ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 85อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 90อ่านอรรถกถา 1 / 121อ่านอรรถกถา 1 / 657
อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท
บทภาชนีย์ มาติกา ภุมมัฏฐวิภาคเป็นต้น

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               กถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในป่า               
               วินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในป่า พึงทราบดังนี้ :-
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงป่าก่อน จึงตรัสว่า อรญฺญํ นาม ยํ ปมุสฺสานํ ปริคฺคหิตํ โหติ, ตํ อรญฺญํ (ที่ชื่อว่าป่า ได้แก่ป่าที่พวกมนุษย์หวงห้าม) ดังนี้.
               ในคำว่า อรญฺญํ นั้นมีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เพราะขึ้นชื่อว่าป่า แม้ที่พวกมนุษย์หวงห้ามก็มี แม้ที่ไม่หวงห้ามก็มี.
               ในอธิการนี้ ท่านประสงค์เอาป่าที่เขาหวงห้าม มีการอารักขาเป็นแดนที่พวกมนุษย์ไม่ได้เพื่อจะถือเอาไม้และเถาวัลย์เป็นต้น โดยเว้นจากมูลค่า เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ป่าเป็นที่พวกมนุษย์หวงห้าม แล้วตรัสอีกว่า ชื่อว่าป่า ดังนี้.
               ด้วยคำว่าป่านั้น ท่านแสดงความหมายไว้ดังนี้ว่า ความเป็นที่หวงห้ามไม่จัดเป็นลักษณะของป่า, แต่ที่เป็นป่าโดยลักษณะของตน และพวกมนุษย์หวงห้าม ชื่อว่าป่าในความหมายนี้.
               วินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในป่านั้นก็เป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วในทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในสวนเป็นต้น.
               ก็บรรดาต้นไม้ที่เกิดในป่านั้น เมื่อต้นไม้ที่มีราคามากแม้เพียงต้นเดียว ในป่านี้ สักว่าภิกษุตัดขาดแล้ว ก็เป็นปาราชิก.
               อนึ่ง ในบทว่า ลตํ วา นี้ หวายก็ดี เถาวัลย์ก็ดี ก็ชื่อว่าเถาวัลย์ทั้งนั้น.
               บรรดาหวายและเถาวัลย์เหล่านั้น หวายหรือเถาวัลย์ใด เป็นของยาวซึ่งยื่นไป หรือเกี่ยวพันต้นไม้ใหญ่และกอไม้เลื้อยไป เถาวัลย์นั้น ภิกษุตัดที่รากแล้วก็ดี หรือตัดที่ปลายก็ดี ไม่ยังอวหารให้เกิดขึ้นได้. แต่เมื่อใดภิกษุตัดทั้งที่ปลายทั้งที่ราก เมื่อนั้น ย่อมยังอวหารให้เกิดได้ หากเถาวัลย์ไม่เกี่ยวพัน (ต้นไม้) อยู่. ส่วนที่เกี่ยวพัน (ต้นไม้) อยู่ พอภิกษุคลายออกพ้นจากต้นไม้ ย่อมยังอวหารให้เกิดได้.
               หญ้าก็ตาม ใบไม้ก็ตาม ทั้งหมดนั้น ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยศัพท์ว่าหญ้า ในบทว่า ติณํ วา นี้
               ภิกษุถือเอาหญ้านั้น ที่ผู้อื่นตัดไว้เพื่อประโยชน์แก่เครื่องมุงเรือนเป็นต้น หรือที่ตนเองตัดเอา พระวินัยธรพึงปรับอาบัติตามราคาสิ่งของ และจะปรับอาบัติแต่เฉพาะถือเอาหญ้าและใบไม้อย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ ถือเอาเปลือกและสะเก็ดเป็นต้นแม้อย่างอื่นชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็พึงปรับอาบัติตามราคาสิ่งของ. เมื่อภิกษุถือเอาวัตถุมีเปลือกไม้เป็นต้น ซึ่งพวกเจ้าของยังมีความอาลัยอยู่ พึงปรับอาบัติตามราคาสิ่งของ แม้ต้นไม้ที่เขาถากทิ้งไว้นานแล้ว ก็ไม่ควรถือเอา.
               ส่วนต้นไม้ใดซึ่งเขาตัดที่ปลายและรากแล้ว กิ่งของต้นไม้นั้นเกิดเน่าผุบ้าง สะเก็ดทั้งหลายกระเทาะออกบ้าง, จะถือเอาด้วยคิดว่า ต้นไม้นี้ พวกเจ้าของทอดทิ้งแล้ว ดังนี้ ควรอยู่. แม้ต้นไม้ที่สลักเครื่องหมายไว้ เมื่อใดเครื่องหมายถูกสะเก็ดงอกปิด เมื่อนั้นจะถือเอาก็ควร. มนุษย์ทั้งหลายตัดต้นไม้เพื่อประโยชน์แก่เรือนเป็นต้น เมื่อใด เขาสร้างเรือนเป็นต้นนั้นเสร็จแล้ว และเข้าอยู่อาศัย, เมื่อนั้น แม้ไม้ทั้งหลายย่อมเสียหายไปเพราะฝนและแดดแผดเผาอยู่ในป่า. ภิกษุพบเห็นไม้แม้เช่นนี้ จะถือเอาด้วยคิดว่า เขาทอดทิ้งแล้ว ดังนี้ ควรอยู่
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุว่า ไม้เหล่านั้นเจ้าของป่า (เจ้าพนักงานป่าไม้) ไม่มีอิสระ.
               ไม้ทั้งหลายที่ชนเหล่าใดให้ไทยธรรม (ค่าภาคหลวง) แก่เจ้าของป่าแล้วจึงตัด, ชนเหล่านั้นนั่นเองเป็นอิสระแห่งไม้เหล่านั้น และชนเหล่านั้นก็ทิ้งไม้เหล่านั้น พวกเขาเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในไม้เหล่านั้นแล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุจะถือเอาไม้เช่นนั้นก็ควร.
               แม้ภิกษุรูปใดให้ไทยธรรม (ค่าภาคหลวง) แก่พนักงานผู้รักษาป่าไม้ก่อนทีเดียวแล้วเข้าป่า ให้ไวยาวัจกรถือเอาไม้ทั้งหลายได้ตามความพอใจ, การที่ภิกษุรูปนั้น แม้จะไม่ไปยังที่อารักขา (ด่านตรวจ) ของเจ้าพนักงานผู้รักษาป่าไม้เหล่านั้น ไปโดยทางตามที่ตนชอบใจ ก็ควร.
               แม้ถ้าเธอเมื่อเข้าไป ยังไม่ได้ให้ไทยธรรม ทำในใจว่า ขณะออกมาจักให้ ดังนี้ ให้ถือเอาไม้ทั้งหลาย แล้วขณะออกมาให้ไทยธรรมที่ควรให้แก่พวกเจ้าพนักงานผู้รักษาป่าไม้เหล่านั้นแล้วไป สมควรแท้.
               แม้ถ้าเธอทำความผูกใจไว้แล้วจึงไป เมื่อเจ้าพนักงานผู้รักษาป่าไม้ทวงว่า ท่านจงให้ ตอบว่า อาตมาจักให้ เมื่อเขาทวงอีกว่าจงให้ ควรให้ทีเดียว ถ้ามีบางคนให้ทรัพย์ของตนแล้ว พูด (กับเจ้าพนักงาน) ว่า พวกท่านจงให้ภิกษุไปเถิดดังนี้, ภิกษุจะไปตามข้ออ้างที่ตนได้แล้วนั้นแลควรอยู่. แต่ถ้าบางคนมีชาติเป็นอิสระ (เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่) ไม่ได้ให้ทรัพย์เลย ห้ามไว้ว่า พวกท่านอย่าได้รับค่าภาคหลวงสำหรับพวกภิกษุ ดังนี้ แต่พวกเจ้าพนักงานผู้รักษาป่าไม้พูดว่า เมื่อพวกเราไม่รับเอาของพวกภิกษุและดาบส จักได้จากที่ไหนเล่า? ให้เถิดขอรับ ดังนี้ ภิกษุควรให้เหมือนกัน.
               ส่วนภิกษุรูปใด เมื่อเจ้าพนักงานผู้รักษาป่าไม้นอนหลับ หรือขลุกขลุ่ยอยู่ในการเล่น หรือหลีกไปในที่ไหนๆ เสีย มาถึงแล้วแม้เรียกหาอยู่ว่า เจ้าพนักงานผู้ควบคุมป่าไม้อยู่ที่ไหนกัน ดังนี้ ครั้นไม่พบจึงไปเสีย, ภิกษุรูปนั้นเป็นภัณฑไทย.
               ฝ่ายภิกษุรูปใด ครั้นไปถึงสถานที่อารักขาแล้ว แต่มัวใฝ่ใจถึงกรรมฐานเป็นต้นอยู่หรือส่งจิตไปที่อื่นเสีย เลยผ่านไป เพราะระลึกไม่ได้. ภิกษุรูปนั้นเป็นภัณฑไทยเหมือนกัน.
               แม้ภิกษุรูปใดไปถึงสถานที่นั้นแล้ว มีโจร ช้าง เนื้อร้ายหรือมหาเมฆปรากฏขึ้น, เมื่อภิกษุรูปนั้นรีบผ่านเลยสถานที่นั้นไป เพราะต้องการจะพ้นจากอุปัทวะนั้น ยังรักษาอยู่ก่อน แต่ก็เป็นภัณฑไทย. ก็ขึ้นชื่อว่า สถานที่อารักขาในป่านี้ เป็นของหนักมาก แม้กว่าด่านภาษี.
               จริงอยู่ ภิกษุเมื่อไม่ก้าวเข้าไปสู่เขตแดน ด่านภาษี หลบหลีกไปเสียแต่ที่ไกล จะต้องเพียงทุกกฏเท่านั้น แต่เมื่อเธอหลบหลีกที่อารักขาในป่านี้ไปด้วยไถยจิต ถึงจะไปโดยทางอากาศก็ตาม ก็เป็นปาราชิกโดยแท้ เพราะเหตุนั้น ภิกษุไม่ควรเป็นผู้ประมาทในสถานที่อารักขาในป่า ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในป่า               

               กถาว่าด้วยน้ำ               
               ก็ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในน้ำดังนี้ :-
               บทว่า ภาชนคตํ ได้แก่ น้ำที่เขารวมใส่ไว้ในภาชนะทั้งหลายมีไหใส่น้ำเป็นต้น ในเวลาที่หาน้ำได้ยาก.
               เมื่อภิกษุเอียงภาชนะที่เขาใส่น้ำนั้นก็ดี ทำให้เป็นช่องทะลุก็ดี แล้วสอดภาชนะของตนเข้าไปรับเอาน้ำที่มีอยู่ ในภาชนะของเขาเหล่านั้น กับในสระโบกขรณีและบ่อ ก็พึงทราบวินิจฉัยโดยนัยดังที่กล่าวไว้ในเนยใสและน้ำมันนั่นแล.
               ส่วนในการเจาะคันนา มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุเจาะคันนาแม้พร้อมทั้งภูตคามซึ่งเกิดขึ้นในคันนานั้น เป็นทุกกฏ เพราะเป็นประโยคแห่งอทินนาทาน.
               ก็แล ทุกกฏนั้นย่อมเป็นทุกๆ ครั้งที่ขุดเจาะ.
               ภิกษุยืนอยู่ข้างใน แล้วหันหน้าไปข้างนอกเจาะอยู่ พระวินัยธรพึงปรับอาบัติด้วยส่วนข้างนอก. เมื่อยืนอยู่ข้างนอกแล้วหันหน้าเข้าไปข้างในเจาะอยู่ พึงปรับอาบัติด้วยส่วนข้างใน, เมื่อเธอเจาะหันหน้าไปทั้งข้างในและข้างนอก คือ ยืนอยู่ที่ตรงกลางทำลายคันนานั้นอยู่ พึงปรับอาบัติด้วยส่วนตรงกลาง.
               ภิกษุทำคันนาให้ชำรุดแล้ว จึงร้องเรียกฝูงโคมาเอง หรือใช้ให้พวกเด็กชาวบ้านร้องเรียกมาก็ตาม, ฝูงโคเหล่านั้นพากันเอากีบเล็บตัดคันนา เป็นอันว่าภิกษุรูปนั้นนั่นเองตัดคันนา. ภิกษุทำคันนาให้ชำรุดแล้ว ต้อนฝูงโคเข้าไปในน้ำ หรือสั่งพวกเด็กชาวบ้านให้ต้อนเข้าไปก็ตาม, ระลอกคลื่นที่โคเหล่านั้นทำให้เกิดขึ้นซัดทำลายคันนาไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพูดชวนพวกเด็กชาวบ้านว่า จงพากันเล่นน้ำเถิด หรือตวาดพวกเด็กผู้เล่นอยู่ให้สะดุ้งตกใจ, ระลอกคลื่นที่เด็กเหล่านั้นทำให้ตั้งขึ้น ทำลายคันนาไป.
               ภิกษุตัดต้นไม้ที่เกิดอยู่ภายในน้ำเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นตัดก็ตาม, ระลอกคลื่นแม้ที่ต้นไม้ซึ่งล้มลงนั้นทำให้ตั้งขึ้น ซัดทำลายคันนาไป. เป็นอันว่าภิกษุรูปนั้นนั่นเอง เป็นผู้ทำลายคันนา.
               ภิกษุทำคันนาให้ชำรุดแล้ว ปิดน้ำที่เขาไขออกไป หรือปิดลำรางสำหรับไขน้ำออกจากสระเสีย เพื่อต้องการรักษาสระก็ดี ก่อคันหรือแต่งลำรางให้ตรงโดยอาการที่น้ำซึ่งไหลบ่าไปแต่ที่อื่น จะไหลเข้าไปในสระนี้ได้ก็ดี พังสระของตนซึ่งอยู่เบื้องบนสระของคนอื่นนั้นก็ดี, น้ำที่เอ่อล้นขึ้นไหลบ่าพัดเอาคันนาไป เป็นอันว่าภิกษุรูปนั้นนั่นเอง เป็นผู้ทำลายคันนา.
               ในที่ทุกๆ แห่ง พระวินัยธรพึงปรับด้วยอวหาร พอเหมาะสมแก่ราคาน้ำที่ไหลออกไป. แม้เมื่อภิกษุรื้อถอนท่อลำรางสำหรับไขน้ำออกไปเสีย ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง ถ้าภิกษุนั้นทำคันนาให้ชำรุดแล้ว ฝูงโคซึ่งเดินมาตามธรรมดาของตนนั่นเอง หรือพวกเด็กชาวบ้านผู้ไม่ได้ถูกบังคับ ช่วยกันขับต้อนให้ขึ้นไปเอากีบเล็บตัดคันนาก็ดี ฝูงโคที่พวกเด็กชาวบ้านผู้ไม่ได้ถูกบังคับ ช่วยกันขับต้อนให้ลงไปในน้ำตามธรรมดาของตนเอง ทำให้ระลอกคลื่นตั้งขึ้นก็ดี, พวกเด็กชาวบ้านพากันเข้าไปเล่นน้ำเสียเอง ทำให้ระลอกคลื่นตั้งขึ้นก็ดี,
               ต้นไม้(ซึ่งเกิดอยู่) ภายในน้ำที่ถูกชนเหล่าอื่นตัดขาดล้มลงแล้ว ทำระลอกคลื่นให้ตั้งขึ้น, ระลอกคลื่นนั้นๆ ซัดคันนาขาดก็ดี, แม้หากว่า ภิกษุทำคันนาให้ชำรุดแล้ว ปิดที่ๆ เขาไขน้ำออกไป หรือลำรางสำหรับไขน้ำแห่งสระที่แห้ง ก่อคันหรือแต่งลำรางที่แห้งให้ตรงทางน้ำที่จะไหลบ่าไปแต่ที่อื่น, ภายหลังในเมื่อฝนตก น้ำไหลบ่ามาเซาะทำลายคันนาไป, ในที่ทุกๆ แห่ง เป็นภัณฑไทย.
               ส่วนภิกษุใดทำลายคันบึงแห้งในฤดูแล้งให้พังลงจนถึงพื้น, ภายหลังในเมื่อฝนตก น้ำที่ไหลมาครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไหลผ่านไป เป็นภัณฑไทยแก่ภิกษุรูปนั้น.
               ข้าวกล้ามีประมาณเท่าใดที่เกิดขึ้นเพราะมีน้ำนั้นเป็นปัจจัย, ภิกษุเมื่อไม่ใช้ แม้ค่าทดแทนเท่าราคาบาทหนึ่งจากข้าวกล้า (ที่เสียไป) นั้น จัดว่าไม่เป็นสมณะ เพราะพวกเจ้าของทอดธุระ.
               แต่พวกชาวบ้านแม้ทั้งหมดเป็นอิสระแห่งน้ำในบึงทั่วไปแก่ชนทั้งปวง และปลูกข้าวกล้าทั้งหลายไว้ภายใต้แห่งบึงนั้นด้วย. น้ำก็ไหลออกจากลำรางใหญ่แต่บึงไปโดยท่ามกลางนา เพื่อหล่อเลี้ยงข้าวกล้า. แม้ลำรางใหญ่นั้นก็เป็นสาธารณะแก่ชนทั้งปวง ในเวลาน้ำไหลอยู่เสมอ. ส่วนพวกชนชักลำรางเล็กๆ ออกจากลำรางใหญ่นั้น แล้วไขน้ำให้เข้าไปในนาของตนๆ. ไม่ยอมให้คนเหล่าอื่นถือเอาน้ำในลำรางเล็กของตนนั้น, เมื่อมีน้ำน้อยในฤดูแล้ง จึงแบ่งปันน้ำให้กันตามวาระ. ผู้ใด เมื่อถึงวาระน้ำไม่ได้น้ำ, ข้าวกล้าของผู้นั้นย่อมเหี่ยวแห้งไป เพราะเหตุนั้น ผู้อื่นจะรับเอาน้ำในวาระของคนเหล่าอื่น ย่อมไม่ได้.
               บรรดาลำรางเล็กเป็นต้นนั้น ภิกษุใดไขน้ำจากลำรางเล็ก หรือจากนาของชนเหล่าอื่น ให้เข้าไปยังเหมืองหรือนาของตน หรือของคนอื่นด้วยไถยจิตก็ดี ให้น้ำไหลบ่าปากดงไปก็ดี, ภิกษุนั้นเป็นอวหารแท้.
               ฝ่ายภิกษุใดคิดว่า นานๆ เราจักมีน้ำสักคราวหนึ่ง และข้าวกล้านี้ก็เหี่ยวแห้ง จึงปิดทางไหลของน้ำที่กำลังไหลเข้าไปในนาของชนเหล่าอื่นเสีย แล้วให้ไหลเข้าไปยังนาของตน ภิกษุนั้นเป็นอวหารเหมือนกัน.
               ก็ถ้าว่าเมื่อน้ำยังไม่ไหลออกจากบึง หรือยังไม่ไหลไปถึงปากเหมืองของชนเหล่าอื่น, ภิกษุก่อลำรางแห้งนั่นเองไว้ในที่นั้นๆ โดยอาการที่น้ำซึ่งกำลังไหลมา จะไม่ไหลเข้าไปในนาของชนเหล่าอื่น ไหลเข้าไปแต่ในนาของตนเท่านั้น เมื่อน้ำยังไม่ไหลออกมา แต่ภิกษุได้ก่อคันไว้ก่อนแล้ว ก็เป็นอันเธอก่อไว้ดีแล้ว, เมื่อน้ำไหลออกมาแล้ว ถ้าภิกษุก่อคันไว้ เป็นภัณฑไทย.
               แม้เมื่อภิกษุไปยังบึงแล้วรื้อถอนท่อลำรางสำหรับไขน้ำออกเสียเอง ให้น้ำไหลเข้าไปยังนาของตนไม่เป็นอวหาร.
               เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า ตนอาศัยบึงจึงได้ทำนา.
               แต่ในอรรถกถากุรุนทีเป็นต้นกล่าวว่า เป็นอวหาร คำที่ท่านกล่าวไว้นั้น ย่อมไม่สมด้วยลักษณะนี้ว่า วัตถุกาละและเทสะเป็นต้น.
               เพราะเหตุนั้น คำที่ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกถานั่นแหละชอบแล้ว ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยน้ำ               

               กถาว่าด้วยไม้ชำระฟัน               
               ไม้ชำระฟันอันผู้ศึกษาพึงวินิจฉัยตามข้อที่วินิจฉัยไว้ในภัณฑะตั้งอยู่ในสวน.
               ส่วนความแปลกกันในไม้ชำระฟันนี้ มีดังต่อไปนี้ :-
               ไวยาวัจกรคนใดเป็นผู้ที่สงฆ์เลี้ยงไว้ด้วยค่าบำเหน็จ ย่อมนำไม้ชำระฟันมาถวายทุกวัน หรือตามวารปักษ์และเดือน, ไวยาวัจกรคนนั้นนำไม้ชำระฟันนั้นมา แม้ตัดแล้วยังไม่มอบถวายภิกษุสงฆ์เพียงใด, ไม้ชำระฟันนั้นก็ยังเป็นของไวยาวัจกกรผู้นำมานั้นนั่นเองเพียงนั้น. เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อถือเอาไม้ชำระฟันนั้นด้วยไถยจิต พึงปรับอาบัติตามราคาสิ่งของ.
               อนึ่ง มีของครุภัณฑ์ซึ่งเกิดขึ้นในอารามนั้น, ภิกษุเมื่อถือเอาของครุภัณฑ์แม้นั้นที่ภิกษุสงฆ์รักษาคุ้มครอง ก็พึงปรับอาบัติตามราคาสิ่งของ. ในไม้ชำระฟันที่ตัดแล้วและยังมิได้ตัดซึ่งเป็นของคณะบุคคลและมนุษย์คฤหัสถ์ก็ดี ในภัณฑะที่เกิดขึ้นในอารามและสวนเป็นต้น ของคณะบุคคลและมนุษย์คฤหัสถ์เหล่านั้นก็ดี ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               สามเณรทั้งหลาย เมื่อนำไม้ชำระฟันมาถวายแก่ภิกษุสงฆ์ตามวาระ ย่อมนำมาถวายแม้แก่พระอาจารย์และอุปัชฌายะ (ของตน). เธอเหล่านั้น ครั้นตัดไม้ชำระฟันนั้นแล้ว ยังไม่มอบถวายสงฆ์เพียงใด, ไม้ชำระฟันนั้นแม้ทั้งหมดก็ยังเป็นของเธอเหล่านั้นนั่นเองเพียงนั้น, เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อถือเอาไม้ชำระฟันแม้นั้นด้วยไถยจิต ก็พึงปรับอาบัติตามราคาสิ่งของ.
               แต่เมื่อใด สามเณรเหล่านั้นตัดไม้ชำระฟันแล้วได้มอบถวายสงฆ์แล้ว แต่ยังเก็บไว้ในโรงไม้ชำระฟัน ด้วยคิดในใจอยู่ว่า ภิกษุสงฆ์จงใช้สอยตามสบายเถิด ดังนี้, ตั้งแต่กาลนั้นไปไม่เป็นอวหาร แต่ก็ควรทราบธรรมเนียม.
               จริงอยู่ ภิกษุรูปใดเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ทุกวัน ภิกษุรูปนั้นควรถือเอาไม้ชำระฟันได้เพียงวันละอันเท่านั้น. ส่วนภิกษุรูปใดไม่เข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ทุกวัน พักอยู่ในเรือนที่บำเพ็ญเพียร จะปรากฏตัวได้ก็แต่ในที่ฟังธรรมหรือในโรงอุโบสถ. ภิกษุรูปนั้นควรกำหนดประมาณ แล้วเก็บไม้ชำระฟัน ๔-๕ อันไว้ในที่อยู่ของตนเคี้ยวเถิด.
               เมื่อไม้ชำระฟันเหล่านั้นหมดไปแล้ว แต่ถ้าในโรงไม้ชำระฟันยังมีอยู่มากทีเดียว ก็ควรนำมาเคี้ยวได้อีก, ถ้าเธอไม่กำหนดประมาณ ยังนำมาอยู่ไซร้, เมื่อไม้ชำระฟันเหล่านั้นยังไม่หมดสิ้นไปเลย แต่ในโรงหมดไป. คราวนั้น พระเถระทั้งหลายบางพวกจะพึงพูดว่า พวกภิกษุผู้นำไม้ชำระฟันไป จงนำมาคืน, บางพวกจะกล่าวว่า จงเคี้ยวไปเถิด, พวกสามเณรจักขนมาถวายอีก เพราะเหตุนั้น จึงควรกำหนดประมาณ เพื่อป้องกันการวิวาทกัน แต่ไม่มีโทษในการถือเอา. แม้ภิกษุผู้จะเดินทาง ควรใส่ไม้ชำระฟันหนึ่งหรือสองอันในถุงย่ามแล้วจึงไป ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยไม้ชำระฟัน               

               กถาว่าด้วยต้นไม้เจ้าป่า               
               บทว่า วนปฺปติ ได้แก่ ต้นไม้เป็นเจ้าแห่งป่า. คำว่า วนัปปติ นั่นเป็นชื่อของต้นไม้ที่เจริญที่สุดในป่า. ก็ต้นไม้ที่พวกมนุษย์หวงห้ามแม้ทั้งหมดมีมะม่วง ขนุนสำมะลอและขนุนธรรมดาเป็นต้น ท่านประสงค์เอาในอธิการนี้.
               ก็หรือว่า พวกมนุษย์ปลูกกระวานและเถาวัลย์เป็นต้นขึ้นไว้ที่ต้นไม้ใด, ต้นไม้นั้น เมื่อถูกภิกษุตัด ถ้าเปลือกก็ดี ใยก็ดี สะเก็ดก็ดี กระพี้ก็ดี แม้อันเดียวยังติดเนื่องกันอยู่แล ล้มลงบนพื้นดิน ก็ยังรักษาอยู่ก่อน. ส่วนต้นไม้ใดแม้ถูกตัดขาดแล้ว ก็ยังตั้งอยู่ตรงๆ นั่นเอง เพราะมีเถาวัลย์หรือกิ่งไม้โดยรอบธารไว้ หรือเมื่อล้มลงไปยังไม่ถึงพื้นดิน, ในต้นไม้นั้นไม่มีการหลีกเลี่ยง คือเป็นอวหารทีเดียว. แม้ต้นไม้ใดที่ภิกษุเอาเลื่อยตัดขาดแล้ว ก็ยังตั้งอยู่ในที่นั้นนั่นเอง เป็นเหมือนยังไม่ขาดฉะนั้น, แม้ในต้นไม้นั้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนภิกษุรูปใดทำต้นไม้ให้หย่อนกำลัง ภายหลังจึงเขย่าให้ล้มลงก็ดี ให้ผู้อื่นเขย่าก็ดี ตัดไม้ต้นอื่นใกล้ต้นไม้นั้นทับลงไว้เองก็ดี ให้ผู้อื่นตัดทับก็ดี ต้อนพวกลิงให้ไปขึ้นบนต้นไม้นั้นก็ดี สั่งคนอื่นให้ต้อนขึ้นไปก็ดี ต้อนพวกค้างคาวให้ขึ้นบนต้นไม้นั้นก็ดี สั่งคนอื่นให้ต้อนขึ้นไปก็ดี ค้างคาวเหล่านั้นทำต้นไม้นั้นให้ล้มลง. อวหารย่อมมีแก่ภิกษุรูปนั้นเหมือนกัน.
               แต่ถ้าเมื่อเธอทำต้นไม้ให้หย่อนกำลังแล้ว มีผู้อื่นซึ่งเธอมิได้บังคับเคย เขย่าต้นไม้นั้นให้ล้มลงก็ตาม เอาต้นไม้ทับไว้เองก็ตาม พวกลิงหรือค้างคาวขึ้นเกาะตามธรรมดาของตนก็ตาม มีผู้อื่นซึ่งเธอมิได้บังคับขึ้นไปเองก็ตาม เธอแผ้วถางทางลมไว้เสียเองก็ตาม, ลมที่มีกำลังแรงพัดมาทำต้นไม้ให้ล้มลง. เป็นภัณฑไทยในที่ทุกแห่ง.
               ก็ในอธิการนี้ การแผ้วถางทางลมในเมื่อลมยังไม่พัดมา สมด้วยกิจทั้งหลาย มีการแต่งลำรางที่แห้งให้ตรงเป็นต้น หาสมโดยประการอื่นไม่. ภิกษุเจาะต้นไม้แล้วเอาศัสตราตอกก็ดี จุดไฟเผาก็ดี ตอกเงี่ยงกระเบนที่เป็นพิษไว้ก็ดี ต้นไม้นั้นย่อมตายไป ด้วยการกระทำใด, ในการกระทำนั้นทั้งหมด เป็นภัณฑไทยเหมือนกัน ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยต้นไม้เจ้าป่า               

               กถาว่าด้วยผู้นำทรัพย์ไป               
               ในภัณฑะที่มีผู้นำไป มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ภัณฑะที่ผู้อื่นนำไป ชื่อว่า หรณกะ.
               สองบทว่า เถยฺยจิตฺโต อามสติ ความว่า ภิกษุเห็นชนอื่นผู้ใช้สีสภาระเป็นต้นทูนเอาสิ่งของเดินไป แล้วคิดอยู่ในใจว่า เราจักแย่งเอาสิ่งของนั่นไป จึงรีบไปลูบคลำ เพียงการลูบคลำเท่านี้ เธอเป็นทุกกฏ.
               บทว่า ผนฺทาเปติ ความว่า ภิกษุทำการฉุดมาและฉุดไป แต่เจ้าของยังไม่ปล่อย, เพราะทำให้ไหวนั้น เธอเป็นถุลลัจจัย.
               สองบทว่า ฐานา จาเวติ ความว่า ภิกษุฉุดมาให้พ้นจากมือเจ้าของ, เพราะเหตุที่ให้พ้นนั้น เธอเป็นปาราชิก. แต่ถ้าเจ้าของภัณฑะลุกขึ้นแล้วโบยตี ภิกษุนั้นบังคับให้วางภัณฑะนั้น แล้วจึงรับคืนอีก. ภิกษุเป็นปาราชิก เพราะการถือเอาคราวแรกนั่นเอง.
               เมื่อภิกษุตัดหรือแก้เครื่องอลังการจากศีรษะ หู คอหรือจากมือถือเอา พอสักว่าเธอแก้ให้พ้นจากอวัยวะมีศีรษะเป็นต้น ก็เป็นปาราชิก. แต่เธอไม่ได้นำกำไลมือหรือทองปลายแขนที่มือออก เป็นแต่รูดไปทางปลายแขน ให้เลื่อนไปๆ มาๆ หรือทำให้เชิดไปในอากาศ ก็ยังรักษาอยู่ก่อน เครื่องประดับมีกำไลมือเป็นต้นให้เกิดเป็นปาราชิกไม่ได้ ดุจวลัยที่โคนต้นไม้และราวจีวรฉะนั้น.
               เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า มือที่สวมเครื่องประดับมีวิญญาณ.
               จริงอยู่ เครื่องประดับมีกำไลมือเป็นต้น ซึ่งสวมอยู่ในส่วนแห่งอวัยวะที่มีวิญญาณ ยังนำออกจากมือนั้นไม่ได้เพียงใด ก็ยังมีอยู่ในมือนั้นนั่นเองเพียงนั้น. ในวงแหวนที่สวมนิ้วมือในเครื่องประดับเท้าและสะเอว ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนภิกษุรูปใดแย่งชิงเอาผ้าสาฎกที่ผู้อื่นนุ่งห่มอยู่ และผู้อื่นนั้นก็ไม่ปล่อยให้หลุดออกโดยเร็ว เพราะมีความละอาย, ภิกษุผู้เป็นโจรดึงทางชายข้างหนึ่ง, ผู้อื่น (คือเจ้าของผ้า) ก็ดึงทางชายอีกข้างหนึ่ง ยังรักษาอยู่ก่อน. เมื่อสักว่าผ้านั้นพ้นจากมือของผู้อื่น ภิกษุนั้นต้องปาราชิก.
               แม้ถ้าเอกเทศแห่งผ้าสาฎกที่ภิกษุดึงมาขาดไปอยู่ในมือ และเอกเทศนั้นได้ราคาถึงบาท ก็เป็นปาราชิกเหมือนกัน.
               บทว่า สหภณฺฑหารกํ ความว่า ภิกษุคิดว่า เราจักนำภัณฑะพร้อมกับคนผู้ขนภัณฑะไป ดังนี้แล้วจึงคุกคามผู้ขนภัณฑะไปว่า เองจงไปจากที่นี้. บุคคลผู้ขนภัณฑะไปนั้นเกรงกลัว จึงได้หันหน้าไปยังทิศตามที่ภิกษุผู้เป็นโจรประสงค์ ก้าวเท้าข้างหนึ่งไป เป็นถุลลัจจัย แก่ภิกษุผู้เป็นโจร, เป็นปาราชิกในก้าวเท้าที่สอง.
               บทว่า ปาตาเปติ ความว่า แม้ถ้าภิกษุผู้เป็นโจร เห็นอาวุธในมือของบุคคลผู้ขนภัณฑะไป เป็นผู้มีความหวาดระแวง ใคร่จะทำให้อาวุธตกไปแล้วถืออาวุธนั้น จึงถอยออกไปอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งตวาด ทำให้อาวุธตกไป พอสักว่าอาวุธหลุดจากมือของผู้อื่นแล้ว ก็ต้องปาราชิก. ส่วนคำว่า ทำทรัพย์ให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ เป็นต้น พระองค์ตรัสไว้แล้วด้วยอำนาจความกำหนดหมาย.
               จริงอยู่ ภิกษุรูปใดกำหนดหมายไว้ว่า เราจักทำให้สิ่งของตกไป แล้วจักถือเอาสิ่งของที่เราชอบใจ ดังนี้ แล้วจึงทำให้ตกไป, เธอรูปนั้นต้องทุกกฏ เพราะทำให้สิ่งของนั้นตกไป และเพราะการจับต้องสิ่งของนั้น, ต้องถุลลัจจัย เพราะทำให้ไหว, ต้องปาราชิก เพราะทำสิ่งของที่มีราคาถึงบาทให้เคลื่อนจากฐาน.
               แม้เมื่อภิกษุถูกบุคคลผู้ขนภัณฑะไปผลักให้ล้มลงในภายหลังจึงปล่อยสิ่งของนั้น ความเป็นสมณะไม่มีเลย. ฝ่ายภิกษุรูปใดเห็นบุคคลผู้ขนสิ่งของกำลังก้าวเดินไป จึงติดตามไป พลางพูดว่า หยุด หยุด วางสิ่งของลง ทำให้เขาวางสิ่งของลง, แม้ภิกษุรูปนั้นก็เป็นปาราชิก ในเมื่อสักว่าสิ่งของพ้นไปจากมือของผู้ขนไป เพราะคำสั่งนั้นเป็นเหตุ.
               ส่วนภิกษุรูปใดพูดว่า หยุดๆ แต่ไม่ได้พูดว่า วางสิ่งของลง, และบุคคลผู้ขนสิ่งของไปนอกนี้ จึงเหลียวดูภิกษุผู้เป็นโจรนั้น แล้วคิดว่า ถ้าภิกษุโจรรูปนี้พึงมาถึงตัวเรา จะพึงฆ่าเราเสียก็ได้ ยังเป็นผู้มีความห่วงใยอยู่ จึงได้ซ่อนสิ่งของนั้นไว้ในที่รกชัฏ ด้วยคิดในใจว่า จักกลับมาถือเอา ดังนี้แล้วหลีกไป, ยังไม่เป็นปาราชิก เพราะมีการทำให้ตกเป็นปัจจัย, แต่เมื่อภิกษุมาถือเอาด้วยไถยจิต เป็นปาราชิกในขณะยกขึ้น.
               ก็ถ้าภิกษุผู้เป็นโจรนั้นมีความรำพึงอย่างนี้ว่า สิ่งของนี้เมื่อเราทำให้ตกไปเท่านั้น ชื่อว่าได้ทำให้เป็นของๆ เราแล้ว ในระหว่างที่รำพึงนั้น จึงถือเอาสิ่งของนั้น ด้วยความสำคัญว่า เป็นของตน, ยังรักษาอยู่ ในเพราะการถือเอา, แต่เป็นภัณฑไทย. ครั้นเมื่อเจ้าของพูดว่า ท่านจงคืนให้ เมื่อไม่คืนให้ เป็นปาราชิก ในเมื่อเจ้าของทอดธุระ.
               แม้เมื่อภิกษุถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญาว่า เจ้าของภัณฑะนั้นทิ้งสิ่งของนี้ไป, บัดนี้ เขาไม่หวงแหนสิ่งของนี้ ดังนี้ก็มีนัยเหมือนกันนี้.
               ในมหาอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า แต่ถ้าเจ้าของกำลังตรวจดูด้วยเหตุเพียงคำที่ภิกษุโจรพูดว่า หยุด หยุด เท่านั้น เห็นภิกษุโจรนั้นแล้วทอดธุระเสียด้วยคิดว่า บัดนี้ มันไม่ใช่ของเรา หมดความห่วงใย ทอดทิ้งหนีไป, เมื่อภิกษุถือเอาของสิ่งนั้นด้วยไถยจิต เป็นทุกกฏ ในเมื่อยกขึ้น, เมื่อเจ้าของให้นำมาคืน พึงคืนให้, เมื่อไม่คืนให้ เป็นปาราชิก.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุว่าเขาทอดทิ้งสิ่งของนั้น ด้วยประโยคของภิกษุนั้น.
               แต่ในอรรถกถาทั้งหลายอื่นไม่มีคำวิจารณ์เลย.
               วินิจฉัยแม้ในภิกษุผู้ถือเอาด้วยความสำคัญว่า เป็นของตนก็ดี ด้วยบังสุกุลสัญญาก็ดี โดยนัยก่อนนั่นเอง ก็เหมือนกันนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยผู้นำทรัพย์ไป               

               กถาว่าด้วยสิ่งของที่เขาฝากไว้               
               พึงทราบวินิจฉัยในของฝากต่อไป :-
               แม้ในเพราะการกล่าวเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้รับไว้ ดังนี้ จึงเป็นทุกกฏ เพราะเป็นบุพประโยคแห่งอทินนาทาน. คงเป็นทุกกฏนั่นเอง แม้แก่ภิกษุผู้กล่าวคำเป็นต้นว่า ท่านพูดอะไร? คำนี้ไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า, ทั้งไม่สมควรแก่ท่านด้วย. เจ้าของยังความสงสัยให้เกิดขึ้นว่า เราได้มอบทรัพย์ไว้ในมือของภิกษุนี้ในที่ลับ คนอื่นไม่มีใครรู้, เธอจักให้แก่เรา หรือไม่หนอ? เป็นถุลลัจจัยแก่ภิกษุ.
               เจ้าของเห็นข้อที่ภิกษุนั้นเป็นผู้หยาบคายเป็นต้นจึงทอดธุระว่า ภิกษุรูปนี้จักไม่คืนให้แก่เรา. ในภิกษุและเจ้าของภัณฑะนั้น ถ้าภิกษุนี้ยังมีความอุตสาหะในอันให้อยู่ว่า เราจักทำให้เขาลำบากแล้วจักให้ ยังรักษาอยู่ก่อน. แม้ถ้าเธอไม่มีความอุตสาหะในอันให้, แต่เจ้าของภัณฑะยังมีความอุตสาหะในอันรับ ยังรักษาอยู่เหมือนกัน. แต่ถ้าภิกษุไม่มีอุตสาหะในอันให้นั้น. เจ้าของภัณฑะทอดธุระว่า ภิกษุนี้จักไม่ให้แก่เรา เป็นปาราชิกแก่ภิกษุ เพราะทอดธุระของทั้งสองฝ่ายด้วยประการฉะนี้.
               แม้ถ้าภิกษุพูดแต่ปากว่า จักให้ แต่จิตใจไม่อยากให้, แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นปาราชิก ในเพราะเจ้าของทอดธุระ แต่ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ย้ายภัณฑะ ชื่อว่าของฝากนั้น ที่ชนเหล่าอื่นมอบไว้ในมือของตน เพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองไปจากฐาน โดยความเป็นประเทศนี้ไม่ได้คุ้มครอง นำไปเพื่อต้องการเก็บไว้ในที่คุ้มครอง. อวหารย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้ให้เคลื่อนจากฐานแม้ด้วยไถยจิต. เพราะเหตุไร? เพราะเป็นของที่เขาฝากไว้ในมือของตน แต่เป็นภัณฑไทย.
               แม้เมื่อภิกษุผู้ใช้สอยเสียด้วยไถยจิต ก็มีนัยเหมือนกันนี้. ถึงในการถือเอาเป็นของยืมก็เหมือนกันแล. แม้คำว่า ธมฺมํ จรนฺโต เป็นอาทิ ก็มีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน. พรรณนาพระบาลีเท่านี้ก่อน.
               ส่วนวินิจฉัยนอกพระบาลีในของฝากนี้ ท่านกล่าวไว้แล้วด้วยอำนาจแห่งจตุกกะมีปัตตจตุกกะเป็นต้น อย่างนี้ :-
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งให้เกิดความโลภขึ้นในบาตรที่มีราคามากของผู้อื่น ใคร่จะลักบาตรนั้น จึงกำหนดที่ซึ่งเขาวางบาตรนั้นไว้ได้อย่างดี แล้วจึงวางบาตรแม้ของตนไว้ใกล้ชิดบาตรนั้นทีเดียว.
               ในสมัยใกล้รุ่ง แม้เธอจึงมาให้บอกธรรม แล้วเรียนพระมหาเถระผู้กำลังหลับอยู่ อย่างนี้ว่า กระผมไหว้ ขอรับ พระเถระถามว่า นั่นใคร? เธอจึงตอบว่า กระผมเป็นภิกษุอาคันตุกะ ขอรับ อยากจะลาไปแต่เช้านี่แหละ และบาตรของกระผมมีสายโยคเช่นนี้ มีถลกเช่นนี้ วางไว้ที่โน้น, ดีละ ขอรับ กระผมควรได้บาตรนั้น. พระเถระเข้าไปฉวยเอาบาตรนั้น, เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้เป็นโจร ในขณะยกขึ้นทีเดียว.
               ถ้าเธอกลัวแล้วหนีไปในเมื่อพระเถระมาแล้ว ถามว่า คุณเป็นใคร มาผิดเวลา. เธอต้องปาราชิกแล้วเทียวจึงหนีไป. แต่ไม่เป็นอาบัติแก่พระเถระ เพราะท่านมีจิตบริสุทธิ์. พระเถระทำในใจว่า เราจักหยิบบาตรนั้น แต่ฉวยเอาใบอื่นไป, แม้ในบาตรใบนั้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน. แต่นัยนี้ย่อมเหมาะในเมื่อพระเถระหยิบบาตรใบอื่น แต่เหมือนใบนั้น ดังเรื่องคนที่เหมือนกันกับคนที่สั่งในมนุสสวิคคหสิกขาบทฉะนั้น.
               ส่วนในกุรุนที ท่านกล่าวไว้ว่า พึงปรับอาบัติด้วยการย่างเท้าไป. คำที่ท่านกล่าวไว้ในกุรุทีนั้น ย่อมสมในเมื่อพระเถระหยิบบาตรอื่น แต่ไม่เหมือนใบนั้นเลย. พระเถระสำคัญว่าเป็นบาตรใบนั้น แต่ได้หยิบเอาบาตรของตนให้ไป, ไม่เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้เป็นโจร เพราะบาตรนั้นเจ้าของให้ เพราะตนถือเอาด้วยจิตไม่บริสุทธิ์ เป็นทุกกฏ. พระเถระสำคัญว่าเป็นบาตรใบนั้น แต่ได้หยิบเอาบาตรของภิกษุผู้เป็นโจรนั่นเองให้ไป, แม้ในอธิการว่าด้วยการหยิบบาตรของภิกษุผู้เป็นโจรให้ไปนี้ ไม่เป็นปาราชิกแก่ภิกษุผู้เป็นโจร เพราะบาตรใบนั้นเป็นของๆ ตน, แต่เพราะตนถือเอาด้วยจิตไม่บริสุทธิ์ เป็นทุกกฏแท้. เป็นอนาบัติแก่พระเถระในที่ทั้งปวง.
               ภิกษุอีกรูปอื่นคิดว่าจักลักบาตร แล้วไหว้พระเถระผู้กำลังจำวัด หลับอยู่เหมือนอย่างนั่นเอง และถูกพระเถระถามว่า นี้ใคร? ภิกษุนั้นเรียนว่า กระผมเป็นภิกษุไข้ ขอรับ ได้โปรดให้บาตรใบหนึ่งแก่กระผมก่อน กระผมไปยังประตูบ้านแล้ว จักนำเภสัชมา. พระเถระกำหนดว่า ในที่นี้ไม่มีภิกษุไข้ นี้จักเป็นโจร แล้วพูดว่า จงนำบาตรนี้ไป ได้นำบาตรของภิกษุผู้คู่เวรของตนให้ไป, เป็นปาราชิกแก่ทั้งสองรูป ในขณะที่ยกขึ้นนั่นเอง.
               แม้เมื่อพระเถระจำได้ดีว่า เป็นบาตรของภิกษุผู้คู่เวร แล้วยกบาตรของรูปอื่นขึ้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ถ้าพระเถระจำได้ดีว่า บาตรใบนี้ของภิกษุผู้คู่เวร แต่ได้ยกเอาบาตรของภิกษุผู้เป็นโจรนั่นเองให้ไป เป็นปาราชิกแก่พระเถระ เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้เป็นโจร โดยนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ถ้าพระเถระสำคัญอยู่ว่า บาตรใบนี้ของภิกษุผู้คู่เวรของภิกษุผู้เป็นโจรนั้น จึงให้บาตรของตนไป เป็นทุกกฏทั้งสองรูป โดยนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               พระมหาเถระรูปหนึ่งพูดกะภิกษุผู้อุปัฏฐากว่า คุณจงถือเอาบาตรและจีวร, เราจักไปบิณฑบาตยังบ้านชื่อโน้น. ภิกษุหนุ่มถือเอาเดินไปข้างหลังพระเถระ ยังไถยจิตให้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเลื่อนภาระบนศีรษะลงมาที่คอ ไม่เป็นปาราชิก.
               เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า บาตรและจีวรนั้น เธอถือไปตามคำสั่ง, แต่ถ้าเธอแวะออกจากทางเข้าดงไป พึงปรับอาบัติด้วยการย่างเท้า. ถ้าเธอกลับบ่ายหน้าไปทางวิหาร หนีไป เข้าวิหารแล้วจึงไป เป็นปาราชิกในขณะก้าวล่วงอุปจารไป. ถ้าแม้นเธอบ่ายหน้าสู่บ้าน หนีไปจากสถานที่พระมหาเถระผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่ม เป็นปาราชิกในขณะก้าวล่วงอุปจารบ้านไป.
               แต่ถ้าทั้งสองรูปเที่ยวบิณฑบาตฉันแล้ว หรือถือเอาออกไป, ฝ่ายพระเถระพูดกะภิกษุหนุ่มรูปนั้นแม้อีกว่า คุณจงถือเอาบาตรและจีวร เราจักไปยังวิหาร และภิกษุหนุ่มรูปนั้นก็เลื่อนภาระบนศีรษะลงมาที่คอในสถานที่นั้น โดยนัยก่อนนั่นแล ยังรักษาอยู่ก่อน. ถ้าแวะออกจากทางเข้าดงไป พึงปรับอาบัติด้วยการย่างเท้า. เธอกลับแล้วมุ่งหน้าไปสู่บ้านนั่นแลหนีไป เป็นปาราชิกในขณะก้าวล่วงอุปจารบ้านไป. เธอมุ่งหน้าไปยังวิหารข้างหน้าหนีไป แต่ไม่ยืนไม่นั่งในวิหาร ไปเสียด้วยไถยจิต ยังไม่ทันสงบนั่นเอง, เป็นปาราชิกในขณะก้าวล่วงอุปจารไป.
               ฝ่ายภิกษุรูปใด ท่านมิได้ใช้ฉวยเอาเอง เป็นปาราชิกแก่ภิกษุรูปนั้น ในเพราะเลื่อนภาระที่ศีรษะลงมาที่คอเป็นต้น. คำที่เหลือเหมือนกับคำก่อนนั่นแล.
               ส่วนภิกษุใดอันพระเถระสั่งว่า คุณจงไปยังวิหารชื่อโน้นแล้ว ซักหรือย้อมจีวรแล้วจงมา ดังนี้รับคำว่า สาธุ แล้วฉวยเอาไป ไม่เป็นปาราชิก แม้แก่ภิกษุรูปนั้น ในเพราะยังไถยจิตให้เกิดขึ้น แล้วเลื่อนภาระบนศีรษะลงมาที่คอเป็นต้นในระหว่างทาง. ในเพราะแวะออกจากทาง พึงปรับเธอด้วยการย่างเท้า. เธอไปยังวิหารนั้นแล้ว พักอยู่ในวิหารนั้นนั่นเอง ใช้สอยให้เก่าไปด้วยไถยจิต หรือว่าพวกโจรลักเอาจีวรนั้นของพระเถระนั้นไป ไม่เป็นอวหาร แต่เป็นภัณฑไทย. แม้เมื่อเธอออกจากวิหารนั้นมาก็นัยนี้แล.
               ฝ่ายภิกษุใดท่านมิได้สั่ง เมื่อพระเถระทำนิมิตแล้ว หรือตนเองกำหนดได้ เห็นจีวรเศร้าหมองแล้ว จึงกล่าวว่า โปรดมอบจีวรเถิด ขอรับ ผมจักไปยังบ้านชื่อโน้นย้อมแล้วจักนำมา ดังนี้แล้วฉวยเอาไป เป็นปาราชิกแก่ภิกษุนั้น ในเพราะยังไถยจิตให้เกิดขึ้น แล้วเลื่อนภาระบนศีรษะลงมาที่คอเป็นต้นในระหว่างทาง. เพราะเหตุไร? เพราะจีวรนั้น ตนถือเอาด้วยท่านมิได้สั่ง.
               เมื่อเธอแวะออกจากทางก็ดี กลับมายังวิหารนั้นนั่นเอง แล้วก้าวล่วงแดนวิหารไปก็ดี ก็เป็นปาราชิก ซึ่งมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ในเมื่อไถยจิตเกิดขึ้น แม้แก่เธอผู้ไปแล้วที่บ้านนั้น ย้อมจีวรแล้วกลับมาอยู่ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แต่ถ้าเธอไปในวิหารใดก็พักอยู่ในวิหารนั้น หรือในวิหารในระหว่างทาง หรือกลับมายังวิหาร (เดิม) นั้นนั่นแลแล้วพักอยู่ ไม่ให้ก้าวล่วงแดนอุปจารในด้านหนึ่งแห่งวิหารนั้นไปก็ดี ใช้สอยให้เก่าไปด้วยไถยจิตก็ดี พวกโจรลักจีวรนั้นของภิกษุรูปนั้นไปก็ดี จีวรนั้นสูญหายไปด้วยประการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี เป็นภัณฑไทย. แต่เมื่อเธอก้าวล่วงแดนอุปจารสีมาไป เป็นปาราชิก.
               ฝ่ายภิกษุใด เมื่อพระเถระทำนิมิตอยู่ จึงเรียนท่านว่า โปรดให้เถิด ขอรับ ผมจักย้อมมาถวาย ดังนี้ แล้วเรียนถามว่า ผมจะไปย้อมที่ไหน ขอรับ ส่วนพระเถระกล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า คุณจงไปย้อมในที่ซึ่งคุณปรารถนาเถิด. ภิกษุรูปนี้ชื่อว่าทูตที่ท่านส่งไป. ภิกษุนี้ แม้เมื่อหนีไปด้วยไถยจิตก็ไม่ควรปรับด้วยอวหาร. แต่เมื่อเธอหนีไปด้วยไถยจิตก็ดี ให้ฉิบหายเสียด้วยการใช้สอยหรือด้วยประการอื่นก็ดี ย่อมเป็นภัณฑไทยเหมือนกัน.
               ภิกษุฝากบริขารบางอย่างไปไว้ในมือของภิกษุ ด้วยสั่งว่า ท่านจงให้แก่ภิกษุชื่อโน้น ในวิหารชื่อโน้น. วินิจฉัยในเมื่อไถยจิตเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ที่รับบริขารนั้นในที่ทั้งปวง ก็เป็นเช่นกับที่กล่าวไว้แล้วในคำนี้ว่า คุณจงไปยังวิหารชื่อโน้นแล้ว ซักหรือย้อมจีวรแล้วจงมา ดังนี้. ภิกษุอีกรูปหนึ่งใคร่จะส่ง (บริขาร) ไป จึงทำนิมิตโดยนัยว่า ใครหนอจักรับไป. ก็ในสถานที่นั้นมีภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า โปรดให้เถิด ขอรับ ผมจักรับไป ดังนี้แล้วก็รับเอา (บริขารนั้น) ไป. วินิจฉัยในเมื่อไถยจิตเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ที่รับบริขารนั้น ในที่ทั้งปวงเป็นเช่นกับที่กล่าวไว้แล้วในคำนี้ว่า โปรดให้จีวรเถิด ขอรับ ผมไปยังบ้านชื่อโน้น ย้อมแล้ว จักนำมา ดังนี้.
               พระเถระได้ผ้าเพื่อประโยชน์แก่จีวรแล้ว ก็เก็บไว้ในตระกูลอุปัฏฐาก. ถ้าอันเตวาสิกของพระเถระนั้นใคร่จะลักเอาผ้าไป จึงไปในตระกูลนั้น แล้วพูดเหมือนตนถูกพระเถระใช้ให้ไปว่า นัยว่าพวกท่านจงให้ผ้านั้น. อุบาสิกาเชื่อคำของภิกษุรูปนั้นแล้ว ได้นำเอาผ้าที่อุบาสกเก็บไว้มาถวายก็ดี อุบาสกหรือใครคนอื่น (เชื่อคำของภิกษุรูปนั้นแล้ว) ได้นำเอาผ้าที่อุบาสิกาเก็บไว้มาถวายก็ดี. ภิกษุรูปนั้นเป็นปาราชิกในขณะที่ยกขึ้นนั่นเอง.
               แต่ถ้าพวกอุปัฏฐากของพระเถระพูดว่า พวกเราจักถวายผ้านี้แก่พระเถระ แล้วก็เก็บผ้าของตนไว้, ถ้าอันเตวาสิกของพระเถระนั้นใคร่จะลักเอาผ้านั้น จึงไปในตระกูลนั้นแล้วพูดว่า นัยว่า พวกท่านใคร่จะถวายผ้าแก่พระเถระ จงให้ผ้านั้นเถิด. และอุปัฏฐากเหล่านั้นเชื่ออันเตวาสิกรูปนั้น แล้วพูดว่า ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าตั้งใจไว้ว่า นิมนต์ให้ท่านฉันแล้วจักถวาย จึงได้เก็บไว้, นิมนต์ท่านรับเอาไปเถิด แล้วก็ถวายไป ไม่เป็นปาราชิก เพราะผ้านั้นพวกเจ้าของถวายแล้ว แต่เป็นทุกกฏ เพราะเธอถือเอาด้วยจิตไม่บริสุทธิ์ และเป็นภัณฑไทยด้วย.
               ภิกษุเดินไปยังบ้านบอกแก่ภิกษุว่า ผู้มีชื่อนี้จักถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ผม, ท่านพึงรับเอาผ้านั้นแล้วเก็บไว้ด้วย. ภิกษุรูปนั้นรับว่า ดีละ แล้วเก็บผ้าสาฎกที่มีราคามากที่ภิกษุนั้นให้ไว้ กับผ้าสาฎกที่มีราคาน้อยซึ่งตนได้แล้ว ภิกษุนั้นมาแล้วจะรู้ว่าผ้าที่ตนได้มีราคามากหรือไม่รู้ก็ตาม พูดว่า ท่านจงให้ผ้าอาบน้ำฝนแก่ผมเถิด. เธอตอบว่า ผ้าสาฎกที่ท่านได้มามีเนื้อหยาบ ส่วนผ้าสาฎกของผมมีราคามาก ทั้งสองผืนผมได้เก็บไว้ในโอกาสชื่อโน้นแล้ว โปรดเข้าไปเอาเถิด. เมื่อภิกษุรูปที่ทวงนั้นเข้าไปเอาผ้าสาฎกเนื้อหยาบแล้ว, ภิกษุรูปนอกนี้ถือเอาผ้าสาฎกอีกผืนหนึ่ง เป็นปาราชิกในขณะยกขึ้น.
               แม้ถ้าภิกษุที่เก็บผ้าไว้นั้นได้จารึกชื่อของตนไว้ในผ้าสาฎกของภิกษุที่มาทวงนั้น และชื่อของภิกษุที่มาทวงนั้นไว้ในผ้าสาฎกของตน แล้วกล่าวว่า ท่านจงไปอ่านดูชื่อ ถือเอาไปเถิด ดังนี้. แม้ในผ้าสาฎกที่กล่าวนั้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนภิกษุเจ้าถิ่นรูปใดเก็บผ้าสาฎกที่ตนเองและภิกษุอาคันตุกะนั้นได้มารวมกันไว้แล้ว พูดกะภิกษุอาคันตุกะนั้นอย่างนี้ว่า ผ้าสาฎกที่ท่านและผมได้ทั้งสองผืนเก็บไว้ภายในห้อง ท่านจงไปเลือกเอาผ้าที่ท่านปรารถนาเถิด. และภิกษุอาคันตุกะนั้นถือเอาผ้าสาฎกเนื้อหยาบที่ภิกษุเจ้าถิ่นได้มานั่นแล เพราะความละอาย. ในภิกษุอาคันตุกะและเจ้าถิ่นนั้น เมื่อภิกษุเจ้าถิ่นถือเอาผ้าสาฎกนอกนี้ เหลือจากที่อาคันตุกะภิกษุเลือกเอาแล้ว ไม่เป็นอาบัติ.
               ภิกษุอาคันตุกะ เมื่อพวกภิกษุเจ้าถิ่นทำจีวรกรรมอยู่ เก็บบาตรและจีวรไว้ในที่ใกล้เข้าใจว่า พวกภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้นจักคุ้มครองไว้ จึงไปอาบน้ำหรือไปในที่อื่นเสีย. ถ้าภิกษุเจ้าถิ่นคุ้มครองบาตรและจีวรนั้นไว้ ข้อนั้นเป็นการดี. ถ้าไม่คุ้มครองไว้ เมื่อบาตรและจีวรนั้นสูญหายไป ก็ไม่เป็นสินใช้. แม้ถ้าภิกษุอาคันตุกะนั้นกล่าวว่า จงเก็บบาตรและจีวรนี้ไว้เถิด ขอรับ แล้วไป. และภิกษุเจ้าถิ่นนอกนี้ไม่ทราบ เพราะมัวขวนขวายในกิจอยู่ พึงทราบนัยเหมือนกันนี้.
               แม้ถ้าภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้นอันภิกษุอาคันตุกะกล่าวว่า จงเก็บบาตรและจีวรนี้ไว้เถิด ขอรับ ได้ห้ามว่า พวกข้าพเจ้ากำลังยุ่ง และภิกษุอาคันตุกะนอกนี้ก็คิดว่า ท่านเหล่านี้จักเก็บแน่นอน ไม่ติดใจแล้วไปเสีย, พึงทราบนัยเหมือนกันนี้.
               แต่ถ้าภิกษุเจ้าถิ่นถูกพระอาคันตุกะรูปนั้น ขอร้องหรือไม่ขอก็ตาม พูดว่า พวกข้าพเจ้าจักเก็บไว้เอง, ท่านจงไปเถิด ดังนี้ ต้องรักษาบาตรและจีวรนั้นไว้ ถ้าไม่รักษาไว้ไซร้, เมื่อบาตรและจีวรนั้นสูญหายไป ย่อมเป็นสินใช้. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า บาตรและจีวรนั้น พวกเธอรับไว้แล้ว.
               ภิกษุรูปใดเป็นภัณฑาคาริก (ผู้รักษาเรือนคลัง) เวลาจวนรุ่งสางนั่นเองได้รวบรวมบาตรและจีวรของภิกษุทั้งหลายลงไปไว้ยังปราสาทชั้นล่าง ไม่ได้ปิดประตู ทั้งไม่ได้บอกแม้แก่ภิกษุเหล่านั้น ไปเที่ยวภิกขาจารในที่ไกลเสีย, ถ้าพวกโจรลักเอาบาตรและจีวรเหล่านั้นไปไซร้ ย่อมเป็นสินใช้แก่เธอแท้.
               ส่วนภิกษุภัณฑาคาริกรูปใดถูกพวกภิกษุกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านยกบาตรและจีวรลงมาเถิด บัดนี้ ได้เวลาจับสลากจึงถามว่า พวกท่านประชุมพร้อมกันแล้วหรือ?
               เมื่อท่านเหล่านั้นเรียนว่า ประชุมพร้อมแล้ว ขอรับ จึงได้ขนเอาบาตรและจีวรออกมาวางไว้ แล้วกั้นประตูภัณฑาคาร (เรือนคลัง) แล้วสั่งว่า พวกท่านถือเอาบาตรและจีวร แล้วพึงปิดประตูภายใต้ปราสาทเสียก่อนจึงไป ดังนี้แล้วไป. ก็ในพวกภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีชาติเฉื่อยชา เมื่อภิกษุทั้งหลายไปกันแล้ว ภายหลังจึงเช็ดตาลุกขึ้นเดินไปยังที่มีน้ำ หรือที่ล้างหน้า. ขณะนั้นพวกโจรพบเห็นเข้า จึงลักเอาบาตรและจีวรของเธอนั้นไป เป็นอันพวกโจรลักไปด้วยดี ไม่เป็นสินใช้แก่ภิกษุภัณฑาคาริก.
               แม้ถ้าภิกษุบางรูปไม่ได้แจ้งแก่ภิกษุภัณฑาคาริกเลย ก็เก็บจีวรของตนไว้ในภัณฑาคาร, แม้เมื่อบริขารนั้นสูญหายไป ก็ไม่เป็นสินใช้แก่ภิกษุภัณฑาคาริก.
               แต่ถ้าภิกษุภัณฑาคาริกเห็นบริขารนั้นแล้วคิดว่า เก็บไว้ในที่ไม่ควร จึงเอาไปเก็บไว้. เมื่อบริขารนั้นสูญหายไป เป็นสินใช้แก่ภิกษุภัณฑาคาริกรูปนั้น.
               ถ้าภิกษุภัณฑาคาริกอันภิกษุผู้เก็บไว้กล่าวว่า ผมเก็บบริขารชื่อนี้ไว้แล้ว ขอรับ โปรดช่วยดูให้ด้วย รับว่า ได้ หรือรู้ว่าเก็บไว้ไม่ดี จึงเก็บไว้ในที่อื่นเสีย, เมื่อบริขารนั้นสูญหายไป เป็นสินใช้แก่ภิกษุภัณฑาคาริกนั้นเหมือนกัน. แต่เมื่อเธอห้ามอยู่ว่า ข้าพเจ้าไม่รับรู้ ไม่เป็นสินใช้. ฝ่ายภิกษุใด เมื่อภิกษุภัณฑาคาริกเห็นอยู่นั่นเอง เก็บไว้ ทั้งไม่ให้ภิกษุภัณฑาคาริกรับรู้, บริขารของภิกษุนั้นหายไป เป็นอันสูญหายไปด้วยดีแล, ถ้าภิกษุภัณฑาคาริกเก็บบริขารนั้นไว้ในที่แห่งอื่น เมื่อสูญหายไปเป็นสินใช้.

               [โจรลักของสงฆ์ในเรือนคลัง ปรับสินไหมภิกษุผู้รักษา]               
               ถ้าภัณฑาคารรักษาดี บริขารทั้งปวงของสงฆ์และของเจดีย์ เขาเก็บไว้ในภัณฑาคารนั้นแล. แต่ภิกษุภัณฑาคาริกเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด เปิดประตูไว้ไปเพื่อฟังธรรมกถา หรือเพื่อทำกิจอื่นบางอย่างในที่ใดที่หนึ่ง ขณะนั้นพวกโจรเห็นแล้ว ลักภัณฑะไปเท่าใด ภัณฑะเท่านั้นเป็นสินใช้แก่เธอทั้งหมด.
               เมื่อภัณฑาคาริกออกจากภัณฑาคารไปจงกรมอยู่ภายนอก หรือเปิดประตูตากอากาศ หรือนั่งตามประกอบสมณธรรมในภัณฑาคารนั่นเอง หรือนั่งในภัณฑาคารนั้นเอง ขวนขวายด้วยกรรมบางอย่าง หรือเป็นผู้แม้ปวดอุจจาระปัสสาวะ เมื่ออุปจารในที่นั้นเองมีอยู่ แต่ไปข้างนอกหรือเลินเล่อเสียด้วยอาการอื่นบางอย่าง. พวกโจรเปิดประตู หรือเข้าทางประตูที่เปิดไว้นั่นเอง หรือตัดที่ต่อลักภัณฑะไปเท่าใด เพราะความเลินเล่อของเธอเป็นปัจจัย ภัณฑะเท่านั้นเป็นสินใช้แก่เธอนั้นแลทั้งหมด.
               ฝ่ายพระอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ในฤดูร้อนจะเปิดหน้าต่างนอน ก็ควร. แต่เมื่อปวดอุจจาระปัสสาวะแล้วไปในที่อื่น ในเมื่ออุปจารนั้นไม่มี จัดว่าเหลือวิสัย เพราะเธอตั้งอยู่ในฝ่ายของผู้เป็นไข้. เพราะเหตุนั้น ไม่เป็นสินใช้.
               ฝ่ายภิกษุใดถูกความร้อนภายในเบียดเบียน จึงทำประตูให้เป็นของรักษาดีแล้วออกไปข้างนอก. และพวกโจรจับภิกษุนั้นได้แล้ว บังคับว่าจงเปิดประตู. เธอไม่ควรเปิดจนถึงครั้งที่สาม. แต่ถ้าพวกโจรเงื้อขวานเป็นต้นขู่ว่า ถ้าท่านไม่ยอมเปิด พวกเราจักฆ่าท่านเสียด้วย จักทำลายประตูลักบริขารไปเสียด้วย. เธอจะเปิดให้ด้วยทำในใจว่า เมื่อเราตาย เสนาสนะของสงฆ์ก็ฉิบหาย ไม่มีคุณเลย ดังนี้ สมควรอยู่,
               แม้ในอธิการนี้ พระอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ไม่มีสินใช้เพราะเหลือวิสัย.
               ถ้าภิกษุอาคันตุกะบางรูปไขกุญแจ หรือเปิดประตูไว้, พวกโจรลักภัณฑะไปเท่าใด ภัณฑะเท่านั้นเป็นสินใช้แก่อาคันตุกะนั้นทั้งหมด. สลักยนต์และกุญแจเป็นของที่สงฆ์ติดให้ไว้ เพื่อประโยชน์แก่การรักษาภัณฑาคาร. ภัณฑาคาริกใส่เพียงลิ่มแล้วนอน. พวกโจรเปิดเข้าไปลักบริขาร เป็นสินใช้แก่เธอแท้.
               แต่ภัณฑาคาริกนั้นใส่สลักยนต์และกุญแจแล้วนอน, ถ้าพวกโจรมาบังคับว่าจงเปิด เธอพึงปฏิบัติในคำของพวกโจรนั้นตามนัยก่อนนั่นแล. ก็เมื่อภัณฑาคาริกนั้นทำการรักษาอย่างนั้นแล้ว จึงนอน, ถ้าพวกโจรทำลายฝาหรือหลังคา หรือเข้าทางอุโมงค์ ลักไป, ไม่เป็นสินใช้แก่เธอ.
               ถ้าพระเถระแม้เหล่าอื่นอยู่ในภัณฑาคาร เมื่อประตูเปิด ท่านจงถือเอาบริขารส่วนตัวไป ภัณฑาคาริกไม่ระวังประตู ในเมื่อพระเถระเหล่านั้นไปแล้ว, ถ้าของอะไรๆ ในภัณฑาคารนั้นถูกลักไป, เป็นสินใช้แก่ภัณฑาคาริกเท่านั้น เพราะภัณฑาคาริกเป็นใหญ่. ฝ่ายพวกพระเถระพึงเป็นพรรคพวก. นี้เป็นสามีจิกรรมในภัณฑาคารนั้น. แต่ถ้าภัณฑาคาริกบอกว่า ขอพวกท่านจงยืนรับบริขารของพวกท่านข้างนอกเถิด อย่าเข้ามาเลย. และพระเถระโลเลรูปหนึ่งแห่งพวกพระเถระเหล่านั้น พร้อมด้วยสามเณรและอุปัฏฐากทั้งหลาย เปิดภัณฑาคารเข้าไปนั่งและนอน, ภัณฑะหายไปเท่าใดเป็นสินใช้แก่พระเถระนั้นทั้งหมด. ฝ่ายภัณฑาคาริกและพระเถระที่เหลือ พึงเป็นพรรคพวก.
               ถ้าภิกษุภัณฑาคาริกนั่นเองชวนเอาพวกสามเณรโลเลและเหล่าผู้อุปัฏฐาก ไปนั่งและนอนอยู่ในภัณฑาคาร. สิ่งของใดในภัณฑาคารนั้นหายไป. ของทั้งหมดนั้นเป็นสินใช้แก่ภิกษุภัณฑาคาริกเท่านั้น. เพราะเหตุนั้น ภิกษุภัณฑาคาริกเท่านั้นควรพักอยู่ในภัณฑาคารนั้น. พวกภิกษุที่เหลือควรพักอยู่ที่มณฑปหรือโคนต้นไม้ แต่ไม่ควรพักอยู่ในภัณฑาคาร ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ภิกษุเหล่าใดเก็บบริขารของพวกภิกษุผู้เป็นสภาคกันไว้ในห้องที่อยู่ของตนๆ เมื่อบริขารหายไป ภิกษุเหล่าใดเก็บไว้ เป็นสินใช้แก่ภิกษุเหล่านั้นนั่นแล. ฝ่ายภิกษุนอกนี้ควรเป็นพรรคพวก. แต่ถ้าสงฆ์สั่งให้ถวายข้าวยาคูและภัตแก่ภิกษุภัณฑาคาริกในวิหารนั่นเอง และภิกษุภัณฑาคาริกรูปนั้นเข้าไปสู่บ้าน เพื่อต้องการภิกขาจาร, สิ่งของหายไปย่อมเป็นสินใช้แก่ภิกษุภัณฑาคาริกรูปนั้นนั่นเอง. แม้ภิกษุผู้รับหน้าที่เฝ้าวิหารที่พวกภิกษุผู้เข้าไปเที่ยวภิกขาจารตั้งไว้ เพื่อต้องการให้รักษาอติเรกจีวร ได้ยาคูและภัตหรืออาหารเหมือนกัน ยังไปภิกขาจาร. สิ่งของใดในวิหารนั้นหายไป สิ่งของนั้นทั้งหมดเป็นสินใช้แก่เธอ. และสิ่งของนั้นนั่นเองจะเป็นสินใช้อย่างเดียวก็หามิได้, สิ่งของใดหายไป เพราะความประมาทของภิกษุผู้เฝ้าวิหารนั้นเป็นปัจจัย, สิ่งของนั้นทั้งหมดเป็นสินใช้แก่เธอเหมือนภิกษุภัณฑาคาริกฉะนั้น (เหมือนสิ่งของที่หายไปเพราะความประมาทของภิกษุภัณฑาคาริก เป็นสินใช้แก่ภิกษุภัณฑาคาริกฉะนั้น)
               ถ้าเป็นวิหารใหญ่, เมื่อเธอเดินไปเพื่อรักษาที่ส่วนหนึ่ง สิ่งของที่เก็บไว้ในอีกที่หนึ่ง พวกโจรลักเอาไป ย่อมไม่เป็นสินใช้ เพราะเป็นเหตุเหลือวิสัย. ก็ในที่เช่นนั้น เธอควรเก็บบริขารทั้งหลายไว้ในที่ประชุมแห่งภิกษุทั้งปวง แล้วนั่งในท่ามกลางวิหาร หรือพึงตั้งภิกษุรับหน้าที่เฝ้าวิหารไว้ ๒-๓ รูป. ถ้าแม้เมื่อเธอเหล่านั้นมิได้เป็นผู้ประมาท คอยระแวดระวังอยู่ข้างโน้นและข้างนี้นั่นแล สิ่งของอะไรๆ หายไป ก็ไม่เป็นสินใช้แก่เธอเหล่านั้น. สิ่งของที่พวกโจรมัดภิกษุผู้รับหน้าที่รักษาวิหารไว้แล้ว ลักเอาไปก็ดี สิ่งของที่ถูกลักไปโดยทางอื่น เมื่อภิกษุรับหน้าที่เฝ้าวิหาร เดินสวนทางพวกโจรไปก็ดี ไม่เป็นสินใช้แก่เธอเหล่านั้น.
               ถ้าข้าวยาคูและภัตหรืออาหารที่จะพึงถวายในวิหารไม่มีแก่ภิกษุผู้รับหน้าที่รักษาวิหาร, จะตั้งสลากข้าวยาคู ๒-๓ ที่ ซึ่งมีเหลือเฟือจากลาภที่ภิกษุเหล่านั้นพึงได้ และสลากภัตพอแก่ภิกษุผู้เฝ้าวิหารเหล่านั้นก็ควร แต่ไม่ควรตั้งให้เป็นประจำ. เพราะว่าพวกชาวบ้านจะมีความร้อนใจว่า พวกภิกษุผู้รับหน้าที่เฝ้าวิหารเท่านั้น ย่อมฉันภัตของพวกเรา. เพราะเหตุนั้น จึงควรผลัดเปลี่ยนวาระกันตั้งไว้.
               ถ้าพวกภิกษุที่เป็นสภาคกันของภิกษุผู้รับวาระเฝ้าวิหารเหล่านั้น นำสลากภัตมาถวาย ข้อนั้นก็เป็นการดี, ถ้าไม่ถวาย ควรให้ภิกษุทั้งหลายรับวาระแล้วให้นำมาถวายเถิด. ถ้าภิกษุผู้รับหน้าที่รักษาวิหาร เมื่อได้รับสลากข้าวยาคู ๒-๓ ที่และสลากภัต ๔-๕ ที่เสมอ ยังไปภิกขาจาร, สิ่งของหายไปทั้งหมดเป็นสินใช้แก่เธอ เหมือนภิกษุภัณฑาคาริก ฉะนั้น.
               ถ้าภัตหรือค่าจ้างเพื่อภัตของสงฆ์ที่จะพึงถวายแก่ภิกษุผู้เฝ้าวิหารไม่มี ภิกษุรับเอาตามวาระเฝ้าวิหารแล้วจึงให้นิสิตของตนๆ ช่วยปฏิบัติจะไม่รับเอาวาระที่มาถึง ย่อมไม่ได้, ควรทำเหมือนอย่างที่ภิกษุเหล่าอื่นทำอยู่ฉะนั้น. แต่ว่าภิกษุใดไม่มีสหายหรือเพื่อน ไม่มีภิกษุผู้ชอบพอกันที่จะนำภัตมาให้, ภิกษุทั้งหลายไม่ควรให้วาระถึงแก่ภิกษุเห็นปานนั้น.
               ภิกษุทั้งหลายตั้งแม้ส่วนใดไว้ในวิหาร เพื่อประโยชน์เป็นเสบียงกรัง, ควรตั้งภิกษุผู้รับเอาส่วนนั้นเลี้ยงชีพ (ให้เป็นผู้รับวาระ). ภิกษุใดไม่รับเอาส่วนนั้นเลี้ยงชีพ ไม่ควรให้ภิกษุนั้นรับวาระ. ภิกษุทั้งหลายแต่งตั้งภิกษุไว้ในวิหาร แม้เพื่อต้องการให้รักษาผลไม้น้อยใหญ่, ครั้นปฏิบัติรักษาแล้วก็แจกกันฉันตามคราวแห่งผลไม้. ภิกษุที่ฉันผลไม้เหล่านั้น ควรตั้งให้รับวาระ. ภิกษุผู้ไม่อาศัย (ผลไม้นั้น) เลี้ยงชีพ ไม่ควรให้รับวาระ. ภิกษุทั้งหลายจะแต่งตั้งภิกษุไว้ แม้เพื่อต้องการให้รักษาเสนาสนะ เตียง ตั่งและเครื่องปูลาด, ควรแต่งตั้งภิกษุผู้อยู่ในอาวาส, ส่วนภิกษุผู้ถืออัพโภกาสิกธุดงค์ก็ดี ผู้ถือรุกขมูลิกธุดงค์ก็ดี ไม่ควรให้รับวาระ.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ภิกษุรูปหนึ่งยังเป็นพระนวกะอยู่, แต่เธอเป็นพหูสูต สอนธรรมให้การสอบถาม บอกบาลีแสดงธรรมกถาแก่ภิกษุเป็นอันมาก ทั้งช่วยภาระของสงฆ์ด้วย, ภิกษุนี้ เมื่อฉันลาภอยู่ก็ดี อยู่ในอาวาสก็ดี ไม่ควรให้รับวาระ, ควรรู้กันว่าเป็นคนพิเศษ.
               แต่ภิกษุผู้รักษาโรงอุโบสถและเรือนพระปฏิมา ควรให้ข้าวยาคูและภัตเป็นทวีคูณ ข้าวสารทะนานหนึ่งทุกวัน ไตรจีวรประจำปีและกัปปิยภัณฑ์ที่มีราคา ๑๐ หรือ ๒๐ กหาปณะ. ก็ถ้าเมื่อเธอได้รับข้าวยาคูและภัตนั้นอยู่นั่นเอง สิ่งของอะไรๆ ในโรงอุโบสถและเรือนพระปฏิมานั้นหายไป เพราะความประมาท เป็นสินใช้แก่เธอทั้งหมด. แต่สิ่งของที่ถูกพวกโจรผูกมัดตัวเธอไว้แล้ว แย่งชิงเอาไปโดยพลการย่อมไม่เป็นสินใช้แก่เธอ,
               การที่จะให้รักษาสิ่งของๆ เจดีย์ไว้รวมกับสิ่งของๆ เจดีย์เอง หรือกับสิ่งของๆ สงฆ์ในโรงอุโบสถเป็นต้นนั้น สมควรอยู่, แต่การที่จะให้รักษาสิ่งของๆ สงฆ์ไว้รวมกับสิ่งของๆ เจดีย์ไม่ควร. แต่สิ่งของอันใดที่เป็นของสงฆ์ ซึ่งเก็บรวมกับของเจดีย์, สิ่งของๆ สงฆ์นั้น เมื่อให้รักษาของเจดีย์ไว้แล้ว ก็เป็นอันรักษาไว้แล้วทีเดียว เพราะฉะนั้น การรักษาไว้อย่างนั้นควรอยู่. แม้เมื่อภิกษุรักษาสถานที่ทั้งหลายมีโรงอุโบสถเป็นต้น ตามปักขวาระ สิ่งของที่หายไป เพราะอำนาจความประมาทย่อมเป็นสินใช้เหมือนกัน ฉะนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยของที่เขาฝากไว้               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทุติยปาราชิกสิกขาบท บทภาชนีย์ มาติกา ภุมมัฏฐวิภาคเป็นต้น
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 1 / 1อ่านอรรถกถา 1 / 85อรรถกถา เล่มที่ 1 ข้อ 90อ่านอรรถกถา 1 / 121อ่านอรรถกถา 1 / 657
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=1&A=6336&Z=6581
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=1&A=7842
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=1&A=7842
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :