ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 163อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 187อ่านอรรถกถา 10 / 209อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
ชนวสภสูตร

                อรรถกถาชนวสภสูตร               
               ชนวสภสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ :-
               การพรรณนาบทไม่ตื้นในชนวสภสูตร ดังนี้.
               บทว่า ปริโต ปริโต ชนปเทสุ ความว่า ในชนบทใกล้เคียง.
               บทว่า ปริจารเก ความว่า ผู้บำรุงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์.
               บทว่า อุปปตฺตีสุ ความว่า ในการอุบัติแห่งญาณคติ และบุญ.
               บทว่า กาสีโกสเลสุ ความว่า ในแคว้นกาสีและโกศล.
               อธิบายว่า ในกาสีรัฐ และโกศลรัฐ.
               ในบททั้งปวงก็มีนัยเช่นเดียวกัน.
               แต่ไม่ทรงพยากรณ์ในรัฐทั้ง ๖ คือ อังคะ มคธ โยนก กัมโพช อัสสกะและอวันตี. ก็ทรงพยากรณ์ในชนบทสิบก่อนแห่งมหาชนบทสิบหกนี้.
               บทว่า นาทิกิยา ความว่า ชาวบ้านนาทิกะ.
               บทว่า เตน จ ความว่า ด้วยความเป็นพระอนาคามี เป็นต้นนั้น.
               บทว่า สุตฺวา ความว่า ได้ฟังพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดด้วยพระสัพพัญญุตญาณ พยากรณ์อยู่ ก็จะถึงที่สุดในความเป็นพระอนาคามีเป็นต้นของชนเหล่านั้น ก็จะมีใจเป็นของตนด้วยความเป็นพระอนาคามีเป็นต้นนั้น.
               แต่ในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า บทว่า เตน คือ ชาวบ้านนาทิกะเหล่านั้น.
               จริงอยู่ อักษร ในอรรถนั่น เป็นเพียงนิบาต.

               อานนฺทปริกถาวณฺณนา               
               บทว่า ภควนฺตํ กิตฺตยมานรูโป ความว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงบริกรรมอย่างนี้ว่า โอหนอพระพุทธเจ้า โอหนอพระธรรม โอหนอพระสงฆ์ โอหนอพระธรรมที่ตรัสดีแล้ว สวรรคต.
               บทว่า พหุชโน ปสีเทยฺย ความว่า ชนมากถึงความเลื่อมใสอย่างนี้ว่า บิดา มารดา พี่ชาย พี่สาว บุตร ธิดา สหายของพวกเรา พวกเราเคยกินร่วม นอนร่วมกับท่านนั้น พวกเราจะทำสิ่งที่น่าพอใจอย่างนี้ และอย่างนี้แก่ท่านนั้น ได้ยินว่า ท่านนั้นเป็นอนาคามี สกทาคามี โสดาบัน โอหนอเป็นการดี โอหนอเป็นการชอบ.
               บทว่า คตึ คือ ญาณคติ.
               บทว่า อภิสมฺปรายํ ความว่า มีญาณเป็นไปเบื้องหน้า.
               บทว่า อทฺทสา โข ความว่า ได้เห็นชนประมาณเท่าใด. ประมาณ ๒,๔๐๐,๐๐๐ คน.
               บทว่า อุปสนฺตปติสฺโส ความว่า ทรงมีทัศนสงบแล้ว.
               บทว่า ภาติริว ความว่า เปล่งปลั่งยิ่ง คือรุ่งโรจน์ยิ่ง.
               บทว่า อินฺทฺริยานํ ความว่า พระอินทรีย์ซึ่งมีพระหฤทัยเป็นที่หก.
               บทว่า อทฺทสํ โข อหํ อานนฺท ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราได้เห็นชาวมคธผู้บำรุง ไม่ใช่จำนวนสิบ จำนวนยี่สิบ จำนวนร้อย จำนวนพัน แต่จำนวนไม่ต่ำกว่า ๒,๔๐๐,๐๐๐ คน. แต่ชนมีประมาณเท่านี้ เห็นเราแล้ว อาศัยเราพ้นจากทุกข์แล้ว โสมนัสมีกำลังเกิดขึ้นแล้ว จิตเลื่อมใส เพราะจิตเลื่อมใส โลหิตซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐานก็ผ่องใส เพราะโลหิตผ่องใส อินทรีย์ทั้งหลายซึ่งมีมนะเป็นที่หก ก็ผ่องใส ครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า อถโข อานนฺท เป็นต้น.

               ชนวสภยกฺขวณฺณนา               
               พระเจ้าพิมพิสารพระองค์นั้นทรงสดับธรรมกถาของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่นั้น เป็นใหญ่แห่งชนหนึ่งแสนยิ่งด้วยสิบพัน บรรลุเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น พระองค์จึงมีพระนามว่า ชนวสภะ.
               บทว่า อิโต สตฺต ความว่า จุติจากเทวโลกนี้เจ็ดครั้ง.
               บทว่า ตโต สตฺต ความว่า จุติจากมนุษย์โลกนั้นเจ็ดครั้ง.
               บทว่า สํสรามิ จตุทฺทส ความว่า ตามลำดับขันธ์ทั้งหมด สิบสี่ครั้ง.
               บทว่า นิวาสมภิชานามิ ความว่า เรารู้นิวาสด้วยอำนาจแห่งชาติ.
               บทว่า ยตฺถ เม วุสิตํ ปุเร ความว่า เราเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเวสวัณในเทวโลก และเป็นราชาในมนุษย์โลกอยู่แล้ว ในกาลก่อน แต่อัตภาพนี้ และเพราะได้อยู่อย่างนี้แล้ว บัดนี้ได้เป็นโสดาบัน กระทำบุญมากในวัตถุทั้ง ๓ แม้สามารถบังเกิดเบื้องสูงด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น จึงได้เกิดแล้วในที่นี้เทียว เพราะกำลังแห่งความใคร่ในสถานที่อยู่ตลอดกาลนาน.
               ด้วยบทว่า อาสา จ ปน เม สนฺติฎฺฐติ นี้ ท่านแสดงว่า เราไม่หลับประมาทว่า เราเป็นโสดาบัน ยังกาลให้ล่วงแล้ว ก็เราได้เจริญวิปัสสนาเพื่อประโยชน์แก่พระสกทาคามี อยู่อย่างมีความหวังว่า เราจะบรรลุในวันนี้ๆ.
               บทว่า ยทคฺเค ความว่า ท่านกล่าวมุ่งถึงวันบรรลุพระโสดาบันในปฐมทัศน์ที่สวนลัฏฐิวัน.
               บทว่า ตทคฺเค อหํ ภนฺเต ทีฆรตฺตํ อวินิปาโต อวินิปาตํ สญฺชานามิ ความว่า
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ทำวันนั้นเป็นต้นเหตุ ไม่ตกต่ำเป็นเวลานาน นับได้ ๑๔ อัตภาพก่อน ได้จำธรรมที่ไม่ยังตนให้ตกต่ำที่บรรลุแล้ว ด้วยอำนาจโสดาปัตติมรรค ที่สวนลัฏฐิวัน.
               บทว่า อนจฺฉริยํ ความว่า อัศจรรย์เนืองๆ.
               การที่เราไปด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าในระหว่างทาง เป็นการอัศจรรย์ที่คิดถึงบ่อยๆ และธรรมที่เราได้ฟังเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในบริษัทของมหาราชเวสวัณนั้น แม้ข้อนี้ก็เป็นการอัศจรรย์.
               บทว่า เทฺว ปจฺจยา ความว่า ภาพที่เห็นในระหว่างทาง และความใคร่ที่จะบอกธรรมที่ได้ฟังต่อหน้าท้าวเวสวัณ.

               เทวสภาวณฺณนา               
               บทว่า สนฺนิปติตา ความว่า ประชุม เพราะเหตุอะไร.
               ได้ยินว่า เทพเหล่านั้นประชุมด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ เพื่อสงเคราะห์วันวัสสูปนายิกา เพื่อสงเคราะห์วันปวารณา เพื่อฟังธรรม เพื่อเล่นปาริฉัตรกีฬา.
               ในเหตุการณ์เหล่านั้น ในวันอาสาฬหปุณมี เหล่าเทพในเทวโลกทั้งสองประชุมในเทวสภา ชื่อสุธัมมา ว่า พรุ่งนี้เป็นวันวัสสูปนายิกา แล้วปรึกษากันว่า ในวิหารโน้นมีพระภิกษุเข้าพรรษาหนึ่งรูป ในวิหารโน้นมีพระภิกษุเข้าพรรษา ๒ รูป ๓ รูป ๔ รูป ๕ รูป ๑๐ รูป ๒๐ รูป ๓๐ รูป ๔๐ รูป ๕๐ รูป ๑๐๐ รูป ๑,๐๐๐ รูป ท่านทั้งหลายจงทำการรักษาอารามในที่นั้นๆ ให้ดี.
               การสงเคราะห์วัสสูปนายิกา ทวยเทพได้ทำแล้วดังนี้.
               แม้ในกาลนั้น ทวยเทพได้ประชุมแล้ว ด้วยการณ์นั่นเทียว.
               บทว่า อิทํ เตสํ โหติ อาสนสฺมึ ความว่า อาสนะนี้เป็นของมหาราชทั้งสี่เหล่านั้น. ครั้นมหาราชแม้เหล่านั้นได้นั่งอย่างนี้แล้ว ต่อมาภายหลัง อาสนะจึงมีแก่เรา.
               บทว่า เยนตฺเถน ความว่า ด้วยประโยชน์แห่งวัสสูปนายิกาใด.
               บทว่า ตํ อตฺถํ จินฺตยิตฺวา ความว่า คิดการอารักขาพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ป่านั้นแล้ว ปรึกษากับมหาราชทั้งสี่ว่า ท่านทั้งหลายจงจัดแจงอารักขาพระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่ในป่านั้นๆ.
               บทว่า วุตฺตวจนาปิ ตํ ความว่า เทวบุตร ๓๓ องค์ย่อมกล่าวออกชื่อว่ามหาราช. เทวบุตร ๓๓ องค์ย่อมพร่ำเรียกอย่างนั้น. มหาราชนอกนี้ ก็ระบุชื่อรองๆ ลงมา.
               ก็บทว่า ตํ แม้ในบททั้งสองเป็นเพียงนิบาตเท่านั้น.
               บทว่า อปกฺกนฺตา ความว่า ไม่หลีกไปแล้ว.
               บทว่า อุฬาโร คือ ไพบูลย์ใหญ่.
               บทว่า เทวานุภาวํ ความว่า แสงสว่างแห่งผ้า เครื่องประดับ วิมานและสรีระของเทวดาทั้งปวง ย่อมแผ่ไปไกล ๑๒ โยชน์ ส่วนแสงสว่างแห่งสรีระของเทวดาผู้มีบุญมากแผ่ไปไกล ๑๐๐ โยชน์ ก้าวล่วงซึ่งเทวานุภาพนั้น.
               บทว่า พฺรหฺมุโน เหตํ ปุพฺพนิมิตฺตํ ความว่า ท่านแสดงว่า แสงอรุณเป็นบุพพังคมะ เป็นบุพนิมิตแห่งพระอาทิตย์อุทัยฉันใด นั่นเป็นบุรพนิมิต แม้แห่งพรหมฉันนั้นเหมือนกัน.

               สนงฺกุมารกถาวณฺณนา               
               บทว่า อนภิสมฺภวนิโย ความว่า ไม่พึงถึง.
               ความว่า ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ย่อมไม่เห็นพรหมนั้น.
               บทว่า จกฺขุปถสฺมึ ความว่า ในประสาทจักษุ หรือคลองจักษุ. วรรณะนั้น ไม่พึงเห็นหรือไม่พึงถึงในคลองจักษุของเทพทั้งหลาย.
               บทว่า นาภิภวติ ความว่า ได้กล่าวแล้ว.
               จริงอยู่ เทวดาชั้นต่ำๆ ย่อมอาจเห็นอัตภาพที่สร้างอย่างไพบูลย์ของเทวดาชั้นสูงๆ.
               บทว่า เวทปฏิลาภํ ความว่า กลับได้ความยินดี.
               บทว่า อธุนาภิสิตฺโต รชฺเชน ความว่า ทรงอภิเษกด้วยสมบัติ.
               ก็อรรถนี้ พึงแสดงเรื่องทุฏฐคามณีอภัย.
               ได้ยินว่า พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยนั้นทรงชนะกษัตริย์ทมิฬถึง ๓๒ พระองค์ ทรงถึงอภิเษกในกรุงอนุราธบุรี ด้วยพระหฤทัยโสมนัสยินดี แต่ไม่ได้ความหลับ ตรัสบอกพระภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ตั้งแต่นั้นมา หม่อมฉันไม่ได้หลับเลย.
               พระภิกษุสงฆ์ทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์ทรงอธิษฐานพระอุโบสถศีลในวันนี้ และพระองค์ทรงอธิษฐานพระอุโบสถศีลแล้ว. พระสงฆ์ไปส่งพระภิกษุผู้บำเพ็ญพระอภิธรรม ๘ รูปว่า ขอให้ท่านสาธยายจิตตยมก. พระภิกษุเหล่านั้นไปแล้วทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ขอพระองค์ทรงบรรทมหลับ แล้วเริ่มสาธยาย. พระราชาทรงสดับการสาธยายอยู่ก็ทรงก้าวไปสู่ความหลับ. พระเถระทั้งหลายคิดว่า อย่าปลุกพระราชา แล้วหลีกไป ในวันที่สอง พระราชาทรงตื่นขึ้น เมื่อพระอาทิตย์อุทัย เมื่อไม่ทรงเห็นพระเถระ จึงตรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าไปไหน. ทรงได้รับคำกราบทูลว่า พระเถระรู้ว่า พระองค์ก้าวสู่ความหลับแล้วไป.
               พระราชาตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าย่อมรู้ แม้เภสัชคือความหลับ ตราบใด ชื่อว่าเภสัช คือความไม่รู้ของเด็กทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่พระผู้เป็นเจ้าของเรา ตราบนั้น.
               บทว่า ปญฺจสิโข ความว่า เป็นเช่นกับปัญจสิขคนธรรพ์.
               ได้ยินว่า เทวบุตรทั้งหมดได้นิรมิตอัตภาพของเทพบุตรปัญจสิขคนธรรพ์ เพราะฉะนั้น แม้พรหมก็ได้นิรมิตอัตภาพเช่นนั้น ปรากฏแล้วเช่นกัน.
               บทว่า ปลฺลงฺเกน นิสีทิ ความว่า นั่งขัดสมาธิ.
               บทว่า วิสฎฺโฐ ความว่า ละเอียดดี คือไม่กระด้าง.
               บทว่า วิญฺเญยฺโย ความว่าให้รู้ประโยชน์.
               บทว่า มญฺชุ คือ อ่อนหวานกลมกล่อม.
               บทว่า สวนิโย คือ ควรฟัง ได้แก่เสนาะโสต.
               บทว่า พินฺทุ ความว่า ก้อนเดียว.
               บทว่า อวิสารี ความว่า สละสลวย ไม่แตกพร่า.
               บทว่า คมฺภีโร ความว่า เกิดลึกตั้งแต่มูลนาภี. ไม่ได้เกิดกระทบเพียงลิ้น ฟัน ริมฝีปากหรือเพดาน. ด้วยว่า เสียงที่เกิดเพียงนี้จะไม่อ่อนหวานและไม่ดังไปไกล.
               บทว่า นินฺนาที ความว่า กึกก้องเหมือนเสียงคำรามของมหาเมฆ และเสียงตะโพน.
               อนึ่ง บทหลังๆ ในที่นี้ พึงทราบว่า เป็นประโยชน์ของบทก่อนๆ.
               บทว่า ยถาปริสํ ความว่า ให้บริษัทรู้ทั่วถึงกัน. เสียงแห่งพรหมนั้น ย่อมดังภายในบริษัทเท่านั้น ย่อมไม่ดังออกไปภายนอก.
               บทว่า เย หิ เกจิ เป็นต้น บ่งบอก เพื่อแสดงการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์แก่ชนมาก.
               บทว่า สรณํ คตา ความว่า ท่านไม่กล่าวถึงผู้ถึงสรณตามมีตามเกิด แต่กล่าวหมายถึงสรณที่ถือไม่ผิด.
               บทว่า คนฺธพฺพกายํ ปริปูเรติ ความว่า เพิ่มคณะแห่งคันธัพเทพให้บริบูรณ์. ท่านกล่าวว่า เทวโลก ๖ ชั้น จำเดิมแต่กาลที่พระศาสดาของพวกเราได้อุบัติในโลกแล้ว เกิดไม่มีระหว่าง เหมือนทะนานที่ทุบแป้งบริบูรณ์ และเหมือนป่าศรป่าอ้อ จึงชื่อว่า มาริสา.

               อิทฺธิปาทวณฺณนา               
               บทว่า ยาว สุปญฺญตฺตาปิ เม เตน ภควตา ความว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของเราทรงบัญญัติดีแล้ว คือตรัสดีแล้ว.
               ในบทว่า อิทฺธิปาทา นั่น พึงทราบว่าอิทธิด้วยอรรถว่าสำเร็จ พึงทราบว่าบาทด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้ง.
               บทว่า อิทฺธิ พหุลีกตาย ความว่า เพราะความที่อิทธิมีเพียงพอ.
               บทว่า อิทฺธิวิเสวิตาย ความว่า เพราะมีอิทธิเป็นพิเศษ ท่านกล่าวว่า จิณฺณวสิตาย ด้วยสามารถเสพบ่อยๆ.
               บทว่า อิทฺธิวิกุพฺพนตาย ความว่า เพราะความที่เจริญอิทธิบ่อยๆ เพื่อประโยชน์ที่จะแสดงกระทำโดยประการต่างๆ.
               ในบทว่า ฉนฺทสมาธิ ปธานสงฺขารสมนฺนาคตํ เป็นต้นมีอรรถดังนี้.
               สมาธิซึ่งมีฉันทะเป็นเหตุ หรือมีฉันทะเป็นหลัก ชื่อว่าฉันทสมาธิ.
               บทว่า ฉนฺทสมาธิ นั่น เป็นชื่อแห่งสมาธิซึ่งได้มาเพราะกระทำฉันทะ ซึ่งมีความใคร่ที่จะกระทำเป็นใหญ่. สังขารที่เป็นปธาน ชื่อว่าปธานสังขาร.
               บทว่า ปธานสงฺขารา นั่น เป็นชื่อของสัมมัปปธานวิริยะอันยังกิจ ๔ ประการให้สำเร็จ.
               บทว่า สมนฺนาคตํ ความว่า เข้าถึงแล้วด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร.
               บทว่า อิทฺธิปาทํ ความว่า กองแห่งจิตที่เหลือ หรือเจตสิก เป็นบาทด้วยอรรถว่า ตั้งมั่นแห่งฉันทสมาธิ และปธานสังขาร อันประกอบพร้อมด้วยอภิญญาจิต ซึ่งถึงอันนับว่าอิทธิ โดยปริยายว่าสำเร็จ หรือโดยปริยายนี้ว่าเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายสำเร็จด้วยอรรถว่าสำเร็จ คือเป็นผู้สำเร็จแล้ว สมบูรณ์แล้ว ถึงที่สุดแล้ว.
               เพราะคำว่า อิทธิบาท ท่านกล่าวว่า เวทนาขันธ์ แห่งความเป็นจริงใด ฯลฯ วิญญาณขันธ์.
               พึงทราบอรรถแม้ในบทที่เหลือโดยนัยนี้.
               เพราะสมาธิที่ทำฉันทะเป็นใหญ่ จึงได้มา ท่านเรียกว่าฉันทสมาธิ ฉันใด สมาธิที่ทำวิริยจิต วิมังสาเป็นใหญ่ได้มาเรียกว่า วิมํสาสมาธิ ฉันนั้น.
               อนึ่ง พึงทราบอรรถในคำนี้ว่า บาทในส่วนต้นว่า อุปจารฌานเป็นบาท ปฐมฌานเป็นอิทธิ ปฐมฌานเป็นบาท ทุติยฌานเป็นอิทธิ เป็นอิทธิในส่วนปลาย.
               ก็อิทธิบาทกถา ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค และในวิภังคอรรถกถา โดยพิสดาร.
               แต่เกจิอาจารย์กล่าวว่า อิทธิที่สำเร็จแล้ว เป็นอิทธิที่ยังไม่สำเร็จ. เพื่อประโยชน์แห่งการพูดถึงวาทะแห่งเกจิอาจารย์เหล่านั้น ชื่อว่า อุตรจูฬิกวาร มาแล้วในอภิธรรมว่า
               อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทิทธิบาท วิริยิทธิบาท จิตติทธิบาท วิมังสิทธิบาท
               ในอิทธิบาททั้ง ๔ นั้น ฉันทิทธิบาทเป็นไฉน
               ภิกษุในศาสนานี้ ในสมัยใด เจริญโลกุตรฌานอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ อันเป็นอปจยคามี เพื่อละทิฐิ เพื่อบรรลุปฐมภูมิ สงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌาน อันเป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญาอยู่
               ในสมัยนั้น ธัมมฉันทะใด ชื่อว่า ฉันทะ เพราะได้กระทำฉันทะแล้ว ชื่อว่ากุศลเพราะใคร่ที่จะกระทำ นี้เรียกว่า ฉันทิทธิบาท ธรรมที่เหลือสัมประยุตด้วยฉันทิทธิบาท.
               ก็ธรรมเหล่านี้ มาแล้วด้วยอำนาจแห่งโลกุตตระ.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๓๒

               ในที่นี้ รัฐบาลเถระทำฉันทะเป็นธุระ ยังโลกุตตรธรรมให้เกิดแล้ว โสณเถระกระทำวิริยเป็นธุระ สัมภูตเถระกระทำจิตเป็นธุระ ท่านโมฆราชผู้มีอายุทำวิมังสาเป็นธุระ ยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้น.
               ในข้อนี้ ครั้นบุตรอำมาตย์ทั้ง ๔ คนปรารถนาฐานันดร เข้าไปอาศัยพระราชาอยู่ คนหนึ่งเกิดความพอใจในการบำรุงรู้อัธยาศัย และความชอบพระทัยของพระราชา คอยบำรุงทั้งกลางวันและกลางคืน ยังพระราชาให้พอพระราชหฤทัย แล้วได้ฐานันดรฉันใด พึงทราบพระภิกษุผู้ยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้นด้วยฉันทธุระฉันนั้น.
               ส่วนคนหนึ่งคิดว่า ใครจะสามารถเพื่อบำรุงทุกวันๆ ได้เมื่อกิจเกิดขึ้น เราจะยังพระราชาให้พอพระทัยด้วยความพยายาม ครั้นปัจจันตชนบทเกิดจลาจลถูกพระราชาส่งไปปราบศัตรูด้วยความพยายาม ถึงแล้วซึ่งฐานันดรฉันใด ภิกษุนั้นให้โลกุตตรธรรมเกิดขึ้นด้วยวิริยธุระ พึงทราบฉันนั้น.
               คนหนึ่งคิดว่า แม้การบำรุงทุกวันๆ เป็นภาระหนัก เหมือนลูกศรเฉียบอกทีเดียว เราจะยังพระราชาให้พอพระทัยด้วยอำนาจมนต์ จึงยังพระราชาให้พอพระหฤทัยด้วยการร่ายมนต์ เพราะวิชาภูมิศาสตร์ได้อบรมไว้แล้ว ถึงฐานันดรฉันใด ภิกษุนั้นผู้ยังโลกุตตรธรรมให้เกิดขึ้นด้วยจิตธุระ พึงทราบฉันนั้น.
               บุตรอมาตย์คนอื่นคิดว่า ชื่อว่าพระราชาย่อมพระราชทานฐานันดรแก่ผู้ถึงพร้อมด้วยชาติ ด้วยการบำรุงเป็นต้นเหล่านี้ เมื่อทรงพระราชทานแก่บุคคลเช่นนั้น. ก็จะทรงพระราชทานแก่เรา อาศัยชาติสัมปทาอย่างเดียว ก็ถึงซึ่งฐานันดรฉันใด ภิกษุนั้นอาศัยวิมังสาอันบริสุทธิ์ดี ยังโลกุตตรธรรมเกิดขึ้นด้วยวิมังสาธุระ พึงทราบฉันนั้น.
               บทว่า อเนกวิหิตํ ความว่า วิธีไม่ใช่หนึ่ง.
               บทว่า อิทฺธิวิธํ ความว่า ส่วนของอิทธิ.

               โอกาสาธิคมวณฺณนา               
               บทว่า สุขสฺสาธิคมาย ความว่า เพื่อบรรลุถึงฌานสุข มรรคสุขและผลสุข.
               บทว่า สํสฎฺโฐ ความว่า จิตตสัมปยุต.
               บทว่า อริยธมฺมํ ความว่า ธรรมอันพระอริยะ พระผู้มีพระภาคคือพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว.
               บทว่า สุณาติ ความว่า ธรรมที่ภิกษุและภิกษุณีเป็นต้น แสดงต่อพระพักตร์พระศาสดา ชื่อว่าฟังอยู่.
               บทว่า โยนิโสมนสิกโรติ ความว่า กระทำในใจโดยอุบาย โดยคัลลอง โดยเหตุการณ์ ด้วยอำนาจเป็นต้นว่า ไม่เที่ยง.
               อธิบายว่า ภิกษุปรารภกรรมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ชื่อว่าโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยอุบาย การกระทำไว้ในใจโดยคัลลอง หรือการระลึก การผูก การรวบรวมพร้อมแห่งจิต การกระทำไว้ในใจ โดยอนุโลมสัจจะ ในความไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในความไม่สวยงามว่าไม่สวยงาม ในทุกข์ว่าทุกข์ ในความเป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตา นี้เรียกว่าโยนิโสมนสิการ.
               บทว่า อสํสฎฺโฐ ความว่า ไม่คลุกคลีอยู่กับวัตถุกามบ้าง กิเลสกามบ้าง.
               บทว่า อุปฺปชฺชติ สุขํ ความว่า ปฐมฌานสุขย่อมเกิดขึ้น.
               บทว่า สุขา ภิยฺโย โสมนสฺสํ ความว่า โสมนัสอื่นๆ เพราะฌานสุขเป็นปัจจัยย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ออกจากสมาบัติ.
               บทว่า ปมุทา คือ ปีติซึ่งมีกำลังน้อยกว่าอาการของตุฏฐี.
               คำว่า ปาโมชฺชํ คือ ปีติและโสมนัสมีกำลัง.
               บทว่า ปฐโม โอกาสาธิคโม ความว่า ปฐมฌานข่มนิวรณห้า ถือโอกาสของตนดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปฐโม โอกาสาธิคโม (การบรรลุโอกาสอันแรก).
               ในบทว่า โอฬาริกา นั่น กายสังขารและวจีสังขารยังหยาบ จิตตสังขารจะหยาบอย่างไร. เพราะจิตตสังขารยังไม่ละ. ก็กายสังขารย่อมละด้วยจตุตถฌาน. วจีสังขารละด้วยทุติยฌาน. จิตตสังขารละด้วยนิโรธสมาบัติ. ครั้นกายสังขารและวจีสังขารแม้ละแล้ว จิตตสังขารทั้งหลายนั้นก็ตั้งอยู่ด้วยประการฉะนี้ จึงเป็นโอฬาริกะ เพราะยังละไม่ได้ โดยยึดกายสังขารวจีสังขารที่ละได้แล้ว.
               บทว่า สุขํ ความว่า ผลสมาบัติสุขอันเกิดแต่จตุถฌาน ซึ่งเกิดแก่ผู้ออกจากนิโรธ.
               บทว่า สุขา ภิยฺโย โสมนสฺสํ ความว่า โสมนัสอื่นๆ แก่ผู้ออกแล้วจากผลสมาบัติ.
               บทว่า ทุติโย โอกาสาธิคโม ความว่า จตุตถฌานข่มสุขทุกข์ ถือโอกาสตนตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทุติโย โอกาสาธิคโม. ส่วนทุติยฌาน และตติยฌาน ท่านถือเอาแล้วในจตุตถฌานนั่น เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวแยกต่างหาก.
               ในบทว่า อิทํ กุสลํ เป็นต้น มีอรรถาธิบาย ดังนี้. กุสลกรรมบถสิบ ชื่อว่ากุสล.
               บทว่า อกุสลํ ได้แก่อกุศลกรรมบถสิบ. แม้สาวัชชทุกเป็นต้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งอกุศลกรรมบถสิบเหล่านั่นเทียว. ก็นั่นทั้งหมดเป็นกัณหะ สุกะ และสปฏิภาค จึงชื่อว่า กณฺหสุกฺกสปฺปฏิภาคํ. ก็นิพพานเท่านั้นเป็นอัปปฏิภาค.
               บทว่า อวิชฺชา ปหียติ ความว่า อวิชา ซึ่งปกปิดวัฏฏะ ย่อมละได้.
               บทว่า วิชฺชา อุปฺปชฺชติ ความว่า อรหัตตมรรควิชา ย่อมเกิดขึ้น.
               บทว่า สุขํ คือ สุขอันเกิดแต่อรหัตตมรรคและผล.
               บทว่า สุขา ภิยฺโย โสมนสฺสํ ความว่า โสมนัสอื่นๆ ของผู้ออกแล้วจากผลสมาบัติ.
               บทว่า ตติโย โอกาสาธิคโม ความว่า อรหัตตมรรคข่มกิเลสทั้งหมด ถือโอกาสตนแล้วตั้งอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตติโย โอกาสาธิคโม. ส่วนมรรคที่เหลือ เมื่ออรหัตตมรรคถือเอาแล้ว ก็ประมวลเข้ากันได้ จึงไม่กล่าวแยกต่างหาก.
               ส่วนโอกาสาธิคม ๓ ประการนี้ พึงกล่าวอย่างพิสดารด้วยสามารถอารมณ์ ๓๘ ประการ.
               อย่างไร.
               ท่านกำหนดอารมณ์ทั้งหมดด้วยสามารถอุปจารและอัปปนา โดยนัยที่กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคนั่นเทียว กล่าวถึงปฐมฌานในฐานะ ๒๔ ประการว่า ปฐโม โอกาสาธิคโม. ท่านกำหนดทุติยฌานและตติยฌานในฐานะ ๑๓ ประการ และจตุตถฌานในฐานะ ๑๕ ประการ ให้ถึงนิโรธสมาบัติกล่าวว่า ทุติโย โอกาสาธิคโม. ส่วนอุปจารฌาน ๑๐ ประการเป็นปทัฏฐานแห่งมรรครวมเข้ากับโอกาสาธิคมที่ ๓.
               อนึ่งพึงกล่าวแม้ด้วยอำนาจสิกขา อย่างนี้ ในสิกขา ๓ ประการ อธิสีลสิกขารวมเข้ากับปฐมโอกาสาธิคมะ อธิจิตตสิกขารวมเข้ากับทุติยโอกาสาธิคมะ อธิปัญญาสิกขารวมเข้ากับตติยโอกาสาธิคมะ.
               แม้ในสามัญญผล ท่านกล่าวแม้ด้วยสามารถแห่งสามัญญผลสูตร อย่างนี้ว่า ตั้งแต่จุลศีลจนถึงปฐมฌานเป็นโอกาสาธิคมะที่ ๑ ตั้งแต่ทุติยฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นโอกาสาธิคมะที่ ๒ ตั้งแต่วิปัสสนาจนถึงอรหัตต์เป็นโอกาสาธิคมะที่ ๓
               ส่วนในปิฎก ๓ ประการ พึงกล่าวแม้ด้วยสามารถปิฎกอย่างนี้ว่า วินัยปิฎกบวกเข้ากับปฐมโอกาสาธิคมะ สุตตันตปิฎกบวกเข้ากับทุติยโอกาสาธิคมะ อภิธรรมปิฎกบวกเข้ากับตติยโอกาสาธิคมะ.
               ได้ยินว่า พระมหาเถระในกาลก่อน ย่อมตั้งพระสูตรนี้เท่านั้นในวันวัสสูปนายิกา.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะพวกเราจักจำแนกปิฎก ๓ กล่าว. เพราะเมื่อรวมพระไตรปิฎกกล่าว พระสูตรก็กล่าวได้ยาก เพราะฉะนั้น ใครๆ ก็ไม่อาจกล่าวได้. สูตรนี้ที่จำแนกไตรปิฎกกล่าว ก็จะกล่าวได้ง่าย.

               จตุสติปฏฺฐานวณฺณนา               
               บทว่า กุสลสฺสาธิคมาย ความว่า เพื่อประโยชน์บรรลุมรรคกุศลและผลกุศล.
               จริงอยู่ ทั้งสองอย่างนั่น ชื่อว่าเป็นกุศล ด้วยอรรถว่าไม่มีโทษ หรือด้วยอรรถว่า เกษม.
               บทว่า ตตฺถ สมฺมา สมาธิยติ ความว่า ภิกษุตั้งมั่นชอบในกายภายในนั้น ก็จะเป็นเอกัคคจิต.
               บทว่า พหิทฺธา ปรกาเย ญาณทสฺสนํ อภินิพฺพตฺเตติ ความว่า ส่งญาณอันมุ่งต่อกายคนอื่น จากกายตน.
               ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้.
               พึงทราบสติที่กำหนดกายเป็นต้น ด้วยบทว่า สติมา ในบททั้งปวง. พึงทราบกายเป็นต้นเทียว กำหนดแล้วด้วยบทว่า โลเก. ก็สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั่น พึงทราบว่า ท่านกล่าวเจือด้วยโลกิยะและโลกุตตระ.

               สมาธิปริกฺขารวณฺณนา               
               บริขาร ในบทนี้ว่า สมาธิปริกขารา มี ๓ อย่าง.
               เครื่องประดับในบทนี้ว่า รถมีสีขาวเป็นบริขาร มีฌานเป็นเพลา มีวิริยะเป็นล้อ ชื่อว่าบริขาร.๑-
               ปริวารในบทนี้ว่า ล้อมด้วยดีแล้วด้วยนครปริกขาร ๗ ประการ ชื่อว่าปริขาร.๒-
               สัมภาระในบทนี้ว่า คิลานปจฺจยชีวิตปริกฺขารา ชื่อว่าปริขาร.๓-
               ก็ในที่นี้ ท่านกล่าวว่า สมาธิปริกขาร ๗ ประการด้วยสามารถปริวารและปริขาร. ปริวาริกะ ชื่อว่าปริขาร.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๒๔
๒- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๔
๓- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๑๓

               บทว่า อยํ วุจฺจติ โภ อริโย สมฺมาสมาธิ ความว่า นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิอริยอันล้อมองค์ ๗ เหมือนจักรพรรดิล้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการฉะนั้น.
               บทว่า สอุปนิโส อิติปิ ความว่า ท่านเรียกว่า สอุปนิสัย แม้ด้วยประการนี้.
               บทว่า สปริวาโรเยว ได้กล่าวแล้ว.
               บทว่า สมฺมาทิฎฺฐิสฺส ความว่า ผู้ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ.
               บทว่า สมฺมาสํกปฺโป จ โหติ ความว่า สัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นไป.
               ในบททั้งปวงก็มีนัยเช่นกัน.
               ก็อรรถนี้ พึงทราบด้วยอำนาจมรรคบ้าง ด้วยอำนาจผลบ้าง.
               อย่างไร.
               มรรคสัมมาสังกัปปะ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในมรรคสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ และมรรควิมุติย่อมมีแก่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในมรรคญาณ
               อนึ่ง ผลสัมมาสังกัปปะ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในผลสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ และผลวิมุติ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในผลสัมมาญาณ.
               บทว่า สฺวากฺขาโต เป็นต้น ท่านพรรณนาไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               บทว่า อปารุตา ความว่า เปิดแล้ว.
               บทว่า อมตสฺส ความว่า นิพพาน.
               บทว่า ทฺวารา ความว่า ทางเข้า.
               บทว่า อเวจฺจปฺ ปสาเทน ความว่า ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
               บทว่า ธมฺเม วีนีตา ความว่า แน่นอนแล้วด้วยธรรมนิยาม.
               บทว่า อถายํ อิตรา ปชา ความว่า ท่านกล่าวหมายถึงพระอนาคามี.
               บทว่า อนาคามิโน อตฺถี ท่านกล่าวแล้ว.
               บทว่า ปุญฺญภาคา ความว่า เกิดแล้วด้วยส่วนแห่งบุญ.
               บทว่า โอตฺตปฺปํ ความว่า มีใจเกรงกลัว. ถ้าอย่างนั้น มุสา พึงมีในกาลไหน เพราะฉะนั้น เราไม่อาจนับโดยภัยมุสาวาทได้ แต่ไม่ได้แสดงว่า กำลังนับของเราไม่มี.
               สนังกุมารพรหมถามเวสวัณอย่างเดียว ด้วยบทนี้ว่า ตํ กึ มญฺญติ ภวํ. แต่สนังกุมารพรหมนั้นไม่มีลัทธิว่า พระศาสดาอย่างนั้น ไม่มีแล้ว หรือจักไม่มี.
               จริงอยู่ ในอภิสมัยของพระพุทธเจ้าทั้งปวงไม่มีพิเศษ.
               บทว่า สายํ ปริสายํ ความว่า ในบริษัทของตน.
               บทว่า ตยิทํ พฺรหฺมจริยํ ความว่า ไตรสิกขาทั้งสิ้นนี้นั้น คือพรหมจรรย์.
               บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น.
               ส่วนบทเหล่านี้อันพระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้ตั้งไว้แล้ว ดังนี้.

               จบอรรถกถาชนวสภสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค ชนวสภสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 163อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 187อ่านอรรถกถา 10 / 209อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=4465&Z=4870
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=6396
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=6396
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :