพอเป็นเครื่องกำหนด ควร. มีดตัดเล็บที่เขาทำให้มีรอยขีดไว้เท่านั้น; เพราะฉะนั้น การทำให้มีรอยขีดไว้นั้น ย่อมควร.
               ที่ไม้สีไฟตัวผู้ก็ดี ที่ไม้สีไฟตัวเมียก็ดี ที่ลูกธนูก็ดี ที่บนคันลุ้ง (ไม้สีไฟนั้น) ก็ดี จะมีลวดลายอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นลวดลายดอกไม้เป็นต้นที่มีสีเกลี้ยงเกลา ไม่ควร. ส่วนตรงกลางคันลุ้ง มีวงกลม, ที่ตัววงกลมนั้นจะมีเพียงลวดลายพอเป็นเครื่องกำหนด ก็ควร. พวกชนสร้างแหนบสำหรับเป็นเครื่องกัดถูเข็มไว้. ที่แหนบสำหรับกัดถูเข็มนั้น จะมีลวดลายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นกับปากมังกรเป็นต้น ที่มีสีเกลี้ยงเกลา ไม่ควร. แต่เพื่อจะให้กัดเข็ม จะมีเพียงปากไว้ก็ได้, ปากมังกรนั้น ย่อมควร.
               แม้ที่มีดสำหรับตัดไม้สีฟัน จะมีลวดลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสีเกลี้ยงเกลา ไม่ควร ที่ข้างทั้งสอง หรือข้างๆ หนึ่ง (ของมีดนั้น) จะเอาโลหะที่เป็นกัปปิยะผูกไว้เป็น ๔ เหลี่ยม หรือ ๘ เหลี่ยมตรงๆ นั่นแหละ จึงควร.
               แม้ที่ไม้เท้า จะมีลวดลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีสีเกลี้ยงเกลาไม่ควร. ข้างใต้ (ไม้เท้า) จะมีลวดลายกลมๆ ไว้หนึ่งแห่ง หรือสองแห่ง และข้างบน จะมีเพียงรูปเห็ดหัวงูตูมไว้ ก็ควร.
               บรรดาภาชนะน้ำมัน รูปที่เหลือแม้ทั้งหมดที่มีลวดลายเกลี้ยงเกลา (ซึ่งมีอยู่) ที่ภาชนะเขาก็ดี ทะนานก็ดี กะโหลกน้ำเต้าก็ดี ขันจอกทรงมะขามป้อมก็ดี เว้นรูปภาพสตรีและบุรุษเสียย่อมควร.
               ในบรรดาเครื่องใช้ต่างๆ เหล่านี้ คือ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน เครื่องลาดพื้น แปรงเช็ดเท้า ฟูกรองที่จงกรม ไม้กวาด กระเช้าเทหยากเยื่อ รางย้อมผ้า กระบวยน้ำดื่ม หม้อน้ำดื่ม กระเบื้องเช็ดเท้า ตั่งกระดาน เชิงวลัย เชิงรองไม้สะดึง ฝาบาตร ขั้วใบตาลแลพัดวีชนีจะมีลวดลายที่มีสีเกลี้ยงเกลามีลายดอกไม้เป็นต้นทั้งหมด ก็ควร.
               ส่วนในเสนาสนะ ที่บานประตูและบานหน้าต่างเป็นต้น จะมีลวดลายที่มีสีเกลี้ยงเกลาแม้ที่สำเร็จด้วยแก้วทั้งหมด ก็ควร. ในเสนาสนะไม่มีลวดลายอะไรๆ ที่ควรห้ามไว้ เว้นแต่เสนาสนะที่ผิด.
____________________________
๑- เหล็กหมาดนี้ ท่านอธิบายไว้ในสารัตถทีปนี ภาค ๒/๑๘๘ ได้แก่ มีดหรือศัสตราที่มีปีกยาว มีไว้เพื่อซ่อมแซมคัมภีร์.

               [เสนาสนะที่ผิดควรทำลายเสีย]               
               เสนาสนะที่พวกภิกษุผู้เป็นราชพัลลภ สร้างไว้ในเขตของเจ้าของเขตเหล่าอื่น เรียกชื่อว่า เสนาสนะที่ผิด. เพราะฉะนั้น พวกภิกษุผู้สร้างเสนาสนะเช่นนั้น อันภิกษุผู้เป็นเจ้าของเขตพึงตักเตือนว่า พวกท่านอย่าสร้างเสนาสนะไว้ในเขตของพวกข้าพเจ้า (ถ้า) ไม่เชื่อฟังยังขืนสร้างอยู่นั่นเอง พึงตักเตือนซ้ำอีกว่า พวกท่านอย่าได้ทำอย่างนี้, อย่าได้ทำอันตรายแก่อุโบสถและปวารณาของพวกข้าพเจ้า, อย่าได้ทำลายความสามัคคี เสนาสนะแม้ที่พวกท่านสร้างไว้แล้ว จักไม่ตั้งอยู่ในสถานที่ๆ พวกท่านสร้างไว้แล้ว ถ้ายังขืนสร้างอยู่โดยพลการนั่นเอง, เวลาใด เจ้าของเขตเหล่านั้นมีลัชชีบริษัทหนาแน่นขึ้น ทั้งอาจได้คำวินิจฉัยที่ชอบธรรม, เวลานั้น ควรส่งข่าวแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า จงขนเอาที่อยู่ของพวกท่านไปเถิด ถ้าเมื่อส่งข่าวไปถึง ๓ ครั้งแล้ว เธอเหล่านั้นรื้อถอนไป ข้อนั้นเป็นการดี, ถ้ายังไม่รื้อถอนไปไซร้, เสนาสนะที่เหลือควรทำลายเสีย ยกไว้แต่ต้นโพธิและเจดีย์, และอย่าทำลายให้เป็นของที่ใช้การไม่ได้.
               อนึ่ง ควรนำวัตถุต่างๆ มีเครื่องมุงหลังคา กลอนเรือนและอิฐเป็นต้นออกไปตามลำดับ แล้วควรส่งข่าวแก่เธอเหล่านั้นว่า จงขนทัพสัมภาระของพวกท่านไปเถิด. ถ้ารื้อขนไปไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี, ถ้ายังไม่รื้อขนไปไซร้ หากว่าเมื่อสัมภาระเหล่านั้นผุพังไป เพราะหิมะ ฝนและแดดเผาเป็นต้นก็ดี พวกโจรลักเอาไปก็ดี ถูกไฟไหม้ก็ดี พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าของเขต ใครๆ จะกล่าวโทษไม่ได้ ทั้งไม่ได้เพื่อจะทักท้วงว่า พวกท่านทำให้ทัพสัมภาระของพวกข้าพเจ้าฉิบหายแล้ว หรือว่า ต้องปรับสินไหมพวกท่าน ดังนี้. ก็กิจใดที่ภิกษุผู้เป็นเจ้าของเขตทำแล้ว กิจนั้นเป็นอันพวกเธอทำชอบแล้วทีเดียวฉะนี้แล.
               จบบาลีมุตตกวินิจฉัย               

               พระธนิยะเริ่มสร้างกุฎีไม้               
               ก็เพื่อแสดงถึงความรำพึงและความอุตสาหะ เพื่อสร้างกุฎีอีกนั่นแลของพระธนิยะ ในเมื่อกุฎีถูกทำลายแล้วอย่างนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงได้กล่าวคำว่า อถโข อายสฺมโต เป็นต้น.
               ในคำว่า อายสฺมโต เป็นต้นนั้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               บทว่า ทารุคเหคณโก ได้แก่ เจ้าพนักงานผู้รักษาไม้ในเรือนคลังไม้ของหลวง.
               บทว่า คหณทารูนิ๑- ได้แก่ ไม้ที่นายหลวงทรงจับจองไว้. อธิบายว่า ไม้ที่พระราชาทรงสงวนไว้.
               บทว่า นครปฏิสงฺขาริกานิ ได้แก่ ไม้เป็นเครื่องอุปกรณ์การปฏิสังขรณ์พระนคร.
               สองบทว่า อาปทตฺถาย นิกฺขิตฺตานิ มีคำอธิบายว่า ได้แก่ไม้ที่เก็บไว้เพื่อป้องกันความวิบัติแห่งวัตถุทั้งหลายมีซุ้มประตู ป้อมพระราชวังหลวงและโรงช้างเป็นต้น เพราะถูกไฟไหม้ เพราะความเก่าแก่ หรือเพราะการรุกรานของพระราชาผู้เป็นข้าศึกเป็นต้น ที่ท่านเรียกว่าอันตราย.
               สองบทว่า ขณฺฑาขณฺฑิกํ เฉทาเปตฺวา ความว่า พระธนิยะกำหนดประมาณกุฎีของตนแล้ว สั่งให้ทำการตัดไม้บางต้นที่ปลาย บางต้นที่ตรงกลาง บางต้นที่โคน ให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ (บรรทุกเกวียนไปสร้างกุฎีไม้แล้ว).
____________________________
๑- บาลีเดิมเป็น เทวคหณทารูนิ.

               [วัสสการพราหมณ์ลงโทษเจ้าพนักงานผู้รักษาไม้]               
               คำว่า วัสสการ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น.
               บทว่า มคธมหามตฺโต ได้แก่ มหาอำมาตย์ คือผู้ประกอบด้วยชั้นอิสริยยศอย่างใหญ่ ในมคธรัฐ หรือมหาอำมาตย์ของพระเจ้าแผ่นดินมคธ. มีอธิบายว่า อำมาตย์ผู้ใหญ่.
               บทว่า อนุสญฺญายมาโน ความว่า วัสสการพราหมณ์ไปตรวจดูในที่นั้นๆ.
               คำว่า ภเณ เป็นคำของอิสรชนเรียกคนผู้ดำรงอยู่ในฐานะต่ำ.
               สองบทว่า พนฺธํ อาณาเปสิ ความว่า พราหมณ์ แม้โดยปกติก็เป็นผู้มีความริษยาในเจ้าพนักงานผู้รักษาไม้นั้นอยู่เทียว. พอเขาได้ฟังพระราชดำรัสว่า จงให้คนเอาตัวมา ดังนี้, แต่เพราะพระราชามิได้ทรงรับสั่งว่า จงให้เรียกมันมา ฉะนั้น จึงทำการจองจำเจ้าพนักงานผู้รักษาไม้นั้นที่มือและเท้าทั้งสอง แล้วคิดว่าจักให้ลงโทษ จึงให้จองจำไว้.
               ในคำว่า อทฺทสา โข อายสฺมา ธนิโย นั้น ถามว่า ท่านพระธนิยะได้เห็นเจ้าพนักงานผู้รักษาไม้ ถูกเจ้าหน้าที่จองจำนำไป ด้วยอาการอย่างไร?
               แก้ว่า ได้ยินว่า ท่านพระธนิยะนั้นทราบว่าเป็นเพราะไม้ที่เจ้าพนักงานนำไปถวายด้วยเลศของตน คิดว่า เจ้าพนักงานคนนี้จักถูกฆ่าหรือจองจำจากราชตระกูล เพราะเหตุแห่งไม้ทั้งหลายโดยไม่ต้องสงสัย จึงคิดขึ้นได้ในเวลานั้นว่า เราคนเดียวเท่านั้นจักปลดเปลื้องเจ้าพนักงานคนนั้น แล้วเที่ยวคอยฟังข่าวของเขาอยู่เป็นนิตยกาลนั่นแล เพราะฉะนั้น ท่านพระธนิยะจึงได้ไปเห็นเจ้าพนักงานคนนั้นในขณะนั้นนั่นแล เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า อทฺทสา โข อายสฺมา ธนิโย ดังนี้เป็นต้น.
               สองบทว่า ทารูนํ กิจจา ความว่า เพราะเหตุแห่งไม้ทั้งหลาย.
               สองบทว่า ปุราหํหญฺญามิ ความว่า กระผมจะถูกกำจัดจากบุรี. อธิบายว่า พระคุณท่านควรไปตลอดเวลาที่กระผมยังมิได้ถูกกำจัด.
               ศัพท์ว่า อิงฺฆ ในคำว่า อิงฺฆ ภนฺเต สราเปหิ นี้เป็นนิบาต ลงในอรรถว่าทักท้วง.
               บทว่า ปฐมาภิสิตฺโต ความว่า ครั้งพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์คราวแรก.
               หลายบทว่า เอวรูปึ วาจํ ภาสิตา มีความว่า ครั้งพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์คราวแรกนั่นเอง ได้ทรงเปล่งพระวาจาเช่นนี้ว่า หญ้าไม้และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วแล ขอสมณพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สอยเถิด.
               มีคำอธิบายว่า ขอถวายพระพร พระองค์ได้ตรัสพระวาจาใดไว้ พระวาจานั้นพระองค์ตรัสเองทีเดียว บัดนี้ ยังทรงระลึกได้หรือไม่?
               ได้ยินว่า พระราชาทั้งหลาย พอสักว่าเสด็จเถลิงถวัลราชยสมบัติเท่านั้น ก็ทรงรับสั่งให้เที่ยวตีกลองธรรมเภรีประกาศว่า หญ้าไม้และน้ำ ข้าพเจ้าถวายแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วแล ขอสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายโปรดใช้สอยเถิด ดังนี้.
               พระธนิยเถระนี้กล่าวหมายเอาพระราชดำรัสนั้น.
               หลายบทว่า เตสํ มยา สนธาย ภาสิตํ มีอธิบายว่า โยมได้กล่าวคำอย่างนั้น หมายถึงการนำหญ้าไม้และน้ำไปของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ผู้มีความรังเกียจแม้ในเหตุเล็กน้อย ซึ่งเป็นผู้สงบและลอยบาปแล้ว หาได้หมายถึงการนำไปของบุคคลผู้เช่นพระคุณเจ้าไม่.
               หลายบทว่า ตญฺจ โขอรญฺเญ อปริคคหิตํ มีความว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงแสดงพระประสงค์ว่า อันนั่น โยมกล่าวหมายเอาหญ้าไม้และน้ำอันใครๆ มิได้หวงแหน ซึ่งมีอยู่ในป่าต่างหาก.
               ในคำว่า โลเมน ตวํ มุตฺโตสิ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้:-
               ขนเหมือนขน, ก็ขนนั้น คืออะไร? คือ บรรพชาเพศ.
               พระเจ้าพิมพิสารตรัสอธิบายไว้อย่างไร?
               ตรัสอธิบายไว้อย่างนี้คือ :-
               เปรียบเหมือนพวกนักเลงปรึกษากันว่า พวกเราจักเคี้ยวกินเนื้อแล้ว พึงจับแพะตัวมีขนซึ่งมีราคามากไว้. บุรุษผู้รู้ดีคนหนึ่งพบเห็นแพะตัวที่ถูกจับไว้นั้นนี้ จึงคิดว่า เนื้อแพะตัวนี้มีราคาเพียงกหาณะเดียว แต่ขนของมันทุกๆ เส้นขนมีราคาตั้งหลายกหาณะ จึงได้ให้แพะเขาไป ๒ ตัวซึ่งไม่มีขน แล้วพึงรับเอาแพะตัวที่มีขนนั้นไป, ด้วยอาการอย่างนี้ แพะตัวนั้นพึงรอดพ้นด้วยขน เพราะอาศัยบุรุษผู้รู้ดี ข้อนี้ชื่อฉันใด
               ตัวพระคุณเจ้าก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ควรถูกฆ่าและจองจำ เพราะทำกรรมนี้ แต่เพราะพระคุณเจ้ามีธงชัยพระอรหันต์ มีสภาวะอันสัตบุรุษไม่พึงดูหมิ่นได้ และเพราะพระคุณเจ้าบวชในพระศาสนา ทรงไว้ซึ่งธงชัยแห่งพระอรหันต์ เป็นบรรพชาเพศ เหตุนั้น พระคุณเจ้าจึงรอดตัวด้วยขนคือบรรพชาเพศนี้ เหมือนแพะรอดพ้นด้วยขน เพราะอาศัยบุรุษผู้รู้ดี ฉะนั้น.

               [ประชาชนเพ่งโทษติเตียนเหล่าสมณศากยบุตร]               
               สองบทว่า มนุสฺสา อุชฺฌายนฺติ ความว่า เมื่อพระราชาทรงรับสั่งอยู่ในบริษัท มนุษย์ทั้งหลายในสถานที่นั้นๆ ครั้นได้ฟังพระราชดำรัสทั้งต่อพระพักตร์และลับพระพักตร์แล้ว ย่อมเพ่งโทษ คือดูหมิ่น ได้แก่ เมื่อดูหมิ่นก็เพ่งจ้องดูพระเถระนั้น.
               อนึ่ง หมายความว่า ย่อมคิดไปทางความลามก.
               บทว่า ขียนฺติ ความว่า ย่อมพูด คือ ประจานโทษของพระเถระนั้น.
               บทว่า วิปาเจนฺติ ความว่า แต่งเรื่องให้กว้างขวางออกไป คือกระจายข่าวให้แพร่สะพัดไปในสถานที่ทุกแห่ง.
               ก็แล ผู้ศึกษาควรทราบเนื้อความนี้ตามแนวคัมภีร์ศัพทศาสตร์.
               อนึ่ง ในคำว่า อุชฺฌายนฺติ เป็นต้นนี้ มีโยชนาดังนี้ คือมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อคิดถึงเรื่องราวเป็นต้นว่า พระสมณศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีความละอาย ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมเพ่งโทษ, เมื่อกล่าวคำเป็นต้นว่า พระสมณศากยบุตรเหล่านี้ไม่มีคุณเครื่องเป็นสมณะ ดังนี้ ชื่อว่าย่อมติเตียน, เมื่อกระจายข่าวกว้างขวางออกไปในสถานที่นั้นๆ เป็นต้นว่า พระสมณะศากยบุตรเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะแล้ว ดังนี้ ชื่อว่า ย่อมโพนทะนาข่าว. แม้ต่อจากนี้ไป ก็ควรทราบโยชนาแห่งบทเหล่านี้ ตามควรแก่บทที่มาแล้วในที่นั้นๆ โดยนัยนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหฺมจาริโน คือ ผู้ประพฤติประเสริฐ. ความเป็นสมณะ ชื่อสามัญญะ. ความเป็นผู้ประเสริฐ ชื่อพรหมัญญะ.
               คำที่เหลือมีใจความตื้นแล้วทั้งนั้น.
               ในคำว่า รญฺโญ ทารูนิ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้:-
               ใจความนี้ว่า ได้ถือเอาไม้ของหลวงที่มิได้พระราชทาน ดังนี้ มีความเพ่งโทษเป็นอรรถ. อนึ่ง เพื่อแสดงถึงไม้ที่มิได้พระราชทาน ซึ่งพระธนิยะได้ถือเอาแล้วนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ไม้ของหลวง เป็นต้น. อันผู้ศึกษาทั้งหลาย เมื่อไม่หลงลืมความต่างแห่งวจนะ ก็ควรทราบใจความดังอธิบายมาฉะนี้แล.

               [ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท]               
               สองบทว่า ปุราณโวหาริโก มหามตฺโต มีความว่า มหาอำมาตย์ผู้ถึงความนับว่า ผู้พิพากษา เพราะถูกแต่งตั้งไว้ในโวหารคือการตัดสินความ ในกาลก่อนแต่ความเป็นภิกษุ คือในเวลาเป็นคฤหัสถ์.
               หลายบทว่า อถโข ภควา ตํ ภิกขุํ เอตทโวจ อธิบายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบแม้ซึ่งบัญญัติแห่งโลกอยู่ด้วยพระองค์เอง ย่อมทรงทราบแม้ซึ่งพระบัญญัติแห่งพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายแม้ในปางก่อน ย่อมทรงบัญญัติปาราชิกด้วยทรัพย์เท่านี้ ถุลลัจจัยด้วยทรัพย์เท่านี้ ทุกกฏด้วยทรัพย์เท่านี้.
               แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงเทียบเคียงกับคนที่รู้บัญญัติแห่งโลกเหล่าอื่นแล้ว พึงทรงบัญญัติปาราชิกด้วยทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง ก็จะพึงมีผู้กล่าวตำหนิพระองค์ เพราะเหตุเท่านั้นว่า ชื่อว่าศีลสังวรแม้ของภิกษุรูปหนึ่งก็ประมาณไม่ได้ นับไม่ได้ กว้างขวางยิ่งนัก ดุจมหาปฐพี สมุทรและอากาศ,
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามายังศีลสังวรนั้นให้พินาศเสีย ด้วยทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง. แต่นั้น ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่รู้กำลังพระญาณของพระตถาคต พึงยังสิกขาบทให้กำเริบ สิกขาบทแม้ที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ก็ไม่พึงตั้งอยู่ในที่อันควร,
               แต่เมื่อทรงเทียบเคียงกับคนที่รู้บัญญัติของโลกแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท การตำหนิติเตียนนั้นย่อมไม่มี ย่อมมีแต่ผู้กล่าวอย่างนี้โดยแท้ว่า แม้คนครองเรือนเหล่านี้ก็ยังฆ่าโจรเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง เพราะทรัพย์เพียงบาทหนึ่ง เหตุไฉนเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ทรงยังบรรพชิตให้ฉิบหายเสีย เพราะบรรพชิตไม่ควรลักทรัพย์ของผู้อื่น แม้เป็นเพียงหญ้าเส้นหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายก็จักรู้กำลังพระญาณของพระตถาคต และสิกขาบทแม้ที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ก็จักไม่กำเริบ จักตั้งอยู่ในที่อันควร.
               เพราะฉะนั้น ทรงมีพระประสงค์จะเทียบเคียงกับคนผู้รู้ บัญญัติของโลกแล้วจึงทรงบัญญัติ ทรงชำเลืองดูบริษัททุกหมู่เหล่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นผู้นั่งอยู่ในที่ไม่ไกลได้ตรัสคำนี้กะภิกษุนั้น (คือได้ตรัสคำนี้) ว่า
               ดูก่อนภิกษุ พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งมคธรัฐ เพียบพร้อมด้วยเสนา ทรงพระนามว่าพิมพิสาร จับโจรได้แล้ว ทรงฆ่าเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง เพราะทรัพย์ประมาณเท่าไรหนอ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาคโธ ได้แก่ เป็นใหญ่แห่งชาวแคว้นมคธ.
               บทว่า เสนิโย ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยเสนา.
               คำว่า พิมฺพิสาโร เป็นพระนามาภิไธย ของพระราชาพระองค์นั้น.
               บทว่า ปพฺพาเชติ วา มีความว่า ทรงให้ออกไปเสียจากแว่นแคว้น.
               บทที่เหลือในคำนี้ มีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.
               สองบทว่า ปญฺจมาสโก ปาโท ความว่า ครั้งนั้น ในกรุงราชคฤห์ ๒๐ มาสก เป็นหนึ่งกหาปณะ เพราะฉะนั้น ห้ามาสกจึงเป็นหนึ่งบาท. ด้วยลักษณะนั้น ส่วนที่สี่ของกหาปณะพึงทราบว่า เป็นบาทหนึ่ง ในชนบททั้งปวง. ก็บาทนั้นแล พึงทราบด้วยอำนาจแห่งนีลกหาปณะของโบราณ ไม่พึงทราบด้วยอำนาจแห่งกหาปณะนอกนี้มีรุทระทามกะกหาปณะเป็นต้น.

               [พระพุทธเจ้าทุกองค์ปรับโทษถึงที่สุดเพียงบาทเดียว]               
               แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว ก็ทรงบัญญัติปาราชิกด้วยบาทนั้น ถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่จะมีในอนาคต ก็จักทรงบัญญัติปาราชิกด้วยบาทนั้น.
               จริงอยู่ ความเป็นต่างกันในวัตถุปาราชิกหรือในปาราชิกของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ย่อมไม่มี. วัตถุแห่งปาราชิก ๔ ก็เหมือนกันนี้แหละ ปาราชิก ๔ ก็เหมือนกันนี้แหละ ไม่มีหย่อนหรือยิ่งกว่านี้.
               เพราะเหตุนั้น แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงติเตียนพระธนิยะแล้ว เมื่อจะทรงบัญญัติทุติยปาราชิกด้วยบาทนั่นเทียว จึงตรัสคำว่า โย ปน ภิกฺขุ อทินฺนํ เถยฺยสงฺขาตํ เป็นต้น.
               เมื่อทุติยปาราชิกอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติทำให้มั่นคงด้วยอำนาจแห่งความขาดมูลอย่างนั้นแล้ว เรื่องรชกภัณฑิกะ แม้อื่นอีกก็ได้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์แก่อนุบัญญัติ. เพื่อแสดงความเกิดขึ้นแห่งเรื่องนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า ก็แล สิกขาบทนี้ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.
               ใจความแห่งเรื่องนั้นและความสัมพันธ์กันแห่งอนุบัญญัติ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในปฐมปาราชิกวรรณนานั่นแหละ. ทุกๆ สิกขาบท ถัดจากสิกขาบทนี้ไป ก็พึงทราบเหมือนอย่างในสิกขาบทนี้.
               จริงอยู่ คำใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น ข้าพเจ้าจักละเว้นคำนั้นๆ ทั้งหมดแล้ว พรรณนาเฉพาะคำที่ยังไม่เคยมี ในหนหลังที่สูงๆ ขึ้นไปเท่านั้น. ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าจักพรรณนาคำซึ่งมีนัยดังที่กล่าวแล้วนั้นๆ ซ้ำอีก, เมื่อไร ข้าพเจ้าจักถึงการจบลงแห่งการพรรณนาได้เล่า? เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาทั้งหลายควรกำหนดคำที่กล่าวไว้แล้วในก่อนนั้นๆ ทั้งหมดให้ดี แล้วทราบใจความและโยชนาในคำนั้นๆ. อนึ่ง คำอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่เคยมี ทั้งมีเนื้อความยังไม่กระจ่าง ข้าพเจ้าเองจักพรรณนาคำนั้นทั้งหมด.

               จบปฐมบัญญัติทุติยปาราชิก               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค ปาราชิกกัณฑ์ ทุติยปาราชิกสิกขาบท จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 48อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 79อ่านอรรถกถา 1 / 84อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=6087&Z=6234
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=7185
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=7185
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :