ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 91อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 100อ่านอรรถกถา 12 / 110อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
สัลเลขสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               กรรมบถ - มิจฉัตตะ               
               แต่เนื้อความ (ที่จะกล่าวต่อไป) นี้ เป็นความสังเขปในกรรมบถและมิจฉัตตะนี้.
               ชนเหล่าใดยังสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่าปาณาติปาตี. อธิบายว่า เป็นผู้ฆ่าสัตว์มีชีวิต.
               ชนเหล่าใดถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า อทินนาทายี. อธิบายว่า ผู้ลักของผู้อื่น.
               ชนเหล่าใดประพฤติธรรมไม่ประเสริฐ (ไม่เหมือนพรหม) คือธรรมต่ำได้แก่ธรรมเลว เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า อพรหมจารี. อธิบายว่า เป็นผู้เสพเมถุนธรรม.
               ส่วนชนเหล่าใดประพฤติธรรมประเสริฐ คือปฏิปทาประเสริฐสุด เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า พรหมจารี. อธิบายว่า เป็นผู้เว้นเมถุนธรรม.
               และพรหมจรรย์พึงทราบว่า๑- เป็นสัลเลขธรรมในคำว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ในเพราะเหตุนี้. เพราะว่า พรหมจรรย์ (การประพฤติธรรมที่ประเสริฐ) ย่อมขจัดขัดเกลาอพรหมจรรย์ (การประพฤติธรรมที่ไม่ประเสริฐ) ได้.
____________________________
๑- ปาฐะว่า เวทิตพฺโพ เข้าใจว่าคงจะเป็น เวทิตพฺตํ ฉบับพม่าเป็น เวทิตพพํ.

               ชนเหล่าใดพูดเท็จ เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า มุสาวาที. อธิบายว่า ผู้พูดวาจาเปล่า คือเหลาะแหละ ที่หักรานประโยชน์ของผู้อื่น.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีปิสุณวาจา เพราะมีวาจาส่อเสียด.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีผรุสวาจา เพราะมีวาจาหยาบคาย เราะรานสิ่งที่รักของผู้อื่น.
               ชนเหล่าใดพูดพล่าม คือไร้ประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่า สัมผัปปลาปี (ผู้พูดเพ้อเจ้อ).
               ชนเหล่าใดย่อมเพ่งเล็ง เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่ามีอภิชฌาเป็นปกติ. อธิบายว่า เป็นผู้มักได้สิ่งของๆ ผู้อื่น.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีจิตพยาบาท เพราะมีจิตพยาบาท คือเป็นจิตเสีย.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีความเห็นผิด เพราะความเห็นพลาด คือลามก ได้แก่ที่ผู้รู้ตำหนิ. อธิบายว่า ผู้ประกอบด้วย (นัตถิกทิฏฐิ) มีอาทิว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล อันนับเนื่องใน (อกุศล) กรรมบถ และทิฏฐิที่ไม่นำสัตว์ออกจากวัฏฏะอันนับเนื่องในมิจฉัตตะ (ความเป็นผิด).
               แต่เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีความเห็นถูก เพราะมีความเห็นชอบ คืองาม ได้แก่ที่ผู้รู้สรรเสริญ. อธิบายว่า ประกอบด้วยความเห็นว่า สัตว์มีกรรมเป็นของตน มีอาทิว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ที่นับเนื่องใน (กุศล) กรรมบถ และความเห็นในมรรคที่นับเนื่องด้วยสัมมัตตะ (ความเป็นถูก).
               บทว่า มิจฉาสังกัปปา ได้แก่ ความดำริในอกุศลที่ไม่เป็นไปตามความจริงและไม่เป็นเครื่องนำสัตว์ออกจากวัฏฏะ.
               แม้ในมิจฉาวาจาเป็นต้นก็มีนัยนี้. แต่มีความแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               ความจริง ธรรมดามิจฉาสติก็เหมือนกับมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น ไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ คือไม่มีธรรมอะไรๆ. แต่คำว่า มิจฉาสติ นี้เป็นชื่อของขันธ์ที่เป็นอกุศลทั้ง ๔ ขันธ์ที่เป็นไปแล้วสำหรับผู้คิดถึงอดีต. แม้คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวว่า อนุสสตินั้นมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี ซึ่งได้แก่อนุสสติของผู้ตามระลึกถึงการได้บุตร ตามระลึกถึงการได้ลาภ หรือตามระลึกถึงการได้ยศ ภิกษุทั้งหลาย.
               แม้คำนั้น พึงทราบว่า พระองค์ตรัสหมายเอาการเกิดขึ้นด้วยสติเทียมของผู้คิดถึงเรื่องนั้นๆ.
               ก็โมหะที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการคิดถึงอุบายในการทำบาปทั้งหลายและโดยอาการแห่งการทำชั่ว และพิจารณาว่า เราทำดีแล้ว พึงทราบว่าเป็นมิจฉาญาณในคำว่า มิจฺฉาญาณี ผู้มีความรู้ผิด นี้.
               บุคคลทั้งหลายผู้ประกอบด้วยมิจฉาญาณะนั้น ชื่อว่ามิจฺฉาญาณี.
               ส่วนปัจจเวกขณญาณแยกประเภทเป็น ๗๙ อย่าง พระองค์ตรัสเรียกว่าสัมมาญาณะ ในคำว่า สมฺมาญาณี (ผู้มีความรู้ชอบ) นี้. บุคคลทั้งหลายผู้ประกอบด้วยสัมมาญาณะนั้น ชื่อว่า สัมมาญาณี.
               คำว่า มิจฺฉาวิมุตฺตี ผู้มีความหลุดพ้นผิด คือผู้ยังไม่หลุดพ้นเลย แต่มีความสำคัญอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายหลุดพ้นแล้ว หรือมีความสำคัญว่า ความไม่หลุดพ้นเป็นความหลุดพ้น.
               ในมิจฉาวิมุตินั้น มีอรรถพจน์ดังต่อไปนี้:-
               เหล่าชนผู้ชื่อว่า มิจฺฉาวิมุตฺตี (ผู้มีความหลุดพ้นผิด) เพราะมีความหลุดพ้นผิด คือชั่วช้า ได้แก่วิปริต.
               อนึ่ง คำว่า มิจฺฉาวิมุตฺตี นี้เป็นชื่อของขันธ์ที่เป็นอกุศล ซึ่งเป็นไปโดยอาการดังที่กล่าวมาแล้ว. ส่วนธรรมที่เหลือที่สัมปยุตด้วยผลยกเว้นองค์ทั้ง ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น พึงทราบว่า วิมุติ. และวิมุตินั้น พึงทราบว่าเป็นสัลเลขธรรม เพราะขจัดขัดเกลามิจฉาวิมุติแล้วสถิตอยู่ได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงให้ภิกษุทั้งหลายประกอบในสัมมาวิมุตินั้น จึงตรัสคำมีอาทิไว้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสัมมาวิมุติในเพราะเรื่องนี้ เธอทั้งหลายควรบำเพ็ญสัลเลขธรรมอย่างนี้.
               อกุศลทั้ง ๓ ต่อจากนี้ไป พระองค์ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ แต่เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในกรรมบถทั้งหลายอย่างนี้ว่า ผู้มักเพ่งเล็ง ผู้มีจิตพยาบาท จึงควรทราบไว้ว่า พระองค์ตรัสนิวรณ์ ๒ ข้อแรกไว้ในคำนี้แล้ว.
               ในจำนวนนิวรณ์ทั้ง ๓ นั้น เหล่าชนผู้ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุมแล้ว คือครอบงำแล้ว ฉะนั้น จึงชื่อว่า ถีนมิทฺธปริยุฏฺฐิตา (ผู้ถูกความง่วงเหงาหาวนอนรบกวนแล้ว).
               เหล่าชนผู้ชื่อว่า อุทฺธตา (มีความฟุ้งซ่าน) เพราะประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่ามี วิจิกิจฺฉา เพราะคิดลังเลสงสัยอยู่ คือไม่สามารถทำความตกลงใจได้.
               อกุศลทั้ง ๑๐ มีความโกรธเป็นต้น พระองค์ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งอุปกิเลส. ในจำนวนอุปกิเลสทั้งหลายมีความโกรธเป็นต้นเหล่านั้น คำที่ควรจะกล่าว (อธิบาย) ทั้งหมด ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในธรรมทายาทสูตร และวัตถสูตร.
               แต่ในสูตรนี้ มีอรรถพจน์ดังต่อไปนี้:-
               คำว่า โกธนา (มักโกรธ) คือ มีความเดือดดาลเป็นปกติ.
               คำว่า อุปนาหี (มักผูกโกรธ) คือ มีความผูกโกรธเป็นปกติ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อุปนาหี เพราะคนเหล่านั้นมีความผูกโกรธ. มกฺขี (ผู้มักลบหลู่) ปลาสี (ผู้มักตีเสมอ) ก็เช่นนั้นเหมือนกัน.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่า อิสฺสุกี เพราะมักริษยา. เหล่าชนผู้ชื่อว่า มจฺเฉรี เพราะมักตระหนี่. อีกอย่างหนึ่ง เพราะชนเหล่านั้นมีความตระหนี่.
               ชนเหล่าใดประพฤติโอ้อวด ชนเหล่านั้นชื่อว่า สฐา (ผู้โอ้อวด). มีคำอธิบายไว้ว่า ไม่พูดโดยชอบ (ธรรม) คำว่า สฐา นี้เป็นชื่อของเหล่าชนผู้ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้ต่ำช้า.
               มายาของชนเหล่านั้นมีอยู่ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า มายาวี (มีเล่ห์เหลี่ยม).
               เหล่าชนผู้ชื่อว่า ถทฺธา (มีความกระด้าง) เพราะประกอบด้วยความหัวดื้อ. เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีมานะยิ่ง เพราะประกอบด้วยการดูหมิ่นท่าน. ส่วนธรรมะที่เป็นฝ่ายสุกกธรรม พึงทราบโดยนัยแห่งธรรมที่ตรงกันข้ามกับที่ได้กล่าวไว้แล้ว.
               คำว่า เป็นผู้ว่ายาก ความว่า เป็นผู้ยากที่จะว่ากล่าวได้ คือถูกว่าอะไรเข้าแล้วทนไม่ได้. เหล่าชนผู้ตรงกันข้ามกับคนว่ายากนั้น ชื่อว่าเป็นคนว่าง่าย.
               เหล่าชนที่ชื่อว่ามีมิตรชั่ว เพราะมีมิตรเลว เช่นพระเทวทัตเป็นต้น.
               เหล่าชนที่ชื่อว่ามีกัลยาณมิตร เพราะมีคนดี คือพระพุทธเจ้าหรือสาวกทั้งหลายเช่นกับพระสารีบุตรเป็นต้นเป็นมิตร.
               เหล่าชนผู้ตรงกันข้ามกับผู้ไม่ประมาทแล้วด้วยอำนาจการปล่อยจิตในกายทุจริตเป็นต้น. พึงทราบว่าเป็นผู้ประมาทแล้ว.
               ทั้ง ๓ อย่างนี้พระองค์ตรัสไว้โดยเป็นข้อเบ็ดเตล็ด. ส่วน ๗ อย่างมีเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น พระองค์ตรัสไว้โดยเป็นอสัทธรรม. ในจำนวน ๗ อย่างนั้น เหล่าชนที่ชื่อว่าไม่มีศรัทธา เพราะไม่มีความเชื่อในวัตถุทั้ง ๓ (พระรัตนตรัย). ในธรรมที่เป็นฝ่ายสุกกธรรม พึงทราบอธิบายดังนี้ ชนเหล่าใดเชื่ออยู่ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้เชื่อ หรือชื่อว่ามีศรัทธา เพราะมีความเชื่อ.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่าอหิริกะ เพราะไม่มีความละอายแก่ใจ.
               คำว่า อหิริกะ นี้เป็นชื่อของผู้ไม่ขยะแขยงต่อการปฏิบัติอกุศลธรรม.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีความละอายแก่ใจ เพราะมีความละอายในใจ หรือมีใจประกอบด้วยความละอาย.
               ชนเหล่าใดไม่สะดุ้ง (ต่อบาป) อยู่ ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่มีโอตตัปปะ. มีคำอธิบายไว้ว่า ไม่กลัวต่อการประพฤติอกุศลธรรม. แต่ผู้ที่ตรงกันข้ามกับเขา ชื่อว่าเป็นผู้มีโอตตัปปะ (เกรงกลัวบาป).
               เหล่าชนผู้ชื่อว่าด้อยการศึกษา เพราะมีการศึกษาน้อย แต่ความน้อย ไม่ควรถือว่าได้แก่ความนิดหน่อย ต้องถือว่าไม่มีเลย. เพราะว่าผู้ไม่มีการศึกษา (สุตะ) คือไร้การศึกษา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ผู้ด้อยการศึกษา (สุตะ).
               แต่เหล่าชนผู้ชื่อว่าเป็นพหูสูต เพราะมีการศึกษา (สุตะ) มาก. คำว่า พหุสสุตา นี้ เป็นชื่อของเหล่าชนผู้รู้พระพุทธภาษิต คือกถา แม้เรื่องเดียวโดยถ่องแท้แล้วปฏิบัติพอเหมาะสมแก่ข้อปฏิบัติ.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่าเกียจคร้าน เพราะจมลง (สู่ภาวะที่น่าเกลียด) คำนี้เป็นชื่อของผู้เสื่อมความเพียรแล้ว.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่าปรารภความเพียรแล้ว เพราะมีความเพียรที่ปรารภแล้ว คำนี้เป็นชื่อของเหล่าชนผู้ประกอบด้วยความเพียรชอบ.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีสติหลงลืมแล้ว เพราะมีสติฟั่นเฟือนแล้ว. มีคำอธิบายไว้ว่า มีสติเสื่อมแล้ว.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่าผู้ตั้งสติได้แล้ว เพราะมีสติที่ตนตั้งไว้ใกล้ชิดแล้ว. คำว่า อุปฏฺฐิตสฺตี นี้ เป็นชื่อของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ที่มีสติเผชิญหน้ากับอารมณ์อยู่เป็นนิจ.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีปัญญาทราม เพราะมีปัญญาชั่วร้าย. มีคำอธิบายไว้ว่า มีปัญญาเสื่อมแล้ว. เหล่าชนผู้ชื่อว่ามีปัญญาสมบูรณ์ เพราะถึงพร้อมด้วยปัญญา.
               แต่ปัญญาในที่นี้พึงทราบว่า ได้แก่วิปัสสนาปัญญา. เพราะว่า องค์ประกอบวิปัสสนา มีมาครบถ้วนในที่นี้ เพราะฉะนั้น โบราณจึงมีบังคับไว้ว่า ปัญญานี้คือวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น. ต่อไปนี้เมื่อจะทรงแสดงทิฏฐิไม่นำสัตว์ออกจากวัฏฏะอย่างเดียวเท่านั้น ที่ทำอันตรายต่อคุณธรรมที่เป็นโลกุตตระ ด้วยอาการ ๓ อย่าง จึงตรัสคำมีอาทิไว้ว่า สนฺทิฏฺฐิปรามาสี ผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน.
               ในว่า สนฺทิฏฺฐิปรามาสี เป็นต้นนั้น พึงทราบอธิบายดังนี้ว่า:-
               เหล่าชนผู้ชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิปรามาสี เพราะยึดทิฏฐิของตน.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่า อาธานคาหี เพราะยึดไว้มั่น ความยึดมั่น ท่านเรียกว่า อาธานะ. อธิบายว่า ผู้ถือมั่น.
               เหล่าชนผู้ชื่อว่าเป็นผู้สลัดทิ้ง เพราะเห็นเหตุที่ถูกต้องแล้ว ก็สลัด (ลัทธิเก่า) ทิ้ง. แต่เหล่าชนผู้ชื่อว่า ทุปฺปฏินิสฺสคฺคี เพราะ (สลัดได้) โดยยาก คือโดยลำบาก ได้แก่ ฝืด. อธิบายว่า เห็นเหตุตั้งมากมาย ก็ไม่อาจสละได้.
               คำว่า ทุปฺปฏินิสฺสคฺคี นี้เป็นชื่อของเหล่าชนผู้ยึดมั่นทิฏฐิที่เกิดขึ้นแก่ตนว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง ถึงแม้พระพุทธเจ้าเป็นต้น จะทรงชี้แจงแสดงเหตุให้ฟังก็ไม่สลัดทิ้ง.
               อธิบายว่า บุคคลประเภทนั้นฟังเรื่องใดๆ มาจะเป็นเรื่องธรรมะหรือไม่ใช่ธรรมะก็ตาม ประมวลเรื่องทั้งหมดนั้นไว้ภายใน (สมอง) นั้นเองว่า อาจารย์ของเราทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ เราทั้งหลายได้สดับมาอย่างนี้. เหมือนเต่าเก็บอวัยวะทั้งหลายไว้ภายในกระดองของตน คือยึด (ทิฏฐินั้นไว้) ไม่ปล่อย เหมือนการฮุบไว้ของจระเข้.
               ส่วนธรรมฝ่ายขาวพึงทราบโดยบรรยายตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว.
               [๑๐๕] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัลเลขธรรมโดยอาการ ๔๔ ประการอย่างนี้แล้ว เพื่อจะทรงแสดงว่า แม้การเกิดขึ้นแห่งจิตในสัลเลขธรรมนั้น ก็เป็นธรรมมีอุปการะมาก จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า แม้การเกิดขึ้นแห่งจิต เราตถาคต...
               คำว่า จิตฺตุปฺปาทมฺปิ โข อหํ เป็นต้นนั้น มีเนื้อความว่า ดูก่อนจุนทะ แม้การเกิดขึ้นแห่งจิตในกุศลธรรมทั้งหลาย เราตถาคตก็กล่าวว่า มีอุปการะมาก จะกล่าวไปไยในเรื่องการจัดแจงทำด้วยกายและด้วยวาจา คือทำธรรมเหล่านั้นและบังคับด้วยวาจาว่า ท่านทั้งหลายจงพากันทำ หรือการเรียนการสอบถามเป็นต้น เหมือนกับจิตดวงแรกที่เกิดขึ้น เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า การจัดแจงทำนั้นมีอุปการะมากโดยส่วนเดียวนั่นเอง.
               ถามว่า ก็เหตุไฉนแม้การเกิดขึ้นแห่งจิตในกุศลธรรมเหล่านั้น จึงมีอุปการะมาก?
               แก้ว่า เพราะนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้โดยส่วนเดียวด้วย เพราะเป็นเหตุแห่งการจัดทำตามลำดับด้วย.
               จริงอยู่ การเกิดขึ้นแห่งจิตว่า เราจักถวายทาน โดยลำพังตัวมันก็เป็นเหตุนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้โดยส่วนเดียวอยู่แล้ว ทั้งเป็นเหตุให้จัดทำตามลำดับด้วย. ก็เพราะเกิดความคิดขึ้นอย่างนี้ (ในวันแรก) นั่นเอง ในวันที่ ๒ จึงปิดถนนใหญ่ สร้างปะรำใหญ่ แล้วถวายทานแก่ภิกษุ ๑๐๐ รูปหรือ ๑,๐๐๐ รูป ได้บอกเพื่อนใกล้เคียงว่า จงนิมนต์ จงบูชา จงเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์กันเถิด ดังนี้ การเกิดขึ้นแห่งจิตว่า เราจักถวายจีวร เสนาสนะและเภสัชแก่พระสงฆ์อย่างนี้ โดยลำพังตัวมันก็เป็นเหตุนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้ได้โดยส่วนเดียวอยู่แล้ว ทั้งเป็นเหตุให้จัดทำตามลำดับ ด้วยประการดังนี้.
               จริงอยู่ เพราะมีจิตเกิดอย่างนี้นั่นเอง คนจึงจัดเตรียมจีวรเป็นต้นพากันถวาย.
               ในการถึงสรณะเป็นต้นก็มีนัยนั้น.
               อธิบายว่า คนเกิดความคิดขึ้น (ก่อน) ทีเดียวว่า เราจักถึงสรณะ ภายหลังจึงรับสรณะด้วยกายหรือด้วยวาจา.
               อนึ่ง คนเกิดความคิดขึ้น (ก่อน) ทีเดียวว่า เราจักสมาทานศีลมีองค์ ๕ มีองค์ ๘ หรือมีองค์ ๑๐ แล้วจึงสมาทานด้วยกายหรือด้วยวาจา. และผู้บวชแล้วก็เกิดความคิดขึ้น (ก่อน) เหมือนกันว่า เราจักดำรงมั่นอยู่ในศีลทั้ง ๕ แล้ว จึงยังศีลที่ควรให้บริบูรณ์ด้วยกายและวาจาให้บริบูรณ์.
               ผู้เกิดความคิดขึ้น (ก่อน) ว่าเราจักเรียนพระพุทธพจน์แล้ว จึงจะเรียนพระพุทธพจน์ได้ ๑ นิกาย ๒ นิกาย ๓ นิกาย ๔ นิกายหรือ ๕ นิกาย.
               ควรนำ (เรื่องจิตตุปบาทมาแสดง) อย่างนี้ ด้วยสามารถแห่งการสมาทานธุดงค์ การเรียนพระกรรมฐาน การบริกรรมกสิณ การเข้าฌาน (การเจริญ) วิปัสสนา, มรรค, ผล, ปัจเจกโพธิญาณและสัมมาสัมโพธิญาณ. เพราะว่า การเกิดความคิดขึ้นว่า เราจักเป็นพระพุทธเจ้าโดยลำพังตัวมันก็เป็นเหตุนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้ได้โดยส่วนเดียวอยู่แล้ว นั้นเป็นเหตุให้จัดทำตามลำดับด้วย.
               อธิบายว่า เพราะเกิดความคิดขึ้นอย่างนี้แหละ สมัยต่อมา (พระโพธิสัตว์) จึงบำเพ็ญบารมีด้วยกายและวาจา ตลอดเวลา ๔ อสงไขยกำไรแสนกัปแล้ว (ได้ตรัสรู้) เสด็จดำเนินโปรดสัตวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ให้ข้ามพ้น (โอฆสงสาร) แม้การเกิดความคิดขึ้นในกุศลธรรมทุกอย่างก็มีอุปการะมาก ดังที่พรรณนามานี้ แต่การจัดทำตามลำดับด้วยกายและวาจา พึงทราบว่า มีอุปการะมากยิ่งทีเดียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงจิตตุปบาทเหล่านั้น จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า ดูก่อนจุนทะ เพราะเหตุนั้นแล.
               คำนั้นโดยเนื้อความปรากฏชัดแล้ว.

               อวิหิงสาเหมือนท่าน้ำที่ราบรื่น               
               [๑๐๖] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงจิตตุปบาทในสัลเลขธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยอาการ ๔๔ อย่างว่ามีอุปการะมากอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงสัลเลขธรรมนั้นเองว่าเป็นทางแห่งการบรรลุประโยชน์เกื้อกูล จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า เสยฺยถาปิ (แม้ฉันใด).
               คำนั้นมีอรรถาธิบายว่า
               ดูก่อนจุนทะ อุปมาเหมือนว่า มีทางที่ขรุขระไปด้วยตอ หนามและหิน ต้องมีทางอื่นที่ราบเรียบ เหมือนพื้นที่ๆ ปรับไว้ดีแล้ว เพื่อหลีก คือเพื่อต้องการเว้นทางที่ขรุขระนั้นฉันใด
               อนึ่ง มีท่าน้ำที่ไม่ราบเรียบมีเหง้าไม้ มีหินและหลุม เกลื่อนกล่นไปด้วยอันตรายมีจระเข้และมังกรเป็นต้น ต้องมีท่าน้ำที่ราบเรียบ ลึกลงไปตามลำดับ เช่นกับขั้นบันได เพื่อหลีกคือเพื่อต้องการเว้นท่าน้ำที่ไม่ราบเรียบนั้นซึ่งคนเดินไปแล้ว แวะลงแม่น้ำหรือสระ แล้วอาบน้ำหรือขึ้นมาได้โดยสะดวกฉันใด.
               ดูก่อนจุนทะ อวิหิงสาก็เช่นนั้นเหมือนกันนั้นแหละ เช่นกับด้วยทางที่ราบเรียบ และท่าที่ราบรื่นมีไว้เพื่อหลีกคนมีวิหิงสา ผู้ประกอบด้วยการเบียดเบียน ซึ่งเป็นเช่นกับท่าที่ไม่ราบรื่น.
               ความจริง ทางที่ราบเรียบและท่าน้ำที่ตกแต่งแล้ว มีไว้เพื่อเว้นทางที่ไม่ราบเรียบและทำน้ำที่ไม่ราบรื่นฉันใด ผู้ปฏิบัติเพื่อต้องการเว้นวิหิงสาและเพื่อปรับปรุง (ตน) ด้วยอวิหิงสาก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะยื้อยุดเอาคติมนุษย์หรือคติเทพเจ้า เสวยสมบัติหรือข้ามพ้นโลกได้โดยง่ายดาย.
               ทุกๆ บทควรประกอบโดยทำนองนี้เหมือนกัน.

               อโธภาวังคมนียะอุปริภาวังคมนียะ               
               [๑๐๗] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัลเลขธรรมว่าเป็นทางแห่งการประสบประโยชน์เกื้อกูลอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงภาวะที่สัลเลขธรรมให้ถึงความสูงส่ง จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า เสยฺยถาปิ (แม้ฉันใด) ไว้.
               คำนั้นมีอรรถาธิบายว่า
               ดูก่อนจุนทะ เหมือนอย่างว่า อกุศลธรรมที่ให้เกิดปฏิสนธิ หรือไม่ให้เกิดก็ตาม แม้เมื่อให้ปฏิสนธิแล้ว จะให้เกิดวิบากหรือไม่ให้เกิดก็ตาม ทั้งหมดนั้นโดยชาติแล้ว จะมีชื่ออย่างนี้ว่า อโธภาวังคมนียะ (เป็นธรรมให้ถึงความต่ำทราม) เพราะอกุศลธรรมเหล่านั้น ในเวลาให้วิบากเป็นวิบากที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าพอใจฉันใด.
               ส่วนกุศลธรรมที่ให้เกิดปฏิสนธิ หรือไม่ให้เกิดก็ตาม แม้เมื่อให้ปฏิสนธิแล้วจะให้เกิดวิบาก หรือไม่ให้เกิดก็ตาม ทั้งหมดนั้นโดยชาติแล้ว จะมีชื่ออย่างนี้ว่า อุปริภาวังคมนียะ (เป็นธรรมให้ถึงความสูงส่ง) เพราะกุศลธรรมเหล่านั้น ในเวลาให้วิบากเป็นวิบากที่น่าปรารถนาพอใจฉันใด.
               ดูก่อนจุนทะ อวิหิงสาก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีไว้เพื่อความสูงส่งแห่งบุคคลผู้มีวิหิงสา.
               ในเรื่องนั้นมีการเปรียบเทียบระหว่างอุปมากับอุปไมย ดังต่อไปนี้.
               อกุศลธรรมทั้งหมดนั้นเป็นธรรมให้ถึงความต่ำทรามฉันใด แม้วิหิงสาอย่างเดียวที่เป็นธรรมให้ถึงความต่ำทราม สำหรับผู้มีวิหิงสาก็ฉันนั้น. ส่วนกุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมให้ถึงความสูงส่งฉันใด แม้อวิหิงสาอย่างเดียวที่เป็นธรรมให้ถึงความสูงส่งสำหรับผู้ไม่มีวิหิงสาก็ฉันนั้น.
               ควรเปรียบเทียบอกุศลกับอกุศลและกุศลกับกุศลโดยอุบายนี้นั้นแหละ.
               ได้ทราบว่า ในเรื่องนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้ :-

               เบญจกามคุณคือปลัก               
               [๑๐๘] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัลเลขธรรมว่าเป็นธรรมให้ถึงความสูงส่งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงว่า สัลเลขธรรมเป็นธรรมสามารถในการยังกิเลสของเขาให้ดับรอบ (ให้ถึงนิพพาน) จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า โส วต จุนฺท (ดูก่อนจุนทะ นั้นหนอ).
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส (นั้น) แสดงถึงบุคคลชนิดที่กล่าวมาแล้ว.
               ควรทราบถึงการนำเอาคำอุทเทศนี้ว่า โย ของบทว่า โส นั้นมาเชื่อมกันในทุกบทอย่างนี้ว่า ผู้ใดตนเองจมอยู่ในปลัก ผู้นั้นละหนอ จุนทะ จักถอนผู้อื่นที่จมปลัก ผู้จมอยู่ในโคลนตมลึก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ปลิปปลิปนฺโน (ผู้จมปลัก) แต่ไม่ใช่เรียกในอริยวินัยเลย. ส่วนในอริยวินัย พระองค์ทรงเรียกเบญจกามคุณว่า ปลิป (ปลัก). พาลปุถุชนจมลงในเบญจกามคุณนั้น ชื่อว่า ปลิปันนะ (ผู้จมลงในเบญจกามคุณ).
               เพราะฉะนั้น ควรทราบการประกอบเนื้อความในคำนี้ว่า โส วต จุนฺท เป็นต้นนี้ (ต่อไป) ดูก่อนจุนทะ คนลางคนจมลงในโคลนตม (ปลัก) ลึกจนถึงปลายจมูก จักจับมือหรือศีรษะอีกคนหนึ่งที่จมลงในโคลนตมนั้นด้วยกันและฉุดขึ้นมา ข้อนี้เป็นเหตุที่เป็นไปไม่ได้.
               อธิบายว่า เหตุที่เขาจะช่วยฉุดบุคคลนั้นให้ขึ้นไปยืนอยู่บนบกได้ฉันใด. ผู้ที่จมปลักคือเบญจกามคุณด้วยตนเอง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักยกคนอื่นที่จมปลัก ณ ที่นั้นเหมือนกันขึ้นมา เหตุนั้น ข้อนี้จึงเป็นเหตุที่เป็นไปไม่ได้.
               ในเรื่องนั้น พึงมีคำทักท้วงว่า พระพุทธดำรัสนั้นคงไม่ถูกต้อง เพราะว่าชนทั้งหลายได้ฟังธรรมเทศนาของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนอยู่แล้วได้บรรลุธรรม มีอยู่ทีเดียว เพราะฉะนั้น ผู้จมปลักจึงชื่อว่า ยก (ผู้อื่นที่จมปลักด้วยกัน) ขึ้นได้.
               ควรวิสัชนาว่า คำนั้นไม่ควรเห็นอย่างนั้น.
               ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นทรงยกขึ้นได้ในเรื่องที่ว่านั้น. ส่วนพระธรรมกถึกทั้งหลายจะได้รับก็เพียงคำสรรเสริญเท่านั้น เหมือนกับผู้อ่านพระราชหัตถเลขาที่พระราชาทรงส่งไปฉะนั้น.
               จริงอยู่ พระราชหัตถเลขาที่พระราชาทรงส่งไปที่ชนบทชายแดน คนที่นั้นอ่านพระราชหัตถเลขาไม่ออก ก็จะให้คนที่อ่านออกอ่านแล้วพากันฟังเนื้อความพระราชหัตถเลขานั้น น้อมรับโดยเคารพว่าเป็นพระบรมราชโองการ และเขาเหล่านั้นไม่ได้มีความคิดว่า นี้เป็นคำสั่งของผู้อ่าน ส่วนผู้อ่านพระราชหัตถเลขาก็จะได้รับเพียงคำสรรเสริญเท่านั้นว่า อ่านด้วยถ้อยคำฉาดฉาน ไม่ตะกุกตะกักฉันใด.
               พระธรรมกถึกทั้งหลายเริ่มต้นแต่พระสารีบุตรแสดงธรรมได้ก็จริง ถึงกระนั้น ท่านเหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเป็นเหมือนกับผู้อ่านพระราชหัตถเลขา ส่วนพระธรรมเทศนานั้นก็เป็นพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเอง เหมือนกับพระบรมราชโองการ.
               อนึ่ง ชนเหล่าใดฟังธรรมเทศนาแล้ว ได้บรรลุธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเองพึงทราบว่า ทรงยกคนเหล่านั้นขึ้น (ให้พ้นปลัก). ส่วนพระธรรมกถึกจะได้ก็เพียงคำสรรเสริญเท่านั้นว่า แสดงธรรมด้วยถ้อยคำฉาดฉาน ไม่ตะกุกตะกัก เพราะฉะนั้น พระพุทธดำรัสนี้จึงถูกต้องโดยแท้.
               ส่วนธรรมะที่เป็นฝ่ายขาวพึงทราบโดยบรรยายที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว.
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในคำนี้ว่า อทนฺโต (ผู้ไม่ได้รับฝึก) อวินีโต (ผู้ไม่ได้รับแนะนำ) อปรินิพฺพุโต (ผู้ดับกิเลสยังไม่ได้) ว่า ผู้ชื่อว่าไม่ได้รับการฝึก เพราะเป็นผู้ยังไม่หมดพยศ. ผู้ชื่อว่าไม่ได้รับแนะนำ เพราะยังไม่ได้ศึกษาวินัย ผู้ชื่อว่าดับกิเลสยังไม่ได้ เพราะยังมีกิเลสที่ยังดับไม่ได้ คนชนิดนั้นๆ จักฝึกผู้อื่น คือจักทำให้เขาหมดพยศ จักแนะนำเขา คือจักให้เขาศึกษาไตรสิกขา หรือจักให้ผู้อื่นดับกิเลส คือจักให้กิเลสทั้งหลายของเขาดับไป ข้อที่ว่ามานี้เป็นเหตุที่เป็นไปไม่ได้ แต่ธรรมะที่เป็นฝ่ายขาวพึงทราบโดยบรรยายที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว.
               ส่วนอรรถาธิบายในคำนี้ว่า ดูก่อนจุนทะ อวิหิงสามีไว้เพื่อความดับกิเลสของบุรุษบุคคลผู้มีวิหิงสาก็ฉันนั้นเหมือนกัน พึงทราบอย่างนี้.
               เหมือนอย่างว่า ผู้ไม่จมปลัก จักยกผู้อื่นที่จมปลักขึ้นได้ ผู้ฝึกแล้วจักฝึกผู้อื่นได้ ผู้ได้รับแนะนำแล้วจักแนะนำผู้อื่นได้ ผู้ดับกิเลสได้แล้วจักดับกิเลสของผู้อื่นได้ ข้อที่ว่ามานี้ จึงเป็นเหตุที่เป็นไปได้.
               ถามว่า ก็เหตุนั้นคืออะไร?
               ตอบว่า คือการไม่จมปลัก การฝึกฝนแล้ว การได้รับคำแนะนำแล้ว และการดับกิเลสได้แล้วฉันใด ดูก่อนจุนทะ อวิหิงสามีไว้เพื่อดับกิเลสของบุรุษบุคคลผู้มีวิหิงสาฉันนั้นเหมือนกัน.
               มีคำอธิบายไว้อย่างไร?
               (มีไว้ว่า) อวิหิงสาของผู้ไม่เบียดเบียนด้วยตน มีไว้เพื่อดับการเบียดเบียนผู้อื่นของผู้ที่มีวิหิงสา เพราะว่าผู้ไม่เบียดเบียนด้วยตนเอง จักดับเจตนาเครื่องเบียดเบียนของผู้อื่นได้ เพราะฉะนั้น ข้อนั้นจึงเป็นเหตุที่เป็นไปได้.
               ถามว่า เหตุนั้นคืออะไร?
               แก้ว่า เหตุนั้น คือความเป็นผู้ไม่เบียดเบียนนั้นเอง. ด้วยว่า ผู้ที่บรรลุความไม่เบียดเบียนด้วยตนเอง จึงจะสามารถชักชวนคนอื่นให้เป็นอย่างนั้นได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ไม่จมปลัก ฝึกฝนแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว ดับกิเลสได้แล้วด้วยตนเอง จักยกผู้อื่นที่จมปลักขึ้นได้ จักฝึกคนที่ยังไม่ได้ฝึก จักแนะนำคนที่ยังไม่ได้รับแนะนำ และจักยกผู้ดับกิเลสยังไม่ได้ให้ดับกิเลสได้ ฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นเหตุที่เป็นไปได้ฉันใด
               อวิหิงสาที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญมรรค เพื่อละวิหิงสาก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีไว้เพื่อดับ (วิหิงสา) ของบุรุษบุคคลผู้มีวิหิงสา.
               อธิบายว่า อวิหิงสาเจตนา (เจตนาที่ไม่เบียดเบียน) จะสามารถดับวิหิงสาเจตนา (เจตนาคิดเบียดเบียน) ได้เหมือนกับผู้ดับกิเลสได้แล้ว สามารถยังผู้ดับกิเลสไม่ได้ให้ดับได้ฉันนั้น
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงเนื้อความดังที่พรรณนามาอย่างนี้แล้ว จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า เอวเมว โข จุนฺท (ฉันนั้นเหมือนกันแล จุนทะ)
               ฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงเห็นอรรถาธิบายในเรื่องนี้ดังที่พรรณนามานี้เถิด. แต่การประกอบเนื้อความตามลำดับบทในทุกๆ บท ไม่ได้ทำไว้เหมือนในบทวิหิงสาและอวิหิงสานี้ เพราะเกรงว่าจะเยิ่นเย้อเกินไป.

               บรรยายแห่งสัลเลขธรรม               
               [๑๐๙] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัลเลขธรรมนั้นว่า สามารถในการดับกิเลสได้สนิทอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงย้ำพระธรรมเทศนานั้นประกอบ (ผู้ฟัง) ในการปฏิบัติธรรม จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า อิติ โข จุนฺท (ดูก่อนจุนทะ เพราะเหตุดังนี้แล).
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สลฺเลขปริยาโย (บรรยายแห่งสัลเลขธรรม) ได้แก่ เหตุแห่งสัลเลขธรรม.
               ในทุกบทก็มีนัยนี้.
               กุศลธรรมทั้งหลายมีอวิหิงสาเป็นต้นนั้นแหละในสัลเลขสูตรนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าเหตุแห่งสัลเลขธรรม เพราะขจัดขัดเกลาอกุศลธรรมมีวิหิงสาเป็นต้น๑- ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งจิตตุปบาท เพราะจิตที่บุคคลพึงให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งอวิหิงสาเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งการหลีกไป เพราะเป็นเหตุแห่งการหลีกไปจากวิหิงสาเป็นต้น ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้สูงส่ง เพราะยังความสูงส่งให้สำเร็จ ชื่อว่าเป็นเหตุแห่งการยังกิเลสให้ดับได้ เพราะยังวิหิงสาเป็นต้นให้ดับได้.
____________________________
๑- ปาฐะว่า อวิหึสาทีนํ เข้าใจว่า จะเป็น วิหึสาทีนํ จึงได้แปลตามที่เข้าใจ และฉบับพม่าเป็น ... เอว วิหึสาทีนํ.

               บทว่า หิเตสินา ความว่า ผู้ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล.
               บทว่า อนุกมฺปเกน (ผู้ทรงเอ็นดู) คือผู้ทรงมีพระทัยเอ็นดู.
               บทว่า อนุกมฺปํ อุปาทาย (ทรงอาศัยความเอ็นดู) คือทรงกำหนดความเอ็นดูด้วยพระทัย. มีคำอธิบายว่า ทรงอาศัย (ความเอ็นดู) ดังนี้บ้าง.
               ข้อว่า กตํ โว ตํ มยา (กิจนั้นเราตถาคตได้ทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย) ความว่า กิจนั้น๒- เราตถาคตผู้แสดงเหตุ ๕ ประการเหล่านี้ ได้ทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย.
____________________________
๒- ปาฐะว่า กตํ มยา อิเม ปญฺจ ปริยาเย ทสฺสนฺเตน ตุมฺหากํ กตํ เอตฺตกเมว หิ ฯลฯ กิจฺจํ เข้าใจว่า เป็นดังนี้ ตํ มยา อิเม ปญฺจ ปริยาเย ทสฺสนฺเตน ตุมฺหากํ กตํ ฯ เอตฺตกเมว หิ ฯลฯ จึงได้แปลตามที่เข้าใจ และถูกตามหลักความจริง.

               อธิบายว่า กิจมีประมาณเท่านี้ เท่านั้นเอง เป็นหน้าที่ของศาสดาผู้ทรงเอ็นดู ได้แก่การทรงแสดงธรรมที่ไม่ผิดพลาด (พระองค์ได้ทรงทำแล้ว) ส่วนต่อแต่นี้ไป ธรรมดาว่าการปฏิบัติเป็นหน้าที่ของสาวกทั้งหลาย.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนจุนทะ นั่นโคนต้นไม้ทั้งหลาย ฯลฯ เป็นอนุศาสนีของเราตถาคต.
               ก็ในจำนวนสถานที่ ๓ แห่งนั้น ด้วยบทว่า รุกฺขมูล นี้ พระองค์ทรงแสดงถึงที่นั่ง ที่นอน คือควงต้นไม้. ด้วยคำว่า สุญฺญาคาร (เรือนร้าง) นี้ ทรงแสดงถึงสถานที่ๆ สงัดจากคน.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำทั้ง ๒ นี้ ทรงบอกเสนาสนะที่เหมาะสมกับความเพียร คือทรงมอบความเป็นทายาทให้.
               คำว่า เธอทั้งหลายจงเพ่ง หมายความว่า จงเข้าไปเพ่งอารมณ์ ๓๘ ประการ ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่งอารมณ์) และเพ่งขันธ์และอายตนะเป็นต้นโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น ด้วยลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ). มีคำอธิบายว่า เจริญสมถะและวิปัสสนา.
               ข้อว่า มา ปมาทตฺถ (เธอทั้งหลายอย่าได้ประมาท) ความว่า เธอทั้งหลายอย่าได้ประมาท คืออย่าได้เดือดร้อนในภายหลัง.
               อธิบายว่า ชนเหล่าใด เมื่อก่อน คือในเวลายังหนุ่ม ในเวลาไม่มีโรค ในเวลาประสบความสบาย ๗ อย่างเป็นต้น และในเวลาที่ยังมีพระศาสดาอยู่พร้อมหน้า เว้นจากโยนิโสมนสิการ เสวยความสุขจากการนอนและความสุขจากการหลับ เป็นเหยื่อของเรือด ประมาทอยู่ทั้งคืนทั้งวัน.
               ชนเหล่านั้นภายหลัง คือในเวลาชรา เวลามีโรค เวลาจะตาย เวลาวิบัติ และเวลาที่พระศาสดาปรินิพพานแล้วระลึกถึงการอยู่อย่างประมาทในกาลก่อนนั้น และพิจารณาเห็นการปฏิสนธิ และการถึงแก่กรรมของตนว่าเป็นภาระ (เรื่องที่จะต้องนำพา) จึงเป็นผู้มีความเดือดร้อน ส่วนเธอทั้งหลายอย่าได้เป็นเหมือนคนประเภทนั้น
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนั้นดังว่ามานี้ จึงได้ตรัสว่า เธอทั้งหลายอย่าได้เดือดร้อนภายหลัง.
               บทว่า อยํ โว อมฺหากํ อนุสาสนี นี้เป็นอนุศาสนี (การพร่ำสอน) ของเราตถาคตสำหรับเธอทั้งหลาย. ความว่า นี้เป็นอนุศาสนี.
               มีคำอธิบายว่า เป็นโอวาทเพื่อเธอทั้งหลาย จากสำนักของเราตถาคตว่า จงเพ่ง (เผากิเลส) จงอย่าประมาท ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาสัลเลขสูตร               
               จบพระสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค สัลเลขสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 91อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 100อ่านอรรถกถา 12 / 110อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=1237&Z=1517
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=4960
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=4960
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :