ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 353อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 361อ่านอรรถกถา 12 / 369อ่านอรรถกถา 12 / 557
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค
จูฬโคสิงคสาลสูตร เหตุแห่งความสามัคคี

               มหายมกวรรควรรณนา               
               อรรถกถาจูฬโคสิงคสาลสูตร               
               จูฬโคสิงคสาลสูตรมีบทเริ่มต้น เอวมฺเม สุตํ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาทิเก วิหรติ ความว่า ในบ้านแห่งหนึ่ง ในบรรดาหมู่บ้านสองแห่งของบุตรของอาและของลุงทั้งสอง อาศัยสระน้ำแห่งหนึ่ง ชื่อนาทิกา.
               บทว่า คิญฺชกาวสเถ ได้แก่ ที่พักทำด้วยอิฐ.
               ได้ยินว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทำการสงเคราะห์มหาชน เสด็จจาริกไปในแคว้นวัชชี เสด็จถึงนาทิกคาม. ชาวบ้านนาทิกคามถวายมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังธรรมีกถา มีใจเลื่อมใส ปรึกษากันว่า เราจักสร้างที่ประทับถวายแด่พระศาสดา แสดงรูปสัตว์ร้ายเป็นต้น ที่ฝาบันไดและเสาด้วยอิฐทั้งนั้น สร้างปราสาทฉาบด้วยปูนขาว ยังมาลากรรมและลดากรรมเป็นต้นให้สำเร็จ ปูลาดเครื่องลาดพื้นเตียงและตั่งเป็นต้น มอบถวายแด่พระศาสดา.
               ต่อมา พวกชาวบ้านในที่นี้สร้างที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน มณฑป และที่จงกรมเป็นต้น ถวายแด่ภิกษุสงฆ์. วิหารนั้นได้เป็นมหาวิหารด้วยประการฉะนี้. ท่านหมายเอาวิหารนั้น จึงกล่าวว่า คิญฺกาเถ ดังนี้.
               ค่าคบไม้มีสัณฐานดังเขาโค ตั้งขึ้นแต่ลำต้นของต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ในบทว่า โคสิงฺคสาลวนทาเย นั้น. ป่านั้นแม้ทั้งหมดอาศัยต้นไม้นั้น จึงชื่อว่า โคสิงคสาลวัน ดังนี้.
               บทว่า ทาโย นี้เป็นชื่อของป่าโดยไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้น บทว่า โคสิงฺคสาลวนทาเย มีความว่า ในป่าชื่อโคสิงคสาลวัน.
               บทว่า วิหรนฺติ ได้แก่ เสวยสามัคคีรสอยู่. เวลากุลบุตรเหล่านี้เป็นปุถุชน ท่านกล่าวไว้ในอุปริปัณณาสก์แล้ว. ในที่นี้ ท่านกล่าวเวลาเป็นพระขีณาสพ. จริงอยู่ ในเวลานั้น กุลบุตรเหล่านั้นได้ความพอใจ ได้ที่พึ่ง บรรลุปฏิสัมภิทา เป็นพระขีณาสพ เสวยสามัคคีรสอยู่ในที่นั้น.
               บทว่า เยน โคสิงคสาลวนทาโย เตนุปสงฺกมิ นี้ท่านกล่าวหมายถึงป่านั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้บอกอะไรๆ ในบรรดาพระธรรมเสนาบดี พระมหาโมคคัลลานเถระ หรือพระอสีติมหาสาวก โดยที่สุดแม้พระอานนทเถระผู้เป็นคลังธรรม ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง เหมือนช้างปลีกออกจากข้าศึก เหมือนไกรสรสีหราชออกจากฝูง เหมือนเมฆถูกลมหอบ พระองค์ผู้เดียวเสด็จเข้าไปหาอย่างนี้แล.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้เสด็จไปด้วยพระองค์เองในนี้.
               ตอบว่า กุลบุตรทั้ง ๓ ย่อมเสวยสามัคคีรส เพราะจะทรงยกย่องกุลบุตรเหล่านั้น เพราะจะทรงอนุเคราะห์หมู่ชนเกิดในภายหลัง และเพราะความหนักในพระธรรม.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้ทรงดำริอย่างนี้ว่า เราจักยกย่องสรรเสริญกุลบุตรเหล่านี้ ทำปฏิสันถารแสดงธรรมแก่กุลบุตรเหล่านั้น เพราะจะทรงยกย่องอย่างนี้เท่านั้น จึงเสด็จไป. พระองค์ได้มีพระดำริต่อไปว่า ในอนาคต กุลบุตรทั้งหลายสำคัญการควรอยู่พร้อมเพรียงกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสู่สำนักของกุลบุตรผู้อยู่พร้อมเพรียงกันด้วยพระองค์เอง ทำปฏิสันถาร แสดงธรรมทรงยกย่องกุลบุตรทั้ง ๓ ใครจะไม่พึงอยู่พร้อมเพรียงกัน ดังนี้ จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เร็วพลัน ดังนี้ แม้เพราะจะทรงอนุเคราะห์หมู่ชนผู้เกิดในภายหลัง จึงได้เสด็จไป.
               ก็ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้หนักในธรรม ก็ความหนักในธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น มาแล้วในรถวินีตสูตร เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงดำริว่า เราจักยกย่องธรรม แม้เพราะความหนักในธรรมนี้ ดังนี้. จึงได้เสด็จไป.
               บทว่า ทายปาโล แปลว่า ผู้รักษาป่า คนรักษาป่านั้นย่อมนั่งรักษา คุ้มครองที่ประตูป่านั้นที่เขาล้อมรั้วประกอบไว้โดยประการที่พวกมนุษย์ในประเทศที่เขาปรารถนาแล้วๆ ย่อมไม่นำดอกไม้ ผลไม้ ยางไม้ หรือทัพสัมภาระในที่นั้นออกได้ เพราะฉะนั้น ท่านกล่าวว่า ทายปาโล.
               บทว่า อตฺตกามรูปา ความว่า เป็นผู้ใคร่ประโยชน์ตนเป็นสภาพอยู่.
               จริงอยู่ ผู้ใดแม้บวชแล้วในศาสนานี้ เลี้ยงชีวิตด้วยอเนสนา ๒๑ มีเวชกรรมทูตกรรมและการส่งข่าวเป็นต้น นี้ยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ตน.
               ส่วนผู้ใดบวชแล้วในศาสนานี้ ละอเนสนา ๒๑ แล้ว ตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีล เรียนพระพุทธวจนะ อธิษฐานธุดงค์พอสบาย ถือกรรมฐานที่ชอบใจในอารมณ์ ๓๘ ละบ้านเข้าป่า ยังสมาบัติให้เกิด เที่ยวทำวิปัสสนากรรมฐาน นี้ชื่อว่าเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ตน.
               กุลบุตรทั้ง ๓ แม้เหล่านั้นได้เป็นเห็นปานนี้. เพราะเหตุนั้น ท่านกล่าวว่า อตฺตกามรูปา วิหรนฺติ. เขาขอร้องพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระองค์อย่าได้กระทำความไม่ผาสุกแก่กุลบุตรเหล่านั้นเลย.
               ได้ยินว่า นายทายบาลนั้นได้มีวิตกอย่างนี้ว่า กุลบุตรเหล่านี้อยู่พร้อมเพรียงกัน ความบาดหมาง ทะเลาะและวิวาท ย่อมเป็นไปในที่คนบางพวกไปแล้ว ทั้งสองไม่ไปทางเดียวกันเหมือนโคดุเขาแหลม เที่ยวขวิดอยู่ บางครั้ง พระพุทธเจ้าแม้นี้ เมื่อทรงกระทำอย่างนี้ พึงทำลายความอยู่อย่างพร้อมเพรียงของกุลบุตรเหล่านี้ ก็แหละพระองค์น่าเลื่อมใสมีพระฉวีวรรณดังทอง เห็นจะอยากในรส พึงทำลายอัปปมาทวิหารธรรมของกุลบุตรเหล่านี้ ด้วยการกล่าวสรรเสริญผู้ถวายของอันประณีต และผู้อุปัฏฐากตนตั้งแต่เสด็จไปถึง แม้สถานที่อยู่ของกุลบุตรเหล่านี้ กำหนดไว้แน่นอน คือ บรรณศาลา ๓ ที่จงกรม ๓ ที่พักกลางวัน ๓ เตียงตั่ง ๓. ส่วนสมณะนี้มีกายใหญ่เห็นจะแก่กว่า และจักไล่กุลบุตรเหล่านี้ออกจากเสนาสนะในกาลอันไม่ควร ความผาสุกจักมีแก่กุลบุตรเหล่านั้น แม้ในที่ทั้งปวงด้วยประการฉะนี้ เขาไม่ปรารถนาอย่างนั้น จึงขอร้องพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระองค์อย่าได้ทำความไม่ผาสุกแก่กุลบุตรเหล่านั้นเลย.
               ถามว่า ก็นายทายบาลนั้นรู้อยู่ จึงห้าม หรือไม่รู้อยู่ จึงห้าม.
               ตอบว่า จริงอยู่ ตั้งแต่พระตถาคตถือปฏิสนธิ ปาฏิหาริย์อันยังหมื่นจักรวาลให้หวั่นไหวเป็นต้นเป็นไปแล้วแม้ก็จริง ถึงดังนั้น คนไม่มีกำลังชาวป่า ขวนขวายแต่การงาน ไม่อาจจะกำหนดรู้ปาฏิหาริย์เหล่านั้นได้.
               ก็ธรรมดาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใดมีภิกษุหลายพันเป็นบริวาร เที่ยวแสดงพุทธานุภาพด้วยพระรัศมีวาหนึ่ง ด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ และด้วยพระสิริคือมหาปุริสลักษณะ ๓๒ เมื่อนั้นเขาถามว่า นั่นใคร แล้วพึงจะรู้จัก.
               ก็ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปกปิดพุทธานุภาพนั้นทั้งหมดไว้ในกลีบจีวร ทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง เสด็จไปโดยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญที่ถูกปิดบังไว้ในกลีบเมฆ. นายทายบาลไม่รู้ข้อนั้น จึงห้ามด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า ได้ยินว่า พระเถระฟังถ้อยคำของนายทายบาลว่า มา สมณ ดังนี้ จึงคิดว่า เราอยู่กัน ๓ คนในที่นี้ไม่มีบรรพชิตอื่นเลย ก็นายทายบาลนี้พูดเหมือนกับพูดกับบรรพชิต จักเป็นใครหนอแลดังนี้แล้ว ออกจากที่พักกลางวัน ยืนอยู่ที่ประตูมองดูทาง ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเปล่งพระรัศมีจากพระวรกาย พร้อมกับที่พระเถระเห็นพระรัศมีวาหนึ่งส่องสว่างด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐ รุ่งเรืองเหมือนแผ่นทองที่คลี่ออก.
               พระเถระคิดว่า นายทายบาลนี้พูดกับบุคคลผู้เลิศในโลก ยังไม่รู้จัก พูดคล้ายกับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เหมือนเหยียดมือจับอสรพิษแผ่พังพานที่คอ เมื่อจะห้ามจึงได้กล่าวคำเป็นต้นนี้ว่า มา อาวุโส ทายปาล ดังนี้.
               บทว่า เตนุปสงฺกมิ ความว่า เพราะเหตุอะไร ไม่ทำการต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงเข้าไปเฝ้า.
               ได้ยินว่า ท่านพระอนุรุทธะได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เรา ๓ คนอยู่พร้อมเพรียงกันก็จักไม่มี เราจักพาเอามิตรเป็นที่รักไปทำการต้อนรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่รักของเราฉันใด ก็เป็นที่รักแม้ของสหายของเราฉันนั้น ดังนี้ เป็นผู้ใคร่จะทำการต้อนรับพร้อมด้วยปิยมิตรเหล่านั้น จึงไม่ทำด้วยตนเอง เข้าไปเฝ้า.
               ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทางเป็นที่เสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีอยู่ในที่สุดแห่งที่จงกรม ใกล้ประตูบรรณศาลาของพระเถระเหล่านั้น เพราะฉะนั้น พระเถระจึงไปให้สัญญาแก่พระเถระเหล่านั้น.
               บทว่า อภิกฺกมถ แปลว่า มาทางนี้เถิด.
               บทว่า ปาเท ปกฺขาเลสิ ความว่า พระเถระถือเอาน้ำสีแก้วมณีด้วยมือดุจตาข่ายคล้ายประทุมที่แย้ม รดน้ำที่หลังพระบาททั้ง ๒ มีสีดุจทองคำ ชำระขัดสีพระบาท ธุลีมิได้ต้องพระวรกายของพระพุทธเจ้า.
               ถามว่า เพราะเหตุอะไร จึงต้องล้าง.
               ตอบว่า เพื่อกำหนดฤดูของพระวรกาย และเพื่อให้จิตของภิกษุเหล่านั้นร่าเริง จิตของภิกษุเหล่านั้นเอิบอิ่มด้วยโสมนัสอันมีกำลังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงล้างพระบาทด้วยน้ำที่เรานำมาแล้ว ได้ทรงทำการใช้สอย ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงล้าง.
               บทว่า อายสฺมนฺตํ อนุรุทฺธํ ภควา เอตทโวจ ความว่า ได้ยินว่า ท่านพระอนุรุทธะนั้นเป็นผู้แก่กว่าภิกษุเหล่านั้น เมื่อทำการสงเคราะห์แก่ท่านอนุรุทธะนั้น เป็นทำแก่ท่านที่เหลือด้วย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำเป็นต้นนี้ว่า กจฺจิ โว อนุรุทฺธา ดังนี้ เพราะพระเถระองค์เดียว.
               บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า กจฺจิ เป็นนิบาต ลงในอรรถว่า คำถาม.
               บทว่า โว เป็นฉัฏฐีวิภัติ.
               มีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามถึงภิกขาจารวัตรว่า ดูก่อนอนุรุทธะ นันทิยะ กิมพิละ พวกเธอพออดทนได้หรือ อิริยาบถของพวกเธอทนได้หรือ พอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอพอยังชีวิตให้เป็นคือสืบต่อไปหรือ ไม่ลำบากด้วยก้อนข้าวบิณฑบาตหรือ พวกเธอหาก้อนข้าวได้ง่ายหรือ พวกมนุษย์เห็นพวกเธอมาพร้อมกันแล้ว จึงสำคัญข้าวยาคูกระบวยหนึ่งหรือ ภิกษาทัพพีหนึ่งที่ควรถวาย เพราะฉะนั้น ก็ผู้ไม่ลำบากด้วยปัจจัยสามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ หรือว่านี้เป็นวัตรของบรรพชิต เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ประทานคำถามแล้ว
               เมื่อจะทรงถามถึงสามัคคีรสว่า
               ดูก่อนอนุรุทธะ นันทิยะและกิมพิละ พวกเธอเป็นราชบรรพชิต มีบุญมาก พวกมนุษย์ไม่ถวายแก่พวกเธอผู้อยู่ในป่าแล้ว จักสำคัญสิ่งที่ควรให้แก่ใครอื่นเล่า ก็พวกเธอฉันของนี้แล้วอยู่ยัดเหยียดกันและกันเหมือนลูกเนื้อหรือ หรือว่าพวกเธอยังมีความพร้อมเพรียงกันอยู่ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า กจฺจิ ปน โว อนุรุทฺธา สมคฺคา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขีโรทกีภูตา ความว่า น้ำนมและน้ำผสมกันและกัน ย่อมไม่แยกกัน เข้าถึงดุจเป็นอันเดียวกัน ตรัสถามว่า พวกเธออยู่ด้วยความสามัคคีอย่างนี้. เหมือนจิตตุปบาทเข้าถึงความเป็นอันเดียวกันหรือ.
               บทว่า ปิยจกฺขูหิ ความว่า จักษุคือการเข้าไปตั้งเมตตาจิตมองดู ชื่อว่าปิยจักษุ. ตรัสถามว่า พวกเธอแลดูกันและกันด้วยจักษุเห็นปานนั้นอยู่หรือ.
               บทว่า ตคฺฆ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าส่วนเดียว ดังท่านกล่าวว่า มยํ ภนฺเต โดยส่วนเดียว. บทว่า ยถา ในบทว่า ยถากถํ ปน นี้เป็นเพียงนิบาต. บทว่า กถํ แปลว่า ถามถึงเหตุ. มีอธิบายว่า พวกเธออยู่กันอย่างนี้ได้อย่างไร คืออยู่ด้วยเหตุไร พวกเธอจงบอกเหตุนั้นแก่เราเถิด.
               บทว่า เมตฺตํ กายกมฺมํ ได้แก่ กายกรรมที่เป็นไปด้วยอำนาจจิตเมตตา.
               บทว่า อาวิ เจว รโห จ ได้แก่ ต่อหน้าและลับหลัง.
               แม้ในบทนอกนี้ก็มีนัยนี้แหละ.
               ในบทนั้น กายกรรมและวจีกรรมย่อมได้ในการอยู่ร่วมกันต่อหน้า นอกนี้ย่อมได้ในการอยู่แยกกัน มโนกรรมได้ในที่ทั้งหมด.
               จริงอยู่ เมื่ออยู่ร่วมกัน เตียงตั่งก็ดี ภัณฑะไม้ก็ดี ภัณฑะดินก็ดี อันใดที่คนหนึ่งเก็บไว้ไม่ดีในภายนอก เห็นสิ่งนั้นไม่ทำความดูหมิ่นว่า สิ่งนี้ใครใช้แล้วถือเอามาเก็บไว้ เหมือนที่ตนเก็บไว้ไม่ดี ก็หรือว่า ประคับประคองฐานที่ควรประคับประคอง ชื่อว่าเมตตากายกรรมต่อหน้า.
               เมื่อคนหนึ่งหลีกไป เก็บเสนาสนะบริขารที่เขาเก็บไว้ไม่ดี หรือว่าเฝ้าดูที่ๆ ควรเฝ้า ชื่อว่าเมตตากายกรรมลับหลัง.
               เมื่ออยู่ร่วมกัน ชื่อว่าเมตตาวจีกรรมต่อหน้า ย่อมมีในการทำมีอาทิอย่างนี้ว่า สัมโมทนียกถาอันไพเราะ ปฏิสันถาร สาราณิยกถา ธรรมกถา สรภัญญะ ถามปัญหาตอบปัญหากับพระเถระทั้งหลาย.
               ก็เมื่อพระเถระหลีกไปกล่าวคุณมีอาทิว่า พระนันทิยเถระ พระกิมพิลเถระ เป็นสหายที่รักของเรา ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ ถึงพร้อมด้วยอาจาระอย่างนี้ ชื่อว่าเมตตาวจีกรรมลับหลัง. ก็เมื่อประมวลมาอย่างนี้ว่า ขอพระนันทิยเถระ กิมพิลเถระผู้เป็นปิยมิตรของเรา จงเป็นผู้ไม่มีเวร จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียน จงเป็นผู้มีความสุขเถิดดังนี้ ชื่อว่าเมตตามโนกรรมทั้งต่อหน้าทั้งลับหลัง.
               บทว่า นานา หิ โข โน ภนฺเต กายา ความว่า ใครๆ ไม่อาจทำกายให้รวมกันได้ เหมือนขยำแป้งและดินเหนียว.
               บทว่า เอญฺจ ปน มญฺเญจิตฺตํ ท่านแสดงว่า ส่วนจิตของพวกข้าพระองค์ ชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน เพราะอรรถว่ารวมกัน ไม่ขาดสูญ ไม่ปราศจากกัน พร้อมเพรียงกัน.
               ถามว่า ก็ภิกษุเหล่านั้นเก็บจิตของตน ประพฤติตามอำนาจจิตของท่าน นอกนี้อย่างไร.
               ตอบว่า สนิมขึ้นในบาตรของภิกษุรูปหนึ่ง จีวรของภิกษุรูปหนึ่งเศร้าหมอง บริภัณฑกรรมย่อมมีแก่ภิกษุรูปหนึ่ง. บรรดาภิกษุเหล่านั้น สนิมขึ้นที่บาตรของผู้ใด เมื่อผู้นั้นบอกว่า ดูก่อนผู้มีอายุ สนิมขึ้นที่บาตรของผมควรสุม ดังนี้ พวกนอกนี้ไม่พูดว่า จีวรของผมเศร้าหมองควรซัก เครื่องใช้ของผมควรกระทำ ดังนี้แล้ว เข้าป่านำฟืนมาตัดเป็นท่อนไว้บนบาตร สุมบาตรแล้ว ต่อมาก็ซักจีวรบ้าง ทำของใช้บ้าง. เมื่อรูปใดรูปหนึ่งบอกก่อนว่า ดูก่อนผู้มีอายุ จีวรของผมเศร้าหมองควรซัก บรรณศาลาของผมทรุดโทรมควรซ่อมใหม่ ดังนี้ มีนัยเหมือนกัน.
               บทว่า สาธุ สาธุ อนุรุทฺธา ความว่า เมื่อภิกษุกราบทูลในหนหลังว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ประทานสาธุการ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะชื่อว่ากวฬิงการาหารนี้ของสัตว์เหล่านี้ ประพฤติกันมาเป็นอาจิณ ส่วนโลกสันนิวาสนี้ ขัดแย้งกันโดยมาก. สัตว์เหล่านี้ผิดใจกันทั้งในอบายโลก ทั้งในเทวดาและมนุษย์โลก เวลาที่สัตว์เหล่านั้นพร้อมเพรียงกันหาได้ยาก มีได้บางคราวเท่านั้น เหตุดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานสาธุการในที่นี้ เพราะการอยู่พร้อมเพรียงกันหาได้ยาก.
               บัดนี้ เมื่อตรัสถามลักษณะความไม่ประมาทของภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า กจฺจิ ปน โว อนุรุทฺธา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โว เป็นเพียงนิบาต.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นปฐมาวิภัติ ความว่า กจฺจิ ตุมฺเห ดังนี้.
               บทว่า อมฺหากํ คือ ในพวกเรา ๓ คน. บทว่า ปิณฺฑาย ปฏิกฺกมติ ความว่า เที่ยวไปบิณฑบาตในหมู่บ้านภายหลัง. บทว่า อวกฺกการปาตึ ความว่า ทิ้งบิณฑบาตที่เหลือเสีย ล้างสำรับๆ หนึ่ง ตั้งไว้เพื่อเก็บไว้.
               บทว่า โย ปจฺฉา ความว่า ได้ยินว่า พระเถระเหล่านั้นเข้าไปภิกขาจารไม่พร้อมกัน.
               ก็พระเถระเหล่านั้นออกจากผลสมาบัติ ชำระร่างกายแต่เช้าตรู่บำเพ็ญข้อปฏิบัติ เข้าไปยังเสนาสนะ กำหนดเวลานั่งเข้าผลสมาบัติ.
               บรรดาพระเถระเหล่านั้น รูปใดที่นั่งก่อนลุกขึ้นก่อน ด้วยการกำหนดเวลาของตน รูปนั้นเที่ยวบิณฑบาตกลับมาที่ฉันอาหาร ย่อมรู้ว่า ภิกษุ ๒ รูปมาภายหลัง เรามาก่อน เมื่อเป็นเช่นนั้น จัดบาตร ปูอาสนะเป็นต้น ถ้าในบาตรมีพอดี เธอก็นั่งฉัน ถ้ามีเหลือใส่ไว้ในถาดสำรับ ปิดถาดไว้ฉัน ทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ล้างบาตร เช็ดให้น้ำหมด ใส่ไว้ในถุง เก็บอาสนะ ถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่ที่พักของตน.
               แม้รูปที่ ๒ มาแล้วย่อมรู้ได้ว่า รูปหนึ่งมาก่อน รูปหนึ่งภายหลัง ถ้าในบาตรมีภัตพอประมาณ เธอก็ฉัน ถ้ามีน้อยถือเอาจากสำรับแล้วฉัน ถ้ามีเหลือใส่ไว้ในสำรับฉันแต่พอประมาณ เข้าไปสู่ที่พักเหมือนพระเถระรูปก่อน.
               แม้รูปที่ ๓ มาแล้วย่อมรู้ว่า สองรูปมาก่อน เรามาภายหลัง แม้เธอทำภัตตกิจเสร็จเหมือนพระเถระรูปที่ ๒ ก็ล้างบาตร เช็ดให้น้ำหมด ใส่ไว้ในถุง ยกอาสนะขึ้นเก็บไว้ เทน้ำที่เหลือในหม้อน้ำดื่มหรือในหม้อน้ำใช้แล้วคว่ำหม้อ ถ้ามีภัตเหลืออยู่ในสำรับ นำภัตนั้นไปโดยนัยอันกล่าวแล้ว ล้างถาดเก็บกวาดโรงฉัน. ต่อมาเทหยากเยื่อ ยกไม้กวาดขึ้นเก็บในสถานที่พ้นจากปลวก ถือบาตรและจีวรเข้าไปที่พัก นี้เป็นวัตรในโรงฉันในที่ทำภัตตกิจในป่า ภายนอกวิหารของพระเถระทั้งหลาย ทรงหมายถึงข้อนี้ จึงตรัสคำเป็นต้นว่า โย ปจฺฉา ดังนี้.
               ส่วนคำเป็นต้นว่า โย ปสฺสติ พึงทราบว่า เป็นวัตรภายในวิหารของพระเถระทั้งหลาย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วจฺจฆฏํ แปลว่า หม้อชำระ.
               บทว่า ริตฺตํ คือ ว่างเปล่า. บทว่า ตุจฺฉกํ เป็นไวพจน์ของบทว่า ริตฺตํ นั้นแหละ.
               บทว่า อวิสยฺหํ ได้แก่ ไม่อาจจะยกขึ้นได้ คือหนักมาก. บทว่า หตฺถวิกาเรน คือ ด้วยสัญญาณมือ.
               ได้ยินว่า พระเถระเหล่านั้นถือหม้อน้ำอย่างใดอย่างหนึ่ง มีหม้อน้ำดื่มเป็นต้นไปสระโบกขรณี ล้างภายในและภายนอกแล้วกรองน้ำใส่ วางไว้ริมฝั่ง เรียกภิกษุรูปอื่นมาด้วยวิการแห่งมือ ไม่ส่งเสียงเจาะจงหรือไม่เจาะจง
               ถามว่า เพราะเหตุไร ไม่ส่งเสียงเจาะจง.
               ตอบว่า เสียงพึงรบกวนภิกษุนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ส่งเสียงไม่เจาะจง.
               ตอบว่า เมื่อให้เสียงไม่เจาะจง ภิกษุ ๒ รูปพึงออกไปด้วยเข้าใจว่า เราก่อน เราก่อน ดังนี้. ต่อจากนั้น ในการงาน ๒ รูปพึงทำ รูปที่ ๓ พึงว่างงาน เธอเป็นผู้สำรวมเสียง ไปใกล้ที่พักกลางวันของภิกษุรูปหนึ่ง รู้ว่าเธอเห็นแล้วทำสัญญาณมือ ภิกษุนอกนี้ย่อมมาด้วยสัญญาณนั้น ต่อนั้นชนทั้งสองเอามือประสานกันลุกขึ้นวางบนมือทั้งสอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสหมายเอาข้อนั้นว่า หตฺถวิกาเรน ทุติยํ อามนฺเตตฺวา หตฺถวิลงฺฆิเกน อุฏฺฐเปม ดังนี้.
               บทว่า ปญฺจาหิกํ โข ปน ความว่า คำนี้ว่า ในวัน ๑๔ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ ดิถีที่ ๘ ค่ำ เป็นวันธัมมัสสวนะตามปกติก่อน พระเถระทั้ง ๒ รูปอาบน้ำในเวลายังไม่มืดมากนักทุกๆ วัน ทำข้อนั้นไม่ให้ขาด ย่อมไปยังที่พักของพระอนุรุทธเถระ. พระเถระแม้ทั้ง ๓ รูปนั่ง ณ ที่นั้น ถามปัญหาตอบปัญหากันและกันในพระไตรปิฎก ปิฏกใดปิฎกหนึ่ง เมื่อพระเถระเหล่านั้นกระทำอยู่อย่างนี้จนอรุณขึ้น.
               บทว่า กจฺจิ ปน โว อนุรุทฺธา อปฺปมตฺตา อาตาปิโน ปหิตตฺตา วิหรถ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงข้อนั้น.
               พระเถระถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามลักษณะของความไม่ประมาทแล้วตอบลักษณะของความไม่ประมาทถวายในที่ตั้งแห่งความประมาท ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ว่า คือเวลาเข้าไปที่ภิกขาจาร เวลาออกไป การนุ่งสบง การห่มจีวร การเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตภายในหมู่บ้าน ธรรมกถาอนุโมทนา การออกจากหมู่บ้านแล้วทำภัตตกิจ การล้างบาตร เก็บบาตรและจีวรให้เรียบร้อย เหล่านี้เป็นที่ทำให้เนิ่นช้า สำหรับภิกษุเหล่าอื่น เพราะฉะนั้น พระเถระเมื่อแสดงว่า ขึ้นชื่อว่าเวลาประมาทย่อมไม่มีแก่เรา เพราะปล่อยที่ประมาณเท่านี้ได้แล้ว จึงตอบลักษณะของความไม่ประมาทถวายในที่ตั้งแห่งความประมาท.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานสาธุการแก่พระเถระนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสถามปฐมฌานจึงตรัสอีกว่า อตฺถิ ปน โว ดังนี้ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา คือ ธรรมอันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์. บทว่า อลมริยญาณทสฺสนวิเสโส ได้แก่ คุณวิเศษคือญาณทัสสนะอันสามารถทำความเป็นพระอริยะ. บทว่า กึ หิ โน สิยา ภนฺเต ความว่า เพราะเหตุไร คุณวิเศษที่บรรลุแล้ว จักไม่บรรลุเล่า. บทว่า ยาวเทว คือ เพียงใดนั่นเอง.
               เมื่อการบรรลุปฐมฌานที่พระเถระตอบชี้แจงแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสถามทุติยฌานเป็นต้น จึงตรัสว่า เอตสฺส ปน โว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมติกฺกมาย คือ เพื่อความก้าวล่วง.
               บทว่า ปฏิปสฺสทฺธิยา คือ เพื่อความสงบระงับ.
               ที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในบททั้งปวง.
               ส่วนในปัญหาสุดท้าย เมื่อตรัสถามนิโรธสมาบัติที่ได้บรรลุ ด้วยอำนาจโลกุตตรญาณทัสสนะ จึงตรัสว่า อลมริยญาณทสฺสนวิเสโส ดังนี้. พระเถระตอบชี้แจงตามสมควรแก่การถาม. ในข้อนั้น พระเถระกล่าวว่า เพราะความสุขที่ไม่ได้เสวย สงบกว่า ประณีตกว่า ความสุขที่เสวยแล้ว ฉะนั้น พวกข้าพระองค์ยังพิจารณาไม่เห็นผาสุกวิหารอื่นที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าเลย.
               บทว่า ธมฺมิยา กถาย ความว่า ภิกษุแม้ทั้งปวงสำเร็จกิจในสัจจะทั้ง ๔ ด้วยธรรมกถาประกอบด้วยอานิสงส์แห่งสามัคคีรส ไม่มีคำอะไรที่ท่านจะพึงกล่าวเพื่อประโยชน์แก่การบรรลุสัจจะเหล่านั้น ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอานิสงส์แห่งสามัคคีรสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า นี้เป็นอานิสงส์และนี้เป็นอานิสงส์ดังนี้ด้วยสามัคคีรส.
               บทว่า ภควนฺตํ อนุสาเรตฺวา คือ ตามเสด็จ.
               ได้ยินว่า พวกภิกษุเหล่านั้นรับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ไปหน่อยหนึ่ง. ในเวลาที่ภิกษุเหล่านั้นไปส่งเสด็จถึงที่สุดบริเวณแห่งวิหาร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เอาบาตรและจีวรของเรามาเถิด พวกเธอจงอยู่ในที่นี้ แล้วทรงหลีกไป.
               บทว่า ตโต ปฏินิวตฺติตฺวา ได้แก่ กลับจากที่ไปแล้ว.
               บทว่า กินฺนุ โข มยํ อายสฺมโต ความว่า ภิกษุทั้งหลายอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรลุคุณมีบรรพชาเป็นต้นแล้ว ก็รังเกียจด้วยการกล่าวคุณของตน กล่าวแล้ว เพราะเป็นผู้ปรารถนาน้อยในมรรคผลที่บรรลุ.
               บทว่า อิมาสญฺจ อิมาสญฺจ ได้แก่ โลกิยะและโลกุตตรธรรมมีปฐมฌานเป็นต้น.
               บทว่า เจตสา เจโต ปริจฺจ วิทิโต ความว่า พระเถระกำหนดจิตด้วยจิตแล้วรู้อย่างนี้ว่า วันนี้ท่านผู้มีอายุของเรายังเวลาให้ล่วงไปด้วยโลกิยสมาบัติ วันนี้ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยโลกุตตรสมาบัติ.
               บทว่า เทวตาปิ เม ความว่า แม้พวกเทพดาบอกอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ วันนี้พระนันทิยเถระผู้เป็นเจ้ายังเวลาให้ล่วงไปด้วยสมาบัตินี้ วันนี้พระกิมพิลเถระผู้เป็นเจ้ายังเวลาให้ล่วงไปด้วยสมาบัตินี้.
               บทว่า ปญฺหาภิปุฏฺเฐน ความว่า เราเตรียมปากไว้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ว่า ข้อแม้นั้นเรารู้แล้วด้วยตนเอง หรือเทพดาบอก ดังนี้. ยกถ้อยคำที่ยังไม่ถาม ก็ไม่กล่าวถาม. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกถามปัญหาคือ ถูกถามปัญหาอยู่ ทรงตอบชี้แจงพระองค์จึงตรัสว่า พวกเธอยังไม่ชอบใจในข้อนั้นหรือ.
               บทว่า ทีโฆ มาแล้วในคาถาอย่างนี้ว่า มณิ มานิจโร ทีโฆ อโถ เสรีสโก สห เป็นเทวราชองค์หนึ่ง ในจำนวนยักษ์เสนาบดี ๒๘ องค์ผู้ถูกถาม.
               บทว่า ปรชโน เป็นชื่อของยักษ์นั้น.
               บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า
               ได้ยินว่า ยักษ์นั้นถูกท้าวเวสสวัณส่งไปแล้ว เมื่อไปยังที่แห่งหนึ่ง เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ออกจากที่พัก สร้างด้วยอิฐระหว่างป่าโคสิงคสาลวัน คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์ เสด็จไปสำนักของกุลบุตรทั้ง ๓ ในป่าโคสิงคสาลวัน พระธรรมเทศนาจักมีมากในวันนี้ แม้เราพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งเทศนานั้น เดินตามรอยพระบาทของพระศาสดา ด้วยกายที่ปรากฏ ยืนฟังธรรมในที่ไม่ไกล.
               เมื่อพระศาสดาเสด็จไป ก็ไม่ไป ยืนอยู่ ณ ที่นั้นเพื่อจะดูว่า พระเถระเหล่านั้นจักทำอะไรกัน ดังนี้ ในขณะนั้นเห็นพระเถระทั้งสองรูปนั้นห่วงใยพระอนุรุทธเถระ คิดว่าพระเถระเหล่านี้อาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรลุคุณทั้งปวงมีบรรพชาเป็นต้น ตระหนี่ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่กล้า ซ่อนเร้นเหลือเกิน ปกปิด บัดนี้เราจักไม่ให้ท่านปกปิด เราจักประกาศคุณของพระเถระเหล่านั้นแต่แผ่นดินจนถึงพรหมโลก. จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
               บทว่า ลาภา ภนฺเต ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนชาวแคว้นวัชชีย่อมได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้เห็นกุลบุตรทั้ง ๓ เหล่านี้ ย่อมได้ถวายบังคม ถวายไทยธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของชาววัชชีเหล่านั้น.
               บทว่า สทฺทํ สุตฺวา ความว่า ได้ยินว่า ยักษ์นั้นส่งเสียงดังด้วยอานุภาพแห่งยักษ์ เปล่งวาจานั้นครอบแคว้นวัชชีทั้งสิ้น. เพราะเหตุนั้น ภุมมเทวดาที่สถิตอยู่ที่ต้นไม้และภูเขาเป็นต้นเหล่านั้นๆ ได้ยินเสียงของยักษ์นั้น. ท่านหมายเอาข้อนั้น กล่าวว่า สทฺทํ สุตฺวา ดังนี้.
               บทว่า อนุสฺสาเวสุํ ได้แก่ ได้ยินเสียงดังแล้ว ป่าวร้องไป. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้
               บทว่า ยาว พฺรหฺมโลกา ได้แก่ จนถึงอกนิฏฐพรหมโลก.
               บทว่า ตญฺเจปิ กุลํ ความว่า พึงทราบเนื้อความในบททั้งปวงอย่างนี้ว่า
               กุลบุตรเหล่านี้ออกจากตระกูลของเราบวชแล้ว มีศีล มีคุณ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ มีกัลยาณธรรมอย่างนี้ ถ้าตระกูลนั้นมีจิตเลื่อมใส พึงระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ เหล่านั้นอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบพระธรรมเทศนาด้วยอนุสนธิด้วยประการฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาจูฬโคสิงคสาลสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค จูฬโคสิงคสาลสูตร เหตุแห่งความสามัคคี จบ.
อ่านอรรถกถา 12 / 1อ่านอรรถกถา 12 / 353อรรถกถา เล่มที่ 12 ข้อ 361อ่านอรรถกถา 12 / 369อ่านอรรถกถา 12 / 557
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=12&A=6696&Z=6876
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=3643
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=3643
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :