ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 207อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 11 / 364อ่านอรรถกถา 11 / 364
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สังคีติสูตร

หน้าต่างที่ ๔ / ๘.

               ว่าด้วยธรรมหมวด ๔               
               พระเถระครั้นแสดงสามัคคีรสด้วยอำนาจหมวด ๓ ด้วยประการดังนี้แล้ว บัดนี้ หวังจะแสดงด้วยอำนาจหมวด ๔ จึงเริ่มเทศนาอีก.
               บรรดาหมวด ๔ เหล่านั้น หมวด ๔ ว่าด้วยสติปัฏฐาน ท่านให้พิสดารแล้วในเบื้องต้นนั่นเอง.
               พึงทราบอธิบายในหมวด ๔ ว่าด้วยสัมมัปปธาน.๑-
               ข้อว่า ฉนฺทํ ชเนติ ความว่า ให้เกิดกัตตุกัมยตาฉันทะ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ความพอใจ ความเป็นผู้มีความพอใจ ความเป็นผู้ใคร่จะทำอันใดนั้นจัดเป็นกุศล คือความเป็นผู้มีความพอใจในธรรม.
               ข้อว่า วายมติ ความว่า ทำความพยายาม.
               ข้อว่า วิริยํ อารภติ ความว่า ทำความเพียรให้เกิดขึ้น.
               ข้อว่า จิตฺตํ ปคฺคณฺหติ ความว่า ค้ำชูจิตไว้.
               นี้เป็นความย่อในที่นี้. ส่วนความพิสดารมาแล้วในสัมมัปปธานวิภังค์นั่นเอง.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๔๖๕

               ในอิทธิบาททั้งหลาย พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้.
               สมาธิที่อาศัยฉันทะเป็นไป ชื่อว่าฉันทสมาธิ. สังขารทั้งหลายที่เป็นประธาน ชื่อว่าปธานสังขาร.
               ข้อว่า สมนฺนาคตํ ความว่า เข้าถึงแล้วด้วยธรรมเหล่านี้. บาทแห่งฤทธิ์ หรือทางอันเป็นเครื่องถึงซึ่งเป็นความสำเร็จ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อิทธิบาท.
               แม้ในอิทธิบาทข้อที่เหลือ ก็นัยนั้นเหมือนกัน.
               นี้เป็นความย่อในที่นี้. ส่วนความพิสดารมาแล้วในอิทธิบาทวิภังค์นั่นแล.
               ส่วนเนื้อความของอิทธิบาทนั้น ท่านแสดงไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. กถาว่าด้วยฌาน ท่านให้พิสดารไว้แล้วในวิสุทธิมรรคเหมือนกัน.
               ข้อว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาราย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การอยู่สบายในอัตตภาพนี้นั่นเทียว. ผลสมาบัติและฌาน และฌานที่พระขีณาสพให้เกิดขึ้นแล้ว ในเวลาต่อมา ท่านกล่าวไว้ในที่นี้. ข้อว่า อาโลกสญฺญํ มนสิกโรติ ความว่า ทำไว้ในใจถึงแสงสว่าง มีแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และแก้วมณีเป็นต้น ทั้งกลางวันหรือกลางคืนว่า อาโลโก ดังนี้. ข้อว่า ทิวาสญฺญํ อธิฏฺฐาติ ความว่า ครั้นมนสิการอย่างนี้แล้ว ก็ตั้งสัญญาไว้ว่า กลางวัน ดังนี้.
               ข้อว่า ยถา ทิวา ตถา รตฺตึ ความว่า เห็นแสงสว่างในกลางวันฉันใด ในกลางคืนก็มนสิการไปเหมือนฉันนั้น. ข้อว่า ยถา รตฺตึ ตถา ทิวา ความว่า เห็นแสงสว่างในกลางคืนฉันใด ในกลางวันก็มนสิการไปฉันนั้นเหมือนกัน.
               ข้อว่า อิติ วิวเฏน เจตสา ความว่า มีจิตที่เปิดแล้วอย่างนี้.
               ข้อว่า อปริโยนทฺเธน ความว่า ไม่ถูกผูกมัดไว้โดยรอบ.
               ข้อว่า สปฺปภาสํ ความว่า เป็นไปกับแสงสว่าง.
               ข้อว่า ญาณทสฺสนปฏิลาภาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การได้ญาณทัสสนะ.
               ท่านกล่าวอะไรไว้ด้วยคำนี้. ท่านกล่าวถึงแสงสว่างที่เป็นเครื่องบรรเทาถีนมิทธะ หรือแสงสว่างในการบริกรรม. แม้ด้วยคำนี้เป็นอันท่านกล่าวถึงอะไร. เป็นอันท่านกล่าวถึงทิพยจักษุญาณของพระขีณาสพ.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อทิพยจักษุญาณนั้นมาแล้วก็ตาม ยังไม่มาก็ตาม ท่านหมายถึงสมาบัติที่มีฌานเป็นบาทนั่นแหละ จึงกล่าวคำว่า ยังจิตที่มีแสงสว่างให้เกิดมีขึ้น.
               ข้อว่า สติสมฺปชญฺญาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่สติสัมปชัญญะอันมีสัตว์เป็นที่ตั้ง.
               ในข้อว่า วิทิตา เวทนา อุปฺปชฺชนฺติ เป็นต้นความว่า วัตถุเป็นอันพระขีณาสพรู้แล้ว อารมณ์ก็เป็นอันรู้แล้ว เวทนาทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ย่อมตั้งอยู่อย่างนี้ ย่อมดับไปอย่างนี้ เพราะรู้ทั้งวัตถุและอารมณ์. ไม่เฉพาะเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ แม้สัญญาเป็นต้นก็เป็นอันรู้ชัดแล้ว ย่อมเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ และย่อมดับไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาก็เป็นอันท่านรู้แล้ว ความตั้งอยู่ก็เป็นอันท่านรู้แล้ว. ภิกษุแม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความเกิดขึ้นว่า เพราะอวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด เพราะตัณหาเกิด เพราะกรรมเกิด เพราะผัสสะเกิด จึงเกิดเวทนา ชื่อว่าย่อมเห็นความเกิดของเวทนาขันธ์. ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมเป็นอันท่านทราบแล้วอย่างนี้.
               ท่านทราบถึงความตั้งอยู่แห่งเวทนาอย่างไร.
               เมื่อท่านมนสิการอยู่โดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็ย่อมเป็นอันทราบถึงความตั้งอยู่โดยความเป็นของสิ้นไป. เมื่อมนสิการอยู่โดยความเป็นทุกข์ ย่อมเป็นอันทราบถึงความตั้งอยู่โดยความเป็นของน่ากลัว. เมื่อมนสิการอยู่ โดยความเป็นอนัตตา ก็ย่อมทราบถึงความตั้งอยู่โดยความเป็นของว่างเปล่า. ความตั้งอยู่แห่งเวทนาเป็นอันท่านทราบแล้วอย่างนี้. ท่านย่อมรู้โดยความเป็นของสิ้นไป โดยความเป็นของน่ากลัว โดยความเป็นของว่างเปล่า. ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนา เป็นอันท่านทราบแล้วอย่างไร. ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนา ย่อมมีได้อย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาดับ เวทนาจึงดับ ฯลฯ ดังนี้. ในข้อนี้บัณฑิตพึงทราบเนื้อความตามนัยแม้นี้.
               คำว่า รูปํ เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า อยํ อาวุโส สมาธิภาวนา ความว่า สมาธิภาวนาซึ่งฌานเป็นบาทนี้ ย่อมมีแก่ญาณเป็นเครื่องรู้ถึงความสิ้นอาสวะ.
               ข้อว่า อปฺปมญฺญา ความว่า อัปปมัญญา ด้วยอำนาจการไม่ถือเอาประมาณแผ่ไปหมดทั้งสิ้น.
               ทัสสนภาวนาและวิธีแห่งสมาธิ ซึ่งมีการพรรณนาไปตามลำดับบทแห่งอัปปมัญญาเหล่านั้น ท่านให้พิสดารไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล. แม้กถาว่าด้วย อรูป (ฌาน) ท่านก็ให้พิสดารไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแหละ.
               ข้อว่า อปสฺเสนานิ ความว่า ที่สำหรับอิง.
               ข้อว่า สงฺขาย ความว่า ด้วยญาณ
               ข้อว่า ปฏิเสวติ ความว่า ภิกษุรู้ด้วยญาณแล้ว ย่อมเสพเฉพาะของที่ควรเสพได้เท่านั้น. ก็ความพิสดารแห่งการเสพนั้น พึงทราบโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงเสพจีวร.๒-
               ข้อว่า สงฺขาเยกํ อธิวาเสติ ความว่า ภิกษุรู้ด้วยญาณแล้ว ย่อมอดกลั้นอารมณ์ที่ควรจะอดกลั้นได้นั่นแล. ก็ในข้อนี้ พึงทราบความพิสดารโดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อความหนาวได้.๓-
               ข้อว่า ปริวชฺเชติ ความว่า ภิกษุรู้ด้วยญาณแล้ว ย่อมเว้นสิ่งที่ควร เพื่อละเว้นนั่นแล. ความพิสดารแห่งการเว้นนั้น พึงทราบโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงช้างดุเสีย.๓-
               ข้อว่า วิโนเทติ ความว่า ภิกษุรู้ด้วยญาณแล้ว ย่อมบรรเทาสิ่งควรบรรเทานั่นแล คือไล่ออก นำออกไม่ให้อยู่ในภายใน. ความพิสดารแห่งการบรรเทานั้น พึงทราบโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุอดกลั้นกามวิตกที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนี้.๔-
____________________________
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๔   ๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๕
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗

               อริยวํสจตุกฺกวณฺณนา               
               ข้อว่า อริยวํสา ความว่า วงศ์ของพระอริยะ.
               เหมือนอย่างว่า วงศ์กษัตริย์ วงศ์พราหมณ์ วงศ์แพทย์ วงศ์ศูทร วงศ์สมณะ วงศ์พระราชาฉันใด วงศ์พระอริยะแบบแผนพระอริยะที่ ๘ แม้นี้ก็ชื่อว่าประเพณีของพระอริยะฉันนั้น.
               ก็อริยวงศ์นี้นั้นแล ท่านกล่าวว่าเป็นเลิศกว่าวงศ์เหล่านี้ ดุจกลิ่นมีกลิ่นกะลัมพักเป็นต้น เป็นยอดกว่ากลิ่นที่เกิดจากรากเป็นต้นฉะนั้น.
               ก็วงศ์เหล่านี้มีอยู่แก่พระอริยะเหล่าใด พระอริยะเหล่านั้นได้แก่คนจำพวกไหน.
               ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้า ที่ท่านเรียกว่า พระอริยะ. วงศ์ของพระอริยเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อริยวงศ์.
               จริงอยู่ ในกาลก่อนแต่นี้ มีพระพุทธเจ้า ๔ องค์ คือ พระพุทธเจ้าตัณหังกร พระพุทธเจ้าเมธังกร พระพุทธเจ้าสรณังกร พระพุทธเจ้าทีปังกร ทรงอุบัติขึ้นแล้วในที่สุด สี่อสงไขยกับแสนกัปป์ พระพุทธเจ้าเหล่านั้นชื่อว่าพระอริยวงศ์ของพระอริยะเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า อริยวงศ์.
               ในกาลต่อมาแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเหล่าล่วงไปหนึ่งอสงไขย พระพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ฯลฯ ในกัปป์นี้ มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ๔ องค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราพระนามว่าโคดม วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อริยวงศ์.
               อีกอย่างหนึ่ง วงศ์ของพระอริยะ คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทั้งในอดีต อนาคตและปัจจุบัน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อริยวงศ์.
               ก็อริยวงศ์เหล่านี้นั้นแล พึงทราบว่าเป็นวงศ์ขั้นยอด เพราะรู้กันว่าเป็นวงศ์อันล้ำเลิศ พึงทราบว่าเป็นไปตลอดกาลนาน เพราะรู้จักกันมานาน พึงทราบว่าเป็นวงศ์ เพราะรู้ว่าเป็นวงศ์.
               ข้อว่า เป็นวงศ์เก่า ความว่า มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้.
               ข้อว่า ไม่กระจัดกระจาย ความว่า ไม่เกลื่อนกล่น คือไม่ถูกนำออกไป.
               ข้อว่า อสงฺกิณฺณปุพฺพา ความว่า เป็นวงศ์ไม่เคยถูกนำออกไป เพราะอรรถว่าเป็นวงศ์ไม่เคยเกลื่อนกล่นแม้กับอดีตพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเกลื่อนกล่นกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ได้อย่างไร.
               ข้อว่า น สํกิยนฺติ ความว่า ถึงในบัดนี้ ก็มิได้ถูกนำออกไป.
               ข้อว่า น สํกิยิสฺสนฺติ ความว่า แม้อันพระพุทธเจ้าในอนาคตทั้งหลายก็จักไม่นำออกไป. สมณะและพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูเหล่าใดในโลก ก็ไม่ถูกสมณะและพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูชนเหล่านั้น สาปแช่ง นินทา ติเตียน.
               ข้อว่า สนฺตุฏฺโฐ โหติ ความว่า เป็นผู้สันโดษด้วยอำนาจความสันโดษในปัจจัย.
               ข้อว่า อิตรีตเรน จีวเรน ความว่า (เป็นผู้สันโดษ) ด้วยบรรดาจีวรที่เนื้อหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต มั่นคง เก่าชนิดใดชนิดหนึ่งหามิได้ โดยที่แท้ เป็นผู้สันโดษด้วยบรรดาจีวรตามที่ได้เป็นต้น ชนิดใดชนิดหนึ่งตามแต่จะได้.
               ก็ในจีวรมีสันโดษ ๓ คือ สันโดษตามได้ สันโดษตามกำลัง สันโดษตามสมควร. แม้ในบิณฑบาตเป็นต้น ก็นัยนั้นเหมือนกัน. กถาโดยพิสดารแห่งสันโดษเหล่านั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตรนั้นแล.
               คำว่า เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามที่ได้เป็นต้นชนิดใดชนิดหนึ่ง ท่านกล่าวหมายเอาสันโดษ ๓ เหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ในข้อนี้พึงทราบจีวร พึงทราบเขตแห่งจีวร พึงทราบบังสุกูลจีวร พึงทราบความสันโดษในจีวร พึงทราบธุดงค์ที่เกี่ยวเนื่องกับจีวร.
               ข้อว่า จีวรํ ชานิตพฺพํ ความว่า พึงทราบ จีวร ๖ ชนิดมีผ้าเปลือกไม้เป็นต้น อนุโลมจีวร ๖ ชนิดมีผ้าทุกูลเป็นต้น จีวร ๑๒ ชนิดเหล่านี้ ชื่อว่ากัปปิยจีวร.
               ส่วนจีวรมีอาทิอย่างนี้ว่า ผ้าคากรอง ผ้าเปลือกปอ ผ้าทอเป็นแผ่น ผ้ากัมพลทอด้วยผมมนุษย์ ผ้ากัมพลทอด้วยขนหางสัตว์ หนังเสือ หนังสัตว์ ปีกนกเค้า ผ้าที่พันด้วยต้นไม้ ผ้าที่ใช้เถาวัลย์ถัก ผ้าที่ทำด้วยตระไคร้น้ำ ผ้าที่ถักด้วยปอกล้วย ผ้าที่สานด้วยดอกไม้ไผ่ ชื่อว่าอกัปปิยจีวร (จีวรที่ไม่สมควรจะใช้).
               ข้อว่า จีวรกฺเขตฺตํ ความว่า ชื่อว่า เขตมี ๖ อย่าง เพราะเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า จากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร จากทรัพย์ของตน หรือเป็นผ้าบังสุกูล. ส่วนเขต ๘ พึงทราบด้วยอำนาจมาติกา ๘.
               ข้อว่า ปํสุกูลํ ความว่า พึงทราบผ้าบังสุกูล ๒๓ ชนิดคือ
               ๑. ผ้าโสสานิกะ (ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า)
               ๒. ผ้าปาปณิกะ (ผ้าที่เขาทิ้งอยู่ตามทางเข้าตลาด)
               ๓. ผ้ารถิกะ (ผ้าที่เขาทิ้งอยู่ตามตรอก)
               ๔. ผ้าสังการโจฬกะ (ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในกองหยากเยื่อ)
               ๕. ผ้าโสตถิยะ (ผ้าที่เขาใช้เช็ดครรภ์มลทินแล้วทิ้ง)
               ๖. ผ้าสินานะ (ผ้าที่เขาผลัดอาบน้ำมนต์แล้วทิ้ง)
               ๗. ผ้าติตถะ (ผ้าที่ทิ้งอยู่ตามท่าน้ำ)
               ๘. ผ้าคตปัจจาคตะ (ผ้าที่ใช้ห่มศพไปป่าช้า แล้วนำกลับมาทิ้งไว้)
               ๙. ผ้าอัคคิทัฑฒะ (ผ้าถูกไฟไหม้แล้วเขาทิ้งไว้)
               ๑๐. ผ้าโคขายิตะ (ผ้าที่โคเคี้ยวแล้วเขาทิ้งไว้)
               ๑๑. ผ้าอุปจิกขายิตะ (ผ้าปลวกกัดแล้วเขาทิ้งไว้)
               ๑๒. ผ้าอุนธูรขายิตะ (ผ้าหนูกัดแล้วเขาทิ้งไว้)
               ๑๓. ผ้าอันตัจฉินนะ (ผ้าขาดริมแล้วเขาทิ้งไว้)
               ๑๔. ผ้าทสัจฉินนะ (ผ้าขาดชายแล้วเขาทิ้งไว้)
               ๑๕. ผ้าธชาหฏะ (ผ้าที่เขาชักเป็นธงแล้วทิ้งไว้)
               ๑๖. ผ้าถูปะ (ผ้าที่เขาบูชาจอมปลวกทิ้งไว้)
               ๑๗ ผ้าสมณจีวร (ผ้าของภิกษุด้วยกัน)
               ๑๘. ผ้าสามุททิยะ (ผ้าที่คลื่นทะเลซัดขึ้นฝั่ง)
               ๑๙. ผ้าอาภิเสกิกะ (ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในที่ราชาภิเษก)
               ๒๐. ผ้าปันถิกะ (ผ้าที่ตกอยู่ตามหนทาง ไม่ปรากฏเจ้าของ)
               ๒๑. ผ้าวาตาหฏะ (ผ้าที่ลมหอบเอาไปไม่มีเจ้าของติดตาม)
               ๒๒. ผ้าอิทธิมยะ (ผ้าสำหรับเอหิภิกษุ)
               ๒๓. ผ้าเทวทัตติยะ (ผ้าที่เทวดาถวาย)
               ก็บรรดาผ้าเหล่านี้ ผ้าที่ชื่อว่า โสตถิยะ ได้แก่ผ้าสำหรับเช็ดครรภ์มลทิน. ผ้าที่ชื่อว่า คตปัจจาคตะ ได้แก่ผ้าที่เขาห่มศพนำไปป่าช้าแล้วนำกลับมา. ผ้าที่ชื่อว่า ธชาหฏะ ได้แก่ผ้าที่เขาชักเป็นธง แล้วภิกษุนำมาจากที่นั้น. ผ้าที่ชื่อว่า ถูปะ ได้แก่ผ้าที่เขาบูชาจอมปลวก. ผ้าที่ชื่อว่า สามุททิยะ ได้แก่ผ้าที่ถูกคลื่นทะเลซัดขึ้นบก. ผ้าที่ชื่อว่า ปันถิกะ ได้แก่ผ้าที่คนเดินทางใช้แผ่นหินทุบแล้วห่ม เพราะกลัวโจร. ผ้าที่ชื่อว่า อิทธิมยะ ได้แก่ผ้าของเอหิภิกขุ. ผ้าที่เหลือปรากฏชัดแล้ว.
               ข้อว่า จีวรสนฺโตโส ได้แก่ ความสันโดษในจีวร ๒๐.
               ก็ในจีวรมีสันโดษ ๒๐ คือ สันโดษในการตรึก สันโดษในการไป สันโดษในการแสวงหา สันโดษในการได้ สันโดษในการรับแต่พอประมาณ สันโดษในการเว้นจากความอยากได้ สันโดษตามแต่ได้ สันโดษตามกำลัง สันโดษตามความสมควร สันโดษในน้ำ (ซัก) สันโดษในการซัก สันโดษในการทำ สันโดษในปริมาณ สันโดษในด้าย สันโดษในการเย็บ สันโดษในการย้อม สันโดษในการทำกัปปะ สันโดษในการใช้สอย สันโดษในการเว้นจากการสะสม สันโดษในการสละ.
               บรรดาสันโดษเหล่านั้น ภิกษุผู้ยินดีอยู่จำพรรษาประจำครบไตรมาส จะตรึกเพียงเดือนเดียวก็ควร. ก็ภิกษุนั้นปวารณาแล้วย่อมทำจีวรในเดือนที่ทำจีวร. ภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลย่อมทำโดยครึ่งเดือนเท่านั้น. การตรึกเพียงหนึ่งเดือนหรือครึ่งเดือน ชื่อว่าสันโดษในการตรึกด้วยประการฉะนี้. ก็ภิกษุผู้สันโดษด้วยการสันโดษในการตรึก พึงเป็นผู้เช่นกับพระบังสุกูลเถระผู้จำพรรษาอยู่ในปาจีนขัณฑราชีวิหารเถิด.
               มีเรื่องเล่ามาว่า พระเถระมาด้วยความหวังว่าจักไหว้พระเจดีย์ในเจติยบรรพตวิหาร ครั้นไหว้พระเจดีย์แล้วก็คิดว่า จีวรของเราเก่าแล้ว เราจักได้ในที่อยู่ของภิกษุมาก. ท่านจึงไปยังมหาวิหาร พบพระสังฆเถระ แล้วถามถึงที่อยู่ แล้วก็อยู่ในที่นั้น.
               วันรุ่งขึ้นจึงถือเอาจีวรมาไหว้พระเถระ. พระเถระถามว่า อะไรคุณ. ก็ตอบว่า ท่านขอรับ ผมจักไปประตูบ้าน. พระเถระจึงกล่าวว่า คุณ แม้ผมจักไป. จึงกล่าวว่า ดีแล้ว ขอรับ พลางไปยืนที่ซุ้มประตูด้านต้นมหาโพธิ์ คิดว่า เราจักได้จีวรที่น่าพอใจในที่อยู่ของคนผู้มีบุญ แล้วจึงกลับคิดได้ว่า การตรึกของเราไม่บริสุทธิ์ กลับจากที่นั้นทันที.
               รุ่งขึ้นจึงไปยังที่ใกล้เนินมะม่วง รุ่งขึ้นก็กลับจากประตูด้านทิศเหนือของมหาเจดีย์เหมือนอย่างนั้น แม้ในวันที่ ๔ ก็ได้ไปยังสำนักของพระเถระ. พระเถระรู้ว่า ภิกษุนี้จักมีความตรึกไม่บริสุทธิ์ จึงถือเอาจีวร ถามปัญหาพลางเข้าบ้านไปกับเธอทีเดียว.
               ก็ในคืนนั้น มนุษย์คนหนึ่งถูกอุจจาระเบียดเบียนเอา จึงถ่ายอุจจาระลงในผ้าสาฎกนั้นทิ้งผ้าสาฎกนั้นไว้ในกองขยะ. พระบังสุกูลิกเถระเห็นผ้าสาฎกนั้นมีแมลงวันหัวเขียวรุมตอมอยู่ จึงประคองอัญชลี. พระมหาเถระจึงถามว่า ทำไมคุณจึงได้ประคองอัญชลีต่อกองหยากเยื่อเล่า. ก็ตอบว่า ท่านขอรับ ผมมิได้ประคองอัญชลีต่อกองหยากเยื่อดอก ผมประคองอัญชลีต่อพระทศพลพระบิดาของผมต่างหาก ท่านขอรับ การที่ภิกษุถือเอาผ้าบังสุกุลที่เขาห่มซากของนางปุณณทาสีแล้วทิ้งไว้ ไล่ตัวสัตว์เล็กๆ ประมาณทะนานหนึ่งออกมาจากป่าช้า ทำได้ยาก. พระมหาเถระคิดว่า การตรึกของภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลหมดจดแล้ว. แม้พระเถระผู้ทรงผ้าบังสุกุลยืนอยู่ในที่นั้นนั่นเอง เจริญวิปัสสนาบรรลุผล ๓ ถือเอาผ้าสาฎกผืนนั้นทำเป็นจีวรห่มไปยังปาจีนขัณฑราชีวิหาร บรรลุพระอรหัตต์ซึ่งเป็นผลชั้นเลิศ.
               ก็การที่ภิกษุเมื่อไปเพื่อต้องการจีวร ไม่ต้องคิดว่า จักได้ที่ไหน แล้วไปโดยมุ่งกรรมฐานเป็นใหญ่ทีเดียว ชื่อว่าสันโดษในการไป. ก็การที่ภิกษุเมื่อแสวงหา อย่าแสวงหากับใครส่งๆ ไป พาเอาภิกษุผู้เป็นลัชชีมีศีลเป็นที่รักไปแสวงหา ชื่อว่าสันโดษในการแสวงหา. การที่ภิกษุเมื่อแสวงหาไปอย่างนี้ เห็นคนนำจีวรมาแต่ไกล อย่าตรึกอย่างนี้ว่า จีวรนั่นจักเป็นของน่าพอใจ จีวรนั่นไม่เป็นของน่าพอใจ ดังนี้แล้ว ยินดีด้วยบรรดาจีวรเนื้อหยาบหรือเนื้อละเอียดเป็นต้นตามแต่จะได้ ชื่อว่าสันโดษในการได้. การที่ภิกษุแม้รับเอาจีวรที่ได้แล้วอย่างนี้ ยินดีโดยประมาณที่เพียงพอแก่ตนเท่านั้นว่า ผ้าเท่านี้จักมีเพื่อจีวร ๒ ชั้น ผ้าเท่านี้จักมีเพื่อจีวรชั้นเดียว ชื่อว่าสันโดษในการรับแต่พอประมาณ.
               ก็การที่ภิกษุเมื่อแสวงหาจีวร ไม่ต้องคิดว่า เราจักได้จีวรที่น่าพอใจที่ประตูเรือนของคนโน้น ดังนี้แล้ว เที่ยวไปตามลำดับประตู ชื่อว่าสันโดษในการเว้นจากความอยากได้. การที่ภิกษุเมื่อสามารถจะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยบรรดาจีวรที่เศร้าหมองหรือประณีตอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรตามที่ได้นั่นแหละ ชื่อว่าสันโดษตามได้. การที่ภิกษุรู้ถึงกำลังของตนแล้ว สามารถจะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรชนิดใด ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้น ชื่อว่าสันโดษตามกำลัง. การที่ภิกษุให้จีวรที่น่าชอบใจแก่ภิกษุอื่น ตนเองยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสันโดษตามความเหมาะสม.
               การที่ภิกษุไม่เลือกว่า น้ำที่ไหนน่าพอใจ ที่ไหนไม่น่าพอใจดังนี้แล้ว ซักด้วยน้ำที่พอจะซักได้บางอย่าง ชื่อว่าสันโดษในน้ำ. ก็การที่ภิกษุจะเว้นน้ำที่ขุ่นไปด้วยดินสีเหลือง ดินสอพอง และในหญ้าเน่าเสียก็ควร. ก็การที่ภิกษุเมื่อซักไม่ใช้ไม้ค้อนเป็นต้นทุบ ใช้มือขยำซัก ชื่อว่าสันโดษในการซัก. การที่ภิกษุใส่ใบไม้ลงไปแล้วซักจีวรที่ไม่สะอาดอย่างนั้น แม้ด้วยน้ำร้อนก็ควร. การที่ภิกษุเมื่อซักทำไปอย่างนี้ ไม่ให้ใจกำเริบว่า ผ้าผืนนี้เนื้อหยาบ ผ้าผืนนี้เนื้อละเอียด ทำไปโดยทำนองที่เพียงพอนั้นแหละ ชื่อว่าสันโดษในการกระทำ. การทำจีวรที่เพียงพอจะปิดมณฑล ๓ ได้นั่นแหละ ชื่อว่าสันโดษในปริมาณ.
               ก็เพื่อจะทำจีวร การที่ภิกษุไม่กะเกณฑ์ลงไปว่า เราจักแสวงหาด้ายที่ถูกใจดังนี้ แล้วนำด้ายในสถานที่มีตรอกเป็นต้น หรือในเทวสถานมา หรือถือเอาด้ายอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นแหละที่เขาวางไว้ใกล้เท้ามากระทำ ชื่อว่าสันโดษในเส้นด้าย. ก็ในเวลาเย็บกุสิพึงสอยได้ ๗ ครั้งห่างกันประมาณ ๑ องคุลี. ก็เมื่อภิกษุทำอย่างนี้ ภิกษุรูปใดไม่มีสหาย แม้วัตตเภทก็ไม่มีแก่ภิกษุนั้น. แต่พึงสอย ๗ ครั้งประมาณ ๓ องคุลี. ภิกษุผู้กระทำอย่างนี้ พึงมีสหายผู้เดินทางด้วยกันเถิด. ภิกษุใดไม่มีสหาย เป็นวัตตเภทแก่ภิกษุนั้น. นี้ชื่อว่าความสันโดษในการเย็บ.
               ก็ภิกษุเมื่อย้อมไม่พึงเที่ยวแสวงหาไทรดำเป็นต้น ได้สิ่งใด บรรดาเปลือกไม้สีดำเป็นต้น พึงย้อมด้วยเปลือกไม้นั้น. เมื่อไม่ได้ พึงถือเอาน้ำย้อมที่พวกมนุษย์ ถือเอาปอในป่าแล้วทิ้งไว้ หรือกากที่พวกภิกษุต้มแล้วทิ้งไว้ ย้อมเถิด. นี้ชื่อว่าความสันโดษในการย้อม. การที่ภิกษุถือเอาบรรดาสีเขียว เปลือกตม สีดำและสีครามอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำกัปปะขนาดเท่าคนนั่งบนหลังช้างมองเห็น ชื่อว่าสันโดษในการทำกัปปะ. การใช้สอยเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่จะทำให้ความอายกำเริบ ชื่อว่าสันโดษในการบริโภค.
               ก็ภิกษุได้ท่อนผ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้ด้าย เข็มหรือ ผู้ (ช่วย) ทำ จะเก็บไว้ก็ควร. เมื่อได้แล้วจะเก็บไว้ไม่ควร. ถ้าประสงค์จะให้จีวรที่ทำเสร็จแล้วแก่พวกอันเตวาสิกเป็นต้น แต่พวกอันเตวาสิกนั้นไม่อยู่ ควรจะเก็บไว้จนกว่าพวกเขาจะมา พอเมื่อพวกอันเตวาสิกมาถึงพึงให้เถิด เมื่อไม่สามารถจะให้ได้ก็พึงอธิษฐานไว้ เมื่อมีจีวรอื่นจะอธิษฐานเป็นผ้าปูพื้นก็ควร ก็จีวรที่ไม่ได้อธิษฐานเท่านั้นจึงเป็นสันนิธิจีวร ที่อธิษฐานแล้วหาเป็นสันนิธิไม่ พระมหาสิวเถระกล่าวไว้ดังนี้. นี้ชื่อว่าสันโดษในการเว้นจากการสะสม. ภิกษุเมื่อสละ ไม่พึงให้โดยเห็นแก่หน้า. พึงตั้งอยู่ในสาราณียธรรมแล้ว สละเถิด. นี้ชื่อว่าสันโดษในการสละ.
               ปังสุกูลิกังคธุดงค์และเตจีวริกังคธุดงค์ ชื่อว่าธุดงค์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยจีวร.
               กถาอย่างพิสดารของธุดงค์ทั้ง ๒ นั้น พึงทราบจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               ภิกษุผู้บำเพ็ญมหาอริยวงศ์ข้อว่า การสันโดษด้วยจีวร ย่อมรักษาธุดงค์ ๒ ข้อนี้ไว้ได้ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุเมื่อรักษาธุดงค์ ๒ ข้อนี้ได้ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าสันโดษด้วยตามมหาอริยวงศ์ข้อว่า การสันโดษด้วยจีวร.
               บทว่า วณฺณวาที พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้.
               ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สันโดษจริงๆ แต่หากล่าวพรรณนาถึงความสันโดษไม่. อีกรูปหนึ่งไม่เป็นผู้สันโดษ แต่กลับกล่าวพรรณนาถึงความสันโดษ. อีกรูปหนึ่งทั้งไม่สันโดษ ทั้งไม่กล่าวพรรณนาถึงความสันโดษ. อีกรูปหนึ่งทั้งเป็นผู้สันโดษทั้งกล่าวพรรณนาถึงความสันโดษ. เพื่อแสดงเหตุผลข้อนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า เป็นผู้มีปกติกล่าวพรรณนาถึงความสันโดษในจีวรตามมีตามได้.
               บทว่า อเนสนํ ความว่า การแสวงหาอันไม่สมควร อันต่างด้วยการส่งข่าวสาส์น การเดินทาง และการตามประกอบในกรรมทั้ง ๒ นั้น ซึ่งเป็นการงานของทูต.
               บทว่า อปฺปฏิรูปํ ความว่า ไม่ควร.
               บทว่า อลทฺธา จ แปลว่า ไม่ได้. ภิกษุผู้สันโดษถึงไม่ได้จีวร ก็หาเดือดร้อนเหมือนภิกษุบางรูปคิดว่า เราจักได้จีวรอย่างไรหนอแล้วเข้าพวกกับภิกษุผู้มีบุญ ทำการหลอกลวง ย่อมสะดุ้ง ย่อมเดือดร้อนฉันนั้นไม่.
               บทว่า ลทฺธา จ ความว่า ได้โดยชอบธรรม.
               บทว่า อคธิโต ความว่า ผู้ไม่ถูกความโลภผูกมัดไว้. บทว่า อมุจฺฉิโต ความว่า ไม่ถึงความสยบ เพราะความอยากจัด. บทว่า อนชฺฌาปนฺโน ความว่า ไม่ถูกตัณหาท่วมทับ คือมัดไว้.
               บทว่า อาทีนวทสฺสาวี ความว่า เห็นโทษในอาบัติที่ต้องเพราะการแสวงหาอันไม่สมควร และในการบริโภคลาภที่ถูกความอยากผูกมัดไว้.
               บทว่า นิสฺสรณปญฺโญ ความว่า ผู้รู้ถึงการสลัดออกที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพียงเพื่อบำบัดความหนาวเป็นต้น.๑-
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๔

               บทว่า อิตรีตรจีวรสนฺตุฏฺฐิยา ความว่า ด้วยการสันโดษด้วยจีวรอย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า เนวตฺตานุกฺกํเสติ ความว่า ไม่ทำการยกตนขึ้นว่า เราเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุล เราสมาทานปังสุกูลังกังคธุดงค์ ตั้งแต่อยู่ในโรงอุปสมบททีเดียว จะมีใครเหมือนเรา ดังนี้.
               สองบทว่า น ปรํ วมฺเภติ ความว่า ไม่ข่มผู้อื่นอย่างนี้ว่า ก็ภิกษุพวกอื่นนี้หาเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลไม่ หรือว่า ภิกษุพวกนี้หามีแม้แต่เพียงปังสุกูลิกังคธุดงค์ไม่ดังนี้.
               หลายบทว่า โย หิ ตตฺถ ทกฺโข ความว่า ผู้ใดเป็นผู้ขยัน ฉลาดเฉียบแหลม ในการสันโดษด้วยจีวรนั้น หรือในคุณมีความเป็นผู้กล่าวพรรณนาเป็นต้น.
               บทว่า อนลโส ความว่า เว้นจากความเกียจคร้าน โดยการทำติดต่อ.
               สองบทว่า สมฺปชาโน ปฏิสฺสโต ความว่า ประกอบด้วยปัญญาในการรู้ตัว และด้วยการระลึกได้.
               สองบทว่า อริยวํเส ฐิโต ความว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์.
               ข้อว่า อิตริตเรน ปิณฺฑปาเตน ความว่า ด้วยบิณฑบาตอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               แม้ในข้อนี้ บัณฑิตก็พึงทราบบิณฑบาต เขตในการเที่ยวบิณฑบาต ความสันโดษในบิณฑบาต ธุดงค์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยบิณฑบาต.
               บรรดา ๔ ข้อนั้น ข้อว่าบิณฑบาต ๑๖ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส ข้าวตู ปลา เนื้อ น้ำนม เนยส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ข้าวต้ม ของควรเคี้ยว ของควรลิ้ม ของควรเลีย (ชิม).
               ข้อว่า ปิณฺฑปาตกฺเขตฺตํ ความว่า เขตแห่งการเที่ยวบิณฑบาตมี ๑๕ คือ ภัตที่เขาถวายพระสงฆ์ ภัตที่เขาถวายเจาะจง ภัตที่ได้ในที่นิมนต์ ภัตที่เขาถวายพร้อมกับสลาก ภัตที่เขาถวายประจำปักษ์ ภัตที่เขาถวายในวันอุโบสถ ภัตที่เขาถวายในวันปาฏิบท (คือวันขึ้นหรือแรมค่ำหนึ่ง) ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้จรมา ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้เตรียมจะไป ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุไข้ ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อุปัฏฐากภิกษุไข้ ภัตที่เขาถวายในวิหารใกล้ ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้เฝ้ากุฏิ ภัตที่เขาถวายประจำวัน ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้เฝ้าวิหาร.
               ข้อว่า ปิณฺฑปาตสนฺโตโส ความว่า สันโดษมี ๑๕ คือ สันโดษในการตรึกในบิณฑบาต สันโดษในการไป สันโดษในการแสวงหา สันโดษในการได้เฉพาะ สันโดษในการรับ สันโดษในการรับแต่พอประมาณ สันโดษในการเว้นจากความอยากได้ สันโดษตามได้ สันโดษตามกำลัง สันโดษตามสมควร สันโดษในการบำรุง สันโดษในการกำหนด สันโดษในการบริโภค สันโดษในการเว้นจากการสะสม สันโดษในการสละ.
               บรรดาสันโดษเหล่านั้น ภิกษุผู้ยินดีล้างหน้าแล้ว ย่อมตรึก. ก็ภิกษุผู้เที่ยวไปกับคณะ ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ในเวลาอุปัฏฐากพระเถระในเวลาเย็น ถูกถามว่า พรุ่งนี้พวกเราจักเที่ยวบิณฑบาตที่ไหน. ตอบว่า ในบ้านชื่อโน้นขอรับ คิดเพียงเท่านี้ จากนั้นไปก็ไม่พึงตรึก (อีก). ภิกษุผู้เที่ยวไปรูปเดียว พึงยืนตรึกในโรงสำหรับตรึกเถิด. ภิกษุผู้ตรึกเกินกว่านั้น ย่อมเป็นผู้เคลื่อน เหินห่างจากอริยวงศ์. ข้อที่ว่ามานี้ ชื่อว่าสันโดษในการตรึก.
               ก็ภิกษุผู้จะเข้าไปบิณฑบาต ไม่ต้องคิดว่า จักได้ที่ไหน พึงไปโดยมีกรรมฐานเป็นใหญ่เถิด. ข้อนี้ชื่อว่าสันโดษในการไป. ภิกษุผู้แสวงหาไม่ต้องกำหนดว่าเป็นอะไร พึงพาเอาภิกษุผู้เป็นลัชชี มีศีลเป็นที่รักเท่านั้น ไปแสวงหาเถิด. ข้อนี้ชื่อว่าสันโดษในการแสวงหา. ภิกษุเห็นคนนำอาหารมาแต่ไกล ไม่พึงให้เกิดความคิดขึ้นว่า ของนั้นน่าพอใจ ของนั่นไม่น่าพอใจ ดังนี้. นี้ชื่อว่าสันโดษในการได้เฉพาะ.
               ภิกษุไม่พึงคิดว่า ของนี้น่าชอบใจ เราจักรับ ของนี้ไม่น่าชอบใจ เราจะไม่รับ ดังนี้แล้ว รับเอาแต่เพียงอาหารพอยังอัตตภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเถิด. นี้ชื่อว่าสันโดษในการรับ.
               ก็ในสันโดษข้อนี้ ไทยธรรมมีมาก แต่ทายกต้องการจะถวายแต่น้อย พึงรับเอาแต่น้อย. แม้ไทยธรรมก็มีมาก ถึงทายกก็ต้องการจะถวายมาก พึงรับเอาแต่พอประมาณเท่านั้น. ไทยธรรมมีไม่มาก ถึงทายกก็ต้องการจะถวายไม่มาก พึงรับเอาแต่น้อย. ไทยธรรมมีไม่มาก แต่ทายกต้องการจะถวายมาก ก็พึงรับเอาแต่พอประมาณเท่านั้น.
               ก็ภิกษุผู้ไม่รู้จักประมาณในการรับย่อมทำความเลื่อมใสของพวกมนุษย์ให้แปดเปื้อน ทำศรัทธาไทยให้ตกไป ไม่กระทำคำสอน ไม่สามารถจะยึดจิตแม้ของมารดาผู้บังเกิดเกล้าได้. ภิกษุพึงรู้จักประมาณเสียก่อนแล้วจึงรับ ด้วยประการฉะนี้แล. นี้ชื่อว่าสันโดษในการรับแต่พอประมาณ.
               ภิกษุไม่ไปยังตระกูลที่มั่งคั่งเท่านั้น พึงไปตามลำดับประตูเถิด. นี้ชื่อว่าสันโดษในการเว้นจากการอยากได้.
               ยถาลาภสันโดษเป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วในจีวรนั่นแหละ.
               การที่ภิกษุรู้อุปการอย่างนี้ว่า เราจักฉันบิณฑบาตแล้ว รักษาสมณธรรมดังนี้แล้วฉัน ชื่อว่าอุปการสันโดษ.
               ภิกษุไม่พึงรับบิณฑบาตที่เขาบรรจุเต็มบาตร แล้วนำมา (ถวาย) เมื่อมีอนุปสัมบัน (ลูกศิษย์) พึงให้อนุปสัมบันนั้นนำมา เมื่อไม่มี ก็พึงให้เขานำมาแล้วรับเท่าที่พอรับได้. นี้ชื่อว่าสันโดษในการกำหนด.
               การที่ภิกษุฉันโดยมนสิการอย่างนี้ว่า การฉันนี้บรรเทาความหิวได้ การออกไปจากภพจะมีได้ในเพราะการฉันนี้ ชื่อว่าสันโดษในการบริโภค. ภิกษุไม่พึงเก็บสะสมไว้ฉัน. นี้ชื่อว่าสันโดษในการเว้นจากการสะสม. ภิกษุไม่พึงเห็นแก่หน้า ตั้งอยู่ในสาราณิยธรรมแล้ว พึงสละเถิด. นี้ชื่อว่าสันโดษในการสละ.
               ก็ธุดงค์ ๕ ข้อคือ ปิณฑปาติกังคะ สปทานจาริกังคะ เอกานิกังคะ ปัตตปิณฑิกังคะ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ เกี่ยวเนื่องกับบิณฑบาต.
               กถาอย่างพิสดารของธุดงค์ทั้ง ๕ ข้อนั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               ภิกษุผู้บำเพ็ญมหาอริยวงศ์ข้อว่าการสันโดษในบิณฑบาต ย่อมรักษาธุดงค์ ๕ ข้อนี้ไว้ได้ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุเมื่อรักษาธุดงค์ ๕ ข้อนี้ได้ ย่อมเป็นผู้สันโดษตามมหาอริยวงศ์ ข้อว่าการสันโดษด้วยบิณฑบาต.
               บทว่า วณฺณวาที เป็นต้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]
อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 207อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 11 / 364อ่านอรรถกถา 11 / 364
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=4501&Z=7015
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=4096
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=4096
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :