ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 10 / 163อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปรินิพพานสูตร

หน้าต่างที่ ๔ / ๕.

               ยมกสาลาวณฺณนา               
               ในคำว่า มหตา ภิกฺขุสํเฆน สทฺธึ นี้ จำนวนของภิกษุทั้งหลายกำหนดแน่ไม่ได้.
               พอได้ทราบว่า จำเดิมแต่พระองค์ทรงข่มเวทนาที่เวฬุวคามไม่นานนัก พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จักปรินิพพาน บรรดาภิกษุที่มาแต่ที่นั้นๆ ไม่มีแม้แต่ภิกษุรูปเดียวที่ชื่อว่าหลีกไป เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จึงมีจำนวนนับไม่ได้.
               บทว่า อุปวตฺตนํ มลฺลานํ สาลวนํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจากฝั่งข้างโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดีสู่สาลวโนทยาน เหมือนออกจากฝั่งแม่น้ำกลัมพนทีไปยังถูปารามไปทางประตูวัดของพระราชมารดา. สาลวันนั้นอยู่ที่กรุงกุสินารา เหมือนถูปารามของกรุงอนุราธปุระ. ทางเข้าพระนครโดยทางประตูทักษิณแต่ถูปาราม บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก แล้วเลี้ยวไปทางทิศอุดรฉันใด สาลวันจากพระราชอุทยานบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวไปทางทิศอุดรฉันนั้น
               เพราะฉะนั้น สาลวันนั้น ท่านจึงเรียกว่า อุปวัตตนะ ทางโค้ง.
               บทว่า อนฺตเร ยมกสาลานํ อุตฺตรสีสกํ ความว่า ได้ยินว่า ต้นสาละแถวหนึ่งอยู่ทางหัวพระแท่น แถวหนึ่งอยู่ทางท้ายพระแท่น. ในแถวต้นสาละนั้น ต้นสาละรุ่นต้นหนึ่งอยู่ใกล้ทางส่วนพระเศียรต้นหนึ่งอยู่ใกล้พระบาท.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า ต้นสาละที่ยืนต้นประชิดกันและกันด้วยรากลำต้น ค่าคบและใบ ชื่อว่ายมกสาละ.
               ด้วยบทว่า มญฺจกํ ปญฺญเปหิ ท่านกล่าวว่า ได้ยินว่า พระแท่นบรรทมในพระราชอุทยานนั้นมีอยู่ ทรงหมายถึงพระแท่นนั้น ทรงรับสั่งให้ปู. แม้พระเถระก็จัดพระแท่นนั้นถวาย.
               บทว่า กิลนฺโตสฺมิ อานนฺท นิปชฺชิสฺสามิ ความว่า ความจริง ในคำนี้ว่า
               ตระกูลช้างชื่อโคจรี กลาปะ คังเคยยะ ปิงคละ ปัพพเตยยกะ เหมวตะ ตัมพะ มันทากินี อุโบสถ ฉัททันตะเป็นที่ครบ ๑๐ เหล่านี้ เป็นยอดของช้างทั้งหลาย

               กำลังอันใดของพระตถาคต เป็นกำลังเท่ากับกำลังของช้างปกติพันโกฎิ โดยนัยเพิ่มด้วยคูณ ๑๐ อย่างนี้ คือกำลังของช้างปกติที่เรียกว่า โคจรี ๑๐ เชือกเท่ากับกำลังของช้างตระกูลกลาปะ ๑ เชือกเป็นต้น กำลังนั้นทั้งหมดก็หมดสิ้นไปเหมือนน้ำที่ใส่ลงในหม้อกรองน้ำ ตั้งแต่เวลาที่เสวยบิณฑบาตของนายจุนทะ.
               ตั้งแต่นครปาวาถึงนครกุสินารา ระยะทาง ๓ คาวุต. ในระหว่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าต้องประทับนั่งพักถึง ๒๕ แห่ง เสด็จมาด้วยอุตสาหะใหญ่ เสด็จเข้าสาลวันในเวลาเย็นพระอาทิตย์ตก. พระโรคก็มาลบล้างความไม่มีโรคเสียสิ้นด้วยประการฉะนี้. เหมือนอย่างทรงแสดงความข้อนี้ เมื่อตรัสพระวาจาให้เกิดความสังเวชแก่สัตว์โลกทั้งปวง จึงตรัสว่า กิลนฺโตสฺมิ อานนฺท นิปชฺชิสฺสามิ อานนท์ ตถาคตลำบากนัก จักนอนละดังนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จมาในที่นี้ด้วยอุตสาหะใหญ่ ไม่อาจไปปรินิพพานในที่อื่นหรือ.
               ตอบว่า ไม่อาจไปปริพพานในที่อื่นก็หามิได้ แต่เสด็จมาในที่นี้ด้วยเหตุ ๓ ประการ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความข้อนี้ว่า เมื่อเราตถาคตปรินิพพานเสียในที่อื่น อัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่องของมหาสุทัสสนสูตรจักไม่มี แต่เมื่อปรินิพพานในนครกุสินารา ตลอดจนแสดงสมบัติที่ตถาคตพึงเสวยในเทวโลก ซึ่งเสวยแล้วในมนุษยโลก ประดับด้วยภาณวาร ๒ ภาณวาร ชนเป็นอันมากฟังธรรมของตถาคตแล้ว จักสำคัญกุศลว่าควรกระทำ.
               อนึ่ง ทรงเห็นความข้ออื่นอีกว่า เมื่อตถาคตปรินิพพานเสียในที่อื่น สุภัททะจักไม่ได้เข้าเฝ้า ด้วยสุภัททะนั้นเป็นเวไนยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นเวไนยของพระสาวก สาวกทั้งหลายไม่อาจแนะนำสุภัททะนั้นได้. แต่ตถาคตปรินิพพานเสียที่นครกุสินารา สุภัททะนั้นก็จักเข้าเฝ้าถามปัญหาได้ และที่สุดการตอบปัญหาเขาก็จักตั้งอยู่ในสรณะ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักเรา รับกัมมัฏฐานแล้วจักบรรลุพระอรหัตเป็นปัจฉิมสาวก ต่อเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่.
               ทรงเห็นความอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อเราตถาคตปรินิพพานเสียในที่อื่น จะเกิดทะเลาะวิวาทกันยกใหญ่ในเวลาแจกพระธาตุ แม่น้ำก็จะหลั่งไหลเป็นสายเลือด แต่เมื่อเราตถาคตปรินิพพานเสียที่นครกุสินารา โทณพราหมณ์จักระงับการวิวาทนั้นแล้วแจกพระธาตุทั้งหลาย.
               พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในที่นี้ด้วยพระอุตสาหะใหญ่อย่างนี้ ก็ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้.
               ในคำว่า สีหเสยฺยํ มีเสยยา การนอน ๔ คือ กามโภคิเสยยา เปตเสยยา สีหเสยยา ตถาเสยยา.๑-
               ในเสยยาทั้ง ๔ นั้น เสยยาที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้บริโภคกาม โดยมากนอนตะแคงซ้าย นี้ชื่อว่ากามโภคิเสยยา ด้วยว่าสัตว์ผู้บริโภคกาม ชื่อว่านอนตะแคงขวาโดยมากไม่มี.
               เสยฺยา ที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โดยมากพวกเปรตนอนหงาย นี้ชื่อว่าเปตเสยยา ด้วยว่า เพราะมีเนื้อและเลือดน้อย พวกเปรตถูกร่างกระดูกรั้งไว้ ไม่อาจนอนตะแคงข้างเดียวได้ จึงนอนหงายอย่างเดียว.
               เสยยา ที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ราชสีห์ราชาแห่งมฤค นอนตะแคงขวา ฯลฯ มีใจยินดี นี้ชื่อว่าสีหเสยยา. ด้วยว่าเพราะเป็นสัตว์มีอำนาจมาก สีหะราชาแห่งมฤคนอนวาง ๒ เท้าหน้าไว้ที่หนึ่ง วาง ๒ เท้าหลังไว้ที่หนึ่ง สอดหางไว้ที่โคนขา กำหนดที่วางเท้าหน้าหลังและหางไว้ วางศีรษะไว้เหนือ ๒ เท้าหน้า แม้นอนกลางวัน เมื่อตื่นก็ไม่สะดุ้งตื่น แต่ชะเง้อศีรษะสำรวจที่วางเท้าหน้าเป็นต้น ถ้าวางผิดที่หน่อยหนึ่ง ก็เสียใจว่านี้ไม่เหมาะแก่ชาติและความแกล้วกล้าของเจ้า ก็นอนเสียในที่นั้นนั่นแหละไม่ออกล่าเหยื่อ แต่เมื่อวางไม่ผิดที่ ก็จะดีใจว่านี้เหมาะแก่ชาติและความแกล้วกล้าของเจ้า แล้วลุกขึ้นสะบัดแบบราชสีห์ สลัดสร้อยคอ แผดสีหนาท ๓ ครั้ง แล้วออกล่าเหยื่อ.
               ส่วนไสยาในฌานที่ ๔ ท่านเรียกว่า ตถาคตไสยา
               ในไสยาเหล่านั้น ในที่นี้มาแต่สีหเสยยา ด้วยว่าสีหไสยานี้เป็นยอดไสยา เพราะเป็นอิริยาบถมากด้วยอำนาจ.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๔๖

               บทว่า ปาเทน ปาทํ ได้แก่ เอาเท้าซ้ายทับเท้าขวา. บทว่า อุจฺจาธาย ได้แก่ เหลื่อมกันคือวางเลยกันไปเล็กน้อย. เมื่อเอาข้อเท้าทับข้อเท้า หรือเอาเข่าทับเข่า จะเกิดเวทนาขึ้นเนืองนิตย์ จิตจะไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง การนอนไม่สบาย แต่เมื่อวางเหลื่อมกัน โดยไม่ให้ทับกัน เวทนาจะไม่เกิด จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง การนอนจะสบาย เพราะฉะนั้น จึงนอนอย่างนี้.
               แต่ในที่นี้ เพราะทรงเข้าถึงอนุฏฐานไสยา ท่านจึงไม่กล่าวว่า ทรงมนสิการถึงอุฏฐานสัญญา. ก็ในที่นี้ พึงทราบอนุฏฐาน การไม่ลุกขึ้นด้วยอำนาจพระวรกาย. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงมีโอกาสแห่งภวังคจิตม่อยหลับตลอดราตรีนั้นเลย
               จริงอยู่ ในปฐมยาม ได้มีการแสดงธรรมโปรดเหล่าเจ้ามัลละ. ในมัชฌิมยาม โปรดสุภัททะ. ในปัจฉิมยามทรงโอวาทภิกษุสงฆ์. ในเวลาใกล้รุ่ง เสด็จปรินิพพาน.
               บทว่า สพฺพผาลิผุลฺลา ความว่า ต้นสาละทั้งคู่บานสะพรั่งดารดาษไป ตั้งแต่โคนต้นจนถึงยอดมิใช่มีต้นสาละทั้งคู่อย่างเดียวเท่านั้น ต้นไม้แม้ทั้งหมดก็ผลิตดอกออกสะพรั่งเหมือนกันไปหมด. มิใช่แต่ในสวนนั้นอย่างเดียวเท่านั้น แม้ในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้น ไม้ดอกก็ผลิดอก ไม้ผลก็ออกผล. ในลำต้นของต้นไม้ทุกต้นมีขันธปทุมบานที่ลำต้น สาขาปทุมบานที่กิ่งทั้งหลาย วัลลิปทุมบานที่เถาว์ อากาสปทุมบานที่อากาศ ทัณฑปทุมแทรกพื้นแผ่นดินขึ้นมาบาน. มหาสมุทรทั้งหมดดาดาษไปด้วยบัว ๕ สี ป่าหิมพานต์กว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ ได้เป็นที่รื่นรมย์ยิ่งนัก เหมือนลำแพนหางนกยูงที่มัดติดกันเป็นพืด เหมือนพวงและช่อดอกไม้ติดกันไม่มีระหว่าง เหมือนดอกไม้ประดับศีรษะ ที่ผูกเบียดกันเป็นอันดี และเหมือนผอบที่มีดอกไม้เต็ม.
               บทว่า เต ตถาคตสฺส สรีรํ โอกิรนฺติ สาละคู่เหล่านั้น ถูกภุมมเทวดาเขย่าต้นกิ่งและค่าคบ โปรยลงสู่พระสรีระของพระตถาคต คือโรยดอกลงบนพระสรีระ. บทว่า อชฺโชกิรนฺติ หล่นเกลื่อนดังประหนึ่งจะท่วม. บทว่า อภิปฺปกิรนฺติ ได้แก่ หล่นเกลื่อนเนืองๆ คือบ่อยๆ .
               บทว่า ทิพฺพานิ ได้แก่ ที่เกิด ณ นันทโปกขรณี ดอกมณฑารพเหล่านั้นมีสีดั่งทอง มีใบประมาณเท่าฉัตรใบไม้. ติดเรณูประมาณทะนานใหญ่ มิใช่ดอกมณฑารพอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นทิพย์ แม้อย่างอื่นก็เป็นทิพย์ เช่น ดอกปาริฉัตรและดอกทองหลางเป็นต้น บรรจุผอบทองเต็ม อันเทวดาผู้อยู่ที่ขอบปากจักรวาลก็ดี ชั้นไตรทศก็ดี ในพรหมโลกก็ดี นำเข้าไปย่อมตกลงจากอวกาศ.
               บทว่า ตถาคตสฺส สรีรํ ความว่า ไม่กระจัดกระจายเสียในระหว่าง มาโปรยปรายเฉพาะพระสรีระของพระตถาคตด้วยกลีบเกษรและละอองเรณู.
               บทว่า ทิพฺพานิปิ จนฺทนจุณฺณานิ ได้แก่ ผงจันทน์ที่สำเร็จรูปของเหล่าเทวดา. มิใช่ผงจันทน์ที่สำเร็จรูปของเทวดาเท่านั้น เป็นของนาค สุบรรณและมนุษย์ด้วย. มิใช่ผงจันทน์อย่างเดียวเท่านั้น ยังมีผงคันธชาตอันเป็นทิพย์ทั้งหมดเช่น กฤษณาและจันทน์แดงเป็นต้น. ผงหรดาลแร่พลวงเงินและทอง ชนิดที่อบด้วยกลิ่นทิพย์ทั้งหมดบรรจุเต็มหีบเงินและทองเป็นต้น ที่เทวดาผู้อยู่ ณ ขอบปากจักรวาลเป็นต้น นำเข้าไปไม่เรี่ยราดเสียในระหว่าง โปรยลงสู่พระสรีระของพระตถาคตเหมือนกัน.
               บทว่า ทิพฺพานิปิ ตุริยานิ ได้แก่ ดุริยางค์สำเร็จของเหล่าเทวดา. มิใช่ดุริยางค์เหล่านั้นอย่างเดียว ยังมีดุริยางค์ของเหล่าเทวดาในหมื่นจักรวาล และนาค ครุฑ มนุษย์ ต่างโดยชนิดขึงสาย หุ้มหนัง ทึบ และโพรงทุกชนิด พึงทราบว่าประชุมกันในจักรวาลอันเดียว บรรเลงกันในอากาศ.
               บทว่า ทิพฺพานิปิ สงฺคีตานิ ความว่า ได้ยินว่า เหล่าเทวดาผู้มีอายุยืน ชื่อว่าวรุณ เทพวารุณเหล่านั้นทราบว่า พระมหาบุรุษบังเกิดในถิ่นมนุษย์ จักเป็นพระพุทธเจ้า แล้วเริ่มร้อยมาลัยด้วยหมายใจว่าจักถือไปในวันปฏิสนธิ. และเทวดานั้นกำลังร้อยมาลัย ทราบว่า พระมหาบุรุษบังเกิดในครรภ์ของมารดา.
               ถูกถามว่า พวกท่านร้อยมาลัยเพื่อใคร
               ตอบว่า ยังไม่เสร็จ แล้วบอกว่า พวกเราร้อยเสร็จแล้ว จักเอาไปในวันเสด็จออกจากพระครรภ์ แล้วทราบว่าเสด็จออกเสียแล้ว คิดว่าจะไปในวันเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทราบแม้ว่า พระมหาบุรุษทรงครองเรือน ๒๙ พรรษาแล้ววันนี้ ก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เสียแล้ว คิดว่าจักไปในวันตรัสรู้ ก็ทราบว่าทรงทำความเพียรใหญ่ตลอด ๖ พรรษา วันนี้ก็ตรัสรู้เสียแล้ว คิดว่าจักไปในวันประกาศธรรมจักร ทราบแม้อีกว่าประทับที่โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ เสด็จไปยังอิสิปตนมฤคทายวัน ประกาศพระธรรมจักร คิดว่าจักไปวันทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ก็ทราบว่าวันนี้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์เสียแล้ว คิดว่าจักไปในวันเสด็จลงจากเทวโลก ทราบว่าวันนี้ก็เสด็จลงจากเทวโลกเสียแล้ว คิดว่าจักไปวันทรงปลงอายุสังขาร ทราบว่าวันนี้ก็ทรงปลงอายุสังขารเสียแล้ว คิดว่ายังทำไม่เสร็จ ก็จักไปในวันปรินิพพาน ทราบว่าวันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมสีหไสยาตะแคงขวา ณ ระหว่างสาละคู่ มีพระสติสัมปชัญญะ จักปรินิพพานเวลาจวนรุ่ง
               แต่แว่วเสียงถามว่า พวกท่านร้อยมาลัยเพื่อใคร
               กล่าวว่า นี่อะไรกันหนอ วันนี้นี่เอง พระมหาบุรุษทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมารดา วันนี้ก็ออกจากพระครรภ์ของมารดา วันนี้ก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ วันนี้ก็เป็นพระพุทธเจ้า วันนี้ก็ประกาศพระธรรมจักร วันนี้ก็แสดงยมกปาฏิหาริย์ วันนี้ก็เสด็จลงจากเทวโลก วันนี้ก็ทรงปลงอายุสังขาร ทราบว่า วันนี้ก็จักเสด็จปรินิพพาน พระองค์พึงทรงดำรงอยู่ชั่วดื่มยาคู ในวันที่ ๒ หรือไม่หนอ ข้อนี้ไม่สมควรแก่พระองค์ ผู้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ แล้วบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า จำเราจักถือเอาพวงมาลัยที่ยังไม่เสร็จมา เมื่อไม่ได้โอกาสภายในจักรวาล ก็จักคล้องที่ขอบปากจักรวาล วิ่งแล่นไปตามขอบปากจักรวาล เอาหัตถ์เกี่ยวหัตถ์เรียงศอสลอน ขับกล่อมปรารภพระรัตนตรัย ปรารภมหาปุริสลักษณะ ๓๒ พระฉัพพัณรังสี ทสบารมี ชาดก ๕๕๐ พระพุทธญาณ ๑๔ ในที่สุดแห่งพระพุทธคุณนั้นๆ ก็ต้องละไปๆ.
               ท่านอาศัยสังคีตะนั้น จึงกล่าวคำนี้ว่า ทิพฺพานิปิ สงฺคีตานิ อนฺตลิกฺเข วชฺชนฺติ ตถาคตสฺส ปูชาย ทั้งสังคีตที่เป็นทิพย์ ก็บรรเลงในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต ดังนี้.
               ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมตะแคงข้างขวา ระหว่างต้นสาละคู่ ทรงเห็นความอุตสาหะอย่างใหญ่ของบริษัทที่ประชุมกันตั้งแต่ปฐพีจดขอบปากจักรวาล และตั้งแต่ขอบปากจักรวาลจดพรหมโลก จึงตรัสบอกท่านพระอานนท์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข ภควา อายสฺมนฺตํ อานนฺทํ ฯเปฯ ตถาคตสฺส ปูชาย.
               ครั้นทรงแสดงมหาสักการะอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงความที่พระองค์เป็นผู้อันบริษัทไม่สักการะด้วยมหาสักการะแม้นั้น จึงตรัสว่า น โข อานนฺท เอตฺตาวตา เป็นต้น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ เราตถาคตหมอบอยู่แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ประชุมธรรม ๘ ประการ เมื่อจะกระทำอภินิหาร มิใช่กระทำอภินิหาร เพื่อประโยชน์แก่พวงมาลัยของหอม และดุริยางค์สังคีต มิใช่บำเพ็ญบารมีทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่สิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เราตถาคต ไม่ชื่อว่าเขาบูชาแล้วด้วยการบูชาอันนี้เลย.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญวิบาก ที่แม้พระพุทธญาณก็กำหนดไม่ได้ของการบูชาที่บุคคลถือเพียงดอกฝ้ายดอกเดียว ระลึกถึงพระพุทธคุณบูชาแล้วไว้ในที่อื่น ในที่นี้กลับทรงคัดค้านการบูชาใหญ่อย่างนี้.
               ตอบว่า เพราะเพื่อจะทรงอนุเคราะห์บริษัทอย่างหนึ่ง เพื่อประสงค์จะให้พระศาสนาดำรงยั่งยืนอย่างหนึ่ง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่พึงคัดค้านอย่างนั้นไซร้ ต่อไปในอนาคต พุทธบริษัทก็ไม่ต้องบำเพ็ญศีลในฐานะที่ศีลมาถึง จักไม่ให้สมาธิบริบูรณ์ในฐานะที่สมาธิมาถึง ไม่ให้ถือห้องคือวิปัสสนาในฐานะที่วิปัสสนามาถึง ชักชวนแล้วชักชวนอีกซึ่งอุปัฏฐากกระทำการบูชาอย่างเดียวอยู่.
               จริงอยู่ ชื่อว่าอามิสบูชานั้นไม่สามารถจะดำรงพระศาสนาแม้ในวันหนึ่งบ้าง แม้ชั่วดื่มข้าวยาคูครั้งหนึ่งบ้าง. จริงอยู่ วิหารพันแห่งเช่นมหาวิหาร เจดีย์พันเจดีย์เช่นมหาเจดีย์ก็ดำรงพระศาสนาไว้ไม่ได้. บุญผู้ใดทำไว้ก็เป็นของผู้นั้นผู้เดียว ส่วนสัมมาปฏิบัติ ชื่อว่าเป็นบูชาที่สมควรแก่พระตถาคต. เป็นความจริง ปฏิบัติบูชานั้นชื่อว่าดำรงอยู่แล้ว สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงปฏิบัติบูชานั้น จึงตรัสว่า โย โข อานนฺท เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ได้แก่ ปฏิบัติปุพพภาคปฏิปทา อันเป็นธรรมสมควร. ก็ปฏิปทานั่นแล ท่านเรียกว่า สามีจิ ชอบยิ่ง เพราะเป็นปฏิปทาอันสมควร. ชื่อว่า สามีจิปฏิปนฺโน เพราะปฏิบัติธรรมอันชอบยิ่ง. ชื่อว่า อนุธมฺมจารี เพราะประพฤติบำเพ็ญธรรมอันสมควร กล่าวคือ บุพพภาคปฏิปทานั้นนั่นแล. ก็ศีล อาจารบัญญัติ การสมาทานธุดงค์ สัมมาปฏิปทาถึงโคตรภูญาณ พึงทราบว่า ปุพพภาคปฏิปทา.
               เพราะฉะนั้น ภิกษุตั้งอยู่ในอคารวะ ๖ ละเมิดพระบัญญัติ เลี้ยงชีวิตด้วยอเนสนา ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม. ส่วนภิกษุใดไม่ละเมิดสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้วแก่ตนทั้งหมดที่ขีดขั่น เขตแดนและเส้นบรรทัดของพระชินเจ้าแม้มีประมาณน้อย ภิกษุนี้ชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.
               แม้ในภิกษุณีก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็อุบาสกใดยึดเวร ๕ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประพฤติไว้แนบแน่น อุบาสกนี้ชื่อว่าไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม. ส่วนอุบาสกปฏิบัติให้สมบูรณ์ในสรณะ ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ รักษาอุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง ถวายทาน บูชาด้วยของหอม บูชาด้วยมาลา บำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ อุบาสกผู้นี้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.
               แม้ในอุบาสิกาก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ปรมาย ปูชาย แปลว่า ด้วยบูชาสูงสุด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า แท้จริง ชื่อว่านิรามิสบูชา นี้สามารถดำรงพระศาสนาของเราไว้ได้. จริงอยู่ บริษัท ๔ นี้จักบูชาเราด้วยการบูชานี้เพียงใด ศาสนาของเราก็จะรุ่งเรืองดุจจันทร์เพ็ญลอยเด่นกลางท้องฟ้าฉะนั้น.

               อุปวาณตฺเถรวณฺณนา               
               บทว่า อปสาเทสิ แปลว่า จงออกไป. บทว่า อเปหิ แปลว่า จงหลีกไป.
               ด้วยพระดำรัสคำเดียวเท่านั้น พระเถระก็วางพัดใบตาลแล้วยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความที่พระองค์ไม่มีอุปัฏฐากประจำในปฐมโพธิกาล จึงตรัสคำนี้ว่า อุปฎฺฐาโก เป็นต้น. เมื่อพระเถระทูลอย่างนี้ว่า นี้ท่านอุปวาณะเจ้าข้า. พระอานนท์กำหนดความที่พระอุปวาณะมีความผิดว่า เอาเถอะ เราจักกราบทูลความที่พระอุปวาณะนั้นไม่มีความผิด พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เยภุยฺเยน อานนฺท เป็นต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เยภุยฺเยน นี้ ท่านกล่าวหมายเอาอสัญญีสัตว์และอรูปเทวดาถูกเมินเฉย. บทว่า อปฺผุโฏ ได้แก่ ไม่สัมผัส หรือไม่แตะต้อง.
               ได้ยินว่า ในส่วนที่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเจ้า เทวดาผู้มีศักดาใหญ่เนรมิตอัตตภาพอันละเอียดในโอกาสเท่าปลายขนทราย ๑๐ องค์ๆ. ข้างหน้าแห่งเทวดา ๑๐ องค์ๆ นั้น มีเทวดา ๒๐ องค์ๆ. ข้างหน้าเทวดา ๒๐ องค์ๆ มีเทวดา ๓๐ องค์ๆ ข้างหน้าเทวดา ๓๐ องค์ๆ มีเทวดา ๔๐ องค์ๆ ข้างหน้า เทวดา ๔๐ องค์ๆ มีเทวดา ๕๐ องค์ๆ ข้างหน้าเทวดา ๕๐ องค์ๆ มีเทวดายืนเฝ้าอยู่ ๖๐ องค์ๆ เทวดาเหล่านั้นเบียดกันและกันด้วยมือเท้าหรือผ้า. ไม่มีเหตุที่จะพึงกล่าวว่า ออกไปอย่าเบียดเสียดเรา.
               เทวดาทั้งหลายก็เป็นเช่นกับที่ตรัสไว้ว่า สารีบุตร เทวดาเหล่านั้นแล ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๖๐ องค์บ้าง ยืนในโอกาสแม้เพียงปลายเหล็กแหลมจรดกัน ไม่เบียดซึ่งกันและกันเลย.
____________________________
๑- องฺ. ทุก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๒๘๑

               บทว่า โอธาเรนฺโต แปลว่า ยืนบัง. ได้ยินว่า พระเถระร่างใหญ่เช่นกับลูกช้าง ห่มผ้าบังสุกุลจีวร ก็ดูเหมือนใหญ่มาก.
               บทว่า ตถาคตสฺส ทสฺสนาย ความว่า เทวดาทั้งหลาย เมื่อไม่ได้เห็นพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงติเตียนอย่างนี้.
               ถามว่า ก็เทวดาเหล่านั้นไม่สามารถมองทะลุพระเถระหรือ.
               ตอบว่า ไม่สามารถสิ. ด้วยว่า เหล่าเทวดาสามารถมองทะลุเหล่าปุถุชนได้ แต่มองทะลุเหล่าพระขีณาสพไม่ได้ ทั้งไม่อาจเข้าไปใกล้ด้วย. เพราะพระเถระมีอานุภาพมาก มีอำนาจมาก.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงมีอำนาจมาก ผู้อื่นไม่เป็นพระอรหันต์หรือ.
               ตอบว่า เพราะท่านเป็นอารักขเทวดาในเจดีย์ของพระกัสสปพุทธเจ้าอยู่.
               เล่ากันว่า เมื่อพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ชนทั้งหลายได้พากันสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง บรรจุพระสารีริกธาตุสรีระอันเป็นเช่นกับแท่งทองคำทึบ. จริงอยู่ พระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุยืน ย่อมมีพระเจดีย์องค์เดียวเท่านั้น คนทั้งหลายใช้แผ่นอิฐทองยาว ๑ ศอก กว้างหนึ่งคืบ หนา ๘ นิ้ว ก่อพระเจดีย์นั้นประสานด้วยหรดาลและมโนศิลาแทนดิน ชะโลมด้วยน้ำมันงาแทนน้ำ แล้วสถาปนาประมาณโยชน์หนึ่ง. ต่อนั้นภุมมเทวดาก็โยชน์หนึ่ง จากนั้นก็อาสัฏฐกเทวดา จากนั้นก็อุณหวลาหกเทวดา จากนั้นก็อัพภวลาหกเทวดา จากนั้นก็เทวดาชั้นจาตุมมหาราช จากนั้นเทวดาชั้นดาวดึงส์สถาปนาโยชน์หนึ่ง. พระเจดีย์จึงมี ๗ โยชน์ด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อผู้คนถือเอามาลัยของหอมและผ้าเป็นต้นมา อารักขเทวดาทั้งหลายก็พากันถือดอกไม้มาบูชาพระเจดีย์ทั้งที่ผู้คนเหล่านั้นเห็นอยู่. ครั้งนั้น พระเถระนี้เป็นพราหมณ์มหาศาล ถือผ้าเหลืองผืนหนึ่งไป. เทวดาก็รับผ้าจากมือพราหมณ์นั้นไปบูชาพระเจดีย์.
               พราหมณ์เห็นดังนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตกาล แม้เราก็จักเป็นอารักขเทวดาในพระเจดีย์ของพระพุทธเจ้าเห็นปานนี้ ดังนี้แล้ว จุติจากอัตตภาพนั้น ก็ไปบังเกิดในเทวโลก. เมื่อพราหมณ์นั้นท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลกและเทวโลก.
               พระกัสสปะผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติในโลกแล้วปรินิพพาน. พระธาตุสรีระของพระองค์ก็มีแห่งเดียวเท่านั้น. ผู้คนทั้งหลายนำพระธาตุสรีระนั้น สร้างพระเจดีย์โยชน์หนึ่ง. พราหมณ์เป็นอารักขเทวดาในพระเจดีย์นั้น เมื่อพระศาสดาอันตรธานไป. ก็บังเกิดในสวรรค์ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว ถือปฏิสนธิในตระกูลใหญ่ ออกบวชแล้วบรรลุพระอรหัต.
               พึงทราบว่า พระเถระมีอำนาจมาก เพราะเป็นอารักขเทวดาในพระเจดีย์มาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยบทว่า เทวตา อานนฺท อุชฺฌายนฺติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ดูก่อนอานนท์ เหล่าเทวดาติเตียน มิใช่บุตรเรามีความผิดอะไรอื่น. เพราะเหตุไร ท่านพระอานนท์จึงทูลว่า พระเจ้าข้า เหล่าเทวดาเป็นอย่างไร จึงใส่ใจ. ทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า เหล่าเทวดาติเตียน ก็เหล่าเทวดานั้นเป็นอย่างไร จึงใส่ใจพระองค์ จะยับยั้งการปรินิพพานของพระองค์หรือ. เมื่อเป็นดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงภาวะที่เหล่าเทวดาเหล่านั้นยับยั้งไม่ได้ว่า เราไม่กล่าวเหตุแห่งการยับยั้ง จึงตรัสว่า สนฺตานนฺท เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อากาเส ปฐวีสญฺญินิโย ได้แก่ เนรมิตแผ่นดินในอากาศมีความสำคัญในอากาศนั้นว่าเป็นแผ่นดิน. บทว่า กนฺทนฺติ แปลว่า ร้องไห้. บทว่า ฉินฺนปาทํ วิย ปปตนฺติ ได้แก่ ล้มฟาดลงดังขาดกลางตัว. บทว่า วิวฏฺฏนฺติ ได้แก่ ล้มลงกลิ้งไป. อีกอย่างหนึ่ง ล้มกลิ้งไปข้างหน้าที ข้างหลังที ข้างซ้ายที ข้างขวาที เรียกกันว่ากลิ้งเกลือก.
               บทว่า สนฺตานนฺท เทวตา ปฐวียํ ปฐวีสญฺญินิโย ความว่า ได้ยินว่า เหล่าเทวดาไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ เหนือแผ่นดินปกติ. เหล่าเทวดาย่อมจมลงในแผ่นดินนั้น เหมือนหัตถกพรหม.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนหัตถกะ ท่านจงเนรมิตอัตภาพอย่างหยาบ.๒- เพราะฉะนั้น ท่านหมายเอาเหล่าเทวดาที่เนรมิตแผ่นดินในแผ่นดิน จึงกล่าวว่า เหล่าเทวดามีความสำคัญในแผ่นดินว่าเป็นแผ่นดิน.
               บทว่า วีตราคา ได้แก่ เหล่าเทวดาที่เป็นพระอนาคามีและขีณาสพที่มีโทมนัสอันละได้แล้วเช่นเดียวกับเสาหิน.
____________________________
๒- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๖๗

               จตุสํเวชนียฏฺฐานวณฺณนา               
               บทว่า วสฺสํ วุฎฺฐา ความว่า ได้ยินว่า ครั้งพุทธกาล ภิกษุประชุมกัน ๒ เวลา คือ จวนเข้าพรรษาเพื่อรับกัมมัฏฐาน ๑ ออกพรรษาแล้วเพื่อบอกกล่าวคุณวิเศษที่บังเกิดเพราะการประกอบเนืองๆ ซึ่งพระกัมมัฏฐานที่รับมาแล้ว ๑.
               ครั้งพระพุทธกาลฉันใด แม้ในเกาะสีหลก็ฉันนั้น. ภิกษุที่อยู่ฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้นประชุมกันที่โลหประสาท ภิกษุที่อยู่ฝั่งแม่น้ำคงคาอีกฝั่งหนึ่ง ก็ประชุมกันที่ติสมหาวิหาร. ในภิกษุ ๒ พวกนั้น ภิกษุพวกที่อยู่ฝั่งแม่น้ำคงคาฝั่งโน้น ถือเอาไม้กวาดสำหรับกวาดขยะทิ้งแล้วประชุมกันที่มหาวิหาร โบกปูนพระเจดีย์ ออกพรรษาแล้วก็มาประชุมกันที่โลหประสาท ทำวัตรอยู่ในที่อันผาสุก ออกพรรษาแล้วก็มาสวดบาลีและอรรถกถาที่ตนช่ำชองแล้วที่โรงเรียนนิกายทั้ง ๕ ในโลหปราสาท. พิจารณาถึงภิกษุที่เรียนบาลีหรืออรรถกถาผิดพลาดว่าท่านเรียนในสำนักใครให้ยึดถือไว้ให้ตรง. ฝ่ายภิกษุที่อยู่ในแม่น้ำคงคาอีกฝ่ายหนึ่งก็ประชุมกันในติสสมหาวิหาร.
               บรรดาภิกษุที่ประชุม ๒ เวลาอย่างนี้ ภิกษุเหล่าใดเรียนกัมมัฏฐานก่อนเข้าพรรษาไปแล้วกลับมาบอกคุณวิเศษ
               ท่านหมายเอาภิกษุเห็นปานนั้นจึงกล่าวว่า ปุพฺเพ ภนฺเต วสฺสํ วุตฺถา เป็นต้น.
               บทว่า มโนภาวนีเย ได้แก่ ให้เจริญแล้วอบรมแล้วด้วยใจ. อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดเจริญเพิ่มพูนมโนมนะ ลอยกิเลสดุจธุลีมีราคะเป็นต้นเสีย ภิกษุเห็นปานนั้น. ได้ยินว่า พระเถระถึงพร้อมด้วยวัตรพบภิกษุแก่ก็แข็ง ไม่ยอมนั่งออกไปต้อนรับ รับร่มบาตรจีวรและเคาะตั่งถวาย เมื่อท่านนั่งในที่นั้นแล้วก็ทำวัตรจัดเสนาสนะถวาย พบภิกษุใหม่ก็นิ่งยังไม่นั่ง เข้าไปหาใกล้ๆ พระเถระนั้นปราศจากความไม่เสื่อมแห่งวัตรปฏิบัตินั้น จึงได้กล่าวอย่างนี้.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า อานนท์คิดว่าเราจักไม่ได้พบภิกษุที่น่าเจริญใจ เอาเถอะ เราจักบอกสถานที่จะพบภิกษุผู้น่าเจริญใจแก่เธอ ที่เธออยู่ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา ก็จักได้พบเหล่าภิกษุที่น่าเจริญใจได้ ดังนี้ แล้วจึงตรัสว่า จตฺตาริมานิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺธสฺส ความว่า วัตรทั้งหมดมีเจติยังคณวัตรเป็นต้นที่เธอทำตั้งแต่เช้า ย่อมปรากฏแก่กุลบุตรผู้มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร.
               บทว่า ทสฺสนียานิ ได้แก่ ควรจะเห็น คือควรไปเพื่อจะเห็น. บทว่า สํเวชนียานิ ได้แก่ ให้เกิดสลดใจ. บทว่า ฐานานิ ได้แก่ เหตุหรือถิ่นสถาน.
               คำว่า เย หิ เกจิ นี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงการจาริกไปในเจดีย์มีประโยชน์.
               บรรดาบทเหล่านั้นด้วยบทว่า เจติยจาริกํ อาหิณฺฑนฺตา ท่านแสดงว่า ก่อนอื่น ภิกษุเหล่าใดกวาดลานพระเจดีย์ในที่นั้นๆ ชำระอาสนะ รดน้ำที่ต้นโพธิ์แล้วเที่ยวไป ในภิกษุเหล่านั้นไม่จำต้องกล่าวถึงเลย. เหล่าภิกษุที่ออกไปจากวัดด้วยคิดว่า จักไปไหว้พระเจดีย์ในวัดโน้น มีจิตเลื่อมใส แม้กระทำกาละในระหว่างๆ ก็จักบังเกิดในสวรรค์โดยไม่มีอันตรายเลย.

               มาตุคาเม ปฏิปตฺติวณฺณนา               
               ด้วยบทว่า อทสฺสนํ อานนฺท ทรงแสดงว่า การไม่เห็นมาตุคามเสียได้เลย เป็นข้อปฏิบัติธรรมอันสมควรในข้อนี้.
               จริงอยู่ ภิกษุเปิดประตูนั่งบนเสนาสนะ ตราบใดที่ไม่เห็นมาตุคามที่มายืนอยู่ที่ประตู ตราบนั้น ภิกษุนั้นย่อมไม่เกิดโลภ จิตไม่หวั่นไหวโดยส่วนเดียวเท่านั้น. แต่เมื่อยังเห็นอยู่แม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นก็พึงมี.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อทสฺสนํ อานนฺท
               ด้วยบทว่า ทสฺสเน ปน ภควา สติ กถํ พระอานนท์ทูลถามว่า เมื่อการเห็นในที่ๆ ภิกษุเข้าไปรับภิกษาเป็นต้น ภิกษุจะพึงปฏิบัติอย่างไร. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุรุษผู้ยืนถือมีดด้วยกล่าวว่า ถ้าท่านพูดกับเราๆ จะตัดศีรษะท่านเสียในที่นี้แหละ หรือนางยักษิณียืนพูดว่า ถ้าท่านพูดกับเราๆ จะแล่เนื้อท่านเคี้ยวกินเสียในที่นี้ นี่แหละยังจะดีกว่า เพราะความพินาศเหตุมีข้อนั้นเป็นปัจจัย ย่อมมีได้อัตตภาพเดียวเท่านั้น ไม่ต้องเสวยทุกข์ที่กำหนดไม่ได้ในอบายทั้งหลาย ส่วนเมื่อมีการเจรจาปราศรัยกับมาตุคามอยู่ ความคุ้นก็มี เมื่อมีความคุ้น ช่องทางก็มี ภิกษุผู้มีจิตถูกราคะครอบงำก็ถึงความพินาศแห่งศีล ต้องไปเต็มอยู่ในอบาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนาลาโป ดังนี้.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   บุคคลพึงพูดกับบุคคลผู้มีดาบในมือ กับปีศาจ
                         นั่งชิดกับอสรพิษ ผู้ที่ถูกคนมีดาบ ปีศาจ อสรพิษกัด
                         แล้วย่อมไม่มีชีวิต ภิกษุพูดกับมาตุคามสองต่อสอง
                         ก็ไม่มีชีวิตเหมือนกัน.

____________________________
๑- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๕๕

               บทว่า อาลปนฺเน ปน ความว่า ถ้ามาตุคามถามวันขอศีล ใคร่ฟังธรรม ถามปัญหา ก็หรือมีกิจกรรมที่บรรพชิตจะพึงทำแก่มาตุคามนั้น มาตุคามนั้นก็จะพูดกะภิกษุผู้ไม่พูดในเวลาเห็นปานนี้ว่า ภิกษุองค์นี้เป็นใบ้หูหนวก ฉันแล้วก็นั่งปากแข็ง เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงพูดโดยแท้.
               ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า พระเจ้าข้า ภิกษุเมื่อพูดอย่างนี้ จะพึงปฏิบัติอย่างไร.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาพระโอวาทที่ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงตั้งจิตคิดว่ามารดาในสตรีปูนมารดา ตั้งจิตคิดว่าพี่สาวในสตรีปูนพี่สาว ตั้งจิตคิดว่าลูกสาวในสตรีปูนลูกสาว๒- จึงตรัสว่า อานนท์ พึงตั้งสติไว้.
____________________________
๒- สํ. ส. เล่ม ๑๘/ข้อ ๑๙๕

               บทว่า อพฺยาวฏา ได้แก่ ไม่เกี่ยวพัน ไม่ขวนขวาย.
               บทว่า สทตฺเถ ฆฏถ ได้แก่ พยายามในพระอรหัตอันเป็นประโยชน์สูงสุด.
               บทว่า อนุยุญฺชถ ได้แก่ จงประกอบเนืองๆ เพื่อบรรลุพระอรหัตนั้น.
               บทว่า อปฺปมตฺตา ได้แก่ ไม่อยู่ปราศจากสติ. ชื่อว่าผู้มีเพียร เพราะประกอบด้วยธรรมเครื่องย่างกิเลส คือความเพียร. ชื่อว่ามีตนส่งไป คือมีจิตส่งไปอยู่ เพราะเป็นผู้ไม่อาลัยในกายและชีวิต.
               ด้วยบทว่า กถํ ปน ภนฺเต ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า ชนเหล่านั้นมีกษัตริย์บัณฑิตเป็นต้น จะพึงปฏิบัติอย่างไร เขาจักสอบถามข้าพระองค์แน่แท้ว่า ท่านอานนท์ เราจะพึงปฏิบัติในพระสรีระของพระตถาคตอย่างไร ข้าพระองค์จะให้คำตอบแก่เขาอย่างไร.
               บทว่า อหเตน วตฺเถน ได้แก่ ผ้าใหม่ที่ทำในแคว้นกาสี ไม่ซึมน้ำมัน เพราะเนื้อละเอียด แต่ผ้าสำลีซึม เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วิหเตน กปฺปาเสน.
               บทว่า อยสาย ได้แก่ รางทอง. ก็รางทอง ท่านประสงค์เอาว่า อยสํ ในที่นี้.

               ถูปารหปุคฺคลวณฺณนา               
               ถามว่า ในคำว่า ราชา จกฺกวตฺติ เหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตการสร้างสถูปแก่พระราชาผู้อยู่กลางเรือนสวรรคตแล้ว ไม่ทรงอนุญาตสำหรับภิกษุผู้มีศีล.
               ตอบว่า เพราะไม่อัศจรรย์.
               แท้จริง เมื่อทรงอนุญาตสถูป สำหรับภิกษุปุถุชน ก็ไม่พึงมีโอกาสสำหรับสถูปทั้งหลายในเกาะสีหล ถึงในที่อื่นๆ ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สถูปเหล่านั้นไม่อัศจรรย์ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ทรงอนุญาต. พระเจ้าจักรพรรดิบังเกิดพระองค์เดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น สถูปของพระองค์จึงอัศจรรย์. ส่วนสำหรับภิกษุปุถุชนผู้มีศีล จะทำสักการะแม้อย่างใหญ่ อย่างภิกษุผู้ปรินิพพานก็ควรเหมือนกัน.

               อานนฺทคุณกถาวณฺณนา               
               ส่วนโรงกลม ท่านประสงค์เอาว่าวิหาร ในคำว่าวิหารนี้. เข้าไปสู่วิหารนั้น.
               บทว่า กปิสีสํ ได้แก่ ไม้กลอนที่ตั้งอยู่ในที่ปลายเท้าแขนประตู.
               บทว่า โรทมาโน อฎฺฐาสิ ความว่า ได้ยินว่า ท่านพระอานนท์คิดว่า พระศาสดาตรัสสถานที่อยู่ซึ่งให้เกิดความสังเวชแก่เรา ตรัสการจาริกไปในเจดีย์ว่า มีประโยชน์ ตรัสตอบปัญหาเรื่องที่จะพึงปฏิบัติในมาตุคาม ตรัสบอกการปฏิบัติในสรีระของพระองค์ ตรัสถูปารหบุคคล ๔ จำพวก วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแน่. เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้วก็เกิดโทมนัสอย่างรุนแรง. ครั้งนั้น ท่านปริวิตกอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการร้องไห้ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ผาสุก เราจักไปในที่ส่วนหนึ่ง บรรเทาความโศกให้เบาบาง. ท่านได้ทำเหมือนอย่างนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระอานนท์ยืนร้องไห้.
               บทว่า อหญฺจ วตมฺหิ ตัดเป็น อหญฺจ วต อมฺหิ. ปาฐะว่า อหํ วตมฺหิ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า โย มม อนุกมฺปโก แปลว่า ผู้ใดอนุเคราะห์สั่งสอนเรา. พูดกันมาว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ เดี๋ยวนี้ เราจักถวายน้ำสำหรับล้างพระพักตร์แก่ใคร จะล้างพระบาทแก่ใคร จักปฏิบัติเสนาสนะแก่ใคร จักรับบาตรและจีวรของใคร จาริกไป.
               บทว่า อามนฺเตสิ ได้แก่ ไม่เห็นพระเถระในระหว่าง จึงตรัสเรียก.
               บทว่า เมตฺเตน กายกมฺเมน ได้แก่ ด้วยกายกรรมมีอันถวายน้ำล้างพระพักตร์เป็นต้น ที่ปฏิบัติไปด้วยอำนาจจิตมีเมตตา.
               บทว่า หิเตน ได้แก่ อันกระทำไปเพื่อความเจริญแห่งประโยชน์เกื้อกูล. บทว่า สุเขน ได้แก่ อันกระทำไปด้วยอำนาจสุขกายสุขใจ. อธิบายว่า ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ.
               บทว่า อทฺวเยน ได้แก่ ไม่กระทำให้เป็น ๒ ส่วน. ท่านอธิบายว่า ทำต่อหน้าไม่ทำลับหลังอย่างหนึ่ง ทำลับหลังไม่ทำต่อหน้าอย่างหนึ่ง ทำไม่แบ่งแยกอย่างนั้น.
               บทว่า อปฺปมาเณน ได้แก่ เว้นจากประมาณ. ทรงแสดงว่า จริงอยู่ แม้จักรวาลคับแคบนัก แม้ภวัคคพรหมก็ต่ำนัก เพราะกายกรรมที่ท่านทำมา.
               บทว่า เมตฺเตน วจีกมฺเมน ได้แก่ วจีกรรมมีบอกเวลาล้างพระพักตร์เป็นต้น ที่ปฏิบัติไปด้วยอำนาจจิตมีเมตตา. อีกอย่างหนึ่ง แม้ฟังโอวาทแล้วทูลว่า สาธุ ภนฺเต ดีละ พระเจ้าข้า. จัดเป็นเมตตาวจีกรรมเหมือนกัน.
               บทว่า เมตฺเตน มโนกมฺเมน ความว่า ด้วยมโนกรรมที่ปฏิบัติแต่เช้าตรู่ แล้วนั่งบนอาสนะอันสงัดแล้วปฏิบัติอย่างนี้ว่า ขอพระศาสดาจงเป็นผู้ไม่มีโรค ไม่มีทุกข์เบียดเบียน จงเป็นสุขเถิด.
               ด้วยคำว่า กตปุญฺโญสิ ทรงแสดงว่า ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร (บุญเก่า) ตลอดแสนกัป. ด้วยบทว่า กตปุญฺโญมฺหิ ทรงแสดงว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เธออย่าวางใจประมาท โดยที่แท้จงประกอบความเพียรเนืองๆ เธอประกอบความเพียรเนืองๆ อย่างนี้แล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน จักบรรลุพระอรหัตในเวลาสังคายนาธรรม ก็การปรนนิบัติที่เธอกระทำแก่พระพุทธเจ้าเช่นเรา ชื่อว่าไร้ผลหามิได้. ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ทรงเริ่มพรรณนาคุณของพระอานนท์ ประหนึ่งแผ่ไปทั่วมหาปฐพี ประหนึ่งแผ่ไปทั่วอวกาศ ประหนึ่งยกสู่ยอดจักรวาลคีรี ประหนึ่งยกสิเนรุบรรพต ประหนึ่งจับต้นหว้าใหญ่เขย่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย.
               ในพระบาลีนั้น เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสว่า เยปิ เต ภิกฺขเว เอตรหิ. เพราะพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ไม่มี. แต่พึงทราบคำนั้น โดยพระบาลีนี้ว่า พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ แม้ในระหว่างแห่งจักรวาลไม่มีฉันใด.
               บทว่า ปณฺฑิโต แปลว่า เฉียบแหลม. บทว่า กุสโล ได้แก่ ฉลาด ในธรรมมีขันธ์ธาตุ และอายตนะเป็นต้น.
               บทว่า ภิกขุปริสา อานนฺทํ ทสฺสนาย ความว่า ชนเหล่าใดประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าไปหาพระเถระ และชนเหล่าใดมาได้ยินคุณของพระเถระว่า ได้ยินว่า ท่านพระอานนท์น่าเลื่อมใสรอบด้าน งามน่าชม เป็นพหุสูต ผู้งามในสงฆ์ ท่านหมายเอาชนเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ภิกษุบริษัทเข้าไปพบพระอานนท์. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้.
               บทว่า อตฺตมนา ชื่อว่า มีใจเป็นของตน คือมีจิตยินดีเพราะเห็นสมด้วยการฟังมา.
               บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ ธรรมคือปฏิสันถารเห็นปานนี้ว่า ผู้มีอายุ พอทนได้หรือ พอเป็นไปได้หรือ เธอจงทำกิจในโยนิโสมนสิการ จงบำเพ็ญอาจาริยวัตรและอุปัชฌายวัตร.
               ในธรรมคือปฏิสันถารนั้น มีการกระทำที่ต่างกันในภิกษุณีทั้งหลายดังนี้ว่า ภิกษุณีทั้งหลาย ๔ พวก ท่านสมาทานประพฤติครุธรรม ๘ บ้างละหรือ. เมื่ออุบาสกทั้งหลายมาไม่กระทำปฏิสันถารอย่างนี้ว่า ท่านไม่เจ็บปวดศีรษะหรืออวัยวะบ้างหรือ. แต่จะกระทำปฏิสันถารอย่างนี้ว่า ท่านอุบาสกทั้งหลาย สรณะ ๓ เป็นอย่างไร ท่านรักษาศีล ๕ รักษาศีลอุโบสถเดือน ๘ ครั้ง จงกระทำวัตรคือการบำรุงมารดาบิดา จงปฏิบัติสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม. ในอุบาสิกาทั้งหลายก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงกระทำข้อเปรียบเทียบกับพระเจ้าจักรพรรดิสำหรับพระอานนท์เถระ จึงตรัสว่า จตฺตาโรเม ภิกฺขเว เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขตฺติยา ได้แก่ ชาติกษัตริย์ผู้ได้รับมุรธาภิเษก และมิได้รับมุรธาภิเษก.
               ได้ยินว่า กษัตริย์เหล่านั้นสดับคำพรรณนาคุณของจักรพรรดินั้นว่า ธรรมดาว่าพระเจ้าจักรพรรดิงามน่าชม น่าเลื่อมใส สัญจรไปได้ทางอากาศ เถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงธรรม เป็นธรรมราชาดังนี้ ย่อมดีใจในเมื่อได้เห็น สมด้วยได้ยินพระคุณ.
               บทว่า ภาสติ ได้แก่ ทรงกระทำปฏิสันถารว่า พ่อเอ๋ย อย่างไรเรียกว่าบำเพ็ญราชธรรม อย่างไรเรียกว่ารักษาประเพณี. แต่ในพราหมณ์ทั้งหลาย ทรงกระทำปฏิสันถารอย่างนี้ว่า ท่านอาจารย์ อย่างไรชื่อว่าสอนมนต์ เหล่าศิษย์ก็เรียนมนต์ พวกท่านจงทำทักษิณา ผ้า หรือโคแดง. ในคฤหบดีทั้งหลาย ทรงทำปฏิสันถารอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย พวกท่านไม่ถูกเบียดเบียนด้วยอาชญา หรือด้วยภาษีอากรจากพระราชามีบ้างหรือ ฝนตกต้องตามฤดูกาลไหม ข้าวกล้าสมบูรณ์ไหม. ในสมณะทั้งหลายก็ทรงทำปฏิสันถารอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า บริขารสำหรับบรรพชิตหาได้ง่ายไหม พวกท่านอย่าประมาทในสมณธรรม.

               มหาสุทสฺสนสุตฺตเทสนาวณฺณนา               
               บทว่า ขุทฺทกนครเก ได้แก่ นครเล็กที่คับแคบ เป็นนครที่ยังต้องพัฒนา.
               บทว่า อุชฺชงฺคลนครเก ได้แก่ นครที่มีพื้นไม่เรียบ.
               บทว่า สาขนครเก ได้แก่ นครเล็กเสมือนกิ่งของนครใหญ่อื่น เหมือนกิ่งเล็กๆ ของต้นไม้ทั้งหลายฉะนั้น.
               บทว่า ขตฺติยมหาสาลา ได้แก่ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นขัตติยมหาศาล.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               บรรดามหาศาลเหล่านั้น ที่ชื่อว่าขัตติยมหาศาล ได้แก่เหล่ากษัตริย์ที่เก็บทรัพย์ไว้ร้อยโกฏิบ้าง พันโกฏิบ้าง จ่ายกหาปณะประจำวันออกไปวันละ ๑ เล่มเกวียน ตกเย็นกหาปณะรับเข้าวันละ ๒ เล่มเกวียน.
               ที่ชื่อว่าพราหมณมหาศาล ได้แก่เหล่าพราหมณ์ที่เก็บทรัพย์ไว้แปดสิบโกฏิ จ่ายกหาปณะไปวันละ ๑ กุมภะ ตกเย็นรับเข้าวันละ ๑ เล่มเกวียน.
               ที่ชื่อว่าคฤหบดีมหาศาล ได้แก่เหล่าคฤหบดีที่เก็บทรัพย์สมบัติไว้ ๔๐ โกฏิ จ่ายกหาปณะประจำวันๆ ละ ๕ อัมพณะ ตกเย็นรับเข้าวันละ ๑ กุมภะ.
               บทว่า มา เหวํ อานนฺท อวจ ได้แก่ อานนท์ เธออย่าพูดอย่างนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอไม่ควรพูดว่า นี่นครเล็ก ความจริง เราตถาคตมาที่นครนี้ ด้วยความอุตสาหะอย่างใหญ่ ด้วยความบากบั่นอย่างใหญ่ ยืนนั่งหลายครั้ง ก็เพื่อจะกล่าวถึงสมบัติของนครนี้โดยแท้ แล้วจึงตรัสว่า ภูตปุพฺพํ เป็นต้น.
               บทว่า สุภิกฺขา ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยของเคี้ยวและของกิน.
               บทว่า หตฺถิสทฺเทน ความว่า เมื่อช้างเชือกหนึ่งร้องขึ้น ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือกก็ร้องตาม ดังนั้น กุสาวดีราชธานีจึงไม่สงัดจากเสียงช้าง. จากเสียงม้าก็เหมือนกัน. ก็สัตว์ทั้งหลายในราชธานีนี้มีบุญ มีรถที่เทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัว ตามกันและกันสัญจรไปในระหว่างถนน ฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่สงัดด้วยเสียงรถ. อนึ่ง ดุริยางค์มีกลองเป็นต้นในนครนั้น ก็ย่ำกันอยู่เป็นนิตย์ ดังนั้น จึงชื่อว่าไม่สงัดจากเสียงกลองเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมสทฺโท ได้แก่ เสียงกังสดาล.
               บทว่า ตาลสทฺโท ได้แก่ เสียงตาลที่เคาะด้วยมือและตาลรางสี่เหลี่ยม. บางอาจารย์กล่าวว่า กูฏเภริสทฺโท เสียงกลองกูฏ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อสถ ปิวถ ขาทถ แปลว่า จงกิน จงดื่ม จงเคี้ยว.
               ก็ในเรื่องนี้มีความสังเขปดังนี้.
               กุสาวดีราชธานีไม่สงัดจากเสียงที่สิบนี้ว่า เชิญบริโภคเถิด ท่านผู้เจริญ มีเสียงไม่ขาดเลย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ในนครอื่นๆ มีเสียงเห็นปานนี้ว่า พวกเจ้าจงทิ้งหยากเยื่อ จงถือจอบ จงถือกระเช้า เราจักไปแรมคืน พวกเจ้าจงถือห่อข้าวสาร จงถือห่อข้าวสุก จงให้จัดโล่ห์และอาวุธดังนี้ฉันใด ในกุสาวดีนี้หามีเสียงเห็นปานนี้ฉันนั้นไม่.
               ก็แลครั้นตรัสว่าจากเสียงที่สิบดังนี้แล้ว ทรงจบมหาสุทัสสนสูตรทั้งหมดว่า ดูก่อนอานนท์ กุสาวดีราชธานีล้อมรอบด้วยกำแพง ๗ ชั้นแล้ว จึงตรัสว่า คจฺฉ ตฺวํ อานนฺท ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิกฺกมถ ความว่า พวกท่านจงก้าวมาข้างหน้า.
               ถามว่า ก็พวกเจ้ามัลละแห่งกรุงกุสินารา ไม่ทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา ดอกหรือ.
               ตอบว่า ทรงทราบ. ธรรมดาว่า ในสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จไปๆ ย่อมโกลาหลมากทั้งที่ยังไม่เสด็จมา ก็เพราะทรงประชุมกันด้วยกรณียะบางอย่าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พวกเจ้ามัลละเหล่านั้นมาแล้วจักต้องจัดโอกาสที่ยืนที่นั่งถวายแก่ภิกษุสงฆ์ จึงส่งพระอานนท์ไปที่สำนักของเจ้ามัลละเหล่านั้น แม้ในเวลาอันไม่ควร.
               โน อักษรในคำว่า อมฺหากํ จ โน นี้ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า อฆาวิโน ได้แก่ ผู้เกิดทุกข์. บทว่า เจโตทุกฺขสมปฺปิโต ได้แก่ผู้เปี่ยมด้วยโทมนัส.
               บทว่า กุลปริวตฺตโส กุลปริวตฺตโส ฐเปตฺวา ความว่า พวกเจ้ามัลละเป็นตระกูลๆ คือสังเขปว่า ตระกูล เป็นส่วนๆ โดยอยู่ถนนเดียวกันและตรอกเดียวกัน.

               ปจฺฉิมสกฺขิสาวณฺณนา               
               บทว่า สุภทฺโท นาม ปริพฺพาชโก ได้แก่ ปริพาชกผู้นุ่งห่มผ้าจากตระกูลอุทิจพราหมณมหาศาล. บทว่า กงฺขาธมฺโม ได้แก่ ธรรมคือความเคลือบแคลง.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร สุภัททปริพาชกนั้นจึงมีความคิดอย่างนี้ในวันนี้.
               ตอบว่า เพราะมีอุปนิสัยอย่างนั้น.
               ได้ยินว่า แต่ก่อนได้มีพี่น้อง ๒ คน ในการบำเพ็ญบุญ. พี่น้อง ๒ คนนั้นได้กระทำข้าวกล้าร่วมกัน ใน ๒ คนนั้น พี่ชายคิดว่าเราจักถวายทานข้าวกล้าอันเลิศปีละ ๙ ครั้ง. ฤดูหว่าน ถวายเมล็ดอันเลิศ. ในฤดูข้าวตั้งท้องปรึกษากับน้องชายว่า จักผ่าท้องกล้าถวาย. น้องชายบอกว่า พี่ต้องการจะให้ข้าวกล้าอ่อนพินาศไปหรือ. พี่ชายรู้ว่าน้องชายไม่ยินยอม จึงแบ่งนากัน ผ่าท้องข้าวจากส่วนของตน คั้นน้ำนม ปรุงด้วยเนยใสและน้ำอ้อย. ในฤดูเป็นข้าวเม่าก็ให้กระทำข้าวเม่าถวาย. ในเวลาเกี่ยวก็ให้ถวายข้าวอันเลิศ. ในเวลามัดขะเน็ด ก็ได้ถวายข้าวอันเลิศ ในเวลาทำขะเน็ด. ในเวลาทำเป็นฟ่อนเป็นต้น ก็ได้ถวายข้าวอันเลิศ เวลาทำฟ่อน ข้าวอันเลิศขณะขนไว้ในลาน ข้าวอันเลิศขณะนวด ข้าวอันเลิศในขณะอยู่ในฉาง. ได้ถวายทานเลิศในข้าวกล้าปีละ ๙ ครั้ง ดังกล่าวมาฉะนี้.
               ส่วนน้องชายเสร็จทำนาแล้ว จึงจะถวาย.
               ในพี่น้อง ๒ คนนั้น พี่ชายเกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญเถระ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูว่า เราจะพึงแสดงธรรมโปรดแก่ใครก่อนหนอ จึงทรงพระดำริว่า พระอัญญาโกณฑัญญะได้ถวายทานอันเลิศในข้าวกล้าปีละ ๙ ครั้ง เราจักแสดงธรรมอันเลิศนี้แก่เขา จึงทรงแสดงโปรดก่อนคนอื่นทั้งหมด. ท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมกับพรหม ๑๘ โกฏิ. ส่วนน้องชายล่าช้าคิดได้อย่างนี้ในเวลาพระศาสดาปรินิพพาน เพราะถวายทานในภายหลัง จึงได้เป็นผู้มีความประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา.
               บทว่า มา ภควนฺตํ วิเหเฐสิ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระเข้าใจว่า ขึ้นชื่อว่า อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเห็นแก่ตัวทั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมากๆ เพื่อประโยชน์แก่การแก้ปัญหานั้น ก็จักทรงลำบากทั้งทางกายและวาจา ด้วยว่า โดยปกติพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงลำบากอยู่แล้ว จึงกล่าวอย่างนี้. ปริพาชกก็ตามใจพระเถระด้วยคิดว่า ภิกษุรูปนี้ไม่ให้โอกาสแก่เราผู้ต้องการประโยชน์ ก็ได้แต่ตามใจ จึงกล่าว ๒-๓ ครั้ง.
               บทว่า อสฺโสสิ โข ความว่า เมื่อพระเถระยืนพูดอยู่ใกล้ประตูม่าน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้ยินด้วยพระโสตตามปกติ. ก็แลครั้นแล้วจึงตรัสว่า อลํ อานนฺท เป็นต้น เพราะพระองค์เสด็จมาด้วยอุตสาหะอันใหญ่ เพื่อโปรดสุภัททะนั่นแล. ศัพท์ว่า อลํ ในคำว่า อลํ อานนฺท นั้นเป็นนิบาต. ได้ในอรรถว่า ปฏิเสธ.
               บทว่า อญฺญาเปกฺโข ว แปลว่า เป็นผู้ใคร่จะรู้.
               บทว่า อพฺภญฺญีสุ ได้แก่ รู้อย่างที่เจ้าลัทธิเหล่านั้นปฏิญญา.
               ท่านอธิบายว่า ปฏิญญานั้นของเจ้าลัทธิเหล่านั้นเป็นนิยยานิกะไซร้ พวกเขาทั้งหมด ก็รู้ทั่วถึง ถ้าปฏิญญาของพวกเขาไม่เป็นนิยยานิกะไซร้ พวกเขาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ปฏิญญาของเจ้าลัทธิเหล่านั้นเป็นนิยยานิกะหรือไม่เป็นนิยยานิกะ.
               ใจความของปัญหานั้น มีอย่างนี้เท่านั้น.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธว่า อย่าเลย เพราะไม่เป็นฐานะอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีโอกาสอย่างหนึ่ง ด้วยการตรัสถึงความที่ปฏิญญาของเจ้าลัทธิเหล่านั้น ไม่เป็นนิยยานิกะ จึงทรงแสดงธรรมอย่างเดียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาด้วยพระพุทธประสงค์ว่า จักทรงแสดงธรรมโปรดพวกเจ้ามัลละตอนปฐมยาม แสดงธรรมโปรดสุภัททะตอนมัชฌิมยาม สอนภิกษุสงฆ์ตอนปัจฉิมยาม เสด็จปรินิพพานในเวลาใกล้รุ่ง.
               บทว่า สมโณปิ ตตฺถ น อุปลพฺภติ ความว่า ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีแม้สมณะที่ ๑ คือพระโสดาบัน แม้สมณะที่ ๒ คือพระสกทาคามี แม้สมณะที่ ๓ คือพระอนาคามี แม้สมณะที่ ๔ คือพระอรหันต์ ก็ไม่มีในธรรมวินัยนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยไม่กำหนดเทศนาเบื้องต้น บัดนี้ เมื่อทรงกำหนดศาสนาของพระองค์จึงตรัสว่า อิมสฺมึ โข เป็นต้น.
               บทว่า สุญฺญาปรปฺปวาทา สมเณภิ ความว่า ปรัปปวาท (ลัทธิของเจ้าลัทธิอื่น) สูญว่างเปล่าจากสมณะ ๑๒ จำพวก คือผู้เริ่มวิปัสสนาเพื่อประโยชน์แก่มรรค ๔ รวม ๔ จำพวก ผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ จำพวก ผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวก.
               บทว่า อิเม จ สุภทฺท ความว่า ภิกษุ ๑๒ จำพวกเหล่านี้.
               ในคำว่า สมฺมา วิหเรยฺยุํ พระโสดาบันบอกฐานะที่ตนบรรลุแก่ผู้อื่น ทำผู้อื่นนั้นให้เป็นโสดาบัน ชื่อว่าอยู่โดยชอบ. ในพระสกทาคามีเป็นต้นก็นัยนี้. พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค กระทำแม้ผู้อื่นให้เป็นผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ก็ชื่อว่าอยู่โดยชอบ. ในพระผู้ตั้งอยู่ในมรรคที่เหลือก็นัยนี้.
               พระผู้เริ่มวิปัสสนา เพื่อโสดาปัตติมรรค กำหนดกัมมัฏฐานที่ตนคล่องแคล่ว กระทำแม้ผู้อื่นให้เป็นผู้เริ่มวิปัสสนาเพื่อโสดาปัตติมรรค ก็ชื่อว่าอยู่โดยชอบ. ในพระผู้เริ่มวิปัสสนาเพื่อมรรคที่เหลือ ก็นัยนี้. ท่านหมายเอาความข้อนี้ จึงกล่าวว่า สมฺมา วิหเรยฺยํ.
               บทว่า อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส ความว่า พึงไม่ว่างเว้นเหมือนป่าไม้อ้อ ป่าไม้แขม.
               บทว่า เอกูนตึส วยสา ได้แก่ ทรงมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษาโดยวัย.
               คำว่า ยํ ในคำว่า ยํ ปริพฺพชฺชึ นี้ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า กึ กุสลานุเอสี ได้แก่ ทรงเสาะแสวงว่าอะไรเป็นกุศล ท่านประสงค์สัพพัญญุญาณว่า กุศลคืออะไร ในคำว่า กึ กุสลานุเอสี นั้น. อธิบายว่า ทรงแสวงหาสัพพัญญุตญาณนั้น.
               ด้วยบทว่า ยโต อหํ ทรงแสดงว่า จำเดิมแต่กาลใด แต่ระหว่างนี้ เราบวชมาเกิน ๕๐ พรรษา.
               บทว่า ญายสฺส ธมฺมสฺส ได้แก่ ธรรมคืออริยมรรค.
               บทว่า ปเทสวตฺติ เป็นไปในประเทศ คือแม้ในทางแห่งวิปัสสนา.
               บทว่า อิโต พหิทฺธา ภายนอกศาสนาของเรา.
               บทว่า สมโณปิ นตฺถิ แม้สมณะผู้บำเพ็ญวิปัสสนา ผู้อยู่ในทางแห่งวิปัสสนาไม่มี. ท่านอธิบายว่า สมณะที่ ๑ แม้ที่เป็นโสดาบันไม่มี.
               บทว่า เย เอตฺถ ความว่า เธอเหล่าใดอันพระศาสดาอภิเษกโดยอันเตวาสิกาภิเสก เฉพาะพระพักตร์ในพระศาสนานี้ เป็นลาภของเธอเหล่านั้น เธอเหล่านั้นได้ดีแล้ว.
               ได้ยินว่า ในลัทธิภายนอก อาจารย์พูดกับอันเตวาสิกผู้ใดว่า จงบรรพชาผู้นี้ จงโอวาทสั่งสอนผู้นี้ อันเตวาสิกผู้นั้นย่อมเป็นอันอาจารย์ตั้งไว้ในฐานะของตน เพราะฉะนั้น ข้อเหล่านี้ว่า จงบวชผู้นี้ จงโอวาทสั่งสอนผู้นี้ เป็นลาภของอันเตวาสิกผู้นั้น.
               สุภัททปริพาชกถือลัทธิภายนอกนั้นนั่นแหละ จึงกล่าวแม้กะพระเถระอย่างนี้.
               บทว่า อลตฺถ โข แปลว่า ได้แล้วอย่างไร.
               ได้ยินว่า พระเถระนำสุภัททะนั้นไปในที่แห่งหนึ่ง เอาน้ำจากคณโฑรดศีรษะ บอกตจปัญจกกัมมัฏฐาน ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสายะแล้วให้สรณะ แล้วนำไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าให้อุปสมบทแล้ว ตรัสบอกกัมมัฏฐาน. เธอรับกัมมัฏฐานไว้แล้ว อธิษฐานจงกรมในที่ส่วนหนึ่งแห่งอุทยาน พากเพียรพยายามชำระวิปัสสนาบรรลุอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งลง. ท่านหมายเอาอุปสมบทกรรมนั้นจึงกล่าวว่า อจิรูปสมฺปนฺโน โข ปน เป็นต้น. ก็ท่านพระสุภัททะนั้นได้เป็นปัจฉิมสักขีสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล.
               คำของพระสังคีติกาจารย์ว่า
               ในบรรดาสาวกเหล่านั้น รูปใดบรรพชาเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ภายหลังได้อุปสมบทเรียนกัมมัฏฐานบรรลุพระอรหัตก็ดี ได้แม้อุปสมบท เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ภายหลังเรียนกัมมัฏฐานบรรลุอรหัตก็ดี เรียนแม้กัมมัฏฐานเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระชนม์อยู่ ภายหลังบรรลุอรหัตก็ดี แม้ทุกรูปนั้น ก็ชื่อว่าปัจฉิมสักขีสาวก.
               ส่วนท่านสุภัททะนี้ บรรพชาอุปสมบท เรียนกัมมัฏฐานบรรลุพระอรหัต เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่.
               จบกถาพรรณนาปัญจมภาณวาร.               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 57อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 10 / 163อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=1888&Z=3915
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=2965
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=2965
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :