ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 207อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 11 / 364อ่านอรรถกถา 11 / 364
อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
สังคีติสูตร

หน้าต่างที่ ๕ / ๘.

               ในบทว่า เสนาสเนน นี้ บัณฑิตพึงทราบเสนาสนะ เขตแห่งเสนาสนะ ความสันโดษในเสนาสนะ ธุดงค์ที่เกี่ยวกับเสนาสนะ.
               บรรดา ๔ ข้อนั้น ข้อว่า เสนาสนํ ความว่า เสนาสนะมี ๑๕ ชนิดนี้ คือ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน วิหาร เพิง ปราสาท ปราสาทโล้น ถ้ำ ที่เร้น ป้อม เรือนยอดเดียว พุ่มไม้ไผ่ โคนต้นไม้ ก็หรือว่าที่ที่สมควรแก่ภิกษุ.
               ข้อว่า เขตของเสนาสนะ ความว่า เขตมี ๖ คือ จากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร จากทรัพย์ของตน หรือเขตที่เป็นของบังสุกุล.
               ข้อว่า สันโดษในเสนาสนะ ความว่า ในเสนาสนะ มีสันโดษ ๑๕ อย่าง มีสันโดษในการตรึกเป็นต้น. สันโดษเหล่านั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในบิณฑบาตนั่นแหละ.
               ก็ธุดงค์ ๕ ข้อคือ อารัญญิกังคะ รุกขมูลิกังคะ อัพโภกาสิกังคะ โสสานิกังคะ ยถาสันถติกังคะ เกี่ยวเนื่องด้วยเสนาสนะ. กถาอย่างพิสดารของธุดงค์เหล่านั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               ภิกษุผู้บำเพ็ญมหาอริยวงศ์ ข้อว่าการสันโดษในเสนาสนะ ย่อมชื่อว่ารักษาธุดงค์ ๕ ข้อนี้ด้วยประการฉะนี้. เมื่อรักษาธุดงค์ ๕ ข้อนี้ได้ จัดว่าเป็นผู้สันโดษตามมหาอริยวงศ์ ข้อว่าการสันโดษในเสนาสนะ.
               ก็คิลานปัจจัยรวมเข้าในบิณฑบาตนั่นแหละ. ในคิลานปัจจัยนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้สันโดษด้วยการสันโดษตามได้ สันโดษตามกำลัง และสันโดษตามสมควรทีเดียว.
               ภิกษุ (เมื่อสมาทาน) เนสัชชิกังคธุดงค์ ชื่อว่าย่อมคบอริยวงค์ ข้อว่าการยินดีในภาวนา.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ในเสนาสนะท่านกล่าวธุดงค์ไว้ ๕ ข้อ ธุดงค์ ๕ ข้อ
                         อาศัยอาหาร ข้อหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับความเพียร และ
                         อีก ๒ ข้ออาศัยจีวร.

               ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ กล่าวอริยวงศ์ ข้อว่าการสันโดษในจีวรข้อที่หนึ่ง เป็นเหมือนกับจะแบ่งขยายมหาปฐวี เป็นเหมือนกับจะยังท้องน้ำให้เต็ม และเป็นเหมือนกับจะขยายอากาศให้กว้างขวาง.
               กล่าวอริยวงศ์ข้อว่าการสันโดษในบิณฑบาต ข้อที่ ๒ เป็นเหมือนกับจะยังพระจันทร์ให้ตั้งขึ้น และเป็นเหมือนกับจะยังพระอาทิตย์ให้โลดขึ้นมา.
               กล่าวอริยวงศ์ข้อว่าการสันโดษในเสนาสนะ ข้อที่ ๓ เป็นเหมือนกับจะยกเขาสิเนรุขึ้น บัดนี้เพื่อจะกล่าวอริยวงศ์ข้อว่าความยินดีในภาวนา ข้อที่ ๔ ซึ่งประดับไปด้วยนัยหนึ่งพัน จึงเริ่มเทศนาว่า ท่านผู้มีอายุ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมเป็นผู้ยินดีในการละ ดังนี้.
               ในข้อนั้น ความยินดี ชื่อว่า อาราโม อธิบายว่า ความยินดียิ่ง. ภิกษุชื่อว่ายินดีในการละ เพราะอรรถว่ามีความยินดีในการละ ๕ อย่าง.
               ภิกษุชื่อว่ายินดีแล้วในการละ เพราะอรรถว่ายินดีแล้วในการละอย่างนี้ว่า เมื่อละความพอใจในกามได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญเนกขัมมะย่อมยินดี เมื่อละพยาบาทได้ย่อมยินดี ฯลฯ เมื่อละกิเลสทั้งหมดได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอรหัตตมรรค ย่อมยินดี.
               ภิกษุชื่อว่ายินดีในภาวนา เพราะอรรถว่ามีความยินดีในภาวนา ตามนัยที่กล่าวนั่นแล. ชื่อว่ายินดีแล้วในภาวนา เพราะอรรถว่าเป็นผู้ยินดีแล้วในภาวนา.
               ก็บรรดาอริยวงศ์ ๔ ข้อเหล่านี้ ด้วยอริยวงศ์ข้างต้น ๓ ข้อแรก เป็นอันท่านกล่าวถึงวินัยปิฎกทั้งสิ้นด้วยอำนาจแห่งธุดงค์ ๑๓ ข้อ และการสันโดษในปัจจัย ๔. ด้วยอริยวงศ์ข้อว่าการยินดีในภาวนา เป็นอันท่านกล่าวถึงปิฎก ๒ ข้อที่เหลือ.
               ก็ภิกษุเมื่อกล่าวอริยวงศ์ ข้อว่าความยินดีในภาวนานี้ พึงกล่าวตามบาลีแห่งเนกขัมมะ ในปฏิสัมภิทามรรค พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งทสุตตรสูตรในทีฆนิกาย พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกาย (และ) พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งนิเทสในอภิธรรมเถิด.
               ใน ๔ ข้อนั้น ข้อว่า ปฏิสมฺภิทามคฺเค เนกฺขมฺมปาลิยา ความว่า ภิกษุพึงกล่าวตามบาลีแห่งเนกขัมมะ ในปฏิสัมภิทามรรคอย่างนี้ว่า
               ภิกษุนั้น เมื่อเจริญเนกขัมมะย่อมยินดี เมื่อละกามฉันทะได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญความไม่พยาบาทย่อมยินดี เมื่อละความพยาบาทได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอาโลกสัญญาย่อมยินดี เมื่อละถีนมิทธะได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญความสงบย่อมยินดี เมื่อละอุทธัจจะได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญการกำหนดธรรมย่อมยินดี เมื่อละวิจิกิจฉาได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญญาณ (ปัญญา) ย่อมยินดี เมื่อละอวิชชาได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญปราโมชย่อมยินดี เมื่อละความไม่ยินดีได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญปฐมฌานย่อมยินดี เมื่อละนิวรณ์ ๕ ได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญทุติยฌานย่อมยินดี เมื่อละวิตกวิจารได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญตติยฌานย่อมยินดี เมื่อละปีติได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญจตุตถฌานย่อมยินดี เมื่อละสุขและทุกข์ได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติย่อมยินดี เมื่อละรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ย่อมยินดี เมื่อเจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมยินดี เมื่อละอากิญจัญญายตนสมาบัติได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอนิจจานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละนิจจสัญญาได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญทุกขานุปัสนา ย่อมยินดี เมื่อละสุขสัญญาได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอนัตตานุปัสนา ย่อมยินดี เมื่อละอัตตสัญญาได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญนิพพิทานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละความพอใจได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญวิราคานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละราคะได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญนิโรธานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละสมุทัยได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญปฏินิสสัคคานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละความยึดถือได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญขยานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละฆนสัญญาได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญวยานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละอายูหนะ (การประมวลไว้) ได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญวิปริณามานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละธุวสัญญา (ความสำคัญว่ายั่งยืน) ได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอนิมิตตานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละนิมิตได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอัปปณิหิตานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละปณิธิ ย่อมยินดี เมื่อเจริญสุญญตานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละอภินิเวสได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอธิปัญญาธัมมวิปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละสาราทานาภินิเวสได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญยถาภูตญาณทัสนะ ย่อมยินดี เมื่อละสัมโมหาภินิเวสได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอาทีนวานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละอาลยาภินิเวส ย่อมยินดี เมื่อเจริญปฏิสังขาภินิเวส ย่อมยินดี เมื่อละอัปปฎิสังขะได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญวิวัฏฏานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละสังโยคาภินิเวสได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญโสดาปัตติมรรค ย่อมยินดี เมื่อละกิเลสที่ตั้งอยู่ที่เดียวกับทิฏฐิได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญสกทาคามิมรรค ย่อมยินดี เมื่อละกิเลสอย่างหยาบเสียได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอนาคามิมรรค ย่อมยินดี เมื่อละกิเลสอย่างละเอียดได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญอรหัตตมรรค ย่อมยินดี เมื่อละกิเลสทั้งหมดได้ย่อมยินดี ดังนี้.
               ข้อว่า ทีฆนิกาเย ทสุตฺตรสุตฺตนฺตปริยาเยน กเถตพฺโพ ความว่า พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งทสุตตรสูตรในทีฆนิกาย อย่างนี้ว่า
               ภิกษุเมื่อเจริญธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมยินดี เมื่อละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมยินดี ฯลฯ เมื่อเจริญธรรมสิบ ย่อมยินดี เมื่อละธรรมได้ ๑๐ ย่อมยินดี.
               ภิกษุเมื่อเจริญธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมยินดีเป็นไฉน
               เมื่อเจริญกายคตาสติ อันเป็นธรรมที่สหรคตด้วยความยินดี ย่อมยินดี ภิกษุเมื่อเจริญธรรมอย่างหนึ่งนี้ ย่อมยินดี.
               ภิกษุเมื่อละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมยินดี เป็นไฉน
               เมื่อละอัสมิมานะได้ ย่อมยินดี ภิกษุเมื่อละธรรมอย่างหนึ่งนี้ได้ ย่อมยินดี.
               เมื่อเจริญธรรม ๒ อย่าง ย่อมยินดี เป็นไฉน ฯลฯ เมื่อเจริญธรรมสิบอย่าง ย่อมยินดี เป็นไฉน
               เมื่อเจริญกสิณสิบ ย่อมยินดี เมื่อเจริญธรรมเหล่านี้ ย่อมยินดี เมื่อละธรรมสิบเหล่าไหนได้ ย่อมยินดี เมื่อละมิจฉัตตะสิบได้ ย่อมยินดี เมื่อละธรรมสิบเหล่านี้ได้ ย่อมยินดี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยินดีในภาวนา อย่างนี้แล.
               ข้อว่า มชฺฌิมนิกาเยน สติปฏฺฐานสุตฺตนฺตปริยาเย กเถตพฺโพ ความว่า พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกายอย่างนี้ว่า
               ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นหนทางเครื่องดำเนินไปอย่างเอก ฯลฯ เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่อเป็นที่อาศัยระลึก เธอไม่ติดอาศัยอยู่ และไม่ยึดถืออะไรในโลก.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุย่อมเป็นผู้ยินดีในภาวนา เป็นผู้ยินดีแล้วในภาวนา เป็นผู้ยินดีในการละ เป็นผู้ยินดีแล้วในการละ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเมื่อกำลังไปก็รู้ว่า เรากำลังไป ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุแม้พึงเหมือนผู้เห็นร่างกายที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ฯลฯ เป็นของเปื่อยเน่า ผุพัง เธอย่อมนำเข้าไปเปรียบเทียบกับกายนี้นี่แหละว่า ร่างกายแม้นี้แล ก็มีธรรมอย่างนี้ มีภาวะอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นภาวะอย่างนี้ไปได้ ดังนี้ เธอย่อมเห็นกายในกายอันเป็นภายในด้วยประการฉะนี้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยินดีในภาวนา แม้อย่างนี้แล.
               ข้อว่า อภิธมฺเม นิทฺเทสปริยาเยน ความว่า พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งนิเทสในอภิธรรมอย่างนี้ว่า ภิกษุเมื่อเห็นสังขตธรรมแม้ทั้งปวง โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นแผล ฝี ฯลฯ เป็นธรรมมีความเศร้าหมอง ย่อมยินดี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้แลย่อมเป็นผู้ยินดีในภาวนา.
               ข้อว่า เนว อตฺตานุกฺกํเสติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่ทำการยกตนขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อเราทำการงานในวิปัสสนาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตลอด ๖๐ หรือ ๗๐ ปี ในวันนี้จะมีใครเหมือนเรา ดังนี้.
               ข้อว่า นรํปรํ วมฺเภติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่ทำการข่มผู้อื่นอย่างนี้ว่า แม้เพียงเหตุสักว่า วิปัสสนาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็ไม่มี (แก่ภิกษุเหล่านี้) ทำไมภิกษุเหล่านี้จึงละทิ้งกรรมฐานเที่ยวไป ดังนี้.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นเอง.
               ข้อว่า ปธานานิ ได้แก่ ความเพียรขั้นสูงสุด. ข้อว่า สํวรปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้สำรวมอายตนะมีจักษุเป็นต้น.
               ข้อว่า ปหานปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ละกามวิตกเป็นต้น. ข้อว่า ภาวนาปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เจริญโพชฌงค์. ข้อว่า อนุรกฺนาปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ตามรักษาสมาธินิมิต.
               ในข้อว่า วิเวกนิสฺสิตํ เป็นต้น ความว่า แม้คำทั้ง ๓ คือวิเวก วิราคะ นิโรธก็เป็นชื่อของพระนิพพาน.
               จริงอยู่ พระนิพพาน ชื่อว่าวิเวก เพราะสงัดจากอุปธิกิเลส ชื่อว่าวิราคะเพราะอรรถว่ากิเลสมีราคะเป็นต้น มาถึงพระนิพพานนั้นย่อมบำราศไป ชื่อว่านิโรธ เพราะอรรถว่าดับ เพราะเหตุนั้นในคำว่า วิเวกนิสฺสิตํ เป็นต้น จึงมีอธิบายว่า อาศัยพระนิพพานด้วยอำนาจความเป็นอารมณ์ หรือด้วยอำนาจพึงบรรลุ.
               ในคำว่า โวสฺสคฺคปริณามี นี้ ความว่า การสละลงมี ๒ อย่าง คือ การสละลงคือการบริจาค ๑ การสละลงคือการแล่นไป ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น วิปัสสนา ชื่อว่าการสละลงคือการบริจาค เพราะอรรถว่าสละกิเลสและขันธ์ได้ด้วยองค์นั้น. มรรคชื่อว่าการสละลงคือการแล่นไป เพราะอรรถว่าแล่นไปสู่พระนิพพานโดยความเป็นอารมณ์.
               เพราะฉะนั้นในข้อว่า โวสฺสคฺคปริณามี นี้จึงมีอธิบายอย่างนี้ว่า
               สติสัมโพชฌงค์ที่ภิกษุเจริญอยู่ ย่อมน้อมไปเพื่อความสละลง เธอย่อมบรรลุวิปัสสนาภาวนาและมรรคภาวนาฉันใด เธอย่อมเจริญโวสสัคคะฉันนั้น ดังนี้.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนั้นเหมือนกัน.
               สมาธินิมิตอันเจริญ ท่านเรียกว่า ภทฺทกํ. สมาธินั่นแหละเป็นอันภิกษุบรรลุแล้วด้วยอำนาจอัฏฐิกสัญญาเป็นต้น.
               ข้อว่า อนุรกฺขติ ความว่า เมื่อภิกษุชำระราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายข้าศึก ย่อมรักษาสมาธิไว้ได้.
               ก็ในข้อนี้ท่านกล่าวสัญญาไว้ ๕ ข้อมีอัฏฐิกสัญญาเป็นต้น. ก็ในฐานะนี้ ท่านกล่าวอสุภะไว้ครบทั้ง ๑๐ โดยพิสดาร. ความพิสดารของอสุภเหล่านั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
               ข้อว่า ธมฺเม ญาณํ ความว่า ญาณในสัจจธรรมสี่ และญาณในนิโรธธรรมในภายในสัจจสี่ด้วยอำนาจการแทงตลอดเป็นอันเดียวกัน. เหมือนที่กล่าวไว้แล้ว.
               ถามว่า ในญาณ ๒ นั้น ญาณในธรรมเป็นไฉน๑-
               ตอบว่า ญาณในมรรค ๔ ผล ๔.
               ข้อว่า อนฺวเย ญาณํ ความว่า ญาณที่เป็นไปตามญาณนั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุเห็นสัจจะ ๔ โดยประจักษ์ในบัดนี้ฉันใด ถึงในอดีต ถึงในอนาคต ก็ฉันนั้น ขันธ์ ๕ เหล่านี้นั่นเอง ชื่อว่าทุกขสัจจะ. ตัณหานี้นั่นแหละชื่อว่าสมุทัยสัจจะ. นิโรธนี้เทียว ชื่อว่านิโรธสัจจะ. มรรคนี้ทีเดียว ชื่อว่ามรรคสัจจะ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เธอย่อมนำนัยไปในอดีตและอนาคต ด้วยการรู้ การเห็น การบรรลุ การรู้ชัด การหยั่งเห็นตามธรรมนี้.
               ข้อว่า ปริจฺเฉเท ญาณํ ความว่า ญาณในการกำหนดใจของคนพวกอื่น เหมือนที่ท่านกล่าวไว้แล้ว. บัณฑิตพึงให้ข้อความพิสดารว่า๑- ในญาณนั้น ญาณในการกำหนดใจเป็นไฉน ภิกษุในศาสนานี้กำหนดใจของสัตว์อื่น บุคคลอื่นได้ด้วยใจ ก็ย่อมรู้ได้ ดังนี้.
               ก็ญาณที่เหลือเว้นญาณ ๓ เหล่านี้ ชื่อว่าสัมมติญาณ เหมือนดังท่านกล่าวไว้แล้ว. ในข้อนั้น สัมมติญาณเป็นไฉน ญาณที่เหลือ เว้นญาณในธรรม เว้นญาณในการไปตาม เว้นญาณในการกำหนดใจเสียแล้ว ชื่อว่าสัมมติญาณ ดังนี้.๑-
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๒๕

               กรรมฐานในสัจจะ ๔ ท่านกล่าวสรุปไว้สำหรับภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งบรรลุอรหัตด้วยญาณในทุกขสัจจะเป็นต้น.
               บรรดาสัจจะ ๔ นั้น สัจจะ ๒ ข้อเป็นวัฏฏะ อีก ๒ ข้อเป็นวิวัฏฏะ. อภินิเวสะ (ความยึดมั่น) ย่อมมีในวัฏฏะ แต่หามีในวิวัฏฏะไม่. ภิกษุเรียนพระปริยัติในสำนักอาจารย์ ชื่อว่าย่อมทำการงานในสัจจะ ๒. ภิกษุย่อมทำงานในสัจจะ ๒ ข้อด้วยอำนาจการฟังว่า ธรรมดาว่า นิโรธสัจจะเป็นของดี น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ธรรมดาว่า มรรคสัจจะ เป็นของน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ. การแทงตลอดด้วยอำนาจการเรียน การสอบถาม การฟัง การทรงจำ การใคร่ครวญ ในสัจจะ ๒ ย่อมควร. การแทงตลอดด้วยอำนาจการฟังในสัจจะ ๒ ย่อมควร. เธอย่อมแทงตลอด สัจจะ ๓ ด้วยอำนาจกิจ. ย่อมแทงตลอดสัจจะ ๑ ด้วยอำนาจความเป็นอารมณ์. สัจจะ ๒ ข้อเป็นของลึกซึ้งเพราะเห็นได้ยาก. สัจจะ ๒ ข้อ ที่ชื่อว่าเห็นได้ยากเพราะเป็นสภาพลึกซึ้ง.


               โสตาปตฺติยงฺคาทิจตุกฺกวณฺณนา               
               ข้อว่า โสตาปตฺติยงฺคานิ ความว่า องค์แห่งการบรรลุกระแส. อธิบายว่า เหตุแห่งการได้โสดาปัตติมรรค. ข้อว่า สปฺปุริสสํเสโว ความว่า การเข้าไปคบหาสัตบุรุษ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. ข้อว่า สทฺธมฺมสฺสวนํ ความว่า การฟังธรรม คือพระไตรปิฎกอันเป็นที่สบาย. ข้อว่า โยนิโสมนสิกาโร ความว่า การทำไว้ในใจด้วยอำนาจอนิจจลักษณะเป็นต้น. ข้อว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ ความว่า ปฏิบัติ ข้อปฏิบัติอันมีในส่วนเบื้องต้น อันเป็นธรรมไปตามโลกุตตรธรรม. ข้อว่า อเวจฺจปฺปสาเทน ความว่า ด้วยศรัทธาอันมั่นคง.
               พระพุทธคุณว่า อิติปิ โส ภควา ดังนี้เป็นต้น ท่านให้พิสดารไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
               หมวดสี่แห่งผล ธาตุ และอาหาร มีเนื้อความง่ายทีเดียว.
               อีกอย่างหนึ่งในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบความเป็นของหยาบและละเอียด ด้วยอำนาจความเป็นของหยาบและประณีต.
               ข้อว่า วิญฺญาณฏฺฐิติโย ความว่า ที่ชื่อว่าวิญญาณฐิติ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งของวิญญาณ. คำนี้ท่านกล่าวไว้แล้วด้วยอำนาจเป็นที่ตั้งของอารมณ์.
               ข้อว่า รูปูปายํ ความว่า เป็นสภาพเข้าถึงรูป.
               จริงอยู่ อภิสังขารวิญญาณอาศัยรูปขันธ์ ตั้งอยู่ในปัญจโวการภพ. คำนี้ท่านกล่าวหมายถึงวิญญาณนั้น.
               ข้อว่า รูปารมฺมณํ ความว่า มีรูปขันธ์เป็นอารมณ์. ข้อว่า รูปปฺปติฏฺฐํ ความว่า เป็นของตั้งอยู่เฉพาะแล้วในรูป. ข้อว่า นนฺทูปเสวนํ ความว่า เป็นของอันความพอใจเข้าไปอาศัย เพราะสัมปยุตด้วยจิตที่สหรคตด้วยโลภะ. นอกนี้เป็นของถูกส่วนสุดแห่งความประพฤติที่เคยชิน เข้าไปอาศัย.
               ข้อว่า วุฑฺฒึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ อาปชฺชติ ความว่า ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ ซึ่งเป็นไปอยู่อย่างนี้ ๖๐ ปีบ้าง ๗๐ ปีบ้าง. นัยแม้ในอุบายแห่งเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้.
               ก็ในจตุโวการภพ ท่านกล่าวอภิสังขารวิญญาณไว้ด้วยบททั้ง ๓ เหล่านี้. พึงทราบการถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ด้วยอำนาจความเป็นไปตราบเท่าชั่วอายุของวิญญาณนั้น. ท่านไม่กล่าวว่า อุบายแห่งวิญญาณ ดังนี้ เพราะมาแล้วด้วยเทศนาตามหมวด ๔. ก็เมื่อกล่าวไปอย่างนี้ ก็จะเป็นการฟั่นเฝือหนักขึ้นว่า ในที่นี้ กัมมวิญญาณเป็นไฉน วิบากวิญญาณเป็นไฉน แม้เพราะเหตุนั้น จึงไม่กล่าวไว้.
               การถึงอคติ ท่านให้พิสดารไว้แล้วทีเดียว.
               ข้อว่า จีวรเหตุ ความว่า เกิดขึ้นเพราะมีจีวรเป็นเหตุว่า เราจักได้จีวรที่ชอบใจในที่ไหน. อิติศัพท์ในข้อว่า อิติภวาภวเหตุ นี้ เป็นนิบาตลงในการชี้แจง. อธิบายว่า เหตุมีจีวรเป็นต้นเป็นฉันใด เหตุมีภพและอภพเป็นต้น (เหตุที่ประณีตและประณีตกว่า) ก็เป็นฉันนั้น.
               ในข้อว่า ภวาภโว นี้ท่านประสงค์เอาน้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้นที่ประณีตและประณีตกว่า. พึงทราบว่า ก็อริยวงศ์ ๔ ท่านแสดงไว้ตามลำดับทีเดียว เพื่อต้องการละตัณหา และอุปาทาน ๔ เหล่านี้.
               หมวด ๔ แห่งปฏิปทา ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               ในการอดทนไม่ได้เป็นต้น มีวิเคราะห์ดังต่อไปนี้.
               ภิกษุที่ชื่อว่าอักขมา เพราะอรรถว่าอดทนความหนาวเป็นต้นไม่ได้ ในเวลาทำความเพียร. ชื่อว่าขมา เพราะอรรถว่าทนได้. การฝึกอินทรีย์ ชื่อว่าทมา. ความสงบวิตก โดยนัยเป็นต้นว่า๑- อดกลั้นกามวิตกที่เกิดขึ้นไม่ได้ ชื่อสมา.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๔

               ข้อว่า ธมฺมปทานิ ความว่า ส่วนแห่งธรรม. ความไม่เพ่งเล็ง ชื่อว่าบทแห่งธรรม. อีกอย่างหนึ่ง ความไม่โลภโดยมีความไม่โลภเป็นใหญ่ หรือการบรรลุฌานวิปัสสนามรรคผลและนิพพาน ก็ชื่อว่าบทแห่งธรรม. ความไม่พยาบาท ชื่อว่าบทแห่งธรรม หรือความไม่โกรธโดยมีเมตตาเป็นหลัก หรือการบรรลุฌานเป็นต้น ชื่อว่าบทแห่งธรรม. สัมมาสติ ชื่อว่าบทแห่งธรรม. อีกอย่างหนึ่ง การตั้งสติมั่น โดยมีสติเป็นหลัก หรือการบรรลุฌานเป็นต้น ชื่อว่าบทแห่งธรรม. สัมมาสมาธิ ชื่อว่าบทแห่งธรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง สมาบัติด้วยอำนาจสมาบัติ ๘ หรือการบรรลุฌานวิปัสสนามรรคผล และนิพพาน ชื่อว่าบทแห่งธรรม. การบรรลุฌานเป็นต้นด้วยอำนาจอสุภะ ๑๐ หรือความไม่เพ่งเล็ง ชื่อว่าบทแห่งธรรม. บทแห่งธรรมที่บรรลุด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ (หรือ) ความไม่พยาบาท ชื่อว่าบทแห่งธรรม. บทแห่งธรรมที่บรรลุด้วยอำนาจอนุสสติ ๑๐ และอาหารปฏิกูลสัญญา (หรือ) สัมมาสติ ชื่อว่าบทแห่งธรรม. บทแห่งธรรมที่บรรลุด้วยอำนาจกสิณ ๑๐ และอานาปานสติ (หรือ) สัมมาสมาธิ ชื่อว่าบทแห่งธรรมดังนี้แล.
               ในการสมาทานธรรมทั้งหลาย มีเนื้อความดังต่อไปนี้.
               การสมาทานข้อแรก เป็นปฏิปทาของอเจลกะ.
               การสมาทานข้อที่ ๒ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์อย่างบริสุทธิ์ของบุคคลผู้มีกิเลสกล้า ไม่สามารถจะคว้าเอาพระอรหัตไว้ได้ ร้องไห้น้ำตาเปียกหน้าอยู่.
               การสมาทานข้อที่ ๓ เป็นการสมาทานที่ตกไปในกามทั้งหลาย.
               การสมาทานข้อที่ ๔ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของบุคคลผู้แม้ไม่ได้ปัจจัยสี่ แต่ก็พรั่งพร้อมไปด้วยความสุขตามอำนาจฌานและวิปัสสนา.
               ในข้อว่า ธมฺมกฺขนฺธา นี้ ได้แก่ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในคุณ คือตั้งอยู่ในขันธ์. ข้อว่า ลีลกฺขนฺโธ ได้แก่ คุณของศีล. ก็ผลของศีล ท่านประสงค์เอาในข้อนี้. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ผลนั่นเอง ท่านกล่าวไว้ในฐานแม้ทั้ง ๔ ด้วยประการฉะนี้.
               ข้อว่า พลานิ ความว่า ที่ชื่อว่ากำลังทั้งหลาย เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องช่วยเหลือ และเพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว. บัณฑิตพึงทราบความที่กำลังเหล่านั้นเป็นของไม่หวั่นไหวด้วยธรรมมีโกสัชชะเป็นต้น ซึ่งเป็นข้าศึกกัน. กำลังแม้ทั้งหมดทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ท่านกล่าวไว้แล้วด้วยอำนาจสมถะ วิปัสสนาและมรรค.
               อธิศัพท์ในข้อว่า อธิฏฺฐานานิ นี้เป็นเพียงอุปสรรค. แต่ว่าโดยความหมายแล้ว ก็มีความหมายว่า เป็นเหตุตั้งอยู่ เป็นที่ตั้งอยู่ของคุณธรรม หรือว่าเป็นฐานะ คือความตั้งใจมั่นของคนที่สร้างสมคุณนั้นๆ. การตั้งใจมั่นคือปัญญา ชื่อว่าปัญญาธิฏฐาน.
               ก็ในที่นี้ พระมูสิยาภยเถระกล่าวไว้ว่า บัณฑิตพึงทราบว่า ปัญญาในมรรคและผล ท่านกล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่หนึ่ง. วาจาสัตย์ กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สอง. การบริจาคอามิส กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สาม. การสงบกิเลส กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สี่.
               อีกอย่างหนึ่ง ปัญญาในผล เริ่มต้นแต่กัมมัสสกตาปัญญาหรือวิปัสสนาปัญญา กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่หนึ่ง พระนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถสัจจะ เริ่มต้นแต่วาจาสัตย์ กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สอง การสละกิเลสด้วยอรหัตตมรรค เริ่มต้นแต่การบริจาคอามิส กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สาม การสงบกิเลสด้วยอรหัตตมรรค เริ่มต้นแต่การข่มกิเลสได้ด้วยสมาบัติ กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สี่.
               อีกอย่างหนึ่ง ปัญญาในอรหัตตผล กล่าวไว้ด้วยปัญญาธิฏฐานข้อหนึ่ง ปรมัตถสัจจะ กล่าวไว้ด้วยปัญญาธิฏฐานข้อที่เหลือ อีกอย่างหนึ่ง ปรมัตถสัจจะ กล่าวไว้ด้วยสัจจาธิฏฐานข้อหนึ่ง ปัญญาในอรหัตตผล กล่าวไว้ด้วยปัญญาธิฏฐานที่เหลือ ดังนี้.

               ปญฺหพฺยากรณาทิจตุกฺกวณฺณนา               
               การพยากรณ์ปัญหา ท่านให้พิสดารแล้วในกถามหานิเทสนั้นแหละ.
               ข้อว่า กณฺหํ แปลว่า อกุศลกรรมบถสิบ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ. ข้อว่า กณฺหวิปากํ ได้แก่ ผลของอกุศลกรรม เพราะให้สัตว์ผู้ทำเกิดในอบาย.
               ข้อว่า สุกฺกํ ได้แก่ กุศลกรรมบถสิบ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายขาว. ข้อว่า สุกฺกวิปากํ ได้แก่ ผลของกุศลกรรม เพราะให้สัตว์ผู้ทำเกิดในสวรรค์.
               ข้อว่า กณฺหสุกฺกํ ได้แก่ กรรมที่ระคนกัน. ข้อว่า กณฺหสุกฺกวิปากํ ได้แก่ ผลที่เป็นสุขและเป็นทุกข์.
               จริงอยู่ บุคคลที่ทำกรรมอันเจือกันไปเกิดในที่แห่งช้างมงคลเป็นต้น ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เพราะอกุศล เสวยสุขในปัจจุบัน เพราะกุศล. บุคคลผู้เกิดแม้ในราชตระกูลเพราะกุศล ย่อมเสวยทุกข์ในปัจจุบันด้วยอกุศล.
               ข้อว่า ไม่ดำไม่ขาว ความว่า ท่านประสงค์เอาญาณในมรรค ๔ อันทำความสิ้นกรรม.
               จริงอยู่ กรรมนั้นถ้าเป็นกรรมฝ่ายดำ (อกุศล) ก็พึงให้ผลของกรรมฝ่ายดำ ถ้าเป็นกรรม ฝ่ายขาว (กุศล) ก็พึงให้ผลของกรรมฝ่ายขาว. กรรมที่ชื่อว่า ไม่ดำไม่ขาว เพราะไม่ให้ผลทั้งสอง เพราะมีผลไม่ดำไม่ขาว ในข้อนี้ มีอธิบายดังว่ามานี้.
               ข้อว่า สจฺฉิกรณียานิ ความว่า พึงทำให้แจ้ง โดยทำให้ประจักษ์และโดยการได้เฉพาะ.
               บทว่า จกฺขุนา ได้แก่ ทิพยจักษุ. ข้อว่า กาเยน ได้แก่ สหชาตนามกาย. ข้อว่า ปญฺญาย ได้แก่ ญาณในอรหัตตผล.
               ในบทว่า โอฆะ มีวิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่าโอฆะ เพราะอรรถว่ากดคือทำสัตว์ให้จมลงในวัฏฏะ. บรรดาโอฆะนั้น ความกำหนัดที่เกี่ยวเนื่องกับกามคุณ ๕ ชื่อว่าโอฆะคือกาม. ความกำหนัดด้วยความพอใจในรูปภพและอรูปภพ ชื่อว่าโอฆะคือภพ. ความติดใจในญาณ และความกำหนัดที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิ ก็เหมือนกัน. ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่าโอฆะคือทิฏฐิ.
               ที่ชื่อว่าโยคะ เพราะอรรถว่า ประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ.
               โยคะเหล่านั้นพึงทราบว่าเหมือนโอฆะ.
               ที่ชื่อว่าวิสังโยค เพราะอรรถว่าไม่ประกอบสัตว์ไว้. ในวิสังโยคนั้น อสุภฌาน ชื่อว่าการไม่ประกอบไว้ด้วยกามโยคะ อนาคามิมรรคที่บุคคลบรรลุโดยทำอสุภฌานนั้นให้เป็นบาท ชื่อว่าการไม่ประกอบด้วยกามโยคะ โดยส่วนเดียวทีเดียว. อรหัตตมรรค ชื่อว่าการไม่ประกอบด้วยภวโยคะ. โสดาปัตติมรรค ชื่อว่าการไม่ประกอบในทิฏฐิโยคะ. อรหัตตมรรค ชื่อว่าการไม่ประกอบในอวิชชาโยคะ.
               กิเลสที่ชื่อว่า คันถา ด้วยสามารถผูก (สัตว์) ไว้. ที่ชื่อว่ากายคันถะ เพราะอรรถว่าผูกคือพัน ได้แก่ร้อยรัดนามกายและรูปกายไว้ในวัฏฏะ. ข้อว่า อิทํสจฺจาภินิเวโส ความว่า อภินิเวส คือทิฏฐิที่เป็นไปอย่างนี้ว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า ดังนี้.๑-
____________________________
๑- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๔๐

               ข้อว่า อุปาทานานิ ได้แก่ การยึดมั่นถือมั่น. ความกำหนัด ชื่อว่ากาม. กามนั้นนั่นแหละ ชื่อว่ากามุปาทาน เพราะอรรถว่าถือมั่น ด้วยอรรถว่ายึดไว้. มิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่าทิฏฐิ. ทิฏฐิแม้นั้น ชื่อว่าทิฏฐุปาทาน เพราะอรรถว่าถือมั่น ด้วยอรรถว่ายึดถือไว้. การยึดถือศีลพรตอย่างนี้ว่า ความหมดจดมีได้ด้วยศีลพรตนี้ ชื่อว่าการยึดมั่นศีลพรต. ชื่อว่าอัตตวาทุปาทาน เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้เรียกว่าตน และเป็นเหตุแห่งการยึดมั่น.
               ข้อว่า โยนิโย แปลว่า ส่วนทั้งหลาย. เหล่าสัตว์ที่ชื่อว่าอัณฑชะ เพราะอรรถว่าเกิดในไข่. ชื่อว่าชลาพุชะ เพราะอรรถว่าเกิดในครรภ์. ชื่อว่าสังเสทชะ เพราะอรรถว่า เกิดในเหงื่อไคล. คำนี้เป็นชื่อของสัตว์ที่เกิดในที่นอน และในที่โสโครกมีปลาเน่า เป็นต้น. ที่ชื่อว่าโอปปาติกะ เพราะอรรถว่า เป็นเหมือนมาเกิดขึ้นโดยฉับพลัน.
               ในข้อนั้น นี้เป็นความแตกต่างกันระหว่างสัตว์เกิดในเหงื่อไคล กับสัตว์ที่เกิดผุดขึ้นในจำพวกเทวดาและมนุษย์. สัตว์จำพวกสังเสทชะ เกิดเป็นตัวอ่อนเล็กๆ. สัตว์จำพวกโอปปาติกะ เกิดเป็นตัวเท่ากับคนอายุ ๑๖ ปี.
               จริงอยู่ ในหมู่มนุษย์และภุมมเทวดาย่อมหากำเนิดสี่เหล่านี้ได้ครบ. ในจำพวกครุฑและนาคเป็นต้นซึ่งเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็เหมือนกัน.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาครุฑและนาคนั้น พวกครุฑซึ่งเป็นสัตว์ในไข่ ย่อมสังหารพวกนาค ซึ่งเป็นสัตว์เกิดในไข่ด้วยกัน แต่หาสังหารสัตว์จำพวกชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ ไม่.๑-
____________________________
๑- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๕๓๑

               เทวดาชั้นสูงๆ ขึ้นไปตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชิกา จัดเป็นจำพวกโอปปาติกะทั้งนั้น. สัตว์นรกก็เช่นกัน.
               ในจำพวกเปรตก็หากำเนิดได้ครบทั้ง ๔.
               การก้าวลงสู่ครรภ์ ท่านกล่าวไว้แล้วในสัมปสาทนียสูตร นั่นแล.
               ในการกลับได้อัตตภาพ สัตว์จำพวกที่หนึ่งพึงทราบด้วยอำนาจการขวนขวายในการเล่น จำพวกที่สองพึงทราบด้วยอำนาจสัตว์ในภายในเป็นต้น ซึ่งถูกสัตว์ภายในเป็นต้นทำลาย จำพวกที่สามพึงทราบด้วยอำนาจการประทุษร้ายทางใจจำพวกที่สี่พึงทราบด้วยอำนาจเทวดาที่เหลือชั้นสูงขึ้นไปเริ่มตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชิกา.
               จริงอยู่ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่ตายด้วยความจงใจของตนเอง ทั้งไม่ตายด้วยความจงใจของสัตว์อื่น.

               ทกฺขิณาวิสุทฺธาทิจตุกฺกวณฺณนา               
               ในข้อว่า ทกฺขณาวิสุทฺธิโย มีวิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่าทักษิณาวิสุทธิ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้ทักษิณากล่าวคือทาน หมดจดมีผลมาก.
               ข้อว่า ทายกโต วิสุชฌติ โน ปฏิคฺคาหกโต ความว่า ในทักษิณาใด ทายกเป็นคนมีศีล ถวายไทยธรรมที่เกิดขึ้นโดยธรรม แต่ปฏิคคาหก (ผู้รับ) เป็นคนทุศีล ทักษิณานี้เป็นเหมือนทักษิณาของพระเวสสันดรมหาราช.
               ข้อว่า ปฏิคฺคาหกโต วิสุชฺฌติ โน ทายกโต ความว่า ในทักษิณาใด ปฏิคคาหกเป็นคนมีศีล แต่ทายกเป็นคนเสียศีล ถวายไทยธรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่เป็นธรรม ทักษิณานี้เป็นเหมือนทักษิณาของคนฆ่าโจร.
               ข้อว่า เนว ทายกโต วิสุชฺฌติ โน ปฏิคฺคาหกโต ความว่า ในทักษิณาใดทั้งสองฝ่ายเป็นคนทุศีล ถึงไทยธรรมก็เกิดโดยไม่เป็นธรรม.
               จำพวกที่ ๔ พึงทราบโดยปริยายตรงกันข้าม.
               ข้อว่า สงฺคหวตฺถูนิ ความว่า เหตุแห่งการสงเคราะห์. การสงเคราะห์เหล่านั้น ท่านจำแนกไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               ข้อว่า อนริยโวหารา ความว่า โวหารของบุคคลผู้มิใช่อริยะ คือของคนลามก.
               ข้อว่า อริยโวหารา ความว่า โวหารของพระอริยะ คือสัตบุรุษ.
               ข้อว่า ทิฏฺฐวาทิตา ความว่า ความเป็นผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ว่า เราเห็นมา เป็นต้น. ก็ในข้อนี้ พึงทราบเนื้อความด้วยอำนาจเจตนาเป็นเหตุให้ถ้อยคำนั้นๆ ตั้งขึ้น.

               อตฺตนฺตปาทิจตุกฺกวณฺณนา               
               ในจำพวกชนที่มีตปะเป็นของตนเป็นต้น มีอธิบายดังนี้.
               จำพวกที่หนึ่ง ได้แก่อเจลกะ. จำพวกที่สอง ได้แก่บรรดาคนภายในเป็นต้นคนใดคนหนึ่ง. จำพวกที่สาม ได้แก่คนบูชายัญ. จำพวกที่สี่ ได้แก่คนผู้ปฏิบัติชอบในศาสนา.
               ในจำพวกชนผู้ที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตนเป็นต้น มีอธิบายดังนี้.
               จำพวกที่หนึ่ง ได้แก่คนที่ตนเองเพรียบพร้อมด้วยคุณมีศีลเป็นต้น แต่ไม่ชักชวนคนอื่นในคุณมีศีลเป็นต้น เปรียบเหมือนท่านพระวักกลิเถระฉะนั้น. จำพวกที่สอง ได้แก่คนที่ตนเองไม่สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น แต่ชักชวนคนอื่นในคุณมีศีลเป็นต้น เปรียบเหมือนท่านพระอุปนันทะฉะนั้น. จำพวกที่สาม ได้แก่คนที่ตนเองก็ไม่สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น และไม่ชักชวนคนอื่นในคุณมีศีลเป็นต้น เปรียบเหมือนพระเทวทัตต์ฉะนั้น. จำพวกที่สี่ ได้แก่บุคคลที่ตนเองก็สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น และทั้งชักชวนคนอื่นในคุณมีศีลเป็นต้น เปรียบเหมือนพระมหากัสสปฉะนั้น.
               ในบุคคลที่ชื่อว่า มืด เป็นต้นมีอธิบายดังนี้.
               ข้อว่า ตโม ได้แก่ คนที่มืดสนิท.
               ข้อว่า ตมปรายโน ความว่า คนที่ชื่อว่า ตมปรายโน เพราะอรรถว่ามีความมืดนั่นแล เป็นทางดำเนินไป คือไปในเบื้องหน้า. ในทุกๆ บทพึงทราบเนื้อความอย่างนี้.
               ก็ในคนสี่จำพวกนี้ จำพวกที่หนึ่งเกิดในอัตตภาพที่เลว มีการเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง มีตระกูลคนจัณฑาลเป็นต้น ซึ่งเป็นตระกูลต่ำ ทำทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์. จำพวกที่สองก็เป็นคนอย่างนั้น แต่บำเพ็ญสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์. จำพวกที่ ๓ บังเกิดในอัตตภาพที่สมบูรณ์ มีข้าวและน้ำมาก มีตระกูลกษัตริย์เป็นต้น ซึ่งเป็นตระกูลอันโอฬาร แต่ทำทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์. จำพวกที่ ๔ ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน แต่บำเพ็ญสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์.
               ข้อว่า สมณมจโล ความว่า สมณะผู้ไม่หวั่นไหว. อักษร เป็นเพียงบทสนธิ.
               สมณะผู้ไม่หวั่นไหวนั้น พึงทราบ (ว่า) ได้แก่พระโสดาบัน.
               จริงอยู่ พระโสดาบัน ชื่อว่าสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เพราะอรรถว่าเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ด้วยการกล่าวร้ายของคนอื่น เหมือนเสาเขื่อนไม่หวั่นไหวเพราะลมทั้ง ๔ ฉะนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธาอันไม่คลอนแคลน.
               สมจริงตามคำที่ท่านกล่าวไว้แล้ว ความพิสดารว่า๑-
               ก็บุคคลคนไหน ชื่อว่าสมณะผู้ไม่หวั่นไหว บุคคลบางคนในโลกนี้ (ที่ชื่อว่าสมณะผู้ไม่หวั่นไหว) เพราะสิ้นสังโยชน์ ๓.
               ส่วนพระสกทาคามี ชื่อว่าสมณะดอกปทุม เพราะอรรถว่ามีราคะโทสะและโมหะเบาบาง. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็บุคคลคนไหน ชื่อว่าสมณะดอกปทุม บุคคลบางคนในโลกนี้มาสู่โลกนี้ครั้งเดียวเท่านั้น ย่อมทำความสิ้นทุกข์ได้ บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าสมณะดอกปทุม.
               พระอนาคามี ชื่อว่าสมณะดอกบุณฑริก เพราะอรรถว่าจักตรัสรู้ (บาน) พลันทีเดียว เพราะไม่มีราคะและโทสะ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บุคคลคนไหน ชื่อว่าสมณะดอกบุณฑริก บุคคลบางคนในโลกนี้ (ละ) สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ฯลฯ บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าสมณะดอกบุณฑริก.
               ส่วนพระอรหันต์ ชื่อว่าสมณะสุขุมาล (สมณะผู้ละเอียดอ่อน) ในบรรดาสมณะ (ด้วยกัน) เพราะไม่มีกิเลสทุกอย่างที่ทำให้กระด้าง. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็ในบรรดาสมณะบุคคลคนไหน ชื่อว่าสมณะสุขุมาละ บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ฯลฯ สำเร็จอยู่ บุคคลนี้ ท่านเรียกสมณสุขุมาละ ในบรรดาพระสมณะทั้งหลาย.๑-
____________________________
๑- อภิ. ปุ เล่ม ๓๖/ข้อ ๑๔๐

               คำว่า อิเม โข อาวุโส เป็นต้น บัณฑิตพึงประกอบเข้าด้วยกันตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               พระเถระเมื่อกล่าว (แก้) ปัญหาสองร้อยข้อด้วยสามารถแห่งจตุกห้าสิบถ้วน ด้วยประการฉะนี้ ก็ชื่อว่าแสดงแล้วซึ่งสามัคคีรส ดังนี้แล.
               จบธรรมหมวด ๔               

.. อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘]
อ่านอรรถกถา 11 / 1อ่านอรรถกถา 11 / 207อรรถกถา เล่มที่ 11 ข้อ 221อ่านอรรถกถา 11 / 364อ่านอรรถกถา 11 / 364
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=4501&Z=7015
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=6&A=4096
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=6&A=4096
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :