ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 20อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 27อ่านอรรถกถา 12 / 53อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค
ภยเภรวสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นภัยและน่าหวาดกลัว

               อรรถกถาภยเภรวสูตร               
               [๒๗] ภยเภรวสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้.
               ในภยเภรวสูตรนั้นมีการพรรณนาตามลำดับบทดังต่อไปนี้ :-

               ความหมายของคำว่า พราหมณ์               
               ศัพท์ว่า อถ เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่า อวิจเฉทนะ (ไม่ขาดสายสืบต่อมา). ศัพท์ว่า โข เป็นนิบาต (เหมือนกัน) ใช้ในความหมายว่า อวธารณะ ห้ามความหมายอื่น.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีไม่ขาดตอนเลย.
               คำว่า ชาณุสโสณี นั้นไม่ใช่ชื่อที่บิดามารดาของพราหมณ์นั้นตั้งให้ แต่ว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากการได้ตำแหน่ง. ว่ากันว่า ตำแหน่งชาณุสโสณีนั้นเป็นตำแหน่งปุโรหิต. พระราชาได้พระราชทานตำแหน่งปุโรหิตนั้นให้แก่เขา ฉะนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า ชาณุสโสณี.
               บุคคลที่ชื่อว่า พราหมณ์ เพราะมีความหมายว่า เปล่งเสียงว่าพรหมะ.
               อธิบายว่า ได้แก่สาธยายมนต์.
               ก็คำว่า พราหมณ์นั้นเป็นภาษาเรียกคนที่เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด.
               ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านก็เรียกว่าพราหมณ์ เพราะลอยบาปได้แล้ว.

               สัมโมทนียกถา-สาราณียกถา               
               คำว่า เยน ในคำว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ เป็นตติยาวิภัตติใช้ในความหมายแห่งสัตตมีวิภัตติ. เพราะฉะนั้น พึงเห็นความหมายในคำนี้อย่างนี้ว่า ยตฺถ ภควา อุปสงฺกมิ (แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ใด ชาณุสโสณีพราหมณ์ก็เข้าไปเฝ้าแล้วในที่นั้น).
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความหมายในคำนี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุใด ชาณุสโสณีพราหมณ์ก็เข้าไปเฝ้าแล้วด้วยเหตุนั้น.
               ถามว่า ก็พระผู้มีภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุไรเล่า?
               ตอบว่า ด้วยประสงค์จะบรรลุคุณวิเศษนานาประการ อุปมาเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ผลิผลอยู่เนืองนิตย์ อันฝูงนกเข้าไปจับก็ด้วยประสงค์จะจิกกินผลที่มีรสอร่อยฉะนั้น.
               และคำว่า อุปสงฺกมิ มีอธิบายว่าไปแล้ว. บทกิริยาว่า อุปสงฺกมิตฺวา เป็นบทแสดงถึงว่า การเข้าไปเฝ้าได้สิ้นสุดลงแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง (บทกิริยาว่า อุปสงฺกมิตฺวา) จะอธิบายว่า ไปสู่ที่ใกล้กว่านั้น คือที่ใกล้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ก็ได้.
               บทว่า ภควตา สทฺธึ สมฺโมทิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสถามถึงสุขทุกข์เป็นต้น ชื่อว่าทรงมีความบันเทิงพระทัยร่วมกับพราหมณ์นั้นฉันใด แม้พราหมณ์นั้นก็มีความบันเทิงใจร่วมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า คือได้ถึงความบันเทิงใจ ได้แก่ความเป็นกันเองกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เปรียบเหมือนน้ำเย็นกับน้ำร้อนเข้ากันได้ฉะนั้น.
               อนึ่ง พราหมณ์นั้นบันเทิงใจ (กับพระผู้มีพระภาคเจ้า) ด้วยถ้อยคำใดมีอาทิว่า ยนต์คือพระวรกายของพระโคดมผู้เจริญยังพอทนได้อยู่หรือ? พระโคดมผู้เจริญพอยังยนต์คือพระวรกายให้เป็นไปได้อยู่หรือ? พระโคดมผู้เจริญและเหล่าสาวกของพระโคดมยังคงมีอาพาธน้อย มีโรคน้อย ยืนเดินได้คล่อง แข็งแรง (และ) มีความเป็นอยู่ผาสุกอยู่หรือ?
               ถ้อยคำนั้น ชื่อว่าสัมโมทนียะ (เป็นเหตุให้บันเทิงใจ) เพราะให้เกิดความบันเทิงใจเป็นอย่างดี กล่าวคือปีติและปราโมช และเพราะเป็นถ้อยคำสมควรเพื่อความบันเทิงใจ.
               ชื่อว่าสาราณียะ (เป็นเหตุให้ระลึกถึงกันและกัน) เพราะเป็นถ้อยคำสมควรที่จะให้ (ผู้ฟังระลึกถึง) ตลอดกาลแม้นาน คือให้เป็นไปไม่ว่างเว้น และเพราะเป็นถ้อยคำที่ (ผู้พูดเอง) ก็ต้องระลึกถึงด้วย. ชื่อว่าสัมโมทนียะ เพราะเมื่อฟังอยู่ก็เป็นสุข. ชื่อว่าสาราณียะ เพราะเมื่อระลึกถึงอยู่ก็เป็นสุข.
               อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าสัมโมทนียะ เพราะมีพยัญชนะแจ่มชัด. ชื่อว่าสาราณียะ เพราะมีอรรถแจ่มชัด
               พราหมณ์ยังถ้อยคำซึ่งเป็นสัมโมทนียะสาราณียะให้ผ่านพ้นไป คือสิ้นสุดลง ได้แก่ให้จบลงด้วยบรรยายเป็นอเนก ดังพรรณนามาอย่างนี้ แล้วประสงค์จะถามถึงจุดมุ่งหมายที่เป็นเหตุให้ตนต้องมา จึงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง (ก่อน).
               บทว่า เอกมนฺตํ เป็นบทแสดง ภาวนปุํสกะ (กิริยาวิเศษ) ดุจตัวอย่างในประโยคเป็นต้นว่า วิสมํ จนฺทิมสุริยา ปริวตฺตนฺติ พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรไม่เท่ากัน ดังนี้ เพราะฉะนั้น พึงเห็นความหมายในข้อนี้อย่างนี้ว่า พราหมณ์นั้นนั่งเหมือนที่เขานั่งๆ กันในที่สมควร.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอกมนฺตํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในความหมายแห่งสัตตมีวิภัตติ.

               การนั่งที่มีโทษ ๖ อย่าง               
               บทว่า นิสีทิ แปลว่า เข้าไปนั่งใกล้. เพราะว่าคนที่เป็นบัณฑิตเข้าไปหาบุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครูแล้วย่อมนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้ฉลาดในที่นั่ง และพราหมณ์นี้ก็เป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนบัณฑิตเหล่านั้น. เพราะฉะนั้น จึงนั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ถามว่า ก็บุคคลนั่งอย่างไร จึงชื่อว่านั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง?
               ตอบว่า นั่งเว้นโทษของการนั่ง ๖ อย่าง.
               ถามว่า โทษการนั่ง ๖ อย่างมีอะไรบ้าง?
               ตอบว่า มีดังนี้คือ :-
                         ๑. อติทูรํ นั่งไกลเกินไป
                         ๒. อจฺจาสนฺนํ นั่งใกล้เกินไป
                         ๓. อุปริวาตํ นั่งในที่เหนือลม
                         ๔. อุนฺนตปฺปเทสํ นั่งในที่สูง
                         ๕. อติสมฺมุขํ นั่งตรงหน้าเกินไป
                         ๖. อติปจฺฉา นั่งล้ำไปข้างหลังมาก.
               อธิบายว่า คนที่นั่งในที่ไกลเกินไป ถ้าประสงค์จะพูดกันก็ต้องพูดด้วยเสียงดัง, นั่งในที่ใกล้เกินไปก็จะเบียดเสียดท่าน, นั่งในที่เหนือลมก็จะรบกวนท่านด้วยกลิ่นตัว, นั่งในที่สูงก็จะเป็นการแสดงความไม่เคารพ, นั่งตรงหน้าเกินไป ถ้าประสงค์จะมองดู (หน้ากัน) ก็จะต้องจ้องตากัน, นั่งล้ำข้างหลังมาก ถ้าประสงค์จะมองดู จะต้องยื่นคอไป (เหลียว) ดู. เพราะเหตุนั้น พราหมณ์นี้จึงนั่งเว้นโทษแห่งการนั่ง ๖ อย่างนี้เสีย. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พราหมณ์นั่งลง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

               กุลบุตร ๒ จำพวก               
               [๒๘] บทว่า เยเม ตัดบทเป็น เย อิเม. แปลว่า กุลบุตรเหล่านี้ใด.
               บทว่า กุลปุตฺตา ได้แก่ กุลบุตร ๒ จำพวก คือกุลบุตรโดยกำเนิด ๑ กุลบุตรโดยอาจาระ ๑.
               ในกุลบุตร ๒ จำพวกนั้น กุลบุตรที่เกิดในตระกูลสูง (ซึ่งมีที่มา) อย่างนี้ว่า ก็โดยสมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อรัฐบาลเป็นลูกชายของอัครกุลิกเศรษฐีในถุลลโกฏฐิตคามนั้นนั่นแล ดังนี้ ชื่อว่ากุลบุตรโดยกำเนิด. ส่วนกุลบุตรที่แม้จะเกิดในตระกูลใดก็ตาม เป็นคนเพียบพร้อมด้วยอาจาระซึ่งมีที่มาอย่างนี้ว่า กุลบุตรเหล่าใดออกจากเรือน บวชเป็นอนาคาริกด้วยศรัทธา ดังนี้ ชื่อว่ากุลบุตรโดยอาจาระ.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอากุลบุตรด้วยเหตุ ๒ อย่าง (นั้น).
               บทว่า สทฺธา แปลว่า ด้วยศรัทธา.
               บทว่า อคารสฺมา แปลว่า จากเรือน.
               บทว่า อนคาริยํ ได้แก่ บรรพชาและอุปสมบท.
               ด้วยว่า แม้บรรพชาก็ชื่อว่า อนคาริยา เพราะในบรรพชานี้ไม่มีการงานที่เกื้อกูลแก่การครองเรือน.
               อธิบายว่า ในบรรพชานี้ไม่มีกสิกรรม (การเพาะปลูก) และโครักขกรรม (การเลี้ยงสัตว์) เป็นต้น ซึ่งเกื้อกูลแก่การครองเรือน. ฝ่ายภิกษุก็ชื่อว่า อนาคาระ เพราะท่านไม่มีเรือน. ภาวะแห่งการไม่มีเรือน ชื่อว่า อนคาริยะ.
               บทว่า ปพฺพชิตา แปลว่า เข้าถึง. อธิบายว่า เข้าถึงบรรพชาและภิกษุภาวะ กล่าวคือการงานที่ไม่เกื้อกูลแก่การครองเรือนแม้โดยประการทั้งปวง ดังพรรณนามาฉะนี้.

               พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำกุลบุตร ๒ จำพวกนั้น               
               บทว่า ปุพฺพงฺคโม แปลว่า เป็นผู้ไปข้างหน้า คือเป็นผู้นำ.
               บทว่า พหุกาโร แปลว่า เป็นผู้มีอุปการะมากเพราะทำประโยชน์เกื้อกูลให้.
               คำว่า ภวนฺเตสํ โคตโม สมาทเปตา ความว่า พระโคดมผู้เจริญยังกุลบุตรเหล่านั้นให้รับ คือให้ศึกษาข้อศึกษาต่างๆ มีอธิศีลเป็นต้น.
               บทว่า สา ชนตา แปลว่า หมู่ชนนั้น.
               บทว่า ทิฏฺฐานุคตึ อาปชฺชติ แปลว่า เอาอย่าง.
               อธิบายว่า พระโคดมผู้เจริญมีทิฏฐิอย่างใด มีความชอบใจอย่างใด มีความพอใจอย่างใด แม้กุลบุตรเหล่านั้นก็มีทิฏฐิอย่างนั้น มีความชอบใจอย่างนั้น มีความพอใจอย่างนั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พราหมณ์นี้จึงกล่าวอย่างนั้น?
               ตอบว่า ได้ยินว่า เมื่อก่อน พราหมณ์นี้เห็นกุลบุตรจำนวนมากอยู่ในท่ามกลางเรือน ได้รับการบำรุงบำเรอด้วยเบญจกามคุณราวกะว่าเป็นเทพบุตร ได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างดีทั้งภายในบ้านภายนอกบ้าน.
               สมัยต่อมาก็ได้เห็นกุลบุตรเหล่านั้นฟังพระสัทธรรมเทศนาอันไพเราะของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วออกจากเรือนบวชด้วยศรัทธา (กลับกลายมาเป็น) ผู้สันโดษในเรื่องของกินและเครื่องนุ่งห่มอย่างยิ่งยวด แม้จะไม่มีใครคุ้มครองป้องกันให้ (ดังแต่ก่อน) ก็มิได้หวาดระแวง ร่าเริงยินดีเบิกบานใจอยู่ในเสนาสนะป่า.
               และพราหมณ์ครั้นเห็นแล้วก็พลันคิดได้ว่า การอยู่อย่างนี้ของกุลบุตรเหล่านี้นับว่าเป็นการอยู่อย่างผาสุกแล้ว การอยู่อย่างผาสุกนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยใคร ก็ได้รับคำตอบว่า เพราะอาศัยพระโคดม จึงได้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประกาศความเลื่อมใสนั้น เขาจึงได้มายังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้น เขาจึงกล่าวอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงยอมรับและทรงสนับสนุนคำพูดของพราหมณ์นั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า เอวเมตํ พฺราหฺมณ ข้อนั้นเป็นอย่างนั้นแหละ พราหมณ์.
               ก็ในคำว่า เอวเมตํ พฺราหฺมณ นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า :-
               บทว่า เอวํ นี้เป็นนิบาต ใช้ในความหมายว่า รับรองและอนุโมทนาคำพูด (ของคนอื่น).
               บทว่า มมํ อุทฺทิสฺส แปลว่า เจาะจงเราตถาคต.
               ด้วยบทว่า สทฺธา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาเหตุต่างๆ มีอาทิว่า ด้วยศรัทธานั่นเอง ไม่ใช่ (บวช) เพราะเป็นหนี้ ไม่ใช่เพราะความกลัว. เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเช่นนี้เท่านั้น ไม่ใช่ของจำพวกอื่น.

               เสนาสนะป่า               
               [๒๙] บทว่า ทูรภิสมฺภวานิ หิ ความว่า ยากที่จะอยู่ได้ด้วยดี คือทนอยู่ได้ยาก. อธิบายว่า ภิกษุผู้มีศักดิ์น้อยไม่สามารถจะอยู่อาศัยได้.
               บทว่า อรญฺญวนปตฺถานิ ได้แก่ ป่าและป่าเปลี่ยว.
               ในบทว่า อรญฺญวนปตฺถานิ นั้น มีอธิบายว่า :-
               ว่ากันตามตรงในอภิธรรมแล้ว สถานที่อยู่นอกเสาเขื่อนไปทั้งหมด ท่านเรียกว่า "ป่า" ก็จริง ถึงกระนั้นก็พึงทราบว่า เสนาสนะใดที่ให้สำเร็จเป็นอารัญญิกธุดงค์ได้ ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า ท้ายสุดประมาณ ๕๐๐ ช่วงธนู ท่านประสงค์เอาเสนาสนะนั้นเท่านั้น.
               บทว่า วนปตฺถํ ได้แก่ สถานที่ที่เลยท้ายหมู่บ้านไป ไม่มีคนไปมาบ่อยๆ เป็นที่ที่ไม่มีการไถหว่าน.
               ข้อนี้สมด้วยคำที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า :-
               คำว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของเสนาสนะที่อยู่ไกล.
               คำว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของราวป่า.
               คำว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของสถานที่ที่น่ากลัว.
               คำว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของสถานที่ที่ทำให้มีขนชูชัน.
               คำว่า วนปตฺถํ เป็นชื่อของสถานที่ที่อยู่ปลายแดน.
               คำว่า วนปตฺถํ ไม่ใช่เป็นชื่อของเสนาสนะที่มีผู้คนไปมาบ่อยๆ.
               และในที่นี้ นอกจากความหมายนี้อย่างเดียวว่า สถานที่อยู่ปลายแดน พึงเข้าใจป่าที่อยู่ปลายแดน ตามความหมายที่เหลือ.
               บทว่า ปนฺตานิ ได้แก่ สถานที่อยู่ปลายแดน คือสถานที่ไกลมาก.
               บทว่า ทุกฺกรํ ปวิเวกํ ความว่า กายวิเวก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก.
               บทว่า ทูรภิรมํ แปลว่า ไม่ง่ายเลยที่จะยินดี.
               บทว่า เอกตฺเต แปลว่า ในความเป็นผู้เดียว (ในการอยู่คนเดียว).
               ถามว่า พระพุทธดำรัสที่ตรัสมานี้แสดงถึงอะไร?
               ตอบว่า แสดงถึงว่า แม้จะบำเพ็ญกายวิเวกได้แล้ว การจะยังจิตให้ยินดีในวิเวกนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก. เพราะสัตวโลกนี้มักยินดีในการอยู่เป็นคู่กัน.
               บทว่า หรนฺติ มญฺเญ ความว่า เหมือนจะนำไป คือเหมือนจะฉุดคร่าไป.
               บทว่า มโน แปลว่า ซึ่งใจ.
               บทว่า สมาธึ อลภมานสฺส ความว่า (ของภิกษุ) ผู้ไม่ได้อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ.
               ถามว่า พระพุทธดำรัสที่ตรัสมานี้แสดงถึงอะไร?
               ตอบว่า แสดงถึงว่า ป่าเหมือนจะทำจิตของภิกษุเช่นนี้ให้ฟุ้งซ่าน ด้วยเสียงทั้งหลายมีเสียงหญ้าเสียงใบไม้และเสียงสัตว์เป็นต้น และ (รวมทั้ง) อารมณ์ที่น่ากลัวต่างๆ. คำทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พราหมณ์ซึ่งเกิดพิศวงกับการอยู่ป่าของกุลบุตรทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธากล่าวไว้แล้ว.

               ความหมายของพระโพธิสัตว์               
               [๓๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงรับรองและอนุโมทนาคำพูดของพราหมณ์นั้น ด้วยพระพุทธดำรัสมีอาทิว่า เอวเมตํ พฺราหฺมณ ตามนัยแรกนั่นแล แล้วจึงได้ตรัสคำมีอาทิว่า มยฺหํปิ โข เพื่อจะทรงแสดงว่า เสนาสนะชนิดนั้นก็เป็นเสนาสนะที่อยู่ได้ยาก สำหรับพระองค์เอง เพราะเสนาสนะชนิดนั้นเป็นที่อยู่ยากสำหรับภิกษุทั้งหลายผู้ถูกอารมณ์กลุ้มรุมในเพราะเหตุ ๑๖ อย่าง แต่ไม่เป็นที่อยู่ยากเลยสำหรับเหล่าภิกษุผู้ประกอบด้วยการข่มอารมณ์ได้ ในเพราะเหตุเหล่านั้น และพระองค์เองถึงจะเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงอยู่ในฐานะเช่นนั้น.
               บทว่า ปุพฺเพว สมฺโพธา ความว่า ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้.
               อธิบายว่า ในเวลาอื่นจากเวลาที่อริยมรรคเกิดขึ้นนั่นแล.
               บทว่า อนภิสมฺพุทฺธสฺส ได้แก่ ยังไม่ได้แทงตลอดสัจจะ ๔.
               บทว่า โพธิสตฺตสฺเสว สโต แปลว่า สัตว์ผู้จะตรัสรู้ คือสัตว์ผู้ควรที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ. อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่า สัตว์ผู้ข้องคือผู้ติดอยู่ในพระโพธิญาณ.
               เพราะว่า นับจำเดิมแต่อภินิหารสำเร็จลงด้วยความประชุมพร้อมแห่งธรรม ๘ ประการ แทบเบื้องพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร พระตถาคตซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็นสัตว์ผู้เกี่ยวข้องอยู่ว่า โพธิญาณนี้ เราต้องบรรลุให้ได้ ไม่ยอมทิ้งความพยายามเพื่อบรรลุโพธิญาณนั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกกันว่า "พระโพธิสัตว์".
               [๓๑] บทว่า ตสฺส มยฺหํ ความว่า สำหรับเราตถาคตนั้น คือผู้เป็นพระโพธิสัตว์อย่างนี้นั่นแล.
               บทว่า เย โข เกจิ สมณา วา พฺราหฺมณา วา ความว่า สมณหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง คือท่านผู้เข้าถึงการบรรพชา หรือบุคคลผู้มีปกติกล่าวว่า "โภ" (แปลว่า ผู้เจริญ).
               บทว่า อปริสุทฺธกายกมฺมนฺตา ความว่า ประกอบด้วยกายกรรมอันไม่บริสุทธิ์มีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า อปริสุทฺธกายกมฺมนฺตสนฺโทสเหตุ ความว่า เพราะเหตุแห่งโทษของตน กล่าวคือกายกรรมอันไม่บริสุทธิ์. อธิบายว่า เพราะเหตุแห่งกายกรรมอันไม่สะอาด.
               บทว่า หเว เป็นนิบาต ใช้ในความหมายว่า โดยส่วนเดียว.
               บทว่า อกุสลํ ได้แก่สิ่งมีโทษและไม่ปลอดภัย.
               บทว่า ภยเภรวํ แปลว่า ภัยและสิ่งที่น่ากลัว.
               บทว่า ภยเภรวํ นี้ เป็นชื่อเรียกความหวาดสะดุ้งแห่งจิตและอารมณ์อันน่ากลัว.
               บรรดาภัยและสิ่งที่น่ากลัวทั้ง ๒ อย่างนั้น
               ภัย พึงทราบว่าเป็นอกุศล เพราะมีความหมายว่ามีโทษ.
               สิ่งที่น่ากลัว พึงทราบว่าเป็นอกุศล เพราะมีความหมายว่าไม่ปลอดภัย.
               บทว่า อวฺหยนฺติ แปลว่า ย่อมเรียกร้องมา.
               ถามว่า ย่อมเรียกร้องมาอย่างไร?
               ตอบว่า ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นทำบาปกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นแล้วคิดได้ว่า เราทำไม่ถูกแล้ว ถ้าคนที่เราทำผิดต่อเขารู้จักตัวเรา (ว่าเป็นคนทำ) ไซร้ ก็จะต้องติดตามมาแก้เผ็ดเราเสียเดี๋ยวนี้แหละ จึงหลบเข้าป่านั่งแอบอยู่ระหว่างกอไม้หรือพุ่มไม้ พอเขาได้ยินเสียงหญ้าหรือเสียงใบไม้เข้า แม้เพียงนิดหน่อยก็สะดุ้งโหยงด้วยคิดว่า เสร็จแล้วเราคราวนี้ เธอ (รู้สึก) จะเป็นเหมือนถูกคนอื่นมาล้อมไว้และเป็นเหมือนถูกจับฆ่าฉะนั้น.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าเรียกร้อง คือเรียกหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นเข้ามาหาตน.
               คำว่า น โข ปนาหํ ฯปฯ ปฏิเสวามิ ความว่า เราแลเป็นผู้มีกายกรรมอันไม่บริสุทธิ์ (หามิได้) จึงอยู่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด ซึ่งเป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยวได้.
               บทว่า โว ในคำว่า เยหิ โข เป็นเพียงนิบาต. พระพุทธเจ้าทั้งหลายและพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านเรียกว่า "พระอริยะ".
               บทว่า ปริสุทฺธกายกมฺมนฺตา ความว่า (พระอริยเจ้าทั้งหลาย) เป็นเช่นนี้.
               บทว่า อหํ เตสํ อญฺญตโร ความว่า แม้เราตถาคตก็เป็นคนหนึ่ง คือเป็นคนใดคนหนึ่งในบรรดาพระอริยเจ้าเหล่านั้น. อันที่จริง พระโพธิสัตว์ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต ย่อมเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์ทั้งนั้น.
               บทว่า ภิยฺโย เป็นนิบาต ใช้ในความว่า อย่างยิ่ง.
               บทว่า ปลฺโลมํ แปลว่า ความเป็นผู้มีขนตก (ไม่ลุกชูชัน).
               อธิบายว่า ปลอดภัย คือสวัสดิภาพ.
               บทว่า อาปาทึ แปลว่า ถึงแล้ว.
               อธิบายว่า ถึงความสวัสดีมากมาย หรือความสวัสดีโดยอาการหลายอย่าง.
               สองบทว่า อรญฺเญ วิหาราย แปลว่า เพื่อประโยชน์แก่การอยู่ในป่า.
               จบกถาว่าด้วยวาระแห่งกายกรรม               

               วจีกรรม-มโนกรรม-อาชีวะ               
               ทุกบทมีนัยเช่นนี้ แต่ว่าที่แปลกออกไปมีดังต่อไปนี้ :-
               [๓๒] จะกล่าวในวาระว่าด้วยวจีกรรมก่อน.
               บทว่า อปริสุทฺธวจีกมฺมนฺตา ความว่า ประกอบด้วยวจีกรรมอันไม่บริสุทธิ์มีมุสาวาทเป็นต้น.
               ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้มีวจีกรรมอันไม่บริสุทธิ์เหล่านั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?
               ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นหักรานประโยชน์ของคนอื่นด้วยการพูดเท็จ ทำลายมิตรด้วยคำพูดส่อเสียด ก็ทำลายความรักของคนอื่นด้วยถ้อยคำหยาบคายในท่ามกลางบริษัท ทำให้การงานของคนอื่นเสียหายไปด้วยคำพูดที่ไร้ประโยชน์ แล้วคิดได้ว่า เราทำไม่ถูกแล้ว ถ้าคนที่เราทำผิดต่อเขารู้ว่าเรา (เป็นคนทำ) ก็คงจะตามมาแก้เผ็ดเราเดี๋ยวนี้แหละ จึงหลบเข้าป่าไปนั่งอยู่ระหว่างกอไม้หรือพุ่มไม้ พอเขาได้ยินเสียงหญ้าหรือเสียงใบไม้แม้เพียงนิดเดียวก็สะดุ้งโหยง ด้วยคิดว่า เสร็จแล้วเราคราวนี้ เธอ (รู้สึก) จะเป็นเหมือนมีคนอื่นมาล้อมไว้ และเป็นเหมือนถูกจับฆ่าฉะนั้น. สมณพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าร้อง คือเรียกหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นให้เข้ามาหาตน.
               จะกล่าวในวาระว่าด้วยมโนกรรม.
               บทว่า อปริสุทฺธมโนกมฺมนฺตา ความว่า ประกอบด้วยมโนกรรมอันไม่บริสุทธิ์มีอภิชฌาเป็นต้น.
               ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้มีมโนกรรมอันไม่บริสุทธิ์เหล่านั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?
               ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นเกิดความโลภชนิดที่ขาดความชอบธรรม อันได้แก่อภิชฌา (ความเพ่งเล็งของผู้อื่น) ในสิ่งของที่คนอื่นรักษาคุ้มครองแล้ว โกรธคนอื่นและให้คนอื่นยึดถือทรรศนะที่ผิดไปด้วยแล้วคิดได้ว่า เราทำไม่ถูกแล้ว ฯลฯ ชื่อว่าเรียกร้อง คือเรียกหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นให้เข้ามาหาตน.
               จะกล่าวในวาระว่าด้วยอาชีวะ.
               บทว่า อปริสุทฺธาชีวา ความว่า ประกอบด้วยอาชีพอันไม่บริสุทธิ์ แยกประเภทเป็นอเนสนา ๒๑ อย่างมีทำหน้าที่เป็นหมอรักษาโรค เป็นทูตส่งข่าวสารและค้าขายหากำไรเป็นต้น.
               ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้มีอาชีพอันไม่บริสุทธิ์เหล่านั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?
               ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นเลี้ยงชีวิตอย่างนั้นอยู่ ได้ยินข่าวว่า นัยว่าเหล่าภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกซึ่งทำหน้าที่ชำระสะสางพระศาสนาให้บริสุทธิ์ กำลังออกไปชำระสะสางพระศาสนา วันนี้หรือพรุ่งนี้ก็จักเดินทางมาถึงที่นี้ (ได้ยินอย่างนั้นแล้ว) จึงหนีเข้าป่าไปนั่งแอบอยู่ระหว่างกอไม้หรือพุ่มไม้ ฯลฯ สะดุ้งโหยง เธอ (รู้สึก) จะเป็นเหมือนภิกษุเหล่านั้นมาล้อมจับไว้และเป็นเหมือนถูก (จับสึก) ให้นุ่งผ้าขาว.
               คำที่เหลือก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.
               ในคำว่า อิโต ปรํ อภิชฺฌาลุ เป็นต้น มีอธิบายว่า อภิชฌาและพยาบาทสงเคราะห์เข้าในมโนกรรมก็จริง ถึงอย่างนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวซ้ำไว้อีกด้วยอำนาจนิวรณ์.

               อธิบายนิวรณ์ ๕               
               [๓๓] บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิชฺฌาลุ ได้แก่ ผู้มีปกติเพ่งเล็งสิ่งของของคนอื่น.
               บทว่า กาเมสุ ติพฺพสราคา ได้แก่ ผู้มีกิเลสคือราคะอย่างแรงกล้าในวัตถุกามทั้งหลาย.
               ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้มีกิเลสคือราคะแรงกล้าเหล่านั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?
               ตอบว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ได้พิจารณาอารมณ์ให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อท่านไม่ได้กำหนดพิจารณาอารมณ์ให้ละเอียดถี่ถ้วน อยู่ในป่า สิ่งที่เห็นในตอนกลางวันย่อมปรากฏเป็นภัยและเป็นของน่ากลัวในตอนกลางคืน เธอมีจิตเป็นอกุศล (อยู่แล้ว) ย่อมจะหวาดสะดุ้งด้วยภัยและสิ่งที่น่ากลัวแม้เพียงเล็กน้อย คือเห็นเชือกหรือเถาวัลย์ก็สำคัญว่าเป็นงู เห็นตอไม้สำคัญว่าเป็นยักษ์ เห็นเนินดินหรือภูเขาก็สำคัญว่าเป็นช้าง เป็นเหมือนถูกสัตว์ร้ายมีงูเป็นต้นทำร้ายเอาฉะนั้น.
               คำที่เหลือก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.
               บทว่า พฺยาปนฺนจิตฺตา แปลว่า มีจิตวิบัติไป เพราะละสภาพปกติเสีย.
               เป็นความจริง จิตที่คละเคล้าอยู่กับกิเลสย่อมละสภาพปกติกลับกลายเป็นจิตเสียไป เหมือนข้าวและกับเก่าที่บูดฉะนั้น.
               บทว่า ปทุฏฺฐมนสงฺกปฺปา แปลว่า มีจิตคิดไปในทางไม่ดี. อธิบายว่า ประกอบด้วยความดำริแห่งจิตที่ไม่ดี คือทำคนอื่นให้เสียประโยชน์.
               ถามว่า สมณพราหมณ์ที่มีจิตวิบัติคิดไปในทางที่ไม่ดีเหล่านั้น จะเรียกร้องความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร ?
               ตอบว่า นับตั้งแต่นี้ไป การเรียกร้องหาความกลัวและอารมณ์อันน่ากลัว พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในตอนที่ว่าด้วย อภิชฺฌาลุ นั่นแหละ. แต่ว่าในที่ใดจักมีแปลกออกไป ข้าพเจ้าก็จักกล่าวอธิบายไว้ในที่นั้น.
               [๓๔] ก็ในพระดำรัสตอนนี้ว่า น โข ปนาหํ พฺยาปนฺนจิตฺโต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เราตถาคตมีจิตประกอบไปด้วยเมตตา มีจิตคิดเกื้อกูล. เป็นธรรมดา พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นเช่นนี้ (ทั้งนั้น) บัณฑิตพึงพรรณนาคุณของพระโพธิสัตว์ด้วยอำนาจนัยตรงกันข้ามกับโทษที่กล่าวไว้ในทุกบทอย่างนี้.
               [๓๕] บทว่า ถีนมิทฺธปริยุฏฺฐิตา แปลว่า อันถีนะ (ความท้อถอย,ท้อแท้) ซึ่งเป็นความพิการของจิตและมิทธะ (ความง่วงเหงา) ซึ่งเป็นความพิการของกองนามที่เหลือ (เวทนา สัญญา สังขาร) กลุ้มรุมแล้ว. อธิบายว่า ครอบงำคือยึดครอง.
               สมณพราหมณ์ที่ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุมแล้วมักจะหลับ.
               [๓๖] บทว่า อุทฺธตา แปลว่า มีปกติฟุ้งซ่าน คือมีจิตดิ้นรน.
               อธิบายว่า จิตย่อมดิ้นรนไปจากอารมณ์เดียวด้วยอุทธัจจะ เหมือนผ้า (ที่ทำธง) โบกสะบัดที่ (ปลาย) เสาธงเพราะลมฉะนั้น.
               บทว่า อวูปสนฺตจิตฺตา แปลว่า มีจิตมีอารมณ์ไม่ดับ (ไม่สงบ) ในที่นี้จะระบุถึงกุกกุจจะ (ความรำคาญ) ก็ได้.
               [๓๗] ในพระพุทธพจน์นี้ว่า กงฺขี วิจิกิจฺฉี เป็นบทเดียวกันแท้ทีเดียว (เพราะ) นิวรณ์ข้อที่ ๕ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่ากังขา เพราะสงสัยอารมณ์ว่า อารมณ์นี้เป็นอย่างนี้หรือหนอ ตรัสเรียกว่าวิจิกิจฉา เพราะไม่สามารถจะตัดสินได้ว่า อารมณ์นี้เป็นอย่างนี้. สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยกังขาและวิจิกิจฉานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กงฺขี วิจิกิจฺฉี (ผู้มีความสงสัย ไม่สามารถตัดสินอารมณ์ได้).
               บทว่า อตฺตุกฺกํสกา ปรวมฺภี ความว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดยกตนเชิดตนขึ้นได้แก่วางตัวสูง และข่มคือดูถูก ได้แก่ติเตียนคนอื่น หมายความว่าวางคนอื่นไว้ต่ำ (กว่าตน). สองบทนั้น (อตฺตุกฺกํสกา ปรวมฺภี) เป็นคำเรียกสมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               ถามว่า สมณพราหมณ์ผู้ยกตนข่มคนอื่นนั้น จะเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?
               ตอบว่า การร้องเรียกหาภัยของสมณพราหมณ์ผู้ยกตนข่มคนอื่นนั้น บัณฑิตพึงให้พิสดารเหมือนกับในกายกรรมว่า สมณพราหมณ์ผู้ยกตนข่มคนอื่นเหล่านั้น ถูกคนอื่นติดตามจับด้วยข้อหาว่า ได้ทราบว่าท่านชื่อโน้นและชื่อโน้นยกตน ติเตียนพวกเราทำให้เป็นเหมือนทาส จงจับตัวไว้ให้ได้ ดังนี้ หลบหนีไปเข้าป่าแล้วนั่งแอบอยู่ระหว่างกอไม้หรือพุ่มไม้.
               [๓๙] บทว่า ฉมฺภี แปลว่า ประกอบด้วยความหวาดเสียว ซึ่งกระทำให้กายประสาทหวาดเสียวและขนตั้งชัน.
               บทว่า ภีรุกชาติกา แปลว่า มากไปด้วยความกลัว.
               อธิบายว่า ไม่ค่อยกล้าเหมือนกับเด็กชาวบ้านที่ขี้กลัวฉะนั้น.
               [๔๐] ในบทว่า ลาภสกฺการสิโลโก นี้มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่าลาภ เพราะหมายความว่า อันบุคคลย่อมได้. คำว่าลาภนั้นเป็นชื่อเรียกปัจจัย ๔.
               บทว่า สกฺกาโร แปลว่า สักการะที่ดี.
               อธิบายว่า ปัจจัยทั้งหลายที่เขาปรุงแต่งให้ประณีต ประณีตและดีเรียกว่าสักการะ ซึ่งได้แก่การที่คนอื่นเขาทำความเคารพตน หรือบูชาด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้เป็นต้น.
               บทว่า สิโลโก แปลว่า การกล่าวสรรเสริญคุณ.
               ลาภ ๑ สักการะ ๑ การกล่าวสรรเสริญ ๑ นั้น ชื่อว่าลาภสักการะและสิโลกะ.
               บทว่า นิกามยมานา แปลว่า ปรารถนาอยู่.
               การเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวเป็นเหมือนกับที่กล่าวในตอนว่าด้วยอภิชฌาลุนั่นแล. ส่วนในที่นี้ พระโบราณาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวถึงเรื่องพระปิยคามิกะ ซึ่งเป็นตัวอย่างของเรื่องนั้นไว้ว่า :-

               ปิยคามิกภิกษุ               
               ได้สดับมาว่า ภิกษุรูปหนึ่งชื่อปิยคามิกะ เห็นลาภของพวกภิกษุผู้สมาทานธุดงค์แล้วคิดว่า เราก็จะสมาทานธุดงค์ทำลาภให้เกิดขึ้นบ้าง ดังนี้แล้วสมาทานโสสานิกังคธุดงค์ (ธุดงค์ของภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร) แล้วอยู่ในป่าช้า.
               อยู่มาวันหนึ่ง วัวแก่ตัวหนึ่งซึ่งเจ้าของไม่ใช้งานแล้ว (ปล่อยทิ้ง) กลางวันออกเที่ยวกิน ตกกลางคืน (เข้าไป) ในป่าช้านั้น ได้ยืนขนหยอง ซุกศีรษะไว้ที่พุ่มดอกไม้.
               พระปิยคามิกะออกจากที่จงกรมไปในตอนกลางคืน ได้ยินเสียงคางของวัวนั้นกระทบกันแล้วก็เข้าใจว่า ท้าวสักกเทวราชคงจะทราบเราว่า พระรูปนี้หวังลาภจึงมาอยู่ในป่าช้า ดังนี้แล้ว มาเพื่อทำร้ายเราแน่ๆ ท่านจึงได้ยืนประนมมือไหว้ข้างหน้าวัวแก่ อ้อนวอนอยู่ตลอดคืนยังรุ่งว่า ข้าแต่ท่านท้าวเทวราชผู้เป็นสัตบุรุษ ขอพระองค์จงยกโทษให้อาตมาคืนนี้สักคืนหนึ่งเถอะ แล้วตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไป อาตมาจักไม่ทำอย่างนี้อีก ต่อมาพอพระอาทิตย์อุทัย ท่านก็ได้เห็นเป็นวัวแก่ตัวนั้น (ไม่ใช่ท้าวสักกะ) จึงเอาไม้ตะพดหวดตะเพิดไล่เตลิดเปิดเปิงไปพร้อมทั้งคำไล่หลังว่า แกทำให้ข้ากลัวตลอดคืนยังรุ่งเลย.

               สติกับปัญญา               
               [๔๑] บทว่า กุสีตา แปลว่า ตกอยู่ใต้อำนาจความเกียจคร้าน.
               บทว่า หีนวีริยา ความว่า เสื่อม คือเว้น ได้แก่ปราศจากความเพียร. อธิบายว่า ไม่มีความเพียร.
               ในบุคคล ๒ จำพวกนั้น คนที่เกียจคร้านย่อมเว้นจากการเริ่มความเพียรทางกาย คนที่ขาดความเพียรย่อมเว้นจากการเริ่มความเพียรทางจิต (สรุปแล้ว) คนทั้ง ๒ จำพวกนั้นย่อมไม่สามารถจะทำแม้เพียงการกำหนดอารมณ์ได้.
               คำทั้งหมดว่า เตสํ อววตฺถิตารมฺมณานํ (มีความหมาย) เหมือนกับความหมายที่กล่าวมาก่อนแล้ว.
               [๔๒] บทว่า มุฏฺฐสฺสตี แปลว่า ปล่อยสติ.
               บทว่า อสมฺปชานา แปลว่า ปราศจากปัญญา ก็เพราะพระพุทธดำรัสว่า ตถาคตเป็นผู้มีสติตั้งมั่นแล้ว ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับคำนี้ว่า มุฏฺฐสฺสตี พระดำรัสว่า อสมฺปชานา นี้จึงเป็นบทขยายสติเท่านั้น.
               ส่วนปัญญาในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อแสดงถึงสติที่หย่อนกำลัง. เพราะว่าสติมี ๒ อย่าง คือสติที่ประกอบด้วยปัญญา ๑ สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๑.
               ในสติทั้ง ๒ นั้น สติประกอบด้วยปัญญาย่อมมีกำลัง สติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาย่อมหย่อนกำลัง. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อสมฺปชานา (ไม่มีปัญญา) เพื่อแสดงความหมายนี้ว่า แม้ในเวลาที่ภิกษุเหล่านั้นมีสติ ก็ยังชื่อว่ามีสติหลงลืมอยู่นั่นเอง เพราะไม่มีปัญญา เนื่องจากว่าสติที่หย่อนกำลังจะทำหน้าที่ของสติไม่ได้. ภิกษุเหล่านั้นหลงลืมสติ ขาดสัมปชัญญะ (ปัญญา) ดังกล่าวมานี้ ย่อมไม่สามารถจะทำแม้เพียงการกำหนดอารมณ์ได้เลยแล.
               คำ (ที่เหลือ) ทั้งหมด (มีความหมาย) เหมือนกับความหมายที่กล่าวมาแล้ว.

               จิตกับปัญญา               
               [๔๓] บทว่า อสมาหิตา แปลว่า เว้นจากอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ.
               บทว่า วิพฺภนฺตจิตฺตา แปลว่า มีจิตพลัดออกนอกทาง คือจิตย่อมหมุนไปในอารมณ์ต่างๆ เพราะเว้นจากสมาธิ ได้แก่เพราะท่านเหล่านั้นขาดสมาธิ เหตุที่อุทธัจจะได้โอกาส เปรียบเหมือนลิงในป่ากระโดดมาตามกิ่งไม้ในป่าฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ไม่มั่นคงอยู่ในอารมณ์แม้อย่างเดียว คือมีจิตหมุนไปต่างๆ ตามนัยที่กล่าวแล้วในตอนต้นอย่างนี้ เพราะอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่านเป็นเหตุ) ย่อมไม่สามารถจะทำแม้เพียงการกำหนดอารมณ์ได้เลย.
               คำ (ที่เหลือ) ทั้งหมดมี (ความหมาย) เหมือนกับความหมายที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น.
               [๔๔] บทว่า ทุปฺปญฺญา นี้เป็นคำสำหรับเรียกคนที่ไม่มีปัญญา. แต่ปัญญาที่ชื่อว่าทรามไม่มีแน่.
               บทว่า เอลมูคา แปลว่า มีปากเต็มไปด้วยน้ำลาย ท่านแปลง อักษรให้เป็น อักษร (จึงสำเร็จรูปเป็น เอลมูคา). อธิบายว่า มีปากน้ำลายไหลยืด. เพราะว่าเมื่อคนมีปัญญาทรามพูด น้ำลายจะไหลออกมาจากปาก. และน้ำลายเรียกว่า เอละ.
               เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ปสฺเสลมูคํ อุรคํ ทฺวิชิวฺหิ เธอจงดูงูปากมีน้ำลายไหลยืด (กำลังแลบลิ้น) มีลิ้น ๒ แฉก. เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีปัญญาทรามเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า เอลมูคา.
               ปาฐะว่า เอลมุขา ดังนี้ก็มี. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เอลมุกา บ้าง. (แต่) อาจารย์อีกพวกหนึ่งกลับกล่าวว่า เอมุขา ดังนี้ก็ยังมี.
               (ถึงอย่างไร) ในทุกๆ บทก็มีความหมายว่า เอลมุขา (ปากมีน้ำลายไหลยืด).
               ถามว่า ภิกษุผู้มีปัญญาทรามเหล่านั้น ย่อมเรียกร้องหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวมาได้อย่างไร?
               ตอบว่า ภิกษุผู้มีปัญญาทรามมีน้ำลายไหลยืดเหล่านั้น จะไม่สามารถทำแม้เพียงการกำหนดอารมณ์ เมื่อเธอกำหนดอารมณ์ไม่ได้ อยู่ในป่า สิ่งที่เห็นในเวลากลางวัน พอเวลากลางคืนจะปรากฏเป็นภัยและอารมณ์ที่น่ากลัว. เธอมีจิตใจวอกแวกย่อมหวาดเสียวแม้ด้วยอารมณ์เพียงเล็กน้อย เห็นเชือกหรือเถาวัลย์แล้วย่อมสำคัญว่าเป็นงู เห็นตอไม้ย่อมสำคัญว่าเป็นยักษ์ เห็นที่ดอนหรือภูเขาย่อมสำคัญว่าเป็นช้าง (ย่อมหวาดกลัว) เป็นดังหนึ่งถูกสัตว์ร้ายมีงูเป็นต้นทำร้ายเอาฉะนั้น. ภิกษุผู้มีปัญญาทรามเหล่านั้นชื่อว่าเรียกร้อง คือเรียกหาภัยและอารมณ์อันน่ากลัวนั้นให้เข้ามาหาตนดังพรรณนามาฉะนี้.
               ในคำว่า ปญฺญาสมฺปนฺโนหมสฺมิ นี้ มีอธิบายว่า ผู้ถึงพร้อม คือผู้ประกอบพร้อมด้วยปัญญา. แต่ไม่ใช่ด้วยวิปัสสนาปัญญา ไม่ใช่ด้วยมัคคปัญญา โดยที่แท้แล้วประกอบพร้อมด้วยปัญญาและเครื่องกำหนดอารมณ์ในเพราะเหตุ ๑๖ ประการเหล่านี้.
               คำที่เหลือมีความหมายเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในทุกบทแล.
               จบการกำหนดอารมณ์ในเพราะเหตุ ๑๖ ประการ.               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค ภยเภรวสูตร ว่าด้วยสิ่งที่เป็นภัยและน่าหวาดกลัว
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 20อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 27อ่านอรรถกถา 12 / 53อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=517&Z=751
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=3019
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=3019
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :