ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง

หน้าต่างที่ ๔ / ๕.

               อธิบายอภิภูพรหม               
               ในวาระว่าด้วย อภิภู พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ที่ชื่อว่า อภิภู เพราะหมายความว่า ครอบงำ.
               ถามว่า ครอบงำซึ่งอะไร?
               ตอบว่า ครอบงำซึ่งอรูปขันธ์ ๔.
               คำว่า อภิภู นั่นเป็นชื่อของอสัญญีภพ. เหล่าเทพ (พรหม) อสัญญีสัตว์สถิตอยู่ในชั้นเดียวกับเวหัปผลพรหม (แต่ว่าแยก) สถิตอยู่ในโอกาสแห่งหนึ่ง (และ) ท่านบังเกิด (ตายจากโลกมนุษย์) ด้วยอิริยาบถใด ก็สถิตอยู่ด้วยอิริยาบถนั้นนั่นแล ตราบอายุขัยคล้ายภาพจิตรกรรม ในที่นี้ท่านหมายถึงเวหัปผลพรหม และอสัญญีสัตว์แม้ทั้งหมดนั้นด้วยคำว่า อภิภู.
               อาจารย์บางพวกยกย่องพรหมผู้เป็นใหญ่ในชั้นนั้นๆ (ว่าอภิภู) โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า พรหม ๑,๐๐๐ ชื่อว่า อภิภู. แต่พึงทราบว่า คำกล่าวของอาจารย์บางพวกนั้นไม่ถูก เพราะพรหมผู้เป็นใหญ่นั้น ท่านระบุถือเอาด้วยศัพท์ว่า "พรหม" แล้วนั่นแล.
               อนึ่ง ในวาระนี้พึงทราบนัยแห่งการอธิบายขยายความว่า ปุถุชนได้สดับแล้วว่า พรหมอภิภูมีวรรณะ (สวยงาม) มีอายุยืน ดังนี้ แล้วเกิดความยินดีพอใจในพรหมอภิภูนั้น ชื่อว่าย่อมสำคัญพรหมอภิภู ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา. ก็หรือว่า แม้ตั้งจิต (ปรารถนา) เพื่อให้ได้ (เกิดในพรหมอภิภู) ที่ตนยังไม่ได้โดยนัยมีอาทิว่า ทำไฉนหนอ เราจะพึงเข้าถึงความเป็นสหายของพรหมอภิภู ชื่อว่าย่อมสำคัญพรหมอภิภูด้วยความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา.
               อนึ่ง เมื่อสำคัญตนว่าเลวกว่า (พรหมอภิภู) หรือสำคัญว่าพรหมอภิภู ดีกว่าตน ชื่อว่าย่อมสำคัญพรหมอภิภู ด้วยความสำคัญด้วยอำนาจมานะ เมื่อยึดถือโดยนัยมีอาทิว่า พรหมอภิภูเที่ยง ยั่งยืน ชื่อว่าย่อมสำคัญพรหมอภิภูด้วยความสำคัญด้วยอำนาจทิฏฐิ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วในปชาบดีวาระนั่นแล.

               สุทธาวาสภูมิ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เมื่อทรงแสดงเทวโลกโดยลำดับอย่างนี้ ครั้นทรงแสดงอสัญญีภพด้วยคำว่า อภิภู บัดนี้ เพราะเหตุที่กถาว่าด้วยวัฏฏกัปและเทวดา คือพระอนาคามีและพระขีณาสพชั้นสุทธาวาสผู้ดำรงอยู่ในฝ่ายวิวัฏกัป หรือเพราะเหตุที่เทวดาเหล่านั้น มีอายุตั้ง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ กัลป ย่อมมีเฉพาะในเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นเท่านั้น.
               ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงอุบัติขึ้นแม้ตลอดอสงไขยกัลป ในกาลนั้น ภูมินั้นว่างเปล่า ภพชั้นสุทธาวาสย่อมมีเฉพาะ (กาลที่) พระพุทธเจ้าทั้งหลาย (อุบัติเท่านั้น) ดุจที่ประทับแรมมีไว้สำหรับพระราชาฉะนั้น และด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ภูมินั้น ท่านจึงมิได้จัดเป็นวิญญาณฐิติ ทั้งมิได้จัดเป็นสัตตาวาส แต่ความสำคัญเหล่านี้มีอยู่ทุกเมื่อ ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงภูมิของความสำคัญเหล่านั้น ซึ่งมีอยู่ในกาลทุกเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงละชั้นสุทธาวาสแล้วตรัสคำเป็นต้นว่า อากาสานญฺจยตนํ ดังนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อากาสานญฺจายตนํ ได้แก่ขันธ์ ๔ ที่เป็นกุศลวิบากและกิริยาอันเป็นไปในอากาสานัญจายตนภูมินั้น. และขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น พึงเห็นว่า เกิดขึ้นในภูมินั้นนั่นแหละ เพราะเหตุว่า กถานี้เป็นการกล่าวถึงกำหนดภพ.
               ในวิญญาณัญจายตนะเป็นต้นก็นัยนี้.
               ก็ในบรรดาวาระ ๔ วาระนั่นแล การขยายความพึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในอภิภูวาระ และความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะ ในข้อนี้ย่อมใช้ได้แม้โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในปชาบดีวาระ.
               แก้บท ทิฎฺฐํ สุตํ มุตํ วิญฺญาตํ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงที่ตั้งของความสำคัญโดยประเภทมีความแตกต่างกันระหว่างภูมิเป็นต้นนั้น แม้โดยพิสดารอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะประมวลแสดงประเภทแห่งธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ อันนับเนื่องในสักกายทิฏฐิอันเป็นที่ตั้งแห่งความสำคัญทั้งหมด ด้วยเหตุ ๔ อย่างมีรูปารมณ์ที่ตนเห็นเป็นต้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ทิฏฺฐํ ทิฏฺโต ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐํ หมายถึงสิ่งที่มองเห็นด้วยมังสจักษุบ้าง ทิพยจักษุบ้าง. คำว่า ทิฏฺฐํ นั้นเป็นชื่อของรูปายตนะ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐํ มญฺญติ ความว่า ปุถุชนย่อมสำคัญด้วยความสำคัญทั้ง ๓.
               อย่างไร?
               คือ ปุถุชนเมื่อดูรูปายตนะด้วยสุภสัญญาและสุขสัญญา ชื่อว่าย่อมยังฉันทราคะให้เกิดในรูปายตนะนั้น คือย่อมยินดีเพลิดเพลินซึ่งรูปายตนะนั้น.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายกำหนัดยินดี หลงใหล ติดใจในรูปหญิง สัตว์เหล่านั้นตกอยู่ในอำนาจของรูปหญิง ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน ดังนี้
               ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญรูปารมณ์ที่ตนเห็นแล้วด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาอย่างนี้. ก็หรือว่า ปุถุชนย่อมทะยานอยากในรูปนี้ว่า ขอรูปของเราพึงเป็นอย่างนี้ตลอดกาล หรือว่า ปุถุชนเมื่อหวังรูปสมบัติ ย่อมให้ทาน ความพิสดารดังว่ามานี้แล. ปุถุชนย่อมสำคัญรูปารมณ์ที่ตนเห็นแล้วด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาแม้อย่างนี้.
               อนึ่ง ปุถุชนอาศัยรูปสมบัติและรูปวิบัติของตนและของบุคคลอื่น ย่อมยังมานะให้เกิด คือย่อมสำคัญรูปารมณ์ที่ตนเห็นด้วยความสำคัญด้วยอำนาจมานะอย่างนี้ว่า เราดีกว่าผู้นี้ เราเสมอกับผู้นี้ หรือว่าเราเลวกว่าผู้นี้ ดังนี้.
               อนึ่ง ปุถุชนย่อมสำคัญรูปายตนะว่าเที่ยง ยั่งยืน แน่นอน ย่อมสำคัญว่าเป็นอัตตา เนื่องในอัตตา ย่อมสำคัญในรูปายตนะที่เป็นมงคล ว่าเป็นอมงคล ปุถุชนย่อมสำคัญรูปายตนะที่ตนเห็นด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ ด้วยประการฉะนี้.
               ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญรูปายตนะที่ตนเห็นด้วยความสำคัญทั้ง ๓ ด้วยประการฉะนี้.
               ย่อมสำคัญในรูปายตนะที่ตนเห็นแล้วอย่างไร?
               คือ ปุถุชนเมื่อสำคัญโดยนัยพิจารณาเห็นอัตตาในรูป ชื่อว่าย่อมสำคัญในรูปายตนะที่ตนเห็น. แม้สำคัญอยู่ว่า ราคะเป็นต้นย่อมเกิดมีในรูป เหมือนกับน้ำนมเกิดมีในเต้านมฉะนั้น ชื่อว่าย่อมสำคัญในรูปายตนะที่ตนเห็น. นี้ชื่อว่าความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของปุถุชนนั้น.
               อนึ่ง เมื่อปุถุชนนั้นยังความเสน่หาและมานะให้เกิดขึ้นในวัตถุที่สำคัญด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐินั้นนั่นแล. พึงทราบว่า เป็นความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหาและมานะด้วย. ปุถุชน ชื่อว่าย่อมสำคัญในรูปายตนะที่ตนเห็นด้วยประการฉะนี้.
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในปฐวีวาระ.
               บทว่า สุตํ หมายถึง ได้ยินด้วยมังสโสตบ้าง ทิพยโสตบ้าง. คำว่า สุตํ นั่นเป็นชื่อของสัททายตนะ.
               บทว่า มุตํ ได้แก่ ทราบและรู้แล้วรับเอา. อธิบายว่า เข้าไปกระทบรับเอา. ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า รู้แจ้งในเพราะการประจวบกันแห่งอินทรีย์และอารมณ์ทั้งหลาย.
               คำว่า มุตํ นั่น เป็นชื่อของคันธายตนะ รสายตนะและโผฏฐัพพายตนะ.
               บทว่า วิญฺญาตํ แปลว่า รู้ทางใจ. และคำว่า วิญฺญาตํ นั้นเป็นชื่อของอายตนะ ๗ ที่เหลือ.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นชื่อของธรรมารมณ์ (ก็ได้) แต่ในที่นี้ได้เฉพาะอารมณ์ที่นับเนื่องในกายของตน (สักกายทิฏฐิ).
               ก็ในข้อนี้ พึงทราบความพิสดารโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในทิฏฐวาระ.

               แก้บท เอกตฺตํ นานตฺตํ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงประเภทแห่งสักกายทิฏฐิทั้งหมดด้วยอารมณ์ ๔ ประการมีรูปารมณ์ที่ตนเห็นแล้วเป็นต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงประเภทของสักกายทิฏฐินั้นนั่นแหละ ออกเป็น ๒ ประการ คือ โดยวาระของท่านผู้เข้าสมาบัติ ๑ ของท่านผู้มิได้เข้าสมาบัติ ๑ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า เอกตฺตํ นานตฺตํ ดังนี้.
               ด้วยบทว่า เอกตฺตํ นี้ พระองค์ทรงแสดงวาระของท่านผู้เข้าสมาบัติ.
               ด้วยบทว่า นานตฺตํ นี้ พระองค์ทรงแสดงวาระของท่านผู้มิได้เข้าสมาบัติ.
               ทั้ง ๒ คำนั้นมีความหมายเฉพาะคำดังต่อไปนี้ :-
               ภาวะที่เป็นหนึ่งชื่อว่า เอกัตตัง ภาวะที่แยกกันชื่อว่า นานัตตัง.
               ส่วนการขยายความในข้อนี้ บัณฑิตพึงแยกวาระของท่านผู้เข้าสมาบัติด้วยขันธ์ ๔ และวาระของท่านผู้มิได้เข้าสมาบัติด้วยขันธ์ ๕ แล้ว พิจารณาทราบตามสมควรโดยศาสนนัย (พระบาลี) เป็นต้นว่า ปุถุชนย่อมพิจารณาเห็นรูปโดยเป็นอัตตา และโดยนัยแห่งอรรถกถาที่ท่านกล่าวไว้ในปฐวีวาระเป็นต้น.
               ส่วนอาจารย์บางพวกย่อมกล่าวเอกัตตนัย ด้วยบทนี้ว่า เอกตฺตํ. กล่าวนัยที่แยกกัน ด้วยบทนี้ว่า นานตฺตํ ดังนี้. อาจารย์พวกอื่นกล่าวความยึดมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิอย่างนี้ว่า อัตตาย่อมมีสัญญาอันเดียวกันไม่สูญสลาย ครั้นตายแล้วอัตตาย่อมมีสัญญาต่างกัน.
               คำนั้นทั้งหมด ย่อมไม่ถูกเลย เพราะท่านมิได้ประสงค์เอาในที่นี้.

               แก้บท สพฺพํ สพฺพโต               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสักกายทิฏฐิทั้งหมดโดยเป็น ๒ อย่างอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงประมวลแสดงสักกายทิฏฐินั้นแหละเป็นอันเดียวกัน จึงตรัสคำเป็นต้นว่า สพฺพํ สพฺพโต ดังนี้.
               ส่วนนัยขยายความในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบดังนี้ว่า
               ปุถุชน เมื่อชอบใจสิ่งทั้งปวง ชื่อว่าย่อมสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหา. เมื่อสำคัญสิ่งที่ตนสร้างขึ้นโดยนัยเป็นต้นว่า สัตว์เหล่านี้เราสร้างขึ้น ดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะ. เมื่อสำคัญโดยนัยเป็นต้นว่า สิ่งทั้งปวงมีกรรมที่ตนกระทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ สิ่งทั้งปวงมีการสร้างของพระอิศวรเป็นเหตุ สิ่งทั้งปวงไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สิ่งทั้งปวงมีอยู่ สิ่งทั้งปวงไม่มี ดังนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ.
               ปุถุชนย่อมสำคัญในสิ่งทั้งปวงอย่างไร?
               คือว่า บุคคลบางคนในโลกนี้มีความเห็นอย่างนี้ว่า อัตตาของเรานี้ใหญ่ บุคคลนั้นกำหนดโลกสันนิวาสทั้งหมดโดยเป็นโอกาสแห่งอัตตานั้น ย่อมสำคัญว่า ก็อัตตาของเรานี้นั้นแล มีอยู่ในโลกสันนิวาสทั้งปวง. นี้ชื่อว่าความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิของบุคคลนั้น.
               ก็เมื่อเขายังความเสน่หาในอัตตานั้นนั่นแล ยังมานะอันมีอัตตานั้นเป็นที่ตั้งให้เกิดขึ้นอยู่ในตน พึงทราบว่า แม้ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหาและมานะ (ก็เกิดขึ้นด้วย).
               คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในปฐวีวาระนั่นแล.

               แก้บท นิพฺพานํ นิพฺพานโต               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสักกายทิฏฐิทั้งหมดให้เป็นอันเดียวกันอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงสักกายทิฏฐินั้นให้เป็นอันเดียวโดยนัยแม้อื่นอีก จึงตรัสคำเป็นต้นว่า นิพฺพานํ นิพฺพานโต ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิพฺพานํ ความว่า พึงทราบบรมนิพพานในปัจจุบันอันมาแล้วโดยส่วน ๕ (มีอยู่ ๕ อย่าง) โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ เพราะเหตุที่อัตตาเอิบอิ่ม เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ให้เขาบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕. ดูก่อนท่านผู้เจริญ ฉะนี้แล อัตตานี้จึงบรรลุบรมนิพพานในปัจจุบัน.
               ในข้อนั้น ปุถุชนเมื่อยินดีนิพพาน พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งตัณหา. ปุถุชนเมื่อยังมานะให้เกิดขึ้นด้วยมานะว่า เราย่อมบรรลุนิพพาน พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งมานะ. เมื่อยึดถืออัสสาทะ (ความพอใจ) อันมิใช่นิพพานเลย ว่าเป็นนิพพาน และยึดถือนิพพานว่าเป็นอัสสาทะ พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสำคัญด้วยความสำคัญด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ.
               ส่วนปุถุชน ครั้นยึดถืออัตตาต่างไปจากนิพพาน สำคัญอยู่ว่า ก็อัตตาของเรานี้นั้นแลย่อมมีในนิพพานนี้ ชื่อว่าย่อมสำคัญในนิพพาน. นี้เป็นความสําคัญด้วยอํานาจแห่งทิฏฐิของปุถุชนนั้น.
               ก็เมื่อปุถุชนนั้นเกิดความเสน่หาในอัตตานั้นนั่นแล และเกิดมานะอันมีอัตตานั้นเป็นที่ตั้งอยู่ พึงทราบว่า แม้ความสําคัญด้วยอํานาจแห่งตัณหาและมานะ (ก็เกิดขึ้นด้วย).
               นัยแม้ในความสําคัญจากนิพพานก็นัยนี้.
               จริงอยู่ แม้ในข้อนั้น ปุถุชนเมื่อยึดถืออัตตาว่าเป็นอื่นจากนิพพาน สําคัญอยู่ว่า นี้นิพพาน นี้อัตตา ก็อัตตาของเรานี้นั้น อื่นต่างหากจากนิพพานนี้ ชื่อว่าย่อมสําคัญจากนิพพาน. นี้เป็นความสําคัญอํานาจทิฏฐิของปุถุชนนั้น.
               ก็เมื่อปุถุชนเกิดความเสน่หาในอัตตานั้นนั่นแล และเกิดมานะอันมีอัตตานั้นเป็นที่ตั้ง แม้ตัณหาและมานะก็พึงทราบว่า (เกิดขึ้นด้วย) แต่เมื่อสําคัญว่า โอ นิพพานของเราสุขจริง พึงทราบว่า ชื่อว่าย่อมสําคัญว่านิพพานว่าเป็นของเรา ดังนี้.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ก็ในข้อนี้ มีคำร้อยกรองในภายหลังดังต่อไปนี้ :-
                         กายของตนนี้เป็นเช่นไร เมื่อปุถุชนไม่รู้กายของตนนั้น
                         ตามความเป็นจริง ความสําคัญ (ผิด) ทุกอย่างย่อมเกิด
                         ขึ้นในกายของตน กายของตนนี้น่าเกลียด มีการแตกไป
                         เป็นธรรมดา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่ใช่ผู้นำ คนพาล
                         เมื่อยึดถือกายนั้นโดยเป็นข้าศึก (ต่อความเป็นจริง) ชื่อ
                         ว่า ย่อมยึดถือความสำคัญ (ผิด) เมื่อปุถุชนพิจารณาเห็น
                         กายของตน โดยความเป็นของงาม และโดยเป็นความ
                         สุข ย่อมมีความสำคัญผิดด้วยอำนาจตัณหา เหมือนการ
                         สำคัญผิดในไฟของแมลงเม่าฉะนั้น เมื่อปุถุชนยึดนิจจ
                         สัญญา เห็นสมบัติของกายของตนนั้น เขาย่อมมีความ
                         สำคัญผิดด้วยอำนาจมานะ เหมือนสุนัขเห็นคูถแล้วเกิด
                         สุภสัญญาในคูถฉะนั้น เมื่อปุถุชนพิจารณาเห็นกายของ
                         ตนนั้นว่า เป็นอัตตา เนื่องในอัตตา ไม่เข้าใจตามความ
                         เป็นจริง ย่อมมีความสำคัญผิดด้วยทิฏฐิ เหมือนคนสำคัญ
                         รูปในกระจก ฉะนั้น
                         ก็คำว่า ความสำคัญนี้เป็นคำที่ละเอียดเป็นเครื่องผูกของ
                         มาร หย่อนแต่แก้ได้ยาก เพราะเป็นเครื่องผูกที่ผูกปุถุชน
                         ไว้ ปุถุชน แม้จะพยายามดิ้นรนโดยวิธีต่างๆ มากมายก็
                         ไม่ล่วงพ้นกายของตนไปได้ ย่อมถูกกายของตนนั้นผูก
                         รัดไว้อย่างแน่น เหมือนสุนัขที่ถูกล่ามโซ่ไว้ที่หลักอันมั่น
                         ที่เขาตอกไว้อย่างดี คนที่เหลือมัวหมกมุ่นอยู่ในกายของ
                         ตน ย่อมเดือดร้อนอยู่เป็นนิตย์ ด้วยชาติ ชรา และทุกข์
                         มีโรคเป็นต้น เหมือนปลาติดเบ็ดฉะนั้น
                         ฉะนั้น เราจึงขอกล่าวกะท่านผู้เจริญทั้งหลายว่า ท่านทั้ง
                         หลายพิจารณากายของตนที่สวยงามให้เห็นว่า ไม่น่าชอบ
                         ใจ ไม่งาม มีอันแตกไป (เป็นธรรมดา) และไม่ใช่อัตตา
                         เพราะกายของตนนี้นั้น มีสภาพอย่างนี้ ผู้รู้พิจารณาเห็น
                         กายนี้อย่างนี้อยู่ ละความสำคัญผิดทั้งหมดเสียได้ ย่อม
                         หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.

               จบกถาว่าด้วยนัยที่ ๑ ข้อที่ ๒๔ ด้วยอำนาจปุถุชน.               

               เสขบุคคล               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงเแสดงความเป็นไปของปุถุชนซึ่งมีธรรม คือสักกายทิฏฐิทั้งหมดเป็นมูลในวัตถุธาตุมีปฐวีเป็นต้นดังพรรณนามาฉะนี้ บัดนี้ เมื่อจะแสดงความเป็นไปของพระเสขบุคคลในวัตถุธาตุเหล่านั้นเหมือนกัน จึงตรัสคำเป็นต้นว่า โยปิ โส ภิกฺขุ เสโข ดังนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า โย เป็นคำขึ้นต้น. คำว่า โส เป็นคำแสดงไข. ปิ อักษร มีการประมวลมาเป็นอรรถ ดุจในประโยคว่า ธรรมแม้นี้ไม่เที่ยง ดังนี้.
               ก็ด้วย ปิ ศัพท์นั้นย่อมประมวลมาซึ่งบุคคลโดยความเสมอกันทางอารมณ์ หาได้ประมวลมาโดยความเสมอกันแห่งบุคคลไม่ แต่โดยกำหนดอย่างตํ่า ได้แก่บุคคลผู้มีทิฏฐิวิบัติ ในที่นี้มุ่งเอาบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ความเสมอกันของบุคคลทั้ง ๒ นั้นไม่มี แต่อารมณ์ของบุคคลพวกแรก (ผู้มีทิฏฐิวิบัติ) เป็นอย่างไร อารมณ์ของคนพวกหลังเหล่านี้ (ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ) ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกันแท้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ย่อมประมวลมาซึ่งบุคคลโดยความเสมอกันแห่งอารมณ์ หาได้ประมวลมาด้วยความเสมอกันแห่งบุคคลไม่.
               พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระเสขบุคคลที่จะพึงกล่าว ในบัดนี้ ด้วยคำทั้งสิ้นนี้ว่า โยปิ โส. บทว่า ภิกฺขเว ภิกฺขู นี้มีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               บทว่า เสกฺโข ความว่า ที่ชื่อว่าเสขะ เพราะอรรถว่ากระไร?
               ตอบว่า ที่ชื่อว่าเสขะ เพราะได้เสขธรรม.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ชื่อว่าเป็นเสขะ ด้วยธรรมมีประมาณเท่าใด.
               พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบ ด้วยสัมมาทิฏฐิอันเป็นเสขะ ฯลฯ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสมาธิอันเป็นเสขะ ภิกษุ ชื่อว่าเป็นเสขะด้วยธรรมมีประมาณเท่านี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคล ชื่อว่าเสขะ เพราะอรรถว่ายังศึกษาอยู่ดังนี้บ้าง.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุศึกษาอยู่อย่างนี้แล ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เสขะ
               ถามว่า พระเสขบุคคลย่อมศึกษาอะไร?
               ตอบว่า ย่อมศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขาบ้าง อธิปัญญาสิกขาบ้าง ภิกษุย่อมศึกษาอย่างนี้แล เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า เสขะ.
               บุคคลแม้ใดเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ด้วยอนุโลมปฏิปทา มีศีลสมบูรณ์ มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภคโภชนะ ตามประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ตามประกอบภาวนานุโยคซึ่งโพธิปักขิยธรรมตลอดราตรีต้นและราตรีปลายอยู่ ด้วยความคิดว่า เราจักบรรลุสามัญญผลอย่างใดอย่างหนึ่งในวันนี้หรือพรุ่งนี้ บุคคลนั้นท่านเรียกว่า เสขะ เพราะกำลังศึกษา.
               แต่ในเนื้อความนี้ บุคคลผู้บรรลุปฏิเวธเท่านั้น ท่านประสงค์เอาว่า เสขะ หาใช่ประสงค์เอาปุถุชนไม่.

               อธิบายคำว่า มานัส               
               มานัสอันบุคคลนั้นยังไม่บรรลุแล้ว ฉะนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่าผู้มีมานัสอันยังไม่ได้บรรลุ. ราคะก็ดี จิตก็ดี พระอรหัตก็ดี ชื่อว่ามานัส.
               ความจริง ราคะ ชื่อว่ามานัส ดังในประโยคนี้ว่า มานัสนี้ใดย่อมเที่ยวไป เหมือนบ่วงที่เที่ยวไปในอากาศฉะนั้น.
               จิต ชื่อว่า มานัส ดังในประโยคนี้ว่า จิต มโน มานัส.
               พระอรหัต ชื่อว่า มานัส ดังในประโยคว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน พระเสขะมีพระอรหัตอันยังไม่ได้บรรลุ พึงทำกาละ ดังนี้.
               พระอรหัตเท่านั้น ท่านประสงค์เอาว่ามานัสในที่นี้ ด้วยเหตุนั้น จึงมีคำอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้มีพระอรหัตอันไม่บรรลุแล้ว.
               บทว่า อนุตฺตรํ แปลว่า ประเสริฐที่สุด. อธิบายว่า ไม่มีธรรมอะไรเทียบได้.
               พระอรหัตเท่านั้น ท่านประสงค์เอาว่า ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ เพราะหมายความว่า เกษมจากโยคะ ๔ คือโยคะ ๔ ไม่ประทุษร้ายแล้ว.
               บทว่า ปตฺถยมาโน มีวินิจฉัยว่า ความปรารถนามี ๒ อย่าง คือ ความปรารถนาด้วยอำนาจตัณหา และความปรารถนาด้วยอำนาจฉันทะ.
               ปรารถนาด้วยอำนาจตัณหา ย่อมได้ในประโยคว่า
                         ก็เมื่อบุคคลยังปรารถนาอยู่ ตัณหากระซิบหูย่อมเกิด
                         อีกทั้งจิตก็ยังหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์ที่ตัณหาและทิฏฐิ
                         กำหนดแล้ว ดังนี้.
               ความเป็นผู้ประสงค์จะทำ คือความปรารถนาด้วยอำนาจฉันทะอันเป็นกุศล ย่อมได้ในประโยคว่า
                         กระแสแห่งตัณหาของบุคคลผู้มีจิตชั่วช้า ขาดไปแล้วอันเขา
                         ขจัดได้แล้ว กระทำให้พินาศไปแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้ง
                         หลายจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ พึงปรารถนาธรรม
                         อันเป็นแดนเกษมจากโยคะเถิด ดังนี้.
               ความปรารถนาด้วยอำนาจฉันทะนี้เท่านั้น ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               บทว่า เตน ปตฺถยมาโน ความว่า บุคคลผู้มีความประสงค์จะทำ คือปรารถนาจะบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะนั้น พึงทราบว่า ผู้น้อมไป โอนไป เอนไป (เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ).
               บทว่า วิหรติ ความว่า บำบัดทุกข์ซึ่งบังเกิดในอิริยาบถอย่างอื่น ด้วยอิริยาบถอีกอย่างหนึ่ง รักษาร่างกายมิให้ทรุดโทรม. อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในข้อนี้โดยนิเทศนัยเป็นต้นว่า บุคคลผู้น้อมจิตไปด้วยการพิจารณาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้ ชื่อว่าย่อมอยู่ด้วยศรัทธา.
               บทว่า ปฐวึ ปฐวิโต อภิชานาติ ความว่า ย่อมรู้ชัดปฐวีโดยเป็นปฐวี คือย่อมไม่รู้ด้วยสัญญาอันตรงกันข้ามจากอาการทั้งปวงเหมือนปุถุชน. อีกอย่างหนึ่ง ย่อมรู้ด้วยญาณอันพิเศษยิ่ง.
               ในบทว่า ปฐวี มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า บุคคลเมื่อปล่อยวางความเป็นปฐวีได้อย่างนี้ ก็ย่อมรู้ชัดความเป็นปฐวีนั้นอย่างนี้ว่า ไม่เที่ยงบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นอนัตตาบ้าง และมีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้อีกว่า เสขบุคคล ครั้นทราบความเป็นปฐวีอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่สำคัญปฐวี.
               ก็เสขบุคคลจะกล่าวว่ามีความสำคัญก็ไม่ใช่ จะกล่าวว่าไม่มีความสำคัญก็ไม่ใช่. ก็ในอรรถนี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวทิ้งบทนี้ไว้.
               เมื่อมีผู้กล่าวว่า ก็ในบทนี้มีอธิบายอย่างไร?
               ตอบว่า อันดับแรก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงปุถุชนว่า สำคัญปฐวี (ผิด) อยู่ เพราะความสำคัญ (ผิด) ทุกอย่าง ปุถุชนยังละไม่ได้ พระขีณาสพย่อมไม่สำคัญผิด เพราะท่านละความสำคัญ (ผิด) ทุกอย่างได้แล้ว ความสำคัญด้วยอำนาจทิฏฐิ พระเสขบุคคลละได้ แม้ความสำคัญอย่างอื่นๆ ก็ถึงความเบาบางลง ด้วยเหตุนั้น พระเสขะนั้น ใครๆ ไม่ควรกล่าวว่า ย่อมสำคัญ (ผิด) เหมือนปุถุชน ทั้งไม่ควรกล่าวว่า ย่อมไม่สำคัญ (ผิด) เหมือนพระขีณาสพ.
               บทว่า ปริญฺเญยฺยํ ตสฺส ความว่า ที่ตั้งแห่งความสำคัญ (ผิด) นั้น อันพระเสขะพึงกำหนดรู้ได้ด้วยปริญญาทั้ง ๓ เพราะท่านหยั่งลงสู่ความแน่นอนแล้ว และเพราะมีการตรัสรู้ (ในมรรคผลที่สูงไป) เป็นเบื้องหน้า ที่ตั้งแห่งความสำคัญ (ผิด) ที่ยังไม่ควรกำหนดรู้ ไม่ใช่ท่านไม่ต้องกำหนดรู้เหมือนกับปุถุชน ทั้งไม่ใช่ท่านได้กำหนดรู้หมดแล้ว เหมือนกับพระขีณาสพ.
               คำที่เหลือในบททั้งปวงมีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.
               จบกถาว่าด้วยนัยที่ ๒ ด้วยอำนาจเสขบุคคล.               

               อธิบายพระอริยบุคคล               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความเป็นไปของพระเสขะในวัตถุธาตุมีปฐวีเป็นต้น ดังพรรณนาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความเป็นไปของพระขีณาสพ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า โยปิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ อรหํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ปิ ศัพท์ในบทว่า โยปิ มีการประมวลมาเป็นอรรถ. ด้วย ปิ ศัพท์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ในที่นี้ย่อมได้ความเสมอกันโดยส่วนทั้ง ๒.
               อธิบายว่า พระเสขะ ชื่อว่าเป็นผู้เสมอด้วยพระขีณาสพ เพราะความเป็นพระอริยบุคคล ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้ความเสมอกันโดยบุคคล.
               ส่วนความเป็นผู้เสมอกันโดยทางอารมณ์ ก็มีนัยดังกล่าวแล้วเหมือนกัน.
               บทว่า อรหํ ความว่า ผู้มีกิเลสอยู่ไกล. อธิบายว่า ผู้มีกิเลสห่างไกล คือมีกิเลสอันท่านละได้แล้ว.
               สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นอรหันต์ได้อย่างไร คือ อกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก เศร้าหมอง อันเป็นเหตุให้เกิดภพใหม่ มีความเร่าร้อน มีผลเป็นทุกข์ เพื่อชาติ ชราและมรณะต่อไปของท่านผู้ห่างไกลจากกิเลส ย่อมไม่มี.
               ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นพระอรหันต์อย่างนี้แล.
               บทว่า ขีณาสโว มีวินิจฉัยว่า อาสวะมี ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ. อาสวะทั้ง ๔ เหล่านี้ของพระอรหันต์สิ้นแล้ว คือท่านละได้ ถอนขึ้นได้ สงบระงับ เป็นของไม่ควรเกิดขึ้นอีก อันท่านเผาแล้วด้วยไฟคือญาณ ด้วยเหตุนั้น พระอรหันต์นั้น ท่านจึงเรียกว่า พระขีณาสพ.
               บทว่า วุสิตวา ความว่า พระอรหันต์นั้นอยู่แล้ว คืออยู่จบแล้วในธรรมเครื่องอยู่ของครูบ้าง ในธรรมเครื่องอยู่คืออริยมรรคบ้าง ในธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยะ ๑๐ ประการบ้าง พระอรหันต์นั้นอยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว ได้แก่มีธรรมเครื่องอยู่อันจบแล้ว มีจรณะอันประพฤติแล้ว ฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้อยู่จบแล้ว.
               บทว่า กตกรณีโย ความว่า พระเสขะทั้ง ๗ จนกระทั่งกัลยาณปุถุชน ชื่อว่า ย่อมทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ กิจที่จะพึงทำทุกอย่าง พระขีณาสพทำแล้ว ทำเสร็จสิ้นแล้ว กิจที่จะพึงทำอันยิ่งของพระขีณาสพนั้น เพื่อการบรรลุความสิ้นไปแห่งทุกข์ ย่อมไม่มีฉะนั้น พระอรหันต์นั้น จึงชื่อว่าผู้มีกิจที่จะต้องทำอันทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว.
               สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         การสั่งสมกิจที่ต้องทำอันทำเรียบร้อยแล้ว ของภิกษุผู้มีจิตสงบ
                         หลุดพ้นแล้วโดยชอบนั้น ย่อมไม่มี (และ) กิจที่พึงทำอีกก็ไม่มี
                         ดังนี้.
               ในบทว่า โอหิตภาโร มีวินิจฉัยว่า ภาระมี ๓ คือ ขันธภาระ กิเลสภาระ อภิสังขารภาระ. ภาระ ๓ เหล่านี้ พระอรหันต์นั้นปลงลงแล้ว ยกลงแล้ว วางแล้ว ทำให้ตกไปแล้ว ด้วยเหตุนี้นั้น พระอรหันต์นั้น ท่านจึงเรียกว่า ผู้มีภาระอันปลงลงแล้ว.
               บทว่า อนุปตฺตสทตฺโถ ความว่า ผู้ตามบรรลุประโยชน์ตนแล้ว. อธิบายว่า ตามบรรลุประโยชน์อันเป็นของตน. อักษร แปลงเป็น อักษร. ก็พระอรหัตพึงทราบว่า ประโยชน์ของตน. จริงอยู่ พระอรหัตนั้น ท่านเรียกว่า ประโยชน์ของตน คือประโยชน์ตน เพราะอรรถว่าเกี่ยวเนื่องกับตน เพราะอรรถว่าไม่ละตน และเพราะอรรถว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งของตน.
               บทว่า ปริกฺขีณภวสํโยชโน มีวินิจฉัยว่า
               สังโยชน์ ๑๐ คือ กามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ภวราคะ อิสสา มัจฉริยะ และอวิชชา เรียกว่า สังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เพราะสังโยชน์เหล่านี้ย่อมผูก คือตามผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพ.
               อีกอย่างหนึ่ง ย่อมเชื่อมภพไว้ด้วยภพ สังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพเหล่านี้ของพระอรหันต์สิ้นรอบแล้ว อันท่านละได้แล้ว อันท่านเผาแล้วด้วยไฟคือญาณ ด้วยเหตุนั้น พระขีณาสพนั้น ท่านจึงเรียกว่าผู้มีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพอันสิ้นรอบแล้ว.
               บทว่า สมฺมทญฺญา ในบทว่า สมฺมทญฺญา วิมุตฺโต นี้ ความว่า เพราะรู้โดยชอบ.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพราะรู้ คือทราบ ได้แก่พิจารณา ตรวจตรา เปิดเผย กระทำให้แจ้งซึ่งอรรถแห่งขันธ์ว่าเป็นขันธ์ อรรถแห่งอายตนะว่าเป็นอายตนะ อรรถแห่งธาตุว่าเป็นธาตุ อรรถแห่งทุกข์ว่าเป็นการบีบคั้น อรรถแห่งสมุทัยว่าเป็นบ่อเกิดทุกข์ อรรถแห่งนิโรธว่าเป็นความสงบ อรรถแห่งมรรคว่าเป็นทัสสนะ มีประเภทอย่างนี้ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้ โดยชอบคือตามความเป็นจริง.
               บทว่า วิมุตฺโต มีวินิจฉัยว่า
               วิมุติมี ๒ อย่าง คือ ความหลุดพ้นแห่งจิต ๑ พระนิพพาน ๑. พระอรหันต์ ชื่อว่าผู้หลุดพ้นแล้วแม้ด้วยความหลุดพ้นแห่งจิต เพราะความที่จิตของท่านหลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง ชื่อว่าหลุดพ้นแล้วแม้ในพระนิพพาน เพราะความที่ท่านมีจิตน้อมไปสู่พระนิพพาน ด้วยเหตุนั้น พระอรหันต์ ท่านจึงเรียกว่าผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ.
               บทว่า ปริญฺญาตนฺตสฺส ความว่า ที่ตั้งแห่งความสำคัญ (ผิด) นั้นอันพระอรหันต์กำหนดรู้แล้วด้วยปริญญาทั้ง ๓ ฉะนั้น พระอรหันต์นั้นจึงไม่สำคัญที่ตั้งนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า พระอรหันต์ย่อมไม่สำคัญความสำคัญ (ผิด) นั้น.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ส่วนวาระ ๓ เป็นต้นว่า ขยา ราคสฺส ดังนี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในนิพพานวาระ วาระเหล่านั้นก็ควรให้พิสดารแม้ในวาระว่าด้วยปฐวีเป็นต้น.
               ก็ปริญญาตวาระนี้ก็ควรให้พิสดารแม้ในนิพพานวาระ.
               ก็บัณฑิตเมื่อจะให้ความพิสดาร พึงประกอบคำว่า ปริญฺญาตนฺตสฺส ด้วยทุกๆ บท แล้วพึงประกอบความอีกว่า ขยา ราคสฺส วีตราคตฺตา ดังนี้ ในบทนอกจากนั้นก็นัยนี้.
               ก็เทศนาท่านย่อไว้ว่า คำที่กล่าวแล้วในบทเดียวก็เป็นอันกล่าวแล้วในทุกๆ บทแท้.
               ก็ในบทว่า ขยา ราคสฺส วีตราคตฺตา นี้ ความว่า เพราะเหตุที่นักบวชนอกศาสนาเป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม (แต่) ไม่ใช่เพราะหมดราคะ. ส่วนพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม เพราะความสิ้นราคะ. ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ขยา ราคสฺส วีตราคตฺตา ดังนี้ แม้ในโทสะและโมหะก็มีนัยนี้.
               เหมือนอย่างว่า แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราตถาคตกล่าวว่า ปริญฺญาตํ ตสฺส ดังนี้ ย่อมได้ความว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่สำคัญวัตถุนั้นหรือความสำคัญนั้น เพราะท่านได้กำหนดรู้แล้วฉันใด แม้ในที่นี้ก็ฉันนั้น พระอรหันต์นั้นบัณฑิตพึงเห็นว่า ย่อมไม่สำคัญวัตถุนั้น หรือย่อมไม่สำคัญความสำคัญ (ผิด) นั้น เพราะท่านหมดราคะแล้ว.
               ก็ในบรรดาวาระเหล่านั้น วาระนี้ว่า ปริญฺญาตํ ตสฺส นี้ ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงความบริบูรณ์แห่งมรรคภาวนา.
               วาระนอกนี้พึงเห็นว่า ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงความบริบูรณ์แห่งการกระทำให้แจ้งซึ่งผล.
               อีกอย่างหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่สำคัญด้วยเหตุ ๒ ประการ เพราะความที่วัตถุท่านกำหนดได้แล้ว และเพราะอกุศลมูลท่านถอนขึ้นได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงแสดงการกำหนดรู้วัตถุของพระอรหันต์นั้นด้วยวาระแห่งปริญญา และแสดงการถอนขึ้นซึ่งอกุศลมูลด้วยวาระนอกนี้ ฉะนี้แล.
               ในบรรดาวาระเหล่านั้น พึงทราบความแปลกกันในวาระ ๓ ข้อข้างปลายดังต่อไปนี้.
               พระอรหันต์นั้น ท่านเห็นโทษในความกำหนัดในวาระทั้ง ๓ นั้นแล้ว พิจารณาเห็นทุกข์อยู่ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ ย่อมมีราคะปราศจากไป เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ. ท่านเห็นโทษในโทสะ พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยอนิมิตตวิโมกข์ ย่อมเป็นผู้มีโทสะปราศไป เพราะความสิ้นโทสะ. ท่านเห็นโทษในโมหะ พิจารณาโดยความเป็นอนัตตาอยู่ หลุดพ้นแล้วด้วยสุญญตวิโมกข์ ย่อมเป็นผู้ปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ.
               หากมีคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น บุคคลคนเดียวย่อมหลุดพ้นด้วยวิโมกข์ ๓ (คราวเดียวกัน) ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรกล่าว ๒ วาระไว้.
               พึงตอบว่า ข้อนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะว่า ยังมิได้กำหนดแน่นอน.
               ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยไม่แน่นอนว่า โยปิ โส ภิกฺขเว ภิกฺขุ อรหํ ดังนี้ แต่หาตรัสไว้ว่า ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ หรือหลุดพ้นด้วยวิโมกข์นอกนี้ ดังนี้ไม่. ฉะนั้น สิ่งใดย่อมสมควรแก่พระอรหันต์ สิ่งนั้นทั้งหมดควรกล่าวแท้ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยไม่แปลกกัน พระอรหันต์ทุกรูป เมื่อกิเลสมีราคะเป็นต้นสิ้นไป ท่านก็เรียกว่าผู้มีราคะไปปราศ เพราะราคะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้วิปริณามทุกข์. ท่านเรียกว่าผู้ปราศจากโทสะ เพราะโทสะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้ทุกข์ในทุกข์. ชื่อว่าผู้ปราศจากโมหะ เพราะโมหะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้สังขารทุกข์.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านชื่อว่าปราศจากราคะ เพราะราคะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้อิฏฐารมณ์. ชื่อว่าปราศจากโทสะ เพราะโทสะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้อนิฏฐารมณ์. ชื่อว่าปราศจากโมหะ เพราะโมหะสิ้นไป เหตุที่ท่านกำหนดรู้มัชฌัตตารมณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านชื่อว่าปราศจากราคะ เพราะราคะสิ้นไป เหตุที่ท่านถอนราคานุสัยในสุขเวทนาเสียได้ ชื่อว่าปราศจากโทสะและปราศจากโมหะ ท่านถอนปฏิฆานุสัยและโมหานุสัยในทุกขเวทนาและอุเบกขาเวทนาเสียได้ ฉะนี้แล ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความต่างกันนั้น จึงตรัสว่า ขยา ราคสฺส วีตราคตฺตา ฯเปฯ ขยา โมหสฺส วีตโมหตฺตา ดังนี้.

               จบกถาว่าด้วยนัยที่ ๓-๔-๕-๖ ด้วยอำนาจพระขีณาสพ.               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค มูลปริยายสูตร ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 12 / 10อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1&Z=237
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :