ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 1อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 57อ่านอรรถกถา 10 / 67อ่านอรรถกถา 10 / 301
อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหานิทานสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               วินิจฉัยมี ๔ อย่าง คือ ญาณ ตัณหา ทิฐิและวิตก.
               ในวินิจฉัยเหล่านั้น พึงรู้วินิจฉัยอันเป็นความสุข ครั้นรู้วินิจฉัยอันเป็นสุขแล้วพึงเพียรหาความสุขในภายใน๑- นี้คือญาณวินิจฉัย.
               ความวิปริตแห่งตัณหา ๑๐๘ มาแล้วอย่างนี้ว่า บทว่า วินิจฉัย ได้แก่ วินิจฉัย ๒ อย่าง คือ ตัณหาวินิจฉัยและทิฐิวินิจฉัย๒- ชื่อว่าตัณหาวินิจฉัย. ทิฐิ ๖๒ ชื่อว่าทิฏฐิวินิจฉัย.
               วิตกที่ท่านกล่าวว่าวินิจฉัย ในที่นี้มาแล้วในสักกปัญหสูตรนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นใหญ่กว่าทวยเทพ ฉันทะคือความพอใจแล มีวิตกเป็นเหตุดังนี้๓- ก็คนทั้งหลายได้ลาภแล้วย่อมตัดสินว่า น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ดีและไม่ดีด้วยวิตกอย่างเดียว บุคคลดำริว่า เราจักมีลาภเท่านี้ เพื่อต้องการรูปารมณ์ เราจักมีลาภเท่านี้เพื่ออารมณ์มีสัททารมณ์เป็นต้น จักมีแก่เราเท่านี้ จักมีแก่ผู้อื่นเท่านี้ เราจักใช้สอยเท่านี้ เราจักเก็บเท่านี้ดังนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อาศัยลาภ จึงตัดสิน.
____________________________
๑- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ ข้อ ๖๕๔
๒- ขุ. มหา. ข้อ ๒๙/เล่ม ๔๗๐
๓- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๕๖

               บทว่า ฉนฺทราโค ความว่า ราคะอย่างอ่อนและราคะอย่างแรง ย่อมเกิดขึ้นในวัตถุที่ตรึกแล้ว ด้วยอกุศลวิตก ก็บทนี้เป็นตัณหาในที่นี้.
               บทว่า ฉนฺโท เป็นชื่อของราคะอย่างอ่อน. บทว่า อชฺโฌสานํ คือ การลงความเห็นอย่างแรงว่า เราของเราดังนี้. บทว่า ปริคฺคโห คือ ทำการยึดถือด้วยสามารถตัณหาและทิฐิ.
               บทว่า มจฺฉริยํ ความว่า เพราะทนไม่ได้ต่อความเป็นของทั่วไปด้วยคนอื่น ด้วยเหตุนั้นนั่นเอง ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวอรรถแห่งคำของบทนั้นอย่างนี้ว่า ท่านกล่าวว่า มจฺฉริยํ เพราะความที่ตั้งใจว่าสิ่งอัศจรรย์นี้จงเป็นของเราผู้เดียว จงอย่าเป็นของผู้อื่นเลยดังนี้.
               บทว่า อารกฺโข คือ การป้องกันอย่างดีด้วยสามารถการปิดประตูและใส่ไว้ในหีบเป็นต้น.
               ชื่อว่า อธิกรณา เพราะอรรถว่าทำให้ยิ่ง บทนี้เป็นชื่อของเหตุ. บทว่า อารกฺขาธิกรณํ (เรื่องราวในการป้องกัน) เป็นภาวนปุงสกะ (ไม่มีเพศ). อธิบายว่า เหตุแห่งการป้องกัน ในการถือไม้เป็นต้น การถือท่อนไม้ เพื่อห้ามผู้อื่น ชื่อ ทณฺฑาทานํ การถือมีดมีคมข้างเดียวเป็นต้น ชื่อ สตฺถาทานํ. บทว่า กลโห คือ ทะเลาะทางกายบ้าง ทะเลาะทางวาจาบ้าง ความพิโรธมีมาก่อนๆ ชื่อว่า วิคคหะ (ความทะเลาะกัน) มีมาตอนหลังๆ ชื่อวิวาท (การโต้เถียงกัน). บทว่า ตุวํ ตุวํ เป็นคำไม่เคารพ คือพูดมึงมึง.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงตัณหาอันเป็นความฟุ้งเฟ้อนั้น แม้โดยนัยปฏิโลมจึงทรงปรารภ บทว่า อารกฺขาธิกรณํ (เหตุแห่งการป้องกัน) ทรงกลับการแสดง. ในบทเหล่านั้น บทว่า กามตณฺหา ได้แก่ ความอยากในรูปเป็นต้น อันเกิดขึ้นแล้วด้วยสามารถราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕. บทว่า ภวตณฺหา คือ ราคะสหรคตด้วยสัสสตทิฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง). บทว่า วิภวตณฺหา คือ ราคะสหรคตด้วยอุจเฉททิฐิ (ความเห็นว่าสูญ).
               บทว่า อิเม เทฺว ธมฺมา คือ ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ คือตัณหามีวัฏฏะเป็นราก และตัณหาอันฟุ้งเฟ้อ.
               บทว่า ทฺวเยน ความว่า ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้แม้ถึงความเป็นอันเดียวกันโดยลักษณะของตัณหา ก็ย่อมเป็นการรวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนา โดยส่วน ๒ ด้วยสามารถตัณหามีวัฏฏะเป็นราก และตัณหาอันฟุ้งเฟ้อ. อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีปัจจัยร่วมกันโดยมีเวทนาเป็นปัจจัย.
               จริงอยู่ การรวมกันมี ๓ อย่างคือ การประชุมรวมกัน การรวมสหชาต การรวมปัจจัย. ในบทเหล่านั้น บทนี้ว่า ครั้งนั้นแล การรวมชาวบ้านเหล่านั้นทั้งหมดย่อมมีขึ้น๑- ดังนี้ ชื่อว่าการประชุมรวมกัน. ถ้อยคำนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้มีฉันทะเป็นราก มีผัสสะเป็นที่เกิด มีเวทนาเป็นที่รวม๒- ชื่อรวมสหชาต. ก็พึงทราบบทนี้ว่า การรวมเป็นอันเดียวกันกับเวทนาโดย ๒ ส่วน ชื่อว่ารวมปัจจัย.
               ผัสสะทั้งหมดมีจักขุสัมผัสเป็นต้น เป็นผัสสะอันเป็นผลอย่างเดียวในผัสสะเหล่านั้น เว้นผัสสะอันเป็นผลแห่งโลกุตตระ ๔ ที่เหลือย่อมเป็นผัสสะ ๓๒ ก็ในบทว่า ยทิทํ ผสฺโส นี้ โดยมากผัสสะย่อมเป็นปัจจัยแห่งเวทนา.
____________________________
๑- ที. สี. ข้อ ๙/เล่ม ๓๖๘
๒- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๘๙ องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๕๘

               ท่านกล่าวอาการทั้งหลาย ในบทว่า เยหิ อานนฺท อากาเรหิ เป็นต้น เป็นสภาพไม่ใช่เช่นเดียวกันและกันแห่งเวทนาเป็นต้น ท่านแสดงอาการเหล่านั้นไว้ด้วยดี ชื่อว่าลิงค์ (เพศ) เพราะถึงความเสื่อมโทรม ชื่อว่านิมิต เพราะเหตุคือรู้เรื่องนั้นๆ ชื่ออุทเทส เพราะควรแสดงอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น ในบทนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้
               ดูก่อนอานนท์ การบัญญัตินามกาย อันเป็นที่ประชุมของนามย่อมมีได้ด้วยอาการเพศ นิมิต อุเทศ เมื่อมีอุเทศแห่งเวทนาว่าเวทนาในอาการรู้สึก ในเพศรู้สึก ในนิมิตรู้สึก เมื่อมีอุเทศแห่งสัญญาว่าสัญญาในอาการรู้พร้อม ในเพศรู้พร้อม ในนิมิตรู้พร้อม เมื่อมีอุเทศแห่งสังขารทั้งหลายว่าเจตนาแห่งสังขารทั้งหลาย ในอาการแห่งเจตนา ในเพศแห่งเจตนา ในนิมิตแห่งเจตนา เมื่อมีอุเทศแห่งวิญญาณว่าวิญญาณในอาการรู้แจ้ง ในเพศรู้แจ้ง ในนิมิตรู้แจ้งดังนี้ ย่อมเป็นการบัญญัตินามกายว่านี้เป็นนามกาย เมื่อไม่มีอาการเป็นต้น ในเวทนาเป็นต้น อันเป็นเหตุให้บัญญัตินามกาย การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกาย จึงพึงปรากฏได้บ้างไหม มโนสัมผัสอันใดที่เป็นไวพจน์ของการสัมผัสเพียงแต่ชื่อในมโนทวาร กระทำขันธ์ ๔ ให้เป็นวัตถุแล้วจึงเกิดขึ้น มโนสัมผัสนั้นจะพึงปรากฏในรูปกาย พึงกระทำประสาททั้ง ๕ ให้เป็นวัตถุแล้วพึงเกิดขึ้นได้บ้างไหมดังนี้
               ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่ยอมรับการเกิดขึ้นแห่งสัมผัสนั้นจากรูปกาย ดุจเมื่อไม่มีต้นมะม่วงก็ไม่รับการเกิดขึ้นของผลมะม่วงสุกจากต้นชมพู ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า โน เหตํ ภนฺเต ดังนี้.
               ในปัญหาที่ ๒ พึงทราบความแห่งอาการเป็นต้น ด้วยสามารถอาการแห่งความสลาย เพศแห่งความสลาย นิมิตแห่งความสลาย และด้วยสามารถแห่งการยกขึ้นว่ารูปดังนี้. บทว่า ปฏิฆสมฺผสฺโส คือ การสัมผัสกระทำรูปขันธ์อันเป็นไปกับด้วยความกระทบให้เป็นวัตถุแล้วเกิดขึ้น แม้ในบทนี้ พระเถระเมื่อไม่รับการเกิดขึ้นแห่งสัมผัสนั้นจากนามกาย ดุจเมื่อไม่มีต้นชมพูก็ไม่รับการเกิดขึ้นแห่งผลชมพูสุกจากต้นมะม่วง ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า โน เหตํ ภนฺเต ดังนี้.
               ในปัญหาที่ ๓ ท่านกล่าวไว้เหมือนปัญหาทั้งสองนั่นแล ในปัญหาที่ ๓ นั้น พระเถระเมื่อจะไม่รับความเกิดขึ้นแห่งผัสสะแม้ทั้งสองในความไม่มีแห่งนามรูป ดุจไม่รับการเกิดขึ้นของผลมะม่วงสุก และผลชมพูสุกบนอากาศ ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า โน เหตํ ภนฺเต ดังนี้
               พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปัจจัยแต่ละอย่างๆ แห่งผัสสะทั้งสองอย่างนี้ บัดนี้ เพื่อทรงแสดงความที่ผัสสะแม้ทั้งสองเหล่านั้น เป็นปัจจัยแห่งนามรูปโดยไม่ต่างกัน จึงทรงปรารภปัญหาที่ ๔ ว่า เยหิ อานนฺท อากาเรหิ (ดูก่อนอานนท์ ด้วยอาการเหล่าใด) ดังนี้.
               บทว่า ยทิทํ นามรูปํ คือ นามรูปนี้ใด. อธิบายว่า นามรูปในทวารแม้ทั้ง ๖ นี้ใด นี้แลเป็นเหตุ นี้แลเป็นปัจจัย ดังนี้. จริงอยู่ จักษุเป็นต้น และรูปารมณ์เป็นต้น ในจักขุทวารเป็นต้นเป็นรูป ธรรมที่ประกอบกันเป็นนาม. ผัสสะนั้นแม้ ๕ อย่าง อย่างนี้ด้วยประการดังนี้ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ แม้ในมโนทวาร หทยวัตถุและรูปย่อมเป็นอารมณ์เป็นรูป สัมปยุตธรรมและสิ่งไม่มีรูปย่อมเป็นอารมณ์เป็นนาม ด้วยประการฉะนี้อย่างนี้ แม้มโนสัมผัสก็พึงทราบว่า เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดสัมผัส ก็แต่ว่า นามรูปโดยมากย่อมเป็นปัจจัยแห่งผัสสะนั้น.
               บทว่า น โอกฺกมิสฺสถ ความว่า วิญญาณจักไม่เป็นไปด้วยสามารถแห่งปฏิสนธิ ดุจเข้าไปแล้วเป็นไปอยู่.
               บทว่า สมุจฺฉิสฺสถ ความว่า เมื่อปฏิสนธิวิญญาณไม่มี นามรูปส่วนที่เหลือบริสุทธิ์เป็นนามรูปที่ตัดขาดเจือปน จักเป็นไปด้วยความเป็นกลละเป็นต้น ภายในท้องของมารดาได้บ้างไหม.
               บทว่า โอกฺกมิตฺวา โอกฺกมิสฺสถ ความว่า วิญญาณจักหยั่งลงด้วยสามารถปฏิสนธิ แล้วล่วงเลยไปคือดับไปด้วยสามารถจุติ. ก็ความดับแห่งวิญญาณนั้น ย่อมไม่มีด้วยความดับแห่งจิตนั่นแล จากนั้นวิญญาณย่อมไม่มีด้วยความดับแห่งจิตดวงที่ ๒ และที่ ๓. จริงอยู่ กรรมชรูป ครบ ๓๐ อันตั้งขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิจิตย่อมเกิด เมื่อกรรมชรูปเหล่านั้นตั้งอยู่นั่นเอง ภวังคจิต ๑๖ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป. ไม่มีอันตรายแก่ทารกผู้ถือปฏิสนธิในระหว่างนั้นหรือแก่มารดาของทารกนั้น เพราะอันตรายนี้ ชื่อว่ายังไม่มีโอกาส. ก็หากว่ารูปที่ปรากฏขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิจิต สามารถเพื่อให้ปัจจัยแก่ภวังคจิตดวงที่ ๑๗ ได้ ความเป็นไปย่อมดำเนินต่อไป ประเวณีย่อมสืบต่อ. ก็หากว่าไม่สามารถ ความเป็นไปย่อมไม่ดำเนินต่อไป ประเวณีย่อมไม่สืบต่อ ชื่อว่าล่วงเลยไป. ท่านหมายถึงการล่วงเลยไปนั้น จึงกล่าวว่า โอกฺกมิตฺวา โอกฺกมิสฺสถ (หยั่งลงแล้วล่วงเลยไป) ดังนี้.
               บทว่า อิตฺถตฺตาย คือ เพื่อความเป็นอย่างนี้. อธิบายว่า เมื่อความเป็นขันธ์ ๕ บริบูรณ์แล้วอย่างนี้.
               บทว่า ทหรสฺเสว สโต คือ ยังอ่อนนั่นเอง.
               บทว่า โวจฺฉิชฺชิสฺสติ คือ ขาดความสืบต่อ.
               บทว่า วุฑฺฒึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ (ความเจริญงอกงามไพบูลย์) ความว่า เมื่อวิญญาณขาดความสืบต่อ นามรูปบริสุทธิ์จักตั้งขึ้นแล้วถึงความเจริญในปฐมวัย ความงอกงามในมัชฌิมวัย ความไพบูลย์ในปัจฉิมวัยบ้างได้ไหม. อธิบายว่า นามรูปจักถึงความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ โดยมีอายุถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ฯลฯ ๑,๐๐๐ ปี ได้บ้างไหม.
               บทว่า ตสฺมาติหานนฺท ความว่า เพราะวิญญาณนั่นแลเป็นปัจจัยแห่งนามรูปนั้น ในการถือปฏิสนธิในท้องมารดาบ้าง ในขณะอยู่ในท้องบ้าง ในขณะออกจากท้องบ้าง ในเวลามีอายุ ๑๐ ปี ในการเป็นไปบ้าง ฉะนั้น นี้เป็นเหตุ นี้เป็นปัจจัยแห่งนามรูป คือวิญญาณ วิญญาณย่อมเป็นปัจจัยแห่งนามรูป ดุจบุคคลกล่าวถึงนามรูปอย่างนี้โดยความว่า ท่านชื่อนาม ท่านชื่อรูป ท่านชื่อนามรูปดังนี้ ใครทำนามรูปนั้น เราทำมิใช่หรือ ก็หากว่า เมื่อเราเป็นปุเรจาริกไม่ถือปฏิสนธิในท้องของมารดา ท่านพึงเป็นนาม พึงเป็นรูป หรือพึงเป็นนามรูป พวกเราพึงรู้กำลังของท่านเหมือนอย่างว่า พระราชาเมื่อจะทรงข่มขู่บริษัทของพระองค์ พึงตรัสว่า เจ้าเป็นอุปราช เจ้าเป็นเสนาบดีดังนี้ ใครตั้งเจ้า เราตั้งเจ้ามิใช่หรือ ก็หากว่าเมื่อเราไม่ตั้งเจ้า เจ้าจะพึงเป็นอุปราชหรือพึงเป็นเสนาบดี ตามธรรมดาของตน เราพึงรู้กำลังของเจ้า ฉะนั้น ก็วิญญาณนี้นั้นโดยมากย่อมเป็นปัจจัยแห่งนามรูป.
               บทว่า ทุกฺขสมุทยสมฺภโว คือ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์.
               บทว่า ยทิทํ นามรูปํ ความว่า นามรูปนี้ใด นี้เป็นเหตุ นี้เป็นปัจจัย แม้นามรูป ก็ดุจบุคคลกล่าวถึงวิญญาณอย่างนี้โดยความว่า ท่านเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ใครทำปฏิสนธิวิญญาณ เราทำมิใช่หรือ ก็หากท่านไม่อาศัยขันธ์ ๓ และหทยวัตถุ จะพึงชื่อว่าปฏิสนธิวิญญาณ เราพึงเห็นความที่ท่านเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ดังนี้
               เหมือนอย่างว่า ราชบุรุษทั้งหลายพึงทูลกะพระราชาผู้ทรงข่มขู่ว่า พระองค์เป็นพระราชา ใครตั้งพระองค์ พวกข้าพระพุทธเจ้าตั้งพระองค์มิใช่หรือ ก็หากว่า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไม่ดำรงอยู่ในตำแหน่งอุปราช ในตำแหน่งเสนาบดี พระองค์พึงเป็นพระราชาพระองค์เดียวเท่านั้น พวกข้าพระพุทธเจ้าพึงเห็นความเป็นพระราชาของพระองค์ ดังนี้ ฉะนั้น ก็และนามรูปนี้นั้น โดยมากย่อมเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ.
               บทว่า เอตฺตาวตา โข ความว่า เมื่อวิญญาณเป็นปัจจัยแห่งนามรูป เมื่อนามรูปเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ เมื่อทั้งสองเป็นไปด้วยสามารถแห่งความเป็นปัจจัยของกันและกัน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ วิญญาณและนามรูป จึงยังเกิด แก่ ตาย จุติหรืออุบัติ ชาติเป็นต้น หรือจุติปฏิสนธิอื่นๆ พึงปรากฏ.
               บทว่า อธิวจนปโถ (ทางแห่งชื่อ) ความว่า ทางแห่งโวหาร ซึ่งไม่เห็นความของคำเป็นต้นว่า สิริวัฑฒกะ ธนวัฑฒกะ ตั้งขึ้นไว้เพียงเรียกชื่อเท่านั้น.
               บทว่า นิรุตฺติปโถ (ทางแห่งนิรุติ) ความว่า เป็นทางแห่งโวหารซึ่งเป็นไปด้วยสามารถการอ้างเหตุแห่งคำเป็นต้นว่า ผู้มีสติเพราะระลึกได้ ผู้มีสัมปชัญญะเพราะรู้ตัว.
               บทว่า ปญฺญตฺติปโถ (ทางแห่งบัญญัติ) ความว่า ทางแห่งโวหารซึ่งเป็นไปด้วยสามารถแห่งการให้รู้โดยประการต่างๆ ของคำเป็นอาทิว่า ผู้รู้ ผู้ฉลาด ผู้มีปัญญา ผู้ชำนาญ ผู้คัดค้าน แม้ขันธ์ทั้งหลายอันเป็นวัตถุแห่งชื่อเป็นต้น ท่านก็กล่าวด้วยบททั้ง ๓ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ปญฺญาวจรํ (การคาดคะเนด้วยปัญญา) ความว่า พึงคาดคะเน คือพึงรู้ด้วยปัญญา. บทว่า วฏฺฏํ วฏฺฏติ คือ สังสารวัฏย่อมเป็นไป. บทว่า อิตฺถตฺตํ คือ ความเป็นอย่างนี้ คำนี้เป็นชื่อของขันธบัญจก (หมวด ๕ แห่งขันธ์).
               บทว่า ปญฺญาปนาย คือ เพื่อบัญญัติชื่อ. อธิบายว่า แม้ขันธปัญจกก็ย่อมปรากฏ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพื่อต้องการบัญญัตินาม ด้วยบทว่า เวทนา สญฺญา เป็นต้น.
               บทว่า ยทิทํ นามรูปํ สหวิญฺญาเณน ความว่า นี้คือนามรูปกับวิญญาณย่อมเป็นไป เพราะเป็นปัจจัยของกันและกัน ท่านอธิบายว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ดังนี้ นี้เป็นคำที่ถูกนำออกไปในบทนี้.


               อตฺตปญฺญตฺติวณฺณนา               
               ด้วยประการดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอนุสนธิแห่งบทว่า ดูก่อนอานนท์ ก็ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นของลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ดังนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอนุสนธิแห่งบทว่า ตนฺตากุลกชาตา (ยุ่งดุจด้ายของช่างหูก) ดังนี้ ทรงปรารภเทศนามีอาทิว่า กิตฺตาวตา จ (ด้วยเหตุมีประมาณเท่าใด) ดังนี้
               ในบทเหล่านั้น ในบทว่า รูปึ วา หิ อานนฺท ปริตฺตํ อตฺตานํ ดังนี้ ความว่า ผู้ที่บัญญัติอัตตามีรูปนิดหน่อย ย่อมถือว่ากสิณนิมิตที่ยังไม่เจริญเป็นอัตตา ดังนี้ อนึ่ง ผู้ที่บัญญัติอัตตานั้นว่า บางคราวเขียว บางคราวเหลือง ดังนี้ ย่อมเป็นผู้มีปกติได้กสิณต่างๆ ผู้ที่บัญญัติอัตตามีรูปหาที่สุดมิได้ ย่อมถือว่ากสิณนิมิตที่เจริญแล้วเป็นอัตตา ดังนี้ ก็หรือผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปนิดหน่อย เพิกถอนกสิณนิมิตที่ยังไม่เจริญแล้วถือโอกาสที่นิมิตสัมผัสแล้ว หรือขันธ์ ๔ อันเป็นไปในนิมิตนั้น หรือเพียงวิญญาณในขันธ์ ๔ เหล่านั้นเท่านั้นว่าเป็นอัตตาดังนี้ ผู้ที่บัญญัติอัตตาไม่มีรูปไม่มีที่สุด เพิกถอนกสิณนิมิตที่เจริญแล้ว ย่อมถือโอกาสที่นิมิตสัมผัสแล้ว หรือขันธ์อันเป็นไปในนิมิตนั้น หรือเพียงวิญญาณในขันธ์ ๔ เหล่านั้นเท่านั้นว่าเป็นอัตตาดังนี้.
               บทว่า ตตฺร ในบทว่า ตตฺรานนฺท นี้ คือในทิฏฐิ ๔ อย่างนั้น.
               บทว่า เอตรหิวา คือ ในบัดนี้มิใช่อื่นจากนี้ ท่านกล่าวคำนี้ด้วยสามารถอุจเฉททิฏฐิ.
               บทว่า ตถาภาวึ วา คือ สภาพที่เป็นอยู่ในโลกที่อยู่อย่างนั้น ท่านกล่าวคำนี้ด้วยสามารถสัสสตทิฏฐิ. บทว่า อตถํ วา ปน สนฺตํ คือ หรือสภาวะอันไม่เที่ยงแท้ มีอยู่ มีอยู่. บทว่า ตถตฺตาย คือ เพื่อความเที่ยงแท้.
               บทว่า อุปกปฺเปสฺสามิ คือ เราจักให้ถึงพร้อม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการแย้งแม้ด้วยบทนี้ เพราะผู้มีวาทะว่าสูญ คิดแล้วว่า เราจักยังอัตตาที่ไม่เที่ยงแท้ แม้ความจริงไม่สูญของผู้มีวาทะว่าเที่ยงให้สำเร็จ เพื่อเป็นสภาพที่เที่ยงแท้ คือมีสภาพสูญ และเราจักให้ผู้มีวาทะว่าเที่ยงรู้แล้วจักให้เขาถือวาทะว่าสูญอย่างเดียว แม้ผู้มีวาทะว่าเที่ยงก็คิดแล้วว่าเราจักยังอัตตาอันไม่เที่ยงแท้ แม้ความจริงไม่เที่ยงให้สำเร็จเพื่อเป็นสภาพที่แท้ คือเพื่อความเป็นสภาพที่เที่ยง และจักยังผู้มีวาทะว่าสูญให้รู้แล้วให้เขาถือวาทะว่าเที่ยงอย่างเดียวดังนี้.
               บทว่า เอวํสนฺตํโข ความว่า ให้บัญญัติอัตตาอันมีรูปนิดหน่อยมีอยู่อย่างนี้. บทว่า รูปึ คือ มีปกติได้รูปเป็นกสิณ. บทว่า ปริตฺตตฺตานุทิฎฺฐิ อนุเสติ ความว่า ความเห็นนี้ว่าอัตตานิดหน่อย ย่อมนอนเนื่องในสันดาน ก็พึงทราบความเห็นนั้นว่า ความเห็นนั้นย่อมไม่นอนเนื่องดุจเถาวัลย์และลดา คือชื่อว่าย่อมนอนเนื่องในสันดาน โดยอรรถว่าละไม่ได้. บทว่า อิจฺจาลํ วจนาย ความว่า ควรเพื่อจะกล่าวว่าความเห็นเห็นปานนี้ ย่อมนอนเนื่องในบุคคลนั้น ในบททั้งหมดมีนัยนี้ ก็ในบทว่า อรูปึ นี้ คือ มีปกติได้อรูปเป็นกสิณ พึงทราบความอย่างนี้ว่า หรือมีอรูปขันธ์เป็นโคจร.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านแสดงพวกถือทิฐิ ๑๖ จำพวกโดยเนื้อความว่า พวกมีลาภ ๔ พวกลูกศิษย์ของผู้มีลาภ ๔ พวกมีความเห็นผิด ๔ ลูกศิษย์ของพวกมีความเห็นผิด ๔.

               นอตฺตปญฺญตฺติวณฺณนา               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงถึงผู้ที่บัญญัติอัตตาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงถึงผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาจึงตรัสคำเป็นอาทิว่า กิตฺตาวตา จ อานนฺท ดังนี้
               ถามว่า ก็พวกไหนไม่บัญญัติ
               ตอบว่า โดยที่แท้พระอริยบุคคลทั้งหมดเท่านั้นไม่บัญญัติ อนึ่ง พระอริยบุคคลผู้ที่เป็นพหูสูตรทรง ๓ ปิฏก ๒ ปิฏก ๑ ปิฏก โดยที่สุดวินิจฉัยแม้นิกายเดียวด้วยดี บุคคลผู้แสดงธรรมตามที่ได้เรียนบ้าง ผู้ปรารภวิปัสสนาบ้าง ย่อมไม่บัญญัติ เพราะท่านเหล่านั้นมีสัญญาอยู่ว่า กสิณที่มีส่วนเปรียบเทียบในกสิณที่มีส่วนเปรียบเทียบดังนี้.
               อธิบายว่า อรูปขันธ์ในอรูปขันธ์นั้นแล.

               อตฺตสมนุปสฺสนาวณฺณน               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงผู้ที่ไม่บัญญัติอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ เพราะผู้ที่พิจารณาเห็นด้วยอำนาจทิฐิย่อมบัญญัติ ก็การพิจารณาเห็นนี้นั้นย่อมมีได้ เพราะยังไม่ละสักกายทิฐิมีวัตถุ ๒๐ ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงถึงสักกายทิฐิมีวัตถุ ๒๐ นั้น จึงตรัสอีกว่า กิตฺตาวตา จ อานนฺท ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น ท่านกล่าวสักกายทิฐิอันมีเวทนาขันธ์เป็นวัตถุด้วยบทนี้ว่า เวทนํ วา หิ ดังนี้.
               ท่านกล่าวสักกายทิฐิอันมีรูปขันธ์เป็นวัตถุ ด้วยบทนี้ว่า อปฺปฏิสํเวทโน เม อตฺตา อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาๆ ดังนี้
               ท่านกล่าวสักกายทิฐิอันมีสัญญาสังขารวิญญาณเป็นวัตถุด้วยบทนี้ว่า อัตตาของเรายังเสวยเวทนาอยู่เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดาดังนี้ ก็ขันธ์ทั้ง ๓ หมวดนี้ยังเสวยเวทนาอยู่เพราะสัมปยุตด้วยเวทนา. อนึ่ง อัตตามีเวทนาเป็นธรรมดา คือไม่มีการประกอบเป็นสภาวะย่อมมีแก่ขันธ์ทั้ง ๓ นั้น
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงโทษในความเห็นเหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ตตฺรานนฺท ดังนี้.
               บทว่า ตตฺถ ตตฺร คือในทิฐิ ๓๐ เหล่านั้น ท่านกล่าวบทเป็นต้นว่า ยสฺมึ อานนฺท สมเย ดังนี้ เพื่อชี้โทษเป็นต้นอย่างนี้ว่า บางครั้งมี บางครั้งไม่มี แห่งอัตตาของผู้ที่พิจารณาเห็นว่าเวทนาเป็นอัตตา.
               ในบทว่า อนิจฺจา เป็นต้น ความว่า เวทนาชื่อว่าเป็นของไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มี ชื่อว่าอันปัจจัยปรุงแต่ง เพราะปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุนั้นๆ ชื่อว่าอาศัยกันเกิดขึ้น เพราะอาศัยปัจจัยนั้นๆ แล้วเกิดขึ้นด้วยเหตุอันชอบ บททั้งหมดมีอาทิว่า ขโย เป็นไวพจน์ของการทำลาย. จริงอยู่ สิ่งใดย่อมแตก สิ่งนั้นย่อมสิ้นไปบ้าง เสื่อมไปบ้าง คลายไปบ้าง ดับไปบ้าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า ขยธมฺมา ดังนี้.
               บทว่า พฺยคา เม อธิบายว่า อัตตาของเราถึงความเสื่อมโทรม คือปราศจากไปดับไปดังนี้.
               พระพุทธพจน์ว่า นั่นตนของเราย่อมมีแก่คนคนเดียวเท่านั้น ในกาลแม้ทั้ง ๓ หรือจักไม่มีแก่คนที่มีทิฐิหรือ เพราะธรรมดาเถาวัลย์ย่อมไม่มีเป็นนิจแก่ตอไม้ที่เขาเก็บไว้ในกองแกลบ ดุจลิงป่าย่อมถือเอาสิ่งอื่นย่อมปล่อยสิ่งอื่น.
               บทว่า อนิจฺจํ สุขํ ทุกฺขํ โวกิณฺณํ ความว่า บุคคลเมื่อพิจารณาเห็นเวทนานั้นๆ โดยวิเศษว่าเป็นอัตตา ย่อมพิจารณาเห็นอัตตาไม่เที่ยงเป็นสุขและเป็นทุกข์ เมื่อพิจารณาเห็นเวทนาโดยไม่วิเศษว่าเป็นอัตตา ย่อมพิจารณาเห็นอัตตาเกลื่อนกล่นมีเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
               จริงอยู่ เวทนามี ๓ อย่างและมีเกิดขึ้นมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา ก็เขาย่อมพิจารณาเห็นเวทนานั้นว่าเป็นอัตตา ด้วยประการฉะนี้ อัตตาของเขาจึงไม่เที่ยง และความเกิดขึ้นแห่งเวทนาทั้งหลายมากย่อมถึงในขณะเดียวกัน แต่เขาย่อมรู้ตามอัตตานั้นแลว่าไม่เที่ยง ไม่มีเวทนาเป็นอันมากเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงความนี้จึงตรัสว่า เพราะเหตุนั้นแหละ ข้อนี้จึงยังไม่ควรที่จะพิจารณาเห็นว่าเวทนาเป็นอัตตาของเราแม้ด้วยคำดังกล่าวแล้วนี้ดังนี้.
               บทว่า ยตฺถ ปนาวุโส ความว่า ในรูปขันธ์ล้วนก็ยังไม่มีการเสวยอารมณ์ด้วยประการทั้งปวง.
               บทว่า อปินุโขตตฺถ ความว่า ในรูปขันธ์นั้น คือในต้นตาล หรือในหน้าต่างอันเว้นเวทนาแล้ว ยังจะพึงเกิดอหังการว่าเป็นเราอย่างนี้อีกหรือ.
               บทว่า ตสฺมาติหานนฺท ความว่า เพราะรูปขันธ์ล้วนตั้งขึ้นแล้วยังไม่กล่าวว่าเป็นเรา ฉะนั้น ข้อนี้จึงไม่ควรที่จะพิจารณาเห็นว่าเวทนาเป็นอัตตาของเรา แม้ด้วยคำดังกล่าวแล้วนี้ ในรูปขันธ์ยังจะเกิดอหังการว่านี้เป็นเราได้หรือ เพราะฉะนั้น ในเวทนาเหล่านั้นในขันธ์ ๓ แม้ขันธ์เดียวควรจะกล่าวอย่างนี้ว่า ชื่อนี้เป็นเราดังนี้ได้หรือ อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เมื่อขันธ์ ๓ เหล่านั้นดับพร้อมกับเวทนา เพราะเวทนาดับ จะพึงเกิดอหังการว่า นี้เป็นเราหรือเราเป็นนี้ ดังนี้ได้หรือ
               ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ เมื่อจะไม่ยอมรับข้อนั้น ดุจบุคคลไม่ยอมรับความคมกริบของเขากระต่าย ฉะนั้น จึงกราบทูลว่า โน เหตํ ภนฺเต ดังนี้.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอะไร ตรัสถึงวัฏฏะ
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสถึงเรื่องวัฏฏะ ในบางแห่งตรัสหัวข้ออวิชชา บางแห่งตรัสหัวข้อตัณหา บางแห่งตรัสหัวข้อทิฐิ
               ในหัวข้อเหล่านั้น ตรัสหัวข้ออวิชชาอย่างนี้ว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดของอวิชชาไม่ปรากฏมาก่อน ก่อนจากนี้ อวิชชามิได้มี แต่ว่าได้เกิดมีแล้วในภายหลัง เพราะเหตุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวถึงหัวข้ออวิชชานี้อย่างนี้ ครั้นแล้วอวิชชาย่อมปรากฏ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย จึงมีอวิชชา.
               ตรัสหัวข้อตัณหาอย่างนี้ว่า๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดของภวตัณหาย่อมไม่ปรากฏมาก่อน ก่อนจากนี้ ภวตัณหามิได้มี แต่ว่าได้เกิดมีแล้วในภายหลัง เพราะเหตุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวถึงหัวข้อตัณหานี้ไว้อย่างนี้ ครั้นแล้วตัณหาย่อมปรากฏ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
               ตรัสหัวข้อทิฐิไว้อย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดแห่งภวทิฐิไม่ปรากฏมาก่อน ก่อนจากนี้ภวทิฐิมิได้มี แต่ว่าได้เกิดมีแล้วในภายหลัง เพราะเหตุนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตกล่าวถึงภวทิฐินี้อย่างนี้ ครั้นแล้ว ภวทิฐิย่อมปรากฏ เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย จึงมีภวทิฐิ ดังนี้
               แม้ในภวทิฐินี้ก็เป็นอันตรัสด้วยหัวข้อทิฐิเหมือนกัน
____________________________
๑- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๖๑
๒- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๖๒

               จริงอยู่ ผู้มีทิฐิถือว่าเวทนามีสุขเวทนาเป็นต้น เป็นอัตตา ครั้นจุติจากภพนั้นๆ ในภพ กำเนิด คติ วิญญาณัฎฐิติ และสัตตาวาสทั้งปวง ด้วยสามารถการยึดถือว่าเรา ว่าของเรา แล้วไปเกิดในภพนั้นๆ ย่อมหมุนไปสู่ภูมิเนืองๆ ดุจเรือถูกลมซัดในมหาสมุทร ไม่สามารถยกศีรษะขึ้นจากวัฏฏะได้เลย.
               ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงวัฏฏะด้วยกถามรรคเพียงเท่านี้แก่ผู้มีทิฐิหลงในปัจจยาการแล้ว บัดนี้ เมื่อจะตรัสถึงพระนิพพาน จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยโต โข อานนฺท ภิกฺขุ ดังนี้.
               ก็และพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในเทศนา ไม่ทรงแตะต้องวิวัฏฏกถา (เรื่องนิพพาน) กะบุคคลผู้ฟุ้งซ่านด้วยสามารถนวกรรมเป็นต้น ผู้ทอดทิ้งกรรมฐานแล้ว เมื่อจะทรงปรารภด้วยสามารถบุคคลผู้มีปกติอยู่ด้วยสติปัฏฐาน ผู้เป็นการกบุคคล จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ภิกษุย่อมไม่พิจารณาเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ดังนี้.
               จริงอยู่ ภิกษุเห็นปานนี้ย่อมไม่พิจารณาเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ย่อมไม่พิจารณาเห็นธรรมเหล่าอื่น เพราะความที่เป็นไปในธรรมทั้งปวงด้วยสามารถแห่งสัมมสนญาณที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วโดยนัยมีอาทิว่า
               รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ในภายในหรือในภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ภิกษุย่อมกำหนดรูปทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง พิจารณาครั้ง ๑ ย่อมกำหนดโดยความเป็นทุกข์ พิจารณาครั้ง ๑ ย่อมกำหนดโดยความเป็นอนัตตา พิจารณาครั้ง ๑ ดังนี้ ภิกษุนั้นเมื่อไม่พิจารณาอยู่เสมออย่างนี้ว่า อะไรๆ ในโลกไม่น่ายึดมั่นดังนี้ อะไรๆ แม้ธรรมข้อหนึ่งในธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้นในโลก อันต่างด้วยขันธโลกเป็นต้น ไม่น่ายึดมั่นว่าเป็นอัตตาหรือเกิดในอัตตา ดังนี้.
               บทว่า อนุปาทิยํ จ น ปริตสฺสติ ความว่า ภิกษุเมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง แม้ด้วยความสะดุ้ง คือตัณหาทิฐิและมานะ.
               บทว่า อปริตสฺสํ คือ เมื่อไม่สะดุ้ง. บทว่า ปจฺจตฺตญฺเญว ปรินิพฺพายติ ความว่า ย่อมปรินิพพานด้วยการดับกิเลสด้วยตนเอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขีณา ชาติ ดังนี้เป็นต้น เพื่อทรงแสดงถึงความเป็นไปแห่งปัจจเวกขณะของผู้ปรินิพพานแล้วอย่างนี้.
               บทว่า อิติ สา ทิฎฺฐิ ความว่า ทิฐิของพระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้ว อย่างนั้นชื่อว่าทิฐิอย่างนี้ บาลีว่า อิติสฺส ทิฏฐิ ดังนี้บ้าง. อธิบายว่า ผู้นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลสเป็นผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนั่น พึงมีทิฐิอย่างนี้. บทว่า ตทกลฺลํ คือ ข้อนั้นไม่สมควร. เพราะเหตุไร. เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้นควรกล่าวว่า พระอรหันต์ย่อมไม่รู้อะไรๆ ครั้นรู้อย่างนี้แล้วไม่ควรกล่าวกะพระอรหันต์ผู้หลุดพ้นแล้วว่าไม่รู้อะไรๆ. ด้วยเหตุนั้นแล ในที่สุดแห่งนัย แม้ ๔ อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตํ กิสฺส เหตุ ดังนี้.
               บทว่า ยาวตานนฺท อธิวจนํ ความว่า มีโวหาร กล่าวคือชื่อตราบใด.
               บทว่า ยาวตา อธิวจนปโถ คือ เป็นทางแห่งชื่อเป็นไปอยู่ตราบใด ขันธ์ อายตนะ หรือธาตุ ยังมีอยู่. ในที่ทั้งหมดมีนัยนี้. บทว่า ปญฺญาวจรํ คือ ขันธบัญจกที่กำหนดรู้ด้วยปัญญา. บทว่า ตทภิญฺญา คือ เพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้น.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอะไร. ทรงแสดงอนุสนธิของบทว่าด้วยความยุ่งดุจด้ายของช่างหูก.

               สตฺตวิญฺญาณฏฺฐิติวณฺณนา               
               บัดนี้ ผู้ที่ท่านกล่าวว่า ไม่บัญญัติ เพราะไปอยู่ๆ ชื่อว่าหลุดพ้นจากส่วนทั้งสอง อนึ่ง ผู้ที่ท่านกล่าวว่าไม่พิจารณาเห็นเพราะไปอยู่ๆ ชื่อว่าพ้นด้วยปัญญา ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงบทสรุปและชื่อของภิกษุทั้ง ๒ พวกที่กล่าวแล้วเหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ดูก่อนอานนท์ วิญญาณฐิติเหล่านี้ ๗ อย่าง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สตฺตา ท่านกล่าวด้วยสามารถปฏิสนธิ. วิญญาณฐิติ ๔ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ จักมาในสังคีติสูตร. ชื่อว่าวิญญาณฐิติ เพราะมีวิญญาณตั้งอยู่. บทว่า วิญฺญาณฐิติ นี้เป็นชื่อของที่ตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. บทว่า เทฺว อายตนานิ คือ ที่อยู่อาศัยและที่ตั้ง ๒. ก็บทว่า อายตนะ ในที่นี้ท่านประสงค์เอาที่อยู่อาศัย. ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจักกล่าวถึงอายตนะ ๒ คือ อสัญญีสัตตายตนะ ที่อยู่ของสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่อยู่ของสัตว์มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ท่านจึงถือเอาอายตนะนี้ทั้งหมด.
               ตอบว่า เพื่อควบคุมวัฏฏะ. จริงอยู่ วัฏฏะย่อมไม่ถึงการควบคุมด้วยสามารถวิญญาณฐิติอันบริสุทธิ์ หรือด้วยสามารถอายตนะบริสุทธิ์ แต่ย่อมถึงการควบคุมด้วยสามารถภพกำเนิด คติและสัตตาวาส เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือเอาอายตนะนี้ทั้งหมด.
               บัดนี้ พระศาสดาเมื่อจะทรงจำแนกความนั้นโดยลำดับจึงตรัสคำเป็นอาทิว่า กตมา สตฺต ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยถาปิ เป็นนิบาตในอรรถว่าตัวอย่าง. อธิบายว่า เหมือนอย่างมนุษย์ดังนี้.
               จริงอยู่ ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ เช่นกับหนึ่งไม่มีสอง ด้วยสามารถแห่งวรรณะและสัณฐานเป็นต้นของมนุษย์อันหาประมาณมิได้. ความแปลกกันด้วยอาการเป็นต้นว่า การมองดู การเหลียวดู การพูด การหัวเราะ การเดินและการยืน ย่อมมีแค่นี้ น้องฝาแฝดในที่ไหนๆ ย่อมเป็นเช่นเดียวกันโดยวรรณะหรือโดยทรวดทรง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นานตฺตกายา. แต่ปฏิสนธิวิญญาณของสัตว์เหล่านั้นมี ๓ เหตุบ้าง มี ๒ เหตุบ้าง ไม่มีเหตุบ้าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่ามีสัญญาต่างกัน.
               บทว่า เอกจฺเจ จ เทวา คือ เทวดาชั้นฉกามาพจร. ก็ในเทวดาเหล่านั้นบางพวกมีตัวเขียว บางพวกมีวรรณะเหลืองเป็นต้น. แต่สัญญาของเทวดาเหล่านั้นมี ๒ เหตุบ้าง มี ๓ เหตุบ้าง ไม่มีเหตุบ้าง.
               บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา ความว่า เวมานิกเปรตมีอาทิอย่างนี้ว่า ยักษิณีชื่ออุตตรมาตา ปิยังกรมาตา ปุสสมิตตา ธรรมคุตตา ผู้จมอยู่ในอบาย ๔ ก็กายของเปรตเหล่านั้นมีต่างๆ กัน ด้วยสามารถสีมีสีเหลือง สีขาว สีดำ สีทอง สีคร่ำเป็นต้น และด้วยสามารถความผอม ความอ้วน สูงและต่ำ. แม้สัญญาก็มีด้วยสามารถทวิเหตุกะ ติเหตุกะ และอเหตุกะ เหมือนของมนุษย์ทั้งหลาย. ก็เปรตเหล่านั้นไม่มีศักดิ์ใหญ่เหมือนเทวดา มีศักดิ์น้อยเหมือนคนกำพร้า ของกิน เสื้อผ้าหาได้ยาก ถูกทุกข์บีบคั้นอยู่. บางพวกได้รับทุกข์ในข้างแรมได้รับสุขในข้างขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วินิปาติกะ เพราะความเป็นผู้ตกไปจากการสะสมความสุข.
               ก็ในเปรตเหล่านี้ แม้การตรัสรู้ธรรมก็ย่อมมีได้แก่เปรตจำพวกติเหตุกะ. ก็ยักษิณีชื่อปิยังกรมาตาได้สดับพระอนุรุทธเถระผู้สาธยายธรรมอยู่ในเวลาใกล้รุ่ง ตักเตือนบุตรน้อยอย่างนี้ว่า
                                   เจ้าปิยังกรอย่าเอ็ดไป ภิกษุกำลังกล่าวบทธรรม
                         อีกอย่าง เรารู้บทธรรมแล้ว จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์
                         ของเรา ข้อนั้นพึงมี
                                   เราพึงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายไม่พึงกล่าวเท็จ
                         ทั้งๆ รู้พึงศึกษาความเป็นผู้มีศีลของตน เราก็จะพ้น
                         จากกำเนิดปีศาจ ดังนี้

               แล้วได้บรรลุโสดาปัตติผลในวันนั้นเอง.
               บทว่า พฺรหฺมกายิกา ได้แก่ พรหมปาริสัชชะ พรหมปุโรหิต มหาพรหม.
               บทว่า ปฐมาภินิพฺพตฺตา ได้แก่ พวกเทพทั้งหมดเหล่านั้นเกิดด้วยปฐมฌาน.
               ก็ในบรรดาเทพเหล่านั้น เทพพรหมปาริสัชชะเกิดแล้วด้วยคุณเล็กน้อย. เทพพรหมปาริสัชชะเหล่านั้นอายุประมาณ ๓ ส่วนของกัป เทพพรหมปุโรหิตเกิดแล้วด้วยคุณปานกลาง. อายุประมาณกึ่งกัปและกายของพราหมปุโรหิตนั้นผึ่งผายกว่า. เทพมหาพรหมเกิดด้วยคุณอันประณีต. อายุประมาณ ๑ กัป กายของเทพเหล่านั้นผึ่งผายยิ่งนัก. ด้วยประการดังนี้ พึงทราบว่า เทพเหล่านั้นมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เพราะกายต่างกัน เพราะสัญญาอย่างเดียวกันด้วยสามารถปฐมฌาน.
               สัตว์ทั้งหลายในอบาย ๔ ก็เหมือนเทพเหล่านั้น.
               ก็ในนรก อัตภาพของสัตว์บางพวกคาวุตหนึ่ง บางพวกกึ่งโยชน์ บางพวกโยชน์หนึ่ง. แต่ของพระเทวทัต ๑๐๐ โยชน์. แม้ในเดียรัจฉานทั้งหลายบางพวกก็เล็ก บางพวกก็ใหญ่. ในเปรตวิสัยบางพวก ๖๐ ศอก บางพวก ๗๐ ศอก บางพวก ๘๐ ศอก บางพวกผิวงาม บางพวกผิวไม่งาม. กาลัญชิกาสูรก็เหมือนอย่างนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ในบรรดาเปรตเหล่านี้ ทีฆปิฏฐิกเปรตสูงถึง ๖๐ โยชน์. แต่สัญญาของเปรตแม้ทั้งหมดเป็นอเหตุกะฝ่ายอกุศลวิบาก. ด้วยประการดังนี้ แม้สัตว์ในอบายย่อมนับได้ว่า มีกายต่างกันมีสัญญาอย่างเดียวกันดังนี้.
               บทว่า อาภสฺสรา ความว่า รัศมีจากสรีระของเทพเหล่านั้น ดุจเปลวคบเพลิงเป็นลำ สร้านออกดุจขาดๆ แล้วตก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาภัสสรา. ในเทพเหล่านั้น เทพผู้เจริญคุณนิดหน่อย มี ๒ ฌาน คือทุติยฌาน และตติยฌานในจตุกนัยและปัญจกนัย เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าเทพปริตตาภา ประมาณอายุของเทพปริตตาภาเหล่านั้น ๒ กัป. เทพผู้เจริญคุณปานกลางเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าเทพอัปปมาณาภา ประมาณอายุของเทพอัปปมาณาภาเหล่านั้น ๔ กัป. เทพผู้เจริญคุณประณีตแท้เกิดขึ้นแล้ว ชื่อเทพอาภัสสรา ประมาณอายุของเทพอาภัสสราเหล่านั้น ๘ กัป. ก็ในที่นี้ท่านกำหนดเอาเทพเหล่านั้นทั้งหมด ด้วยสามารถการกำหนดอย่างอุกกฤษฐ์. กายของเทพเหล่านั้น แม้ทั้งหมดมีความผึ่งผายเป็นอย่างเดียวกันแท้. แต่สัญญาเพียงไม่มีวิตกแต่มีวิจาร หรือไม่มีทั้งวิตกไม่มีทั้งวิจาร เพราะเหตุนั้น จึงต่างกัน.
               บทว่า สุภกิณฺหา คือ กระจัดกระจายเกลือนกล่นไปด้วยความงาม. อธิบายว่า มีความแน่นหนาเป็นอันเดียวด้วยแสงแห่งรัศมีในสรีระอันงาม ก็แต่ว่า รัศมีแห่งเทพสุภกิณหาเหล่านั้นไม่ขาดๆ แล้วพุ่งไปเหมือนรัศมีของเทพอาภัสสรา. แต่ในปัญจกนัย เทพบังเกิดเป็นเทพปริตตสุภา เทพอัปปมาณสุภา เทพสุภกิณหา มีอายุ ๑๖ กัป ๓๒ กัป ๖๐ กัป ด้วยสามารถจตุตถฌานนิดหน่อย ท่ามกลางและประณีต. ด้วยประการดังนี้ เทพเหล่านั้นแม้ทั้งหมด พึงทราบว่า มีกายอย่างเดียวกัน และมีสัญญาอย่างเดียวกันด้วยสัญญาแห่งจตุตถฌาน ดังนี้.
               อนึ่ง แม้เทพเวหัปผลาก็รวมเข้ากับวิญญาณฐิติที่ ๔ เหมือนกัน. สัตว์ไม่มีสัญญา เพราะไม่มีวิญญาณ ไม่สงเคราะห์เข้าในวิญญาณฐิตินี้ แต่สงเคราะห์เข้าในสัตตาวาส. แม้เทพสุทธาวาสดำรงอยู่ในฝ่ายวิวัฏฏะ ไม่กำหนดกาลทั้งปวงก็ไม่เกิดในโลกที่ว่างพระพุทธเจ้าแสนกัปบ้าง หนึ่งอสงไขยบ้าง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติในระหว่าง ๑๖,๐๐๐ กัปนั้นแลจึงเกิด ย่อมเป็นเช่นเดียวกับที่ตั้งค่ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เพราะฉะนั้น เทพสุทธาวาสจึงไม่รวมเข้ากับวิญญาณฐิติ ไม่รวมเข้ากับสัตตาวาส.
               แต่พระมหาสิวเถระกล่าวว่า แม้เทพสุทธาวาสก็ยังรวมเข้ากับวิญญาณฐิติที่ ๔ สัตตาวาสที่ ๔ นั้นแล ด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูกรสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่เทวโลกชั้นสุทธาวาส เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนักดังนี้. เห็นด้วยกับพระสูตรนั้น เพราะพระสูตรท่านไม่ห้ามไว้.
               ความแห่งบทเป็นอาทิว่า สพฺพโส รูปสญฺญาณํ ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. ก็เนวสัญญานาสัญญายตนะ มีวิญญาณก็ไม่ใช่ ไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ เพราะแม้วิญญาณละเอียดเหมือนความละเอียดของสัญญา เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวในวิญญาณฐิติแล้วกล่าวไว้ในอายตนะ.
               บทว่า ตตฺร คือ ในวิญญาณฐิติเหล่านั้น. บทว่า ตญฺจ ปชานาติ คือ ย่อมรู้วิญญาณฐิตินั้น.
               บทว่า ตสฺสา จ สมุทยํ ความว่า ย่อมรู้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณฐิตินั้น โดยนัยเป็นอาทิว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปจึงเกิดดังนี้.
               บทว่า ตสฺสา จ อตฺถงฺคมํ ความว่า ย่อมรู้ความดับแห่งวิญญาณฐิตินั้น โดยนัยเป็นอาทิว่า เพราะอวิชชาดับ รูปจึงดับดังนี้.
               บทว่า อสฺสาทํ ความว่า ย่อมรู้ความพอใจของวิญญาณฐิตินั้นอย่างนี้ว่า ความสุขความโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณใด นี้คือความพอใจแห่งวิญญาณ.
               บทว่า อาทีนวํ ความว่า ย่อมรู้โทษแห่งวิญญาณฐิตินั้นอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือโทษแห่งวิญญาณ.
               บทว่า นิสฺสรณํ ความว่า การนำออกซึ่งฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณใด นี้คืออุบายเป็นเครื่องนำออกไปแห่งวิญญาณ ดังนั้น ย่อมรู้วิญญาณฐิตินั้นอย่างนี้.
               บทว่า กลฺลํ น เตน ความว่า ภิกษุนั้นยังควรเพื่อเพลิดเพลินวิญญาณฐิตินั้น ว่าเรา ว่าของเรา ด้วยอำนาจแห่งตัณหามานะและทิฐิอีกหรือ. พึงทราบความในที่ทั้งปวงโดยอุบายนี้. ก็แต่ว่า พึงประกอบสมุทัยเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งขันธ์ทั้งหลาย ๔ ในที่ที่ไม่มีรูป ด้วยสามารถแห่งขันธ์หนึ่งในที่ที่ไม่มีวิญญาณ. ในที่นี้ อนึ่ง ไม่พึงประกอบบทนี้ว่า เพราะอาหารเกิด เพราะอาหารดับ ดังนี้.
               บทว่า ยโต โข อานนฺท ภิกฺขุ ความว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อใดแล ภิกษุ. บทว่า อนุปาทา วิมุตฺโต ความว่า เป็นผู้หลุดพ้น เพราะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน ๔.
               บทว่า ปญฺญาวิมุตฺโต ความว่า เป็นผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา. อธิบายว่า ไม่ทำให้แจ้งซึ่งวิโมกข์ ๘ แล้วทำนามกายและรูปกายให้เป็นไปไม่ได้ด้วยกำลังปัญญานั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว. ภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วนั้นมี ๕ อย่างคือ เป็นสุกขวิปัสสกและตั้งอยู่ในปฐมฌานเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วบรรลุพระอรหัต
               ดังที่ท่านกล่าวข้อนี้ไว้ว่า
               ก็บุคคลพวกไหนเป็นปัญญาวิมุตติ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายอยู่ อาสวะทั้งหลายของเขาเป็นอันสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นปัญญาวิมุตติ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบทสรุปและนามของภิกษุรูปหนึ่งอย่างนี้แล้ว เพื่อทรงแสดงแก่ภิกษุนอกนี้ จึงตรัสว่า อฎฺฐ โข อิเม ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิโมกฺโข
               ถามว่า ชื่อว่าวิโมกข์ ด้วยอรรถว่ากระไร ตอบว่า ด้วยอรรถว่าพ้น
               ถามว่า วิโมกข์นี้มีอรรถว่าพ้นเป็นอย่างไร ตอบว่า มีอรรถว่าพ้นด้วยดีจากธรรมเป็นข้าศึก และพ้นด้วยดีด้วยอำนาจความยินดีในอารมณ์.
               ท่านอธิบายว่า วิโมกข์ย่อมเป็นไปในอารมณ์ เพราะหมดความสงสัยด้วยความไม่ยึดถือ ดุจทารกผู้ปล่อยอวัยวะน้อยใหญ่นอนบนตักของบิดา. ก็ความนี้มิได้มีในวิโมกข์ตอนหลัง แต่มีในตอนต้นทั้งหมด.
               ในบทว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ นี้มีความว่า รูปเป็นรูปฌานที่ทำให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจนีลกสิณเป็นต้น ในผมเป็นต้นในภายในชื่อว่า รูปี. เพราะมีรูปฌานด้วยบทนี้ ท่านแสดงรูปาวจรฌาน ๔ แก่บุคคลผู้ที่ทำฌานให้เกิดในกสิณทั้งหลายอันมีวัตถุในภายใน.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปสญฺญี คือ ไม่มีความสำคัญในรูปในภายใน. ความว่า ไม่ทำรูปาวจรฌานให้เกิดในอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นของตน.
               บทว่า พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ความว่า ย่อมเห็นรูปมีนิลกสิณเป็นต้น แม้ในภายนอกด้วยญาณจักษุ. ด้วยบทนี้ ท่านกระทำบริกรรมในภายนอกแล้วแสดงรูปาวจรฌาน ๔ แห่งฌานที่ทำให้เกิดแล้วในภายนอก.
               ท่านแสดงฌานในวัณณกสิณมีสีเขียวเป็นต้น อันบริสุทธิ์ดีแล้ว ด้วยบทนี้ว่า สุภนฺเตว อธิมุตฺโตโหติ ดังนี้. ในบทนั้นไม่มีความผูกใจว่างามในอัปปนาในภายในก็จริง. แต่ถึงดังนั้น เพราะผู้ที่กระทำกสิณอันงามบริสุทธิ์ดีแล้วอยู่ ย่อมถึงความเป็นผู้ควรกล่าวได้ว่า ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่ากสิณเป็นของงามดังนี้ ฉะนั้น ท่านจึงแสดงอย่างนี้.
               แต่ในปฏิสัมภิทามรรค ท่านกล่าวว่า
               วิโมกข์ ในบทว่า ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่ากสิณงามเป็นอย่างไร
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่ ฯลฯ เพราะเป็นผู้เจริญเมตตาสัตว์ทั้งหลายจึงไม่เป็นผู้น่าเกลียดมีจิตสหรคตด้วยกรุณามุทิตาอุเบกขา แผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่ ฯลฯ เพราะเป็นผู้เจริญอุเบกขาสัตว์ทั้งหลาย จึงเป็นผู้ไม่น่าเกลียด
               วิโมกข์ในบทว่า ผู้ที่น้อมใจเชื่อว่ากสิณเป็นของงามเป็นอย่างนี้ ดังนี้.

               ในบทว่า สพฺพโส รูปสญฺญานํ เป็นต้น บททั้งหมดที่ควรกล่าว ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั้นแล.
               บทว่า อยํ อฎฺฐโม วิโมกฺโข ความว่า นี้ชื่อวิโมกข์อันสูงสุดข้อที่ ๘ เพราะความที่ขันธ์ ๔ บริสุทธิ์โดยประการทั้งปวง เพราะความที่พ้นแล้ว.
               บทว่า อนุโลมํ คือ ตั้งแต่บทต้นจนถึงบทสุดท้าย.
               บทว่า ปฏิโลมํ คือ ตั้งแต่บทสุดท้ายจนถึงบทต้น.
               บทว่า อนุโลม ปฏิโลมํ นี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งการที่สมาบัติไม่ตั้งมั่น เพราะคล่องเกินไปวนไปทางโน้นวนไปทางนี้. บทว่า ยตฺถิจฺฉกํ คือ แสดงถึงโอกาส ความว่า ปรารถนาในโอกาสใดๆ. บทว่า ยทิจฺฉกํ คือ แสดงถึงสมาบัติ ได้แก่ปรารถนาสมาบัติใดๆ. บทว่า ยาวติจฺฉกํ คือ แสดงถึงกำหนดทางไกล ได้แก่ปรารถนาทางไกลประมาณเพียงใด. บทว่า สมาปชฺชติ คือ เข้าสู่สมาบัตินั้นๆ. บทว่า วุฎฺฐาติ คือ ออกจากสมาบัตินั้นแล้วตั้งอยู่.
               บทว่า อุภโตภาควิมุตฺโต ความว่า พ้นโดยส่วนสอง คือพ้นจากรูปกายด้วยอรูปสมาบัติ พ้นจากนามกายด้วยมรรค.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอุปสีวะ
                         มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่
                         ไม่ได้ ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งการนับ เหมือนเปลวไฟ
                         ถูกกำลังลมพัดไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้
                         ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งการนับ
ดังนี้.
               ก็ภิกษุนี้นั้น พ้นแล้วโดยส่วนสองออกจากอากาสานัญจายตนะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วบรรลุพระอรหัต และเป็นอนาคามีออกจากนิโรธแล้ว บรรลุพระอรหัต รวมเป็น ๕ อย่าง.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เพราะแม้รูปาวจรจตุตถฌานก็สหรคตด้วยอุเบกขามีองค์สอง แม้อรูปาวจรฌานก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ฉะนั้น ภิกษุออกจากรูปาวจรจตุตถฌาน แม้บรรลุพระอรหัตก็ชื่อว่าอุภโตภาควิมุตดังนี้.
               ก็ปัญหาอุภโตภาควิมุตนี้ตั้งขึ้นแม้ในภายใต้โลหปราสาท อาศัยการพรรณนาของพระจุลลสุมนเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ใช้เวลานาน จึงถึงการชี้ขาด.
               มีเรื่องว่า ในคิริวิหาร อันเตวาสิกของพระเถระสดับปัญหานั้นจากปากของภิกษุผู้ถือปิณฑปาติกวัตรรูปหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส เมื่ออาจารย์ของเราอธิบายธรรม ณ ภายใต้โลหปราสาท อันใครๆ ไม่เคยฟังแล้ว
               พวกภิกษุจึงถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็พระเถระได้กล่าวอย่างไร
               อันเตวาสิกตอบว่า ดูก่อนอาวุโส พระเถระได้กล่าวว่า รูปาวจรจตุตถฌานสหรคตด้วยอุเบกขามีองค์สอง ย่อมข่มกิเลสได้ก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น รูปาวจรจตุตถฌานย่อมกำเริบในฐานะแห่งรูปารมณ์ แม้เป็นฝ่ายใกล้แห่งกิเลสทั้งหลาย เพราะธรรมดากิเลสเหล่านี้เข้าไปอาศัยอารมณ์ในนิลกสิณเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในภพชั้นต่ำทั้ง ๕ ย่อมกำเริบ
               อนึ่ง รูปาวจรฌานย่อมไม่ก้าวไปสู่อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ภิกษุเปลี่ยนรูปโดยประการทั้งปวง แล้วข่มกิเลสด้วยอำนาจอรูปฌานแล้วจึงบรรลุพระอรหัต เป็นอุภโตภาควิมุตดังนี้
               ก็และพระเถระ ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว จึงนำสูตรนี้มาว่า
               ก็บุคคลพวกไหนเป็นอุภโตภาควิมุต
               บุคคลบางคนในโลกนี้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยกายแล้วอยู่ และอาสวะของบุคคลนั้นเป็นอันสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นอุภโตภาควิมุต ดังนี้.

               บทว่า อานนฺท อิมาย จ อุภโตภาควิมุตฺติยา ความว่า ดูก่อนอานนท์ อุภโตภาควิมุตติอื่นจากอุภโตภาควิมุตตินี้.
               บทที่เหลือมีความง่ายในที่ทั้งปวง.

               จบอรรถกถามหานิทานสูตร ที่ ๒               
               --------------------------------------               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหานิทานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 10 / 1อ่านอรรถกถา 10 / 1อรรถกถา เล่มที่ 10 ข้อ 57อ่านอรรถกถา 10 / 67อ่านอรรถกถา 10 / 301
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=1455&Z=1887
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=5&A=2001
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=5&A=2001
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :