ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง

หน้าต่างที่ ๒ / ๕.

               อธิบาย ราช ศัพท์               
               ส่วน ราชศัพท์แห่งบทว่า สาลราชมูเล นั้น ย่อมยังต้นไม้นั้นนั่นเทียวให้สำเร็จความเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สุด อย่างประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ก็...แห่งต้นไทรใหญ่ที่ยืนต้นอย่างมั่นคง แม้ในที่อื่น. ในคำว่า สาลราชมูเล นั้นแยกออกเป็นสมาส ๒ อย่าง (ฉัฏฐีตัปปุริสสมาสว่า) สาลานํ ราชา (ราชาแห่งต้นไม้ทั้งหลาย) เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสาลราชาบ้าง และเป็น (วิเสสนบุพพบทกัมมธารยสมาสว่า) สาโล จ โส เชฏฺฐกฏฺเฐน ราชา จ ต้นสาละนั้นด้วย เป็นราชาเพราะหมายความว่าใหญ่ที่สุดด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสาลราชาบ้าง.
               บทว่า มูลํ แปลว่า ใกล้. เพราะว่า มูลศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่า ใกล้โคน ในประโยคมีอาทิว่า บุคคลพึงถอนโคน โดยที่สุดแม้มาตรว่า ลำต้นแฝก. มูลศัพท์ใช้ในเหตุที่ไม่ทั่วไป ในประโยคเป็นต้นว่า ความโลภเป็นรากเหง้าของอกุศล.
               อนึ่ง มูลศัพท์ใช้ในอรรถว่า ใกล้ ในประโยคเป็นต้นว่า ในเวลาเที่ยงวันเงาทับตัว ด้วยเหตุที่เงา (ของต้นไม้) จะทับตัวในเวลาเที่ยงวัน และใบไม้หล่นในเวลาสงัดลม เงาก็จะทับต้นไม้ ใบไม้ก็จะหล่นใกล้ต้นไม้. แต่ในที่นี้ มูลศัพท์ท่านประสงค์เอาอรรถว่า สมีปะ (ใกล้) เพราะฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในคำว่า สาลราชมูเล นี้อย่างนี้ว่า ในที่ใกล้แห่งต้นรังใหญ่.
               ในข้อนั้น พึงมีคำถามว่า ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในเมืองอุกกัฏฐาก่อนไซร้ ก็ไม่ควรกล่าวว่า ที่ใกล้ต้นรังใหญ่ในป่าสุภควัน. ถ้าว่าประทับอยู่ที่ใกล้ต้นรังใหญ่ในป่าสุภควันนั้นไซร้ ก็ไม่ควรกล่าวว่า ในเมืองอุกกัฏฐา. เพราะว่า พระองค์ไม่อาจจะประทับอยู่คราวเดียวกันในที่ ๒ แห่งได้.
               ตอบว่า ก็แล ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนี้. เราทั้งหลายได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า สัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่า ใกล้. เพราะฉะนั้น ฝูงโคเมื่อเที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นต้น ย่อมถูกเรียกว่าเที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคา ใกล้แม่น้ำยมุนาฉันใด แม้ในที่นี้ก็ฉันนั้น คือพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ในป่าสุภควัน ใกล้เมืองอุกกัฏฐา (และ) ในที่ใกล้ต้นรังใหญ่ ท่านก็เรียกว่า ประทับอยู่ใกล้ต้นรังใหญ่ในป่าสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐา ดังนี้.
               ก็คำว่า อุกฺกฏฺฐา เป็นคำมีความหมายบ่งถึงโคจรคาม. ถึงคำว่า สุภควนํ เป็นคำที่มีความหมายบ่งถึงสถานที่อยู่ที่เหมาะแก่บรรพชิต. ใน ๒ คำนั้น ท่านพระอานนท์แสดงการทรงทำความอนุเคราะห์ต่อคฤหัสถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการระบุถึงเมืองอุกกัฏฐา แสดงการทรงทำความอนุเคราะห์ต่อบรรพชิต ด้วยการระบุถึงป่าสุภควัน.
               อนึ่ง ท่านพระอานนท์แสดงการเว้นอัตตกิลมถานุโยค โดยทรงรับปัจจัยด้วยคำต้น (อุกฺกฏฺฐา) แสดงการเว้นกามสุขัลลิกานุโยค โดยทรงละวัตถุกามด้วยคำหลัง (สุภควนํ) ท่านแสดงพระวิริยะในการทรงแสดงพระธรรมด้วยคำต้น. แสดงพระอัธยาศัยที่น้อมไปในวิเวกด้วยคำหลัง. แสดงการเข้าถึงพระกรุณาคุณด้วยคำต้น. การเข้าถึงพระปัญญาคุณด้วยคำหลัง. แสดงความที่พระองค์มีพระอัธยาศัยน้อมไปในการยังประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยคำต้น. แสดงความเป็นผู้ไม่หวังผลตอบแทนในการทำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ผู้อื่นด้วยคำหลัง. แสดงการประทับอยู่อย่างสุขสำราญ เสียสละความสุขที่ชอบธรรมเป็นเครื่องหมายด้วยคำต้น. แสดงการประทับอยู่อย่างสุขสำราญ มีการหมั่นประกอบในอุตตริมนุสสธรรมเป็นเครื่องหมายด้วยคำหลัง. แสดงความเป็นผู้มีอุปการะมากแก่มนุษย์ทั้งหลายด้วยด้วยคำต้น. แสดงความเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เทวดาทั้งหลายด้วยคำหลัง. แสดงความที่พระองค์อุบัติในโลกแล้วเป็นผู้เจริญพร้อม (ทุกด้าน) ในโลกด้วยคำต้น. แสดงความเป็นผู้ไม่ติดอยู่กับโลกด้วยคำหลัง.
               ท่านพระอานนท์แสดงการยังประโยชน์ที่เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นนั้นให้สำเร็จด้วยคำต้น เพราะพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเอก เมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, บุคคลเอกคือใคร คือพระตถาคตเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ, แสดงการประทับอยู่อันสมควรแก่สถานที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นด้วยคำหลัง.
               พึงทราบการประกอบความในคำว่า ยทตฺถํ ภควา อุปฺปนฺโน ตทนุรูปวิหารํ นั้นโดยนัยเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นที่เป็นโลกีย์และโลกุตตระ คือครั้งแรกประสูติที่ลุมพินีวัน ครั้งที่ ๒ ตรัสรู้ที่ควงไม้โพธิ์ เพราะเหตุนั้น พระอานนทเถระจึงแสดงที่ประทับสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นในป่าทั้งหมด.
               บทว่า ตตฺร เป็นบทแสดงถึงสถานที่และเวลา.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในสมัยใด พระอานนทเถระแสดงสถานที่และเวลานั้นว่า ในสมัยนั้น และประทับอยู่ในที่ใกล้ต้นรังใหญ่ใด ในที่ใกล้ต้นรังใหญ่นั้น อีกอย่างหนึ่งย่อมทรงแสดงในสถานที่และเวลาที่ควรแสดง.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่ทรงแสดงธรรมในสถานที่หรือเวลาที่ไม่เหมาะ ก็ในข้อนี้มีคำเป็นต้นว่า ดูก่อนพาหิยะ เวลานี้ยังเป็นเวลาที่ไม่สมควรนะ ดังนี้เป็นเครื่องสาธก.
               ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ปทปูรณมัตตะ (สักว่าเป็นเครื่องทำบทให้เต็ม) บ้าง ในอรรถว่า อวธารณะ (ห้ามความอื่น) บ้าง ในอรรถว่า อาทิกาละ (กาลอันเป็นเบื้องต้น) บ้าง. ภควา เป็นบทแสดงถึงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นครูของโลก.
               บทว่า ภิกฺขุ เป็นบทกล่าวถึงบุคคลที่ควรจะได้ฟังพระเทศนา. อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ภิกฺขุ นี้ พึงทราบความหมายของคำโดยนัยเป็นต้นว่า ชื่อว่าภิกขุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ คือ ชื่อว่าภิกขุ เพราะอรรถว่าเข้าถึงการเที่ยวไปเพื่อภิกษา.
               บทว่า อามนฺเตสิ แปลว่า เรียก คือได้พูดด้วย (แต่) ในที่นี้มีความหมายอย่างนี้ว่า เตือนให้รู้สึก (ส่วน) ในที่อื่น ย่อมลงในอรรถว่า ญาปนะ (ให้ทราบ) บ้าง.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตขอเตือนเธอทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตขอประกาศให้เธอทั้งหลายทราบ ดังนี้.
               ลงในอรรถว่า เรียก บ้าง สมจริงดังพระองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงมา จงไปเรียกพระสารีบุตรมาตามคำของเราตถาคต.
               บทว่า ภิกฺขโว เป็นบทแสดงอาการเรียกมา.
               จริงอยู่ คำนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพราะสำเร็จมาแต่การประกอบคุณ คือความเป็นผู้มีปกติขอ (ของภิกษุเหล่านั้น).
               ก็นักศัพทศาสตร์ทั้งหลายสำคัญอยู่ว่า ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยคุณ คือความเป็นผู้ขอเป็นปกติบ้าง ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยคุณมีความเป็นผู้ขอเป็นธรรมดาเป็นต้นบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยคุณ คือความเป็นผู้มีปกติกระทำคำอนุโมทนาว่า "สาธุ" ในการขอบ้าง.
               ก็ด้วยคำที่สำเร็จมาจากการประกอบด้วยคุณ เช่นความเป็นผู้มีปกติขอเป็นต้นของภิกษุเหล่านั้น นั้นชื่อว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าประกาศจริยาวัตร (ของภิกษุเหล่านั้น) ที่คนชั้นสูงและคนชั้นต่ำคุ้นเคยกันแล้ว (เป็นการ) บำราบความเป็นผู้เห่อเหิมและความหดหู่ใจ (ของพวกเธอ) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นให้หันหน้ามาหาพระองค์ด้วยพระดำรัสที่มีการทอดพระเนตรดู ด้วยพระหฤทัยที่เยือกเย็นด้วยกระแสแห่งพระกรุณาเป็นเบื้องหน้า ทรงให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดความประสงค์จะฟังด้วยพระดำรัสที่แสดงความที่พระองค์ประสงค์จะตรัสสอนนั้นนั่นแล. และทรงประกอบภิกษุเหล่านั้นไว้ แม้ในการตั้งใจฟังด้วยดีด้วยพระดำรัสที่ทรงประสงค์จะเตือน (ภิกษุทั้งหลาย) ให้รู้สึกนั้นนั่นแล. เพราะคุณสมบัติแห่งหลักคำสอนเกี่ยวเนื่องอยู่กับการตั้งใจฟังด้วยดี.
               ถ้าหากจะมีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะเหตุไร เมื่อเทวดาและมนุษย์เหล่าอื่นมีอยู่ จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมา.
               ตอบว่า เพราะภิกษุทั้งหลายเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด อยู่ใกล้ และอยู่พร้อมเพรียงกันตลอดเวลา.
               อธิบายว่า พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั่วไปแก่บริษัททุกเหล่า และภิกษุทั้งหลายชื่อว่าเจริญที่สุดในบริษัท เพราะเป็นผู้เกิดขึ้นก่อนบริษัทอื่น, ชื่อว่าประเสริฐที่สุด เพราะมุ่งความเป็นบรรพชิตเป็นเบื้องหน้า ประพฤติคล้อยตามอย่างพระศาสดา และรับเอาคำสั่งสอนทั้งสิ้น, ชื่อว่าอยู่ใกล้ เพราะเมื่อนั่งอยู่ในที่นั้น ชื่อว่าอยู่ในสำนักของพระศาสดา, ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันอยู่ทุกเมื่อ เพราะเที่ยวไปใกล้สำนักพระศาสดา.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นภาชนะแห่งพระธรรมเทศนา เพราะให้เกิดการปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพร่ำสอน และเพราะเป็นบุคคลพิเศษ. อนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเฉพาะเจาะจงภิกษุบางพวกเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาด้วยอาการอย่างนี้.
               ในข้อนั้น พึงมีคำถามสอดเข้ามาว่า ก็เพื่อประโยชน์อะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงทรงเรียกภิกษุทั้งหลายมาก่อน ไม่ทรงแสดงธรรมเลยทีเดียว?
               ตอบว่า เพื่อให้เกิดสติ เพราะว่า ภิกษุทั้งหลายกำลังนั่งคิดเรื่องอื่นอยู่บ้าง นั่งใจลอยอยู่บ้าง นั่งพิจารณาธรรมอยู่บ้าง นั่งมนสิการกรรมฐานอยู่บ้าง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้น (ก่อนแล้ว) แสดงธรรม ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจจะกำหนดได้ว่า พระธรรมเทศนานี้มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย พระองค์ทรงแสดงเพราะเกิดเหตุอะไรขึ้น พึงรับเอาผิด หรือว่ารับเอาไม่ได้เลย เหตุนั้น เพื่อเป็นการเตือนสติภิกษุเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาก่อนแล้วแสดงธรรมในภายหลัง.
               คำว่า ภทนฺเต นั่นเป็นคำแสดงความเคารพ หรือเป็นการถวายคำตอบแด่พระศาสดา. อีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า ภิกฺขโว ชื่อว่าตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมา, ภิกษุเหล่านั้นเมื่อทูลว่า ภทนฺเต ชื่อว่าตอบรับพระผู้มีพระภาคเจ้า. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานคำเรียกเฉพาะว่า ภิกฺขโว ภิกษุทั้งหลายถวายคำตอบว่า ภทนฺเต.
               บทว่า เต ภิกฺขู หมายเอาพวกภิกษุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกมา.
               บทว่า ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ ความว่า (ภิกษุเหล่านั้น) ทูลรับพระพุทธฎีกา. อธิบายว่า หันหน้ามาฟัง คือน้อมรับ ได้แก่ทูลรับ.
               บทว่า ภควา เอตทโวจ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสูตรทั้งสิ้นนั้น คือที่จะพึงตรัสในบัดนี้.
               ก็นิทานพจน์ใดที่ประดับประดาด้วยกาละ เทศะ ผู้แสดง เรื่องราว บริษัทและประเทศ เหมือนท่าน้ำอันมีภูมิภาคขาวสะอาดเดียรดาษด้วยเมล็ดทรายคล้ายสุธาดลอันเกลื่อนกล่นไปด้วยแก้วมุกดา มีบันไดอันพิลาสรจนาด้วยแผ่นศิลาที่ขัดไว้จนไร้ราคี เพื่อง่ายต่อการลงสู่สระโบกขรณีที่สล้างไปด้วยดอกบัวเขียว มีน้ำใสสะอาดรสจืดสนิท เหมือนบันไดอันมีชั้นละเอียดอ่อนสำเร็จด้วยงาช้าง งามรุ่งเรืองเกิดแต่รัศมีของพวงแก้วมณีที่ร้อยด้วยลวดทองคำ เพื่อสะดวกต่อการก้าวขึ้นสู่พระมหาปราสาท มีฝาจัดได้สมส่วน แลกั้นด้วยไพทีอันวิจิตรที่มีองค์ (ดูเหมือน) จะเคลื่อนไหวได้ เหมือนมีประสงค์จะให้สูงเสียดทางเดินของดวงดาว เหมือนมหาทวารที่มีบานกว้างใหญ่อันติดตั้งไว้ดีแล้ว เพริศแพร้วเรืองรองด้วยทองเงินมณีมุกดาและแก้วประพาฬเป็นอาทิ เพื่อสะดวกต่อการเข้าไปสู่คฤหาสน์อันโสภิตไปด้วยอิสสริยสมบัติอันโอฬาร เป็นสถานขวักไขว่ไปด้วยผู้คนที่พูดจาหัวเราะด้วยเสียงอันไพเราะประสานกับเสียงกระทบของกำไลทองที่คล้องไว้เป็นระเบียบ อันพระอานนทเถระเจ้ากล่าวไว้แล้ว.
               การพรรณนาความแห่งนิทานพจน์นั้นเป็นอันจบบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้.

               เหตุเกิดพระสูตร ๔ อย่าง               
               บัดนี้ ถึงลำดับโอกาสที่จะพรรณนาพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดงโดยนัยมีอาทิว่า สพฺพธมฺมมูลปริยายํ ดังนี้.
               ก็การพรรณนาพระสูตรนี้ เพราะเมื่อได้พิจารณาเหตุที่ทรงยกพระสูตรขึ้นแสดงแล้วจึงกล่าวย่อมแจ่มแจ้ง ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักวิจารณ์เหตุที่ทรงยกพระสูตรขึ้นแสดงก่อน.
               อธิบายว่า เหตุที่ทรงยกพระสูตรขึ้นแสดงมี ๔ ประการ คือ
                         ๑. อัตตัชฌาสยะ เป็นไปตามพระอัธยาศัยของพระองค์
                         ๒. ปรัชฌาสยะ เป็นไปตามอัธยาศัยของผู้อื่น
                         ๓. ปุจฉาวสิกะ เป็นไปด้วยอำนาจการถาม
                         ๔. อัตถุปปัตติกะ เป็นไปโดยเหตุที่เกิดขึ้น
               ในบรรดาเหตุ ๔ ประการนั้น พระสูตรเหล่าใดที่คนอื่นมิได้ทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาโดยพระอัธยาศัยของพระองค์แต่ลำพังอย่างเดียวมีอาทิอย่างนี้คือ อากังเขยยสูตร วัตถสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร มหาสฬายตนวิภังคสูตร อริยวังสสูตร ส่วนแห่งสัมมัปปธานสูตร ส่วนแห่งอิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์และมรรค พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุที่ทรงยกขึ้นแสดงเป็นไปตามอัธยาศัยของพระองค์.
               อนึ่ง พระสูตรเหล่าใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งดูอัธยาศัย ความพอใจ ความชอบใจ อภินิหารและภาวะที่จะตรัสรู้ได้ของชนเหล่าอื่นอย่างนี้ว่า ธรรมะบ่มวิมุติของราหุลแก่กล้าแล้ว ถ้ากระไร เราตถาคตพึงแนะนำราหุลในอาสวักขยธรรมให้สูงขึ้น ดังนี้ (เป็นต้น) แล้วจึงตรัสด้วยอำนาจอัธยาศัยของผู้อื่น (นั้น) ตัวอย่างเช่น จุลลราหุโลวาทสูตร มหาราหุโลวาทสูตร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ธาตุวิภังคสูตร พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุที่ทรงยกขึ้นแสดง เป็นไปตามอัธยาศัยของผู้อื่น.
               อนึ่ง พระสูตรเหล่าใดที่เหล่าสัตว์ทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้คือ บริษัท ๔ วรรณะ ๔ นาค ครุฑ คนธรรพ์ อสูร ยักษ์ ท้าวมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นต้น และท้าวมหาพรหมพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามปัญหาโดยนัยมีอาทิว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โพชฌงค์ โพชฌงค์ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า นิวรณ์ นิวรณ์ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้หนอแล ในโลกนี้ อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคน เมื่อถูกถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเทศนามีโพชฌงคสังยุตเป็นต้น
               ก็หรือพระสูตรแม้อื่นเหล่าใด มีเทวดาสังยุต มารสังยุต พรหมสังยุต สักกปัญหสูตร จุลลเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สามัญญผลสูตร อาฬวกสูตร สูจิโลมสูตร ขรโลมสูตร เป็นต้น พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุที่ทรงยกขึ้นแสดง เป็นไปด้วยอำนาจการถาม.
               อนึ่ง พระสูตรเหล่านั้นใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรัสเทศนา ตัวอย่างเช่น ธัมมทายาทสูตร จุลลสีหนาทสูตร จันทูปมสูตร ปุตตมังสูปมสูตร ทารุกขันธูปมสูตร อัคคิกขันธูปมสูตร เผณปิณฑูปมสูตร ปาริฉัตตกูปมสูตร
               พระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่ามีเหตุที่ทรงยกขึ้นแสดง เป็นไปโดยเหตุที่เกิดขึ้น.
               ในบรรดาเหตุที่ยกขึ้นแสดง ๔ ประการดังพรรณนามานี้ มูลปริยายสูตรนี้มีเหตุที่ทรงยกขึ้นแสดงเป็นไปโดยเหตุที่เกิดขึ้น. ด้วยว่า มูลปริยายสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดงในเพราะเหตุที่เกิดขึ้น. ในเพราะเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไร? ในเพราะมานะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยปริยัติ.

               มานะเกิดเพราะปริยัติ               
               ดังได้สดับมา พราหมณ์ ๕๐๐ คนเรียนจบไตรเพท ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นอานิสงส์ในการออกบวช จึงออกบวชอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่อกาลไม่นานเลยก็เรียนเอาพระพุทธพจน์ทั้งหมด เพราะอาศัยการศึกษาเล่าเรียน จึงเกิดมานะขึ้นว่า พวกเรารู้พระพุทธพจน์ที่พระผู้มีภาคเจ้าตรัสไว้พลันทีเดียว เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่ตรัสเรื่องอะไรๆ นอกเหนือจากลิงค์ ๓ บท ๔ และวิภัตติ ๗ ก็เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าบทที่เป็นเงื่อนงำ (ไม่เข้าใจ) สำหรับพวกเราย่อมไม่มี ดังนี้.
               ภิกษุเหล่านั้นไม่มีความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า จำเดิมแต่นั้น ก็ไม่ไปอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง ไม่ไปฟังธรรมเป็นประจำบ้าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวารจิตนั้นของภิกษุเหล่านั้น ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ยังถอนตะปูคือมานะไม่ได้ ก็ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งมรรคหรือผล ทรงกระทำมานะที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยการเล่าเรียนสุตะของภิกษุเหล่านั้นให้เป็นต้นเหตุเกิดเรื่อง จึงเริ่มการแสดงธรรมว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ฉลาดในการแสดงมูลปริยายสูตรแห่งธรรมทั้งปวง เพื่อจะหักเสียซึ่งมานะ (ของภิกษุเหล่านั้น) ดังนี้.

               ความหมายของมูลปริยายสูตรและธรรมะ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพธมฺมมูลปริยายํ แปลว่า พระสูตรว่าด้วยเหตุที่เป็นมูลฐานแห่งธรรมทั้งปวง.
               บทว่า สพฺเพสํ แปลว่า ไม่มีส่วนเหลือ.
               จริงอยู่ ศัพท์ว่า สัพพะ นี้บ่งถึงความไม่มีส่วนเหลือ. ศัพท์ว่า สัพพ นั้นย่อมแสดงถึงสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันไม่ให้เหลือ เหมือนอย่างในประโยคเป็นต้นว่า รูปทั้งปวงไม่เที่ยง เวทนาทั้งปวงไม่เที่ยง ในบรรดาธรรมที่เกี่ยวเนื่องในกายของตนทั้งหมด ดังนี้.
               ส่วนศัพท์ว่า ธัมมะ นี้ย่อมปรากฏในศัพท์เป็นต้นว่า ปริยัตติ สัจจะ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา ปุญญะ อาปัตติ และเญยยะ.
               จริงอยู่ ศัพท์ว่า ธัมมะ ย่อมปรากฏในอรรถว่า ปริยัตติ ดังในประโยคเป็นต้นว่า ภิกษุในพระธรรมวินัย ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ดังนี้.
               ปรากฏในอรรถว่า สัจจะ ดังในประโยคเป็นต้นว่า พระธรรมอันบัณฑิตเห็นแล้ว คือรู้แล้ว ดังนี้.
               ปรากฏในอรรถว่า สมาธิ ดังในประโยคเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นมีธรรมอย่างนี้.
               ปรากฏในอรรถว่า ปัญญา ในประโยคเป็นต้นว่า
                         ดูก่อนพญาวานร ท่านผู้ใดมีธรรม ๔ เหล่านี้คือ
                         สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ ดุจท่าน ท่านผู้นั้น
                         ย่อมก้าวล่วง (ไม่ตกอยู่) ในอำนาจศัตรู ดังนี้.
               ปรากฏในอรรถว่า ปกติ ในประโยคเป็นต้นว่า มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา ดังนี้.
               ปรากฏในอรรถว่า สภาวะ ในประโยคเป็นต้นว่า กุศลธรรม ดังนี้.
               ปรากฏในอรรถว่า สุญญตา ในประโยคเป็นต้นว่า ก็ในสมัยนั้นแล พระธรรมทั้งหลายย่อมมี ดังนี้.
               ย่อมปรากฏในอรรถว่า ปุญญะ (บุญ) ในประโยคเป็นต้นว่า พระธรรมที่ประพฤติดีแล้ว (สะสมไว้ดีแล้ว) ย่อมนำสุขมาให้ ดังนี้.
               ย่อมปรากฏในอรรถว่า อาปัตติ ในประโยคเป็นต้นว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นอนิยต ๒ ประการ ดังนี้.
               ปรากฏในอรรถว่า เญยยะ ในประโยคเป็นต้นว่า พระธรรมทั้งปวงย่อมมาสู่คลองในพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยอาการทั้งปวง ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ ธัมมะศัพท์นี้ ย่อมเป็นไปในอรรถว่า สภาวะ. ในคำว่า ธรรมนั้นมีอรรถพจน์ดังนี้ว่า สภาวะเหล่าใดย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน เหตุนั้น สภาวะเหล่านั้น ชื่อว่า ธรรมะ.
               มูล ศัพท์ ท่านกล่าวไว้พิสดารด้วยทีเดียว. แต่ในที่นี้มูลศัพท์นี้ พึงทราบว่า ลงในอรรถว่า เหตุที่ไม่ทั่วไป.
               ปริยาย ศัพท์ ย่อมลงในอรรถว่า เทศนา ดังในประโยคเป็นต้นว่า ท่านจงจำพระสูตรนั้นว่า มธุปิณฑปริยายสูตร ดังนี้.
               ปริยายศัพท์ ลงในอรรถว่า การณะ (เหตุ) ดังในประโยคเป็นต้นว่า พระสมณโคดมผู้เป็นอกิริยวาที เพื่อตรัสโดยชอบ พึงตรัสกะเราโดยเหตุใด ดูก่อนพราหมณ์ เหตุนั้นแล มีอยู่ ดังนี้.
               ลงในอรรถว่า วาระ ในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนอานนท์ วันนี้เป็นวาระของใครหนอแล เพื่อจะกล่าวสอนนางภิกษุณีทั้งหลายดังนี้.
               แต่ในที่นี้ (ปริยายศัพท์นั้น) ย่อมลงในอรรถว่า การณะบ้าง เทศนาบ้าง. เพราะฉะนั้น ปริยายศัพท์ ในคำนี้ว่า สพฺพธมฺมมูลปริยายํ ดังนี้ พึงทราบอย่างนี้ว่า การณะที่รู้กันว่า เหตุที่ไม่ทั่วไปแก่ธรรมทั้งปวง หรือว่าเทศนา คือการณะ (เหตุ) แห่งธรรมทั้งปวง ดังนี้.
               อนึ่ง สภาวธรรมทั้งหลาย แม้ที่เป็นในภูมิ ๔ ไม่พึงเข้าใจว่า ชื่อว่าธรรมทั้งปวง เพราะเหตุที่สูตรนั้นมีเนื้อความที่จะต้องแนะนำ แต่สภาวธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ เท่านั้นที่นับเนื่องในสักกายทิฏฐิ พึงเข้าใจว่า ธรรมทั้งปวงโดยไม่มีส่วนเหลือ. ในข้อนี้มีการอธิบายความดังว่ามานี้แล.

               หลักการใช้ โว ศัพท์               
               โว ศัพท์ในบทว่า โว นี้ย่อมใช้ในปฐมาวิภัตติ ทุติยาวิภัตติ ตติยาวิภัตติ จตุตถีวิภัตติ ฉัฏฐีวิภัตติ และปทปูรณะ (ทำบทให้เต็ม). อธิบายว่า
               โว ศัพท์ ใช้ในปฐมาวิภัตติ ดังในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนอนุรุทธะ ก็เธอทั้งหลาย ยังเป็นผู้สามัคคี บันเทิงอยู่ ไม่โกรธกันอยู่หรือ ดังนี้.
               ใช้ในทุติยาวิภัตติ ดังในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงไป เราตถาคตขอประณามพวกเธอ ดังนี้.
               ใช้ในตติยาวิภัตติ ดังในประโยคเป็นต้นว่า อันพวกเธอไม่ควรอยู่ในสำนักของเราตถาคต ดังนี้.
               ใช้ในจตุตถีวิภัตติ ดังในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงวนปัตถปริยายสูตรแก่พวกเธอ ดังนี้
               ใช้ในฉัฏฐีวิภัตติ ดังในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนสารีบุตรและโมคคัลลานะ นี้เป็นสุภาษิตของเธอทั้งปวง ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า สักว่าทำบทให้เต็ม ดังในประโยคเป็นต้นว่า ก็พระอริยะเหล่าใดมีกายกรรมบริสุทธิ์ ดังนี้.
               แต่ในที่นี้ โว ศัพท์นี้พึงทราบว่าใช้ในจตุตถีวิภัตติ.
               บทว่า ภิกฺขเว เป็นการตรัสเรียกภิกษุที่อยู่เฉพาะพระพักตร์ซ้ำอีกด้วยการให้รับฟัง.
               บทว่า เทเสสฺสามิ เป็นการเตือนให้รู้ว่าจะแสดงธรรม. อธิบายไว้ดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย, เราจักแสดงเทศนาอันเป็นตัวเหตุโดยนัยที่ ๒ แก่พวกเธอ ดังนี้.
               สองบทว่า ตํ สุณาถ ความว่า เธอทั้งหลายจงฟังใจความนั้น คือเหตุนั้น ได้แก่เทศนานั้นที่เราจะกล่าวอยู่. ก็ ๒ บทนี้ว่า สาธุกํ สาธุ ในคำนี้ว่า สาธุกํ มนสิกโรถ ดังนี้ มีใจความอันเดียวกัน.

               หลักการใช้ สาธุ ศัพท์               
               อนึ่ง สาธุ ศัพท์นี้ ใช้ในบททั้งหลายเป็นต้นว่า อายาจนะ (อ้อนวอน) สัมปฏิจฉนะ (รับ) สัมปหังสนะ (ร่าเริง) สุนทระ (ดี) และทัฬหีกรรม (ทำให้มั่น).
               อธิบายว่า :-
               สาธุศัพท์ใช้ในอรรถว่า อ้อนวอน ดังในประโยคเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงพระธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยสังเขป ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า รับ ดังในประโยคเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นแล ชื่นชมยินดีสุภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดีละ พระพุทธเจ้าข้า ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า ร่าเริง ดังในประโยคเป็นต้นว่า ดีละๆ สารีบุตร ดังนี้.
               ใช้ในอรรถว่า ดี ดังในประโยคเป็นต้นว่า
                         พระราชาผู้รักธรรม เป็นคนดี,
                         คนที่มีปัญญา (ใช้ปัญญาในทางดี) เป็นคนดี,
                         คนที่ไม่ทำลายมิตรเป็นคนดี,
                         การไม่ทำบาป เป็นความดี ดังนี้.
               สาธุกศัพท์ ก็เหมือนกัน ใช้ในอรรถว่า กระทำให้มั่น ท่านกล่าวไว้ว่า ใช้ในอรรถว่า บังคับบ้าง ดังในประโยคเป็นต้นว่า ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟังให้ดี ดังนี้.
               ถึงในพระสูตรนี้ ก็พึงเข้าใจความหมายอย่างเดียวกันนี้ ใช้ทั้งในการทำให้มั่น ทั้งในการบังคับนี้แหละ แม้จะใช้ในอรรถว่า ดี ก็ควร.
               จริงอยู่ ด้วยสาธุกศัพท์ที่มีความหมายว่า ทำให้มั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแม้คำนี้ว่า เธอทั้งหลายเมื่อจะเรียนให้ดี จงฟังธรรมนี้ให้มั่น, ที่มีความหมายว่า บังคับ ทรงแสดงคำแม้นี้ว่า เธอทั้งหลายจงฟังตามอาณัติของเรา. ที่มีความหมายว่า ดี ทรงแสดงคำแม้นี้ว่า เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนี้ให้ดี ให้งาม.
               บทว่า มนสิกโรถ ความว่า สนใจ คือใส่ใจ. อธิบายว่า มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน พิจารณาคือกระทำไว้ในใจ ดังนี้.
               บัดนี้ คำว่า ตํ สุณาถ นี้ ในอธิการนี้เป็นการห้ามความฟุ้งซ่านแห่งโสตินทรีย์. คำว่า สาธุกํ มนสิกโรถ เป็นการห้ามความฟุ้งซ่านแห่งมนินทรีย์ ด้วยการประกอบทำให้มั่นไว้ในใจ.
               อนึ่ง ใน ๒ คำนี้ คำแรกเป็นการห้ามถือเอาผิดโดยพยัญชนะ คำหลังเป็นการห้ามถือเอาผิดโดยอรรถ. ดังในประโยคเป็นต้นว่า ท่านประกอบการฟังธรรมด้วยคำแรก ประกอบการทรงจำและการใคร่ครวญธรรมะที่ได้สดับแล้วด้วยคำหลัง.
               อนึ่ง ท่านแสดงว่า พระธรรมนี้ถึงพร้อมด้วยพยัญชนะด้วยข้อแรก เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งควรฟัง และท่านแสดงว่า พระธรรมนี้ถึงพร้อมด้วยอรรถด้วยคำหลัง เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจ.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะเอาบทว่า สาธุกะ ประกอบเข้าไว้ด้วยกันทั้ง ๒ บท บัณฑิตพึงทราบการประกอบความอย่างนี้ว่า เพราะเหตุที่พระธรรมนี้เป็นพระธรรมที่ลึกซึ้ง และเป็นเทศนาที่ลึกซึ้ง ฉะนั้น เธอทั้งหลายจงฟังให้ดี. เพราะเหตุที่พระธรรมนี้มีความหมายอันลึกซึ้งและมีปฏิเวธอันลึกซึ้ง ฉะนั้น เธอทั้งหลายจงใส่ใจไว้ให้ดี ดังนี้.
               บทว่า ภาสิสฺสามิ แปลว่า เราตถาคตจักแสดง คือจักแสดงเทศนาที่ประกาศไว้ในคำนี้ว่า เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้นโดยไม่ย่นย่อทีเดียว.
               อีกประการหนึ่งแล มีอธิบายไว้ว่า เราจักกล่าวเรื่องนั้นแม้โดยพิสดาร ดังนี้.
               จริงอยู่ บทเหล่านี้ระบุเนื้อความทั้งโดยย่อและพิสดาร.
               สมดังที่พระวังคีสเถระกล่าวไว้ว่า
                         ท่านจะแสดงโดยย่อก็ตาม จะกล่าวโดยพิสดารก็ตาม
                         เสียงไม่ก้องกังวานดุจนกสาลิกา แต่ก็แสดงอย่างมี
                         ปฏิภาณ ดังนี้.
               เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นแลเกิดอุตสาหะรับพระพุทธดำรัส. อธิบายว่า รับเอา คือถือเอาพระดำรัสของพระศาสดาว่า อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ คือได้ตรัสพระสูตรทั้งสิ้นนี้ คือที่จะต้องกล่าวต่อไปนี้มีเป็นต้นว่า อิธ ภิกฺขเว ดังนี้.
               บทว่า อิธ ในคำว่า อิธ ภิกฺขเว นั้นเป็นนิบาต ใช้ในการอ้างสถานที่.
               ในที่บางแห่งพระองค์ตรัสหมายเอา โลก.
               สมดังพระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า พระตถาคตย่อมเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ ดังนี้.
               ในที่บางแห่ง ท่านกล่าวหมายเอา ศาสนา.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะ (ที่ ๑) ในพระศาสนานี้แลมีอยู่ สมณะที่ ๒ ในพระศาสนานี้มีอยู่ ดังนี้
               ในที่บางแห่ง ท่านกล่าวหมายเอาโอกาส ดังท่านกล่าวไว้ว่า
                         ดูก่อนเพื่อนร่วมทุกข์ เมื่อเราเกิดเป็นเทวดาดำรงอยู่
                         ในโอกาสนี้นั่นแล และเราได้อายุเพิ่มอีก ท่านจง
                         ทราบอย่างนี้ ดังนี้.
               ในที่บางแห่ง ท่านกล่าวหมายเอาเพียงทำบทให้เต็มเท่านั้น.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เราตถาคตบริโภคเสร็จแล้ว ห้ามภัตรแล้ว ดังนี้.
               แต่ในที่นี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอา โลก ดังนี้.
               บทว่า อิธ ภิกฺขเว ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาอีก เพื่อทรงแสดงเทศนาตามที่ได้ทรงปฏิญาณไว้.
               แม้ด้วยบททั้ง ๒ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้ ดังนี้.

               ความหมายของปุถุชน               
               ก็ในบทว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               ปุถุชน ชื่อว่าเญยยะ เพราะไม่มีอาคม ชื่อว่าอัสสุตวา เพราะไม่มีอธิคม.
               อธิบายว่า ปุถุชนใด ชื่อว่าไม่มีอาคมที่ขจัดความไม่รู้ เพราะไม่รู้เหตุที่เว้นจากการเรียน การสอบถามและการวินิจฉัยในขันธ์ ธาตุ อายตนะ สัจจะ ปัจจยาการและสติปัฏฐานเป็นต้น. ชื่อว่าไม่มีอธิคม เพราะไม่ได้บรรลุธรรมที่จะพึงบรรลุด้วยการปฏิบัติ. ปุถุชนนั้นจึงชื่อว่าเญยยะ เพราะไม่มีอาคม ชื่อว่าอัสสุตวา เพราะไม่มีอธิคม.
                         ชนนี้นั้น ชื่อว่า ปุถุชน เพราะเหตุทั้งหลายมีการ
                         ยังกิเลสหนาให้เกิดเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ชนนี้
                         ชื่อว่า หนา (ปุถุ) เพราะหยั่งลงภายในกิเลสที่หนา.
               จริงอยู่ ชนนั้น ชื่อว่าปุถุชน เพราะเหตุทั้งหลายมีอาทิคือ ยังกิเลสเป็นต้นที่หนามีประการต่างๆ ให้เกิด. สมดังพระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า ชนทั้งหลาย ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ายังกิเลสหนาให้เกิด, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าถูกสักกายทิฏฐิเบียดเบียนมาก, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าต้องคอยมองดูศาสดาบ่อยๆ, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ายังไม่หลุดพ้นไปจากคติทั้งปวงที่หนาแน่น, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าปรุงแต่งเครื่องปรุงแต่งต่างๆ เป็นอันมาก, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าถูกโอฆะต่างๆ เป็นอันมากพัดพาไป, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนต่างๆ เป็นอันมาก, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนต่างๆ เป็นอันมาก, ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่ากำหนัด ติดใจ สยบ ลุ่มหลง ติดขัด ขัดข้อง พัวพันในกามคุณ ๕ เป็นอันมาก. ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่าถูกนิวรณ์ ๕ ร้อยรัดไว้ ปกคลุม ปิดบัง ครอบงำไว้เป็นอันมาก. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะอยู่ในหมู่ชนผู้มีธรรมจริยาต่ำ ผู้หันหลังให้กับอริยธรรม. จำนวนมาก คือนับไม่ถ้วน ซึ่งหันหลังให้อริยธรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าปุถุชน เพราะอรรถว่า ชนนี้ถึงการนับว่าแยกอยู่ต่างหาก คือไม่เกี่ยวข้องกับพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลและสุตะเป็นต้น.
               ด้วย ๒ บทว่า อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน นี้ ดังกล่าวมานี้.
                         ในบรรดาปุถุชน ๒ จำพวกที่พระพุทธเจ้าผู้เป็น
                         เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ได้ตรัสไว้ คือ อันธปุถุชน
                         พวกหนึ่ง กัลยาณปุถุชนพวกหนึ่ง พึงทราบว่า
                         ท่านกล่าวหมายถึงอันธปุถุชน.

               อริยะ-สัตบุรุษ               
               คำว่า อริยะ ในคำเป็นต้นว่า อริยานํ อทสฺสาวี ท่านกล่าวหมายเอาพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปในทางเจริญ และอันชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก พึงดำเนินตาม.
               อีกอย่างหนึ่ง พระอริยะในที่นี้ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง. สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต ท่านเรียกว่า อริยะ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ.
               อนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกของพระตถาคตเจ้า พึงทราบว่า สัตบุรุษ ในคำว่า สปฺปุริสา นี้ จริงอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่า โสภณบุรุษ. เพราะประกอบด้วยคุณอันเป็นโลกุตตระ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสัตบุรุษ.
               อีกอย่างหนึ่ง สัตบุรุษเหล่านั้นทั้งหมดเทียว ท่านกล่าวแยกออกเป็น ๒ พวก. จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าและพุทธสาวกก็ดี เป็นทั้งพระอริยะและสัตบุรุษ.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                         บุคคลใดแล เป็นนักปราชญ์ ผู้กตัญญูกตเวที เป็น
                         กัลยาณมิตร มีความภักดีมั่น กระทำการช่วยเหลือ
                         ผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยความเต็มใจ บัณฑิตทั้งหลาย
                         กล่าวผู้เช่นนั้นว่า สัตบุรุษ ดังนี้.
               จริงอยู่ ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า กลฺยาณมิตฺโต ทฬฺหภตฺติ จ โหติ ดังนี้ ท่านกล่าวหมายเอาพระพุทธสาวก, ด้วยคำว่า กตญฺญุตา เป็นต้น ท่านกล่าวหมายเอาพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้า ดังนี้แล.
               บัดนี้ ท่านผู้ใดมีปกติไม่เห็นพระอริยะเหล่านั้น และไม่ยินดีในการเห็น ผู้นั้นพึงทราบว่า มีปกติไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ดังนี้ และการเห็นนั้นแยกออกเป็น ๒ คือ ไม่เห็นด้วยตา ๑ ไม่เห็นด้วยญาณ ๑. ใน ๒ อย่างนั้น การไม่เห็นด้วยญาณ ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               จริงอยู่ พระอริยะทั้งหลายถึงบุคคลจะเห็นด้วยมังสจักษุหรือทิพยจักษุ ก็ยังไม่ชื่อว่าได้เห็น เพราะจักษุเหล่านั้นรับเอาเพียงอุปาทายรูป ไม่ใช้ยึดเอาความเป็นพระอริยะเป็นอารมณ์.
               อนึ่ง แม้สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอกเป็นต้น ย่อมเห็นพระอริยะทั้งหลายด้วยจักษุ แต่ว่า สุนัขบ้านเป็นต้นเหล่านั้นจะชื่อว่าได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย หามิได้.
               ในข้อนี้มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์

               อยู่กับพระอริยะ แต่ไม่รู้จักพระอริยะ               
               ดังได้สดับมา อุปัฏฐากของพระเถระผู้ขีณาสพผู้อยู่ในจิตตลดาบรรพต บวชเมื่อแก่ อยู่มาวันหนึ่ง เที่ยวไปบิณฑบาตกับพระเถระ รับเอาบาตรจีวรของพระเถระเดินตามหลังมา ถามพระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บุคคลเช่นไรชื่อว่า พระอริยะ
               พระเถระตอบว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนแก่ รับเอาบาตรและจีวรของพระเถระ ทำวัตรปฏิบัติแม้เที่ยวไปกับพระอริยะ ก็ย่อมไม่รู้จักพระอริยะ. โยม พระอริยะทั้งหลายรู้ได้ยากอย่างนี้ ดังนี้.
               เมื่อพระเถระแม้พูดอย่างนี้ อุปัฏฐากนั้นก็ยังหารู้ไม่.
               เพราะฉะนั้น การเห็นด้วยจักษุ ไม่ชื่อว่าเห็น การเห็นด้วยญาณเท่านั้น ชื่อว่าเห็น.
               สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
                         ดูก่อนวักกลิ ประโยชน์อะไรด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ อันเธอเห็นแล้ว,
                         ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นพระธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต ดังนี้.
               เพราะฉะนั้น บุคคลแม้เห็นอยู่ (ซึ่งพระอริยะ) ด้วยจักษุ แต่ไม่เห็นอนิจจลักษณะเป็นต้นที่พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นแล้วด้วยญาณ และไม่บรรลุธรรมที่พระอริยเจ้าบรรลุแล้ว พึงทราบว่า ไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลายเพราะธรรมที่ทำให้เป็นพระอริยะ และความเป็นพระอริยะอันบุคคลนั้นยังไม่เห็น ดังนี้
               สองบทว่า อริยธมฺมสฺส อโกวิโท ความว่า ไม่ฉลาดในอริยธรรมอันแยกออกเป็นสติปัฏฐานเป็นต้น.
               ก็ชื่อว่า วินัยมี ๒ อย่าง แต่ละอย่างในแต่ละประเภท มี ๕
               เพราะความไม่มีวินัยทั้ง ๒ นั้น อันนี้ท่านเรียกว่า อวินีต
               ในคำว่า อริยธมฺเม อวินีโต นี้.

               วินัย ๒ อย่าง               
               จริงอยู่ วินัยนี้มี ๒ อย่างคือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑. และวินัยแต่ละอย่างในวินัยแม้ทั้ง ๒ นี้ แยกออกเป็น ๕.
               จริงอยู่ แม้สังวรวินัยมี ๕ คือ สีลสังวร สติสังวร ญาณสังวร ขันติสังวรและวิริยสังวร. แม้ปหานวินัยก็มี ๕ อย่างเหมือนกัน คือตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน สมุจเฉทปหาน ปฏิปัสสัทธิปหาน และนิสสรณปหาน.
               สังวรวินัยทั้ง ๕ นั้น สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุเข้าถึงด้วยปาฏิโมกข์สังวรนี้ นี้เรียกว่าสีลสังวร.
               สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุย่อมรักษาจักขุนทรีย์ คือถึงการสำรวมในจักขุนทรีย์ นี้เรียกว่าสติสังวร.
               สังวรที่ตรัสไว้ว่า
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอชิตะ กระแส (ตัณหา)
                         เหล่าใด ในโลกมีอยู่ สติย่อมเป็นเครื่องห้ามกระแสเหล่า
                         นั้น เราตถาคตกล่าวสติว่าเป็นเครื่องระวังกระแสทั้งหลาย
                         กระแสเหล่านั้นอันบุคคลย่อมละด้วยปัญญา.
               นี้เรียกว่าญาณสังวร.
               สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุย่อมอดทนต่อหนาวและร้อน นี้เรียกว่าขันติสังวร.
               สังวรที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุย่อมหยุดกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ นี้เรียกว่าวิริยสังวร.
               อนึ่ง สังวรนี้แม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่า สังวร เพราะเป็นเครื่องระวังกายทุจริตและวจีทุจริตเป็นต้นที่ตนต้องระวังตามหน้าที่ของตน และเรียกว่าวินัย เพราะเป็นเครื่องขจัดกายทุจริตและวจีทุจริตเป็นต้นที่ตนต้องขจัดตามหน้าที่ของตน.
               สังวรวินัยพึงทราบว่า แยกออกเป็น ๕ ดังอธิบายมานี้ก่อน.

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1&Z=237
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :