ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 1อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 12 / 20อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               (๒) อาสวะที่ละได้เพราะสังวร               
               [๑๓] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอาสวะอันจะพึงละได้ด้วยทัสสนะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงอาสวะอันพระโยคาวจรพึงละด้วยสังวรซึ่งทรงแสดงไขไว้ในลำดับต่อไป จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่พระโยคาวจรพึงละด้วยสังวร ดังนี้.
               ในบททั้งปวงพึงทราบการสัมพันธ์กันอย่างนี้. ก็เบื้องหน้าแต่นี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาเพียงเนื้อความเท่านั้น.
               ถามว่า ก็ขึ้นชื่อว่า อาสวะที่พระโยคาวจรพึงละไม่ได้ด้วยกิจ ๒ อย่างเหล่านี้ คือด้วยทัสสนะและด้วยภาวนาไม่มีมิใช่หรือ? เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอาสวะที่พระโยคาวจรพึงละด้วยกิจมีสังวรเป็นต้นไว้แผนกหนึ่งเล่า.
               ตอบว่า เพราะอาสวะทั้งหลายที่พระโยคาวจรข่มไว้ได้ในส่วนเบื้องต้นด้วยกิจมีการสังวรเป็นต้น ย่อมถึงการเพิกถอนด้วยมรรค ๔ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการละอาสวะเหล่านี้ในส่วนเบื้องต้นแห่งมรรคเหล่านั้นด้วยการข่มไว้ด้วยอาการ ๕ อย่าง จึงตรัสอย่างนี้. ฉะนั้น โสดาปัตติมรรคข้อแรกที่พระองค์ตรัสไว้แล้วนี้ใด และมรรค ๓ ซึ่งพระองค์จักตรัสโดยชื่อว่าภาวนาในบัดนี้ กถาว่าด้วยอาสวะที่พึงละเพราะสังวรเป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นบุพพภาคปฏิปทาของโสดาปัตติมรรค และของมรรคทั้ง ๓ เหล่านั้นแม้ทั้งหมด.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ คือในศาสนานี้.
               บทว่า ปฏิสงฺขา แปลว่า พิจารณาแล้ว.
               สงฺขา ศัพท์ ในบทว่า ปฏิสงฺขา นั้น ย่อมใช้ในญาณ โกฏฐาสะ บัญญัติและการนับ.
               อธิบายว่า สงฺขา ศัพท์ใช้ในญาณ (ดุจ) ในประโยคเป็นต้นว่า พิจารณาแล้วจึงเสพปัจจัยอย่างหนึ่ง. ใช้ในโกฏฐาสะ (ดุจ) ในประโยคเป็นต้นว่า ส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้ามีสัญญาเป็นเหตุ ย่อมฟุ้งไป. ใช้ในบัญญัติ (ดุจ) ในประโยคเป็นต้นว่า การบัญญัติเป็นชื่อของธรรมทั้งหลายเหล่านั้นๆ. ใช้ในการนับ (ดุจ) ในประโยคเป็นต้นว่า การนับไม่ใช่ทำได้โดยง่ายเลย.
               ส่วนในที่นี้ พึงเห็นความหมายว่าใช้ในญาณ.
               ความจริง บทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส ความว่า พิจารณา คือทราบ ได้แก่เห็นเฉพาะโดยอุบายคือโดยถูกทาง. ก็ในที่นี้ การพิจารณาโทษในอสังวร พึงทราบว่าการพิจารณาโดยแยบคาย.
               ก็การพิจารณาโทษในอสังวรนี้นั้น พึงทราบโดยนัยแห่งอาทิตตปริยายสูตรเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย จักขุนทรีย์ที่ภิกษุทะลวงแล้วด้วยหลาวเหล็กอันร้อนโชนรุ่งโรจน์โชติช่วงยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือเอานิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูปที่จะพึงรู้ด้วยจักษุไม่ประเสริฐเลย.
               ในบทว่า จกฺขุนทริยสํวรสํวุโต วิหรติ นี้ มีอธิบายว่า อินทรีย์คือจักษุ ชื่อจักขุนทรีย์ ที่ชื่อว่าสังวร เพราะกั้นไว้. อธิบายว่า เพราะปิด คือกั้นไว้ได้. คำว่า สังวรนี้ เป็นชื่อของสติ. การสำรวมในอินทรีย์คือจักษุ ชื่อว่าการสำรวมจักขุนทรีย์ ดุจประโยคเป็นต้นว่า กาที่ท่านํ้า เต่าในบ่อนํ้า กระบือในป่า.
               ในบทว่า จกฺขุนทฺริยสํวรสํวุโต วิหรติ นั้น การสำรวมหรือการไม่สำรวมในจักขุนทรีย์ ย่อมไม่มีแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น สติหรือความหลงลืมสติ ย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุประสาท.
               อีกอย่างหนึ่ง ในกาลใด รูปารมณ์มาสู่คลองจักษุ ในกาลนั้น เมื่อภวังคจิตเกิดขึ้น ๒ ครั้งแล้วดับไป มโนธาตุฝ่ายกิริยาเกิดขึ้นให้กิจแห่งอาวัชชนะสำเร็จแล้วดับไป ต่อแต่นั้น จักขุวิญญาณเกิดขึ้นให้ทัสสนกิจสำเร็จแล้วดับไป ต่อแต่นั้น มโนธาตุฝ่ายวิบากเกิดขึ้นให้สัมปฏิฉันนกิจสำเร็จแล้วดับไป ต่อแต่นั้น มโนวิญญาณธาตุอันเป็นอเหตุกวิบากเกิดขึ้นให้สันตีรณกิจสำเร็จแล้วดับไป ต่อแต่นั้น มโนวิญญาณธาตุอันเป็นอเหตุกฝ่ายกิริยาเกิดขึ้นให้โวฏฐัพพนกิจสำเร็จแล้วดับไป. ในลำดับนั้น ชวนจิตย่อมแล่นไป.
               อนึ่ง ในบทว่า จกฺขุนฺทฺริยสํวรสํวุโต วิหรติ นั้น การสำรวมหรือการไม่สำรวมย่อมไม่มีในสมัยแห่งภวังคจิต ทั้งในสมัยแห่งอาวัชชนจิตเป็นต้นสมัยใดสมัยหนึ่ง การสำรวมหรือการไม่สำรวมย่อมไม่มีเช่นเดียวกัน. แต่ในขณะแห่งชวนจิต ถ้าโทษเครื่องทุศีล ความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่รู้ ความไม่อดทน หรือความเกียจคร้านเกิดขึ้นไซร้ นี้เป็นการไม่สังวร. ความไม่สำรวมนั้นแม้เป็นอย่างนี้ ท่านก็เรียกว่าความไม่สำรวมในจักขุนทรีย์.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะเมื่อมีการไม่สำรวมในจักขุนทรีย์นั้น. ทวารก็ดี ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันพระโยคาวจรไม่คุ้มครองแล้ว.
               เปรียบเหมือนอะไร?
               เปรียบเหมือนเมื่อประตูทั้ง ๔ ด้านในพระนครอันบุคคลไม่คุ้มครองแล้ว ภายในเรือนซุ้มประตูและห้องเป็นต้นอันบุคคลคุ้มครองดีแล้วแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น สิ่งของทุกอย่างในพระนครเป็นอันไม่ได้รักษาไม่ได้คุ้มครองเลย เพราะโจรทั้งหลายเข้าไปทางประตูพระนครพึงลักสิ่งที่ตนปรารถนาได้ฉันใด เมื่อโทษเครื่องทุศีลบังเกิดขึ้นในชวนจิต เมื่อมีการไม่สำรวมในชวนจิตนั้น ทวารก็ดี ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตมีอาวัชชนจิตเป็นต้นก็ดี เป็นอันภิกษุไม่คุ้มครองฉันนั้นนั่นแล.
               แต่เมื่อศีลเป็นต้นเกิดขึ้นในชวนจิตนั้น ทวารก็ดี ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตีมีอาวัชชนจิตเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันภิกษุคุ้มครองดีแล้ว.
               เปรียบเหมือนอะไร?
               เปรียบเหมือนเมื่อประตูพระนครอันบุคคลคุ้มครองดีแล้ว ภายในเรือนเป็นต้นอันบุคคลคุ้มครองไม่ดีแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น สิ่งของทุกอย่างภายในพระนครเป็นอันบุคคลรักษาดีแล้ว. เพราะเมื่อปิดประตูพระนครแล้ว โจรทั้งหลายก็เข้าไปไม่ได้ฉันใด เมื่อศีลเป็นต้นบังเกิดขึ้นในชวนจิต ทวารก็ดี ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตมีอาวัชชนจิตเป็นต้นก็ดี เป็นอันภิกษุคุ้มครองดีแล้วฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะฉะนั้น สังวรแม้ที่เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิต ท่านเรียกว่า การสำรวมในจักขุนทรีย์.
               ก็ในที่นี้ สติสังวรนี้พึงทราบว่า พระองค์ทรงประสงค์เอาแล้ว. บุคคลผู้สำรวมแล้วด้วยการสำรวมจักขุนทรีย์ ชื่อว่า จกฺขุนฺทฺริยสํวรสํวุโต ผู้เข้าถึงแล้วด้วยการสำรวมจักขุนทรีย์.
               จริงอย่างนั้น คำใดที่ท่านกล่าวไว้ในวิภังค์แห่งบทว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต นี้ว่า ภิกษุผู้เข้าถึง ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยการสำรวมปาฏิโมกข์นี้ คำนั้นบัณฑิตพึงรวมเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วทราบโดยเนื้อความอย่างนี้ว่า ภิกษุเป็นผู้สำรวมด้วยการสำรวมจักขุนทรีย์.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าผู้สำรวมแล้ว เพราะอรรถว่าสังวรระวัง. อธิบายว่า กั้น คือปิด. ภิกษุผู้สังวรระวังในจักขุนทรีย์ คือผู้มีจักขุนทรีย์อันระวังรักษาแล้ว.
               อธิบายว่า กั้น คือปิด บานประตูคือสติที่รู้กันว่าการสำรวมทางจักขุนทรีย์ในจักษุทวาร เหมือนคนปิดบานประตูที่ประตูเรือนฉะนั้น. ก็ในข้อนี้ เนื้อความนี้เท่านั้นดีกว่า. จริงอย่างนั้น เนื้อความนี้นั้นแลย่อมปรากฏใน ๒ บทนี้ว่า ผู้ไม่สำรวมระวังจักขุนทรีย์อยู่ และว่าผู้สำรวมระวังจักขุนทรีย์อยู่ ดังนี้แล.
               บทว่า วิหรติ ความว่า ผู้สำรวมระวังทางจักขุนทรีย์อย่างนี้อยู่ ด้วยการอยู่ด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               ในบทว่า ยญฺหิสฺส เป็นต้น พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่สำรวมระวังจักขุนทรีย์ใด คือไม่กั้นไม่ปิดการระวังทางจักขุนทรีย์อยู่. อีกอย่างหนึ่ง อาเทศ เย อักษรเป็น ยํ ก็ได้ ส่วน หิ อักษรเป็นปทปูรณะ ความว่า เย อสฺส.
               บทว่า อุปฺปชฺเชยฺย แปลว่า พึงบังเกิดขึ้น.
               บทว่า อาสวา วิฆาฏปริฬาหา ได้แก่ อาสวะ ๔ และความเร่าร้อนเพราะกิเลสหรือความเร่าร้อนเพราะวิบากอันทำความคับแค้นเหล่าอื่น. ความจริง กามาสวะย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ชอบใจเพลิดเพลินใจซึ่งอิฏฐารมณ์อันมาปรากฏในจักษุทวารด้วยอำนาจความชอบใจในกาม. ภวาสวะย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ยินดีด้วยความปรารถนาในภพว่า เราจักได้สมบัติเช่นนี้ในสุคติภพแม้อื่น. ทิฏฐาสวะย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ยึดถือว่าเป็นสัตว์หรือว่าของสัตว์. ความไม่รู้ซึ่งบังเกิดพร้อมกับอาสวะทั้งหมดนั้นแหละ ชื่อว่าอวิชชาสวะ. อาสวะ ๔ ย่อมบังเกิดขึ้นอย่างว่ามานี้. แม้กิเลสทั้งหลายเหล่าอื่นซึ่งสัมปยุตด้วยอาสวะเหล่านั้น ความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้น หรือวิบากในภพต่อไปของกิเลสเหล่านั้นเหล่าใด แท้จริง กิเลสเป็นต้นแม้เหล่านั้น ท่านกล่าวว่าพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมอยู่เหมือนกัน.
               บทว่า เอวํส เต ความว่า ด้วยอุบายนี้ อาสวะเหล่านั้นนั่นแหละ หามีแก่ภิกษุนั้นผู้สำรวมอยู่อย่างนี้ไม่. อธิบายว่า ไม่ใช่มีโดยประการอื่น.
               ในบทเป็นต้นว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส โสตินฺทฺริยสํวรสํวุโต ก็นัย (เดียวกัน) นี้.
               ข้อว่า อิเม วุจฺจนฺติ อาสวา สํวรา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะเหล่านั้นเพราะแยกในทวารทั้ง ๖ เป็นทวารละ ๔ อาสวะ จึงรวมเป็นอาสวะ ๒๔ เรากล่าวว่า พระโยคาวจรควรละเสียด้วยสังวร.
               ก็ในที่นี้ สติสังวรนั้นแลพึงทราบว่า สังวรในทุกๆ บทนั่นแล.

               (๓) อาสวะที่ละได้เพราะการพิจารณา               
               [๑๔] คำที่จะพึงกล่าว ในบทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส จีวรํ เป็นต้นทั้งหมด ท่านกล่าวไว้แล้วในสีลกถา ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรคนั้นแล.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า อาสวะและความเร่าร้อนอันทำความคับแค้นใจ (พึงเกิดขึ้น) แก่ภิกษุ (ผู้ไม่พิจารณาแล้วเสพ) ปัจจัยหรือบรรดาจีวรบิณฑบาตเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า อปฏิเสวโต ความว่า ผู้ไม่ (พิจารณา) โดยแยบคายแล้วเสพอย่างนี้.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล ก็ในที่นี้.
               พึงทราบการบังเกิดขึ้นแห่งกามาสวะของภิกษุผู้ปรารถนาจีวรเป็นต้นที่ตนไม่ได้ หรือผู้ยินดีจีวรเป็นต้นที่ตนได้แล้วอย่างเดียว.
               พึงทราบการบังเกิดขึ้นแห่งภวาสวะของภิกษุผู้ยินดีด้วยความปรารถนาในภพว่า เราจักได้สมบัติเช่นนี้ในสัมปัตติภพ คือสุคติภพแม้อื่น.
               พึงทราบการบังเกิดขึ้นแห่งทิฏฐาสวะของภิกษุผู้ตั้งความสำคัญในตนว่า เราจะได้ ดังนี้ หรือว่า สิ่งนี้จักเป็นของเรา ดังนี้.
               ก็อวิชชาสวะเกิดพร้อมกับอาสวะทั้งปวง พึงทราบการบังเกิดขึ้นแห่งอาสวะทั้ง ๔ อย่างดังว่ามานี้แล. ส่วนความเร่าร้อนเพราะวิบาก พึงทราบแม้โดยการบังเกิดขึ้นแห่งเวทนาใหม่.
               ข้อว่า อิเม วุจฺจนฺติ ภิกฺขเว อาสวา ปฏิเสวนา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะเหล่านี้มี ๑๖ อย่าง เพราะแยกอาสวะในปัจจัยแต่ละปัจจัย (มีจีวรเป็นต้น) เป็นปัจจัยละ ๔ อาสวะ.
               อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า พระโยคาวจรพึงละได้ด้วยการพิจารณาแล้วเสพ กล่าวคือการสำรวมด้วยญาณนี้ ฉะนี้แล.

               (๔) อาสวะที่ละได้ด้วยความอดกลั้น               
               [๑๕] ข้อว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส ขโม โหติ สีตสฺส ความว่า ภิกษุพิจารณาโดยอุบายถูกทางแล้วย่อมเป็นผู้ทนต่อความหนาว คือย่อมอดทนอดกลั้นความหนาว จะสั่นสะท้านเพราะความหนาวแม้เพียงเล็กน้อย เหมือนบุรุษผู้ไม่มีความกล้าหาญก็หาไม่ ท่านไม่ยอมละทิ้งกัมมัฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่งแล ท่านถูกความหนาวจัดสัมผัสก็ไม่สั่นสะท้าน ย่อมใส่ใจเฉพาะกัมมัฏฐานเหมือนพระโลมสนาคเถระฉะนั้น.
               ได้ยินว่า พระเถระอยู่ในเรือนบำเพ็ญเพียรในถ้ำปิยังคุณเจติยบรรพต พิจารณาโลกันตรินรกที่ตั้งอยู่ในระหว่าง (ทวีป) ในสมัยหิมะตก ไม่ยอมละทิ้งกัมมัฏฐานเลย ให้เวลาผ่านไปในกลางแจ้ง. แม้ในฤดูร้อนเป็นต้น ก็พึงทราบการอธิบายขยายความอย่างนี้.
               ความจริง ภิกษุใดย่อมอดกลั้นความร้อนแม้มีประมาณยิ่งได้อย่างเดียว ภิกษุนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้อดทนต่อความร้อนได้เหมือนพระเถระนั้นนั่นแล.
               ได้ยินว่า ในเวลาหลังภัตตาหารในฤดูคิมหันต์ พระเถระนั่งอยู่ภายนอกที่จงกรม. เมื่อท่านใส่ใจถึงกัมมัฏฐานเหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้. ทีนั้น อันเตวาสิกจึงเรียนท่านว่า ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านนั่งในที่นี้เถิด โอกาสนี้เย็นสบาย. พระเถระกล่าวว่า เราจะไม่นั่งในที่นั้นหรอกเพราะกลัวความร้อน ผู้มีอายุ ดังนี้ แล้วนั่งพิจารณาอเวจีมหานรก.
               ก็ในที่นี้ความเร่าร้อนเพราะไฟพึงทราบว่า อุณฺหํ.
               ก็เรื่องนั้น ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจความเร่าร้อนอันเกิดจากพระอาทิตย์. ก็ภิกษุใดแม้เมื่อไม่ได้ภัตหรือน้ำดื่มเพียง ๒-๓ มื้อแล้ว พิจารณาการเกิดขึ้นในเปตวิสัยของตนในสงสารอันมีที่สุดเบื้องต้นที่ตามไปไม่รู้แล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่ละทิ้งกัมมัฏฐานและถูกสัมผัสแห่งเหลือบยุงและแดดแม้มีประมาณยิ่งถูกต้อง ก็พิจารณาการเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานไม่หวั่นไหว ไม่ละทิ้งกัมมัฏฐานเลย และแม้จะถูกสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานถูกต้อง ก็พิจารณาถึงอัตภาพในกาลก่อน ซึ่งกลิ้งเกลือกอยู่หลายวาระที่ปากของราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น ในสงสารที่มีที่สุดเบื้องต้นที่ตามไปไม่รู้แล้ว ไม่หวั่นไหวไม่ละทิ้งกัมมัฏฐานเหมือนพระปธานิเถระ ภิกษุนั้นพึงทราบว่าเป็นผู้อดทนต่อความหิว ฯลฯ สัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานเป็นต้น.
               ได้ยินว่า งูพิษตัวหนึ่งได้กัดพระเถระผู้กำลังฟังอริยวังสสูตร ในเรือนทำความเพียรชื่อกรรณิการ์ในมหาวิหารชื่อขัณฑเวละ. พระเถระแม้รู้แล้วมีจิตเลื่อมใสนั่งฟังธรรมตามปกติ. กำลังพิษได้แรงกล้าขึ้น (ตามลำดับ). พระเถระได้พิจารณาถึงศีลเริ่มต้นแต่มณฑลอุปสมบทแล้วเกิดปีติขึ้นว่า เรามีศีลบริสุทธิ์. พร้อมกับการบังเกิดขึ้นแห่งปีติ พิษได้แล่นกลับเข้าแผ่นดินไป. พระเถระได้เอกัคตาจิตในที่นั้นนั่นเองเจริญวิปัสสนา แล้วบรรลุพระอรหันต์.
               ก็ภิกษุใดฟังคำพูดหยาบคาย และคำพูดอันสหรคตด้วยอันติมวัตถุ ซึ่งมาจากที่ไกลเพราะเป็นคำพูดที่หยาบคายแล้ว พิจารณาถึงคุณของขันติ ไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจการด่าตอบเหมือนพระทีฆภาณกอภัยเถระ. ภิกษุนี้นั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบซึ่งมาแต่ไกลได้.
               ได้ยินว่า พระเถระกล่าวมหาอริยวังสปฏิปทาเพื่อความเป็นผู้ยินดีในการเจริญสันโดษด้วยปัจจัย. ชาวบ้านทั้งหมดต่างพากันมา. มหาสักการะจึงได้เกิดมีแก่พระเถระ. พระมหาเถระบางรูปอดกลั้นสักการะนั้นไม่ได้จึงด่าโดยนัยเป็นต้นว่า พระทีฆภาณกะก่อความวุ่นวายขึ้นตลอดคืนด้วยกล่าวว่าเราจะกล่าวอริยวงศ์.
               ก็พระเถระทั้ง ๒ รูป (เวลาเดินทาง) กลับไปสู่วิหารของตนๆ และได้เดินร่วมทางเดียวกันไปสิ้นหนทางประมาณคาวุตหนึ่ง. พระเถระนั้นก็ได้ด่าพระทีฆภาณกเถระแม้ทุกๆ คาวุต. ครั้นแล้ว พระทีฆภาณกเถระยืนอยู่ในที่ที่หนทางของวิหารทั้ง ๒ แยกกัน ไหว้พระเถระนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ นี้เป็นทางของท่านดังนี้. พระเถระนั้นเดินจากไปทำเหมือนไม่ได้ยิน.
               ฝ่ายพระทีฆภาณกเถระไปถึงวิหารล้างเท้าแล้วนั่งลง.
               อันเตวาสิกจึงได้กล่าวกะท่านว่า ท่านผู้เจริญ อะไรกัน ทำไมท่านจึงไม่กล่าวอะไรๆ กะพระเถระนั้นซึ่งด่าบริภาษท่านทุกๆ คาวุต.
               พระเถระตอบว่า อาวุโส ความอดทนเป็นหน้าที่ของเรา ความไม่อดทนหาใช่เป็นหน้าที่ของเราไม่ เราเองไม่ (เคย) เห็นการพลาดจากกัมมัฏฐาน (ของเรา) แม้ในเพราะการยกเท้าข้างหนึ่ง. ในที่นี้ควรทราบว่า ถ้อยคำนั้นแหละชื่อว่าถูกต้องตามทำนองคลองธรรม.
               เวทนาร่างกาย ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้ถึงทุกข์ ชื่อว่าหนา เพราะอรรถว่าหนาแน่น๑- ชื่อว่าแข็ง เพราะอรรถว่าหยาบ ชื่อว่ากล้า เพราะอรรถว่าคม ชื่อว่าไม่น่ายินดี เพราะเว้นจากความยินดี ชื่อว่าไม่น่าชอบใจ เพราะอรรถว่าไม่เป็นที่เจริญใจ ชื่อว่าเป็นเครื่องคร่าชีวิตได้ ภิกษุใดอดกลั้นเวทนานั้นได้ คือไม่หวั่นไหว ได้แก่ดำรงอยู่ตามปกติ เหมือนพระปธานิยเถระผู้อยู่ที่จิตลดาบรรพต ภิกษุนี้พึงทราบว่าเป็นผู้มีปกติอดกลั้นสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้น ฯลฯ.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ทุกฺขาวหนฏฺเฐน พม่าเป็น พหลตฺเถน เห็นว่าเหมาะจึงแปลแบบพม่า.

               ได้ยินว่า เมื่อพระเถระยืนบำเพ็ญเพียรอยู่ตลอดคืน ลมในท้องก็เกิดขึ้น. ท่านไม่สามารถจะอดกลั้นลมนั้นได้จึงได้บิดไปบิดมา. พระเถระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งยืนอยู่ข้างที่จงกรม จึงกล่าวกะท่านว่า อาวุโส ธรรมดาบรรพชิตเป็นผู้มีปกติอดกลั้น ดังนี้. พระเถระนั้นรับว่า ดีละ ผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้นอน (สงบนิ่ง) ไม่ไหวติง. ลมได้แล่นเสียดหัวใจไปจนถึงนาภี. พระเถระข่มเวทนาเจริญวิปัสสนาเพียงชั่วครู่ก็ได้เป็นพระอนาคามีแล้วปรินิพพาน ฉะนี้แล.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า (อาสวะทั้งหลายย่อมเกิด) แก่ภิกษุนั้นผู้อดกลั้นความหนาวเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้.
               บทว่า อนธิวาสยโต ความว่า ผู้อดกลั้นไว้ไม่ได้ คือทนไว้ไม่ได้.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               ก็ในเรื่องนี้พึงทราบการบังเกิดขึ้นแห่งอาสวะอย่างนี้.
               กามาสวะย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ถูกความหนาวถูกต้องแล้วปรารถนาความอบอุ่น.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               อธิบายว่า ภวาสวะย่อมมีแก่ภิกษุผู้ปรารถนาภพว่า ความหนาวหรือความอบอุ่นของเราในสัมปัตติภพย่อมไม่มีดังนี้. ความยึดถือว่า ความหนาว ความอบอุ่น ย่อมมีแก่เราดังนี้ ชื่อว่าทิฏฐาสวะ. อาสวะซึ่งสัมปยุตด้วยอาสวะทั้งปวง ชื่อว่าอวิชชาสวะ.
               บทว่า อิเม วุจฺจนฺติ ฯลฯ อธิวาสนา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะเหล่านี้มีมากมาย เพราะแยกเป็นอย่างละ ๔ ด้วยสามารถแห่งธรรมมีความหนาวเป็นต้น แต่ละอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ควรละเสียด้วยการอดกลั้น กล่าวคือขันติสังวร. ก็ในที่นี้ เพราะขันตินี้ย่อมอดกลั้นธรรมมีความหนาวเป็นต้นได้ คือยกให้อยู่เหนือตนทีเดียว ได้แก่ไม่ใช่ว่า จะอดกลั้นไว้ไม่ได้แล้วสลัดทิ้งเสีย ฉะนั้น ขันตินี้พึงทราบว่า อธิวาสนา.

               (๕) อาสวะที่ละได้เพราะการเว้น               
               [๑๖] ข้อว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส จณฺฑํ หตฺถึ ปริวชฺเชติ ความว่า ภิกษุไม่พึงยืนอยู่ในที่ใกล้ช้างตัวดุร้าย ด้วยคิดว่าเราเป็นสมณะดังนี้ เพราะว่าทั้งความตายทั้งความทุกข์ปางตายซึ่งมีช้างนั้นเป็นเหตุพึงมีได้. ภิกษุพิจารณาโดยอุบายคือโดยถูกทางอย่างนี้แล้ว ย่อมเว้น คือถอยหนีช้างตัวดุร้าย.
               ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               บทว่า จณฺฑํ คือ ตัวที่ดุร้าย. อธิบายว่า ร้ายกาจ.
               บทว่า ขาณุํ ได้แก่ ตอไม้ตะเคียนเป็นต้น.
               บทว่า กณฺฏกฏฐานํ ความว่า สถานที่มีหนาม. อธิบายว่า โอกาสซึ่งมีหนามอยู่จำนวนมาก.
               บทว่า โสพฺภํ ได้แก่ สถานที่ที่มีตลิ่งชันทั่วไปหมด (บ่อ).
               บทว่า ปปาตํ ได้แก่ สถานที่ที่มีตลิ่งชันเพียงข้างเดียว (เหว).
               บทว่า จนฺทนิกํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่ทิ้งของสกปรกมีนํ้าที่เป็นเดนเป็นต้น (บ่อนํ้าครํา).
               บทว่า โอฬิคลฺลํ ได้แก่ โอกาสอันเป็นที่รวมแห่งเปือกตมเป็นต้นเหล่านั้น. สถานที่นั้นเป็นสถานที่ที่เรี่ยราดด้วยของไม่สะอาดแม้มีประมาณถึงหัวเข่า. ก็สถานที่เหล่านั้นแม้ทั้ง ๒ แห่งเป็นสถานชั่วร้ายคล้ายมีอมนุษย์ ฉะนั้น สถานที่เหล่านั้นควรเว้นเสีย. ก็อาสนะอันไม่สมควร ชื่อว่าอนาสนะ.
               ในบทว่า อนาสเน นี้ โดยเนื้อความ อนาสนะนั้น พึงทราบว่าได้แก่อาสนะซ่อนอยู่ในที่ลับมีทัพพสัมภาระที่ไม่แน่นอน.
               ก็ที่เที่ยวไปอันไม่สมควร ชื่ออโคจร แม้ในบทว่า อโคจเร นี้. ที่อโคจรนั้นมี ๕ อย่าง โดยแยกประเภทเป็นหญิงแพศยาเป็นต้น.
               บทว่า ปาปเก มิตฺเต ได้แก่ มิตรปฏิรูป หรือมิตรผู้ชั่วช้า คือผู้ทุศีล.
               บทว่า ภชนฺตํ แปลว่า เสพอยู่.
               บทว่า วิญฺญู สพฺรหฺมจารี ความว่า เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต คือผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้. คำนี้เป็นชื่อของภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุเหล่านั้นย่อมประพฤติธรรมอันเสมอด้วยพรหมนี้ ด้วยคิดว่า เราจะเป็นผู้มีกรรมร่วมกัน และเรียนอุเทศร่วมกัน และมีความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน ฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นท่านจึงเรียกว่าสพรหมจารี.
               บทว่า ปาปเกสุ ฐาเนสุ ความว่า ในสถานที่ทั้งหลายที่ลามก.
               บทว่า โอกปฺเปยฺยุํ ความว่า พึงเชื่อได้ คือพึงน้อมใจเชื่อได้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ได้กระทำหรือจักกระทำแน่ ดังนี้.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า เมื่อภิกษุนั้นไม่เว้นบรรดาอันตรายมีช้างเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวนั่นแหละ.
               ก็ในที่นี้พึงทราบการบังเกิดขึ้นแห่งอาสวะอย่างนี้. กามาสวะย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ประสบทุกข์ซึ่งมีช้างเป็นต้นเป็นเหตุแล้วปรารถนาความสุขอยู่. ภวาสวะย่อมเกิดมีแก่ภิกษุผู้ปรารถนาภพว่า ทุกข์เช่นนี้ของเราไม่มีในสัมปัตติภพคือในสุคติภพ. การยึดถือว่า ช้างจะเหยียบเรา ม้าจะเหยียบเรา ดังนี้ ชื่อว่าทิฏฐาสวะ. อาสวะที่สัมปยุตด้วยอกุศลธรรมทุกอย่าง ชื่อว่าอวิชชาสวะ.
               ข้อว่า อิเม วุจฺจนฺติ ฯลฯ ปริวชฺชนา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะมีมากอย่าง เพราะแยกอาสวะเหล่านี้ออกเป็นอย่างละ ๔ ด้วยอำนาจอันตรายมีช้างเป็นต้นแต่ละอย่าง พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พระโยคาวจรพึงละเสียด้วยการเว้น กล่าวคือสีลสังวรนี้.

               (๖) อาสวะที่ละได้เพราะการบรรเทา               
               [๑๗] ข้อว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส อุปฺปนฺนํ กามวิตกฺกํ นาธิวาเสติ ความว่า พระโยคาวจรพิจารณาเห็นโทษในกามวิตกโดยแยบคาย โดยนัยเป็นต้นว่า วิตกนี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้ วิตกนี้มีโทษแม้เพราะเหตุนี้ และวิตกนั้นแลย่อมเป็นไปแม้เพื่อความเบียดเบียนตนเอง ดังนี้แล้ว ยับยั้งไว้ไม่ได้ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้น ได้แก่บังเกิดขึ้นแล้วในอารมณ์นั้นๆ.
               อธิบายว่า ยกจิตขึ้นเสียแล้วให้กามวิตกหยุดอยู่ไม่ได้ หรือไม่ให้กามวิตกหยุดอยู่ภายในได้.
               ถามว่า ภิกษุเมื่อยับยั้งไว้ไม่ได้จะทำอย่างไร?
               ตอบว่า ย่อมละ คือทิ้งวิตกนั้นเสีย.
               ถามว่า ภิกษุจะละทิ้งวิตกเหมือนคนเอาตะกร้าตักหยากเยื่อทิ้งหรือ?
               ตอบว่า หามิได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมบรรเทาคือถอน ได้แก่แทง หมายความว่านำออกไปซึ่งกามวิตกนั้น.
               ถามว่า แทงเหมือนกับบุคคลเอาปฏักแทงโคพลิพัทหรือ?
               ตอบว่า หาใช่เช่นนั้นไม่. โดยที่แท้แล้วจะทำกามวิตกนั้นให้ย่อยยับไป คือทำกามวิตกนั้นให้ปราศจากไป ได้แก่ทำกามวิตกนั้น (ให้เป็น) โดยที่มันไม่เหลืออยู่แม้ในภายในของภิกษุนั้น โดยที่สุดแม้เพียงในภวังคจิต (ก็ไม่มี).
               ถามว่า ภิกษุจะทำวิตกนั้นให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
               ตอบว่า ย่อมยังกามวิตกนั้นให้ถึงความไม่มี คือย่อมให้ถึงความไม่มีทีละน้อยๆ.
               มีอธิบายว่า ย่อมทำโดยประการที่วิตกเป็นอันเธอข่มไว้ได้อย่างดีด้วยวิกขัมภนปหาน. ในพยาบาทวิตกและวิหิงสาวิตกก็นัยนี้เช่นกัน.
               ก็ในวิภังค์ท่านกล่าวไว้ว่า ในบทว่า กามวิตกฺโก นี้ วิตกที่ปฏิสังยุตด้วยกาม คือความดำริผิด ชื่อกามวิตก. ในที่อื่นๆ ก็นัยนี้.
               บทว่า อุปฺปนฺนุปฺปนฺเน ความว่า เกิดแล้ว คืออุบัติแล้ว. อธิบายว่า พอแต่สักว่าเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุบรรเทาอกุศลวิตกทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นคราวเดียวได้แล้ว ในวาระที่ ๒ ถึงเธอจะไม่ได้เพ่งเล็ง เธอก็ย่อมบรรเทาอกุศลวิตกทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วๆ แม้ ๗ ครั้งได้ทีเดียว.
               บทว่า ปาปเก อกุสเล ความว่า ที่ชื่อว่าชั่วช้า เพราะอรรถว่าลามก ที่ชื่อว่าอกุศล เพราะความเป็นกรรมที่ทำด้วยความไม่ฉลาด.
               บทว่า ธมฺเม ได้แก่ กามวิตกเป็นต้นเหล่านั้นนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ มหาวิตก ๙ อย่างแม้ทั้งหมด.
               บรรดามหาวิตก ๙ อย่างเหล่านั้น ๓ อย่างกล่าวไว้แล้ว. วิตกที่เหลืออีก ๖ เหล่านี้ ได้แก่ วิตกถึงญาติ วิตกถึงชนบท วิตกถึงเทวดา วิตกที่ประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูต่อผู้อื่น วิตกที่ปฏิสังยุตด้วยลาภสักการะและเกียรติยศ และวิตกที่ปฏิสังยุตด้วยสิ่งอื่น.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า อาสวะและความเร่าร้อนเพราะความคับแค้นใจ พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้บรรเทาไม่ได้ซึ่งวิตกอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาวิตกเหล่านั้น.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               ก็ในที่นี้ กามาสวะนั้นแลคือกามวิตก อาสวะซึ่งแปลกออกไปจากกามวิตกนั้น ชื่อว่าภวาสวะ. อาสวะที่สัมปยุตด้วยภวาสวะนั้นแล ชื่อทิฏฐาสวะ. ความไม่รู้ในวิตกทั้งมวล ชื่ออวิชชาสวะ. พึงทราบแม้การบังเกิดขึ้นแห่งอาสวะเหล่านี้ด้วยประการดังพรรณนามานี้.
               ข้อว่า อิเม วุจฺจนฺติ ฯลฯ วิโนทนา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะมีประการดังกล่าวแล้วด้วยอำนาจกามวิตกเป็นต้นเหล่านี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุจะพึงละได้ด้วยการบรรเทา กล่าวคือวิริยสังวรซึ่งสหรคตด้วยการพิจารณาโทษในวิตกนั้นๆ นี้.

               (๗) อาสวะที่ละได้เพราะการอบรม               
               [๑๘] ข้อว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ภาเวติ ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็นโทษแห่งการไม่อบรมและอานิสงส์แห่งการอบรมโดยอุบายคือโดยถูกทางแล้วควรเจริญสติสัมโพชฌงค์. ในบททั้งปวงก็นัยนี้.
               ก็ในอธิการแห่งโพชฌงค์นี้ โพชฌงค์ที่เป็นโลกุตตระเท่านั้นที่เกิดขึ้น เพราะได้บรรลุมรรค ๓ ข้างต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาแล้วในที่นี้แม้โดยแท้ ถึงอย่างนั้น เพื่อความไม่หลงงมงายในโพชฌงค์ทั้งหลายของเหล่าภิกษุผู้ทำความเพียรเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าจักพรรณนาโดยนัยแห่งโพชฌงค์เหล่านั้นโดยปะปนกันไปทั้งฝ่ายโลกิยะและฝ่ายโลกุตระ.
               แต่ในที่นี้ ข้าพเจ้าจะละนัยที่เป็นโลกิยะเสีย แล้วถือเอาเฉพาะนัยฝ่ายโลกุตตระเท่านั้น. ในอธิการแห่งโพชฌงค์นั้น บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยบทข้างต้นทั้ง ๗ ซึ่งท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ก่อน โดยเนื้อความโดยลักษณะเป็นต้นโดยลำดับและโดยไม่หย่อนไม่ยิ่ง.
               ในโพชฌงค์ ๗ นั้น พึงทราบวินิจฉัยในสติสัมโพชฌงค์ก่อน. ที่ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องระลึก. ก็สตินี้นั้นมีการปรากฏเป็นลักษณะหรือมีการเสนอแนะเป็นลักษณะ.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               มหาบพิตร ขุนคลังของพระราชาย่อมกราบทูลถึงทรัพย์สมบัติของพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช เงินมีเท่านี้ ทองมีเท่านี้ สมบัติมีเท่านี้ ดังนี้ฉันใด มหาบพิตร สติก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเสนอแนะธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เลว ประณีต ดำ ขาว และมีส่วนเป็นปฏิปักษ์กัน.
               ความพิสดารว่า สติปัฏฐานมี ๔ เหล่านี้.
               สตินั้นมีการเสนอแนะเป็นกิจ. ก็ลักษณะของสตินั้น พระเถระกล่าวไว้ด้วยอำนาจกิจแท้. อีกอย่างหนึ่ง สตินั้นมีการไม่หลงเป็นกิจ. มีภาวะมุ่งหน้าต่ออารมณ์เป็นเครื่องปรากฏ. องค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้คือสติ ชื่อสติสัมโพชฌงค์.
               ในบทว่า โพชฺฌงฺโค นั้น มีวิเคราะห์ว่า องค์แห่งการตรัสรู้ หรือแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ฉะนั้น จึงชื่อว่าโพชฌงค์.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               (ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า) ธรรมสามัคคีนี้คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่ออุปัทวะมากมายมีความหดหู่ ความฟุ้งซ่าน ความหยุด ความประมวลมา กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ความยึดมั่นว่าขาดสูญและเที่ยงแท้ซึ่งบังเกิดขึ้นในขณะแห่งมรรคทั้งฝ่ายโลกิยะและโลกุตตระที่เป็นเหตุตรัสรู้แห่งพระอริยสาวก ท่านเรียกว่า โพธิ เพราะทำอธิบายดังที่กล่าวมานี้.
               บทว่า พุชฺฌติ ความว่า ย่อมตื่นจากความหลับด้วยอำนาจกิเลสที่นอนเนื่องอยู่.
               อธิบายว่า ย่อมแทงตลอดอริยสัจทั้ง ๔ หรือทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้นเอง.
               เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ว่า เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วย่อมตรัสรู้เฉพาะซึ่งปัญญาเครื่องตรัสรู้อันยอดเยี่ยม.
               ที่ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์ของปัญญาเครื่องตรัสรู้ กล่าวคือธรรมสามัคคีนั้นเอง เปรียบเหมือนองค์ฌานและองค์มรรคเป็นต้นฉะนั้น.
               ก็อริยสาวกนี้ใด ย่อมตรัสรู้ด้วยธรรมสามัคคีนี้มีประการดังกล่าวแล้ว เพราะทำอธิบายดังว่ามานี้ อริยสาวกนั้น ท่านจึงเรียกว่า โพธิ (ผู้ตรัสรู้) ที่ชื่อว่าโพชฌงค์แม้เพราะเป็นองค์ประกอบของพระอริยสาวกผู้ตรัสรู้นั้น ประดุจองค์ประกอบแห่งเสนาและองค์ประกอบแห่งรถฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์ประกอบของบุคคลผู้ตรัสรู้. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความแม้โดยนัยแห่งปฏิสัมภิทามรรคเป็นต้นว่า
               ถามว่า ในบท โพชฺฌงฺคา นี้ ที่ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะอรรถว่ากระไร?
               ตอบว่า ที่ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะอรรถว่า ย่อมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้.
               ที่ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะอรรถว่า ย่อมตรัสรู้.
               ที่ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะอรรถว่า ย่อมตรัสรู้ตาม
               ที่ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะอรรถว่า ย่อมตรัสรู้เฉพาะ
               ที่ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะอรรถว่า รู้พร้อม.
               พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถและโดยลักษณะเป็นต้นของโพชฌงค์ข้อแรกข้อเดียวก่อนอย่างนี้ว่า โพชฌงค์อันประเสริฐ คือดี ชื่อว่าสัมโพชฌงค์ เมื่อเป็นเช่นนี้ สัมโพชฌงค์คือสติ ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ ซึ่งสติสัมโพชฌงค์นั้น.
               ก็พึงทราบวินิจฉัยในโพชฌงค์ข้อที่ ๒ เป็นต้นดังต่อไปนี้ :-
               ที่ชื่อว่า ธัมมวิจยะ เพราะอรรถว่า เลือกเฟ้นสัจจธรรมทั้ง ๔ ประการ.
               ธัมมวิจยะนั้นมีการเลือกเฟ้นเป็นลักษณะ มีการให้ความสว่างเป็นกิจ มีความไม่หลงงมงายเป็นเครื่องปรากฏ.
               ที่ชื่อว่า วิริยะ เพราะความเป็นสภาวะที่แกล้วกล้า และเพราะให้ธรรมดำเนินไปโดยถูกวิธี. วิริยะนั้นมีการประคับประคองจิตเป็นลักษณะ มีการอุปถัมภ์จิตเป็นกิจ มีความไม่ท้อแท้แห่งจิตเป็นเครื่องปรากฏ.
               ที่ชื่อว่า ปีติ เพราะอรรถว่า เอิบอิ่ม. ปีตินั้นมีการแผ่ไปเป็นลักษณะ หรือมีความยินดีเป็นลักษณะ มีการเอิบอิ่มของกายและจิตเป็นกิจ มีการฟูขึ้นแห่งกายและจิตนั้นเป็นเครื่องปรากฏ.
               ที่ชื่อว่า ปัสสัทธิ เพราะสงบความกระวนกระวายทางกายและจิต. ปัสสัทธินั้นมีการเข้าไปสงบเป็นลักษณะ มีการย่ำยีความกระวนกระวายทางกายและจิตเป็นกิจ มีความเยือกเย็นอันเกิดจากความไม่ดิ้นรนแห่งกายและจิตเป็นเครื่องปรากฏ.
               ที่ชื่อว่า สมาธิ เพราะตั้งมั่น. สมาธินั้นมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ หรือมีการไม่แส่ไปในอารมณ์เป็นลักษณะ มีการประมวลมาซึ่งจิตและเจตสิกเป็นกิจ มีความตั้งมั่นแห่งจิตเป็นเครื่องปรากฏ.
               ที่ชื่อว่า อุเบกขา เพราะวางเฉย. อุเบกขานั้นมีการพิจารณาเป็นลักษณะ หรือมีการเป็นไปโดยสมํ่าเสมอเป็นลักษณะ มีการหักห้ามความหย่อนและยิ่งแห่งจิตเป็นกิจ หรือมีการตัดขาดการตกไปเป็นฝักฝ่ายเป็นกิจ มีการวางตนเป็นกลางเป็นเครื่องปรากฏ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยแม้แห่งบทที่เหลือทั้งโดยอรรถและโดยลักษณะเป็นต้นอย่างนี้แล.
               ก็ในคำว่า กมโต นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               สติสัมโพชฌงค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ก่อน เพราะสติสัมโพชฌงค์นั้นเป็นอุปการะแก่โพชฌงค์ที่เหลือทั้งหมด เพราะพระบาลีว่า
               ภิกษุทั้งหลาย ก็เราตถาคตกล่าวสตินั้นแลว่ามีประโยชน์แก่ธรรมทั้งปวง ดังนี้.
               เบื้องหน้าแต่นั้น ประโยชน์ในการกล่าวโพชฌงค์ที่เหลือไว้ก่อนไว้หลังได้กล่าวไว้แล้วในสุตตะนั้นเอง โดยนัยเป็นต้นว่า เธอมีสติอยู่อย่างนั้น๑- เลือกเฟ้นธรรมนั้นด้วยปัญญา ดังนี้. ในที่นี้พึงทราบวินิจฉัยแม้โดยลําดับดังกล่าวมานี้.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ตถาคโต แต่ฉบับพม่าเป็น ตถา สโต จึงแปลตามพม่าเพราะเห็นว่าเหมาะกว่า.

               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อนูนาธิกโต ดังต่อไปนี้ :-
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสโพชฌงค์ไว้เพียง ๗ ประการเท่านั้นไม่ขาดไม่เกิน?
               ตอบว่า เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อความหดหู่และความฟุ้งซ่าน และเพราะประโยชน์แก่โพชฌงค์ทุกข้อ.
               อธิบายว่า ในอธิการแห่งโพชฌงค์นี้ โพชฌงค์ ๓ ข้อเป็นปฏิปักษ์ต่อความหดหู่.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใดแล จิตเป็นธรรมชาติหดหู่
                         ในสมัยนั้นเป็นเวลาเหมาะที่จะเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
                         เหมาะที่จะเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เหมาะที่จะเจริญปีติสัม
                         โพชฌงค์ ดังนี้.
               โพชฌงค์ ๓ ข้อ เป็นปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่าน.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า.
                                   ก็ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติฟุ้งซ่าน ในสมัยนั้นเป็น
                         เวลาเหมาะที่จะเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เหมาะที่จะเจริญ
                         สมาธิสัมโพชฌงค์ เหมาะที่จะเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้.
               ก็ในบรรดาโพชฌงค์เหล่านี้ สติสัมโพชฌงค์เป็นเอก ให้สําเร็จประโยชน์แก่โพชฌงค์ทุกข้อ. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ภิกษุทั้งหลาย ก็เรากล่าวสติแลว่ามีประโยชน์แก่โพชฌงค์ทุกข้อดังนี้.
               บาลีว่า สพฺพตฺถกํ ดังนี้ก็มี.
               บาลีทั้ง ๒ (นั้น) ความหมายก็คือว่า จําต้องปรารถนาในโพชฌงค์ทุกข้อ (เหมือนกัน). พึงทราบวินิจฉัยในโพชฌงค์นี้แม้โดยไม่ขาดไม่เกินอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโพชฌงค์ไว้ ๗ ประการเท่านั้นไม่ขาดไม่เกิน เพราะ ๓ ข้อเป็นปฏิปักษ์ต่อความหดหู่, ๓ ข้อเป็นปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่าน, และเพราะสติเป็นประโยชน์แก่โพชฌงค์ทุกข้ออย่างนี้.
               บัณฑิตครั้นทราบอรรถวรรณนาของบททั้ง ๗ ที่กล่าวโดยนัยเป็นต้นว่า สติสมฺโพชฺฌงฺคํ อย่างนี้ก่อนแล้ว บัดนี้พึงทราบอรรถวรรณนาอย่างนี้ ในประโยคเป็นต้นว่า ภาเวติ วิเวกนิสฺสิตํ ดังนี้ (ต่อไป).
               บทว่า ภาเวติ ความว่า ย่อมให้เจริญ. อธิบายว่า ย่อมให้เกิดขึ้น คือให้บังเกิดขึ้นเฉพาะในจิตสันดานของตนบ่อยๆ.
               บทว่า วิเวกนิสฺสิตํ คืออาศัยวิเวก. ความสงัด ชื่อว่าวิเวก.
               วิเวกนั้นมี ๕ อย่างคือ ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก ปฏิปัสสัทธิวิเวกและนิสสรณวิเวก. ความที่วิเวกนั้นเป็นต่างๆ กัน พึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ในคำนี้ว่า อริยธมฺเม อวินีโต ดังนี้. ความจริง วิเวกนี้นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าวินัย ในบทว่า อริยธมฺเม อวินีโต นั้น.
               ในวิเวกทั้ง ๕ อย่างนี้ดังกล่าวมานี้ พึงทราบความดังนี้ว่า :-
               บทว่า วิเวกนิสฺสิตํ ความว่า เจริญสติสัมโพชฌงค์ อาศัยตทังควิเวก อาศัยสมุจเฉทวิเวก อาศัยนิสสรณวิเวก.
               จริงอย่างนั้น พระโยคาวจรผู้ตามประกอบการเจริญโพชฌงค์นี้ ในขณะแห่งวิปัสสนา ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ซึ่งอาศัยตทังควิเวกโดยกิจ อันอาศัยนิสสรณวิเวกโดยอัธยาศัย แต่ในกาลแห่งมรรคย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยสมุจเฉทวิเวกโดยกิจ และอาศัยนิสสรณวิเวกโดยอารมณ์.
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า อาศัยวิเวกทั้ง ๔ อย่างดังนี้บ้าง. เพราะว่าอาจารย์เหล่านั้นไม่ยกโพชฌงค์ขึ้นมาเฉพาะในขณะแห่งวิปัสสนาที่มีกำลัง และในขณะแห่งมรรคและผลอย่างเดียวเท่านั้น แต่แม้ในกสิณฌาน อานาปานสติกัมมัฏฐาน และในพรหมวิหารฌานซึ่งเป็นบาทของวิปัสสนาก็ยกขึ้นมาด้วย ทั้งพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายก็ไม่ได้คัดค้าน. เพราะฉะนั้น ตามมติของอาจารย์เหล่านั้นควรกล่าวว่า พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิกขัมภนวิเวกโดยกิจอย่างเดียว๒- ในขณะที่เป็นไปแห่งฌานเหล่านั้น. และท่านกล่าวว่า ในขณะแห่งวิปัสสนา พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยนิสสรณวิเวกโดยอัธยาศัย ดังนี้ฉันใด พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์แม้อันอาศัยปฏิปัสสัทธิวิเวกก็ฉันนั้น.
____________________________
๒- ปาฐะเป็น เอวํ แต่ตามฉบับพม่าเป็น เอว เห็นว่าเหมาะ จึงแปลตามฉบับพม่า.

               ในสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิราคะเป็นต้นก็นัยนี้.
               ความจริง ธรรมมีวิราคะเป็นต้นก็มีวิเวกเป็นอรรถทั้งนั้น. ก็ในธรรมทั้งหลายมีราคะเป็นต้นนี้ โวสสัคคะอย่างเดียวที่แบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ การปล่อยวางโดยการสละ (ปริจจาคโวสสัคคะ) ๑. การปล่อยวางโดยการแล่นไป (ปักขันทนโวสสัคคะ) ๑.
               บรรดาการปล่อยวางทั้ง ๒ อย่างนั้น การละกิเลสด้วยสามารถตทังคปหานในขณะแห่งวิปัสสนาและด้วยสมุจเฉทปหานในขณะแห่งมรรค ชื่อว่าการปล่อยวางโดยการสละ. ส่วนการแล่นไปสู่พระนิพพานโดยการน้อมไปสู่พระนิพพานนั้นในขณะแห่งวิปัสสนา ชื่อว่าการสละโดยการแล่นไป แต่ในขณะแห่งมรรคการแล่นไปสู่พระนิพพานจะมีได้ด้วยสามารถแห่งการทำให้เป็นอารมณ์. แม้โวสสัคคะทั้งคู่นั้นย่อมเหมาะสมในนัยแห่งอรรถกถาอันเจือด้วยโลกิยะและโลกุตตระนี้.
               จริงอย่างนั้น สติสัมโพชฌงค์นี้ย่อมสละกิเลสและย่อมแล่นไปสู่พระนิพพานโดยประการตามที่กล่าวแล้ว.
               ก็ด้วยถ้อยคำทั้งสิ้นนี้ว่า โวสฺสคฺคปริณามึ นี้มีคำอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ว่า กำลังน้อมไปและน้อมไปแล้ว คือจะงอมและงอมแล้วเพื่อการปล่อยวาง ดังนี้.
               อธิบายว่า ภิกษุนี้ผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งการเจริญโพชฌงค์ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์นั้น โดยที่สติสัมโพชฌงค์จะงอมและงอมแล้ว เพื่อการปล่อยวางโดยการสละกิเลส และเพื่อการปล่อยวางโดยการแล่นไปสู่พระนิพพาน ฉะนี้แล.
               ในโพชฌงค์ที่เหลือก็นัยนี้.
               แต่ว่าในที่นี้ นิพพานนั้นเอง ท่านกล่าวว่าวิเวก เพราะสงัดจากสังขตธรรมทั้งปวง ท่านกล่าวว่าวิราคะ เพราะภาวะแห่งสังขตธรรมทั้งหมด คลายกำหนัดแล้ว และท่านกล่าวว่านิโรธ เพราะภาวะคือความดับแห่งสังขตธรรมทั้งหลาย.
               ก็มรรคนั้นแลมีปกติน้อมไปเพื่อการสละ ฉะนั้น พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก เพราะกระทำวิเวกให้เป็นอารมณ์แล้วเป็นไป. พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยนิโรธก็อย่างนั้น. พระโยคาวจรย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันงอมแล้ว คืองอมรอบโดยภาวะคือการสละ และโดยภาวะคือการแล่นไปสู่พระนิพพานโดยการถอนกิเลสได้เด็ดขาด เพราะเกิดขึ้นในขณะแห่งอริยมรรคนั้นแล. พึงเห็นเนื้อความดังกล่าวมานี้. ในโพชฌงค์ที่เหลือก็นัยนี้.
               บทว่า ยญฺหิสฺส ความว่า อาสวะทั้งหลายและความเร่าร้อนอันทำความคับแค้นใจทั้งหลาย ย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่เจริญในบรรดาโพชฌงค์ทั้งหลายเหล่านั้นข้อใดข้อหนึ่ง.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.
               ก็ในการบังเกิดขึ้นแห่งอาสวะในสูตรนี้พึงทราบนัยดังนี้ อาสวะทั้ง ๓ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะเหล่าใดพึงเกิดขึ้น เพราะเหตุที่ภิกษุไม่ได้อบรมโพชฌงค์ซึ่งสัมปยุตด้วยมรรคเบื้องปลายเหล่านี้ อาสวะเหล่านั้นย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้เจริญโพชฌงค์เหล่านั้น ดังนี้.
               ข้อว่า อิเม วุจฺจนฺติ ฯลฯ ภาวนา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะทั้ง ๓ เหล่านี้พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อันภิกษุพึงละเสียด้วยการเจริญโพชฌงค์ซึ่งสัมปยุตด้วยมรรค ๓ นี้.
               [๑๙] บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงชมเชยภิกษุผู้ละอาสวะได้ด้วยอาการ ๗ เหล่านี้ และเมื่อจะทรงแสดงอานิสงส์ในการละอาสวะของภิกษุนั้น และเมื่อจะให้เกิดความขวนขวายแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยการละอาสวะ ด้วยเหตุเหล่านี้นั่นเอง จึงตรัสว่า ยโต โข ภิกฺขเว ฯลฯ อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น โต อักษรในคำว่า ยโต โข ใช้ในฉัฏฐีวิภัตติ อธิบายว่า เท่ากับ ยสฺส โข (ของกาลใดแล) ดังนี้. ส่วนพระโบราณาจารย์ทั้งหลายย่อมพรรณนาว่า เท่ากับ ยมฺหิ กาเล (ในกาลใด) ดังนี้.
               ข้อว่า เย อาสวา ทสฺสนา ปหาตพฺพา ความว่า อาสวะทั้งหลายเหล่าใดที่ภิกษุละได้แล้วด้วยทัสสนะ อาสวะทั้งหลายเหล่านั้นเป็นอันภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยทัสสนะนั้นแล และเธอย่อมมีความสําคัญในอาสวะที่ยังละไม่ได้นั้นแลว่าอันตนละได้แล้วก็หามิได้.
               ในบททั้งปวงมีความพิสดารอย่างนี้.
               บทว่า สพฺพาสวสํวรสํวุโต ความว่า เป็นผู้ปิดแล้วด้วยการปิดอาสวะทุกอย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้ปิดแล้วด้วยเครื่องปิดซึ่งอาสวะทุกอย่าง...
               บทว่า อจฺเฉชฺชิ ตณฺหํ ความว่า ตัดแล้วหรือถอนขึ้นได้แล้วซึ่งตัณหาหมดทุกอย่าง.
               บทว่า วิวตฺตยิ สํโยชนํ ความว่า ย่อมหมุนกลับซึ่งสังโยชน์แม้ทั้ง ๑๐ คือทำให้หมดมลทิน.
               บทว่า สมฺมา คือ โดยเหตุ ได้แก่โดยกาล.
               บทว่า มานาภิสมยา ความว่า เพราะบรรลุด้วยการเห็น และเพราะบรรลุด้วยการละมานะ. ความจริง อรหัตตมรรคย่อมเห็นแจ้งมานะด้วยอํานาจกิจ. นี้เป็นการบรรลุด้วยการเห็นของภิกษุนั้น. ก็อรหัตตมรรคอันภิกษุเห็นแล้วด้วยทัสสนะนั้นอันเธอย่อมละได้ในขณะนั้นนั่นเอง เหมือนการกลับได้ชีวิตของสัตว์ผู้ถูกงูพิษกัดฉะนั้น นี้เป็นการบรรลุโดยการละของภิกษุนั้น.
               บทว่า อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส ความว่า ที่สุด ๔ อย่างนี้คือที่สุดคือเขตแดนอันมีในที่สุดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ปลายประคดเอวเก่าแล้ว หรือยอดของเขียวสดเหี่ยวแล้ว และที่สุดที่เลวทรามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นที่สุดแห่งชีวิต และที่สุดคือส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า สักกายะ (ทิฏฐิ) ก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง และที่สุดของการนับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์ เพราะนับปัจจัยทุกอย่าง.
               ในบรรดาที่สุดทั้ง ๔ อย่างนั้น ภิกษุได้กระทำที่สุดข้อที่ ๔ โน้นแห่งวัฏฏทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะความที่แห่งมานะอันตนเห็นและละได้ด้วยอรหัตตมรรคอย่างนี้. อธิบายว่า เธอได้ทำการขาดตอน คือทำให้หมดไป ได้แก่ทำทุกข์ให้เหลืออยู่เพียงร่างกายชาติสุดท้าย.
               บทว่า อตฺตมนา เต ภิกฺขู ความว่า ภิกษุเหล่านั้นมีใจเป็นของตน คือมีใจยินดี หรือเป็นผู้มีใจอันสัมปยุตด้วยปีติและโสมนัส.
               บทว่า ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทุํ ความว่า ภิกษุทั้งหลายรับด้วยเศียรเกล้าแล้วทูลชมเชยพระพุทธภาษิต คือพระพุทธดำรัสที่ตรัสดีแล้ว ได้แก่ที่ทรงปราศรัยแล้ว มีการทำที่สุดทุกข์เป็นปริโยสานว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสซึ่งคำนี้อย่างนี้ พระสุคตเจ้าตรัสคำนี้อย่างนี้ ดังนี้.
               คำที่เหลืออันใดที่ข้าพเจ้ามิได้กล่าวไว้ในที่นี้ ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวคำนั้นซ้ำอีก เพราะกล่าวไว้ก่อนแล้ว และเพราะเข้าใจได้ง่าย เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงพิจารณาคำทั้งหมดตามลําดับบท โดยทำนองแห่งคำที่กล่าวแล้วเทอญ.

               จบอรรถกถาแห่งสัพพาสวสังวรสูตร               
               จบพระสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สัพพาสวสังวรสูตร ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 1อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 12 / 20อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=238&Z=384
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=1647
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=1647
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :