ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 79อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 84อ่านอรรถกถา 1 / 85อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท
อนุบัญญัติ เรื่องพระฉัพพัคคีย์

               เรื่องอนุบัญญัติทุติยปาราชิก               
               สองบทว่า รชกตฺถณํ คนฺตฺวา ความว่า ไปสู่ท่าที่ตากผ้าของช่างย้อม.
               จริงอยู่ ท่านั้น เรียกว่า ลานตากผ้าของช่างย้อม เพราะที่ท่านั้นเป็นที่พวกช่างย้อมลาดผ้าตากไว้.
               บทว่า รชกภณฺฑิกํ ได้แก่ ห่อสิ่งของๆ พวกช่างย้อม.
               เวลาเย็น พวกช่างย้อม เมื่อจะกลับเข้าไปยังเมือง ผูกผ้ามากผืนรวมเป็นห่อๆ ไว้. พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ เมื่อช่างย้อมเหล่านั้นไม่เห็น เพราะความเลินเล่อ ก็ได้ลัก.
               อธิบายว่า ขโมยเอาห่อหนึ่งจากห่อนั้นไป.

               [อรรถาธิบายบ้านที่มีกระท่อมหลังเดียวเป็นต้น]               
               คำมีอาทิอย่างนี้ว่า คาโม นาม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพื่อแสดงประเภทแห่งบ้านและป่าที่พระองค์ตรัสไว้แล้วในคำนี้ว่า จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี.
               ในคำว่า บ้านแม้มีกระท่อมหลังเดียว เป็นต้นนั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ในหมู่บ้านใดมีกระท่อมหลังเดียวเท่านั้น ชื่อว่ามีเรือนหลังเดียว เหมือนในมลัยชนบท บ้านนี้ ชื่อว่าบ้านมีกระท่อมหลังเดียว. บ้านเหล่าอื่นก็ควรทราบโดยนัยนั่น. บ้านใดเป็นถิ่นที่ยักษ์หวงแหน เพราะไม่มีพวกมนุษย์โดยประการทั้งปวง หรือพวกมนุษย์อยากจะกลับมาแม้อีกด้วยเหตุบางอย่างทีเดียว ก็หลีกไปเสียจากบ้านใด บ้านนั้น ชื่อว่าไม่มีมนุษย์.
               บ้านใดที่เขาทำกำแพงก่อด้วยอิฐเป็นต้นไว้ โดยที่สุด แม้ล้อมไว้ด้วยหนามและกิ่งไม้ บ้านนั้น ชื่อว่ามีเครื่องล้อม. บ้านใดที่พวกมนุษย์ไม่ได้ตั้งอาศัยอยู่ ด้วยอำนาจเป็นสถานที่พักอยู่รวมกัน ซึ่งใกล้ถนนเป็นต้น แต่สร้างเรือนไว้ ๒-๓ หลัง แล้วเข้าอาศัยอยู่ในที่นั้นๆ ดุจโคนอนเจ่าอยู่ในที่นั้นๆ ๒-๓ ตัว ฉะนั้น บ้านนั้นชื่อว่าที่อยู่อาศัยดุจเป็นที่โคจ่อมเป็นต้น. บรรดาหมู่ต่างและหมู่เกวียนเป็นต้น หมู่ใดหมู่หนึ่ง ชื่อว่าสัตถะ. อนึ่ง ในสิกขาบทนี้ นิคมก็ดี บ้านก็ดี พึงทราบว่า ท่านถือเอาด้วยคามศัพท์ทั้งนั้น.

               [อรรถาธิบายเขตอุปจารบ้านและเรือนเป็นต้น]               
               คำว่า อุปจารบ้าน เป็นต้น พระองค์ตรัสเพื่อแสดงการกำหนดป่า.
               สองบทว่า อินฺทขีเล ฐิตสฺส ความว่า ได้แก่บุรุษผู้ยืนอยู่ที่เสาเขื่อนร่วมในแห่งบ้านที่มีเสาเขื่อน ๒ เสา ดุจอนุราธบุรี ฉะนั้น.
               จริงอยู่ เสาเขื่อนภายนอกแห่งอนุราธบุรีนั้น โดยอภิธรรมนัย ย่อมถึงการนับว่าเป็นป่า. อนึ่ง ได้แก่ บุรุษผู้ยืนอยู่ที่ท่ามกลางแห่งบ้านที่มีเสาเขื่อนเสาเดียวหรือผู้ยืนอยู่ที่ท่ามกลางแห่งบานประตูบ้าน. แท้จริง ในบ้านใดไม่มีเสาเขื่อน ตรงกลางแห่งบานประตูบ้านในบ้านนั่นแล เรียกว่าเสาเขื่อน. เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า ได้แก่ บุรุษผู้ยืนอยู่ที่ท่ามกลางแห่งบานประตูบ้าน.
               บทว่า มชฺฌิมสฺส ความว่า ได้แก่ บุรุษมีกำลังปานกลาง หาใช่บุรุษขนาดกลางผู้มีกำลังพอประมาณไม่ คือบุรุษผู้มีกำลังน้อยหามิได้เลย ทั้งไม่ใช่บุรุษมีกำลังมาก. มีคำอธิบายว่า ได้แก่ บุรุษผู้มีกำลังกลางคน.
               บทว่า เลฑฺฑุปาโต ได้แก่ สถานที่ตกแห่งก้อนดินที่เขาไม่ได้ขว้างไป เหมือนอย่างมาตุคามจะให้พวกกาบินหนีไป จึงยกมือขึ้นโยนก้อนดินไปตรงๆ เท่านั้น และเหมือนอย่างพวกภิกษุวักน้ำสาดไปในโอกาสที่กำหนดเขตอุทกุกเขป แต่ขว้างไปเหมือนคนหนุ่มๆ จะประลองกำลังของตน จึงเหยียดแขนออกขว้างก้อนดินไป ฉะนั้น. แต่ไม่ควรกำหนดเอาที่ซึ่งก้อนดินตกแล้วกลิ้งไปถึง.
               ก็ในคำว่า บุรุษกลางคนผู้ยืนอยู่ที่อุปจารเรือนแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อมขว้างก้อนดินไปตกนี้ พึงทราบวินิจดังนี้ :-
               บุรุษกลางคนผู้ยืนอยู่ที่น้ำตกแห่งชายคา โยนกระด้งหรือสากให้ตกไป ชื่อว่าอุปจารเรือน. ในอรรถกถากุรุนทีท่านกล่าวไว้ว่า บุรุษกลางคนผู้ยืนอยู่ที่อุปจารเรือนนั้น ขว้างก้อนดินไปตก ชื่อว่าอุปจารบ้าน. ถึงในอรรถกถามหาปัจจรี ท่านก็กล่าวไว้เช่นนั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง ในมหาอรรถกถา ท่านตั้งมาติกาไว้ว่า ชื่อว่าเรือน ชื่อว่าอุปจารเรือน ชื่อว่าบ้าน ชื่อว่าอุปจารบ้าน แล้วกล่าวว่า ภายในที่น้ำตกแห่งชายคา ชื่อว่าเรือน. ส่วนที่ตกแห่งน้ำล้างภาชนะ ชื่อมาตุคามผู้ยืนอยู่ที่ประตูสาดทิ้งลงมา และที่ตกแห่งกระด้งหรือไม้กวาดที่มาตุคามเหมือนกันซึ่งยืนอยู่ภายในเรือนโยนออกไปข้างนอกตามปกติ และเครื่องล้อมที่เขาต่อที่มุมสองด้านข้างหน้าเรือน ตั้งประตูกลอนไม้ไว้ตรงกลางทำไว้สำหรับกันพวกโคเข้าไป แม้ทั้งหมดนี้ชื่อว่าอุปจารเรือน.
               ภายในเลฑฑุบาตของบุรุษมีกำลังปานกลางผู้ยืนอยู่ที่อุปจารเรือนนั้น ชื่อว่าบ้าน. ภายในเลฑฑุบาตอื่นจากนั้น ชื่อว่าอุปจารบ้าน. คำที่ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถานี้ ย่อมเป็นประมาณในคำนี้ว่า บุรุษมีกำลังปานกลางผู้ยืนอยู่ที่อุปจารเรือนแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อม ขว้างก้อนดินไปตก. เหมือนอย่างว่า คำที่ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถานี้ ย่อมเป็นประมาณในที่นี้ฉันใด, อรรถกถาวาทะก็ดี เถรวาทะก็ดีที่ข้าพเจ้าจะกล่าวในภายหลัง ก็พึงเห็นโดยความเป็นประมาณในที่ทั้งปวงฉันนั้น.
               ถามว่า ก็คำที่ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถานี้ นั้นปรากฏเหมือนขัดแย้งพระบาลี เพราะในพระบาลี พระองค์ตรัสไว้เพียงเท่านี้ว่า บุรุษมีกำลังปานกลาง ผู้ยืนอยู่ที่อุปจารเรือนขว้างก้อนดินไปตก. แต่ในมหาอรรถกถา ท่านทำเลฑฑุบาตนั้นให้ถึงการนับว่าบ้านแล้วกล่าวอุปจารบ้าน ถัดเลฑฑุบาตนั้นออกไป?
               ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉลยต่อไป :-
               คำทั้งหมดนั่นแล ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีแล้ว. ส่วนความอธิบายในพระบาลีนี้ ผู้ศึกษาควรทราบ. ก็แลความอธิบายนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายเท่านั้นเข้าใจแจ่มแจ้ง. เพราะเหตุนั้น ลักษณะแห่งอุปจารเรือน แม้มิได้ตรัสไว้ในพระบาลีว่า ผู้ยืนอยู่ที่อุปจารเรือน ดังนี้ ท่านก็ถือเอาด้วยอำนาจแห่งลักษณะที่กล่าวไว้ในอรรถกถาฉันใด, แม้ลักษณะแห่งอุปจารเรือนที่เหลือ ก็ควรถือเอาฉันนั้น.
               ในศัพท์ว่าคามูปจารนั้น ก็ควรทราบนัยดังต่อไปนี้:-
               ชื่อว่าบ้านในสิกขาบทนี้ มี ๒ ชนิด คือบ้านที่มีเครื่องล้อม ๑ บ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม ๑.
               ในบ้าน ๒ ชนิดนั้น เครื่องล้อมนั่นเอง เป็นเขตกำหนดของบ้านที่มีเครื่องล้อม. เพราะเหตุนั้น ในพระบาลี พระองค์จึงไม่ตรัสเขตกำหนดไว้เป็นแผนกหนึ่ง แต่ได้ตรัสไว้ว่า บุรุษผู้มีกำลังปานกลางผู้ยืนอยู่ที่เสาเขื่อนแห่งบ้านที่มีเครื่องล้อม ขว้างก้อนดินไปตก ชื่อว่าอุปจารบ้าน. ส่วนเขตกำหนดบ้านแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อม ก็ควรกล่าวไว้ด้วย.
               เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงเขตกำหนดบ้านแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อมนั้น พระองค์จึงตรัสไว้ว่า บุรุษมีกำลังปานกลาง ยืนอยู่ที่อุปจารเรือนแห่งบ้านที่ไม่ได้ล้อม ขว้างก้อนดินไปตก (ชื่อว่าอุปจารบ้าน) เมื่อแสดงเขตกำหนดของบ้านไว้แล้วนั่นแล ลักษณะแห่งอุปจารบ้าน ใครๆ ก็อาจทราบได้ โดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในก่อนทีเดียว เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสซ้ำอีกว่า บุรุษมีกำลังปานกลางยืนอยู่ที่อุปจารเรือนนั้น ขว้างก้อนดินไปตก.
               ฝ่ายอาจารย์ใดกล่าวเลฑฑุบาตของบุรุษมีกำลังปานกลาง ยืนอยู่ที่อุปจารเรือนนั่นเองว่า เป็นอุปจารบ้าน ดังนี้. อุปจารเรือนของอาจารย์นั้น ย่อมพ้องกับคำว่า บ้าน. เพราะเหตุนั้น วิภาคนี้ คือ เรือน อุปจารเรือน บ้าน อุปจารบ้าน ย่อมไม่ปะปนกัน.
               ส่วนข้อวินิจฉัยในเรือน อุปจารเรือน บ้านและอุปจารบ้านนี้ ผู้ศึกษาควรทราบโดยความไม่ปะปนกัน (ดังที่ท่านกล่าวไว้) ในวิกาเลคามัปปเวสนสิกขาบทเป็นต้น.
               เพราะฉะนั้น บ้านและอุปจารบ้านในอทินนาทานสิกขาบทนี้ ผู้ศึกษาควรเทียบเคียงบาลีและอรรถกถาแล้ว ทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วนั่นแหละ.
               อนึ่ง แม้บ้านใด แต่ก่อนเป็นหมู่บ้านใหญ่ ภายหลัง เมื่อสกุลทั้งหลายสาบสูญไป กลายเป็นหมู่บ้านเล็กน้อย, บ้านนั้นควรกำหนดด้วยเลฑฑุบาตแต่อุปจารเรือนเหมือนกัน. ส่วนกำหนดเขตเดิมของบ้านนั้น ทั้งที่มีเครื่องล้อมทั้งที่ไม่มีเครื่องล้อม จะถือเป็นประมาณไม่ได้เลย ฉะนี้แล.

               [อรรถาธิบายกำหนดเขตป่า]               
               ป่าที่เหลือในอทินนาทานสิกขาบทนี้. เว้นบ้านและอุปจารบ้าน ซึ่งมีลักษณะตามที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า ที่ชื่อว่าป่า คือเว้นบ้านและอุปจารบ้านเสีย พึงทราบว่า ชื่อว่าป่า. แต่ในคัมภีร์อภิธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า คำว่า ป่า นั้นได้แก่ ที่ภายนอกจากเสาเขื่อนออกไปนั้นทั้งหมด ชื่อว่าป่า.๑- พระองค์ตรัสไว้ในอรัญญสิกขาบทว่า เสนาสนะที่สุดไกลประมาณ ๕๐๐ ชั่วธนู ชื่อว่าเสนาสนะป่า.๒- พึงทราบว่า เสนาสนะป่านั้น นับแต่เสาเขื่อนออกไปมีระยะไกลประมาณ ๕๐๐ ชั่วธนู โดยธนูของอาจารย์ที่ท่านยกขึ้นไว้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกเนื้อความแห่งคำนี้ว่า จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี โดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในพระบาลีอย่างนั้น จึงทรงแสดงส่วนทั้ง ๕ ไว้ เพื่อป้องกันความอ้างเลศและโอกาสของเหล่าบาปภิกษุว่า เรือน อุปจารเรือน บ้าน อุปจารบ้าน (และ) ป่า.
               เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า เมื่อภิกษุลักสิ่งของที่มีเจ้าของตั้งแต่มีราคาบาทหนึ่งขึ้นไปในเรือนก็ดี อุปจารเรือนก็ดี บ้านก็ดี อุปจารบ้านก็ดี ป่าก็ดี เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๑๖/หน้า ๓๓๘, ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๘๘/หน้า ๒๖๔.
๒- วิ. มหา. เล่ม ๒/ข้อ /หน้า ๑๔๖

               -----------------------------------------------------
               

.. อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท อนุบัญญัติ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 79อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 84อ่านอรรถกถา 1 / 85อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=6235&Z=6282
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=7524
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=7524
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :