ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 235อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 247อ่านอรรถกถา 10 / 273อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
สักกปัญหสูตร

               อรรถกถาสักกปัญหสูตร               

               สักกปัญหสูตรขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้.
               ต่อไปนี้ เป็นการขยายความเฉพาะบทที่ไม่แจ่มแจ้งในสักกปัญหสูตรนั้น.
               บทว่า อมฺพสณฺโฑ นาม พฺราหฺมณคาโม (ดงมะม่วง) คือ เล่ากันมาว่า หมู่บ้านนั้นอยู่ไม่ไกลดงมะม่วง ฉะนั้น จึงเรียกว่าอัมพสณฑ์.
               บทว่า เวทิยาเก ปพฺพเต คือ นัยว่า เขานั้นมีดงป่าสีเขียวเหมือนเวทีแก้วมณี ซึ่งเกิดที่เชิงเขาล้อมรอบ ฉะนั้น จึงเรียกว่าเขาเวทิยกะ.
               บทว่า อินทสาลคุหายํ คือ แต่ก่อนมา ถ้ำนั้นอยู่ระหว่างเขาสองลูก และที่ประตูถ้ำนั้นมีต้นช้างน้าว ฉะนั้น จึงเรียกว่าถ้ำช้างน้าว ต่อมา พวกคนก็กั้นฝาถ้ำนั้น ติดประตูหน้าต่างทำที่เร้นที่วิจิตรด้วยลายดอกลายเถาโบกปูนขาว จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. แต่คนทั้งหลายก็ยังรู้จักถ้ำนั้นว่า ถ้ำช้างน้าว ตามชื่อเดิมนั้นเอง. ท่านพระอานนท์หมายเอาถ้ำนั้น จึงกล่าวว่า ที่ถ้ำช้างน้าว.
               บทว่า อุสฺสุกฺกํ อุทปาทิ คือ เกิดความอุตสาหะที่ประกอบด้วยธรรมขึ้น.
               ถามว่า ก็แล ท้าวสักกะนั้นก็ทรงเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ามาบ่อยแล้วมิใช่หรือ มีประชุมเทวดากันที่ไหนนั้น ก็ไม่ใช่ว่าท้าวสักกะนี้ไม่เคยเสด็จมา ขึ้นชื่อว่าเทวบุตรขนาดท้าวสักกะอยู่อย่างประมาทก็ไม่มี เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไม ท้าวสักกะนั้นจึงทรงเกิดความอุตสาหะเหมือนผู้ไม่เคยมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเล่า
               ตอบว่า เพราะถูกความกลัวตายคุกคามเอา.
               นัยว่า สมัยนั้น พระชนมายุของท้าวเธอหมดแล้ว. ท้าวเธอได้ทรงเห็นบุรพนิมิตห้าประการ ทรงทราบว่า บัดนี้ เราหมดอายุแล้ว.
               ก็เครื่องหมายความตายปรากฏแก่เทวบุตรเหล่าใด ในเทวบุตรเหล่านั้น พวกใดเกิดในเทวโลกด้วยบุญกรรมเล็กน้อย พวกนั้นก็ย่อมถึงความหวาดสะดุ้ง เพราะความกลัวว่า คราวนี้ เราจักเกิดที่ไหนหนอ พวกใดได้เตรียมป้องกันภัยที่น่าสะพึงกลัวไว้ ทำบุญไว้มากเกิดแล้ว พวกนั้นคิดว่า เราอาศัยทานที่ตนได้ให้ ศีลที่รักษาไว้และภาวนาที่ได้อบรมไว้แล้ว จักเสวยสมบัติในเทวโลกชั้นสูง ย่อมไม่กลัว.
               ส่วนท้าวสักกเทวราช เมื่อได้ทรงเห็นบุรพนิมิต ก็ทรงมองดูสมบัติทั้งหมดอย่างนี้ว่า เทพนครหมื่นโยชน์ ประสาทไพชยันต์สูงพันโยชน์ สุธรรมาเทวสภาสามร้อยโยชน์ ต้นมหาปาริฉัตรสูงร้อยโยชน์ หินบัณฑุกัมพลหกสิบโยชน์ นางฟ้อนยี่สิบห้าโกฏิ เทพบริษัทในสองเทวโลก สวนนันทน์ สวนจิตรลดา สวนมิสสกะ สวนปารุสก์ แล้วก็ทรงถูกความกลัวครอบงำว่า ท่านเอ๋ย สมบัติของเรานี้จักฉิบหายหนอ ต่อไปก็ทรงมองดูว่ามีใครบ้างไหมหนอ ไม่ว่าเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ หรือมหาพรหมผู้เป็นพระบิดาของโลก ที่พึงถอนลูกศร คือความโศกที่อาศัยหัวใจเราแล้วทำให้สมบัตินี้มั่นคงได้ เมื่อทรงมองใครๆ ก็ไม่เห็น ก็ทรงเห็นอีกว่า มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงสามารถถอนความโศกศัลย์ที่เกิดแก่เทพทั้งหลายเช่นเราแม้ตั้งแสนได้.
               ต่อมาโดยสมัยนั้นแล ความขวนขวายเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมทวยเทพผู้ทรงพระดำริอยู่อย่างนี้.
               คำว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหนหนอ คือ ท้าวสักกะทรงคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่จังหวัดอะไร ทรงเข้าไปอาศัยเมืองอะไรอยู่ กำลังเสวยปัจจัยของใครอยู่ กำลังทรงแสดงอมฤตธรรมแก่ใครอยู่. คำว่า ได้ทรงเห็นแล้วแล ความว่า ทรงได้เห็น คือทรงแทงตลอดแล้ว. คำว่า ผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย นี้เป็นคำที่น่ารัก เป็นสำนวนของพวกเทพโดยเฉพาะ มีอธิบายว่า ผู้ไม่มีทุกข์ ก็ได้. ก็ทำไมท้าวสักกะนี้จึงทรงเรียกพวกเทพ เพื่อต้องการเป็นเพื่อน.
               ครั้งก่อน ก็เล่ากันมาว่า ท้าวสักกะนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังประทับอยู่ที่กุฏิใกล้ต้นสน ก็เสด็จไปได้เฝ้าโดยลำพังมาแล้ว. พระศาสดาทรงพระดำริว่า ญาณของท้าวเธอยังไม่แก่กล้าพอ แต่ถ้ารอไปอีกสักหน่อย ขณะที่เราอยู่ถ้ำช้างน้าว ท้าวเธอจักเห็นบุรพนิมิตห้าอย่าง ทรงกลัวมรณภัยเข้ามาหาพร้อมกับพวกเทวดาในสองเทวโลก ทรงถามปัญหาสิบสี่ข้อ เมื่อแก้จบปัญหาเกี่ยวกับอุเบกขาแล้ว ทรงตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมกับเทวดาแปดหมื่นองค์ดังนี้ จึงไม่ประทานพระโอกาส.
               ท้าวสักกะนั้นทรงพระดำริว่า พระศาสดาไม่ประทานพระโอกาส เพราะเมื่อก่อนเราไปโดยลำพังผู้เดียว เรายังไม่มีอุปนิสัยแห่งมรรคผลเป็นแน่ ก็เมื่อเราผู้เดียวมีอุปนิสัย พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงธรรมแก่บริษัทแม้จนสุดจักรวาลแน่ ก็แน่ล่ะในเทวโลกสองชั้น ใครผู้ใดผู้หนึ่งคงจะมีอุปนิสัยแท้เทียว พระศาสดาคงจะทรงหมายเอาผู้นั้นแล้วทรงแสดงธรรม ถึงเราเองเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ก็คงจะดับความโทมนัสของตนได้ ดังนี้แล้ว จึงตรัสเรียกเพื่อต้องการเป็นเพื่อน.
               คำว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์รับสนองพระดำรัสว่า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์อย่างนั้น ความว่า ขอจงเป็นอย่างนั้นเถิดมหาราช พวกเราจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสภาพที่หาได้ยาก ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ผู้ไม่ตรัสว่า ขอให้เราทั้งหลายจงไปเล่นตามภูเขา ไปเล่นตามแม่น้ำ แล้วทรงประกอบพวกข้าพระองค์ไว้ในฐานะเห็นปานนี้.
               คำว่า ได้ฟังตอบแล้ว คือ รับพระดำรัสของท้าวเธอไว้ด้วยเศียรเกล้า.
               คำว่า ตรัสเรียกปัญจสิขะ บุตรคนธรรพ์ คือ (ถามว่า) ก็เมื่อตรัสเรียกพวกเทวดาเหล่านั้นแล้ว ทำไมจึงตรัสเรียกปัญจสิขบุตรคนธรรพ์นี้ต่างหากเล่า ตอบว่า เพื่อให้ขอประทานพระโอกาส.
               เล่ากันมาว่า ท้าวสักกะนั้นได้ทรงมีความคิดอย่างนี้ว่า การจะพาเอาพวกเทวดาในสองเทวโลก เข้าไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกันไม่เหมาะ ก็ปัญจสิขะนี้เป็นอุปัฏฐากผู้รับใช้ที่พระทศพลโปรดปราน ไปทูลถามปัญหาแล้วฟังธรรมได้ทุกขณะที่ต้องการ พวกเราส่งปัญจสิขะนี้ล่วงหน้าไปก่อน ให้ขอประทานพระโอกาส แล้วจึงเข้าเฝ้าทูลถามปัญหา ในเวลาที่ปัญจสิขะนี้ขอประทานพระโอกาสเสร็จแล้ว จึงตรัสเรียกเพื่อให้ขอประทานพระโอกาส.
               คำว่า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์อย่างนั้น ความว่า แม้ปัญจสิขะนั้นก็สนับสนุนอย่างแข็งขันว่า ขอจงเป็นอย่างนั้นเถิด มหาราช ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ผู้ไม่ตรัสกะข้าพระองค์ว่า ผู้นิรทุกข์มาเถิด พวกเราจะไปเที่ยวชมกีฬาที่อุทยานเป็นต้น หรือไปชมมหรสพของนักฟ้อนเป็นต้น (แต่) ตรัสว่า พวกเราจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะฟังธรรม แล้วก็รับสนองพระดำรัสของจอมทวยเทพ แล้วก็เข้าร่วมขบวนเสด็จตามติดไปด้วยกัน.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า พิณสีเหลืองดุจผลมะตูม คือพิณสีเหลืองเหมือนลูกมะตูมสุก. เล่ากันว่า ช่องพิณนั้นทำด้วยทอง คันทำด้วยแก้วอินทนิล สายทำด้วยเงิน กะโหลกทำด้วยแก้วประพาฬ ใบพิณหนึ่งคาวุต ชะเนาะหนึ่งคาวุต คันท่อนบนหนึ่งคาวุต ดังนี้ พิณจึงมีขนาดสามคาวุต.
               ปัญจสิขะนั้นถือพิณนั้นดังที่ว่ามานี้แล้ว ก็ปล่อยการประโคมอย่างสุดฝีมือเท่าที่มีความรู้ ใช้ปลายเล็บดีดคลอเสียงขับที่ไพเราะ แจ้งให้พวกเทพที่เหลือทราบเวลาเสด็จไปของท้าวสักกะ แล้วยืนอยู่ในที่ควรส่วนหนึ่ง. เมื่อคณะเทพประชุมกันตามสัญญาณแห่งเสียงขับบรรเลงของปัญจสิขะนั้นดังนี้แล้ว ทีนั้นแล ท้าวสักกะจอมทวยเทพ ฯลฯ ก็เสด็จไปปรากฏที่เขาเวทิยกะ.
               คำว่า เกิดแสงสว่างไสวเหลือเกิน คือ ในวันอื่นๆ ก็เกิดแสงสว่างด้วยแสงของเทพมารหรือพรหมเพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่วันนั้น เกิดมีแสงสว่างไสวเหมือนกัน โชติช่วงไปเป็นอันเดียวกัน เหมือนเวลาพระจันทร์และพระอาทิตย์ขึ้นไปเป็นพันดวง เพราะแสงของทวยเทพในเทวโลกทั้งสองชั้น.
               คำว่า พวกคนในหมู่บ้านโดยรอบ คือ พวกคนในหมู่บ้านใกล้เคียง.
               เล่ากันมาว่า ในเวลาอาหารมื้อเย็นเป็นปกตินั้นเอง เมื่อพวกเด็กกำลังเล่นกันในท่ามกลางหมู่บ้าน ท้าวสักกะก็ได้เสด็จไปที่เขาเวทิยกะนั้น เพราะฉะนั้น พวกคน เมื่อได้เห็นจึงกล่าวกันอย่างนั้น. เออก็พวกเทวดาเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตอนยามกลางวันมิใช่หรือ ทำไมท้าวสักกะนี้จึงได้เสด็จมาในภาคแรกแห่งยามต้นเล่า. เพราะทรงถูกมรณภัยนั่นแหละคุกคามเอา.
               คำว่า อะไรกัน ความว่า พวกคนพูดกันว่า อะไรนั่นท่าน วันนี้เทวดาหรือพรหมผู้ศักดิ์ใหญ่องค์ไรกันหนอ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทูลถามปัญหาเพื่อจะฟังธรรม แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแก้ปัญหา จะทรงแสดงธรรมอย่างไร ลาภของพวกเรา พวกเราที่มีพระศาสดาผู้ทรงบรรเทาความสงสัยของพวกเทวดา เสด็จประทับอยู่ในวัดใกล้ๆ ซึ่งพวกเราได้ถวายภิกษาถาดหนึ่งบ้าง ภิกษาทัพพีหนึ่งบ้าง แล้วก็ตกใจ โลมชาติชูชัน ขนลุกซู่ซ่า ยกกระพุ่มมือที่รุ่งเรืองที่รวมเอาสิบเล็บวางไว้เหนือเศียร ยืนนมัสการอยู่.
               คำว่า เข้าเฝ้ายาก คือ พึงเข้าไปนั่งใกล้ยาก. เรายังมีราคะ โทสะ โมหะ (แต่) พระศาสดาไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น พระตถาคตเจ้าทั้งหลายอันผู้เช่นเราพึงเข้าไปนั่งใกล้ยาก.
               บทว่า ทรงมีฌาน คือ การทรงมีฌานด้วยลักขณูปนิชฌานและอารัมมณูปนิชฌาน. ชื่อว่าทรงยินดีในฌาน เพราะทรงยินดีในฌานนั้นนั่นเอง.
               คำว่า ถัดจากที่ทรงเร้น คือ ในลำดับที่ทรงเร้นนั้น หรือทันทีที่ทรงเร้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เข้าเฝ้ายาก เพราะทรงมีฌาน ทรงยินดีในฌานเท่านั้น แต่เข้าเฝ้ายาก แม้เพราะเพิ่งเสด็จทรงเร้นเมื่อกี้นี้เองด้วย.
               คำว่า พึงให้โปรด คือ พึงให้ทรงพอพระทัย. ท้าวสักกะตรัสว่า เธอพึงทำให้ประทานพระโอกาสแก่เราแล้วให้.
               ถามว่า ถือพิณที่มีสีเหลืองเหมือนผลมะตูม แล้วก็เป็นอันว่าพิณนั้นถือไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือ?
               ตอบว่า เออ ถือไว้แล้วก็พิณนั้นห้อยไว้ที่จะงอยบ่าด้วยสามารถไปตามทาง เดี๋ยวนี้ เอามันมาวางไว้ที่มือซ้าย ทำการเตรียมบรรเลง จึงถือไว้ ฉะนั้นจึงกล่าวว่าถือไว้แล้ว.
               คำว่า ให้ทรงได้ยิน คือ ให้ทรงฟัง.
               คำว่า เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า คือ ปรารภพระพุทธเจ้า. อธิบายว่า ทำพระพุทธเจ้าเป็นหลักอิงเป็นไป. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้แหละ.
               พึงทราบในวินิจฉัยในคำว่า น้องสุริยวัจฉสา พี่ขอไหว้ท้าวติมพรุผู้เป็นบิดาของน้อง นี้ต่อไป.
               คำว่า สุริยวัจฉสา คือ มีร่างเท่ากับพระสุริยะ. เล่ากันว่า รัศมีตั้งขึ้นที่ปลายเท้าของเทพธิดานั้นแล้วพุ่งขึ้นไปจนจรดปลายผม ฉะนั้นจึงปรากฏเหมือนดวงอาทิตย์อ่อนๆ ด้วยประการฉะนี้ เทพทั้งหลายจึงรู้จักนางว่า สุริยวัจฉสา. ปัญจสิขะประสงค์เอาความข้อนั้น จึงกล่าวว่า น้องสุริยวัจฉสา ดังนี้. ปัญจสิขะกล่าวว่า พี่ขอไหว้ท้าวติมพรุ คนธรรพเทวราชผู้เป็นบิดาของน้อง.
               คำว่า เพราะเหตุที่น้องผู้เป็นกัลยาณีได้เกิดมาแล้ว คือ เพราะอาศัยติมพรุเทวราชใด น้องผู้งดงาม คือสวยหมดทุกส่วน จึงได้เกิดมา.
               คำว่า ยังความยินดีให้เกิดแก่พี่ คือ ทำให้ความอิ่มเอิบและความดีใจเจริญแก่พี่.
               คำว่า ดุจลมเป็นที่ใคร่ของผู้มีเหงื่อ อธิบายว่า ลมเป็นที่รักใคร่พอใจของเหล่าผู้ที่เกิดเหงื่อ เพื่อให้เหงื่อระเหยออกฉันใด ก็ฉันนั้น.
               คำว่า ดุจน้ำเป็นที่ปรารถนาของผู้กระหาย คือ (น้ำเป็นที่ปรารถนา) ของผู้ที่ถูกความกระหายครอบงำแล้ว อยากจะดื่ม.
               คำว่า ผู้มีรัศมีจากกาย คือ รัศมีจากกายของเธอมีอยู่ เหตุนั้น เธอจึงชื่อว่าผู้มีรัศมีจากกาย. ปัญจสิขะกล่าวพร่ำปรารภถึงนางสุริยวัจฉสานั้นแหละ.
               คำว่า ดุจธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์ทั้งหลาย คือ เหมือนโลกุตตรธรรมเก้าอย่างของพระอรหันต์ทั้งหลาย.
               คำว่า ของคนหิว คือ ของผู้ที่ถูกความหิวครอบงำใคร่จะบริโภค.
               คำว่า ดุจเอาน้ำดับไฟที่กำลังโพลง คือ ปัญจสิขะกล่าวว่า ใครๆ พึงเอาน้ำดับไฟที่กำลังลุกโพลงฉันใด น้องจงดับความกลัดกลุ้ม เพราะความกำหนัดของพี่ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะน้องเป็นเหตุฉันนั้น.
               คำว่า ประกอบด้วยเกสรและละออง คือประกอบด้วยเกสรและละอองดอกบัว.
               คำว่า ดุจช้างที่ถูกแดดหน้าแล้งแผดเผา คือเหมือนช้างที่ถูกแดดแผดเผาในฤดูร้อน.
               คำว่า หยั่งลงสู่ถันและอุทรของน้อง คือ ปัญจสิขะกล่าวว่า เมื่อไรหนอ พี่จะได้ลงสู่ถันและอุทร อันได้แก่สู่กลางถันและอุทรของน้องแล้ว ได้รับความสุขและความชื่นใจ เหมือนช้างนั้นหยั่งลงสู่สระบัวดื่ม แล้วแช่ตัวโผล่แต่ปลายวงเท่านั้นให้ปรากฏ ได้รับความสุขและความชื่นใจ ฉะนั้น.
               หนามเหล็กที่ใช้สับกกหูเรียกว่า ขอ ในคาถานี้ว่า
                         พี่หลงใหลในน้องผู้มีขางาม จึงไม่รู้จักเหตุการณ์
                         ประดุจช้างสารเหลือขอ เข้าใจว่าตนชนะขอและ
                         หอกฉะนั้น.
               ที่เรียกว่า หอก ได้แก่หอกอาชญาใช้แทงเท้า เป็นต้น. ที่เรียกว่า ขอ ได้แก่ เหล็กแหลมงอใช้สับหัว (ช้าง). ก็ช้างที่ตกมันเต็มที่ เป็นช้างที่เหลือขอ ดื้อขอต่อให้เอาขอสับอยู่ก็เอาไว้ไม่อยู่ และมันเข้าใจว่า ข้าเอาชนะขอและหอกได้แล้ว เพราะแม้แต่ขอก็ยังเอาข้าไว้ไม่อยู่ มันไม่ยอมรับรู้เหตุการณ์อะไรๆ เพราะแรงเมามัน.
               ปัญจสิขะกล่าวว่า แม้ตัวพี่ก็หลงใหล เมา เมามันเหมือนเป็นบ้าในน้องผู้มีขางาม เพราะมีขาถึงพร้อมด้วยลักษณะ จึงไม่รู้จักเหตุการณ์อะไรๆ เหมือนช้างที่เหลือขอนั้น มันเข้าใจว่า ข้าเอาชนะขอและหอกได้แล้ว ก็ไม่รู้จักเหตุการณ์อะไรๆ ฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ตัวพี่เองเหมือนช้างที่เหลือขอ หลงใหลน้องผู้มีขางาม ฉะนั้นจึงไม่รู้จักเหตุแห่งการสำรอกความกำหนัดสักน้อยหนึ่งได้.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะต่อให้ใครๆ มากล่าว พี่ก็ไม่ถือเอาถ้อยคำ เหมือนช้างที่คิดว่า ข้าเอาชนะขอและหอกได้แล้วนั้น.
               คำว่า พี่มีจิตที่ติดรักน้อง ความว่า น้องรัก พี่นี้เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในน้องผู้มีขางาม.
               หรือคำว่า มีจิตติดรัก ได้แก่มีจิตเพ่งจ้องปองรัก.
               คำว่า จิตแปรปรวนแล้ว คือจิตละปกติตั้งอยู่. คำว่า ไม่สามารถกลับได้ คือ พี่กลับไม่ได้. คำว่า ดุจปลาที่กลืนเบ็ด คือ เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดแล้วติดอยู่
               ปาฐะว่า ฆสะ ก็มี. ใจความก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               คำว่า มีลำขาอันงาม คือ มีลำขาที่ตั้งมั่นด้วยท่าทางที่งาม หรืออธิบายว่า มีลำขาเหมือนต้นกล้วย. คำว่า โอบ คือ โปรดจงกอดพี่เข้าไว้.
               คำว่า มีนัยน์ตาอันชมดชม้อย คือ พวกผู้หญิงย่อมไม่จ้องเขม็ง แต่ย่อมชะแง้แลมอง ฉะนั้น จึงเรียกว่าผู้มีนัยน์ตาชมดชม้อย. คำว่า โอบกอด คือ จงสวมกอดพี่ไว้ทุกส่วน. คำว่า พี่ปรารถนาดังนี้ยิ่งนัก คือ พี่ต้องการดังนี้เสมอ.
               คำว่า มี (ความรัก) ต่อพี่น้อยนัก คือ มีอยู่น้อยโดยปกติทีเดียว. คำว่า มีผมเป็นคลื่น คือ ชื่อว่ามีผมเป็นคลื่น เพราะผมของหญิงนั้นในเวลาที่สยาย แล้วปล่อยไว้ข้างหลังเลื้อยไปเหมือนงู. ผู้มีผมเหมือนคลื่นนั้น. คำว่า เกิดมีขึ้นไม่ใช่น้อย คือ เกิดขึ้นไม่ใช่อย่างเดียว. ปาฐะว่า มิใช่น้อย ก็มี.
               คำว่า เหมือนทักษิณาในพระอรหันต์ คือ แตกขยายออกไปโดยประการต่างๆ เหมือนทานที่ถวายในพระอรหันต์ (ให้ผลมากมายฉะนั้น).
               คำว่า มีบุญใดที่พี่ได้ทำไว้แล้ว คือ บุญใดที่พี่ได้ทำไว้มีอยู่.
               คำว่า ในพระอรหันต์ทั้งหลายผู้คงที่ คือ ในพวกพระอรหันต์ผู้ถึงลักษณะแห่งผู้คงที่. คำว่า จงอำนวยผลให้พี่กับน้อง คือ บุญทั้งหมดจงให้ผลให้พี่กับน้องนั่นเอง.
               บทว่า โดดเดี่ยว คือถึงความเป็นผู้เดียว.
               บทว่า มีปัญญาเครื่องคุ้มตัว มีสติ ได้แก่ ชื่อว่ามีปัญญาเครื่องครองตัว เพราะประกอบด้วยปัญญาที่เรียกว่าเครื่องคุ้มตัวนั้น เพราะประกอบด้วยสติ จึงชื่อว่ามีสติ.
               บทว่า พระมุนีแสวงหาอมฤตธรรม คือ องค์พระพุทธมุนีนั้นทรงแสวงหา คือเสาะหาอมฤต ได้แก่พระนิพพาน ฉันใด พี่เองก็ฉันนั้นนะน้องสุริยวัจฉสา ย่อมแสวงหา คือเสาะหาน้อง.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า พระพุทธมุนีองค์นั้นทรงเที่ยวเสาะแสวงหาอมฤตธรรมฉันใด พี่ก็เที่ยวแสวงหาน้องฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า พระมุนีทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดแล้ว พึงทรงเพลิดเพลินแม้ฉันใด ความว่า พระพุทธมุนีผู้ประทับนั่งที่โพธิบัลลังก์ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พึงทรงเพลิดเพลิน คือพึงทรงยินดีฉันใด.
               บทว่า พึงเพลิดเพลินฉันนั้น ความว่า ปัญจสิขะกล่าวว่า แม้พี่เองถึงความคลอเคลียกับน้องแล้ว ก็พึงเพลิดเพลิน คือพึงเป็นผู้เกิดความอิ่มเอิบและความดีใจ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               คำว่า อเห ในบาทคาถาว่า ตาหํ ภทฺเท วเรยฺยาเห เป็นคำสำหรับเรียก.
               อธิบายว่า นี่แน่ะสุริยวัจฉสายอดรัก ถ้าท้าวสักกะผู้จอมทวยเทพประทานพรอย่างนี้ว่า เธอจะเอาเทวราชย์ในเทวโลกทั้งสองชั้น หรือสุริยวัจฉสา พี่จะกราบทูลว่า ข้าพระองค์ขอสละเทวราชย์แล้วเอาสุริยวัจฉสา พี่ต้องเลือก คือต้องการ ได้แก่ต้องเอาน้องไว้ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า เหมือนสาละที่บานยังไม่นาน ความว่า ใกล้ประตูเมืองของบิดาน้อง มีต้นสาละซึ่งบานยังไม่นาน ต้นสาละนั้นน่าชื่นใจเกินเปรียบ เหมือนสาละที่บานยังไม่นานนั้น. คำว่า แน่ะน้องผู้มีปรีชาดี บิดาของน้อง ความว่า พี่ผู้เมื่อจะไหว้ก็ขอนอบน้อม คือขอทำความนอบน้อมบิดาของน้อง ผู้ทรงสิริอย่างหาที่เปรียบมิได้. คำว่า ผู้เป็นเช่นนี้ เป็นประชาของผู้ใด ความว่า น้องผู้เป็นเช่นนี้เป็นลูกสาวของท่านผู้ใด.
               ถามว่า ทำไม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสชมเสียงขับและเสียงพิณว่า ย่อมกลมกลืนกัน ความกำหนัดจัดในเสียงนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีอยู่หรือ.
               ตอบว่า ไม่มี. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้วางเฉยด้วยความวางเฉยมีองค์หกประการ ในฐานะเช่นนี้ ก็ยังทรงทราบอารมณ์ที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจทุกอย่างอยู่ ก็ไม่ทรงติดในอารมณ์นั้น.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               ผู้มีอายุ พระเนตรของพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีอยู่แล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นรูปด้วยพระเนตร ความกำหนัดเพราะความพอใจของพระผู้มีพระภาคเจ้าหามีอยู่ไม่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระหฤทัยหลุดพ้นแล้วเป็นอย่างดี ผู้มีอายุ พระกรรณของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังมีอยู่แล
๑- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________
๑- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๒๙๘

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชมเพราะทรงทราบว่า ก็หากเราไม่กล่าวชม ปัญจสิขะก็ทราบไม่ได้ว่า เราได้ให้โอกาสแล้ว ทีนั้น ท้าวสักกะก็จะทรงพาพวกเทวดากลับไปจากที่นั้น เพราะทรงเข้าพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ประทานพระโอกาสแก่ปัญจสิขะ แต่นั้น ก็จะพึงฉิบหายใหญ่ เมื่อตรัสชม แต่นั้น ท้าวสักกะก็จะทรงเข้าพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระโอกาสแก่ปัญจสิขะแล้ว ก็จะทรงเข้ามาเฝ้าพร้อมกับพวกเทวดา ทรงถามปัญหา เมื่อแก้เสร็จ พร้อมกับพวกเทพแปดหมื่นก็จักทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า ร้อยกรองไว้แต่เมื่อไร ความว่า (คาถาเหล่านี้เธอ) แต่ง คือรวบรวมไว้แต่ครั้งไร.
               คำว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็โดยสมัยนั้นแล ข้าพระองค์ ความว่า โดยสมัยนั้น คือในสัปดาห์ที่แปดแต่พระองค์บรรลุสัมโพธิญาณนั้น.
               คำว่า ชื่อ ภัทราสุริยวัจฉสา คือ โดยชื่อ ชื่อภัทรา เพราะถึงพร้อมด้วยรูปร่างที่สวยงาม จึงชื่อ สุริยวัจฉสา. คำว่า น้อง นี้เป็นคำสำนวนเรียก. หมายความว่า เทพธิดา. คำว่า รักผู้อื่นอยู่ คือ รัก ได้แก่หวังผู้อื่นอยู่.
               คำว่า กำลังเข้าไปฟ้อนอยู่ ได้แก่ กำลังรำอยู่.
               เล่ากันมาว่า สมัยหนึ่ง นางไปเพื่อต้องการชมงานฟ้อนของท้าวสักกเทวราชกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกา. ก็ในขณะนั้น ท้าวสักกะได้ทรงกล่าวสรรเสริญพระคุณตามที่เป็นจริงแปดประการของพระตถาคตเจ้า. ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันว่า ในวันนั้น นางก็ได้ไปชมการฟ้อน.
               คำว่า ย่อมเพลิดเพลินต่อกัน ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำเป็นต้นว่า ย่อมกลมกลืนแท้ ของเธอ ก็ชื่อว่าทรงเพลิดเพลิน ปัญจสิขะก็ชื่อว่าเพลิดเพลินตอบ เมื่อปัญจสิขะกำลังกล่าวคาถาอยู่ ก็ชื่อว่าเพลิดเพลิน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ชื่อว่าทรงเพลิดเพลินตอบ.
               คำว่า ตรัสเรียก คือ ทรงแจ้งให้ทราบ.
               ได้ทราบมาว่า ท้าวสักกะนั้นได้ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า เราส่งปัญจสิขะนี้ไปด้วยงานของเรา เขาก็ไปทำงานของตัวเองเสีย เขายืนอยู่ในสำนักพระศาสดาผู้เห็นปานนั้นแล้ว ไปกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยกามคุณ ซึ่งเป็นคำที่หาสมควรไม่ ก็ขึ้นชื่อว่าพวกนักฟ้อนเป็นพวกไร้ยางอาย ปัญจสิขะ เมื่อกำลังกล่าวอยู่พึงแสดงอาการที่ปลาดก็ได้ เอาล่ะ เราจะเตือนให้เขารู้งานของเรา เมื่อทรงคิดดังนี้แล้วก็ตรัสเรียกมา.
               บทว่า ก็แล เมื่อเป็นอย่างนี้ พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ดังนี้ อันพวกพระเถระผู้รวบรวมธรรม ตั้งไว้แล้ว. คำว่า กล่าวเพิ่ม คือ กล่าวด้วยการรับ การไหว้ ได้แก่ด้วยคำที่เพิ่มขึ้น. คำว่า อันกล่าวยิ่งแล้ว คือ อันกล่าวด้วยคำที่เพิ่มขึ้น. คำว่า ได้ถึงความกว้างขวาง คือ กลายเป็นเปิดกว้างใหญ่. คำว่า ความมืด ในถ้ำได้หายไป ความสว่างไสวเกิดขึ้นแทน คือ ความมืด โดยปกติของถ้ำนั้นได้หายไป เกิดความสว่างไสวแทน. ทั้งหมดนี้ เป็นคำของพวกท่านผู้รวบรวมธรรม.
               คำว่า ข้าพระองค์หลีกไปเสียนาน พระพุทธเจ้าข้า ความว่า ข้าพระองค์ใคร่จะเฝ้าตั้งนานแล้ว. อธิบายว่า ข้าพระองค์ใคร่จะเฝ้าจำเดิมแต่นานมาแล้ว.
               คำว่า ด้วยกิจและกรณียะบางอย่าง ความว่า พวกลูกหญิงและลูกชายย่อมเกิดบนตักของพวกเทพ พวกสตรีที่เป็นบาทปริจาริกา ย่อมเกิดบนที่นอน พวกเทวดาที่เป็นพนักงานตกแต่งประดับประดาของเทวดาเหล่านั้น ย่อมเกิดรอบๆ ที่นอน พวกช่วยกิจการงาน (ไวยาวัจกร) ย่อมเกิดภายในวิมาน การก่อคดีเพื่อประโยชน์แก่เทพพวกนี้ไม่มี แต่พวกที่เกิดระหว่างเขตแดนนั้น เมื่อไม่อาจตัดสินว่า ของท่าน ของข้าพเจ้า ดังนี้ ก็เป็นความกัน ย่อมทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นพระราชาของเทพ พระองค์ก็จะตรัสว่า ใกล้วิมานผู้ใดกว่า เป็นของผู้นั้น ถ้าวิมานทั้งสองเกิดมีระยะที่เท่าๆ กัน พระองค์ก็จะตรัสว่า ยืนมองวิมานผู้ใด เป็นของผู้นั้น ถ้าไม่มองดูแม้แต่วิมานเดียว เพื่อตัดการทะเลาะของทั้งสองฝ่าย ก็ทรงเอาเสียเอง ยังกิจมีการกีฬาเป็นต้น ก็จำเป็นต้องทรงจัดการทั้งนั้น.
               ท้าวเธอทรงหมายเอาพระกรณียะเหล่านั้น เห็นปานนี้แล้ว จึงตรัสว่า ด้วยกิจและกรณียะบางอย่าง ดังนี้.
               คำว่า ที่อาคารไม้สน ได้แก่พระคันธกุฎีที่สร้างด้วยไม้สน.
               คำว่า ด้วยสมาธิอันใดอันหนึ่ง คือ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระญาณของท้าวสักกะนั่นเองยังไม่แก่กล้า จึงไม่ทรงประทานพระโอกาส เลยประทับนั่งด้วยธรรมเครื่องพัก คือผลสมาบัติเสีย ท้าวเธอไม่ทรงทราบถึงข้อนั้น จึงตรัสว่า ด้วยสมาธิอันใดอันหนึ่ง ดังนี้.
               คำว่า ชื่อ ภุชคี คือ เทพธิดานั้น ชื่อว่า ภุชคี. คำว่า บริจาริกา คือ เทพธิดาผู้เป็นบาทบริจาริกา.
               มีเรื่องเล่ามาว่า นางบรรลุผลสองอย่าง เหตุนั้น นางจึงไม่มีความยินดีในเทวโลกเลย นางมาสู่ที่บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าเสมอ ยืนยกกระพุ่มมือวางไว้บนเศียรไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่.
               ในคำว่า ออกจากสมาธินั้นเพราะเสียงล้อและดุมรถ นี้ ไม่ต้องพูดว่า ทรงเข้าสมาบัติแล้วทรงได้ยินเสียง.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังตรัสกับท้าวสักกะผู้จอมทวยเทพว่า อีกประการหนึ่ง อาตมภาพออกจากสมาธินั้น ก็เพราะเสียงล้อและดุมรถของมหาบพิตร มิใช่หรือ.
               ตอบว่า เสียงดุมรถยกไว้เถิด ธรรมดาผู้เข้าสมาบัติ ในภายในสมาบัติ ต่อให้ใครเอาคู่สังข์มาเป่าใส่ใกล้ๆ กกหูก็ดีฟ้าผ่าเปรี้ยงก็ดี ก็ย่อมไม่ได้ยินเสียง.
               ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดว่า ตลอดเวลาเท่านี้ เราจะยังไม่ให้โอกาสแก่ท้าวสักกะ จึงทรงเข้าผลสมาบัติด้วยอำนาจเวลา. ท้าวสักกะทรงคิดว่า บัดนี้ พระศาสดายังไม่ประทานโอกาสแก่เรา จึงทรงทำประทักษิณพระคันธกุฎี แล้วให้กลับรถบ่ายพระพักตร์สู่เทวโลก. บริเวณพระคันธกุฎีก็มีสนั่นเพราะเสียงรถ เหมือนดนตรีมีองค์ห้า. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาบัติตามอำนาจเวลาที่ได้ทรงกำหนดไว้แล้ว จิตที่ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ดวงแรกก็เกิดขึ้น ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสอย่างนั้น.

               โคปกวตฺถุวณฺณนา               
               คำว่า ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายเป็นปกติ คือ เป็นผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ๕ ข้อ.
               คำว่า คลายจิตในความเป็นสตรี คือ มาคิดว่า พอกันทีสำหรับความเป็นสตรี เพราะว่าดำรงอยู่ในความเป็นสตรีแล้ว จะเสวยสิริของพระเจ้าจักรพรรดิก็ไม่ได้ เสวยสิริของพระอินทร์ มาร และพรหมก็ไม่ได้ จะบรรลุปัจเจกโพธิญาณก็ไม่ได้ จะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณก็ไม่ได้ อย่างนี้แล้ว ชื่อว่าย่อมสำรอกความใคร่ในความเป็นสตรี
               ส่วนผู้ที่คิดว่า ธรรมดาความเป็นบุรุษนี้ยิ่งใหญ่ประเสริฐสูงสุด เพราะผู้ดำรงอยู่ในความเป็นบุรุษนี้ สามารถถึงพร้อมซึ่งสมบัติเหล่านี้ อย่างนี้แล้ว ชื่อว่าย่อมทำความเป็นบุรุษให้มี
               แม้นางก็ได้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า สำรอกความใคร่จิตในความเป็นสตรีแล้ว ทำจิตบุรุษให้มีดั่งนี้.
               คำว่า กายคนธรรพ์เลว คือ พวกคนธรรพ์เลว คือ ลามก.
               ถามว่า ก็พวกเธอเหล่านั้นล้วนแต่มีศีลบริสุทธิ์ ทำไมจึงเกิดขึ้นในเทวโลกนั้นเล่า.
               ตอบว่า เพราะความพอใจมาก่อน.
               เล่ามาว่า แต่ก่อนมาที่นั่นแหละเป็นที่ที่เคยอยู่มาแล้วของพวกนั้น เพราะฉะนั้น จึงเกิดขึ้นในที่นั้น ด้วยสามารถแห่งความพอใจ.
               คำว่า ที่บำรุง ได้แก่ โรงสำหรับบำรุง. คำว่า บำเรอ ได้แก่ การปรนเปรอ.
               คนธรรพ์เหล่านั้นย่อมมาด้วยคิดว่า พวกเราจะบำเรอด้วยการขับและการบรรเลง.
               คำว่า ตักเตือน คือ ให้สติ.
               เล่ากันมาว่า เมื่อโคปกเทพบุตรเห็นคนธรรพ์เหล่านั้น จึงใคร่ครวญว่า เทวบุตรเหล่านี้มีรัศมีเหลือเกิน ทำกรรมอะไรไว้หนอจึงได้มา ได้เห็นว่าเป็นพวกภิกษุ จากนั้นก็ใคร่ครวญอีกว่า พวกภิกษุมีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายหรือไม่ ได้เห็นว่ามีปกติทำให้บริบูรณ์ ใคร่ครวญต่อไปว่า มีปกติทำให้บริบูรณ์ก็เถอะ คุณพิเศษอย่างอื่นมีหรือไม่มี ได้เห็นว่าเป็นพวกมีปกติได้ฌาน ใคร่ครวญต่อไปอีกว่า ถึงมีปกติได้ฌานก็ช่างเถอะ เป็นชาวไหนกัน ได้เห็นว่าเป็นผู้มารับบาตรประจำตระกูลของเรานั่นเอง
               จึงคิดว่า ธรรมดาผู้มีศีลบริสุทธิ์ย่อมเกิดในเทวโลกหกชั้น ในชั้นที่ต้องการ แต่พวกนี้ไม่เกิดในเทวโลกชั้นสูง ธรรมดาผู้ได้ฌานย่อมเกิดในพรหมโลก แต่พวกนี้ไม่เกิดในพรหมโลก ส่วนตัวเราตั้งอยู่ในโอวาทของพวกนี้ เกิดเป็นบุตรที่บัลลังก์ของท้าวสักกะจอมทวยเทพผู้เป็นเจ้าแห่งเทวโลก พวกนี้เกิดในหมู่คนธรรพ์ที่เลว ขึ้นชื่อว่าพวกคนธรรพ์นั่น ใครๆ เขาก็เจอแต่เป็นพวกบุคคลที่เอากระดูกมาเจาะ (คล้องคอ) เต้นกันไปเต้นกันมาเท่านั้นเอง จึงเตือนด้วยคำ เป็นต้นว่า ชื่อว่าเอาหน้าไปไว้ไหน.
               ในบทเหล่านั้น คำว่า เอาหน้าไปไว้ไหน ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหันพระพักตร์มาแสดงธรรมอยู่ พวกท่านมัวเอาหน้าไปไว้ไหน หรือมัวแต่ส่งใจไปที่อื่น มองนั่น มองนี่ หรือมัวแต่หลับอยู่.
               คำว่า รูปที่ไม่น่าดูเสียเลย คือ ไม่เหมาะที่จะเห็นสภาพที่ไม่น่าดู.
               คำว่า พวกสหธัมมิก คือ ผู้ประพฤติธรรม ได้แก่ทำบุญในศาสนาของพระศาสดาองค์เดียวกัน.
               คำว่า แห่งเทพบุตรเหล่านั้น พระเจ้าข้า ความว่า แห่งเทพบุตรเหล่านั้น ผู้ที่ถูกโคปกเทพบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ตักเตือนอีกด้วยคำเป็นต้นว่า โอ้! พวกท่าน ช่างไร้ยางอาย ช่างไม่มีความขายหน้า เทพสองท่านกลับได้สติในทันทีทันใดทีเดียว.
               คำว่า หมู่พรหมปุโรหิต คือ
               ได้ยินว่า เทพบุตรเหล่านั้นพากันคิดว่า ขึ้นชื่อว่าพวกนักฟ้อน ที่ฟ้อนรำ ขับร้อง ดีดสีตีเป่ามาแล้ว ก็ต้องได้ค่าจ้างรางวัล ส่วนโคปกเทพบุตรนี้ ตั้งแต่เวลาที่เราเห็น เอาแต่ปะทุเปรี๊ยะๆ เหมือนเอาเกลือโรยใส่เตาไฟ นี้มันอะไรกันหนอ
               เมื่อใคร่ครวญต่อไป ก็เห็นว่าตนเป็นสมณะ มีศีลบริสุทธิ์ ได้ฌานและก็เป็นผู้รับบาตรประจำตระกูลของโคปกเทพบุตรนั้นเสียด้วย แล้วมาทราบว่า ธรรมดาผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมเลือกเกิดในเทวโลกทั้ง ๖ ชั้นได้ ผู้ได้ฌานก็ย่อมเกิดในพรหมโลก (แต่) พวกเราทั้งในเทวโลกชั้นสูงทั้งในพรหม หาได้เกิดได้ไม่ โคปกเทพบุตรนี้เคยเป็นสตรีตั้งอยู่ในโอวาทของพวกเรา ยังได้เกิดสูง พวกเราเป็นภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดในพวกคนธรรพ์ที่เลว เหตุนั้น โคปกเทพบุตรนี้จึงข่มพวกเราอย่างนี้ได้ จึงต่างก็ยอมฟังถ้อยคำของโคปกเทพบุตรนั้น.
               ในเทพทั้งสามท่านนั้น สองท่านกลับได้ความระลึกถึงฌานที่ ๑ เอาฌานเป็นบาทแล้วก็พิจารณาสังขาร ตั้งอยู่ในอนาคามิผลนั่นแล.
               ทีนั้น อัตภาพชนิดท่องเที่ยวในกามซึ่งเป็นสภาพที่เล็กน้อยของพวกท่านเหล่านั้น ทรงอยู่ไม่ไหว ฉะนั้นทันใดนั่นเอง ท่านก็เคลื่อนไปเกิดในชั้นพรหมปุโรหิต และกายของพวกเขาที่อยู่ในชั้นพรหมปุโรหิตนั้น ก็เกิดแล้ว
               เพราะเหตุนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสว่า พระเจ้าข้า แห่งเทพบุตรเหล่านั้นผู้ที่โคปกเทพบุตรตักเตือนแล้ว เทพสองท่านกลับได้สติในทันทีทันใดทีเดียว เข้าถึงหมู่พรหมปุโรหิตแล้ว ดังนี้.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า ในทันทีทันใด ทีเดียว คือ กลับได้สติ ในอัตภาพนั้นเอง. พึงเห็นอธิบายในคำนั่นอย่างนี้ว่า ก็ยังอยู่ในที่นั้นนั่นเอง. เคลื่อนแล้วกลับได้กายเป็นพรหมปุโรหิต คือสรีระเป็นพรหมปุโรหิต.
               คำว่า แต่เทวบุตรท่านหนึ่ง คือ เทพบุตรท่านหนึ่งทำลายความติดใจยังไม่ได้ ก็อยู่ครองกาม คือยังอยู่ประจำ คือยังอาศัยอยู่ในกามาวจรภพนั่นเอง.
               คำว่า และบำรุงสงฆ์ คือ บำรุงสงฆ์ด้วย. คำว่า เป็นธรรมดี คือ ด้วยความที่พระธรรมเป็นธรรมดี. คำว่า เข้าถึงไตรทิพ คือ เกิดในไตรทิพ ได้แก่ไตรทศบุรี.
               คำว่า เข้าอาศัยอยู่ในหมู่นักดนตรี คือ เป็นผู้เข้าอยู่อาศัยในหมู่คนธรรพ์.
               คำว่า ก็พวกเราผู้ที่เมื่อก่อนเป็นมนุษย์ คือ เมื่อก่อนนี้ พวกเราผู้ที่เป็นมนุษย์. พึงประกอบกับคำนี้ว่า ข้าพเจ้าบำรุงด้วยข้าวน้ำ แล้วทราบใจความ.
               คำว่า ยังได้ชำระเท้า คือ เข้าไปใกล้เท้าแล้วทั้งบูชาด้วยการเพิ่มการล้างเท้าและการทาเท้า ทั้งไหว้ที่เท้า. คำว่า ในนิเวศน์ของตน คือ ในเรือนของตน. สำหรับบทนี้ ก็ต้องเอาไปเชื่อมกับบทว่า บำรุงแล้ว นี้เหมือนกัน.
               คำว่า พึงรู้ในเฉพาะตัว คือ พึงรู้ได้ด้วยตัวเอง. คำว่า สุภาษิตทั้งหลายของพวกพระอริยะ คือ สุภาษิตทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ที่พวกท่านกล่าวอยู่. คำว่า แต่ส่วนพวกท่านนั่งใกล้ผู้ประเสริฐ คือ นั่งอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าผู้สูงสุด. บทว่า อันยอดเยี่ยม คือ หรือ ในพระพุทธศาสนา. บทว่า พรหมจรรย์ ได้แก่ ความประพฤติที่ประเสริฐสุด. บทว่า ความอุบัติของพวกท่าน ได้แก่ ความเข้าถึงของพวกท่าน. คำว่า เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในอาคาร ได้แก่ เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่กลางเรือน.
               คำว่า สฺวาชฺช ตัดบทว่า โส อชฺช แปลว่า โคปกเทพบุตรนั้น ในวันนี้.
               ท่านเรียกโคปกะว่า สาวกพระโคดม ในที่นี้ว่า อันสาวกพระโคดม.
               คำว่า มาพร้อมแล้ว คือ ประชุมกันแล้ว. คำว่า เอาเถิด มาเร่งพยายามกันเถิด คือ เอาเถิด มาขะมักเขม้น พยายามกันเถิด. คำว่า โน ในบทว่า พวกเราอย่ามาเป็นผู้รับใช้เขาเลย นี้เป็นเพียงคำที่แทรกเข้ามาเท่านั้น. ความหมายก็คือ พวกเราอย่ามาเป็นผู้รับใช้ของผู้อื่นเลย.
               ในคำว่า คำสั่งสอนของพระโคดม นี้ โดยปกติท่านเรียกปฐมฌานที่ได้นั่นเองว่า คำสั่งสอนของพระโคดม หมายความว่า อนุสรณ์ คือตามระลึกถึงปฐมฌานนั้น.
               คำว่า พรากจิตทั้งหลาย คือ พรากพวกจิตที่ประกอบด้วยกามคุณห้าอย่าง. คำว่า โทษในเหล่ากาม คือ ได้เห็นโทษในกามทั้งหลายด้วยปฐมฌานเพราะอำนาจการข่ม เพราะอำนาจการตัดได้ขาด ท่านเหล่านั้นได้เห็นทั้งเครื่องประกอบคือกาม และเครื่องผูกคือกาม ที่ชื่อว่ากามสัญโญชน์ ด้วยมรรคที่สาม.
               คำว่า เป็นเครื่องประกอบของผู้มีบาป หมายความว่า เป็นเครื่องประกอบเป็นเครื่องผูกของผู้มีบาป คือของมาร. คำว่า พ้นไปได้ยาก คือ ยากที่จะก้าวข้ามไปได้. คำว่า หมู่เทพรวมทั้งพระอินทร์ รวมทั้งประชาธิบดี ความว่า ผู้ที่ทำพระอินทร์ให้เป็นหัวหน้าแล้วเข้าไป ชื่อว่ารวมทั้งพระอินทร์ ผู้ที่ทำประชาบดีเทวราชให้เป็นหัวหน้าแล้วเข้าไป ชื่อว่ารวมทั้งประชาธิบดี. คำว่า เข้าไปในสภา ความว่า เข้าไปนั่งในที่ประชุม. คำว่า ผู้กล้า คือ ผู้กล้าหาญ. คำว่า คลายกำหนัด คือ ปราศจากกำหนัด. คำว่า กระทำธรรมที่ปราศจากมลทิน คือ กระทำได้แก่ทำอนาคามิมรรคที่ไม่มีมลทินให้เกิดขึ้น. คำว่า ตัดกามคุณที่ละเอียด เหมือนช้าง คือ ตัดเครื่องประกอบ คือกาม และเครื่องผูกพันได้แล้ว ก็ก้าวล่วงพวกเทพชั้นดาวดึงส์ไป.
               คำว่า ทรงเกิดความสลด คือ แก่ท้าวสักกะผู้ทรงเกิดความสลด. คำว่า ผู้ครอบงำกาม คือ ผู้ทรงครอบงำกามแม้ทั้งสองอย่าง. คำว่า ผู้เสื่อมจากสติ คือ ผู้เว้นจากความระลึกถึงฌาน. คำว่า แห่งสามท่านนั้น คือ ในสามท่านนั้น. คำว่า ท่านหนึ่งยังอยู่ในภพนั้น คือ ที่เป็นผู้ยังอยู่ในพวกชั้นเลวนั้น มีเพียงผู้เดียวเท่านั้น. คำว่า มีปกติตามระลึกถึงทางแห่งความตรัสรู้ คือ มีปกติตามระลึกถึงอนาคามิมรรค.
               คำว่า ย่อมดูถูกแม้แต่พวกเทพ คือ ดูหมิ่น ได้แก่กดเทวโลกแม้ทั้งสองชั้นให้ต่ำลง เพราะความที่ตนตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ จึงเอาฝุ่นที่ติดเท้าตนมาโปรยใส่ศีรษะพวกเทวดา เหาะไปในอากาศได้.
               คำว่า ผู้ประกาศธรรมเป็นเช่นนี้ในศาสนานี้ คือ หมู่สาวกเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ประกาศธรรมเห็นปานนี้ในพระศาสนานี้.
               คำว่า ใครๆ ที่เป็นสาวกย่อมไม่สงสัยอะไรในข้อนั้น คือ ในสาวกเหล่านั้น ใครๆ แม้แต่เป็นสาวกรูปเดียว ก็ไม่สงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้น หรือในความเป็นทิศทั้งสี่ เป็นผู้ไม่ติดขัดไม่ยึดมั่นในทิศทั้งหมดอยู่.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า ขอนมัสการพระพุทธเจ้าผู้ทรงข้ามห้วงน้ำได้แล้ว ตัดความลังเลได้แล้ว ผู้ทรงชำนะ ผู้เป็นจอมชน ดังนี้.
               ในบทเหล่านั่น คำว่า ผู้ตัดความลังเลได้แล้ว คือ ตัดความสงสัยได้แล้ว. คำว่า ผู้เป็นจอมชน คือ ผู้สูงสุดในโลกทั้งหมด. คำว่า ธรรมใดของพระองค์ คือ ธรรมของพระองค์ใด. คำว่า ท่านเหล่านั้นได้ถึงแล้ว คือ เทพบุตรเหล่านั้นได้บรรลุแล้ว. คำว่า กายพรหมปุโรหิต คือ เมื่อพวกข้าพระพุทธเจ้ากำลังดูอยู่นั้น ก็กลายสรีระเป็นพรหมปุโรหิต.
               มีคำที่ท้าวสักกะทรงขยายไว้ดังนี้ว่า เทพเหล่านั้นทราบธรรมของพระองค์ใดแล้ว ในสามท่านนั้น ท่านทั้งสองนั้นได้ถึงคุณพิเศษ ขณะที่พวกข้าพระองค์เห็นกันอยู่นั้น ก็บรรลุกายเป็นพรหมปุโรหิต แล้วได้บรรลุคุณพิเศษ คือมรรคผล ท่านผู้นิรทุกข์ ถึงพวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น.
               คำว่า มาแล้ว คือ ถึงพร้อมแล้ว.
               คำว่า พวกข้าพระองค์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระโอกาสแล้วจะพึงทูลถามปัญหา ท่านผู้นิรทุกข์ หมายความว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะประทานพระโอกาส ทีนั้น ท่านผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์ผู้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระโอกาสแล้ว ก็จะพึงทูลถามปัญหา.

               สกฺกปวตฺติวณฺณนา               
               คำว่า ยักษ์ (พระอินทร์) นี้ เป็นผู้บริสุทธิ์มานานแล้วแล คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ดีจำเดิมแต่กาลนานแล้ว. กาลนานเท่าไร. นาน จำเดิมแต่ครั้งเป็นมาฆมาณพในหมู่บ้านมจละ แคว้นมคธ ครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงเกิดขึ้นมาแล้ว.
               ดังมีเรื่องเล่ามาว่า ครั้งนั้น วันหนึ่ง มาฆมาณพนั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ แล้วไปสู่ที่ทำงานประจำหมู่บ้านของพวกคนกลางหมู่บ้าน เอาปลายเท้านั่นแหละเขี่ยกองดินและขยะมูลฝอยออกไป ทำที่ซึ่งตนยืนให้น่ารื่นรมย์. คนอื่นก็มายืนในที่นั้น.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านั้นเอง เขาก็กลับได้ความระลึก จึงถางที่เท่าวงสนามกลางหมู่บ้านแล้ว ก็ขนทรายมาเกลี่ยลง ขนเอาฟืนมาก่อไฟในเวลาหนาว. ทั้งหนุ่มสาวและผู้เฒ่าผู้แก่ก็พากันมานั่งในที่นั้น.
               ต่อมาวันหนึ่ง เขาเกิดความคิดว่า เมื่อเราไปเมืองก็เห็นพระราชาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นต้น คนทั้งหลายต่างก็กล่าวกันว่า ในพระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้น ต่างก็มีเทพบุตรชื่อจันทร์ เทพบุตรชื่อสูรย์ พวกเหล่านั้นทำอะไรหนอจึงได้สมบัติเหล่านี้.
               ต่อมาจึงคิดได้ว่า สิ่งอื่นไรๆ ไม่มี ต้องทำบุญเท่านั้น แล้วคิดว่า ถึงเราเองก็ต้องทำบุญที่ให้สมบัติอย่างนี้เหมือนกัน. เขาจึงลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ดื่มข้าวต้มแล้วก็ถือเอาพร้าขวานเสียมและสากไปที่ทางใหญ่สี่แยก เอาสากงัดก้อนหินให้ไหวแล้วกลิ้งไป เอาไม้มาสอดใส่เพลายาน ปราบที่ขรุขระให้เรียบราบแล้ว ก็สร้างศาลาตรงทางใหญ่สี่แพร่ง ขุดสระบัว ผูกสะพานทำงานอย่างนี้ตลอดวัน ตะวันตกจึงกลับบ้าน.
               มีคนอื่นถามเขาว่า เพื่อนมาฆะ คุณออกไปตั้งแต่เช้า ตกเย็นจึงมาจากป่า คุณทำงานอะไร. ผมทำบุญ ถางทางไปสวรรค์. ชื่อว่าบุญนี้ คืออะไรกันเพื่อน. คุณไม่รู้จักหรือ. เออ ผมไม่รู้จัก. เวลาไปเมืองท่านเคยเห็น พวกราชาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นต้นหรือ. เคยเห็นครับ. พวกนั้นทำบุญแล้วจึงได้ตำแหน่งนั้น ผมเองก็จะทำงานที่ให้สมบัติอย่างนั้นบ้าง คุณเคยฟังไหมว่า เทพบุตรชื่อจันทร์ เทพบุตรชื่อสูรย์. เออ เคยฟัง. ผมก็จะถางทางไปสวรรค์นั้น. เออก็บุญกรรมนี้ เหมาะสำหรับคุณเท่านั้น หรือสำหรับคนอื่นก็เหมาะด้วย. บุญนั้นไม่กีดกันใครๆ หรอก. ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้ เวลาไปป่า คุณเรียกผมด้วยนะ.
               วันรุ่งขึ้น เขาก็พาคนนั้นไป. ด้วยประการฉะนี้ ในหมู่บ้านนั้นจึงมีคนอยู่ในวัยฉกรรจ์รวมสามสิบสามคน ทุกคนล้วนแต่เป็นไปตามนายมาฆะทั้งนั้น. พวกเขาเที่ยวทำบุญเป็นเอกฉันท์ วันใดไป เมื่อจะปราบทางให้ราบปราบวันเดียวเท่านั้น เมื่อจะขุดสระบัว สร้างศาลา สร้างสะพานก็ให้เสร็จในวันเดียวเท่านั้น.
               ต่อมา ผู้ใหญ่บ้านของพวกเขาก็คิดว่า แต่ก่อน เมื่อพวกนี้ยังดื่มเหล้าและยังฆ่าสัตว์เป็นต้น เราย่อมได้ทรัพย์ด้วยอำนาจกหาปณะเล็กน้อยเป็นต้นบ้าง ด้วยอำนาจภาษีอาชญาบัตรบ้าง เดี๋ยวนี้ ตั้งแต่พวกนี้ทำบุญ รายได้จำนวนนั้นก็ขาดไป เอาล่ะ เราจะทำลายพวกนั้นในราชตระกูล จึงเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า มหาราช ข้าพระพุทธเจ้าพบกองโจร.
               ราชา. ที่ไหนกัน พ่อ.
               ผู้ใหญ่บ้าน. ในหมู่บ้านข้าพระพุทธเจ้า.
               ราชา. โจรชนิดไหนกัน พ่อ.
               ผู้ใหญ่บ้าน. ชนิดทำผิดต่อพระราชา พระองค์.
               ราชา. ชาติอะไร.
               ผู้ใหญ่บ้าน. ชาติชาวบ้าน พระองค์.
               ราชา. ชาวบ้านจะทำอะไรได้ เมื่อเธอรู้เช่นนั้น ทำไมจึงไม่บอกเรา.
               ผู้ใหญ่บ้าน. มหาราช ที่ไม่กราบทูลเพราะกลัวพระอาชญา บัดนี้ ขอพระองค์อย่าพึงลงพระอาชญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงคิดว่า ผู้ใหญ่บ้านนี้ร้องเสียงดัง จึงทรงเชื่อ จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอนั่นแหละจงไป นำพวกโจรเหล่านั้นมา แล้วก็ประทานกำลังส่งไป. ผู้ใหญ่บ้านนั้นก็ไปล้อมพวกนั้นขณะที่ทำงานประจำวันในป่าเสร็จแล้ว นั่งรับประทานอาหารเย็นกลางหมู่บ้าน แล้วกำลังปรึกษากันว่า พรุ่งนี้ พวกเราจะทำงานอะไร จะปราบทางให้เสมอกัน จะขุดสระ หรือจะผูกสะพาน แล้วสำทับไปว่า อย่าขยับเขยื้อนนะ นี่คำสั่งในหลวง มัดแล้วก็จูงไป.
               ลำดับนั้น พวกผู้หญิงของคนเหล่านั้น ได้ฟังว่า นัยว่า พวกสามีของพวกเราเป็นโจรขบถต่อพระราชา เจ้าหน้าที่เขาหาว่าเป็นโจร จึงมัดนำออกไป จึงพูดว่า พวกนี้เป็นคนโกงมานานแล้ว แต่ละวันๆ มีแต่พูดว่า ทำบุญ แล้วก็ไปป่าท่าเดียว งานการทุกอย่างเสื่อมทรามหมด ในเรือนจะหาอะไรก้าวหน้าสักนิดก็ไม่มี มัดให้ดี นำไปให้ดี.
               แม้ผู้ใหญ่บ้านก็นำพวกเขาไปแสดงแด่พระราชา. พระราชายังไม่ทันได้ทรงสอบสวนเลย ตรัสว่า จงให้ช้างเหยียบ.
               เมื่อพวกเขาถูกนำไป มาฆะพูดกับคนนอกนี้ว่า เพื่อน พวกคุณจะทำตามคำของผมได้ไหม.
               เมื่อทำตามคำของคุณนั่นแหละ พวกเราจึงถึงภัย ถึงเช่นนั้นก็เถอะ เราก็ยังทำตามคำของคุณ ว่าแต่คุณเถอะ จะให้พวกเราทำอะไร พรรคพวกว่า.
               เพื่อน มาเถอะ นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ที่ท่องเที่ยวในวัฏฏะ ก็พวกท่านเป็นโจรหรือ มาฆะชี้แจง และถามพรรคพวก.
               พวกเราไม่ใช่โจร พรรคพวกตอบอย่างแข็งขัน.
               ชื่อว่าการกระทำสัจจะเป็นที่พึ่งของโลกนี้ ฉะนั้น ถ้าพวกเราแม้ทั้งหมดเป็นโจร ขอให้ช้างจงเหยียบ ถ้าไม่เป็นโจร อย่าเหยียบ ขอให้พวกคุณจงกระทำสัจจะดังที่ว่ามานี้ มาฆะแนะนำ.
               พวกเขาก็ได้ทำอย่างนั้น.
               ช้างแม้แต่จะเข้าใกล้ก็ไม่ได้ ร้องพลาง หนีไปพลาง แม้จะเอาเหล็กแหลม หอก และขอสับสักเท่าไรก็รั้งไว้ไม่อยู่. พวกควาญช้างจึงไปกราบทูลพระราชาว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าขับช้างเข้าไปใกล้ไม่ได้.
               ถ้าอย่างนั้น ก็เอาเสื่อลำแพนคลุมปิดข้างบนพวกมันแล้วให้เหยียบซิ พระราชาตรัสสั่ง.
               เมื่อครอบเสื่อลำแพนไว้ข้างบนแล้ว เจ้าช้างก็ยิ่งร้องเป็นสองเท่าพลางก็หนีไป.
               พระราชาทรงฟังแล้ว ก็ทรงมีรับสั่งให้เรียกตัวการยุแหย่มาแล้วตรัสว่า พ่อ ช้างมันไม่อยากเหยียบ.
               ทราบด้วยเกล้า ขอเดชะ มาณพผู้เป็นหัวหน้ารู้มนต์ นั่นเป็นอานุภาพของมนต์แท้เทียว ผู้ใหญ่บ้านสนองพระดำรัสและกราบทูลใส่ความต่อ.
               พระราชาทรงมีรับสั่งให้หัวหน้านั้นเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามว่า เขาว่า แกมีมนต์หรือ.
               ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีมนต์ แต่พวกข้าพระพุทธเจ้าได้กระทำสัจจกิริยาไว้ว่า ถ้าพวกเราเป็นโจรของพระราชา ขอให้เหยียบเถิด ถ้าไม่เป็นโจร ขออย่าเหยียบ นั่นเป็นอำนาจของสัจจกิริยาของพวกข้าพระพุทธเจ้า.
               ราชา. แล้วก็ พวกพ่อกระทำงานอะไร.
               หัวหน้า. พวกข้าพระพุทธเจ้า ปราบทางที่ขรุขระให้เรียบ สร้างศาลาในทางใหญ่สี่แยก ขุดสระบัว ผูกสะพาน ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวสร้างบุญกรรมเห็นปานนี้.
               ราชา. ผู้ใหญ่บ้านยุยงพวกพ่อ เพื่ออะไร?
               หัวหน้า. เวลาที่พวกข้าพระพุทธเจ้าประมาท เขาย่อมได้สิ่งนี้และสิ่งนี้ เวลาไม่ประมาท สิ่งนั้นก็ไม่มี ด้วยเหตุนี้จึงยุยง.
               ราชา. พ่อ ช้างเชือกนี้ เป็นดิรัจฉาน แม้มันก็ยังรู้คุณของพวกพ่อ ข้าเองแม้เป็นมนุษย์ ก็ไม่รู้ ข้าขอยกหมู่บ้านที่อยู่ของพวกพ่อเป็นหมู่บ้านปลอดภาษีที่ใครๆ มาเก็บไม่ได้ แล้วให้แก่พวกพ่อนี้แหละอีก ถึงช้างนี้ก็จงเป็นของพวกพ่อเหมือนกัน ส่วนตัวการยุแหย่ขอมอบให้เป็นทาสของพวกพ่อนี่แหละ ตั้งแต่นี้ไป ขอให้พวกพ่อจงทำบุญเพื่อข้าบ้างนะ
               ตรัสแล้วก็พระราชทานพระราชทรัพย์ให้ แล้วก็ทรงปล่อยไป.
               พวกเขารับพระราชทรัพย์แล้ว ก็เปลี่ยนเวรขึ้นช้างกันไป พลางปรึกษากันว่า เพื่อนเอ๋ย ธรรมดาว่า บุญกรรมเป็นของที่ต้องทำเพื่อประโยชน์แห่งภพในอนาคต เพราะบุญนั้นของพวกเราให้ผลในอัตภาพนี้แหละ เหมือนอุบลเขียวที่ผลิดอกออกผลภายในน้ำ บัดนี้ พวกเราจะทำบุญให้ยิ่งขึ้นไป.
               พวกเราจะทำอะไร?
               เราทำสิ่งถาวรในทางใหญ่สี่แยกแล้ว สร้างศาลาสำหรับพักของมหาชน. แต่กับพวกผู้หญิงจะไม่ยอมให้มีส่วนร่วม เพราะเมื่อพวกเราถูกเจ้าหน้าที่หาว่าเป็นโจรจับพาไป ในพวกผู้หญิงแม้คนเดียว ก็ไม่ทำแม้แต่เพียงเอาใจช่วย มีแต่ส่งเสริมว่ามัดดีๆ จับดีๆ เพราะฉะนั้น พวกเราจะไม่ยอมให้ผู้หญิงเหล่านั้นมีส่วนร่วม.
               พวกเขาก็พากันไปเรือนตนให้ข้าวสามสิบสามก้อน นำหญ้าสามสิบสามกำแก่ช้าง. ทั้งหมดนั้นก็เต็มท้องช้าง. พวกเขาเข้าป่าตัดไม้. ช้างก็ลากเอาไม้ที่ตัดแล้วๆ มาวางไว้ที่ทางเกวียน. พวกเขาช่วยกันถากไม้ เริ่มสร้างศาลา.
               มาฆะ มีภรรยาอยู่ในเรือนสี่คน คือ นางสุชาดา นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา.
               นางสุธรรมาถามช่างไม้ว่า พ่อ! พวกเพื่อนเหล่านี้ เช้าก็ไป ตกเย็นจึงมา พวกเขาทำงานอะไร. ทำศาลา แม่. พ่อ! ขอให้ท่านช่วยทำให้ดิฉันมีส่วนร่วมในศาลาด้วยคนซิ. พวกเพื่อนเหล่านี้กล่าวว่า พวกเราจะไม่ยอมให้พวกผู้หญิงมีส่วนร่วม.
               นางได้ให้เงินช่างไม้แปดกหาปณะด้วยพูดว่า เอาเถอะ พ่อ ขอให้ท่านช่วยหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้ดิฉันมีส่วนร่วมด้วย. เขากล่าวว่า ตกลง แม่ แล้วก็ถือเอามีดและเอาขวานอย่างเร็วไปยืนกลางหมู่บ้าน ตะโกนเสียงดังๆ ว่า คุณ! วันนี้เวลาป่านนี้แล้ว ยังไม่ออกกันอีกหรือ? รู้ว่า ขึ้นสู่ทางกันหมดแล้ว จึงว่า พวกคุณจงล่วงหน้าไปก่อน ผมมีความจำเป็นต้องล่าช้า แล้วก็ให้พวกนั้นล่วงหน้าไปก่อน แล้วเดินไปทางอื่นตัดไม้สำหรับใช้เป็นช่อฟ้า ถากไสแล้วขนมาไว้ที่เรือนนางสุธรรมาแล้ว สั่งนางว่า ท่านพึงให้ขนออกไปได้ ในวันที่ผมแจ้งไปว่าจงให้เถิด.
               ต่อมาเมื่อเสร็จงานเกี่ยวกับเครื่องเครา และเมื่อทำเครื่องผูกที่ยึด การยกเสา การประกอบขื่อและที่ติดช่อฟ้า ตั้งแต่ปราบพื้นที่เสร็จแล้ว ช่างไม้นั้นก็นั่ง ณ ที่สำหรับติดช่อฟ้า ยกไม้จันทันทั้งสี่ทิศ พูดว่า โอ้! มีลืมไปอย่างหนึ่งเสียแล้ว. คุณมีอะไรที่ไม่ลืมเล่า? ลืมทั้งหมดนั่นแหละ. แล้วจะเอาไม้จันทันเหล่านี้ไปตั้งไว้ตรงไหน? ควรจะได้ช่อฟ้ามา. พ่อคุณเอ๋ย บัดนี้ เราอาจได้ที่ไหนเล่า. อาจได้ในเรือนแห่งสกุลทั้งหลาย ลองเที่ยวถามดูซิ.
               พวกเขาก็เข้าไปถามในหมู่บ้าน แล้วมายืนที่ประตูเรือนนางสุธรรมาถามว่า ในเรือนนี้มีช่อฟ้าไหม. นางบอกว่า มี. เชิญรับค่าไป. ไม่รับค่าหรอก ถ้าพวกคุณยอมให้ดิฉันมีส่วนร่วมด้วย ดิฉันจะให้. มาเถอะ พวกเราจะไม่ยอมทำให้ผู้หญิงมีส่วนร่วม พวกเราจะไปป่าแล้วตัดไม้ ว่าแล้วก็พากันออกไป. แต่นั้น พวกเขาเมื่อถูกช่างไม้ถามว่าเป็นอย่างไร พ่อได้ช่อฟ้าไหม? ก็แจ้งความข้อนั้น. ช่างไม้นั่งอยู่ที่ติดช่อฟ้าอย่างเดิมเงยมองดูอากาศแล้วพูดว่า ท่านผู้เจริญ วันนี้ ฤกษ์ดี เลยฤกษ์นี้แล้ว ปีอื่นจึงจะสามารถได้ และพวกคุณก็จะนำเอาเครื่องเครามาลำบาก ด้วยเครื่องเคราเหล่านั้นเอามากองไว้ตลอดปี ก็จะเน่าผุในที่นี้นี่เอง เวลาเกิดในเทวโลก ก็จงยอมให้ศาลามุมหนึ่งแก่นางเถิด ไปเอาช่อฟ้านั้นมาเถิด.
               แม้นางสุธรรมานั้นตลอดเวลาที่พวกนั้นยังไม่มาอีก ได้สั่งให้ฉลุตัวหนังสือว่า ศาลาหลังนี้ชื่อสุธรรมา ไว้ที่พื้นล่างช่อฟ้า แล้วเอาผ้าใหม่มาพันตั้งไว้.
               เมื่อพวกคนงานมาแล้วกล่าวว่า ช่วยนำเอาช่อฟ้ามา เท่าที่จะเป็นได้ พวกเราจะทำให้คุณนายมีส่วนร่วมด้วย. นางก็นำออกมา สั่งว่า พ่อทั้งหลาย! อย่าเพิ่งเอาผ้านี้ออกนะคะ จนกว่ายังไม่ขึ้นไม้จันทันได้แปดหรือสิบหกท่อนก่อน แล้วก็ให้ไป. พวกนั้นก็รับว่า ตกลง ครั้นยกไม้จันทันขึ้นเสร็จแล้วก็เอาผ้าออก.
               เพื่อนบ้านสำคัญคนหนึ่งเงยหน้าขึ้นข้างบนเห็นตัวหนังสือจึงพูดว่า นี่อะไร? แล้วให้ไปตามคนที่อ่านหนังสือออกมาแสดง. คนนั้นก็อ่านว่า ศาลาหลังนี้ชื่อสุธรรมา. พวกเขาก็ร้องเอะอะว่า เอาออกไปท่าน ตั้งแต่ต้นมา เมื่อสร้างศาลา พวกเราไม่ได้แม้แต่ชื่อ นางนี้เอาไม้ช่อฟ้าแค่ศอกแล้วให้ทำศาลาด้วยชื่อตัว.
               เมื่อพวกเขากำลังร้องเอะอะอยู่นั่นเอง ช่างไม้ก็สอดไม้จันทันแล้วตอกสลักเป็นอันเสร็จงานสร้างศาลา. เขาแบ่งศาลาเป็นสามส่วน คือ ส่วนหนึ่งทำเป็นที่พักพวกคนใหญ่คนโต ส่วนหนึ่งสำหรับพวกคนยากคนจน อีกส่วนหนึ่งสำหรับผู้เจ็บป่วย.
               สามสิบสามคนปูกระดานสามสิบสามแผ่นแล้วให้สัญญาณช้างว่า อาคันตุกะมานั่งบนแผ่นกระดานที่ผู้ใดปูไว้ เจ้าจงพาเขาไปตั้งไว้ที่เรือนของเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ ให้การนวดเท้า ให้การนวดหลัง ของขบเคี้ยวของกินและที่นอน ทั้งหมดแก่อาคันตุกะนั้น จะเป็นภาระของเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ. ช้างก็พาแขกที่มาแล้ว นำไปสู่เรือนของเจ้าของแผ่นกระดานนั่นเอง. วันนั้น เจ้าของแผ่นกระดานนั้นก็จัดการที่พึงทำแก่แขกนั้น.
               ในที่ไม่ไกลศาลา มาฆมาณพปลูกต้นทองหลางไว้ และที่โคนไม้นั้นลาดแผ่นหินไว้. แม้ภริยาของเขาที่ชื่อสุนันทาก็ให้ขุดสระบัวไว้ใกล้ๆ. นางสุจิตราปลูกพุ่มไม้ดอก. ส่วนเมียหลวงเอาแต่เที่ยวส่องกระจกตกแต่งร่างกายเท่านั้น. มาฆะพูดกับนางว่า น้อง แม่สุธรรมานี้ เขามีส่วนแห่งศาลา แม่สุนันทา เขาให้ขุดสระบัว และก็แม่สุจิตราเขาก็ปลูกพุ่มไม้ดอก ส่วนน้องยังไม่มีบุญกรรม น้องจงทำบุญสักอย่างเถอะที่รัก. นางตอบว่า พี่ทำเพราะเหตุใคร ที่พี่ทำก็เพื่อน้องเหมือนกันมิใช่หรือ? แล้วก็เอาแต่หมกมุ่นกับการแต่งตัวท่าเดียว.
               เมื่อมาฆะดำรงอยู่จนตลอดอายุแล้ว ก็เคลื่อนจากมนุษย์โลกนั้นไปเกิดเป็นท้าวสักกะในชั้นดาวดึงส์. คนเพื่อนบ้านทั้งสามสิบสามคนตายแล้ว ก็เป็นเทพบุตรสามสิบสามองค์เกิดในสำนักของท้าวสักกะนั้นเอง. ปราสาทชื่อไพชยนต์ของท้าวสักกะ ผุดขึ้นสูงตั้งเจ็ดร้อยโยชน์. ธงผุดขึ้นสูงตั้งสามร้อยโยชน์. ด้วยผลของไม้ทองหลาง เกิดต้นปาริฉัตร มีปริมณฑลโดยรอบสามร้อยโยชน์ ลำต้นกว้างสิบห้าโยชน์. ด้วยผลแห่งแผ่นหิน เกิดหินเหมือนผ้าขนสัตว์สีเหลืองหกสิบโยชน์ที่โคนปาริฉัตร. ด้วยผลแห่งไม้ช่อฟ้าของนางสุธรรมา เกิดเทวสภาชื่อสุธรรมาสามร้อยโยชน์. ด้วยผลแห่งสระบัวของนางสุนันทา เกิดสระบัวชื่อนันทาห้าสิบโยชน์. ด้วยผลแห่งสวนพุ่มไม้ดอกของนางสุจิตรา เกิดอุทยานชื่อจิตรลดาวันหกสิบโยชน์.
               ท้าวสักกะผู้เป็นราชาแห่งเทพ ประทับนั่งบนบัลลังก์ทองโยชน์หนึ่งในสุธรรมาเทวสภา มีเศวตฉัตรสามโยชน์กางกั้น แวดล้อมไปด้วยเทพบุตรเหล่านั้น ด้วยเทพธิดาเหล่านั้น ด้วยนางฟ้อน ๒๕ โกฏิและด้วยหมู่เทวดาในเทวโลกสองชั้น เมื่อตรวจดูมหาสมบัติ ก็ทรงเห็นสตรีสามคนเหล่านั้น ทรงดูว่า สามคนนี้ปรากฏก่อน สุชาดาอยู่ไหน ทรงเห็นว่า นางนี้ไปเกิดเป็นนางนกยางตัวหนึ่งในซอกเขา เพราะไม่ยอมทำตามคำเรา แล้วทรงลงจากเทวโลก เสด็จไปสู่สำนักนาง.
               พอนางเห็นเท่านั้นแหละก็จำได้เลยก้มหน้า. ท้าวสักกะจึงตรัสว่า เจ้าผู้เขลา บัดนี้ ไฉนจึงไม่ยอมยกหัวขึ้นล่ะ เจ้าไม่ทำตามคำเรา เอาแต่แต่งเนื้อแต่งตัว ทำให้เสียเวลา สมบัติอันยิ่งใหญ่เกิดแล้วแก่นางสุธรรมา นางสุนันทา และนางวิจิตรา จงมาดูสมบัติพวกเราสิ แล้วก็ทรงพาไปเทวโลก ทรงปล่อยที่สระบัวชื่อนันทาแล้ว เสด็จประทับนั่งบนบัลลังก์. พวกนางนักฟ้อนกราบทูลถามว่า มหาราช ทูลกระหม่อมเสด็จไปไหน. พระองค์แม้ไม่ทรงอยากจะบอก เมื่อถูกพวกนางเหล่านั้นบีบคั้นหนักเข้า ก็ตรัสว่า ไปสู่สำนักสุชาดา.
               นาฏกา. มหาราช นางเกิดที่ไหน.
               ส. ที่เชิงซอกเขา.
               นาฏกา. เดี๋ยวนี้อยู่ไหน.
               ส. ฉันปล่อยไว้ที่สระบัวชื่อนันทา.
               นาฏกา. มาเถิด ท่านผู้เจริญ พวกเราไปดูเจ้าแม่ของพวกเรา แล้วทั้งหมดก็พากันไปที่นั้น.
               นางสุชาดานั้น แต่ก่อนมา ถือตัวว่าเป็นใหญ่กว่าเขาหมด. บัดนี้ ชั้นแต่พวกหญิงนักฟ้อน เมื่อเห็นนางเข้าก็พากันพูดจาเยาะเย้ยเอาเป็นต้นว่า ดูเถิดท่าน ปากเจ้าแม่พวกเราอย่างกะหลาวแทงปู.
               นางเกิดอึดอัดเหลือเกิน จึงทูลท้าวสักกะผู้เป็นราชาของเทพว่า มหาราช วิมานทอง วิมานเงินหรือนันทาโปกขรณีเหล่านี้ จักทำอะไรแก่หม่อมฉัน มหาราช ชาติภูมิเท่านั้นแหละที่เป็นสุขของหมู่สัตว์ โปรดปล่อยหม่อมฉันไว้ที่เชิงซอกเขานั้นตามเดิมเถิด.
               ท้าวสักกะทรงปล่อยนางไว้ที่นั้นแล้วตรัสว่า เจ้าจะทำตามคำของฉันไหม.
               นางทูลถามว่า จะทำตามมหาราช. ท้าวสักกะจึงตรัสว่า เจ้าจงรับศีลห้ารักษาอย่าให้ขาด ไม่กี่วัน ฉันจะทำเจ้าให้ใหญ่กว่านางเหล่านั้น. นางก็ได้ทำอย่างนั้น.
               ล่วงไปได้สองสามวัน ท้าวสักกะทรงคิดว่า นางรักษาศีลได้ไหมหนอ จึงเสด็จไปจำแลงเป็นปลาหงายท้อง ลอยบนหลังน้ำข้างหน้านาง. นางคิดว่า คงเป็นปลาตาย จึงไปจิกเอาที่หัว. ปลากระดิกหาง. นางคิดว่า ชะรอยปลายังเป็นแล้วก็ปล่อยน้ำไป. ท้าวสักกะประทับยืนที่อากาศ ตรัสว่า สาธุ สาธุ เจ้ารักษาสิกขาบทได้ ฉันจะทำเจ้าผู้รักษาได้อย่างนี้ให้เป็นหัวหน้าของพวกนางละครเทวดาโดยไม่นานทีเดียว. นางมีอายุ ๕๐๐ ปี. แม้แต่วันเดียวก็ไม่ได้อาหารเต็มท้อง แม้จะเหี่ยวแห้ง แห้งผากร่วงโรยอยู่ ก็ไม่ทำให้ศีลขาด เมื่อตายแล้ว ก็เกิดในเรือนช่างหม้อในกรุงพาราณสี.
               เมื่อท้าวสักกะทรงตรวจดูว่าเกิดที่ไหน ก็ทรงเห็น ทรงคิดว่า เรายังนำนางมาที่นี้จากที่นั้นไม่ได้ เราจะให้ความเป็นไปแห่งชีวิตแก่นาง จึงทรงเอาฟักทองทองคำบรรทุกยานน้อยไปจนเต็ม จำแลงเพศเป็นคนแก่ นั่งในท่ามกลางหมู่บ้าน ร้องว่า พวกท่านจงมาเอาฟักทอง. พวกชาวบ้านโดยรอบมากล่าวว่า จงให้มาพ่อ. คนแก่พูดว่า ฉันจะให้แก่คนผู้รักษาศีล พวกท่านรักษาศีลกันไหม. พวกคนก็ว่า พ่อเอ๋ย พวกเราไม่รู้ว่าศีลเป็นอย่างไร ตาจงขายเถอะ. ตาเฒ่าพูดว่า ฉันจะให้แก่ผู้รักษาศีลเท่านั้น. พวกคนพูดว่า มาซิท่าน เฒ่าขายฟักทองนี้เป็นใครกัน แล้วก็กลับกันหมด. เด็กหญิงคนนั้นก็ถามว่า แม่ ท่านไปเพื่อต้องการฟักทอง ทำไมจึงกลับมามือเปล่าล่ะ. พวกหญิงเหล่านั้นตอบว่า หนูเอ๋ย เฒ่าขายฟักทองเป็นใคร แกพูดว่าฉันจะให้แก่ผู้รักษาศีล แม้เด็กหญิงรักษาศีลแล้วย่อมควรได้ฟักทองนี้เป็นแน่ พวกเราไม่รู้จักศีลเลย. นางคิดว่า คงจะนำมาเพื่อเราเป็นแน่ จึงไปแล้วพูด พ่อจ๋า โปรดให้ฟักทอง.
               อินทร์. เจ้ารักษาศีลหรือแม่หนู.
               ด.ญ. ค่ะ พ่อ หนูรักษาศีลค่ะ.
               อินทร์. ข้าก็นำเอาฟักทองนี้มาเพื่อหนูเท่านั้น แล้วก็ตั้งไว้พร้อมกับยานน้อยที่ประตูเรือนแล้วเสด็จหลีกไป.
               แม้นางก็รักษาศีลตลอดชีวิต จุติแล้วก็เกิดเป็นธิดาของเวปจิตติอสูร. เพราะผลของศีล นางจึงเป็นผู้ที่น่าเลื่อมใส. ท้าวเวปจิตติคิดว่า เราจะทำวิวาหมงคลแก่ลูกสาว จึงให้พวกอสูรประชุมกัน.
               ท้าวสักกะทรงตรวจดูว่า เกิดที่ไหน ทรงเห็นว่า เกิดในภพอสูร วันนี้จะทำวิวาหมงคลแก่นาง ทรงคิดว่า บัดนี้ เราควรทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วนำนางมา จึงไปทรงนิรมิตรเพศเป็นอสูรแล้ว ประทับยืนในระหว่างพวกอสูร.
               พระบิดาตรัสว่า พ่ออนุญาตให้ลูกเลือกสามี แล้วก็ประทานพวงดอกไม้ที่มือของนาง ตรัสว่า ลูกต้องการผู้ใด ก็จงซัดดอกไม้บนผู้นั้น. เมื่อนางตรวจดูก็เห็นท้าวสักกะ เกิดความรักเพราะเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน กำหนดว่า นี้เป็นสามีของเรา แล้วก็ซัดพวงไปบนเขา.
               ท้าวสักกะนั้นก็ทรงจับแขนนางเหาะไปบนอากาศ. ขณะนั้นพวกอสูรก็จำได้. พวกอสูรเหล่านั้นร้องไปว่า จับ จับเฒ่าสักกะไว้ เป็นศัตรูพวกเรา พวกเราจะไม่ยอมให้เจ้าสาวแก่เฒ่าสักกะนั้น แล้วต่างก็ติดตามไป.
               ท้าวเวปจิตติตรัสถามว่า ใครนำไป. เฒ่าสักกะ มหาราช พวกอสูรตอบ. ในบรรดาผู้ที่เหลือ ท้าวสักกะนี้เท่านั้น ประเสริฐสุด ออกไป ท้าวเวปจิตติตรัส.
               เมื่อท้าวสักกะพานางไปแล้ว ก็ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งหัวหน้านางฟ้อน ๒๕ โกฏิ.
               นางทูลขอพรต่อท้าวสักกะว่า มหาราช ในเทวโลกนี้ หม่อมฉันไม่มีมารดา บิดา หรือพี่น้องชายหญิง พระองค์เสด็จไปที่ใดๆ โปรดพาหม่อมฉันไปในที่นั้นๆ ด้วยมหาราช.
               ท้าวสักกะประทานพระปฏิญาณว่า ตกลง.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความที่ท้าวสักกะนั้นเป็นผู้หมดจด ตั้งแต่ครั้งเป็นมาฆมาณพในหมู่บ้านมจล ดังที่ว่ามานี้ จึงตรัสว่า ยักษ์นี้เป็นผู้หมดจดตลอดกาลนานแล้วแล.
               คำว่า ประกอบด้วยประโยชน์ คือ อาศัยผล อาศัยเหตุ.

               จบภาณวารที่ ๑               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค สักกปัญหสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 235อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 247อ่านอรรถกถา 10 / 273อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=5727&Z=6256
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=7978
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=7978
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :