ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 85อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 90อ่านอรรถกถา 1 / 121อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท
บทภาชนีย์ มาติกา ภุมมัฏฐวิภาคเป็นต้น

หน้าต่างที่ ๒ / ๔.

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่บนบก               
               พึงทราบวินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่บนบก.
               สองบทว่า ถเล นิกฺขิตฺตํ ความว่า ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาวางไว้บนพื้นดินก็ดี บนพื้นปราสาทและบนภูเขาเป็นต้นแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งปกปิดหรือไม่ปกปิดก็ดี พึงทราบว่า ทรัพย์ที่ตั้งอยู่บนบก. ทรัพย์นั้น ถ้าเขาทำเป็นกองไว้ พึงตัดสินตามคำวินิจฉัยที่กล่าวไว้ ในการทำทรัพย์ให้อยู่ในภาชนะและการตัดกำเอาในภายในหม้อ. ถ้าทรัพย์นั้นติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน มียางรักและยางสนเป็นต้น พึงตัดสินตามคำวินิจฉัยที่กล่าวไว้ในนํ้าผึ้งและนํ้าอ้อยที่เคี่ยวสุกแล้ว. ถ้าทรัพย์เป็นของหนัก จะเป็นแท่งโลหะก็ตาม งบนํ้าอ้อยก็ตาม วัตถุมีนํ้ามันนํ้าผึ้งและเปรียงเป็นต้นก็ตาม ซึ่งเนื่องด้วยภาระ พึงตัดสินตามคำวินิจฉัยที่กล่าวไว้ในการยังหม้อให้เคลื่อนจากฐาน และพึงกำหนดความต่างของฐานแห่งสิ่งของที่เขาผูกไว้ด้วยโซ่. ส่วนภิกษุถือเอาวัตถุมีผ้าปาวารผ้าลาดพื้นและผ้าสาฎกเป็นต้นที่เขาปูลาดไว้ ฉุดมาตรงๆ เมื่อชายผ้าข้างโน้นล่วงเลยโอกาสที่ชายผ้าข้างนี้ถูกต้องไป เป็นปาราชิก. ในทุกๆ ทิศ ก็ควรกำหนดด้วยอาการอย่างนี้.
               ภิกษุห่อแล้วยกขึ้น เมื่อทำให้ลอยไปในอากาศ เพียงปลายเส้นผม เป็นปาราชิก. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่บนบก               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในของที่อยู่ในอากาศ.
               สำหรับนกยูง พึงทราบการกำหนดฐานโดยอาการ ๖ อย่าง คือ ข้างหน้ากำหนดด้วยจะงอยปาก ข้างหลังกำหนดด้วยปลายลำแพนหาง ข้างทั้ง ๒ กำหนดด้วยปลายปีก เบื้องตํ่ากำหนดด้วยปลายเล็บเท้า เบื้องบนกำหนดด้วยปลายหงอน.
               ภิกษุคิดว่าจักจับนกยูงซึ่งมีเจ้าของ อัน (บิน) อยู่ในอากาศ ยืนอยู่ข้างหน้า หรือเหยียดมือออก. นกยูงกางปีกอยู่ในอากาศนั่นแหละ กระพือปีกแล้วหยุดบินยืนอยู่ เป็นทุกกฏแก่ภิกษุนั้น, ไม่ให้นกยูงนั้นไหว เอามือลูบคลํา เป็นทุกกฏเหมือนกัน, ไม่ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ไหวอยู่ เป็นถุลลัจจัย.
               ส่วนจะเอามือจับหรือไม่จับก็ตาม ให้ปลายลำแพนหางล่วงเลยโอกาสที่จะงอยปากถูก หรือให้จะงอยปากล่วงเลยโอกาสที่ปลายลำแพนหางถูก, ถ้านกยูงนั้นได้ราคาบาทหนึ่งไซร้ เป็นปาราชิก.
               อนึ่ง ให้ปลายปีกข้างขวาล่วงเลยโอกาสที่ปลายปีกข้างซ้ายถูก หรือให้ปลายปีกข้างซ้ายล่วงเลยโอกาสที่ปลายปีกข้างขวาถูก ก็เป็นปาราชิก.
               อนึ่ง ให้ปลายหงอนล่วงเลยโอกาสที่ปลายเล็บเท้าถูก หรือให้ปลายเล็บเท้าล่วงเลยโอกาสที่ปลายหงอนถูก ก็เป็นปาราชิก.
               นกยูงบินไปทางอากาศ จับที่บรรดาอวัยวะมีศีรษะเป็นต้น อันใด, อวัยวะอันนั้นเป็นฐานของนกยูงนั้น เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นแม้เมื่อทำนกยูงตัวนั้น ซึ่งเกาะอยู่ที่มือให้ส่ายไปข้างโน้นและข้างนี้ ชื่อว่าทำให้ไหวแท้. และถ้าเธอเอามืออีกข้างหนึ่งจับให้เคลื่อนจากฐาน เป็นปาราชิก.
               ภิกษุยื่นมืออีกข้างหนึ่งเข้าไปใกล้ นกยูงโดดไปเกาะที่มือนั้นเสียเอง ไม่เป็นอาบัติ. ภิกษุมีไถยจิต รู้ว่านกยูงจับที่อวัยวะ ย่างเท้าก้าวแรก เป็นถุลลัจจัย, ก้าวที่สอง เป็นปาราชิก.
               นกยูงจับอยู่บนพื้นดินย่อมได้ฐาน ๓ ด้วยอำนาจเท้าทั้งสองและลำแพนหาง. เมื่อภิกษุยกนกยูงนั้นขึ้น เป็นถุลลัจจัย ตลอดเวลาที่ฐานแม้เพียงฐานเดียวยังถูกแผ่นดิน. เมื่อนกยูงนั้นสักว่าอันภิกษุให้พ้นจากแผ่นดินแม้เพียงปลายเส้นผม ก็เป็นปาราชิก.
               ภิกษุยกนกยูงซึ่งอยู่ในกรงขึ้นพร้อมทั้งกรง ต้องปาราชิก. แต่ถ้านกยูงตัวนั้นไม่ได้ราคาถึงบาทไซร้ พึงปรับตามราคาทุกๆ แห่ง.
               ภิกษุมีไถยจิต ทำนกยูงตัวซึ่งเที่ยวอยู่ภายในสวนให้ตกใจ ไล่มันเดินออกไปนอกสวนด้วยเท้าเทียว ให้ล่วงเลยเขตที่กำหนดแห่งประตู ต้องปาราชิก.
               จริงอยู่ ภายในสวนเป็นฐานของนกยูงนั้น เหมือนคอกเป็นฐานของโคที่อยู่ในคอก ฉะนั้น. แต่เมื่อภิกษุเอามือจับให้มันบินไปในอากาศ แม้ภายในสวน ก็ต้องปาราชิกเหมือนกัน. เมื่อภิกษุยังนกยูงแม้เที่ยวอยู่ภายในบ้านให้ล่วงเลยเครื่องล้อมแห่งบ้านไป ต้องปาราชิก.
               นกยูงตัวที่ออกไปเที่ยวอยู่ในอุปจารบ้านหรืออุปจารสวนเองทีเดียว และภิกษุมีไถยจิต ยังมันให้ตกใจด้วยไม้หรือด้วยกระเบื้อง ทำให้มันบ่ายหน้าเข้าดง. นกยูงบินไปเกาะอยู่ภายในบ้าน หรือภายในสวน หรือบนหลังคา ยังรักษาอยู่. แต่ถ้ามันบ่ายหน้าเข้าดงบินไปก็ดี เดินไปก็ดี, เมื่อไม่มีความหมายใจว่า เราให้มันเข้าดงไปแล้ว จักจับเอา ต้องปาราชิก ในเมื่อสักว่า มันบินขึ้นพ้นแผ่นดินแม้เพียงปลายเส้นผม หรือในย่างเท้าที่สอง.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุว่า ที่ซึ่งยืนเท่านั้น เป็นฐานของมันซึ่งออกจากบ้านแล้ว.
               แม้ในนกทั้งหลายมีนกคับแคเป็นต้น ก็พึงทราบวินิจฉัยดังนี้แล.
               บทว่า สาฏกํ วา มีความว่า ภิกษุเอามือจับผ้าสาฎกที่แข็งด้วยแป้ง ซึ่งปลิวไปในอากาศ ลอยมาตรงหน้าที่ชายผ้าข้างหนึ่ง เหมือนผ้าที่เขาขึงลาดไว้บนพื้นแผ่นดินถูกลมกระพือพัด ฉะนั้น, เมื่อไม่ได้ทำฐานให้ไหวไปข้างโน้นและข้างนี้เลย ต้องทุกกฏ เพราะงดการเดิน, เมื่อไม่ทำให้เคลื่อนจากฐานรักษาอยู่ เป็นถุลลัจจัย เพราะทำให้ไหว, ให้เคลื่อนจากฐาน ต้องปาราชิก.
               ก็การกำหนดฐานแห่งผ้าสาฎกนั้น พึงทราบด้วยอาการ ๖ อย่าง เหมือนการกำหนดฐานแห่งนกยูง ฉะนั้น.
               ส่วนผ้าสาฎกที่ไม่แข็ง พอภิกษุจับที่ชายผ้าข้างหนึ่งเท่านั้น ก็ตกลงไปกองอยู่บนพื้นดินทั้งชายที่สอง ผ้าสาฎกนั้นมีฐาน ๒ คือ มือ ๑ พื้นดิน ๑. ภิกษุทำผ้าสาฎกนั้นตามที่จับเอาแล้วนั่นแล ให้เคลื่อนไปจากประเทศแห่งโอกาสที่ตนจับเอาครั้งแรก ต้องถุลลัจจัย ภายหลังเอามือที่สองหรือเท้ายกขึ้นจากพื้นดิน ต้องปาราชิก.
               อนึ่ง ครั้งแรกยกขึ้นจากพื้นดิน ต้องถุลลัจจัย, ภายหลังให้เคลื่อนจากประเทศแห่งโอกาสที่ตนจับเอา ต้องปาราชิก.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเมื่อไม่ปล่อยการจับ ยื่นมือลงไปตรงๆ ป้องผ้าให้อยู่ที่พื้นดิน จึงเอามือนั้นนั่นเองยกผ้าขึ้น ต้องปาราชิก.
               แม้ในผ้าโพก ก็พึงทราบวินิจฉัยดังนี้แหละ.
               หลายบทว่า หิรญฺญํ วา สุวณฺณํ วา ฉิชฺชมานํ มีความว่า เครื่องประดับมีสร้อยคอเป็นต้นของพวกมนุษย์ผู้ตกแต่งอยู่ก็ดี แท่งทองของพวกช่างทองผู้ตัดซี่ทองอยู่ก็ดี ขาดตกไป. ถ้าภิกษุมีไถยจิตเอามือจับเอาเครื่องประดับ หรือแท่งทองที่ขาดตกลอยมาทางอากาศนั้น. การจับเอานั่นแหละเป็นฐาน เอามือออกจากประเทศที่ตนจับเอาต้องปาราชิก. เอามือยกเครื่องประดับมีสร้อยคอเป็นต้นที่ตกลงไปในจีวรขึ้น ต้องปาราชิก. ไม่ได้ยกขึ้นเลยแต่เดินไป ต้องปาราชิกในย่างเท้าที่สอง.
               ถึงในเครื่องประดับมีสร้อยคอเป็นต้นที่ตกลงไปในบาตร ก็มีนัยอย่างนี้แล. เอามือจับเอาเครื่องประดับมีสร้อยคอเป็นต้น ที่ตกลงที่ศีรษะ ที่หน้า หรือที่เท้า ต้องปาราชิก. ไม่ได้จับเอาเลยแต่เดินไป ต้องปาราชิกในย่างเท้าที่สอง.
               อนึ่ง เครื่องประดับมีสร้อยคอเป็นต้นที่ตกลงที่ศีรษะ ที่หน้า หรือที่เท้า ต้องปาราชิก. ไม่ได้จับเอาเลยแต่เดินไป ต้องปาราชิกในย่างเท้าที่สอง.
               อนึ่ง เครื่องประดับมีสร้อยคอเป็นต้นนั้นตกไปในที่ใดๆ เฉพาะโอกาสที่เครื่องประดับเป็นต้นตั้งอยู่ในที่นั้นๆ เป็นฐานของเครื่องประดับเป็นต้นนั้น อังคาพยพทั้งหมดก็ดี บาตรและจีวรก็ดี หาได้เป็นฐานไม่ ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่ในกลางแจ้ง               
               พึงทราบวินิจฉัยในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในกลางแจ้ง.
               ภัณฑะที่เขาวางไว้บนเตียงและตั่งเป็นต้น จะเป็นของควรจับต้องหรือไม่ควรจับต้องก็ตาม เมื่อภิกษุจับต้องด้วยไถยจิต เป็นทุกกฎ.
               ก็แลในภัณฑะที่เขาวางไว้บนเตียงและตั่งนี้ ควรทราบวินิจฉัยตามนัยที่กล่าวไว้ในภัณฑะที่ตั้งอยู่บนบก.
               ส่วนความแปลกกัน พึงทราบดังนี้ :-
               ถ้าผ้าสาฎกที่แข็งด้วยแป้ง ซึ่งเขาขึงไว้ที่เตียงหรือตั่ง ตรงกลางไม่ถูกพื้นเตียง ถูกแต่เท้าเตียงเท่านั้น. พึงทราบฐานด้วยอำนาจแห่งเท้าทั้ง ๔ ของเตียงนั้น.
               จริงอยู่ เมื่อผ้าสาฎกนั้นสักว่าอันภิกษุให้ล่วงเลยโอกาสที่ถูกเบื้องบนแห่งเท้าเตียงเท่านั้น ย่อมเป็นปาราชิก ในเพราะเหตุให้ก้าวล่วงนั้น. แต่เมื่อภิกษุลักไปพร้อมทั้งเตียงและตั่ง พึงทราบฐานด้วยอำนาจโอกาสที่เท้าเตียงและตั่งตั้งจดอยู่.
               บทว่า จีวรวํเส วา มีความว่า บนราวหรือบนขอไม้ที่เขาผูกตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่การพาดจีวร. เฉพาะโอกาสที่ถูกกับโอกาสที่ตั้งอยู่เป็นฐานของจีวรที่พาดไว้บนราวนั้น ซึ่งเอาชายไว้ข้างนอก เอาขนดไว้ข้างใน, ราวจีวรทั้งหมด หาได้เป็นฐานไม่. เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุจับจีวรนั้นที่ขนดดึงมาด้วยไถยจิต ให้โอกาสที่ตั้งอยู่บนราวด้านนอก ล่วงเลยประเทศที่ราวจีวรถูกด้านในไป เป็นปาราชิก ด้วยการดึงมาเพียงนิ้วเดียวหรือสองนิ้วเท่านั้น.
               นัยแม้แห่งภิกษุผู้จับที่ชายดึงมา ก็เหมือนกันนี้.
               แต่เมื่อภิกษุรูดลงข้างซ้ายหรือข้างขวาบนราวจีวรนั้นนั่นเอง ครั้นเมื่อจีวรนั้นสักว่าล่วงเลยฐานแห่งชายข้างขวาด้วยชายข้างซ้าย หรือสักว่าล่วงเลยฐานแห่งชายข้างซ้ายด้วยชายข้างขวาไป เป็นปาราชิก ด้วยการรูดไปเพียง ๑๐ นิ้ว หรือ ๑๒ นิ้วเท่านั้น. เมื่อภิกษุยกขึ้นข้างบน เป็นปาราชิก ด้วยการยกขึ้นเพียงปลายเส้นผม. เมื่อภิกษุแก้จีวรที่เขาเอาเชือกผูกแขวนไว้ จะถูกราวจีวรหรือไม่ถูกก็ตาม เป็นถุลลัจจัย, เมื่อแก้ออกแล้ว เป็นปาราชิก.
               จริงอยู่ จีวรนั้นพอสักว่าแก้ออกเท่านั้นย่อมถึงความนับว่าพ้นจากฐาน. เมื่อภิกษุคลายจีวรที่เขาพันไว้ที่ราวออก เป็นถุลลัจจัย, ครั้นเมื่อจีวรนั้นสักว่าคลายออกเสร็จแล้ว ก็ต้องปาราชิก.
               ในจีวรที่เขาทำเป็นห่วงเก็บไว้ ภิกษุตัดห่วงออกก็ดี แก้ออกก็ดี ปลดปลายราวข้างหนึ่งแล้วรูดออกก็ดี ต้องถุลลัจจัย, ครั้นเมื่อห่วงนั้น สักว่าขาดก็ดี สักว่าแก้ออกแล้วก็ดี สักว่ารูดออกแล้วก็ดี ต้องปาราชิก.
               ภิกษุไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย รูดไปรูดมาบนราวจีวร, ยังรักษาอยู่ก่อน.
               จริงอยู่ ราวจีวรแม้ทั้งหมดเป็นฐานของห่วง.
               เพราะเหตุไร?
               เพราเหตุที่การรูดหมุนไปบนราวจีวรนั้นเป็นของธรรมดา. แต่ถ้าภิกษุเอามือจับจีวรนั้นทำให้ลอยไปในอากาศ ต้องปาราชิก. เพียงโอกาสที่ถูกกับโอกาสที่ตั้งอยู่ เป็นฐานของจีวรที่เขาคลี่พาดไว้.
               วินิจฉัยในจีวรชนิดนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในจีวรที่พับพาดไว้. ส่วนจีวรใดเป็นของถูกพื้นด้วยชายข้างหนึ่ง, ฐานจีวรนั้นมี ๒ ฐาน ด้วยอำนาจโอกาสที่จดราวจีวรและพื้น. ในจีวรที่จดพื้นด้วยชายข้างหนึ่งนั้น พึงทราบวินิจฉัยตามนัยที่กล่าวแล้วในผ้าสาฎกไม่แข็งนั่นแหละ.
               แม้ในสายระเดียงจีวร ก็พึงทราบวินิจฉัยดังนี้แล.
               ส่วนภัณฑะที่เขาวางแขวนไว้บนขอ จะเป็นหม้อยาหรือถุงยาก็ตาม, ถ้าตั้งอยู่ไม่ถูกฝาหรือพื้น. เมื่อภิกษุรูดหูที่คล้องปลดออก เมื่อภัณฑะนั้นสักว่าออกจากปลายขอไป เป็นปาราชิก. หูสำหรับคล้องเป็นของแข็ง เมื่อภิกษุยกขึ้นพร้อมทั้งหลักหู ทำให้ลอยไปในอากาศ ถึงเมื่อหูที่คล้องนั้นยังไม่หลุดออกจากปลายขอ ก็เป็นปาราชิก. ภัณฑะเป็นของพิงติดอยู่กับฝา ภิกษุดึงภัณฑะนั้นออกจากปลายขอครั้งแรก ต้องถุลลัจจัย, ภายหลังจึงปลดฝาออก ต้องปาราชิก.
               นัยแม้แห่งภิกษุผู้ปลดฝาออกครั้งแรกแล้ว ภายหลังจึงนำออกจากขอ ก็เหมือนกันนี้.
               ก็ถ้าภิกษุไม่อาจปลดภัณฑะที่หนักออกได้ ตนเองจึงทำให้พิงฝาแล้วปลดออกจากขอ. เมื่อภัณฑะนั้น แม้ภิกษุไม่ให้ห่างฝา สักว่าปลดออกจากขอได้เท่านั้น เป็นปาราชิก. เพราะว่าฐานที่ตนทำ ไม่จัดเป็นฐาน.
               แต่สำหรับภัณฑะที่ตั้งจดพื้นมี ๒ ฐานเท่านั้น. วินิจฉัยในภัณฑะที่ตั้งจดพื้นนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วแล. ก็แลภัณฑะใด เขาใส่สาแหรกแขวนไว้ เมื่อภิกษุปลดภัณฑะนั้นออกจากสาแหรกก็ดี ปลดภัณฑะนั้นทั้งสาแหรกออกจากขอก็ดี เป็นปาราชิก. และถึงความต่างกันแห่งฐานในภัณฑะที่เขาใส่สาแหรกแขวนไว้นี้ ก็พึงทราบอย่างภัณฑะที่ชิดฝาและพื้น.
               ตะปูที่เขาตอกฝาไว้ตรงๆ ก็ดี เดือยที่เกิดในฝานั้นนั่นเองก็ดี ชื่อว่าภิตติขีละ ตะปูฝา. ส่วนตะปูงอนที่เขาตอกไว้นั่นแหละ ชื่อฟันนาค. ภัณฑะที่เขาแขวนไว้บนตะปูฝาและฟันนาคนั้น พึงทราบวินิจฉัยตามนัยที่กล่าวแล้วในภัณฑะที่แขวนไว้บนขอ.
               ก็หอกหรือหลาวหรือแส้หางสัตว์ ซึ่งเขายกขึ้นพาดไว้บนตะปูฝาหรือฟันนาค ๒-๓ อัน ซึ่งติดเรียงกันเป็นลำดับ ภิกษุจับที่ปลายหรือที่ด้ามลากมา เพียงแต่โอกาสที่ตะปูฝาหรือฟันนาคอันหนึ่งๆ ถูกล่วงเลยไปเท่านั้น ต้องปาราชิก. เพราะว่าเพียงโอกาสที่ถูกเท่านั้น ย่อมเป็นฐานของหอกหลาวและแส้หางสัตว์เหล่านั้น, ตะปูฝาหรือฟันนาคทั้งหมด ไม่จัดเป็นฐาน.
               ภิกษุยืนหันหน้าเข้าฝา จับตรงกลางลากมา เพียงแต่ส่วนด้านนอกล่วงเลยโอกาสที่ส่วนด้านในถูก ต้องปาราชิก. แม้เมื่อภิกษุเลื่อนไปข้างหน้าก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               เมื่อภิกษุเอามือจับยกขึ้น ทำให้ลอยไปในอากาศ แม้เพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก. ภิกษุลากหอกเป็นต้นนั้นที่เขาวางไว้ชิดฝาครูดฝามา. เมื่อเธอให้ด้ามล่วงเลยโอกาสที่ปลายถูก หรือให้ปลายล่วงเลยโอกาสที่ด้ามถูกไป ต้องปาราชิก. ภิกษุยืนหันหน้าเข้าฝา ลากมาให้ส่วนที่สุดข้างอื่นล่วงเลยโอกาสที่ส่วนอีกข้างหนึ่งถูกไป ต้องปาราชิก. เมื่อยกขึ้นตรงๆ ทำให้ลอยไปในอากาศเพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก.
               สองบทว่า รุกฺเข วา ลคฺคตํ ได้แก่ ภัณฑะที่เขายกขึ้นแขวนไว้ที่ต้นตาลเป็นต้น. พึงทราบวินิจฉัยตามนัยที่กล่าวแล้วในภัณฑะที่แขวนไว้บนขอเป็นต้น.
               ก็แลเมื่อภิกษุเขย่าทะลายตาลที่เกิดอยู่บนต้นตาลนั้น วัตถุแห่งปาราชิกจะเต็มในผลใด. เมื่อผลนั้นสักว่าหลุดจากขั้ว ต้องปาราชิก.
               ภิกษุตัดทะลายตาล ต้องปาราชิก.
               ส่วนทะลายตาลที่เขายกขึ้นเอาปลายพาดไว้ในง่ามใบได้ ๒ ฐาน คือฐานที่พาดไว้ ๑ ฐานคือขั้ว ๑. วินิจฉัยใน ๒ ฐานนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว.
               ส่วนภิกษุใดยกปลายพาดที่ง่ามใบเองแล้วจึงตัดเพราะกลัวว่า พอตัดขาดตกลงมาจะพึงทำเสียง สักว่าตัดเสร็จ ภิกษุนั้นต้องปาราชิก. เพราะว่าฐานที่ตนทำ ไม่จัดเป็นฐาน.
               ในดอกและผลของต้นไม้ทั้งปวง พึงทราบวินิจฉัยโดยอุบายนี้.
               ในคำว่า ปตฺตาธารเกปิ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               จะเป็นเชิงไม้ก็ตาม เชิงวลัยก็ตาม เชิงท่อนไม้ก็ตาม ที่ตั้งบาตรชนิดใดชนิดหนึ่ง แม้เป็นกระเช้าก็ช่าง ทุกอย่างถึงความนับว่า เชิงรองบาตร ทั้งนั้น เพียงโอกาสที่บาตรถูกนั่นเอง เป็นฐานของบาตรที่เขาตั้งไว้บนเชิงรองบาตรนั้น.
               ในเชิงไม้ของบาตรนั้น มีกำหนดฐานโดยอาการ ๕ อย่าง.
               ภิกษุจับบาตรที่ตั้งอยู่บนเชิงไม้นั้นที่ขอบปาก แล้วลากไปข้างใดข้างหนึ่งในทิศทั้ง ๔ ในส่วนข้างอื่นล่วงเลยโอกาสที่ส่วนข้างหนึ่งๆ ถูกไป ต้องปาราชิก. เมื่อยกขึ้นข้างบนเพียงปลายเส้นผม ต้องปาราชิก. แต่พึงให้ตีราคาของปรับอาบัติทุกๆ แห่ง. แม้เมื่อภิกษุลักบาตรไปพร้อมทั้งเชิงรอง ก็มีนัยนี้เหมือนกัน ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในกลางแจ้ง               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในน้ำ               
               พึงทราบวินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในน้ำ :-
               หลายบทว่า อุทเก นิกฺขิตฺตํ โหติ ความว่า ภัณฑะที่พวกชนผู้กลัวแต่ราชภัยเป็นต้น ทำการปิดเสียให้ดีในวัตถุทั้งหลายมีภาชนะทองแดงและโลหะเป็นต้นซึ่งจะไม่เสียหายไปด้วยน้ำเป็นธรรมดา แล้วเก็บไว้ในน้ำนิ่งในสระโบกขรณีเป็นต้น. เพียงโอกาสที่ตั้งอยู่เป็นฐานของทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในน้ำนั้น. น้ำทั้งหมด ไม่จัดเป็นฐาน.
               หลายบทว่า คจฺฉติ วา อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส ความว่า เมื่อภิกษุเดินไปในน้ำที่ไม่ลึก เป็นทุกกฏทุกๆ ย่างเท้า. ในน้ำลึกเมื่อทำความพยายามด้วยมือ หรือด้วยเท้าก็ดี ทำความพยายามทั้งมือและเท้าก็ดีเป็นทุกกฏทุกประโยค.
               ถึงในการดำลงและผุดขึ้น เพื่อลักเอาหม้อ ก็มีนัยเหมือนกันนี้. แต่ถ้าภิกษุเห็นภัยบางอย่าง จะเป็นงูน้ำหรือปลาร้ายก็ตาม กลัวแล้วก็หนีไปเสียในระหว่าง ไม่เป็นอาบัติ. ในอาการมีจับต้องเป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยโดยนัยที่กล่าวแล้วในหม้อ ซึ่งอยู่ในแผ่นดินนั่นแล.
               ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้ :-
               ในภุมมัฏฐกถานั้น ภิกษุขุดลากไปบนแผ่นดิน, ในอุทกัฏฐกถานี้ ภิกษุกดให้จมลงในโคลน. ความกำหนดฐานย่อมมีได้ด้วยอาการ ๖ ด้วยประการฉะนี้.
               ในดอกอุบลเป็นต้น วัตถุแห่งปาราชิกจะครบในดอกใด, เมื่อดอกนั้นสักว่า ภิกษุเด็ดแล้ว ต้องปาราชิก. ก็บรรดาชาติดอกบัวเหล่านี้ เปลือกบัวแม้ที่ข้างๆ หนึ่งแห่งอุบลชาติทั้งหลาย ยังไม่ขาดไปเพียงใด ยังรักษาอยู่เพียงนั้น. ส่วนปทุมชาติเมื่อก้านขาดแล้ว ใยข้างในแม้ยังไม่ขาด ก็รักษาไว้ไม่ได้. ดอกอุบลเป็นต้นที่เจ้าของตัดวางไว้ ดอกใดจะยังวัตถุปาราชิกให้ครบได้ เมื่อดอกนั้นอันภิกษุยกขึ้นแล้ว ก็เป็นปาราชิก.
               ดอกอุบลเป็นต้น เป็นของที่เขามัดเป็นกำๆ ไว้, วัตถุปาราชิกจะครบในกำใด เมื่อกำนั้นอันภิกษุยกขึ้น ต้องปาราชิก. ดอกอุบลเป็นต้นเป็นของเนื่องด้วยภาระ๑- เมื่อภิกษุให้ภาระนั้นเคลื่อนจากฐาน ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งอาการ ๖ ต้องปาราชิก ตามนัยที่กล่าวแล้วในหม้อที่ตั้งอยู่บนแผ่นดิน
____________________________
๑- คือ หาบ คอน แบก ตะพาย.

               ดอกอุบลเป็นต้นมีก้านยาวที่เขามัดที่ดอกหรือที่ก้านให้เป็นกำ ลาดหญ้าบนเชือกบนหลังน้ำ วางไว้หรือล่ามไว้, กำหนดการให้เคลื่อนจากฐานแห่งดอกอุบลเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบโดยอาการ ๖ อย่าง คือด้านยาวกำหนดด้วยปลายดอกและที่สุดก้าน ด้านขวางกำหนดด้วยที่สุดสองข้าง เบื้องล่างกำหนดด้วยโอกาสที่จด เบื้องบนกำหนดด้วยหลังแห่งดอกที่อยู่ข้างบน. แม้ภิกษุใดทำน้ำให้กระเพื่อม ให้คลื่นเกิดขึ้นยังกำดอกไม้ที่เขาวางไว้บนหลังน้ำให้เคลื่อนจากฐานที่ตั้งเดิม แม้เพียงปลายเส้นผม ภิกษุนั้นต้องปาราชิก.
               แต่ถ้าเธอกำหนดหมายไว้ว่า ถึงที่นี่แล้วเราจักถือเอา ดังนี้ยังรักษาอยู่ก่อน. เมื่อเธอยกขึ้นในที่ซึ่งกำดอกไม้ลอยไปถึงแล้ว เป็นปาราชิก. น้ำทั้งสิ้นเป็นฐานของดอกไม้ที่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว. เมื่อภิกษุถอนดอกไม้นั้นยกขึ้นตรงๆ เมื่อที่สุดของก้านห่างจากน้ำเพียงปลายเส้นผม เป็นปาราชิก. ภิกษุจับดอกไม้ผลักไปแล้วเหนี่ยวมาข้างๆ จึงถอนขึ้น น้ำไม่เป็นฐาน. เมื่อดอกไม้นั้นสักว่า ภิกษุถอนขึ้นแล้วก็เป็นปาราชิก.
               ในอรรถกถามหาปัจจรีเป็นต้น ท่านกล่าว ๒ คำนี้ไว้ว่า ดอกไม้ที่มัดเป็นกำๆ เขาผูกตั้งไว้ในที่น้ำหรือที่ต้นไม้หรือที่กอไม้, เมื่อภิกษุไม่แก้เครื่องผูกออก ทำให้ลอยไปข้างโน้นและข้างนี้ เป็นถุลลัจจัย. เมื่อเครื่องผูกสักว่าหลุดออก ต้องปาราชิก. ภิกษุแก้เครื่องผูกก่อนแล้วนำไปทีหลัง, ในดอกไม้ที่เขาผูกไว้นี้ กำหนดฐานโดยอาการ ๖ อย่าง.
               สำหรับภิกษุผู้ใคร่จะถือเอาดอกปทุมในกอปทุมพร้อมทั้งกอ พึงทราบกำหนดฐานเบื้องบนและด้านกว้าง ด้วยอำนาจแห่งน้ำที่ก้านดอกและก้านใบถูก. และเมื่อเธอยังไม่ได้ถอนกอปทุมนั้นขึ้น แต่เหนี่ยวดอกหรือใบมาเฉพาะหน้าตน เป็นถุลลัจจัย, พอถอนขึ้นต้องปาราชิก.
               เมื่อเธอแม้ไม่ยังก้านดอกและก้านใบให้เคลื่อนจากฐาน ถอนกอปทุมขึ้นก่อน เป็นถุลลัจจัย. เมื่อก้านแห่งดอกและใบเธอให้เคลื่อนจากฐานในภายหลัง ต้องปาราชิก.
               ส่วนภิกษุผู้ถือเอาดอกในกอปทุมที่เขาถอนขึ้นไว้แล้ว พึงให้ตีราคาภัณฑะปรับอาบัติ. แม้ในดอกที่กองไว้ ที่มัดไว้เป็นกำๆ และที่เนื่องในภาระ ซึ่งวางไว้นอกสระมีนัยเหมือนกันนี้.
               เหง้าบัวหรือรากบัว วัตถุปาราชิกจะครบด้วยเหง้าหรือรากอันใด, เมื่อภิกษุถอนเหง้าหรือรากอันนั้นขึ้น ต้องปาราชิก. ก็ในเหง้าและรากบัวนี้ พึงกำหนดฐานด้วยอำนาจโอกาสที่เปือกตมถูก.
               ในมหาอรรถกถานั่นเอง ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อภิกษุถอนเหง้าหรือรากบัวเหล่านั้นขึ้น แม้รากฝอยที่ละเอียดยังไม่ขาด ก็ยังรักษาอยู่ก่อน. ใบก็ดี ดอกก็ดี เกิดที่ข้อเหง้าบัวมีอยู่ แม้ใบและดอกนั้นก็ยังรักษาอยู่ ดังนี้. ก็แล ที่หัวเหง้าบัวเป็นของมีหนาม เหมือนตุ่มสิวที่ใบหน้าของพวกคนกำลังแตกเนื้อหนุ่มสาว ฉะนั้น หนามนี้รักษาไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นของยาว.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวไว้แล้วในดอกอุบล เป็นต้นนั่นเอง.
               น้ำทั้งสิ้นในชลาลัยทั้งหลายมีบึงเป็นต้นเป็นฐานของปลาและเต่าที่มีเจ้าของ. เพราะเหตุนั้น ภิกษุใดเอาเบ็ดก็ดี ข่ายก็ดี ไซก็ดี มือก็ดี จับเอาปลาที่มีเจ้าของ ในที่ที่เขายังรักษา, วัตถุปาราชิกจะครบด้วยปลาตัวใด, เมื่อปลาตัวนั้น สักว่าภิกษุยกขึ้นจากน้ำแม้เพียงปลายเส้นผม ภิกษุนั้นต้องปาราชิก.
               ปลาบางตัวเมื่อถูกจับ วิ่งไปทางโน้นและทางนี้ กระโดดขึ้นไปยังอากาศ ตกลงไปที่ตลิ่ง แม้เมื่อภิกษุจับเอาปลาตัวที่อยู่ในอากาศหรือที่ตกไปที่ตลิ่งนั้น ก็เป็นปาราชิกเหมือนกัน. เมื่อภิกษุจับเอาแม้เต่าตัวที่คลานไปหาอาหารกินภายนอกขอบสระ ก็มีนัยเหมือนกันนี้. ก็เมื่อภิกษุให้สัตว์น้ำพ้นจากน้ำ เป็นปาราชิก.

               [สมัยหลังพุทธกาลพวกชนขุดบ่อน้ำใช้เลี้ยงปลา]               
               ชนทั้งหลายในชนบทนั้นๆ อาศัยลำรางสำหรับไขน้ำของสระใหญ่ที่ทั่วไปแก่ชนทั้งปวง ขุดห้วงน้ำเช่นกันแม่น้ำน้อยอันทั่วไปแก่ชนทั้งปวงเหมือนกัน. พวกเขาได้ชักลำรางเล็กๆ จากห้วงน้ำคล้ายกับแม่น้ำนั้นไป แล้วขุดเป็นบ่อไว้เพื่อประโยชน์แก่การใช้สอยของตนๆ ที่ปลายลำราง. และชนเหล่านั้นมีความต้องการน้ำในเวลาใด ในเวลานั้นจึงชำระลำรางเล็กในบ่อ และห้วงน้ำให้สะอาด แล้วลอกลำรางสำหรับไขน้ำไป. ปลาทั้งหลายออกจากสระใหญ่นั้นพร้อมกับน้ำ ไปถึงบ่อโดยลำดับแล้วอยู่. ชนทั้งหลายไม่ห้ามผู้ที่จับปลาในสระและห้วงน้ำนั้น. แต่ไม่ยอม คือห้ามมิให้จับปลาทั้งหลายที่เข้าไปในลำรางและบ่อน้ำเล็กๆ ของตนๆ.

               [ภิกษุจับเอาปลาที่เขาเลี้ยงปรับอาบัติตามราคาปลา]               
               ภิกษุใดจับปลาในที่เหล่านั้น ในสระหรือในลำรางสำหรับไขน้ำหรือในห้วงน้ำ, ภิกษุนั้นอันพระวินัยธรพึงให้ปรับอาบัติด้วยอวหาร. แต่เมื่อจับปลาที่เข้าไปในลำรางเล็กหรือในบ่อแล้ว พึงปรับอาบัติด้วยอำนาจแห่งราคาปลาที่จับได้. ถ้าปลาที่กำลังถูกจับจากลำรางเล็กและบ่อน้ำนั้น กระโดดขึ้นไปในอากาศ หรือตกลงมาริมตลิ่ง. เมื่อภิกษุจับเอาปลานั้น ซึ่งอยู่ในอากาศหรือที่อยู่บนตลิ่งพ้นจากน้ำแล้ว อวหารไม่มี.
               เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า ชนเหล่านั้นเป็นเจ้าของปลา ซึ่งอยู่ในที่หวงห้ามของตนเท่านั้น. จริงอยู่ กติกาเห็นปานนี้เป็นกติกาในชนบทเหล่านั้น. แม้ในเต่าก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ถ้าว่า ปลาที่กำลังจะถูกจับว่ายขึ้นจากบ่อไปลงรางเล็ก, แม้เมื่อภิกษุจับปลานั้นในรางเล็กนั้น เป็นอวหารแท้. แต่ไม่เป็นอวหารแก่ภิกษุผู้จับปลาที่ว่ายขึ้นจากลำรางเล็กไปลงห้วงน้ำ และที่ว่ายขึ้นจากห่วงน้ำนั้นไปลงสระแล้ว. ภิกษุเอาเมล็ดข้าวสุกล่อปลาจากบ่อไปขึ้นลำรางแล้วจับเอา เป็นอวหารแก่ภิกษุนั้นแท้. แต่ไม่เป็นอวหารแก่ภิกษุผู้ล่อจากลำรางนั้นไปลงห้วงน้ำแล้วจับเอา.
               ชนบางพวกนำเอาปลาจากที่สาธารณะแก่ชนทั้งปวง บางแห่งนั่นแลขังเลี้ยงไว้ในบ่อน้ำที่หลังสวน แล้วฆ่าเสียคราวละ ๒-๓ ตัว เพื่อประโยชน์แก่แกงเผ็ดทุกวัน. เมื่อภิกษุจับปลาเห็นปานนั้นซึ่งอยู่ในน้ำ หรือบนอากาศ หรือริมตลิ่งแห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นอวหารแท้. แม้ในเต่าก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               ก็ในฤดูแล้ง กระแสน้ำในแม่น้ำขาดสาย น้ำย่อมขังอยู่ในที่ลุ่มบางแห่ง. มนุษย์ทั้งหลายโปรยผลไม้เบื่อเมาและยาพิษเป็นต้นลง เพื่อความวอดวายแห่งปลาทั้งหลายในลุ่มน้ำนั้นแล้วไปเสีย. ปลาทั้งหลายกินผลไม้เบื่อเมาและยาพิษเป็นต้นเหล่านั้น แล้วตายหงายท้องลอยอยู่บนน้ำ. ภิกษุใดไปในที่นั้นแล้วจับเอาด้วยทำในใจว่า เจ้าของยังไม่มาเพียงใด, เราจักจับเอาปลาเหล่านี้เพียงนั้น, ภิกษุนั้น พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคา. เมื่อเธอถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญาไม่เป็นอวหาร. แต่เมื่อเจ้าของให้นำมาเป็นภัณฑไทย.
               มนุษย์ทั้งหลายโปรยยาพิษเบื่อปลาแล้วพากันกลับไปนำภาชนะมาบรรจุให้เต็มแล้วไป. พวกเขายังมีอาลัยอยู่ว่า พวกเราจักกลับมาแม้อีกเพียงใด ปลาเหล่านั้นยังจัดว่าเป็นปลามีเจ้าของเพียงนั้น. แต่เมื่อใด พวกเขาสิ้นอาลัยหลีกไปเสียด้วยปลงใจว่า พวกเรา พอละ จำเดิมแต่นั้นไป เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ถือเอาด้วยไถยจิต, ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้มีบังสุกุลสัญญา.
               พึงทราบวินิจฉัยในชาติสัตว์น้ำแม้ทุกชนิดเหมือนในปลาและเต่า.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในน้ำ               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเรือ               
               พึงทราบวินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเรือ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเรือเป็นอันดับแรกก่อน จึงตรัสว่า นาวา นาม ยาย ตรติ ดังนี้. เพราะฉะนั้น ในอธิการว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเรือนี้ พาหนะสำหรับข้ามน้ำโดยที่สุด จะเป็นรางย้อมผ้าก็ตาม แพไม้ไผ่ก็ตาม พึงทราบว่าเรือทั้งนั้น.
               ส่วนในการสมมติสีมา เรือประจำที่ภิกษุขุดภายใน หรือต่อด้วยแผ่นกระดาน จัดทำไว้ โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด บรรทุกคนข้ามฟากได้ถึง ๓ คน จึงใช้ได้. แต่ในนาวัฏฐาธิการนี้ บรรทุกคนได้แม้คนเดียว ท่านก็เรียกว่า เรือ เหมือนกัน.
               ภัณฑะอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องกับตัวเรือก็ตาม ไม่เนื่องกับตัวเรือ ก็ตาม ชื่อว่าภัณฑะที่เก็บไว้ในเรือ. ลักษณะการลักภัณฑะที่เก็บไว้ในเรือนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในภัณฑะที่ตั้งอยู่บนบก นั่นแล. การแสวงหาเพื่อน การเดินไป การจับต้อง และการทำให้ไหว ในคำเป็นต้นว่า นาวํ อวหริสฺสามิ มีนัยดังกล่าวแล้ว นั่นแล. ส่วนในคำว่า พนฺธนํ โมจติ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :- เรือลำใด เมื่อแก้เครื่องผูกแล้ว ก็ยังไม่เคลื่อนจากฐาน, เครื่องผูกของเรือ ลำนั้น ยังแก้ไม่ออกเพียงใด, เป็นทุกกฏเพียงนั้น, แต่ครั้นแก้ออกแล้ว เป็นถุลลัจจัยก็มี เป็นปาราชิกก็มี. คำนั้นจักมีแจ้งข้างหน้า. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ. พรรณนาเฉพาะบาลีมีเท่านี้ก่อน.
               ส่วนวินิจฉัยนอกบาลี ในนาวัฏฐาธิการนี้ มีดังต่อไปนี้ :-
               สำหรับเรือที่ผูกจอดไว้ในกระแสน้ำเชี่ยว มีฐานเดียว คือ เครื่องผูกเท่านั้น. เมื่อเครื่องผูกนั้น สักว่าแก้ออกแล้วต้องปาราชิก. ความยุกติในเครื่องผูกนั้น ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นนั่นแล. ส่วนในเรือที่เขาล่มไว้ ตั้งแผ่ไปตลอดประเทศแห่งน้ำใดๆ ประเทศแห่งน้ำนั้นๆ เป็นฐานของเรือนั้น. เพราะเหตุนั้น เมื่อภิกษุกู้เรือนั้นขึ้นข้างบนก็ดี กดให้จมลงในเบื้องต่ำก็ดี ให้ล่วงเลยโอกาสที่เรือ ถูกในทิศทั้ง ๔ ไปก็ดี ก็เป็นปาราชิกในขณะที่พอเลยไป. เรือไม่ได้ผูกจอดอยู่ตามธรรมดาของเรือในน้ำนิ่ง เมื่อภิกษุฉุดลาก ไปข้างหน้าก็ดี ไปข้างหลังก็ดี ข้างซ้ายและข้างขวาก็ดี ครั้นเมื่อสักว่าส่วนที่ตั้งอยู่ในน้ำอีกข้างหนึ่ง ล่วงเลยโอกาสที่ส่วนข้างหนึ่งถูกไป เป็นปาราชิก. เมื่อยกขึ้นข้างบนให้พ้นจากน้ำเพียงปลายเส้นผม เป็นปาราชิก. เมื่อกดลงข้างล่างให้ขอบปากล่วงเลยโอกาสที่พื้นท้องเรือถูกต้องไป เป็นปาราชิก.
               สำหรับเรือที่ผูกไว้ริมตลิ่งจอดอยู่ในน้ำนิ่งมีฐาน ๒ คือ เครื่องผูก ๑ โอกาสที่จอด ๑. ภิกษุแก้เรือนั้นออกจากเครื่องผูกก่อน ต้องถุลลัจจัย, ภาลหลังให้เคลื่อนจากฐาน โดยอาการอันใดอันหนึ่งแห่งอาการ ๖ อย่าง ต้องปาราชิก.
               แม้ในการให้เคลื่อนจากฐานก่อน แก้เครื่องผูกทีหลัง ก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               โอกาสที่ถูกเทียว เป็นฐานของเรือที่เข็นขึ้นวางหงายไว้บนบก. กำหนดฐานของเรือนั้น พึงทราบโดยอาการ ๕ อย่าง. แต่โอกาสที่ขอบปากถูกเท่านั้น เป็นฐานของเรือที่เขาวางคว่ำไว้. ผู้ศึกษาพึงทราบการกำหนดฐานของเรือแม้นั้นไปโดยอาการ ๕ อย่าง แล้วทราบว่าเป็นปาราชิก ในเมื่อเรือสักว่าล่วงเลยโอกาสที่ถูกข้างใดข้างหนึ่งและเบื้องบนไปเพียงปลายเส้นผม.
               ก็แลโอกาสที่ไม้หมอนถูกเท่านั้นเป็นฐานของเรือที่เขาเข็นขึ้นบกแล้ววางบนไม้หมอนสองอัน. เพราะฉะนั้น วินิจฉัยในเรือที่เขาวางบนไม้หมอนนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในผ้าสาฎกเนื้อแข็งที่พาดไว้เฉพาะบนปลายเท้าเตียง และในหลาว แส้หางสัตว์ที่เขาพาดไว้บนไม้ฟันนาค. แต่ว่าเมื่อเรือผูกเชือกไว้ ไม่ใช่เพียงแต่โอกาสที่ถูกต้องเท่านั้นเป็นฐานแห่งเรือที่เขายังมิได้แก้เชือกซึ่งยาวประมาณ ๖๐-๗๐ วา ไว้เลยแล้วเหนี่ยวมาคล้องไว้กับหลักที่ตอกลงดินตั้งไว้บนบกพร้อมกับเชือก, โดยที่แท้ พึงทราบว่า ด้านยาวเพียงที่ส่วนเบื้องหลังของโอกาสที่เรือจดแผ่นดิน จับแต่ปลายเชือกมา เป็นฐานก่อน ส่วนด้านขวางประมาณที่สุดรอบที่เรือและเชือกจดแผ่นดิน เป็นฐาน. เมื่อภิกษุฉุดลากเรือนนั้นไปตามยาวก็ดี ตามขวางก็ดี พอสักว่าให้ส่วนที่จดดิน อีกข้างหนึ่งเลยโอกาสที่ส่วนข้างหนึ่งถูก เป็นปาราชิก, เมื่อยกขึ้นข้างบนให้พ้นจากแผ่นดินพร้อมทั้งเชือก เพียงปลายเส้นผม เป็นปาราชิก.
               อนึ่ง ภิกษุใดมีไถยจิต ขึ้นไปยังเรือที่จอดอยู่ที่ท่า เอาถ่อหรือไม้พายแจวไป ภิกษุนั้นต้องปาราชิก. แต่ถ้าภิกษุกางร่ม หรือเอาเท้าทั้งสองเหยียบจีวร และเอามือทั้งสองยกขึ้นทำต่างใบเรือให้กินลม, ลมแรงพัดมาพาเรือไป, เรือนั้นเป็นอันถูกลักไปด้วยลมนั่นแล. อวหารไม่มีแก่บุคคล แต่ความพยายามมีอยู่. ก็ความพยายามนั้น หาใช่เป็นความพยายามในอันที่ให้เคลื่อนจากฐานไม่. ก็ถ้าเรือนั้นแล่นไปอยู่อย่างนั้น ภิกษุงดไม่ให้แล่นไปตามปกติเสีย นำไปยังทิศาภาคส่วนอื่น ต้องปาราชิก. เรือที่แล่นไปถึงท่าบ้านแห่งใดแห่งหนึ่งเสียเอง ภิกษุไม่ให้เคลื่อนจากฐานเลยขายเสียแล้วก็ไป, ไม่เป็นอวหารเลย, แต่เป็นภัณฑไทย ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเรือ               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในยาน               
               พึงทราบวินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในยาน :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงยานก่อน จึงตรัสว่า ยานํ นาม วยฺหํ เป็นต้น.
               ในคำว่า วยฺหํ เป็นต้นนั้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ยานที่ปิดบังด้วยไม้เลียบไว้เบื้องบน คล้ายกับมณฑปก็ตาม ที่เขาทำปิดคลุมไว้ทั้งหมดก็ตาม ชื่อว่าคานหาม. เตียงที่เขาใส่กลอนซึ่งสำเร็จด้วยทองและเงินเป็นต้นไว้ที่ข้างทั้งสอง แล้วทำไว้โดยนัยดังปีกครุฑ ชื่อว่าเตียงหาม, รถและเกวียนปรากฏชัดแล้วแล. ภัณฑะที่มีวิญญาณหรือไม่มีวิญญาณ ซึ่งเขาเก็บไว้ด้วยอำนาจเป็นกองเป็นต้น ในบรรดาคานหามเป็นต้นเหล่านั้นแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อภิกษุให้เคลื่อนจากฐานด้วยไถยจิต พึงทราบว่าเป็นปาราชิก โดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในเรือและที่ตั้งอยู่บนบก.
               ส่วนความแปลกกัน มีดังต่อไปนี้ :-
               เมื่อภิกษุเอาตะกร้ารับเอาสิ่งของมีข้าวสารเป็นต้นที่ตั้งอยู่ในยาน แม้เมื่อไม่ยกตะกร้าขึ้น ครั้นตบตะกร้า ทำให้วัตถุมีข้าวสารเป็นต้นซึ่งเนื่องเป็นอันเดียวกัน กระจายไป เป็นปาราชิก. นัยนี้ ย่อมใช้ได้แม้ในสิ่งของที่ตั้งอยู่บนบกเป็นต้น. กิจทั้งหลายมีการเที่ยวหาเพื่อนเป็นต้น ในคำว่า เราจักลักยาน มีนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ก็ในคำว่า ฐานา จาเวติ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               สำหรับยานที่เทียมด้วยโคคู่ มี ๑๐ ฐาน คือ เท้าทั้ง ๘ ของโคทั้ง ๒ และล้อ ๒. เมื่อภิกษุมีไถยจิตขึ้นเกวียนนั้น นั่งบนทูบขับไป เป็นถุลลัจจัย ในเมื่อโคทั้ง ๒ ยกเท้าขึ้น, และเมื่อโอกาสเพียงปลายเส้นผมล่วงเลยไปจากประเทศที่ล้อทั้ง ๒ จดแผ่นดิน เป็นปาราชิก. แต่ถ้าโคทั้ง ๒ รู้ว่า ผู้นี้มิใช่เจ้าของๆ เรา แล้วสลัดแอกทิ้ง ไม่ยอมเข็นไป หยุดอยู่ก็ตาม ดิ้นรนอยู่ก็ตาม ยังรักษาอยู่ก่อน. เมื่อภิกษุจัดโคทั้งสองให้เทียมเข้าไปตรงๆ แล้วพาดแอกเทียมให้มั่น แทงด้วยปฏักขับไปอีก เป็นถุลลัจจัย ในเมื่อโคเหล่านั้นยกเท้าขึ้น ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล, เป็นปาราชิก ในเมื่อล้อเคลื่อนไป.
               ถ้าแม้ในทางที่มีโคลนตม ล้อข้างหนึ่งติดแล้วในโคลน, โคลากล้อข้างที่ ๒ หมุนเวียนอยู่, อวหารยังไม่มีก่อน เพราะล้อข้างหนึ่งยังคงตั้งอยู่. แต่เมื่อภิกษุจัดโคทั้งสองให้เทียมตรง แล้วขับไปอีก เมื่อล้อที่หยุดอยู่หมุนเลยโอกาสที่ถูกไป เพียงปลายเส้นผม เป็นปาราชิก.
               และพึงทราบความต่างกันแห่งฐานของยานที่เทียม โดยอุบายนี้ คือยานที่เทียม ๔ มีฐาน ๑๘ ที่เทียม ๘ มีฐาน ๓๔. ส่วนยานใดที่มิได้เทียม เขาใช้ไม้ค้ำที่ตรงทูบอันหนึ่ง และค้ำข้างหลัง ๒ อันจอดไว้, ยานนั้น มีฐาน ๕ ด้วยอำนาจแห่งไม้ค้ำ ๓ อัน และล้อทั้ง ๒. ถ้าไม้ค้ำที่ตรงแอก เขาบากเป็นง่ามที่ตอนล่าง มีฐาน ๖. ส่วนยานที่ไม่ได้ค้ำไว้ข้างหลัง ค้ำที่ทูบเท่านั้น มีฐาน ๓ บ้าง ๔ บ้าง ด้วยอำนาจแห่งไม้ค้ำ สำหรับยานที่เขาเอาทูบพาดไว้บนกระดานหรือบนไม้ มีฐาน ๓. ยานที่เขาเอาทูบพาดไว้ที่แผ่นดินก็เหมือนกัน.
               เมื่อภิกษุลากหรือยกยานนั้น ให้เคลื่อนจากฐานไปข้างหน้าและข้างหลัง เป็นถุลลัจจัย, เมื่อฐานที่ล้อทั้งสองจดอยู่ ล่วงเลยไปเพียงปลายเส้นผม ก็เป็นปาราชิก.
               สำหรับยานที่เบาถอดล้อออกแล้วเอาหัวเพลาทั้ง ๒ พาดไว้บนไม้มีฐาน ๒. ภิกษุเมื่อลากหรือยกยานนั้นให้ล่วงเลยโอกาสที่ถูกไป เป็นปาราชิก.
               ยานที่เขาวางไว้บนแผ่นดินมีฐาน ๕ ด้วยอำนาจแห่งที่ซึ่งจดกับทูบ และไม้ค้ำเพลา ๔ อัน. เมื่อภิกษุจับยานนั้นที่ทูบลากไป ครั้นส่วนสุดข้างหน้ากับส่วนสุดข้างหลังแห่งไม้ค้ำเพลา คลาดจากกัน เป็นปาราชิก. เมื่อจับที่ไม้ค้ำเพลาลากไป เมื่อส่วนเบื้องหลังกับส่วนเบื้องหน้าของไม้ค้ำเพลาคลาดจากกัน เป็นปาราชิก. เมื่อจับตรงสีข้างลากไป เป็นปาราชิก ในเมื่อที่ซึ่งไม้ค้ำเพลานั่นเองจดอยู่ตามขวางคลาดจากกันไป. เมื่อจับตรงกลางยกขึ้น ครั้นโอกาสเพียงปลายเส้นผมพ้นจากแผ่นดิน เป็นปาราชิก. ถ้าไม้เดือยค้ำเพลาไม่มี, เขาทำปีกทูบให้เท่ากันดีแล้ว เจาะตรงกลางสอดหัวเพลาเข้าไป. ยานนั้นตั้งอยู่ถูกแผ่นดินทั้งหมด โดยรอบพื้นเบื้องล่าง. ในยานนั้นพึงทราบว่า เป็นปาราชิกด้วยอำนาจล่วงเลยฐานที่ถูกใน ๔ ทิศและเบื้องบน.
               ล้อที่เขาวางเอาดุมตั้งบนภาคพื้น มีฐานเดียวเท่านั้น. การกำหนดล้อนั้น พึงทราบโดยอาการ ๕ อย่าง. ล้อที่ตั้งให้ข้างกงและดุมภูมิ (ดิน) มีฐาน ๒. เมื่อภิกษุเอาเท้าเหยียบส่วนที่เชิดขึ้นแห่งกงให้ถูกที่พื้นแล้วจับที่กำหรือที่กงยกขึ้น ฐานที่ตนทำไม่จัดเป็นฐาน. เพราะเหตุนั้น เมื่อส่วนที่เหลือแม้ที่คงตั้งอยู่นั้น สักว่าล่วงเลยไป เป็นปาราชิก.
               แม้สำหรับล้อที่เขาวางพิงฝาไว้ ก็มีฐาน ๒.
               บรรดาฐานทั้ง ๒ นั้น เมื่อภิกษุปลดออกจากฝาครั้งแรก เป็นถุลลัจจัย, ภายหลังในเมื่อยกขึ้นจากแผ่นดินเพียงปลายเส้นผม เป็นปาราชิก. แต่เมื่อภิกษุปลดให้พ้นจากพื้นดินครั้งแรก ถ้าฐานที่ล้อตั้งอยู่ใกล้ฝา ไม่กระเทือน ก็มีนัยนี้แหละ. ถ้าเมื่อภิกษุจับที่กำลากไปข้างล่าง ปลายส่วนเบื้องบนแห่งโอกาสที่ตั้งถูกฝาล่วงเลยปลายส่วนเบื้องล่างไป เป็นปาราชิก.
               ในยานที่กำลังเดินทางไป เจ้าของยานลงจากยานแวะออกจากทางไปด้วยกรณียะบางอย่าง ถ้ามีภิกษุรูปอื่นเดินสวนทางมา พบเห็นยานว่างจากการอารักขา จึงคิดว่า เราจักลักเอายาน แล้วขึ้นขี่. โคทั้งหลายพาหลีกไป เว้นจากความพยายามของภิกษุทีเดียว ไม่เป็นอวหาร.
               คำที่เหลือเป็นเช่นดังที่กล่าวไว้แล้วในเรือ ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในยาน               

               [กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในภาระ]               
               ถัดจากภัณฑะที่ตั้งอยู่ในยานนี้ไป ภาระนั่นแล ชื่อว่าภารัฏฐะ (ภัณฑะที่ตั้งอยู่ในภาระ). ภาระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ๔ ประการด้วยอำนาจแห่งสีสภาระเป็นต้น.
               ในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในภาระนั้น พึงทราบการกำหนดอวัยวะมีศีรษะเป็นต้น เพื่อความไม่ฉงนในภาระทั้งหลาย มีสีสภาระเป็นต้น. บรรดาอวัยวะเหล่านั้น พึงทราบการกำหนดศีรษะก่อน; นี้กำหนดส่วนเบื้องล่างคือ ที่คอเบื้องหน้ามีหลุมคอ, ที่คอเบื้องหลังของคนบางพวก มีขวัญอยู่ที่ท้ายผม, ที่ข้างทั้งสองแห่งหลุมคอนั่นเอง ผมของคนบางพวก เกิดลามลงมา, ผมเหล่าใด เขาเรียกว่าจอนหู, ส่วนเบื้องต่ำแห่งผมเหล่านั้นด้วย. กำหนดเบื้องบนแต่นั้นขึ้นไป พึงทราบว่าเป็นศีรษะ. ภาระที่ตั้งอยู่ในระหว่างนี้ ชื่อว่าสีสภาระ.
               อวัยวะที่ชื่อว่า คอในข้างทั้งสอง เบื้องต่ำตั้งแต่จอนหูลงไป, เบื้องบนตั้งแต่ข้อศอกขึ้นไป, เบื้องต่ำตั้งแต่รากขวัญที่ท้ายทอยและหลุมคอลงไป. เบื้องบนตั้งแต่รากขวัญกลางหลังและหลุมตรงลิ้นปี่ ในท่ามกลางที่กำหนดของอกขึ้นไป. ภาระที่ตั้งอยู่ในระหว่างนี้ ชื่อว่าขันธภาระ.
               ส่วนเบื้องต่ำตั้งแต่รากขวัญกลางหลัง และหลุมตรงลิ้นปี่ลงไปจนถึงปลายเล็บเท้า, นี้เป็นการกำหนดแห่งสะเอว, ภาระที่ตั้งอยู่ในสรีระโดยรอบในระหว่างนี้ ชื่อว่ากฏิภาระ.
               ส่วนเบื้องต่ำตั้งแต่ข้อศอกลงไป จนถึงปลายเล็บมือ, นี้เป็นการกำหนดแห่งของที่หิ้ว. ภาระที่ตั้งอยู่ในระหว่างนี้ ชื่อว่าโอลัมพกะ.
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยเป็นลำดับไป ในคำว่า สีเส ภารํ เป็นต้นดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุใดอันพวกเจ้าของมิได้สั่งว่า ท่านจงถือเอาภัณฑะนี้ไปในที่นี้ พูดเองเลยว่า ท่านจงมอบภัณฑะชื่อนี้ให้แก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะนำเอาภัณฑะของพวกท่านไป ดังนี้ แล้วเอาศีรษะทูนภัณฑะของพวกชนเหล่านั้นไป ลูบคลำภัณฑะนั้นด้วยไถยจิต ต้องทุกกฏ. เมื่อยังไม่ทันให้ล่วงเขตกำหนดศีรษะตามที่กล่าวแล้วเลย เป็นแต่ลากย้ายไปข้างนี้ๆ บ้าง ลากย้ายกลับมาบ้าง ต้องถุลลัจจัย, เมื่อภัณฑะนั้นพอเธอลดลงสู่คอ แม้พวกเจ้าของจะมีความคิดว่า จงนำไปเถิด ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงกระนั้นก็ต้องปาราชิก เพราะตนมิได้ถูกพวกเขาสั่งไว้.
               อนึ่ง เมื่อเธอแม้ไม่ได้ลดลงมาสู่คอ แต่ให้พ้นจากศีรษะ แม้เพียงปลายเส้นผม ก็เป็นปาราชิก.
               อนึ่ง สำหรับภาระคู่ส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนศีรษะ ส่วนหนึ่งตั้งอยู่ที่หลัง. ในภาระคู่นั้น พึงทราบวินิจฉัยด้วยอำนาจแห่งฐาน ๒. แต่การชี้แจงนี้ได้ปรารภด้วยอำนาจแห่งภาระมีสีสภาระล้วนๆ เป็นต้นเท่านั้น.
               อนึ่ง แม้ในขันธภาระเป็นต้น ก็มีวินิจฉัยเหมือนที่กล่าวไว้ในสีสภาระนี้แหละ.
               ส่วนในคำว่า หตฺเถ ภารํ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภัณฑะที่หิ้วไป เรียกว่าหัตถภาระ เพราะเป็นของที่ถือไปด้วยมือ. ภาระนั้นจะเป็นของที่ถือเอาจากภาคพื้นก่อนทีเดียว หรือจะเป็นของที่ถือเอาจากศีรษะเป็นต้น ด้วยจิตบริสุทธิ์ก็ตามที ย่อมถึงความนับว่าหัตถภาระเหมือนกัน. เมื่อภิกษุเห็นที่รกชัฏเช่นนั้น จึงปลงภาระนั้นลงที่ภาคพื้นหรือที่กอไม้เป็นต้นด้วยไถยจิต, เมื่อภาระนั้นสักว่าพ้นจากมือ เป็นปาราชิก.
               ก็แล ในคำว่า ภูมิโต คณฺหาติ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุปลงภาระเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่งลง บนภาคพื้นด้วยจิตบริสุทธิ์ เพราะเหตุมีอาหารเช้าเป็นต้น แล้วกลับยกขึ้นอีกด้วยไถยจิต แม้เพียงเส้นผมเดียวก็เป็นปาราชิกฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในภาระ               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวน               
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวนต่อไป :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงสวนก่อน จึงตรัสว่า สวนดอกไม้ สวนผลไม้ ชื่อว่าสวนดังนี้.
               บรรดาสวนเหล่านั้น สวนเป็นที่บานแห่งดอกไม้ทั้งหลายมีดอกมะลิเป็นต้น ชื่อว่าสวนดอกไม้. สวนเป็นที่เผล็ดแห่งผลไม้ทั้งหลาย มีผลมะม่วงเป็นต้น ชื่อว่าสวนผลไม้.
               วินิจฉัยภัณฑะที่เขาเก็บไว้แม้ในสวนโดยฐาน ๔ มีนัยดังกล่าวแล้ว ในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในภาคพื้นเป็นต้นนั่นแล.
               ส่วนวินิจฉัยในของซึ่งเกิดในสวนนั้น พึงทราบดังนี้ :-
               รากไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งมีแฝกและตะไคร้เป็นต้น ชื่อว่าเหง้า. เมื่อภิกษุถอนรากนั้นถือเอาก็ดี ถือเอาที่เขาถอนไว้แล้วก็ดี วัตถุแห่งปาราชิกจะเต็มด้วยรากใด, ครั้นเมื่อรากนั้นอันเธอถือเอาแล้ว เป็นปาราชิก.
               แม้เหง้ามันก็สงเคราะห์เข้าด้วยรากเหมือนกัน.
               ก็เมื่อภิกษุถอนเหง้าขึ้นเป็นถุลลัจจัยทีเดียว ในเมื่อเหง้านั่นยังไม่ขาดแม้มีประมาณเล็กน้อย.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในเหง้าบัวนั่นแล.
               บทว่า ตจํ ได้แก่ เปลือกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่พอจะใช้ประกอบเพื่อเป็นเครื่องยา หรือเพื่อเป็นเครื่องย้อม. เมื่อภิกษุถากถือเอาเปลือกไม้นั้นหรือถือเอาเปลือกไม้ที่เขาถากไว้แล้ว เป็นปาราชิก โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในรากไม้นั่นแล.
               บทว่า ปุปฺผํ ได้แก่ ดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งมีดอกมะลิเครือและมะลิซ้อนเป็นต้น. เมื่อภิกษุเก็บเอาดอกไม้นั้นหรือถือเอาดอกไม้ที่เขาเก็บไว้แล้ว เป็นปาราชิก โดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในดอกอุบลและดอกปทุมนั่นแล.
               จริงอยู่ แม้ดอกไม้ทั้งหลายมีขั้วหรือมีที่ต่อยังไม่ขาด ก็ยังรักษาอยู่. แต่สำหรับดอกไม้บางเหล่ามีไส้อยู่ภายในขั้ว ไส้นั้นรักษาไม่ได้.
               บทว่า ผลํ ได้แก่ ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีผลมะม่วงและผลตาลเป็นต้น. วินิจฉัยสำหรับภิกษุผู้ถือเอาผลไม้นั้นจากต้นไม้ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในกถาว่าด้วยภัณฑะที่คล้องไว้บนต้นไม้. ผลไม้ที่เขาเก็บวางไว้ สงเคราะห์เข้าด้วยภัณฑะที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นเป็นต้นนั่นแล.
               สองบทว่า อารามํ อภิยุญฺชติ ความว่า ภิกษุกล่าวเท็จตู่เอาสวนซึ่งเป็นของคนอื่นว่า นี้เป็นสวนของข้าพเจ้า ดังนี้ เป็นทุกกฏ เพราะเป็นประโยคแห่งอทินนาทาน.
               หลายบทว่า สามิกสฺส วิมตึ อุปฺปาเทติ มีความว่า ภิกษุยังความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของสวน เพราะความเป็นผู้ฉลาดในการวินิจฉัย หรือเพราะอาศัยคนที่มีกำลังเป็นต้น.
               คืออย่างไร?
               คือตามความจริง เจ้าของเห็นภิกษุนั้นซึ่งเป็นผู้ขวนขวายในการวินิจฉัยอยู่อย่างนั้น จึงคิดว่า เราจักอาจทำสวนนี้ให้กลับคืนเป็นของเรา หรือไม่หนอ? ความสงสัยเมื่อเกิดขึ้นแก่เจ้าของนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นอันภิกษุนั้นให้เกิดขึ้นแล้วด้วยอาการดังกล่าวมานี้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นย่อมต้องถุลลัจจัย.
               สองบทว่า ธุรํ นิกฺขิปติ มีความว่า ก็เมื่อใด เจ้าของทอดธุระเสียด้วยคิดว่า ภิกษุนี้หยาบช้าทารุณ พึงทำแม้ซึ่งอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์ของเรา, บัดนี้ เราไม่ต้องการสวนนี้ละ. เมื่อนั้น ภิกษุผู้ตู่ย่อมต้องปาราชิก หากแม้ตนจะเป็นผู้ทำการทอดธุระเสียเองก็ตาม. แต่ถ้าเจ้าของทอดธุระแล้วก็ตาม ภิกษุผู้ตู่ไม่ทอดธุระ ยังมีความอุตสาหะในอันจะพึงให้คืนทีเดียวด้วยคิดว่า เราจักบีบเจ้าของสวนนี้ให้หนักแล้วแสดงความแผ่อำนาจของเรา ตั้งเจ้าของสวนคนนั้นไว้ในความเป็นผู้รับใช้ แล้วจึงจักให้คืน ดังนี้ยังรักษาอยู่ก่อน. ถ้าแม้ภิกษุผู้ตู่ ครั้นแย่งชิงเอาแล้ว ก็ทอดธุระเสีย ด้วยคิดว่า บัดนี้ เราจักไม่คืนสวนนั้นให้แก่เจ้าของคนนี้ ฝ่ายเจ้าของก็ไม่ทอดธุระเสีย ยังเที่ยวแสวงหาพรรคพวก ทั้งรอคอยเวลาอยู่ด้วยคิดว่า เราได้ลัชชีบริษัทเสียก่อน ภายหลังจึงจักรู้ ดังนี้ยังเป็นผู้มีความอุตสาหะในการรับคืนทีเดียว ก็ยังรักษาอยู่นั่นเทียว.
               แต่เมื่อใด แม้ภิกษุผู้ตู่นั้นทอดธุระเสีย ด้วยคิดว่า เราจักไม่คืนให้ ทั้งเจ้าของก็ทอดธุระเสียด้วยคิดว่า เราจักไม่ได้คืนทั้งสองฝ่าย ทอดธุระเสียดังกล่าวมานี้. เมื่อนั้น ภิกษุผู้ตู่เป็นปาราชิก.
               แต่ถ้าภิกษุครั้นตู่แล้ว ก็ทำการวินิจฉัยความเสียเอง เมื่อวินิจฉัยยังไม่เสร็จ ทั้งเจ้าของก็มิได้ทอดธุระ รู้อยู่ทีเดียวว่า ตนมิใช่เป็นเจ้าของเลย ได้ถือเอาดอกไม้หรือผลไม้บางอย่างจากสวนนั้น พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาสิ่งของ.
               บทว่า ธมฺมญฺจรนฺโต ได้แก่ ภิกษุผู้ตู่ ทำการตัดสินความในหมู่ภิกษุ หรือในราชตระกูล.
               สองบทว่า สามิกํ ปราเชติ ความว่า ภิกษุผู้ตู่นั้นให้ของกำนัลแก่พวกผู้พิพากษา แล้วอ้างพยานโกง ย่อมชนะเจ้าของสวน.
               สองบทว่า อาปตฺติ ปาราชิกสฺส ความว่า มิใช่จะเป็นปาราชิก เฉพาะภิกษุผู้ประกอบคดีนั้นอย่างเดียวก็หามิได้ พวกภิกษุผู้พิพากษาโกงก็ดี ผู้เป็นพยานโกงก็ดี ผู้แกล้งดำเนินคดีในการให้สำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุผู้ฟ้องร้องนั้น ก็เป็นปาราชิกทั้งหมด.
               ก็ในคำว่า ธมฺมญฺจรนฺโต นี้ พึงทราบความปราชัย ด้วยอำนาจเจ้าของทอดธุระเท่านั้น. จริงอยู่ เจ้าของยังไม่ทอดธุระจัดว่ายังไม่แพ้ทีเดียว.
               หลายบทว่า ธมฺมญฺจรนฺโต ปรชฺชติ ความว่า แม้ถ้าตนเองถึงความปราชัย เพราะคำพิพากษาที่เป็นไปโดยธรรมโดยวินัย โดยสัตถุศาสน์. แม้ด้วยประการอย่างนี้ ภิกษุผู้ตู่นั้นยังต้องถุลลัจจัย เพราะทำการบีบคั้นเจ้าของด้วยการกล่าวเท็จเป็นปัจจัย ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวน               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในวิหาร               
               พึงทราบวินิจฉัยในทรัพย์แม้ที่ตั้งอยู่ในวิหารต่อไป :-
               ทรัพย์ที่เก็บไว้โดยฐาน ๔ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ก็วินิจฉัยแม้ในการตู่เอาในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในวิหารนี้ พึงทราบดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุตู่เอาวิหารก็ดี บริเวณก็ดี อาวาสก็ดีทั้งใหญ่ ทั้งเล็ก ซึ่งเขาถวายพวกภิกษุอุทิศสงฆ์มาจากทิศทั้ง ๔ ตู่ไม่ขึ้น, ทั้งไม่อาจเพื่อจะแย่งชิงเอาได้. เพราะเหตุไร? เพราะไม่มีการทอดธุระแห่งภิกษุทั้งปวง.
               จริงอยู่ ภิกษุทั้งหมดผู้อยู่ในทิศทั้ง ๔ จะทำการทอดธุระในวิหารเป็นต้นที่เป็นของสงฆ์นี้ไม่ได้แล. แต่ภิกษุผู้ตู่ถือเอาสิ่งของๆ คณะอันต่างด้วยคณะผู้กล่าวทีฆนิกายเป็นต้น หรือของบุคคลบางคน ย่อมอาจทำคณะและบุคคลบางคนเหล่านั้นให้ทอดธุระได้ เพราะฉะนั้น ในสิ่งของๆ คณะและบุคคลบางคนนั้น พึงทราบวินิยฉัยโดยนัยดังที่กล่าวไว้แล้วในสวนนั่นแล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในวิหาร               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในนา               
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในนาต่อไป :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงนาก่อน จึงตรัสว่า ที่ซึ่งปุพพัณชาติหรืออปรัณชาติเกิด ชื่อว่านา. บรรดาปุพพัณชาติเป็นต้นนั้น ข้าวเปลือก ๗ ชนิดมีข้าวสาลีเป็นต้น ชื่อว่าปุพพัณชาติ. พืชทั้งหลายมีถั่วเขียวและถั่วราชมาษเป็นต้น ชื่อว่าอปรัณชาติ. แม้ไร่อ้อยเป็นต้นก็สงเคราะห์เข้าในบทว่า อปรัณชาติ นี้เหมือนกัน. ภัณฑะที่เขาเก็บไว้โดยฐาน ๔ แม้ในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในนานี้ ก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ส่วนในภัณฑะที่เกิดขึ้นในนานั้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุแย่งชิงเอาธัญชาติมีรวงข้าวสาลีเป็นต้นก็ดี ใช้มือนั่นเองเด็ดเอาหรือใช้เคียวเกี่ยวเอา ทีละรวงๆ ก็ดี หรือถอนรวมกันเอาทีละมากๆ ก็ดี วัตถุปาราชิกจะครบในเมล็ด ในรวง ในกำหรือในผลมีถั่วเขียวและถั่วราชมาษเป็นต้นใดๆ เมื่อเมล็ดเป็นต้นนั้นๆ สักว่าเธอให้หลุดจากขั้ว เป็นปาราชิก.
               ส่วนลำต้นก็ดี ใยก็ดี เปลือกก็ดี ที่ยังไม่ขาดแม้มีประมาณน้อย ก็ยังรักษาอยู่. ซังข้าวเปลือกแม้เป็นของยาว, ลำต้นของรวงข้าวเปลือก ยังไม่หลุดออกจากซังข้าวภายในเพียงใด ยังรักษาอยู่เพียงนั้น. เมื่อพื้นเบื้องล่างของลำต้นหลุดออกจากซังข้าวแล้ว แม้เพียงปลายเส้นผม พระวินัยธรพึงปรับอาบัติด้วยอำนาจราคาสิ่งของ.
               ก็เมื่อภิกษุใช้เคียวเกี่ยวถือเอา ครั้นเมื่อลำต้นข้าวอยู่ในกำมือ แม้ขาดแล้วในตอนล่าง, ถ้ารวงทั้งหลายยังเกี่ยวประสานกันอยู่ ยังรักษาอยู่ก่อน. แต่เมื่อเธอสางยกขึ้น แม้เพียงปลายเส้นผม ถ้าวัตถุปาราชิกครบ เป็นปาราชิก.
               ก็แลเมื่อภิกษุถือเอาข้าวเปลือกที่เจ้าของเกี่ยววางไว้พร้อมทั้งข้าวลีบหรือทำให้หมดข้าวลีบ, วัตถุปาราชิกจะครบด้วยรวงใด ครั้นเมื่อรวงนั้นอันเธอถือเอาแล้ว เป็นปาราชิก.
               ถ้าเธอกำหนดหมายไว้ว่า เราจักนวดข้าวเปลือกนี้แล้วจักฝัดถือเอาแต่เมล็ดข้าวเท่านั้น ดังนี้ ยังรักษาอยู่ก่อน. แม้เมื่อเธอให้เคลื่อนจากฐาน ในเพราะการนวดและฝัด ยังไม่เป็นปาราชิก ภายหลัง เมื่อเธอสักว่าตักใส่ภาชนะ เป็นปาราชิก.
               ส่วนการตู่เอาในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในนานี้ มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ในการปักหลักรุกล้ำเป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ขึ้นชื่อว่าแผ่นดินเป็นของหาค่ามิได้ เพราะเหตุนั้น ถ้าว่าภิกษุทำประเทศแห่งแผ่นดินแม้เพียงปลายเส้นผมให้เป็นของๆ ตน ด้วยหลักเพียงอันเดียวเท่านั้น พวกเจ้าของจะเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม, ที่หลักนั้นจะจารึกชื่อหรือไม่จารึกก็ตาม พอเธอรุกเสร็จ ก็เป็นปาราชิกแก่เธอด้วย แก่ภิกษุทั้งปวงผู้มีฉันทะร่วมกับเธอด้วย.
               แต่ถ้าที่นานั้นเป็นของที่จะพึงโกงเอาได้ ด้วยหลัก ๒ อัน, เป็นถุลลัจจัยในหลักอันที่ ๑, เป็นปาราชิกในหลักอันที่ ๒.
               ถ้าเป็นของที่จะพึงโกงเอาได้ด้วยหลัก ๓ อัน เป็นทุกกฏในหลักอันที่ ๑ เป็นถุลลัจจัยในหลักอันที่ ๒ เป็นปาราชิกในหลักอันที่ ๓.
               แม้ในหลักมากอัน ก็พึงทราบว่า เป็นทุกกฏด้วยหลักต้นๆ เว้นในที่สุดไว้ ๒ หลัก เป็นถุลลัจจัยด้วยหลักอันหนึ่ง แห่งสองหลักในที่สุด, เป็นปาราชิกด้วยหลักอีกอันหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้. ก็ปาราชิกนั้นแล ย่อมมีด้วยความทอดธุระของพวกเจ้าของ. ในการรุกทั้งปวงมีการรุกล้ำด้วยเชือกเป็นต้น ก็อย่างนี้.
               บทว่า รชฺชํ วา มีความว่า ภิกษุมีความประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจว่า นานี้เป็นของเรา ขึงเชือกก็ตาม ทอดไม้เท้าลงก็ตาม ต้องทุกกฏ. เมื่อเธอทำในใจว่า บัดนี้เราจักทำให้เป็นของๆ ตนด้วย ๒ ประโยค เป็นถุลลัจจัยในประโยคที่หนึ่งแห่ง ๒ ประโยคนั้น เป็นปาราชิกในประโยคที่ ๒.
               บทว่า วติ วา มีความว่า ภิกษุมีความประสงค์จะทำนาของผู้อื่นให้เป็นของๆ ตน ด้วยอำนาจแห่งการล้อม จึงปักหลักกระทู้ลง ต้องทุกกฏทุกๆ ประโยค, เมื่อประโยคหนึ่งยังไม่สำเร็จ เป็นถุลลัจจัย เมื่อประโยคนั้นสำเร็จแล้ว เป็นปาราชิก. ถ้าเธอไม่อาจทำด้วยประโยคมีประมาณเท่านั้น แต่อาจทำให้เป็นของๆ ตนได้ ด้วยล้อมไว้ด้วยกิ่งไม้เท่านั้น แม้ในการทอดกิ่งไม้ลงก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ภิกษุอาจเพื่อจะล้อมด้วยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เป็นของๆ ตนได้ ด้วยประการอย่างนี้, ในวัตถุนั้นๆ พึงทราบว่า เป็นทุกกฏด้วยประโยคต้นๆ, เป็นถุลลัจจัยด้วยประโยคอันหนึ่ง แห่งสองประโยคในที่สุด, เป็นปาราชิกด้วยประโยคนอกจากนี้.
               บทว่า ปริยาทํ วา มีความว่า ภิกษุมีความประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจนาของผู้อื่นว่า นี้เป็นนาของเรา จึงรุกคันนาของตนเข้าไป โดยประการที่แนวนา (ของตน) จะล้ำนาของผู้อื่น หรือเอาดินร่วนและดินเหนียวเป็นต้น เสริมทำให้กว้างออกไปหรือว่าตั้งคันนาที่ยังไม่ได้ทำขึ้น ต้องทุกกฏในประโยคต้นๆ, เป็นถุลลัจจัยด้วยประโยคอันหนึ่งแห่งสองประโยคหลัง เป็นปาราชิกด้วยประโยคนอกจากนี้ ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในนา               

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่               
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อไป :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงพื้นที่ก่อน จึงตรัสว่า วตฺถุ นาม อารามวตฺถุ วิหารวตฺถุ (ที่ชื่อว่าพื้นที่ ได้แก่พื้นที่สวน พื้นที่วิหาร) ดังนี้.
               บรรดาพื้นที่สวนเป็นต้นนั้น ภูมิภาคที่เขามิได้ปลูกพืช หรือต้นไม้ที่ควรปลูกไว้เลย แผ้วถางพื้นดินไว้อย่างเดียว หรือล้อมด้วยกำแพง ๓ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่สวนดอกไม้เป็นต้น ชื่อว่าอารามวัตถุ. ภูมิภาคที่เขาตั้งไว้เพื่อประโยชน์แก่วิหารบริเวณ และอาวาสหนึ่งๆ โดยนัยนั้นนั่นเอง ชื่อว่าวิหารวัตถุ.
               ภูมิภาคแม้ใดในกาลก่อน เป็นอารามและเป็นวิหาร, ภายหลังร้างไป ตั้งอยู่เป็นเพียงภูมิภาค ไม่สำเร็จกิจแห่งอารามและวิหาร ภูมิภาคแม้นั้นก็สงเคราะห์ โดยการรวมเข้าในอารามวัตถุและวิหารวัตถุเหมือนกัน. ส่วนวินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนและพื้นที่วิหารนี้ เป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วในนานั่นเอง ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่               

               คำที่ควรจะกล่าวในภัณฑะที่ตั้งอยู่ในบ้าน ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์ มาติกา ภุมมัฏฐวิภาคเป็นต้น
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 85อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 90อ่านอรรถกถา 1 / 121อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=6336&Z=6581
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=7842
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=7842
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :