ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 94อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 130อ่านอรรถกถา 11 / 172อ่านอรรถกถา 11 / 364
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
ลักขณสูตร

               อรรถกถาลักขณสูตร               
               ทฺวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณวณฺณนา               
               ลักขณสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               ต่อไปนี้จะพรรณนาบทที่ยากในลักขณสูตรนั้น.
               บทว่า ทวตฺตึสีมานิ ตัดบทเป็น ทวตฺตึส อิมานิ
               บทว่า มหาปุริสลกฺขณานิ ความว่า ความปรากฏแห่งมหาบุรุษนิมิตแห่งมหาบุรุษ เป็นเหตุให้รู้ว่า นี้คือมหาบุรุษ.
               บทเป็นอาทิว่า พระมหาบุรุษประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะเหล่าใด ดังนี้ พึงทราบโดยนัยที่พิสดารแล้วในมหาปทาน.
               เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวว่า พวกฤๅษีแม้ในภายนอกก็ยังทรงจำมหาปุริสลักษณะของพระมหาบุรุษ ๓๒ เหล่านี้ได้ แต่พวกฤๅษีเหล่านั้นย่อมไม่รู้ว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมที่ตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ไว้...
               ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้มหาปุริสลักษณะนี้ดังนี้ เพราะอนุรูปแก่เรื่องนี้เกิดขึ้น ด้วยว่า สูตรนี้มีเรื่องเกิดขึ้นของสูตรนั้น ตั้งขึ้นที่ไหน ตั้งขึ้นในระหว่างพวกมนุษย์ภายในบ้าน.
               ได้ยินว่า ในครั้งนั้น ชาวเมืองสาวัตถีนั่งประชุมสนทนากันในบ้านที่ประตูบ้านและที่หอนั่งเป็นต้นของตนของตนว่า พระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ มีพระรัศมีแผ่ออกจากพระวรกายวาหนึ่ง มหาปุริสลักษณะ ๓๒ เมื่อเปล่งพระรัศมีมีสี ๖ ประการ ฉายแสงจากข้างนี้ ข้างนี้ ย่อมงามเหลือเกินประดุจดอกไม้สวรรค์แย้มบานทั้งหมด ประดุจสวนดอกบัวที่แย้มกลีบ ประดุจเสาระเนียดวิจิตรด้วยแก้วต่างๆ ประดุจท้องฟ้าซึ่งสะพรั่งด้วยดาวและพะยับแดด มิได้บอกว่าก็ลักษณะนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดขึ้นด้วยกรรมนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ลักษณะนี้ เกิดขึ้นอย่างนี้ เพราะพระองค์ให้ทานแม้เพียงข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือเพียงข้าวทัพพีหนึ่งเป็นปัจจัยลักษณะเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น โดยที่พระศาสดาได้ทรงทำกรรมอะไรไว้หนอ.
               ลำดับนั้น พระอานนทเถระจาริกไปภายในหมู่บ้านได้สดับการสนทนานี้ ทำภัตตกิจเสร็จแล้วมาสู่วิหาร กระทำวัตรปฏิบัติแด่พระศาสดาแล้ว ถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้กถาข้อหนึ่งภายในหมู่บ้าน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เธอฟังมาอย่างไร อานนท์. ได้กราบทูลให้ทรงทราบทั้งหมด.
               พระศาสดาสดับถ้อยคำของพระเถระแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายที่นั่งแวดล้อมอยู่ ทรงแสดงลักษณะทั้งหลายโดยลำดับว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษเหล่านี้มีอยู่ ๓๒ ประการ ตรัสอย่างนั้น เพื่อแสดงถึงลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะกรรม.

               สุปติฏฺฐิตปาทตาลกฺขณวณฺณนา               
               ในบททั้งหลายว่า ชาติ เป็นต้นก่อน ความว่า ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ชาติ ด้วยสามารถเกิดแล้ว. ตรัสว่า ภพ ด้วยสามารถเกิดอย่างนั้น. ตรัสว่า กำเนิดด้วยสามารถอาศัยอยู่ หรือด้วยอรรถว่าเป็นที่อยู่. บทแม้ทั้ง ๓ นั้นมีอธิบายว่า ในขันธสันดานที่เคยอาศัยอยู่ ดังนี้.
               บัดนี้ เพราะขันธสันดานนั้นย่อมเป็นไปแม้ในเทวโลกเป็นต้น แต่กุศลกรรมอันสามารถจะยังลักษณะให้เกิด ทำไม่ง่ายนักในเทวโลกนั้น เมื่อเป็นมนุษย์นั้นแหละ ลักษณะนั้นจึงทำได้ง่าย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงกรรมที่พระองค์ทรงกระทำแล้วตามความเป็นจริง จึงตรัสว่า ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ ดังนี้ หรือว่า นั่นไม่ใช่เหตุ.
               จริงอยู่ พระมหาบุรุษแม้เป็นช้าง ม้า โค กระบือ วานรเป็นต้น ก็ทรงบำเพ็ญบารมีได้เหมือนกัน แต่เพราะพระองค์ดำรงอยู่ในอัตภาพเห็นปานนั้นไม่สามารถแสดงกรรมที่ทรงกระทำแล้วโดยง่าย แต่พระองค์ดำรงอยู่ในความเป็นมนุษย์จึงสามารถแสดงกรรมที่พระองค์ทรงกระทำแล้วโดยง่าย ฉะนั้น จึงตรัสว่า ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ ดังนี้.
               ทฬฺหสมาทาโน แปลว่า ถือมั่น.
               บทว่า ในธรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย หมายถึง กุศลกรรมบถ ๑๐.
               บทว่า ยึดมั่นไม่ถอยหลัง ได้แก่ ยึดแน่นเป็นนิจ คือยึดมั่นไม่ถอยหลัง.
               จริงอยู่ จิตของพระมหาสัตว์ย่อมม้วนกลับจากอกุศลกรรม ดุจปีกไก่ต้องไฟฉะนั้น จิตของพระมหาบุรุษบรรลุกุศลย่อมเหยียดดุจเพดาน เพราะฉะนั้น พระตถาคตเป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้มั่นไม่ถอยหลัง อันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มารหรือพรหม ก็ไม่สามารถจะให้พระองค์สละความยึดมั่นในกุศลได้.
               มีเรื่องเล่าว่า
               ครั้งก่อน พระมหาบุรุษอุบัติในกำเนิดกระแต. คราวนั้น เมื่อฝนตก ห้วงน้ำไหลมาพัดเอารังของกระแตเข้าไปในมหาสมุทร. มหาบุรุษคิดว่า เราจักนำลูกน้อยออกให้ได้ จึงจุ่มหางแล้วสลัดน้ำจากมหาสมุทรไปข้างนอก. ในวันที่ ๗ ท้าวสักกะทรงรำพึงแล้วเสด็จมาในที่นั้น ถามว่า ท่านทำอะไร มหาบุรุษบอกเรื่องราวแก่ท้าวสักกะนั้น. ท้าวสักกะทรงบอกถึงความที่น้ำจะนำออกจากมหาสมุทรได้ยาก. พระโพธิสัตว์รุกรานว่า ไม่ควรพูดกับคนเกียจคร้านเช่นนั้น ท่านอย่ายืนตรงนี้เลย. ท้าวสักกะคิดว่า เราไม่สามารถจะให้ผู้มีใจประเสริฐเลิกละสิ่งที่ตนถือมั่นได้ จึงนำลูกน้อยมาส่งให้.
               แม้ในกาลที่พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นมหาชนก พระโพธิสัตว์ทรงว่ายข้ามมหาสมุทร. เทวดาถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงว่ายข้ามมหาสมุทร.
               ทรงกล่าวว่า เราว่ายข้ามเพื่อไปถึงฝั่งแล้วจะครองราชสมบัติ ในแคว้นอันเป็นของตระกูล แล้วบริจาคทาน. เมื่อเทวดากล่าวว่า มหาสมุทรนี้ลึกและกว้างขวางมาก เมื่อไรจักข้ามถึงได้. ตรัสว่า มหาสมุทรนี้ก็เช่นเดียวกับมหาสมุทรของท่าน แต่อาศัยความตั้งใจของเราปรากฏเหมือนเหมืองน้อยๆ ท่านนั่นแหละจักเห็นเราผู้ว่ายข้ามมหาสมุทรแล้ว นำทรัพย์จากฝั่งมหาสมุทรมาครองราชสมบัติในแคว้นอันเป็นของตระกูล แล้วบริจาคทานดังนี้.
               เทวดาคิดว่าเราไม่อาจจะให้บุรุษผู้มีใจประเสริฐเลิกละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ จึงอุ้มพระโพธิสัตว์นำไปให้บรรทม ณ อุทยาน. พระมหาสัตว์นั้นยังมหาชนให้ยกขึ้นซึ่งเศวตฉัตร แล้วทรงทำการบริจาคทานวันละ ๑๐ แสน ต่อมาเสด็จออกทรงผนวช.
               พระมหาสัตว์อันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหมก็ไม่อาจให้เลิกละกุศลสมาทานได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตถาคตเป็นผู้ยึดมั่น ไม่ถอยกลับในธรรมอันเป็นกุศลทั้งหลาย ดังนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทรงแสดงความยึดมั่นไม่ถอยหลังในธรรมอันเป็นกุศล จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า ในกายสุจริต ดังนี้.
               ในบทนี้ว่า ในการบริจาคทาน คือ การให้ด้วยสามารถการให้ทานนั่นเอง การบริจาคด้วยสามารถทำการบริจาค. บทว่า ในกาลสมาทานศีล คือในกาลบำเพ็ญศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และจตุปาริสุทธิศีล. บทว่า ในการรักษาอุโบสถ คือในการเข้าอุโบสถอันต่างด้วยวัน ๑๔ ค่ำเป็นต้น. บทว่า มตฺเตยฺยตาย คือ ในวัตรอันควรทำแก่มารดา.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แหละ.
               บทว่า อญฺญตรญฺยตเรสุ จ คือ ในกุศลธรรมเห็นปานนี้อื่นๆ.
               ในบทว่า อธิกุสเลสุ นี้ อธิบายว่า กุศลมีอยู่ อธิกุศลมีอยู่ กามาวจรกุศลแม้ทั้งหมดก็ชื่อว่าเป็นกุศล รูปาวจรเป็นอธิกุศล. แม้ทั้งสองนั้นก็ชื่อว่าเป็นกุศล อรูปาวจรเป็นอธิกุศล. แม้ทั้งหมดเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นกุศล กุศลอันเป็นปัจจัยแห่งการได้สาวกบารมี เป็นอธิกุศล. อธิกุศลแม้เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นกุศล กุศลอันเป็นปัจจัยแห่งการได้ปัจเจกโพธิ เป็นอธิกุศล. อธิกุศลแม้เหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นกุศล แต่กุศลอันเป็นปัจจัยแห่งการได้สัพพัญญุตญาณ.
               ท่านประสงค์ว่าเป็นอธิกุศลในที่นี้ พระตถาคตได้เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ยึดมั่นไม่ถอยหลังในธรรมเป็นอธิกุศลเหล่านั้น.
               ในบทนี้ว่า เพราะกรรมนั้น ตนกระทำสั่งสม อธิบายว่า กรรมที่ตนทำแม้คราวเดียวก็เป็นอันกระทำเหมือนกัน แต่เพราะทำเนืองๆ เป็นกรรมอันตนสั่งสม.
               บทว่า เพราะกรรมที่พอกพูน คือกรรมที่ตนทำอันเป็นกอง ท่านกล่าวว่า พอกพูน พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงกล่าวบทว่า เพราะกรรมอันพอกพูน จึงทรงแสดงว่า เมื่อเราทำกรรม จักรวาลคับแคบนัก ภวัคคพรหมต่ำนัก กรรมอันเราพอกพูนไว้อย่างนี้.
               บทว่า เพราะไพบูลย์ คือ เพราะไม่มีประมาณ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า กรรมที่เราทำไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ. บทว่า ย่อมถือเอายิ่งคือย่อมครอบงำ อธิบายไว้ว่า ได้ยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลายเหล่าอื่น. บทว่า ได้เฉพาะ คือบรรลุ.
               บทนี้ว่า ด้วยฝ่าพระบาททุกส่วน เป็นคำพิสดารของบทว่า ทรงเหยียบพระบาทเสมอกันบนพื้น.
               ในบททั้งหลายนั้น บทว่า ทุกส่วน คือ มีทุกแห่ง. อธิบายว่า พระมหาบุรุษไม่ทรงจดครั้งแรกโดยส่วนหนึ่ง ไม่ทรงจดภายหลังโดยส่วนหนึ่ง ทรงจดพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน ทรงยกขึ้นเสมอกัน. ก็แม้หากว่า พระตถาคตจะทรงย่างยกพระบาทด้วยพระดำริว่า เราจักเหยียบเหวหลายร้อยชั่วคน ทันใดนั้นเองที่ลุ่มก็จะสูงขึ้น เป็นที่เสมอกับแผ่นดินเหมือนเบ้าทองเต็มด้วยลมฉะนั้น. พระตถาคตจะเข้าไปแม้สู่ที่สูงในภายใน เมื่อยกพระบาทขึ้นด้วยทรงพระดำริว่า เราจักเหยียบในที่ไกล ภูเขาแม้ประมาณเท่าเขาพระสิเนรุน้อมลงมาใกล้พระบาท เหมือนยอดหวายที่ถูกลนไฟ ฉะนั้น.
               เป็นความจริงอย่างนั้น เมื่อพระตถาคตทรงยกพระบาทด้วยทรงพระดำริว่า เราจักทำปาฏิหาริย์เหยียบภูเขายุคนธร ภูเขาก็จะน้อมลงมาใกล้พระบาท พระองค์ก็เหยียบภูเขานั้น แล้วเหยียบถึงภพดาวดึงส์ด้วยพระบาทที่สอง ที่ซึ่งจักรลักษณะควรประดิษฐานไม่อาจจะเป็นที่ไม่เรียบ ตอ หนาม กรวด กระเบื้อง อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำมูกเป็นต้น หรือของที่มีแต่ก่อน, หลีกไปหมด หรือหายเข้าไปยังแผ่นดินในที่นั้นๆ ทั้งหมด.
               จริงอยู่ มหาปฐพีนี้มีพื้นเสมอดาระดาดไปด้วยดอกไม้แรกแย้ม ย่อมมีขึ้นด้วยศีลเดช ด้วยบุญญเดช ด้วยธรรมเดช ด้วยอานุภาพแห่งทศบารมีของพระตถาคต.
               บทว่า มีสาครเป็นขอบเขต คือ สาครสีมา. อธิบายว่า ก็เมื่อพระมหาบุรุษทรงครองราชสมบัติ ต้นไม้ก็ดี ภูเขาก็ดี แม่น้ำก็ดี ในระหว่างมิได้เป็นเขต มหาสมุทรนั่นแหละเป็นเขต เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีสาครเป็นขอบเขต.
               บทว่า มิได้มีเสาเขื่อน มิได้มีนิมิต ไม่มีเสี้ยนหนาม คือ ไม่มีโจร.
               จริงอยู่ โจรทั้งหลาย ท่านกล่าวว่า เป็นเสาเขื่อนเพราะอรรถว่ามีสัมผัสกระด้าง เป็นนิมิตเพราะอรรถว่าเป็นปัจจัยแห่งอันตราย เป็นเสี้ยนหนามเพราะอรรถว่าทิ่มแทง.
               บทว่า อิทฺธํ คือ สำเร็จ. บทว่า ผีตํ คือ อุดมสมบูรณ์ด้วยสรรพสมบัติ.
               บทว่า เขมํ คือ ไม่มีภัย. บทว่า สิวํ คือไม่มีอันตราย. บทว่า นิรพฺพุทํ อธิบายว่า เว้นจากหมู่โจร คือเว้นจากโจรที่คุมกันเป็นพวกๆ เที่ยวไป.
               บทว่า ไม่มีใครข่มได้ คือ ข้าศึกศัตรูข่มไม่ได้. อธิบายว่า ใครๆ ก็ไม่สามารถจะให้เขาหวั่นไหวจากสถานะได้. บทว่า ข้าศึก คือปรารถนาเป็นปฏิปักษ์. บทว่า ศัตรู คืออมิตรที่ทำร้ายตอบ แม้ทั้งสองนั้นก็เป็นไวพจน์ของข้าศึก.
               บทว่า ข้าศึก ศัตรูภายใน ได้แก่ กิเลสมีราคะเป็นต้นที่ตั้งขึ้นในภายใน.
               บทว่า ข้าศึก ศัตรูภายนอก ได้แก่ พวกสมณะเป็นต้น.
               จริงดังนั้น แม้พวกสมณะมีเทวทัตและโกกาลิกะเป็นต้น แม้พราหมณ์มีโสณทัณฑะและกูฏทัณฑะเป็นต้น แม้เทวดาเช่นท้าวสักกะ. แม้มารผู้ติดตามตลอด ๗ ปี แม้พรหมมีพกาพรหมเป็นต้น ก็ไม่สามารถจะข่มพระพุทธเจ้าได้ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสกรรม คล้ายกรรม ลักษณะและอานิสงส์แห่งลักษณะไว้.
               กรรมอันผู้มีความเพียรมั่นกระทำแล้วสิ้น ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัปป์ ชื่อว่ากรรม. มหาปุริสลักษณะคือมีพระบาทประดิษฐานไว้ดีแล้ว เกิดขึ้นโดยนัยว่า โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ภาวะแห่งกรรมอันผู้มั่นคงกระทำแล้ว ชื่อว่าคล้ายกรรม. ความเป็นผู้มีพระบาทประดิษฐานไว้ดีแล้ว ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้อันข้าศึกข่มไม่ได้ ชื่อว่าอานิสงส์แห่งลักษณะ.
               บทว่า พระโบราณกเถระทั้งหลายกล่าวคาถาประพันธ์ในพระลักษณะนั้น ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสประเภทแห่งกรรมเป็นต้น ในพระลักษณะนั้นแล้ว พระโบราณกเถระจึงกล่าวคำนี้ต่อไป ท่านกล่าวหมายถึงคาถาประพันธ์ ก็พระโบราณกเถระทั้งหลายทราบว่า คาถาวรรณนาอันพระอานนทเถระตั้งไว้ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ แล้วจึงไป ต่อมาพระเถระทั้งหลายกล่าวว่า การยกอรรถขึ้นบทเดียว.
               บทว่า ในสัจจะ คือ วจีสัจ. บทว่า ในธรรม คือ ในธรรมได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐. บทว่า ในการฝึก คือ ในการฝึกอินทรีย์. บทว่า ในความสำรวม คือ ในความสำรวมด้วยศีล.
               ในบทนี้ว่า ความเป็นผู้สะอาด ศีลเป็นที่อยู่ อุโบสถกรรม อธิบายว่า ความเป็นผู้สะอาด ๓ อย่าง มีความเป็นผู้สะอาดทางกายเป็นต้น ศีลอันเป็นที่อยู่ คือศีลอาลัย อุโบสถกรรม คืออุโบสถ.
               บทว่า อหึสาย คือไม่เบียดเบียน. บทว่า สมนฺตมาจริ คือ ประพฤติสิ้นเชิง. บทว่า อนุภิ แปลว่า เสวยแล้ว. บทว่า เวยฺยญฺชนิกา คือ ผู้ทำนายลักษณะ. บทว่า ปราภิภู คือ สามารถข่มผู้อื่น. บทว่า อันศัตรูทั้งหลาย คือ ศัตรูข่มไม่ได้. ในบทว่า ไม่ถึงความเป็นผู้อันใครๆ ข่มได้ พระมหาบุรุษนั้นเป็นอัครบุคคลโดยส่วนเดียวเท่านั้น ย่อมไม่ถึงความเป็นผู้อันใครๆ พึงข่มได้.
               บทว่า อันนี้แหละเป็นธรรมดาของพระมหาบุรุษนั้น ความว่า นี้เป็นธรรมดาคือนี้เป็นสภาวะของพระมหาบุรุษนั้น.

               ปาทตลจกฺกลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า อุพฺเพคอุตฺตาสภยํ คือ ภัยคือความสะดุ้ง และภัยคือความหวาดเสียว. อธิบายว่า ในภัยทั้งสองนั้น ภัยอาศัยการปล้น การจองจำเป็นต้น จากโจร หรือจากพระราชา หรือจากข้าศึก ชื่อว่าเป็นความหวาดสะดุ้ง ภัยทำให้เกิดขนพองเพราะอาศัยสัตว์มีช้างและม้าดุเป็นต้น หรืองูและยักษ์เป็นต้นเพียงชั่วครู่ ชื่อว่าภัยคือความหวาดเสียว ทำให้ภัยทั้งหมดนั้นบรรเทา คือสงบ.
               บทว่า สํวิธาตา แปลว่า จัดแล้ว.
               ถามว่า จัดอย่างไร?
               คือสร้างโรงทานในที่ที่รังเกียจในดงแล้วให้ผู้ที่มาในดงนั้น บริโภคแล้วให้พวกมนุษย์พาไปส่ง เมื่อชนทั้งหลายไม่อาจเข้าไปยังที่นั้นได้ สั่งพวกมนุษย์ให้พาเข้าไป ตั้งอารักขาในที่เหล่านั้นๆ แม้ในตัวเมืองเป็นต้นจัดอย่างนี้.
               บทว่า ได้ให้ทานพร้อมด้วยวัตถุบริวาร ความว่า ได้ให้ทานวัตถุ ๑๐ อย่างมีข้าวและน้ำเป็นต้น.
               ในบททั้งหลายนั้น บทว่า ข้าว ได้แก่ ข้าวยาคู. อธิบายว่า เมื่อให้ข้าวยาคูนั้น ไม่ได้วางไว้ที่ประตูแล้วให้ ได้โปรยข้าวตอกและดอกไม้ไว้ในที่ฉาบทาด้วยของเขียวภายในนิเวศน์ ปูอาสนะผูกเพดานกระทำสักการะด้วยของหอมและธูปเป็นต้น นิมนต์ภิกษุสงฆ์ให้นั่งแล้วถวายข้าวยาคู. อนึ่ง เมื่อถวายข้าวยาคูได้ถวายพร้อมกับกับด้วย. เมื่อเสร็จการดื่มข้าวยาคู ได้ชำระเท้า เอาน้ำมันทา ถวายของเคี้ยวหลายๆ อย่างมากมาย ในที่สุดได้ถวายโภชนะอันประณีตมีสูปะและพยัญชนะหลายอย่าง เมื่อถวายเครื่องดื่ม ได้ถวายเครื่องดื่ม ๘ อย่างมีอัมพปานะเป็นต้น. ครั้นถวายข้าวยาคูแม้นั้นแล้ว เมื่อจะถวายผ้าไม่ได้ถวายผ้าล้วนๆ เท่านั้น แต่ถวายผ้าอันเพียงพอมีชั้นเดียวและสองชั้นเป็นต้น ได้ถวายเข็มบ้าง ด้ายบ้าง กรอด้ายบ้าง ในที่ที่ทำการเย็บบ้าง ได้ถวายอาสนะ ข้าวยาคู น้ำมันทาเท้า น้ำมันทาหลัง เครื่องย้อม ใบไม้ต่างชนิด รางย้อมผ้า โดยที่สุดสีย้อมจีวรบ้าง กัปปิยการกบ้าง.
               บทว่า ยาน คือ รองเท้า. แม้เมื่อถวายรองเท้านั้น ก็ได้ถวายถุงใส่รองเท้า ไม้แขวนรองเท้า น้ำมันทารองเท้า และทานวัตถุมีข้าวเป็นต้น ดังกล่าวแล้วในหนหลัง ทำให้เป็นบริวารของรองเท้านั้นนั่นเอง. แม้เมื่อถวายดอกไม้ก็ไม่ได้ถวายดอกไม้ล้วนๆ เหมือนกัน ได้เคล้าดอกไม้นั้นด้วยของหอม แล้วถวายสิ่งทั้ง ๔ อย่างเหล่านี้ในภายหลัง กระทำให้เป็นบริวารของดอกไม้นั้น. แม้เมื่อถวายของหอมเพื่อบูชาต้นโพธิเจดีย์ อาสนะและคัมภีร์เป็นต้นและเพื่อรมเรือนเจดีย์ ก็ไม่ได้ถวายของหอมล้วนทีเดียว ได้ถวายสิ่ง ๕ อย่างเหล่านี้ในภายหลังพร้อมด้วยเครื่องบด เครื่องฝนและภาชนะสำหรับใช้. แม้เมื่อถวายเครื่องลูบไล้มีหรดาล มโนสิลา ชาดเป็นต้น ก็มิได้ถวายเครื่องลูบไล้ล้วนๆ ทีเดียว ได้ถวายสิ่ง ๖ อย่างเหล่านี้ในภายหลัง พร้อมกับภาชนะใส่เครื่องลูบไล้ให้เป็นบริวารของเครื่องลูบไล้นั้น.
               บทว่า ที่นอน คือ เตียงและตั่ง. แม้เมื่อถวายเตียงและตั่งนั้น ก็ไม่ได้ถวายเตียงและตั่งล้วนทีเดียว ได้ถวายแม้ที่สุดกระดานและไม้ชำระ พร้อมด้วยผ้าโกเชาว์ ผ้ากัมพล เครื่องลาดและขาเตียง กระทำสิ่ง ๗ อย่างในภายหลัง ให้เป็นบริวารของเตียงและตั่งนั้น. แม้เมื่อให้ที่อยู่ก็ไม่ได้ให้เพียงเรือนเท่านั้น ได้กระทำเตียงและตั่งที่ตกแต่งเป็นอย่างดี ประดับด้วยมาลากรรมและลดากรรม แล้วถวายสิ่ง ๘ อย่างเหล่านี้ในภายหลัง กระทำให้เป็นบริวารของที่อยู่นั้น.
               บทว่า ประทีป คือ น้ำมันประทีป. อธิบายว่า เมื่อถวายน้ำมันประทีป ไม่ได้ถวายน้ำมันล้วนเท่านั้นด้วยคำว่า ท่านทั้งหลายจงยังประทีปให้สว่างด้วยน้ำมันนี้ ณ เนินเจดีย์ เนินโพธิ์ โรงฟังธรรม เรือนอาศัย ที่บอกคัมภีร์ ได้ถวายสิ่ง ๙ อย่างเหล่านี้ในภายหลัง พร้อมด้วยไส้ตะเกียง หม้อดินเล็กๆ และภาชนะใส่น้ำมันเป็นต้นทำให้เป็นบริวารของน้ำมันประทีปนั้นเอง.
               บทว่า สุวิภตฺตนฺตรานิ ตัดบทเป็น สุวิภตฺต อนฺตรานิ. บทว่า ราชาโน คือ กษัตริย์ผู้อภิเษกแล้ว. บทว่า โภคิกา คือ นายบ้าน. บทว่า กุมารา คือ ราชกุมาร.
               การให้พร้อมด้วยบริวารชื่อว่า กรรมในที่นี้. จักรลักษณะอันเกิดขึ้นโดยนัยว่า โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ ด้วยเหตุนี้ว่า พระมหาบุรุษได้ถวายทานกระทำให้มีของบริวารดังนี้ ชื่อว่าคล้ายกรรม. จักรลักษณะนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีบริวารมาก ชื่อว่าอานิสงส์.
               บทว่า พระโบราณกเถระกล่าวคาถาประพันธ์ในพระลักษณะนั้น ท่านกล่าวคาถานี้แสดงถึงอรรถนั้น.
               จริงอยู่ คาถามี ๒ อย่าง คือ แสดงอรรถนั้น ๑ แสดงอรรถพิเศษ ๑.
               ในสองอย่างนั้นคาถาที่ท่านแสดงอรรถอันมาในบาลีนั่นแล ชื่อว่าแสดงอรรถนั้น. คาถาที่ท่านแสดงอรรถอันไม่ได้มาในบาลี ชื่อว่าแสดงอรรถพิเศษ แต่คาถานี้แสดงอรรถนั้น.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปุเร แปลว่า ในชาติก่อน. บทว่า ปุรตฺถ เป็นไวพจน์ของบทนั้นนั่นเอง. บทว่า ปุริมาสุ ชาตีสุ คือ เป็นการแสดงมุ่งไว้ถึงกรรมที่ตนทำแล้วในชาติก่อนแต่ชาตินี้. บทว่า อุพฺเพคอุตฺตาส ภยาปนูทโน แปลว่า ปลดเปลื้องภัยคือความหวาดเสียว และภัยคือความสะดุ้ง. บทว่า อุสฺสุโก แปลว่า น้อมไปแล้ว.
               บทว่า พระกุมารมีลักษณะประกอบด้วยบุญเป็นร้อย ความว่า ลักษณะหนึ่งๆ เกิดขึ้นด้วยบุญกรรมเป็นร้อยๆ เมื่อเป็นอย่างนี้ ชนทั้งหลายย่อมไม่พอใจว่า ใครๆ พึงเป็นพระพุทธเจ้าได้ แต่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาลอันหาที่สุดมิได้ พึงกระทำกรรมอย่างหนึ่งๆ ถึง ๗ ครั้ง พระโพธิสัตว์พระองค์เดียวเท่านั้นอุบัติ เพราะกระทำกรรมที่ชนทั้งหลายประมาณเท่านี้ กระทำแล้วครั้งหนึ่งๆ คูณด้วยร้อย เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายพอใจความนี้ว่า พระโพธิสัตว์มีลักษณะประกอบด้วยบุญเป็นร้อย.
               บทว่า มนุสฺสาสุรสกฺกรกฺขสา ได้แก่ มนุษย์ ๑ อสูร ๑ ท้าวสักกะ ๑ รากษส ๑.

               อายตปณฺหิตาทิติลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า อนฺตรา คือ ในระหว่างจุติสืบต่อจากปฏิสนธิ.
               การเว้นจากปาณาติบาต ชื่อว่า กรรมในที่นี้ ชนทั้งหลายเมื่อจะทำปาณาติบาต เหยียบด้วยปลายเท้า เพราะกลัวจะได้ยินเสียงเท้า ไปฆ่าผู้อื่น ชื่อว่าคล้ายกรรม. ต่อแต่นั้น ชนเหล่านั้นคิดว่า ชนจงรู้กรรมนั้นของคนเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ เป็นผู้มีเท้าโก่งภายใน โก่งภายนอก มีเท้ากระโหย่ง ปลายเท้าด้วน ส้นเท้าด้วน ก็โลกกับทั้งเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตเสด็จไปด้วยปลายเท้าไม่ถูกผู้อื่นฆ่า เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะคือมีส้นยาว ย่อมเกิดขึ้น. ชนทั้งหลายมีกายสูง จะไปฆ่าผู้อื่น เกรงว่าคนอื่นจักเห็น จึงก้มลงไปฆ่าผู้อื่น.
               อนึ่ง ชนเหล่านั้นคิดว่า ชนเหล่านี้ไปฆ่าผู้อื่นอย่างนี้แล้ว คนอื่นจงรู้กรรมนั้นของชนเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำเป็นคนค่อม เป็นคนแคระหรือเป็นคนพิการ โลกพร้อมด้วยเทวโลก จงรู้ความที่พระตถาคตเสด็จไปอย่างนั้น ไม่ถูกผู้อื่นฆ่าด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะ คือมีพระวรกายตรงเหมือนกายพรหม ย่อมเกิดขึ้น.
               อนึ่ง ชนทั้งหลายมีมือถืออาวุธหรือไม้ค้อนแล้วกำหมัดฆ่าผู้อื่น ชนเหล่านั้นคิดว่า ชนจงรู้ความที่ชนเหล่านั้นถูกคนอื่นฆ่าด้วยเหตุนี้ เป็นผู้มีนิ้วสั้น มีมือสั้น มีนิ้วงอหรือมือแป โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตเป็นผู้ไม่ถูกคนอื่นฆ่าอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะคือมีพระองคุลียาวย่อมเกิดขึ้น นี้คือคล้ายกรรมในบทนี้ ก็ลักษณะ ๓ อย่างนี้แหละชื่อว่าลักษณะ. ความเป็นผู้มีอายุยืนเป็นอานิสงส์แห่งลักษณะ.
               ในบทนี้ว่า ฆ่า เป็นเหตุให้สัตว์ตาย เป็นภัยแก่ตน. อธิบายว่า การฆ่ากล่าวคือมรณะ เป็นภัยจากการฆ่าให้ตาย คือฆ่าเป็นเหตุให้สัตว์ตาย เป็นภัย รู้ภัยนั้นของตนแล้วเว้นเสีย.
               บทว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ ความว่า บุคคลรู้ว่า ภัยแต่ความตายของเรา ชีวิตเป็นที่รักของเรา ฉันใด แม้ของผู้อื่นก็ฉันนั้น ได้เป็นผู้เว้นขาดเบื้องหน้าแต่ความตาย.
               บทว่า สุจริเตน แปลว่า ประพฤติดีแล้ว. บทว่า สคฺคมคมาสิ แปลว่า ไปสู่สวรรค์. บทว่า จวิย ปุนริธาคโต คือเคลื่อนไปแล้วกลับมาในโลกนี้อีก.
               บทว่า ทีฆปาสุณิโก แปลว่า มีส้นพระบาทยาว. บทว่า พฺรหฺมาว สุชฺชุ แปลว่า มีพระวรกาย ตรงดีเหมือนพรหม. บทว่า สุภุโช คือพระพาหางาม. บทว่า สุสุ คือแม้ในเวลาแก่ ก็ยังดูหนุ่ม. บทว่า สุสณฺฐิโต ถึงพร้อมด้วยทรวดทรงงาม. บทว่า มุทุตลุนงฺคุลิยสฺส คือ มีพระองคุลีอ่อนและนุ่ม. บทว่า ปุริสวรคฺคลกฺขเณหิ แปลว่า ด้วยลักษณะอันเลิศ ของบุรุษผู้ประเสริฐ.
               บทว่า จิรยาปนาย ได้แก่ เพื่อให้เป็นไปอยู่นาน คือเพื่อความเป็นผู้มีอายุยืน. บทว่า จิรํ ยเปติ แปลว่า ให้เป็นไปอยู่นาน. บทว่า จิรตรํ ปพฺพชติ ยทิ ตโต หิ ความว่า ผิว่า ให้เป็นไปอยู่นานกว่านั้น ย่อมบวชแน่. บทว่า ยาปยติ วสิทฺธิภาวนาย ความว่า เป็นผู้ถึงความชำนาญ ย่อมให้เป็นอยู่ด้วยอิทธิภาวนา.

               สตฺตุสฺสทตาลลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า รสิตานํ คือ สมบูรณ์ด้วยรส. ในบทว่า ขาทนียานํ เป็นต้น ได้แก่ของเคี้ยวมีแป้งเป็นต้น ชื่อว่าของควรเคี้ยว. บทว่า โภชนียานิ ได้แก่ โภชนะ ๕. บทว่า สายนียานิ ได้แก่ เนยใส เนยข้นเป็นต้นที่ควรลิ้ม. บทว่า เลหนียานิ ได้แก่ข้าวปายาสทำด้วยแป้งเป็นต้นที่ควรเลีย. บทว่า ปานานิ ได้แก่ ปานะ ๘.
               การให้โภชนะอันประณีตนี้ พระตถาคตได้ให้แล้วตลอด ๔ อสงไขย ยิ่งด้วยแสนกัปป์ ชื่อว่า กรรมในที่นี้. เมื่อโภชนะเศร้าหมอง ตกถึงท้องโลหิตซูบซีด เนื้อเหี่ยวแห้ง ชื่อว่า คล้ายกรรม. เพราะฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้ให้ของเศร้าหมองคิดว่า ชนจงรู้ความที่ของเศร้าหมองอันสัตว์เหล่านั้นให้แล้วด้วยเหตุนี้ เป็นผู้มีเนื้อน้อย มีโลหิตน้อย มีข้าวและน้ำหาได้ยากดุจมนุษย์เปรต. แต่เมื่อโภชนะประณีตตกถึงท้อง เนื้อและเลือดย่อมเจริญ สัตว์ทั้งหลายมีกายสมบูรณ์ น่าเลื่อมใส น่ารัก น่าเอ็นดู เพราะฉะนั้น โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตเป็นผู้ให้โภชนะอันประณีตตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะคือมีมังสะอูมในที่ ๗ แห่งย่อมเกิดขึ้น พระลักษณะอูมในที่ ๗ แห่งนั้นแหละชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้ได้ของประณีต ชื่อว่า อานิสงส์.
               บทว่า ชชฺชโภชนํ อถ เลหสายิตํ ได้แก่ ของเคี้ยวของบริโภคของเลียและของลิ้ม. บทว่า อุตฺตมคฺครสทายโก แปลว่า ผู้ให้รสเลิศเป็นผู้สูงสุดหรือผู้ให้รสเลิศอันสูงสุด. บทว่า สตฺต จุสฺสเท คือ พระลักษณะอูมในที่ ๗ แห่ง. บทว่า ตทตฺถโชตกํ คือ แสดงอาหารมีของเคี้ยวของบริโภคเป็นต้น. อธิบายว่า ยังลาภให้เป็นไปแก่ปริพาชกเหล่านั้น. บทว่า ปพฺพชฺชํปิ จ แปลว่า แม้บวชอยู่. บทว่า ตทาธิคจฺฉติ ตัดบทเป็น ตํ อธิคจฺฉติ. บทว่า ลาภีรุตฺตมํ ตัดบทเป็น ลาภี อุตฺตมํ.

               กรจรณมุทุชาลตาลกฺขณวณฺณนา               
               ในบทว่า ทาเนน เป็นต้น ความว่า บุคคลบางพวกเป็นผู้ควรสงเคราะห์ด้วยการให้อย่างเดียว ก็สงเคราะห์บุคคลนั้นด้วยการให้ ได้ให้เครื่องบริขารนักบวชแก่นักบวช ให้ของใช้คฤหัสถ์แก่พวกคฤหัสถ์.
               บทว่า ด้วยกล่าวคำเป็นที่รัก ความว่า ก็บุคคลบางพวกเป็นผู้พูดว่า ผู้นี้ย่อมให้ทานที่ควรให้แต่ลบหลู่ทานทั้งหมดด้วยคำเดียว แล้วทำให้ฉิบหาย การให้ของผู้นั้นจะมีประโยชน์อะไร. บางพวกเป็นผู้พูดว่า ผู้นี้ไม่ให้ทานก็จริง ถึงดังนั้น เมื่อจะพูดย่อมลบหลู่ดุจด้วยน้ำมัน ผู้นี้จงให้ก็ตาม อย่าให้ก็ตาม คำพูดของเขาย่อมถึงค่าพันหนึ่ง. บุคคลเห็นปานนี้ ไม่หวังทาน หวังคำพูดน่ารักอย่างเดียว สงเคราะห์เขาด้วยคำพูดน่ารัก.
               บทว่า ด้วยประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ ด้วยถ้อยคำอันเจริญด้วยประโยชน์ เพราะบุคคลบางพวกไม่หวังทาน ไม่หวังคำพูดน่ารัก ย่อมหวังถ้อยคำเป็นประโยชน์ ให้เกิดความเจริญแก่ตนเท่านั้น สงเคราะห์บุคคลเห็นปานนี้ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างนี้ว่า ท่านควรทำสิ่งนี้ ท่านไม่ควรทำสิ่งนี้ ควรคบบุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรคบบุคคลเห็นปานนี้.
               บทว่า สมานตฺตตาย คือ ด้วยความเป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกัน.
               จริงอยู่ บุคคลบางพวกไม่หวังแม้แต่อย่างเดียวในทานเป็นต้น หวังความเป็นผู้มีสุขและทุกข์เสมอกันอย่างนี้ว่า นั่งที่นั่งเดียวกัน นอนแท่นเดียวกัน บริโภคร่วมกัน.
               ในบุคคลเหล่านั้น บุคคลเลวโดยชาติยิ่งด้วยโภคะ เป็นผู้สงเคราะห์ยาก เพราะไม่อาจทำการบริโภคร่วมกับบุคคลนั้นได้ เมื่อไม่ทำอย่างนั้น เขาก็โกรธ.
               ผู้ที่เลวโดยโภคะแม้ยิ่งด้วยชาติ ก็เป็นผู้สงเคราะห์ยาก เพราะเขาไม่ปรารถนาบริโภคร่วมกับผู้ที่สมบูรณ์ด้วยโภคะ ด้วยถือว่าเราเป็นคนมีชาติ เมื่อเขาทำย่อมโกรธ.
               แต่ผู้ที่เลวแม้โดยทั้งสองอย่างเป็นผู้สงเคราะห์ง่าย เพราะเขาไม่ปรารถนาบริโภคร่วมกับคนนอกนี้ เมื่อไม่กระทำ ก็ไม่โกรธ แม้คนเช่นกับด้วยบุคคลทั้งสองก็เป็นผู้สงเคราะห์ง่าย.
               บรรดาภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทุศีลเป็นผู้สงเคราะห์ยาก เพราะไม่อาจทำการบริโภคร่วมกับเขาได้ เมื่อไม่ทำอย่างนั้น ย่อมโกรธ. ภิกษุมีศีลเป็นผู้สงเคราะห์ง่าย เพราะผู้มีศีล เมื่อเขาทำบ้าง เมื่อเขาไม่ทำบ้าง ก็ไม่โกรธ ย่อมไม่เห็นคนอื่นแม้ทำการบริโภคร่วมกับตนด้วยจิตลามก แม้การบริโภคร่วมกับผู้มีศีลก็ทำได้ง่าย เพราะฉะนั้น สงเคราะห์บุคคลเห็นปานนี้ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สุสํคหิตสฺส โหนฺติ แปลว่า เป็นผู้อันเขาสงเคราะห์ได้ง่าย. อธิบายว่า ชนนั้นจงให้ก็ดี อย่าให้ก็ดี จงกระทำก็ดี อย่ากระทำก็ดี ชนทั้งหลายเป็นอันสงเคราะห์อย่างดีแล้ว ย่อมไม่ทำลายกัน ย่อมให้ในกาลที่ควรให้แก่เขา ชนทั้งหลายย่อมคิดอย่างนี้ว่า บัดนี้ เขาเห็นจะไม่มี จึงไม่ให้ ด้วยเหตุนั้น เรื่องอะไรเราจะบำรุงผู้ให้อย่างเดียว เราจะไม่บำรุงผู้ไม่ให้ผู้ไม่กระทำดังนี้.
               กรรมคือการสงเคราะห์มีทานเป็นต้น ที่เขาทำตลอดกาลนาน ชื่อว่า กรรมในที่นี้. ชนใดเป็นผู้ไม่สงเคราะห์อย่างนี้ ชนนั้นจงรู้ความที่เขาไม่สงเคราะห์ด้วยเหตุนี้ ดังนั้นในเรื่องนี้ เขาจึงเป็นผู้มีมือและเท้ากระด้างและเป็นผู้มีลักษณะของคนที่ตั้งอยู่ไม่เรียบ ชื่อว่า คล้ายกรรม. ก็โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตทรงเป็นผู้สงเคราะห์ตลอดกาลนาน ด้วยเหตุนี้ ดังนั้น ลักษณะ ๒ อย่างนี้ย่อมเกิดขึ้น. ทั้งสองลักษณะนี้แหละ ชื่อว่า ลักษณะ. ความเป็นผู้มีบริวารอันสงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี ชื่อว่า อานิสงส์.
               บทว่า กริย แปลว่า ทำแล้ว. บทว่า จริย แปลว่า ประพฤติแล้ว.
               บทว่า อนวมเตน แปลว่า ด้วยไม่ดูหมิ่น. อธิบายว่า ไม่ใช่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ใช่ด้วยทานอันตนให้แล้ว ไม่ได้ด้วยความเย้ยหยัน.
               บทว่า จวิย แปลว่า เคลื่อนแล้ว. บทว่า มีส่วนสวยน่าชมยิ่งนัก ความว่า งามยิ่งนัก น่าเลื่อมใส มีส่วนดีคือฉลาดด้วยดีและน่าชม คือประกอบด้วยสิ่งพึงชม. บทว่า สุสุกุมาโร แปลว่า กุมารดี. บทว่า พึงเป็นบริวารชนของพระองค์ ความว่า พระองค์มีบริวารชนผู้ทำตามด้วยถ้อยคำของพระองค์. บทว่า พึงตรวจตรา คือ ควรตรวจตราตามความพอใจในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ.
               บทว่า มหิมํ ตัดบทเป็น มหึ อิมํ. บทว่า ปิยวทู หิตสุขตํ ชิคึสมาโน คือ เป็นผู้พูดน่ารักมุ่งประโยชน์และสุข. บทว่า วจนปฏิกรสฺสาภิปฺปสนฺนา ตัดบทเป็น วจนปฏิกรา อสฺส อภิปฺปสนฺนา. บทว่า ธมฺมานุธมฺมํ คือ ธรรมและสมควรแก่ธรรม.

               อุสฺสงฺขปาทอุทฺธคฺคโลมตาลกฺขณวณฺณนา               
               บทว่า อตฺถูปสญฺหิตํ ได้แก่ อาศัยประโยชน์โลกนี้และโลกหน้า บทว่า ประกอบด้วยธรรม คือ อาศัยกุศลกรรมบถ ๑๐. บทว่า แนะนำชนเป็นอันมาก คือ กล่าวถ้อยคำชี้แจงแก่ชนเป็นอันมาก. บทว่า ปาณีนํ ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย. บทว่า ทั้งปวงมีอาทิว่า เป็นผู้เลิศ เป็นไวพจน์ของกันและกัน.
               วาจาเป็นวาจาภาษิต เป็นวาจายกให้เด่น เป็นวาจาประกอบด้วยประโยชน์ตลอดกาลนาน ชื่อว่ากรรมในที่นี้. ชนใดไม่กล่าววาจายกให้เด่นเห็นปานนี้ ชนนั้นจงรู้ถึงผู้ไม่กล่าวด้วยวาจายกให้เด่นด้วยเหตุนี้ ดังนั้น จึงเป็นผู้มีเท้าดุจสังข์ในเบื้องต่ำ และมีขนลงเบื้องต่ำ ชื่อว่าคล้ายกรรม. โลกพร้อมด้วยเทวโลกจงรู้ความที่พระตถาคตทรงกล่าววาจายกให้เด่นเห็นปานนี้ตลอดกาลนานด้วยเหตุนี้ ดังนั้น พระลักษณะคือมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ และพระลักษณะคือมีพระโลมามีปลายช้อยขึ้นข้างบนย่อมเกิดขึ้น. ลักษณะทั้งสองนี้แหละ ชื่อลักษณะ. ความเป็นผู้สูงสุด ชื่อว่าอานิสงส์.
               คำว่า เอริยํ ได้แก่ กล่าวอยู่. คำว่า พหุชนํ นิทํสยิ ได้แก่ แสดงประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก. คำว่า ธมฺมยาคํ ได้แก่ ยัญคือธรรมทาน. คำว่า อุพฺภมุมฺปติตโลมวา สโส ความว่า มีพระโลมาตั้งขึ้น. คำว่า ปาทคณฺฐิรหุ ได้แก่ ข้อพระบาททั้งสอง. คำว่า สาธุ สณฺฐิตา ได้แก่ ตั้งไว้อย่างดี. คำว่า มงฺสโลหิตาจิตา ความว่า มีพระมังสะและพระโลหิตปกปิดไว้. บทว่า ห่อหุ้มด้วยหนัง ได้แก่ ห่อหุ้มคือซ่อนไว้ด้วยหนัง. บทว่า วชฺชติ แปลว่า ไป. บทว่า อโนมนิกฺกโม ได้แก่ คือเป็นอยู่ประเสริฐ เป็นอยู่ไม่เลว.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ลักขณสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 94อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 130อ่านอรรถกถา 11 / 172อ่านอรรถกถา 11 / 364
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=3182&Z=3922
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=2689
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=2689
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :